บทที่ ๓ การคลังของไทย

ได้กล่าวแล้วว่า ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังติดต่อกันสองรัฐบาล คือ ในรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ถึง ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) นายทวี บุณยเกตุ กราบถวายบังคมลาออก และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ในวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) จนถึง ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) จึงกราบถวายบังคมลาออก เพราะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ รวมเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่กระทรวงการคลังในสองรัฐบาลห้าเดือนพอดี

ความจริง ข้าพเจ้าไม่สมัครใจที่จะมารับราชการทางกระทรวงการคลัง เพราะไม่สันทัด แต่เมื่อปรึกษากันแล้ว เห็นกันว่าข้าพเจ้าควรมาช่วยทางคลัง เพราะตอนนั้นกำลังหัวเลี้ยวหัวต่อเกี่ยวกับอังกฤษกำลังเฝ้าดูเราอย่างใกล้ชิด ดังจะเห็นได้จากข้อเสนอ ๒๑ ข้อดังกล่าวข้างต้น เฉพาะอย่างยิ่งในข้อเสนอที่จะเข้ามาควบคุมนโยบายการคลังและการเงิน ว่าเราจะใช้จ่ายเงินอย่างใดด้วย ส่วนด้านการต่างประเทศก็ตกลงมอบให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี รับไปอีกด้วย ทำนองเดียวกัน

วันแรกที่ข้าพเจ้าไปรับราชการที่กระทรวงการคลัง ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเฝ้า ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยยันต์ ที่ปรึกษากระทรวงการคลังในขณะนั้น ข้าพเจ้าได้ทูลขอให้พระองค์ท่านประทานบันทึกข้อ เท็จจริงเกี่ยวกับสถานะการคลังและการเงินโดยด่วน เพื่อข้าพเจ้าจักได้นำเสนอให้รัฐบาลพิจารณา พระองค์ได้ทรงพระอุตส่าห์ประทานบันทึกได้โดยเร็ว ทรงบันทึกชัดเจนแจ่มแจ้งมาก ซึ่งข้าพเจ้าขอขอบพระคุณพระองค์ท่านไว้ด้วย ณ ที่นี้ โดยที่บันทึกนี้น่าอ่าน เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ทรงแสดงให้เห็นว่า เมื่อเสร็จสงครามแล้ว ฐานะในด้านการคลังและการเงินตกอยู่ในภาวะคับขันมากและยุ่งยากยิ่งกว่าในสมัยใด ๆ บันทึกนี้แม้จะได้เคยพิมพ์ลงในหนังสือวิวัฒนไชยานุสรณ์ แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระองค์ท่านมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ก็ตาม แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การศึกษา จึงขอนำมาลงในที่นี้อีก ในคำนำหน้าบันทึกที่ประทานแก่ข้าพเจ้า ได้ทรงเขียนไว้ว่าพระองค์ท่านเสียพระทัยว่า ภาพที่เสนอมานี้ไม่เป็นภาพที่งดงาม แต่ก็มั่นใจว่าเป็นภาพที่แสดงความจริง

สถานการณ์คลังปัจจุบัน

(คำนำ)

๑. การคลังในขณะนี้ตกอยู่ในภาวะคับขันมากยิ่งกว่าในสมัยใด ๆ สถานการณ์ปัจจุบันสรุปลงได้ย่อ ๆ ว่า เงินรายได้ไม่พอจ่ายมาหลายปี งบประมาณปีปัจจุบันก็ไม่เป็นดุลยภาพ มีหนี้เป็นจำนวน มากซึ่งจะถึงกำหนดต้องชำระในปีนี้ปีหน้า เงินมีค่าลดต่ำลงเป็นลำดับ และสมรรถภาพและศีลธรรมของข้าราชการเสื่อมลง

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์กันทั้งสิ้น กล่าวคือ ตราบใดที่งบประมาณไม่เป็นดุลยภาพ และรัฐบาลจ่ายเงินเกินกว่ารายได้ ก็ต้องกู้เงินและพิมพ์ธนบัตรเพื่อใช้จ่ายเรื่อยไป การกระทำเช่นนี้เป็นเหตุอันหนึ่งที่บังคับให้ค่าของเงินตกต่ำไม่หยุด และหนี้ก็งอกขึ้นด้วย อนึ่ง ตราบใดที่ค่าของเงินยังตกไม่หยุด จะจัดงบประมาณให้เป็นดุลยภาพก็ไม่ได้ เพราะรายจ่ายย่อมพองขึ้นไม่หยุดเหมือนกัน

ต่อไปนี้จะได้เสนอข้อเท็จจริงและตัวเลขเพื่อแสดงให้เห็นสถานการณ์โดยชัดแจ้ง

(๒) รายได้รายจ่ายจริง พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๗

๒. รายได้รายจ่ายจริงตั้งแต่ ๒๔๘๐ ถึงสิ้น ๒๔๘๗ ปรากฏดั่งต่อไปนี้

ปีงบประมาณ รายได้ รายจ่าย รายได้ ต่ำกว่า – สูงกว่า + รายจ่าย

 

บาท

บาท

บาท

2480

109,412,310

125,940,867

– 16,528,557

2481

118,351,387

132,913,013

– 14,561,676

เม.ย. – ก.ย. 2482

59,611,536

74,198,340

– 14,586,804

ต.ค. 82 – ก.ย. 83

146,478,068

161,480,147

– 15,002,079

ต.ค 83 – ธ.ค. 83

37,180,468

28,419,181

+ 8,761,287

2484

161,064,608

198,411,870

– 37,347,262

2485

142,154,471

198,711,420

– 56,556,949

2486

176,733,761

249,055,953

– 72,322,192

2487

267,413,378

363,731,217

- 96,317,839

๓. รายจ่ายที่เกินกว่ารายได้นั้น ในปีต้น ๆ ได้จ่ายจาก (ก) เงินคงคลัง คือเงินเหลือจ่ายในปีก่อน ๆ สะสมไว้ในคลัง และ (ข) เงินสำรองใช้หนี้เงินกู้ คือรายได้ที่กันไว้ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๔ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศให้หมดสิ้นก่อนกำหนด ครั้นเมื่อเงินสองรายนี้หมดไปแล้ว รายจ่ายที่เกินกว่ารายได้นั้น ก็ได้จ่ายจากเงินกู้สาธารณะ หรือจากเงินที่กู้จากธนาคารแห่งประเทศไทย

๔. เงินกู้สาธารณะที่กู้เพื่อการใช้จ่ายที่กล่าวนั้นมีอยู่ด้วยกันสองราย คือ

(ก) เงินกู้ช่วยชาติ ๒๔๘๓

ดอกเบี้ยร้อยละ ๒

ต้นเงิน

๓,๒๘๗,๘๖๐ บาท

(ข) เงินกู้เพื่อชาติ ๒๔๘๕ (พันธบัตรทองคำ)

ดอกเบี้ยร้อยละ ๓

ต้นเงิน

๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

 

รวม

๓๓,๒๘๗,๘๖๐ บาท

๕. การกู้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ใช้วิธีออก พันธบัตรคลัง ตามกฎหมายระบบเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พันธบัตรเหล่านี้ เมื่อธนาคารได้รับไว้แล้ว ก็เครดิตบัญชีกระทรวงการคลังเท่าราคาพันธบัตร เมื่อคลังถอนเงินไปใช้จ่าย และเงินสดของธนาคารลดน้อยลง ธนาคารที่โอนพันธบัตรจากฝ่ายการธนาคารใปให้ฝ่ายออกบัตรธนาคาร แล้วจำหน่ายธนบัตรแลกเปลี่ยนกับพันธบัตรเหล่านั้น การ ออกพันธบัตรคลังจึงเท่ากับพิมพ์ธนบัตรออกมาสำหรับรัฐบาลใช้จ่าย และเป็นผลให้ค่าของเงินตกต่ำ

เมื่อ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๗ มีพันธบัตรคลังที่ออกไปแล้ว ๑๖๗,๙๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งถึงกำหนดต้องใช้เงินคืนใน ๒๔๘๘ และ ๒๔๘๙

(๓) รายได้รายจ่าย พ.ศ. ๒๔๘๘

๖. งบประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๘ แสดงว่าจะมีรายจ่ายเกินกว่ารายได้ถึง ๑๓๘,๓๗๐,๑๕๕ บาท ในหกเดือนแรกของปีนี้รายจ่ายจริงสูงกว่ารายได้จริงประมาณ ๒๖ ล้านบาทเท่านั้น แต่ก็คาดว่าถ้าไม่ตัดรายจ่ายลงให้มากในขณะนี้ รายจ่ายจริงทั้งปีคงจะสูงกว่ารายได้จริงไม่น้อยเลย และอาจจะสูงกว่ากันเท่า ๆ ที่คำนวณไว้ในงบประมาณก็ได้ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าในงบประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๘ นั้น ได้ตั้งรายจ่ายโดยไม่ได้คำนึงว่าค่าของเงินตกไม่หยุด เงินที่ตั้งไว้สำหรับการใช้จ่ายทั้งปี บางกระทรวงจึงได้จ่ายไปหมดสิ้นภายในเวลาไม่กี่เดือน นอกจากนี้บางกระทรวงยังมีรายจ่ายนอกเหนืองบประมาณอยู่อีก

๗. รายจ่ายที่เกินกว่ารายได้ในปีนี้ ได้จ่ายจาก (ก) เงินกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้กู้โดยวออกพันธบัตรคลังดั่งกล่าวแล้วในข้อ ๕ และ (ข) เงินกู้จากธนาคารต่าง ๆ ซึ่งกู้โดยวิธีออก ตั๋วเงินคลัง อนึ่ง กระทรวงการคลังกำลังดำริจะออกเงินกู้สาธารณะอีกครั้งหนึ่ง ก็พอดีที่สงครามหยุดลง และรัฐบาลลาออก เรื่องจึงค้างพิจารณาอยู่

(๔) หนี้สาธารณะ

๘. หนี้สาธารณะมีอยู่ ๓ ลักษณะ คือ (ก) หนี้เงินกู้เป็นปอนด์สเตอร์ลิงก์ซึ่งเป็นหนี้เก่าค้างชำระอยู่ (ข) หนี้ที่เกิดขึ้นเพราะรายได้ไม่พอจ่าย ดั่งกล่าวแล้วข้างบนนี้ และ (ค) หนี้เงินกู้เพื่อกิจการบางอย่างโดยเฉพาะ เช่นเพื่อจัดการสหกรณ์เป็นต้น

๙. เงินกู้ต่างประเทศค้างชำระเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๘ มีจำนวนต่อไปนี้

 

  เงินค้าง
  ต้นเงิน ดอกเบี้ย
  ปอนด์ ปอนด์
เงินกู้ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ปอนด์    
ค.ศ. ๑๙๐๗

๘๘๖,๒๐๐-๐-๐

๑๔๔,๖๙๐-๖-๐

เงินกู้ ๕,๖๓๐,๐๐๐ ปอนด์

 

 

ค.ศ. ๑๙๐๙

๑,๙๕๐,๓๘๘-๙-๒

๓๖๗,๑๐๗-๖-๒

เงินกู้ ๒,๓๔๐,๐๐๐ ปอนด์

 

 

ค.ศ. ๑๙๓๖

๒,๐๘๖,๖๐๐-๐-๐

๑,๑๔๐,๖๗๑-๑-๐

 

๔,๙๒๓,๑๘๘-๙-๒

๑,๖๕๒,๔๖๘-๑๓-๒

๑๐. หนี้ที่เกิดเพราะรายจ่ายเกินกว่ารายได้ ค้างชำระเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๘ ตามจำนวนต่อไปนี้

เงินกู้สาธารณะ  
เงินกู้ช่วยชาติ ๒๔๘๓ ถึงกำหนดชำระใน ๒๔๙๓

๓,๑๑๙,๓๖๐ บาท

เงินกู้เพื่อชาติ ๒๔๘๕ ถึงกำหนดชำระใน ๒๔๙๔

๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

หนี้ลอย”

 

พันธบัตรคลัง ถึงกำหนดชำระใน ๒๔๘๘-๘๙

๒๐๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท

ตั๋วเงินคลัง (อายุ ๔ เดือน)

๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

 

๒๔๕,๖๑๙,๓๖๐ บาท

๑๑. หนี้เงินกู้เพื่อกิจการบางอย่างโดยเฉพาะ ค้างชำระ เมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๘ ตามจำนวนต่อไปนี้

เงินกู้เพื่อสหกรณ์ ๒๔๘๓

๑๙,๑๙๙,๙๐๐ บาท

เงินกู้เพื่อเทศบาล ๒๔๘๓

๑๖,๙๕๔,๘๐๐ บาท

เงินกู้เพื่ออุตสาหกรรม ๒๔๘๓

๑๙,๒๓๖,๐๐๐ บาท

เงินกู้เพื่อสหกรณ์ ๒๔๘๕

๕,๘๐๐,๐๐๐ บาท

เงินกู้เพื่ออุตสาหกรรม ๒๔๘๕

๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท

   

๗๙,๑๙๐,๗๐๐ บาท

ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทนี้ คลังชำระด้วยเงินที่ได้จากสหกรณ์ เทศบาล และบริษัทหรือองค์การต่าง ๆ บรรดาที่ได้กู้เงินไปจากคลังอีกต่อหนึ่ง แต่ว่าถ้าสหกรณ์ ฯลฯ ไม่มีเงินชำระให้แก่คลัง คลังก็จะต้องหาเงินชำระให้แก่ผู้ถือพันธบัตร

(๕) ค่าของเงิน

๑๒. การตกต่ำแห่งค่าของเงินนั้น พอวัดได้ด้วยระดับราคาสินค้าและอัตราค่าครองชีพ สถิติมีอยู่เพียงธันวาคม ๒๔๘๗ และปรากฏดั่งต่อไปนี้

ธันวาคม ๒๔๘๔ = ๑๐๐

เดือนปี ราคาขายส่ง อัตราค่าครองชีพ
(กระทรวงพาณิชย์) (หอการค้าญี่ปุ่น)
ธันวาคม ๒๔๘๕ ๑๑๑ ๑๓๓ ๒๐๖
ธันวาคม ๒๔๘๖ ๑๕๒ ๒๑๙ ๓๓๒
ธันวาคม ๒๔๘๗ ๒๑๔ ๓๖๒ ๙๐๕

(๖) สรุปความ

๑๓. การบูรณะบ้านเมืองให้กลับคืนสู่ปกติภาพ เพื่อเป็นทางนำมาซึ่งความมั่งคั่งสมบูรณ์ต่อไปนั้น จำต้องอาศัยเสถียรภาพแห่งค่าของเงินเป็นหลัก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เงินจะต้องมีค่าอันเรียกได้ว่ายืนที่มั่นคง การค้าขายและธุรกิจทั้งปวงจึงจะมีหลักดำเนินไปด้วยดี ถ้าเงินมีค่าตกต่ำอยู่ไม่หยุดยั้ง แม้แต่การปกครองบ้านเมืองก็จะกระทำให้ดีไม่ได้

๑๔. เหตุที่กระทำให้ค่าของเงินไม่เป็นเสถียรภาพนั้น มีอยู่ ๓ ประการ เรียงตามลำดับแห่งความสำคัญได้ดั่งต่อไปนี้ คือ (๑) การใช้จ่ายของทหารญี่ปุ่น (๒) รัฐบาลจ่ายเงินเกินกว่ารายได้ และ (๓) อัตราแลกเปลี่ยนบาทกับเย็น

เหตุประการที่ (๑) และที่ (๓) นั้นเกี่ยวกับการเงิน จึงได้อธิบายไว้ในบันทึกว่าด้วยสถานการณ์เงินแล้ว และบัดนี้ก็มีแต่จะหมดไป แต่เหตุประการที่ (๒) คือการจ่ายเงินเกินกว่ารายได้นั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลเองจะต้องแก้ไข

สำนักงานที่ปรึกษา กระทรวงการคลัง

๕ กันยายน ๒๔๘๘

สถานการณ์เงินปัจจุบัน

(๑) คำนำ

๑. การเงินในขณะนี้ตกอยู่ในความยุ่งยากยิ่งกว่าในสมัยใด ๆ สถานการณ์ปัจจุบันสรุปลงได้ย่อ ๆ ว่า ค่าของเงินตกต่ำลงไม่หยุดยั้ง และที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุ ๓ ประการ เรียงตามลำดับความสำคัญ คือ (ก) การใช้จ่ายของทหารญี่ปุ่น (ข) รัฐบาลจ่ายเงินเกินกว่ารายได้ และ (ค) อัตราแลกเปลี่ยนบาทกับเย็น

เหตุข้อ (ข) คือรัฐบาลจ่ายเงินเกินกว่ารายได้นั้น ได้เสนอข้อความและตัวเลขไว้ในบันทึกว่าด้วย “สถานการณ์คลังปัจจุบัน” ฉะนั้น ในบันทึกนี้จะได้เสนอข้อความและตัวเลขว่าด้วยการใช้จ่ายของทหารญี่ปุ่น และอัตราแลกเปลี่ยนบาทกับเย็น แล้วจะได้เสนอให้เห็นสถานการณ์เงินตราปัจจุบัน

(๒) การใช้จ่ายของทหารญี่ปุ่น

๒. เนื่องจากที่ได้มีกติกาพันธไมตรีกับญี่ปุ่น รัฐบาลได้ตกลงกับฝ่ายญี่ปุ่นในหลักการว่า จะจัดให้กองทัพญี่ปุ่นได้เงิน เพื่อใช้จ่ายในการทหารในประเทศไทย จำนวนเงินที่จัดหาให้นั้น ได้ตกลงกันเป็นคราว ๆ สำหรับการใช้จ่ายในระยะเวลาหกเดือนหนึ่ง ๆ การปฏิบัติตามข้อตกลงที่กระทำกันทุก ๆ ครึ่งปีนั้นได้ใช้วิธีต่อไปนี้ คือ รัฐบาลญี่ปุ่นเครดิตบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยก็เครดิตบัญชีโยโกฮามาสปีซีแบงก์ กรุงเทพฯ เป็นเงินเท่ากัน เมื่อโยโกฮามาสปีซีแบงก์ถอนเงินไปใช้จ่าย และเงินสดของธนาคารแห่งประเทศไทยลดน้อยลง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฝ่ายการธนาคาร) ก็โอนเย็นให้แก่ฝ่ายออกบัตรธนาคาร แล้วจำหน่ายธนบัตรแลกเปลี่ยนกับเย็นเหล่านั้น

๓. เงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เครดิตให้โยโกฮามาสปีซีแบงก์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทหารญี่ปุ่น ตั้งแต่ธันวาคม ๒๔๘๔ ถึงมิถุนายน ๒๔๘๘ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๑,๒๓๐,๗๐๑,๐๘๓ บาท เย็นเครดิตที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับเป็นการแลกเปลี่ยนกันนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยอมให้ใช้ซื้อทองคำได้บ้าง ตัวเลขเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๘ จึงปรากฏดังต่อไปนี้

บาทที่ได้เครดิตให้เพื่อกองทัพญี่ปุ่น

เย็นเครดิตที่ได้รับ

(หักที่ได้จ่ายในการซื้อทองคำออกแล้ว)

ทองคำที่ได้ซื้อ
ปริมาณ ราคา
บาท เย็น กรัมบริสุทธิ์ เย็น
1,230,701,083 1,106,699,988 25,838,433.8 124,001,095

๔. การจัดให้กองทัพญี่ปุ่นมีเงินใช้จ่ายดังกล่าวแล้วนั้น เป็น การบังคับให้เครดิตธนาคารต้องขยายตัว ธนบัตรที่จำหน่ายจึงต้อง เพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อเงิน (คือเครดิตและธนบัตร) เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณสินค้าและบริการไม่ได้เพิ่มขึ้นด้วยตามส่วน ค่าของเงินย่อมตกต่ำลง หรืออีกนัยหนึ่งระดับราคาสินค้าต้องสูงขึ้น

(๓) อัตราแลกเปลี่ยนบาทกับเย็น

๕. เมื่อเมษายน ๒๔๘๕ รัฐบาลต้องลดค่าของบาทลงราวร้อยละ ๓๖ และต้องดำรงค่านั้นไว้ให้ยืนที่อยู่เท่ากับเป็น การดำรงค่าของบาทไว้เท่ากับเย็นนั้น ได้กระทำให้การชำระเงินระหว่างประเทศเป็นอสมดุลย์ (disequilibrium) ดังจะเห็นได้จากตัวเลขต่อไปนี้

ดุลย์แห่งการชำระเงิน พ.ศ. ๒๔๘๗

เงินเข้า หรือ เครดิต เงินออก หรือ เดบิต
  บาท   บาท
๑. สินค้าและเงินที่ส่งเข้ามาเพื่อรัฐบาลและบุคคลอื่นๆ

๑๓๖,๔๙๗,๕๒๑

สินค้าและเงินที่ส่งออกไปเพื่อรัฐบาล และบุคคลอื่นๆ

๖๓,๕๘๐,๑๐๖

๒. เงินส่งเข้ามาเพื่อการใช้จ่ายทหารญี่ปุ่น

๕๑๔,๐๐๐,๐๐๐

 

 

 

๖๕๐,๔๙๗,๕๒๑

 

๖๓,๕๘๐,๑๐๖

(หมายเหตุ รายการที่ ๒. คือเงินที่ส่งเข้ามาเพื่อการใช้จ่ายทหารญี่ปุ่นนั้นได้รวมไว้ในข้อ ๓. ข้างบนนี้แล้ว ที่นำมาแสดงในตารางนี้ด้วยก็เพื่อให้ตัวเลขของดุลย์แห่งการชำระเงินนั้นเป็นตัวเลขบริบูรณ์)

๖. ตัวเลขในตารางข้างบนแสดงว่า เงินที่ประเทศญี่ปุ่นต้องชำระให้แก่ประเทศไทยมีจำนวนสูงกว่าที่ประเทศไทยต้องชำระให้แก่ประเทศญี่ปุ่น ฉะนั้น เงินบาทที่มีผู้ต้องการจากธนาคารจึงเป็นจำนวนมากกว่าเงินบาทที่ธนาคารได้มาจากผู้ต้องการเย็น เมื่อดุลย์แห่งการชำระเงินตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้ โดยปกติก็ควรขึ้นอัตราแลกเปลี่ยนบาทกับเย็น เพื่อให้การชำระเงินกลับเป็นสมดุลย์ (equilibrium) แต่เมื่อได้มีความตกลงไว้กับฝ่ายหนึ่ง ว่าจะต้องดำรงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ ๑ บาทต่อ ๑ เย็น จึงแก้ไขอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ อนึ่ง แม้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยินยอมให้ไทยควบคุมการปริวรรตเงินได้ก็ตาม แต่ก็ใช้การควบคุมเป็นเครื่องมือแก้ไขสมดุลยไม่ได้เต็มที่ เพราะมีสัญญาข้ออื่นเป็นเครื่องผูกพันอยู่ ฉะนั้น เมื่อมีผู้ต้องการเงินบาทเป็นจำนวนมากกว่าที่ธนาคารได้มา ธนาคารก็จำต้องจำหน่ายธนบัตรแลกเปลี่ยนกับเย็นอยู่เรื่อยไป นี่เป็นเหตุอีกอันหนึ่งที่กระทำให้ค่าของเงินตกต่ำลง

(๔) สถานการณ์เงินตรา

๗. เมื่อ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ สถานการณ์ธนบัตรปรากฏดั่งต่อไปนี้

  บาท   บาท
ธนบัตรที่จำหน่าย

๒๗๕,๓๓๑,๖๘๘

ทองคำ

๑๒๓,๑๑๐,๔๘๕

 

 

หลักทรัพย์สเตอร์ลิงก์

๔๑,๐๖๕,๒๒๕

 

 

ปอนด์สเตอร์ลิงก์

๑๐๖,๔๒๒,๒๓๘

 

 

เหรียญบาท

๑,๑๖๙,๘๒๕

 

๒๗๕,๓๓๑,๖๘๘

 

๒๗๑,๗๖๗,๗๗๓

ตัวเลขข้างบนนี้แสดงให้เห็นว่า เงินตราตั้งอยู่ในฐานะมั่นคงดี เพราะมีสินทรัพย์เหลว (liquid assets) เป็นทองคำและปอนด์จำนวนประมาณร้อยละ ๘๔ ของธนบัตรที่จำหน่าย

๘. เมื่อ ๓๑ สิงหาคม ๒๔๘๘ สถานการณ์ธนบัตรปรากฏดังต่อไปนี้

  บาท   บาท
ธนบัตรที่จำหน่าย   ทองคำ  

ออกใช้

๑,๗๕๙,๑๑๔,๔๙๒

ในประเทศไทย

๑๔๔,๙๐๑,๕๑๖

 

 

ในประเทศญี่ปุ่น

๑๙๔.๐๕๗,๕๗๗

ในฝ่ายการธนาคาร

๒๓๓,๕๓๕,๘๕๖

เย็น

๑,๒๘๔,๔๒๙,๙๘๘

 

 

พันธบัตรคลัง

๒๕๒,๕๐๐,๐๐๐

 

 

 

๑,๘๗๕,๘๘๙,๐๘๑

 

 

ทองคำถูกยึดในอเมริกา

๓๘,๓๙๐,๕๔๕

 

 

หลักทรัพย์สเตอร์ลิงก์และปอนด์สเตอร์ลิงก์ถูกยึดในอังกฤษ

๒๖๕,๗๕๓,๘๙๖

 

๑,๙๙๒,๖๕๐,๓๔๘

 

๒,๑๘๐,๐๓๓,๕๒๒

๙. ถ้าเทียบตัวเลขปัจจบันกับตัวเลขเมื่อ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ จะเห็นได้ว่าธนบัตรที่จำหน่ายได้เพิ่มขึ้นกว่า ๑,๗๑๗ ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๖๒๓ ที่ค่าของเงินได้ตกต่ำไปมากจึงไม่น่าประหลาดใจ อนึ่ง ควรสังเกตด้วยว่าฐานะเงินตราได้เสื่อมโทรมลงมาก สินทรัพย์เหลวมีแต่ทองคำในประเทศไทยและญี่ปุ่น ประมาณร้อยละ ๑๗ ของธนบัตรที่จำหน่ายเท่านั้น และถึงหากว่าอเมริกาและอังกฤษจะปล่อยสินทรัพย์ที่ยึดไว้ สินทรัพย์เหลวรวมทั้งสิ้น (ทองคำและปอนด์สเตอร์ลิงก์) จะมีเพียงประมาณร้อยละ ๒๗ ของธนบัตรที่จำหน่าย

(๕) ค่าของเงิน

๑๐. ได้กล่าวแล้วว่า เมื่อปริมาณแห่งเงินเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณสินค้าและบริการไม่เพิ่มขึ้นด้วยตามส่วน ค่าของเงินก็ย่อมจะเสื่อมลง ค่าของเงินมีทางพอวัดได้เป็นเลาๆ โดยอาศัยเลขดรรชนีราคาขายส่ง และอัตราค่าครองชีพเท่าที่มีอยู่ ซึ่งปรากฏดังต่อไปนี้

ธันวาคม ๒๔๘๔ = ๑๐๐

เดือนปี ราคาขายส่ง อัตราค่าครองชีพ
(กระทรวงพาณิชย์) (หอการค้าญี่ปุ่น)
ธันวาคม ๒๔๘๕ ๑๑๑ ๑๓๓ ๒๐๖
ธันวาคม ๒๔๘๖ ๑๕๒ ๒๑๙ ๓๓๒
ธันวาคม ๒๔๘๗ ๒๑๔ ๓๖๒ ๙๐๕

๕๐๕ ถ้าจะว่าตามความสังเกตทั่วไป ตัวเลขค่าครองชีพซึ่งหอการค้าญี่ปุ่นเป็นผู้จัดทำนั้น น่าจะใกล้ความจริงอยู่มาก

(๖) สรุปความ

๑๑. เสถียรภาพแห่งค่าของเงินย่อมเป็นรากฐานแห่งการบูรณะบ้านเมือง การจัดให้เงินเป็นเสถียรภาพจึงเป็นกิจการสำคัญที่สุดอันหนึ่ง เหตุที่กระทำให้เสถียรภาพเสื่อมเสียไปมีอยู่สามประการ ดังกล่าวไว้ในข้อ ๑. บัดนี้ก็ใกล้วันที่จะหมดไปแล้วสองประการ จะเหลืออยู่ก็แต่ประการเดียว คือการจ่ายเงินเกินกว่ารายได้ เหตุประการนี้อยู่ในอำนาจของรัฐบาลที่จะแก้ไขให้หมดสิ้นไปได้ และเมื่อแก้ไขได้แล้วก็จะจัดให้เงินเป็นเสถียรภาพได้

สำนักงานที่ปรึกษา กระทรวงการคลัง

๖ กันยายน ๒๔๘๘

ตามบันทึกนี้จะเห็นได้ว่า เพื่อให้ค่าของเงินบาทมีเสถียรภาพ ทรงแนะว่า อย่าจ่ายเงินเกินกว่ารายได้ ซึ่งเป็นหลักธรรมดา แต่ในขณะนั้นรายจ่ายก็ยังมีอยู่มากมาย สงครามสิ้นสุดลงแล้ว แม้ภาระเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทางทหารของญี่ปุ่นจะหมดสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ก็กลับมีภาระใหม่ขึ้นแทน คือภาระการเลี้ยงดูและร่วมมือกับทหารสหประชาชาติจำนวนมากที่เข้ามาประจำอยู่ในประเทศไทยเพื่อปลดอาวุธญี่ปุ่น ภาระชดใช้ค่าเสียหายทดแทนการส่งข้าวให้สหราชอาณาจักรโดยไม่คิดมูลค่า ดังได้กล่าวแล้วในเรื่องความตกลงสมบูรณ์แบบการฟื้นฟูภายหลังสงคราม ธนบัตรออกใช้จึงยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ต่อไป แต่อัตราที่เพิ่มขึ้นไม่สูงเท่าในระหว่างสงคราม ทางด้านทุนสำรองเงินตรานั้น เงินเย็นเป็นอันว่าหมดค่า ไม่อาจใช้เป็นทุนสำรองต่อไปได้ ทองคำที่ฝากไว้ในประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีทางจะได้คืนมา คงเหลือแต่ทองคำที่มีอยู่ในประเทศจำนวน ๓๐.๘๖ ล้านกรัมเท่านั้นที่ยังใช้เป็นทุนสำรองเงินตราได้ ส่วนทองคำในสหรัฐอเมริกาอีก ๗.๙๙๘ ล้านกรัมกับเงินปอนด์สเตอรลิงก์ และหลักทรัพย์สเตอรลิงก์ที่ถูกกักกันอยู่ในประเทศอังกฤษระหว่างสงครามรวม ๑๕.๔ ล้านปอนด์นั้น แม้ว่าจะคงใช้ได้ต่อไป แต่ก็ยังมิได้รับการปลดปล่อยู่ในทันที นอกจากนั้นก็มีพันธบัตรคลังเป็นมูลค่า ๓๐๐ ล้านบาทเศษ

เมื่อสถานะการคลังและการเงินเป็นดังกล่าว ประกอบทั้งสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศของไทยเราในเวลานั้น (คือเสร็จสงครามใหม่ ๆ และกำลังเจรจากับอังกฤษและขึ้นอยู่) เฉพาะอย่างยิ่ง อังกฤษกำลังเฝ้าดูเราอย่างใกล้ชิดในเรื่องนโยบายการเงินและการทหารดังจะเห็นได้จากข้อเรียกร้อง ๒๑ ข้อดังกล่าว นโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นคือรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จึงมีว่า ต้องประหยัดเท่าที่จะทำได้ และประพฤติเจียมตัว ให้เขาสงสาร เห็นอกเห็นใจ โดยไม่ให้ทุกกระทรวงเพิ่มงบประมาณ และรายการใด ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าไม่จำเป็นก็ให้ตัดทอนได้ คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้วางนโยบายโดยอาศัยฐานะการคลังและการเงินซึ่ง ม.จ.วิวัฒนไชย ไชยยันต์ ทำบันทึกเสนอดังกล่าวข้างต้น พร้อมทั้งคำนึงถึงการที่จะต้องให้ข้าวถึง ๑ ๑/๒ ล้านตันแก่สัมพันธมิตรเปล่าๆรวมทั้งภาวะการเมืองระหว่างประเทศดังกล่าว โดยการทำงบประมาณ (๑) ให้จัดดุลยแห่งรายได้กับรายจ่าย ซึ่งหมายความว่ารายจ่ายปรกติจะต้องเป็นรายจ่ายประจำ ได้แก่เงินเดือนและค่าใช้สอย (๒) การบูรณะซ่อมแซมความเสียหายยัจจุบัน จะให้ทำพอใช้กันไปพลางก่อน (๓) ส่วนการบูรณะฟื้นฟูประเทศอันหมายความว่าหนักไปในทางก้าวหน้า ให้ทำเป็นโครงการพิเศษเสนอคณะรัฐมนตรี โดยใช้งบประมาณพิเศษ ซึ่งอาจจะจัดหารายได้จากการกู้เงินเป็นต้น และ (๔) ทุกกระทรวงจะต้องใช้จ่ายงบประมาณทั้งหลายโดยประหยัดที่สุด อนึ่ง เพื่อกันไม่ให้รัฐบาลอังกฤษบีบเราในเรื่องข้อเสนอว่า การตั้งนโยบายการเงินของไทยต้องเป็นไปตามคำแนะนำของผู้แทนสัมพันธมิตร และเนื่องจากเราจะต้องอาศัยอังกฤษในเรื่องการเงินอีกหลายเรื่อง รัฐบาลได้ตกลงเรียกนายดอลล์ ที่ปรึกษาการคลัง ซึ่งต้องออกไปจากประเทศไทยเพราะเกิดสงคราม กลับเข้ามาสู่ตำแหน่งเดิม ในขณะเดียวกัน เพื่อให้บุคคลหลายประเภท เข้ามาช่วยชาติบ้านเมือง ในระยะวิกฤตกาลดังกล่าว รัฐบาลได้ตั้งกรรมการขึ้นสองชุด ๆ หนึ่งเรียกว่า กรรมการรายได้รายจ่าย ประกอบด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นประธาน ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย นายเล้ง ศรีสมวงศ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายทวี ตะเวทิกุล นายทองอิน ภูริพัฒน์๑๐ นายเตียง ศิริขันธ์๑๑ พระยาไชยยศสมบัติ๑๒ พระยาศรีวิสารวาจา๑๓ นายพิชาญ บุลยง๑๔ ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง (พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย) อธิบดีกรมบัญชี กลาง อธิบดีกรมสรรพสามิตต์ อธิบดีกรมสรรพากร ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นายทองเปลว ชลภูมิ๑๕ นายบุญมา วงศ์สวรรค์๑๖ เป็นเลขานุการ

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้ตั้งกรรมการอีกชุดหนึ่ง เรียกว่า กรรมการพิจารณารวบรวมงบประมาณประจำปี พ.ศ. ๒๔๘๙ มีนายกรัฐมนตรี๑๗เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง๑๘รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง๑๙ ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง๒๐ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร พระยาไชยยศสมบัติ พระยาศรีราชโกษา๒๑ พระยาทรงสุรรัชต์๒๒ นายทองอิน ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันท์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง๒๓ เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการได้ดำเนินงานอย่างดีที่สุดเพื่อชาติในส่วนรวม การตัดการใช้จ่ายเท่าที่เห็นว่าพอตัดได้โดยคำนึงถึงสถานการณ์ในขณะนั้น ทั้งด้านการเมืองภายนอกและภายใน และความต้องการของประเทศชาติ

ปัญหาการแก้ไขสถานการณ์นี้ หนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ฉบับวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ได้ตีพิมพ์ดังต่อไปนี้

ร.ม. คลังแถลงวิธีแก้ไขสถานะการเงิน

จะปรับงบประมาณเข้าสู่ดุลยภาพ

เร่งบูรณะระบบเงินตราเร็วที่สุด

ในระยะเวลาต่อไปนี้ เราจะเทียบระดับการเงินของเรากับของนานาชาติอย่างไร ? รัฐบาลมีหนทางจะแก้ไขภาวะเงินเฟ้อที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้อย่างไรบ้าง? ทำอย่างไรจึงจะดูดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในท้องตลาดขณะนี้กลับคืนคลังเสียบ้าง เพื่อทำให้อำนาจซื้อของเรามีน้ำหนักมากขึ้น? รัฐบาลดำริจะพิมพ์ธนบัตรใหม่ให้ราษฎรเอาธนบัตรเก่าไปแลกหรือไม่? และจะให้แลกในราคาเดิมหรือลดราคาธนบัตรเก่าลง? รัฐบาลลงมือดำเนินการเจรจาปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไรแล้วหรือยัง? เครดิตและผลประโยชน์ของเราในญี่ปุ่นได้รับความกระทบกระเทือนอย่างไรหรือไม่? ในการหารายได้ให้ดุลย์รายจ่าย รัฐบาลจะเพิ่มภาษีอากรขึ้นอีกหรือไม่?

ร.ม. คลังเฉลย

เหล่านี้เป็นปัญหาเกี่ยวแก่การเงินของประเทศที่บรรจุอยู่ในคำอภิปรายซักถามรัฐบาลของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันรัฐบาลแถลงนโยบายเพื่อรับความไว้วางใจจากสภาฯ นั้น เมื่อสรุปรวมยอดแล้วก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับว่า รัฐบาลจะแก้ไขความยุ่งยากแห่งสถานะการเงินของประเทศอย่างไรบ้าง นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ตอบปัญหาเหล่านี้โดยตลอด

ท่านรัฐมนตรีกล่าวว่าความยุ่งยากแห่งสถานะการคลังของเรานั้นเป็นเพราะ

๑. ทหารญี่ปุ่นเข้ามาประจำอยู่ในประเทศไทย จำเป็นต้องใช้เงินของไทยจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ

๒. เราถูกบังคับให้เทียบเงินบาทเท่ากับเงินเยน

๓. สถิติรายจ่ายของเราสูงกว่ารายได้

ทรัพย์สมบัติของเรา

สำหรับเหตุข้อ ๑ กับข้อ ๒ นั้นเกี่ยวข้องกันดังนี้ คือว่าการจ่ายเงินของเราให้ญี่ปุ่นจับจ่ายใช้สอย ไม่ใช่ทำอย่างวิธีเอาเงินให้กู้ แต่ทำโดยวิธีเปิดบัญชีโอนเงินให้กัน ในการนี้ธนาคารชาติของเราเปิดบัญชี ให้แก่ธนาคารโยโกฮามาสเปซีแบงก์ของญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ในขณะเดียวกันธนาคารในญี่ปุ่นก็เปิดบัญชีให้เรา เมื่อฝ่ายญี่ปุ่นต้องการเงิน ญี่ปุ่นก็โอนเงินเยนเข้าบัญชีของเรา เท่าจำนวนเงินบาทที่เราจ่ายจากบัญชีของเราไปเข้าบัญชีญี่ปุ่น เดี๋ยวนี้เจ้าหน้าที่ได้สำรวจเงินเยนของเราในญี่ปุ่นแล้วมีจำนวน ๑,๕๖๕,๕๓๘,๔๔๙ เยน นอกจากการโอนเงินแล้วเราได้เปิดการเจรจาเปลี่ยนเงินเป็นทองคำอีกอย่างหนึ่ง และโดยวิธีนี้ ในขณะนี้เรามีทองคำอยู่ในญี่ปุ่นหนัก ๓๘ ล้านกรัม เป็นราคาประมาณ ๑๙๐,๐๐๐,๐๐๐ เยน โดยคิดราคา ๘๖ บาท ต่อทองหนัก ๑ บาท ทั้งหมดนี้เป็นสมบัติของเราทั้งนั้น บัดนี้เราได้แจ้งความไปยังสหประชาชาติ ขอให้ช่วยป้องกันทรัพย์สมบัติและผลประโยชน์ของเราในญี่ปุ่นด้วยแล้ว

จงเข้มแข็ง

บัดนี้เหตุ ๒ ข้อข้างต้นก็ได้สิ้นไปแล้ว ยังเหลือแต่ข้อที่เราจะแก้ไขเยียวยากันต่อไป ในการที่จะแก้ไขอันนี้ ท่านรัฐมนตรีชี้แจงว่าเราจำเป็นจะต้องบูรณะระบบเงินตราของเราเสียก่อน ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนเป็นที่ตั้ง ขอให้ประชาชนจงเข้มแข็งและอดทนในอันที่จะพยายามทำให้สถานะการเงินของเราดีขึ้น เรื่องทุนสำรองนั้นเป็นอันไม่ต้องวิตก ท่านรัฐมนตรีรับรองว่าทุนสำรองของเรามีอยู่ ๑๐๐% เต็ม ขอแต่ให้ประชาชนจงเข้มแข็งให้จริงจังเท่านั้น

เงินเฟ้อ

ท่านรัฐมนตรีรับว่า ที่ว่าเงินเฟ้อเพราะเราพิมพ์ธนบัตรจำนวนมากนั้น อาจเป็นจริงอยู่บ้าง แต่เราก็มิได้พิมพ์ธนบัตรเกินทุนสำรองไปเลย และการที่อำนาจซื้อของเราเบาลง ก็มิได้เป็นเพราะว่าเงินเฟ้ออย่างเดียว หากแต่เป็นเพราะว่าของเรามีปริมาณน้อยลง ประกอบกันอีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี ท่านรัฐมนตรีสัญญาว่าจะพยายามทำให้งบประมาณเข้าสู่ดุลยภาพโดยเร็วที่สุดและจะบูรณะระบบเงินตราของเราให้ได้ผลดีที่สุด และเร็วที่สุดด้วย

ในการเทียบอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศนั้น เรายังจะจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดลงไปในขณะนี้หาได้ไม่ เพราะว่าไม่ใช่เรื่องของเราโดยเฉพาะ เราจะต้องเจรจากับสหประชาชาติเทียบกำลังการซื้อกันเสียก่อน ตามเงื่อนไขการตกลงที่เบรเตนวูดซึ่งจะได้ประชุมตกลงวางหลักเสถียรภาพแห่งเงินระหว่างประเทศกัน ท่านรัฐมนตรีคาดว่า บางทีเราจะได้เข้าร่วมประชุมด้วย

ส่วนวิธีการดูดเงินเข้าคลังหรือให้ธนบัตรในท้องตลาดมีจำนวนน้อยล งนั้น ท่านรัฐมนตรีกล่าวว่ายังไม่อยู่ในฐานะที่จะชี้แจงได้

ใช้เก่าไปก่อน

สำหรับปัญหาที่ว่ารัฐบาลจะพิมพ์ธนบัตรใหม่ให้ประชาชนแลกเป็นแบบเดียวกันทั้งหมดหรือไม่นั้น ท่านนายกและท่านรัฐมนตรีให้คำชี้แจงร่วมกันว่า เรื่องนี้ก็ได้ดำริอยู่เหมือนกัน เพราะเห็นว่าธนบัตรที่พิมพ์ใช้อยู่ในเวลานี้ อาจปลอมแปลงได้ง่าย แต่อย่างไรก็ดี เมื่อครั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ยังอยู่ที่เมืองนอก ท่านได้ลองติดต่อทาบทามผู้พิมพ์ธนบัตรที่เมืองนอก เขาก็บอกว่ารับทำไม่ไหว เพราะเขาได้รับคำสั่งพิมพ์ไว้แล้วถึงร้อยกว่าราย เป็นอันว่าเรายังจะให้ห้างเมืองนอกรับพิมพ์ธนบัตรให้เราในขณะนี้ไม่ได้ จึงจำเป็นที่เราจะต้องใช้ธนบัตรแบบเก่ากันไปก่อน จนกว่าจะมีโอกาสขยับขยายให้เขาพิมพ์ให้ได้

ส่วนการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มจำนวนที่มีอยู่ในเวลานี้นั้น ท่านรัฐมนตรีคลังกล่าวว่าจะไม่กระทำเลย ทั้งไม่เคยดำริจะลดค่าของธนบัตรแบบเก่า (ที่ใช้อยู่ในเวลานี้) แต่อย่างใด

ไม่เลือกเก็บภาษี

ในปัญหาที่เกี่ยวกับภาษี ท่านรัฐมนตรีให้คำรับรอง ว่าท่านจะไม่พยายามเพิ่มภาษีอีกเป็นอันขาด แท้จริง ท่านกล่าว การหารายได้มาชดเชยรายจ่ายนั้น ใช่ว่าจะอยู่ที่เพิ่มภาษีอากรแต่อย่างเดียวก็หาไม่ แต่อย่างไรก็ดี ท่านหวังว่าเมื่อถึงคราวจำเป็นต้องปรับปรุงระบบภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคมแล้ว ประชาชนคนไทยก็คงยินดีที่จะเสียสละ แต่การปรับปรุงนั้นจะต้องอาศัยหลักความเป็นธรรมแก่สังคมจริง ๆ และจะไม่ทำโดยเลือกเก็บภาษีเป็นอันขาด

อนึ่ง ท่านรัฐมนตรีได้ตอบคำถามของ ส.ส. ผู้ข้องใจนายหนึ่งว่า ต่อไปนี้ระบบเงินตราของเราจะยึดมาตราทองคำ

อนึ่ง ปัญหาเรื่องกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ก็เกิดตามขึ้นมาด้วย เพราะเมื่อระงับสถานะสงครามได้แล้ว การค้าขายติดต่อกับต่างประเทศก็เพิ่งเริ่มขึ้นได้ใหม่ๆ ไม่เหมือนก่อนสงคราม การจะหันกลับไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนเดิมก่อนสงคราม คือประมาณ ๑๑ บาท ต่อหนึ่งปอนด์สเตอรลิงก์ เป็นการพ้นวิสัย เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้ค่าของเงินบาทตกต่ำลง เพราะเรามีหลักทรัพย์หนุนหลังน้อย แต่ธนบัตรหมุนเวียนมาก ความต้องการเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้ซื้อสินค้าต่างประเทศก็มีมาก มีผู้อยากให้ตั้งอัตราแลกเปลี่ยนโดยที่ราคาเงินบาทของเราให้สูงขึ้น เช่น ประมาณ ๓๐ หรือ ๔๐ บาทต่อหนึ่งปอนด์สเตอรลิงก์ การตั้งอัตราเท่าใดนั้นง่าย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าตั้งอัตราแล้วจะดำรงอัตรานั้นไว้ได้หรือไม่ เพราะถ้าดำรงไว้ไม่ได้ การกำหนดไว้ก็ไร้ประโยชน์ การจะให้ดำรงอยู่ได้ ต้องให้เงินมีค่าเป็นเสถียรภาพจริง ๆ ซึ่งก็จะต้องตั้งอัตราตามที่เป็นจริง คือ อัตราธรรมชาติ อีกนัยหนึ่งอัตราที่เป็นไปตามกำลังซื้อของเงินไทยและเงินตราต่างประเทศ และกำลังซื้อจะสูงหรือต่ำ ย่อมแล้วแต่ปริมาณของเงิน จะน้อยหรือมากเป็นเกณฑ์สำคัญ

การที่จะให้กำลังซื้อดี เงินมีราคาดีจริงๆ ก็ต้องรีบฟื้นฟูผลิตสินค้าออกขายต่างประเทศให้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน อุปสรรคก็มี เพราะความจำเป็นต้องการซื้อของมาบูรณะก็มีอยู่มาก เหมืองแร่ดีบุกในขณะนั้นก็ยังไม่ได้เริ่มทำงาน การทำป่าไม้ก็ชะงักไประหว่างสงคราม อังกฤษก็บีบเร่งจะเอาข้าวเปล่า ๆ ตั้ง ๑ ๑/๒ ล้านตัน

พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย นายวิลเลียม ดอลล์ ที่ปรึกษาการคลังและข้าพเจ้า ได้ประชุมปรึกษากันหลายครั้งในปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนี้ และได้ไปปรึกษากันในคณะรัฐมนตรีอีก ได้พิจารณากันแล้วเห็นว่าการที่ควรจะกำหนดขึ้นในอัตราเท่าใด เป็นปัญหายากมาก เพราะถ้ากำหนดลงไปแล้ว ต้องพยายามดำรงอัตราที่กำหนดขึ้นนั้นไว้ให้มั่นคงด้วย อัตราที่จะกำหนดขึ้นจึงควรเป็นไปตามกำลังซื้อของเงินบาท เมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งเป็น อัตราธรรมชาติ (Natural rate of exchange) เพื่อมิให้มีผลเสียหายเกิดขึ้นภายหลังอันเนื่องจากการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป แต่เนื่องด้วยขณะนั้นสถานะทุนสำรองเงินตรายังไม่แน่นอน และการคำนวณกำลังซื้อของเงินบาทกับเงินต่างประเทศ ก็ยากที่จะทราบได้โดยแน่นอนว่าถูกต้องเพียงใดหรือไม่ ฉะนั้น คณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติให้กระทรวงการคลังออกคำแถลงการณ์เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) เทียบค่าของเงินบาทเป็นทองคำตามหลักแห่งหนังสือสัญญาว่าด้วยการเงินระหว่างประเทศ ที่ลงนามกัน ณ เบรเตนวูดส (Bretton Woods) คือความตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศในอัตรา ๑ บาท ต่อทองคำบริสุทธิ์น้ำหนัก ๐.๐๖๐๑๙ กรัม และกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนปานกลางระหว่างเงินบาทกับปอนด์สเตอรลิงก์และดอลล่าร์อเมริกันไว้ คือ ๖๐ บาทต่อ ๑ ปอนด์ หรือ ๑๐๐ บาท ต่อ ๖.๗๒ ดอลล่าร์อเมริกัน

อาจกล่าวได้ว่าเมื่อเสร็จสงครามใหม่ ๆ ประเทศไทยเราเผชิญต่อภารกิจสำคัญยิ่งอันหนึ่งในภาระสำคัญอื่น ๆ อีก คือ ปัญหาในการที่จะจัดการให้กระแสเงินตราของเรากลับเข้าสู่มูลฐาน อันเป็นที่เชื่อได้จากนานาประเทศ หลักทรัพย์ในต่างประเทศที่จะใช้เป็นการดำเนินงานก็แทบไม่มีเลย ดังได้กล่าวแล้วในเบื้องต้น ในขณะเดียวกัน หน่วยราชการทุกหน่วยที่ต้องการซื้อของมาบำรุงซ่อมแซม เพราะวัสดุขาดมือมาหลายปีแล้ว นอกจากนี้ก็ปัญหาใหญ่ ๆ คือ จะต้องปฏิบัติตามความตกลงสมบูรณ์แบบ อาทิ เรื่องให้ข้าวเปล่า ๆ คิดเป็นเงินตั้ง ๒,๕๐๐ ล้านบาท ดังกล่าวข้างต้น และภาระการชดใช้ค่าเสียหายทดแทน ตลอดจนภาระการเลี้ยงดูและร่วมมือกับทหารสหประชาชาติตามข้อผูกพัน

รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ลาออก

และนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ภายหลังที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอยู่ ๔ เดือนกว่า มีการเลือกตั้งใหม่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ในฐานเป็นนายกรัฐมนตรี จึงกราบถวายบังคมลาออกเพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ข้าพเจ้าในฐานเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ต้องออกไปพร้อมกับรัฐบาลนั้นด้วย และไม่ได้เข้าร่วมในคณะรัฐบาลใหม่ ซึ่งนายควง อภัยวงศ์ ได้จัดตั้งขึ้น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ซึ่งรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชเสนอ จึงระงับไป รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งตั้งขึ้นใหม่จึงเป็นผู้เสนอต่อรัฐสภาใหม่ แต่สาระสำคัญของพระราชบัญญัติก็คงตามเดิม

รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์

(๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๙-๒๓ มีนาคม ๒๔๘๙)๒๔

๑. พันตรีควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี
๒. พระยาศรีวิสารวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
๓. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
๔. พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
๕. พลโทชิด มั่นศิล์ป สินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
๖. พระยาอัชราชทรงสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
๗. พลโทหลวงเกรียงศักดิ์พิชิต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
๘. นายประจวบ บุนนาค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
๙. นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
๑๐. พันตรี ควง อภัยวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
๑๑. พลอากาศตรี มุนี มหาสันทนะ เวชยันตร์รังสฤษฎิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
๑๒. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
๑๓. นายศรีเสนา สมบัติศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
๑๔. พระตีรณสารวิศวกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๑๕. นายชม จารุรัตน์ รัฐมนตรี
๑๖. พันเอก น้อม เกตุนุติ รัฐมนตรี
๑๗. นายเลียง ไชยกาล รัฐมนตรี
๑๘. หลวงอังคณานุรักษ์ รัฐมนตรี
๑๙. นายสุวิชช์ พันธุเศรษฐ รัฐมนตรี
๒๐. นายใหญ่ ศวิตชาติ รัฐมนตรี
๒๑. นายฟอง สิทธิธรรม รัฐมนตรี
๒๒. นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ รัฐมนตรี

 

  1. ๑. ดูข้อเสนอ ๒๑ ข้อข้างต้น

  2. ๒. ขณะนั้นยังไม่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

  3. ๓. ดูร่างความตกลงข้อ ๒๐ ของ ๒๑ ข้อข้างต้น

  4. ๔. ขณะนั้นยังไม่ได้ทรงกรม

  5. ๕. สิ้นชีพตักษัยแล้ว

  6. ๖. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

  7. ๗. ต่อมาทรงกรมในพระนามกรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต สิ้นพระชนม์แล้ว

  8. ๘. ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

  9. ๙. ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการในกระทรวงเศรษฐการ ถึงแก่กรรมแล้ว

  10. ๑๐. ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงแก่กรรมแล้ว

  11. ๑๑. ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรี ถึงแก่กรรมแล้ว

  12. ๑๒. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

  13. ๑๓. ปัจจุบันเป็นปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี

  14. ๑๔. ที่ปรึกษากรรมการร่างกฎหมาย ถึงแก่กรรมแล้ว

  15. ๑๕. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถึงแก่กรรมแล้ว

  16. ๑๖. ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงการคลัง

  17. ๑๗. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

  18. ๑๘. ผู้เขียน

  19. ๑๙. นายวิจิตร ลุลิตานนท์

  20. ๒๐. พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

  21. ๒๑. อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว

  22. ๒๒. อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง

  23. ๒๓. หลวงเสถียรโชติสาร

  24. ๒๔. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๒ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ และหนังสือเรื่องคณะรัฐมนตรีโดยนายมนูญ บริสุทธิ์ หน้า ๑๕๕-๑๕๖

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ