บทที่ ๔ กลับเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ

[พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) ถึง

กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔)]

----------------------------

ระหว่างรับราชการอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) ข้าพเจ้าป่วยเป็นโรคซึ่งแพทย์ เรียกว่า Phlebetis คือ โลหิตแข็งที่เส้นขา เพราะเลินเล่อไปกระทบกับโต๊ะอย่างแรง แพทย์แนะนำให้อยู่กับบ้านห้ามเดินถึงเดือนกว่า แม้หายแล้วก็ยังเดินไม่ปรกติ ประกอบทั้งอยากกลับมาช่วยบ้านเมืองทางเมืองไทยด้วย ข้าพเจ้าจึงมีหนังสือเรียนจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ขอลาออกจากราชการเพราะป่วย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอบไปว่าให้กลับได้ ส่วนเรื่องอื่นขอให้ไปเจรจากันที่กรุงเทพฯ ในราวปลายเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) ข้าพเจ้าจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ รวมเวลาที่ข้าพเจ้ารับราชการอยู่ในญี่ปุ่นหนึ่งปีกับแปดเดือน ในการนี้รัฐบาลได้ส่งหลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปดำรงตำแหน่งแทน เมื่อข้าพเจ้ากลับมาถึงกรุงเทพ ฯ ในราวต้นเดือนพฤศจิกายน ข้าพเจ้าได้ไปพบจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมด้วยนายพลตำรวจเอก อดุลย์ อดุลยเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ข้าพเจ้ากลับเข้ากระทรวงการต่างประเทศอีก ข้าพเจ้าได้ยืนยันขอตัว นายกรัฐมนตรีก็ไม่ว่ากระไร ข้าพเจ้าจึงเดินทางไปพักผ่อนที่ชายทะเลหัวหิน คืนหนึ่ง จำได้ว่าคืนวันที่ ๒๐ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) วิทยุกระจายเสียงประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งข้าพเจ้าให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีก ข้าพเจ้าตกใจ เพราะไม่นึกฝันว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะกราบบังคมทูลโดยข้าพเจ้ายังไม่ได้ตอบตกลง ข้าพเจ้าจึงโทรเลขถึงพันเอก ไชย ประทีปเสน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้นำความเรียนนายกรัฐมนตรีว่า ข้าพเจ้าขอลาออกจากตำแหน่ง พันเอกไชยไม่ตอบ แต่ได้ขอให้นายพลตำรวเอกอดุลย์ อดุลยเดชจรัส เป็นผู้โทรเลขตอบมาว่า ขอให้กลับไปปรึกษากันที่กรุงเทพฯ ข้าพเจ้ารีบกลับทันที นายพลตำรวจเอกอดุลย์ได้มาพบข้าพเจ้า ชี้แจงว่า ที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศไปนั้น ก็เพราะเกรงว่า ถ้าปรึกษาข้าพเจ้าก็คงจะไม่รับ ขอให้เห็นใจ เวลานี้บ้านเมืองญี่ปุ่นยึดครองอยู่ ต้องช่วยกัน ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่า ที่ข้าพเจ้าไม่อยากรับ เพราะว่าเข็ดมาแล้วก่อนญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย ข้าพเจ้าไม่ทราบนโยบายอันแท้จริงของนายกรัฐมนตรีเลยทั้งๆ ที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ นายพลตำรวจเอกอดุลย์รับรองว่า ต่อไปจะไม่เป็นเช่นนั้น นายกรัฐมนตรีจะรับฟังด้วยดี ในที่สุดข้าพเจ้าก็เลี่ยงตำแหน่งในกระทรวงการต่างประเทศไม่พ้นอีก

ข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอยู่จนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) ในเดือนนี้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดเรื่องสร้างพุทธมณฑล สระบุรี และให้เพชรบูรณ์เป็นนครหลวง ในที่สุดรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลาออกทั้งคณะ และข้าพเจ้าก็ได้ออกจากตำแหน่งพร้อมไปด้วย

อาจกล่าวได้ว่า ระหว่าง ๙ เดือนที่ข้าพเจ้ารับราชการอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศตอนหลังนี้ งานส่วนมากก็เป็นการติดต่อกับฝ่ายญี่ปุ่น มีกับประเทศอื่นบ้าง เช่น เยอรมันนี และฝรั่งเศส แต่ก็ไม่มากนัก งานติดต่อกับญี่ปุ่นในขณะนั้น ถ้าเป็นเรื่องการร่วมมือทางทหารแล้ว เราจัดให้ติดต่อทางกรมประสานงานพันธมิตรซึ่งพลตรีไชย ประทีปเสน เป็นเจ้ากรมอีกตำแหน่งหนึ่ง นอกจากเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำหรับด้านการเมืองนั้น ทูตญี่ปุ่นติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศบ้าง กับนายกรัฐมนตรีบ้าง

ปัญหาที่ยุ่งยากมากที่สุด คือ เราต้องการรักษาประโยชน์ของเรา แต่ญี่ปุ่นก็นึกเพียงว่าเขาต้องการทำสงครามให้สำเร็จ เรื่องเราเป็นห่วงฐานะของเรา เขาขอให้ลืมเสีย อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ฉะนั้น ไทยจำต้องให้ญี่ปุ่นยืมเงินบาทมากที่สุดเท่าที่จะช่วยได้ เพื่อซื้อวัตถุเกี่ยวกับการทหารญี่ปุ่น เราก็ชี้แจงว่า เรายินดีให้ แต่ญี่ปุ่นต้องใช้เราเป็นทองคำหรือไม่ก็ต้องผูกหูไว้ให้ที่ธนาคารชาติแห่งประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้เกี่ยวกับฐานะการเงินของเรา ญี่ปุ่นไม่ยอมเต็มตามที่เราขอ ต้องต่อรองกัน คือ ญี่ปุ่นรับจะขนทองมาให้เรา (แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ส่ง เพราะสงครามหนักยิ่งขึ้น) เราขาดรถไฟ เครื่องอุปกรณ์รถไฟ รถยนต์ ยางรถ เครื่องอุปกรณ์รถยนต์ น้ำมัน ผ้า ญี่ปุ่นตกลงจะส่งให้ตามสมควร ทุกคราวก่อนเจรจากับญี่ปุ่นซึ่งมีเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเป็นหัวหน้าและคณะทหารและพลเรือนญี่ปุ่น ฝ่ายเรามักจะประชุมกันก่อนถึงประเด็นที่จะโต้กับญี่ปุ่น ผู้ที่เข้าร่วมประชุมได้ให้ความคิดเห็นสำหรับโต้ตอบอย่างดียิ่ง มีอาทิ พลเอกพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ม.ล. เดช สนิทวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยยันตร์ ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง และพันเอกไชย ประทีปเสน

ในตอนนี้ข้าพเจ้าขอชี้แจงถึงฐานะการคลังและการเงินของเรา เฉพาะตอนข้าพเจ้ากลับเข้าเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ภายหลังกลับจากญี่ปุ่นจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) คือสองเดือนก่อนรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออก

การช่วยเหลือทางการทหารญี่ปุ่นในเรื่องเงิน ได้แก่การจัดให้ฝ่ายญี่ปุ่นมีเงินบาทสำหรับใช้จ่ายในประเทศไทย เมื่อญี่ปุ่นเข้าเมืองไทยใหม่ ๆ ได้ใช้วิธีให้กู้ยืมเงิน คือโยโกฮามาสเปซีแบงค์ กรุงเทพฯ เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารชาติไทย เสียดอกเบี้ยร้อยละ ๔ ต่อปี และชำระต้นเงินคืนเป็นทองคำ คิดราคา ๑ กรัมบริสุทธิ์ต่อ ๓.๐๖ บาท

ต่อมาระหว่างกลางปี พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ถึงปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) เลิกวิธีให้กู้ยืมเงิน และใช้วิธีให้เครดิตซึ่งกันและกัน คือ โยโกฮามาสเปซีแบงค์ ที่กรุงเทพฯ สั่งธนาคารชาติญี่ปุ่นให้ให้เครดิตบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยที่เปิดไว้ที่ธนาคารชาติญี่ปุ่น เป็นบัญชีเงินเป็นพิเศษ แล้วธนาคารชาติไทยก็เครดิตบัญชีโยโกฮามาสเปซี่แบงค์ กรุงเทพฯ ที่ธนาคารชาติไทยเป็นบาท เงินเย็นพิเศษที่เป็นเครดิตของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ในระยะแรกๆ รัฐบาลญี่ปุ่นยอมให้ซื้อทองคำได้ประมาณร้อยละ ๕๐ แต่ในระยะหลังๆ คือกลางปี พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) รัฐบาลญี่ปุ่นให้ซื้อได้ประมาณร้อยละ ๒๑ ทั้งนี้คิดราคาแพงขึ้น คือ ๑ กรัมบริสุทธิ์ ต่อ ๔.๘๐ บาท

เงินค่าใช้จ่ายในการทหารญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่ญี่ปุ่นเข้าเมืองไทยจนถึงปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) เป็นเงิน ๒๑๖,๗๐๑,๐๘๓ บาท

สำหรับ ๖ เดือนต้นของปี พ.ศ. ๒๔๘๗ หรือ ค.ศ. ๑๙๔๔ คือ หนึ่งเดือนก่อนรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออก เพราะสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติเรื่องใช้พระราชกำหนดพุทธมณฑลดังกล่าว ก็ยังคงใช้วิธีให้เครดิตซึ่งกันและกันอยู่ และในระยะดังกล่าวนี้ ญี่ปุ่นกำหนดว่า จะต้องการเงินอีก ๒๗๕ ล้านบาท โดยญี่ปุ่นจะยอมให้ซื้อทองคำได้ประมาณเพียงร้อยละ ๑๘ ของเย็นเครดิต คือ ลดลงมาอีกร้อยละ ๓ และเพิ่มราคาทองคำเป็น ๑ กรัมบริสุทธิ์ต่อ ๕.๗๘ บาท รวมความว่าญี่ปุ่นรับเงินจากเราไปจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) เป็นเงิน ๔๙๑,๗๐๑,๐๘๓ บาท คิดถัวเฉลี่ยประมาณปีละ ๑๙๖,๗๐๐,๐๐๐ บาท อันเป็นจำนวนสูงกว่ารายจ่ายธรรมดาของรัฐบาลไทยไม่ว่าในปีใดๆ นอกจากนี้รัฐบาลต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๑๗๒ เมื่อต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น ประกอบทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคซึ่งมีน้อยอยู่แล้วเพราะเราค้าขายกับประเทศอื่นไม่ได้ ราคาสินค้าต่างๆ จึงสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย ม.ล. เดช สนิทวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำตัวเลขดัชนีแสดงว่าค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ในกรุงเทพฯ สูงขึ้นเป็นลำดับส่งมาให้ข้าพเจ้า เพื่อโต้กับญี่ปุ่นดังนี้

พ.ศ. ๒๔๘๑ (ค.ศ. ๑๘๓๘) ๑๐๐
พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๘๔๑) ๑๓๒.oo
พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๘๔๒) ๑๗๖.๙๙
พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) ๒๙๑.๕๖
พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔)  
มกราคม ๓๐๑.๑๒
กุมภาพันธ์ ๓๒๗.๔๗
มีนาคม ๔๐๙.๐๗

ในราวกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๔) ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้ชี้แจงกับญี่ปุ่นโดยละเอียดถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว และขอความเห็นอกเห็นใจจากญี่ปุ่นว่า การช่วยเหลือญี่ปุ่นก็คงจะดำเนินต่อไป ประเทศไทยก็จะจัดหาเงินบาทให้สำหรับใช้จ่ายเพื่อการทหารของญี่ปุ่น แต่ขอให้ช่วยจำกัดจำนวนเงินบาทที่รัฐบาลไทยจะพึงจัดหาให้เพียงเท่าที่จำเป็นจริง ๆ และในขณะเดียวกันก็ขอให้มีการส่งมายังประเทศไทย ซึ่งสิ่งของอันจำเป็นแก่ความต้องการของประเทศไทยด้วย ข้าพเจ้าได้เชิญ นายโกอิชิ อุปทูตญี่ปุ่นมาชี้แจง อุปทูตได้กล่าวว่าเรื่องนี้สำคัญมาก จะรีบรายงานให้รัฐบาลทราบ แต่ต่อมาอีกเดือนกว่าเมื่อข้าพเจ้าก็ออกจากตำแหน่งไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงไม่ทราบว่า ผลในเรื่องนี้คืบหน้าต่อไปอย่างใด

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) นี้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกคือ รัฐบาลพลเอกโตโจลาออก และครั้งหลังคือ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามลาออก

ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) เป็นต้นมา เฉพาะอย่างยิ่ง ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ญี่ปุ่นเริ่มปราชัยในการรบที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง ดังจะได้กล่าวต่อไปในเรื่องสถานะสงครามระหว่างระยะเวลาดังกล่าวในท้ายบทนี้ การปราชัยทำให้ราษฎรญี่ปุ่นเริ่มไม่พอใจ แม้คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเองก็ไม่พอใจ เพราะถือว่าพลเอกโตโจรับผิดชอบมาก คือ ในขณะนั้นนอกจากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังเป็นทั้งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและเสนาธิการทหารบกอีกด้วย แต่อิทธิพลสำคัญที่สุดที่บังคับให้พลเอกโตโจจำต้องลาออก ทั้งๆที่แสดงเจตนาไม่ยอมออกคือ คณะอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเรียกว่ายุชิน (Jushin) ประชุมกัน และสมเด็จพระจักรพรรดิก็ทรงเห็นด้วยว่า พลเอกโตโจต้องลาออก ในที่สุดพลเอกโตโจจำใจต้องกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง ทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเสนาธิการทหารบก ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔)

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) ข้าพเจ้าเชิญนายโกอิชิ อุปทูตญี่ปุ่น มาพบ และแสดงความเสียใจในนามจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และตัวข้าพเจ้าเอง ที่พลเอกโตโจต้องลาออก ในฐานที่โตโจเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรกับไทย ข้าพเจ้าได้สอบถามอุปทูตว่าเหตุใดจึงลาออก อุปทูตชี้แจงว่า เหตุที่ลาออกก็เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น และให้ความพยายามในการทำสงครามมีผลดียิ่งขึ้น อีกประการหนึ่ง นักอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ บางคนไม่พอใจต่อนโยบายของพลเอกโตโจ ว่ายังไม่ระดมสรรพกำลังในการรบให้เต็มที่ตามสมควร

ประมาณวันที่ ๒๑ กรกฎาคม หรือ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยื่นใบลาออกต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยให้เหตุผลว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติร่างพระราชบัญญัติ อนุมัติพระราชกำหนดเรื่องพุทธมณฑล และเรื่องให้เมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง เท่ากับเป็นการแสดงความไม่ไว้วางใจ แต่ยังไม่เด็ดขาด เพราะคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยังไม่ได้ตอบรับใบลา วันที่ ๒๔ กรกฎาคม อุปทูตญี่ปุ่นมาขอพบข้าพเจ้า ถามถึงเรื่องนี้ว่า ได้ข่าวว่ารัฐบาลลาออกจริงหรือไม่ ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาวิถีทางอยู่ รุ่งขึ้นอุปทูตญี่ปุ่นมาขอพบอีก ถามว่า บัดนี้ปรากฏทั่วไปแล้วว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ลาออกแล้ว จริงหรือไม่ โดยที่เรื่องนี้ บัดนี้ทั่วกรุงเทพ ฯ ทราบกันทั่วไปแล้ว ข้าพเจ้าได้ตอบว่าเป็นความจริง แต่ยังไม่เปิดเผยเป็นทางราชการ และเรื่องลาออกก็ไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการต่างประเทศ เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชกำหนดสองฉบับดังกล่าว เพราะรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องของการไม่ไว้วางใจ ผลต่อมาคือ นายควง อภัยวงศ์ ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบ แทน จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายควง อภัยวงศ์ ได้ขอให้ข้าพเจ้าอยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่ข้าพเจ้าได้ขอตัว เพราะจะได้มีโอกาสดำเนินงานช่วยชาติในด้านอื่นเต็มที่ยิ่งกว่า

รายนามรัฐมนตรีซึ่งมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) มีดังนี้

๑. พันตรีควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี
๒. พลเรือโทสินธุ์ กมลนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
๓. พันตรีควง อภัยวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
๔. นายเล้ง ศรีสมวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
๕. นายศรีเสนา สมบัติศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
๖. นายจิตร์ ศรีธรรมาธิเบศ (เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
๗. พลเรือตรีผัน นาวาวิจิตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
๘. หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
๙. พลเรือโทสินธุ์ กมลนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
๑๐. พันตรีควง อภัยวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
๑๑. นายสพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
๑๒. นาวาเอกบุง ศุภชลาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
๑๓. ม.ล. เดช สนิทวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
๑๔. นายจิตร์ ศรีธรรมาธิเบศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
๑๕. นายทวี บุณยเกต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๑๖. นายเดือน บุนนาค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๑๗. นายศรีธรรมราช กาญจนโชติ รัฐมนตรี
๑๘. พลตรีพิน อมรวิสัยสรเดช รัฐมนตรี
๑๙. นาวาเอกทหาร ขำหิรัญ รัฐมนตรี
๒๐. นาวาเอกชลิต กุลกำธร รัฐมนตรี
๒๑. พลโทชิด มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรี
๒๒. นายโประ สมาหาร รัฐมนตรี
๒๓. พลเอกพจน์ พหลโยธิน (พระยาพหลพลพยุหเสนา) รัฐมนตรี

รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ นี้อยู่ในตำแหน่ง ๑๓ เดือนจนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) คือ ภายหลังที่ญี่ปุ่นยอมแพ้ประมาณสองสัปดาห์ จึงกราบถวายบังคมลาออก

ความสัมพันธ์ระหว่างข้าพเจ้ากับฝ่ายญี่ปุ่นตลอดระยะเวลานี้ ก็เป็นไปโดยปรกติ เฉพาะอย่างยิ่งกับผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่น คือ พลโท นากามูรา เราต่างมีความสัมพันธ์กันใกล้ชิด ต่างรักใคร่นับถือซึ่งกันและกัน แม้ภายหลังสงครามแล้ว เราก็ยังมีความสัมพันธ์กันตลอดมาอย่างดียิ่ง มีการแลกเปลี่ยนบัตรความสุขปีใหม่ต่อกันและกันทุกปีจนทุกวันนี้ และทุกคราวที่ท่านผู้นี้กับภริยาของท่านเดินทางมาเยี่ยมกรุงเทพฯ ท่านมักจะมาเยี่ยมข้าพเจ้าเสมอ เราทั้งสองต่างเข้าใจในหน้าที่ต่อชาติบ้านเมืองของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างดียิ่ง

ความสัมพันธ์กับเยอรมันนีและอิตาลี

ความสัมพันธ์กับเยอรมันนีและอิตาลีระหว่าง ๙ เดือนที่ข้าพเจ้าอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศนี้เป็นไปโดยปรกติ ดอกเตอร์เวนด์เล่อร์ (Wendler) อัครราชทูตเยอรมันขณะนั้น ก็มีความสัมพันธ์กับข้าพเจ้าเป็นอย่างดี การสนทนาติดต่อโดยมากก็มักเกี่ยวกับสถานะสงครามซึ่งข้าพเจ้าจะได้กล่าวในภายหลัง สำหรับอิตาลีนั้น เนื่องจากมุสโสลินีและระบอบฟัสซิสต์ถูกโค่น ดอกเตอร์ครอลลา อัครราชทูตอิตาเลียนในขณะนั้น ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะเข้าข้างฝ่ายใด ฝ่ายญี่ปุ่นและเยอรมันนีจึงแจ้งกับฝ่ายเราว่า ทูตผู้นี้ไม่มีฐานะอย่างใดปล่อยให้อยู่เฉย ๆ

สถานะสงคราม

ด้านยุโรป

ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในบทก่อนของภาคนี้แล้วว่า ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) มีเหตุการณ์สำคัญ คือ มุสโสลินี นายกรัฐมนตรีอิตาเลียน ซึ่งครองอำนาจมา ๒๐ กว่าปี อยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้ เพราะราษฎรไม่พอใจในการพ่ายแพ้ของอิตาลีแทบทุกแห่ง จึงถูกปฏิวัติปลดจากตำแหน่ง และต่อมาในเดือนกันยายน จอมพลบาโดกลิโอ นายกรัฐมนตรีอิตาเลียน จึงเข้าครองตำแหน่งแทน และทำสัญญายอมแพ้กับฝ่ายสัมพันธมิตร และในที่สุดเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) ได้ประกาศสงครามกับเยอรมันนี

เหตุการณ์สำคัญต่อมาก็คือสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) แผนการยุทธครั้งนี้ สัมพันธมิตรใช้ประมวลกับว่า แผน “overlord”

การขึ้นบกของสัมพันธมิตรครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งสำคัญที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง และมีผลสำคัญในการที่สัมพันธมิตรจะมีชัยต่อเยอรมันนี นายพลไอเซนเฮาเวอร์ ได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของสัมพันธมิตรอำนวยการบุกขึ้นบกเริ่มต้นตั้งแต่เวลาประมาณ ๓ นาฬิกาของวันที่ ๖ มิถุนายน สัมพันธมิตรใช้เครื่องบินหลายพันเครื่องทิ้งระเบิดฝั่งนอร์มังดี เป็นการบุกเบิกทางให้ยกพลขึ้นบกสะดวก ต่อมาก็ใช้เครื่องบินรบอีกประมาณ ๕,๐๐๐ เครื่อง เพื่อรบกับเครื่องบินเยอรมัน ซึ่งเป็นฝ่ายรับและมีเครื่องบินไม่กี่ร้อยเครื่อง ครั้นแล้วก็ใช้พลร่มนับหมื่นไปลงบนฝั่งฝรั่งเศส ในขณะเดียวกันก็ใช้ปืนใหญ่จากเรือรบระดมยิงกระหน่ำ ภายใน ๒๔ ชั่วโมง ปรากฏว่าสัมพันธมิตรสามารถส่งทหารขึ้นบกได้ถึง ๑๕๐,๐๐๐ ต่อมาอีก ๑๐ วัน ทหารที่ขึ้นบกได้ได้เพิ่มเป็น ๖๐๐,๐๐๐ ยานพาหนะทุกชนิดถึง ๙๐,๐๐๐ คัน

กองทัพเยอรมันต่อต้านอย่างหนักหน่วง แต่ก็ทานกำลังสัมพันธมิตรไม่ได้ ต้องถอยไป และก็ถูกจับเป็นเชลยศึกมากมาย ตอนนี้ เยอรมันนีเริ่มใช้อาวุธวิเศษหรือที่เรียกกันว่า วีหนึ่ง (V1) ระดมยิงกรุงลอนดอน วีหนึ่ง เป็นระเบิดซึ่งไม่ต้องใช้ผู้ขับขี่ แต่ใช้ไอพ่นในตัว มีความเร็ว ๓๕๐ ไมล์ต่อหนึ่งชั่วโมง สามารถตั้งเข็มให้ไปลง ณ ที่ใดก็ได้ เวลายิงไปแล้วมีเสียงครวญครางน่าสยดสยอง เยอรมันนีใช้วีหนึ่ง ประมาณ ๘,๐๐๐ ลูก แต่อังกฤษก็ยืนหยัดทนได้

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) เยอรมันนีใช้อาวุธใหม่เรียกว่า วีสอง (V2) อาวุธที่สองนี้ร้ายแรงยิ่งกว่าหนึ่ง คือบินได้สูงถึง ๖๐-๗๐ ไมล์ ความเร็ว ๓,๐๐๐ ไมล์ต่อหนึ่งชั่วโมง ขณะบินไปไม่มีเสียง เมื่อถูกเข้าและระเบิดแล้ว จึงจะมีเสียงดังขึ้น กรุงลอนดอนได้รับความเสียหายจาก วีสอง มาก มีคนตายมาก แต่อังกฤษก็คงยืนหยัดทนต่อไปได้

หลังจากกองทัพเยอรมันพ่ายแพ้ในนอร์มังดีเพียงเดือนเดียว คือ ในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) ได้มีคณะนายทหารและพลเรือนสมคบกันเพื่อประหารฮิตเล่อร์ แต่ไม่สำเร็จ ฮิตเล่อร์พยาบาทสั่งประหารชีวิตผู้ที่สมคบกัน หรือต้องสงสัยเสียหลายพันคน

ด้านเอเชีย

ญี่ปุ่นเสียเกาะไซปัน

ได้กล่าวในสถานะสงครามด้านยุโรปแล้วว่า การที่สัมพันธมิตรสามารถขึ้นบกได้ในนอร์มังดีประเทศฝรั่งเศส เป็นเหตุการณ์สำคัญและเป็นชัยชนะสำคัญยิ่งของสัมพันธมิตร เป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่า เยอรมันนีจะต้องพ่ายแพ้แน่ เพราะในยุโรปเหลือตัวคนเดียวและโดนศึกขนาบสองด้าน

ทางด้านเอเซียก็เช่นเดียวกัน สัมพันธมิตร เฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาเริ่มรุกหลายด้าน ญี่ปุ่นเสียเกาะต่าง ๆ ซึ่งเป็นฐานทัพด้านหน้าไปทีละเกาะสองเกาะ สหรัฐอเมริกาเขยิบเข้ามาใกล้เกาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่ตั้งประเทศ

ในระยะนี้ ญี่ปุ่นเสียเกาะสำคัญคือ เกาะไซปัน และนับได้ว่าเป็นขั้นแรกของการปราชัยในที่สุด เกาะไซปันเป็นเกาะใหญ่มาก ยาวประมาณ ๑๒ ไมล์ หรือ ๔๘๐ เส้น อยู่ห่างจากเพิร์ลฮาร์เบอร์ด้านตะวันตก ๓,๘๐๐ ไมล์ ห่างจากกรุงโตเกียว ๑,๕๘๕ ไมล์ เนื่องจากเป็นด่านสำคัญ ญี่ปุ่นจึงสร้างป้อมเล็ก ๆ หลายร้อยหลายพันป้อม โดยให้มีทหารอยู่ในป้อมนี้ พร้อมด้วยปืนกลป้อมละคน ทหารทั้งหมดคัดเลือกพิเศษ มีถึง ๓๐,๐๐๐

กองทัพอเมริกันเริ่มโจมตีเกาะนี้ ในกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) ฝ่ายญี่ปุ่นต่อต้านอย่างดุเดือด รบกันอยู่ถึงวันที่ ๗ กรกฎาคม กองทัพอเมริกันจึงยึดเกาะได้ ในการรบครั้งนี้ ทหารญี่ปุ่นแสดงความกล้าหาญยอมตายหมด โดยวิ่งเข้าประจัญบานทหารอเมริกันทั้ง ๆ ที่รู้ตัวว่าสู้ไม่ได้ ญี่ปุ่นเสียทหาร ๒๓,๘๑๑ ฝ่ายอเมริกันเสียเพียง ๓,๔๒๖ บาดเจ็บ ๑๓,๐๙๙

การเสียเกาะไซปันนี้ เป็นเหตุผลสำคัญอันหนึ่ง ประกอบกับเหตุอื่น ๆ ซึ่งพลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรี ต้องลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว

ในเดือนเดียวกันนี้เอง คือภายหลังเสียเกาะไซปันไม่กี่วัน อเมริกันก็ขึ้นบกยึดเกาะทีเนียนและเกาะกวม ซึ่งญี่ปุ่นที่ได้ไปเมื่อคราวตีเพิร์ลฮาร์เบอร์

  1. ๑. ต่อมาเลื่อนเป็นพลตรี ถึงอนิจกรรมแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕

  2. ๒. ปัจจุบันดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

  3. ๓. ต่อมาได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้า และสิ้นพระชนม์ เสียแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓

  4. ๔. ในปีนี้รัฐบาลไทยถูกบีบบังคับให้ลดค่าของเงินบาทลงมาหนึ่งบาทเท่ากับหนึ่งเย็น ดูบทที่หนึ่งภาคสาม

  5. ๕. หนังสือคณะรัฐมนตรี ของนายมนูญ บริสุทธิ์ หน้า ๑๔๖-๑๔๘

  6. ๖. เมื่อข้าพเจ้าออกมารับราชการที่กรุงบอนน์ ได้พบดอกเตอร์เวนด์เล่อร์และไปรับประทานอาหารร่วมกันหลายครั้ง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ