บทที่ ๔ ไทยในท่ามกลางสงครามเศรษฐกิจ

เป็นที่ทราบกันแล้วว่า สงครามครั้งที่แล้วไม่ใช่เป็นสงครามเฉพาะการรบพุ่งฆ่าฟันกัน แต่เป็นสงครามเบ็ดเสร็จที่เรียกกันว่า Total War เป็นสงครามซึ่งราษฎรในประเทศคู่สงครามมีส่วนเข้าร่วมด้วยทุกวิถีทาง นอกจากด้านการรบซึ่งเป็นหน้าที่ฝ่ายทหารแล้ว ด้านการรบทางเศรษฐกิจที่มีส่วนสำคัญไม่น้อย เพราะถึงแม้จะมีกำลังอาวุธมหาศาลเพียงใด ถ้าไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจประกอบหนุนหลังด้วยก็ไปไม่รอด ฉะนั้น คู่สงครามจึงพยายามทุกอย่างที่จะบั่นทอนห้ำหั่นอีกฝ่ายให้สูญสิ้นไปไม่เพียงด้านการรบโดยใช้อาวุธ แต่ด้านเศรษฐกิจด้วย แม้ประเทศไทยเราเองซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวในภาคนี้ คือระหว่างกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ถึง ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) เราได้ประกาศตนเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ก็ยังถูกประเทศคู่สงครามทั้งสองค่ายบีบคั้น เพื่อจะเอาประ โยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่ฝ่ายตน ซึ่งในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจะได้กล่าวในบทที่ห้าของภาคนี้ สำหรับในระยะเวลาดังกล่าวนี้ คู่สงครามมีดังนี้ คือ อังกฤษกับประเทศเล็ก ๆ อื่น ๆ ฝ่ายหนึ่ง กับเยอรมันนีและอิตาลี อีกฝ่ายหนึ่ง ต่อมาเมื่อเยอรมันนีเข้าตีสหภาพโซเวียต ๆ จึงกลายมาเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ สหรัฐอเมริกายังไม่ได้เข้าสงคราม แต่ท่าทีในทางปฏิบัติก็เอียงมาช่วยอังกฤษอย่างออกหน้าแล้ว ญี่ปุ่นกำลังทำสงครามกับจีนอยู่ และแม้ญี่ปุ่นจะมีสัญญาเป็นพันธมิตรกับเยอรมันนี และอิตาลีก็ดี แต่ก็ยังไม่เข้าสงคราม

เมื่อเยอรมันนีเข้าทำสัญญาไม่รุกรานกับสหภาพโซเวียต เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) วงการรัฐบาลญี่ปุ่นไม่พอใจเป็นอันมาก และฮิตเล่อร์ก็ไม่ได้ปรึกษาหรือบอกกล่าวให้ญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าตนเป็นพันธมิตรทราบล่วงหน้า ในระยะนี้เองญี่ปุ่นกำลังทำสงครามกับจีนและกำลังเร่งสะสมกำลังเพื่อเตรียมสงคราม แต่ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ไม่หวังพึ่งกำลังทางเศรษฐกิจากเยอรมันนี ญี่ปุ่นจึงต้องพึ่งวัตถุดิบต่างๆ จากประเทศในจักรภพอังกฤษ เพื่อผลิตสินค้าออกขายและสร้างอาวุธ วัตถุเหล่านี้มีอาทิ เหล็ก ยาง ดีบุก ฝ้าย ขนสัตว์ น้ำมัน สำหรับสหรัฐอเมริกานั้นญี่ปุ่นต้องพึ่งทองแดง น้ำมัน และเศษเหล็ก

ก่อนเยอรมันนีเข้าสงคราม เยอรมันนีต้องพึ่งวัตถุจากประเทศต่าง ๆ ทางเอเซียมาก อาทิ จากเนเธอร์แลนด์อิสตอินดีส จีน ญี่ปุ่น ไทย มลายู แมนจูกัว ครั้นเมื่อเกิดสงครามแล้ว สัมพันธมิตรเห็นว่าสินค้าต่าง ๆ ซึ่งเยอรมันนีจะสั่งจากตะวันออกไกล ส่วนมากต้องส่งไปทางทะเล เป็นการสะดวกที่จะควบคุมตรวจค้น ไม่จำเป็นจะต้องเจรจาพิเศษกับประเทศดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกัน อังกฤษได้ขอให้ญี่ปุ่นจำกัดการขายสินค้าบางประเภทให้เยอรมันนี มิฉะนั้นอังกฤษจะควบคุมไม่ให้ประเทศในจักรภพส่งสินค้าให้ญี่ปุ่นตามจำนวนที่ญี่ปุ่นต้องการ ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสแพ้สงคราม ได้ทำให้สถานการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจของตะวันออกไกลเปลี่ยนแปลงไปมาก ญี่ปุ่นกับอังกฤษไม่สามารถทำความตกลงกันได้ เพราะอังกฤษเองก็หมดความสามารถที่จะรับประกันความสะดวกให้แก่ญี่ปุ่นดังกล่าว เพราะเกรงว่าญี่ปุ่นอาจป้อนวัตถุสำเร็จหรือส่งวัตถุดิบเหล่านี้ต่อไปให้เยอรมันนีและอิตาลี และญี่ปุ่นก็เห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะมาผูกพันตนเอง

ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็เริ่มบีบญี่ปุ่น เพราะเห็นว่าญี่ปุ่นมีท่าทีรุกรานยิ่งขึ้นทุกวัน การบีบทำโดยห้ามไม่ให้ขายวัตถุบางอย่างแก่ญี่ปุ่น โดยอ้างเหตุว่า สหรัฐอเมริกาต้องการวัตถุเหล่านี้ไว้ประกอบทำอาวุธยุทธภัณฑ์ แต่เมื่อเยอรมันนีเข้าตีเนเธอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ได้ประกาศร่วมมือกับอังกฤษทันทีในการที่จะควบคุมการขายสินค้าให้ประเทศต่าง ๆ แต่สำหรับญี่ปุ่นเนเธอร์แลนด์ยังเกรงใจ เพราะไม่ใช่คู่สงคราม จึงคงให้เนเธอร์แลนด์อิสตอินดีสค้าขายด้วยตามปรกติ ต่อมาญี่ปุ่นเสนอกับเนเธอร์แลนด์อิสตอินดีส ขอทำสัญญาจะขายสินค้าให้ญี่ปุ่นเป็นประจำ โดยญี่ปุ่นจะซื้อดีบุกปีละ ๓,๐๐๐ ตัน ยาง ๒๐,๐๐๐ ตัน น้ำมันแร่ ๑ ล้านตัน น้ำมัน ๓,๗๕๐,๐๐๐ ตัน แร่โบไซด์ ๒๐๐,๐๐๐ ตัน เศษเหล็ก ๑๐๐,๐๐๐ ตัน และแร่นิเกิล แมงกานีส วูลแฟรม โครม และเกลือ รายการวัตถุต่าง ๆ เหล่านี้บางรายการจำนวนมากกว่าที่เนเธอร์แลนด์อิสตอินดีสผลิตเสียอีก รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ภายหลังที่ได้ปรึกษากับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้วได้ตอบปฏิเสธ แต่เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นโกรธ ได้ตกลงขายน้ำมันบางส่วนให้ คือ ขายให้เพียง ๑,๙๕๖,๐๐๐ ตัน เนื่องจากในขณะเจรจานั้น คือเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) รัฐบาลอเมริกันคำนวณแล้วว่า กองทัพเรือญี่ปุ่นมีคลังน้ำมันประมาณ ๖๙ ล้านตัน ซึ่งสามารถเป็นกำลังได้ประมาณหนึ่งปีกว่า การที่จะกักไม่ขายน้ำมันให้ญี่ปุ่นโดยเด็ดขาด จะเป็นการยุยั่วให้ญี่ปุ่นรีบประกาศสงคราม ซึ่งในเวลานั้นอังกฤษเองยังไม่พร้อม เพราะกำลังอยู่ในฐานะลำบากทางยุโรป สหรัฐอเมริกาเองก็ยังไม่พร้อมเหมือนกัน

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) สหรัฐอเมริกากวดขันการขายสินค้าบางประเภทที่จะขายให้ญี่ปุ่นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ด้วยเหตุสองประการ เพราะสหรัฐอเมริกาได้เสริมกำลังมากขึ้น และญี่ปุ่นก็ทำท่าจะรุกลงมาทางใต้โดยไม่ฟังเสียงใคร

ในปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ทางสัมพันธมิตรได้หลักฐานมาแน่นอนว่า ญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะเข้ายึดครองอินโดจีน ในกลางเดือนกรกฎาคม ญี่ปุ่นเข้ายึดบางส่วนของอินโดจีน รัฐบาลอเมริกันจึงประกาศกักกันสินทรัพย์ของญี่ปุ่นทันที และต่อมารัฐบาลอังกฤษก็ประกาศทำนองเดียวกัน ได้มีการเจรจากัน ต่อมาระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลอเมริกันในเรื่องต่าง ๆ อาทิ เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องญี่ปุ่นดำเนินนโยบายรุกรานขึ้น และกำลังจะรุกรานต่อไป ในที่สุดการเจรจาต้องล้มเหลว และญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) และเข้าเมืองไทยเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ศกเดียวกัน ดังจะได้กล่าวในบทที่ห้าของภาคนี้

ได้กล่าวในบทที่ ๑ แล้วว่า ข้าพเจ้าเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี สั่งราชการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙) สมัยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการฯ ต่อมาเมื่อท่านลาออกจากตำแหน่งเพราะป่วย ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙) พลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เข้าดำรงตำแหน่งแทน และข้าพเจ้าได้เลื่อนขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ เนื่องจากพลตรีหลวงพิบูลสงครามไม่มีเวลาที่จะมานั่งบริหารงานที่กระทรวงได้ เพราะเป็นนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกรับทูตานุทูตแทน เว้นไว้แต่ในกรณีที่ทูตมีความจำเป็นขอพบนายกรัฐมนตรีเป็นพิเศษ นายกรัฐมนตรีจึงจะออกรับทูตที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้นคือวังสวนกุหลาบ

เราทราบแล้วว่า เยอรมันนีเข้าตีโปแลนด์และในที่สุดเกิดสงครามโลกด้านยุโรปเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๕๓๙) แม้กระนั้นก็ดี ทั้งสองฝ่าย คือ อังกฤษและฝรั่งเศสฝ่ายหนึ่ง และ เยอรมันนีอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ไม่ได้ทำสงครามกันจริงจัง ต่างฝ่ายต่างคุมเชิงซึ่งกันและกัน ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) เเยอรมันนีเริ่มบุกเข้าเดนมาร์กและนอรเวย์ และในเดือนพฤษภาคม เยอรมันนีบุกเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลุกเซมเบิร์ก และฝรั่งเศส จึงนับได้ว่าเริ่มสงครามจริงจัง ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าไทยเราก็เริ่มตกอยู่ในท่ามกลางสงครามเศรษฐกิจจริงจังระหว่างสองฝ่าย เริ่มตั้งแต่นั้นมา คือเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐)

อาจกล่าวได้ว่าอย่างน้อยเดือนหนึ่ง ๆ นับตั้งแต่เมษายนปีนั้น จนถึงวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ คือตลอดเวลา ๑๕ เดือน ข้าพเจ้าต้องให้ทูตอังกฤษและทูตอเมริกันพบเดือนละ ๕-๖ ครั้ง ยิ่งตอนจวน ญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย คือ ประมาณระหว่างสิงหาคม ถึง ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ทูตมาขอพบคิดเฉลี่ยเดือนละ ๗-๘ ครั้ง สำหรับญี่ปุ่นนั้นไม่ค่อยมาพบ นอกจากมีเรื่องจำเป็น เพราะญี่ปุ่นได้เคยกล่าวกับนายกรัฐมนตรีว่า ข้าพเจ้าเอนเอียงทางสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ นายกรัฐมนตรีจึงได้ให้สมาชิกในคณะรัฐบาลบางนายเป็นผู้ติดต่อ

เรื่องเศรษฐกิจในระยะนี้ ซึ่งอังกฤษ สหรัฐอเมริกาฝ่ายหนึ่ง กับญี่ปุ่นอีกฝ่ายหนึ่ง แข่งขันกันในเมืองไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุสำคัญ ซึ่งจะสามารถช่วยในการทำสงคราม คือ ยางและดีบุก

ตามสถิติปี พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) โลกผลิตยางได้ ๑,๔๑๐,๒๖๗ ตัน ในจำนวนนี้ไทยผลิตได้ ๓๐,๐๒๔ ตัน มลายูผลิตได้ ๕๔๗,๕๓๒ ตัน ซึ่งสำหรับปีนี้ ญี่ปุ่นซื้อไปได้ประมาณ ๑๒ เปอร์เซนต์ สำหรับปี พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ซึ่งเป็นปีที่เกิดสงครามด้านเอเซียนั้น โลกผลิตได้เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย และญี่ปุ่นกว้านซื้อได้ประมาณ ๕๐ เปอร์เซนต์ นอกนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรได้ไป

สำหรับดีบุกนั้น ตามสถิติปี พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) เราขุดได้ประมาณ ๖,๓๐๐ ตัน แต่เนื่องจากอังกฤษและออสเตรเลียเป็นผู้ประกอบกิจกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทยประมาณ ๒ ใน ๓ ของผลิตกรรม ฉะนั้นอังกฤษอเมริกาจึงสามารถได้ไป ๒ ใน ๓ ของจำนวนดังกล่าว ส่วนที่เหลือ ทั้งสองฝ่ายต่างแย่งกันซื้อในตลาดเปิดเผย

ได้กล่าวแล้วว่า ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) เป็นปีที่เกิดสงครามด้านเอเซีย ฉะนั้นทั้งสองค่ายจึงทำสงครามเศรษฐกิจระหว่างกันรุนแรงยิ่งขึ้น ทางญี่ปุ่นนั้นพยายามบีบทางจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เพื่อจะเอายางและดีบุกให้หมด โดยอ้างเหตุผลเรื่องช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยกรณีอินโดจีน นอกจากนี้ก็จะช่วยเหลือให้น้ำมัน ทางอังกฤษและอเมริกาก็พยายามเช่นเดียวกัน แต่ไม่ถึงกับขอหมด ขอแค่ประมาณครึ่งต่อครึ่ง โดยให้เหตุผลว่า เมื่อไทยเป็นกลาง จึงไม่ควรเลือกปฏิบัติลำเอียง นอกจากนี้ก็จะช่วยเรื่องน้ำมันเท่าที่สามารถจะทำได้ อนึ่ง ในขณะนั้นไทยยังผลิตกระสอบป่านไม่ได้ จำเป็นต้องซื้อจากอินเดีย อังกฤษขู่ว่าถ้าเลือกปฏิบัติ อินเดียก็อาจควบคุมการส่งกระสอบป่านออกนอกประเทศ และเราก็จะไม่ได้กระสอบใส่ข้าวสารไปขายนอกประเทศ สำหรับทางด้านญี่ปุ่นนั้น มีผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีไปเจรจา ได้ไปทำสัญญายอมขายดีบุกและยางทั้งหมดที่เราจะผลิตได้ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) แล้วนำมาเสนอนายกรัฐมนตรี ๆ ส่งสำเนาสัญญานั้นให้ข้าพเจ้าพิจารณา ข้าพเจ้ากับพลตำรวจเอก อดุลย์ อดุลยเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี เห็นพ้องกันว่า ผู้ลงนามไม่มีสิทธิทำได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ และจะเกิดวิกฤตกาลขึ้นเป็นแน่ เพราะอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็คงว่าเราไม่เป็นกลาง และก็คงจะถูกบีบใหญ่ เวลานั้นสหรัฐอเมริกาก็สงสัยแล้วว่า เราอยู่ในกำมือของญี่ปุ่น เพราะเรื่องดินแดนและเรื่องอื่น ๆ ถึงกับสั่งกักเครื่องบิน ซึ่งเราสั่งซื้อชำระเงินไปแล้วและกำลังลำเลียงขนมาพักอยู่ที่เกาะฟิลิปปินส์แล้ว ในที่สุดสัญญาฉบับนั้นก็ไม่ได้บังคับใช้ เป็นอันล้มเลิกไป ญี่ปุ่นก็โกรธมากว่า กระทรวงการต่างประเทศขัดขวาง ในที่สุดรัฐบาลไทยเราจึงปล่อยให้ทั้งสองฝ่ายแย่งกันซื้อเองในตลาดเปิดเผย ดังกล่าวข้างต้น

ปัญหาเรื่องเงินบาทซึ่งญี่ปุ่นต้องการยืมใช้ในระยะนี้ คือ ก่อนญี่ปุ่นประกาศสงคราม ก็เป็นปัญหาหนักใจ ญี่ปุ่นรุกทางนายกรัฐมนตรี โดยขอกู้เงิน ในขณะนั้นเนื่องจากถูกอังกฤษและสหรัฐอเมริกากักสินทรัพย์ไว้หมดเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ธนาคารโยโกฮามาสเปซี ในกรุงเทพฯ ต้องการเงินบาท ไม่มีเงินปอนด์จะเอามาแลกเปลี่ยนได้ จึงไม่สามารถจะซื้อสินค้าไทยได้ ทางอังกฤษเองก็พยายามไม่ให้ไทยช่วย เพราะเกรงว่าญี่ปุ่นจะเอาไปซื้อยุทธปัจจัย เช่น ยาง และวัตถุอื่น ๆ คณะรัฐมนตรีจึงลงมติให้กระทรวงการคลัง รับไปพิจารณา ในที่สุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมารายงานในคณะรัฐมนตรีว่า เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่โอนอ่อนช่วยเหลือบ้าง ก็จะเสียหายทั้งสองฝ่าย เพราะญี่ปุ่นไม่มีทางออก ก็คงจะหาทางผลักดันรุนแรง และเมื่อเราเป็นกลาง ถ้าไม่ยอมช่วยเหลือเลย ก็คงมีเรื่องกับญี่ปุ่นแน่ ญี่ปุ่นก็ต้องหาว่าเราเดินนโยบายช่วยสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ จึงควรจัดให้ธนาคารญี่ปุ่นดังกล่าว ได้กู้เงินจากธนาคารไทย ๓ ธนาคารด้วยกัน เรียกว่า สหธนาคาร คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารนครหลวง และ ธนาคารแห่งเอเซีย เป็นจำนวน ๑๐ ล้านบาท ญี่ปุ่นจึงสามารถซื้อสินค้าไทยได้ภายในจำนวนเงินที่กู้นั้น แต่การชำระหนี้รายนี้ รัฐบาลยืนยันให้ญี่ปุ่นชำระด้วยทองคำ ญี่ปุ่นจะขอชำระเป็นเงินเยน ซึ่งรัฐบาลไทยไม่สามารถเอาเงินเยนไปแลกเปลี่ยนกับเงินตราต่างประเทศสกุลอื่นได้ ในที่สุดญี่ปุ่นก็ยอม

แม้กระนั้นก็ดี เงินที่ให้กู้ไป ๑๐ ล้านบาทนี้ ญี่ปุ่นจ่ายไปไม่กี่เดือนก็หมด ในกลางเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนี้ ญี่ปุ่นขอกู้เพิ่ม คราวนี้ทางสถานทูตญี่ปุ่นเป็นผู้เสนอมาเป็นทางการ ทั้งทางกระทรวงการต่างประเทศและทางนายกรัฐมนตรี ข้อเสนอของญี่ปุ่นคือขอกู้เพิ่มอีก ๒๕ ล้านบาท โดยยอมเอาทองคำเป็นประกัน แต่ให้ผูกหูไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (ธนาคารชาติ) เงื่อนไขที่เสนอตึงเครียดจนฝ่ายเราไม่สามารถมีทางที่จะเอาทองมายังประเทศไทยได้ คณะรัฐมนตรีได้มอบเรื่องนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปพิจารณาอีก และมอบให้เจรจากับผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่น ชื่อนายโอโน ซึ่งเดิมเคยเป็นรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น และในขณะมาเจรจานั้นเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังญี่ปุ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝ่ายเรายอมให้กู้ แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องเอาทองมาส่งที่กรุงเทพ ฯ ในการเจรจาโต้เถียงกันรุนแรงมาก ฝ่ายญี่ปุ่นไปต่อว่าทางนายกรัฐมนตรีว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ขัดขวางในการเจริญทางไมตรี (obstructionist) และดูถูกญี่ปุ่น เหตุใดไทยจึงไว้ใจสหรัฐอเมริกาและอังกฤษมากกว่า โดยเอาทองไปฝากไว้ในประเทศเหล่านั้น แต่ในที่สุดญี่ปุ่นก็ยอมตามเงื่อนไขของฝ่ายเรา

เมื่อได้กล่าวถึงเรื่องอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาต่อสู้กับญี่ปุ่นในเรื่องจะแสวงวัสดุดิบจากไทยแล้ว เรื่องก็โยงมาถึงไทยเราเอง ในขณะนั้นไทยเราเดือดร้อนในการขาดแคลนน้ำมันและยุทธปัจจัยอื่น ๆ เฉพาะอย่างยิ่งเครื่องบินและอาวุธยุทธภัณฑ์เพื่อป้องกันตัว ขอพึ่งจากสหรัฐอเมริกา ๆ ก็สงสัยว่าเราเป็นมิตรกับญี่ปุ่น และไม่พอในเรื่องขอดินแดนอื่นจากฝรั่งเศส แต่ท่าทีของสหรัฐอเมริกามาเปลี่ยนแปลงเป็นช่วยเหลือเมื่อเรียกทูตอเมริกัน (นายแกรนต์) กลับ และตั้งทูตคนใหม่ (นายเป็ก) มาแทน สำหรับอังกฤษนั้นเล่าอยากช่วย แต่ไม่มีจะให้ จึงได้แต่เดินเจรจาให้สหรัฐอเมริกาพิจารณาช่วย ทั้งนี้ เพราะอังกฤษเห็นว่า ช่วยไทยไว้คงจะได้บุญคุณ สำหรับญี่ปุ่นนั้นขายเครื่องบินให้เราบ้าง ขายน้ำมันให้บ้าง แต่ก็รอจะเอาประโยชน์ทางเศรษฐกิจทุกอย่าง ทั้งข้อเท็จจริงโดยละเอียด ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

เป็นที่ทราบแล้วว่า การเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น เริ่มตึงเครียดเรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) และขาดสะบั้นลงในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เหตุการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนท่าทีของญี่ปุ่นแสดงให้เห็นได้ชัดว่า จะทำสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ อาทิ การรุกเข้ามาในอินโดจีน การเตรียมเสริมกำลังต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและอาวุธ ทั้ง ๆ ที่ไทยประกาศความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และประกาศว่าจะต่อต้านการรุกรานไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด ในที่สุดญี่ปุ่นก็เข้าเมืองไทยจนได้ เพราะแผนการยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของญี่ปุ่นจำเป็นต้องทำเช่นนั้น

ท่านผู้อ่านทราบแล้วว่า ในระหว่างที่เราเจรจากับฝรั่งเศสเรื่องดินแดนนั้น นโยบายและท่าทีของอังกฤษและสหรัฐอเมริกามีต่อเราอย่างใด คือสำหรับอังกฤษในชั้นเริ่มไม่สู้เห็นด้วยนัก ดังจะเห็นได้จากการเจรจาดังกล่าวในบทที่ ๕ ข้างต้น แต่ต่อมาก็เห็นด้วยกับเรา ในกรณีที่เราขอหลักการว่า ถ้าในที่สุดฝรั่งเศสจะถอนตัวจากอินโดจีน และระหว่างการให้ดินแดนแก่ญี่ปุ่นหรือแก่ไทย อังกฤษจะสนับสนุนไทยดีกว่า แต่สำหรับสหรัฐอเมริกานั้นยืนยันในนโยบายสถานภาพเดิม (Status Quo) คือไม่เห็นด้วยที่ไทยขอดินแดนในขณะนั้น ขอให้เจรจาภายหลังสงคราม ซึ่งฝ่ายเราเห็นว่ายิ่งภายหลังสงคราม ถ้าฝ่ายตะวันตกเป็นฝ่ายชนะ ฝรั่งเศสก็คงยืนกรานไม่ยอมเจรจาแน่ ซึ่งเหตุการณ์ภายหลังสงครามต่อมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้มีอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกันแล้วก็ตาม ไทยก็ถูกบีบให้คืนดินแดนที่ได้มาดังจะกล่าวต่อไปในภาคสาม อีกประการหนึ่งนายแกรนด์ ทูตอเมริกันในขณะนั้นมีความเห็นไม่ตรงกับทูตอังกฤษ และรายงานรัฐบาลอเมริกันว่า สงสัยว่าไทยคงจะเล่นลูกไม้ ฉะนั้นขออย่าให้รัฐบาลอเมริกันเชื่อถือเป็นอันขาด แต่ต่อมาจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๘๔๑) นายแกรนต์ถูกรัฐบาลเรียกกลับ และส่งทูตมาใหม่ชื่อ เป็ก เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน และมีหน้าที่เกี่ยวกับประเทศในเอเซีย มาแทน ท่านผู้นี้รู้เรื่องต่าง ๆ ดีมาก และได้รับความสนับสนุนจากชาวอเมริกันในเมืองไทยเป็นอย่างดี นายเป็กมีความเห็นอกเห็นใจในฐานะลำบากของเรามาก

ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสเริ่มพูดกับเซอร์โจซาย ครอสบี้ ทูตอังกฤษ และนายแกรนต์ทูตอเมริกัน เริ่มตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ให้อังกฤษ อเมริกัน ประกาศยับยั้งญี่ปุ่นว่า ถ้าญี่ปุ่นรุกลงมาทางใต้ ทั้งสองประเทศจะถือว่าเป็นการรุกรานสองประเทศนี้ ทูตอังกฤษเห็นด้วยกับข้าพเจ้าและรายงานเรื่องนี้โดยละเอียดไปยังรัฐบาลอังกฤษ ส่วนทูตอเมริกันนั้นไม่เห็นด้วยกับทูตอังกฤษ เพราะทอดอาลัยว่า ไทยยอมเป็นลูกมือญี่ปุ่นเสียแล้วตั้งแต่เริ่มเจรจาขอดินแดน ไทยยอมให้ญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งความเห็นนี้เป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง ดังจะเห็นจากการที่ไทยไม่ยอมทำสัญญาให้ญี่ปุ่นได้ประโยชน์ฝ่ายเดียวในเรื่องยางและดีบุกดังกล่าวในบทที่ ๒ ข้างต้นแล้ว ตรงกันข้ามกลับปล่อยให้ทุกฝ่ายซื้อได้ในตลาดโดยเปิดเผย

อังกฤษนั้นมีความเห็นว่า ควรจะช่วยไทยทั้งทางด้านการเมืองและยุทธปัจจัย รวมทั้งทางเศรษฐกิจเท่าที่จะทำได้ มิฉะนั้นไทยก็จะตกไปเป็นเครื่องมือของญี่ปุ่น จะทำให้สัมพันธมิตรเสียเปรียบมาก แต่ในการนี้จะต้องได้คำมั่นจากไทยให้เป็นที่พอใจว่าจะไม่ให้ประโยชน์แก่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการบั่นทอนความมั่นคงของดินแดนอังกฤษ ไทยจะไม่ให้ญี่ปุ่นมีบุริมสิทธิพิเศษเหนือประเทศไทย ยุทธปัจจัยต่าง ๆ ของไทย ๆ จะไม่ขายหรือผ่านมือไปยังประเทศกลุ่มอักษะ แต่อังกฤษชาติเดียวเจรจา ไทยก็คงไม่ฟังนัก เพราะอังกฤษก็อยู่ในฐานะลำบาก ไม่สามารถให้อาวุธและช่วยทางเศรษฐกิจใด ๆ ได้ จึงชวนให้สหรัฐอเมริการ่วมมือเจรจากับไทยด้วย ในการนี้อังกฤษได้ชวนออสเตรเลียให้สนับสนุนพูดกับสหรัฐอเมริกา แต่นายคอเดล ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น มีความเห็นว่าน่ากลัวจะไม่สำเร็จ เพราะไทยอยู่ในมือของญี่ปุ่นเสียแล้ว๑๐

วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ทูตอเมริกัน (นายแกรนต์) โทรเลขรายงานรัฐบาลอเมริกัน สาระสำคัญว่า “ขณะนี้มีการวางแผนเพื่อชักจูงให้สหรัฐอเมริกาช่วยเหลือไทย ไม่เพียงเรื่องน้ำมันเพื่อใช้ตามปกติภายใน (ไม่ใช่การรบ) แต่น้ำมันอื่น ๆ เพื่อการทหาร ผลิตกรรมเหล็ก เหล็กกล้า เครื่องบินรบ อาวุธยุทธภัณฑ์ และคิดจะกู้เงินอีกด้วย กลยุทธของไทยครั้งนี้ก็เพื่อจูงใจเกี่ยวสหรัฐอเมริกา โดยไทยให้เหตุผล ๑) ให้สหรัฐอเมริกาคำนึงถึงมิตรภาพซึ่งมีต่อกันมาช้านาน ๒) ไทยต้องการทำลายความคิดร้ายของญี่ปุ่น โดยหันมาพัวพันกับฝ่ายประชาธิปไตย ๓) ไทยจะต่อสู้การรุกรานของญี่ปุ่น และจะไม่ยอมให้ญี่ปุ่นมาตั้งฐานทัพอากาศ

ในการนี้ไทยคิดจะเอาทูตอังกฤษเป็นเครื่องมือช่วยอธิบายกับกรุงลอนดอนและกรุงวอชิงตัน

ทูตอเมริกันได้ไปพบถามเรื่องราวจากทูตอังกฤษ ๆ เล่าให้ฟังว่า ได้ไปพบนายกรัฐมนตรี ได้รับการยืนยันว่า ไทยจะต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นเช่นเดียวกับที่กรีซและยูโกสลาเวียได้ต่อต้านเยอรมันนี แต่ในการนี้ไทยต้องมีกำลัง จึงขอให้ทูตอังกฤษช่วยเรื่องเครื่องบินรบ เรื่องอาวุธ และเรื่องกู้เงิน แต่นายกรัฐมนตรีได้แสดงท่าทีโดยปริยายว่า ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถช่วยเหลือได้ก็ต้องพึ่งญี่ปุ่น เหตุผลนี้ก็เช่นเดียวกับเมื่อสหรัฐอเมริกาสั่งกักไม่ให้เครื่องบิน เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) เหตุผลที่นายกรัฐมนตรีว่านี้ สังเกตดูอังกฤษสนับสนุน และพวกพ่อค้าชาติอเมริกันที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็เห็นด้วย หลับตาทุกอย่างเพราะเป็นเรื่องที่กระทบถึงการหากำไรของตัวโดยตรง ทูตอเมริกันเห็นว่าไทยเป็นนโยบายเช่นนี้ ก็เพื่อสร้างหลักฐานต่อสู้ ถ้าจะต้องร่วมมือกับญี่ปุ่น และในขณะเดียวกันก็ได้ของจากอเมริกาด้วย ทูตอเมริกันรายงานเพิ่มเติมว่าเขาไม่เชื่อเลยว่า ไทยจะต่อสู้ญี่ปุ่น ถ้าญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย เพราะพฤติการณ์ต่าง ๆ ชี้ให้เห็นเช่นนั้น ฉะนั้นสหรัฐอเมริกาควรจะระวังทุกฝีก้าว มิฉะนั้น (อเมริกา) จะติดกับ๑๑

ตามที่ทูตอังกฤษพูดกับทูตอเมริกันดังกล่าว ตรงกับที่ข้าพเจ้ารับทราบจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และก็ตรงกับที่ข้าพเจ้าได้พูดกับทูตอังกฤษและอเมริกันอยู่เสมอว่า ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยช่วยเราได้มากเท่าใดก็ยิ่งเท่ากับกันไม่ให้ไทยถูกพัวพันกับญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งทูตอังกฤษเห็นด้วยกับข้าพเจ้า แต่ทูตอเมริกันเห็นว่า ถ้าช่วยไทยก็เท่ากับรับนับถือว่า การที่ไทยได้ดินแดนโดยความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นนั้นเป็นการถูกต้อง๑๒ ทูตอเมริกันรายงานดังกล่าวนี้ในวันที่ ๘ พฤษภาคม รุ่งขึ้นไทยก็ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพกับฝรั่งเศสที่กรุงโตเกียว๑๓

ท่าทีของอเมริกาในครั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษได้ให้อัครราชทูตอังกฤษปรารภกับข้าราชการผู้ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาในความสัมพันธ์ทางการเมืองกับนานาประเทศว่า ทำไมสหรัฐอเมริกาจึงปลีกตัวออกห่างในเรื่องช่วยเมืองไทย ควรจะดึงไทยไว้ ท่าทีเช่นนี้เท่ากับสหรัฐอเมริกาทอดอาลัย ว่าเอาไทยไว้เป็นมิตรไม่ได้แล้ว ข้าราชการอเมริกันผู้นั้นตอบว่า ถูกต้องแล้ว ทูตอังกฤษถามต่อไปว่า ทำไมจึงมีความเห็นเช่นนั้น ที่ปรึกษาตอบว่า สถานการณ์อันไม่พึงพอใจ ซึ่งมีอยู่เกี่ยวกับประเทศไทยนั้น การทูตของอังกฤษมีส่วนอยู่ด้วยไม่น้อย การที่ทูตอังกฤษในกรุงเทพ ฯ ในชั้นต้น เมื่อไทยทาบทามในเรื่องจะขอดินแดนอื่นจากฝรั่งเศส แนะนำรัฐบาลอังกฤษและอเมริกันให้มีทีท่าเฉย ๆ และแนะนำให้ไทยยับยั้งอย่าเพิ่งก่อเรื่อง แต่ต่อมาภายหลัง ทูตอังกฤษในกรุงเทพฯกลับส่งเสริมไทยโดยช่วยบีบฝรั่งเศส เพื่อให้ไทยได้ดินแดนบางส่วน รัฐบาลอเมริกันได้เสนอต่อรัฐบาลไทยตั้งแต่ต้นแล้วว่า ควรจะยับยั้งการก่อเรื่องไว้ก่อน และรอเมื่อถึงเวลาที่จะได้พิจารณาไตร่ตรองพร้อมกับปัญหาปรับปรุงเขตแดนต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำได้ และเจรจาโดยสันติ และรัฐบาลอเมริกันได้ยกความเห็นนี้และมีท่าทีดังกล่าวตลอดมา๑๔ การที่ไทยได้กำไรโดยเอาจากเนื้อของฝรั่งเศส (ไม่ใช่เนื้อของฝรั่งเศส แต่เนื้อของไทย) ครั้งนี้ก็เพราะอังกฤษส่งเสริมและญี่ปุ่นเข้าช่วยเหลือ สหรัฐอเมริกาเห็นว่าปัจจุบันนี้ ไทยอยู่ใต้อิทธิพลของญี่ปุ่นเสียมากแล้ว สภาพการณ์ในขณะนี้จึงเป็นว่า การจะต้องใช้กำลังทหารเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เวลานี้ไทยก็ไม่ได้หวังอะไรจากหรือกลัวอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แต่ญี่ปุ่นนั้นสามารถให้รางวัลไทยได้มากมาย และก็สามารถลงโทษไทยได้ด้วย อัครราชทูตอังกฤษโต้แทนไทยว่า ไทยไม่ต้องการมาอยู่ใต้ความควบคุมของญี่ปุ่น ที่ปรึกษาตอบว่า จริงไทยไม่อยากอยู่ใต้ความควบคุมของประเทศใด ๆ แต่ญี่ปุ่นสามารถแสดงให้ไทยเห็นว่า ถ้าพึ่งญี่ปุ่นไทยจะได้ประโยชน์ และให้ไทยกลัวญี่ปุ่นด้วย ยิ่งกว่าหวังพึ่งหรือจะต้องกลัวอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา ทูตอังกฤษว่าการที่จะให้ไทยได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็อาจสามารถจะดึงไทยไว้ได้ ที่ปรึกษาชี้แจงว่า ในขณะนี้ญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ใกล้ไทยแล้ว และมีเหตุผลอื่นอีกมากมาย เช่น ญี่ปุ่นเข้ามาเมืองไทยมากขึ้น ใช้เงินโฆษณาชวนเชื่อเต็มที่ ฉะนั้น ถ้าอังกฤษยังเห็นว่าสามารถรั้งไทยไว้ได้ โดยช่วยทางวัสดุและให้ยืมเงินแล้ว สหรัฐอเมริกาก็ไม่ขัดข้องที่อังกฤษจะเดินนโยบายนี้ โดยไม่เรียกร้องให้สหรัฐอเมริการ่วมมือ เพราะสหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วย แต่ขอเตือนว่า อังกฤษเองก็มีคลังน้ำมันน้อย เงินก็มีน้อย ฉะนั้น จึงเป็นการเสี่ยงอยู่บ้าง และเมื่อเป็นการเสี่ยง ก็ควรเสี่ยงเอง ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาร่วมเสี่ยงด้วย เพราะวัสดุต่างๆ ที่จะช่วยไทยนั้น ญี่ปุ่นอาจยกเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้

เรื่องไทยเดือดร้อนเรื่องน้ำมันนั้น เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ มีที่มาดังนี้ เดิมก่อนเกิดสงครามด้านยุโรปครั้งที่สองนี้ มีบริษัทอังกฤษดัทช คือ บริษัท Dutch Royal Shell และบริษัทอเมริกันคือบริษัท Standard Vacuum Oil เป็นผู้จำหน่ายน้ำมันในประเทศไทย ต่อมาเมื่อตั้งกรมเชื้อเพลิงขึ้น นโยบายของกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นต้องการมีอิสระในการจำหน่ายน้ำมันให้ประชาชนด้วย และก็ไม่ต้องการคอยพึ่งสองบริษัทนี้ ในกรณีฉุกเฉิน โดยเรามีคลังน้ำมันของเราเอง ได้เจรจาให้สองบริษัทมีคลังน้ำมันจำนวนหนึ่ง ซึ่งพอสำหรับระยะเวลายาว เข้าใจว่าหนึ่งปีตลอดไป และให้กรมเชื้อเพลิงมีสิทธิการขายน้ำมันแก่ประชาชนด้วย บริษัททั้งสองยอมในเรื่องให้กรมเชื้อเพลิงมีสิทธิขายน้ำมันแก่ประชาชน แต่ขอวางเงื่อนไขบางประการ เช่น เกี่ยวกับราคาและปริมาณน้ำมันที่บริษัทจะจ่ายให้กรมเชื้อเพลิง แต่ที่ไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นสำคัญ คือ เรื่องปริมาณน้ำมันซึ่งกรมเชื้อเพลิงขอให้บริษัทสั่งมาเก็บไว้ในคลังน้ำมัน มีจำนวนคงที่จำนวนหนึ่งตลอดเวลา บริษัทว่าไม่สามารถตกลงได้ โดยอ้างเหตุผลต่างๆ (ความจริงเข้าใจว่าบริษัทคงถูกรัฐบาลทั้งอังกฤษและอเมริกันสั่งให้ยืนยันเช่นนี้ เพราะขณะนั้นเหตุการณ์ในยุโรปกำลังตึงเครียดแล้ว และก็เกรงว่าถ้ามีน้ำมันไว้มากอาจะตกไปเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายศัตรู) ถ้าจะบังคับ บริษัทก็จำต้องเลิกกิจการถอนตัว คณะรัฐมนตรีได้ถามความเห็นกรมเชื้อเพลิง ๆ ให้ความเห็นว่า แม้บริษัททั้งสองจะเลิกกิจการ กรมเชื้อเพลิงสามารถดำเนินการแทนได้ ได้มีการอภิปรายในคณะรัฐมนตรีหลายครั้งในคณะรัฐมนตรี มีบางท่านเห็นว่า เรื่องน้ำมันนี้เป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศมานานแล้ว อังกฤษและสหรัฐอเมริกาคุมน้ำมันส่วนมากของโลกไว้ จึงควรเป็นนโยบายผ่อนปรนไม่ตึงเครียด แต่กรมเชื้อเพลิงชี้แจงว่า ทางญี่ปุ่นรับรองว่าจะคอยช่วย ประกอบทั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็สนับสนุน โดยให้เหตุผลว่า เรื่องน้ำมันนี้เกี่ยวกับทางยุทธศาสตร์ คณะรัฐมนตรีจึงลงมติว่า เมื่อบริษัทไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็ให้กรมเชื้อเพลิงดำเนินงานแทน ถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนมตินี้ มีเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) แต่ต่อมาอีกไม่กี่เดือน กระทรวงกลาโหมรายงานคณะรัฐมนตรีว่า กรมเชื้อเพลิงไม่สามารถจะมีน้ำมันจำหน่ายประชาชนได้ตามจำนวนที่เราจำเป็นจะจำหน่าย เพราะญี่ปุ่นอ้างว่าเขาก็ต้องใช้น้ำมันมากทางสงครามเมืองจีน และก็เกิดสงครามยุโรปแล้ว และทั้งอังกฤษและอเมริกาก็บีบญี่ปุ่น โดยจำกัดน้ำมันที่ญี่ปุ่นต้องการจากเนเธอร์แลนด์อีสตอินดีส คณะรัฐมนตรีจึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศเจรจากับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาขอให้ช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ได้ผลประการใด

ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) คือระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม เราเดือดร้อนเรื่องน้ำมันยิ่งขึ้น น้ำมันซึ่งเราต้องการ คือ น้ำมันดีเซล (Diesel oil) น้ำมันแก๊ส (Gas oil) น้ำมันเตา (Fuel oil) น้ำมันเบนซินอากาศ (Aviation gasolene) น้ำมันเบนซินยานยนต์ (Motor gasolene) น้ำมันก๊าด (Kerosene) กรมเชื้อเพลิงก็ชี้แจงว่าจะหมดคลังแล้ว คณะรัฐมนตรีให้เจรจาขอจากญี่ปุ่น ๆ ก็ขอ เงื่อนไขต่าง ๆ อาทิ ต้องให้ยางและดีบุก และก็ไม่ให้ตามจำนวนที่เราต้องการ เพราะญี่ปุ่นเองก็กำลังเตรียมตัว นายกรัฐมนตรีจึงสั่งให้ข้าพเจ้าเจรจากับทูตอังกฤษ ทูตอเมริกัน และอุปทูตเนเธอร์แลนด์๑๕ ทูตอังกฤษรับรองจะช่วย แต่ก็ออกตัวว่าอังกฤษเองก็ไม่มีน้ำมันพอ ฉะนั้นจะเจรจาขอให้สหรัฐอเมริกาช่วยด้วย สำหรับทูตอเมริกันนั้น ให้คำตอบเป็นที่เข้าใจว่าไม่เต็มใจ แต่ก็รับว่าจะรายงานรัฐบาลอเมริกัน อุปทูตเนเธอร์แลนด์แสดงความเห็นอกเห็นใจ แต่โดยที่ขณะนั้น เนเธอร์แลนด์เองถูกเยอรมันนียึดครอง รัฐบาลพลัดถิ่นต้องไปอยู่ที่กรุงลอนดอน จึงต้องแล้วแต่นโยบายของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี ตามเอกสารปรากฏว่า รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้เสนอต่อรัฐบาลอเมริกันว่า ควรช่วยโดยให้มีการตกลงกันระหว่างบริษัทน้ำมัน ซึ่งตั้งอยู่ในเนเธอร์แลนด์อีสตอินดีส๑๖ กับรัฐบาลไทยว่า จะจำหน่ายให้ได้เดือนละเท่าใดโดยจำกัดจำนวนให้เท่าที่จำเป็นที่สุด ทางรัฐบาลอเมริกันนั้นได้ปรึกษากับบริษัท Standard Vacuum Oil ทางบริษัทเห็นว่า วิธีดีที่สุดก็คือ ให้บริษัททั้งสองกลับเข้ามาขายน้ำมันอย่างเดิมตามสิทธิเดิม แต่รัฐบาลอเมริกันเห็นว่าคงไม่สำเร็จ เพราะคงถูกญี่ปุ่นขัดขวาง๑๗

ทางด้านอังกฤษนั้น ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ทูตอังกฤษได้ไปพบนายกรัฐมนตรีในฐานเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และแจ้งว่า รัฐบาลอังกฤษยินดีจะ ช่วยเรื่องน้ำมัน และขอทราบว่าเราต้องการน้ำมันชนิดใดด่วน นายกรัฐมนตรีได้ตอบว่า ที่ต้องการด่วนคือ น้ำมันดีเซลและน้ำมันยานยนต์ ซึ่งต่อมาไม่กี่วันอังกฤษก็รีบส่งมาให้จากสิงค์โปร์ โดยเรือสองลำ รวม ทั้งหมดประมาณ ๑,%๐๐ ตัน ในการนี้อังกฤษแสดงน้ำใจไม่เรียกร้องขอเงื่อนไขประการใด แต่สำหรับกาลต่อไป อังกฤษขอเจรจาเพื่อได้ยางและดีบุกเป็นการตอบแทน ในการนี้รัฐบาลอังกฤษรับรองว่า ถ้าไทยขายให้อังกฤษก็เท่ากับขายให้อเมริกาด้วย ไทยไม่ต้องวิตกว่า อเมริกาจะมาเรียกร้องเพิ่มเติมอีก เพราะอเมริกากับอังกฤษตกลงกันแล้ว และอเมริกาก็ไม่ขัดข้องในการที่อังกฤษจะเป็นผู้เจรจากับไทยแต่ผู้เดียว

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตอบกับทูตอังกฤษว่า สำหรับยางนั้นได้สัญญากับญี่ปุ่นไว้จะขายให้ ๓๐,๐๐๐ ตัน ฉะนั้นพอที่จะให้อังกฤษประมาณ ๑๘,๐๐๐ ตัน ความจริงตามที่ข้าพเจ้าทราบ นายกรัฐมนตรีเพียงรับปากกับญี่ปุ่น แต่ไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร สำหรับดีบุกนั้นอังกฤษไม่สู้ติดใจนัก เพราะในทางปฏิบัติ ได้อยู่แล้ว เพราะบริษัทอังกฤษ และออสเตรเลียทำเหมืองแร่ และควบคุมการขุดอยู่แล้วเป็นส่วนมาก

เรื่องอเมริกาปล่อยให้ทูตอังกฤษเจรจากับไทยนี้ นายแกรนต์ ทูตอเมริกันโกรธมาก ถึงกับโทรเลขต่อว่ากระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ว่ากำลังถูกอังกฤษจูงจมูกตามชอบใจ เรื่องการช่วยไทยนั้น เคยรายงานแล้ว ว่าควรระวัง เพราะไม่แน่ว่าไทยจะเดินนโยบายอย่างไรแน่ กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันต้องชี้แจงว่า การที่รัฐบาลอเมริกันต้องหันมาช่วยไทย ด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งให้น้ำมัน ก็เพราะเห็นว่า จะเป็นการสกัดกั้นไม่ให้ไทยหันไปมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับญี่ปุ่น และป้องกันไม่ให้ไทยต้องยอมเสียเอกราช การที่รัฐบาลอเมริกันยอมรับแผนข้อเสนอของอังกฤษ ก็โดยมีวัตถุประสงค์สองประการคือ ๑) เป็นการสนับสนุนความพยายามของอังกฤษที่จะสกัดกั้นไทยจากภัยดังกล่าว และให้ไทยมีท่าทีดีกับอังกฤษในสถานการณ์อันฉุกเฉินขณะนี้ และ ๒) เพื่อให้สหรัฐอเมริกาได้มาซึ่งยางและดีบุกของไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฉะนั้น ให้ทูตติดต่อกับรัฐบาลไทยด้วยว่า ไทยสามารถจะหายางและดีบุกให้ได้เพียงใด ในขณะเดียวกัน ไทยต้องการสินค้าอะไรบ้าง ให้เสนอบัญชีไป และการเจรจาว่า รัฐบาลอเมริกันจะออกใบอนุญาตให้ได้อย่างไรบ้าง ขอให้เจรจาทางกรุงวอชิงตัน เพราะกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันจะต้องปรึกษากับองค์การที่เกี่ยวข้องหลายองค์การ เพื่อเป็นการจูงใจให้รัฐบาลไทยไม่ชักช้า ให้บอกกับไทยได้ว่า ถ้าให้ยางและดีบุกมากเพียงใด สหรัฐอเมริกาก็พร้อมที่จะช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกตามส่วน๑๘

เรื่องรัฐบาลอเมริกันปล่อยให้อังกฤษเป็นผู้เจรจากับไทยแทนนี้ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันเองไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า เมื่อญี่ปุ่นเข้าเมืองไทยจริงๆ ไม่เชื่อว่าไทยจะต่อต้านญี่ปุ่นได้ผลจริงจัง ฉะนั้นจึงไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องช่วยไทยอย่างไร อย่างมากจะช่วยก็ควรช่วยให้พอกับที่ไทยจะให้ยางและดีบุกแก่สหรัฐอเมริกา และก็ควรจะเจรจาเรื่องนี้เสียก่อนนานแล้ว และการเจรจาก็ไม่ควรมอบให้อังกฤษไปเจรจาแทน เพราะอังกฤษจะหาอะไรไปให้ไทยได้ นอกจากน้ำมันเล็ก ๆ น้อย ๆ นอกนั้นก็ต้องหันมาพึ่งสหรัฐอเมริกา

ระหว่างนี้ทุกฝ่าย คือ ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ต่างก็แย่งกันซื้อยางและดีบุกในตลาดโดยเปิดเผย ทางญี่ปุ่นเมื่อทราบว่า อังกฤษและสหรัฐกำลังเจรจากับไทยในเรื่องเศรษฐกิจนี้ ได้สั่งให้อัครราชทูตญี่ปุ่น๑๙เข้าพบ ประท้วงต่อนายกรัฐมนตรี โดยแจ้งว่าญี่ปุ่นพร้อมที่จะให้น้ำมันไทยได้๒๐ แต่ยางที่นายกรัฐมนตรีสัญญาจะให้ปีละ ๓๐,๐๐๐ ตันนั้น ขอเพิ่มเป็น ๓๕,๐๐๐ ตัน นายกรัฐมนตรีตอบว่าจะได้พิจารณาต่อไป นายกรัฐมนตรีได้ถามข้าพเจ้าว่ามีความเห็นอย่างใด ข้าพเจ้าได้ให้ความเห็นว่า ทางดีที่สุด เรายืนยันในนโยบายขายในตลาดเปิดเผย มิฉะนั้นเราจะอยู่ในฐานะลำบาก จะถูกฝ่ายอังกฤษร้องว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ไทยเอนเอียง นายกรัฐมนตรีเห็นด้วย และว่าท่านจะแจ้งให้ฝ่ายญี่ปุ่นทราบต่อไป เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้เชิญทั้งทูตอังกฤษและอเมริกามาแจ้งให้ทราบ ทั้งสองนายแสดงความพอใจมาก

 

  1. ๑. หนังสือการทูตเล่มหนึ่ง หน้า ๖๓๖-๖๖๕

  2. ๒. ปัจจุบันอินโดนีเซีย

  3. ๓. รายละเอียดของการเจรจาระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา ดูหนังสือการทูต ของผู้เขียน เล่มหนึ่ง หน้า ๖๙๒ - ๘๒๓

  4. ๔. อ่านความเห็นของนายแกรนต์ อัครราชทูตอเมริกันซึ่งรายงานรัฐบาลแสดงความสงสัยไทย ในบทที่หกของภาคนี้

  5. ๕. ในขณะนั้นคือ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) นายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหม่อมเจ้าวิวัฒนชัย ไชยยันต์ ต่อมาเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นที่ปรึกษา

  6. ๖. ในขณะนั้น นายฟูตามิ เป็นอัครราชทูต

  7. ๗. เซอร์โจซาย ครอสบี้ ทูตอังกฤษ เป็นผู้เสนอความเห็นนี้ต่อรัฐบาลอังกฤษอย่างหนักแน่น ตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองไทย ทูตผู้นี้ได้มีไมตรีจิตอย่างดียิ่งต่อข้าพเจ้า

  8. ๘. ดูบทที่ ๕ แห่งภาคหนึ่งข้างต้น

  9. ๙. Foreign Relations of the United States. Diplomatic Papers Vol, V. The Far East หน้า ๒๓๖-๒๓๗

  10. ๑๐. ความเห็นเหล่านี้ปรากฏใน Foreign Relations of the United States ที่อ้างข้างต้น หน้า ๑๓๔-๑๓๗ ในขณะนั้นไทยยังไม่ได้อยู่ในกำมือของญี่ปุ่น แต่ในหนังสือเล่มนี้เองอ้างรายงานของนายแกรนต์ เป็นส่วนมาก

  11. ๑๑. รายงานฉบับนี้มีอิทธิพลจูงใจรัฐบาลอเมริกันมาก ดังจะเห็นได้ในพฤติการณ์ต่อมาภายหลัง และดู Foreign Relations of the United States ดังกล่าวข้างต้น หน้า ๑๔๖-๑๔๗

  12. ๑๒. ท่าทีของสหรัฐอเมริกานี้มาเปลี่ยนเป็นเห็นด้วยกับทูตอังกฤษ และเริ่มสนับสนุนไทยเมื่อเปลี่ยนทูตอเมริกันคนใหม่ชื่อ นาย Willys Peck เป็นข้าราชการกรมกิจการตะวันออกไกล เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) แต่ทูตคนนี้มาอยู่ได้ไม่ถึง ๓ เดือน ญี่ปุ่นก็ประกาศสงคราม

  13. ๑๓. เรื่องการลงนามอนุสัญญาสันติภาพฉบับนี้มีกล่าวโดยละเอียดแล้วในบทที่ ๔ ข้างต้น

  14. ๑๔. ดู Foreign Relations of the United States ที่อ้างข้างต้น หน้า ๑๔๘-๑๔๙ และดูท่าทีของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในการขอดินแดน ซึ่งปรากฏโดยละเอียดในบทที่ ๕ ข้างต้น

  15. ๑๕. อุปทูตเนเธอร์แลนด์ในขณะนั้นชื่อ นาย Touissaint

  16. ๑๖. หมายถึงบริษัท Standard-Vacuum Oil กับบริษัท Shell ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่เกาะดังกล่าว

  17. ๑๗. ดู Foreign Relations of the United States ที่อ้างข้างต้น หน้า ๑๕๐-๑๕๔

  18. ๑๘. ดู Foreign Relations of the United States ที่อ้างข้างต้น หน้า ๑๙๕-๑๙๖, ๒๐๕-๒๐๖

  19. ๑๙. นายฟูตามิ

  20. ๒๐. เมื่อทูตญี่ปุ่นเข้าพบนายกรัฐมนตรี ในตอนนี้ คือ ปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ก่อนญี่ปุ่นประกาศสงครามประมาณสี่เดือนครึ่ง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ