บทที่ ๔ การต่างประเทศ

เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗)

----------------------------

ได้กล่าวในบทที่ ๑ ของภาคนี้แล้วว่า เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ข้าพเจ้าได้เข้ารับราชการในกระทรวงการคลังรวม ๕ เดือนเต็ม ในรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ และรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช แล้วก็ออกจากราชการ เพราะสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ให้ความไว้วางใจแก่คณะรัฐมนตรีซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีได้สิ้นสุดลง ต่อมาอีกประมาณสองเดือนคือ ในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ได้กราบถวายบังคมลาออก เพราะแพ้คะแนนเสียงเกี่ยวกับฝ่ายค้านเสนอร่างพระราชบัญญัติลดการครองชีพซึ่งรัฐบาลแถลงว่าไม่สามารถรับได้ มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ดังรายนามคณะรัฐมนตรีต่อไปนี้

รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์

(๒๔ มีนาคม ๒๔๘๙-๙ มิถุนายน ๒๔๘๙)

๑. นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี
๒. พลโท จิระ วิชิตสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
๓. นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
๔. นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
๕. นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
๖. พระยาสุนทรพิพิธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
๗. นายสงวน จูฑะเตมีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
๘. นายสพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
๙. ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
๑๐. พ.อ. ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
๑๑. หลวงชำนาญนิติเกษตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
๑๒. นายเดือน บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๑๓. นายวิจิตร ลุลิตานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
๑๔. ขุนระดับคดี รัฐมนตรี
๑๕. นายวิโรจน์ กมลพันธ์ รัฐมนตรี
๑๖. พ.อ. ทวน วิชัยขัทคะ รัฐมนตรี
๑๗. พ.อ. พระยาสุรพันธ์เสนี รัฐมนตรี

ต่อมารัฐบาลลาออก เพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต และตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งส่วนมากก็คงประกอบด้วยรัฐมนตรีชุดเดิม

รัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ บริหารราชการต่อไป จนถึงวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) รวมเวลาเกือบ ๕ เดือน นายปรีดี พนมยงค์ ได้กราบถวายบังคมลาออก มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

คณะรัฐบาลชุดพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

๑. พลเรือตรถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
๒. นายดิเรก ชัยนาม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
๓. นายวิจิตร ลุลิตานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
๔. พลโท จิระ วิชิตสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
๕. นายเดือน บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๖. นายจรูญ สืบแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
๗. พ. อ. ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
๘. นายทองอิน ภูริพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
๙. ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
๑๐. พ.ต. วิลาศ โอสถานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
๑๑. พระยาสุนทรพิพิธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
๑๒. พ. อ. ทวน วิชัยขัทคะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
๑๓. นายเยื้อน พาณิชย์วิทย์ รัฐมนตรี
๑๔. นายวิโรจน์ กมลพันธ์ รัฐมนตรี
๑๕. นายเตียง ศิริขันธ์ รัฐมนตรี
๑๖. นายจำลอง ดาวเรือง รัฐมนตรี
๑๗. นายทองเปลว ชลภูมิ รัฐมนตรี
๑๘. ม.จ. นนทิยาวัติ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรี

ในรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมา ในรัฐบาล พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ข้าพเจ้าเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในระยะเวลาดังกล่าว คือ ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ซึ่งเป็นวันที่ข้าพเจ้ากราบถวายบังคมลาออก

การเจรจากับอังกฤษในเรื่องข้าวและเรื่องอื่น ๆ

เรื่องข้าว ข้าพเจ้าเข้ารับมอบงานในหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ จาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ในวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ในวันเดียวกันนั้นเอง ข้าพเจ้าได้ออกต้อนรับนายจี เจอฟเฟรย์ ทอมป์สัน อัครราชทูตอังกฤษ ซึ่งข้าพเจ้ารู้จักและคุ้นเคยกันอยู่ก่อนแล้ว ข้าพเจ้าได้กล่าวกับทูตว่า ข้าพเจ้าจะพยายามให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง เพราะประเทศเราทั้งสองเป็นมิตรกันมาช้านาน และถ้าข้าพเจ้ามีอะไรซึ่งจำต้องพูดโดยจริงใจแล้ว ก็จะแจ้งให้ทูตทราบ เพราะการเปิดเผยจะเป็นทางนำมาซึ่งความร่วมมืออย่างดียิ่ง ทูตตอบว่า สำหรับเขาเองก็เช่นเดียวกัน และเขามองไปถึงความร่วมมือในกาลข้างหน้า เรื่องที่ล่วงมาแล้วเป็นอันลืมเสียได้ ในการร่วมมือในกาลข้างหน้าระหว่างไทยกับอังกฤษนี้ ทูตจะถือหลักการช่วยเหลือซึ่งกันและกันและได้ประโยชน์ร่วมกัน และยินดีที่จะร่วมมือและพบปะข้าพเจ้าเสมอ ครั้นแล้วทูตได้กล่าวว่า ข้าพเจ้าคงทราบดีว่า ตั้งแต่เซ็นความตกลงสมบูรณ์แบบมาแล้ว จนบัดนี้ได้สามเดือน ปัญหาเรื่องการส่งข้าวให้สหประชาชาติไม่ราบรื่น เพราะไม่ได้ข้าวตามที่ตกลง ฉะนั้น จึงขอยื่นบันทึกให้ข้าพเจ้าในวันนี้ สาระสำคัญคือ รัฐบาลอังกฤษได้ตกลงกับรัฐบาลอเมริกันแล้วว่า พร้อมที่จะยกเลิกข้อ ๑๔ แห่งความตกลงสมบูรณ์แบบ กล่าวคือ แต่บัดนี้เป็นต้นไป รัฐบาลอังกฤษจะจ่ายเงินค่าข้าวให้ ไม่เอาเปล่า โดยให้รัฐบาลไทยส่งข้าวให้แก่องค์การของอังกฤษ และอเมริกันจำนวน ๑ ล้านสองแสนตัน ส่วนราคาเท่าใดนั้นจะได้เจรจากัน จำนวนข้าวนี้จะต้องส่งภายใน ๑๒ เดือน นับแต่วันแลกเปลี่ยนบันทึกแก้ไขความตกลงสมบูรณ์แบบ แต่ถ้ารัฐบาลไทยส่งข้าวได้น้อยกว่าหนึ่งล้านสองแสนตัน รัฐบาลอังกฤษจะขอให้รัฐบาลไทยส่งข้าวจำนวนที่เหลือ โดยไม่คิดมูลค่าภายในระยะเวลาซึ่งจะได้กำหนดต่อไป รัฐบาลไทยจะทำความตกลงสามฝ่าย คือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และไทย และทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยกระบวนการ ซึ่งจะปฏิบัติตามที่กล่าว เพื่อที่จะเร่งการผลิตข้าวในประเทศไทย และวางวิธีการในเรื่องวิธีการส่งข้าวออกนอกประเทศไทย

เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ การที่รัฐบาลอังกฤษเสนอเช่นนี้ ก็เพราะตั้งแต่เจรจาเรื่องความตกลงสมบูรณ์แบบแล้ว รัฐบาลไทยทั้งที่กรุงเทพฯ และผู้แทนของเราที่สิงคโปร์ ได้ชี้แจงว่าการที่จะเอาข้าวปริมาณดังกล่าว คือ ๑ ๑/๒ ล้านตันนั้น เป็นการพ้นวิสัย เพราะเงินมากมายเหลือเกิน ตั้งสองพันกว่าล้านบาท ไทยจนลงมากเนื่องจากสงคราม ญี่ปุ่นก็ยืมไปร่วมสองพันล้านบาท การขนส่งและคมนาคมอื่น ๆ ก็ทรุดโทรมมาก ไทยยังไม่สามารถที่จะเร่งการผลิตกรรมต่าง ๆ เพื่อหาเงินตราต่างประเทศมาได้ และการที่รัฐบาลจะไปบังคับซื้อจากราษฎรราคาถูก ๆ นั้น ยากมากและไม่เป็นธรรม และตลาดข้าวในขณะนั้นก็ไม่ได้อยู่ในมือรัฐบาล ผลก็คืออังกฤษจะไม่ได้ข้าวตามที่ต้องการ และก็จะมีผู้ลักลอบเอาข้าวไปขายต่างประเทศยิ่งกว่าเพราะหวังในราคาสูง และก็ปรากฏจริงตามที่รัฐบาลทำนายไว้ รัฐบาลอังกฤษจึงเปลี่ยนให้เป็นเสนอซื้อตามบันทึกดังกล่าวข้างต้น

ข้าพเจ้าได้ตอบทูตไปว่า เรื่องนี้จะได้นำเสนอนายกรัฐมนตรี โดยด่วน และก็คงจะปรึกษากันในคณะรัฐมนตรีพร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ได้ผลประการใดจะแจ้งให้ทูตทราบ ข้าพเจ้าได้บอกกับทูตให้ทราบด้วยว่า เมื่อวันก่อนซึ่งเป็นวันแถลงนโยบาย นายกรัฐมนตรีก็ได้แถลงแล้วว่า จะเร่งในเรื่องผลิตสินค้าต่าง ๆ ให้มากที่สุด เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องข้าว แต่ทูตต้องตระหนักไว้ด้วยว่า เราเนรมิตไม่ได้ เพราะเราเสียหายมากจากสงคราม แน่นอน ทูตจะไปเทียบเรากับประเทศอื่น ๆ ไม่ได้ ว่าเราเสียหายน้อย เราตัวเล็กแม้เจ็บน้อยก็เท่ากับเจ็บมาก นอกจากนี้รัฐบาลก็ช่วยเงินอีก ๑๕ ล้านบาท สำหรับซื้อพันธุ์ข้าวแจกจ่ายราษฎร เพื่อให้ได้ผลมากที่สุด นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า นโยบายของรัฐบาล นอกจากจะบำรุงราษฎรแล้ว ก็เพื่อให้เป็นไปตามเจตจำนงของความตกลงสมบูรณ์แบบ ต่อมา ในวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ฝ่ายเราได้ตกลง เพราะเห็นว่าความตกลงนี้ดีกว่าข้อ ๑๔ ของความตกลงสมบูรณ์แบบ ซึ่งเราต้องให้ข้าวโดยไม่คิดมูลค่า และได้มีประกาศในกรุงเทพ ฯ กรุงลอนดอน และกรุงวอชิงตัน พร้อมกันว่า รัฐบาลทั้งสามได้ตกลงกันว่า ต่อนี้ไปไทยจะไม่ต้องให้ข้าวเปล่า และรัฐบาลอังกฤษจะซื้อข้าวจากไทยเป็นจำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ ตัน โดยรัฐบาลไทยจะส่งมอบภายใน ๑๒ เดือน โดยกำหนดราคาข้าวเป็นมูลฐาน ตันละ ๑๒ ปอนด์ ๑๔ ชิลลิง (ประมาณ ๗๖๒ บาท) เพิ่มค่าปรีเมียมตันละ ๓ ปอนด์ สำหรับการส่งมอบภายในกำหนดวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) และตันละ ๑ ปอนด์ ๑๐ ชิลลิง สำหรับการส่งมอบระหว่างวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ถึง ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) แต่ถ้าภายใน ๑๒ เดือน นับตั้งแต่วันตกลงนี้ การส่งมอบข้าวจำนวนต่ำกว่าที่ตกลง รัฐบาลไทยจะต้องมอบข้าวจำนวนที่ขาดให้โดยไม่คิดมูลค่า เมื่อรัฐบาลไทยส่งข้าวให้แล้ว องค์การอาหารร่วมที่กรุงวอชิงตันจะเป็นผู้พิจารณาว่า จะแจกจ่ายไปให้ที่ใดบ้าง ความตกลงนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่อังกฤษเริ่มผ่อนปรนจากความตกลงสมบูรณ์แบบ โดยยอมให้เงินแทนเอาเปล่า แต่ก็ยังให้ราคาต่ำกว่าราคาโลกมาก อย่างไรก็ดี ความตกลงเรื่องข้าวครั้งนี้ยังไม่ได้ผลสมความปรารถนา เพราะมีอุปสรรคอีก ดังจะได้กล่าวในบทที่ ๕ ของภาคนี้

เรื่องรัฐบาลรับซื้อรางรถไฟสายพม่า (กาญจนบุรี)

ประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ทูตอังกฤษมีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศว่า ตามที่ญี่ปุ่นได้ขนวัสดุต่าง ๆ จาก พม่า มลายู และเนเธอร์แลนด์อิสต์อินดีส (อินโดนีเซีย) มาสร้างทางรถไฟสายกาญจนบุรี-พม่า รวมทั้งรถจักรและเครื่องอุปกรณ์มากหลายนั้น บัดนี้ทางรัฐบาลอังกฤษจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สามประเทศนั้น ๆ จึงจะรื้อและขนไป เพราะเวลานั้นยังมีทหารสัมพันธมิตรและเชลยศึกชาวญี่ปุ่นอยู่เป็นอันมาก จะได้ใช้เป็นกำลัง ฉะนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงขอความเห็นชอบจากรัฐบาลไทยก่อน รัฐบาลได้มาพิจารณาแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งทางกระทรวงคมนาคมเห็นว่า ควรรับซื้อไว้ดีกว่า เพราะทางรถไฟของเราก็กำลังขาดสัมภาระในเรื่องรถไฟอยู่มาก รัฐบาลจึงถามไปยังรัฐบาลอังกฤษว่า เพื่อไม่ให้อังกฤษต้องลำบากในการที่จะต้องรื้อขน รัฐบาลไทยจะช่วยอังกฤษโดยรับซื้อ ฉะนั้นขอทราบราคา ชั้นแรกรัฐบาลอังกฤษตอบมาว่าจะขอขายในราคาทั้งหมด ๓ ล้านปอนด์ เราตอบไปว่าสูงมาก รับไม่ไหว ในที่สุดรัฐบาลอังกฤษเสนอมาใหม่หนึ่งล้านห้าแสนปอนด์ รัฐบาลได้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณาเห็นว่าควรลดลงมาอีก ในที่สุด อังกฤษจึงเสนอราคาเด็ดขาด คือ ๑ ล้านสองแสนห้าหมื่นปอนด์ ซึ่งรัฐบาลได้ตกลงเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖)

เรื่องรถไฟสายกาญจนบุรี-พม่านี้ มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านเศร้าสลดมาก จนทั่วโลกขนานนามว่า “รถไฟสายมรณะ” (The Railway of Death)

เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะเชื่อมการคมนาคมกับพม่า โดยผ่านทางเมืองกาญจนบุรี ฉะนั้นจึงได้เริ่มสำรวจการสร้างทางรถไฟสายนี้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) เริ่มสร้างตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) โดยสร้างพร้อม ๆ กัน ทั้งสองด้าน คือ ทางด้านพม่าเริ่มจากเมืองทันไบยูซะยัดทางภาคใต้ของพม่า ทางด้านไทยเริ่มทางเมืองกาญจนบุรี แต่ภายหลังสร้างได้ไม่กี่เดือน ญี่ปุ่นเสียหายทางทะเลมากขึ้น ญี่ปุ่นเห็นว่าถ้าทางนี้เสร็จได้เร็วก็จะช่วยในเรื่องการขนส่งมาก จึงออกคำสั่งระดมให้เสร็จภายในเดือน สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) แต่เป็นที่ทราบกันแล้วว่า เส้นทางสายนี้ทุรกันดารที่สุด ต้องผ่านทิวเขามากหลาย ป่าดงทึบ อากาศก็ร้อนจัด และในภูมิภาคนี้ฝนก็หนัก โรคภัยไข้เจ็บนานาชนิดรุนแรง เครื่องมือสำหรับการช่างก็มีไม่พอ ทหารสัมพันธมิตรซึ่งเป็นเชลยเล่าว่างานส่วนมากต้องทำโดยใช้มือและกำลังแรงเป็นส่วนใหญ่ ญี่ปุ่นเกณฑ์เชลยศึกชาติต่าง ๆ เอามาใช้ รวมทั้งจ้างเกณฑ์พวกกุลีชาวทมิฬ พม่า ชวา ญวน มลายู และจีน คนงานเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเชลยศึกหรือคนงานซึ่งเกณฑ์จ้าง ต้องทำงานอย่างหนักที่สุด ตั้งแต่เช้าจนค่ำ อาหารก็ไม่พอกิน ที่พักก็ใช้ผ้าใบซึ่งทำเป็นหลังคา ในฤดูมรสุมฝนตกหนักนอนไม่ได้เพราะน้ำท่วม คนงานส่วนมากจึงเจ็บป่วย ยาก็มีไม่พอหรือไม่มี ส่วนมากจึงไม่รักษาปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ผลก็คือล้มตายลงเป็นอันมาก ในที่สุดญี่ปุ่นก็เร่งจนเสร็จได้ และเริ่มเปิดเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) เป็นระยะทาง ๔๑๕ กิโลเมตร เมื่อเปิดทางกองทัพญี่ปุ่นต้องทำพิธีทางศาสนาอุทิศส่วนกุศลให้คนงานที่ตายในการสร้างทางนี้ ญี่ปุ่นคำนวณว่าในการสร้างทางรถไฟสายนี้ ทหารญี่ปุ่นต้องตายประมาณ ๑๐,๐๐๐ เชลยศึกตายประมาณ ๑๐,๐๐๐ และพวกกลีที่จ้างเกณฑ์มาประมาณ ๓๐,๐๐๐ แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรแถลงว่าญี่ปุ่นคำนวณต่ำมาก สัมพันธมิตรคำนวณ จากผู้คนที่สูญหายไปในการนี้ว่า เชลยศึกคงตายประมาณ ๑๒,๐๐๐ กุลประมาณ ๒๕๐,๐๐๐

เป็นที่น่าปลื้มใจและอนุโมทนาอยู่อย่างหนึ่งที่ระหว่างสร้างทางนี้ คนไทยทั่วไป เฉพาะอย่างยิ่งคนไทยในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งที่เริ่มสร้างทางนั้น ได้เวทนารู้สึกสงสารพวกเชลยและพวกกุลีเหล่านั้น ได้แอบส่งอาหารเสื้อผ้า เงิน บุหรี่ ยา ฯลฯ ให้ สัมพันธมิตรเองได้บันทึกเรื่องนี้ไว้และมีหลักฐานปรากฏในสำนวนศาลทหารระหว่างประเทศที่กรุงโตเกียวถึงความเมตตากรุณาของพวกเราชาวไทย ความจริงไทยเราเป็นคนมีนิสัยเมตตากรุณาสงสารมนุษย์ทั้งนั้น ทั้งนี้เพราะอานุภาพของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ข้าพเจ้าเองเห็นกับตา ระหว่างญี่ปุ่นยึดครองเรา ๆ สงสารพวกฝรั่งที่ถูกจับเป็นเชลย แต่พอสัมพันธมิตรชนะทหารญี่ปุ่นกลับเปลี่ยนฐานะเป็นเชลย ต้องทำงานให้สัมพันธมิตร พวกเราก็กลับสงสารญี่ปุ่นและให้อาหารเสื้อผ้าเช่นเดียวกัน

เรื่องอังกฤษยอมปล่อยเงินที่กักกันไว้ระหว่างสงครามบางส่วน

ตามบันทึกของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ข้างต้น เมื่อเกิดสงครามก้านแปซิฟิค อีกนัยหนึ่งเมื่อเราเข้าสงคราม ทองคำของเราในสหรัฐอเมริกาถูกยึดมีค่า ๓๘,๓๙๐,๕๔๕ บาท หลักทรัพย์สเตอรลิงก์ และปอนด์สเตอรลิงก์ในอังกฤษถูกยึดมีค่า ๒๖๕,๗๕๓,๘๙๖, บาท แม้เมื่อเสร็จสงครามและอังกฤษจะได้ทำความตกลงสมบูรณ์แบบกับไทยแล้วก็ตาม ก็ยังกักกันไว้ ยังไม่ยอมปล่อย โดยให้เหตุผลว่า ต้องกักกันไว้ก่อนเพื่อเป็นประกันการใช้ค่าเสียหาย ซึ่งคณะกรรมการตามความตกลงสมบูรณ์แบบจะต้องพิจารณาค่าเสียหายซึ่งคนฝ่ายสัมพันธมิตรจะเรียกร้องก่อน การกระทำเช่นนี้เป็นการเดือดร้อนแก่ฝ่ายเรานานัปการ เมื่อลงนามความตกลงสมบูรณ์แบบแล้ว รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้พยายามร้องขอ แต่ก็ได้รับแจ้งว่าต้องรอไปก่อน เพราะยังไม่ทราบแน่ว่าค่าเสียหายซึ่งไทยจะต้องชดใช้มีเท่าใดแน่ ครั้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ข้าพเจ้าเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ข้าพเจ้าเจรจาวิงวอนต่ออังกฤษ ขอให้เห็นใจในฐานะของไทย เพราะไทยก็ได้แสดงการร่วมมือตลอดมา ในที่สุด ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) รัฐบาลอังกฤษแจ้งมาว่ายอมปล่อย แต่จะปล่อยเพียงบางส่วน เป็นเงินมูลค่าหนึ่งล้านปอนด์สเตอรลิงก์ ส่วนที่ยังคงยึดไว้อีก รัฐบาลอังกฤษให้เหตุผลเช่นเดิมว่า เพื่อเป็นประกันการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไทยกู้ก่อนสงครามและค้างชำระระหว่างสงครามกับต้นเงินกู้ของรัฐบาลไทยซึ่งกู้จากอังกฤษ เงินบำเหน็จบำนาญของข้าราชการชาวอังกฤษซึ่งมารับราชการในกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ของไทย และการเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากสงครามของเอกชนชาติอังกฤษ

เรื่องอังกฤษถอนทหารจากประเทศไทย

เรื่องที่ประชาชนคนไทยดีใจที่สุดในระหว่างนี้ก็คือ เรื่องอังกฤษถอนทหารออกจากประเทศไทย ย่อมทราบดีแล้วว่า การที่มีทหารต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศ ไม่ว่าประเทศใดที่เป็นเจ้าของบ้าน ไม่ยินดีทั้งนั้น นอกจากเจ้าของบ้านมีเหตุจำเป็นเพื่อการป้องกันตัว จึงต้องไปเชื้อเชิญเขาเข้ามา แต่ในกรณีทหารอังกฤษนี้ เขาเข้ามาโดยผลแห่งความตกลงสมบูรณ์แบบดังกล่าว

เริ่มแรกก็คือ ในราวกลางเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ทูตอังกฤษ และพลตรีบรันสกิล ผู้บัญชาการทหารอังกฤษประจำประเทศไทยได้มาพบข้าพเจ้าและแจ้งว่า บัดนี้รัฐบาลอังกฤษได้ตกลงใจที่จะถอนทหารออกจากประเทศไทยแล้ว ภายในสิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้รับขอบคุณเขาและแถลงให้สภาผู้แทนราษฎรทราบ แต่ในขณะนั้นเป็นแต่มาแจ้งด้วยวาจา ต่อมาในกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) จึงได้รับการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร ข้าพเจ้าจึงได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ซึ่งเป็นวันที่อังกฤษถอนทหาร มีความดังต่อไปนี้

“รัฐบาลมีเรื่องที่จะแถลงให้สภาทราบ ตามที่รัฐบาลได้เรียนกับสภาผู้แทนนี้เมื่อเดือนก่อนว่า ทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีอยู่ในประเทศไทยจะได้เดินทางออกจากประเทศไทยภายในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ศกนี้นั้น บัดนี้ รัฐบาลมีความยินดีที่จะเรียนให้สภานี้ทราบว่า รัฐบาลได้รับแจ้งจากฝ่ายอังกฤษว่า ได้ถอนทหารอังกฤษ และทหารอินเดีย ออกไปหมดแล้วในวันที่ (๓๑ ตุลาคม) คงเหลืออยู่ประมาณไม่เกิน ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นผู้ช่วยพลรบและทหารช่าง ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือในการซ่อมรถไฟ และปฏิบัติงานบางอย่างเกี่ยวกับทรัพย์สินของชนชาติศัตรู ส่วนทหารญี่ปุ่นซึ่งมีอยู่เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ ๑๑๕,๐๐๐ คนนั้น ได้ออกไปหมดแล้วภายในวันนี้ ส่วนชาวดัทช์ซึ่งยังคงเหลืออยู่ประมาณ ๓๐๐ คน ส่วนมากเป็นหญิงและเด็ก และกำลังรอเรือที่จะมารับกลับบ้านเมืองของเขาใน ๒-๓ วันนี้ และมีกุลีหลายชาติด้วยกัน ซึ่งญี่ปุ่นเกณฑ์มาหลายแห่ง ก็ออกไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๙ กุลีราว ๆ ๒๓,๐๐๐ คน เวลานี้เหลืออยู่ ๗๐๐ คน ซึ่งกำลังรอเรือกลับบ้านของตนเช่นเดียวกันใน ๒-๓ วันนี้ ในการนี้ ฝ่ายอังกฤษได้ชี้แจงว่า รู้สึกขอบคุณฝ่ายไทยที่ได้อำนวยความสะดวกและร่วมมือตลอดมา ทางฝ่ายรัฐบาลจึงถือโอกาสในการแถลงวันนี้ด้วยว่า ระหว่างที่ทหารสัมพันธมิตรดังกล่าวแล้วเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เพื่อเกี่ยวกับการปฏิบัติปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นตามความตกลงนั้น ก็ได้มีส่วนช่วยทางฝ่ายไทยเป็นอย่างดี เฉพาะอย่างยิ่ง อาทิเช่นในการช่วยซ่อมและจัดหาวัตถุเกี่ยวกับการซ่อมสร้างทางคมนาคม ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลเว้นเสียมิได้ที่จะขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง๑๐ รวมเวลาที่ทหารสัมพันธมิตรอยู่ในเมืองไทย ๑๔ เดือนครึ่ง”

เรื่องอื่น ๆ

ในระยะเวลาดังกล่าวข้างต้น นอกจากเรื่องที่กล่าวมาแล้ว ก็มีการเจรจาเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่องอาทิ เรื่องฝรั่งเศส๑๑ เรื่องอังกฤษจะช่วยบูรณะการขนส่งทางรถไฟ เรื่องอังกฤษช่วยซ่อมทำสะพานพระรามหก เรื่องการที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ๑๒ เรื่องอังกฤษตกลงถอนทหารทั้งหมดออกจากประเทศไทย ฯลฯ

ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศในระยะนี้เป็นเวลา ๑๑ เดือน ข้าพเจ้ากับเซอร์ จีออฟเฟรย์ ทอมป์สัน เอกอัครราชทูตอังกฤษได้เจรจาเรื่องต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ด้วยต่างฝ่ายต่างเห็นอกเห็นใจกันเป็นอย่างดี ซึ่งทูตเองก็ได้บันทึกไว้ในหนังสือความจำของเขา๑๓

การเจรจากับสหรัฐอเมริกา

ข้าพเจ้าได้ออกต้อนรับนายโยสต์ อุปทูตอเมริกัน ในวันเดียวกับที่ต้อนรับทูตอังกฤษ คือ ในวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) โดยที่นายโยสต์ก็รู้จักกันมาก่อนแล้ว ฉะนั้นเราจึงสนิทสนมและเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างดี ข้าพเจ้าได้กล่าวกับอุปทูตว่า คนไทยทั่วไปตระหนักในความกรุณาและไมตรีจิตของรัฐบาลอเมริกันและประชาชนอเมริกันซึ่งมีต่อชาติไทยและคนไทยเป็นอันมาก เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะไม่ละเลยแม้แต่น้อยในอันที่จะร่วมมือและส่งเสริมสัมพันธไมตรี และความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศของเราทั้งสอง อุปทูตได้กล่าวตอบทำนองเดียวกัน เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่ถือว่าเราเป็นคู่สงคราม ฉะนั้นปัญหากับสหรัฐอเมริกาจึงมีไม่สู้มากนัก

สหรัฐอเมริกาปล่อยเงินที่กักกัน

ในวันแรกที่ข้าพเจ้าได้พบอุปทูตอเมริกันผู้นี้ ข้าพเจ้าได้เริ่มทาบทามขอความเห็นอกเห็นใจจากอุปทูตทันที ว่าเรื่องหลักทรัพย์ของเราที่สหรัฐอเมริกากักกันไว้นั้น บัดนี้ก็ล่วงเวลามาพอสมควรแล้ว ฉะนั้น ขอให้เขารีบรายงานรัฐมนตรีต่างประเทศของเขาด่วนด้วย ว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลของข้าพเจ้า ตลอดทั้งประชาชนคนไทย จะไม่ลืมเลย ถ้ารัฐบาลอเมริกันจะช่วยปล่อยหลักทรัพย์ที่กักกันไว้ ทั้งนี้ รัฐบาลจะได้นำมาซื้อสินค้าเข้ามาบำรุงประเทศ เป็นการช่วยเหลือราษฎร ทั้งนี้ข้าพเจ้าขอร้องต่อสหรัฐอเมริกาเป็นพิเศษ อุปทูตได้ตอบว่า เข้าใจว่ายังมีปัญหาทางเทคนิคอยู่ จะได้รับรายงานไปด่วน อีก ๙ วันต่อมา คือ ในวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) อุปทูตได้มาขอพบ และแจ้งว่า ยินดีที่จะแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า รัฐบาลอเมริกันได้ตกลงปล่อยหลักทรัพย์ของรัฐบาลไทย ซึ่งอยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว ส่วนเงินของเอกชนคนไทยนั้น กำลังพิจารณาอยู่โดยด่วนแล้ว จะได้ปล่อยทันทีเมื่อได้รับยืนยันจากฝ่ายไทยว่า ทุกรายการของเงินของเอกชนนั้น ไม่ใช่เป็นเงินของญี่ปุ่นหรือเยอรมันนีหรืออิตาลี ซึ่งต่อมาอีกไม่นานนักก็ได้รับการเพิกถอนกักกันเช่นเดียวกัน

เรื่องตั้งทูตอเมริกัน

อุปทูตอเมริกันได้แจ้งว่า รัฐบาลอเมริกันจะแต่งตั้งนายเอดวิน สแตนตัน ซึ่งเดิมเป็นกงสุลใหญ่ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศคานาดา เคยเป็นรองอธิบดีกรมตะวันออกไกล เคยรับราชการในเมืองจีนหลายปี ฉะนั้นจึงขอความเห็นชอบรัฐบาลไทยเพื่อแต่งตั้งให้มาเป็นอัครราชทูตที่กรุงเทพ ฯ เรื่องนี้รัฐบาลเราได้พิจารณาเห็นชอบโดยด่วน และท่านผู้นี้ก็ได้เดินทางเข้ามารับตำแหน่งเมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) และต่อมาเลื่อนเป็นเอกอัครราชทูต และจากไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ (ค.ศ. ๑๙๕๓) ท่านผู้นี้นับว่าเป็นทูตอเมริกันที่มีไมตรีจิตก็ต่อเมืองไทยและชาวไทยที่สุดคนหนึ่ง รวมทั้งภรรยาด้วย แม้จะออกจากราชการไปแล้วก็ยังคอยส่งเสริมกิจกรรมและโฆษณาเรื่องเมืองไทย โดยรับเป็นประธานคณะกรรมการคณะมนตรีเกี่ยวกับเรื่องเมืองไทยของ Asia Society ที่นครนิวยอร์คจนทุกวันนี้

วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) นายโยสต์ นำนายสแตนตัน อัครราชทูตอเมริกันมาพบข้าพเจ้าเป็นครั้งแรก และข้าพเจ้ารู้สึกทันทีว่า ท่านผู้นี้เป็นมิตรของไทยและมีจิตใจงาม เราจะร่วมมือกันได้เป็นอย่างดี

นายสแตนตัน เอกอัครราชทูตอเมริกัน ได้กล่าวไว้ในหนังสือเกี่ยวกับการงานของเขาในหนังสือ “Brief Authority” ถึงการเจรจาเรื่องดินแดน เรื่องข้าว และเรื่องการทูตของไทย ซึ่งข้าพเจ้าขอแปลมีสาระสำคัญดังนี้ “................นายดิเรก รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ซึ่งข้าพเจ้าได้วางฐานความสัมพันธ์ฉันมิตรไว้แล้ว ได้กล่าวกับข้าพเจ้าอย่างตรงไปตรงมา แต่โดยใช้ภาษาการทูตที่สุภาพว่า คนไทยไม่มีความสุขใจเลย ในการที่จะต้องคืนดินแดนบางส่วนในกัมพูชาให้แก่ฝรั่งเศส ที่เสียไปเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘๑๔ (ค.ศ. ๑๘๙๕) ทั้งนี้เพราะถูกฝรั่งเศสบังคับ แต่ทูตเห็นว่าในระหว่างสงครามนี้ไทยได้มาโดยญี่ปุ่นจัดการ รัฐมนตรีแย้งว่า เราถือว่าดินแดนเหล่านี้เป็นของเราซึ่งถูกแย่งเอาไป

เรื่องที่เราสนทนานี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะโยงไปถึงเกียรติภูมิและชาตินิยมของไทย ข้าพเจ้า (ทูต) เองเข้าใจจิตใจของไทยดี อย่างไรก็ดี เพื่อประโยชน์ของสันติและความราบรื่นในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นการเดินการเมืองที่ถูกต้อง ถ้าพรมแดนของไทยจะกลับไปสู่สถานะเดิมก่อนสงคราม และเหตุผลยิ่งมีมากขึ้นอีก เพราะว่าไทยได้เข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และเมื่อญี่ปุ่นชวน ก็เห็นด้วยถึงกับประกาศสงครามต่ออังกฤษและเรา (สหรัฐอเมริกา) รัฐบาลไทยได้ยอมคืนดินแดนพม่าบางส่วน ซึ่งไทยได้เข้ายึดครองระหว่างสงครามและได้ตกลงในหลักการแล้วว่าจะยอมคืนดินแดนในอินโดจีนที่ยึดไว้ให้ฝรั่งเศส........................นายดิเรกย่อมตระหนักดีว่า เนื่องจากประเด็นนี้อาจถูกยกขึ้นที่สหประชาชาติ๑๕ ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ ฝรั่งเศสก็คงจะออกเสียงยับยั้งไม่ให้ไทยเข้าองค์การสหประชาชาติ

ข้าพเจ้าถามนายดิเรกว่า เรื่องการส่งข้าวให้สหประชาชาติว่า จะจัดการได้เพียงใด เพราะรัฐบาลอเมริกันเป็นห่วงใยในการที่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียใต้ ฟิลิปปินส์ และจีน ขาดแคลนอาหารอย่างน่าวิตก สหรัฐอเมริกาได้เป็นภาคีในความตกลงไตรภาคี๑๖ ร่วมกับอังกฤษและไทย ตามความตกลงนี้ได้ตั้งคณะกรรมการข้าวขึ้นในกรุงเทพฯ โดยให้มีหน้าที่จัดสรรตามที่คณะกรรมการเรื่องช่วยเหลืออาหารยามฉุกเฉินระหว่างประเทศ ซึ่งสัมพันธมิตรได้ตั้งขึ้นจะได้กำหนดเมื่อเสร็จสงคราม เพื่อจะได้บรรเทาในเรื่องขาดอาหาร ข้าพเจ้าได้กล่าวกับรัฐมนตรีว่า สถิติการส่งข้าวออก นอกประเทศของไทยดูต่ำมาก รัฐบาลไทยจะช่วยให้ส่งได้มากขึ้นไม่ได้หรือ รัฐมนตรีตอบอย่างแนบเนียนว่า ขอให้เห็นใจ รัฐบาลต้องประสบความยุ่งยากมากหลายเช่น รถไฟบรรทุกสินค้าซึ่งส่วนมากถูกทำลายระหว่างสงครามโดยสัมพันธมิตร แต่รัฐบาลจะพยายามอย่างที่สุด๑๗

ข้าพเจ้ากลับไปสถานทูต รู้สึกว่าเรารู้จักเข้าใจกันดียิ่งขึ้น ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ประสบพบเห็นฝีมือและการปฏิบัติอย่างแนบเนียน (skill and tact) ของนักการทูตไทย ข้าพเจ้าจำต้องกล่าวว่านับตั้งแต่นั้นมา ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจยิ่งขึ้นว่า คนไทยนั้นมีความสุภาพเสมอและใช้ความแนบเนียนซึ่งหาทัดเทียมได้ยาก แม้เรื่องที่จะต้องอภิปรายหรือเจรจากันนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สนุก (disagreeable) ก็ตาม คนไทยก็มีศิลปในการที่จะพูดจาคล้าย ๆ ยินยอมโดยวาจาสุภาพที่สุด แต่ไม่แปลว่าจะตกลงทำด้วย ถ้าเขาเห็นว่าเรื่องนั้น ๆ ไม่เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองของเขา.........”๑๘ ที่นายสแตนตันว่าในวรรคท้ายนี้ก็เป็นความจริง เพราะในกรณีถูกบีบบังคับไม่มีทางหนีได้ ก็จำต้องยอม แต่เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่รักความเป็นไท เมื่อทราบดีว่า เรื่องที่ต้องยอมนั้นเสียหายแก่ชาติบ้านเมือง ก็ต้องพยายามดิ้นรนสลัดจากข้อผูกมัด

  1. ๑. ราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๖๓ ตอน ๑๖ หน้า ๓๗๐ พ.ศ. ๒๔๘๙ และหนังสือเรื่อง คณะรัฐมนตรี ของนายมนูญ บริสุทธิ์ หน้า ๑๕๖-๑๕๘

  2. ๒. ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. ๒๔๘๙ เล่ม ๖๓ ตอน ๕๖ หน้า ๓ และหนังสือเรื่อง คณะรัฐมนตรี ของนายมนูญ บริสุทธิ์ หน้า ๑๖๑-๑๖๓

  3. ๓. ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น เซอร์ และเลื่อนขึ้นเป็นเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพระราชสำนักไทย

  4. ๔. ดูความตกลงสมบูรณ์แบบในภาคผนวก

  5. ๕. นายปรีดี พนมยงค์

  6. ๖. หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย กับ เอกอัครราชทูตอังกฤษ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖)

  7. ๗. ดูภาคสาม บทที่ ๑

  8. ๘. ดูเรื่องการเจรจาทำความตกลงสมบูรณ์แบบในภาคสาม บทที่ ๑

  9. ๙. นายปรีดี พนมยงค์

  10. ๑๐. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๑๓/๒๔๘๙ (วิสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๘๔๙ หน้า ๑๗

  11. ๑๑. ดูเรื่องการเจรจากับฝรั่งเศส ในภาคสาม บทที่ ๕

  12. ๑๒. ดูเรื่องไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในภาคสามบทที่ ๖

  13. ๑๓. Front Line Diplomat โดย Sir Geoffrey Thompson, หน้า ๑๙๑

  14. ๑๔. ในบันทึกการสนทนาของข้าพเจ้าไม่ได้ระบุว่าเสียในปีใดบ้าง เป็นแต่กล่าวว่าดินแดนที่เราได้มาใน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) นั้นเป็นดินแดนที่ฝรั่งเศสบังคับเอาไป และเราได้มาโดยสนธิสัญญา

  15. ๑๕. ดูเรื่องการเจรจากับฝรั่งเศสและเรื่องไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติต่อไปในบทนี้

  16. ๑๖. ดูเรื่องสัญญาไตรภาคีเกี่ยวกับการส่งข้าวตอนต้นของบทนี้

  17. ๑๗. เหตุผลเรื่องการส่งข้าวไม่ได้เต็มจำนวน ที่ข้าพเจ้าชี้แจงไป นอกจากเรื่องขาดรถสินค้า ทางรถไฟ ยานพาหนะทรุดโทรม มีใช้ได้จริงๆ น้อยมาก การคมนาคม ราคาข้าวที่เราได้รับ การลักลอบส่งข้าวออกนอกประเทศ ฯลฯ เหตุผลละเอียดขอให้ดูเรื่องการเจรจาเรื่องข้าวในตอนต้นและในการขอขึ้นราคาข้าวในบทที่หกของภาคสาม

  18. ๑๘. Brief Authority ของ Edwin Stanton หน้า ๑๘๓-๑๘๔

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ