ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

ความตกลงระงับกรณี

ระหว่าง

ประเทศไทย กับ ประเทศฝรั่งเศส

และ

พิธีสารว่าด้วยการถอนตัวออกไป และ การโอนอาณาเขต

ลงนาม ณ กรุงวอชิงตัน วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๙

ประกาศ

ใช้ความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศส

มีพระบรมราชโองการให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า

โดยที่ความตกลงระงับกรณีระหว่างประเทศ ไทยกับประเทศฝรั่งเศสซึ่งได้ลงนามกัน ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ มีบทในข้อ ๕ ว่า ให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันลงนามเป็นต้นไป

โดยที่พิธีสารภาคผนวกความตกลงดังกล่าว ซึ่งได้ลงนามกัน ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ มีบทในตอนท้ายว่า ให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันลงนามเป็นต้นไป

ฉะนั้น ความตกลงและพิธีสารภาคผนวกนี้ จึงเป็นอันใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นต้นไป

อนึ่ง มีหนังสือแลกเปลี่ยนประกอบความตกลง ซึ่งพึงประกาศด้วย คือ

๑. หนังสือแลกเปลี่ยนเรื่องการเจรจาปัญหาเรื่องเงินและเรื่องโอนมูลค่าต่างๆ เกี่ยวเนื่องกับความตกลง

๒. หนังสือแลกเปลี่ยนเรื่องการตั้งสถานกงสุลไทยที่เมืองพระตะบอง

๓. หนังสือแลกเปลี่ยนเรื่องการทำความตกลงเรื่องการตำรวจชายแดน

๔. หนังสือแลกเปลี่ยน เรื่องสัญชาติ และทรัพย์สินของพลเมืองในอาณาเขตที่โอน

ประกาศมา ณ วันที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็น ปีที่ ๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเรือตรี ถ. ธำรงนาวาสวัสดิ์

นายกรัฐมนตรี

----------------------------

ความตกลงระงับกรณี

ระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส

รัฐบาลแห่งประเทศไทย และรัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐ ฝรั่งเศส

ปฏิบัติตามอุดมคติแห่งสหประชาชาติ และเพื่อประโยชน์แห่งสันติภาพของโลก

คำนึงถึงทุกความเห็นซึ่งรัฐบาลอเมริกันและอังกฤษได้แสดงไว้

มีความปรารถนาที่จะกลับสถาปนาความสัมพันธ์ทางสันติ และมิตรภาพตามประเพณีนิยมระหว่างประเทศทั้งสองของตน

จึ่งได้แต่งผู้มีอำนาจเต็มของตนเพื่อการนี้ คือ

ฝ่ายสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย

พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร สมาชิกพฤฒิสภา เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก

ฯพณฯ นายควง อภัยวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทน มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก

ฝ่ายประธานาธิบดีรัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ฯพณฯ นายฮังรี บอนเนต์ เอกอัครราชทูตวิสามัญ และผู้มีอำนาจเต็มของประเทศฝรั่งเศสประจำสหรัฐอเมริกา จัตุรถาภรณ์ เครื่องอิสริยาภรณ์ประจำชาติแห่งเลจิอองดอนเนอร์

ฯพณฯ นายกิโยม จอร์จส์ ปิโคต์ เอกอัครราชทูตวิสามัญ และผู้มีอำนาจเต็มของประเทศฝรั่งเศสประจำสหรัฐเวเนซุเอลา เบ็ญจมาภรณ์ เครื่องอิสริยาภรณ์ประจำชาติแห่งเลจิอองดอนเนอร์

ผู้ซึ่ง เมื่อได้ส่งหนังสือมอบอำนาจเต็มของแต่ละฝ่ายให้แก่กันและกัน และได้ตรวจเห็นว่า เป็นไปตามแบบที่ดีและถูกต้องแล้ว ได้ทำความตกลงกันในบทบัญญัติดังต่อไปนี้

ข้อ ๑. อนุสัญญากรุงโตกิโอ ฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสบอกปฏิเสธมาก่อนนั้น เป็นอันยกเลิก และสถานภาพก่อนอนุสัญญานั้นเป็นอันกลับสถาปนาขึ้น

ฉะนั้น อาณาเขตอินโดจีนที่มีบัญญัติไว้ในอนุสัญญาดังกล่าว จึงจะได้โอนให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายฝรั่งเศส ตามเงื่อนไขที่แจ้งอยู่ในพิธีสารซึ่งกระทำไว้เพื่อการนั้น

ข้อ ๒. ในทันทีภายหลังการลงนามความตกลงฉบับนี้ ความสัมพันธ์ทางทูตจะได้กลับสถาปนาขึ้น และความเกี่ยวพันระหว่างประเทศทั้งสองจะได้อยู่ในบังคับแห่งสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ และข้อตกลงทางการพาณิชย์และศุลกากรฉบับวันที่ ๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ นั้นใหม่ ภาคผู้ทำสัญญานี้จะได้แจ้งความตกลงนี้ไปยังคณะมนตรีความมั่นคง และประเทศไทยจะได้ถอนคำร้องที่ได้ยื่นไว้ต่อคณะมนตรีนั้น ประเทศฝรั่งเศสจะไม่คัดค้านอีกต่อไป ในการที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติ

ข้อ ๓. ในทันทีภายหลังการลงนามความตกลงฉบับนี้ ประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส โดยใช้ข้อ ๒๑ แห่งสนธิสัญญาระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทยฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ จะได้จัดตั้งคณะกรรมการการประนอมขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้แทนของภาคีสองคน และผู้เป็นกลางสามคน ตามความในกรรมสารทั่วไปแห่งเจนีวา ฉบับวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๘ สำหรับการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ซึ่งวางระเบียบการจัดตั้ง และการดำเนินงานของคณะกรรมการนี้ คณะกรรมการนี้จะได้เริ่มงานโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ ภายหลังที่ได้ดำเนินการโอนอาณาเขต ซึ่งกล่าวไว้ในข้อ ๑ วรรค ๒ เสร็จแล้ว คณะกรรมการนี้จะได้รับมอบหมายให้พิจารณาคารมทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ ของภาคีในการสนับสนุนการแก้ไขหรือยืนยันข้อความแห่งสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ อนุสัญญาฉบับวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ และสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งข้อ ๒๒ แห่งสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ยังให้คงใช้อยู่

ข้อ ๔. ในทันใดที่กลับสถาปนาความสัมพันธ์ทางทูต ก็จะได้เปิดการเจรจากันเพื่อระงับปัญหาที่ค้างอยู่ระหว่างประเทศทั้งสอง

ปัญหาการเงินอันเกี่ยวพันกับความตกลงระงับกรณีฉบับนี้ รวมทั้งจำนวนเงินที่จะจ่ายเป็นค่าทดแทนความเสียหายที่ได้รับนั้น ให้นำเสนอคณะกรรมการการประนอมในกรณีที่ภาคีทั้งสองฝ่ายมิได้ทำความตกลงกันโดยตรงภายในกำหนดเวลาสามเดือน

ข้อ ๕. ความตกลงฉบับนี้ จะได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันลงนามเป็นต้นไป

เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้มีอำนาจเต็มได้ลงนามและประทับตราความตกลงฉบับนี้ไว้เป็นสำคัญ

ทำคู่กันเป็นสองฉบับ เป็นภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่สิบเจ็ด พฤศจิกายน พันเก้าร้อยสี่สิบหก ตรงกับวันที่สิบเจ็ด เดือนที่สิบเอ็ด พุทธศักราช สองพันสี่ร้อยแปดสิบเก้า

ฝ่ายราชอาณาจักรไทย ฝ่ายสาธารณรัฐฝรั่งเศส
(ประทับตรา) วรรณไวทยากร (ประทับตรา) ฮังรี บอนเนต
(ประทับตรา) ควง อภัยวงศ์ (ประทับตรา) จอร์จส์ ปี โคต

 

พิธีสารว่าด้วยวิธีการถอนตัวออกไปและการโอนอาณาเขต

ที่ระบุไว้ในข้อ ๑ แห่งความตกลงระงับกรณีที่กระทำกัน ณ วันนี้

รัฐบาลแห่งประเทศไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสตกลงกันดังต่อไปนี้

. การโอนอสังหาริมทรัพย์สาธารณะ

ภายใน ๒๐ วัน หลังจากการลงนามความตกลงระงับกรณีระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส รัฐบาลแห่งประเทศไทยจะได้มอบบัญชีรายการอสังหาริมทรัพย์สาธารณะ ซึ่งมีอยู่ในอาณาเขตที่เกี่ยวข้อง กับทั้งบัญชีรายชื่อผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโอนนั้นให้แก่คณะกรรมการ เสนาธิการผสมระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีข้อกำหนดการจัดตั้งไว้ในส่วนที่ ๔ ก.

รัฐบาลฝรั่งเศสจะได้มอบบัญชีบุคคล ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับบรรดาอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแล้วให้แก่คณะกรรมการนั้นภายในกำหนดเวลาเดียวกัน

ผู้แทนของทั้งสองฝ่ายจะได้แบ่งออกเป็นหมู่ ๆ โดยคณะกรรมการเป็นผู้จัดทำ และจะได้ชุมนุมกัน ณ ที่และวัน ซึ่งคณะกรรมการจะได้กำหนด

. การโอนหนังสือราชการ

หนังสือราชการแห่งตำบลและจังหวัดกับทั้งหนังสือราชการของศาลและองค์การอื่น ๆ แห่งรัฐ จะได้โอนให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายฝรั่งเศส ตลอดจนผังรังวัด ซึ่งเก็บไว้ในอาณาเขตที่เกี่ยวข้องด้วย ส่วนผังทะเบียน และเอกสารรังวัดอื่น ๆ ซึ่งเก็บไว้นอกอาณาเขตดังกล่าวแล้ว ก็จะมอบสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส

การโอนนี้จะได้กระทำเสร็จภายในสองเดือน หลังจากการลงนามความตกลงระงับกรณีระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส

. การถอนตัวออกไปจากอาณาเขต

อาณาเขตที่มีบัญญัติไว้ในพิธีสารนี้ กองกำลังแห่งประเทศไทยที่มีอยู่จะได้ถอนตัวออกไป และกองกำลังของฝรั่งเศสจะได้เข้ายึดครองตามหลักต่อไปนี้

ก) กองกำลังแห่งประเทศไทยซึ่งประจำอยู่ระหว่างเขตแดนปัจจุบันกับเขตแกนเก่า (ดูข้อ ๒๒ แห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๓๗) จะได้ออกเดินขบวนในวันที่ยี่สิบ หลังจากการลงนามความตกลงระงับกรณี และจะต้องพ้นเส้นเขตแดนเก่า (ดูข้อ ๒๒ แห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๓๗) ไป ภายในเจ็ดวันเป็นอย่างช้า ส่วนตำรวจภูธร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ปกครองแห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ในอาณาเขตดังกล่าวข้างต้น จะได้ล่วงหน้าไปก่อน ทั้งนี้ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ที่จะร่วมงานในการโอนดังบัญญัติไว้ในส่วนที่ ๑ และที่ ๒ ข้างบนนี้ และเจ้าหน้าที่ที่จำเป็น เพื่อรับการรักษาความสงบเรียบร้อย กองกำลังสำหรับรักษาทางคมนาคม และเฉพาะอย่างยิ่งงานโยธานั้นก็ให้คงอยู่ในอาณาเขตที่กล่าวนี้เช่นเดียวกันจนกว่ากองกำลังฝรั่งเศสจะมารับหน้าที่แทน

ข) กองกำลังซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสมีเจตนาจะส่งไปในอาณาเขตดังกล่าวแล้วจะได้ออกเดินขบวนในวันรุ่งขึ้น จากวันที่กองกำลังแห่งประเทศไทยจะได้เริ่มถอนตัวออกไป และจะถึงเส้นเขตแดนเก่า (ดูข้อ ๒๒ แห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๓๗) ได้ ก็เจ็ดวันหลังจากนั้นเป็นอย่างเร็ว จะให้เจ้าหน้าที่ปกครองฝ่ายฝรั่งเศสซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปประจำอยู่ในอาณาเขตดังกล่าวแล้วตามไปก็ได้

ค) กองกำลังฝ่ายฝรั่งเศสจะได้กะระยะการเดินขบวนให้มีระยะห่างเป็นนิจากกองกำลังแห่งประเทศไทย

. วิธีการปฏิบัติ

รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะได้จัดการทุกอย่างที่จำเป็น เพื่อให้การถอนตัวออกไปและการโอนดังที่บัญญัติไว้ในพิธีสารนี้เป็นไปโดยเรียบร้อย และมิให้มีเหตุเกิดขึ้น รัฐบาลแห่งประเทศไทยจะคงรับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตปกครองแต่ละเขตจนกว่าจะได้มอบโอนอำนาจของตนไปโดยแท้จริง

ก) จะได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเสนาธิการผสมระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทางฝ่ายประเทศฝรั่งเศสมีคณะผู้แทน ประกอบด้วยนายพันเอกเป็นประธาน นายทหารเสนาธิการอีกสิบเอ็ดนาย และข้ารัฐการแห่งสำนักข้าหลวงใหญ่ และรัฐบาลเขมรและลาวอีกสี่นาย และทางฝ่ายประเทศไทยมีคณะผู้แทนซึ่งประกอบขึ้นในทำนองเดียวกัน และให้คณะกรรมการนี้เข้ารับหน้าที่ในวันลงนามความตกลงระงับกรณี หน้าที่ของคณะกรรมการนี้จะสุดสิ้นลงในทันใดที่การโอนอาณาเขตจะได้กระทำเสร็จ

คณะกรรมการนี้จะได้รับมอบหมายให้ดูแลในท้องที่เพื่อให้การเป็นไปตามพิธีสารนี้ด้วยดี และให้ระงับบรรดาปัญหาอันประกอบเกี่ยวเนื่องคณะกรรมการนี้ โดยหลักการจะได้มีถิ่นที่อยู่ ณ พระตะบอง และจะตั้งอนุกรรมการแยกออกไป ในถิ่นที่ใด ที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้ เฉพาะอย่างยิ่งที่ศรีโสภณ เมืองกระลัน และจัมปาศักดิ์ และจะมีผู้สังเกตการณ์ที่เป็นกลาง เฉพาะอย่างยิ่งนายทหารอังกฤษและอเมริกันประจำอยู่ด้วยก็ได้

ข) กองกำลังที่ถอนตัวออกไปแล้ว จะทิ้งกองทหารนอกระเบียบ หรือบุคคลมีอาวุธปืนไว้ข้างหลังไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นไปตามบทบัญญัติพิเศษที่กำหนดไว้ในส่วนที่ ๓ ก. ตอนท้าย โดยนัยเดียวกัน กองกำลังที่จะเข้ายึดครอง จะให้มีกองทหารนอกระเบียบ หรือบุคคลมีอาวุธปืนล่วงหน้าไปก่อนไม่ได้

ค) รัฐบาลทั้งสอง แต่ละฝ่ายจะได้ออกคำสั่งเป็นกิจะลักษณะ ให้หน่วยทหารและตำรวจของตนเว้นจากการปล้นทุกประการ

พิธีสารนี้จะได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันลงนามเป็นต้นไป

เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องจากรัฐบาลแต่ละฝ่าย ได้ลงนามและประทับตราพิธีสารนี้ไว้เป็นสำคัญ

ทำคู่กันเป็นสองฉบับ เป็นภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่สิบเจ็ด พฤศจิกายน พันเก้าร้อยสี่สิบหก ตรงกับวันที่สิบเจ็ด เดือนที่สิบเอ็ด พุทธศักราช สองพันสี่ร้อยแปดสิบเก้า

ฝ่ายราชอาณาจักรไทย ฝ่ายสาธารณรัฐฝรั่งเศส
(ประทับตรา) วรรณไวทยากร (ประทับตรา) ฮังรี บอนเนต์
(ประทับตรา) ควง อภัยวงศ์ (ประทับตรา) จอร์จส์ ปีโคต์

 

(จากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ถึง ฯพณฯ ฮังรี บอนเนต์)

คำแปล

สถานทูตไทย

กรุงวอชิงตัน

๑๒ พฤศจิกายน ๑๕๕๖

ท่านเอกอัครราชทูต

ข้าพเจ้าขอยืนยันความตกลงด้วยวาจา ซึ่งเราได้กระทำกันไว้ ความว่า จะได้เปิดการเจรจาโดยเร็วที่สุด เพื่อตกลงปัญหาเรื่องเงิน และเรื่องการโอนมูลค่าต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความตกลงซึ่งลงนามกันวันนี้

ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังท่านเอกอัครราชทูต

(ลงพระนาม) วรรณไวทยากร

ฯพณฯ

นายฮังรี บอนเนต์

เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐอเมริกา

หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายฝรั่งเศส

(จาก ฯพณฯ ฮังรี บอนเนต์ ถึง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร)

คำแปล

สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส

ประจำสหรัฐอเมริกา

กรุงวอชิงตัน

๑๗ พฤศจิกายน ๑๙๔๖

ฝ่าพระบาท

ข้าพเจ้าขอยืนยันความตกลงด้วยวาจา ซึ่งเราได้กระทำกันไว้ ความว่า จะได้เปิดการเจรจาโดยเร็วที่สุด เพื่อตกลงปัญหาเรื่องเงิน และเรื่องการโอนมูลค่าต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความตกลงซึ่งลงนามกันวันนี้

ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังฝ่าพระบาท

(ลงนาม) ฮ. บอนเนต์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร

หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย

(จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ถึง ฯพณ ฯ ฮังรี บอนเนต์)

คำแปล

สถานทูตไทย

กรุงวอชิงตัน

๑๗ พฤศจิกายน ๑๙๔๖

ท่านเอกอัครราชทูต

ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ ฯพณฯ ทราบว่า โดยพิจารณาผลประโยชน์ของไทยในอาณาเขตที่ระบุในความตกลงซึ่งลงนามกันวันนี้ และความสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางพาณิชย์กับอาณาเขตเหล่านี้ รัฐบาลของข้าพเจ้าถือว่าเป็นการสำคัญยิ่งที่จะตั้งสถานกงสุล ณ พระตะบอง

ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้รับภาระให้นำส่งคำขอในเรื่องนี้มายังรัฐบาลฝรั่งเศส และข้าพเจ้าขอความอนุเคราะห์จาก ฯพณฯ เพื่อการนี้ด้วย ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังท่านเอกอัครราชทูต

(ลงพระนาม) วรรณไวทยากร

ฯ พณ ฯ

นายฮังรี บอนเนต์

เอกอักรราชทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐอเมริกา

หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายฝรั่งเศส

(จาก ฯพณฯ ฮังรี บอนเนต์ ถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร)

คำแปล

สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส

ประจำสหรัฐอเมริกา

กรุงวอชิงตัน

๑๖ พฤศจิกายน ๑๙๔๖

ฝ่าพระบาท

ข้าพเจ้าได้รับหนังสือของฝ่าพระบาทวันนี้ ดังข้อความต่อไปนี้

“โดยพิจารณาผลประโยชน์ของไทยในอาณาเขตที่ระบุในความตกลงซึ่งลงนามกันวันนี้ และความสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางพาณิชย์กับอาณาเขตเหล่านี้ รัฐบาลของข้าพเจ้าถือว่าเป็นการสำคัญยิ่งที่จะตั้งสถานกงสุล ณ พระตะบอง ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้รับภาระ ให้นำส่งคำขอในเรื่องนี้มายังรัฐบาลฝรั่งเศส และข้าพเจ้าขอความอนุเคราะห์จาก ฯ พณ ฯ เพื่อการนี้ด้วย”

ในเมื่อความสัมพันธ์ทางการกงสุล จะได้กลับสถาปนาระหว่างประเทศทั้งสองแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสพร้อมที่จะพิจารณาคำขอนี้ด้วยเจตนารมณ์อันดี ตามข้อ ๑๖ แห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๓๗

ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังฝ่าพระบาท

(ลงนาม) ฮ. บอนเนต์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร

หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย

(จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ถึง ฯ พณ ฯ ฮังรี บอนเนต์)

คำแปล

สถานทูตไทย

กรุงวอชิงตัน

๑๗ พฤศจิกายน ๑๕๕๖

ท่านเอกอัครราชทูต

ข้าพเจ้าขอยืนยันความตกลงด้วยวาจา ซึ่งเราได้กระทำกันไว้ ความว่า จะได้มีคำสั่งอย่างเคร่งครัดที่สุด และจะได้จัดการที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ชายแดน โดยเฉพาะก็ด้วยการกระทำความตกลงเรื่องการตรวจชายแดนโดยเร็วที่สุด

ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังท่านเอกอัครราชทูต

(ลงพระนาม) วรรณไวทยากร

ฯพณฯ

นายฮังรี บอนเนต์

เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐอเมริกา

หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายฝรั่งเศส

(จาก ฯพณฯ ฮังรี บอนเนต์ ถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร)

คำแปล

สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส

ประจำสหรัฐอเมริกา

กรุงวอชิงตัน

๑๗ พฤศจิกายน ๑๙๔๖

ฝ่าพระบาท

ข้าพเจ้าขอยืนยันความตกลงด้วยวาจา ซึ่งเราได้กระทำกันไว้ ความว่า จะได้มีคำสั่งอย่างเคร่งครัดที่สุด และจะได้จัดการที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ชายแดน โดยเฉพาะก็ด้วยการกระทำความ ตกลงเรื่องการตรวจชายแดนโดยเร็วที่สุด

ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังฝ่าพระบาท

(ลงนาม) ฮ. บอนเนต์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร

หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย

(จาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ถึงฯพณฯ ฮังรี บอนเนต์)

คำแปล

สถานทูตไทย

กรุงวอชิงตัน

๑๗ พฤศจิกายน ๑๙๔๖

ท่านเอกอัครราชทูต

ข้าพเจ้าขอยืนยันความตกลงด้วยวาจา ซึ่งเราได้กระทำกันไว้ ในเรื่องพลเมืองแห่งอาณาเขตที่กล่าวถึงในข้อ ๑ ของความตกลงระงับกรณีซึ่งได้ลงนามกันในวันนี้ และเรื่องทรัพย์สินของพลเมืองเหล่านี้ ซึ่งอยู่ในอาณาเขตดังกล่าว ความว่า

๑. พลเมืองซึ่งได้สัญชาติไทยโดยอาศัยอนุสัญญาฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ จะได้กลับคืนสู่สัญชาติเดิมของเขาทีเดียว ในทันทีที่การโอนอาณาเขตดังกล่าวข้างต้นเสร็จสิ้นลง พลเมืองซึ่งมีสัญชาติไทยโดยกำเนิดหรือซึ่งได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมาย คงรักษาสัญชาตินี้ไว้

๒. จะไม่ทำการขัดขวางด้วยประการใด ๆ ต่อการที่บุคคลในจำพวกที่กล่าวข้างหลังนี้ ซึ่งประสงค์จะออกจากอาณาเขตเหล่านี้ที่จะออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนที่จะออกไปนั้น จะจำหน่ายสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ได้โดยเสรี และจะขนสังหาริมทรัพย์ทุกชนิด ปศุสัตว์ ผลิตผลเกษตรกรรม เงินตรา หรือธนาคารบัตรไทยของตนไปกับตัว หรือให้ขนส่งไปก็ได้ จะรักษากรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของตนไว้ก็ได้

ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังท่านเอกอัครราชทูต

(ลงพระนาม) วรรณไวทยากร

ฯพณฯ

นายฮังรี บอนเนต์

เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐอเมริกา

หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายฝรั่งเศส

(จาก ฯพณฯ ฮังรี บอนเนต์ ถึง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวมไวทยากร)

คำแปล

สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส

ประจำสหรัฐอเมริกา

กรุงวอชิงตัน

๑๗ พฤศจิกายน ๑๙๔๖

ฝ่าพระบาท

ข้าพเจ้าขอยืนยันความตกลงด้วยวาจา ซึ่งเราได้กระทำกันไว้ ในเรื่องพลเมืองแห่งอาณาเขตที่กล่าวถึงในข้อ ๑ ของความตกลงระงับกรณีซึ่งได้ลงนามกันในวันนี้ และเรื่องทรัพย์สินของพลเมืองเหล่านี้ ซึ่งอยู่ในอาณาเขตดังกล่าว ความว่า

๑. พลเมืองซึ่งได้สัญชาติไทยโดยอาศัยอนุสัญญาฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ จะได้กลับคืนสู่สัญชาติเดิมของเขาทีเดียว ในทันทีที่การโอนอาณาเขตดังกล่าวข้างต้นเสร็จสิ้นลง พลเมืองซึ่งมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด หรือซึ่งได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมาย คงรักษาสัญชาตินี้ไว้

๒. จะไม่ทำการขัดขวางด้วยประการใด ๆ ต่อการที่บุคคลในจำพวกที่กล่าวข้างหลังนี้ ซึ่งประสงค์จะออกจากอาณาเขตเหล่านี้ ที่จะออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนที่จะออกไปนั้นจะจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ได้โดยเสรี และจะขนสังหาริมทรัพย์ทุกชนิด ปศุสัตว์ ผลิตผลเกษตรกรรม เงินตรา หรือธนาคารบัตรไทยของตนไปกับตัว หรือให้ขนส่งไปก็ได้ จะรักษากรรมสิทธิ์ใน อสังหาริมทรัพย์ของตนไว้ก็ได้

ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังฝ่าพระบาท

(ลงนาม) ฮ. บอนเนต์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร

หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ