อนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส

สมเด็จพระราชาธิบดี พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย และประมุขแห่งรัฐฝรั่งเศส

โดยที่ได้สนองรับให้รัฐบาลญี่ปุ่นไกล่เกลี่ย เพื่อยังการขัดกันด้วยอาวุธ ซึ่งได้มีขึ้น ณ เขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสให้ระงับถึงที่สุด

ยอมรับนับถือว่า จำเป็นดำเนินการปรับปรุงเขตแดนปัจจุบันระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส เพื่อป้องกันมิให้มีการขัดกันเกิดขึ้นอีก ณ เขตแดนนั้น และจำเป็นทำความตกลงกันในวิธีการรักษาความสงบในเขตชายแดน

มีความปรารถนาที่จะกลับสถาปนาสัมพันธไมตรี ซึ่งมีสืบเนื่องมาระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสโดยบริบูรณ์

จึ่งได้ตกลงทำอนุสัญญาเพื่อการนี้ และได้แต่งตั้งผู้มีอำนาจเต็มแต่ละฝ่าย คือ

ฝ่ายสมเด็จพระราชาธิบดี พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศ

พระยาศรีเสนา อัครราชทูตของสมเด็จพระราชาธิบดี พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ประจำประเทศญี่ปุ่น

นายนาวาอากาศเอก พระศิลปศัสตราคม เสนาธิการทหารแห่งประเทศไทย

นายวนิช ปานะนนท์ อธิบดีกรมพาณิชย์ และ

ฝ่ายประมุขแห่งรัฐฝรั่งเศส

ม. ชาร์ลส์ อาร์แซน-ฮังรี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศญี่ปุ่น

ม. เรอเน โรแบง ผู้สำเร็จราชการอาณานิคมกิตติมศักดิ์ ผู้ซึ่งเมื่อได้ส่งหนังสือมอบอำนาจเต็มให้แก่กันและกัน และตรวจเห็นว่าเป็นไปตามแบบที่ดีและถูกต้องแล้ว ได้ทำความตกลงกันเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑

สัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส เป็นอันกลับสถาปนาตามมูลฐานสารัตถสำคัญแห่งสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือ ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗

ฉะนั้น จะได้มีการเจรจากันทางทูตโดยตรง ณ กรุงเทพ ฯ โดยเร็วที่สุด เพื่อระงับบรรดาปัญหาที่ค้างอยู่ เนื่องจากการขัดกันนั้น ให้เสร็จสิ้นไป

ข้อ ๒

เขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส จะได้ปรับปรุงดั่งต่อไปนี้

จากเหนือลงมา เขตแดนจะได้เป็นไปตามแม่น้ำโขง ตั้งแต่จุดที่รวมแห่งเขตแดนประเทศไทย อินโดจีนฝรั่งเศสและพม่า จนถึงจุดที่แม่น้ำโขงตัดเส้นขนานขึดที่สิบห้า (แผนที่ทบวงการภูมิศาสตร์แห่งอินโดจีน มาตราส่วน ๑:๕๐๐,๐๐๐)

ในตอนนี้โดยตลอด เขตแดนได้แก่เส้นกลางร่องน้ำเดินเรือที่สำคัญยิ่ง แต่ทว่าเป็นที่ตกลงกันชัดแจ้งว่า เกาะโขงยังคงเป็นอาณาเขตอินโดจีนฝรั่งเศส ส่วนเกาะโขนตกเป็นของประเทศไทย

ต่อจากนั้นไปทางตะวันตก เขตแดนจะได้เป็นไปตามเส้นขนานขีดที่สิบห้า แล้วต่อไปทางใต้ จะได้เป็นไปตามเส้นเที่ยง ซึ่งผ่านจุดที่พรมแดนปัจจุบันระหว่างจังหวัดเสียมราฐกับจังหวัดพระตะบอง จดทะเลสาบ (ปากถ้ำสตึงกมบต)

ในตอนนี้โดยตลอด หากว่ามีกรณี คณะกรรมการปักปันที่บัญญัติไว้ในข้อ ๔ จะได้พยายามประสานเขตแดนเข้ากับเส้นธรรมชาติ หรือพรมแดนปกครองที่ใกล้เคียงกับเส้นเขตแดนตามที่นิยามไว้ ข้างบนนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความยากลำบากในทางปฏิบัติต่อไปเท่าที่จะทำได้

ในทะเลสาบ เขตแดนได้แก่เส้นโค้งวงกลมรัศมียี่สิบกิโลเมตร จากจุดที่พรมแดนปัจจุบัน ระหว่างจังหวัดเสียมราฐกับจังหวัดพระตะบองจดทะเลสาบ (ปากน้ำสตึงกมบต) ไปบรรจบจุดที่พรมแดนปัจจุบันระหว่างจังหวัดพระตะบองกับจังหวัดโพธิสัตว์จดทะเลสาบ (ปากน้ำสตึงดนตรี)

ตลอดทั่วทะเลสาบ การเดินเรือและการจับสัตว์น้ำ เป็นอันเสรีสำหรับคนชาติแห่งอัครภาคีผู้ทำสัญญาทั้งสองฝ่าย แต่ให้คุ้มเกรงเครื่องจับสัตว์น้ำคงที่ ซึ่งตั้งอยู่ตามชายฝั่ง เป็นที่เข้าใจกันว่า ตามเจตนารมณ์นี้ อัครภาคีผู้ทำสัญญาจะได้จัดทำข้อบังคับร่วมกัน ว่าด้วยการตำรวจ การเดินเรือ และการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำทะเลสาบ โดยเร็วที่สุดที่จะทำได้

ต่อจากปากน้ำสตึงดนตรีไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เขตแดนใหม่ จะได้เป็นไปตามพรมแดนปัจจุบันระหว่างจังหวัดพระตะบอง กับจังหวัดโพธิสัตว์ จนถึงจุดที่พรมแดนนี้ ประสบกับเขตแดนปัจจุบัน ระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส (เขากูป) แล้วให้เป็นไปตามเขตแดนปัจจุบันนี้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง จนถึงทะเล

ข้อ ๓

อาณาเขตที่รวมอยู่ระหว่างเขตแดนปัจจุบัน แห่งประเทศไทยและอินโดจีนฝรั่งเศสกับเส้นเขตแดนใหม่ตามที่นิยามไว้ในข้อ ๒ จะได้มีการถอนตัวออกไป และโอนกันตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพิธีสารภาคผนวกแห่งอนุสัญญานี้ (ภาคผนวก ๑)

ข้อ ๔

การงานปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ตามที่นิยามไว้ในข้อ ๒ นั้น ให้คณะกรรมการปักปันซึ่งจะได้จัดตั้งขึ้น ภายในสัปดาห์หลังจากการใช้อนุสัญญานี้เป็นผู้กระทำ ทั้งในส่วนทางบกและส่วนทางแม่น้ำแห่งเขตแดนดังกล่าวแล้ว และให้ดำเนินการงานให้เสร็จภายในระยะเวลาหนึ่งปี

การจัดตั้ง และการดำเนินงานแห่งคณะกรรมการดั่งกล่าวแล้ว มีบัญญัติไว้ในพิธีสารภาคผนวกแห่งอนุสัญญานี้ (ภาคผนวก ๒)

ข้อ ๕

บรรดาอาณาเขตที่โอนให้ จะได้รวมเข้าเป็นส่วนแห่งประเทศไทยตามเงื่อนไขดั่งต่อไปนี้

๑. ให้ปลอดการทหารโดยตลอด เว้นแต่อาณาเขตชายแดนแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นส่วนแห่งแคว้นลาวของฝรั่งเศสอยู่แต่ก่อน

๒. ในส่วนที่เกี่ยวกับการเข้ามา การตั้งถิ่นฐาน และบรรดาภารธุระคนชาติฝรั่งเศส (พลเมือง คนในบังคับ และคนในอารักขาฝรั่งเศส) จะได้รับผลปฏิบัติตลอดทั่วอาณาเขตดั่งกล่าวแล้วเท่าเทียมกันทีเดียวกับผลปฏิบัติที่ให้แก่คนชาติไทย

เป็นที่เข้าใจกันว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับคนชาติฝรั่งเศส สิทธิที่ได้มาเนื่องจากสัมปทานการผูกขาด และใบอนุญาต ซึ่งมีอยู่ ณ วันที่ ๑๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ จะได้รับความคุ้มเกรงตลอดทั่วอาณาเขตที่โอนให้

๓. รัฐบาลไทย จะอำนวยความคุ้มเกรงเต็มที่ให้แก่บรรดาที่บรรจุราชอัฐิซึ่งมีอยู่ ณ ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามหลวงพระบาง และจะให้ความสะดวกทุกประการ แก่ราชวงศ์หลวงพระบาง และพนักงานราชสำนัก ในอันจะรักษาและเยี่ยมเยือนที่บรรจุอัฐิดังกล่าวแล้ว

ข้อ ๖

ภายในเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพิธีสารภาคผนวกแห่งอนุสัญญานี้ (ภาคผนวก ๓) ให้ใช้หลักต่อไปนี้บังคับแก่เขตปลอดการทหารที่ตั้งขึ้นตามความในอนุ ๑ แห่งข้อก่อน คือ

๑. ในเขตปลอดการทหาร ประเทศไทยจะบำรุงกำลังพลถืออาวุธได้ก็แต่กำลังตำรวจที่จำเป็นสำหรับรักษาความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยของประชาชน

แต่ทว่า ประเทศไทยสงวนสิทธิ ที่จะเพิ่มกำลังตำรวจขึ้นได้ชั่วคราวเท่าที่จักจำเป็น สำหรับดำเนินการตรวจพิเศษ และทั้งสงวนอำนาจที่จะกระทำการขนส่งกองทหารและเครื่องสัมภาระในอาณาเขตของตน ข้ามเขตปลอดการทหารตามที่ต้องการสำหรับดำเนินการตำรวจในเขตแขวงใกล้เคียงหรือดำเนินการทหารต่อประเทศภายนอกอนุสัญญานี้

ในที่สุด ในเขตปลอดการทหาร ประเทศไทยจะได้รับอำนาจให้พักอากาศยานทหารที่ไม่มีเครื่องอาวุธได้ทุกเมื่อ

๒. ในเขตปลอดการทหาร ห้ามมิให้มีค่ายมั่น หรือสถานการทหารหรือสนามบินสำหรับใช้เฉพาะประโยชน์กองทัพ หรือมีคลังเก็บอาวุธ หรือกระสุนปืน หรือยุทธภัณฑ์ เว้นแต่คลังเก็บเครื่องสัมภาระที่ใช้อยู่เสมอ กับเชื้อเพลิงอันจำเป็นสำหรับอากาศยานทหารที่ไม่มีอาวุธ จึงจะมีได้

บรรดาสถานที่พักอาศัยของกำลังตำรวจจะมีองค์การป้องกัน ซึ่งโดยปรกที่จำเป็นสำหรับความมั่นคงแห่งสถานที่นั้น ๆ ก็ได้

ข้อ ๗.

อัครภาคีผู้ทำสัญญาตกลงกันยกเลิกเขตปลอดการทหาร ซึ่งมีอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ในตอนที่ลำแม่น้ำนี้เป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับแคว้นลาวของฝรั่งเศส

ข้อ ๘.

ในขณะที่การโอนอธิปไตยเหนืออาณาเขตซึ่งโอนให้แก่ประเทศไทยสำเร็จเด็ดขาดลง คนชาติฝรั่งเศสซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาเขตนั้น ๆ จะได้สัญชาติไทยทีเดียว

แต่ทว่า ภายในเวลาหนึ่งปีหลังจากการโอนอธิปไตยที่สำเร็จเด็ดขาดลงนั้น คนชาติฝรั่งเศสอาจเลือกเอาสัญชาติฝรั่งเศสได้

การเลือกเช่นว่านี้ ให้กระทำโดยวิธีต่อไปนี้

๑. ส่วนพลเมืองฝรั่งเศส ให้ทำคำแถลงต่อเจ้าหน้าที่ปกครองผู้มีอำนาจ

๒. ส่วนคนในบังคับและคนในอารักขาฝรั่งเศส ให้โอนภูมิลำเนาไปอยู่ในอาณาเขตฝรั่งเศส

ประเทศไทยจะไม่ทำการขัดขวางด้วยประการใด ๆ โดยมีเหตุผลประการใดก็ตาม ต่อการที่คนในบังคับ และคนในอารักขาฝรั่งเศสดั่งกล่าวแล้วจะถอนตัวออกไปหรือจะกลับเข้ามาหากว่ามีกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่จะออกไปนั้น จะจำหน่ายสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ได้โดยเสรี และจะขนสังหาริมทรัพย์ทุกชนิด ปศุสัตว์ ผลิตผลเกษตรกรรม เงินตรา หรือธนาคารบัตรของตนไปกับตัว หรือให้ขนส่งไปก็ได้ โดยไม่ต้องเสียศุลกากร ถึงอย่างไรก็ดี จะรักษากรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของคนในอาณาเขตที่รวมเข้ากับประเทศไทยไว้ก็ได้

ข้อ ๙.

ประเทศไทย และฝรั่งเศสตกลงกันสละเด็ดขาดการเรียกร้องใด ๆ ในเรื่องการเงินระหว่างรัฐต่อรัฐ เนื่องจากการโอนอาณาเขต ดั่งที่บัญญัติไว้ในข้อ ๒ ทั้งนี้ โดยประเทศไทยใช้เงินให้แก่ฝรั่งเศส เป็นจำนวนหกล้านเบี้ยสตรอินโดจีน การใช้เงินจำนวนนี้ ให้แบ่งใช้เป็นส่วน ๆ เท่ากัน มีกำหนดหกปี นับแต่วันใช้อนุสัญญานี้

เพื่อให้การเป็นไปตามความในวรรคก่อน และเพื่อตกลงบรรดาปัญหาเรื่องเงินและเรื่องการโอนมูลค่าต่างๆ ซึ่งอาจมีขึ้น เนื่องจากการโอนอาณาเขตตามที่มีบัญญัติไว้ในอนุสัญญานี้ ทบวงการที่มีอำนาจฝ่ายไทยและฝ่ายอินโดจีนฝรั่งเศส จะได้เริ่มเจรจากันโดยเร็วที่สุด

ข้อ ๑๐.

การขัดกันใดๆ ซึ่งหากจะเกิดขึ้นระหว่างอัครภาคีผู้ทำสัญญาทั้งสองฝ่าย ในเรื่องการตีความหรือการใช้บทบัญญัติแห่งอนุสัญญานี้ จะได้ทำความตกลงกันด้วยดีโดยทางทูต

ถ้าการขัดกันนั้น ทำความตกลงกันเช่นนี้ไม่ได้ ก็จะไปเสนอให้รัฐบาลญี่ปุ่นไกล่เกลี่ย

ข้อ ๑๑.

บรรดาบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญา อนุสัญญา และความตกลงที่มีอยู่ระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งอนุสัญญานี้ เป็นอันยังคงใช้อยู่ต่อไป

ข้อ ๑๒.

อนุสัญญานี้ จะได้รับสัตยาบัน และจะได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ณ โตกิโอ ภายในสองเดือน หลังจากวันลงนาม หากว่ามีกรณี รัฐบาลฝรั่งเศสจะใช้หนังสือแจ้งการสัตยาบัน แทนสัตยาบันสารก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐบาลฝรั่งเศสจะได้ส่งสัตยาบันสารไปยังรัฐบาลไทย โดยเร็วที่สุดที่จะทำได้

อนุสัญญานี้ จะได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบัน เป็นต้นไป

เพื่อเป็นพยานแห่งการนี้ ผู้มีอำนาจเต็มแต่ละฝ่ายได้ลงนามและประทับตราไว้เป็นสำคัญ

ทำควบกันเป็นสามฉบับ เป็นภาษาไทย ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ณ โตกิโอ เมื่อวันที่เก้า เดือนที่ห้า พุทธศักราชสองพันสี่ร้อยแปดสิบสี่ ตรงกับวันที่เก้า พฤษภาคม คริสตศักราชพันเก้าร้อยสี่สิบเอ็ดและวันที่เก้า เดือนที่ห้า ปีสโยวาที่สิบหก

(ประทับตรา) วรรณไวทยากร

(ประทับตรา) ศรีเสนา

น.อ. ศิลปศัตราคม (ประทับตรา)

วนิช ปานะนนท์ (ประทับตรา)

(ประทับตรา) Charles Arsene Henry

(ประทับตรา) Rene Robin

----------------------------

(ภาคผนวก ๑)

พิธีสารว่าด้วยวิธีการถอนตัวออกไป และการโอนอาณาเขต

----------------------------

รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสตกลงกันดังต่อไปนี้

. การโอนอสังหาริมทรัพย์สาธารณะ

ภายในยี่สิบวันหลังจากการแลกเปลี่ยนสัตยาบัน รัฐบาลฝรั่งเศสจะได้มอบบัญชีให้แก่รัฐบาลไทยคือ บัญชีรายการอสังหาริมทรัพย์สาธารณะซึ่งมีอยู่ในอาณาเขตที่โอนให้ กับทั้งบัญชีรายชื่อผู้แทนฝ่ายฝรั่งเศสซึ่งได้รับมอบให้ดำเนินการโอน

รัฐบาลไทยจะได้มอบบัญชี ให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส ภายในระยะเวลาเดียวกัน คือ บัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งได้รับมอบให้เข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแล้ว ผู้แทนรัฐบาลทั้งสองจะได้แบ่งออกเป็นห้าหมู่ ตรงกับภูมิภาคปากลาย จัมปาศักดิ์ กมปงธม เสียมราฐ และพระตะบอง

ผู้แทนฝ่ายไทยจะได้ไปตามกำหนดวันที่จะได้ตกลงกัน ยังปากลาย จัมปาศักดิ์ เจียมกสัน สำโรง และปอยเป็ด และผู้แทนฝ่ายฝรั่งเศสจะได้ต้อนรับอยู่ ณ ที่นั้น ๆ

. การโอนหนังสือราชการ

หนังสือราชการแห่งตำบลและจังหวัด หนังสือราชการของศาลและองค์การอื่น ๆ แห่งรัฐ กับทั้งผังรังวัดซึ่งเก็บไว้ในอาณาเขตที่โอนให้นั้น จะได้โอนให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ส่วนผัง ทะเบียน และเอกสารรังวัดอื่น ๆ ซึ่งเก็บไว้นอกอาณาเขตกึ่งกล่าวแล้ว ก็จะมอบสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องให้แก่รัฐบาลไทย

การโอนนี้ให้กระทำเสร็จภายในสองเดือน หลังจากการแลกเปลี่ยนสัตยาบัน

. การถอนตัวออกไปจากอาณาเขต

อาณาเขตที่มีบัญญัติไว้ในพิธีสารนี้ หน่วยทหารฝรั่งเศสจะได้ถอนตัวออกไป และกองตำรวจหรือหน่วยทหารไทยจะได้เข้ายึดตามหลักต่อไปนี้

ก) หน่วยทหารฝรั่งเศส ซึ่งประจำอยู่ระหว่างเขตแดนปัจจุบันกับเส้นเขตแดนใหม่ จะได้ออกเดินขบวนในวันที่ยี่สิบ หลังจากการแลกเปลี่ยนสัตยาบัน และจะต้องพ้นเส้นเขตแดนใหม่ไปภายในเจ็ดวัน เป็นอย่างช้า ส่วนตำรวจภูธร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ปกครองฝ่ายฝรั่งเศส (เว้นแต่เจ้าหน้าที่ซึ่งจะร่วมงานในการโอน ดั่งบัญญัติไว้ในส่วนที่ ๑ และที่ ๒ ข้างบนนี้) ซึ่งอยู่ในอาณาเขตดั่งกล่าวแล้วนั้น ให้ล่วงหน้าไปก่อน

ข) กองตำรวจหรือหน่วยทหาร ที่รัฐบาลไทยมีเจตนาจะส่งไปในอาณาเขตดังกล่าวแล้ว จะได้ออกเดินขบวนในวันรุ่งขึ้นจากวันที่หน่วยทหารฝรั่งเศสจะได้เริ่มถอนตัวออกไป และจะถึงเส้นเขตแดนใหม่ได้ก็เจ็ดวันหลังจากนั้นเป็นอย่างเร็ว จะให้เจ้าหน้าที่ปกครองฝ่ายไทยซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปประจำอยู่ในอาณาเขตดังกล่าวแล้วตามไปก็ได้

ค) กองตำรวจหรือหน่วยทหารฝ่ายไทย จะได้กะระยะการเดินขบวนให้มีระยะห่างเป็นนิจจากหน่วยทหารฝรั่งเศส

ง) หน่วยทหารฝ่ายไทย ซึ่งอยู่ในเขตปลอดการทหารดั่งกล่าว ไว้ในข้อ ๕ แห่งอนุสัญญา จะได้ถอนตัวออกไปภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนหลังจากการโอนดินแดน

. วิธีการปฏิบัติ

รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะได้จัดการทุกอย่าง ในทางปฏิบัติที่จำเป็น เพื่อให้การถอนตัวออกไปและการโอนดั่งที่บัญญัติไว้ในพิธีสารนี้ เป็นไปโดยเรียบร้อย และมิให้มีเหตุเกิดขึ้น

ก) หน่วยทหารที่ถอนตัวออกไปแล้ว จะทิ้งกองทหารนอกระเบียบหรือบุคคลมีอาวุธปืนไว้ข้างหลังไม่ได้ โดยนัยเดียวกัน กองตำรวจหรือหน่วยทหารที่เข้ายึด จะให้มีกองทหารนอกระเบียบ หรือบุคคลมีอาวุธปืน ล่วงหน้าไปก่อนไม่ได้

ข) รัฐบาลทั้งสอง แต่ละฝ่าย จะได้ออกคำสั่งเป็นกิจะลักษณะ ให้หน่วยทหารและตำรวจของตน เว้นจากการปล้นทุกประการ

พิธีสารนี้ ประเทศไทยและฝรั่งเศสจะได้ให้สัตยาบันพร้อมกับอนุสัญญา

พิธีสารนี้จะได้เริ่มใช้พร้อมกับอนุสัญญา

เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องจากรัฐบาลแต่ละฝ่าย ได้ลงนามและประทับตราพิธีสารนี้ไว้เป็นสำคัญ

ทำควบกันเป็นสามฉบับ เป็นภาษาไทย ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ณ โตกิโอ เมื่อวันที่เก้า เดือนที่ห้า พุทธศักราชสองพันสี่ร้อยแปดสิบสี่ ตรงกับวันที่เก้า พฤษภาคม คริสตศักราชพันเก้าร้อยสี่สิบเอ็ด และวันที่เก้า เดือนที่ห้า ปีสโยวาที่สิบหก

(ประทับตรา) วรรณไวทยากร

(ประทับตรา) ศรีเสนา

น.อ. ศิลปศัสตราคม (ประทับตรา)

วนิช ปานะนนท์ (ประทับตรา)

(ประทับตรา) Charles Arsene Henry

(ประทับตรา) Rene Robin

----------------------------

(ภาคผนวก ๒)

พิธีสารว่าด้วยการจัดตั้งและการดำเนินงานแห่งคณะกรรมการปักปัน

----------------------------

รัฐบาลไทย ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ตกลงกันในเรื่องคณะกรรมการปักปันดังบัญญัติไว้ในข้อ ๔ แห่งอนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ดั่งต่อไปนี้

. องค์ประกอบ

รัฐบาลทั้งสามฝ่ายจะได้แต่งตั้งผู้แทนฝ่ายละห้านาย และผู้ช่วยผู้แทนฝ่ายละห้านาย

ผู้แทนแต่ละฝ่ายจะมีผู้เชี่ยวชาญและเลขานุการที่เห็นว่าจำเป็นไปด้วยก็ได้

ในกรณีที่ติดขัด ผู้ช่วยผู้แทนจะทำการแทนผู้แทนในหน้าที่การงานก็ได้

หน้าที่การงานแห่งประธานคณะกรรมการนั้น จะได้มอบให้แก่ผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่นคนใดคนหนึ่ง

. อำนาจหน้าที่

คณะกรรมการจะได้ดำเนินการในท้องที่เพื่อปักปันเขตแดนทางบกและทางน้ำตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๔ แห่งอนุสัญญา

คณะกรรมการจะได้จัดทำแผนที่เขตแดนดังกล่าวแล้ว และจะได้ดำเนินการปักหลักปักปันตามจุดที่เห็นว่าจำเป็น

. การดำเนินงาน

รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสจะได้อำนวยความสะดวก ให้แก่สมาชิกแห่งคณะกรรมการทุกประการ ที่จำเป็นแก่การปฏิบัติตามภารกิจของตน

เบี้ยเลี้ยงและค่าเดินทางสำหรับสมาชิกแห่งคณะกรรมการนั้น ให้ตกเป็นภาระแก่รัฐบาลแต่ละฝ่าย

ค่าใช้จ่ายในการงานของคณะกรรมการ ให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสแบ่งกันคนละครึ่ง

เป็นที่บัญญัติไว้ว่า คณะกรรมการจะตั้งข้อบังคับภายในเกี่ยวกับการดำเนินงานของตนขึ้นก็ได้

พิธีสารนี้ ประเทศไทยและฝรั่งเศสจะได้ให้สัตยาบันพร้อมกับอนุสัญญา ในส่วนญี่ปุ่น รัฐบาลแห่งประเทศนั้นจะได้ให้ความเห็นชอบ

พิธีสารนี้จะได้เริ่มใช้พร้อมกับอนุสัญญา

เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องจากรัฐบาลแต่ละฝ่าย ได้ลงนามและประทับตราพิธีสารนี้ไว้เป็นสำคัญ

ทำควบกันเป็นสามฉบับ เป็นภาษาไทย ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ณ โตกิโอ เมื่อวันที่เก้า เดือนที่ห้า พุทธศักราชสองพันสี่ร้อยแปดสิบสี่ ตรงกับวันที่เก้า พฤษภาคม คริสตศักราชพันเก้าร้อยสี่สิบเอ็ด และวันที่เก้า เดือนที่ห้า ปีสโยวาที่สิบหก

(ประทับตรา) วรรณไวทยากร

(ประทับตรา) ศรีเสนา

น.อ. ศิลปศัสตราคม (ประทับตรา)

วนิช ปานะนนท์ (ประทับตรา)

(ประทับตรา) Charles Arsene Henry

(ประทับตรา) Rene Robin

----------------------------

(ภาคผนวก ๓)

พิธีสารว่าด้วยการปฏิบัติตามบทบัญญัติเกี่ยวกับเขตปลอดการทหาร

----------------------------

รัฐบาลไทย ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ตกลงกันในเรื่องการปฏิบัติตามบทบัญญัติเกี่ยวกับเขตปลอดการทหารที่บัญญัติไว้ในข้อ ๕ และข้อ ๖ แห่งอนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ดังต่อไปนี้

๑. ตลอดเวลาที่ดำเนินงานอยู่ คณะกรรมการปักปัน ซึ่งบัญญัติไว้ในข้อ ๔ แห่งอนุสัญญา จะได้รับมอบให้ดูแลการปฏิบัติ ตามบทที่บัญญัติไว้ในข้อ ๕ อนุ ๑ และข้อ ๖ แห่งอนุสัญญา

คณะกรรมการดังกล่าวแล้วจะได้เสนอบทบัญญัติ เพื่อความเห็นชอบของรัฐบาลไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อการดั่งต่อไปนี้

ก) กำหนดสภาพ กำลัง และเครื่องอาวุธ แห่งกองตำรวจไทยในเขตปลอดการทหาร

ข) กำหนดเงื่อนไขที่ประเทศไทยจะพึงใช้อำนาจซึ่งให้ไว้ตามความในข้อ ๖ อนุ ๑ วรรคสองได้

ค) ในที่สุด นิยามระบอบการเฉพาะสำหรับการเดินอากาศในเขตปลอดการทหาร

นอกจากนี้ คณะกรรมการจะเสนอวิธีการใด ๆ ต่อรัฐบาลทั้งสองที่เกี่ยวข้อง ตามที่เห็นว่าเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ก็ได้

๒. เมื่อคณะกรรมการปักปันยุบเลิกไปแล้ว หากว่ามีกรณี ก็ให้อำนาจหน้าที่ดังที่นิยามไว้ข้างบนนี้ ตกเป็นของคณะกรรมการผสมประกอบด้วยคณะกรรมการฝ่ายละสามนาย ซึ่งจะได้ประชุมกัน เมื่อรัฐบาลที่เกี่ยวข้องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ

หน้าที่การงานแห่งประธานคณะกรรมการนั้น จะได้มอบให้แก่ผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่นคนใดคนหนึ่ง

พิธีสารนี้ ประเทศไทยและฝรั่งเศสจะได้ให้สัตยาบันพร้อมกับอนุสัญญา ในส่วนญี่ปุ่น รัฐบาลแห่งประเทศนั้นจะได้ให้ความเห็นชอบ

พิธีสารนี้จะได้เริ่มใช้พร้อมกับอนุสัญญา

เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องจากรัฐบาลแต่ละฝ่าย ได้ลงนามและประทับตราพิธีสารนี้ไว้เป็นสำคัญ

ทำควบกันเป็นสามฉบับ เป็นภาษาไทย ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ณ โตกิโอ เมื่อวันที่เก้า เดือนที่ห้า พุทธศักราชสองพันสี่ร้อย แปดสิบสี่ ตรงกับวันที่เก้า พฤษภาคม คริสตศักราชพันเก้าร้อยสี่สิบเอ็ด และวันที่เก้า เดือนที่ห้า ปีสโยวาที่สิบหก

(ประทับตรา) วรรณไวทยากร

(ประทับตรา) ศรีเสนา

น.อ. ศิลปศัตราคม (ประทับตรา)

วนิช ปานะนนท์ (ประทับตรา)

(ประทับตรา) Charles Arsene Henry

(ประทับตรา) Rene Robin

----------------------------

สถานทูตไทย

กรุงโตกิโอ

๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)

ท่านเอกอัครราชทูต

ข้าพเจ้าขอยืนยันความตกลงด้วยวาจา ซึ่งเราได้กระทำกันไว้ ความว่าจะได้แนะนำคณะกรรมการปักปันเขตแดนใหม่ ให้คำนึงตามแนวความในข้อ ๒ วรรค ๕ แห่งอนุสัญญาสันติภาพ ถึงความประสงค์ของรัฐบาลฝรั่งเศสที่จะได้วัดบันทายศรีไว้เป็นส่วนหนึ่งแห่งหมู่นครวัด

เป็นที่เข้าใจกันว่า ในกรณีที่เป็นไปตามนั้น คณะกรรมการปักปันจะต้องจัดการ ในการกำหนดเส้นเขตแดนใหม่ ให้ประเทศไทยได้รับอาณาเขตทดแทนเป็นพื้นที่เท่ากัน

ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังท่านเอกอัครราชทูต

(ลงพระนาม) วรรณไวทยากร

ท่านชาร์ลส์ อาร์แซน-ฮังรี

เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศญี่ปุ่น

โตกิโอ

----------------------------

คำแปล

สถานเอกอัครราชทูต

แห่ง สาธารณรัฐฝรั่งเศส

ณ ประเทศญี่ปุ่น

กรุงโตกิโอ วันที่ ๙ พฤษภาคม

พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)

ฝ่าพระบาท

ข้าพเจ้าขอยืนยันความตกลงด้วยวาจา ซึ่งเราได้กระทำกันไว้ ความว่า จะได้แนะนำคณะกรรมการปักปันเขตแดนใหม่ให้คำนึงตามแนวความในข้อ ๒ วรรค ๕ แห่งอนุสัญญาสันติภาพ ถึงความประสงค์ของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่จะได้วัดบันทายศรีไว้เป็นส่วนหนึ่งแห่งหมู่นครวัด

เป็นที่เข้าใจกันว่า ในกรณีที่เป็นไปตามนั้น คณะกรรมการปักปันจะต้องจัดการในการกำหนดเส้นเขตแดนใหม่ ให้ประเทศไทยได้รับอาณาเขตทดแทนเป็นพื้นที่เท่ากัน

ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถือมายังฝ่าพระบาท

(ลงนาม) ชาร์ลส์ อาร์แซน-ฮังรี

ทูล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร

ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศ

หัวหน้าผู้มีอำนาจเต็มของสมเด็จพระราชาธิบดี พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย

กรุงโตกิโอ

----------------------------

สถานทูตไทย

กรุงโตกิโอ

๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)

ท่านเอกอัครราชทูต

ข้าพเจ้าขอยืนยันความตกลงด้วยวาจา ซึ่งเราได้กระทำกันไว้ ความว่า ผลปฏิบัติเท่าเทียมกันในการเข้ามา การตั้งถิ่นฐาน และบรรดาภารธุระ ดังที่บัญญัติไว้ในข้อ ๕ อนุ ๒ แห่งอนุสัญญาซึ่งเราเพิ่งลงนามกันนั้น พึงตีความว่า ได้แก่ผลปฏิบัติเท่าเทียมกันทุกประการ มีข้อยกเว้นสองข้อดังต่อไปนี้

๑. คนชาติฝรั่งเศสจะไม่ได้รับผลปฏิบัติเท่าเทียมกันในการได้มา ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ในเรื่องนี้ คนชาติฝรั่งเศสจะได้อยู่ในบังคับแห่งบทสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์ และการเดินเรือ ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ และบรรดาภาคผนวกแห่งสนธิสัญญานั้น

๒. คนชาติฝรั่งเศสซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในอาณาเขตที่โอนให้ ขณะโอนอธิปไตยกัน หากว่าจะเข้ามาในอาณาเขตที่โอนให้ ก็ให้อยู่ในบังคับแห่งบทกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง

ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังท่านเอกอัครราชทูต

(ลงพระนาม) วรรณไวทยากร

ท่านชาร์ลส์ อาร์แซน-ฮังรี

เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศญี่ปุ่น

โตกิโอ

----------------------------

คำแปล

สถานเอกอัครราชทูต

แห่ง สาธารณรัฐฝรั่งเศส

ณ ประเทศญี่ปุ่น

กรุงโตกิโอ วันที่ ๙ พฤษภาคม

พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๙๕๑)

ฝ่าพระบาท

ข้าพเจ้าขอยืนยันความตกลงด้วยวาจา ซึ่งเราได้กระทำกันไว้ ความว่า ผลปฏิบัติเท่าเทียมกันในการเข้ามา การตั้งถิ่นฐาน และบรรดาภารธุระดังที่บัญญัติไว้ในข้อ ๕ อนุ ๒ แห่งอนุสัญญา ซึ่งเราเพิ่งลงนามกันนั้น พึงตีความว่า ได้แก่ผลปฏิบัติเท่าเทียมกันทุกประการ มีข้อยกเว้นสองข้อ ดังต่อไปนี้

๑. คนชาติฝรั่งเศสจะไม่ได้รับผลปฏิบัติเท่าเทียมกัน ในการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ในเรื่องนี้ คนชาติฝรั่งเศสจะได้อยู่ในบังคับแห่งบทสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์ และการเดินเรือ ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ และบรรดาภาคผนวกแห่งสนธิสัญญานั้น

๒. คนชาติฝรั่งเศสซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในอาณาเขตที่โอนให้ ขณะโอนอธิปไตยนั้น หากว่าจะเข้ามาในอาณาเขตที่โอนให้ ก็ให้อยู่ในบังคับแห่งบทกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง

ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังฝ่าพระบาท

(ลงนาม) ชาร์ลส์ อาร์แซน-ฮังรี

ทูล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร

ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี และ กระทรวงการต่างประเทศ

หัวหน้าผู้มีอำนาจเต็มของสมเด็จพระราชาธิบดี พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย

กรุงโตกิโอ

----------------------------

ประกาศ

ใช้พิธีสารระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น

ว่าด้วยหลักประกันและความเข้าใจกันทางการเมือง

----------------------------

มีพระบรมราชโองการให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า

โดยที่พิธีสารระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยหลักประกันและความเข้าใจกันในทางการเมือง ซึ่งได้ลงนามกัน ณ กรุงโตกิโอ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ มีบทในข้อ ๓ ว่า ให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบันเป็นต้นไป และ

โดยที่พระราชสัตยาบันของทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนกัน ณ กรุงโตกิโอ เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔

ฉะนั้น พิธีสารนี้จึงเป็นอันใช้ ตั้งแต่วันที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นต้นไป

ประกาศมา ณ วันที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี

----------------------------

พิธีสารระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น

ว่าด้วยหลักประกันและความเข้าใจกันในทางการเมือง

----------------------------

รัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น

มีความปรารถนาเท่าเทียมกันในอันจะรักษาสันติภาพในเอเซียตะวันออก

อาศัยเจตนารมณ์สันติและมิตรภาพ ซึ่งได้อำนวยการจัดทำสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ และมีความปรารถนาจริงใจเท่าเทียมกันที่จะคงดำเนินในทางนี้

ใคร่จะยังเสถียรภาพให้แก่สัมพันธไมตรี ซึ่งเพิ่งกลับสถาปนาขึ้นระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส

จึงได้ทำความตกลงกันดังต่อไปนี้

๑. รัฐบาลญี่ปุ่นให้ประกันแก่รัฐบาลไทย ในลักษณะเด็ดขาดและถอนคืนไม่ได้ แห่งความระงับการขัดกันระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส อันเป็นผลสืบจากการไกล่เกลี่ยของรัฐบาลญี่ปุ่น เนื่องแต่อนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และบรรดาเอกสารภาคผนวก

๒. รัฐบาลไทยสนองรับหลักประกันของรัฐบาลญี่ปุ่นดังกล่าวแล้ว และจะพยายามรักษาสันติภาพในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพยายามสถาปนาสัมพันธไมตรีแห่งเพื่อนบ้านที่ดี กับทั้งบำรุงเศรษฐสัมพันธ์อันสนิทระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น

รัฐบาลไทยแถลงไว้ด้วยว่า ไม่มีเจตนาที่จะทำความตกลง หรือความเข้าใจใด ๆ กับประเทศภายนอก เพื่อร่วมมือกันทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือการทหาร ในสภาพที่จะให้รัฐบาลไทยขัดกับญี่ปุ่น โดยตรงหรือโดยทางอ้อม

๓. พิธีสารนี้ จะได้รับสัตยาบัน และจะได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ณ โตกิโอ ภายในสองเดือนหลังจากวันลงนาม

พิธีสารนี้ จะได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบันเป็นต้นไป

เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องจากรัฐบาลแต่ละฝ่าย ได้ลงนามและประทับตราพิธีสารนี้ไว้เป็นสำคัญ

ทำคู่กันเป็นสองฉบับ เป็นภาษาไทยและญี่ปุ่น ณ โตกิโอ เมื่อวันที่เก้า เดือนที่ห้า พุทธศักราชสองพันสี่ร้อยแปดสิบสี่ ตรงกับวันที่เก้า เดือนที่ห้า ปีสโยวาที่สิบหก

(ประทับตรา) วรรณไวทยากร

(ประทับตรา) ศรีเสนา

น.อ. ศิลปศัสตราคม (ประทับตรา)

วนิช ปานะนนท์ (ประทับตรา)

(ประทับตรา) มัตสุโอกะ โยสุเก (อักษรญี่ปุ่น)

(ประทับตรา) มัตสุมิยะ ฮาจิเม (อักษรญี่ปุ่น)

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ