บทที่ ๓ อนุสัญญาสันติภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)

ภายหลังทำกติกาสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศส อังกฤษ และญี่ปุ่น ดังกล่าวข้างต้นแล้วไม่กี่วัน เหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศได้ผันแปรคืบหน้าอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ ภายหลังการลงนามในกติกาสัญญากับ ๓ ชาตินี้เพียง ๒ วัน คือวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) กองทัพเยอรมันเข้ากรุงปารีสโดยไม่ได้มีการต่อต้านประการใด และอีก ๘ วันต่อมา คือวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ฝรั่งเศสทำสัญญายอมแพ้เยอรมันนีในป่าเมืองคอมเปียน (Compiègne) เกี่ยวกับกติกาสัญญาไม่รุกรานซึ่งทำกับไทยฉบับนี้ทางฝรั่งเศสยินดีมาก สถานีวิทยุกระจายเสียงที่ไซ่ง่อนในคืนวันที่ ๑๒ มิถุนายน ทั้ง ๆ ที่ทุกข์โศกเกี่ยวกับประเทศของตัวกำลังจะยอมแพ้ได้สรรเสริญไทยว่าเป็นมิตรดี จะไม่ลืมบุญคุณไทยในครั้งนี้ และบรรเลงเพลงสนุกสนาน

ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นวันชาติอยู่ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวทางวิทยุกระจายเสียงตอนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศส ว่า “.........เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญในระยะนี้มีผู้ร่วมชาติซึ่งสนใจกับเพื่อนบ้านของเราทางอินโดจีนได้สอบถามข้าพเจ้าๆขอร้องให้เพื่อนร่วมชาติที่รักทั้งหลายจงลืมความหลังเสีย โดยถือว่าเรื่องเก่าเป็นเรื่องฝันร้าย ขอให้เพื่อนร่วมชาติที่รักจงสงสารและเห็นอกเห็นใจในฝรั่งเศสมิตรของเรา...................” ในวันเดียวกันนี้ สถานีวิทยุไซ่ง่อนก็ประกาศขอบคุณไทยในไมตรีจิตครั้งนี้อีก

ต่อมาเหตุการณ์ในอินโดจีนก็เริ่มตึงเครียด ๕ วันหลังจากกองทัพเยอรมันเข้ากรุงปารีส รัฐบาลญี่ปุ่นยื่นบันทึกต่อรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส ให้ยกพรมแดนระหว่างจีนกับอินโดจีนชั่วคราว และอนุญาต ให้ญี่ปุ่นส่งผู้ตรวจการไปควบคุมเพื่อให้มั่นใจว่ารัฐบาลจีนที่จุงกิงจะไม่ได้รับการช่วยเหลือทางทหารจากฝ่ายสัมพันธมิตร รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสตอบว่าได้ปิดแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) คือก่อนรับบันทึกจากญี่ปุ่นสองวัน โดยห้ามรถบรรทุกและการลำเลียงน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปแดนจีน และจะปิดห้ามการลำเลียงวัสดุอื่น ๆ อีก และไม่ขัดข้องที่ญี่ปุ่นจะส่งคนมาตรวจ ในการนี้รัฐบาลจีนได้ประท้วงต่อรัฐบาลฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสไม่ตอบประการใด ต่อมาอีก ๑๒ วันรัฐบาลญี่ปุ่นส่งคณะทหารโดยมีนายพลนิชิฮารา (Nishihara) เป็นหัวหน้ามายังเมืองฮานอย และเข้าควบคุมเมืองท่าไฮฟอง ฮาเกียง เลาเก เคาบาง ลังซอน และป้อมบายาร์ด

ราวกลางเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน คือ พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) นายพลนิชิฮารา ร้องขอต่อผู้สำเร็จราชการอินโดจีน เพื่อให้ญี่ปุ่นมีสิทธิตั้งฐานทัพอากาศและมีสิทธิเอาทหารเดินผ่านไปมา แต่ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนบ่ายเบี่ยงว่า ให้รัฐบาลญี่ปุ่นไปเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลฝรั่งเศสที่วิชี รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเจรจากับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ที่กรุงโตเกียว แต่รัฐบาลวิชียืนกรานว่าเป็นการเสียบูรณภาพอาณาเขต และเท่ากับฝรั่งเศสร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับจีน ในที่สุดในปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) รัฐบาลวิชีสั่งให้ทูตฝรั่งเศสที่กรุงโตเกียวมีหนังสือแลกเปลี่ยนกับนายมัทซูโอกา รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศญี่ปุ่น โดยฝรั่งเศสรับนับถือว่า ญี่ปุ่นมีประโยชน์ส่วนได้เสียสำคัญในด้านการเมือง และการเศรษฐกิจในตะวันออกไกล และฝรั่งเศสยอมให้ญี่ปุ่นมีเอกสิทธิพิเศษในเศรษฐกิจของอินโดจีนยิ่งกว่าประเทศอื่น ๆ อินโดจีนยอมให้ญี่ปุ่นมีเอกสิทธิพิเศษในกิจการทหาร ทั้งนี้เฉพาะเพื่อให้การรบพุ่งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นสิ้นสุดลง และญี่ปุ่นจะไม่ใช้สิทธิในทางทหารอย่างกว้างขวาง รายละเอียดให้ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นที่ฮานอยเจรจากับผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสในอินโดจีน เพื่อเป็นการตอบแทนญี่ปุ่นจะเคารพสิทธิและผลประโยชน์ของฝรั่งเศสในตะวันออกไกล เฉพาะอย่างยิ่งบูรณภาพอาณาเขตของฝรั่งเศสในอินโดจีน

ในหนังสือบันทึกความจำของนายฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกันในขณะนั้นกล่าวว่า เมื่อทำสัญญากับญี่ปุ่นแล้ว รัฐบาลวิชีได้สั่งทูตฝรั่งเศสที่วอชิงตันให้มาเจรจากับนายฮัลล์ ขอให้สหรัฐอเมริกาขอคำมั่นประกันจากญี่ปุ่น ทำนองเดียวกับที่ญี่ปุ่นให้กับฝรั่งเศสในเรื่องจะเคารพบูรณภาพอาณาเขตของอินโดจีน นายฮัลล์ปฏิเสธและกลับสั่งสอนรัฐบาลวิชีว่า ไม่ควรไปตกลงกับญี่ปุ่น ยอมรับว่าญี่ปุ่นมีประโยชน์นำในตะวันออกไกล รัฐบาลอเมริกันได้ประท้วงญี่ปุ่นหลายครั้งแล้วในเรื่องบีบคั้นอินโดจีน แต่ในการที่จะให้เรียกร้องญี่ปุ่นดังกล่าว และให้สหรัฐอเมริกาช่วยเหลือทางทหารนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดสงครามได้ (ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เพราะเวลานั้นสหรัฐอเมริกายังไม่พร้อม)

ในที่สุดนายพลนิชิฮาราได้ลงนามในสัญญาทางทหารกับนายพลมาแตง (Martin) ผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสในอินโดจีนเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ตามหลักฐานในศาลอาชญากรสงครามกรุงโตเกียวปรากฏว่า ตามสัญญาอินโดจีนยอมให้ญี่ปุ่นนำทหารเข้ามาได้ไม่เกิน ๒ ใน ๓ ของจำนวนทหารทั้งหมด คือ ๒๕,๐๐๐ ซึ่งญี่ปุ่นขอเดินผ่านตังเกี๋ย

ระหว่างนี้ พลตรีหลวงพิบูลสงคราม ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ได้สั่งข้าพเจ้าให้เร่งทูตฝรั่งเศสในเรื่องส่งผู้แทนมาเจรจาเรื่องพรมแดน ตามหนังสือแลกเปลี่ยนในขณะทำกติกาสัญญาไม่รุกราน แต่ทางฝรั่งเศสก็ชี้แจงว่าทางฝรั่งเศสกำลังสับสนเกี่ยวกับการยอมแพ้เยอรมันนี ผัดเพี้ยนเรื่อย ๆ มา รวมเวลาสองเดือนกว่าก็ยังไม่สามารถส่งผู้แทนมาได้ พลตรีหลวงพิบูลสงคราม จึงเสนอในคณะรัฐมนตรีว่า เหตุการณ์ทางอินโดจีนถึงเครียดยิ่งขึ้นทุกวัน ถ้าฝรั่งเศสยอมยกอินโดจีนให้ญี่ปุ่น และไทยเรามิได้แสดงท่าที่สนใจเกี่ยวกับดินแดนของเราที่เสียไป รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่ออนุชนรุ่นหลังในฐานที่เพิกเฉย

ในวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) พลตรีหลวงพิบูลสงคราม จึงสั่งให้ข้าพเจ้าเชิญนายเลปิสซิเอร์ อัครราชทูตฝรั่งเศสมาพบที่กระทรวงการต่างประเทศ และแจ้งว่า ท่านนายกรัฐมนตรีมีความร้อนใจในเรื่องปักปันเขตแดนใหม่เป็นอันมาก สภาผู้แทนราษฎร และชาวไทยทั้งหมดต่างก็ใคร่ที่ทราบว่า เรื่องนี้ได้ดำเนินคืบหน้าไปเพียงใดแล้ว ฉะนั้นถ้าอัครราชทูตจะกรุณาแจ้งผลของการตั้งเป็นกรรมการฝ่ายฝรั่งเศสมายังไทยโดยเร็วแล้ว จะขอบคุณเป็นอันมาก เพื่อที่ว่าสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนคนไทยจะได้คลายความกังวลลงไปได้บ้าง ทางฝ่ายไทยนั้นพร้อมที่จะดำเนินการอยู่ทุกขณะ ถ้าหากทางฝ่ายฝรั่งเศสแจ้งมา เป็นความประสงค์ของรัฐบาลอย่างยิ่งที่จะให้การให้สัตยาบันสัญญาไม่รุกราน และการปักปันเขตแดนใหม่สำเร็จเสียคราวเดียวกัน ทูตฝรั่งเศสได้ตอบว่า ทูตเองก็ร้อนใจอยู่ไม่น้อย แต่ขอทราบว่าการให้สัตยาบันสัญญาไม่รุกรานนั้น รัฐบาลเป็นผู้ให้หรือสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ให้ ข้าพเจ้าได้ชี้แจงว่า สำหรับสัญญาไม่รุกรานนั้น รัฐบาลเป็นผู้ให้ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่การปักปันเขตแดนใหม่อาจเป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศตามรัฐธรรมนูญ ต้องให้สภาผู้แทนเป็นผู้ให้สัตยาบัน อย่างไรก็ดี ถ้าทำได้พร้อมกันในคราวเดียวก็จะดีมาก ทูตได้ตอบว่าเรื่องดำเนินไปไม่ได้รวดเร็ว เพราะเวลานี้ (ขณะนั้น) น้ำในแม่น้ำโขงขึ้นสูง ไม่สะดวกแก่การปักปัน จะต้องรอจนกว่าน้ำลด ซึ่งก็เป็นเวลาอีกราว ๒ เดือน ข้าพเจ้าได้ชี้แจงว่า ความจริงเราอาจดำเนินการได้ทันทีทีเดียว ถ้าเราจะใช้แผนที่กำหนดเส้นเขตแดนใหญ่ไว้ทีเดียวก่อนดีกว่า แล้วรายละเอียดปล่อยให้อนุกรรมาธิการ ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการต่าง ๆ ในการนี้เขาประชุมพิจารณากัน ข้อสำคัญคือขณะนี้ต้องทำให้ราษฎรไทยเห็นว่า เราได้ดำเนินการไปบ้างแล้วในเรื่องนี้เท่านั้น ซึ่งเวลานี้เราก็ปล่อยให้ล่วงเลยมาหลายสัปดาห์แล้ว ถ้าขืนชักช้าไปจะก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีขึ้นในทางฝ่ายไทย และอาจเป็นการกระทบกระเทือนถึงการให้สัตยาบันสัญญาไม่รุกรานด้วย และสภาผู้แทนราษฎรก็คอยฟังผลของการปักปันเขตแดนอยู่ด้วย และโดยที่ทูตก็เป็นอนุกรรมาธิการฝ่ายฝรั่งเศสอยู่แล้ว ไทยจึงหวังใจและมั่นใจว่าการปักปันเขตแดนคงจะสำเร็จลงด้วยดีและด้วยความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ทูตตอบว่า เข้าใจดีทีเดียว แต่แผนที่ที่ว่านี้ ใหญ่โตมีรายละเอียดพอที่จะกำหนดเขตแดนใหญ่ไว้พลางก่อนได้หรือไม่ ข้าพเจ้าได้ตอบว่า เห็นจะใหญ่และมีรายละเอียดพอที่จะอาศัยกำหนดเส้นเขตแดนใหญ่ไว้ชั่วคราวก่อนได้ ทูตตอบว่าน่าจะตกลงในหลักการนี้ได้ และจะได้มีหนังสือถึงท่านรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ (หมายถึงพลตรี หลวงพิบูลสงคราม) โดยเร็ว และคิดว่าการปักปันคงจะเสร็จในราวเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ (คือ พ.ศ. ๒๔๘๓ หรือ ค.ศ. ๑๙๔๐)

เนื่องจากเหตุการณ์ในอินโดจีนถูกญี่ปุ่นบีบดังกล่าว ในต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) นายแชปแมน อุปทูตอเมริกันได้มาถามข้าพเจ้าว่า เนื่องจากญี่ปุ่นคึกคักในอินโดจีน ทางไทยเรามีความเห็นอย่างใด ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่า เมื่อสองสามวันนี้ คือ ในวันชาติ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงแล้วว่า รัฐบาลไทยเฝ้าดูพฤติการณ์ด้วยความสนใจยิ่ง ในระยะเวลาเดียวกันนี้ อัครราชทูตอังกฤษก็ได้มาพบข้าพเจ้า ถามถึงท่าทีรัฐบาลไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอินโดจีนดังกล่าว ข้าพเจ้าได้ตอบไปทำนองเดียวกับที่ตอบอุปทูตอเมริกัน ทูตถามต่อไปว่า ถ้าญี่ปุ่นเอาอินโดจีน ไทยจะว่าอย่างไร ข้าพเจ้าตอบว่า ทูตย่อมทราบอยู่แล้วว่า ดินแดนต่าง ๆ หลายแห่งที่เป็นของอินโดจีนอยู่ในเวลานี้ เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของไทยแท้ ๆ ไม่น้อย ทูตเคยอยู่เมืองไทยมาตั้งแต่ ๓๐ ปีมาแล้ว ย่อมทราบประวัติดี หากจำเป็นจริง ๆ รัฐบาลก็ต้องขอร้องแบ่งบ้าง มิฉะนั้นญี่ปุ่นก็ได้ไปคนเดียว การที่ไทยได้ดินแดนบ้าง ก็เท่ากับกันญี่ปุ่นให้ห่างออกไปอีกจากมลายูซึ่งอังกฤษควรจะพอใจ ทูตกล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง ถ้าฝรั่งเศสจะต้องสละอินโดจีนจริง ๆ ควรแบ่งให้ไทยก่อนแล้วจึงแบ่งให้ญี่ปุ่นดีกว่า แต่ทูตเห็นว่าถ้าญี่ปุ่นจะแบ่งอินโดจีนให้ไทยแล้วคงมีเงื่อนไข กล่าวคือ ให้ไทยรับรองระเบียบใหม่ (New Order) ในเอเซีย ถ้าญี่ปุ่นขอให้ไทยรับรองระเบียบใหม่ ไทยจะว่าอย่างไร ข้าพเจ้าได้ตอบว่า เรื่องระเบียบใหม่นี้ยังมีความหมายคลุมเครืออยู่ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงยังไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบได้ ทูตกล่าวในที่สุดว่า ขอให้รัฐบาลไทยระลึกไว้เสมอว่า ญี่ปุ่นนั้นมีนโยบายขยายเมืองขึ้นอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นจึงควรระวัง อย่างไรก็ดี ทูตจะรายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษว่า ถ้าฝรั่งเศสจำต้องปล่อยอินโดจีนแล้ว ควรคืนดินแดนเดิมของไทยให้ไทยดีกว่า

ต่อมา ทูตฝรั่งเศสได้มาพบข้าพเจ้าอีกที่กระทรวงการต่างประเทศ และแจ้งว่า ทางรัฐบาลฝรั่งเศสขอให้กติกาสัญญาไม่รุกรานระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสมีผลบังคับใช้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยมิต้องรอการแลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ข้าพเจ้าได้ตอบว่า ถ้าทำเช่นนั้นจะไม่ชอบด้วยพิธีการรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าจะได้เสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป

เมื่อได้รับคำขอเช่นนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมาพิจารณาดูว่า เมื่อฝรั่งเศสได้มีคำขอมาใหม่เช่นนี้ จึงควรจะพูดจากันให้แน่นแฟ้นขึ้น และเพื่ออนุโลมตามคำร้องขอของฝรั่งเศสด้วย แต่ก่อนจะดำเนินการประการใด ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้ข้าพเจ้าลองเจรจากับทูตอังกฤษ ทูตอเมริกัน ทูตเยอรมัน และทูตอิตาเลียน เพื่อขอความเห็นอกเห็นใจในเรื่องที่เราจะเจรจากับฝรั่งเศส ฉะนั้นเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ข้าพเจ้าได้เชิญทูตทั้ง ๔ นายมาพบที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยกล่าวว่าข้าพเจ้าได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ปรารภกับทูตว่า ทูตคงจะทราบดีแล้วว่า เรื่องปัญหาอินโดจีนนี้ นายกรัฐมนตรีและข้าพเจ้าได้เคยปรารภกับทูตอยู่หลายครั้งแล้ว บัดนี้ทูตย่อมทราบดีว่า ฐานะทางอินโดจีนคับขันเข้าทุกวัน ดินแดนที่ไทยเสียให้ฝรั่งเศสไป เพราะเหตุใด ทูตย่อมทราบประวัติดีแล้ว โดยที่ข้าพเจ้าไม่จำต้องนำมาสาธยาย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงสั่งให้ข้าพเจ้าแจ้งกับทูต โดยขอให้ทูตถามไปยังรัฐบาลของทูตว่า ถ้ามีพฤติการณ์ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไทยขอเมืองเหล่านี้ที่เสียไปคืน รัฐบาลนั้นจะมีความเห็นอย่างไร และหวังว่ารัฐบาลนั้น ๆ คงพิจารณาเรื่องนี้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ

อัครราชทูตอังกฤษได้ตอบว่า เรื่องนี้ยินดีจะโทรเลขบอกไป แต่ทูตเชื่อว่า รัฐบาลอังกฤษจะต้องปรึกษากับรัฐบาลอเมริกัน แต่ทูตใคร่ถามความเห็นข้าพเจ้าว่า ถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นตกลงว่าจะรักษาสถานภาพเดิม (status Quo) ของอินโดจีน ไทยก็ยังจะเรียกเอาอย่างนั้นหรือ ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่า ข้าพเจ้าไม่ได้รับคำสั่งในเรื่องนี้ แต่ข้าพเจ้ามีความเห็นเป็นส่วนตัวว่า ถ้าญี่ปุ่นตกลงรักษาสถานภาพเดิม ปัญหาเรื่องไทยเรียกร้องดินแดนก็คงจะไม่มีขึ้น ที่เราคิดจะเรียกร้องนี้ เพราะเกรงว่าดินแดนจะตกไปเป็นของญี่ปุ่นเปล่า ๆ ทูตกล่าวว่า ทูตเชื่อแน่ว่า รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลอเมริกันคงจะขอร้องให้รักษาสถานภาพเดิมเช่นเดียวกับที่ได้ขอร้องญี่ปุ่น แต่ถ้าในที่สุดญี่ปุ่นจะเปลี่ยนสถานภาพเดิม และไทยเรียกร้องขึ้นมา อังกฤษก็คงสนับสนุนเป็นแน่ อย่างไรก็ดี ทูตขอให้ข้าพเจ้ารายงานนายกรัฐมนตรีด้วยว่า ทูตทราบมาแน่ว่า ญี่ปุ่นคิดจะเอาอินโดจีนโดยตั้งกษัตริย์ในเมืองญวนและกัมพูชาทำนองเดียวกับแมนจูกัว และจะให้เมืองลาวแก่ไทยโดยคงมีเงื่อนไขว่า ไทยจะต้องรับรองระเบียบใหม่ (New Order) ในเอเซีย อีกนัยหนึ่งคือ ยอมเป็นประเทศทำนองแมนจูกัว และต้องรับนับถือ (recognize) ประเทศต่าง ๆ ซึ่งญี่ปุ่นจะตั้งขึ้นใหม่ ทั้งทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจพิเศษให้ญี่ปุ่นมีอำนาจควบคุมได้ ทูตขอให้รัฐบาลไทยตระหนักในข้อนี้ เพราะเท่ากับได้ดินแดนมาจริง แต่ก็เป็นการเชือดคอตนเอง (cut throat) เพราะได้ดินแดนมา แต่อิสรภาพไม่มีเต็มที่

สำหรับทูตอเมริกันนั้น เมื่อข้าพเจ้าขอร้องแล้ว ได้ถามข้าพเจ้าว่า การที่ไทยจะเรียกร้องนั้น จะใช้กำลังบังคับหรือเปล่า ข้าพเจ้าได้ตอบว่า หามิได้ รัฐบาลไทยคิดจะขอทางการทูตโดยสุภาพ ทูตอเมริกันกล่าวว่าดีทีเดียว แต่ใคร่ทราบว่า ถ้าญี่ปุ่นยอมรับนับถือสถานภาพเดิมของอินโดจีน ไทยยังจะเรียกร้องหรือไม่ ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ได้รับคำสั่งในเรื่องนี้ แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัวแล้ว เห็นว่า ถ้าญี่ปุ่นรับนับถือสถานภาพเดิม เราก็ยังไม่เห็นจำเป็นที่จะเรียกร้อง

สำหรับทูตอิตาเลียนและทูตเยอรมัน ได้ตอบทันทีว่า เข้าใจว่ารัฐบาลของเขาคงสนับสนุน เพราะเห็นอกเห็นใจ

สำหรับญี่ปุ่นนั้น นายกรัฐมนตรีบอกกับข้าพเจ้าว่า ไม่ต้องถาม เพราะท่านได้ใช้ให้บุคคลอื่นติดต่ออย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว แต่เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ข้าพเจ้าประหลาดใจเป็นอันมากที่อุปทูตญี่ปุ่น๑๐ ได้มาหาข้าพเจ้าที่กระทรวงการต่างประเทศและถามว่า ทูตอเมริกันตอบมาแล้วหรือยัง ข้าพเจ้าตอบว่ายังไม่ได้รับคำตอบ อุปทูตญี่ปุ่นได้กล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่ควรไปถามความเห็นของสองชาตินี้ ข้าพเจ้าได้โต้ไปว่า เราอยากแสดงความบริสุทธิ์ จึงไม่เห็นเป็นเรื่องลับอะไร

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้เชิญทูตฝรั่งเศสมาพบอีก โดยแจ้งกับทูตว่า ควรจะเรากำหนดหลักการใหญ่ ๆ ให้เสร็จสิ้นไปเสียชั้นหนึ่งก่อน ฉะนั้นใคร่ทราบว่า ทางฝรั่งเศสจะส่งผู้แทนมาเมื่อใด ทูตได้ตอบว่า ทางรัฐบาลอินโดจีนผัดเพี้ยนเรื่อย ๆ อ้างว่ามัวยุ่งด้วยปัญหาสำคัญต่าง ๆ ข้าพเจ้าตอบว่า รู้สึกว่าทางอินโดจีนไม่รู้เข้าใจนโยบายไทย หรืออาจพยายามไม่เข้าใจก็ได้ ตัวอย่างเช่นปล่อยให้เครื่องบินทหารบินล้ำเขตแดนของเราบ่อย ๆ ทูตฝรั่งเศสตอบว่า เสียใจที่รัฐบาลอินโดจีนมีท่าทีเช่นนี้ ทางรัฐบาลอินโดจีนเวลานี้ก็อยู่ในฐานะลำบาก เพราะได้รับคำขาดจากญี่ปุ่นให้เปิดทางผ่านให้ทหาร และขออนุญาตตั้งฐานทัพเรือ

วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) อัครราชทูตอเมริกันได้มาขอพบข้าพเจ้าและแจ้งว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีให้ข้าพเจ้าถามความเห็นรัฐบาลอเมริกัน บัดนี้ รัฐบาลอเมริกันได้ตอบมาแล้วว่า เรื่องนี้รัฐบาลอเมริกันเคยแถลงไว้แล้วเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗) เมื่อคราวญี่ปุ่นเริ่มมีเรื่องกับจีน คำแถลงนี้อุปทูตอเมริกันได้เคยยื่นไว้ต่อหลวงประดิษฐมนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ดังสำเนาซึ่งทูตได้คัดมาให้ทราบอีกด้วยแล้ว สาระสำคัญของคำแถลงนี้คือ ในขณะที่โลกกำลังประสบความตึงเครียดทั่ว ๆ ไป ซึ่งดูเผิน ๆ ประเทศที่ใกล้เคียงเท่านั้นควรจะเกี่ยวข้อง แต่ถ้าพิจารณาดูให้ดีแล้ว ประเทศทั้งหลายทั่วโลกย่อมมีส่วนเป็นห่วงเป็นใยด้วย ไม่ว่าแหล่งใด ถ้ามีการรบพุ่งกันหรือคุกคามว่าจะมีการรบพุ่งกัน ทุกชาติจะต้องเดือดร้อนด้วย เพราะกระทบถึงสิทธิและประโยชน์ส่วนได้เสีย ไม่มีประเทศใดที่จะปลอดโปร่งจากการไม่ต้องรับความกระทบกระเทือน ฉะนั้น นายคอเดล ฮัลล์ ในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ซึ่งเป็นปากเสียงของรัฐบาลอเมริกัน จึงมีความเห็นว่า ชาติต่างๆ ควรมีการเหนี่ยวรั้งตนเอง ยับยั้งจากการใช้กำลัง เพื่อให้นโยบายของตนสัมฤทธิผล ไม่แทรกแซงในกิจการภายในของชาติอื่น ปรับความยุ่งยากระหว่างประเทศโดยการเจรจาอย่างสันติ และทำความตกลงโดยสันติเคารพพันธกรณีระหว่างประเทศโดยซื่อสัตย์ ผ่อนปรนซึ่งกันและกัน เคารพสิทธิของชาติอื่น ส่งเสริมหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของโลก ในที่สุดทูตได้เสนอเป็นความเห็นส่วนตัวว่า รอเมื่อเสร็จสงครามแล้ว หาทางร้องที่ ๆ ประชุมสันติภาพมิดีกว่าหรือ ข้าพเจ้าคิดจะแย้งไปว่าไทยได้บทเรียนครั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งแล้ว ครั้งนั้นสัมพันธมิตรชวนให้ไทยเข้าสงครามด้วย แต่เมื่อเสร็จแล้วแทนที่จะยอมแก้ไขสนธิสัญญาซึ่งไทยเสียเปรียบฝ่ายเดียว กลับไม่มีประเทศใดยอม นอกจากสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว มาแก้ไขได้ก็ต่อมาอีกหลายปี และก็ด้วยความยากลำบาก และด้วยความช่วยเหลืออย่างสำคัญของด๊อกเตอร์แซร์ ที่บังเอิญเป็นบุตรเขยของประธานาธิบดีวิลสันด้วย๑๑ แต่ข้าพเจ้าก็ได้ถามเพียงเปรยๆว่ามีสองปัญหา ปัญหาแรกอยู่ที่ว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ และอีกปัญหาหนึ่งคือ ฝ่ายชนะย่อมมีเสียงเต็มที่ สมมติว่าฝ่ายสัมพันธมิตรชนะ ทูตตอบได้หรือไม่ว่าสหรัฐอเมริกาจะสนับสนุนไทย ทูตตอบว่านั่นเป็นเรื่องกาลข้างหน้า ทูตไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบได้ และที่แสดงความเห็นมานี้ ก็เป็นความเห็นส่วนตัวทั้งสิ้น

สำหรับอังกฤษใช้เวลาตรึกตรองนานพอดู คือข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้เจรจาถามความเห็นวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ดังกล่าวข้างต้น จนกระทั่งวันที่ ๒๖ กันยายน ปีเดียวกัน คือถึง ๖ สัปดาห์ ทูตอังกฤษจึงมาพบ และนำบันทึกตอบมายื่นมีความว่า รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (อังกฤษ) แม้จะยึดหลักสำคัญในการธำรงไว้ซึ่งสถานภาพเดิมของอินโดจีนนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็เข้าใจดีว่าในกรณีอินโดจีนต้องแตกสลาย หรือการเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตย ไทยจึงปรารถนาที่จะได้คืนในแดนบางส่วนซึ่งไทยถือว่าตนมีสิทธิ แต่รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอังกฤษขอเชิญให้รัฐบาลไทย ไตร่ตรองให้ดีว่าการธำรงไว้ซึ่งอธิปไตยของอินโดจีน ภายใต้อธิปไตยของฝรั่งเศส จะไม่เป็นประโยชน์ต่อไทยมากกว่าที่จะให้ญี่ปุ่นเข้ามาเป็นเจ้าของ และมีพรมแดนติดต่อกับไทยดอกหรือ เป็นสิทธิของไทยที่จะตัดสินนโยบายเอง แต่ในความคิดเห็นของรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งอังกฤษนั้น ใคร่ขอให้ไทยคิดดูให้ดีก่อนดำเนินการอย่างใด ซึ่งต่อไปจะมีแต่ความเสียใจ รัฐบาลอังกฤษมีเหตุผลที่จะเชื่อว่า ความตกลงระหว่างญี่ปุ่นกับฝรั่งเศสนั้น รวมถึงการที่ญี่ปุ่นให้ประกันภูมิภาคอาณาเขตอินโดจีนด้วย ถ้าเป็นจริงดังว่านี้ ปัญหาการเรียกร้องดินแดนของไทยอย่างกว้างขวางก็ไม่เกิดขึ้น แต่เท่าที่เกี่ยวกับการเรียกร้องโดยจำกัดเกี่ยวกับการให้สัตยาบันกติกาสัญญาไม่รุกราน รัฐบาลอังกฤษไม่เห็นมีข้อใดที่โต้แย้งเลยว่า ไม่ควรแก้ไขเขตแดน ซึ่งในที่นี้ก็อาจเจรจากันได้ไม่ว่าเวลาใดระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศส เนื่องจากไทยกับอังกฤษมีมิตรภาพต่อกันมาช้านาน รัฐบาลอังกฤษจะยินดีเสมอ ถ้ารัฐบาลไทยจะให้ทราบล่วงหน้าเป็นระยะว่า รัฐบาลไทยคิดจะดำเนินการอย่างใดในเรื่องนี้

วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) รัฐบาลไทยได้ประกาศรายนามคณะผู้แทนเจรจาการปรับปรุงเขตแดนและทำความตกลงในปัญหาค้างพิจารณาเรื่องแม่น้ำโขง ดังมีรายนามต่อไปนี้

๑. พลตรี หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน

๒. นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

๓. พันตรีหลวงเชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย๑๒

๔. พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ที่ปรึกษาฝ่ายไทยกระทรวงการต่างประเทศ

๕. พันเอกพระยาอภัยสงคราม ที่ปรึกษาการป้องกันพระราชอาณาจักรและเสนาธิการทหาร๑๓

๖. พระยาสุนทรพิพิธ ปลัดกระทรวงมหาดไทย๑๔

๗. หลวงสิทธิสยามการ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ๑๕

๘. นาวาเอกพระเรียมวิรัชชพากย์ สมุหพิธีการ กระทรวงการต่างประเทศ และข้าหลวงใหญ่ฝ่ายไทยในคณะข้าหลวงใหญ่ประจำแม่น้ำโขง

๙. พันเอก พระสราภัยสฤษดิการ กระทรวงกลาโหม๑๖

๑๐. พระอนุรักษ์ภูเบศ หัวหน้ากองการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย

ทางด้านฝรั่งเศสนั้น วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) อัครราชทูตฝรั่งเศสได้มีหนังสือแจ้งมาเป็นทางการว่า คณะผู้แทนฝ่ายฝรั่งเศสประกอบด้วย

๑. นายเลปิสซิเอร์ อัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ เป็นประธาน

๒. นายมังโตวานี อธิบดีกรมการเมืองอินโดจีน

๓. นายกาสสิเอร์ เจ้ากรมการโยธาอินโดจีน

๔. นายนาโด อธิบดีตำรวจอินโดจีน

๕. ผู้แทนเรสิดังต์ สุเปริเออร์ แห่งลาว และ

๖. นายเลอคูตร์ เจ้ากรมศุลกากรและสรรพสามิตรแห่งอินโดจีน แต่เมื่อสอบถามว่า คณะผู้แทนจะเดินทางมาเมื่อใด ทูตฝรั่งเศสก็ตอบว่าได้เร่งไปแล้ว

ในวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) อัครราชทูตของเรา๑๗ ที่เมืองวิชี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของจอมพลเปแตง โทรเลขแจ้งมาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส๑๘ ใคร่ที่จะให้ไทยรีบให้สัตยาบันกติกาสัญญาไม่รุกรานทันที โดยไม่ต้องรอการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร

เมื่อได้รับคำขอของฝรั่งเศสเช่นนี้ ในวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีคำสั่งให้ยื่นบันทึกต่อทูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพ ฯ มีสาระสำคัญดังนี้

รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยินดีที่จะผ่อนตามคำร้องขอของฝรั่งเศส โดยให้ถือว่ากติกาสัญญาไม่รุกรานใช้บังคับได้ โดยไม่ต้องรอแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร แต่ขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสเห็นว่าขณะลงนามในกติกานั้น เหตุการณ์ในอินโดจีนยังเป็นปรกติอยู่ แต่ในขณะนี้ (เดือนกันยายน) ไม่เป็นเช่นนั้น รัฐบาลไทยจึงหวังว่า รัฐบาลฝรั่งเศสคงจะเข้าใจได้ว่า ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่รัฐบาลไทยจะทำไม่สนใจต่อโชคชะตาของคนไทยในดินแดนดังกล่าวไม่ได้ ฉะนั้นก่อนให้กติกาสัญญามีผลบังคับใช้ รัฐบาลไทยจึงขอเสนอให้มีความตกลงซึ่งแน่นอน จะได้เจรจากันดังต่อไปนี้

(๑) วางแนวเส้นเขตแดนตามลำแม่น้ำโขง ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือถือหลักร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ และตกลงปัญหาเรื่องการปกครองอื่น ๆ ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือแลกเปลี่ยนลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐)๑๙

(๒) ปรับปรุงเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือ ถือว่าแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีน ตั้งแต่ทิศเหนือลงมาทิศใต้จนถึงดินแดนกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามกับหลวงพระบางและปากเซคืนมา

ให้กติกาสัญญามีผลใช้บังคับทันทีเมื่อทำความตกลงแล้ว

(๓) รัฐบาลไทยจะขอบคุณมาก ถ้ารัฐบาลฝรั่งเศสให้คำรับรองเป็นหนังสือว่า ในกรณีอินโดจีนเปลี่ยนอธิปไตยจากฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะคืนให้ไทย ซึ่งบรรดาดินแดนเหล่านี้คือ ลาวและกัมพูชา ในกรณีเช่นนี้ รัฐบาลไทยจะพิจารณาด้วยดีเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อข้าราชการชาวฝรั่งเศสในดินแดนเหล่านี้ (หมายถึงว่าจะพิจารณาให้รับราชการต่อไป ถ้าประสงค์)

ในวันเดียวกัน รัฐบาลไทยได้โทรเลขสั่งไปยังทูตไทยที่วิชี ให้ยื่นบันทึกต่อรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศส มีความทำนองเดียวกัน

ระหว่างรอว่าฝรั่งเศสจะตอบประการใดนั้น อัครราชทูตอเมริกันได้มาพบข้าพเจ้าย่อยครั้ง เพื่อยืนยันในหลักสถานภาพเดิม (Status Quo) ข้าพเจ้าได้ชี้แจงว่าที่เราร้องขอต่อฝรั่งเศสครั้งนี้มีสองประเด็นคือปรับปรุงเส้นพรมแดน (Adjustment of frontier) และในกรณีมีการเปลี่ยนสถานภาพเดิม (Status Quo) เราจึงขอให้ฝรั่งเศสคืนให้เราแทนที่จะไปให้ญี่ปุ่น ไม่เป็นการทำลายสถานภาพเดิมประการใด อัครราชทูตอเมริกันเล่าว่า เอกอัครราชทูตอเมริกันที่กรุงโตเกียว๒๐ได้ไปพบนายมัทซูโอกา รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศญี่ปุ่น และถามว่าเกี่ยวกับฐานะของอินโดจีนญี่ปุ่นจะทำอย่างไร มัทซูโอกาแจ้งว่า ญี่ปุ่นจะรักษาสถานภาพเดิมของอินโดจีนไว้ ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะเข้าอินโดจีนแล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้สถานภาพเดิมเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ตามหลักฐานปรากฏในศาลทหารระหว่างประเทศกรุงโตเกียว ว่าในระยะเวลาเดียวกันนี้ คือวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส๒๑ ประจำกรุงโตเกียว ได้ไปที่กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นและกล่าวหาว่าไทยรุกราน รองรัฐมนตรีต่างประเทศ๒๒ได้ตอบปัดว่า ไม่ใช่เรื่องของญี่ปุ่น ทูตฝรั่งเศสกล่าวว่า การที่ญี่ปุ่นหนุนไทยเช่นนี้เป็นการทำให้การเจรจาเรื่องญี่ปุ่นขอใช้ฐานทัพในอินโดจีนชักช้าลง ซึ่งเป็นความผิดของญี่ปุ่นเอง รองรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นตอบว่า ถ้าฝรั่งเศสขัดขืนไม่ยอมให้ญี่ปุ่นใช้ฐานทัพในอินโดจีน ก็อาจจะต้องใช้กำลัง๒๓

ฝ่ายฝรั่งเศสได้ตอบมาโดยทางทูตไทยประจำฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) มีสาระสำคัญดังนี้ คือ

๑. รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ได้ขอว่า ให้ใช้กติกาสัญญาไม่รุกรานก่อนการแลกเปลี่ยนสัตยาบัน รัฐบาลฝรั่งเศสเพียงแต่แสดงความปรารถนาว่าการแลกเปลี่ยนสัตยาบันนั้น ควรกระทำเร็วที่สุด เมื่อสัตยาบันสารของฝ่ายฝรั่งเศสมาถึงกรุงเทพฯ

๒. รัฐบาลฝรั่งเศสไม่เห็นเหตุผลที่ชักจูงรัฐบาลไทยให้ถือว่าเหตุการณ์ปัจุบันในอินโดจีนนั้นผิดปรกติ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงไม่เห็นเหตุผลที่รัฐบาลไทยจะวิตกถึงส่วนนั้นส่วนนี้ของพลเมือง ที่อยู่ในดินแดนอันอยู่ใต้อธิปไตยของฝรั่งเศส

๓. รัฐบาลฝรั่งเศสพร้อมที่จะให้คณะผู้แทนมาทำความตกลงในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับแม่น้ำโขง และจะให้คณะผู้แทนประชุมในเวลาเดียวกันกับการแลกเปลี่ยนสัตยาบันกติกาสัญญาไม่รุกรานกัน

๔. รัฐบาลฝรั่งเศสตกลงใจอย่างหนักแน่น ที่จะต่อสู้ป้องกันการเรียกร้องและการโจมตีทั้งหลาย ไม่ว่าจะมาทางไหน เพื่อจะเปลี่ยนสถานะทางการเมืองและบูรณภาพแห่งอาณาเขตของอินโดจีน

คำเรียกร้องขอดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืนนั้นเป็นอันยอมรับไม่ได้

ส่วนเหตุที่ขอคำมั่น ว่าด้วยการขอกัมพูชาและลาวคืนให้แก่ไทยนั้น ต้องถือว่าไม่มีมูล

ทูตไทยประจำเมืองวิชีรายงานว่า ได้ชี้แจงต่ออธิบดีกรมการตะวันออกไกล ซึ่งเป็นผู้ยื่นบันทึกนี้ว่า ความในวรรคหนึ่งของฝรั่งเศสนั้นไม่ถูกต้อง เพราะรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสได้ขอร้องเช่นนั้นจริง ๆ เพราะมีเป็นหลักฐาน แต่ก็ได้รับคำตอบว่า ความในวรรคหนึ่งเป็นเพียงแต่ข้อปลีกย่อยเท่านั้น และฝ่ายฝรั่งเศสถือว่าความในวรรค ๓ เป็นข้อสำคัญ

จะเห็นได้ว่า คำตอบของฝรั่งเศสนี้ตอบอย่างน้ำขุ่น ๆ เช่นว่าไม่เห็นมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในอินโดจีน การที่ยอมให้ญี่ปุ่นเข้าตั้งฐานทัพได้ จะไม่ถือว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เรื่องการขอให้ใช้กติกาสัญญาก่อนแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกัน กลับแก้ว่าไม่ได้ขอเช่นนั้น แต่ขอให้แลกเปลี่ยนในเมื่อสัตยาบันสารของฝรั่งเศสมาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ต่างกันเลย เพราะฝรั่งเศสต้องการให้สัตยาบันก่อน ปรับปรุงเส้นเขตแดน แล้วจึงจะส่งคณะผู้แทนมา ทำไมฝรั่งเศสจึงไม่ยอมรีบส่งมาก่อนโดยเร็ว

รัฐบาลไทยได้ตอบรัฐบาลฝรั่งเศสไปใหม่เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) มีสาระสำคัญต่อไปนี้ คือ

๑. รัฐบาลไทยมีความพอใจ ที่ได้ทราบว่ารัฐบาลฝรั่งเศสยังพร้อมที่จะทำความตกลงในปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับแม่น้ำโขงโดยทางการเจรจา

๒. ส่วนข้อเสนอที่เสนอขอให้ถือลำแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน ตั้งแต่ทิศเหนือมากทิศใต้จนจดเขตแดนกัมพูชานั้น ปรากฏว่ายังไม่มีความเข้าใจอันถูกต้องถ่องแท้ในลักษณะและความมุ่งหมายแห่งคำเสนอนี้ เพราะข้อเสนอนี้มิได้ตั้งใจจะให้เป็นกรณีที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องจัดการป้องกันอย่างไร แต่เป็นเพียงการขอร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศสพิจารณาด้วยดีและด้วยความเห็นอกเห็นใจ เพื่อที่จะยังความสัมพันธ์อันดีในระหว่างประเทศเพื่อนบ้านให้แน่นแฟ้นต่อไปชั่วกาลนาน และเพื่อส่งเสริมมิตรภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสให้สนิทสนมยิ่งขึ้น คำเสนอทั้งนี้ เป็นข้อเสนอให้ปรับปรุงเส้นเขตแดนกันใหม่ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของประเทศไทยกับฝรั่งเศส โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ระหว่างประเทศอันยุ่งยากในปัจจุบันนี้ และไม่เกี่ยวกับปัญหาว่าด้วยการคงไว้ซึ่งสถานภาพเดิม (Status Quo) ในอินโดจีน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ระหว่างประเทศอันยุ่งยากเช่นว่านั้น ข้อเสนอนี้รัฐบาลไทยได้พิจารณามาเป็นเวลาช้านานแล้ว และได้เกิดมีขึ้นเนื่องจากความสัมพันธ์ในทางประวัติศาสตร์ในระหว่างประเทศทั้งสอง ความจริงประเทศไทยได้เสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสเป็นลำดับมา คือ ดินแดนอันกว้างใหญ่ซึ่งนอกจากที่ได้อยู่ภายใต้อธิปไตยของไทยแล้ว ราษฎรที่อยู่ในดินแดนนั้นยังได้เป็นคนไทยและยังคงเป็นคนไทยอยู่ด้วย ที่ประเทศไทยยอมยกดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสใน ร.ศ. ๑๑๒ หรือ ค.ศ. ๑๘๙๓ นั้น ก็โดยตั้งใจจะให้ขอทุ่มเถียงในเรื่องดินแดนในขณะนั้นเป็นอันระงับไป ส่วนดินแดนทางฝั่งขวานั้น ฝ่ายฝรั่งเศสก็ได้ยอมรับนับถือแล้วว่าเป็นดินแดนของไทย เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเข้าใจอันที่ระหว่างประเทศ ฝรั่งเศสเคยส่งเสริมการทำความตกลงฉันมิตรโดยการเจรจาปรับปรุงเขตแดนกัน และโดยอาศัยนโยบายอันนี้นี่เอง รัฐบาลไทยจึงได้เสนอข้อเสนอไปเช่นนั้น อันที่จริง ถ้าพิจารณารูปการณ์ในเจตนารมณ์ของความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศแล้ว ก็จะเห็นได้ชัดว่าข้อเสนอของรัฐบาลไทยนั้นเป็นการสมควรนานาประการ แม่น้ำโขงย่อมแสดงอยู่ในตัวเองแล้วว่า เป็นเขตแดนด้วยตามธรรมชาติ และการที่จะปรับปรุงเขตแดนกันใหม่ โดยถือแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนร่วมกันนั้น ก็คงจะไม่ทำให้ฝ่ายฝรั่งเศสต้องเสียดินแดนไปอย่างมากมายเท่าใด แต่กลับจะเป็นเครื่องแสดงว่า ฝ่ายฝรั่งเศสได้ปฏิบัติการอันเที่ยงธรรมและยุติธรรมแก่ประเทศไทย กับทั้งจะเป็นการส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีที่มีอยู่ในระหว่างประเทศทั้งสองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ฝ่ายไทยได้ดำริและพูดถึงเรื่องการทำความตกลงในปัญหาที่คั่งค้างมานี้เนือง ๆ กับฝ่ายฝรั่งเศส และที่เพิ่งเสนอมาตามทางการ ณ บัดนี้ ก็เพราะเหตุว่าได้พิจารณาเห็นว่าการเจรจาที่จะกระทำกันเพื่อปรับปรุงเส้นเขตแดนในลำแม่น้ำโขงนั้น คงจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับปรึกษาหารือปัญหาข้อนี้ด้วย ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว จึงพิสูจน์ได้ว่า ในการที่รัฐบาลไทยขอปรับปรุงเขตแดนตามธรรมชาตินั้น รัฐบาลไทยไม่เคยมีความคิดอย่างใดในอันที่จะฉวยเอาประโยชน์ เนื่องจากฐานะ ปัจจุบันของฝรั่งเศสและอินโดจีน๒๔ อนึ่ง เมื่อมีกองทหารต่างประเทศอยู่ในอินโดจีน กับทั้งปรากฏตามคำแถลงว่า จะมีกองทหารต่างประเทศอื่น (หมายถึงญี่ปุ่น) เข้าไปในอินโดจีนอีกด้วยเช่นนี้ จะว่าสถานะในอินโดจีนยังเป็นปรกติอยู่ไม่ได้ และเหตุนี้เองเป็นเครื่องสนับสนุนว่า ควรถือเขตแดนตามธรรมชาติเป็นเขตแดนร่วมกันระหว่างประเทศทั้งสอง รัฐบาลไทยจึงขอวิงวอนให้รัฐบาลฝรั่งเศสพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรม และความยุติธรรม และขอให้คำนึงถึงความเข้าใจฉันมิตร และความสัมพันธ์อันดีในระหว่างประเทศใกล้เคียงกัน และรัฐบาลไทยหวังว่าข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงเส้นเขตแดนนี้ คงจะได้พิจารณาปรึกษากันในขณะปรึกษาหารือเรื่องการปรับปรุงเส้นเขตแดนในลำแม่น้ำโขงด้วย ส่วนคำมั่นเกี่ยวกับแคว้นลาวและกัมพูชานั้น อาจจะพูดจากัน ถ้าและเมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้น เนื่องจากการผันแปรแห่งเหตุการณ์ในอินโดจีนก็ได้ รัฐบาลไทยขอย้ำว่าพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนสัตยาบันกติกาสัญญาไม่รุกรานกัน และเพราะฉะนั้นจะยินดีมาก ถ้าผู้แทนของฝรั่งเศสจากอินโดจีนจะมาถึงกรุงเทพฯ ได้ในเร็ววัน๒๕

วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) พลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี สั่งให้ข้าพเจ้าเชิญทูตฝรั่งเศสมาพบ เพื่อประท้วงหลายเรื่องด้วยกัน๒๖

เรื่องแรกคือ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน มีเครื่องบินฝรั่งเศสบินล้ำเข้ามาในดินแดนไทยอีก เครื่องบินไทยได้ยินขึ้นและได้ให้สัญญาณ ให้ลงบนพื้นดิน แต่เครื่องบินฝรั่งเศสหาได้นำพาต่อสัญญาณนั้นไม่ กลับบินหนีข้ามพรมแดนไป ครั้นตอนเย็นวันนั้น เครื่องบินไทยได้ขึ้นบินตรวจการณ์แถบแม่น้ำโขงภายในดินแดนไทย ได้ถูกฝ่ายฝรั่งเศสยิงเอา แต่เคราะห์ดียิงไม่ถูก ในการนี้ข้าพเจ้าได้มอบหนังสือประท้วงให้เป็นหลักฐาน

อีกเรื่องหนึ่ง คือรัฐบาลได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ ๒๖ เดือนกันยายนนี้ มีคนไทยชื่อ จันทา สินทระโก ถูกตำรวจฝ่ายฝรั่งเศสยิงตายที่เวียงจันทน์ เพราะไม่มีหนังสือเดินทางให้ตรวจ ซึ่งที่ถูกต้องก็ควรเพียงกุมขัง และจัดการต่อไปเป็นทางการ ไม่ถึงกับต้องยิงตาย อัครราชทูตได้กล่าวแสดงความเสียใจและขอให้กระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือยืนยันไปในเรื่องนี้ ซึ่งในวันรุ่งขึ้นฝ่ายเราก็ได้มีหนังสือ ยืนยันไป ต่อมาวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) และวันที่ ๗ ตุลาคม ทูตฝรั่งเศสมีจดหมายตอบมาสองฉบับ ๆ แรกว่า ทูตได้ขอร้องไปยังรัฐบาลวิชีและรัฐบาลที่ฮานอย (อินโดจีน) เพื่อให้ไต่สวนหาผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้แล้ว และทูตพร้อมที่จะเข้าร่วมพิจารณากับข้อเสนออื่นใด ๆ ของฝ่ายไทยในอันที่จะแก้ให้เรื่องเศร้าสลดนี้เสร็จสิ้นไป ฉบับลงวันที่ ๗ ตุลาคม ว่าพร้อมที่จะให้ฝ่ายไทยไปร่วมการไต่สวนขุดศพซึ่งได้ฝังไว้แล้ว๒๗

เรื่องสุดท้ายที่แจ้งกับทูต คือ เรื่องที่เราได้ตอบบันทึกรัฐบาลฝรั่งเศสฉบับสุดท้ายดังกล่าวข้างต้นไปแล้ว โดยมอบสำเนาให้ทูตฝรั่งเศสทราบ และชี้แจงเพิ่มเติมว่า ฝ่ายไทยเราเสียใจที่ดูเหมือนรัฐบาลวิชียังเข้าใจผิดในเรื่องนี้ ฝ่ายไทยไม่ได้ประสงค์จะท้าทายหรือใช้กำลังทหารอย่างใด ที่ขอร้องไปก็เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของแต่ละฝ่าย โดยยึดถือหลักแห่งความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง ลำแม่น้ำโขงที่เป็นพรมแดนอยู่เวลานี้ ยังไม่เหมาะสมด้วยเหตุหลายประการทั้งที่ทูตย่อมทราบดีอยู่แล้ว ถ้าได้ลำแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติจริง ๆ แล้ว คือตั้งแต่หลวงพระบางนถึงปากเซ โดยให้ดินแดนฝั่งขวาเป็นของไทย คำขอร้องของฝ่ายไทยก็ดูชอบด้วยเหตุผล ทูตฝรั่งเศสตอบเห็นพ้องด้วย และว่าจะรายงานสนับสนุนไป ข้าพเจ้าได้กล่าวขอบใจทูตและบอกว่า ความจริงที่เราขอปรับปรุงนี้ก็โดยฝรั่งเศสจะต้องคืนให้เพียง ๑ ใน ๘ ของอินโดจีนเท่านั้น ทูตได้ชวนข้าพเจ้าลุกไปดูแผนที่ในห้องรับแขกและถามข้าพเจ้าว่า ขอให้บอกอย่างจริงใจเถิดว่า ต้องการเท่าใดแน่ เท่าที่ขอนี้หรือจะมีอะไรอีก ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าไม่มีอะไรจะปิดบัง เราต้องการเพียงดินแดนที่ยกให้ฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๔ เท่านั้น (คือฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบาง และปากเซ) เพราะเราต้องการให้แม่น้ำโขงเป็นพรมแดนเพื่อการป้องกันตัวจริง ๆ ส่วนที่เราเสียไปภายหลังนั้น เมื่อสภาพของอินโดจีนผันแปรไปอย่างใด ก็ขอมีโอกาสเจรจากันต่อไปเท่านั้น

เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) รัฐบาลฝรั่งเศสที่วิชีได้ส่งคำตอบแก่อัครราชทูตของเราที่วิชี มีใจความสำคัญดังนี้

รัฐบาลฝรั่งเศสยินดีที่ได้ทราบว่า ฝ่ายไทยยังพร้อมที่จะให้สัตยาบันกติกาสัญญาไม่รุกรานกัน และรับทราบว่าฝ่ายไทยได้พิจารณาความเห็นของฝ่ายฝรั่งเศส ที่เกี่ยวกับดินแดนลาวและกัมพูชาแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสใคร่จะได้เห็นกติกาสัญญาได้รับสัตยาบัน ในเมื่อสัตยาบันสารของฝ่ายฝรั่งเศสได้มาถึงกรุงเทพฯ แล้ว

เพื่ออนุโลมตามคำขอของฝ่ายไทย ในเรื่องการประชุมคณะกรรมการผสม เพื่อตกลงในปัญหาเกี่ยวกับแม่น้ำโขง การปักปันเขตแดน และการสัตยาบันกติกาสัญญา รัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดการให้ผู้ เชี่ยวชาญทางอินโดจีนเตรียมพร้อมที่จะเดินทางมาประเทศไทยในเมื่อได้กำหนดวันประชุมแล้ว

รัฐบาลฝรั่งเศสไม่สามารถจะอนุโลมตามความประสงค์ของรัฐบาลไทยได้ในข้อที่ว่า จะให้คณะกรรมการที่กล่าวแล้วพิจารณาปัญหาเรื่องดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงด้วย ทั้งนี้เพราะว่ารัฐบาลฝรั่งเศสมิได้ยอมรับหลักการ ที่จะยกดินแดนที่กล่าวแล้วนั้นคืนให้แก่ไทย

รัฐบาลฝรั่งเศสถือว่าเขตแดนปัจุบันนี้ เป็นการตกลงกันถึงที่สุดแล้ว (final) และได้อ้างถึงคำปรารภในสนธิสัญญาลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสถือว่า เป็นการแสดงเจตจำนงของอัครภาคีทั้งสองฝ่ายที่จะงดเว้นไม่เสนอข้อเรียกร้องใหม่อย่างใดเกี่ยวกับดินแดนอีก

ในการที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ยินยอมเมื่อเดือนมิถุนายนที่แล้วมา ในอันที่จะเสนอปัญหาเรื่องเกาะในแม่น้ำโขงให้ได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษนั้น ก็โดยได้รับคำมั่นว่าจะไม่เสนอข้อเรียกร้องอื่น ๆ เกี่ยวกับดินแดนอีก

โดยที่คำนึงถึงเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงจำต้องรักษาสถานภาพทางการเมือง และบูรณภาพแห่งดินแดนของอินโดจีนไว้ ต่อข้ออ้างสิทธิทั้งปวงและต่อการรุกราน ไม่ว่าจะมีกำเนิดมาแต่ทางใด๒๘

จะสังเกตได้ว่า คำตอบของรัฐบาลฝรั่งเศสฉบับนี้เต็มไปด้วยถ้อยคำท้าทาย ทั้งๆ ที่ฝ่ายเราได้โต้ตอบอย่างสุภาพทุกครั้ง

ที่ฝรั่งเศสอ้างว่าสนธิสัญญาลงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ (ค.ศ. ๑๙๐๗) นั้น มีคำปรารภว่า เขตแดนนี้เป็นการตกลงกันถึงที่สุดแล้ว (Final) ฉะนั้นไทยจะมาเรียกร้องไม่ได้และฝรั่งเศสให้เหตุผลว่า ฝ่ายไทยเองในสมัยนั้นเป็นฝ่ายขอร้องให้ใส่คำว่า “final” เพื่อให้หมายถึงว่า เป็นอันเสร็จเด็ดขาดครั้งสุดท้ายแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ข้าพเจ้าไม่ทราบข้อเท็จจริง ว่าจริงอย่างฝรั่งเศสว่าหรือไม่ สมมติว่ารัฐบาลไทยในสมัยนั้น (สมัย ค.ศ. ๑๙๐๗) ขอให้ใส่ไว้จริง ก็คงไม่ใช่เจตนาที่จะผูกมัดตัวเองว่า ต่อไปรัฐบาลจะไม่ขอคืน คงจะคิดป้องกันว่า สัญญาคราวนี้เป็นอันไทยเสียดินแดนครั้งสุดท้าย ภายหลังจะมาขอเพิ่มเติมอีกไม่ได้มากกว่า เพราะจะเป็นการประหลาดมาก ถ้าจะแปลว่ารัฐบาลไทยครั้งนั้นขอให้ใส่คำว่า “final” เพื่อให้ประโยชน์แก่ฝรั่งเศส

ที่รัฐบาลฝรั่งเศสกล่าวว่า ไทยให้คำมั่นว่า จะไม่เสนอข้อเรียกร้องอื่น ๆ เกี่ยวกับดินแดนอีก ข้าพเจ้าได้ค้นหลักฐานในการเจรจาครั้งนั้นไม่ปรากฏเลย ดังได้กล่าวละเอียดแล้วในบทที่ ๒ ข้างต้น ตรงกันข้ามในหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ในฐานเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับอัครราชทูตฝรั่งเศส กลับกล่าวไว้ว่า จะได้ปรับปรุงเขตแดนให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ๒๙

เพื่อให้ผู้อ่านทราบเรื่องการเจรจาในครั้งนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าขอคัดคำปราศรัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งกล่าวในวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ดังต่อไปนี้

พี่น้องที่รักทั้งหลาย

ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาปราศรัยกับพี่น้องทั้งหลาย ในขณะที่ชาติของเรากำลังมีความปรารถนาอันแรงกล้า ที่จะได้เห็นความสำเร็จในการปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านอินโดจีนของฝรั่งเศส เพื่อให้เป็นไปตามธรรมชาติและตามความยุติธรรม ซึ่งบรรดาประเทศต่าง ๆ ในโลกควรจะได้รับในปรัตยุบันนี้ ก่อนที่จะได้กล่าวถึงเรื่องอื่น ข้าพเจ้าใคร่จะขอทบทวนความตั้งใจอันที่ของรัฐบาลปรัตยุบัน อันมีต่อประเทศฝรั่งเศสเสียก่อน อนุสนธิในการที่เราขอปรับปรุงเส้นเขตแดนนั้น เราได้เสนอต่อรัฐบาลฝรั่งเศสมาหนหนึ่งแล้ว ใน พ.ศ. ๒๔๗๙ ขณะที่กำลังมีการเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส แต่ฝ่ายฝรั่งเศสขอให้รอไว้เจรจากันในเมื่อทำสัญญาเกี่ยวกับอินโดจีน รัฐบาลจึงได้รอต่อมาโดยเห็นแก่สัมพันธไมตรี ซึ่งประเทศทั้ง ๒ ได้มีต่อกันเป็นอันดี ครั้นมาถึงสมัยก่อนหน้าจะเกิดสงครามในยุโรปครั้งนี้ ฝรั่งเศสได้ขอทาบทามทำสัญญาไม่รุกรานกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องทำสัญญาเช่นนี้ต่อกัน คราวหนึ่ง ครั้นต่อมาก็ได้ขอเสนอทำหนังสือแลกเปลี่ยนไม่รุกรานกันในทางทหารโดยเฉพาะ ข้าพเจ้าก็เห็นว่าจะทำให้นานาประเทศเกิดความเข้าใจผิดต่อประเทศได้ ข้าพเจ้าจึงได้ปฏิเสธไปอีก ครั้นจวนสงครามยุโรปคราวนี้จะระเบิดขึ้นเล็กน้อย ฝรั่งเศสก็ได้มาขอทำสัญญาไม่รุกรานใหม่อีก ในคราวนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า สงครามได้ใกล้มาเต็มทีแล้ว และเห็นว่าน่าจะแสดงให้ฝรั่งเศสเห็นใจว่า ชาติไทยรักสันติภาพจริง ๆ ฝ่ายเราจึงตอบตกลงว่าพร้อมที่จะเจรจาด้วย แต่ขอให้มีการปรับปรุงเส้นเขตแดนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และตามหลักความยุตติธรรมเสียก่อน ฝ่ายฝรั่งเศสก็ยอมตกลงจะปรับปรุงเส้นเขตแดน โดยถือเอาร่องน้ำลึกในลำน้ำโขงเป็นเกณฑ์ ส่วนการปรับปรุงเส้นเขตแดนระหว่างกันโดยทั่วไปนั้น ก็ได้มีการพูดจำเป็นที่เข้าใจกันว่า จะเสนอทำความตกลงกันได้ในเวลาพิจารณาปักปันเส้นเขตแดนกันในคราวนี้ ในการที่ฝ่ายไทยได้ตกลงที่จะทำสัญญาและปรับปรุงเส้นเขตแดนเช่นนี้ ก็โดยถือหลักว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่รักความสงบ ต้องการแต่จะก่อร่างสร้างชาติของเราให้มีความวัฒนาถาวรเท่านั้น หาได้มีเจตจำนงจะประพฤติตนเป็นประเทศชาติที่กดขี่ข่มเหง หรือยึดเอาความเห็นแก่ได้ถ่ายเดียว โดยปราศจากศีลธรรมใด ๆ ไม่ อนึ่ง การทำสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศสในครั้งนี้ ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่ง เพราะสามารถจะทำให้ความเจ็บแค้นอันบรรดาประชาชนคนไทยได้รับจากฝรั่งเศสในอดีตนั้น บรรเทาเบาคลายลงไปได้ และทั้งช่วยขจัดบาปทั้งหลาย อันเกิดจากความอยุติธรรมที่ฝรั่งเศสในสมัยก่อนได้กระทำไว้ต่อไทยนั้น ให้สูญสิ้นไปจากความทรงจำของไทยและของโลก สิ่งต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดความแตกร้าวเศร้าหมองแก่สัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ก็จะไม่ปรากฏขึ้นอีกในอนาคต ฝ่ายเราได้คำนึงเห็นว่า การที่จะล้างบาปอันนี้ได้เสียย่อมมีอยู่ทางเดียว คือ การปรับความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกัน และปรับปรุงเส้นเขตแดนที่ฝรั่งเศสได้เข้ายึดและปกครองโดยอาศัยกำลังบังคับไว้นั้นเสียใหม่ ให้เป็นไปตามความยุติธรรม เมื่อประเทศทั้ง ๒ มีกติกาสัญญาไม่รุกรานต่อกันเป็นบรรทัดฐาน มีเส้นเขตแดน ซึ่งเป็นไปตามหลักยุติธรรมและธรรมชาติ ดินแดนซึ่งฝรั่งเศสได้ใช้อำนาจยึดเอาไปโดยพลการแต่กาลก่อน ก็ได้กลับคืนมา นับเป็นการปรับปรุงสิ่งร้ายให้กลายดีแล้ว ไมตรีระหว่าง ๒ ประเทศก็จะสนิทแน่นแฟ้นกันดุจเดิม ไม่มีสิ่งใด ๆ จะมาแทรกแซงให้ประเทศทั้ง ๒ เกิดความเข้าใจผิดกันอีกได้ โดยประการดังนี้ พี่น้องชาวไทย ทั้งหลายตลอดจนชาวชนพลโลก บรรดาที่รักความยุติธรรม ย่อมจะเห็นพ้องต้องกันว่า เหตุผลของฝ่ายรัฐบาลไทยเป็นไปด้วยความรักสันติและยุติธรรมเป็นที่สุด เท่าที่จะพึ่งหาได้ในโลกนี้

เมื่อรัฐบาลของเราตกลงดังนี้ จึงได้ลงนามในสัญญาไม่รุกรานกับรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๓ และเพื่อให้ความสำเร็จสมความปรารถนาอันดีของประเทศไทยดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจึงได้ยื่นข้อเสนอไปยังรัฐบาลฝรั่งเศส ขอปรับปรุงเส้นเขตแดนเสียใหม่พร้อมกับการให้สัตยาบันในสัญญานี้ แต่เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่รัฐบาลฝรั่งเศสเข้าใจเจตนาดีของเราไปในทางอกุศล จึงได้ตอบปฏิเสธคำขอของเรามาทั้ง ๒ คราว คงยินดีแต่เพียงจะให้สัตยาบันสัญญาไม่รุกราน และพิจารณาบรรดาเกาะแก่งในลำน้ำโขงให้แก่ประเทศไทยเท่านั้น รัฐบาลเราจึงเห็นว่าการที่จะตกลงเพียงเท่าที่รัฐบาลฝรั่งเศสยินยอมใน ๒ ประการนี้ ยังหาเป็นการเพียงพอที่จะล้างบาป ซึ่งฝรั่งเศสได้กระทำแก่ชาติไทย โดยปราศจากความเป็นธรรมในกาลก่อนนั้นได้ไม่ ตราบใดที่การชำระล้างมลทินยังไม่ขาวสะอาด ตราบนั้นการให้สัตยาบันในสัญญาที่ได้ลงนามกันแล้วก็ย่อมปราศจากผล เพราะสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน ย่อมหมายถึง การที่ประเทศทั้ง ๒ จะเป็นมหามิตรต่อกันด้วยดีตลอดไปชั่วกาลนาน ตามธรรมดาคนทุกคนแม้จะหย่อนการศึกษาสักเพียงใดก็ดี ก็ย่อมซาบซึ้งกันอยู่ที่ว่าการเป็นมิตรต่อกันนั้น ต้องอาศัยรากฐานมาจากความยุติธรรมซึ่งกันและกัน หรือความเห็นอกเห็นใจกันและกัน เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเสียใจที่หลักการอันฝ่ายรัฐบาลฝรั่งเศสเสนอมานั้น ไม่สามารถจะรับไว้เป็นข้อตกลงด้วยได้ และเมื่อยังตกลงกันไม่ได้เช่นนี้ สัญญาไม่รุกรานซึ่งได้ลงนามไว้แล้ว ก็ต้องนับว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะให้สัตยาบันต่อกัน ทางประเทศไทยเราก็หมดโอกาสที่จะเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสให้เป็นการต่อล้อต่อเถียง รังแต่จะเป็นการยั่วโทสะกันและกันต่อไป เว้นไว้แต่ทางฝ่ายฝรั่งเศสจะได้รำลึกถึงไมตรี ซึ่งได้มีต่อกันมาด้วยที่ตั้งแต่กาลก่อนจนถึงปรัตยุบันนี้ และรับข้อเสนอให้ฝ่ายไทยได้มีโอกาสเจรจาปรับปรุงเส้นเขตแดน ให้เป็นไปตามธรรมชาติและตามความยุติธรรม ในขณะเมื่อคณะกรรมการผสมซึ่งได้ประกาศไว้มาเข้าประชุมที่กรุงเทพฯ และเริ่มพิจารณาถึงการปรับปรุงเส้นเขตแดนอื่น ๆ นอกจากที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ตอบมาแล้วนั้นด้วย เมื่อกล่าวโดยเฉพาะถึงคำขอของรัฐบาลในเรื่องการปรับปรุงเส้นเขตแดนคราวนี้ ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นอย่างแน่นอนที่สุดว่า อย่างไรเสียเราก็จะได้ดินแดนรายนี้สมดั่งความปรารถนา มิพักต้องสงสัยเลย ทั้งนี้เพราะเรามีหลักฐานสนับสนุนโดยนานัปการเหลือที่จะนำมากล่าวได้ ในข้อแรกเมื่อตรวจดูตามหลักฐานและสัญญาที่ได้เสียดินแดนไปแต่ละคราวนั้น ก็ได้ปรากฏประจักษ์พยานแสดงชัดอย่างหมดปัญหาว่า ฝ่ายฝรั่งเศสได้เข้ายึดเอาไปด้วยการใช้กำลังบังคับ หลักฐานเหล่านี้แม้ทางฝ่ายอังกฤษเอง ก็ยืนยันว่าฝรั่งเศสได้ใช้อำนาจบาตรใหญ่แก่ประเทศไทย ยกเอาดินแดนเหล่านั้นไปด้วยกำลังทหาร โดยปราศจากศีลธรรมและเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น พฤติการณ์เป็นเช่นนี้มาถึงสมัยปรัตยุบันนี้ โลกจึงย่อมประจักษ์ชัดว่า คำขอของรัฐบาลไทยนั้น เป็นคำขอที่น่าเห็นอกเห็นใจ ทั้งกอบด้วยความยุติธรรมจริง ๆ และได้รับความเห็นพ้องต้องใจ และความสนับสนุนเป็นเอกฉันท์จากมวลชนชาวไทยทุกหมู่ ทุกคณะ ทุกเพศ ทุกวัย จะเห็นได้จากการอาสาสมัครพลีชีวิตเพื่อชาติ จากการสละทรัพย์สิน จากการเดินขบวนแห่ ฯลฯ เป็นองค์พยานและการแสดงความเห็นชอบและสนับสนุนรัฐบาลโดยประการต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าทางรัฐบาลมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย เป็นการปฏิบัติของบรรดาพี่น้องชาวไทยทั่วราชอาณาจักร ที่กระทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยแท้ กล่าวได้ว่ายังไม่เคยมีครั้งใดในประวัติการณ์พงศาวดารของชาติไทย จะได้มีพี่น้องร่วมชาติทั้งในและนอกประเทศ พร้อมใจกันสำแดงความสามัคคีเด็ดเดี่ยวสนับสนุนรัฐบาลเหมือนครั้งนี้ ซึ่งยากที่ข้าพเจ้าจะสรรหาถ้อยคำอันใดมากล่าวขอบคุณให้สมได้ ข้าพเจ้าได้ตระหนักแน่ในเลือดรักชาติอันเต็มเปี่ยมของท่านทั้งหลายแล้ว ทั้งมั่นใจอยู่เสมอว่า เมื่อถึงคราวจำเป็นเมื่อใด พี่น้องของข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้พร้อมกันลุกขึ้นกระทำหน้าที่เพื่อเป็นชาติพลีโดยฉับพลัน อนึ่ง การให้ความสนับสนุนรัฐบาลดังกล่าวนี้ จะได้เป็นไปเฉพาะแต่ไมบรรดาพี่น้องชาวไทยที่อยู่ปกครองของไทยเท่านั้น ก็หามิได้ แม้พี่น้องชาวไทยซึ่งอยู่ในแคว้นลาวและเขมร ก็ได้สำแดงความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะได้เห็นความเป็นอิสรภาพแห่งคนไทยส่วนน้อยของตน แม้ขณะนี้จะกำลังอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส และได้รับความทุกข์ยากลำบากจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายฝรั่งเศสอยู่ไม่น้อยเลย นอกจากชาวไทยของเราแล้ว ก็ยังน่าขอบคุณบรรดาพี่น้องชาวเอเซียเช่นเดียวกัน อาทิ คือ ชาวญวนทั้งในและนอกประเทศไทยต่างได้ให้ความสนับสนุนที่รัฐบาลไทยขอปรับปรุงเส้นเขตแดนคราวนี้อย่างน่าเห็นใจที่สุด และในที่สุดแม้ชาวฝรั่งเศสเองที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสอันกอบด้วยอารยธรรมอย่างสูงสุด ก็ยังได้พร้อมใจกันร้องขอต่อรัฐบาลฝรั่งเศสให้ดำรงความยุติธรรมไว้ โดยตกลงตามข้อเสนอของไทย ซึ่งเราพี่น้องชาวไทยทั้งหลายควรแสดงความขอบใจชาวฝรั่งเศสที่พำนักอยู่ในประเทศของเรานี้เป็นอย่างยิ่ง

พี่น้องที่รักทั้งหลาย เท่าที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแต่ต้นจนถึงบัดนี้ สรุปความได้ว่าเราขอปรับปรุงเส้นเขตแดนกับฝรั่งเศส เพื่อให้ประเทศของเรากับฝรั่งเศสมีสัมพันธไมตรีอันมั่นคง โดยอาศัยความยุติธรรม และความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันเป็นบรรทัดฐาน พี่น้องทั้งชาติ นับตั้งแต่พระสงฆ์ ข้าราชการทหารพลเรือน ผู้ใหญ่วัยชรา ตลอดจนถึงยุวชนทุกคนต่างมีความเห็นสอดคล้องต้องกันกับของรัฐบาล เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้เป็นมติของชาติไทยไว้ในที่นี้ว่า “ชาติไทยต้องการปรับปรุงเส้นเขตแดนกับประเทศอินโดจีนของฝรั่งเศส ให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม ให้เป็นผลสำเร็จโดยไม่ยอมถอยหลัง” และข้าพเจ้าขอกล่าวไว้ในที่นี้ว่า เราต้องได้สมความปรารถนาของเราอย่างแน่นอน แต่จะได้ช้าหรือเร็ว มากหรือน้อย ย่อมแล้วแต่สรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดให้เห็นประจักษ์ในอนาคตอันใกล้นี้ นี่เป็นคำยืนยันของข้าพเจ้าในวันนี้อีกวาระหนึ่ง

พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าใคร่จะขอชี้แจงหลักฐานบางอย่าง อันจะนำเราไปสู่ความสำเร็จผลในการปรับปรุงเส้นเขตแดนคราวนี้ งานคราวนี้ได้ปรากฏเด่นชัดแล้วว่า เป็นงานใหญ่หลวงที่ชาติของเราจะต้องกระทำ ฉะนั้นเราชาวไทยทุกคน จะต้องรวมกันเป็นเอกฉันท์ เป็นคน ๆ เดียวกัน รับเอาความคิดความเห็นของรัฐบาลกับความคิดความเห็นของพี่น้องทั้งหลายทั้งสองฝ่ายนี้เข้าคลุกเคล้าผสมกัน เพื่อนำชาติของเราเข้าทำงานในคราวนี้ให้บรรลุผลดีที่สุด เท่าที่สติปัญญาของพวกเราจะอำนวยได้ การทำงานใหญ่นั้น เราต้องทำด้วยสมองที่โปร่งใสและเยือกเย็น ถ้าเรามีความขุ่นแค้นและร้อนรนจนเกินไปแล้ว ความคิดอันดีและความรอบคอบสุขมของเราอาจเสื่อมสลายไปได้ พี่น้องทั้งหลายต้องจำไว้เสมอว่า ชาติไทยของเรานั้น เป็นชาติเลือกนักรบมาแต่โบราณกาล แต่เป็นเลือดนักรบที่กอบด้วยความเยือกเย็นและสุขุมคัมภีรภาพ แม้จะทำสิ่งใดก็ต้องพยายามให้เสียกำลังและเลือดเนื้อเพียงเฉพาะในเมื่อเราไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ ถึงกระนั้นก็ต้องหลีกเลี่ยงการเสียกำลังและเลือดเนื้อจากมากลงเป็นน้อยที่สุด ข้าพเจ้าขอนำตัวอย่างการกระทำสมัยสมเด็จพระนเรศวร และสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อคราวท่านทำการกู้ประเทศชาติไทยนั้นมาอ้างเป็นบรรทัดฐาน ข้าพเจ้าเชื่ออย่างแน่ว่า ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษของเราในคราวนั้นได้เป็นไปด้วยความกล้าหาญ ใจเย็น มีสติสัมปชัญญะใคร่ครวญโดยรอบคอบ มีความสุขุม หนักแน่นเป็นมูลฐาน จึงก่อให้เกิดความสำเร็จในการกู้ชาติได้ดี รวมความว่าชาติไทยต้องทำงานใหญ่ด้วยความกล้าหาญ อารมณ์เย็น อารมณ์ดี ข้าพเจ้าคิดว่าพี่น้องทั้งหลายคงจะมีใจที่จะยึดถือคำแนะนำของข้าพเจ้าต่อไปนี้เป็นแง่คิดไว้บ้าง จะได้เป็นแนวหลักสำหรับปฏิบัติร่วมกันทั้งชาติ เพื่อให้การปรับปรุงเส้นเขตแดนของเราในคราวนี้ สำเร็จไปด้วยการเสียเลือดเนื้อเพียงเล็กน้อยที่สุด แต่ตรงข้าม ต้องมีความหวังสำเร็จได้อย่างดีที่สุด สิ่งที่ข้าพเจ้าขอเสนอเป็นเครื่องเตือนใจพี่น้องทั้งหลายนั้น มีดังต่อไปนี้ คือ

ประการที่ ๑. ชาติใดจะทำงานใหญ่ จำเป็นต้องอยู่ในความสงบเรียบร้อย ฉะนั้น จึงขอให้พี่น้องทั้งหลายพึงระลึกว่า เมื่อเราจำเป็นจะต้องทำการสงครามซึ่งเราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ทุกท่านจะต้องมีใจสงบ มีอารมณ์เยือกเย็นแต่กล้าหาญ ทุกคนจะต้องรู้จักหน้าที่ของตน ๆ และปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด ในยามสงคราม ชาติของเราย่อมจะต้องแย่งกันออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งนั้นจะต้องเป็นชายฉกรรจ์ที่มีกำลังร่างกายและกำลังใจ ยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเป็นชาติพลี ได้ทุกขณะ ส่วนนี้ออกไปทำการในสนามรบหรือที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “ไปแนวหน้า” ส่วนนี้ย่อมจะต้องมีขอบเขตจำกัด เพราะทุกคนที่ไปทำการในแนวหน้าจะต้องมีอาวุธยุทธภัณฑ์ประจำตัว มีอาวุธยุทธภัณฑ์ประจำหน่วย และต้องทราบวิธีรบอย่างชำนิชำนาญ ซึ่งพี่น้องทั้งหลายย่อมทราบอยู่แล้วว่า ผู้มีลักษณะจะไปทำการในสงครามดังกล่าวนี้ จะกอบขึ้นได้แต่เพียงจำนวนพอเหมาะกับอาวุธยุทธภัณฑ์ที่เรามีอยู่เท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้จะไปได้เป็นจำนวนเท่าใด ทางราชการของกระทรวงกลาโหมได้กำหนดไว้พร้อมมูลแล้ว เมื่อถึงโอกาสก็จะได้เรียกร้องขอความเสียสละจากพี่น้องทั้งหลายต่อไป อีกส่วนหนึ่งนั้นจะต้องทำหน้าที่ให้ความสนับสนุนแก่หน่วยทหารที่ไปในสนามรบโดยตรง ให้สามารถได้รับเสบียง อาหาร อาวุธยุทธภัณฑ์ และสิ่งจำเป็นที่จะใช้ในการรบเพิ่มเติมพอแก่ความจำเป็น ได้แก่เจ้าหน้าที่ในเขตหลังอันเกี่ยวแก่การพยาบาลและการลำเลียง เป็นต้น ในส่วนนี้ ทางราชการกระทรวงกลาโหม ก็ได้ตระเตรียมไว้แล้วโดยครบครันดุจกัน เมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องทำการรบจริงจัง ก็จะได้ขอแรงพี่น้องชาวไทยให้เข้ามาช่วยกันอีกบ้างตามสมควร ซึ่งทางราชการก็ได้จัดเตรียมไว้พร้อมสรรพแล้ว ส่วนที่สามนั้น ได้แก่พี่น้องชาวไทย นอกจากทั้งสองส่วนที่กล่าวแล้ว มีหน้าที่จะต้องช่วยกันทำงานอย่างเข้มแข็ง จนสุดความสามารถเพื่อให้ชาติได้มีเสบียงอาหาร และเงินไว้สำหรับเลี้ยงชีวิตชาติไทยทั้งชาติ เพื่อให้การนี้สำเร็จได้ดี พี่น้องทุกคนจะต้องประกอบการกสิกรรม หัตถกรรม พาณิชย์กรรม และอื่น ๆ ให้ได้ผลมากยิ่งกว่าขณะบ้านเมืองอยู่ในยามปรกติเป็นทวีคูณ และพยายามประกอบการอยู่ในแหล่งเดิมของตนให้มากที่สุด อย่าได้โยกย้ายหรืออพยพ เพราะความตื่นเต้นหวาดกลัวภัยสงครามนั้นเลย ที่ข้าพเจ้าพูดถึงความตื่นเต้นหวาดกลัวภัยแห่งสงคราม ก็รู้สึกว่าเป็นการไม่เหมาะสมอยู่บ้างสำหรับเวลานี้ เพราะข้าพเจ้าทราบอยู่ดีว่า เลือดไทยของเราในเวลานี้ไม่มีความหวาดกลัวสิ่งใดเลย นอกจากความอยุติธรรมอย่างเดียว

ประการที่ ๒. ในเรื่องการเมืองอันเกี่ยวกับนานาประเทศนั้น พี่น้องทุก ๆ คนจะต้องรู้สึกเป็นหน้าที่ที่จะรักษาไมตรีอันดีแก่ชาติไว้ ตามหลักนโยบายอันมั่นคงแก่ชาติไทยเรา เว้นแต่ชาติใดที่ขาดความยุติธรรมแก่ไทย ชาตินั้นเราก็ต้องถือเอาความสำเร็จตามทางยุติธรรมของไทยเป็นเบื้องหน้า สำหรับพี่น้องของเราในแคว้นเขมรก็ดี หรือในแคว้นลาวก็ดี ซึ่งอาจมีผู้เข้าใจว่าเป็นเชื้อชาติเขมรหรือเป็นคนเชื้อชาติลาวอันต่างกับชาติไทยนั้น ความจริงคำว่า “แคว้นเขมร” “แคว้นลาว” ก็มีลักษณะเดียวกันกับแคว้นกรุงเทพฯ แคว้นลพบุรี หรือแคว้นเชียงใหม่นั้นเอง ซึ่งเป็นนามสถานที่ตามภูมิประเทศเหล่านั้น แต่ส่วนคนซึ่งตั้งภูมิลำเนาอยู่ในที่นั้น ๆ เช่นที่เชียงใหม่ ก็หาได้เป็นคนชาติอื่นไม่ แต่เป็นคนไทยพวกเดียวกันทั้งสิ้น ฉันใดก็ดี คนที่อยู่ในแคว้นเขมรแคว้นลาวก็มิได้เป็นคนชาติเขมรชาติลาว แต่แท้ที่จริงเป็นคนไทยมีเลือดเป็นไทยทั้งสิ้น คือเป็นพี่น้องชาวไทยของเราทั้งสิ้น แต่เขาขาดความอิสรภาพต้องตกไปอยู่ในปกครองบังคับบัญชาของชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีความเป็นอยู่ต่างกับเราทุก ๆ อย่าง อาทิ เช่น พี่น้องชาวไทยพวกเราในแคว้นเขมรแคว้นลาวนับถือพระพุทธศาสนา แต่ฝรั่งเศสนับถือศาสนาโรมันคาโธลิก พี่น้องพวกเราในสองแคว้นนั้นกินข้าว แต่ฝรั่งเศสกินขนมปัง พี่น้องพวกเรากินแกงกินน้ำพริก แต่ฝรั่งเศสกินเนื้อทอด พี่น้องพวกเราผิวเหลือง แต่ฝรั่งเศสผิวขาว พี่น้องพวกเราอยู่ในป่า แต่ฝรั่งเศสอยู่ในเมือง พี่น้องพวกเรามีเครื่องรับวิทยุไม่ได้ แต่ฝรั่งเศสมีได้ทุกอย่าง พี่น้องพวกเรามีปืนและอาวุธไว้สำหรับป้องกันชีวิตและทรัพย์สมบัติไม่ได้ แต่ฝรั่งเศสมีได้ ฯลฯ ทั้งนี้เป็นต้น แต่สิ่งต่าง ๆ ที่พี่น้องชาวไทยในแคว้นเขมรแคว้นลาวปฏิบัตินั้น ทุก ๆ อย่างเหมือนกับพวกเราที่อยู่ในประเทศไทยนี้ทั้งนั้น อาทิ เช่นศาสนาก็อย่างเดียวกัน การกินอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี ก็อย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นการผิดกันไกล เมื่อจะเอาพี่น้องของเราในแคว้นโน้นไปเปรียบเทียบกับคนฝรั่งเศสดังกล่าวมาแล้ว แต่พี่น้องของเราที่อยู่ในประเทศไทย ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญทุกวันนี้มีอิสระภาพ มีเสรีภาพ มีสมภาพหรือเสมอภาค ดีกว่าพี่น้องชาวไทยที่อยู่ในแคว้นเขมรกับแคว้นลาวมาก เรามีเสรีภาพที่จะพูดจะเขียนจะทำสิ่งใด ๆ ได้ภายในขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งบัญญัติไว้เพื่อความสงบสุขของพวกเราร่วมกัน ส่วนพี่น้องของเราซึ่งเป็นชาติที่อยู่ใกล้เคียงกัน คือ ญวน เป็นต้น ข้าพเจ้าก็เชื่อว่าคงจะได้รับการปกครองจากฝรั่งเศสอย่างพี่น้องของเราในแคว้นเขมรและลาวนั้นเอง คืออยู่ในระดับถูกกดต่ำกว่าบรรดามนุษยชาติในโลกนี้จะพึงได้รับ ข้าพเจ้าได้ทราบว่าเมื่อ ๒-๓ วันนี้ นายพลเรือโทเดอกูซ์ ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนได้มาเยี่ยมแคว้นเขมรกับแคว้นลาว ข้าพเจ้าได้ทราบว่าท่านผู้นั้นได้กล่าวถ้อยคำปลุกปลอบพี่น้องชาวไทยในแคว้นทั้ง ๒ นี้ว่า การที่พี่น้องชาวไทยทั้ง ๒ แคว้นจะมารวมอยู่ในปกครองไทยนั้นจะไม่ดีเท่าอยู่กับฝรั่งเศส ข้าพเจ้าจึงใคร่จะขอให้ท่านผู้สำเร็จราชการได้โปรดรับคำเสนอของข้าพเจ้า คือ ขอให้ไทยในแคว้นเขมรลาวทั้ง ๒ นั้น ได้รับการปรับปรุงให้เขามีอิสรภาพ เสรีภาพ และเสมอภาค เท่าเทียมกับชนชาวฝรั่งเศสในดินแดนเหล่านั้นบ้าง ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะเป็นการทำบุญทำกุศลอันยิ่งใหญ่ให้แก่พี่น้องชาวไทยของข้าพเจ้าในแคว้น เขมร และลาว และรวมตลอดไปถึงประเทศญวนด้วย ในขั้นต้นนี้ ข้าพเจ้าใคร่เสนอขอสักเล็กน้อย คือ ได้โปรดทำกุศลแก่ชาวไทยในแคว้นทั้งสองนี้รวมทั้งญวนด้วย เพียงแต่บำรุงพระพุทธศาสนาให้เท่าเทียมกับที่รัฐบาลในกรุงเทพฯ กระทำอยู่ก็จะดีหาน้อยไม่ ขอได้ปล่อยให้ทุกคนมีเครื่องรับวิทยุและรับฟังได้ทั่วไปอย่างที่ชาวไทยในประเทศนี้ทำได้ ขอให้เขาเหล่านั้นมีสิทธิได้อ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศอย่างที่เรามีสิทธิทำได้ในประเทศนี้ ขอให้ปรับปรุงภาษีอากรอย่างเดียวกับที่เราได้ ปฏิบัติด้วยความเป็นธรรมแก่สังคมอย่างในประเทศไทยนี้ และในที่สุดขอแต่เพียงว่าการออกกฎหมายบังคับแก่พี่น้องชาวไทยและชาวญวนที่อยู่ในปกครองของฝรั่งเศสนั้น ให้เป็นไปโดยรับความเห็นชอบของผู้ที่เข้ามีหน้าที่จะต้องปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าทราบว่าเวลานี้ดูเหมือนข้าราชการชาวฝรั่งเศสออกกฎหมายได้เองเกือบทุกคน หวังว่าท่านผู้สำเร็จราชการผู้ทรงคุณธรรมแห่งอินโดจีนของฝรั่งเศส แม้ท่านจะเป็นชาติฝรั่งเศสต่างกับชาติในเอเซียทวีปนี้มากมายก็ตาม แต่ด้วยความยุติธรรมในโลกนี้ ท่านคงจะได้ฟังความเห็นของข้าพเจ้าบ้างไม่มากก็น้อย

ประการที่ ๓. ในทางเศรษฐกิจ เราจะต้องขะมักเขม้นช่วยกันทุกทาง ซึ่งไม่มีอะไรเป็นของยากที่จะปฏิบัติไม่ได้ ข้าพเจ้าขอเสนอเป็นข้อคิดอย่างสังเขปว่า ทุกท่านต้องหารายได้ไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ท่านจะสามารถเก็บไว้ให้ได้มากที่สุด และใช้ให้น้อยที่สุด ส่วนในหน้าที่ของรัฐบาลนั้น รัฐบาลก็จะได้พิจารณาและปรับปรุงให้เหมาะกับสถานการณ์ ถ้าหากเราจะต้องเข้าสู่ภาวะสงครามดังกล่าวข้างต้น

ประการที่ ๔. วิธีที่เราจะปรับปรุงเส้นเขตแดนของเราให้จงได้นั้น ขอพี่น้องทั้งหลายพึงเข้าใจให้กว้างขวางออกไปให้มาก กล่าวคือ การปรับปรุงเขตแดนนั้นเราไม่จำเป็นจะต้องใช้กำลังเสมอไป เพราะตามหลัก ทุก ๆ ประเทศย่อมต้องการสงวนกำลังรบของตนไว้ให้นานที่สุด และจะใช้ก็ต่อเมื่อจำเป็นไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นเท่านั้น เพราะความเสียหายอันเกิดจากใช้กำลังเข้าหักหาญนั้นมีมากมายหลายประการ และไม่จำเพาะแต่จะมีกำลังพอสำหรับหักหาญเอาเพื่อความสำเร็จสมปรารถนาโดยเฉพาะหน้าในขั้นต้นเท่านั้น แต่จะต้องเตรียมไว้สำหรับเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ อันจะมาตามหลังจากวาระที่เราได้ทำการสำเร็จขั้นต้นนั้นแล้วอีกมากมาย พึงเห็นอุทาหรณ์จากประเทศเยอรมันในเรื่องการเรียกร้องขอฉนวนดานซิกเป็นต้น หากหักหาญเอาฉนวนดานซิกจนได้นั้นเยอรมันได้กระทำการไม่ถึงหนึ่งวันก็บรรลุความสำเร็จ แต่ผลที่ยังเกิดขึ้นหลังจากการกระทำอันเล็กน้อยนั้น เยอรมันต้องใช้กำลังมาก สำหรับเผชิญกับเหตุการณ์อันใหญ่หลวงของโลก ซึ่งแม้จนถึงเวลาบัดนี้ก็ยังกระทำอยู่ หาสิ้นสุดลงไม่ แต่ประเทศเยอรมันเป็นประเทศมหาอำนาจ มีอานุภาพใหญ่หลวง เตรียมการไว้เรียบร้อยทุกอย่าง กิจการต่าง ๆ ที่เยอรมันได้ผ่านไปจึงสำเร็จสมความปรารถนาของเขาตลอดมา นี้เป็นตัวอย่างที่พี่น้องทั้งหลายน่าจะได้คำนึงถึงไว้บ้างไม่มากก็น้อย

เมื่อวิธีใช้กำลังเข้าหักหาญนับเป็นวิธีสุดท้าย และเป็นสิ่งที่ต้องสงวนไว้สำหรับเผชิญกับการภายหน้าดังกล่าวมานั้นแล้ว พี่น้องทั้งหลายก็อาจฉงนไปว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะปรับปรุงเส้นเขตแดนให้สำเร็จได้ ในเมื่อเจรจากับประเทศฝรั่งเศสถึงสองครั้งแล้ว ก็ได้รับตอบปฏิเสธทุกครั้ง ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่ายังมีวิธีอื่นอีกเป็นอันมาก ซึ่งจำต้องขอสงวนไว้สำหรับเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลจะปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จสืบต่อไป ขอพี่น้องทั้งหลายจงตั้งใจคอยด้วยอารมณ์เย็น และให้ความสนับสนุนแก่รัฐบาลตลอดไปเถิด คงจะต้องสำเร็จผลได้ดินแดนคืนมาอย่างแน่นอน ที่ข้าพเจ้าพูดเช่นนี้อาจให้หลักฐานได้ว่า ในการที่เราขอดินแดนคราวนี้ ก็เพราะเห็นว่าฝรั่งเศสได้ปฏิบัติต่อเราในการช่วงชิงดินแดนของเราไปหลายหนหลายครั้งด้วยกำลังอำนาจ โลกย่อมเห็นประจักษ์ว่าฝรั่งเศสทำการไม่ยุติธรรม แต่ไทยทำการคราวนี้ด้วยความยุติธรรม สถานการณ์ของฝรั่งเศสในเวลานี้ไม่มีทางจะฟื้นตัวขึ้นได้ และโดยนัยนี้ฝรั่งเศสก็คงไม่สามารถที่จะปกครองประเทศอินโดจีนไว้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ก็เมื่อฝรั่งเศสปกครองไม่ได้ พี่น้องชาวไทยในแคว้นเขมรก็ดี ลาวก็ดี และตลอดจนญวนก็ดี ก็จะต้องเป็นอิสรภาพ และต่างชาติต่างก็จะได้ปกครองตนเองเมื่อมีอิสรภาพแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอันใดว่าพี่น้องของเราเหล่านี้จะต้องได้มาอยู่ในภายใต้ระบอบการปกครองรัฐธรรมนูญของเรา และภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งสมเด็จพระมหากษัตริย์ไทยของเราสืบไป ส่วนญวนนั้นเล่าเมื่อมีอิสรภาพขึ้นแล้ว เขาก็คงจะมีพระมหากษัตริย์ของเขาทรงปกครองเหมือนเมื่อก่อนกาลที่ฝรั่งเศสจะมาทำลายอิสระภาพของเขา บัดนี้ปัญหาก็มีอยู่เพียงว่าเมื่อไรฝรั่งเศสจะไป และเมื่อไรพี่น้องชาวไทยและญวนจะเป็นอิสรภาพขึ้น ทั้งนี้จะช้าหรือเร็วย่อมสุดแต่เหตุการณ์จะผันแปรไป การแห่ขอดินแดนจึงเป็นส่วนหนึ่งแห่งการกระตุ้นเตือนให้ฝรั่งเศสระลึกถึงวันที่จะต้องจากประเทศอินโดจีนไปด้วยในตัว แต่ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าใคร่ขอเตือนพี่น้องชาวไทยของเราไว้ในที่นี้ด้วยว่า อย่าหลวมตัวในการแสดงการขอดินแดนด้วยความบริสุทธิ์ใจของเรานี้ ให้กลายไปเป็นกลอุบายเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีต่อชาติไทยนั้นได้

ประการที่ ๕. อันเป็นประการสุดท้าย ซึ่งข้าพเจ้าใคร่จะขอให้พี่น้องทั้งหลายใส่ใจไว้จงมาก คือ ขอให้ระลึกว่าเราไทย เราเป็นอารยประเทศ และคนไทยก็เป็นอารยชนแล้ว ฉะนั้น เราจะต้องปรับปรุงตัวของเราทุกคนให้เข้ากับความเป็น อารยะ ของเราทุกส่วน เช่น การแต่งกายในที่ชุมนุมชน เป็นต้น เราต้องใช้ของไทย แต่งอย่างไทย ไม่ปล่อยร่างกายให้ปราศจากสิ่งปกปิด เช่นไม่สวมเสื้อ เป็นต้น หรือนุ่งโสร่งซึ่งไม่ใช่ธรรมเนียมของไทย ฯลฯ รวมความว่าวัฒนธรรมของไทย จะต้องรื้อฟื้นกันขึ้นมาปฏิบัติให้เข้มแข็งเป็นผลเห็นทันตา จึงจะได้ชื่อว่าเราเป็นประเทศที่สามารถเป็นตัวอย่างแก่มวลพี่น้องชาวไทยผู้จะได้รับอิสรภาพในเร็ววันนี้ได้

พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้สนทนากับท่านมานาน จนรู้สึกว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ก่อนจะจบคำปราศรัยของข้าพเจ้า ไม่มีสิ่งใดจะกล่าวนอกจากจะขอย้ำข้อความที่ได้พูดมาแต่ต้นว่า ขอให้พี่น้องทุกคนจงทำใจให้สงบ ทำอารมณ์ให้เยือกเย็น พยายามปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาล ซึ่งจะดำเนินการต่อไปข้างหน้าในเรื่องนี้จนบรรลุผลสำเร็จ คือ ปรับปรุงเส้นเขตแดนใหม่ตามความปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั้งชาติ อนึ่ง ในคำปราศรัยวันนี้ หากจะมีการบกพร่องก้ำเกินอย่างไรไปบ้าง ก็ขอพี่น้องทั้งหลายได้โปรดให้อภัยแก่ข้าพเจ้า โดยถือเสมือนกับเราพูดกันภายในครอบครัวเดียวกันนั้นเถิด นอกจากนี้ ข้าพเจ้ามีสิ่งมงคลที่จะแจ้งแก่พี่น้องทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง คือ เวลานี้พระบรมธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เข้ามาสู่ประเทศไทยแล้ว เป็นศุภนิมิตมงคลว่า ประเทศเราจะเจริญงอกงามและอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ตั้งแห่งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก และให้ความร่มเย็นเป็นสุขของชนชาวชาติไทยทั่วกันทั้งมวล และแก่พุทธมามกะทั่วโลก ข้าพเจ้าขออาราธนาอานุภาพของพระบรมธาตุ อันนิยมว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งในบรรดาพุทธมามกชน จงดลบันดาลความสวัสดีมีชัยสู่ประเทศชาติที่รักยิ่ง ให้สำเร็จผลสมดั่งปรารถนาที่ไทยทั้งชาติมุ่งไว้ และขอจงบันดาลความวัฒนาถาวรสู่พี่น้องชาวไทยในแหลมทองโดยทั่วกัน.

สวัสดี๓๐

ต่อมาเหตุการณ์ทางชายแดนก็ทวีความคับขันขึ้นทุกที อาทิ ฝ่ายฝรั่งเศสละเมิดโดยบินล้ำเข้ามาเหนือดินแดนไทย เพื่อตรวจการณ์บ้าง เพื่อทำลายขวัญบ้าง เครื่องบินไทยได้บินขึ้นขับไล่หลายครั้งต่อหลายครั้ง ระหว่างนี้นายเลปิสซิเอร์ทูตฝรั่งเศสถูกเรียกกลับ เข้าใจว่าถูกตำหนิว่าอ่อนกับไทยมากไป และส่งนายโรเจ กาโร๓๑ มาเป็นผู้รักษาการณ์แทนสถานทูต (in charge of Legation) ซึ่งไม่มีฐานะอะไร เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสไม่ได้แจ้งการแต่งตั้งให้รัฐบาลไทย ทั้งทางทูตของเราที่วิชี หรือกระทรวงการต่างประเทศที่กรุงเทพฯ ทราบประการใด เรื่องนี้๓๒เห็นควรนำมาเล่าย่อ ๆ เพราะเกี่ยวกับพิธีปฏิบัติทางการทูต คือวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) นายแกรนต์ ทูตอเมริกัน๓๓ มาพบข้าพเจ้าและปรารภว่า นายกาโรได้ไปพบและปรับทุกข์เรื่องต่าง ๆ ทูตอเมริกันได้ออกตัวว่า เป็นแต่มาเล่าให้ฟังไม่ใช่มาสนับสนุนฝรั่งเศสประการใด นายกาโรบอกว่า ใคร่ที่จะเจรจากับรัฐบาลไทย แต่ไม่สามารถติดต่อได้ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยยอมติดต่อด้วย นายกาโรพยายามที่จะเจรจาทำความปรองดองกัน เมื่อ ๒ วันมานี้ (วันที่ ๑๑ ธันวาคม) นายกาโรมีหนังสือไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีในฐานเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ไม่ได้รับตอบ นายกาโรพยายามให้ทูต (คือนายแกรนต์) เห็นว่าฝ่ายฝรั่งเศสได้พยายามที่จะเปิดการเจรจา แต่ฝ่ายไทยก็ไม่ยอมเจรจาด้วย อนึ่งในเวลานี้นายกาโรไม่สามารถติดต่อกับอินโดจีนและวิชีได้ เพราะโทรเลขถูกสับหมด ข้าพเจ้าได้ตอบว่า นายกาโรมีฐานะเพียงรักษาการณ์สถานทูตเท่านั้น จึงไม่สามารถที่จะพูดจาการเมืองได้ เรื่องนี้เซอร์โจซาย ครอสบี้ทูตอังกฤษได้เคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังแล้วว่า นายกาโรก็ได้ไปปรับทุกข์ ทูตอังกฤษได้ออกความเห็นว่า ฐานะของนายกาโรไม่ใช่อุปทูต (Charge d’ Affaires) ฉะนั้น ตามที่รัฐบาลไทยปฏิบัติต่อนายกาโรนั้นถูกต้องแล้ว ทูตอังกฤษยังได้แนะนำนายกาโรเสียด้วยซ้ำว่า ถ้าอยากเป็นอุปทูตอันถูกต้อง ก็เพียงให้รัฐบาลฝรั่งเศสรีบแจ้งเป็นทางการกับทูตไทยที่วิชีเท่านั้น ส่วนเรื่องโทรเลขสับสนนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ขอแจ้งว่า การติดต่อทางโทรเลขของเราระหว่างกงสุลไทยที่ไซ่ง่อนกับกระทรวงการต่างประเทศ ได้ถูกฝรั่งเศสสับโค้ดหมด

ทูตอเมริกันกล่าวว่า ที่จริงเมื่อนายกาโรมีข้ออะไรที่จะเสนอก็ควรลองฟังเขา มิฉะนั้นฝ่ายฝรั่งเศสอาจจะเที่ยวบอกรัฐบาลต่าง ๆ ว่า อยากจะเปิดการเจรจาแล้ว แต่ไทยไม่ยอม อย่างไรก็ดีที่ทูตพูดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวเพื่อช่วยให้รัฐบาลไทยทราบไว้ ไม่เป็นทางการอย่าง ใด ข้าพเจ้าเห็นว่านายแกรนต์ทูตอเมริกันไม่ยอมเข้าใจ จึงชวนพูดเรื่องอื่นต่อไป เมื่อข้าพเจ้าเสนอบันทึกการสนทนาอันนี้ไปยังจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แทงลงมาว่า ให้พูดกับตเรื่องเงินค่าเครื่องบินของเรา ของ (เครื่องบิน) ก็ไม่ให้ เงินก็ไม่ให้ (หมายความถึงเงินค่าเครื่องบินซึ่งเราชำระไปแล้ว) ให้รู้เรื่องไปว่า จะทำแก่เราอย่างใด ประชาชนอยากทราบ๓๔

ตลอดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๘๔๐) ฝรั่งเศสบินมาทิ้งระเบิดบ้าง บินข้ามฝั่งมาบ้าง ทางด้านจังหวัดหนองคาย อำเภอมุกดาหาร และนครพนม ซึ่งฝ่ายไทยก็บินไปทิ้งลูกระเบิดตอบแทน

เหตุการณ์ที่นับว่าสำคัญมาก คือ ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) นายกรัฐมนตรีในฐานเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้รับโทรเลขจากข้าหลวงประจำจังหวัดนครพนมว่า ในตอนเช้าเวลา ๘.๐๐ น. เครื่องบินฝรั่งเศส ๕ ลำได้บินเข้ามาในเขตจังหวัด เครื่องบินฝ่ายเราได้ขึ้นบินเพื่อรักษาเขต ฝ่ายฝรั่งเศสได้ทิ้งระเบิดเมืองนครพนม มีประชาชนบาดเจ็บ 2 คน นายกรัฐมนตรีจึงสั่งให้ข้าพเจ้าเชิญทูตอังกฤษ ทูตอเมริกัน ทูตเยอรมัน ทูตอิตาเลียน และอุปทูตญี่ปุ่นมาพบเพื่อแจ้งให้ทราบ ในวันเดียวกันนั้น ฝ่ายไทยได้บินไปทิ้งระเบิดที่พักทหารฝรั่งเศสเป็นการตอบแทน

ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ก็มีการรบพุ่งกันเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ทหารฝรั่งเศสได้โจมตีไทยที่อรัญประเทศ ไทยจึงยกทหารเข้าไปในอินโดจีนด้านกัมพูชา รบกันอยู่ ๒๒ วัน ไทยยึดดินแดนต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้

(๑) ทางด้านตะวันออก ดินแดนด้านอรัญประเทศ ตั้งแต่ หน้าประตูเมืองศรีโสภณยาวประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ตามพรมแดน จังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ และลงมาทางจันทบุรี

(๒) ด้านอีสาน ในเขตสุรินทร์ กองทัพไทยเข้ายกได้ประมาณ ๙๐ กิโลเมตร จากเมืองเสียมราฐและนครวัด

ในเขตอุบล ยึดเนื้อที่เป็นรูปสามเหลี่ยมตรงข้ามปากเซ นครจัมปาศักดิ์

ในเขตอุดร ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง กองทัพไทยไม่ได้ข้ามไปดินแดนลาว เพียงแต่อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง

(๓) ทางเหนือ กองทัพไทยยกดินแดนหลวงพระบางได้ทั้งหมด ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง อีกนัยหนึ่งดินแดนที่ไทยขอเจรจา

ด้านจันทบุรี กองทัพไทยยึดบางตำบลใกล้ ๆ กับบ้านไพลิน

ญี่ปุ่นเข้าไกล่เกลี่ย

มีผู้กล่าวว่า การที่ไทยเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศสครั้งนี้ เพราะญี่ปุ่นยุยงเพื่อหวังผลกำไร ในข้อนี้ข้าพเจ้าไม่ทราบความจริงแน่ เพราะจอมพล ป. พิบูลสงครามไม่เคยแย้มพรายให้ข้าพเจ้าทราบ แต่ตามหลักฐานในศาลทหารระหว่างประเทศที่กรุงโตเกียว ซึ่งได้จากแฟ้มเอกสารกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่าญี่ปุ่นไม่ได้ยุหรือเร้าใจให้ไทยเรียกร้องดินแดนแต่ประการใด ตรงกันข้าม กลับทำให้ญี่ปุ่นลำบากใจเสียด้วยซ้ำ เพราะในขณะนั้น ญี่ปุ่นกำลังเจรจาเพื่อเอาอินโดจีนเป็นฐานทัพดังกล่าวแล้วข้างต้น๓๕

ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่า ในการเจรจากับทูตอังกฤษหลายครั้ง ทูตอังกฤษได้แสดงความเห็นว่า ถ้าอินโดจีนจะต้องเสียให้แก่ญี่ปุ่นแล้ว ให้ไทยดีกว่า แม้ดินแดนสองชิ้นที่ไทยขอโดยเพื่อให้สะดวก เพราะจะได้แม่น้ำโขงเป็นพรมแดนโดยตลอดนี้ก็ตาม อังกฤษเองก็เห็นด้วย เพราะอังกฤษเห็นว่าทำบุญคุณให้ไทยดีกว่า และอังกฤษมีความเห็นเลยไปถึงว่า ควรชิงเข้าไกล่เกลี่ยดีกว่าปล่อยให้ญี่ปุ่นเข้าไกล่เกลี่ย ดังปรากฏในบันทึกของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ถึงกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันลงวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) มีสาระสำคัญดังนี้

พลเรือเอก เดอกูซ ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนได้ส่งนายทหารคนสนิทชื่อ นาวาเอกจวง (Jouan) มาติดต่อกับรัฐบาลอังกฤษที่สิงคโปร์ เพื่อปรึกษาถึงการร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอินโดจีนกับสิงคโปร์ และจะต่อต้านการบีบคั้นของญี่ปุ่นทุกวิถีทาง ในการนี้ ได้พูดถึงการรบระหว่างอินโดจีนและไทยว่า อินโดจีนยินดีจะให้สหรัฐอเมริกาหรือสหรัฐอเมริกาและอังกฤษร่วมกันเข้าไกล่เกลี่ย อินโดจีนมีหลักฐานว่า ในการรบครั้งนี้ญี่ปุ่นได้ให้เครื่องบินและกระสุนแก่ไทย และให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกำลังของอินโดจีนแก่ไทย ทั้ง ๆ ที่ญี่ปุ่นบอกว่าเป็นกลางในการรบพุ่งครั้งนี้

ทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ รายงานว่า ได้ทราบว่าการพิพาทครั้งนี้ เยอรมันนีเห็นอกเห็นใจไทยที่เรียกร้องขอดินแดน รัฐบาลอังกฤษขอแจ้งให้รัฐบาลอเมริกันทราบว่า ท่าทีของรัฐบาลอังกฤษนั้นขึ้นอยู่กับข้อคำนึงสองประการ

ก) การพิพาทครั้งนี้จะต้องระงับโดยสันติและไม่ชักช้า

ข) การระงับจะต้องบรรลุ ไม่ใช่โดยญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ย ไม่ว่าจะเป็นโดยเยอรมันนีเข้ามาช่วยหรือไม่

รัฐบาลอังกฤษร้อนใจที่จะพยายามไม่ให้ทั้งไทยและฝรั่งเศสตกไปเป็นลูกหนี้บุญคุณของญี่ปุ่น และความตกลงระงับข้อพิพาทจะช่วยส่งเสริมให้ฝรั่งเศสมีกำลังเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นยิ่งขึ้น ฉะนั้น ไทยกับฝรั่งเศสจึงควรเจรจากันโดยตรง หรือโดยสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเข้าช่วย

แน่นอน การเจรจานี้จะสำเร็จได้ก็ต้องโดยทั้งสองฝ่ายผ่อนปรนซึ่งกันและกัน ซึ่งหมายความว่า

ก) ฝรั่งเศสจะต้องยอมเสียเนื้อที่สองชิ้นที่ไทยร้องขอกับเกาะสองสามเกาะในลำแม่น้ำโขง และ

ข) ฝ่ายไทยก็ต้องพอใจเพียงเท่าที่ได้ จะหวังตามที่เรียกร้องเต็มที่นั้นไม่ได้ และพร้อมที่จะให้คำมั่นประกันว่า จะไม่เรียกร้องเพิ่มเติมอีก

ในเรื่องนี้ นายเวลลซ์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ในขณะนั้น เห็นว่า การที่ฝรั่งเศสจะยอมให้ดินแดนแก่ไทยไม่ว่าเนื้อที่เท่าใดในขณะนี้ ก็เท่ากับเป็นการยอมให้ไทยแบลกเมล์ อันอาจมีผลสะท้อนจากบางประเทศ ในข้อแย้งอันสำคัญนี้ รัฐบาลอังกฤษตระหนักดี และถ้าฝรั่งเศสไม่เต็มใจจะให้ระงับข้อพิพาทโดยพัวพันถึงการสละดินแดนแล้ว รัฐบาลอังกฤษก็ไม่ปรารถนาที่จะเข้ามาไกล่เกลี่ย แต่อย่างไรก็ดี ก็ไม่ปรากฏว่าฝรั่งเศสคิดเช่นนั้น ฉะนั้น รัฐบาลอเมริกันอาจพิจารณาสถานการณ์ตามที่นาวาเอกจวงเสนอก็ได้ กล่าวคือ ฝ่ายฝรั่งเศสยินดีให้ไกล่เกลี่ย โดยคำนึงถึงเหตุการณ์ต่อไปนี้

การพิพาทรบพุ่งยิ่งนานวันเข้า ทั้งสองฝ่ายก็จะต้องอ่อนกำลังลง และญี่ปุ่นก็จะเข้าแทรกหรือโจมตีได้ง่ายแน่นอน การที่ญี่ปุ่นช่วยไทยโดยให้อาวุธนั้นก็เพื่อจะให้การพิพาดยืดเยื้อ และทั้งสองฝ่ายจะได้อ่อนกำลังลง แม้ว่าในกรณีที่ญี่ปุ่นเข้าไกล่เกลี่ยสำเร็จ ญี่ปุ่นก็จะได้ประโยชน์สำคัญเช่นเดียวกันทั้งจากไทยและฝรั่งเศส ญี่ปุ่นต้องการมีฐานะในทางยุทธศาสตร์จากสองประเทศนี้ เพื่อจะได้คุกคามบูรณภาพอาณาเขตทางใต้ต่อไป (หมายความถึงไปทางมลายู)

ฉะนั้น การที่จะให้การรบพุ่งยืดเยื้อ หรือปล่อยให้ญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ย ก็เท่ากับส่งเสริมให้ญี่ปุ่นมีกำลังขึ้นในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอันตรายเสื่อมเสียแก่อินโดจีน ไทย เนเธอร์แลนด์อินดีสตะวันออก และดินแดนของอังกฤษในตะวันออกไกล ทั้งนี้รวมถึงบริเตนใหญ่ และในที่สุดก็สหรัฐอเมริกาด้วย

รัฐบาลอังกฤษใคร่ทราบความเห็นของรัฐบาลอเมริกันโดยด่วน ถ้าเห็นว่า การไกล่เกลี่ยมีประโยชน์ จะต้องทำโดยด่วน แต่การที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษจะเสนอไกล่เกลี่ยโดยเปิดเผยนั้น คงไม่สำเร็จเพราะญี่ปุ่นและเยอรมันนีคงต่อต้านเต็มที่ ฉะนั้น ควรให้ไทยกับฝรั่งเศสเจรจากันโดยตรง แล้วอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเข้าช่วยใช้อิทธิพลอยู่หลังฉาก๓๖

ต่อมาวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันตอบบันทึกของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษข้างต้น ความว่า รัฐบาลอเมริกันเห็นด้วยกับรัฐบาลอังกฤษที่ว่า การพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสจะต้องระงับโดยสันติและไม่ชักช้า

รัฐบาลอเมริกันเห็นว่า ทั้งไทยและอินโดจีนฝรั่งเศสอยู่ในฐานะไม่ปลอดภัย ในทั้งสองประเทศนี้ ความเห็นและท่าทีของผู้บริหารก็ไม่ตรงกัน เช่นในอินโดจีน ภูมิหลังของความคิดซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การที่ฝรั่งเศสแพ้สงครามเยอรมันนี สำหรับภูมิหลังในไทยซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกันคือ เห็นว่าญี่ปุ่นกำลังจะรุกรานตะวันออกไกลแน่ ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้การที่คิดจะให้ตกลงกันได้ผลถาวรในอนาคตอันใกล้นี้ยังสงสัยอยู่ และการที่จะให้มีการรับประกันเพียงพอในเหตุการณ์ซึ่งจะมีในกาลข้างหน้าก็ยังเป็นปัญหาอยู่

รัฐบาลอเมริกันเห็นด้วยกับรัฐบาลอังกฤษว่า การจะเสนอไกล่เกลี่ยโดยเปิดเผยนั้นคงไม่สำเร็จ ด้วยความเชื่อนี้และตามภูมิหลังที่อ้างข้างต้น รัฐบาลอเมริกันไม่เห็นว่าในขณะนี้การเข้าช่วยไกล่เกลี่ยจะมีส่วนให้ได้ประโยชน์อย่างใด แต่แน่นอน ถ้าทั้งสองฝ่ายเข้าเจรจากันโดยตรงหรือไม่ก็ตาม และเกิดมีสถานการณ์ซึ่งคู่กรณีเห็นว่า รัฐบาลอเมริกันอาจจะทำประโยชน์ โดยเข้าช่วยให้คำแนะนำฉันมิตร ในกรณีเช่นนี้แน่นอน รัฐบาลอเมริกันพร้อมที่จะพิจารณาข้อเสนอของคู่กรณี๓๗

ระหว่างนี้เองรัฐบาลญี่ปุ่นได้ข่าวแว่วมาว่า พลเรือเอก เดอกูซ ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนส่งผู้แทนมาสิงคโปร์ นายมัตซูโอกา รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศญี่ปุ่น ได้เรียกนายอาแซน ฮังรี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในกรุงโตเกียวไปพบเป็นการประท้วงว่าฝรั่งเศสละเมิดไมตรีกับญี่ปุ่น และแจ้งว่า ได้ทราบข่าวว่า ทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ ได้เสนอจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในการพิพาทครั้งนี้๓๘

ข้าพเจ้าได้พยายามเจรจากับนายกาโร อุปทูตฝรั่งเศสหลายครั้งว่า เราควรตกลงกันดีกว่า มิฉะนั้น ประโยชน์จะตกไปยังคนอื่น ครั้งสุดท้ายคือวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) แต่อุปทูตฝรั่งเศสแจ้งว่าได้รายงานไปยังรัฐบาลที่วิชีหลายครั้งแล้ว แต่รัฐบาลของเขาไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ดี เรื่องญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยนี้ เท่าที่ข้าพเจ้าทำได้ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่เคยแจ้งกับข้าพเจ้าเลยว่า ญี่ปุ่นทาบทามมาว่าจะไกล่เกลี่ย

วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอต่อรัฐบาลวิชีว่า ญี่ปุ่นจะต้องเข้าไกล่เกลี่ยในเรื่องนี้ แต่ตามรายงานของเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในกรุงโตเกียวว่า ในวันที่ ๑๙ มกราคม และวันที่ ๒๐ มกราคม มัทซูโอกา รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศญี่ปุ่นได้เชิญเขาไปพบว่า ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระจักรพรรดิให้ยืนยันเสนอไกล่เกลี่ยในเรื่องนี้อีก๓๙ ญี่ปุ่นจะไม่ยอมให้อังกฤษเข้ามาแทรกแซงในประเทศไทยโดยตัดประโยชน์ของญี่ปุ่น การที่ญี่ปุ่นขอเข้าไกล่เกลี่ยครั้งนี้ก็เพื่อสันติภาพในภูมิภาคนี้ และได้เสนอต่อรัฐบาลไทยแล้วเช่นเดียวกัน หวังว่าในครั้งนี้รัฐบาลฝรั่งเศสคงตกลง การที่ญี่ปุ่นเสนอไกล่เกลี่ยนี้ก็เป็นวิธีการซึ่งอยู่ในกรอบของความตกลงกับอินโดจีนในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐)๔๐ ฉะนั้น ขอเตือนว่า ถ้าฝรั่งเศสยอมให้อังกฤษเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยจะเป็นการละเมิดความตกลงดังกล่าว ถ้ารับการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นแล้ว ก็จะได้ขอให้หยุดการรบทันที รัฐบาลฝรั่งเศสได้ตอบตกลงตามข้อเสนอของญี่ปุ่น๔๑

วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) มัทซูโอกา รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศญี่ปุ่นแถลงว่า “......ในขณะนี้ ประชาชนชาวไทยกำลังเรียกร้องขอดินแดนคืนจากอินโดจีนฝรั่งเศส กองทหารไทยกำลังเผชิญหน้ากับทหารอินโดจีนฝรั่งเศสตามพรมแดนและมีการปะทะกันอยู่บ่อยครั้ง ญี่ปุ่นในฐานเป็นผู้นำของเอเซียจึงไม่อาจวางตนอุเบกขาในการพิพาทนี้ได้ จึงหวังว่าการพิพาทนี้คงจะระงับได้ในโอกาสแรกที่สุดที่จะทำได้” ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงโดยเปิดเผยว่าจะเข้าไกล่เกลี่ย เพราะตลอดมาญี่ปุ่นได้แสดงว่าจะไม่เข้าเกี่ยวข้อง

วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) วิทยุโตเกียวประกาศว่า รัฐบาลไทยและฝรั่งเศสได้ตอบตกลงให้ญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยแล้ว ในวันเดียวกันนี้เอง พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี และแจ้งให้คณะรัฐมนตรทราบว่า ญี่ปุ่นได้เสนอมา โดยที่ไม่มีทางอื่นจะปฏิเสธ จึงได้ตอบตกลงไปแล้ว

อย่างไรก็ดี เรื่องญี่ปุ่นเสนอเข้ามาไกล่เกลี่ยนี้ ข้าพเจ้าทราบจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในนาทีสุดท้ายก่อนญี่ปุ่นประกาศทางวิทยุกระจายเสียงประมาณวันหนึ่ง และก็ได้รับคำสั่งให้รักษาเป็นความลับยิ่ง ฉะนั้น เมื่อทูตอเมริกันมาซักถามข้าพเจ้าถึงเรื่องนี้ว่า ญี่ปุ่นเสนอมาตั้งแต่เมื่อไร ข้าพเจ้าจึงตอบตรง ๆ ว่าข้าพเจ้าไม่ทราบ๔๒

ต่อมา ได้มีการหยุดรบทุกแนวรบ ในวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) เวลา ๑๐.๐๐ น. ตรง

รัฐบาลได้ส่งคณะผู้แทนเพื่อไปลงนามในการสงบศึกบนเรือลาดตระเวนญี่ปุ่นชื่อ “นาโตริ” ดังมีรายนามดังนี้

๑. นายนาวาอากาศเอก พระศิลปศัสตราคม หัวหน้าคณะ

๒. หลวงสิทธิสยามการ

๓. นายนาวาเอก หลวงสำแดงพิชชาโชติ ร.น.

๔. นายนาวาอากาศเอก หลวงเทวฤทธิ์พันลึก

๕. นายวนิช ปานะนนท์

๖. นายพันตรี เนตร เขมะโยธิน

๒. นายทวี ตะเวทิกุล เลขานุการ

ได้ลงนามกันเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) เวลา ๑๘.๐๐ น.

การเจรจาทำความตกลงในอนุสัญญาสันติภาพ

รัฐบาลได้ตั้งคณะผู้แทนไทยไปทำการเจรจาที่กรุงโตเกียวมีรายนามดังต่อไปนี้

๑. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร

๒. พระยาศรีเสนา อัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว

๓. นายนาวาอากาศเอก พระศิลปศัสตราคม

๔. นายพันเอก หลวงวิชิตสงคราม

๕. นายวนิช ปานะนนท์

๖. นายพันเอก หลวงวีระโยธา (ผู้ช่วยทูตทหารบก ณ กรุงโตเกียว)

๗. นายนาวาเอก หลวงสำแดงพิชชาโชติ

๘. นายนาวาอากาศเอก หลวงเทวฤทธิ์พันลึก

๙. นายนาวาโท หลวงสมบูรณ์ยุทธวิทยา (ผู้ช่วยทูตทหารเรือ ณ กรุงโตเกียว)

๑๐. นายทวี ตะเวทิกุล

๑๑. นายพันตรี หลวงสถิตยุทธการ

๑๒. นายพันตรี เนตร เขมะโยธิน

๑๓. นายพันตรี เผ่า ศรียานนท์

เจ้าหน้าที่่ฝ่ายเลขานุการ

๑. นายทวี ตะเวทิกุล

๒. หลวงพินิจอักษร

๓. ม.จ. วงศานุวัตร เทวกุล

๔. พระนรราชจำนง

๕. นายอรุณ วิจิตรานนท์

๖. นายใจ สุวรรณทัต

ในที่สุดได้มีการลงนามย่อเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) รายละเอียดในเรื่องนี้ ปรากฏในคำปราศรัยของพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร จากสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงโตเกียว ในคืนวันนั้น ดังต่อไปนี้

พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย

การตกลงระหว่างไทยกับฝรั่งเศสโดยญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยนั้น ได้ลงอักษรนามย่อกันบ่ายวันนี้แล้ว เมื่อ ๑๖ นาฬิกาเวลาโตกิโอ หรือ ๑๔ นาฬิกาเวลากรุงเทพฯ ทางวิทยุกระจายเสียงของญี่ปุ่นได้เอื้อเฟื้อให้โอกาสที่ข้าพเจ้าจะปราศรัยกับพี่น้องชาวไทยเล็กน้อย

ตั้งแต่คณะทูตไทยได้ออกเดินทางมาโดยมีข้าราชการและประ ชาชนไปส่งกันเป็นอันมาก ที่ท่านนายกรัฐมนตรีไปเป็นประธานนั้น คณะทูตไทยได้รู้สึกซาบซึ้งในความเมตตากรุณาเป็นที่ยิ่ง และตั้งแต่มาถึงกรุงโตกิโอแล้วก็ผูกใจอยู่แต่ในกิจการงาน เพื่อจะเจรจาให้เป็นผลสำเร็จโดยชอบด้วยประโยชน์ของชาติ และเกียรติของทหารหาญ ซึ่งได้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อประเทศมารดรที่รักของเรา การเจรจามีลักษณะซับซ้อนยุ่งยากอยู่มาก แต่ด้วยอาศัยความบากบั่นหมั่นเพียรของรัฐบาลญี่ปุ่นผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งเห็นแก่สันติภาพและความยุติธรรมในส่วนรวมเป็นที่ตั้ง การเจรจาจึงได้ลุล่วงอุปสรรคมาจนบรรลุถึงซึ่งผลสำเร็จ

ข้อความที่ได้ตกลงกันนั้นมีปรากฏอยู่ในคำแถลงการณ์ร่วมกัน ซึ่งข้าพเจ้าจะขอให้เลขาธิการคณะทูตกระจายเสียงต่อไป

ในที่นี้ข้าพเจ้าขอสรุปรวมความให้ทราบว่า ดินแดนที่ไทยได้คืนมาคราวนี้ คือ

๑. ดินแดนซึ่งได้เสียไปโดยสนธิสัญญาปี พุทธศักราช ๒๔๔๖ ได้คืนมาทั้งหมด กล่าวคือ ดินแดนหลวงพระบางฝั่งขวาและดินแดนจัมปาศักดิ์ตรงข้ามกับปากเซ กับทั้งในแดนในกัมพูชาที่ได้เสียไปโดยสนธิสัญญานั้นด้วย

๒. มณฑลบูรพาซึ่งได้เสียไปโดยสนธิสัญญาปี พุทธศักราช ๒๔๔๙ นั้น ได้คืนจังหวัดศรีโสภณและพระตะบอง จดฝั่งทะเลสาบ แต่เสียมราฐและนครวัตนั้นยังคงเป็นของฝรั่งเศสอยู่

๓. ได้มาซึ่งดินแดนในกัมพูชา หรือเส้นขีดโค้งจากเวิ้งนครวัตลงไปถึงแม่น้ำโขงตอนใต้สตึงเตรง และ

๔. ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดนในลำแม่น้ำโขง เกาะคอน ซึ่งอยู่ทางขวาของร่องน้ำลึกได้คืนมาเป็นของไทยหมด

ฝรั่งเศสขอผลประโยชน์ตอบแทนบ้าง จึงตกลงให้ชนชาติฝรั่งเศสได้รับผลปฏิบัติเท่าเทียมกับคนไทยในอาณาเขตที่ได้คืนมา กับทั้งให้อาณาเขตนั้นเป็นเขตปลอดทหารด้วย แต่ทางฝ่ายฝรั่งเศสก็มีเขตปลอดทหารขนานกันไปเหมือนกัน การตกลงคราวนี้เป็นเพียงเท่าที่จะเจรจากันได้ด้วยความยินยอมของฝรั่งเศส แต่ก็เป็นความตกลงที่เด็ดขาดแน่นอน จะถอนคืนประการใดหาได้ไม่ ทั้งนี้มีประเทศญี่ปุ่นให้คำประกันด้วย เมื่อคำนึงถึงความผันผวนปรวนแปรเกี่ยวกับสถานการณ์ในขณะนี้แล้ว สันติภาพและความมั่นคงเป็นสิ่งประสงค์โดยทั่วกัน และการที่ฝ่ายไทยยอมตกลงไปก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมดังกล่าวแล้ว ฉะนั้น จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า สันติภาพและความวัฒนาถาวรในเอเชียตะวันออก จะได้รับการส่งเสริมจากการตกลงนี้โดยแน่แท้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยโดยความเห็นใจฝ่ายไทยอย่างดียิ่ง คณะทูตไทยขอแสดงความขอบคุณอย่างซาบซึ้งไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ในส่วนการต้อนรับนั้น ทางรัฐบาลและประชาชนตลอดจนบรรดานักหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นได้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคณะทูตไทยอย่างดียิ่ง ซึ่งคณะทูตไทยจะมิได้ลืมเลย ส่วนความรู้สึกของคณะทูตนี้ก็คือ คิดถึงทหารหาญและพี่น้องชาวไทยทั้งมวล มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า คณะทูตไทยได้รับความสนับสนุนและไว้เนื้อเชื่อใจอย่างที่จะลืมบุญคุณเสียมิได้เลย ความสำเร็จใดๆ ในขณะนี้เนื่องมาจากความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาติที่รักของเราโดยแท้ คณะทูตขอให้ชาติไทยจงเจริญ

สวัสดี

ต่อไปนี้ นายทวี ตะเวทิกุล ได้อ่านคำแถลงการณ์ร่วมกันของทางราชการ

คำแถลงการณ์ร่วมกันของทางราชการ

การประชุมการไกล่เกลี่ย ณ กรุงโตกิโอ เพื่อจัดการระงับข้อพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ได้เปิดเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ที่แล้วมา โดยการประชุมเต็มคณะครั้งที่หนึ่ง และต่อจากนั้นมานอกจากการประชุมมิใช่พิธี ๓ ครั้ง ได้มีการพูดจากันภายในประจำวันติดต่อตลอดมา และเนื่องจากการนี้ ความเห็นของภาคีทั้ง ๒ ฝ่าย ก็ค่อยดำเนินลงรอยกันทีละน้อยด้วยการช่วยเหลือของผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อเป็นที่ตกลง เพื่อจัดการให้ปัญหาเสร็จสิ้นไป ฝ่ายผู้ไกล่เกลี่ยได้เสนอแผนการไกล่เกลี่ย เมื่อวันประชุมมิใช่ทางการเป็นครั้งที่ ๔ ในวันที่ ๒๔ เดือนเดียวกันนี้ ซึ่งผู้ไกล่เกลี่ยได้แนะนำให้ภาคีทั้ง ๒ ฝ่ายสนองรับอยู่หลายคราว และมาบัดนี้รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้สนองรับแผนการที่ได้แก้ไขเล็กน้อยแล้ว ผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในข้อไกล่เกลี่ยกันวันนี้ เวลา ๑๖ นาฬิกา ดังต่อไปนี้

๑. ประเทศฝรั่งเศสยอมให้ดินแดนดังต่อไปนี้แก่ประเทศไทย

ก. ดินแดนแคว้นปากลายตามที่กล่าวไว้ในข้อ ๒ แห่งอนุสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ (พ.ศ. ๒๔๔๖) ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส

ข. ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตั้งแต่เหนือเส้นเขตระหว่างจังหวัดพระตะบองกับจังหวัดโพธิสัตว์ และดินแดนตามแนวซึ่งอีกจุด ระหว่างทะเลสาบกับเขตจังหวัดพระตะบอง และเสียมราฐตอนใต้ที่สุด ขึ้นไปทางเหนือ ทางเส้นขีดยาวจนถึงเส้นขีดขวางทุก ๕ G จากจุดนี้ ขีดแนวตามเส้นขีดขวางจุด ๕ ไปทางทิศตะวันออกจนถึงแม่น้ำโขง แต่ดินแดนเล็กน้อยตรงข้ามกับสตึงเตรงจะได้สงวนไว้ให้แก่อินโดจีน ฝรั่งเศส

๒. ในส่วนที่เกี่ยวกับดินแดนที่ยอมให้ตามที่กล่าวตอนต้นนั้น จะต้องเป็นดั่งต่อไปนี้

ก. จะต้องเป็นเขตปลอดทหารตลอดทั่วทั้งหมด

ข. ชาวฝรั่งเศสและอินโดจีนในดินแดนนั้น จะได้รับการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกันกับที่ให้แก่ชาวไทยในส่วนที่เกี่ยวด้วยการช่าง การก่อสร้าง และกิจการงาน

๓. รัฐบาลไทยจะเคารพต่ออนุสาวรีย์ของกษัตริย์ในเขตสามเหลี่ยมตรงหน้าหลวงพระบาง และจะให้ความสะดวกในการรักษา และเยี่ยมเยียน ฯลฯ

๔. ในการปักปันเขตแดนในลำแม่น้ำโขงจะถือหลักร่องน้ำลึก แต่เกาะโขงและเกาะคอนนั้นจะอยู่ในความปกครองร่วมกันของประเทศไทยและฝรั่งเศสภายใต้อธิปไตยของไทย และสิ่งก่อสร้างของฝรั่งเศส ซึ่งได้มีอยู่ก่อนบนเกาะทั้งสองนั้นจะเป็นของฝรั่งเศสต่อไป

๕. นอกจากนั้นในขณะเดียวกันกับที่ได้ลงนามในข้อไกล่เกลี่ยตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการแลกเปลี่ยนหนังสือ กับประเทศฝรั่งเศสฝ่ายหนึ่ง และกับประเทศไทยอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นการรับรองแก่ทั้งสองฝ่าย ในลักษณะเด็ดขาดแห่งข้อสัญญาที่กล่าวแล้ว และเพื่อให้ประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทยแถลงโดยแจ้งชัด ในภายหลังแก่ประเทศญี่ปุ่นถึงสาระสำคัญแห่งการตกลง ซึ่งจะทำกับประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับการรักษาสันติภาพในมหาเอเซียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการก่อตั้งและการเพิ่มพูนความเกี่ยวพันพิเศษ ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศฝรั่งเศสฝ่ายหนึ่ง และระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยอีกฝ่ายหนึ่ง

ทั้งนี้ เราไม่สามารถจะเว้นเสียซึ่งความปิติยินดีได้ มิใช่เฉพาะสำหรับประเทศที่เกี่ยวข้องเท่านั้น หากสำหรับความสงบและความราบคาบแห่งมหาเอเซียตะวันออกอีกด้วย และในการนี้เกี่ยวเนื่องไปถึงสันติภาพของโลก ประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทยได้เข้าใจคำนึงถึงยุติธรรม และอันมีเหตุผลของผู้ไกล่เกลี่ยกับเหตุผลอันแท้จริงในความกังวลในสันติภาพของผู้ไกล่เกลี่ย จึงได้เข้าร่วมทำการเจรจาด้วยเจตนารมณ์แห่งการผ่อนหนักผ่อนเบาให้แก่กันและกัน

ส่วนทางฝ่ายประเทศญี่ปุ่นเล่า ก็ได้แสดงความพยายามอันเที่ยงตรงและเด็ดเดี่ยวเพื่อบรรลุผลสำเร็จแห่งการไกล่เกลี่ยในอันที่จะทำให้ความเกี่ยวพันฉันมิตรและสงบบังเกิดขึ้น ระหว่างประเทศไทย และประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสามที่เกี่ยวข้องกระชับแน่นยิ่งขึ้นไปในขณะเดียวกัน๔๓

ต่อมา ได้มีการลงนามในอนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)๔๔

ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงต่อสภาผู้แทน ข้อความต่อไปนี้

ท่านประธานสภาฯ และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

ข้าพเจ้ามีความเสียใจอย่างยิ่ง ที่จะรายงานให้ท่านทั้งหลายทราบว่า ในระหว่างปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาครั้งสุดท้ายนี้ ชาติของเราได้มีกรณีพิพาทอย่างรุนแรง ถึงกับต้องใช้กองทัพบางส่วนเข้าทำการรบชาติฝรั่งเศส ซึ่งปกครองประเทศอินโดจีนและเขมร และก่อนที่จะได้ทำการรบนั้น รัฐบาลสำนักอยู่ที่ว่า การพิพาทกับประเทศใดประเทศหนึ่งถึงต้องใช้กำลังกองทัพเข้าประหัตประหารกันนั้น รัฐบาลจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน จึงจะเป็นไปตามวิถีทางในระบอบการปกครองของประเทศไทย แต่เนื่องด้วยรัฐบาลนี้มีนโยบายเป็นมิตรที่ดีกับนานาชาติทั่วกัน ยิ่งการใช้กองทัพรุกรานประเทศอื่นด้วยแล้ว ไม่มีความคิดแม้แต่เล็กน้อยในองค์การของรัฐบาลนี้เลย จึงในฐานะดั่งนี้เมื่อประเทศชาติของเราถูกชาติฝรั่งเศสในอินโดจีนและเขมรทำการรุกรานก่อน โดยไม่รู้ตัวในคราวนี้ รัฐบาลจึงไม่มีโอกาสจะได้เสนอรับความเห็นร่วมกันเสียก่อนได้ลงมือทำการรบ หวังว่าท่านผู้มีเกียรติ ณ ที่นี้ คงจะได้ให้ความเห็นอกเห็นใจต่อข้าพเจ้าและรัฐบาลโดยทั่วกัน

มูลเหตุพิพาทกับชาติฝรั่งเศสดังได้กล่าวมานี้ เป็นการสืบเนื่องมาช้านานแล้ว ดั่งข้าพเจ้าจะได้กล่าวต่อไป และความจริงท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายก็ทราบดีเท่ากับข้าพเจ้าอยู่แล้วเหมือนกัน

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ประเทศไทยได้เคยเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสไปหลายคราวรวมทั้งสิ้นเป็นเนื้อที่ราว ๔๘๑,๖๐๐ ตาราง กิโลเมตร เนื้อที่ของประเทศไทยปัจจุบันคงมีเพียง ๕๑๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร

การกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนนั้น ก็มิได้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและความยุติธรรม กล่าวคือ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศนั้น เมื่อเอาแม่น้ำเป็นเขตแดน ก็พึงถือว่าร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน แต่การกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนนั้น มิได้เป็นไปตามหลักนี้ คือ บรรดาเกาะทั้งหลายในลำแม่น้ำโขง ถือเป็นของฝรั่งเศสทั้งสิ้น และดอนซึ่งอยู่ติดฝั่งไทย แต่มีร่องน้ำตื้นถึงแก่ลุยข้ามได้นั้น ฝ่ายฝรั่งเศสก็ยังถือว่าเป็นเกาะ

ประเทศไทยรู้สึกตัวว่าเป็นประเทศเล็ก จึงได้ดำเนินนโยบายอย่างสงบเสงี่ยมตลอดมา และได้พยายามปรองดองสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสให้เป็นที่เรียบร้อยเสมอมา ทั้งไม่เคยแสดงอาการเป็นปฏิปักษ์ต่อฝรั่งเศสอย่างไร แต่หากพยายามที่จะร่วมมือร่วมใจกับฝรั่งเศสในกิจการทุกๆอย่างที่สามารถจะทำได้ ครั้นมาในพุทธศักราช ๒๔๗๙ ในระหว่างที่กำลังเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสนั้น ทางรัฐบาลไทยได้เคยเสนอต่อผู้แทนของรัฐบาลฝรั่งเศสในอันที่จะปรับปรุงเขตแดนให้เป็นไปตามความยุติธรรม แต่ฝ่ายฝรั่งเศสได้เสนอว่าให้รอไว้เจรจากันเมื่อจะทำสัญญาเกี่ยวกับอินโดจีนจะเหมาะกว่า เพราะเกี่ยวกับเขตแดนทางอินโดจีน รัฐบาลไทยจึงยินยอมและรอต่อมา โดยเห็นแก่ไมตรีที่มีอยู่ต่อกัน

ครั้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ คือก่อนสงครามยุโรปปัจจุบันครั้งนี้ ฝรั่งเศสได้ขอทาบทามมายังประเทศไทยเพื่อทำกติกาสัญญาไม่รุกรานกัน โดยเห็นแก่ไมตรีที่ได้มีอยู่ต่อกัน ฝ่ายไทยได้ตอบไปว่า พร้อมที่จะทำกติกาสัญญาไม่รุกรานกันกับฝรั่งเศส แต่ต้องมีการปรับปรุงเขตแดนกันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักความยุติธรรม การเจรจาได้เจรจากันถือหลักกฎหมายระหว่างประเทศก่อน คือการที่จะให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ปักปันเขตแดนในลำแม่น้ำโขง ฝ่ายฝรั่งเศสได้ตอบยอมตกลงโดยมีหนังสือให้ไว้เป็นหลักฐานจะปรับปรุงเส้นเขตแดนในลำแม่น้ำโขง โดยถือหลักร่องน้ำเดินเรือได้ตลอดปีเป็นเกณฑ์ และจะส่งข้าราชการชั้นเอกอัครราชทูตมาจากประเทศฝรั่งเศสเพื่อมาเจรจาในเรื่องนี้ ส่วนการปรับปรุงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนโดยทั่วไป ให้เป็นไปตามเขตแดนธรรมชาตินั้น ก็ได้มีการพูดจากันเป็นที่เข้าใจกันว่าจะได้ยกขึ้นพูดจาในโอกาสที่มีการปรึกษาหารือกันในการปรับปรุงเส้นเขตแดนในลำแม่น้ำโขง กับข้าราชการชั้นเอกอัครราชทูตซึ่งจะส่งมาจากฝรั่งเศส เพื่อพิจารณาร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย

ครั้นเมื่อฝรั่งเศสได้ลงนามในสัญญาสงบศึกกับเยอรมันนีแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสได้แจ้งมาว่า แทนที่จะส่งข้าราชการชั้นเอกอัครราชทูตมาดั่งได้ให้คำมั่นไว้ในหนังสือแลกเปลี่ยน บัดนี้ใคร่จะส่งเจ้าหน้าที่ทางอินโดจีนมาแทน และขอให้อัครราชทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ เป็นประธานฝ่ายฝรั่งเศส ซึ่งฝ่ายรัฐบาลไทยก็ได้ยินยอมด้วย

ต่อมาฝ่ายฝรั่งเศสได้แจ้งมาทางอัครราชทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศสอีกว่า ขอให้กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส มีผลใช้บังคับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป โดยมิต้องรอการแลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน

เมื่อรัฐบาลได้รับคำขอเช่นนี้ จึงพิจารณาดูว่าเมื่อฝรั่งเศสได้มีคำขอมาใหม่เช่นนี้ จึงควรจะพูดจากันให้แน่นแฟ้น ประกอบทั้งเพื่ออนุโลมตามคำร้องขอของฝรั่งเศส ฝ่ายไทยจึงได้ตอบไปเมื่อ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ว่ายินดีจะรับตกลงตามคำขอของฝ่ายฝรั่งเศส แต่ใคร่ขอให้ฝ่ายฝรั่งเศสตกลงดังนี้ คือ

๑. วางแนวเส้นเขตแดนตามลำแม่น้ำโขงให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือถือหลักร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์

๒. ปรับปรุงเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือ ให้ถือว่าแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและอินโดจีน ตั้งแต่ทิศเหนือมาจนทิศใต้ จนถึงเขตแดนกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามกับหลวงพระบาง และตรงข้ามกับปากเซคืนมา

๓. ขอให้ฝ่ายฝรั่งเศสรับรองว่า ถ้าอินโดจีนเปลี่ยนจากอธิปไตยฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะคืนอาณาเขตลาวและกัมพูชาให้แก่ไทย

แต่ฝรั่งเศสหาได้ยอมตกลงตามคำขอทั้ง ๓ ข้อ ของไทยไม่ รัฐบาลวิชีได้ตอบปฏิเสธ และยืนยันว่าจะป้องกันอินโดจีนของตนไม่ว่าจะมีศัตรูมาจากแห่งใด และกลับได้ขนทหารพร้อมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ มาไว้ตามชายแดนด้านติดต่อกับไทยเป็นอันมาก และเริ่มใช้เครื่องบินล่วงล้ำมาในดินแดนของประเทศไทยไม่น้อยกว่า ๓๐ ครั้ง ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นชัดว่า ฝรั่งเศสมีความประสงค์รุกรานประเทศไทยโดยตรง และฝรั่งเศสก็ได้ล่วงละเมิดอธิปไตยของไทยอยู่เสมอ ๆ มา เป็นต้นว่ายิงปืนเข้ามาในเขตไทย ส่งผู้สืบราชการลับเข้ามาดูลาดเลาในเขตไทย แต่รัฐบาลไทยก็ยังหาได้ดำเนินการต่อสู้กับฝรั่งเศสไม่ เป็นแต่เพียงวางแนวป้องกันไว้เท่านั้น และในที่สุดฝรั่งเศสก็ได้เริ่มเป็นผู้ก่อการวิวาทขึ้นก่อน โดยนำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ ก็เมื่อฝ่ายฝรั่งเศสได้เป็นผู้ก่อการรุกรานขึ้นก่อนเช่นนี้แล้ว ประเทศไทยก็จำต้องป้องกันรักษาอธิปไตยไว้ด้วยความสนับสนุนของประชาชาติไทยทั้งสิ้น และใช้กำลังทหารตำรวจสนามเข้าทำการรบ และเหตุพิพาทก็ได้เกิดขึ้นทั่วไปตามชายแดนไทยด้านอินโดจีนฝรั่งเศสแต่ขณะนั้น ในที่สุดผลการต่อสู้ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพฝรั่งเศส ฝ่ายเราตีและยึดได้ คือ

ทางกองพลพายัพ ยึดได้แคว้นหลวงพระบางฝั่งขวา ห้วยทราย ตรงข้ามเชียงแสน

กองทัพอีสาน กองพลอุบล ยกได้แคว้นนครจัมปาศักดิ์ กองพลสุรินทร์ ยึดได้ สำโรง จงกล ทางจังหวัดเสียมราฐ

กองทัพบูรพา ยกได้พื้นที่ตะวันตก ศรีโสภณ ห่างจากศรีโสภณ ๑๗ กิโลเมตร กองพลจันทบุรี ยึดได้บ้านกุมเรียงและบ้านห้วยเขมร ทิศตะวันตก บ่อไพลิน

ทางด้านทะเล กองทัพเรือได้ปะทะกับกองทัพเรืออินโดจีนมิให้รุกเข้ามาได้

กองทัพอากาศ ให้ทำการรบจนมีชัยทางอากาศ และได้ไปทำลายสถานที่สำคัญทางทหารในอินโดจีนอีกหลายแห่ง

ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอต่อรัฐบาลไทยและฝรั่งเศส ขอเป็นคนกลางเพื่อไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทนี้ และเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสได้ยอมรับข้อเสนอเพื่อไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นแล้ว รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งมีนโยบายที่จะดำเนินการโดยสันติวิธี จึงได้ยอมรับข้อเสนอเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๔ ตามข้อเสนอไกล่เกลี่ยของรัฐบาลญี่ปุ่น รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องจัดตั้งคณะผู้แทนขึ้น ๒ คณะ คณะหนึ่งเพื่อไปทำการเจรจาสันติภาพ ณ กรุงโตกิโอ ในเมื่อได้ทำการตกลงพักรบขึ้นแล้ว และเพื่อเปิดโอกาสให้ทำการเจรจาพักรบกัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอให้หยุดการรบก่อน และได้ตกลงกันให้กองทัพทั้งสองฝ่ายพักรบมีกำหนด ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๘๔ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา (เวลากรุงเทพฯ) เป็นต้นไป

ประเทศไทยได้ส่งคณะผู้แทนไปทำการเจรจา เพื่อทำความตกลงพักรบที่ไซ่ง่อน มี น.อ. พระศิลปศัสตราคม กับข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนร่วมกัน คณะผู้แทนได้ออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม และเมื่อได้ทำการเจรจากับคณะผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น และฝ่ายฝรั่งเศสเป็นเวลา ๓ วัน ก็ได้ลงนามในข้อตกลงพักรบเมื่อวันที่ ๓๑ เดือนเดียวกัน และได้กลับถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์

ตามสัญญาพักรบมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

๑. ให้กองทัพยกของแต่ละฝ่ายถอยไป ๑๐ กิโลเมตรจากที่มั่นอันแท้จริงที่ยึดได้ไว้เวลา ๑๐.๐๐ น. ในวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๘๔ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธ ก่อนที่จะได้ทำการตกลงอันเด็ดขาดเพื่อระงับข้อพิพาทนี้ ตามข้อตกลงนี้ฝ่ายกองทัพไทยคงยึดอยู่ในแนวพอประมาณ คือเริ่มแต่ด้านไพลินขึ้นไปจนถึงแคว้นหลวงพระบาง ในแนวและจุดดังนี้

ด้านจันทบุรี บ้านบ่อตั้งสู้-บ้านกุมเรียงกรม-บุกทิศตะวันตก บ้านดง ๓๐ ก.ม. -บ้านวังสมัคซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองศรีโสภณ

ด้านปราจีนบุรี ต่อจากบ้านวังสมัคคงถือแนวซึ่งกำลังส่วนใหญ่ของกองทัพบูรพายึดอยู่ระหว่างบ้านสำโรงกันดัลกับบ้านสวายจิก

ด้านบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ จากบ้านสวายจิกตรงไปยังเขตแดนบริเวณระลมเบง ครั้นแล้วแนวตัดตรงไปยังเขตแดนทิศเหนือบ้านอำปึลแล้วแนวหักตรงไปบ้านสำโรง (เหนือจงกล) จากบ้านสำโรงไปจดเขตแดนทิศเหนือบ้านอันลองเวง ต่อจากนั้นแนวขนานกับแนวอันลองเวง-เจียมกะสานไปจนจดเขตแดนทิศเหนือเจียมกะสาน

ด้านอุบลราชธานี จากช่องเปรี๊ยะจำบักเป็นแนวตรงไปจดมูลป่าโมกข์ ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งขวาลำน้ำโขง จากมูลป่าโมกข์ถือลำน้ำโขงเป็นเขตจนจดแม่น้ำปุยในแคว้นหลวงพระบาง แล้วถือแม่น้ำปุยเป็นแนวมาจดเขตแดนของเราในจังหวัดน่าน

๒. ในทางทะเล จะมีเส้นแบ่งเขตซึ่งเรือรบของประเทศที่เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายไม่อาจล่วงล้ำเข้าไปได้

๓. ในทางอากาศ จะมีเส้นแบ่งเขตซึ่งเครื่องบินทหารของแต่ละฝ่ายไม่อาจบินล่วงล้ำเข้าไปได้

๔. การถอยกองทัพบกแต่ละฝ่ายจะต้องกระทำให้เสร็จสิ้นภายใน ๗๒ ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาที่ได้ลงนามในข้อตกลงพักรบนี้

๕. ข้อตกลงพักรบมีกำหนด ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๘๔ เป็นต้นไป ในระหว่างกำหนดเวลานี้ รัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายจะได้ส่งผู้แทนไปเจรจาทำสัญญาสันติภาพโดยเด็ดขาดที่กรุงโตกิโอ

ถ้าการเจรจาไม่เสร็จสิ้นภายในเวลากำหนด ก็อาจขยายให้ยืดเวลาต่อไปได้ โดยความยินยอมของรัฐบาลไทย ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส

ต่อจากนี้ รัฐบาลได้ส่งคณะผู้แทนอีกคณะหนึ่ง มีพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรเป็นประธาน พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนไปยังกรุงโตกิโอเพื่อเจรจาทำสัญญาสันติภาพ และปรับปรุงเขตแดน คณะผู้แทนคณะนี้ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๔ และ ๕ กุมภาพันธ์ และได้กลับมาเมื่อวันที่ ๕ เดือนนี้

การประชุม ณ กรุงโตกิโอได้เริ่มเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ศกนี้ โดยที่การเจรจาต้องล่าช้าเกินกว่าที่กำหนดไว้ จึงจำเป็นต้องต่อกำหนดเวลาพักรบไปอีก ๒ ครั้ง คือ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ และจากวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๘๔

ในที่สุดทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายฝรั่งเศส ได้ตกลงยอมรับแผนการไกล่เกลี่ยเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม โดยฝ่ายฝรั่งเศสยอมยกดินแดนแคว้นหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แคว้นนครจัมปาศักดิ์ และแคว้นเขมร ซึ่งเราได้เสียให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อปี ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ ให้แก่ไทย ต่อมาผู้แทนฝ่ายไทยกับผู้แทนฝ่ายฝรั่งเศส และญี่ปุ่นได้ร่วมมือกันร่างอนุสัญญาในเรื่องนี้ขึ้น ทั้งนี้ได้ร่างเสร็จเรียบร้อยและได้ลงนามในอนุสัญญาเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ศกนี้ ข้อความในอนุสัญญามีประการใดนั้น แจ้งอยู่ในสำเนาอนุสัญญาและเอกสารประกอบพร้อมด้วยบันทึกชี้แจงซึ่งได้เสนอให้ท่านทราบแล้ว

ตามเหตุผลที่รัฐบาลได้ชี้แจงมานี้ ประกอบกับเอกสารต่าง ๆ ที่ได้เสนอให้ท่านแล้ว รัฐบาลขอเสนอให้ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายพิจารณาโดยละเอียด หากท่านเห็นชอบด้วยตามที่รัฐบาลได้ปฏิบัติไปแล้ว ขอได้โปรดได้อนุมัติให้สัตยาบันต่อไปตามรัฐธรรมนูญ๔๕

ข้าพเจ้าขอกล่าวเพิ่มเติมเล็กน้อย ระหว่างเราปะทะกับฝรั่งเศสนั้น เนื่องจากเป็นเพียงการรบพุ่ง ไม่ได้เป็นการประกาศทำสงคราม และตัดความสัมพันธ์ทางการทูต ข้าพเจ้าจึงได้รับทูตฝรั่งเศส และอุปทูตฝรั่งเศสตลอดเวลาเพื่อแสวงหาทางยุติการรบ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ความจริงข้าพเจ้าในฐานเป็นเพียงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่มีสุ้มเสียงเท่าใดนัก แต่ในท่ามกลางบรรยากาศอันไม่พอใจฝรั่งเศสอย่างรุนแรง ข้าพเจ้าก็ได้พยายามเจรจากับฝรั่งเศสเรื่อยมา๔๖ ด้วยอัธยาศัยดีที่สุดเพื่อให้ฝรั่งเศสเห็นว่า แม้ไทยจะมีเรื่องกับฝรั่งเศสก็ตาม แต่ในด้านอารยธรรม ศีลธรรม ไทยเคารพระเบียบแบบแผนมารยาททางการทูตที่ปฏิบัติกันในนานาประเทศ ในเรื่องนี้ นายกาโร อุปทูตฝรั่งเศสเอง เมื่อมีการลงนามในอนุสัญญาสันติภาพแล้ว และข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาเรื่องการเจรจาครั้งนี้ที่สโมสรโรตารี่ ที่กรุงเทพฯ ได้เขียนจดหมายถึงข้าพเจ้าว่า ยินดีที่หนังสือพิมพ์ที่ไซ่ง่อนได้แสดงความชื่นชมยินดี เขาจึงขอตัดส่งมาให้ข้าพเจ้า ดังคำแปลดังต่อไปนี้๔๗

คำแปลจากหนังสือพิมพ์ “L’Opinion” ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๔๘๔

“อินโดจีนและประเทศไทย

แด่บุคคลที่เต็มไปด้วยเจตนาดีที่จะสร้างอนาคต

เราได้ทราบข่าวที่มาตรงจากกรุงเทพ ฯ ว่าเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ศกนี้ ในระหว่างการประชุมของสมาคมโรตารี่ นายดิเรก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงเหตุการณ์โดยย่ออันเกี่ยวกับการเจรจาและการสนทนาที่ได้ดำเนินไป ณ กรุงโตกิโอ และที่ได้นำมาซึ่งความตกลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ ระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย

ผู้ส่งข่าวได้เน้นถึงความถูกต้องแห่งการแถลงการณ์โดยย่อรายนั้น ทั้งได้แจ้งด้วยว่า ในบรรดาผู้ที่ฟังการแสดงสุนทรพจน์ดังกล่าว ณ ที่ประชุมนั้น มีข้าราชการของสถานทูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ และอัครราชทูตญี่ปุ่น

ที่ใช้คำว่า “correct” (ถูกต้องและเรียบร้อย) คงหมายความว่า การสนทนาดังกล่าวไม่มีข้อความที่ไม่เหมาะสม หรือการตีความที่แสลง ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ฟังผู้ใดผู้หนึ่งรู้สึกโกรธเคืองหรือระแวงไปได้ หากได้มีการพูดไปทำนองอื่นก็จะไม่เป็นที่ประหลาดใจประการใด ความสุภาพ “courtesy” เป็นคุณสมบัติโดยแท้ของนักการทูตที่สมแก่ชื่อนั้น และเจตนารมณ์อันชุ่มชื่นที่มีพร้อมอยู่เสมอในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคมโรตารี่ อันเป็นสากลสมาคมใหญ่ที่อวดอ้างได้ว่า มีบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลกเป็นสมาชิก ความสุภาพดังกล่าวย่อมเป็นเครื่องกีดกั้นมิให้ใช้วาจาใดที่ออกไปจากนอกทางที่ควร หรือที่ไม่ประกอบด้วยความระมัดระวัง หรือที่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้ อันเป็นลักษณะที่ย่อมมีอยู่ระหว่างบุคคลชั้นผู้ดี ฉะนั้นจึงไม่เป็นของประหลาดที่รัฐบรุษของไทยไม่ได้ใช้ถ้อยคำในการสนทนานั้น ซึ่งออกไปจากแนวทางแห่งความเรียบร้อยและความไม่รุนแรงซึ่งพฤติการณ์บังคับ

แต่ “ความเรียบร้อย” ซึ่งผู้สื่อข่าวของเรายกย่องนั้นแสดงนอกเหนือไปกว่าท่าทีอันประกอบด้วยความสุภาพอย่างธรรมดา ซึ่งย่อมต้องแสดงในพฤติการณ์ดังกล่าว ก่อนอื่นต้องถือว่าเป็นห่วงใยในความแม่นยำในความมุ่งหมายในเรื่องที่จะพูด และในการตั้งตัวเป็นกลาง ซึ่งอันที่จริงในกรณีเช่นนี้ก็เป็นของธรรมดา

ยังมีสิ่งอื่นอีกนอกเหนือไปกว่านี้ และโทรเลขฉบับต่อมาที่ได้นำข้อความอันน่าสนใจนี้มายังเรา ได้ทำให้เรารู้สึกอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในความรู้สึกและการเป็นอยู่แห่งการประชุมของรัฐบุรุษและนักการทูต ซึ่งมีหน้าที่จะป้องกันสันติภาพโดยอาชีพอยู่แล้ว “นายดิเรก” ตามข้อความในโทรเลขนั้น ได้พูดเพิ่มเติมว่า ในขณะที่เกิดกรณีพิพาท เขาคงมีการสัมพันธ์อย่างดีกับสถานทูตฝรั่งเศสตลอดมา และมองสิเออร์ การ์โร๔๘ อัครราชทูตของเรา ณ กรุงเทพฯ และตัวเขามิได้ละเลยในความพยายามประการใด เพื่อจะให้บรรลุถึงซึ่งความตกลงฉันมิตรและตรงไปตรงมา

อาจจะพูดกันได้ว่า ถ้อยคำเหล่านั้นเป็นถ้อยคำที่พูดให้เหมาะสมแก่โอกาส และในโอกาสเช่นนั้น ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องใช้ถ้อยคำทำนองดังกล่าว

ไม่ต้องสงสัยในข้อนี้ แต่ก็ควรสังเกตไว้ด้วยไม่ใช่หรือว่า ภายหลังกรณีพิพาทที่เพิ่งยุติลงอันเป็นกรณีพิพาทซึ่งเกือบจะมีลักษณะร้ายแรงหลายครั้งหลายคราว เรามาทราบว่าปรปักษ์ทั้งสองมิได้ตัดการติดต่อกัน แต่ทั้งสองฝ่ายยังมีบุคคลอันเต็มไปด้วยความเจตนาดี ได้พยายามโดยสุดความสามารถของเขาที่จะหาวิธีเยียวยามิให้การแตกร้าวนั้นรุนแรงขึ้นจนกระทั่งถึงขีดที่จะแก้ไขไม่ได้ต่อไป

บุคคลนั้นเต็มไปด้วยความเจตนาดี นี่เป็นศัพท์ที่เหมาะสมแก่บุคคลเหล่านั้น ซึ่งแม้จะแตกร้าวกันอย่างรุนแรง ก็มิได้หาวิถีทางที่จะให้รุนแรงยิ่งขึ้น และมิได้ปล่อยให้ลืมตัวหรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ตรงกันข้ามกลับคงพยายามอยู่เรื่อย ๆ ในอันที่จะนำมาซึ่งผลลัพธ์โดยสันติภาพ เป็นการเคราะห์ดีสำหรับประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทย ที่มีบุคคลประเภทนี้คอยรับใช้ในขณะที่เขาจะทำประโยชน์ให้มากที่สุดแก่ประเทศทั้งสอง อาศัยบุคคลดังกล่าว เพลิงที่กำลังคุกคามก็ได้ถูกจำกัดลงอย่างรวดเร็ว อาศัยความฉลาดของเขา เพลิงนั้นต้องถูกดับมอดลงก่อนที่จะได้ทำความเสียหายอย่างใหญ่หลวง

แต่ก็ต้องถือว่า เพื่ออนาคตเป็นต้นที่ประเทศทั้งสองจะต้องชมชื่นในการเสียสละ และเจตนารมณ์ในความปรองดองของผู้เริ่มงานของคนประเภทนี้ เพราะว่าแม้สะเก็ดแผลต่าง ๆ ที่เพิ่งได้รับเมื่อเร็วๆ มานี้จะยังปวดแสบเพียงใดก็ตาม ก็ต้องทำให้ความโอดครวญและความพยายาทใด ๆ สิ้นสุดลง มุ่งขีดไปแต่ในเกณฑ์อันใหญ่หลวง อันเกี่ยวกับการก่อสร้างซึ่งจะต้องเริ่มดำเนินไปแต่บัดนี้

บุคคลอันเต็มไปด้วยความเจตนาดีเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้เหตุการณ์ดำเนินไปได้ดังกล่าว

ประชาชาติเช่นเดียวกันกับเอกชน จะดำรงอยู่ในความไม่ไว้ใจ และความเกลียดชังอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นไม่ได้ คงมีวันหนึ่งที่จะต้องสร้างบ้านแห่งสันติภาพ เหนือสิ่งที่พังทลายอันเกิดจากสงคราม คงจะมีวันหนึ่ง ซึ่งการงานอันได้ผลมาแทนที่การงานอันไร้ผลแห่งการผลาญทำลาย ซึ่งความเจตนาที่และการร่วมมือของประชาชาติต่างๆ ต้องล้มเลิก เนื่องจากความรุนแรงแห่งความเห็นแก่ตนที่ไร้ประโยชน์ อันเป็นเครื่องผลักดันให้ปะทะซึ่งกันและกัน

และเมื่อวันนั้นจะมาถึง ก็จะเป็นหน้าที่ของบุคคลต่าง ๆ ซึ่งมิได้ละเว้นที่จะประสานงานระหว่างค่ายนี้และค่ายโน้น ในความร่มเย็นและความสงัด ซึ่งจะต้องจัดการให้ปรองดองกันในอนาคตและจะเป็นการเหมาะสมที่จะขอร้องบุคคลเหล่านั้นให้เชื่อมลูกโซ่แห่งมิตรภาพที่ขาดสะบั้นไปให้กลับสู่สภาพเดิม ในยามที่เกิดบาดหมางกันชั่วคราว ซึ่งเป็นที่น่าวิตกที่สุด เป็นการเคราะห์ที่สำหรับอินโดจีนและประเทศไทย ที่แต่ละฝ่ายมีบุคคลที่รู้สู่ทางคาดคะเนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และทำให้เหตุการณ์ดีอย่างเดิม ทั้งนำมาสู่สภาพเดิมอย่างไม่เอิกเกริก ซึ่งการสัมพันธ์ฉันมิตรและความไว้ใจซึ่งกันและกัน อันน่าจะต้องเป็นระบอบปรกติระหว่างเพื่อนบ้านทั้งสอง ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันมากมายผูกมัดอยู่

มองสิเออร์ การ์โรฝ่ายฝรั่งเศส นายดิเรก ฝ่ายไทย ได้เข้าใจว่าการที่จะให้การต่อสู้ระหว่างประเทศของเขาทั้งสองดำเนินต่อไปนั้น จะไม่นำผลดีมาสู่แต่ละฝ่ายเลย เขามิได้เคยละเว้นที่จะร่วมงานกัน เพื่อจะให้การต่อสู้นั้นสิ้นสุดลงโดยเร็วที่สุดที่จะพึ่งเร็วได้ บัดนี้ เขาได้รับการตอบแทนในความยากเย็น และความพยายามของเขาแล้ว เพราะว่าการงานแห่งสันติภาพซึ่งเขาได้มุ่งหน้าเจาะจงจะปฏิบัติกำลังจะเข้ารูป และคงดำเนินไปอย่างไม่มีที่สะดุดกกนั้นเพื่อไปสู่ความสำเร็จอันรวดเร็ว

ต้องรู้สึกขอบใบุคคลที่ทำงานเพื่อเห็นแก่สันติภาพเหล่านั้นที่มิได้ท้อถอยเลย และได้อยู่ร่วมงานกันในความหวังในอนาคตที่ประกอบด้วยความสุขยิ่งขึ้น เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นสำหรับประเทศของเขา แต่ละฝ่าย

ขอให้มิตรภาพเดิมได้ผลิดอกออกผลเสียใหม่เช่นเดิมในเร็ววันระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งมีผลประโยชน์รวมอย่างมากมาย ควรจะเป็นเครื่องกระตุ้นเสียแต่บัดนี้ ให้ประสานงานกันอย่างจริงใจเท่าที่จะกระทำได้

วัลกูรต์ (Valcourt)”

ในระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับดินแดนนี้ ทูตญี่ปุ่นได้มาปรารภทางพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ว่าญี่ปุ่นคิดจะเลื่อนฐานะสถานอัครราชทูต (Legation) ขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูต (Embassy) ฉะนั้นจึงหวังว่าไทยก็คงจะเห็นด้วยและเลื่อนเช่นเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้ตอบไปว่าไม่ขัดข้อง ทางฝ่ายญี่ปุ่นชี้แจงว่า เป็นแต่เพียงความดำริ ถ้าตกลงใจเมื่อใดจะได้มาพูดจำเป็นทางราชการ เมื่อนายกรัฐมนตรีเล่าเรื่องนี้ให้ข้าพเจ้านั่ง ข้าพเจ้าได้แสดงความเห็นว่า เพื่อแสดงว่าเราไม่ลำเอียง ฉะนั้นถ้าญี่ปุ่นเสนอมาเป็นทางการจริงจังเมื่อใด เราก็ควรบอกให้อังกฤษและสหรัฐอเมริกาทราบเป็นทางการด้วย เพื่อเขาจะได้มีโอกาสบ้าง เพราะทราบกันแล้วว่า ที่ญี่ปุ่นคิดจะตั้งเอกอัครราชทูต ก็เพื่อจะได้เป็นหัวหน้าคณะทูตหรือที่เรียกกันว่าคณบดีทูต (Dean of the Diplomatic Corps) เพราะในขณะนั้น เราแลกเปลี่ยนทูตกับนานาประเทศเพียงในระดับอัครราชทูต (Minister) เท่านั้น นายกรัฐมนตรีเห็นด้วย

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ทูตอังกฤษมาพบข้าพเจ้าและแจ้งว่าได้รับโทรเลขจากเซอรโรเบิร์ตเครกกี้ (Sir Robert Craigie) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงโตเกียวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเลื่อนฐานะสถานอัครราชทูตในกรุงเทพฯ เป็นสถานเอกอัครราชทูต และได้เพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายแล้วสำหรับปีใหม่ คือ พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ทูตจึงใคร่ทราบว่าจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงจะตั้งเมื่อใดขอให้บอกให้ทูตทราบล่วงหน้าพอสมควร เพื่อได้โอกาสเท่าเทียมกันที่อังกฤษจะได้พิจารณาบ้าง มิฉะนั้นญี่ปุ่นจะชิงตั้งก่อน ข้าพเจ้าได้ตอบว่า เรื่องนี้ได้เคยบอกให้ทูตทราบมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อญี่ปุ่นมาพูดใหม่ ๆ แต่จนบัดนี้ญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้เสนอมาเป็นทางการ ทูตแสดงความพอใจ

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) สถานทูตญี่ปุ่นได้เสนอเรื่องเลื่อนฐานะอัครราชทูตเป็นเอกอัครราชทูตมาเป็นทางการ ในคณะรัฐมนตรีได้อภิปรายกันเห็นว่า ไม่น่ามีข้อขัดข้องประการใด และเห็นด้วยกับข้อเสนอของข้าพเจ้าว่า เพื่อไม่ให้อังกฤษและสหรัฐอเมริกาหาว่าเราลำเอียง ก็ควรชวนอังกฤษและสหรัฐอเมริกาให้ปฏิบัติบ้าง ในวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ข้าพเจ้าจึงเชิญทูตอังกฤษและทูตอเมริกันมาแจ้งให้ทราบโดยกล่าวว่า ที่เชิญมาทั้งนี้ก็เพื่อให้โอกาสเท่าเทียมกัน มิฉะนั้นจะหาว่าไทยลำเอียง และทูตอังกฤษเองก็เคยขอร้องไว้ และถ้าตกลงก็ควรทำเสียพร้อมกับญี่ปุ่น ทูตอังกฤษขอบคุณ รับว่าจะรีบรายงานไปยังรัฐบาล แต่ได้ให้ความเห็นส่วนตัว (เข้าใจว่า ทูตได้รับคำสั่งจากรัฐบาลไว้แล้วตั้งแต่สนทนาคราวก่อน) ว่ารัฐบาลคงไม่เดินตามรัฐบาลญี่ปุ่น ปล่อยให้ญี่ปุ่นประเทศเดียวทำไป สำหรับทูตอเมริกัน(นายแกรนต์) นั้นอธิบายยืดยาว พร้อมทั้งแนะนำว่า รัฐบาลไทยไม่ควรอ่อนแอ ควรยันไม่ตกลงโดยให้เหตุผลว่าไม่จำเป็น เพราะไทยเป็นประเทศเล็ก การตั้งสถานเอกอัครราชทูตเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ข้าพเจ้าได้ตอบว่าเรื่องนี้รัฐบาลได้ตกลงกับญี่ปุ่นไปแล้ว การที่แจ้งให้สหรัฐอเมริกาทราบก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ลำเอียง ความจริงรัฐบาลไทยไม่มีหน้าที่จะต้องแจ้งกับทูตเสียด้วยซ้ำ ในที่สุดทูตรับว่าจะรายงานไปยังรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลอเมริกันตระหนักถึงความมีแก่ใจของเราในเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศของเราได้โทรเลขสั่งไปยังทูตของเรา๔๙ที่กรุงวอชิงตัน ให้ไปแจ้งแก่นายฮัลล์รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกันทราบด้วยทำนองเหตุผลที่ข้าพเจ้าได้แจ้งกับทูตทั้งสอง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช รายงานเข้ามาว่า ได้ไปพบรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกันแล้วตามคำสั่งกระทรวง แต่พอพบรัฐมนตรี ๆ ก็ยื่นบันทึกประวัตินายเป็ก (Peck)๕๐ ขอให้มาเป็นอัครราชทูตแทนนายแกรนต์ ซึ่งจะถูกเรียกกลับ และทั้งนี้ขอให้เป็นลับ ในขณะเดียวกันรัฐมนตรีฮัลล์ได้ชี้แจงว่า การที่ขอตั้งนายเป็กเป็นเพียงอัครราชทูตนี่ไม่แปลว่าจะไม่พิจารณาเรื่องตั้งเอกอัครราชทูตตามที่รัฐบาลไทยแนะ แต่รัฐมนตรีขอแจ้งเป็นการส่วนตัวว่า คงจะสามารถปฏิบัติตามที่รัฐบาลไทยแนะมาไม่ได้ เพราะมีปัญหาโยงไปถึงประเทศเล็ก ๆ อีกหลายประเทศ ซึ่งได้แสดงความประสงค์มาเช่นเดียวกัน

ต่อมาอีกประมาณสองสามสัปดาห์ ทูตอังกฤษและทูตอเมริกันได้มาแจ้งว่า รัฐบาลทั้งสองขอขอบคุณรัฐบาลไทยในไมตรีจิต แต่รัฐบาลทั้งสองยังไม่พร้อมที่จะเลื่อนฐานะได้

สำหรับญี่ปุ่นนั้นได้ตกลงแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตกันในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) โดยรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งนายซูโยกามิ มาเป็นเอกอัครราชทูต ทางฝ่ายเราได้เลื่อนพระยาศรีเสนา อัครราชทูตประจำกรุงโตเกียวขึ้นเป็นเอกอัครราชทูต

 

  1. ๑. รัฐบาลจอมพลเจียงไคเช็ค

  2. ๒. ชื่อนายอาแซนฮังรี คนเดียวกับที่ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพกับเราที่กรุงโตเกียวเมื่อ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)

  3. ๓. นายมัทซูโอกาผู้นี้ คือ ผู้แทนญี่ปุ่นในการประชุมสันนิบาตชาติดังกล่าวข้างต้น ต่อมาได้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยในกรณีพิพาทระหว่างเรากับฝรั่งเศส และในที่สุดได้ลงนามในฐานะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยด้วยในอนุสัญญาสันติภาพ

  4. ๔. น่าขันมาก ตามความตกลงนี้ก็แปลว่า ไม่ได้เคารพบูรณภาพอาณาเขตอย่างใดอยู่แล้ว อนึ่ง ในขณะนั้นทางไทยเราไม่ทราบรายละเอียดของสัญญานี้ เป็นแต่ทราบเลา ๆ ว่าฝรั่งเศสยินยอมให้ญี่ปุ่นมีสิทธิพิเศษในการทหารในอินโดจีน

  5. ๕. Memoirs ของ Cordell Hull เล่มหนึ่งหน้า ๙๐๔-๙๐๗

  6. ๖. ดูหนังสือแลกเปลี่ยนในภาคผนวก

  7. ๗. ดูความเห็นรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเสนอต่อรัฐบาลอเมริกันในตอนหลังของบทนี้ สนับสนุนความคิดนี้ นายพลเรือเคอคูซ ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน ได้เขียนหนังสือภายหลังสงคราม ประณามทูตอังกฤษในกรุงเทพ ฯว่า จะเอาอินโดจีนบูชายัญให้ไทย เพื่อประโยชน์ของอังกฤษ

  8. ๘. ระเบียบใหม่ในเอเชียหมายความอย่างไร ให้ดูหนังสือการทูต เล่มหนึ่ง หน้า ๗๐๘-๗๑๒

  9. ๙. ทูตผู้นี้เพิ่งมาถึง ชื่อนายแกรนต์ (Grant)

  10. ๑๐. อุปทูตญี่ปุ่นในขณะนั้น คือ นายอาซาดา (Asada) โดยปรกติ ทูตญี่ปุ่นหรืออุปทูตญี่ปุ่นไม่ค่อยมาพบข้าพเจ้า แต่พบกับพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับข้าพเจ้านั้นพบแต่ทูตอังกฤษ ทูตอเมริกัน และทูตชาติอื่น ๆ

  11. ๑๑. ดูหนังสือ Glad Adventure ของพระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre) หน้า ๙๕-๑๒๗

  12. ๑๒. ถึงอนิจกรรมแล้ว

  13. ๑๓. ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพลโท และถึงอนิจกรรมแล้ว

  14. ๑๔. ต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

  15. ๑๕. ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว

  16. ๑๖. ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพลโท และถึงอนิจกรรมแล้ว

  17. ๑๗. พระพหิทธานุกร ปัจจุบันถึงอนิจกรรมแล้ว

  18. ๑๘. นายโบดวง (Baudoin)

  19. ๑๙. ดูหนังสือแลกเปลี่ยนในภาคผนวก

  20. ๒๐. นายกรูว์ (Grew)

  21. ๒๑. นายอาแซน ฮังรี

  22. ๒๒. นายโอฮาชิ

  23. ๒๓. Records of International Military Tribunal, Far East, Tokyo, 1946-8 หน้า ๖๕๓๑-๒

  24. ๒๔. เราทำกติกาสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศสก่อนฝรั่งเศสทำสัญญายอมแพ้กับเยอรมันนีประมาณ ๑๐ วันเท่านั้น

  25. ๒๕. ปาฐกถาเรื่อง “เขตแดนของรัฐ” ซึ่งข้าพเจ้าแสดงที่กรมโฆษณาการเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) หน้า ๓๗-๔๕

  26. ๒๖. โดยที่การเจรจาวันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ข้าพเจ้าได้ขอให้นาวาเอก พระเรียมวิรัชชพากย์ อธิบดีกรมพิธีการในขณะนั้น มาเป็นล่ามและทำบันทึก

  27. ๒๗. เรื่องนี้ ทางการฝ่ายเราได้ดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานทางฝ่ายไทยเสร็จแล้ว และได้ร่วมมือกับนายแพทย์ฝรั่งเศสชันสูตรพลิกศพผู้ตายซึ่งนำกลับมาหนองคาย และได้ส่งเจ้าพนักงานฝ่ายไทยไปร่วมการสอบสวนกับฝ่ายฝรั่งเศสที่เมืองเวียงจันทน์ และข้าหลวงประจำจังหวัดได้มีหนังสือชี้แจงหลักฐานการสอบสวนของฝ่ายไทยไปยังฝ่ายฝรั่งเศส พร้อมทั้งขอค่าทำขวัญให้ครอบครัวนายจันทา (ดูคำชี้แจงกรมโฆษณาการลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๘๓)

  28. ๒๘. ประกาศกรมโฆษณาการ วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓

  29. ๒๙. ดูหนังสือแลกเปลี่ยนในภาคผนวก

  30. ๓๐. ข่าวกรมโฆษณาการ วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓

  31. ๓๑. ภายหลังสงคราม ได้เป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสที่โปแลนด์ และอยู่ในคณะผู้แทนฝรั่งเศส ในการประชุมสหประชาชาติ เมื่อออกจากราชการแล้วในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ (ค.ศ. ๑๙๕๖) เดินทางไปเป็นแขกของรัฐบาลจีนเจียงไคเช็คที่ไทเป ได้แวะเยี่ยมกรุงเทพ ฯ และยังได้มาเยี่ยมข้าพเจ้า และขอบคุณข้าพเจ้าในการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมแก่เขาระหว่างมีการรบพุ่ง

  32. ๓๒. ในที่สุด รัฐบาลฝรั่งเศสได้แจ้งการแต่งตั้งเป็นอุปทูตมา ในราวปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) คืออีก ๒ สัปดาห์ต่อมา

  33. ๓๓. ถูกรัฐบาลอเมริกันเรียกกลับในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) และรัฐบาลอเมริกันแต่งตั้งทูตคนใหม่ชื่อ นายเป็ก ซึ่งเป็นผู้ที่เห็นอกเห็นใจไทยมาก ดูเรื่องนายเป็กในบทที่ ๖ ของภาคนี้ นายแกรนต์เป็นนักการเมือง ส่วนนายเป็กเป็นข้าราชการทูตโดยอาชีพ

  34. ๓๔. เรื่องสหรัฐอเมริกายึดเครื่องบิน ที่เราสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกา และมาถึงเกาะฟิลิปปินส์แล้ว สหรัฐอเมริกาสั่งกักไว้ ให้อ่านบทที่ ๕ ในภาคนี้

  35. ๓๕. หนังสือ Japan’s New Order in East Asia ของ F.C. Jones หน้า ๒๓๔

  36. ๓๖. Foreign Relations of the United States, 1941 Volume 1, The Far East, หน้า 2-5

  37. ๓๗. ดู Foreign Relations of the United States, 1941, Vol. V, The Far East, หน้า 10-11

  38. ๓๘. ความจริงทูตอังกฤษยังไม่ได้เสนออย่างใดเลย เป็นแต่ในการสนทนาได้แย้มพรายเพียงว่า อังกฤษกำลังปรึกษากับสหรัฐอเมริกาอยู่ กับให้ดู Japan’s New Order in East Asia 1937–45 ของ F.C. Jones หน้า 236

  39. ๓๙. ในหนังสือ L’Indochine ของนายพลเรือเอกเดอกูซ ว่า ญี่ปุ่น เสนอครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐)

  40. ๔๐. ดูเรื่องญี่ปุ่นเจรจากับอินโดจีนฝรั่งเศสข้างต้น

  41. ๔๑. หนังสือ Foreign Relations of the United States, 1941, Vol. V, The Far East หน้า 34-36

  42. ๔๒. Foreign Relations of the United States, 1941, Vol. V, The Far East หน้า 44-45

  43. ๔๓. เอกสารของกรมโฆษณาการ ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๔๘๔

  44. ๔๔. ตัวบทอนุสัญญา ปรากฏในภาคผนวกข้างท้าย

  45. ๔๕. รายงานการประชุมวิสามัญ สมัยที่ ๒ ชุดที่ ๓ ณ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)

  46. ๔๖. ความพยายามของข้าพเจ้าปรากฏในหนังสือ Foreign Relations of the United States ที่อ้างข้างต้น

  47. ๔๗. นาวาเอกพระเรียมวิรัชชพากย์ อธิบดีกรมพิธีการในขณะนั้น ได้ช่วยแปลให้

  48. ๔๘. ความจริงเป็นเพียงอุปทูต

  49. ๔๙. ม.รว. เสนีย์ ปราโมช

  50. ๕๐. นายเป็กผู้นี้เข้ามาเป็นอัครราชทูตอเมริกัน แทนนายแกรนต์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ