บทที่ ๒ สนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีน

[วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖)]

----------------------------

เรื่องเกี่ยวกับจีนนี้ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้บ้างแล้ว ในเรื่องไทยรับรองรัฐบาลวังจิงไว ในภาคหนึ่ง บทที่ ๓

เรื่องจีนขอทำสนธิสัญญากับไทยนั้น รัฐบาลไทยได้เบี่ยงบ่ายปฏิเสธตลอดมาหลายสิบปีแล้ว โดยให้เหตุผลว่า ไทยให้ผลปฏิบัติแก่จีนเสมอเท่ากับคนไทย บางเรื่องยังจะมีสิทธิดีกว่าเสียอีก ดังจะได้กล่าวต่อไป แต่เมื่อเสร็จสงครามคราวนี้ รัฐบาลจีนคณะชาติ (จอมพลเจียงไคเช็ค) ยืนยันขอทำสนธิสัญญาให้ได้ รัฐบาลไทยก็จำต้องยอม ก่อนกล่าวถึงสนธิสัญญาฉบับที่ลงนามนี้ ขอเล่าถึงประวัติความสัมพันธ์ ระหว่างไทยกับจีนบ้างเล็กน้อย

ตามสถิติหลายทางด้วยกัน เป็นอันยุติได้ว่า ในขณะเสร็จสงครามใหม่ ๆ นั้น มีคนจีนอยู่ในประเทศไทยประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ในจำนวนประชากรประมาณ ๑๖ ล้าน แต่ข้าพเจ้าคิดว่านี่เป็นจำนวนที่สำรวจได้ อาจตกบกพร่องบ้าง หรือถ้าจะประมาณเอาก็คงมีชาวจีนในขณะนั้นประมาณ ๑ ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั่วประเทศ ก็นับว่าไม่น้อย

ตามประวัติศาสตร์ปรากฏว่า เมื่อไทยเราอพยพมาตั้งหลักฐานในแหลมทองประมาณ ๗๐๐ กว่าปีมานี้ จีนก็ได้ติดตามเข้ามาโดยใกล้ชิดเหมือนกัน และก็ปรากฏว่าชีวิตการค้าของไทยเราตกอยู่ในมือจีนตั้งแต่สมัยนั้นมา ซึ่งจะโทษคนไทยเราไม่ได้ เพราะลักษณะการปกครองในสมัยโบราณไม่ได้เปิดโอกาส ดังจะกล่าวในเรื่องไพร่สมต่อไป

ถ้าเราอ่านประวัติเกี่ยวกับเมืองไทยซึ่งชาวยุโรปได้เขียนไว้ในหลายยุคหลายสมัย จะทราบได้ว่าล้วนแต่กล่าวถึงชาวจีน ว่ามีอยู่ในเมืองไทยเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับชาวต่างประเทศอื่น ๆ จอน ครอเฟิร์ด นักการทูตอังกฤษซึ่งเคยมาเจริญทางไมตรีกับไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๔ (ค.ศ. ๑๘๒๑) ได้เขียนไว้ว่า พวกจีนซึ่งเข้ามาอยู่ในดินแดนไทยส่วนมากเป็นพวกที่อพยพมาจากมณฑลกวางตุ้ง และฟูเกียน แต่ก็ไม่น้อยที่มาจากเกาะไหหลำและจากเมืองจีเกียงและเกียงนัน ที่อพยพมาจากมณฑลยูนนานก็มี แต่พวกนี้มักจะมาอยู่ทางภาคเหนือของลาว พวกจีนเหล่านี้อพยพเข้ามาโดยไม่มีครอบครัวมาด้วย ต่อมาก็ทำการสมรสกับคนไทย และแม้จะนับถือศาสนาอื่นหรือไม่มาก่อนแล้วก็ตาม ในที่สุดก็หันมานับถือพระพุทธศาสนา และไปทำบุญที่วัด บางคนถึงกับอุปสมบทตามประเพณีของไทยก็มี อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตข้อหนึ่ง คือ ยังคงแต่งตัวตามประเพณีของตน

สำหรับฐานะของคนจีนในประเทศไทยนั้นเล่า ก็ได้รับความรับรองจากรัฐบาลไทยมาช้านาน โดยคนอื่นได้รับการปฏิบัติจากไทยอย่างญาติ เหมือนคนไทยทุกประการ เช่น ค้าขายได้ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ และยังได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับราชการทหารอีกด้วย แม้ได้ประโยชน์ต่าง ๆ แล้วก็ดี ปรากฏว่าในสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ จีนได้พยายามขอเจรจาทำสนธิสัญญาหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะทางไทยเราเห็นว่าไม่จำเป็น เนื่องจากคนอื่นที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ก็ได้รับสิทธิเต็มที่อยู่แล้ว อนึ่ง คนจีนที่มีลูกเมียเป็นจีนในเมืองไทยนั้น ในสมัยก่อนมีกฎหมายสัญชาติว่า ถ้าอยากเป็นจีนก็ได้ โดยมิได้ขัดข้องประการใด แต่ถ้าชั้นหลานต้องเป็นไทย และก็ปรากฏว่าคนไทยส่วนมากที่มีเชื้อจีนก็รักชาติไทย และได้ฉลองคุณชาติบ้านเมืองไทยเป็นอันมาก และก็ภูมิใจด้วยที่ตนเป็นไทย ความจริง ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์การปกครองของเราแล้ว จะเห็นได้ว่าคนจีนได้รับการปฏิบัติดีกว่าคนไทยเสียอีก จะมาจำกัดสิทธิคนต่างด้าวบ้างก็ในระหว่างสงครามคราวนี้เท่านั้น แต่ก็ด้วยเหตุจำเป็นเพราะสงครามดังจะได้กล่าวต่อไป และก็เป็นสิทธิของชาติเอกราชทุกประเทศที่จะทำได้ จริงอยู่ อาจเกินเลยรุนแรงไปบ้าง แต่ภายหลังก็ได้กลับคืนสู่สถานะเดิม

ในสมัยก่อน ตั้งแต่รัชกาลพระบรมไตรโลกนาถเป็นต้นมา เสรีชนคนไทยที่มิใช่ขุนนางหรือพระสงฆ์ หรือพราหมณ์ หรือทาส เมื่อมีอายุครบ ๑๘ ปี จะต้องไปขึ้นทะเบียน เรียกว่าขึ้นทะเบียนศกดิมูลนาย มีชื่อว่า “ไพร่สม” พออายุครบ ๒๐ ปี มูลนายก็ต้องทำบัญชีต่อสัสดี และสัสดีแบ่งปันให้ไปอยู่กับเจ้าขุนมูลนาย ผู้ที่ถูกแบ่งไปนี้ เรียกว่า “ไพร่หลวง” ซึ่งต้องเป็นไพร่หลวงจนอายุ ๖๐ ปีจึงจะหลุดพ้น ตามหลักฐาน ลาลูแบร์ซึ่งเป็นสมาชิกในคณะทูตฝรั่งเศสเข้ามาเมืองไทย ในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช เขียนไว้ว่า ไพร่หลวงต้องทำงานให้แก่เจ้าขุนมูลนายเปล่า ๆ ปีละหกเดือน มิหนำซ้ำ ระหว่างไปทำงานให้นี้ ต้องเอาอาหารของตัวไปกินเองด้วย ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ลดลงเหลือปีละ ๓ เดือน การเกณฑ์ให้ทำงานเปล่านี้ คนไทยทั้งปวงต่างระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในสมเด็จพระปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างยิ่ง ที่ทรงเห็นว่าเป็นการทารุณและไม่ยุติธรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลิกเสีย พึงสังเกตว่า ในเรื่องการเกณฑ์ให้ไปทำงานเปล่าตลอดระยะเวลา ๔๐๐ ปีดังกล่าวนี้ จีนไม่ได้ต้องถูกเกณฑ์เลย ฉะนั้นจึงไม่น่าประหลาดที่จีนมุ่งหน้าค้าขายมีกำไรร่ำรวยมั่งคั่งได้เต็มที่ ส่วนคนไทยนั้นโดยที่ไม่มีโอกาสค้าขายอะไร เพราะนอกจากเสรีชนดังกล่าวแล้ว ก็มีขุนนางซึ่งก็มีหน้าที่รับราชการ พระสงฆ์ท่านก็ทำหน้าที่ปฏิบัติพรหมจรรย์ และกิจของสงฆ์ พราหมณ์ก็ทำหน้าที่เกี่ยวกับพิธีต่าง ๆ ทาสก็เป็นทาสของนายไปจนตลอดชีวิต และก็พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชของเราทั้งหลายอีกนั่นแหละที่ทรงเห็นว่า พุทธศาสนิกชนที่แท้ย่อมไม่เอามนุษย์ด้วยกันลงเป็นทาสซึ่งเหมือนสัตว์เป็นการทรมานทรกรรม และเป็นเวร อีกนัยหนึ่งทรงเห็นว่า ขัดต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งสมัยนี้กำลังพูดกันอยู่มากนั่นเอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกเสีย ทั้ง ๆ ที่ถูกพวกเสียประโยชน์คัดค้าน

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๒ (ค.ศ. ๑๙๐๙) รัฐบาลจีนประกาศใช้กฎหมายสัญชาติ ซึ่งวางหลักสืบสายโลหิต (Jus Sanguinis) ว่า บุคคลซึ่งเกิดจากบิดาเป็นจีน ไม่ว่าจะเกิด ณ ที่ใด ถือว่ามีสัญชาติจีน เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาสำหรับบุคคลที่เกิดจากบิดาเป็นจีน แต่เกิดในเมืองไทยจึงมีขึ้น กลายเป็นคนสองสัญชาติ เพราะตามกฎหมายไทย คนเกิดในเมืองไทยเป็นไทยตามหลักสายพื้นดิน (Jus Soli) ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๕ (ค.ศ. ๑๙๑๒) จีนออกกฎหมายเลือกตั้งอีกฉบับหนึ่ง บัญญัติให้มีผู้แทน ๖ นาย ในจำนวน ๒๗๔ นาย ที่จะไปนั่งในรัฐสภาจีน ให้คนจีนที่อยู่ในต่างประเทศลงบัตรเลือกตั้งอีกด้วย ได้กล่าวแล้วว่า จีนมาอยู่ในเมืองไทยนั้นได้รับสิทธิต่าง ๆ อย่างคนไทย และเคยมีบางสมัย คือเมื่อ ๗๐-๘๐ ปีก่อน ได้สิทธิดีกว่าคนไทยเสียด้วยซ้ำ และนอกจากนี้ ในทางการค้าก็ได้โอกาสมาก เซอร์จอน โบวริง อัครราชทูตอังกฤษ ซึ่งเข้ามาทำสัญญากับไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ (ค.ศ. ๑๘๕๕) ได้เขียนบันทึกไว้ว่าใน พ.ศ. ๒๓๙๓ (ค.ศ. ๑๘๕๐) จีนได้เข้าควบคุมการค้าในภูมิภาคต่าง ๆ ของกรุงสยามไว้ได้เกือบหมด ทุกแห่งที่มีการคมนาคมทางน้ำถึง หรือแม้หมู่บ้านซึ่งอยู่ในท้องที่กันดาร จีนก็เอาสินค้าไปส่งถึง เพื่อขายหรือแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในการค้านี้ไม่ปรากฏว่าไทยพยายามแข่งขันเลย

นายเกรแฮมได้เขียนประวัติเรื่องเมืองไทยเกี่ยวกับจีนว่า “พวกจีนที่ค้าขายนี้ เนื่องจากจีนไม่มีสนธิสัญญากับไทย จึงเดินทางไปมาสะดวก เพราะได้รับผลปฏิบัติอย่างคนไทย”

นอกจากนี้ เหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่จีนเข้ามามีอิทธิพล นอกจากเรื่องคนไทยส่วนมากไม่อยู่ในฐานะที่จะทำมาหากินสม่ำเสมอเพื่อสู้จีนแล้ว ก็คือการที่จีนได้ผูกขาดการค้าบางประเภทได้ ก่อนที่จะมีการผูกขาดนี้ให้กับจีน การผูกขาดด้านเก็บภาษีอากรเป็นของพระมหากษัตริย์ การผูกขาดภาษีอากรให้แก่จีนเริ่มทำในรัชกาลที่สาม

เรื่องการให้จีนเป็นเจ้าภาษีนี้ หลวงวิจิตรวาทการได้อธิบายว่า “.........การที่เก็บภาษีไปในทางที่กระทบถึงการครองชีพโดยตรงของราษฎร ซึ่งเป็นเหตุให้ราษฎรได้ประสบความเดือดร้อนอย่างยิ่งยวดนั้น ก็เนื่องมาจากเหตุสองประการ คือ การศึกษาวิชาการเรื่องภาษีอากรยังไม่แพร่หลายในครั้งนั้นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ความคิดที่จะเก็บภาษีอากรนั้นไม่ใช่ความคิดของไทยเราเอง

เรื่องที่ว่าจะเก็บภาษีอะไรบ้างนั้น ทางราชการไม่ต้องคิด เพราะจีนที่ต้องการเป็นเจ้าภาษีนายอากรเป็นผู้คิดให้เอง ชาวจีนพวกนี้ไปเที่ยวสำรวจดูการทำมาหากินของพลเมือง เมื่อเห็นราษฎรทำอะไรพอที่จะรีดเอาภาษีได้ ก็ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคำแนะนำให้เก็บภาษีนั้น และเสนอตัวเองขอเป็นเจ้าภาษี

ดังตัวอย่างประกาศในรัชกาลที่ ๔ ลงวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีขาล ฉอศก (พ.ศ. ๒๓๙๔)

“ด้วยจีนมีชื่อหลายพวกหลายราย ทำเรื่องราวมายื่นแก่เจ้าจำนวนกรมพระคลังสินค้า ให้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระบรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า ราษฎรชักชวนกันบรรทุกถั่วต้นตาย ถั่วเขียว ถั่วทอง ถั่วขาว ถั่วดำ และถั่วลิสง.........เข้ามาขาย ยังหามีผู้ใดเก็บภาษีทูลเกล้าฯ ถวายช่วยราชการแผ่นดินไม่ จะขอเก็บภาษีลดทูลเกล้าฯ ถวายเงินขึ้นท้อง พระคลัง จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้จีนเนียม (ผู้ให้ประมูลสูงสุด) เป็นที่ขุนปัญจพีชากร ถือศักดินา ๔๐๐ ไร่......... ตั้งด่านเรียกเก็บภาษี............ในจังหวัดพระนครและแขวงกรุงเก่า เมืองอ่างทอง เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองลพบุรี เมืองสระบุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองสุพรรณบุรี เมืองปราจีนบุรี..........”

เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าภาษีหรืออากรแล้ว ก็มีอำนาจเท่ากับเจ้าบ้านผ่านเมือง และมีเอกสิทธิมากหลาย ตัวเจ้าภาษีและนายอากรกับคนในครอบครัว และวงงานของเขา ได้รับการยกเว้นการกะเกณฑ์ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นการสร้างอิทธิพลยิ่งใหญ่ให้แก่เจ้าภาษีนายอากร เพราะทำให้ผู้คนวิ่งเข้ามาอาศัยพึ่งบารมีเพื่อให้พ้นการถูกเกณฑ์ต่าง ๆ นอกจากตัวคนจะไม่ถูกเกณฑ์แล้ว เรือแพและสัตว์พาหนะของพวกนี้ ก็รอดพ้นจากการถูกเกณฑ์เข้าไปด้วย ยิ่งกว่านั้น ในตราสารแต่งตั้งเจ้าภาษีนายอากรยังให้อำนาจแก่บุคคลเหล่านี้ จะชำระคดีมโนสาเร่ ในข้อพิพาทต่าง ๆ ในระหว่างคนของเขาเองได้ด้วย.............”

ต่อมา นับตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา แม้จะได้มีการเลิกสิทธิผูกขาด เพราะเราเริ่มทำสนธิสัญญากับนานาประเทศแล้วก็ดี รัฐบาลไทยเราก็ยังได้ปฏิบัติต่อคนอื่นเหมือนคนไทยทั่วไป

ดอกเตอร์ เปอร์เซลล์ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๘๓ (ค.ศ. ๑๘๔๐) เป็นต้นมา คนจีนได้เข้ามาเมืองไทยเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เนื่องจากจีนไม่มีสนธิสัญญากับไทย และไม่มีทูตและกงสุลระหว่างกัน ฉะนั้น อันตรายในการที่คนต่างด้าวจะรวมหัวกันต่อต้านอำนาจของรัฐบาลไทย จึงไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ คนจีนที่เข้ามานั้นโดยมากมิได้เอาบุตรภรรยาเข้ามาด้วย ส่วนมากจึงมาทำการสมรสกับหญิงไทย และภายใน ๓ ชั่วอายุคน ลูกหลานจีนเหล่านี้ก็กลายเป็นไทยไปหมด และภูมิใจที่เป็นคนไทยด้วย ต่อมา ในต้นคริสตศตวรรษที่ ๒๐ นี้ ความคิดทางชาตินิยมเกิดขึ้นในประเทศทั้งสอง คือ ทั้งจีนและไทย และคนจีนที่เข้ามาเมืองไทยภายหลัง พ.ศ. ๒๔๕๓ (ค.ศ. ๑๙๑๐) ซึ่งเป็นปีที่เกิดปฏิวัติในเมืองขึ้น โดยดอกเตอร์ ซุนยัตเซน เป็นหัวหน้า ก็เริ่มพาบุตรภรรยาเข้ามาด้วย ความรู้สึกในเรื่องชาตินิยมจึงเริ่มแสดงขึ้น

นโยบายใหม่ของจีนนี้ ทำให้รัฐบาลสมัยนั้น คือ สมัยรัชกาลที่ ๖ ต้องคิดมาก เพราะนโยบายของไทยนั้นตั้งแต่ไหนแต่ไรมา แม้จนบัดนี้ ก็คือมิได้คิดเลยว่าจีนเป็นคนต่างด้าว เพราะบรรพบุรุษของข้าราชการไทยเป็นจำนวนมากก็เป็นจีน ฉะนั้น รัฐบาลในสมัยนั้น หรือสมัยต่อมาก็ตาม จึงต้องการให้จีนรวมกับไทย เมื่อมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยไทยเอื้อเฟื้อให้ทุกอย่าง ให้มีที่ดินทำมาหากิน เอื้อเฟื้อพิเศษในเรื่องอาชีพดียิ่งกว่าคนไทยเสียอีก ในสมัยก่อนได้รับความคุ้มครองทุกอย่าง แม้การส่งเงินไปให้ญาติทางเมืองจีน ไทยก็ไม่ได้ห้ามเลย๑๐ ฉะนั้น ไทยจึงอยากให้จีนทำการสมรสกับไทย และให้ลูกหลานกลายเป็นไทย ให้เรียนหนังสือไทย ซึ่งก็เป็นนโยบายของประเทศเอกราชที่เป็นเจ้าของบ้านทุกประเทศทั้งนั้น เพื่อช่วยกันทำให้ประเทศซึ่งเป็นแผ่นดินที่อาศัยอยู่เจริญมั่นคง

การศึกษา

ก่อนรัชกาลที่ ๕ การตั้งโรงเรียน ไม่ได้มีกฎหมายควบคุมประการใด ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ (ค.ศ. ๑๙๑๙) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์ ซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ที่จะตั้งโรงเรียนทุกโรงเรียน จะเป็นไทยหรือต่างด้าวก็ตาม ต้องไปจดทะเบียนที่กระทรวงศึกษาธิการ ครูไทยต้องมีความรู้ตามมาตรฐาน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำหนด ครูซึ่งเป็นชาวต่างด้าวทุกคนต้องเรียนภาษาไทย ในโรงเรียนต่างด้าว ต้องมีการสอนภาษาไทย อย่างน้อยสัปดาห์ละสามชั่วโมง ความมุ่งหมายของรัฐบาลในสมัยนั้นก็เพื่อควบคุมและให้อยู่ในระเบียบ ซึ่งก็ปฏิบัติกันในนานาประเทศ และคนต่างด้าวในที่นี้หมายถึงโรงเรียนบาทหลวงหรือมิชชั่นนารีด้วย ไม่ได้รับการยกเว้น พวกจีนไม่พอใจมาก

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๔ (ค.ศ. ๑๙๒๑) รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ซึ่งบังคับว่าเด็กอายุตั้งแต่ ๗ ขวบขึ้นไป ไม่เกิน ๑๔ ต้องไปเข้าโรงเรียนประถมอย่างน้อย ๔ ปี โรงเรียนนั้น ๆ จะเป็นโรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนราษฎร์ก็ได้ แต่ถ้าเป็นโรงเรียนราษฎร์ก็ต้องเป็นโรงเรียนที่ปฏิบัติตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และใช้หนังสือเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการอนุญาต แต่ความจริงก็ไม่ได้บังคับจริงจังนัก เพราะไม่มีโรงเรียนพอ และแม้แต่ในจังหวัดพระนครก็ไม่ได้ใช้บังคับจริงจัง

ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ รัฐบาลเห็นว่าโรงเรียนต่างด้าวนั้น การควบคุมตามพระราชบัญญัติหละหลวมมาก จึงกวดขันขึ้น เช่น ในเรื่องครู ถ้าไม่รู้ภาษาไทย ห้ามสอนเป็นอันขาด ในสมัยนั้นโรงเรียนราษฎร์ของจีนส่วนมากมักสั่งครูมาจากเมืองจีน เมื่อรัฐบาลกวดขันตามกฎหมาย จึงทำให้ครูหลายคนต้องพักการสอน เพราะไม่รู้ภาษาไทยเลย มีโรงเรียนจีนหลายโรงเรียนต้องปิด ซึ่งชาวจีนก็ไม่พอใจเป็นอันมาก โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องของจีน ทำไมรัฐบาลไทยจึงเข้ามาแทรกแซง แต่ได้กล่าวแล้วว่ารัฐบาลไทยทุกสมัยต้องการให้จีนซึ่งเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมีลูกหลานเป็นไทย ในการจะเป็นคนไทย เริ่มรักเมืองไทย เข้าใจไทย ก็ต้องรู้ภาษาไทย จะได้นิยมวัฒนธรรมไทย ฯลฯ ของไทย

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎร์ได้ประกาศนโยบายการศึกษา ซึ่งเป็นหลักหนึ่งในหลักหกประการของคณะราษฎร์ ว่า จะบำรุงการศึกษา เพราะการศึกษาเท่านั้นที่จะช่วยให้ชาติไทยก้าวหน้า ฉะนั้นจะต้องบำรุงประถมศึกษา โดยใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาที่ประกาศไว้แล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ให้ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และหัวเมืองอย่างจริงจัง ตลอดจนบำรุงการศึกษาเรื่องอื่น ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ กระทรวงศึกษาธิการก็แต่งตั้งสารวัตรการศึกษา เที่ยวดูแลตรวจสอบตามโรงเรียนราษฎร์ว่า ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หัวหน้าจีนได้ทำคำร้องยื่นต่อรัฐบาลว่า เดือดร้อน เพราะจะต้องมาสอนภาษาไทยชั่วโมงมากกว่าภาษาจีน ขอให้ได้สอนภาษาจีนมากกว่าภาษาไทยและให้ผ่อนผันการให้ใบอนุญาตครู แต่รัฐบาลก็ยืนยันว่า ถ้าปล่อยไม่บังคับอีก ฐานะการศึกษาของประเทศก็คงจะเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไป ไม่ทราบว่าอีกกี่สิบปีจะได้ผล แม้กระนั้นก็ดี ตามสถิติ โรงเรียนจีนมีเพิ่มขึ้นทุกปี๑๑

การส่งเงินออกนอกประเทศ

รัฐบาลไทยไม่ได้ควบคุมการส่งเงินออกนอกประเทศเลย เพิ่งมาเริ่มทำเมื่อภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งก็ปฏิบัติกันทั่วโลก ปรากฏว่าการส่งเงินออกนอกประเทศนี้ จีนในเมืองไทยทำมาหลายร้อยปีแล้ว วิธีนี้เรียกกันว่าโพยก๊วน คือ จีนที่อยู่ในเมืองไทยจะส่งเงินไปให้ญาติหรือมิตรที่เมืองจีน ก็ไปที่ร้านซึ่งรับส่งเงิน ร้านนี้มีทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง มอบเงินจำนวนที่ต้องการส่ง พร้อมด้วยจดหมายถึงญาติหรือมิตรว่า ส่งเงินมาจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ร้านโพยก๊วนก็ออกใบรับให้ ในการนี้ ร้านคิดค่าธรรมเนียมและค่าป่วยการอีกต่างหาก แล้วร้านก็ส่งจดหมายนั้นไปยังผู้รับในเมืองจีน แล้วก็ส่งเงินนี้ไปยังสาขาในเมืองจีน โดยปรกติมักส่งเงินเหรียญฮ่องกงหรือธนบัตรจีน โดยร้านโพยก๊วนเอาเงินบาทนี้ไปซื้อข้าวสำหรับขายต่อไป ไม่มีสถิติแน่นอนว่าปีหนึ่ง ๆ ส่งไปเท่าใด มีผู้คำนวณว่า ราว ๕๐ ปีมานี้ ส่งไปปีละประมาณ ๒๖ ล้านบาท๑๒ (ซึ่งในสมัยนั้นงบประมาณแผ่นดินปีละประมาณ ๗๐ ล้านบาท)

นายดอลล์ที่ปรึกษาราชการคลัง เคยทำรายงานว่า ในสมัย พ.ศ. ๒๔๗๓ (ค.ศ. ๑๙๓๐) จีนส่งเงินทางโพยก๊วนประมาณปีละ ๒๐ ล้านบาท

ระหว่างสงคราม

จริงอยู่ เมื่อญี่ปุ่นเข้าเมืองไทยแล้ว ระหว่างที่ญี่ปุ่นยึดครองอยู่นั้น มีจีนในประเทศไทยบางหมู่ได้ร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่ทั้งนี้กองเพื่อป้องกันมิให้ญี่ปุ่นบีบคั้นเท่านั้น จะมีที่ร่วมมือจริงจังก็น้อยรายมาก อย่างไรก็ดี มีหลายรายที่รัฐบาลไทยได้เข้าคัดค้านกับการที่ญี่ปุ่นจะทำกับคนจีนโดยไม่ยุติธรรม เพราะไทยถือว่าขึ้นอยู่ใต้กฎหมายไทย ไม่ใช่กฎหมายญี่ปุ่น ในระหว่างสงครามนี้เอง จีนเดือดร้อนบ้าง คือ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศว่า บางจังหวัดคนต่างด้าวอยู่ไม่ได้ แต่ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยของไทย คือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แพร่ และอุตรดิตถ์ ผลคือคนจีนส่วนมากเดือดร้อน ต้องอพยพภูมิลำเนาไปยังจังหวัดอื่น และก็เป็นความจริง รัฐบาลในขณะนั้นตึงเครียดเกินเลยไปบ้างคือ สั่งอพยพภายในเวลาระยะสั้น นอกจากนี้ ก็มีเรื่องจำกัดอาชีพบางอย่างให้แก่คนไทย เช่น การตัดผม การทำเครื่องถม การขับรถแท็กซี่ ฯลฯ ซึ่งก็เพราะเหตุจำเป็นทั้งสิ้น และก็มีปฏิบัติกันในประเทศอื่น ๆ ยิ่งกว่าประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ เช่น ในอังกฤษ เป็นต้น

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อเสร็จสงครามได้ไม่กี่วัน คือ ในราวต้นเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) จีนถือว่าเป็นฝ่ายมหาประเทศ ซึ่งชนะสงครามด้วย ก็เริ่มชักธงขึ้นประดับประดาหน้าโรงร้านต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งแถวเยาวราช ในการนี้ไม่ได้ชักธงไทยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติธง เจ้าหน้าที่ได้ห้ามปรามก็ไม่ยอมปฏิบัติ ในคืนวันที่ ๒๑ กันยายน ภายหลังที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพียง ๔ วัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและสารวัตรทหารไทยเดินตรวจอยู่ มีผู้แอบยิงลงมาจากตึกหลังหนึ่งในถนนเยาวราช ฝ่ายตรวจและทหารจึงยิงโต้ตอบขึ้นไปบ้าง ทางการต้องสั่งปิดถนนในบริเวณนั้น และตั้งกรรมการดูแลความเรียบร้อย ประกอบด้วยจีนและไทย ตามทางสอบสวนว่าเหตุเกิดมาจากพวกจีนที่รุนแรงบางคนเห็นว่าตนเป็นฝ่ายชนะสงคราม และระหว่างสงคราม ไทยกดขี่ จึงต้องแสดงให้เห็นเสียบ้าง ฝ่ายไทยก็เห็นว่า การทำเช่นนี้ในประเทศเจ้าของบ้านไม่ถูก และการชักธงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จะว่าไทยเป็นฝ่ายแพ้สงครามก็ไม่ถนัด ดังเหตุผลซึ่งอเมริกาและอังกฤษแถลงแล้ว อีก ๘ วันต่อมา คือ ในวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) หนังสือพิมพ์ในจุงกิงชื่อ ตากงเป้า เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำพิธียอมแพ้ และเอาผู้ร่วมมือกับญี่ปุ่นระหว่างสงครามรวมทั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปขึ้นศาลอาชญากรสงคราม

ในเดือนกันยายนปีเดียวกันนี้เอง รัฐบาลจีนส่งนายหลีเทียะเจิง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศอิหร่านเข้ามาเพื่อเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในฐานเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงกับนายหลีเทียะเจิง ว่า ความจริงไม่ต้องมีสนธิสัญญาก็ได้ เพราะคนจีนก็ได้รับผลปฏิบัติดีอยู่แล้ว อย่างน้อยก็เท่ากับชนต่างด้าวชาติอื่น ๆ ที่มีสนธิสัญญา หรือไม่ก็เท่าคนไทยเสียด้วยซ้ำ แต่นายหลีเทียะเจิงก็ยืนยันว่า ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลจีน รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงต้องยอมเจรจาด้วย

ข้าพเจ้าได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่า แต่เดิมจีนมาแต่ผู้ชาย หาได้พาครอบครัวมาด้วยไม่ ฉะนั้นก็มักมาได้ผู้หญิงไทยเป็นภรรยา ลูกหลานกลายเป็นไทยไปและมีนิสัยใจคอเป็นไทย และมีลูกหลานรับราชการในตำแหน่งสำคัญ ๆ ของประเทศ แต่ต่อมาจีนพาภรรยามาจากเมืองจีนด้วย และลูกหลานที่เกิดในเมืองไทยก็ได้รับการอบรมอย่างจีน ตลอดจนเปิดขยายโรงเรียน มีหนังสือพิมพ์จีน มีสมาคมจีนมากหลาย เปิดเผยบ้างไม่เปิดเผยบ้าง อบรมให้จีนคงเป็นจีน ทั้งนี้เราจะโทษจีนนักก็ไม่ได้ เพราะภายหลังปฏิวัติในเมืองจีนแล้ว ลัทธิชาตินิยมแพร่หลาย จีนไปอยู่ต่างประเทศก็ยังคิดถึงเมืองจีนและจิตใจอยากเป็นจีนอยู่ แต่ผู้ที่มีใจเป็นธรรมก็ต้องเห็นอกเห็นใจไทยเจ้าของบ้านด้วยว่าลำบาก เพราะมีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้น เพราะเราอยากให้จีนกลายเป็นไทย ปัญหาต่าง ๆ ก็จะมีมากขึ้น เช่น ด้านเศรษฐกิจและด้านวัฒนธรรม อีกนัยหนึ่ง ถ้าเรามัวงุ่มง่ามให้เรื่องผ่านไปวันหนึ่ง ไม่ต้องคิดถึงปัญหาข้างหน้าแล้ว ประชากรในประเทศไทยวันหนึ่งก็อาจเป็นจีนหมด ถ้าจีนไม่ยอมให้ลูกหลานเป็นไทย

เกี่ยวกับเรื่องไทยมีนโยบายให้ลูกหลานจีนเป็นไทยก็ดี สิทธิต่าง ๆ ของจีนซึ่งมีอยู่ก็ดี เมื่อเสร็จสงครามแล้ว มีชาวจีนชื่อ เจนซูจิง ที่คุนมิง เขียนไว้ดังนี้ “......สำหรับประเทศไทยนั้น ไม่มีปัญหา ความผิดมีอยู่ชัดแจ้ง ยากที่จะให้อภัยได้..............ประเทศไทยอาจดำรงไว้ซึ่งสิทธิในอาณาเขตได้ แต่ไม่ควรอนุญาตให้ทำบางสิ่งบางอย่างได้ อย่างที่มีเสรีที่จะทำก่อนญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย อีกนัยหนึ่ง ภายหลังสงครามครั้งนี้ จำเป็นจะต้องมีต่างประเทศบางประเทศเป็นผู้ชี้ทางเดินให้ ไม่เพียงในการปฏิบัติเกี่ยวกับการต่างประเทศ แต่แม้การภายในก็ตาม อย่างน้อยในชั่วระยะเวลาหนึ่ง.........

เท่าที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของจีนกับไทยนั้น เป็นที่เห็นได้ว่า ประการแรกก่อนอื่นหมด ไทยจะต้องยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ หรือการปฏิบัติลำเอียง ซึ่งมีต่อเฉพาะคนจีน หรือส่วนใหญ่ต่อคนจีน และอย่างน้อยจะต้องปฏิบัติต่อคนจีนอย่างที่คนจีนได้ไว้ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๓ (ค.ศ. ๑๙๓๐) การละเมิดใด ๆ ต่อคนจีนอันเป็นผลจากการจำกัดสิทธิต่าง ๆ หรือเลือกปฏิบัติ จะต้องได้รับการชดใช้ ไม่จำต้องกล่าวว่า ผู้ที่รับผิดชอบในการกระทำเหล่านี้จะต้องได้รับโทษอย่างสาหัส เพราะว่าความผิดของบุคคลเหล่านี้ไม่น้อยไปกว่าอาชญากรสงครามเยอรมันหรือญี่ปุ่น

ยิ่งกว่านี้ ประเทศไทยจะปฏิเสธไม่ยอมแลกเปลี่ยนการตั้งทูตไม่ได้ ในสมัยญี่ปุ่นยึดครอง ไทยได้ยอมรับทูตของรัฐบาลหุ่นจีน (วังจิงไว)๑๓ เมื่อเป็นเช่นนี้ ไทยไม่มีเหตุผลเพียงพออย่างไรที่จะปฏิเสธการแลกเปลี่ยนทูตภายหลังสงคราม

จีนทุกคนจะต้องมีอิสรเสรีที่จะเลือกสัญชาติของตนได้ โดยไม่คำนึงว่า เขาจะเกิดนอกเมืองไทยหรือในเมืองไทย และจีนควรจะได้มีเสียงในการเมืองของไทยเพื่อว่าอย่างน้อยจะได้เป็นหลักประกันผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์อื่น”๑๔

ในที่สุดรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีน๑๕ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) สนธิสัญญานี้มีข้อความเพียง ๑๐ ข้อ สาระสำคัญคือ อัครภาคีจะแลกเปลี่ยนการตั้งทูต อัครภาคีมีสิทธิที่จะตั้งกงสุลได้ คนชาติแห่งอัครภาคีมีเสรีภาพที่จะเข้าออกในประเทศของอีกฝ่ายได้ เช่นเดียวกับสิทธิ ซึ่งชนชาติอื่น ๆ จะได้รับ การคุ้มครองและความมั่นคงในตัวตนและทรัพย์สิน อย่างเดียวกับคนในสัญชาติของภาคอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ การปฏิบัติในการศาล การภาษี ไม่น้อยกว่าคนสัญชาติของอีกฝ่าย มีสิทธิจะตั้งโรงเรียนเพื่อการศึกษาแห่งเด็กของตนได้ ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อสนธิสัญญานี้ล่วงพ้น ๑๐ ปีแล้ว และบอกเลิกล่วงหน้า ๑๒ เดือน

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน เพื่อแสดงว่าไทยมีไมตรีจิตและมิตรไมตรี รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ๑๖ ได้ออกคำแถลงดังต่อไปนี้

(๑) เกี่ยวกับสิทธิที่จะมีถิ่นที่อยู่ และดำเนินอาชีพ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ ของสนธิสัญญานี้ คนจีนจะมีสิทธิในการพาณิชย์ การค้า การอุตสาหกรรม และไปมีถิ่นที่อยู่ทั่วประเทศไทยได้ อย่างเดียวกับคนสัญชาติประเทศอื่น

(๒) เกี่ยวกับสิทธิที่จะตั้งโรงเรียนตามที่กล่าวไว้ในสนธิสัญญา

ข้อ ๖. โรงเรียนเหล่านี้จะได้รับปฏิบัติไม่น้อยกว่าโรงเรียนชาติอื่น ๆ ในโรงเรียนสำหรับการศึกษาชั้นประถม ซึ่งเป็นการศึกษาบังคับ เด็กทั้งหมดจะต้องเรียนภาษาไทย แต่เป็นเจตนาของรัฐบาลที่จะให้โอกาสตามสมควร และกำหนดจำนวนชั่วโมงที่จำเป็นสำหรับการสอนภาษาต่างประเทศในโรงเรียนนั้นๆ รัฐบาลไม่มีเจตนาจะจำกัดการสอนภาษาต่างประเทศในโรงเรียนมัธยม

(๓) ในเรื่องการเข้าเมืองนั้น รัฐบาลมีเจตนาจะใช้ระบบโควต้า ในกรณีเช่นนี้ การกำหนดจำนวนโควต้า จะคำนึงถึงจำนวนพลเมืองของอีกฝ่ายด้วย

(๔) การเก็บค่าธรรมเนียมค่าเข้าเมืองนั้น จะเก็บเป็นค่าธรรมเนียมจริง ๆ ไม่ใช่ภาษี

(๕) รัฐบาลไม่คิดจะนำหลักเรื่องการทดสอบว่ามีการศึกษาเพียงใด หรือการอ่านหนังสือออกหรือไม่ มาใช้แก่คนเข้าเมือง

ภายใน ๕ เดือนหลังจากเซ็นสัญญา จีนเปิดโรงเรียนเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศไทย ซึ่งไม่เคยปรากฏมาแต่ก่อน เช่น ในจังหวัดเชียงราย ก่อนสงคราม มีโรงเรียนจีนโรงเรียนเดียว ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) มีเพิ่มอีก ๔ โรงเรียนตามอำเภอต่าง ๆ บริเวณนั้น โรงเรียนในตามหัวเมืองส่วนมากสอนแต่ภาษาจีน (ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๘๙ หรือ ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๔๖) ซึ่งเป็นการขัดต่อกฎหมายโรงเรียนราษฎร์ทั้งสิ้น ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) นายหลีเทียะเจิงเอกอัครราชทูตจีนซึ่งเป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ประกาศแผนที่จะขยายการศึกษาของคนจีนออกไปอีก และจะจัดระบบการศึกษาของโรงเรียนจีนในประเทศไทย โดยให้ข้าราชการแผนกวัฒนธรรมของสถานเอกอัครราชทูตจีน เป็นผู้ควบคุม รัฐบาลไทยได้คัดค้านและแจ้งว่า จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ มีโรงเรียนจีนหลายโรงเรียนไม่ยอมปฏิบัติและประท้วงผ่านสถานเอกอัครราชทูตจีน และถึงกับจะมีการปิดร้านไม่ค้าขาย แต่ในที่สุดก็ระงับไป๑๗

 

  1. ๑. ตามสถิติสำมะโนครัวปี พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) คือสองปีภายหลังสงคราม ระบุว่าประชากรทั้งประเทศมี ๑๗,๔๔๒,๖๘๗ เป็นจีน ๗๕๐,๐๐๐ แต่ในหนังสือหลายเล่ม คำนวณว่าคงมีคนจีนในขณะนั้นอย่างน้อยหนึ่งล้าน

  2. ๒. ดูปาฐกถา “ลักษณะการปกครองประเทศไทยแต่โบราณ” ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หนังสือเรื่อง Ancient Siamese Government and Administration ของศาสตราจารย์ Quaritch Wales หน้า ๔๓ ถึงหน้า ๕๖ และวิวัฒนาการกฎหมายไทยของผู้เขียน

  3. ๓. Journal of an Embassy from the Governor General of India to the Court of Siam and Cochin China ของ John Crawford หน้า ๔๕๐

  4. ๔. หนังสือ A New Historical Relations of the Kingdom of Siam พิมพ์ที่กรุงลอนดอน ค.ศ. ๑๖๙๓ ของ La Loubere หน้า ๕๓

  5. ๕. หนังสือ The Kingdom and People of Siam ของ Sir John Bowring หน้า ๘๕-๘๘

  6. ๖. Siam เล่มสอง ของ W.A. Graham หน้า ๙๖-๙๗

  7. ๗. Economic Change in Thailand Since 1850 ของศาสตราจารย์ James C. Ingram มหาวิทยาลัยคอเนลล์ สหรัฐอเมริกา หน้า ๑๙-๒๐ และ Ancient Siamese Government and Administration ของศาสตราจารย์ Quaritch Wales หน้า ๒๐๔-๒๐๘

  8. ๘. คำบรรยายประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ของ หลวงวิจิตรวาทการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้นี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๙๐-๙๔

  9. ๙. The Chinese in Southeast Asia ของ Dr. Victor Purcell หน้า ๑๔๔-๑๕๑

  10. ๑๐. เรื่องการส่งเงินออกนอกประเทศนี้ จะได้กล่าวในภายหลัง

  11. ๑๑. Chinese Society in Thailand ของ ศาสตราจารย์สกินเนอร์ หน้า ๒๒๗-๒๓๓

  12. ๑๒. ในสมัยนั้นเงินหนึ่งปอนด์มีค่าประมาณ ๑๐ บาท ปัจจุบัน ๖๐ บาท ฉะนั้นประมาณราคาเงินบาทตกลง ๖ เท่า ก็ประมาณ ๑๕๖ ล้านบาท

  13. ๑๓. เรื่องนี้คลาดเคลื่อน ขอให้ดูเรื่องไทยรับนับถือรัฐบาลวังจิงไว ในภาคสอง บทที่ ๓ ข้างต้น ความจริงไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนทูตกัน

  14. ๑๔. Chinese Society in Thailand ของศาสตราจารย์ C. William Skinner หน้า ๒๘๑-๒๘๒

  15. ๑๕. ตัวบทของสนธิสัญญาฉบับนี้ ปรากฏในภาคผนวกข้างท้าย

  16. ๑๖. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

  17. ๑๗. Chinese Society in Thailand ของ ศาสตราจารย์ William Skinner หน้า ๒๘๓-๒๘๔

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ