บทที่ ๒ สถานการณ์ทั่ว ๆ ไปของญี่ปุ่นก่อนเกิดสงคราม

ตำราการทูตสอนไว้ว่า ผู้ที่จะไปรับราชการในประเทศใด ควรศึกษาถึงประวัติศาสตร์ ตลอดทั้งระบอบการปกครองและนโยบายต่างประเทศของประเทศนั้น ๆ ด้วย จะเป็นการช่วยให้เราปฏิบัติงาน ให้ได้ประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองมาก

ข้าพเจ้ายอมรับสารภาพว่า ก่อนไปญี่ปุ่น ข้าพเจ้าทราบแต่ประวัติระบอบการปกครองและนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นคร่าว ๆ ฉะนั้น เมื่อไปถึงญี่ปุ่น ข้าพเจ้าได้พยายามศึกษาเรื่องญี่ปุ่นเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านที่จะได้เข้าใจการเมืองและการต่างประเทศของญี่ปุ่นในสมัยนั้น ข้าพเจ้าจึงขอกล่าวย่อ ๆ เกี่ยวกับระบอบการปกครองและการเมืองของญี่ปุ่นในสมัยนั้น ตลอดทั้งลักษณะอุปนิสัยของประชาชนโดยทั่ว ๆ ไป

๑. ระบอบการปกครอง

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้ ได้ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า ประชาชนชาวญี่ปุ่นส่วนมาก หรือเกือบทั้งประเทศไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในการเข้าสงครามนี้เลย ผู้ที่รับผิดชอบคือ วงการทหารและพลเรือนบางหมู่บางเหล่าเท่านั้น แต่จะไปตำหนิวงการดังกล่าวนี้มากนักก็ไม่เป็นธรรม เพราะระบอบการปกครองและเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้บีบบังคับให้เป็นไปเช่นนั้น

ญี่ปุ่นประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๒ (ค.ศ. ๑๘๘๙)

เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๓๕ (ค.ศ. ๑๑๙๒) ผู้บัญชาการทหารนายหนึ่งชื่อ มินาโมโต ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโชกุนคนแรก ตำแหน่งนี้เท่ากับเป็นผู้สำเร็จราชการ และเป็นตำแหน่งที่สมาชิกของสกุลได้รับสืบแทนต่อ ๆ กันมา โชกุนค่อย ๆ มีอำนาจขึ้นทุกที่จนถึงกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๘ พระจักรพรรดิไม่มีพระราชอำนาจอันใด และประทับอยู่ที่พระราชวังเมืองเกียวโต ส่วนโชกุนกลับพำนักอยู่ในกรุงโตเกียว โชกุนปกครองทำนองลัทธิฟิวดัลของยุโรป คือ แบ่งเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศให้สวามินหรือ daimio หลายร้อยนายไปปกครอง สวามินเหล่านี้ตามทฤษฎีต้องจงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิ แต่ในทางปฏิบัติต้องฟังคำสั่งโชกุน สวามินเหล่านี้ปกครองพวกอัศวินหรือซามูราย (samurai) ซามูรายปกครองพวกพสก (vassal) หลั่นรองลงไป

ในสมัยนั้นซามูรายมีราวห้าเปอร์เซนต์ของราษฎรทั่วประเทศ ซามูรายเป็นนักรบ อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่มีอำนาจในญี่ปุ่นจริงจังในสมัยโชกุน คือ พวกสวามินและซามูราย ซามูรายมีอภิสิทธิพิเศษเหนือจากราษฎรธรรมดา คือ มีกฎหมายพิเศษปกครองพวกตัวเอง มีศาลของตนเอง ราษฎรนอกนั้นได้แก่ ชาวนา ช่างมีฝีมือ พ่อค้า นักบวช แพทย์ ฯลฯ เนื่องจากเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในสมัยก่อนก็คือเกษตรกรรม ฉะนั้นพลเมืองส่วนมากก็คือกสิกร กสิกรมีรายได้ซึ่งต้องนำส่งให้สวามินมากที่สุดยิ่งกว่าราษฎรอาชีพอื่น ๆ

ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๘) พวกซามูรายเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะให้โชกุนมีอำนาจ สู้ถวายพระราชอำนาจให้แก่พระจักรพรรดิดีกว่า จึงได้เลิกล้มระบบโชกุนเสีย และให้พระจักรพรรดิมีพระราชอำนาจแทนโชกุนจริงจัง และได้ตั้งรัฐบรุษญี่ปุ่นนายหนึ่ง ชื่อมาควิสอีโต เพื่อร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศต่อไป อีโตได้เลือกที่ปรึกษาเพื่อเป็นผู้ช่วยอีก ๔-๕ นาย คณะร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันนี และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป เพื่อศึกษาระบอบการปกครองของประเทศดังกล่าว รัฐธรรมนูญที่อีโตพอใจมากที่สุดคือ รัฐธรรมนูญของเยอรมันนี ซึ่งมีหลักสำคัญ ๆ หลายหลักที่อีโตนำมาบรรจุในรัฐธรรมนูญซึ่งประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ (ค.ศ. ๑๘๘๙)

สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ซึ่งใช้มาจนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง มีดังนี้

ก. พระราชอำนาจของพระจักรพรรดิ

ตามรัฐธรรมนูญ ถวายพระราชอำนาจสูงสุดแก่พระจักรพรรดิ และมีคำปรารภว่า ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญเป็นของขวัญแก่ราษฎร ทรงมีพระราชอำนาจที่จะประกาศใช้กฎหมาย ทรงเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพบกกองทัพเรือ ทรงทำสนธิสัญญา ทรงประกาศสงคราม และทรงทำสัญญาสันติภาพ แต่ในทางปฏิบัติเป็นที่เข้าใจกันว่า จะไม่ทรงใช้พระราชอำนาจนี้เอง นอกจากได้รับคำแนะนำจากรัฐบาล ที่น่าพิจารณาคือคำว่า ทรงเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพบกกองทัพเรือ แต่พระองค์ไม่ได้มีโอกาสใช้เลย เพราะปรากฏว่า ตลอดเวลามา กองทัพบกกองทัพเรือเป็นผู้ใช้อำนาจนั้น

ข. คณะรัฐมนตรี

ที่น่าสังเกต รัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติว่า การปกครองต้องมีคณะบริหารโดยคณะรัฐมนตรี แต่มีผู้อธิบายว่า คณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นตามแบบนิยมในประเทศตะวันตกมีแล้วก่อนใช้รัฐธรรมนูญ คือ เริ่มมีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๘ (ค.ศ. ๑๘๘๕) ฉะนั้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง รัฐมนตรีของญี่ปุ่นไม่ต้องเป็นสมาชิกรัฐสภาอย่างที่ปฏิบัติในรัฐธรรมนูญบริติช แต่ในรัฐธรรมนูญกล่าวว่า รัฐมนตรีจะต้องถวายคำแนะนำต่อพระจักรพรรดิและรับผิดชอบในการถวายคำแนะนำนี้ ฉะนั้นถ้าจะตีความโดยเฉียบขาด คณะรัฐมนตรีซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติก็ไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อพระจักรพรรดิแต่อย่างใด แต่เมื่อรัฐธรรมนูญกลับบัญญัติว่า รัฐมนตรีแต่ละนายต้องรับผิดชอบต่อพระจักรพรรดิในเรื่องซึ่งตนถวายคำแนะนำ ฉะนั้น การแต่งตั้งรัฐมนตรีหลายครั้ง จึงไม่ได้แต่งตั้งจากสมาชิกในพรรคการเมืองที่มีเสียงมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร พระจักรพรรดิทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยทรงฟังคำแนะนำจากรัฐบุรุษผู้ใหญ่ ที่เรียกกันว่า เงนโร (Genro) สมุหพระราชลัญจกร รัฐมนตรีกระทรวงวัง อย่างไรก็ดี โดยปรกติ นายกรัฐมนตรีเลือกรัฐมนตรีจากสมาชิกในพรรค และฟังความเห็นของกองทัพบกทัพเรือ มีธรรมเนียมซึ่งปฏิบัติคือ รัฐมนตรีกลาโหมและทหารเรือต้องเป็นนายทหารชั้นพลโทหรือพลเรือโทขึ้นไป เนื่องจากรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและทหารเรือเหล่านี้ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกและพระจักรพรรดิเป็นผู้ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของกองทัพยกกองทัพเรือ ฉะนั้นถ้ากองทัพทั้งสองไม่พอใจในตัวนายกรัฐมนตรี ก็อาจปฏิเสธไม่ให้คำแนะนำแก่นายกรัฐมนตรีว่า ควรตั้งผู้ใดเป็นรัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีทหารเรือ หรืออาจจะล้มรัฐบาลได้ โดยบังคับให้รัฐมนตรีกลาโหม หรือรัฐมนตรีทหารเรือถอนตัวจากตำแหน่งได้ อนึ่ง การตั้งรัฐมนตรีไม่จำต้องตั้งจากสมาชิกรัฐสภา จะตั้งผู้ใดได้ทั้งนั้น

ค. คณะองคมนตรี

รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีองค์กรองค์หนึ่ง คือ คณะองคมนตรี ให้มีหน้าที่ถวายคำแนะนำพระจักรพรรดิในเรื่องสำคัญ ๆ เมื่อพระจักรพรรดิทรงขอคำแนะนำ คณะองคมนตรีต้องประชุมปรึกษาถวาย คำแนะนำ

ง. สภาขุนนาง

รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นบัญญัติให้มีสองสภา คือ สภาขุนนางและสภาผู้แทนราษฎร สภาขุนนางประกอบด้วยสมาชิกประมาณ ๔๐๐ นาย ซึ่งมาจากพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และผู้ที่พระจักรพรรดิแต่งตั้ง

จ. สภาผู้แทนราษฎร

สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกประมาณ ๔๕๐ นาย เลือกตั้งโดยตรงจากผู้มีสิทธิออกเสียง สภาผู้แทนราษฎรมีอายุ ๔ ปี เว้นไว้แต่จะถูกยุบ

ฉ. อำนาจของรัฐสภา

ปีหนึ่ง ๆ สภาทั้งสองสภาประชุมประมาณ ๓ เดือน เว้นไว้แต่มีประชุมวิสามัญ รัฐสภาไม่สู้มีอำนาจเท่าใดนักเมื่อเทียบกับรัฐสภาบริติช รัฐบาลมักจะออกพระราชกฤษฎีกาเป็นประจำนอกสมัยประชุม แม้แต่เรื่องการเงิน สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่มีอำนาจเท่าใดนัก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน ๓๐ นายขึ้นไปมีสิทธิที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติการเงินได้ แต่ก็มีการจ่ายเงินหลายประเภทซึ่งถ้ารัฐบาลไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นผลบังคับได้ ในปีใดที่รัฐสภาไม่อนุมัติพระราชบัญญัติงบประมาณ รัฐบาลก็มีอำนาจที่จะใช้งบประมาณตามอัตราเก่าได้ แต่ที่รัฐสภาอ่อนแอที่สุดก็คือ รัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา

๒. ระบบพิเศษนอกรัฐธรรมนูญ

ก. รัฐบุรุษผู้ใหญ่ หรือเงนโร (Genro)

ตามรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติกล่าวถึงเรื่องเงนโร เงนโรคือ รัฐบุรุษผู้ใหญ่ ซึ่งพระจักรพรรดิทรงยกย่องและมักโปรดให้เข้าเฝ้า เพื่อถวายคำแนะนำในเรื่องราชการแผ่นดินทั่วไปเป็นประจำ เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการตั้งนายกรัฐมนตรี ในสมัย ๖๐-๗๐ ปีมานี้ มีเงนโรหลายท่านด้วยกัน คนสุดท้ายชื่อเจ้าชายไซออนจี (Prince Saionji) ถึงอสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ต่อมาไม่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งผู้ใดอีก

ข. คณะมนตรีสูงสุดเกี่ยวกับการทำสงคราม

เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วได้เลิกระบบฟิวดัล และใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารแทน และตั้งกระทรวงกลาโหมและกระทรวงทหารเรือขึ้น รัฐมนตรีว่าการสองกระทรวงนี้ต้องเลือกจากคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ดังได้กล่าวแล้ว วิธีนี้ต่างกับวิธีการของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นพลเรือน หรือถ้าเป็นทหารก็ต้องออกจากประจำการก่อน เพื่อปฏิบัติงานในเรื่องการทหาร ได้มีคณะมนตรีสูงสุดเกี่ยวกับการสงครามคณะหนึ่งซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ คณะมนตรีนี้ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการสองกระทรวงดังกล่าว และจอมพลบก จอมพลเรือ เสนาธิการทหารบก เสนาธิการทหารเรือ และนายพลบกนายพลเรืออื่น ๆ ซึ่งพระจักรพรรดิจะได้ทรงแต่งตั้งในตอนแรก คณะมนตรีนี้ย่อมอยู่ใต้คำสั่งรัฐบาล แต่ต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๓ (ค.ศ. ๑๘๘๐) เป็นต้นมา ได้แสดงท่าที่อิสระไม่ยอมฟังคำสั่งหรือคำแนะนำของรัฐบาล

ได้กล่าวแล้วว่า คณะมนตรีนี้ตั้งขึ้นเฉย ๆ ไม่มีรัฐธรรมนูญ มาตราใดให้อำนาจประการใด แต่เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กล่าวถึง คณะทหารจึงถือว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามประการใด และถือว่าตนเป็นผู้มีสิทธิกำหนดว่า การจัดรูปโครงของการทหารก็ดี การกำหนดกำลังก็ดี เป็นอำนาจเฉพาะของคณะมนตรีนี้ และคณะมนตรีมีสิทธิเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิโดยตรงและไม่ขึ้นกับรัฐบาล ซึ่งถือกันว่าเป็นฝ่ายพลเรือน จึงอาจกล่าวได้ว่า มีสองรัฐบาล ๆ แรกเป็นรัฐบาลประกอบตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลหลังเป็นรัฐบาลคณะทหารซึ่งต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน ผลก็คือทำให้การเดินนโยบายต่างประเทศสับสนอลหม่าน และมีหลายคราวซึ่งฝ่ายรัฐบาลแถลงอย่างหนึ่ง และฝ่ายทหารแถลงอีกอย่างหนึ่ง ทำให้เป็นที่งงงวยแก่นักการทูตต่างประเทศ เพราะไม่ทราบว่ารัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นมีนโยบายอย่างไรแน่ อำนาจของคณะมนตรีทหารนี้ บางคราวก็ก้าวล่วงไปถึงเรื่องอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องของทหาร ซึ่งรัฐบาลต้องยอมตามความคิดเห็นของคณะมนตรี

๓. วงการอุตสาหกรรมไซบัทสุ (Zaibatsu)

เราทราบแล้วว่า ญี่ปุ่นเริ่มเจริญในด้านอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๙ คือ ๗๐ ปีมาแล้ว เมื่อเลิกล้มลัทธิฟิวดัลแล้ว กิจกรรมการค้าและธุรกิจก็ทวีมากขึ้น สกุลที่มีเงินมีทุนมากก็เริ่มสร้างอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย ยกตัวอย่างในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ซึ่งเป็นปีที่ญี่ปุ่นประกาศสงคราม บริษัทครอบครัวมิตซุย (เพราะผู้ถือหุ้นส่วนมากเป็นสมาชิกในครอบครัว) เป็นบริษัท การค้าใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งของญี่ปุ่น มีบริษัทสาขาถึง ๑๕๐ บริษัท และดำเนินการค้าประมาณ ๑๕ เปอร์เซนต์ของการค้าทั่วประเทศ คำว่า ไซบัทสุ แปลว่าเจ้าของเงิน มีหลายบริษัทด้วยกัน นอกจากบริษัทมิตซุยแล้ว ก็มีมิตซูบิชิ สุมิโตโม ยาซูดา บริษัทรถไฟสายแมนจูเรียใต้ เป็นต้น บริษัทเหล่านี้มีการค้าแทรกในกิจกรรมและธุรกิจทุกอย่าง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม การธนาคาร การรถไฟ การเดินเรือ การทำเหมืองแร่ ถ่านหิน อู่ต่อเรือ โรงสร้างเหล็กกล้า การประกันภัย ฯลฯ ไม่เคยมีประวัติมาแต่ก่อน ที่บริษัทซึ่งเป็นครอบครัวเดียวมีอิทธิพลมากมายเช่นนี้ เมื่อมีอิทธิพลทั่วไปก็โยงไปถึงมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลด้วย ปีหนึ่งๆบริษัทครอบครัวเหล่านี้เสียภาษีต่าง ๆ ให้แก่รัฐบาลมากมาย นอกจากนี้สมาชิกของสกุลต่าง ๆ เหล่านี้มีมากหลายที่ทำการสมรสและเกี่ยวข้องกับครอบครัวบุคคลสำคัญ ๆ ของประเทศทั้งที่อยู่วงในและวงนอกรัฐบาล รวมทั้งสมาชิกสภาขุนนาง บริษัทเหล่านี้ บางทีทางฝ่ายทหารต้องการให้ไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อนโยบายบางอย่าง บริษัทก็จำต้องยอมเสี่ยง ผลก็คือบริษัทต่าง ๆ มักจะร่วมมือกับฝ่ายทหารในนโยบายจักรวรรดินิยม เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน

๔. พรรคการเมือง

พรรคการเมืองของญี่ปุ่นในสมัยนั้นก็คล้าย ๆ กับเรื่องของอุตสาหกรรมไซบัทสุ ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีพรรคการเมืองหลายพรรคไม่มีแนวนโยบายแน่ชัด แต่ตั้งขึ้นก็เพราะชอบพอกันในส่วนตัวมากกว่า ครั้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้ว ได้เริ่มจัดพรรคทะมัดทะแมงขึ้นแบบตะวันตก ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ซึ่งเป็นปีที่เกิดสงคราม พรรคเหล่านี้ไม่มีอำนาจริงจัง ก่อนนั้นขึ้นไปมีพรรคใหญ่ๆสองพรรค พรรคแรกเรียกว่า พรรคไซยูกาย (Seiyukai) แปลว่า มิตรของสมาคมการเมือง อีกพรรคหนึ่งมีชื่อว่า มินไซโต (Minseito) แปลว่าพรรคการเมืองของราษฎร นโยบายไม่ต่างกันเท่าใดนัก ต่างประกาศว่าตนมีนโยบายเสรีนิยม พรรคไซยูกายได้รับการสนับสนุนมากจากพวกเจ้าของที่ดิน ส่วนพรรคมินไซโตจากพวกอุตสาหกร พรรคไซยูกายชอบจักรวรรดินิยมมากกว่าและสนับสนุนคณะทหารที่จะขยายอิทธิพลในเอเซีย ทั้งสองพรรคได้เงินอุดหนุนจากอุตสาหกรรมไซบัทสุ พรรคไซยูกายได้จากบริษัทมิตซุย และพรรคมินไซโตได้จากบริษัทมิตซูบิชิ

คำว่า “เสรีนิยม” ของญี่ปุ่นสมัยนั้นไม่ค่อยตรงกับความหมายของ “เสรีนิยม” ของอังกฤษนัก ในสาระสำคัญตรงกันกับอังกฤษคือนิยมการปกครองแบบมีผู้แทนราษฎร นิยมระบอบประชาธิปไตย ในด้านนโยบายต่างประเทศเป็นมิตรไมตรีกับนานาประเทศ รัฐบุรุษตัวอย่างซึ่งโลกให้ความเคารพนับถือว่าเป็นนักเสรีนิยม และนักประชาธิปไตยของญี่ปุ่นจริง ๆ ก็มีหลายท่าน แต่ที่แสดงตนปรากฏแก่โลก คือ บารอนชิเดฮารา (Baron Shidehara) ชิเดฮาราเคยเป็นเอกอัครราชทูตที่กรุงวอชิงตัน ภายหลังเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ชิเดฮาราพยายามให้รัฐบาลประพฤติเป็นประชาธิปไตยทางรัฐสภาเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎร แต่ในที่สุดก็ถูกทางทหารบีบคั้น ต้องลาออก เกี่ยวกับนโยบายต่อประเทศจีน ซึ่งชิเดฮาราเห็นว่า ควรจะหาทางตกลงให้เป็นธรรมทั้งสองฝ่ายซึ่งขัดกับนโยบายของฝ่ายทหารที่จะขยายอิทธิพลลงมาทางจีน และภาคใต้ เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว ชิเดฮารา ซึ่งอยู่นอกราชการร่วม ๑๕ ปี ได้รับการสนับสนุนจากสัมพันธมิตรให้เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๔๖) และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ (ค.ศ. ๑๙๕๑)

อีกท่านหนึ่งคือ ชิเงรู โยชิดา (Shigeru Yoshida) เคยเป็นเอกอัครราชทูตที่อังกฤษระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๙-๒๔๘๑ (ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๘) ต่อมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ภายหลังสงครามได้เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างสงครามถูกตำรวเกมเป้จับไปขัง เพราะแสดงความคิดเห็นขัดกับทหาร

สองท่านดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้จัก ที่รู้จักมีอีกท่านหนึ่งซึ่งเห็นจะพอกล่าวได้ว่า เป็นนักเสรีนิยมจริงๆ คือ ชิเงมิทสุ (Shigemitsu) รัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างสงคราม แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ บังคับให้ติดร่างแหไปกับพวกอาชญากรสงคราม และต้องถูกจำคุกอยู่ เมื่อออกจากคุกแล้วได้สมัครรับเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎร แล้วกลับได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และรองนายกรัฐมนตรี ใน รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮาโตยามา (Hatoyama) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ (ค.ศ. ๑๙๕๔) ถึงอนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ (ค.ศ. ๑๙๕๗)

อีกท่านหนึ่งชื่อ เซฮิน อิเกดา (Seihin Ikeda) อดีตรัฐมนตรีว่าการคลังก่อนสงคราม เป็นนักเรียนสำเร็จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ท่านผู้นี้ข้าพเจ้ารู้จักและจะได้กล่าวถึงในตอนหลังเช่นเดียวกัน

ฉะนั้น ถ้าจะถือว่าพวกเสรีนิยมของญี่ปุ่นดังกล่าวแล้วเป็นพวกมีนโยบายกลาง ๆ ไม่เอียงขวาหรือเอียงซ้ายแล้ว พวกขวาของเสรีนิยมอีกพวกหนึ่งก็ต้องเรียกว่าเป็นพวกขวาจัด แต่ยังไม่ถึงกับขวาสุด เราทราบแล้วว่า เมื่อญี่ปุ่นเริ่มใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ (ค.ศ. ๑๘๘๙) โดยยุบเลิกลัทธิระบบฟิวดัล แม้กระนั้นก็ดี ความคิดในเรื่องระบบฟิวดัลยังคงฝังอยู่ในความคิดของประชาชนชาวญี่ปุ่นอยู่มาก ความคิดนี้คือเรื่องการปกครองบ้านเมืองไม่ใช่หน้าที่ของตน แต่เป็นหน้าที่ของหัวหน้า ฉะนั้น เมื่อหัวหน้าว่าอย่างไร ตนก็มีหน้าที่ปฏิบัติตาม พวกขวาเห็นว่าการปกครองควรจะเป็นทำนองระบอบปิตาธิปไตย คือ บิดากับบุตร และสถาบันของญี่ปุ่นนั้นสูงกว่าประเทศอื่น ๆ มาก พวกที่มีความคิดเสรีนิยมนั้น ไม่ใช่ญี่ปุ่นแท้จริง เพราะคติธรรมของญี่ปุ่นไม่ใช่เช่นนั้น พวกนี้ยกทฤษฎีพระจักรพรรดิมีเทวสิทธิ (Divine right) ราษฎรมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด นายทหารส่วนมากมักมีคติดังกล่าว ผู้นำของความคิดนี้มีหลายนายด้วยกัน แต่ที่มีชื่อดัง คือ บารอนฮิรานูมา

ลักษณะอื่น ๆ

๑) ความรักชาติบ้านเมืองและเคารพบูชาพระมหาจักรพรรดิ

โลกยกย่องให้ว่า ชาวญี่ปุ่นมีความรักชาติบ้านเมืองและเคารพบูชาพระมหาจักรพรรดิและกล้าหาญในสนามรบเป็นอย่างยิ่ง แต่ความรักชาติยิ่งนี้เลยกลับเป็นหลงชาติ ดังจะได้กล่าวต่อไป ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินเรื่องทหารญี่ปุ่นสามคนอาสาเป็นลูกระเบิด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) ญี่ปุ่นกำลังเริ่มทำสงครามกับจีนและกำลังจะรุกจากเซี่ยงไฮ้ไปที่เมืองอื่น พลทหารญี่ปุ่น ๓ นายอาสาแบกท่อที่ใส่กระสุนดินดำชนวนระเบิดยาว ๑๒ ฟีต ครั้นแล้วก็จุดหัวชนวน กอดท่อนี้วิ่งฝ่ากระสุนปืนกองทัพจีน ตรงไปที่รั้วลวดหนามซึ่งฝ่ายจีนกั้นไว้ เพื่อให้กองทหารญี่ปุ่นรุกตามเข้าไปได้โดยยอมตาย หรือในระหว่างสงครามเครื่องบินยอมตายของญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า Kamikaze แปลว่า พายุของเทวดา โดยนักบินยอมตาย นำเครื่องบินติดลูกระเบิดพุ่งเข้าสู่เรือรบหรือเป้าหมาย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผิดพลาด การกล้าหาญยอมตายสู้จนถึงที่สุดของทหารญี่ปุ่นได้ปรากฏชัดในสงครามมหาเอเซียบูรพาครั้งที่แล้ว เช่น ที่เกาะโอกินาวา เกาะอิโวจีมา เกาะไซปัน มาเรียนนา ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ากำลังสู้ไม่ได้ ทหารเหล่านี้ได้รับการอบรมว่า การยอมแพ้หรือเสียเกียรติมีไม่ได้ ฉะนั้นทำลายตัวเองดีกว่าให้ข้าศึกทำลาย

การเคารพบูชาพระมหาจักรพรรดิก็เป็นยอดเยี่ยมไม่มีชาติใดทัดเทียม ทั้งนี้เพราะเหตุผลหลายประการ ได้กล่าวแล้วว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๓๒ (ค.ศ. ๑๘๘๙) ได้ยกเอาเยอรมันนีสมัยนั้นมาเป็นหลัก และเนื่องจากเกรงพวกโชกุนจะกลับยึดอำนาจอีก ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญจึงใส่ไว้ชัดเจนว่า พระจักรพรรดิสืบราชสมบัติมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนไม่สามารถระบุได้ว่าสมัยไหน ประชาชนจะต้องเคารพบูชาเชื่อฟัง ฯลฯ ได้กล่าวแล้วว่า ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โชกุนหรือผู้สำเร็จราชการมีอำนาจมาก เพราะมีพวกพ้องสนับสนุน คือ พวกสวามินและซามูราย พวกนี้เป็นสกุลนักรบชอบสงคราม อีกพวกหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายข้างน้อย คือ ฝ่ายสนับสนุนพระจักรพรรดิ แต่เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า ถ้าขืนไม่รวมกันสนับสนุนพระจักรพรรดิ ชาวต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นเริ่มเข้ามาติดต่ออยู่แล้วตั้งแต่ครั้งนายพลเรือเปอรี่ (Perry) แห่งกองทัพเรืออเมริกันได้ใช้กำลังบังคับประเทศจะตกอยู่ในฐานะอันตราย กลายเป็นเมืองขึ้นของต่างประเทศ และเพื่อให้ราษฎรทั่วไปเห็นตาม จึงได้สร้างลัทธิบูชาพระจักรพรรดิขึ้น เรียกว่า Tennoism แปลว่า การเคารพบูชาเจ้าผู้ครองซึ่งเสด็จมาจากสวรรค์

๒) ชาตินิยม

ในสมัยนั้นคนญี่ปุ่นไม่น้อยยืนยันว่า ญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษจากชาติอื่น เพราะสวรรค์ต้องการเช่นนั้น จึงโปรดให้มีพระจักรพรรดิมานับพัน ๆ ปีไม่ขาดสาย พวกชาตินิยมนี้ถือว่า รัฐธรรมนูญที่มีอยู่นั้นเป็นแต่ตัวอักษร แต่ความจริงนั้น การปกครองของญี่ปุ่นไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมตั้งแต่มีผู้สร้างโลก และญี่ปุ่นเป็นผู้สืบสายสกุลของพระเจ้า ซึ่งเป็นพระอาทิตย์ ให้พระจักรพรรดิจุติลงมาปกครองญี่ปุ่น แต่ในใจจริงจะเชื่อเพียงใดหรือไม่ ๆ ทราบ แต่ก็มีญี่ปุ่นบางนายกล่าวว่าพวกที่มีความเห็นเช่นนี้สร้างความคิดนี้ขึ้นเพื่อจูงประชาชน

๓) ลัทธิแสนยานุภาพ (Militarism)

ได้กล่าวแล้วว่า ก่อนใช้รัฐธรรมนูญ ญี่ปุ่นปกครองโดยระบบฟิวดัล ระบบดังกล่าวนี้เอง ได้มีส่วนสำคัญมีอิทธิพลส่งเสริมลัทธิแสนยานุภาพ ระบบฟิวดัลยกหลักที่เรียกว่า Bushido ซึ่งแปลว่า แสนยานุภาพ กล่าวคือ แสนยานุภาพเป็นอุดมการณ์สูงสุด อัศวิน หรือซามูราย (Samurai) ทุกคนจะต้องถือเป็นหลักประจำชีวิต หลักนี้ใช้ตลอดมา ๖๐๐ กว่าปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๒๘ (ค.ศ. ๑๑๘๕) จนถึงใช้รัฐธรรมนูญ ซามูรายไม่เพียงเป็นทหารเอกของโชกุนและไดมาโย แต่ทำหน้าที่เป็นตุลาการด้วย หลักของบูชิโด คือ ต้องมีความจงรักภักดีอย่างไม่มีข้อโต้แย้งต่อเจ้าขุนมูลนายของตนคือ สวามินหรืออัศวิน ยิ่งกว่าจงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิเสียอีก

เคยมีผู้วิจารณ์ ว่า ญี่ปุ่นในสมัยก่อนและระหว่างสงคราม มีคณะทหาร แบ่งเป็นสามประเภท คือ นายทหารหนุ่ม นายทหารอาวุโส และนายทหารที่เป็นหลักของกองทัพบกเรียกกันว่า “ชูเกน” (Chuken) ประเภทหลังนี้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในกรุงโตเกียว ในกระทรวงกลาโหม และกรมเสนาธิการทหารบก มียศชั้นนายพลขึ้นไป โดยสรุป

ก. นายทหารหนุ่ม ได้แก่พวกนายร้อยตรี ร้อยโท และร้อยเอก

ข. นายทหารอาวุโส ได้แก่พวกพันโท และพันเอก

ค. นายทหาร “ชูเกน” ได้แก่นายทหารชั้นนายพลขึ้นไป

(นายทหารชั้นพันตรีอยู่ในประเภท ก. หรือ ข.)

ประเภท ก. โดยที่ยังหนุ่มอยู่จึงเลือดร้อนและยังไม่เจนจัดการบ้านเมือง มีความคิดอย่างเดียวว่า ใครที่ตนคิดว่าขัดขวางการปฏิรูปของญี่ปุ่นตามความคิดของตนจะต้องถูกฆ่าให้พ้นไป

ประเภท ข. พวกนี้ฉลาดสุขุมกว่าประเภท ก. และดำเนินงานโดยใช้พวกประเภท ก. เพื่อให้เป็นไปตามความคิดเห็นของตนเพื่อตั้งรัฐบาลทหารขึ้น ถ้าสามารถทำก็ทำโดยรัฐประหาร (coup d’etat) แม้วิธีนี้ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปไม่เป็นผลสำเร็จ แต่ก็เป็นเหตุให้พวกนักประชาธิปไตยครั่นคร้ามและท้อแท้ สำหรับทหารเรือก็แบ่งทำนองเดียวกัน

พฤติการณ์ต่าง ๆ ซึ่งส่งเสริมลัทธิแสนยานุภาพ

ก. ความเหลวแหลกของนักการเมือง

นายชิเงมิทสุ รัฐมนตรีต่างประเทศผู้หนึ่งในระหว่างสงคราม เป็นพวกเสรีนิยมผู้หนึ่งได้เขียนอธิบายเรื่องพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่หนุนให้คณะทหารละเมิดรัฐธรรมนูญและไม่ปฏิบัติฟังคำสั่งรัฐบาล อาทิ ในกรณีรุกเข้าไปแมนจูเรียและจีน ชิเงมิทสุ กล่าวว่า ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ (ค.ศ. ๑๙๒๒ ถึง ๑๙๒๖) นับได้ว่า ญี่ปุ่นได้ก้าวเข้าระบอบประชาธิปไตยระบบมีพรรคการเมืองถูกต้องตามระเบียบที่ปฏิบัติกันในประเทศตะวันตก แต่ก็ยังไม่ทิ้งการปฏิบัติแบบเก่า ทั้งนี้เพราะเมื่อจักรพรรดิเมยีได้พระราชอำนาจ ก็คงทรงเกรงพระทัยพวกสวามิน จึงยังคงให้สวามินได้เอกสิทธิพิเศษอยู่อีก เมื่อเป็นเช่นนี้ คนญี่ปุ่นรุ่นต่อ ๆ มา ก็คงยังติดนิสัยเดิมอยู่และนิยมผลประโยชน์ของชาติวงศ์ (clan) ของตน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ฝ่ายประชาธิปไตยชนะสงคราม ญี่ปุ่นเองก็เป็นฝ่ายชนะด้วยก็ได้รับกลิ่นไอประชาธิปไตยมากขึ้น แต่เป็นกลิ่นไอเลวๆ พรรคการเมืองซึ่งควรจะประพฤติตนเป็นผู้แทนผลประโยชน์ของราษฎรจริงๆ แต่ก็ไม่ประพฤติ กลับทำทุกอย่างเพื่อหาประโยชน์ใส่ตน ส่วนมากคำนึงถึงความเจริญของชาติเป็นที่สองจากประโยชน์ส่วนตัว พวกนี้เมื่อต้องการเงินมาเพื่อใช้จ่ายทางการเมืองก็หันไปพึ่งขอพวกอุตสาหกรที่เป็นเศรษฐีโดยให้สิ่งตอบแทนแก่พวกเศรษฐเหล่านี้ พวกธนากรเหล่านี้ก็ถือโอกาสเรียกเอาประโยชน์ตอบแทนจากนักการเมืองเหล่านี้เต็มที่ เงินที่นักการเมืองเหล่านี้ได้ไปก็เอาไปเสริมความโลภทะเยอทะยานยิ่งขึ้น ผลก็คือพวกคนยากจนไม่ได้ประโยชน์จากนักการเมืองเหล่านี้ ซึ่งเขาหวังว่าจะดูแลผลประโยชน์ให้เขา และสภาพการเมืองระบบรัฐสภาก็ทรุดลงทุกวัน ที่กล่าวนี้หมายความถึงความเหลวแหลกของทั้งสองพรรค คือพรรคไซยูกาย และมินไซโต

ข. ความคิดคลาดเคลื่อน

ข้าพเจ้ายังจำได้ดีเมื่อเป็นนักเรียนเรียนประวัติศาสตร์ตะวันออกไกลเรื่องญี่ปุ่น อดที่จะภูมิใจไปกับญี่ปุ่นด้วยไม่ได้ที่สามารถชนะรัสเซียได้เมื่อสงครามปี พ.ศ. ๒๔๔๖-๒๔๔๗ (ค.ศ. ๑๙๐๓-๑๙๐๔) และญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าอย่างใดจนสามารถเลิกล้มสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาติยุโรปได้ ยิ่งเสร็จสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาประเทศหนึ่งในห้า ซึ่งมีอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอิตาลี นายชิเงมิทสุถึงกับเขียนไว้ว่า พวกเราชาวญี่ปุ่นเป็นอันมากก็เช่นเดียวกัน ภูมิใจปลื้มใจในความเป็นใหญ่ของตน และคิดไปว่าความใหญ่ของตน ความกล้าหาญ ความอดทน ฯลฯ คงจะทำให้ชาติอื่น ๆ ยอมให้ญี่ปุ่นใหญ่ยิ่ง เฉพาะอย่างยิ่งในเอเซีย

ค. การฆาตกรรมเป็นเครื่องมือของนโยบาย

คณะทหารทั้งบกและเรือเห็นว่า ในกรณีเกิดศึกสงครามตนจะต้องเสียสละป้องกันประเทศจากศัตรู ฉะนั้นการที่นักการเมืองแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวร่วมกับพวกธนากร จึงทำให้พวกทหารไม่พอใจมาก และเห็นว่านโยบายเสรีนิยมดี ทุนนิยมก็ดี เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้สังคมเน่าเฟะ การที่จะรักษาเยียวยาโรคนี้ได้ก็ต้องกำจัดพวกที่ทำให้สังคมเน่าเฟะออกไปเสียจากโลกนี้ เพราะพวกนี้ไม่ต่างอะไรกับพวกที่ถือได้ว่าเป็นพวกทรยศต่อชาติ การฆ่าเสียไม่เห็นผิดอะไร ความคิดนี้แพร่ไปในกองทัพทั้งบกและเรือ เฉพาะอย่างยิ่งในกรมเสนาธิการทหาร โรงเรียนเสนาธิการ นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายเรือ และพวกนายทหารหนุ่ม พวกเหล่านี้เห็นว่าการกำจัดนักการเมืองดังกล่าว ได้จะเป็นการรักชาติอย่างสูงสุด พวกนายทหารหนุ่มๆเหล่านี้ถึงกับตั้งสมาคมลับขึ้นเรียกว่า สมาคมของดาบสวรรค์ (Society of the Sword of Heaven) และสมาคมนี้เองได้กลายเป็นเครื่องมือของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ดังได้กล่าวแล้วในเรื่องลัทธิแสนยานุภาพ

ที่ว่าใช้วิธีฆาตกรรมเป็นเครื่องมือของนโยบายนั้น หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ใช้การฆาตกรรมบุคคลที่คณะเห็นว่าขัดขวางนโยบายของตน เพื่อให้ไม่มาขัดขวางได้ และเพื่อเตือนไม่ให้ บุคคลอื่นที่ยังลังเลใจอยู่เลิกขัดขวางด้วย

เราทราบแล้วว่า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศมหาอำนาจ ในขณะเดียวกันเนื่องจากรัสเซียซึ่งอยู่ใกล้ญี่ปุ่นกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ลัทธินี้ได้แพร่เข้ามาในญี่ปุ่น มีผู้นิยมบ้างพอสมควร จึงเกิดมีลัทธิค้านต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้นดังกล่าวแล้ว โดยมีบารอน ฮิรานูมา เป็นหัวหน้า ต่อมาเมื่อเกิดระบอบนาซีขึ้นในเยอรมันนี สมัยฮิตเล่อร์ ลัทธินี้ได้จูงใจพวกชาตินิยม และพวกนิยมลัทธิแสนยานุภาพเป็นอันมาก

พวกที่ถือว่าตนเป็นพวกปัญญาชน เห็นว่าควรจะปฏิรูปการปกครอง เห็นว่าควรร่วมมือกับคณะทหารทำการรัฐประหาร และตั้งรัฐบาลแบบนาซีขึ้น ถ้าสำเร็จก็จะยุบเลิกพรรคการเมือง และกำจัดพวกธนากรที่เข้ามามีอิทธิพลในการเมือง เพราะใช้อิทธิพลเอาเงินเข้าโปรยปราย พวกนี้ซึ่งตั้งเป็นสมาคมลับเรียกว่า สมาคมดอกซากุระ เริ่มจะลงมือในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ (ค.ศ. ๑๙๓๑) แต่ไม่สำเร็จ เพราะพลเอกอูงากรัฐมนตรีกลาโหมและนายทหารผู้ใหญ่อีกหลายนายไม่ยอมเห็นพ้องด้วย

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ (ค.ศ. ๑๙๓๑) พวกนี้พยายามอีกแต่ไม่สำเร็จ เพราะมีนายทหารหลายนายที่ไม่เห็นด้วย เข้ารายงานต่อผู้บังคับบัญชา มีการจับกุมกัน แต่ในที่สุดก็ปล่อยตัวไป

ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ (ค.ศ. ๑๙๓๐) ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ (ค.ศ. ๑๙๓๖) มีการฆาตกรรมคนสำคัญถึง ๙ ครั้ง และพยายามแต่ไม่สำเร็จถึง ๔ ครั้ง นอกจากสมาคมลับสองสมาคมดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกสมาคมหนึ่งเรียกว่า “Blood Brotherhood” หรือ “โลหิตภราดรภาพ” สมาชิกแต่ละคนลงนามสาบานเขียนด้วยโลหิตว่า จะต้องฆ่าคนให้ได้หนึ่งคน ที่น่าประหลาด หัวหน้าของสมาคมนี้เป็นนักพรต ชื่อ นิสโช อินูเอ (Nissho Inouye)

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ (ค.ศ. ๑๙๓๐) มีการประชุมนาวีที่กรุงลอนดอน การประชุมนี้ญี่ปุ่นได้ยอมเซ็นสัญญาจำกัดกำลังรบทางเรือ พวกทหารเรือไม่พอใจอย่างยิ่ง หาว่ารัฐบาลไปยอมตกลง เพราะอ่อนแอ สมาคม “โลหิตภราดรภาพ” จึงลงมติให้สมาชิกนายหนึ่ง ไปประหารนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคมินไซโต ชื่อ ฮามากูจิ

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) จุนโนซูเก อินูเอ (Junnosuke Inouye) รัฐมนตรีคลังซึ่งมีนโยบายเสรีนิยมและสนับสนุนฮามากูจิ นายกรัฐมนตรีที่ถูกฆ่า ก็ถูกสมาชิกสมาคมโลหิตภราดรภาพฆ่าอีก ต่อมาบารอนแดน (Baron Dan) หัวหน้าสกุลมิตซุย ก็ถูกฆ่าอีก เพราะสมาคมโลหิตภราดรภาพเห็นว่านิยมตะวันตก

วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค. ศ. ๑๙๓๒) มีการฆ่านายกรัฐมนตรีอีก อินุกาย (Inukai) ซึ่งเป็นพลเรือนและเป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไซยูกาย ไม่เห็นด้วยกับคณะทหารซึ่งตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นที่แมนจูกัว และโอนอำนาจหน้าที่การพิจารณาปัญหาแมนจูเรียจากกระทรวงการต่างประเทศไปเป็นอำนาจของกระทรวงกลาโหม อินูกายพยายามคัดค้านทุกวิถีทางโดยให้เหตุผลว่า จะเป็นชนวนให้กระทบกับจีน อังกฤษและสหรัฐอเมริกา แต่ไม่สำเร็จ นอกจากนี้อินูกายยังมีไส้ศึก คือ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสมาชิกในพรรคการเมืองไซยูกาย ซึ่งอินูกายเองเป็นสมาชิก ไปสมคบกับทหารบกทหารเรือที่จะต่อต้านไม่ให้อินูกายดำเนินนโยบายคัดค้านเรื่องแมนจูเรีย

ในวันดังกล่าว มีคณะนายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่ง ล้วนแต่เป็นสมาชิกพรรคสมาคม “โลหิตภราดรภาพ” มีนายทหารเรือยศเรือตรีเป็นหัวหน้า บุกเข้าไปในทำเนียบนายกรัฐมนตรี ทหารยามและข้าราชการประจำทำเนียบที่ขัดขวางถูกยิงตายหมด อินูกายมีสติและกล้าหาญออกมาเผชิญหน้าพวกนี้และถามว่า มีธุระอะไรจึงได้เข้ามาในทำเนียบนายกรัฐมนตรี พวกนี้ไม่ตอบ นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า เมื่อไม่ตอบก็ไม่ต้องเสียเวลา ยิงฉันได้ พวกนายทหารหนุ่มนี้จึงระดมยิงขาดใจตายทันที ในเวลาเดียวกัน พวกที่สมรู้ด้วยได้โยนลูกระเบิดเข้าไปในอาคารราชการหลายแห่ง รวมทั้งโรงไฟฟ้า

ที่น่าประหลาดคือระหว่างพิจารณาคดีในศาล จำเลยมีโอกาสโฆษณาเต็มที่ว่า ที่จำต้องฆ่านายกรัฐมนตรี เพราะเหตุใด เหตุสำคัญที่อ้างคือ ผู้ตายทำให้ฐานะของญี่ปุ่นตกต่ำในสายตาของโลก จึงจำต้องฆ่าเสีย ถ้าขืนปล่อยไว้พระจักรพรรดิเองจะพลอยเสียไปด้วย เพราะมีที่ปรึกษาไม่ดี หนังสือพิมพ์พากันชมเชย และระหว่างพิจารณา แทนที่จำเลยจะเกรงกลัวเคารพผู้พิพากษา ผู้พิพากษากลับต้องกลัวเกรงจำเลย ในที่สุดพวกนี้ถูกตัดสินจำคุกคนละ ๕ ปี แต่เนื่องจาก เคยทำคุณความดี ให้ลดลงเป็น ๓ ปี

อาจกล่าวได้ว่า การฆาตกรรมครั้งนี้เป็นอวสานของการมีรัฐบาลญี่ปุ่นโดยระบอบรัฐสภาอันแท้จริง และตั้งแต่นั้นมาไม่มีผู้กล้าคัดค้านทหารจริงจัง เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้

นายชิเงมิทสุ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เขียนต่อไปว่า รัฐบาลระบบพรรคการเมืองถึงอวสาน เพราะว่าโดยการคุกคามต่อชีวิตเช่นนี้ ทำให้มีการหวาดเกรงทั่วไป ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะพวกปัญญาชนไม่เข้าใจสถานการณ์ แต่พวกปัญญาชนนี้ก็ยังหวังว่า พวกทหารเหล่านี้คงจะลดราวาศอกลงบ้าง มิฉะนั้นก็จะนำประเทศไปสู่ความหายนะ เจ้าชายไซออนจิซึ่งเป็นรัฐบรุษผู้ใหญ่คนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ก็พยายามใช้ให้คณะนายทหารเรือไปรั้งเหนี่ยวทหารบก แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะคณะทหารเรือเองก็เป็นไปด้วย

ข้าพเจ้าขอแทรกเรื่องพิเศษในตอนนี้ ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินชื่อนักกฎหมายญี่ปุ่นเรื่องนาม ชื่อ ดอกเตอร์ มิโนเบ (Minobe) มิโนเบเป็นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญมีชื่อเสียงมากและกล้าหาญ มิโนเบอธิบายในคำสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญว่า ผู้ที่มีอำนาจปกครองบ้านเมืองคือ รัฐบาลซึ่งราษฎรเลือกตั้งมา ทหารไม่มีอำนาจอย่างใด เพราะเป็นเพียงข้าราชการซึ่งต้องปฏิบัติตามความคิดเห็นของราษฎรส่วนมาก พระจักรพรรดิเป็นองค์กรองค์หนึ่งของรัฐ คณะทหารประกาศว่า คำอธิบายของมิโนเบเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้ เพราะเป็นการขัดขวางในการที่ตนจะแอบอ้างพระบรมเดชานุภาพ ในที่สุดด้วยความกดดันหลายทาง มิโนเบถูกปลดจากตำแหน่งศาสตราจารย์ และถูกตัดสิทธิในการที่จะรับราชการทุกสาขา ตำราของมิโนเบถูกริบ พวกลูกศิษย์ก็พลอยรับบาปด้วย มีผู้พยายามฆ่า แต่ก็พลาดไปเพียงบาดเจ็บสาหัส ความจริงความคิดเห็นของมิโนเบนี้ไม่ได้ผิดอะไร มิโนเบมีความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญอังกฤษ คือ พระจักรพรรดิเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) รัฐบาลซึ่งราษฎรเลือกตั้งมามีอำนาจทางบริหารสูงสุดยิ่งกว่าใครๆหมด ภายหลังสงครามครั้งนี้เจ้าตำราต่าง ๆ ได้สนับสนุนว่ามิโนเบถูกต้อง ตำราของมิโนเบกลับนำมาใช้ได้อีก

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ (ค.ศ. ๑๙๓๕) พันเอกเอซาวา (Aizawa) แห่งกรมทหารราบในกรุงโตเกียวเดินเข้าไปในที่ทำงานของนายพลนางาตา (Nagata) หัวหน้ากิจการทหารกระทรวงกลาโหม และชักดาบออกฟันนางาตาถึงแก่กรรมทันที สาเหตุมีว่าเอซาวาถูกนางาตาสั่งย้ายไปรับราชการที่เกาะฟอร์โมซา ซึ่งเอซาวาเห็นว่า ไม่ยุติธรรม แต่ในการพิจารณาคดีปรากฏว่าคณะนายทหารหนุ่ม ซึ่งพันเอกเอซาวาเป็นสมาชิกไม่พอใจในการที่พลเอกมาซากิ จเรยุทธศึกษาทหารบก ซึ่งมีนโยบายรุนแรงและพวกนายทหารหนุ่มนิยมชมชอบถูกย้ายไปรับราชการที่อื่น และนายพลนางาตามีส่วนในการให้นายพลมาซากิต้องถูกย้ายด้วย คดีนี้เอซาวาถูกประหารชีวิต เพราะเป็นการฆ่ากันเองระหว่างทหารต่อทหาร และผู้ถูกฆ่าเป็นนายพลในราชการ

ปฏิวัติ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ (ค.ศ. ๑๙๓๖)

ปฏิวัติ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ (ค.ศ. ๑๙๓๖) นับว่าเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุด ในวันนี้เวลาเช้ามืด ทหารซึ่งส่วนมากเป็นพลทหารใต้การบังคับบัญชาของนายทหารแบ่งออกเป็นหลายหมู่ เพื่อไปทำการฆาตกรรมบุคคลสำคัญ ๆ ของชาติ ตามรายชื่อต่อไปนี้ เจ้าชายไซออนจิรัฐบุรุษผู้ใหญ่หรือเงนโร พลเรือเอกโอกาดา (Okada) นายกรัฐมนตรี เคานต์มากิโน (Makino) อดีตสมุหพระราชลัญจกร พลเรือเอกซูสุกิ (Suzuki) สมุหพระราชวัง นายตากาฮาชิ (Takahashi) รัฐมนตรีคลัง ซึ่งมีชื่อเสียงในความรู้ความสามารถมาก ไวส์เคานต์ ไซโต (Saito) สมุหพระราชลัญจกร และพลเอกวาตานาเบ (Watanabe) จเรยุทธศึกษา สามนายแรกสามารถหลบหนีไปได้เพราะทราบข่าวล่วงหน้า พลเรือเอกซูสุกิบาดเจ็บสาหัส สามนายหลังตาย คณะทหารเหล่านี้เห็นว่า พวกเหล่านี้ ยกเว้นนายพลวาตานาเบ เป็นพวกแอนตี้ทหาร และคอยกราบทูลพระจักรพรรดิไม่ให้โอนอ่อนตามพวกทหาร ส่วนนายพลเอกวาตานาเบนั้น ถูกหาว่าเป็นต้นเหตุในการโยกย้ายนายพลมาซากิดังกล่าวแล้ว ในวันเดียวกันนี้ทหารหน่วยอื่นได้เข้ายึดกระทรวงกลาโหม กรมตำรวจ และอาคารต่าง ๆ ใกล้พระบรมมหาราชวัง ทั้งนี้เพื่อให้พระจักรพรรดิตกมาอยู่ในเงื้อมมือฝ่ายตน และก็จะบงการให้เปลี่ยนระบอบการปกครองได้ เคราะห์ที่ทหารหน่วยอื่น ๆ ในกรุงโตเกียวไม่รู้เห็นด้วย จึงไม่ยอมร่วมมือ ทางด้านกองทัพเรือก็ไม่พอใจเพราะนายทหารชั้นพลเรือเอกของตนถูกฆ่า จึงเอาเรือรบเข้ามาชุมนุมในอ่าวโตเกียว ฝ่ายปฏิวัติยึดอยู่ ๓ วัน เมื่อเห็นว่าไปไม่รอดจึงยอมจำนน พวกนี้ถูกขึ้นศาล แต่ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิตเพียง ๑๙ นาย เพราะเห็นว่าเป็นตัวการ ส่วนนายและพลทหารอื่น ๆ ซึ่งเป็นเพียงผู้สมรู้ร่วมคิด ๑,๐๐๐ กว่านาย ทางการไม่เอาตัวขึ้นศาล

เนื่องจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ จึงมีผู้ขยาดไม่กล้าแสดงความคิดเห็น

  1. ๑. หนังสือการทูตเล่มหนึ่ง หน้า ๕๒๖ ๕๖๙, หน้า ๖๘๔-๘๑๖

  2. ๒. ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สัมพันธมิตรบังคับให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเหตุให้ผู้นิยมนโยบายรุกรานถือประโยชน์จากรัฐธรรมนูญนี้ โดยแอบอ้างพระราชอำนาจพระจักรพรรดิ และให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗)

  3. ๓. เป็นเจ้าชายที่ไม่ใช่สมาชิกในพระบรมราชวงศ์ เช่นเดียวกับ เจ้าชายโคโนเอ (Prince Konoe) นายกรัฐมนตรีในสมัยก่อนเกิดสงครามและเรียกคำนำหน้าว่า ฯพณฯ (His Excellency)

  4. ๔. ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจะได้กล่าวในบทที่สองและที่สามของภาคนี้

  5. ๕. ระหว่างสงครามญี่ปุ่นมีรัฐมนตรีต่างประเทศหลายนายด้วยกัน ตามลำดับ นายแรกซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในขณะประกาศสงครามคือ โตโง (Togo) ต่อมา ตานี (Tani) ชิเงมิทสุ (Shigemitsu) โตโง แล้วชเงมิทสุอีก ชิเงมิทสุเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลซึ่งเซ็นสัญญายอมแพ้กับสัมพันธมิตร เกี่ยวกับท่านเหล่านี้ ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป

  6. ๖. บารอนฮิรานูมา (Baron Hiranuma) เกิด พ.ศ. ๒๔๐๕ (ค.ศ. ๑๘๖๒) เคยเป็นนายกรัฐมนตรีและประธานองคมนตรี เป็นผู้มีอิทธิพลสำคัญคนหนึ่งในวงการเมืองของญี่ปุ่น เป็นผู้ก่อตั้งองค์การชาตินิยมโกกุฮอนชา ถูกศาลทหารระหว่างประเทศกรุงโตเกียวตัดสินว่า มีความผิดในฐานสมคบทำสงครามรุกราน และร่วมมือในการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยธรรม ให้จำคุกไว้ตลอดชีวิต ถึงอนิจกรรมในคุก

  7. ๗. ผู้วิจารณ์นี้คือ ออสวาลต์ ไวท์ (Oswald White) เคยเป็นกงสุลใหญ่อังกฤษประจำประเทศญี่ปุ่น อยู่ญี่ปุ่นหลายสิบปี พูดและเขียนภาษาญี่ปุ่นได้อย่างคนญี่ปุ่น

  8. ๘. เรื่องการประชุมนาวีที่กรุงลอนดอน ค.ศ. ๑๙๓๐ ดูหนังสือการทูตเล่มหนึ่ง ของผู้เขียน หน้า ๕๕๗-๕๖๕

  9. ๙. หนังสือ “Behind the Japanese Mask” ของ Sir Robert Craigie อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษ หน้า ๒๙-๓๗ และ Japan and her Destiny ของ Shigemitsu อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นหน้า ๘๐-๘๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ