- พระพุทธภาษิต
- ผู้เขียนขออุทิศ...
- คำนำในการพิมพ์ครั้งที่สอง
- คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ภาคหนึ่ง เริ่มสงครามด้านยุโรป ถึงเริ่มสงครามด้านเอเซีย
- ภาคสอง ระหว่างสงคราม
- บทที่ ๑ ไปญี่ปุ่น
- บทที่ ๒ สถานการณ์ทั่ว ๆ ไปของญี่ปุ่นก่อนเกิดสงคราม
- บทที่ ๓ ในญี่ปุ่นระหว่าง มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖
- บทที่ ๔ กลับเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ
- บทที่ ๕ เหตุการณ์ระหว่าง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ถึง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
- ข้อเขียนของนายทวี บุณยเกตุ
- ข้อเขียนของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์
- ข้อเขียนของพระพิศาลสุขุมวิท
- รายชื่อนักเรียนไทยในอเมริกาซึ่งได้สมัครเข้าร่วมงานต่อต้านญี่ปุ่น (คณะเสรีไทยในอเมริกา)
- ภาคสาม หลังสงคราม
- ภาคผนวก
- ๑. สัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศส
- ๒. สัญญาไม่รุกรานกับอังกฤษ
- ๓. สัญญาไม่รุกรานกับญี่ปุ่น
- ๔. อนุสัญญาสันติภาพกับฝรั่งเศส
- ๕. ความตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษ
- ๖. หนังสือแลกเปลี่ยนและหัวข้อความตกลงกับภาคผนวก
- ๗. สนธิสัญญาทางไมตรีกับจีน
- ๘. ความตกลงสันติภาพฉบับที่สุด ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
- ๙. ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
- ๑๐. คำแปลรายงานของคณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย
- ๑๑. รายงาน ความเห็นคณะกรรมาธิการวิสามัญสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติ ซึ่งคณะเสรีไทยได้ใช้จ่าย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
คำแปลรายงานของคณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย
คำแปล
รายงานของ
คณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย
วอชิงตัน ดี.ซี.
๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๗
----------------------------
ตอน ๑
อารัมภบท
๑ ) หลังจากที่ผู้แทนรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส และผู้แทนรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ลงนามความตกลงระงับกรณีระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ แล้ว รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการการประนอมพิเศษขึ้นคณะหนึ่งตามบทของความตกลงนั้น
๒) องค์ประกอบและหน้าที่ของคณะกรรมการเป็นไปตามบทบังคับของข้อ ๓ ของความตกลงที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งมีความดังต่อไปนี้
“ข้อ ๓ ในทันทีภายหลังการลงนามความตกลงฉบับนี้ ประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส โดยใช้ข้อ ๒๑ แห่งสนธิสัญญาระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ จะได้จัดตั้งคณะกรรมการการประนอมขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยผู้แทนของภาคีสองคนและผู้เป็นกลางสามคน ตามความในกรรมสารทั่วไปแห่งเจนีวา ฉบับวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๘ สำหรับการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ซึ่งวางระเบียบการจัดตั้งและการดำเนินงานของคณะกรรมการนี้ คณะกรรมการนี้จะได้เริ่มงานโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ภายหลังที่ได้ดำเนินการโอนอาณาเขต ซึ่งกล่าวไว้ในข้อ ๑ วรรค ๒ เสร็จแล้ว คณะกรรมการนี้จะได้รับมอบหมายให้พิจารณาคารมทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ ของภาคี ในการสนับสนุนการแก้ไข หรือยืนยันข้อความแห่งสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ อนุสัญญาฉบับวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ และสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งข้อ ๒๒ แห่งสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ยังให้คงใช้อยู่”
๓) หน้าที่ของคณะกรรมการนั้น ได้กำหนดไว้โดยข้อ ๓ ของความตกลง ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ และโดยภาคที่ ๑ ของกรรมสารทั่วไปแห่งกรุงเจนีวา
๔) ที่ตั้งของคณะกรรมการนั้น รัฐบาลทั้งสองได้กำหนด ณ กรุงวอชิงตัน
รัฐบาลทั้งสองได้ตกลงกันเลือกสรรกรรมการสามนาย ดังต่อไปนี้ คือ
นายวิกเตอร์ อันเดรส เบเลานเด เอกอัครรัฐทต สมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษาความสัมพันธ์ต่างประเทศของประเทศเปรู ประธานมหาวิทยาลัยคาโธลิกแห่งกรุงลิมา สมาชิกของศาลประจำอนุญาโตตุลาการกรุงเฮก
นายวิลเลียม ฟิลลิปส์ อดีตเอกอัครรัฐทูตของสหรัฐอเมริกาประจำกรุงโรม และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
เซอร์ โฮเรซ ซีย์มัวร์ อดีตเอกอัครราชทูตแห่งสหราชอาณาจักรประจำประเทศจีน
นอกจากนี้ แต่ละรัฐบาลได้แต่งตั้งกรรมการอีก ๑ นาย ซึ่งได้เลือกจากคนชาติของตน กล่าวคือ
รัฐบาลฝรั่งเศส - นายปอล เอมิล นักจิบาร์ เอกอัครรัฐทูตแห่งประเทศฝรั่งเศสสำหรับกิจการพิเศษ ซึ่งในอดีตเคยอยู่ในประเทศจีนและสหภาพโซเวียตรุสเซีย ผู้แทนประเทศฝรั่งเศสในคณะกรรมการภาคตะวันออกไกล
รัฐบาลไทย - พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ
แต่ละรัฐบาลได้แต่งตั้งตัวแทนของตนประจำคณะกรรมการ คือ
ประเทศฝรั่งเศส - นายฟรังซิส ลาคอสต์ อัครรัฐทูตผู้มีอำนาจเต็ม ที่ปรึกษาสถานเอกอัครรัฐทูตฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน
นายยัง บูร์เนย์ มนตรีแห่งรัฐที่ปรึกษาและรองตัวแทนของรัฐบาลฝรั่งเศส
ประเทศไทย - หม่อมเจ้าสกล วรวรรณ อดีตที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย
นายเตียง ศิริขันธ์ สมาชิกสภาผู้แทน รองตัวแทนของรัฐบาลไทย
๕) รัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลไทย ได้ตกลงกันให้ตำแหน่งประธานแห่งคณะกรรมการแก่ นายวิลเลียม ฟิลลิปส์ ผู้ซึ่งได้ยอมรับตำแหน่งนี้
๖) คณะกรรมการได้ทำการประชุมเต็มคณะหลายวาระแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๕ พฤษภาคม เป็นต้นมา พร้อมด้วยตัวแทนและผู้เชี่ยวชาญของภาคีทั้งสองฝ่าย ณ สำนักงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่แห่งสหรัฐได้กรุณาจัดไว้ให้
ในระหว่างการประชุมสองครั้งแรก ได้ตกลงกันในปัญหาเกี่ยวกับระเบียบหลายข้อ คือ การตั้งประธาน การแต่งตั้งนายเบเลานเด เป็นผู้ร่างรายงาน อ่านหนังสือ ฉบับลงวันที่ ๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยแจ้งต่อประธานถึงเจตจำนงที่จะเสนอคารมในทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อขอปรับปรุงบรรดาบทแห่งสนธิสัญญาฝรั่งเศส-ไทย ซึ่งได้ระบุไว้ในข้อ ๓ ของความตกลง ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ซึ่งบทเหล่านี้เท่าที่เกี่ยวกับเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน ยังคงใช้อยู่ตามข้อ ๒๒ ของสนธิสัญญาฝรั่งเศส-ไทย ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ อ่านหนังสือลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๔๗ ซึ่งตัวแทนของรัฐบาลฝรั่งเศสแจ้งต่อประธานว่า ในด้านฝรั่งเศส ตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสพร้อมที่จะเสนอและขยายคารมของรัฐบาลฝรั่งเศส เกี่ยวกับบรรดาบทแห่งสนธิสัญญาเดียวกันนั้น ทันทีที่ได้รับทราบคำขอของฝ่ายไทยแล้วต่อคณะกรรมการ
๒) ในบรรดาปัญหาระเบียบอื่น ๆ ซึ่งได้ตกลงกันในระหว่างการประชุมสองครั้งแรกนั้น ควรจะกล่าวถึงเรื่องต่อไปนี้ไว้ด้วย คือ ได้ยอมรับภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษสองภาษาเท่านั้น เป็นภาษาที่จะใช้ในงานของคณะกรรมการตามข้อบังคับแห่งกระบวนการขององค์การสหประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม แจ้งต่อหนังสือพิมพ์ว่า คณะกรรมการได้ลงมือประชุมแล้ว และได้ตกลงกันว่า เพื่อให้เป็นไปตามข้อ ๑๐ ของกรรมสารทั่วไปแห่งกรุงเจนีวา งานของคณะกรรมการจะไม่กระทำโดยเปิดเผย รัฐบาลทั้งสองต่างได้แจ้งต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติถึงการจัดตั้งคณะกรรมการ โดยหนังสือลงวันที่ ๙ พฤษภาคม
๘) ในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ตัวแทนไทยได้เสนอกรณีของรัฐบาลไทย พร้อมด้วยแผนที่แนบติดเป็นทางการต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการก็ได้เริ่มพิจารณาปัญหาที่มีอยู่
ตัวแทนของรัฐบาลฝรั่งเศสได้ตอบโดยบันทึก ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม และตัวแทนรัฐบาลไทยได้ตอบบันทึกนี้ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคมอีก แล้วตัวแทนของรัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้ตอบแย้งคำตอบของฝ่ายไทย เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน
เอกสารเหล่านี้พร้อมทั้งบันทึกแนบท้าย และแผนที่ซึ่งได้แนบติดกับบันทึกของฝ่ายไทยฉบับวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ได้แนบมากับรายงานฉบับนี้ด้วยแล้ว
คณะกรรมการได้ฟังคำชี้แจงด้วยวาจา (ของตัวแทนทั้งสองฝ่าย และได้ฟังคำตอบปัญหาที่ได้ถามตัวแทนทั้งสองฝ่ายด้วยวาจา) ในระหว่างการประชุมหรือที่ได้เขียนถามเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วยอมให้ตัวแทนตอบด้วยวาจา
คณะกรรมการได้ฟังคำแถลงของบรรดาผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่าย ในเรื่องทั้งหลายที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ รวมทั้งคำตอบของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ต่อปัญหาต่าง ๆ ที่ตนได้ถูกถามด้วย
คณะกรรมการได้รับทราบต่อไปด้วยว่า ตัวแทนของรัฐบาลทั้งสองได้ตกลงกันว่า สถานะทางกฎหมายของเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนเป็นไปตามข้อ ๑ ของความตกลงระงับกรณีฝรั่งเศสไทย ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖
๙) โดยที่คารมซึ่งตัวแทนของรัฐบาลไทยได้เสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงเขตแดนระหว่างอินโดจีนกับประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยและคารมซึ่งตัวแทนของรัฐบาลฝรั่งเศสได้เสนอ เพื่อคงไว้ซึ่งสถานะภาพเดิมก่อนอนุสัญญาลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๔๑ ซึ่งเป็นอันยกเลิกไปโดยความตกลงฝรั่งเศส–ไทย ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ นั้น ผู้แทนของคู่กรณีทั้งสองต่างได้แถลงโดยบริบูรณ์แล้ว ภาระของตัวแทนรัฐบาลทั้งสองในเรื่องนี้จึงเป็นอันสิ้นเชิงแล้ว
รายงานตอนต่อ ๆ ไปนี้ บรรจุข้อสรุปของคารมหลัก ๆ ที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการและข้อยุติของคณะกรรมการเป็นข้อ ๆ ไป
ในการเสนอข้อเรียกร้องของรัฐบาลไทย ตัวแทนไทยได้ยกปัญหาอันจะทำให้มีการแก้ไขเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและอินโดจีนเกือบตลอด ดังนั้น จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องดำเนินการกับข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นข้อ และตามลำดับต่อไปนี้
อาณาเขตบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
ลานช้าง (หลวงพระบาง บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง)
เส้นเขตแดนในแม่น้ำโขง
บาสสัค (จัมปาศักดิ์ ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง)
พระตะบอง
----------------------------
ตอน ๒
อาณาเขตบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
๑) โดยคำขอลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ตัวแทนแห่งรัฐบาลไทย ได้ขอให้มีการแก้ไขบทแห่งสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ ซึ่งว่าด้วยการที่ประเทศไทยสละข้อเรียกร้องในอาณาเขตทั้งหมดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะในแม่น้ำนั้น
๒) ตัวแทนไทยอ้างว่า ในแง่เชื้อชาติ พลเมืองแห่งอาณาเขตที่รัฐบาลไทยเรียกร้องนั้น มีกำเนิดเดียวกันกับพลเมืองบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และอาณาเขตเหล่านั้นประกอบเป็นหน่วยทางภูมิศาสตร์หน่วยหนึ่ง แยกจากแคว้นญวนโดยทิวภูเขาญวน กับว่าการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างหมู่อาณาเขตทั้งสอง ในส่วนที่เกี่ยวกับการผลิตและการวิภาคสินค้าที่สำคัญ ๆ นั้น ทำให้อาณาเขตเหล่านี้ เป็นหน่วยหนึ่งในทางเศรษฐกิจด้วย
๓) ตัวแทนแห่งรัฐบาลฝรั่งเศส ได้ทำการวิพากษ์คารมทางเชื้อชาติ ทางเศรษฐกิจ และทางภูมิศาสตร์ ซึ่งตัวแทนไทยได้เสนอนั้นอย่างพิสดาร โดยมิได้คัดค้านเป็นทางการว่าคารมเหล่านั้นใช้ได้อย่างไรหรือไม่ แต่กระนั้นตัวแทนแห่งรัฐบาลฝรั่งเศส ก็ได้เสนอคำถามเป็นข้อแรกต่อคณะกรรมการ กล่าวคือ การที่คณะกรรมการยอมรับคำขออันมีวัตถุประสงค์เป็นการที่จะโอนหน่วยการเมืองอันได้สถาปนาแล้วให้รัฐอีกรัฐหนึ่ง
ตัวแทนฝรั่งเศสยืนยันว่า คำขอของไทยมีลักษณะเช่นว่านั้นจริงๆ เพราะเขาถือว่าได้มีการเรียกร้องเอาลาวทั้งหมด และยิ่งกว่านั้น ยังเรียกร้องสิทธิที่จะเป็นผลให้มีการโอนส่วนสำคัญของอินโดจีน ให้แก่ประเทศไทย ซึ่งทั้งนี้ ย่อมเป็นการทำลายโครงสร้างทางการเมืองของอินโดจีนเอง
๔) คณะกรรมการเห็นว่าแผนที่ซึ่งตัวแทนไทยได้เสนอ เพื่อสนับสนุนคำขอของเขานั้น แสดงรูปให้เห็นคำเรียกร้องของไทย และแสดงให้เห็นว่า ขอบข่ายในทางภูมิศาสตร์ของคำเรียกร้องนั้น คลุมทั่วอาณาเขตทั้งหมดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงจนจดตังเกี๋ย
๕) โดยที่ข้อ ๓ แห่งความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๔๖ ระบุถึงสนธิสัญญา ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ ร่วมกับสัญญาอื่น ๆ ซึ่งคณะกรรมการได้รับมอบหมายให้ทำการพิจารณาด้วย จึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะต้องทำความกระจ่างในปัญหาข้อแรกที่ตัวแทนฝ่ายฝรั่งเศสยกขึ้น
๖) คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า ในแง่ขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการนั้น คำร้องขอให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ตามบทแห่งข้อ ๓ ของความตกลงระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๔๖ จะเสนอต่อคณะกรรมการโดยถูกต้องได้ ในเมื่อคำร้องขอกล่าวถึงการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดน ถึงแม้ว่าจะกระทบถึงอาณาเขตที่มิได้จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยทางการเมืองที่สถาปนาแล้ว แต่จะไม่เป็นการถูกต้อง ถ้าคำร้องขอนั้นเป็นการขอโอนหน่วยทางการเมืองที่สถาปนาแล้ว
๒) จริงอยู่ ขอบข่ายแห่งการริเริ่มของคณะกรรมการการประนอม มีกว้างขวางกว่าที่ยอมรับนับถือกันในกรณีศาลอนุญาโตตุลาการ หรือศาลยุติธรรม อย่างไรก็ดี อำนาจที่ว่าซึ่งคณะกรรมการอาจจะถือประโยชน์ได้ก็ตาม จะใช้ได้ก็เพียงแต่ภายในขอบเขตอันชอบของข้อโต้แย้งระหว่างประเทศ (international controversies) เท่านั้น การที่จะถือว่าปัญหาอันหนึ่งอันใดมีลักษณะเป็นข้อโต้แย้งระหว่างประเทศได้ ก็มิใช่เพียงแต่ว่าปัญหานั้นเป็นวัตถุประสงค์ในคำขอเท่านั้น หากต้องอาศัยเหตุผลตามเนื้อหาอันแท้จริงของปัญหาเรื่องนั้นด้วย
เป็นที่เห็นได้ว่า การโอนหน่วยทางการเมืองที่ได้สถาปนาแล้ว (สัญญาชั่วคราวระหว่างฝรั่งเศสกับลาว ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๖) นั้น เป็นวัตถุประสงค์ในคำขอของไทยอันเกี่ยวกับสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓ วัตถุประสงค์นั้นไม่อยู่ภายในขอบเขตแห่งข้อโต้แย้งระหว่างประเทศ ฉะนั้น จึงอยู่นอกอำนาจของคณะกรรมการ
๔) อย่างไรก็ดี คณะกรรมการถือว่า ถึงแม้ว่าคณะกรรมการจะมีอำนาจสอบสวนข้อเรียกร้องของไทยในอาณาเขตบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด คารมทางเชื้อชาติ ทางภูมิศาสตร์ และทางเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงมานั้นก็ยังจะไม่เป็นการที่จะให้คณะกรรมการสนับสนุนคำขอของไทยหรือการปรับปรุงบทแห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓ เกี่ยวกับอาณาเขตเหล่านั้นได้ ข้อยุตินี้ เนื่องมาแต่การพิจารณาของคณะกรรมการในคารมเหล่านั้น การพิจารณาที่ว่านี้อยู่ในตอนที่ ๓ ข. แห่งรายงานฉบับนี้
----------------------------
ตอน ๓
ก. ลานช้าง
๑) ตัวแทนไทยชี้แจงว่า การยก (ลานช้าง) ให้แก่ฝรั่งเศสแต่เดิมนั้น เป็นผลเนื่องมาจากอนุสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ อาณาเขตนี้มีเนื้อที่ ๑๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร
ตัวแทนไทยพิสูจน์ข้อเรียกร้องด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ทางภูมิศาสตร์ และทางเศรษฐกิจ โดยยืนยันว่า พลเมืองส่วนมากของล้านช้างเป็นคนเชื้อชาติไทย และไม่แตกต่างกับเพื่อนบ้านทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กับว่า มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียวกัน ตัวแทนถือว่า ในทางภูมิศาสตร์นั้น การยกเนื้อที่ดินแดนนี้ให้แก่ฝรั่งเศสเป็นการทำให้เกิดมี “อาณาเขตของฝรั่งเศสซึ่งถูกล้อมรอบด้วยอาณาเขตชาติอื่น ๆ” (French enclave) ขึ้นในประเทศไทย และลดคุณค่าของแม่น้ำโขง ในฐานที่เป็นทางระหว่างประเทศและเป็นทางคมนาคมลงไปด้วย เพราะว่าการใช้ลำน้ำตอนนี้ซึ่งแต่ก่อนเป็นสิทธิของไทยนั้น บัดนี้กลับเป็นความเดือดร้อน (Sufferance) ตัวแทนกล่าวเพิ่มเติมว่า เขตแดนปัจจุบันก่อให้เกิดเครื่องกีดกั้นการค้าระหว่างชุมชนตามปกติ และขัดขวางทางที่การค้านั้นจะไปสู่ตลาดใหญ่ ๆ ทางทิศใต้ และทิศตะวันตก และทางที่เป็นทางออกตามธรรมชาติ คือเมืองท่ากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นทางคมนาคมที่สั้นและดีกว่าทางที่จะไปไซ่ง่อน นอกจากนี้ตัวแทนอ้างว่า มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า สภาพที่เป็นอยู่อย่างโดดเดี่ยวในปัจจุบันของภูมิภาคนี้ จะกลับเป็นแหล่งกำเนินการพาณิชย์ได้ในไม่ช้า เนื่องจากจำนวนและคุณค่าของสินค้าที่มีเหลือเพื่อส่งออกและการบำรุงถนนหนทางซึ่งจะเพิ่มพูนมากขึ้นเป็นลำดับไปนั้นเอง ตัวแทนยุติด้วยถ้อยแถลงว่า การเข้าสู่ลานช้างจากอาณาเขตไทยกระทำได้ง่ายกว่าจากอาณาเขตอินโดจีนฝรั่งเศสเป็นอันมาก ฉะนั้น เขตแดนปัจจุบันจึงขัดต่อการทะนุบำรุงในอนาคต
๒) ตัวแทนฝรั่งเศสเสนอข้อเท็จจริงว่า เส้นเขตแดนทางตะวันตกของลานช้างซึ่งกำหนดโดยสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ นั้น ได้ยกขึ้นโดยความรอบคอบแล้ว และว่า เส้นเขตแดนนี้ประกอบด้วยทิวภูเขา ต่อเนื่องกันตลอดเป็นสันในน้ำระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำ (เจ้าพระยา) ซึ่งบางแห่งสูงกว่า ๒,๐๐๐ เมตร มีช่องที่ผ่านได้ต่ำกว่า ๗๐๐ เมตร ไม่กี่ช่อง และว่าเขตแดนตอนนี้เช่นเดียวกับตอนอื่น ๆ ได้เป็นเขตแดนที่สันติมาเกือบถึงศตวรรษแล้ว ตัวแทนแถลงว่ามีพลเมือง ๘๐,๐๐๐ คนอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (ลานช้าง) แต่มี ๒๒๐,๐๐๐ คนที่อยู่บนฝั่งซ้าย (หลวงพระบาง)
ตัวแทนแสดงคารมว่า อาณาเขตบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงประกอบกับอาณาเขตบนฝั่งซ้าย เป็นหน่วยหนึ่งของหน่วยทางภูมิศาสตร์และทางเชื้อชาติ ซึ่งคำขอของไทยแนะนำให้จัดตั้งและคงไว้ในที่อื่นๆ อยู่แล้ว และนอกจากนี้ตัวแทนกล่าวโดยถือเป็นความจริงที่แน่นอนว่า การค้าขาออกส่วนใหญ่ของหลวงพระบาง (ลานช้าง) ผ่านไปยังไซ่ง่อน โดยทางแม่น้ำหรือถนน ในที่สุดตัวแทนฝรั่งเศสเตือนให้คณะกรรมการทราบว่า ข้อ ๔ แห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ ซึ่งยังคงใช้บังคับอยู่ โดยข้อ ๔ แห่งอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๒๖ นั้น ให้ประกันเสรีภาพแห่งการเดินเรือแก่เรือไทยในแม่น้ำโขงตอนที่ไหลผ่านอาณาเขตหลวงพระบาง แต่ว่าก็เกือบจะไม่มีการขนส่งหรือการเดินเรือของไทยในแม่น้ำตอนนี้เลย
๓) คณะกรรมการได้พิจารณาคำเรียกร้องขอลานช้างของไทย ตลอดจนถ้อยแถลงของตัวแทนฝรั่งเศส คัดค้านการเรียกร้องเหล่านี้แล้วด้วยความถี่ถ้วนเป็นที่สุด ปรากฏว่ามีทางที่จะทำความตกลงกัน ในอันที่จะแก้ไขเขตแดนตอนนี้ได้น้อย ระหว่างตัวแทนทั้งสองฝ่าย เพราะตัวแทนฝรั่งเศสได้บอกปัดคำเรียกร้องขอลานช้างของไทยทั้งหมดทีเดียว
สำหรับคณะกรรมการนั้นเป็นที่ยุติได้ว่า คารมทางเชื้อชาติ ซึ่งตัวแทนไทยได้เสนอต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับลักษณะอันคล้ายคลึงกันของภาษากำเนิด และวัฒนธรรมของประชาชนแต่ละด้านของเขตแดนปัจจุบันนั้น ยังไม่เพียงพอในตัวเองที่จะทำให้เป็นการสมควรแก้ไขเส้นเขตแดนให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยได้ ในแง่เศรษฐกิจก็ไม่ปรากฏแก่คณะกรรมการว่า การเปลี่ยนเส้นเขตแดนจะมีประโยชน์ เพราะอาณาเขตในภูมิภาคนี้ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงก็เป็นหน่วยทางเศรษฐกิจ โดยมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันระหว่างชุมชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำอยู่ตลอดกาล
ในทางภูมิศาสตร์ คณะกรรมการเห็นว่า สันปันน้ำระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำ (เจ้าพระยา) นั้นเป็นเขตแดนตามธรรมชาติที่เหมาะสม เป็นเขตแดนที่กำหนดและวิเคราะห์ไว้ชัดแจ้งที่ มีป่าทึบปกคลุมแต่ละข้างของไหล่เขา ซึ่งในขณะนี้ก็มีทางเกวียนสองทางเท่านั้นที่ผ่านไปได้ ฉะนั้น ในปัจจุบัน การพาณิชย์ที่จะมีได้ระหว่างพลเมืองทางตะวันออกกับทางตะวันตกของเขตแดนก็น้อย และไม่ปรากฏว่าพลเมืองทางเขตไทยได้รับความเดือดร้อนใด ๆ โดยเฉพาะจากถิ่นที่ตั้งของเส้นเขตแดนปัจจุบัน และก็จะกล่าวได้เช่นเดียวกัน สำหรับพลเมืองของลานช้าง (หลวงพระบาง)
๔) ฉะนั้น ตามเหตุผลทางเชื้อชาติ ทางเศรษฐกิจ และทางภูมิศาสตร์ คณะกรรมการจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะสนับสนุนคำเรียกร้องของไทยในลานช้าง และการแก้ไขเขตแดนเพื่อการนั้นด้วย
----------------------------
ข. เขตแดนในแม่น้ำโขง
๑) ในตอนนี้ คารมที่แสดงในคำขอของไทยมุ่งหมายจะชี้ให้เห็นว่า ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเป็นหน่วยธรรมชาติหน่วยหนึ่งในแง่เชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ และว่าหน่วยที่ว่านี้ ได้ถูกทำลายโดยเขตแดนทางน้ำ และว่าจำต้องจัดสถาปนาหน่วยนขึ้นใหม่ เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย เพื่อเป็นการสนับสนุนข้อนี้ ตัวแทนไทยอ้างว่า การคมนาคมจากภูมิภาคนี้กับกรุงเทพฯ ง่ายกว่ากับไซ่ง่อน และตัวแทนมีข้อพิสูจน์ว่า หน่วยธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลทั้งสองได้ตั้งคณะข้าหลวงใหญ่ประจำแม่น้ำโขงขึ้น
๒) ตัวแทนฝรั่งเศสแย้งในคำตอบของเขาว่า คารมทางเชื้อชาติ ทางภูมิศาสตร์ และทางเศรษฐกิจ ของตัวแทนไทยนั้น ทั้งไม่ถูกต้องและนอกเรื่อง ตัวแทนแสดงให้เห็นว่าพลเมืองทั้งสองฝั่งมิใช่เชื้อชาติเดียวกัน หากว่ามีลักษณะร่วมกันบางประการเท่านั้นที่เกี่ยวโยงพลเมืองเหล่านี้ กับคนจำพวกต่าง ๆ ซึ่งพูดภาษาซึ่งมีพื้นเดิมเป็นไทย แต่บางส่วนของพลเมืองเหล่านี้ ก็เป็นคนจำพวกที่มีลักษณะแตกต่างออกไป เป็นต้นว่า พวกมอย ตัวแทนกล่าวว่า มีถนนชั้นเยี่ยมเชื่อมฝั่งซ้ายกับไซ่ง่อน และว่า การแลกเปลี่ยนทางพาณิชย์ระหว่างสองฝั่งนั้น ก็มีกระทำกันอยู่เป็นธรรมดาระหว่างประชาชนชายเขตแดน ตัวแทนกล่าวเพิ่มเติมว่า ลุ่มแม่น้ำโขงทำนองเดียวกับลุ่มแม่น้ำอื่น ๆ อาจปรากฏว่าประกอบขึ้นเป็นหน่วยทางภูมิศาสตร์ แต่ว่า เพียงเท่านี้ก็ไม่เป็นเหตุเพียงพอเพื่อการเรียกร้องของตัวแทนไทย ซึ่งใคร่จะเปลี่ยนรูปหน่วยทางศาสตร์ภูมิให้เป็นหน่วยทางการเมือง เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย ตัวแทนกล่าวว่า เพียงแต่นำเอาข้ออ้างของไทยไปใช้แก่ลุ่มน้ำอื่น ๆ เท่านั้น ก็จะเล็งเห็นได้ว่า ลัทธิเช่นว่านี้ จะก่อให้เกิดความแตกร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพียงไร เพราะลุ่มแม่น้ำสำคัญ ๆ ส่วนมากเช่นเดียวกับลุ่มแม่น้ำโขง มิได้ประกอบเป็นหน่วยทางการเมืองเพียงหน่วยเดียวเสมอไป
๓) เมื่อได้ชั่งน้ำหนักคำขอของไทย และคำตอบกับทั้งคำตอบเพิ่มเติมของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนคำนึงถึงการพิจารณาที่ได้แสดงไว้ในตอน ๒ ของรายงานฉบับนี้อย่างถี่ถ้วนแล้ว คณะกรรมการเห็นว่า คารมที่เสนอมายังคณะกรรมการสำหรับแม่น้ำโขงตอนนี้ ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะทำการโอนอาณาเขตดังที่ขอไว้นั้น
๔) อย่างไรก็ดี การสอบสวนสถานการณ์ในตอนนี้ ทั้งทางกฎหมายและข้อเท็จจริง ได้ช่วยให้คณะกรรมการทราบว่ามีระบอบการดังต่อไปนี้อยู่แล้ว คือ
ก. เส้นเขตแดน อันเป็นผลเนื่องมาจากสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการปักปันที่ได้กระทำกัน ณ ท้องที่นั้น เดินตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขงในตอนที่น้ำไหลรวมเป็นสายเดียวกัน และเส้นเขตแดนนั้นเดินตามร่องน้ำลึกสายที่ผ่านใกล้ฝั่งไทยในตอนที่น้ำไหลแยกออกเป็นหลายสาย และในกรณีดังนี้ บรรดาเกาะต่าง ๆ ก็เป็นส่วนของฝั่งฝรั่งเศสในเมื่อเกาะเหล่านี้น้ำขึ้นท่วมไม่ถึงเลย
ข. แต่ละด้านของเส้นเขตแดนนั้น อนุสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๒๖ ได้จัดตั้งเขตปลอดการทหารกว้าง ๒๕ กิโลเมตร ซึ่งมีเขตปลอดการศุลกากรกว้าง ๒๕ กิโลเมตรเช่นเดียวกันด้วย อันเป็นเขตที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ตามรูปที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
ค. อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๒๖ ฉบับเดียวกันนี้ ได้จัดตั้งคณะข้าหลวงใหญ่ประจำแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของอินโดจีนและของไทย หน้าที่ของคณะข้าหลวงใหญ่มี ๒ ประเภท คือ เกี่ยวกับการตรวจสอบอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเป็นการตระเตรียมและเสนอระเบียบการในสาขาต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของประชากรทั้งสองฝั่ง อาทิ การประมง การตำรวจชายแดน การปักปันเส้นเขตแดน การเดินเรือในแม่น้ำ การไฟฟ้า การเดินอากาศ ฯลฯ
๕) คณะกรรมการเห็นว่า ระบอบการต่าง ๆ ดังที่ได้จัดตั้งขึ้นในภูมิภาคนี้ ซึ่งคณะข้าหลวงใหญ่ควบคุมดูแลอยู่ ในหลักการก็ตรงกับผลประโยชน์ของพลเมือง แต่ว่ารัฐบาลทั้งสองอาจจัดการใช้ระบอบนี้ให้มีประสิทธิภาพและบำรุงให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกได้
๖) ตัวแทนฝรั่งเศส แถลงในคำตอบของเขา ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ว่า ภายใต้เงื่อนไขบางประการ รัฐบาลของเขาพร้อมที่จะให้ประเทศไทยเข้าสู่ร่องน้ำสำคัญที่เดินเรือได้ ทั้งนี้ โดยขอสงวนปัญหาเกี่ยวกับอธิปไตย คณะกรรมการเชื่อว่า เพื่อเหตุผลทางเทคนิค และเพื่อให้มีการประนอม ย่อมจะเป็นประโยชน์ที่จะให้เส้นเขตแดนเดินตามร่องน้ำสำคัญที่เป็นเรือได้ตลอดทุกฤดูกาล และเพื่อให้เป็นไปตามนี้ ควรมีการปักปันเส้นเขตแดนใหม่ ซึ่งจะได้มอบให้เป็นหน้าที่ของคณะข้าหลวงใหญ่ไทย ฝรั่งเศสประจำแม่น้ำโขง หลังจากที่รัฐบาลทั้งสองทำความตกลงกันในเรื่องนี้แล้ว
๗) นอกจากนี้ ขอบข่ายทางภูมิศาสตร์ของคณะข้าหลวง ซึ่งในขณะนี้จำกัดเพียงแม่น้ำโขงที่เป็นเขตแดน อาจขยายออกไปให้ถึงส่วนของแม่น้ำโขงตอนที่ไม่เป็นเขตแดนได้อย่างมีประโยชน์ และในกรณีนี้ หน้าที่ของคณะข้าหลวงก็อาจขยายให้กว้างขวางออกไปได้อย่างดี ตามแนวแห่งบทบัญญัติของอนุสัญญาบาร์เซโลนา ลงวันที่ ๒๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๑ สองฉบับ ซึ่งจัดวางกฎข้อบังคับว่าด้วยเสรีภาพแห่งการผ่านแดน และว่าด้วยระบอบแห่งลำน้ำเดินเรือระหว่างประเทศ
ค. บาสสัค (จัมปาศักดิ์)
๑) คำเรียกร้องที่ตัวแทนไทยเสนอนั้น ก็เพื่อโอนให้แก่ประเทศไทย ซึ่งอาณาเขตบาสสัค (จัมปาศักดิ์) ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง และทางทิศเหนือของแม่น้ำเซลำเพา เนื้อที่ปรากฏตามคำเรียกร้องว่ามีประมาณ ๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร
แคว้นนี้ประเทศไทยได้ยกให้แก่ฝรั่งเศสตามอนุสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔
๒) เพื่อสนับสนุนคำเรียกร้องนี้ ตัวแทนไทยชี้แจงว่า ประชากรในดินแดนตอนนี้เกือบทั้งหมดอยู่ในหมู่เชื้อชาติอันเดียวกัน (ลาว) เช่นเดียวกับประชากรทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และว่าเขตแดนแบ่งแยกประชากรที่มีกำเนิด ภาษา และวัฒนธรรมอย่างหนึ่งอย่างเดียวกัน เส้นเขตแดนนี้เดินตามยอดเนินเขาซึ่งมีระดับสูงชันทางด้านตะวันออก (อินโดจีน) และค่อย ๆ ลากลงมาทางด้านตะวันตก (ไทย) ตัวแทนไทยอธิบายข้อนี้ ในสาระสำคัญว่าเป็นภูเขาเขตแดน ซึ่งในความหมายแคบทางภูมิศาสตร์ อาจถือได้ว่าใกล้กับอุดมคติของความมั่นคงถาวร และลักษณะเอกเทศไม่เหมือนที่ใดเลย (exclusiveness) อย่างไรก็ดี ตัวแทนเสนอคารมว่า ข้อพิจารณาทางภูมิศาสตร์มิใช่ข้อสำคัญสูงสุด กล่าวว่า ทางออกสำหรับแคว้นนี้ ซึ่งมีถนนติดต่อกับสถานีรถไฟปลายทางของไทยที่อุบลอยู่แล้ว ก็ผ่านเข้าทางอาณาเขตไทยไปสู่เมืองท่ากรุงเทพฯ และว่าทางคมนาคมเหล่านี้จะทะนุบำรุงให้ดียิ่งขึ้นได้ เพื่อเป็นทางไปมาอันอยู่ในระดับเหนือกว่าทางแม่น้ำโขง และระบบการถนนของอินโดจีนฝรั่งเศส เป็นต้นว่า ถ้าหากเลื่อนเขตแดนไปจากแม่น้ำโขง รถไฟไทยก็อาจจะขยายออกไปจนถึงแม่น้ำนั้น และเมืองบาสสัคกับกรุงเทพฯ ก็จะติดต่อถึงกันได้ภายในเวลาสองวัน จำนวนสินค้าที่ขนส่งทางถนนระหว่างพิมูลในประเทศไทยกับชายแดนที่ช่องเมค เมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๖ นั้น กล่าวว่ามีจำนวน ๑๐,๐๐๐ ตัน ตามความเห็นของตัวแทนไทย ถ้าเนื้อที่เขตนี้ตกมาอยู่กับประเทศไทย การคมนาคมที่ดีกว่าเวลานี้ ก็จะเป็นทางให้การค้าดีขึ้นอีก ทั้งมาตรฐานการเป็นอยู่ก็จะสูงขึ้น สำหรับภูมิภาคซึ่งแยกอยู่โดดเดี่ยว แห่งนี้ด้วย
๓) ตัวแทนฝรั่งเศสเห็นพ้องด้วยว่า ประชากรพูดภาษาของไทยภาษาหนึ่ง แม้ว่าภาษาลาวนั้นแตกต่างจากภาษาไทย แต่ข้อความจริงอันนี้ก็ไม่ทำให้เกิดความจำเป็นอันใดที่จะต้องโอนอาณาเขตให้แก่ประเทศไทย ตัวแทนชี้แจงว่า เขตแดนนี้ก็มิใช่เขตแดนที่มีขึ้นโดยบังเอิญ หากเป็นเขตแดนที่อาศัยทิวภูเขาซึ่งแบ่งแยกลุ่มแม่น้ำเซนูนจากลุ่มแม่น้ำโขง ตัวแทนแถลงว่า ระบอบการในเขตแดนตอนนี้เช่นเดียวกับตอนอื่น ๆ เป็นระบอบที่เสรี และในทางปฏิบัติก็ไม่มีการบังคับเข้มงวดในการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนเลย นอกจากนี้ ตัวแทนยังชี้แจงว่า รัฐบาลไทยไม่ได้ชี้ให้เห็นความเดือดร้อนที่ประชากรได้รับแต่ละด้านของเขตแดน เนื่องจากการมีเขตแดนนี้แต่อย่างใด หรือให้เห็นว่ามีคนไทยส่วนน้อยอยู่ในเนื้อที่ดินแดนที่เรียกร้องด้วยเลย
๔) สำหรับปัญหาการคมนาคม ตัวแทนฝรั่งเศสได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อของบาสสัคกับทางทิศตะวันออกและทิศใต้ ซึ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ แม่น้ำโขง ทางหลวงที่ ๑๓ และถนนอีกสองสายไปยังฝั่งญวนตัวแทนได้ยืนยันด้วยว่า การเศรษฐกิจในส่วนต่างๆ ของแคว้นบาสสัคซึ่งแม่น้ำโขงแบ่งแยกนั้นเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด และการโอนเนื้อที่ที่เรียกร้องให้แก่ประเทศไทย ก็จะทำให้พลเมืองในแคว้นทั้งสองฝั่งเสียหายอย่างมาก โดยไม่มีประโยชน์ใด ๆ แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องเพียงพอที่จะเป็นการชอบธรรมที่จะให้โอนอาณาเขตอันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐลาวไปอยู่ในอธิปไตยของไทย
๕) ตามตัวเลขซึ่งตัวแทนฝรั่งเศสได้เสนอคณะกรรมการ ประชากรในเนื้อที่นี้มีประมาณ ๕๐,๐๐๐ (๑ ใน ๓ ของประชากรแคว้นบาสสัค) การผลิตข้าวเปลือกตามปรกติปีหนึ่งจำนวน ๓๐,๐๐๐ ตัน จากจำนวนนี้ ๑๗,๐๐๐ ตัน ส่งไปทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และ ๓,๐๐๐ ตัน ไปประเทศไทย
๖) คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า เขตแดนปัจจุบัน ซึ่งมีรูปตามแนวธรรมชาติ ที่สังเกตได้ชัดแจ้งและเห็นได้ง่ายนั้น เป็นเขตแดนที่ดีในแง่ภูมิศาสตร์ นอกจากนี้ คณะกรรมการยังมีความเห็นว่า ตามส่วนประกอบในทางเชื้อชาติของประชากรบาสสัคนั้น เท่าที่เป็นอยู่นั้น มิได้เป็นเครื่องเดือดร้อนประการใดแก่สถานะของแคว้นนี้ ซึ่งในฐานที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐลาว และแม้ว่าจะโอนอาณาเขตส่วนนี้แก่ประเทศไทย ก็หามีข้อเดือดร้อนในข้อนี้ (ทางเชื้อชาติ) อันน่ากลัวประการใดไม่ ในทางเศรษฐกิจเล่า การติดต่อที่เป็นอยู่ในปัจจุบันสำหรับดินแดนนี้ ดูจะมีกับทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงยิ่งกว่าทางประเทศไทย และในกรณีที่รัฐทั้งสองจะตกลงให้มีการเปลี่ยนแปลงอธิปไตยเหนือส่วนใดในดินแดนนี้แล้ว การเสื่อมประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ดินแดนทั้งสองส่วนของแคว้นบาสสัคก็อาจะหลีกเลี่ยงเสียได้ ถ้าจัดการป้องกันไว้ เพื่อให้การเคลื่อนไหวของการค้าข้ามลำแม่น้ำได้ดำเนินไปโดยไม่ขาดตอน
๓) อย่างไรก็ดี คณะกรรมการรู้สึกว่า พฤติการณ์ดังที่บรรยายข้างบนนี้ ไม่เป็นทางให้คณะกรรมการสนับสนุน ด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ทางเศรษฐกิจ หรือทางภูมิศาสตร์ ข้อเรียกร้องของไทยที่จะเอาบาสสัค (จัมปาศักดิ์) และที่จะแก้ไขเขตแดนเพื่อการนั้นด้วย
ง. พระตะบอง
๑) คำเรียกร้องที่ได้กระทำในนามของรัฐบาลไทย ก็เพื่อให้โอนเมืองพระตะบองในขณะนี้ ให้แก่ประเทศไทย เนื้อที่ของเมืองนี้มี ๒๐,๓๓๕ ตารางกิโลเมตร และกล่าวว่ามีจำนวนประชากร ๒๗๑,๐๐๐ คน
เมืองนี้ ซึ่งขณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐเขมร ประเทศไทยได้มอบให้แก่ฝรั่งเศส โดยสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗
๒) เพื่อสนับสนุนคำเรียกร้องของตน ตัวแทนไทยแถลงว่า ประชากรแต่เดิมเป็นเหล่ามอญ-เขมร แต่พลเมืองที่อยู่สองข้างของเขตแดนในบัดนี้สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีการประสานร่วมกันมาเป็นระยะเวลานาน และเนื่องจากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอีกด้วย ตัวแทนแถลงคารมว่า การเกี่ยวพันกันในทางภูมิศาสตร์และทางเศรษฐกิจตามธรรมชาติของเมืองนี้ ก็มี กับดินแดนไทยทางเหนือเส้นเขตแดนและมีกับกรุงเทพฯ มากกว่าที่จะมีกับไซ่ง่อน เป็นต้นว่ากรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ ๓๕ กิโลเมตรจากอ่าวไทย ย่อมจะเป็นทางออกที่ดีกว่าพนมเปญอันเป็นเมืองที่ติดต่อกับพระตะบองโดยถนนและรถไฟ แต่เป็นเมืองที่อยู่ห่างจากทะเลเป็นระยะทางถึง ๓๕๐ กิโลเมตร ซึ่งไม่สามารถจะรับเรือที่กินน้ำลึกกว่า ๔ เมตรได้ ส่วนอีกด้านหนึ่งเล่า พระตะบองติดต่อโดยถนนและรถไฟกับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองท่าที่กว้างขวางกว่าพนมเปญมาก และซึ่งขณะนี้กำลังทะนุบำรุงให้ดีขึ้นอีก การติดต่อทางถนนทางด้านอื่น ๆ กับประเทศไทย ก็อาจจะจัดการทะนุบำรุงได้ด้วย และอาจจะเป็นทางที่มีอนาคตดีกว่าทางทิศใต้ ตามความคิดเห็นของรัฐบาลไทยแล้ว เขตแดนที่มีอยู่ณบัดนี้ ขัดขวางการวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจในอนาคต เพราะจำกัดหนทางอันดีที่สุดที่จะเข้าออกติดต่อกับเมืองนี้
๓) ฝ่ายฝรั่งเศสได้แถลงว่า ความจริงเขตแดนทางเชื้อชาติระหว่างไทยกับเขมรอยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของเส้นเขตแดน ปัจจุบัน และว่า เขตแดนใหม่ที่รัฐบาลไทยเรียกร้อง ก็หาเดินทางตามแนวธรรมชาติไม่ หากจะผ่านตลอดอาณาเขตที่ประชากรเขมรอาศัยอยู่ ตัวแทนฝรั่งเศสชี้แจงว่า ทิวเขาดังแรกซึ่งเป็นแนวเส้นเขตแดนปัจุบันกับกลุ่มภูเขาที่ปกคลุมด้วยป่า ซึ่งอยู่ทางตอนปลายของทิวเขาดังแรกทางตะวันตกเฉียงใต้นั้น ย่อมเป็นเขตแดนตามธรรมชาติ (และก็เป็นเส้นเขตแดนที่จะมีได้แห่งเดียว) ระหว่างดินแดนทางทิศตะวันตกซึ่งประชากรส่วนมากเป็นไทย กับประเทศทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งชาวเขมรอาศัยอยู่
๔) ในด้านการคมนาคม ตัวแทนฝรั่งเศสอธิบายว่า เขตพระตะบองนั้นไม่แต่เพียงจะติดต่อกับพนมเปญโดยทางถนนและรถไฟเท่านั้น หากติดต่อกับไซ่ง่อนโดยทางน้ำอย่างไม่ขาดตอน และโดยทางถนนอีก ๒ สาย ตัวแทนแถลงว่า การติดต่อทางเศรษฐกิจของพระตะบองนั้นเช่นเดียวกับในส่วนต่าง ๆ ของเขมร เท่าที่เป็นมาแล้ว และด้วยเหตุผลที่ทางน้ำธรรมชาติโยงต่อเนื่องกัน จำต้องมีกับทางตะวันออกเฉียงใต้ และยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการค้าทางทะเลก็ต้องผ่านทางไซ่ง่อน
๕) เมืองนี้เป็นแหล่งทำการปลูกข้าวที่สำคัญ และการส่งข้าวออกก่อนปี ค.ศ. ๑๙๔๑ นั้น ตัวแทนฝรั่งเศสได้ประมาณเกณฑ์ตัวเลขว่าอยู่ระหว่าง ๒๓๕,๐๐๐ ตัน กับ ๑๕๐,๐๐๐ ตัน แล้วแต่ผลของการเก็บเกี่ยว การส่งออกสำหรับปลาแห้งอันเป็นผลิตผลของการประมงที่ใหญ่โตของทะเลสาบนั้น ได้แถลงไว้ว่า มีจำนวน ๓๐,๐๐๐ ตัน และประมาณ ๒,๐๐๐ ตัน ส่งไปประเทศไทย
๖) เท่าที่เกี่ยวกับการพิจาณาทางเชื้อชาติ คณะกรรมการรู้สึกว่ากรณีไม่มีมูลพอสำหรับการโอนดินแดนที่ประชากรไม่ใช่คนไทย ให้มาอยู่ในอธิปไตยของไทย เขตแดนซึ่งเป็นไปตามทิวเขาดังแรกเป็นสำคัญนั้น ปรากฏแก่คณะกรรมการว่าเป็นเขตแดนที่พึงพอใจอันหนึ่ง และตรงกับความต้องการต่าง ๆ ทางเชื้อชาติและทางภูมิศาสตร์ กว่าเส้นเขตแดนอื่นใดที่ได้เสนอแนะมา ในด้านเศรษฐกิจเล่า คณะกรรมการรู้สึกว่า แม้ว่าการคมนาคมกับประเทศไทยจะทะนุบำรุงขึ้นได้โดยมีประโยชน์แก่บรรดาผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างไม่มีปัญหาก็ดี ทางจรตามธรรมดาสำหรับการพาณิชย์ของพระตะบองนั้น ย่อมผ่านทางน้ำที่มีอยู่ และโดยการติดต่อทางถนนและทางรถไฟอื่น ๆ กับทางใต้และตะวันออก ในพฤติการณ์เช่นนี้ คณะกรรมการมีความเห็นว่า การแยกเมืองพระตะบองออกจากส่วนอื่นของเขมรจะเป็นการเสียหายแก่พลเมืองของเมืองนี้ และพลเมืองในส่วนอื่นของรัฐ โดยไม่น่าจะมีประโยชน์ชดเชยอันเพียงพอ
๗) ฉะนั้น คณะกรรมการจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะสนับสนุนคำเรียกร้องของไทย เพื่อโอนเมืองพระตะบองให้แก่ประเทศไทย และเพื่อแก้ไขเขตแดนตามนี้ด้วย
๘) เนื่องด้วยความสำคัญของการประมงแห่งทะเลสาบ ฐานเป็นแหล่งการแจกจ่ายอาหารสำหรับดินแดนใกล้เคียง คณะกรรมการขอแนะนำว่า รัฐบาลทั้งสองควรทำความตกลงกันกำหนดการแจกจ่ายปลาแห้งต่าง ๆ ไปยังตลาดของไทยอย่างเพียงพอและเป็นการประจำ
----------------------------
ตอน ๔
คณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศ
ในการพิจารณาคารมต่าง ๆ ที่เสนอให้สอบสวนตามความในข้อ ๓ แห่งความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ นั้น คณะกรรมการได้รับทราบว่า มีปัญหาสำคัญ ๆ ทางเทคนิคอันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของบรรดาประเทศต่าง ๆ ในแหลมอินโดจีน
เพื่อเป็นตัวอย่าง อาจระบุเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ
เกษตรกรรม พืช การส่งเสริม และการสถิติ
โรคสัตว์และโรคพันธุ์ไม้
วิธีการเกษตรใหม่ ๆ นโยบายทั่ว ๆ ไปในการผลิต
ข้าว และในเรื่องตลาด ฯลฯ
การชลประทาน
การสาธารณสุข
การประมง
การคมนาคม
การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์
โบราณคดี
ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม
คณะกรรมการขอแนะนำว่า รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส ควรตกลงกันในอันจะริเริ่มให้มีการประชุมบรรดาผู้แทนของรัฐบาลเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่สนใจ เพื่อสำรวจดูสภาพการที่จะจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศ โดยมีมูลฐานอันถาวรขึ้นคณะหนึ่ง มีหน้าที่ทำการศึกษาปัญหาเหล่านั้น หรือเรื่องเทคนิค ทำนองเดียวกันอย่างอื่นด้วย
โดยคำนึงถึงฐานะที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ สำนักของคณะกรรมการที่ปรึกษานี้จะตั้งอยู่ ณ กรุงเทพ ฯ ได้ก็จะเป็นประโยชน์
----------------------------
ตอน ๕
สรุปข้อแนะนำ
ข้อแนะนำของคณะกรรมการ อันเป็นผลเนื่องมาจากตอนก่อนๆ ของรายงานฉบับนี้ จะย่อให้สั้น ๆ ได้ดังต่อไปนี้
๑) คณะกรรมการไม่สนับสนุนคำเรียกร้องของไทยต่ออาณาเขตลานช้าง (หลวงพระบางฝั่งขวา) และบทอนุสัญญา ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ เกี่ยวกับเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสในดินแดนลานช้างนั้นไม่ควรแก้ไข (ตอน ๓ ก. วรรค ๔)
๒) คณะกรรมการไม่สนับสนุนคำเรียกร้องของไทยต่ออาณาเขตบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ฉะนั้น บทแห่งสนธิสัญญาลงวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงไม่ควรแก้ไข (ตอน ๒ วรรค ๘) อย่างไรก็ดี เขตแดนทางน้ำอันเป็นผลเนื่องจากสนธิสัญญาต่าง ๆ และการปักปันที่ได้กระทำขึ้นในท้องที่นั้น ควรจะได้แก้ไขเพื่อที่จะให้เขตแดนเป็นไปตามร่องน้ำเดินเรือที่สำคัญ (ตอน ๓ ข. วรรค ๖)
๓) อำนาจของคณะข้าหลวงใหญ่แม่น้ำโขงควรยืดออกไป และขยายหน้าที่ให้มากขึ้น (ตอน ๓ ข. วรรค ๗)
๔) คณะกรรมการไม่สนับสนุนคำเรียกร้องของไทยในอาณาเขตบาสสัค (จัมปาศักดิ์) ฉะนั้น บทอนุสัญญา ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงไม่ควรแก้ไข (ตอน ๓ ค. วรรค ๗)
๕) คณะกรรมการไม่สนับสนุนคำเรียกร้องของไทยต่อเมืองพระตะบอง ฉะนั้น บทสนธิสัญญา ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงไม่ควรแก้ไข (ตอน ๓ ง. วรรค ๗)
๖) ในส่วนที่เกี่ยวกับการประมงในทะเลสาบ คณะกรรมการขอแนะนำให้มีข้อตกลงระหว่างภาคี เพื่อรับรองให้มีการแจกจ่ายปลาแก่ประเทศไทยอย่างเพียงพอ (ตอน ๓ ง. วรรค ๘)
๒) คณะกรรมการขอแนะนำว่า รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสควรดำเนินการเจรจา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจัดตั้งคณะกรรมการปรึกษาหารือระหว่างประเทศขึ้นคณะหนึ่ง ณ กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาปัญหาเทคนิคต่าง ๆ อันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันแก่บรรดาประเทศต่าง ๆ ในแหลมอินโดจีน (ตอน ๕)
----------------------------
ข้อยุติ Conclusion
คณะกรรมการปรารถนาจะชี้แจงอีกครั้งหนึ่งว่า โดยปฏิบัติภายในขอบเขตแห่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา คณะกรรมการได้จำกัดการศึกษา และการพิจารณาของคณะกรรมการอยู่ในทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ และงดเว้นจากการพิจารณาในทางการเมืองและทางประวัติศาสตร์ หลักฐานที่คณะกรรมการมีอยู่นั้น ตัวแทนทั้งสองซึ่งพูดแทนรัฐบาลของตนตามลำดับเป็นผู้ยื่นมา
แม้ว่าคณะกรรมการไม่มีหนทางที่จะสนับสนุนคำเรียกร้องของประเทศไทยเกี่ยวกับดินแดนก็ดี คณะกรรมการได้ทำข้อแนะนำไว้บางประการ ซึ่งถ้ารัฐบาลทั้งสองเห็นชอบด้วย ก็ควรจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชนที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการยืนยันว่า เพียงแต่การโอนอาณาเขตในเขตแดนด้านหนึ่งไปให้อีกด้านหนึ่ง โดยปราศจากความยินยอมของพลเมืองนั้น จะไม่เป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชนตามตำบลชายแดน ซึ่งสวัสดิภาพและความผาสุกอันแท้จริงย่อมอาศัยเสรีภาพที่จะมีความสัมพันธ์ต่าง ๆ กับเพื่อนบ้านของตนที่อยู่ข้ามเขตแดนไปนั่นเอง เขต ๒๕ กิโลเมตรอันเป็นเขตปลอดการศุลกากร และปลอดการทหาร และเป็นเขตที่มีอยู่แล้วแต่ละฟากเขตแดนทางน้ำนั้น เป็นการอนุเคราะห์แก่ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนเช่นว่านี้ และส่งเสริมให้พลเมืองที่อยู่ตามลำแม่น้ำมีการสังสรรค์ทางไมตรีสืบเนื่องกันตลอดไปด้วย
ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ และโดยรัฐบาลทั้งสองกระทำตามข้อแนะนำต่าง ๆ นี้ คณะกรรมการหวังอย่างจริงใจว่า เจตนารมณ์แห่งความรู้สึกอันที่และความร่วมมือกันนั้น จะจรรโลงความสัมพันธ์ของภาคีทั้งสอง และจะอำนวยสันติและความเจริญรุ่งเรืองซึ่งจำเป็นจริง ไม่เฉพาะสำหรับอนาคตของประเทศไทยและอินโดจีนเท่านั้น แต่สำหรับอนาคตของแหลมนี้ทั้งสิ้นด้วย
สำหรับคณะกรรมการ
(ลงนาม) วิลเลียม ฟิลลิปส์
ประธาน
แนบเอกสารมาด้วย ๑๒ ฉบับ
ทำที่วอชิงตัน ดี. ซี.
วันที่ ๒๗ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๗
----------------------------
ภาคผนวก
เอกสารที่ตัวแทนรัฐบาลไทย และตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส
ได้ยื่นต่อคณะกรรมการการประนอม
๑. หนังสือลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๐ ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยได้ยื่นต่อคณะกรรมการ
๒. หนังสือลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๐ ซึ่งตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสได้ยื่นต่อคณะกรรมการ
๓. คำขอลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๙๐ ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยได้เสนอต่อคณะกรรมการ
๔. แผนที่แนบคำขอของไทย
๕. หนังสือลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๙๐ ซึ่งตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสได้ยื่นต่อคณะกรรมการ
๖. “ข้อสังเกต” ของตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส ต่อคำขอที่ตัวแทนรัฐบาลไทยได้เสนอต่อคณะกรรมการ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๙๐
๗. บันทึกผนวกแนบบันทึกช่วยจำของตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส ตอบคำขอที่ตัวแทนรัฐบาลไทยได้เสนอต่อคณะกรรมการ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๙๐
๘. บันทึกช่วยจำขยายความพร้อมด้วยคำตอบลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๙๐ ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยได้ยื่นต่อคณะกรรมการ
๙. หนังสือลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๙๐ ซึ่งตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสได้ยื่นต่อคณะกรรมการ
๑๐. “ข้อสังเกตและข้อยุติ” ของตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๙๐ ตอบคำขอของตัวแทนรัฐบาลไทย ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๙๐ และบันทึกเพิ่มเติม ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๙๐
๑๑. เอกสารต่อท้ายฉบับที่ ๑ ประกอบ “ข้อสังเกตและข้อยุติ” ของตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๙๐
๑๒. เอกสารต่อท้ายฉบับที่ ๒ ประกอบ “ข้อสังเกตและข้อยุติ” ของตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๙๐
----------------------------
คำแปล
(หนังสือตัวแทนไทย ถึง ประธานคณะกรรมการการประนอม ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๐)
ที่ ๑/๒๔๙๐
สถานเอกอัครราชทูตไทย
วอชิงตัน ๘ ดี.ซี.
๕ พฤษภาคม ๑๙๔๗
ฯ พณ ฯ
ประธานคณะกรรมการการประนอม
วอชิงตัน ดี.ซี.
ท่านประธาน
ข้าพเจ้าใคร่ขออ้างอนุสนธิข้อ ๓ แห่งความตกลงระงับกรณีระหว่างฝรั่งเศส-ไทย ซึ่งได้ลงนามกัน ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ซึ่งบัญญัติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการประนอมขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาคารมทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ ในการสนับสนุนการแก้ไขหรือการยืนยันบรรดาบทแห่งสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ อนุสัญญาฉบับวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ และสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งยังคงใช้อยู่ตามสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ และขอเชิญคณะกรรมการการประนอมจัดการที่จำเป็นทุกประการ ในอันที่จะสะสางเรื่องต่าง ๆ อย่างฉันมิตรให้ลุล่วงไปตามบทบัญญัติแห่งความตกลงฝรั่งเศส-ไทย และตาม “กรรมสารทั่วไปแห่งกรุงเจนิวาฉบับวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๘ สำหรับการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี”
เป็นความปรารถนาของรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะให้เขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน ซึ่งได้สถาปนาขึ้นโดยบทสนธิสัญญาที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้รับการแก้ไข และเพื่อการนี้ จะได้เสนอการมทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ ด้วยความหวังอย่างแรงกล้าว่า คณะกรรมการคงจะพิจารณาด้วยความเห็นอกเห็นใจ
ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงความนับถืออย่างสูงมายังท่าน
(ลงพระนาม) สกล วรวรรณ
ตัวแทนของรัฐบาลไทย
----------------------------
(คำแปล)
(หนังสือตัวแทนฝรั่งเศส ถึง ประธานคณะกรรมการการประนอม ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๐)
๒๕๓๕ ถนนเบลมอนท์ เอ็น. ดับลิว.
วอชิงตัน ดี. ซี.
วอชิงตัน ๕ พฤษภาคม ๑๙๔๗
ท่านประธาน
บัดนี้ คณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย ซึ่งได้บัญญัติ ไว้ในข้อ ๓ ของความตกลงระงับกรณีฝรั่งเศส-ไทย ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ได้ตั้งขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนของรัฐบาลฝรั่งเศสใคร่แจ้งแก่ท่านว่า ข้าพเจ้าจะได้เตรียมตัว ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเสนอและขยายคารมของรัฐบาลของข้าพเจ้าต่อหน้าคณะกรรมการ ฯ เพื่อสนับสนุนการยืนยันหรือการแก้ไขบทแห่งสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ อนุสัญญาฉบับวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ และสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งยังคงใช้อยู่ตามข้อ ๒๒ ของสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ โดยเร็ว ในเมื่อรัฐบาลของข้าพเจ้าได้รับแจ้งคำขอของฝ่ายไทย ตามบทบัญญัติข้อ ๗ วรรค ๒ และ ๓ ของกรรมสารทั่วไปแห่งกรุงเจนิวา ฉบับวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๘ และในเมื่อคณะกรรมการได้ฟังคารมของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนคำขอนั้นแล้ว
ขอท่านประธานได้รับความนับถืออย่างสูงของข้าพเจ้า
(ลงนาม) ฟรังซิส ลาคอสต์
ฯพณฯ วิลเลียม ฟิลลิปส์
เอกอัครราชทูต แห่งสหรัฐอเมริกา
ประธานคณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย
วอชิงตัน ดี. ซี.
ป.ล. เพื่อความสะดวกของท่านและกรรมการอื่น ๆ ข้าพเจ้าได้แนบตัวบทความตกลงระงับกรณี ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ และภาคีของกรรมสารทั่วไปแห่งกรุงเจนีวา ฉบับวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๖ ซึ่งเกี่ยวกับกระบวนวิธีการของการประนอม รวม ๕ ชุด มาพร้อมกับหนังสือนี้ด้วยแล้ว
----------------------------
(คำแปล)
(หนังสือตัวแทนไทย ถึงประธานคณะกรรมการการประนอม ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๙๐)
สถานเอกอัครราชทูตไทย
วอชิงตัน ๘ ดี. ซี.
ที่ ๒ / ๒๔๙๐
๑๒ พฤษภาคม ๑๙๔๗
ฯพณฯ
ประธานคณะกรรมการการประนอม
วอชิงตัน ดี. ซี.
ท่านประธาน
เพื่อต่อความจากหนังสือของข้าพเจ้าที่ ๑/๒๔๙๐ ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๑๙๔๗ เสนอคำขอทำการประนอมในนามของรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามความในข้อ ๗ แห่งกรรมสารทั่วไป ฉบับวันที่ ๑๖ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๘ บัดนี้ ข้าพเจ้าขอยื่นข้อความสังเขปของบทบัญญัติที่สำคัญแห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓ อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ และสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๗ กับเหตุผลทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมูลฐานแห่งข้อเสนอเพื่อการแก้ไขเส้นเขตแดนที่ได้สถาปนาขึ้นโดยบรรดาบทบัญญัติแห่งสัญญาเหล่านี้ต่อคณะกรรมการ
สนธิสัญญาฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓
สนธิสัญญาฉบับนี้ได้บัญญัติไว้ว่า
๑. ประเทศไทย สละข้อเรียกร้องอาณาเขตทั้งหมดบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะในแม่น้ำนั้นด้วย
๒. เขต ๒๕ ก.ม. บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง จะได้เป็นเขตปลอดการทหาร
ภาคผนวกแห่งสนธิสัญญาได้บัญญัติไว้ด้วยว่า ในระหว่างที่รอการปฏิบัติตามสนธิสัญญา ซึ่งรวมทั้งการถอนตัวออกมาโดยสิ้นเชิง และการรักษาความสงบบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง กับการจัดเขตปลอดการทหาร ๒๕ ก.ม. นั้น กองทหารฝรั่งเศสจะคงยึดครองจันทบูรอันเป็นเมืองยุทธศาสตร์ในอ่าวไทยด้วย
ในทางเชื้อชาติ พลเมืองส่วนใหญ่ของทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงมีกำเนิดอันเดียวกัน การเคลื่อนย้ายเขตแดนใน ค.ศ. ๑๘๙๓ ซึ่งได้แบ่งแยกประชาชนในพื้นแผ่นดินนี้ออกเป็นหมู่การเมือง ๒ หมู่นั้น มิได้กระทบกระเทือนถึงความโน้มเอียงโดยธรรมชาติ ซึ่งพลเมืองเหล่านั้นมีผูกพันกันอยู่อย่างสนิทสนมนั้นเลย
ในทางภูมิศาสตร์ เนื้อที่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขงรวมกันประกอบขึ้นเป็นหน่วยธรรมชาติที่เห็นได้ชัดแจ้งหน่วยหนึ่ง อันมีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง มิใช่แต่เหนือชีวิตของพลเมืองเท่านั้น แต่เหนือการปกครองและกิจการงานอื่น ๆ อันทำให้เกิดความจำเป็นให้ต้องมีวิธีการ เพื่อให้มีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการสร้างระบอบร่วมกันของแม่น้ำโขง ในความตกลงพิเศษทางการตำรวจ การเดินเรือ การจับปลา การพาณิชย์และการศุลกากร อาณาเขตส่วนมากที่ประเทศไทยได้ยกให้นั้น เป็นส่วนของลุ่มแม่น้ำโขงมากกว่าที่จะเป็นของพื้นที่ชายทะเลของญวน ซึ่งมีภูเขาคั่น ทำให้ทางคมนาคมระหว่างกันยากลำบากยิ่ง
ในทางเศรษฐกิจ การที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างพลเมืองทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงในทางผลิตกรรม วิภาคกรรม และบริโภคกรรม แสดงให้เห็นชัดว่า ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นหน่วยเศรษฐกิจหน่วยหนึ่งด้วย และในบรรดาผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น ข้าว เกลือ และอาหารเค็มนั้น ประชากรทางฝั่งซ้ายย่อมอาศัยการส่งให้เป็นประจำทุกทางฝั่งขวา ข้อคำนึงที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ ทางเข้าไปสู่อาณาเขตเหล่านี้จากฝั่งขวาของแม่น้ำโขงนั้น โดยธรรมชาติก็สะดวกกว่าทางอื่นใดทั้งสิ้น เส้นทางคมนาคมจากศูนย์กลางสำคัญของอาณาเขตที่ได้ยกให้นั้น มิใช่แต่จะได้รับการฟื้นฟูมากกว่า และเป็นทางที่ใกล้กรุงเทพ ฯ ยิ่งกว่าไซ่ง่อนเท่านั้น แต่ยังเป็นทางที่อาจจะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้ดีกว่าทางอื่นอีกด้วยในอนาคต
โดยที่เส้นเขตแดนที่ได้สถาปนาขึ้นโดยสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓ มิใช่แต่จะทำให้เสียหายแก่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังทำให้เสียหายแก่พื้นแผ่นดินที่ได้ยกให้แก่อินโดจีนอีกด้วย ข้อเรียกร้องอาณาเขตบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะในแม่น้ำนั้น ซึ่งประเทศไทยได้ถูกผูกพันให้สละโดยข้อ ๑ แห่งสนธิสัญญานี้ จึงควรได้กลับคืน
อนุสัญญาฉบับวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๐๔
ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๙๓ ถึง ๑๙๐๔ ฝรั่งเศสยังคงยึดครองจันทบุรีตลอดมา เนื่องจากนี้ จึงได้มีการเจรจาอนุสัญญาฉบับวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ ระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย เป็นผลให้ฝรั่งเศสได้พื้นที่ที่สำคัญอีก ๒ แห่ง พื้นที่ทั้ง ๒ แห่งนี้อยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง คือ
๑. จังหวัดลานช้าง (หลวงพระบาง) ทางทิศเหนือ
๒. จังหวัดจัมปาศักดิ์ (บาสสัค) ทางทิศตะวันออก
ข้อคำนึงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในทางเชื้อชาติภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจของลุ่มแม่น้ำโขง ดังที่ได้กล่าวไว้ในกรณีสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓ นั้น เมื่อนำมาใช้กับจังหวัดทั้งสองนี้ ย่อมมีน้ำหนัก แม้จะไม่มากกว่า ก็เท่ากัน
ลานช้าง (หลวงพระบาง)
พลเมืองส่วนมากของจังหวัดนี้มีเชื้อชาติเป็นไทย และไม่มีความแตกต่างกับบรรดาเพื่อนบ้านทางภาคอีสานของประเทศไทยเลย
ในทางภูมิศาสตร์ การยกพื้นแผ่นดินนี้ให้แก่ฝรั่งเศสได้ทำให้ฝรั่งเศสมีที่ดินยื่นล้ำเข้ามาในอาณาเขตของไทย และลดคุณค่าของแม่น้ำโขงในฐานที่เป็นทางน้ำระหว่างประเทศลงอีกด้วย
ในทางเศรษฐกิจ เส้นเขตแดนใหม่ได้ก่อให้เกิดเรื่องกีดกันการค้าขายตามปรกติในระหว่างหมู่ชน และขัดขวางการติดต่อระหว่างจังหวัดนี้กับตลาดที่ใหญ่กว่าทางทิศใต้และทิศตะวันตก ตลอดจนกับทางออกโดยธรรมชาติ คือ ท่าเรือกรุงเทพ ฯ ซึ่งมีเส้นทางคมนาคมที่สั้นกว่าและดีกว่าบรรดาทางที่ไปสู่ไซ่ง่อน
ฉะนั้น จึงขอเสนอให้ยกเลิกเส้นเขตแดนที่กำลังเป็นอยู่นี้เสีย และขอให้จังหวัดลานช้างได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยต่อไป
จัมปาศักดิ์ (บาสสัค)
ในจังหวัดนี้ พลเมืองส่วนใหญ่มีเชื้อชาติไทย
ณ ที่นี้ กรณีก็ได้เป็นอย่างที่ได้เป็นอยู่เสมอมา คือภูมิศาสตร์ ได้กำหนดทางติดต่อไว้ ซึ่งมีผลกระทบถึงการเศรษฐกิจของภูมิภาคนั้น อีกทอดหนึ่งด้วย การคมนาคมไปสู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องยันภูเขา ซึ่งเป็นการจำกัดกระแสการจราจรลงไป
ทางที่สะดวกที่สุดก็คือ
ก. ทางทิศใต้ โดยทางน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งถึงอย่างไรก็ดี แม้ในตอนปลายๆเองก็ยังมีที่ที่ตื้นเขิน แก่งและอุปสรรคอื่น ๆ อีก ที่ทำให้ต้องมีการขนถ่ายที่จุดหลายจุดจากเรือกลไฟลงเรื่อยๆ และจากเรือบดลงเรือกลไฟ ฉะนั้น การจราจรทางน้ำนี้จึงไม่อาจะขยายให้ใหญ่ออกไปอีกได้
ข. ทางทิศเหนือ โดยถนนจากฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามกับปากเซไปยังวาริน (อุบล) และจากนั้นโดยทางรถไฟผ่านศูนย์กลางการค้าที่สำคัญหลายแห่งไปสู่กรุงเทพ ฯ การจราจรขึ้นไปทางต้นน้ำจากเกาะโขงไปยังปากเซกกระทำได้ และยังมีทางหลวง ซึ่งดีพอประมาณ คู่ขนานกันไปกับฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอีกด้วย
โดยที่อนาคตของการเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ ต้องพึ่งพาอาศัยความเจริญของการคมนาคม ซึ่งอาจหาให้ดีที่สุดได้ด้วยการฟื้นฟูทางสายเหนือผ่านวาริน (อุบล) ไปสู่กรุงเทพฯ และโดยเอาเส้นเขตแดนที่กั้นอยู่นั้นออกเสีย อาณาเขตจัมปาศักดิ์ ซึ่งอยู่ตอนเหนือของแม่น้ำเซลำเพาจึงควรรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตไทย
สนธิสัญญาฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗
สามปีต่อมา หลังจากอนุสัญญาฉบับ ค.ศ. ๑๙๐๔ โดยที่ฝรั่งเศสซึ่งได้ถอนออกไปจากจันทบุรี ใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ยังคงยึดครองอาณาเขตไทยที่ตราด (กราด) ซึ่งตั้งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร อยู่ต่อไปอีก จึงได้เกิดสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ (กับพิธีสารภาคผนวก) ขึ้นอีก ซึ่งโดยข้อบัญญัติแห่งสนธิสัญญาฉบับนี้ ประเทศไทยได้ยกอาณาเขต พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ประเทศฝรั่งเศส และได้รับอาณาเขตตราด (กราด) และด้านซ้าย [บริเวณเล็กซึ่งยื่นออกไปถึงจุดทางทิศใต้ที่สุดของจังหวัดลานช้าง (หลวงพระบาง)] และบรรดาเกาะรวมทั้งเกาะกูด ทางทิศใต้ของแหลมลิงคืนมาจากฝรั่งเศส
ในทางเชื้อชาติ ถึงแม้ว่าส่วนมากของประชากรของบรรดาจังหวัดที่ได้ยกให้นี้ จะมีกำเนิดเป็นเหล่ามอญ-เขมรมาแต่เดิมก็ดี ความผูกพันในระหว่างประชาชน ซึ่งได้ถูกแยกออกจากกันโดยเส้นเขตแดนใจุบันนั้นก็ใกล้ชิดกันมาก เนื่องด้วยการผสานกันทางเชื้อชาติเป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้ว การมีศาสนาและวัฒนธรรมร่วมกันก็ดี และการสมานอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจอันใกล้ชิดกันก็ดี ได้เพิ่มความสนิทสนมระหว่างกันยิ่งขึ้นอีก ซึ่งเขตแดนที่แบ่งแยกนี้ไม่อาจลบล้างได้ พลเมืองที่อยู่ทางฟากหนึ่งของพรมแดนก็สัมพันธ์กันในทางเชื้อชาติกับเพื่อนบ้านที่อยู่อีกฟากหนึ่งของพรมแดนนั้นด้วย
ในทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ จังหวัดเหล่านี้ได้เกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิดกับอาณาเขตซึ่งอยู่เหนือเขตแดนปัจจุบันด้วย
พระตะบองซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางใต้ที่สุดของบรรดาเมืองและศูนย์กลางการค้าขายของจังหวัดเหล่านี้ตั้งอยู่ระหว่างท่ากรุงเทพฯ ของไทยกับท่าพนมเปญของอินโดจีน และมีทางติดต่อกับท่าทั้งสองได้ทั้ง โดยทางรถไฟและโดยถนน แต่ถึงอย่างไรก็ดี ท่าเรือพนมเปญก็อยู่ห่างจากทะเลถึง ๓๕๐ กิโลเมตร และมีความจุน้อยกว่าท่าเรือกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ห่างจากอ่าวไทยเพียง ๓๕ กิโลเมตร เท่านั้น และซึ่งในขณะนี้ กำลังได้รับการปรับปรุงอยู่ อันจะเป็นทางให้เพิ่มความจุของท่าเรือนี้ขึ้นอีกด้วย ส่วนเมืองอื่น ๆ และศูนย์กลางการค้าขายแห่งอื่น ๆ นั้น อย่างน้อยก็อยู่ในฐานะด้อยเท่า ๆ กัน เนื่องด้วยได้ถูกเส้นเขตแดนปี ค.ศ. ๑๙๐๗ กีดกั้นจากกรุงเทพฯ อันเป็นทางออกตามธรรมชาติในทางการเศรษฐกิจและการค้าของตน
ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ จึงขอเสนอให้คืนจังหวัดพระตะบองให้แก่ประเทศไทย
โดยประการฉะนี้ ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขเส้นเขตแดนสำหรับสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓ จึงมีดังนี้ คือ ขอกลับคืนซึ่งข้ออ้างของไทย ในกรรมสิทธิ์บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง สำหรับอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ คืนจังหวัดลานช้าง และจังหวัดจัมปาศักดิ์ ตอนเหนือของแม่น้ำเซลำเพา และสำหรับสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๗ คือ คืนจังหวัดพระตะบอง
ในการยื่นข้อเสนอข้างต้นนี้ ข้าพเจ้าใคร่ขอชี้แจงถึงข้อคำนึงที่รัฐบาลไทยได้ระลึกอยู่ในการยกเรื่องเหล่านี้ขึ้น สำหรับรัฐบาลของข้าพเจ้านั้น ความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ในการดำเนินการประนอม ก็เพื่อที่จะให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทยได้เข้าสู่เสถียรภาพอันถาวร และมีมิตรภาพระหว่างกันโดยปราศจากข้อสงวนให้เสร็จสิ้นกันไปเสียที จะได้เป็นประกันสันติภาพอันยืนนาน และความเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงอันดีต่อกันในอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ สมตามหลักการที่ได้ประกาศไว้ในกฎบัตรของสหประชาชาติ ด้วยความประสงค์นี้ จึงได้คำนึงถึงความรู้สึกในทางจิตใจของประชาชนที่เกี่ยวข้องด้วย
ข้อเสนอข้างต้นนี้ ได้แสดงความรู้สึกทางจิตใจของประชาชนชาวไทยที่ได้มีอยู่ต่อบรรดาการโอนอาณาเขตที่แล้ว ๆ มา และเป็นข้อแถลงอย่างเปิดเผยและจริงใจ ซึ่งรัฐบาลไทยใคร่จะเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อประนอมกับทัศนะของรัฐบาลฝรั่งเศส
ในการยอมรับกระบวนการประนอมระหว่างประเทศนั้น รัฐบาลไทยหวังอย่างแรงกล้าว่า คำขอที่ได้เสนอในนามของประชาชนชาวไทยในครั้งนี้ จะได้รับการพิจารณาของรัฐบาลฝรั่งเศสด้วยน้ำใจอันกว้างขวางโอบอ้อมอารี และด้วยเจตนาอันดี
โดยที่เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์แก่คณะกรรมการ ข้าพเจ้าจึงขอเสนอบันทึกลำดับเหตุการณ์ก่อนทำสัญญาทั้งสามโดยย่อ รวม ๕ ชุด และแผนที่แสดงการโอนอาณาเขตต่าง ๆ รวม ๓ ชุดมาอีกซองหนึ่งต่างหาก
ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงความนับถืออย่างสูงมายังท่าน
(ลงพระนาม) สกล วรวรรณ
ตัวแทนรัฐบาลไทย
ลำดับเหตุการณ์
ลำดับเหตุการณ์ ซึ่งได้เกิดขึ้นก่อนสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ อนุสัญญาฉบับวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๗ และสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ และซึ่งคณะกรรมการการประนอมจะต้องพิจารณาอันอาจเป็นประโยชน์นั้น มีดังต่อไปนี้
๑๘๖๓ สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับเขมรข้อ ๑ แห่งสนธิสัญญานั้น กล่าวว่า “เขมรเป็นประเทศราชของประเทศไทย”
๑๘๖๗ สนธิสัญญาระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย ซึ่งมีบทบัญญัติที่สำคัญ คือ
(๑) ยอมรับนับถือการให้อารักขาของฝรั่งเศสต่อเขมร
(๒) สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับเขมร (๑๘๖๓) เป็นอันยกเลิก
(๓) จังหวัดพระตะบอง และจังหวัดเสียมราฐ เป็นอาณาเขตของไทย
(๔) ฝรั่งเศสยอมให้สิทธิเดินเรือ โดยไม่จำกัด ในส่วนของแม่น้ำโขง และทะเลสาบที่ติดต่ออาณาเขตไทย
๑๘๘๖ อนุสัญญา (ซึ่งมิได้สัตยาบัน) ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส เพื่อส่งเสริมการพาณิชย์ระหว่างญวนกับจังหวัดหลวงพระบางของไทย ฝรั่งเศสขออนุญาตตั้งรองกงสุลที่หลวงพระบาง
๑๘๘๖-๑๘๘๗ โจรจีน (จีนฮ่อ) ปล้นสิบสองจุไทยและหลวงพระบาง ซึ่งในระหว่างนั้น กองทหารฝรั่งเศสได้เคลื่อนเข้าไปยังสิบสองจุไทย และได้ทำความตกลงกันให้กองทหารไทยยึดครองหัวพัน ส่วนกองทหารฝรั่งเศสยึดครองสิบสองจุไทย
๑๘๘๗-๑๘๙๓ เกิดกรณีพิพาทชายแดน
๑๘๙๓ ฝรั่งเศสส่งเรือรบ ๒ ลำไปยังกรุงเทพฯ
ฝรั่งเศสเข้ายึดครองจันทบูร
สนธิสัญญาฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ ได้ทำขึ้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์อันเพิ่มความยุ่งยากขึ้นทุกทีนั้นโดยสันติวิธี
----------------------------
(คำแปล)
(หนังสือตัวแทนฝรั่งเศส ถึงประธานคณะกรรมการการประนอม ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๙๐)
ท่านประธาน
ด้วยหม่อมเจ้าสกล ตัวแทนรัฐบาลไทยประจำคณะกรรมการ ซึ่งตั้งขึ้นตามนัยแห่งข้อ ๓ ของความตกลงระงับกรณีฝรั่งเศส - ไทย ฉบับลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ได้ส่งคำขอซึ่งได้ยื่นต่อท่านแล้ว เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคมนั้นมายังข้าพเจ้า ตามความในวรรค ๓ ข้อ ๗ แห่งกรรมสารทั่วไป แห่งกรุงเจนิวา ค.ศ. ๑๙๒๘ คำขอเป็นอนุสนธิหนังสือ ซึ่งหม่อมเจ้าสกล ได้มีถึงท่านลงวันที่ ๕ พฤษภาคม แจ้งให้ท่านทราบในนามของรัฐบาลไทยว่า มีความประสงค์ที่จะยื่นคารมบางประการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขบทสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ อนุสัญญาฉบับวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ และสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งยังคงใช้อยู่ตามข้อ ๒๒ แห่งสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗
ทางฝ่ายข้าพเจ้านั้น อนุสนธิหนังสือซึ่งได้ยื่นต่อท่าน เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ข้าพเจ้าขอเสนอข้อสังเกตต่าง ๆ ในนามแห่งรัฐบาลฝรั่งเศสเกี่ยวกับคำขอของรัฐบาลไทยมา ณ ที่นี้ด้วย เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการต่อไป
ข้อสังเกตเหล่านี้ได้รวบรวมขึ้นเป็นบันทึกการอภิปรายทั่วไปฉบับหนึ่งแนบด้วยภาคผนวกข้อพิจารณาคำขอของไทยเป็นข้อ ๆ ต่อไป
เพื่อความสะดวกของท่านและของบรรดาสมาชิกอื่น ๆ แห่งคณะกรรมการ ข้าพเจ้าได้แนบบันทึกดังกล่าว ๕ ชุด และเอกสารภาคผนวก ๕ ชุด รวมทั้งคำแปลเอกสารทั้งสองนี้ เป็นภาษาอังกฤษอย่างละ ๕ ชุด มาพร้อมกับหนังสือนี้ อนึ่ง เพื่อสะดวกแก่การอ้างอิง ข้าพเจ้าขอแนบสำเนาบันทึกของฝ่ายไทย ๕ ชุด ซึ่งได้ทำเลขหมายเป็นข้อ ๆ ไว้ มาพร้อมกับหนังสือนี้ด้วย
ขอท่านประธานได้รับความนับถืออย่างยิ่งจากข้าพเจ้า
วอชิงตัน วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๗
(ลงนาม) ฟรังซิส ลาคอสต์
ตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส
ประจำคณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย
ฯพณฯ วิลเลี่ยม ฟิลลิปส์
อดีตเอกอัครรัฐทูตแห่งสหรัฐอเมริกา
ประธานคณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย
๑๗๑๘ เอตทีนสตรีต เอน. ดับลิว.
วอชิงตัน ดี.ซี.
----------------------------
ข้อสังเกตของตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส
ว่าด้วย
บันทึกช่วยจำซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทย ได้ยื่นต่อ
คณะกรรมการการประนอม ที่ได้จัดตั้งขึ้น
ตามความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๗
----------------------------
๑. ลักษณะสำคัญของคำขอที่ได้ยื่นต่อคณะกรรมการในนามของรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม นั้น เป็นไปในทางที่จะทำลายโครงสร้างทางการเมืองของแหลมอินโดจีนโดยสิ้นเชิง ความจริง ด้วยการฟื้นข้อเรียกร้องขึ้นอีก โดยได้อ้างย้อนไปจนถึงก่อน ค.ศ. ๑๘๙๓ เช่นนี้ ก็เป็นความประสงค์ที่จะก่อให้เกิดสิทธิอันไม่จำกัดเหนืออาณาเขตบางส่วนของเขมร และอาณาเขตทั้งหมดของลาว ซึ่งจะยังผลอันเป็นการคุกคามเป็นนิจนิรันดรต่อสันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งกว่านั้น ยังได้เสนอให้ผนวกอาณาเขตส่วนใหญ่ของเขมรและของลาวเข้ากับประเทศไทยอีกด้วย อาณาเขตเหล่านี้ ประกอบเป็นส่วนสำคัญในความธำรงอยู่ของแคว้นทั้งสองนี้ ซึ่งถ้าไม่มีอาณาเขตเหล่านี้แล้ว แคว้นทั้งสองก็จะสลายและสูญสิ้นรูปไป
๒. ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายทำลายและเป็นภัยซึ่งบันทึกช่วยจำนี้ จะวิเคราะห์ลักษณะสำคัญ ๆ เสียก่อน แล้วจึงจะอภิปรายคารมไทยโดยทั่วไป [และการอภิปรายนี้จะประกอบด้วยการวิจารณ์เป็นข้อ ๆ ต่อไป (ดูในภาคผนวกแนบท้าย)] นั้น บันทึกช่วยจำฉบับนี้จะเสนอคารมของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่สนับสนุนการยืนยันสถานภาพเดิม อันได้กลับสถาปนาขึ้นตามข้อ ๑ แห่งความตกลงระงับกรณีระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ต่อคณะกรรมการ โดยสงวนข้อเรียกร้องบางประการของเขมรและลาวไว้
๓. โดยอาศัยมูลฐานแห่งสถานภาพเดิมนี้ ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสเชื่อว่าเป็นการสอดคล้องกับสถานะทางเชื้อชาติ เศรษฐกิจ และภูมิศาสตร์ อีกทั้งชอบด้วยความยุติธรรมและผลประโยชน์ที่แท้จริงของภาคี รัฐบาลฝรั่งเศสหวังอย่างแรงกล้าว่า คณะกรรมการคงจะประสบช่องทางที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแหลมอินโดจีนให้ถาวรและวัฒนา โดยเคารพต่อสิทธิของบรรดารัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อการนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
๔. ในประการแรก เป็นการสำคัญอย่างยิ่งที่จะพึงสังเกตว่า คำขอของฝ่ายไทยมิได้กล่าวถึงความตกลงระงับกรณี ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ซึ่งในข้อ ๓ ได้นิยามวัตถุประสงค์ที่ประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส ได้ตกลงกันเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเลย บทแห่งความตกลงข้อนี้ได้มอบหมายให้กณะกรรมการ “พิจารณาคารมทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจของภาคี ในการสนับสนุนการแก้ไขหรือยืนยันข้อความแห่งสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ อนุสัญญาฉบับวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ และสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งข้อ ๒๒ แห่งสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ยังให้คงใช้อยู่” กลับเป็นว่าการบรรยายของคำขอของไทยทั้งหมด เป็นไปในรูปย่อความ อภิปรายรุนแรง และเป็นคำขอให้แก้ไขบรรดาบทที่ว่าด้วยอาณาเขต แห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓ อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ และสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๗ โดยพิจารณาโดดเดี่ยวจากสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ที่จริงความตกลงระงับกรณี ค.ศ. ๑๙๔๖ ก็เช่นกัน มิได้มีการกล่าวถึงมากไปกว่าสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๓๗ ด้วยเหตุนี้บันทึกช่วยจำของไทยลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม จึงสามารถชักเอาข้อความที่มีลักษณะเป็นประวัติศาสตร์มากล่าว ซึ่งทั้งนี้ความตกลงระงับกรณีหาได้ยอมให้ทำได้ไม่ และซึ่งนับตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ มา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง ได้กลับเข้าอยู่ภายใต้บังคับแห่งสนธสัญญา ค.ศ. ๑๙๓๗ แล้ว สนธิสัญญาฉบับนี้แหละ ที่เป็นกฎหมายของภาคีทั้งสองอยู่ในขณะนี้
๕. บันทึกช่วยจำของไทย ฉบับลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ได้ตั้งข้อเสนอเกี่ยวกับสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓ อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ และสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๗ ไปในทางที่เท่ากับจะทำลายสิ่งซึ่งสัญญาเหล่านั้นเองได้ก่อขึ้น และซึ่งในเวลาบอกเลิกสัญญาเหล่านั้นเอง สนธิสัญญาปี ค.ศ. ๑๙๒๕ ก็ยังได้ยืนยัน แล้วที่สุดสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๓๗ ยังได้ยืนยันซ้ำอีกเป็นครั้งที่ ๒ ในข้อ ๒๒
๖. วรรค ๗ ของคำขอฝ่ายไทยกล่าวว่า “โดยที่เส้นเขตแดนที่ได้สถาปนาขึ้นโดยสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓ ไม่เพียงแต่จะทำให้เสียหายแก่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังทำให้เสียหายแก่พื้นแผ่นดินที่ได้ยกให้แก่อินโดจีนอีกด้วย ข้อเรียกร้องอาณาเขตบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะในแม่น้ำนั้น ซึ่งประเทศไทยได้ถูกผูกพันให้สละโดยข้อ ๑ แห่งสนธิสัญญานี้ จึงควรได้กลับคืน” ด้วยประการฉะนี้ บันทึกช่วยจำของไทยได้ใช้ความว่า “พื้นแผ่นดินที่ได้ยกให้” ซึ่งอาจทำให้เข้าใจไปว่าประเทศไทย “ได้ยกให้” ซึ่งอาณาเขตอันประเทศไทย มีสิทธิ์อย่างแน่นแฟ้นอยู่เหนือแก่ประเทศฝรั่งเศส แทนที่จะใช้ความของสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓ ซึ่งมีว่า “สละข้ออ้างในฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง” ข้อความกำกวมในลักษณะเช่นนี้ ได้ปรากฏมาแล้วในวรรค ๔ ซึ่งได้กล่าวถึง “การเคลื่อนย้ายเขตแดน” อันที่จริง ประเทศไทยมิได้เคยเข้ามามีหลักแหล่งในดินแดนเหล่านี้ ยิ่งไปกว่าการยึดครองทางทหารชั่วครั้งคราว ที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง ในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้นเลย ฉะนั้น จึงไม่เคยมี “การเคลื่อนย้ายเขตแดน” หรือ “การยกให้” ซึ่งอาณาเขตใด ๆ แก่ประเทศฝรั่งเศส คงมีตามที่ได้กล่าวไว้ในสนธิสัญญาก็แต่ “การสละข้ออ้าง” ซึ่งก็เพิ่งยกขึ้นพูดกันในเวลาเร็ว ๆ นั้นเอง และซึ่งไม่เคยได้รับการยืนยันโดยสมบูรณ์ ดังนั้น จึงนับไม่ได้ว่าไทยเคยมี “สิทธิ” แต่ประการใด
๗. ดังนี้แล้ว แม้จะอนุมานเอาว่า ข้อที่ว่าประเทศไทยและลาวได้เสียประโยชน์ไป เนื่องจากการสถาปนาเขตแดนโดยสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓ (ข้อนี้ได้พิจารณาในวรรค ๗ ของภาคผนวกแนบท้าย) เป็นการสมบูรณ์ก็ตามที ก็ยังมองไม่เห็นเลยว่าการคืน “ข้ออ้าง” ของประเทศไทยเหนืออาณาเขตเหล่านี้ให้จะเป็นการเยียวยา “การเสียประโยชน์” นี้ได้อย่างไร
๘. แต่ข้อที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ผลประการแรกของการรื้อฟื้นข้ออ้างเหล่านี้ขึ้นก็คือ จะเป็นการทำลายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓ และโดยเหตุนี้ จะเท่ากับเป็นการรื้อฟื้นบรรดาความยุ่งยาก ซึ่งสนธิสัญญานี้ได้ระงับไป รวมทั้งนโยบายแห่งการปล้นสดมภ์ ซึ่งเขมรและลาวต้องเป็นผู้รับเคราะห์มาจนกระทั่งถึงบัดนั้น ผลอันนี้จะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิตของลาว และเป็นการคุกคามเป็นนิจศีลและเป็นความเสียหายอย่างหนักแก่ญวนและเขมรด้วย อย่างน้อยที่สุดที่จะกล่าวได้ก็คือว่า “การรื้อฟื้น” ข้ออ้างเหล่านี้มีแต่จะก่อให้เกิดและคงไว้ซึ่งความไม่แน่นอน อันเป็นภัยต่อสันติภาพและทำความพินาศแก่ความเจริญรุ่งเรืองของแหลมอินโดจีน
ข้อยุติเบื้องต้น
๙. ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงใคร่แนะคณะกรรมการเป็นข้อยุติเบื้องต้นว่า พึงยกคารมที่ได้เสนอมาในคำขอของประเทศไทยดังได้อภิปรายมานี้เสีย ในฐานที่ไม่มีมูลและไม่พึงรับไว้พิจารณา ด้วยเหตุที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์เป็นพื้น
๑๐. การเสนอข้อคำนึงในทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจในบันทึกช่วยจำของฝ่ายไทยนั้น ได้ชวนให้ตั้งข้อสังเกตทั่วไปได้ ดังต่อไปนี้
คารมทางเชื้อชาติ
๑๑. คารมเหล่านี้ส่วนมากมีลักษณะที่รู้สึกว่ายึดหลัก “ลัทธิเชื้อชาติ” เป็นมูลฐาน ซึ่งตามหลักนี้ ประเทศไทยจะมีสิทธิตามธรรมชาติที่จะผนวกบรรดาอาณาเขตโดยรอบที่มีประชากรเป็นเชื้อชาติ “ไทย”
๑๒. ลัทธิเชื้อชาตินิยมนั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ในตัวเองในประวัติศาสตร์ของโลกเร็ว ๆ นี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนามของ “ลัทธินิยมมวลเยอรมัน” จนไม่จำเป็นที่จะต้องมีการย้ำถึงภัยที่จะได้รับจากลัทธินี้อีก และด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการพ้นวิสัยที่คณะกรรมการระหว่างประเทศจะยอมรับคารมที่อาศัยอ้างอิงลัทธิที่ว่านี้
คารมทางภูมิศาสตร์
๑๓. คำขอของฝ่ายไทยได้กล่าวเป็นสาระสำคัญว่า ลุ่มแม่น้ำโขงประกอบเป็นหน่วยธรรมชาติหน่วยหนึ่ง จึงควรเป็นหน่วยการเมือง เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยด้วย
๑๔. ถ้าเราต้องยอมรับคารมเช่นนี้แล้ว ก็จะเป็นการเพียงพอ ที่จะวัดอิทธิพลของความอลวนที่จะเกิดขึ้น หากนำเอาเหตุผลอันนั้นไปใช้ในกรณีลุ่มแม่น้ำอื่น ๆ เช่น ลุ่มแม่น้ำไรน์และลุ่มแม่น้ำดานูบ ในยุโรป ลุ่มแม่น้ำปตุมาโย และลุ่มแม่น้ำริโอ กรุเกวย์ในอเมริกาใต้ หรือลุ่มแม่น้ำเซ็นต์ ลอเรนซ์ และลุ่มแม่น้ำริโอ กรังด์ ในอเมริกาเหนือ การใช้หลักนี้ทั่วไปจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงซึ่งไม่อาจจะแก้ให้ตกได้ และจะนำมาซึ่งความผันผวนแก่บรรดาเขตแดนทางการเมืองทั่วโลก ฉะนั้น ไม่มีคำขอเพื่อการแก้ไขเขตแดนใดเลยที่จะอาศัยคารมเช่นนั้นได้
คารมทางเศรษฐกิจ
๑๕. คารมที่อ้างมาในคำขอของฝ่ายไทยนั้น ส่วนมากอาศัยหลักโดยปริยายว่า ภูมิภาคที่ผลิตกับที่บริโภคโภคภัณฑ์อย่างเดียวกันจะต้องอยู่ร่วมกันในองค์การเมืองอันเดียว
๑๖. แต่อย่างไรก็ดี ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะให้ภูมิภาคที่ผลิตกับภูมิภาคที่บริโภคของรัฐ ๒ รัฐ เข้ามารวมกันเพื่อประโยชน์ของรัฐหนึ่ง ยิ่งกว่าของอีกรัฐหนึ่ง ลาวและเขมรก็ควรจะมีความชอบธรรมเท่าเทียมกันที่จะเรียกร้องอาณาเขตไทยบ้าง
๑๗. การที่จะขยายหลักนี้ออกไป ก็เช่นเดียวกับที่ได้พิจารณาแล้วในเรื่องภูมิศาสตร์ จะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนที่แก้ไม่ได้ตามนิตินัยขึ้นทั่วโลก ในข้อที่ว่าควรจะเป็นรัฐใดที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ และในทุกกรณีจะก่อให้เกิดความผันผวนโดยทั่วไป
๑๘. มิใช่ด้วยอาศัยหลักอัตตาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักที่ชักนำให้กระหายดินแดน อันเป็นภัยต่อสันติภาพนี้หรอกหรือ ที่องค์การสหประชาชาติหวังจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการที่มีเขตแดน รัฐบาลฝรั่งเศสเองเชื่อว่าควรจะหาทางแก้ปัญหานี้ด้วยการทำความตกลงที่เหมาะสม เพื่อผ่อนความตึงเครียดของเขตแดนลง
ข้อยุติที่สอง
๑๙. เพื่อยุติข้ออภิปรายข้างต้นนี้ และโดยอาศัยข้อสังเกตเพิ่มเติมในภาคผนวกแนบท้ายบันทึกช่วยจำนี้ ข้าพเจ้าใครแนะคณะกรรมการเป็นข้อยุติที่ ๒ ว่า ให้ยกคารมทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ ซึ่งได้เสนอไว้ในคำขอของฝ่ายไทยเสีย ด้วยเหตุที่หามูลมิได้
๒๐. ตามข้อที่แล้ว ๆ มานี้ และบันทึกแนบท้ายได้แสดงเหตุผลแล้วว่า ทำไมรัฐบาลฝรั่งเศสจึงเห็นว่าคารมของรัฐบาลไทยไม่มีน้ำหนักเสียเลย
๒๑. ได้เป็นที่สรรเสริญกันอยู่แล้วว่า ข้อบัญญัติว่าด้วยอาณาเขตที่ใช้อยู่บัดนี้ และซึ่งมีที่มาจากสนธิสัญญาต่าง ๆ ซึ่งได้รับการยืนยันอย่างเคร่งครัดถึงสามครั้งแล้วนั้น เป็นอนุสรณ์แห่งพระปรีชาญาณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจุฬาลงกรณ และความสามารถของนายสโตรเบล ที่ปรึกษาชาวอเมริกัน รวมทั้งเหล่าผู้เจรจาชาวฝรั่งเศส คำสรรเสริญนี้เป็นการชอบแล้ว เส้นเขตแดนที่กำหนดโดยสนธิสัญญาเหล่านี้ ได้รับการยกขึ้นในท้องที่อย่างละเอียดถี่ถ้วน และได้เป็นเขตแดนที่สันติตลอดมาเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ หากสันติภาพนี้ได้ถูกรบกวนบ้าง ก็เป็นเพราะการกระทำของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในทำนองซึ่งคณะกรรมการย่อมทราบดีอยู่แล้ว จะไม่มีเส้นเขตแดนอื่นใดที่จะยังความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศส-ไทยให้อยู่ในรากฐานที่ได้ประจักษ์นี้แล้วได้เลย การบั่นทอนใด ๆ ในอาณาเขตของเขมรหรือลาวย่อมเป็นการโจมตีบูรณภาพแห่งชาติของรัฐทั้งสอง ซึ่งประเทศฝรั่งเศสมีหน้าที่จักต้องป้องกัน อีกทั้งจะทำความเสียหายอย่างหนักให้แก่เศรษฐกิจของรัฐทั้งสองนั้นด้วย
๒๒. ในที่สุด นอกจากข้อคำนึงอื่น ๆ ทั้งหมดแล้ว คณะกรรมการคงจะยังจำได้ว่า รัฐทั้งสองนี้รวมทั้งประชากรของตน ต่างก็ได้รับความบอบช้ำอย่างหนัก ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางจิตใจ จากการสงครามรุกรานของญี่ปุ่น และจากการโอนไปมาซึ่งอาณาเขตบางส่วนของตนภายในชั่วเวลา ๖ ปี จนกระทั่งว่าเป็นการพ้นวิสัยในทางจิตใจที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบกระเทือนประชากรเหล่านี้ใหม่อีก
ข้อยุติขั้นที่สุด
๒๓. ดังนี้ ด้วยผลแห่งการอภิปรายข้างต้น ข้าพเจ้าจึงใคร่แนะคณะกรรมการเป็นข้อยุติขั้นที่สุดว่า พึงรับน้ำหนักแห่งคารมที่ได้แถลงมาข้างต้นนี้รวมทั้งภาคผนวกแนบท้าย เพื่อสนับสนุนเขตแดนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
๒๔. รัฐบาลฝรั่งเศสเชื่อมั่นว่า การเคารพต่อบรรดาสนธิสัญญา และเสถียรภาพแห่งเขตแดนนั้น เป็นเงื่อนไขของความสัมพันธ์ฐานเพื่อนบ้านที่ดี รัฐบาลฝรั่งเศสได้พิสูจน์ให้เห็นเจตนารมณ์ร่วมมือโดยสุจริตอันได้เป็นสิ่งที่จรรโลงใจรัฐบาลฝรั่งเศสตลอดมา จนตราบเท่าก่อนเหตุการณ์ที่ทำให้สูญเสียจังหวัดที่เพิ่งกลับคืนมายังเขมรและลาว เฉพาะอย่างยิ่ง ในข้อที่เกี่ยวกับการผ่อนปรนในเรื่องแม่น้ำโขงที่เป็นเขตแดน ด้วยเจตนารมณ์อย่างเดียวกันนี้ และโดยเคารพต่อสิทธิแห่งมิตรของตน รัฐบาลฝรั่งเศสพร้อมที่จะเสาะหาลู่ทางอันอาจจะส่งเสริมการสถาปนาระบอบแห่งสันติภาพ และความวัฒนาระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้อง
----------------------------
บันทึกผนวก
แนบบันทึกช่วยจำของตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส
ตอบบันทึกช่วยจำของตัวแทนรัฐบาลไทย
ที่ได้ยื่นต่อคณะกรรมการ
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๗
หมายเหตุ
บรรดาตัวเลขหัวข้อข้างล่างนี้ตรงกับที่ได้ใส่ไว้ริมกระดาษของสำเนาบันทึกไทย ดังที่แนบมาด้วย
๑. ก) ในบรรดาอนุสนธิที่อ้างคำขอของไทยได้ละเลยไม่กล่าวและไม่คำนึงถึงสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ และความตกลงฉบับลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ เลยตลอดการอภิปรายของตน บันทึกช่วยจำของฝ่ายฝรั่งเศสได้วิจารณผลของการละเลยนี้ไว้แล้วในภาคที่ ๒
ข) คำขอของฝ่ายไทยได้ยื่นมาในรูปบันทึกย่อ ๆ ฉะนั้น จึงขอตั้งข้อสงวนไว้ในที่นี้ เผื่อจะมีคารมใหม่ซึ่งตัวแทนไทยอาจเสนอมาอีกเป็นบันทึกขยายความเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป
๒. วรรคนี้เป็นผลของการละเลย ดังได้กล่าวไว้ในวรรค ๑.
ก) ดูภาคที่ ๒ ของบันทึกช่วยจำของฝรั่งเศส
๓. ข้อสังเกตเช่นเดียวกัน ขอให้ดูบันทึกช่วยจำภาคที่ ๒ ของฝรั่งเศส
๔. นอกจากข้อคำนึงในทางศีลธรรม และในปัญหาทางความเหมาะสมระหว่างประเทศ ดังได้วิกรณ์ไว้ในบันทึกช่วยจำของฝรั่งเศสภาคที่ ๒ นั้นแล้ว ยังเป็นการสมควรที่จะสังเกตว่าการใช้คารมของไทยดังกล่าวในกรณีเชื้อชาติไทยนั้น ต้องผจญกับข้อขัดข้องที่สำคัญหลายประการ
ในขั้นแรกก็คือ ควรระลึกว่าความหมายของคำเชื้อชาติ (race) นั้น ในทางวิทยาศาสตร์ยังเป็นเรื่องหนึ่งที่โต้เถียงกันมาก และที่ยังหาความแน่นอนไม่ได้ นอกจากนั้น ความตกลงระงับกรณีหาได้กล่าวถึงเหตุผลทาง race ไม่ แต่ได้กล่าวถึงเหตุผลทาง ethnic ซึ่งเป็นการว่าด้วยสิ่งที่มีลักษณะต่างกันมาก ฉะนั้น ซึ่งจะต้องมีข้อสงวนในการที่จะใช้คำหนึ่งแทนอีกคำหนึ่งไว้ด้วย
ว่ากันตามนี้แล้ว พื้นแผ่นดินที่มีประชากรที่พูดภาษาไทยนั้น แผ่ไพศาลเกินอาณาเขตของประเทศไทย ไม่เพียงแต่เข้าไปในแคว้นลาวเท่านั้น ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ยังเข้าไปถึงพม่าตลอดเนินสูงของแคว้นฉาน ทางทิศเหนือเข้าไปถึงภาคใต้ของประเทศจีน (แหล่งเดิมซึ่งเผ่าไทยเคลื่อนลงมา) จดแม่น้ำแยงซี ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงบริเวณพรมแดนขึ้นกับตังเกี๋ย และบางทีอาจจะถึงเกาะไหหลาอีกด้วยซ้ำ ถ้าหากยอมรับคารม “เชื้อชาติ” ซึ่งฝ่ายไทยได้เสนอเพื่อสนับสนุนการแก้ไขเขตแดนทางด้านลาว ก็จะเท่ากับเป็นการเปิดทางให้มีการเรียกร้องอื่น ๆ ต่อไปอีก กล่าวคือ ในประการแรก การเรียกร้องจากทางประเทศไทยเอง (ไม่ควรลืมว่าในระหว่างสงครามนั้น ประเทศไทยได้ยึดครองบรรดารัฐฉาน หลังจากที่ได้ยกครองส่วนหนึ่งของลาวและเขมรเพียงเล็กน้อย) และโดยประการเช่นเดียวกัน การเรียกร้องทางรัฐอื่น ๆ ซึ่งมีประชากรกลุ่มใหญ่ ๆ ที่พูดภาษาไทยอยู่แล้วในอาณาเขตของตน
อนึ่ง แคว้นลาวในพื้นที่สูงและลุ่ม ๆ ดอน ๆ นั้น ก็มีกลุ่มประชากรซึ่งแตกต่างกับชาวไทยอย่างมาก (เช่นพวกข่าอันมีกำเนิดจากอินโดนีเซียและพวกแม้วหรือมัน)
ในที่สุดชาวลาวนั้น แม้จะจัดอยู่ในหมู่ประชากรที่พูดภาษาไทยก็ดี แต่ก็ผิดแผกไปจากเหล่าประชากรที่พูดภาษาไทยในประเทศไทยด้วยลักษณะหลายประการ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ทางสำเนียงอักษร เครื่องนุ่งห่ม กฎหมายและขนบประเพณีหลายอย่าง ในข้อนี้ ชาวไทย ภาคเหนือและภาคตะวันออก ซึ่งมีชื่อว่าลาวเหนือและลาวภาคตะวันตกนั้น ประกอบเป็นหมู่ชนที่มีเชื้อสายใกล้ชิดค่อนไปทางพลเมืองของแคว้นลาว มากกว่าประชากรส่วนที่เหลือของประเทศไทยเสียอีก แนวเขตทางเชื้อชาติที่กันชาวสยามกับประชากรลาวนั้น ที่จริงอยู่แถวสันปันน้ำของแม่น้ำโขงกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแบ่งเนินสูงของโคราชทั้งหมดไว้ทางตะวันออก ซึ่งเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ลาวสยาม”
เพราะฉะนั้น จึงอาจะโต้เถียงได้ว่า ถ้าแม้จะมีการเคลื่อนย้ายเขตแดนกันแล้ว ก็จะเป็นการชอบด้วยเหตุผลมากกว่าที่จะให้อาณาเขตของประเทศไทยในส่วนที่มีประชากรเป็นลาวรวมเข้าในแคว้นลาวอันอิสระ นัยหนึ่งคือ ราชอาณาจักรลาว แทนที่จะให้อาณาเขตของรัฐลาวนี้ไปอยู่ภายใต้การปกครองของไทย
เพื่อจบข้อสังเกตทั่วไปในการมทางเชื้อชาติ (ethnique) ของไทย ดังที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการการประนอมตามในบันทึกฉบับลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ควรตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อ ๘ ปีมาแล้วนี้เอง ในระหว่างเวลาที่พรรคทหารได้เผยแพร่นโยบาย Pan Thai ประเทศสยามได้เปลี่ยนใช้ชื่อของตนว่า ประเทศไทย (Thailande) อันเป็นชื่อสมมติทางเชื้อชาติ เมื่อสิ้นสงครามในตะวันออกไกลแล้ว ประเทศสยามจึงกลับใช้ชื่อเดิมอันเป็นที่ใช้กันในการปฏิบัติระหว่างประเทศ
ส่วนถ้อยคำที่ว่า “การเคลื่อนย้ายเขตแดน” ซึ่งได้ใช้แทนถ้อยคำในสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๕๓ คือ “การสละข้ออ้างทั้งสิ้นบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง” นั้น ขอให้ดูบันทึกช่วยจำของฝ่ายฝรั่งเศส ภาคที่ ๑
๕. นอกจากบรรดาข้อคำนึงโดยทั่วไป ซึ่งได้กล่าวโดยละเอียดในภาค ๒ ของบันทึกช่วยจำของฝ่ายฝรั่งเศสแล้ว ควรบันทึกไว้ด้วยว่า ถ้าว่าถึงจะใช้หลักหน่วยการเมืองแก่ลุ่มแม่น้ำกันแล้ว กรณีของแม่น้ำโขงอาจนำไปสู่การก่อตั้งลาวใหญ่ (Great Laos) เพื่อประโยชน์ของราชอาณาจักรลาวด้วยก็ได้ อนึ่ง ตามที่ความในวรรค ๕ ได้รับรู้ว่า ได้มีองค์การอันหนึ่ง คือ “คณะข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศส–ไทย ประจำแม่น้ำโขง” มีหน้าที่แก้ไขบรรดาความยุ่งยากในด้านการปกครองของเขตแดนทางอันยาวนี้ องค์การนี้ได้เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นที่พึงพอใจตลอดมา ฉะนั้น องค์การนี้ก็จะสามารถปฏิบัติการของตนไปได้อีกในอนาคต หากได้เครื่องมือที่เหมาะสม
๖. ดูบันทึกช่วยจำฝ่ายฝรั่งเศสภาค ๒
ในข้อที่ว่าด้วยการรวมพื้นแผ่นดินที่เป็นเขตผ่านแดนของสินค้ากับเขตผลิตหรือเขตบริโภคเข้าด้วยกันนั้น หลักนี้ก็ไม่มีคุณค่าอันใดยิ่งกว่าหลักการรวมบรรดาประเทศที่มีการเศรษฐกิจประกอบกัน (complèmentaire) หรืออ้างว่าประกอบกันเข้าด้วยกัน กรณีของประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นตัวอย่างที่เด่นชัด
๗. ดูบันทึกช่วยจำของฝ่ายฝรั่งเศสภาค ๒
คำขอของฝ่ายไทยแสดงความปรารถนาที่จะขอคืนสู่ข้ออ้างสิทธิของไทยในอาณาเขตบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและบรรดาเกาะในแม่น้ำก่อน ค.ศ. ๑๘๙๓ แต่คำขอนี้หาได้เสนอคารมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบอบของแม่น้ำโขงนั้นประการใดไม่ จึงต้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
จำเดิมก่อน ค.ศ. ๑๙๓๐ รัฐบาลฝรั่งเศสได้แสดงฐานะและเจตจำนงแล้วที่จะเจรจาเพื่อเปิดทางให้ประเทศไทยได้เข้าถึงร่องน้ำลึก แต่อย่างไรก็ดี ไม่ได้เคยมีปัญหาถึงข้อที่จะยกเกาะในแม่น้ำโขงให้แก่ประเทศไทยโดยไม่เลือกหน้า นอกจากนั้น เมื่อในครั้งสุดท้าย คือ ค.ศ. ๑๙๔๐ ได้พิจารณากันถึงระบอบแม่น้ำโขง ในระหว่างการเจรจาซึ่งได้กระทำตามเจตนารมณ์ของสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๓๗ ก็ได้เป็นที่ตกลงกันว่า ฝรั่งเศสพร้อมที่จะเจรจาในปัญหาข้อนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนกับการทำกติกาสัญญาไม่รุกราน และกติกาสัญญาเช่นว่านี้ก็ได้ลงนามกันเรียบร้อย เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐
เป็นที่ทราบกันแล้วว่าอะไรได้เกิดขึ้นหลังจากนั้น ทั้งๆ ที่กติกาสัญญาไม่รุกรานได้กล่าวยืนยันอาณาเขตเป็นครั้งที่ ๓ และได้บัญญัติให้ต่างฝ่ายต่างเคารพสถานภาพเดิม กระนั้นก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสยังคงซื่อตรงต่อนโยบายที่ได้วางไว้เมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๐ อยู่ และพร้อมที่จะดำเนินการเจรจากันใหม่ในเรื่องนี้
๘. ผลของการละเลย (ไม่กล่าวถึงสนธิสัญญาปี ค.ศ. ๑๙๓๗ และความตกลงปี ค.ศ. ๑๙๔๖) ตามที่ได้กล่าวไว้ในวรรค ๑ ดูบันทึกช่วยจำของฝ่ายฝรั่งเศสภาคที่ ๒
๙. วรรคนี้ ซึ่งเกี่ยวกับหลวงพระบาง ยืนยันว่า บรรดาประชากรส่วนมากเป็นไทยทั้งสองฟากของพรมแดน เกี่ยวกับน้ำหนักของคารมอันนี้ ดูภาค ๒ ของบันทึกช่วยจำของฝ่ายฝรั่งเศส
๑๐. วรรคนี้กล่าวว่า สนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ ได้ทำให้เกิดมี “ดินแดนฝรั่งเศสยื่นล้ำเข้ามาในอาณาเขตไทย” (enclave) ก่อนอื่นควรสังเกตว่า คำว่า enclave (ซึ่งบางแห่งได้ใช้เกี่ยวกับจังหวัดจัมปาศักดิ์เหมือนกันนั้น) เป็นคำที่ไม่ถูกต้องทั้งในสองกรณี เพราะคำ enclave จะใช้ได้ก็แต่อาณาเขตซึ่งถูกอาณาเขตของรัฐอีกรัฐหนึ่งล้อมโดยรอบ
ข้อสำคัญนั้น คือสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ ได้กำหนดเขตแดนของแคว้นลาวด้านตะวันตกเฉียงเหนือไว้อย่างสมชื่อว่า เป็นเขตแดนธรรมชาติอันแท้จริง เพราะเป็นเขตแดนที่ประกอบด้วยทิวเขาต่อเนื่องกัน ซึ่งในบางแห่งสูงกว่า ๒,๐๐๐ เมตร และซึ่งจะหาคอเขาซึ่งต่ำกว่า ๗๐๐ เมตร ได้โดยยาก ทิวเขานี้แหละเป็นสันปันน้ำระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นเขตแดนที่กล่าวนี้ ได้ปักปันกันด้วยความรอบคอบ โดยคณะกรรมการปักปัน ซึ่งได้ตั้งขึ้นตามสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ และเส้นเขตแดนนี้เองก็เป็นผลเนื่องมาจากการยินยอมซึ่งลาวเสียเปรียบอยู่แล้ว คือ คณะกรรมการชุดนี้ไม่ยอมรับพิจารณาข้อเรียกร้องของเจ้าหลวงพระบาง เหนือที่ราบสูงบางแห่งซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของทิวยอดเขาในบริเวณรอบหัวเมืองน่าน นอกจากนั้น คณะกรรมการปักปันยังได้แนะนำให้ด่านซ้ายแก่ประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ยอมทำตาม ถ้ายกเอาเส้นเขตแดนนี้ขึ้นมาว่ากันอีกแล้ว ลาวก็คงจะต้องอ้างสิทธิเดิมเหล่านี้ของตน
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากที่ได้ยกหลักที่ว่าลุ่มแม่น้ำควรจะประกอบตั้งเป็นหน่วยการเมืองขึ้นข้างในวรรคที่ ๕ (ของบันทึกของไทย) เพื่อสนับสนุนข้อเสนอขอแก้ไขเขตแดนของสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓ แล้ว ในวรรคที่ ๑๐ ต่อมานั้นเอง ไทยก็ได้เสนอคารมแย้งกับหลักนี้อย่างแรง คือ ข้อเสนอของไทยในการหาเหตุผลให้แก่การแก้ไขเส้นเขตแดนของสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ ได้อ้างหลักที่ตรงกันข้ามอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ คือตามหลักหลังนี้แล้ว เอกภาพของลุ่มแม่น้ำโขงจะต้องถูกทำลายตอนอาณาจักรหลวงพระบาง และส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรหลวงพระบาง ซึ่งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ประชิดประเทศไทย “เพื่อให้แม่น้ำโขงกลับมีคุณค่าในฐานทางน้ำระหว่างประเทศอย่างเดิม”
บรรดาอาณาเขตฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงนั้น ย่อมประกอบกันเป็นหน่วยในทางภูมิศาสตร์หน่วยหนึ่ง ซึ่งตามคำขอของไทยก็ได้ว่าไว้ว่าควรจัดขึ้น แต่ในตอนหลวงพระบางนี้เอง ได้มีการยืนยันเขตแดนโดยสัญญาหลายครั้งหลายหน ไม่เหมือนกับตอนแม่น้ำโขงตอนกลางซึ่งไทยได้ขอให้จัดเป็นหน่วยการเมืองเพื่อประโยชน์ของไทยเอง ทั้งๆ ที่จะเป็นการกลับคำของสัญญาเหล่านี้เอง
ในที่สุด ควรสังเกตว่า ข้อ ๔ ของอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ ซึ่งยังมีผลใช้อยู่โดยข้อ ๔ ของอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๒๖ นั้น ได้ให้เสรีภาพในการเดินเรือในแม่น้ำโขงตอนที่ผ่านอาณาเขตหลวงพระบางแก่บรรดาเรือไทย
๑๑. คารมทางเศรษฐกิจข้อนี้ไม่มีน้ำหนักประการใด
ดูบันทึกช่วยจำของฝรั่งเศสภาค ๒
ควรทราบไว้ด้วยว่า ภูมิภาคด้านหลวงพระบางนี้มีถนนติดต่อกับญวนใต้และเมืองท่าชายฝั่งญวนเหนือหลายสาย
๑๒. คำขอของไทย ได้ขอให้จังหวัดหลวงพระบางเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่จังหวัดนี้ไม่ได้เคยเป็นมาแต่กาลก่อนเลย และในปี ค.ศ. ๑๙๐๔ ประเทศไทยก็ได้สละแต่เพียง “สิทธิแห่งอธิราช” เหนืออาณาเขตบนฝั่งของแม่น้ำโขง โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรหลวงพระบางเท่านั้น
๑๓. พลเมืองส่วนใหญ่ของจังหวัดจัมปาศักดิ์พูดภาษาไทยก็จริง แต่ก็ไม่หมายความว่า จำเป็นที่อาณาเขตลาวส่วนนี้จะต้องรวมกับประเทศไทย ยิ่งกว่านั้น ภาษาที่พูดกันในจังหวัดจัมปาศักดิ์ก็เป็นภาษาลาวซึ่งผิดกับภาษาไทยในสยาม
๑๔. วรรคนี้ (ของบันทึกไทย) กล่าวว่า “เช่นที่กรณีได้เป็นอยู่เสมอมา ภูมิศาสตร์ย่อมเป็นเครื่องกำหนดการเข้าสู่ภูมิภาคหนึ่ง ๆ ไว้ ซึ่งการเข้าสู่ภูมิภาคหนึ่ง ๆ นี้เอง ย่อมมีผลกระทบกระเทือนชีวิต เศรษฐกิจในภูมิภาคนั้นอีกทอดหนึ่งด้วย” และกล่าวต่อไปถึงความสะดวกบางประการในการคมนาคมของภูมิภาคนั้น โดยได้พิจารณาไม่เฉพาะเหตุทางธรรมชาติเท่านั้น แต่รวมถึงปัจจัยบางประการอันมนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้น เช่น ถนนและรถไฟด้วย
นอกจากแง่นี้ของปัญหา ซึ่งจะได้พิจารณาในตอนต่อไปแล้ว ควรจะต้องนำเอาหลักทางภูมิศาสตร์ ซึ่งคำขอของไทยได้อ้างไว้ในที่อื่น ๆ มาใช้ในกรณีจัมปาศักดิ์บ้าง ด้วยวิธีนี้เอง จะเห็นว่า ในภูมิภาคนี้ก็เช่นกัน เส้นเขตแดนมิได้กำหนดกันขึ้นอย่างตามบุญตามกรรมหรือโดยพลการเลย เส้นเขตแดนนี้ได้อาศัยแนวยอดเขาซึ่งต่อเนื่อง แนวธรรมชาติอันสำคัญของภูเขาพนมดังแรก ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ คือทางปากเซ ภูเขาพนมดังแรกนี้เอง ทางใต้บรรจบกับที่ราบสูงของโคราช เป็นการแยกไทยจากเขมร เช่นเดียวกับภูเขาพนมดังแรก เทือกเขาที่ว่านี้เองเป็นสันปันน้ำระหว่างลุ่มแม่น้ำเซมูนซึ่งเป็น สายน้ำใหญ่ของลาวไทย กับลุ่มแม่น้ำโขง
ในส่วนประโยคที่ ๒ ของวรรคนี้ ดูข้อ ๑๕ ต่อไปนี้
๑๕. เป็นความจริงที่ว่า มีภูเขาอยู่หลายเทือกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดนี้ จริงอีกเหมือนกันว่า จังหวัดนี้มีทางคมนาคมกับทางภาคใต้โดยแม่น้ำโขง และจำเป็นต้องมีการขนถ่ายเรือตอนแก่งโคน การขนถ่ายเรือนี้ส่วนหนึ่งได้กระทำโดยเรือและเรือขุดลำเลียง แต่ก็ยังมีทางรถไฟสั้น ๆ อ้อมแก่งนี้อีกด้วย และอีกประการหนึ่ง การที่จะกล่าวว่าการจราจรตามทางนี้ไม่อาจที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นนั้น เป็นการกล่าวโดยไม่มีข้อพิสูจน์ และข้อที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คำขอของไทยได้ละเลยไม่กล่าวถึงถนนที่มีอยู่สายหนึ่ง (ถนนสหพันธ์หมายเลขที่ ๑๓) ซึ่งทอดไปทางทิศใต้จนถึงไซ่ง่อน คือถนนที่ได้กล่าวไว้ในอนุวรรค ข. (ของบันทึกไทย)
ตามอนุวรรค ข. นี้ ทางผ่านแดน (Transit) ขึ้นไปสู่ทิศเหนือ และไปสู่ประเทศไทยนั้นเป็นไปในทำนองที่ว่า ถ้าจะพูดในแง่การขนส่งแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ที่จะรวมแคว้นจัมปาศักดิ์เหนือแม่น้ำเซลำเพา เข้ากับประเทศไทย แต่คำขอของไทยนั้นเอง ก็ได้ยอมรับอยู่ว่า ยังเป็นการจำเป็นที่จะต้องขนถ่ายสินค้าที่ปากเซและที่อุบลเช่นเดียวกัน อนึ่ง ในบันทึกช่วยจำนั้นก็ได้แสดงให้เห็นว่า บนฝั่งซ้ายมี “ถนนที่ดีพอประมาณ” คู่ขนานกันไปกับทางน้ำนั้นด้วย ถนนสายนี้เองที่บันทึกช่วยจำของฝ่ายไทยได้ยอมรับถึงคุณค่าเฉพาะตอนที่ขึ้นไปทางทิศเหนือ ส่วนตอนใต้อันมีคุณค่าเช่นเดียวกัน บันทึกช่วยจำของฝ่ายไทยได้ละเลยไม่กล่าวถึง ความจริงมีอยู่ว่า ถนนสหพันธ์หมายเลขที่ ๑๓ ซึ่งเชื่อมหลวงพระบางกับไซ่ง่อนนั้น เป็นทางสำหรับปากเซและจัมปาศักดิ์ด้วย นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีถนนที่ตัดตรงจากถนนนี้อีก ๒ สายไปสู่ท่าเรือชายฝั่งญวนอีกด้วย (ถนนจากท่าแขกไปวินต์ และจากสุวรรณเขตไปกวางตรี)
๑๖. ดูบันทึกช่วยจำของฝรั่งเศสภาคที่ ๒
เป็นการสำคัญยิ่งที่คำขอของฝ่ายไทยอ้างประโยชน์ของถนน ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาเป็นคารมสนับสนุนการรวมดินแดนบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงเข้ากับประเทศไทย
๑๗. วรรคนี้ไม่ตรงประเด็น
๑๘. หากประชากรในอาณาเขตไทยที่ต่อเนื่องกับเขมร จะมีความสัมพันธ์ทาง “เชื้อชาติ” กับเหล่าประชากรในอาณาเขตเขมร ดังที่กล่าวไว้ในวรรคที่ ๑๘ ของบันทึกไทยแล้ว ก็หาใช่เพราะเป็นผลของการผสมชาติกันดังอ้างไม่ แต่เป็นเพราะความจริงที่ว่าเส้นเขตแดนการเมืองในตอนนี้ ผ่าล้ำเข้าไปทางทิศตะวันออกของเส้นเขตทางเชื้อชาติมาก โดยอาศัยเหตุผลแต่เพียงในทางภูมิศาสตร์ ดังจะได้แสดงในวรรค ๑๙ ข้างล่าง ฉะนั้น ถ้าหากจะปรับเขตแดนทางการเมืองระหว่างประเทศไทยกับเขมรให้เป็นไปตามเขตจังหวัดตอนใต้และตะวันออกของพระตะบองแล้ว เขตแดนใหม่นี้ก็จะยังคงแบ่งแยกชาวเขมรออกจากกันอยู่ดังเดิม แต่ถ้าต้องการจะปรับให้เป็นไปตามเส้นเขตทางเชื้อชาติจริง ๆ แล้ว ก็กลับจะต้องเคลื่อนเขตแดนไปทางทิศเหนือและทิศตะวันตกอีกมากมาย ซึ่งหมายความว่าจะเป็นผลร้ายแก่ประเทศไทย
๑๙. ในวรรค ๑๙ (ของบันทึกไทย) กล่าวแต่เพียงว่า “ในทางภูมิศาสตร์ก็ดี และในทางเศรษฐกิจก็ดี จังหวัดเหล่านี้ได้เกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิดกับอาณาเขตทางเหนือของเขตแดนปัจจุบัน” มิได้มีการแสดงประกอบข้ออ้างนี้ในแง่ที่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์เลย อันที่จริง โครงสร้างทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคนี้ได้ให้เส้นเขตแดนทางธรรมชาติไว้อย่างชัดแจ้ง คือ ทิวเขาพนมดังแรก อันเป็นสันปันน้ำระหว่างแม่น้ำเซมูนทางทิศเหนือและแม่น้ำโขงตอนล่าง กับแหล่งน้ำอันกว้างใหญ่ของทะเลสาบทางทิศใต้
ถ้าจะไม่ถือเขตแดนตามเขาพนมดังแรกนี้แล้ว ก็จะหาเขตแดนทางภูมิศาสตร์อันเหมาะสมทางทิศใต้ไม่ได้อีก ประสบการณ์เช่นว่านี้ ได้เกิดขึ้นแล้วในปี ค.ศ. ๑๙๔๑ เมื่อรัฐบาลไทยด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่น ประสงค์ที่จะเคลื่อนเขตแดนทางการเมืองลงไปทางทิศใต้ เพื่อให้ได้ส่วนหนึ่งของอาณาเขตเขมรมานั้น ก็จำต้องวางเขตแดนทางการเมือง โดยสมมติขึ้นตามเส้นขนานอีกที่ ๑๕ ทั้งนี้ก็เพราะหาเส้นเขตแดนธรรมชาติไม่ได้ เขตแดนที่วางชิ้นนี้ไม่แยแสต่อภูมิศาตร์ของท้องที่หรือของพลเมืองเลย ทั้งไม่แยแสต่อความจริงที่ว่าในระหว่างเขาพนมดังแรกทางเหนือกับเส้นเขตแดนนี้ มีแต่ประชากรที่เป็นเขมรและมอญ-เขมรเท่านั้น หามีไทยไม่เลย
แม้ว่าคำขอของฝ่ายไทยจะไม่ได้อภิปรายถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเขตแดนเขมรทางด้านตะวันตกเสียเลยก็ตาม รู้สึกว่าจะมีประโยชน์ที่จะกล่าวบ้าง คือ จากทิวเขาพนมดังแรกใต้ช่อง “ปอยเป” ลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีหมู่ภูเขาที่เป็นป่าทึบ ปราศจากผู้คน เป็นเครื่องแบ่งแยกตามธรรมชาติอันแท้จริง ระหว่างภูมิภาคทางทิศตะวันตก ซึ่งประชากรส่วนมากเป็นไทย กับภูมิภาคทางทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประชากรเป็นเขมร ข้อที่จะกล่าวได้ในตอนนี้ก็มีแต่ข้อเดียวว่า เส้นเขตแดนซึ่งผ่านป่าทึบอันปราศจากผู้อาศัยนี้ อยู่ค่อนไปทางทิศตะวันออกของสันปันน้ำระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำโขง ประมาณ ๒๕ ถึง ๕๐ กิโลเมตร ฉะนั้น ถ้าหากจะใช้หลักเอกภาพแห่งลุ่มน้ำตามคำขอของฝ่ายไทยวรรค ๕ แล้ว การเคลื่อนเขตแดนก็จะต้องเป็นไปในทางที่ประเทศไทยต้องเสียประโยชน์ ต่อจากนี้ไปทางทิศใต้ ก็ได้แก่หมู่เขากูบ (สูง ๑๒๖๕ เมตร) อันเป็นเขตสุดของจังหวัดพระตะบองของเขมรทางด้านตะวันตก
เส้นเขตแดนของปี ค.ศ. ๑๙๐๗ นั้น ได้ปล่อยให้ประเทศไทยมีอาณาเขตเป็นแถบบางอย่างประหลาด ชายทะเล ซึ่งกว้างเพียงไม่กี่ร้อยเมตร แต่ยาวถึง ๔๐ กิโลเมตร ทั้งนี้ก็ด้วยความประสงค์อัน ชัดแจ้งที่จะให้ประเทศไทยได้มีหมู่บ้านชายฝั่งสองสามหมู่ที่ชาวประมงอาศัยอยู่ ฉะนั้น ถ้าใช้คารมในทางภูมิศาสตร์ล้วน ๆ เพื่อเป็นเหตุแก้ไขเขตแดนที่มีแล้ว ก็เห็นได้ชัดว่า การแก้ไขจะต้องให้ประโยชน์แก่เขมรอย่างไม่มีปัญหา
ในที่สุด วรรคที่ ๑๙ นี้ได้ชี้ว่า เมืองท่าพนมเปญนั้นอยู่ห่างจากทะเลถึง ๓๕๐ กิโลเมตร และมีความจุน้อยกว่าเมืองท่ากรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ห่างจากอ่าวไทยเพียง ๓๕ กิโลเมตรเท่านั้น แต่เมืองท่าพนมเปญซึ่งที่จริงก็สามารถรับเรือขนาด ๔,๐๐๐ ถึง ๕,๐๐๐ ตันได้ ก็หาใช่เมืองท่าแห่งเดียวสำหรับการค้าในภูมิภาคพระตะบองไม่ ภูมิภาคนี้ยังติดต่อกับเมืองท่าไซ่ง่อนได้โดยทางน้ำอันไม่ขาดตอนทางหนึ่ง โดยทางถนนอีกสองสายอีกทางหนึ่ง และโดยทางรถไฟสายพระตะบอง-พนมเปญอีกระยะหนึ่งด้วย เมืองท่าที่ไซ่ง่อนนี้สามารถที่จะรับเรือขนาด ๓๐,๐๐๐ ตันได้
๒๐. จากการอภิปรายในวรรคที่ ๑๙ ข้างบนนี้ ข้อยุติสรุปในวรรคที่ ๒๐ (ของไทย) ย่อมไม่มีมูล และรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง
๒๑. วรรคนี้ (ของบันทึกไทย) เป็นการสรุปขอแถลงเพื่อการแก้ไขทั้งหลาย ฝ่ายฝรั่งเศสได้ตอบแก้ไว้แล้วในวรรคต่างๆ ข้างต้นนี้
๒๒. ในวรรคนี้รัฐบาลไทยกล่าวว่า ในการยื่นข้อเสนอเหล่านี้นั้น รัฐบาลไทยได้คำนึงว่า ความมุ่งหมายในการดำเนินการประนอมก็คือ เพื่อจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทยได้เข้าสู่เสถียรภาพอันถาวร และมีมิตรภาพระหว่างกันโดยปราศจากข้อสงวนให้เสร็จสิ้นกันไปเสียที จะได้เป็นประกันสันติภาพอันยืนนาน และความเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงอันดีต่อกันในอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ สมตามหลักการที่ได้ประกาศไว้ในกฎบัตรของสหประชาชาติ
อันความรู้สึกและความปรารถนาของรัฐบาลฝรั่งเศสเอง เมื่อแรกเริ่มกระบวนการประนอมนี้ก็เช่นกัน ไม่อาจจะนิยามให้งดงามไปกว่านี้ได้ แต่รู้สึกว่าจะเป็นการเย้ยอยู่สักหน่อย ที่ไทยขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสยินยอมยกเลิกบทบัญญัติอันสำคัญของความตกลงที่ได้ทำกันเมื่อหกเดือนมานี้ ซึ่งได้ทำให้มีการดำเนินการประนอมขึ้น เพื่อเป็นค่าเสียสละในอันที่จะให้บรรลุความปรารถนาอันชอบธรรมและควรเคารพนี้ และที่จะขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสบังคับเขมรและลาวผู้ที่ได้ประสบเคราะห์มาแล้วในการรุกรานใน ค.ศ. ๑๙๔๑ ให้สละอาณาเขตที่เพิ่งได้รับคืนมานั้นอีกครั้งหนึ่ง กับทั้งจะให้รื้อฟื้นข้ออ้างเหนือส่วนที่เป็นอาณาเขตของแคว้นทั้งสอง ทั้ง ๆ ที่บันทึกช่วยจำของไทยฉบับวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ก็มิได้พยายามที่จะแสดงความชอบธรรมในข้ออ้างนั้น และทั้ง ๆ ที่ข้ออ้างนั้นที่จริงก็เพียงอาศัยมูลฐานแห่งการโจมตีทางทหารเท่านั้น
๒๓. วรรคที่ ๒๔ กล่าวว่า ข้อเสนอในคำขอของฝ่ายไทย “แสดงถึงความรู้สึกทางจิตใจของประชาชนชาวไทย ที่ได้มีอยู่ต่อบรรดาการโอนอาณาเขตที่แล้ว ๆ มา” แต่แท้ที่จริงนั้น ข้อเรียกร้องเหล่านี้หาได้เกิดขึ้นในสันดานแห่งมติมหาชนไม่ แต่เป็นมติมหาชนที่เพิ่งได้บ่มกันขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง พร้อมกับสมัยที่คณะพรรคทหารไทยได้เริ่มพยายามจะเข้ากุมอำนาจใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ในทันใดที่กองทัพฝรั่งเศสได้ปราชัยในยุโรป ความพยายามของพรรคทหารนี้ บวกกับความพยายามของญี่ปุ่นก็ได้นำไปสู่การสงครามใน ค.ศ. ๑๙๔๐ -๑๙๔๑ และการยึดครองอาณาเขตเขมรและลาวโดยประเทศไทย
เพื่อวินิจฉัยมติมหาชนไทยที่แท้ก่อนเวลาที่คณะพรรคทหารจะได้ประสบความสำเร็จในลัทธิ Pan-Thai นั้น เป็นการพอเพียงที่จะกล่าวว่า จนกระทั่งปี ค.ศ. ๑๙๔๐ ไม่มีรัฐบาลไทยสมัยใดเลยที่ได้คิดการจะเรียกร้องอาณาเขต ซึ่งนับว่าได้สถาปนาโดยแน่นอนแล้วใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ถ้อยแถลง ๒ คราวที่ได้ยกมากล่าวข้างล่างนี้ จะให้ความสว่างในเรื่องนี้ได้ คือ
๑) ในโอกาสการยุติการเจรจากระทำข้อตกลงพาณิชย์และศุลกากร ระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๓๗ หลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ได้สรรเสริญเจตนารมณ์อันเป็นมิตร และความเข้าใจอันดีของประเทศฝรั่งเศสและอินโดจีน ในการที่ได้ตอบสนองการเสนอขอแก้ไขสนธิสัญญาต่าง ๆ ของประเทศไทย หลวงประดิษฐ ฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ข้อตกลงพาณิชย์และการศุลกากรซึ่งได้ทำขึ้นนั้น เป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ฉันเพื่อนบ้านที่ดี อันเป็นสิ่งที่ควรจะต้องเป็นลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองสืบไป
๒) ในโอกาสการสัตยาบันสนธิสัญญา ฉบับลงวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๓๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ ก็ได้ยืนยันคำแถลงของหลวงประดิษฐฯ โดยโทรเลขไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสว่า “...ในนามแห่งรัฐบาลไทย ข้าพเจ้าขอแสดงความชื่นชมอย่างยิ่งต่อ ฯ พณ ฯ ในเจตนารมณ์ฉันมิตรที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีตลอดเวลาของการเจรจา ข้าพเจ้าจะไม่ลืมว่า ประเทศฝรั่งเศสเป็นมหาประเทศแรกที่ได้เริ่มดำเนินการเจรจา ณ กรุงเทพ ฯ และรัฐสภาฝรั่งเศสได้ให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ต่อความตกลงต่าง ๆ ที่ได้ทำขึ้น ข้าพเจ้าตระหนักแน่ว่า สนธิสัญญาฉบับใหม่นี้ จะเป็นเครื่องกระชับความสัมพันธ์ฉันมิตร ซึ่งได้สมานประเทศเราทั้งสองไว้อย่างผาสุกแล้วนั้น ให้แน่นแฟ้นขึ้นอีก...........”
จะเห็นได้ว่า นั่นหาใช่น้ำเสียงของรัฐมนตรีผู้ที่มีเรื่องจะเรียกร้องไม่ เป็นน้ำเสียงที่แตกต่างกับน้ำเสียงของคำขอปัจจุบันของรัฐบาลไทยมาก
กติกาสัญญาไม่รุกรานฉบับซึ่งได้ลงนาม เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ และซึ่งประเทศไทยได้สัตยาบันแล้วเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ปีเดียวกันนั้น ก็ได้ยืนยันถึงความผูกพันของอัครภาคีทั้งสองฝ่าย ในอันที่จะเคารพต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขตของกันและกันไว้ในมาตรา ๑ อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้น ภาคีทั้งสองฝ่ายยังได้สัญญาโดยแจ้งชัดในมาตรา ๕ ว่า จะงดเว้นการกระทำใด ๆ อันโน้มไปในทางก่อให้เกิด หรือช่วยการปลุกในการเผยแพร่ หรือการพยายามแทรกแซงใด ๆ ซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะเสื่อมบูรณภาพแห่งอาณาเขตของอีกฝ่ายหนึ่ง
ฝรั่งเศสจะไม่ย้อนกล่าวถึงเหตุการณ์อันน่าเสียใจที่ได้เกิดขึ้น ในปีต่อ ๆ มาจากนั้น แต่ก็ควรจะระลึกว่า ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้สัตยาบันกติกาสัญญาไม่รุกรานเพียงไม่กี่สัปดาห์ ประเทศไทยเองก็ได้ผันแปรนโยบายทางการ และเริ่มประเดิมข้อเรียกร้องของตน ความคิดอันน่ากลัวที่มีต่อเขมรและลาว ตามคำขอ ฉบับวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ นั้น ได้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในบันทึกช่วยจำที่ประเทศไทยได้ยื่นต่อประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ บันทึกช่วยจำของไทยฉบับนี้ได้ขอให้มีการปักปันเขตแดนในแม่น้ำโขง โดยถือร่องน้ำลึก และขอให้ถือเอาแม่น้ำโขงเป็นเขตแดน ตั้งแต่ทิศเหนือลงไปทางทิศใต้จนจดเขตแดนเขมร ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยขอผนวกอาณาเขตบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบางและปากเซ (จังหวัดจัมปาศักดิ์บนฝั่งขวา) เอกสารฉบับนี้จบลงด้วยประโยคว่า “รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะรู้สึกขอบใจรัฐบาลฝรั่งเศส ถ้ารัฐบาลฝรั่งเศสจะให้คำรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ในกรณีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอธิปไตยของฝรั่งเศส ประเทศฝรั่งเศสจะยอมยกอาณาเขตลาวและเขมรคืนให้แก่ประเทศไทย”
ดังนั้น เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเป็นอยู่ของประเทศทั้งสองนี้ทีเดียว และทั้งหมดนี้ ประเทศฝรั่งเศสได้ทำไปเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของลาวและเขมร ประเทศฝรั่งเศสไม่อาจทอดทิ้งมิตรของตนได้ และยิ่งลาวและเขมรต้องถูกคุกคามมากขึ้นเท่าใด ฝรั่งเศสก็จะต้องช่วยเหลือโดยใกล้ชิดหนักแน่นขึ้นเท่านั้น
อีกประการหนึ่ง จะเห็นได้โดยง่ายว่าข้อเรียกร้องของไทยนั้น เป็นคำขอที่แบ่งแยกไม่ได้ การยอมในจุดใดจุดหนึ่ง เท่ากับผูกพันทั้งหมดนั้นเอง
ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่า จำเป็นที่คณะกรรมการการประนอม จะใช้อำนาจในฐานที่เป็นองค์การระหว่างประเทศ ยกคารมของคำขอของไทยเสีย ทั้งนี้ เป็นเงื่อนไขอันจำเป็นสำหรับการที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านที่ดี ซึ่งประเทศฝรั่งเศสกับมิตรของตนปรารถนาที่จะธำรงไว้กับประเทศไทย
หมายเหตุ
บันทึกลำดับเหตุการณ์แบบบันทึกช่วยจำของไทยนั้น ฝรั่งเศสไม่อภิปราย เพราะถือว่า เอกสารฉบับนั้นอยู่นอกเรื่องของข้อ ๓ แห่งความตกลงระงับกรณี ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖
----------------------------
(คำแปล)
(หนังสือตัวแทนไทย ถึง ประธานคณะกรรมการการประนอม ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๙๐)
ที่ ๓/๒๔๙๐
สถานเอกอัครราชทูตไทย
วอชิงตัน ๘ ดี.ซี.
๒๙ พฤษภาคม ๑๙๔๗
ฯ พณ ฯ
ประธานคณะกรรมการการประนอม
กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ท่านประธาน
ข้าพเจ้าขออ้างถึงหนังสือของข้าพเจ้าที่ ๒/๒๔๙๐ ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๑๙๔๗ ซึ่งแสดงหัวข้อย่อ ๆ ของเหตุผลทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมูลฐานแห่งการเสนอขอให้แก้ไขเขตแดนของปี ค.ศ. ๑๘๕๓, ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ และข้าพเจ้าขอเสนอเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาต่อไป ซึ่งข้อสังเกตเกี่ยวกับหนังสือ ข้อสังเกตและเอกสารต่อท้ายซึ่งตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสได้ยื่นต่อท่านเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๑๙๔๗ นั้น กับทั้งข้อชี้แจงขยายความเกี่ยวกับเขตแดนของปี ค.ศ. ๑๘๙๓, ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ ในด้านเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(ลงพระนาม) สกล วรวรรณ
ตัวแทนรัฐบาลไทย
ข้อสังเกตของตัวแทนรัฐบาลไทย
เกี่ยวกับหนังสือ ข้อสังเกตและเอกสารต่อท้าย
ซึ่งตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสได้ยื่น
เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๑๙๔๗
- ๑ -
๑. ข้อสังเกตซึ่งตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสได้ยื่นนั้น เรียกได้ว่า อาศัยการกล่าวอ้างทางการเมืองเป็นมูลฐานเป็นส่วนมาก ในหลายกรณี ตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสได้กล่าวแก้คารมในหนังสือของตัวแทนไทย โดยหาได้ใช้เหตุผลทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ ดังที่ความตกลงระงับกรณี ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๑๙๔๖ ระบุไว้ไม่ แต่โดยใช้การกล่าวพาดพิงโดยตรงหรือโดยอ้อมถึงการเมืองซึ่งเป็นการนอกประเด็น อย่างไรก็ตาม ตัวแทนไทยไม่มีเจตนาจะโต้แย้งการกล่าวอ้างเช่นนั้นด้วยคารมอันแฝงเลศนัย แต่จะขอเสนอข้อแย้งและคำอธิบายเท่าที่จำเป็น เพื่อมิให้เกิดการเข้าใจผิด
- ๒ -
๒. ตัวแทนฝรั่งเศสกล่าวอ้างในข้อ ๑ ของข้อสังเกตของเขาว่า คำขอของฝ่ายไทยจะมีผลโน้มไปทางทำลายโครงสร้างทางการเมืองปัจจุบันของอินโดจีนให้สลายลง และจะเป็นการคุกคามอย่างตลอดไปต่อสันติภาพและความรุ่งเรืองของอาเซียบูรพา โดยมิพักต้องยกขึ้นเป็นข้อโต้เถียงถึงสภาพของคำว่า “โครงสร้างทางการเมือง” ดังที่ว่านั้น ก็ยังสมควรที่จะชี้ให้เห็นว่า คารมแนวนี้ดูเหมือนจะไม่ต้องกับบทแห่งความตกลงฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๑๙๔๖ ข้อ ๓ ซึ่งบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า คณะกรรมการการประนอม “จะได้รับมอบหมายให้พิจารณาการมทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ ของภาคีในการสนับสนุนการแก้ไข หรือยืนยันข้อความแห่งสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๓๙ ฯลฯ...”
ส่วนที่กล่าวหาถึงการปั่นทอนและแบ่งลาวกับเขมร ดังที่ตัวแทนฝรั่งเศสชี้ชวนให้เห็นว่า จะเป็นเช่นนั้น หากคำขอของฝ่ายไทยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนั้น ควรจะระลึกว่า คำขอปัจจุบันของฝ่ายไทยเป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งบรรดาความเสียสละทั้งหลายเพื่อสันติภาพของไทยเท่านั้น
๓. ความจริง ความกังวลที่สำคัญของประเทศไทยนั้น อยู่ที่สันติภาพและเสถียรภาพ และโดยเหตุที่คำขอที่ตัวแทนไทยยื่นนั้น อาศัยการพิจารณาถึงเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ เป็นมูลฐานอย่างเคร่งครัดตามข้อกำหนดความตกลงระงับกรณี จึงย่อมจะไม่บังเกิดผลดังเช่นข้อสังเกตข้อ ๒ ของฝ่ายฝรั่งเศสชี้ชวนให้เชื่อ
อนึ่ง ข้อสงวนที่ตัวแทนฝรั่งเศสอ้างเพื่อ “การเรียกคืนดินแดน” ของเขมรและลาวนั้น ก็ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับประเด็นเช่นกัน โดยที่ความตกลงระงับกรณีฉบับ ค.ศ. ๑๙๔๖ นั้น ทำขึ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเท่านั้น คำเรียกร้องในนามของบุคคลที่สามและที่สี่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากคำเรียกร้องนั้น ย่อมจะรับไว้มิได้ แต่อย่างไรก็ดี ข้อค้านนี้มิได้ปริยายว่า รัฐบาลไทยขัดข้องที่จะดำเนินการกับลาวและเขมรที่เป็นเอกราชและเสรี ตรงกันข้าม รัฐบาลไทยพร้อมที่จะต้อนรับลาวและเขมรเหล่านั้นเข้าสู่เครือนานาชาติ
ในส่วนรัฐบาลไทยนั้นเล่า ก็มีความปรารถนาไม่น้อยกว่าใครเลย ที่จะใคร่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันมั่นคงถาวรในส่วนของโลกซึ่งเกี่ยวกับตนมากที่สุด แต่รัฐบาลไทยมีความเห็นว่า จะบรรลุถึงสถานการณ์เช่นนั้นไม่ได้ นอกจากว่าอาณาประโยชน์ที่แท้จริงของพลเมืองที่เกี่ยวข้องจะได้รับการพิจารณา และมติของประชาชนเหล่านั้นที่ได้แสดงออกโดยอิสระ และอย่างเป็นธรรม จะได้รับการคำนึงถึงด้วย รัฐบาลไทยจะสนับสนุนอย่างเต็มใจในมูลฐานดังนี้
- ๓ -
๔. ข้อกล่าวอ้างของตัวแทนฝรั่งเศสในข้อ ๔ แห่งข้อสังเกตของฝ่ายฝรั่งเศสที่ว่าหนังสือของฝ่ายไทยมิได้กล่าวถึงความตกลงระงับกรณีฉบับ ค.ศ. ๑๙๔๖ หรือสนธิสัญญาฉบับ ค.ศ. ๑๙๓๗ เลยนั้น ดูเหมือนจะเกิดจากความเข้าใจผิด ความจริงหนังสือของตัวแทนฝ่ายไทยถึงประธานคณะกรรมการการประนอม ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม นั้น เป็นหนังสือต่อเนื่องกับฉบับลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ซึ่งในนั้นได้มี การอ้างถึงสนธิสัญญาฉบับ ค.ศ. ๑๙๓๗ และความตกลงฉบับ ค.ศ. ๑๙๔๖ ไว้แล้ว นอกจากนี้ หนังสือของฝ่ายไทยเพียงแต่กล่าวถึงข้อความในสนธิสัญญาต่าง ๆ ซึ่งสนธิสัญญาฉบับ ค.ศ. ๑๙๓๗ บ่งให้คงมีผลบังคับได้อยู่ เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาคารมทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ ตามที่ระบุไว้ในความตกลงระงับ กรณีฉบับ ค.ศ. ๑๙๔๖ ข้อ ๓ ได้ตามลำดับที่ถูกต้อง
๕. ข้อความในข้อ ๕ ของข้อสังเกตของฝ่ายฝรั่งเศสที่ว่า ข้อเสนอในหนังสือของฝ่ายไทย จะยังผลให้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้กระทำสำเร็จไว้แล้ว และได้รับการยืนยันตลอดมาโดยสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสต่อเนื่องกันหลายฉบับนั้น ดูเหมือนจะมิได้ระลึกถึงบทของความตกลงปี ค.ศ. ๑๙๔๖ ซึ่งตั้งคณะกรรมการการประนอมขึ้นเพื่อจะพิจารณาใหม่ถึงฐานะอันเกิดจากข้อความแห่งสนธิสัญญาฉบับ ค.ศ. ๑๘๙๓, ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ในการที่ได้กระทำความตกลงดังกล่าวนี้ ภาคีที่เกี่ยวข้องได้ยอมรับโดยแจ้งชัดว่าจำเป็นจะต้องมีการพิจารณากันใหม่ในเรื่องนั้น ๆ
๖. ข้อ ๖ ของข้อสังเกตของฝ่ายฝรั่งเศสกล่าวถึงสิทธิของประเทศไทยเหนืออาณาเขตฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และโต้แย้งว่าความจริงสิทธิเหล่านั้นมิได้มีอยู่ก่อนทำสนธิสัญญาฉบับ ค.ศ. ๑๘๙๓
แม้ว่าจะมีข้อแย้งนี้ก็ตาม มีเอกสารและข้อเท็จจริงหลายประการ ซึ่งมีอยู่ในเวลาเดียวกับสนธิสัญญาฉบับที่กล่าวข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นอย่างค้านไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีสิทธิโดยแท้จริงเหนืออาณาเขตเหล่านั้น หลักฐานเหล่านั้น ก็เช่นในสมุดน้ำเงินของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ๑ แผนที่ฝรั่งเศสชื่อว่า “Carte pour suivre I’ expedition du Tonkin” พิมพ์ที่ปารีส ค.ศ. ๑๘๘๔ (E. Andriveau-Goujon, Editeur, Rue du Bac 4)๒ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำขอของรัฐบาลฝรั่งเศสต่อรัฐบาลไทย เพื่อตั้งรองกงสุลฝรั่งเศสที่หลวงพระบาง อีกประการหนึ่ง แม้สนธิสัญญาฉบับ ค.ศ. ๑๘๙๓ เพียงแต่กล่าวว่า ประเทศไทยสละ “ข้ออ้าง” หรือข้อเรียกร้องเหนืออาณาเขตฝั่งซ้ายก็ตาม การที่มีข้อบัญญัติเช่นนั้นเท่านั้น ก็ย่อมแสดงอย่างชัดว่า รัฐบาลฝรั่งเศสขณะนั้นยอมรับโดยปริยายถึงความสัมพันธ์ทางการเมือง ซึ่งเชื่อมประเทศไทยกับอาณาเขตเหล่านั้น
ข้อ ๑๒ ของเอกสารต่อท้ายของฝ่ายฝรั่งเศสยังได้โต้แย้งด้วยว่า จังหวัดหลวงพระบางไม่เคยเป็นส่วนของประเทศไทย และใน ค.ศ. ๑๙๐๔ ประเทศไทยได้สละเพียงสิทธิของอธิราชเหนืออาณาเขตฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในฐานเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรหลวงพระบางเท่านั้น ในข้อนี้ ตัวแทนไทยไม่ประสงค์จะเข้าโต้ในคารมที่เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์แท้ ๆ แผนที่ฝรั่งเศสซึ่งอ้างข้างต้น และข้อความซึ่งตัดตอนมาจากจดหมาย ซึ่งเอิร์ลแห่งโรสเบรี่ มีถึงมาควิสแห่งดัฟเฟอริน ลงวันที่ ๒ กันยายน ๑๘๙๓ ดังต่อไปนี้ ก็ควรจะเพียงพอที่จะทำให้เห็นว่า คำขอของฝ่ายไทยนั้นชอบแล้ว :- “อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแน่นอนว่า รัฐหลวงพระบางได้ยอมรับว่าอยู่ใต้อธิราชของไทยมากว่า ๖๐ ปี และรัฐนี้ได้อยู่ใต้การควบคุมอย่างจริงจังของข้าหลวงไทยมาหลายปีแล้ว ยิ่งกว่านี้ รัฐบาลฝรั่งเศสเองยังได้ยอมรับอธิปไตยของไทยเหนือหลวงพระบาง โดยการลงนามในอนุสัญญา ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๑๘๘๖ ซึ่งบัญญัติถึงการตั้งรองกงสุลฝรั่งเศสที่นั่น และโดยที่หลังจากนั้นได้มีคำขอต่อรัฐบาลไทย ให้ออกอนุมัติบัตรให้พนักงานกงสุลที่ตั้งนั้น...”๓
โดยเหตุที่เอกสารนี้มาจากที่ที่พึงฟังได้ จึงควรจะถือว่าเพียงพอที่จะหักล้างข้อโต้ของฝ่ายฝรั่งเศส
๒. จากข้อพิจารณาข้างต้นนี้ย่อมเห็นได้ว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงตามคำขอของฝ่ายไทย พลเมืองของอาณาเขตที่เกี่ยวข้องนั้น ซึ่งกำลังเรียกร้องให้ความมุ่งหวังของเขายังเกิดผลสมประสงค์ที่จะได้มีส่วนร่วมกับพี่น้องในเมืองไทยในเสรีภาพอย่างเต็มที่ ในทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ และจะได้ดำเนินชีวิตอย่างประชาธิปไตยโดยเสรี ซึ่งชีวิตเช่นนั้นทุก ๆ คน ไม่ว่าจะมีลัทธิ ฐานะภาษาหรือศาสนาใดย่อมใช้ลัทธิอย่างเดียวกัน และได้รับความคุ้มครองอย่างเดียวกัน และโดยเหตุนั้น ย่อมมีส่วนอันเต็มที่ในการปกครองประเทศของตน อาณาประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งย่อมจะเกิดขึ้นจากการแก้ไขสนธิสัญญา ฉบับ ค.ศ. ๑๘๙๓ ก็คือสมาชิกแห่งครอบครัว ซึ่งเคยอยู่บนฝั่งทั้งสองของแม่น้ำโขงเป็นกลุ่มประชาคมที่สัมพันธ์กันอย่างสนิทแน่น แต่ต้องถูกแยกจากกันใน ค.ศ. ๑๘๙๓ โดยแม่น้ำ ซึ่งก่อนนั้นเป็นเส้นชีวิตร่วมกันของคนเหล่านั้น และถูกแยกกันโดยขัดต่อเหตุผลทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ และขัดต่อหลักมนุษยธรรมด้วยนั้น ก็จะได้กลับรวมกันอีกครั้งหนึ่ง สันติภาพ ความรุ่งเรือง และความผาสุก ก็ย่อมจะกลับมาสู่ดินแดนนั้นในที่สุด ในเมื่อความมุ่งหวังอันชอบธรรมของประชาชนนั้นสำเร็จสมหมาย และเมื่อแม่น้ำนั้นได้คืนคงปฏิบัติการอย่างเดิม โดยฐานเป็นบ่อเกิดอย่างไม่กำจัดแห่งชีวิตและเสรีภาพ แทนที่จะใช้อย่างในปัจจุบันนี้ ให้เป็นเครื่องกั้น ที่แยกครอบครัวและกลุ่มประชาคมจากกัน ไม่มีข้อเขียนหรือคำพูดใดที่ว่าด้วยสัมพันธภาพอันสนิทสนมระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่ายของแม่น้ำโขงที่จะแสดงให้เห็นสายสัมพันธ์อันพิเศษ ซึ่งมีอยู่ระหว่างประชาชนเหล่านั้นได้ ต้องได้เห็นเสียก่อนจึงจะเข้าใจได้ และถ้าคณะกรรมการตกลงจะพิสูจน์ให้รู้ความจริงด้วยตนเองในท้องที่แล้ว ตัวแทนไทยจะได้จัดการอย่างเต็มที่ที่จะให้คณะกรรมการได้รับการต้อนรับในการนั้น
๘. คำบรรยายในข้อ ๘ แห่งข้อสังเกตของตัวแทนฝรั่งเศส ถึงผลซึ่งอาจจะเกิดจากการเลิกล้างสนธิสัญญาฉบับ ค.ศ. ๑๘๙๓ ดูจะอยู่นอกขอบเขตการพิจารณาทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ จะเป็นการเพียงพอโดยแนะขอให้ศึกษาสถานะอันแท้จริงอย่างถี่ถ้วน ของประชากรในเขตแดนด้านฝรั่งเศสและด้านไทย ส่วนที่ว่า “อันตรายถึงตาย” ซึ่งจะคุกคามลาวในกรณีที่มาร่วมกับไทยนั้น เชื่อว่าเมื่อได้หยิบยกข้อเท็จจริงที่สำคัญทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ มาเสนอคณะกรรมการแล้ว จะเห็นว่าอันตรายนั้นมีอยู่ในความคิดเท่านั้น บรูโน ลาสเกอร์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ Peoples of South East Asia (หน้า ๖๙) ว่า “ในดินแดนส่วนใหญ่ของอินโดจีน ประชาชนไม่มีอาหารกินพอ ทั้ง ๆ ที่ภารกิจซึ่งครอบงำโดยทุนต่างประเทศ เช่นการปลูกยางและการขุดถ่านหินเป็นต้น เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนการผลิตข้าวและพืชพันธุ์อันเป็นอาหารของชาวพื้นเมือง กลับไม่ทันการเพิ่มของพลเมือง”
นอกจากนี้ยังปรากฏว่า คำกล่าวอ้างข้างต้นของฝ่ายฝรั่งเศส ไม่ได้รับการสนับสนุนโดยข้อเท็จจริง หรือการแสดงความเห็นอย่างเป็นธรรม โดยประชาชนที่เกี่ยวข้องเลย ตรงกันข้าม ตัวแทนไทยเชื่อมั่นว่า ถ้าประชากรลาว เขมร และญวนได้รับโอกาสที่จะแสดงความเห็นโดยการออกเสียงในหมู่ประชาชน (referendum) ความรู้สึกและความโน้มเอียงอันแท้จริงของคนเหล่านั้นก็ย่อมจะเผยออกมา เช่นนั้น คณะกรรมการก็จะมีข้อพิสูจน์อย่างเด็ดขาดว่า ประชาชนเขมรและญวนจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มใจ แทนที่จะขัดขวางการที่เพื่อนร่วมประเทศ หรือเพื่อนบ้านของเขาจะได้บรรลุความเป็นเอกราช และเสรีภาพ บรูโน ลาสเกอร์ กล่าวไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน หน้า ๒๒๒ ว่า “ผู้รักชาติชาวอินโดจีนกำลังยืนอยู่ข้างๆ อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาพร้อมที่จะยกเอาความล้มเหลวของฝรั่งเศสที่จะป้องกันเขาได้มาใช้ในการเรียกร้องตั้งตัวเป็นชาติอิสระขึ้นหลังสงคราม”
ด้วยเหตุผลข้างต้น ตัวแทนไทยขอย้ำว่า คำขอซึ่งได้ยื่นต่อคณะกรรมการนั้น ไม่มีความโน้มเอียงที่จะก่อหรือทำให้มีสถานภาพอันไม่แน่นอน ซึ่งเป็นอันตรายแก่คาบสมุทรอินโดจีน ตรงกันข้าม หากว่าได้แก้ไขเขตแดนตามที่เสนอมาโดยหนังสือลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม สันติภาพและความรุ่งเรืองในแถบนั้นของโลกก็จะอยู่ในระยะเอื้อมถึงได้
๙. เพื่อหักล้างข้อสรุปในข้อแรกของตัวแทนฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในข้อ ๙ ของข้อสังเกต ตัวแทนไทยขอชี้แจงว่าในหนังสือของตัวแทนไทยลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ตัวแทนไทยมิได้เสนอคารมอื่นเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา นอกไปจากที่ระบุไว้ในข้อ ๓ ของความตกลงระงับกรณีฉบับ ค.ศ. ๑๙๔๖ กล่าวคือ คารมทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ ยิ่งกว่านั้น โดยที่คารมเหล่านั้นอาศัยหลักฐานที่เชื่อได้ และโดยที่ไม่มุ่งหมายวัตถุประสงค์อันใด นอกจากสันติภาพและเสถียรภาพ คารมเหล่านั้นก็ไม่น่าจะเป็นคารมที่ไม่มีหลักฐาน หรือน่ากลัวอันตราย ฉะนั้น ตัวแทนไทยจึงขอเสนอให้คณะกรรมการรับคำขอของฝ่ายไทย
- ๔ -
๑๐. การกล่าวแก้เหตุผลทางเชื้อชาติ ในข้อสังเกตของฝ่ายฝรั่งเศสนั้น ตัวแทนไทยเห็นว่าไม่ถูกจุด และไม่ตรงต่อบทบัญญัติความตกลงระงับกรณี ที่จริงข้อพิจารณาทางเชื้อชาติในหนังสือของฝ่ายไทยนั้น ห่างไกลจากลัทธิเชื้อชาตินิยมเท่า ๆ กับที่การยืนยันสิทธิเดิม ๆ ของไทยไกลจากรูปการแผ่อาณาเขตใดๆ ความจริงในคารมที่ตัวแทนไทยเสนอนั้น ไม่มีกล่าวถึงความเด่นของเชื้อชาติไทยด้วย ประการใด หรือถึงสาระใด ๆ ของลัทธิเชื้อชาตินิยมเลย และโดยที่ประเทศไทยไม่มีเจตนาจะครองประชาชนในอาณาเขตที่เกี่ยวข้องนั้น แต่ประสงค์จะให้พลเมืองเหล่านั้นได้รับประโยชน์แห่งเสรีภาพอย่างแบบประชาธิปไตยและสิทธิอื่น ๆ ดังที่ได้กล่าวมาในวรรคก่อน ๆ นี้แล้ว จะหาว่าประเทศไทยมีความทะเยอทะยานที่จะแผ่อาณาเขตไม่ได้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ การอ้างหนังสือของ บรูโน ลาสเกอร์ “Peoples of South East Asia” หน้า ๒๐๗ อาจมีประโยชน์ หนังสือนั้นกล่าวว่า “มีบุคคลที่เปลี่ยนหัวมาเป็นสมัยใหม่ และได้รับการศึกษาอย่างใหม่ไม่กี่คนดอกที่จะเป็นนักเชื้อชาตินิยม เพราะแขนงต่าง ๆ ของเผ่าพื้นเมืองนั้น ต่างก็ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นญาติกัน ในระหว่างเวลาหลายศตวรรษ เผ่าเหล่านั้นได้แยกจากกัน และไม่ได้รับประสบการณ์ทางประวัติความเป็นมาแตกต่างกันมากหลาย แขนงหนึ่ง ๆ ก็ต้องปรับปรุงตนให้เข้ากับความต้องการของสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ซึ่งย่อมทำให้มีลักษณะพิเศษในทางอุปนิสัย ในการกินอยู่ ในทางคงชีวิตตามกฎของธรรมชาติ และในที่สุดก็ในทางรูปร่างด้วย คนเหล่านี้ถูกทำให้ต่างกันไปอีกโดยโอกาสอันต่างกัน ในการที่จะแต่งงานกับชนเชื้อชาติอื่น ๆ และเขาได้ลืมต้นตระกูลร่วมกันแล้ว”
อีกทางหนึ่ง ดูเหมือนจะมีความเข้าใจผิดในข้อสังเกตของฝรั่งเศส เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ethnic” และ “racial” ซึ่งปรากฏในหนังสือของฝ่ายไทย เพื่อแก้ความเข้าใจผิดนี้ ตัวแทนฝ่ายไทยขออ้างปทานุกรมของราชบัณฑิตยสถานฝรั่งเศส ซึ่งนิยามคำว่า “ethnique” ว่า “Ethnique” คือ “ที่ว่าด้วยเชื้อชาติ”
เกี่ยวกับคารมในข้อ ๔ ของเอกสารต่อท้ายของฝ่ายฝรั่งเศส ส่วนหนึ่งเข้าอยู่ในขอบเขตของข้อความในวรรคก่อน ๆ นี้แล้ว และไม่ต้องกล่าวแก้ต่อไป ส่วนที่กล่าวเป็นนัยทางการเมืองว่า “การเปลี่ยนแปลงเขตแดนลาว จะเป็นการเปิดประตูให้มีการเรียกร้อง โดยประเทศไทยและรัฐอื่น ๆ ซึ่งภายในเขตแดนของตนมีกลุ่มชนที่พูดภาษาไทย” นั้น ตัวแทนไทยใคร่จะแถลงว่าคำกล่าวของฝ่ายฝรั่งเศสนั้นมองข้ามไปว่า ความจริงมีความตกลงระงับกรณี ซึ่งได้ทำใน ค.ศ. ๑๙๔๖ ระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ในข้อ ๓ กล่าวอย่างชัดเจน ถึงการที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสนธิสัญญา ฉบับ ค.ศ. ๑๘๙๓, ๑๙๐๔, ๑๙๐๗ ได้ ไม่มีเอกสารระหว่างประเทศเช่นนั้นเกี่ยวกับฝ่ายอื่น ๆ ที่คำกล่าวของฝ่ายฝรั่งเศสอ้างถึงนั้น
เอกสารแนบท้ายของฝ่ายฝรั่งเศส ยังได้กล่าวถึงความแตกต่างหลายประการ ระหว่างลาวกับประชากรส่วนมากของประเทศไทย และกล่าวถึงว่า ทางเหนือของประเทศไทยมีประชาชนซึ่งเกี่ยวข้องโดยใกล้ชิดกับพลเมืองลาวยิ่งกว่ากับพลเมืองอื่นในประเทศ และโดยอาศัยตรรกวิทยา ฝ่ายฝรั่งเศสจึงได้แนะว่า ถ้าจะมีการโอนกันแล้ว อาณาเขตของประเทศไทยซึ่งชนลาวอาศัยอยู่ น่าจะต้องเอาไปเพิ่มให้อาณาจักรลาวของฝรั่งเศส ยิ่งกว่าจะเอาอาณาเขตลาวมาเพิ่มให้ประเทศไทย
ในเรื่องนี้ ควรจะต้องชี้แจงว่า ถึงจะมีก็ไม่กี่ประเทศดอกที่จะอวดอ้างได้ว่ามีประชากรเป็นอย่างเดียวกันหมด เกือบไม่จำเป็นที่จะอ้างกรณีฝรั่งเศสเอง ซึ่งลักษณะของชนบทเป็นที่พึงพอใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อข้ามประเทศจากอัลซาสไปยังบริตานี และจากวีลเดอฟรังส์ไปยังโปรวังส์นั้น จะไม่เบื่อที่จะชมการเปลี่ยนแปลงในเครื่องแต่งตัว สำเนียง ขนบประเพณี และลักษณะอื่น ๆ อีกของท้องถิ่นเหล่านั้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย คารมของฝ่ายฝรั่งเศสก็มิได้ยกเรื่องกำเนิดเชื้อชาติของประชาชนไทยขึ้นเป็นปัญหา แต่ฝ่ายฝรั่งเศส ย้ำถึงความต่างกันในทางภาษาและวัฒนธรรมเท่านั้น ซึ่งในประเทศ ใด ๆ ก็ย่อมจะสังเกตเห็นได้
เกี่ยวกับข้อเสนอที่ว่า หากจะมีการโอนอาณาเขตกันแล้ว อาณาเขตของไทยซึ่งมีคนลาวอยู่นั้น ตามตรรกวิทยาควรจะเอาไปต่อกับ “อาณาจักรลาว” ยิ่งกว่า ในทางตรงกันข้าม ข้อนี้ตัวแทนไทยเสียใจที่จะต้องชี้ถึงอันตรายของการกล่าวเช่นนั้น ซึ่งไม่ใช่มีกล่าวถึงแต่เพียงในข้อ ๔ ของเอกสารแนบท้ายของฝ่ายฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ในวรรคอื่น ๆ ของเอกสารเดียวกันนั้นอีกด้วย โดยที่ลาวและเขมรในขณะนี้อยู่ในกรอบการเมืองของฝรั่งเศส การเรียกร้องใด ๆ อันจะมีขึ้นโดยฝ่ายฝรั่งเศส แม้จะเป็นการเรียกร้องแทนลาวและเขมรก็เท่ากับเป็นการฟื้นระยะแผ่อาณาเขตขึ้นอีกเท่านั้น ซึ่งมีสนธิสัญญาฉบับปี ค.ศ. ๑๘๙๓, ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ เป็นเครื่องหมาย และมีลาวและเขมรเป็นผู้รับเคราะห์
ยิ่งกว่านั้น ใจความวรรคที่กล่าวข้างต้นของเอกสารแนบท้ายของฝรั่งเศสกล่าวถึง “อาณาจักรลาว” จึงจำเป็นจะต้องอธิบายคำนี้ให้กระจ่างต่อไปอีก เพราะแม้แต่ผู้ซึ่งรู้เหตุการณ์ของอินโดจีนดีก็ดูเหมือนจะไม่คุ้นต่อคำนี้ ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ ประเทศไทยสูญเสียอาณาเขตบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศสรวมทั้งอาณาเขตหลวงพระบาง ซึ่งมีเขตอำนาจในวงจำกัด ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ ประเทศไทยต้องยกจังหวัดลานช้างและจัมปาศักดิ์ให้ฝรั่งเศสอีก ลานช้างนั้นเอาไปเพิ่มแก่อาณาจักรหลวงพระบาง ในขณะนั้น และแม้แต่หลังจากนั้น เขตอำนาจของอาณาจักรหลวงพระบางก็ยังจำกัดอยู่ และไม่เคยเกินเลยไปยังอาณาเขตลาวทั้งหมดเลย เมื่อเสร็จสงครามทางด้านปาซิฟิก และหลังจากกองทัพญี่ปุ่นได้ยอมแพ้แล้ว มีองค์การเรียกว่า ลาวอิสระตั้งขึ้น และได้ช่วยกองทัพจีนปลดอาวุธกองทหารญี่ปุ่น หลังจากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสมาครอบงำลาวอีก ฝ่ายฝรั่งเศสดำเนินการตั้ง “อาณาจักรลาว” ตามที่เรียกในข้อสังเกต
ข้อสังเกตเกี่ยวกับชื่อ “ประเทศไทย” ซึ่งฝ่ายฝรั่งเศสกล่าวว่าตรงกับระยะเวลาที่คณะที่เรียกว่าพรรคทหารเริ่มดำเนินนโยบายรวมไทยนั้น ไม่นำไปสู่ข้อยุติที่แน่นอนอย่างไร ตรงกันข้าม เป็นการแสดงให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่า คนไทยได้เรียกประเทศของตนว่า “เมืองไทย หรือ ประเทศไทย” ซึ่งหมายความว่า ประเทศของชาวไทยมาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ มาจนกระทั่งทุกวันนี้ แต่โดยที่พฤติการณ์ที่นำไปสู่การกลับมาใช้ชื่อ “สยาม” ไม่มีการเกี่ยวพันกับข้อกำหนดในความตกลงระงับกรณี ตัวแทนไทยจึงละเว้นไม่ก้าวล่วงไปกล่าวถึงเรื่องเช่นนั้น
คารมทางภูมิศาสตร์
๑๑. เกี่ยวกับคารมทางภูมิศาสตร์ซึ่งตัวแทนฝรั่งเศสเสนอนั้น สมควรต้องเน้นว่า มิใช่ความประสงค์ของรัฐบาลไทยเลย ที่จะแนะให้ระบอบที่เสนอมาสำหรับแม่น้ำโขงนั้นเป็นระบอบที่ใช้ทั่วไป รัฐบาล ไทยรู้ดีว่า แม่น้ำใด ๆ ก็ตาม โดยลักษณะทางภูมิศาสตร์ สภาพทางเศรษฐกิจ และสภาพแห่งท้องถิ่น ควรได้รับระบอบที่เหมาะสม ถ้าได้คำนึงถึงสวัสดิภาพของประชาชนด้วย ในกรณีเฉพาะเรื่องแม่น้ำโขงนี้ ความแตกต่างในระบอบต่าง ๆ ทำให้การใช้แม่น้ำโขงยากลำบาก ไม่สะดวกและถึงกับเป็นภยันตราย เพื่อสนับสนุนคำกล่าวนี้ จะยกข้อความที่ตัดตอนมาจากหนังสือของนักเขียนชื่ออาการด์ (A. Agard) ให้ชื่อว่า “อินโดจีนบูรพา” (Indochine Orientale) มาอ้าง คือ “ความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเวียงจันทน์กับทิศใต้นั้นหลบอิทธิพลฝรั่งเศสอยู่บ้าง โดยการที่ปล่อยให้ผลิตผลเกี่ยวกับสัตว์ต่าง ๆ (โค กระบือ ช้าง ม้า) หนัง ผลิตผลเกี่ยวกับป่า (ไม้สัก) เหล่านี้ หลั่งไหลไปสู่ประเทศไทย และรับผลิตผลหัตถกรรม (ผ้า ของเล็ก ๆ น้อย ๆ น้ำมัน) ซึ่งหลบหนีการควบคุมเข้ามา”
ความยากลำบากอันเกิดจากการมีระบอบต่าง ๆ นั้น อาจมีอยู่ในเขตแดนอื่น ๆ ด้วย แต่ในกรณีแม่น้ำโขง ความยากลำบากนี้ยังหนักขึ้น แม่น้ำนี้เคยเป็นทางน้ำภายในประเทศสำหรับหมู่ชนชายฝั่ง ซึ่งเป็นหน่วยทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม มาจนปี ค.ศ. ๑๙๐๔ ครั้นแม่น้ำนี้มาทำหน้าที่เป็นเขตแดน จึงได้แบ่งแยกครอบครัวและพรากวงศ์ญาติที่เคยอยู่ด้วยกัน และกลับโน้มไปในทาง ก่อเครื่องกีดขวางใหม่ขึ้นแก่ชีวิตที่ร่วมกันมาแต่ก่อน
เกี่ยวกับข้อที่ตัวแทนฝรั่งเศสได้อ้างในข้อสังเกตของเขา ถึงแม่น้ำต่าง ๆ ในยุโรปและในอเมริกาเหนือและใต้นั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การแตกต่างในระบอบได้นำไปสู่ความยากลำบากอย่างมหันต์ โดยเฉพาะ ในกรณีแม่น้ำดานูบ แม่น้ำไรน์ และแม่น้ำริโอ แกรนเด ซึ่งคณะกรรมาธิการที่ตั้งไว้เพื่อการนี้ ก็ขจัดได้โดยยาก ยิ่งกว่านั้น การที่มิได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ในกรณีเหล่านั้น ก็เพราะมีอุปสรรคซึ่งไม่มีอยู่ในกรณีของแม่น้ำโขง แม่น้ำนี้ดังที่ได้เน้นมาแล้วในตอนก่อน ไม่เคยรู้จักระบอบอันใด นอกไปจากระบอบแห่งแม่น้ำภายใน จนตราบเท่าเวลาที่ฝรั่งเศสขยายความครอบงำของตนไปยังอาณาเขตของฝั่งซ้าย ความยากลำบากซึ่งได้เกิดขึ้นนับแต่เวลานั้น ก็เพราะเหตุที่แม่น้ำนี้ได้รับหน้าที่อันไม่ใช่หน้าที่ตามธรรมชาตินั่นเอง
จากที่กล่าวแล้วข้างต้น ย่อมปรากฏว่าการกล่าวแก้ปฏิเสธซึ่งตัวแทนฝรั่งเศสได้เสนอแย้งเหตุผลย่อ ๆ ที่ตัวแทนไทยยื่นนั้น ยังห่างจากวัตถุประสงค์อยู่ ประการแรก เพราะอาศัยสมมติฐานซึ่งหนังสือของฝ่ายไทยไม่เคยแสดงออก ไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือปริยาย ประการที่สอง เพราะหันไปใช้วิธีเปรียบเปรยไปในทางการเมือง โดยไม่มีมูลความจริง เพราะแม่น้ำสายนี้ได้รับใช้กลุ่มเชื้อชาติซึ่งถือเป็นหน่วยหนึ่งจริง ๆ
ข้อ ๑๘ และ ๑๙ ของเอกสารต่อท้ายของฝ่ายฝรั่งเศส แม้จะว่าด้วยเรื่องทางวิชาการ ก็ยังไม่วายสื่อถึงความคิดในทางแผ่อาณาเขตอันเป็นภัย และประเทศไทยได้รับประสบการณ์อันเจ็บปวดจากความพยายามหาเขตแดนที่ดีขึ้นในทางเทคนิค คือ ครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๘๖๗ ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๙๓ แล้วในสนธิสัญญาปี ค.ศ. ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ อีก ทั้งหมดนี้ เพื่อหาเขตแดนที่ยิ่งกว่าเดิม ในการแสวงหากันต่อเนื่องกันมานั้น ก็มักจะได้พบเขตแดนที่ดี โดยการเคลื่อนลึกเข้ามาในอาณาเขตไทยยิ่งขึ้นเท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม การกล่าวถึงระยะปี ค.ศ. ๑๙๔๑ นั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้เพียงเล็กน้อย ฉะนั้น ตัวแทนไทยจะชี้แต่เพียงว่า หากเขตแดนที่เรียกว่า “เขตแดนที่ตกแต่งทำขึ้น” นั้น ได้ตกลงกันโดยรัฐบาลฝรั่งเศสและไทยในเวลานั้น ก็เป็นเพราะว่ารัฐบาลไทยยินยอมไม่รวมนครวัดไว้ในอาณาเขตที่คืนให้ โดยเคารพต่อความรู้สึกของชาวเขมร และโดยเห็นแก่ความพยายามของนักวิทยาศาสตร์โบราณ คดีชาวฝรั่งเศส
คารมทางเศรษฐกิจ
๑๒. เหตุผลย่อ ๆ ที่ตัวแทนไทยเสนอโดยหนังสือลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม นั้น เพียงแต่ลักษณะที่ประกอบการกระทำทางเศรษฐกิจของพลเมืองในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างคร่าวๆ และได้ยืนยันว่า การสมาคมอันสนิทสนมนี้ย่อมชอบแล้วที่จะเรียกว่าหน่วยเศรษฐกิจ ลักษณะที่ว่านี้ไม่หมายจะให้ใช้ได้ทั่ว ๆ ไป ในบางกรณีที่มีพฤติการณ์เหมาะสม ดินแดนที่มีส่วนได้เสียอาจทำความตกลงพิเศษซึ่งกำหนดให้ถือระบอบเศรษฐกิจร่วมกันก็ได้ ดั่งเช่นกรณีของเบลเยี่ยมและลุกแซมเบอร์ก
อีกประการหนึ่ง ในการเสนอคารมในทางเศรษฐกิจเช่นนั้น ตัวแทนไทยมิได้นึกถึงหลักการใด ๆ แห่งลัทธิอัตตาธิปไตย ซึ่งตามข้อสังเกตของฝรั่งเศสเรียกว่า เป็นลัทธิที่กระตุ้นการแสวงหาอาณาเขต ตรงกันข้าม เหตุการณ์ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้รับทุกข์จากการสูญเสียอาณาเขต และถ้ากล่าวกันอย่างในเป็นธรรมจริง ๆ แล้ว ไม่มีกรณีใดที่ประเทศไทยจะถูกกล่าวหาได้ว่า ในชั่วระยะเวลาที่สามารถจะจดจำได้นี้ ได้เคยละโมบอยากได้อาณาเขตซึ่งไม่เคยเป็นของตนมาก่อน การที่ได้ยื่นคำร้องขอปัจจุบันนี้ขึ้น ก็เพราะเห็นว่า เป็นการชอบธรรมตามความตกลงฉบับ ค.ศ. ๑๙๔๖ และก็ได้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามข้อกำหนดของความตกลงนั้น
๑๓. ด้วยเหตุนี้ ตัวแทนไทยจึงขอเสนอว่า ไม่ควรรับฟังคารมของฝ่ายฝรั่งเศสที่กล่าวแก่หนังสือ ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคมของไทย โดยเหตุที่ว่า กล่าวพาดพิงไปในทางการเมืองและบิดแปรเจตจำนง และความประสงค์ของคำร้องขอของฝ่ายไทยให้ผิดไป และด้วยเหตุผลอันไม่พึงรับฟังทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และทางเศรษฐกิจ ซึ่งหนังสือลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม และข้อสังเกตที่กำลังกล่าวอยู่นี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้ง ฉะนั้น จึงเป็นที่หวังว่า ข้อเสนอของฝ่ายไทยจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ มิใช่แต่เหตุผลว่า อาศัยคารมแห่งความจริงเป็นมูลฐาน ภายในกรอบข้อกำหนดแห่งความตกลงฉบับ ค.ศ. ๑๙๔๖ อย่างเคร่งครัดเท่านั้น แต่ยังด้วยเหตุผลว่า ข้อเสนอนั้นเกิดจากความปรารถนาอันสุจริตที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพในส่วนนั้นของโลก และเกิดจากความมุ่งหมายอันสูง ในอันที่จะสนับสนุนหลักแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งจนกระทั่งบัดนี้ พลเมืองในอาณาเขตที่เกี่ยวข้องนี้ก็ยังมิได้ประสบ
๑๔. หากตัวแทนไทยจะรีบร่วมกับตัวแทนฝรั่งเศสทันที ในการสรรเสริญพระปรีชาญาณของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และความสามารถของที่ปรึกษาของพระองค์ท่าน ที่ได้แสดงออกในงานอันต้องการความประณีตสุขุมและเต็มไปด้วยอันตรายในการก่อตั้งสถานภาพทางดินแดนทั้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ตัวแทนไทยก็ย่อมประสงค์จะกล่าวด้วยว่า พระปรีชาญาณเช่นนั้นมิได้เกิดขึ้น โดยปราศจากความเสียสละ ซึ่งประชาชนอินโดจีนน่าจะเห็นสมควรร่วมกับชาวไทยระลึกถึงด้วยความกตัญญู เพราะว่าได้ทรงช่วยมิให้เสียชีวิตคน และได้ทรงหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความวินาศ อันอาจเกิดเพราะการกระทบแตกร้าวกัน พระปรีชาญาณนี้ก็ยิ่งดูสุขุมแลชอบด้วยมนุษยธรรมยิ่งขึ้น ถ้าเราจะพึงระลึกว่าเมื่อใดที่มีท่าทางว่าสันติภาพแลความสงบเงียบของอินโดจีนจะต้องถูกกระทบกระเทือนแล้ว ประเทศไทยได้ช่วยให้ส่วนนั้นของโลกรอดพ้นจากการนองเลือดและความวินาศไว้ได้ทุกครั้ง ด้วยความยอมเสียสละของตนเองตลอดมา
มีหลายตอนในข้อสังเกต และในเอกสารแนบท้ายของฝ่ายฝรั่งเศสที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยมีความโน้มเอียงอย่างน่าเสียใจไปในทางที่จะปัดความรับผิดชอบให้แก่ประเทศไทยแต่ฝ่ายเดียว ตัวแทนไทยไม่ประสงค์จะอภิปรายเนื้อหาของข้อสังเกตเหล่านั้น ขอให้อยู่ในความวินิจฉัยของคณะกรรมการว่า ข้อสังเกตเหล่านั้นชอบด้วยหรือ ตรงตามข้อกำหนดแห่งความตกลงระงับกรณีหรือไม่ ตัวแทนไทยใคร่เสนอเพียงข้อความพิสดาร เพื่อทำให้ภาพที่วาดขึ้นไว้คร่าว ๆ ดังข้างต้นบริบูรณ์ขึ้นอีกเท่านั้น
๑๕. เกี่ยวกับข้อสังเกตในวรรคข้างต้นนั้น ตัวแทนไทยใคร่จะรับรองต่อคณะกรรมการว่า มิได้มีเจตนาร้ายอย่างใดเลยต่อประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่มีความยิ่งใหญ่อย่างไม่มีวันตาย และขึ้นชื่อลือนามทั่วโลกว่า มีความรู้สึกอย่างสูงในความเผื่อแผ่อารี และในมนุษยธรรม และแม้ว่าได้มีการแย้งคำกล่าวของตัวแทนฝรั่งเศส และต้องแสดงข้อเท็จจริงบางประการบ้าง การกระทำเช่นนั้นก็กระทำไปโดยมิใช่ด้วยความก้าวร้าว แต่ทำไปโดยประสงค์จะขจัดความเข้าใจผิด และด้วยความเชื่อมั่นของประเทศไทย ในสิทธิของตนประเทศไทยและประชาชนชาวไทยนั้นย่อมเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้รักสันติภาพ เนื่องด้วยความรักสันติภาพนี้ ชาวไทยได้ยอมต่อความเสียสละอย่างที่ประเทศไม่กี่ประเทศได้เคยทำมาในชั่วชีวิตอันยาวของตน ประเทศไทยและรัฐบาลไทยเชื่อมั่นในสันติภาพ และในการระงับกรณีอย่างฉันมิตร และด้วยเหตุนี้เอง จึงได้ตกลงเสนอความทุกข์ร้อนต่อคณะกรรมการการประนอม ซึ่งความมุ่งหมายอันสูง (ของคณะกรรมการนี้) ได้ทำให้ภาคมีความเคารพมั่นแล้ว
อนึ่ง ประเทศและรัฐบาลไทยยังยึดมั่นในหลักแห่งสิทธิของมนุษย์ในเสรีภาพ และ “ความตกลงใจโดยตนเอง (Self determination) ซึ่งเป็นหลักที่ประเทศและรัฐบาลไทยเห็นว่า ถ้าเป็นที่รับนับถือกันแล้ว จะนำมามิใช่แต่เพียงสันติภาพและเสถียรภาพเท่านั้น แต่จะนำมาซึ่งอารยธรรมอันมีชีวิตจิตใจอีกด้วย ทั้งนี้ โดยต้องคิดถึงความจริง อันซึ่งที่ว่า การก้าวไปสู่ประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้มีความปรองดองทางสังคมได้ “จะมีรัฐบาลที่ดีไม่ได้ในกรอบของลัทธิอาณานิคม”
ฉะนั้น รัฐบาลไทยจึงหวังว่า การวินิจฉัยขององค์การระหว่างประเทศ อันมีความรับผิดชอบอย่างสูงนี้ จะนำมาซึ่งความยุติธรรมอันซึ้ง ซึ่งไม่แต่จะเพียงบำบัดความยุ่งยากที่มีอยู่ในปัจจุบันระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเท่านั้น แต่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนจริงจังต่อสันติภาพของโลก โดยคำวินิจฉัยชี้ขาดของตนด้วย
----------------------------
ข้อชี้แจงขยายความเกี่ยวกับทัศนะทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ
ของเขตแดนไทย-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. ๑๘๙๓
----------------------------
ทัศนะทางเชื้อชาติ
พลเมืองส่วนมากบนฝั่งซ้ายและบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง อยู่ในกลุ่มเชื้อชาติเดียวกันที่เรียกว่า “ลาว” ซึ่งเป็นประชาชนเชื้อสายไทย คนเหล่านี้นอกจากมีลักษณะทางรูปร่าง ภาษา และวัฒนธรรมอย่างเดียวกันแล้ว ยังเป็นญาติพี่น้องกันจริง ๆ อีกด้วย ดังตัวอย่างมากหลาย ความจริงนั้นประชากรแห่งลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางนี้ นับได้ว่าเป็นหน่วยเชื้อชาติอันเดียวกัน
ฉะนั้น แม่น้ำโขง ในฐานที่เป็นเขตแดน จึงได้แบ่งประชาชน ซึ่งมีเชื้อสาย ภาษา และวัฒนธรรมอย่างเดียวกันออกเป็นกลุ่มการเมืองต่างกัน และแม้ว่าเขตแดนนั้นได้มมาแล้วกว่ากึ่งศตวรรษก็ตาม แต่ลักษณะทางเชื้อชาติ และความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันของพลเมืองทางตะวันออกและตะวันตกของสันปันน้ำก็ยังคงมีอยู่อย่างเดิมทุกประการไม่เปลี่ยนแปลง ความปรารถนาของคนเหล่านี้ ในอันที่จะมีความร่วมสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดยังคงมีอยู่ และได้แสดงออกยิ่งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ บรูโน ลาสเกอร์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ People of South East Asia ว่า “ที่เห็นกันอยู่ภายนอกว่า มีประชาชนแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ซึ่งต่างก็ถือว่ามีสัญชาติต่าง ๆ กันนั้น ที่จริงบรรดาประชาชนเหล่านี้ มีประสบการณ์ร่วมกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน ความปรารถนาร่วมกัน ซึ่งการจัดเขตแดนทางการเมืองใด ๆ หรือธรรมนูญการปกครองใด ๆ ก็ไม่อาจที่จะแบ่งแยกออกจากกันได้ชั่วกัลปาวสาน”
ทัศนะทางภูมิศาสตร์
ลักษณะอันเด่นชัดของแผนที่ใด ๆ ที่แสดงอาณาเขตของคาบสมุทรอินเดียบูรพา ก็คือ ลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ระหว่างด้านตะวันตกของภูเขาในภาคกลางของประเทศไทยกับด้านตะวันออกของเทือกเขาตามแนวทะเลจีน ผู้เดินทางทางอากาศข้ามลุ่มน้ำนี้ จะได้รับความรู้สึกอย่างประจักษ์แจ้งว่า เนื้อที่ทั้งผืนมีลักษณะเป็นแบบเดียวกัน ลำแม่น้ำเองก็ดี และแควต่าง ๆ ก็ดี เป็นแผนภาพประกอบภูมิประเทศโดยบังเอิญ และลุ่มแม่น้ำโขงเป็นหน่วยอันหนึ่งอันเดียวกันในทางภูมิศาสตร์ ความรู้สึกอันนี้เป็นความจริงที่แท้ มีอิทธิพลอย่างกว้างขวางเหนือชีวิตของพลเมืองในลุ่มแม่น้ำนี้ รวมทั้งกิการทางสังคมและเศรษฐกิจของคนเหล่านี้ด้วย ภายใต้สภาพการเมืองที่เป็นอยู่นี้ ความเป็นหน่วยเดียวกันนี้ ทำให้จำเป็นต้องมีกระบวนการทางการปกครองเป็นพิเศษ ทั้งที่มีการจัดตั้ง “ระบอบการแห่งแม่น้ำโขง” ร่วมกันในรูปการตกลงพิเศษทางการตำรวจ การสาธารณสุข การเดินเรือ การประมง การพาณิชย์ และการศุลกากร ความยุ่งยากบางประการ ที่เกิดแต่ความตกลงเหล่านี้เอง เป็นข้อพิสูจน์ต่อไปว่า ความพยายามแก้ไขที่ได้ทำขึ้นนั้น มักจะไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับแรงและความโน้มเอียงของธรรมชาติ
คำกล่าวดังต่อไปนี้ ของ ลอร์ด เดอซัน ในหนังสือ “เขตแดน” (The Frontier) ควรสนใจ คือ “ขณะนี้เรามาถึงแม่น้ำประเภทที่สำคัญ คือ ในฐานที่แม่น้ำเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยธรรมชาติ ต่างกับสิ่งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ ย่อมไม่มีเขตแดนใดที่เป็นธรรมชาติยิ่งกว่าแม่น้ำ แต่อีกนัยหนึ่งกล่าวในแง่ที่เป็นนิสัยตามธรรมชาติของมนุษยแล้ว แม่น้ำไม่ใช่เส้นแบ่งแยกตามธรรมชาติ เพราะว่าประชาชนซึ่งมีเชื้อชาติเดียวกัน มักจะอาศัยอยู่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ......” ดังนั้น คนชาติลาวเป็นจำนวนมากจึงอยู่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขง จนทำให้ฝรั่งเศสรู้สึกว่า แม่น้ำโขงนั้นเป็นเขตแดนไม่ได้ในทางปฏิบัติ ความจริงประวัติศาสตร์ก็สอนว่า แม่น้ำเป็นสิ่งที่เชื่อมยิ่งกว่าแบ่งแยก การที่ให้แม่น้ำเป็นเขตแดนนั้น ก็มักโดยเหตุผลทางยุทธศาสตร์แทบทุกกรณี
ลักษณะของทางที่จะเข้าติดต่อกับฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตามที่มีเขตแดนปี ค.ศ. ๑๘๙๓ อยู่นั้น ต้องอาศัยสภาพธรรมชาติของแมน้ำนั้นเองประการหนึ่ง และลักษณะของพื้นที่ดินของชายฝั่งทั้งสองของแม่น้ำนั้นอีกประการหนึ่ง
เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า แม้แม่น้ำโขงจะเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลกสายหนึ่ง แต่ก็ไม่มีประโยชน์สำหรับเรือเดินทะเล เว้นแต่ในตอนปลาย แต่กระนั้น แม่น้ำนี้ก็ยังเป็นทางออกทางเดียวของแคว้นลาว การเดินเรือโดยใช้เรือขนาดเล็ก ทางตอนเหนือของแม่น้ำ เฉพาะอย่างยิ่งตอนใกล้หัวเลี้ยว ณ เส้นละติจูดเหนือ ที่ ๒๐ ดีกรี นั้นลำบาก เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวและหาดตื้น ตอนกลาง ๆ ก็หาอาจที่จะทำการเดินเรือได้สม่ำเสมอไม่ ขัดข้องด้วยตอนที่ตื้นเขินและแก่งน้ำตก ซึ่งทำให้ต้องขนถ่ายคนโดยสาร และสินค้าจากเรือกลไฟไปสู่เรือเล็ก ๆ หรือจากเรือเล็ก ๆ ไปสู่เรือกลไฟ ด้วยประการฉะนี้ การขนส่งย่อมช้าและแพง จากไซ่ง่อนไปหลวงพระบาง ต้องกินเวลาระหว่าง ๓๒ ถึง ๔๔ วัน และไปเวียงจันทน์ กินเวลา ระหว่าง ๑๑ ถึง ๒๐ วัน แม้ว่าจะใช้ความพยายาม และค่าใช้จ่ายไปมากมาย ในการปรับปรุงก็ตาม อุปสรรคตามธรรมชาติทำให้แม่น้ำโขงเป็นทางออกอันไม่มีประสิทธิภาพในทางการค้าแห่งอาณาเขตเหล่านี้ จะเปรียบได้ว่าทางออกทางนี้ เท่ากับคอเล็ก ๆ ของขวดใบใหญ่ ซึ่งทำให้สิ่งที่บรรจุอยู่ไหลออกไปไม่ได้โดยสะดวก
อาณาเขตทางตอนเหนือบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเกือบจะเป็นภูเขาและที่สูงทั้งหมด และแม้จะเข้าจากฝั่งทะเลตังเกี๋ยและญวนได้ ก็หามีทางคมนาคมที่สะดวก โดยตรงทางถนนเหนือเส้นละติจูดเหนือที่ ๑๙.๕ ดีกรีไม่ จากเส้นละติจูดเหนือที่ ๒๐ ดีกรีลงไปทางใต้ เทือกภูเขาที่เกือบเป็นแนวขนานไปกับทะเลทางฝั่งตะวันออกก็เป็นอุปสรรค ธรรมชาติที่ถูกกั้นญวนเหนือจากอาณาเขตเหล่านี้
พื้นที่ดินชายฝั่งขวาแม่น้ำโขงนั้น แม้จะเป็นภูเขาโดยทั่วไปในตอนเหนือก็ดี แต่มีลักษณะไม่เหมือนกับข้างต้นจากเส้นละติจูดเหนือที่ ๑๘.๕ ดีกรี ไปทางเหนือ ดินแดนตอนนี้เป็นที่ราบตลอดไป ระหว่างละติจูดเหนือที่ ๑๘ ดีกรี กับ ๑๕ ดีกรี ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงก็คือ ที่ราบสูงอันกว้างใหญ่ของประเทศไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จะเห็นได้ทันทีจากลักษณะทางภูมิประเทศ และรูปร่างของดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงว่า แผนการใด ๆ “ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา” ที่จะสร้างทางรถไฟจากทางใต้ให้ผ่านตลอดอาณาเขตเหล่านี้ตามยาว จะต้องประสบความลำบากในทางการเงินอยู่อีกเป็นเวลานาน เพราะว่าดินแดนที่อุดม และทำประโยชน์ได้บนสองฟากของทางรถไฟที่คิดจะสร้างนั้นมีจำกัด ถ้าไม่อาศัยฝั่งขวาแล้ว จะมีก็แต่ถนนทางทิศตะวันออกและทิศใต้เท่านั้นที่เข้าไปถึง ได้มีการตัดถนนข้ามภูเขาแล้ว ๓ สาย และได้เริ่มสร้างทางรถไฟราว ๑๘๐ กิโลเมตร จาก Tan-Ap ไปถึง Ta - Kek บนฝั่งโขงมาประมาณ ๒๐ ปี แล้ว แต่ก็ประจักษ์อยู่แล้วว่า ได้มีอุปสรรค เพราะเวลานี้ก็มีแต่ทางหลวงอีกสายหนึ่งเกิดขึ้นแทนที่ จากปากหินบูน (Pak Hin Boun) ไปทางใต้ มีทางหลวงตามแนวแม่น้ำไปยังเมืองไซ่ง่อนประกอบอีกสายหนึ่ง
จะได้แสดงให้เห็นในอีกหัวข้อหนึ่งว่า การเข้าสู่อาณาเขตอันล้อมรอบด้วยลานและภูเขานี้จากทางด้านตะวันออกและด้านใต้จะเป็นการสิ้นเปลืองมาก
ตรงกันข้ามการเข้าจากทางตะวันตกมิใช่เหมาะโดยธรรมชาติอำนวยให้เท่านั้น แต่ยังสามารถจะปรับปรุงให้เจริญก้าวหน้าได้เกือบไม่จำกัดอีกด้วย นานมาแล้ว ก่อนที่จะมีเขตแดนนี้ ได้เห็นกันว่า สามารถจะทำการติดต่อกับตอนเหนือของอาณาเขตเหล่านี้จากฝั่งตะวันตกได้โดยง่าย สภาพตามธรรมชาตินี้ไม่อาจจะปฏิเสธเสียได้ และตามหนังสือ “นำเที่ยวเมืองลาว Le Laos Touristique” ซึ่งพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ เมื่อเท้าความถึงจังหวัดแม่โขงเหนือก็ได้ยอมรับในหน้า ๒๗๐ ว่า “ทางคมนาคมไปสู่แคว้นลาว (จากโขงเหนือ) นั้น ไว้ใจไม่ได้อย่างยิ่ง และประเทศไทยเท่านั้นที่อาจเป็นตลาดอันแน่นอนสำหรับผลิตผลของภูมิภาคนั้นได้” หนังสือเล่มนี้ยังกล่าวต่อไป หน้า ๒๗๘ ว่า “ฉะนั้นเราอาจพยายามที่จะบูรณะประเทศทางเศรษฐกิจได้ ก็ต่อเมื่อมีระบอบใหม่ทางประเทศไทยเท่านั้น
ในปัจจุบันนี้ การเข้าไปสู่แคว้นลาวคงกระทำได้จากทางตะวันตก ตามจุดต่าง ๆ แทบตลอดเขตแดนจากเหนือไปใต้ คือ
๑. จากเชียงรายและเชียงแสน ซึ่งมีถนนลาดยางเชื่อมกับรถไฟไทยสายเหนือที่ลำปาง บรรดาโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งที่ผลิตในพื้นเมืองและที่เอามาจากต่างประเทศ ย่อมลำเลียงลงสู่ลำน้ำโขงเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกตลอดทางไปสู่หลวงพระบาง จุดศูนย์กลางบนชายแดนแม่น้ำโขงอีกจุดหนึ่ง คือเมืองเชียงของ ซึ่งเป็นจุดรวมของไม้สัก มีครั่งและของป่าจำนวนพอประมาณเข้าสู่ประเทศไทยตามจุดเหล่านี้
สิ่งที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า ทางสายเหนือที่เข้าสู่หลวงพระบาง สายนี้ดีกว่าทางอื่น จะถือในระหว่างเวลาที่ขาดแคลนข้าวเป็นจำนวนมาก ๆ ได้ไปจากสยามโดยทางนี้ ทั้งนี้ โดยคำขอร้องอันเจาะจงของเจ้าหน้าที่อินโดจีนฝรั่งเศสเอง เพราะเป็นทางที่ใช้ได้ดีที่สุด และประหยัดเวลามากที่สุด ได้มีการพิจารณาใช้ทางสายนี้ขนส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ของฝรั่งเศสด้วยเหมือนกัน
๒. จังหวัดน่านและแพร่ ซึ่งติดต่อกับทางรถไฟไทยโดยทางถนนรวมทั้งจังหวัดอุตรดิตถ์และพิชัย ซึ่งอยู่บนทางรถไฟนั้นเอง ก็เป็นจุดศูนย์กลางสำหรับการค้าทางเกวียน (caravan trade) ผ่านลานช้างไปสู่แม่น้ำโขง
๓. สถานีปลายทางอุดรมีถนนเชื่อมกับจังหวัดหนองคาย และท่าบ่อบนฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามเวียงจันทน์
๔. ระหว่างจังหวัดหนองคายและปากแม่น้ำมูล (Nam Mun) เหนือเส้นละติจูดเหนือที่ ๑๕ ดีกรี จังหวัดริมแม่น้ำ คือ ท่าอุเทน นครพนม ธาตุพนม มุกดาหารและเขมราฐ ต่างก็มีทางถนนเชื่อมติดต่อกัน และเป็นทางออกที่มีความสำคัญทางการค้า
๕. สถานีปลายทางรถไฟที่วารินทร์ (ตรงข้ามอุบล) บนฝั่งแม่น้ำมูลเชื่อมกับแม่น้ำโขงที่เมืองเก่า (Muang Kao) ตรงข้ามปากเซ โดยทางถนนผ่านพิมูล
รายการข้างบนนี้ แสดงให้เห็นว่า มีทางออกที่จะไปสู่ด้านตะวันตกหลายทาง และถ้าไม่ถูกกีดกันโดยข้อจำกัดเกี่ยวกับเขตแดนแล้ว คงจะเจริญก้าวหน้าเป็นที่พึงพอใจในอนาคตยิ่งกว่าทางออกทางตะวันออกและทางใต้
ฉะนั้น อาจจะยุติได้ว่า เขตแดนปี ค.ศ. ๑๘๙๓ ได้ก่อสภาพการณ์จำกัดซึ่งกลับทำให้ได้ใช้ทางเข้าถึงอันมีประโยชน์ในทางภูมิศาสตร์น้อยแทนทางเข้าอันจะอำนวยประโยชน์ยิ่งกว่า
สภาพเขตแดนที่เกี่ยวกับหมู่เกาะในแม่น้ำโขงนั้น ไม่เป็นธรรมและผิดธรรมดาอย่างชัดแจ้งอย่างยิ่ง จนไม่จำเป็นที่จะขยายความในข้อนี้ หลักแบ่งแยกหมู่เกาะเหล่านั้น โดยถือร่องน้ำสำคัญในการเดินเรือ (ร่องน้ำลึก) เป็นเกณฑ์ ย่อมเป็นที่ยอมรับกันอยู่โดยทั่วไปแล้ว
ทัศนะทางเศรษฐกิจ
โดยที่ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นหน่วยภูมิศาสตร์ ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นหน่วยเศรษฐกิจด้วย ในการผลิตก็ดี การแจกแจง และการบริโภคก็ดี พลเมืองสองฝั่งแม่น้ำต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน พลเมืองฝั่งขวาจัดส่งผลิตผลที่จำเป็น เช่น ข้าว เกลือ และอาหารเค็ม เพื่อแลกเปลี่ยนกับครั่งและของป่าจากฝั่งซ้าย
การแลกเปลี่ยนนี้ อาจถือได้ว่าได้จัดทำกันอยู่บ้างแล้ว โดยมีการแลกเปลี่ยนสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งก็มิได้อำนวยคุณประโยชน์โดยตรงต่อคนพื้นเมือง เพราะพ่อค้าคนกลางส่วนมากเป็นชาวต่างประเทศ ตามพฤติการณ์ปัจจุบัน การประหยัดเพื่อการลงทุนลงแรงบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงนั้น ต้องอาศัยการรวมกำลังและความเสียสละของคนบนทั้งสองฝั่งแม่น้ำ โดยที่แม่น้ำโขงตอนเหนือและตอนกลางโดยทั่วไป กว้างไม่เกิน ๑ กิโลเมตร ฉะนั้น ในเวลาปรกติ จึงมีการค้าและการติดต่อกันระหว่างประชาชนทั้งสองฝั่งมากมาย ซึ่งไม่เป็นการง่ายที่จะทำการควบคุมให้ได้ผล ในพฤติการณ์เช่นนี้ การตั้งข้อบังคับแก่การสมาคมใกล้ชิดเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการกดขี่บังคับในสิทธิเบื้องต้นของมนุษย์
ทัศนะทางเศรษฐกิจของเขตแดน ยังต้องเป็นไปตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวกับปัญหาความง่ายยากของทางเข้าของท้องที่ ดังที่ได้แสดงให้เห็นแล้วอีกด้วย
ย่อมเห็นได้จากหัวข้อข้างต้นแล้วว่า แม่น้ำโขงเป็นทางออกที่ไม่เพียงพอ และการพยายามขยายทางรถไฟบนฝั่งซ้ายก็ได้พิสูจน์แล้วว่าทำไม่ได้ การขนส่งทางถนนและทางอากาศจะเป็นการประหยัด ก็แต่สำหรับคนโดยสารและสินค้าที่ราคาสูง ๆ เท่านั้น ฉะนั้น ถนนทางตะวันออกและทางใต้จึงใช้ประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ในการขนส่งผลิตผลทางหัตถกรรมจากต่างประเทศ และยากที่จะช่วยในเรื่องดุลยภาพทางการค้าให้เป็นผลดีสำหรับลาว ซึ่งยังอยู่ในขั้นเศรษฐกิจทางเกษตรกรรม
ทัศนะพิเศษทางเศรษฐกิจของเขตแดนนี้ จะได้รับการพิจารณาต่อไปเป็นสองแง่ ประการแรก ในแง่ของสวัสดิภาพทางเศรษฐกิจภายในของพลเมืองที่แยกกันนั้น และประการที่สอง ในแง่การค้าภายนอก
การสำรวจเศรษฐกิจตามชนบทสองครั้งที่ได้กระทำในประเทศไทย ใน ค.ศ. ๑๙๓๐-๓๑ และใน ค.ศ. ๑๙๓๔-๓๕ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และด้วยความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันนั้น ได้แสดงให้เห็นอย่างปราศจากข้อสงสัยว่า ความเจริญทางเศรษฐกิจของชนบทนั้น ส่วนใหญ่อาศัยความเจริญของการขนส่ง ซึ่งอำนวยวิถีทางหลายประการ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ของครอบครัว การที่จะไปสู่ศูนย์การค้าโดยง่ายนี้แหละ เป็นเครื่องเร้าให้เพิ่มพูนความต้องการสินค้าที่ไม่อาจะหาได้ในท้องถิ่น และนี่เป็นปฏิกิริยากระตุ้นเตือนให้มีความพยายามยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการสำรวจครั้งแรก ได้ค้นพบว่าโดยทั่วไป พลเมืองในท้องถิ่นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนั้น อยู่ในสภาพเศรษฐกิจที่พอเลี้ยงตัวเอง และมีการกสิกรรมเป็นพื้น การปลูกข้าวและพืชพันธุ์อื่น ๆ ก็เพื่อบริโภคเอง มีการขายผลิตผลทางกสิกรรมและอื่น ๆ เพียงเล็กน้อย
โดยที่พลเมืองบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับพลเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนั้น ในทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ จึงมีเหตุผลที่พึ่งเชื่อได้ว่า สภาพทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายน่าจะเปรียบเทียบกันได้
รายงานการสำรวจได้แสดงให้เห็นว่า ในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่อาศัยของพลเมืองที่อยู่ในแขนงเชื้อชาติเดียวกัน และซึ่งมีการขนส่งทางรถไฟ และทางถนนที่เจริญกว่าภาคตะวันออก เฉียงเหนือมากนั้น รายได้ประจำปีของครัวเรือนตามชนบทเฉลี่ยแล้ว ประมาณตั้งแต่ ๑ ใน ๕ ส่วน ถึง ๑ ใน ๔ ส่วน เป็นรายได้จากผลกำไรในการค้า ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น รายได้จากการค้ามีเพียงเล็กน้อย ข้าวที่ปลูกในภาคเหนือนั้นประมาณ ๔๐ ในร้อย เป็นข้าวสำหรับขายแต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น
ในทางทฤษฎีอาจยืนยันในความคิดที่ว่า ประชาชนอาจมีความผาสุก ถ้าปล่อยไว้ในสถานะความเจริญอย่างที่ไม่มีการพาณิชย์ได้ แต่อย่างไรก็ดี มีความจริงอยู่ว่า การทำการพาณิชย์นั้น เป็นระเบียบของโลกเราทุกวันนี้ และความก้าวหน้าในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น รัฐบาลไทยจึงไม่มีหนทางใดนอกจากจะดำเนินการตามโครงการขยายทางรถไฟและทางหลวงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยลงทุนอย่างมากมาย
ได้มีการตั้งทุนทำถนนขึ้น และภายใน ๑๐ ปี (๑๙๓๔-๑๙๔๔) ระยะของถนนลงหินที่ได้เปิดใช้แล้ว ได้เพิ่มขึ้นโดยลำดับ จาก ๙๐ เป็น ๑๗๕๐ กิโลเมตร ถนนที่สร้างเสร็จแล้วทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เดี๋ยวนี้มี ๑๘๒๘ กิโลเมตร และที่กำลังสร้าง ๕๒๐ กิโลเมตร กับที่สำรวจแล้ว ๓๔๐ กิโลเมตร
ควรสังเกตว่า แม้แต่ก่อนเริ่มกิจการเหล่านี้ ได้มีหนังสือพิมพ์อินโดจีนวิจารณ์ถึงการขยายตัวในการขนส่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมาก โดยมากเขียนภายใต้หัวเรื่องว่า การปิดล้อมลาว
ข้อที่ควรสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีหนังสือเล่มหนึ่งว่าด้วยภูมิศาสตร์ทางเศรษฐกิจของอินโดจีน พิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ กล่าวสนับสนุนความเจริญในทางคมนาคมให้ยิ่งขึ้น และเขียนในตอนหนึ่งว่า “เปิดประเทศลาวสู่ชีวิตใหม่ และดึงประเทศนั้นจากความดึงดูดทางเศรษฐกิจของประเทศไทย” โดยเหตุผลเช่นว่านี้จึงพิจารณาเห็นว่าเป็นการรอบคอบที่ควรจะระงับทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือไว้เพียงอุดร ทั้ง ๆ ที่มิฉะนั้นจะเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ต่อจากทางรถไฟ จึงมีเพียงถนน ไปยังจังหวัดหนองคาย ณ เขตแดนแม่น้ำโขง
ปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น อาจกล่าวโดยย่อได้โดยสองสามประโยค คือ ในขณะที่มีการสำรวจเศรษฐกิจนั้น มีท้องที่ที่ขาดพลเมืองหลายแห่ง พืชพันธ์ที่จะทำให้ได้เงิน นอกจากข้าว เช่น ฝ้าย ยาสูบ ถั่ว และอาหารปศุสัตว ไม่ได้รับการบำรุงเลย อุตสาหกรรมการทำไหมและการเลี้ยงสัตว์ก็ควรจะทำให้ดีกว่านั้นได้อีกมาก โดยเฉพาะความสะดวกในการขนส่งยังไม่เพียงพอ ศาสตราจารย์ คาลซี ซิมเมอร์แมน ได้เขียนรายงานเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ว่า “ควรกล่าวย้ำเพียงว่า ถ้าขยายการคมนาคมไปอีกแล้ว แคว้นนี้อาจจะเจริญตามส่วนกับสภาพปัจจุบันยิ่งกว่าแคว้นอื่นใดในประเทศไทย” ไม่มีปัญหาว่าสัมพันธลักษณะเช่นเดียวกันนี้ มีอยู่ในอาณาเขตอีกฝ่ายหนึ่งของแม่น้ำโขง และการปรับปรุงการคมนาคมดังที่กล่าวข้างต้นนี้ ย่อมจะยังผลให้มาตรฐานการครองชีพของประชากรสูงขึ้นอย่างไม่มีปัญหา
ถ้ามีการคมนาคมดีขึ้น ก็ย่อมเชื่อได้อย่างมีเหตุผลเต็มที่ว่า สภาพอันค่อนข้างโดดเดี่ยวของอาณาเขตเหล่านี้ ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ในไม่ช้าก็จะเปลี่ยนเป็นธุรกิจทางพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งจะยัง ผลให้มีการส่งส่วนที่เหลือใช้ออกนอกมากยิ่งขึ้น ทั้งในปริมาณและมูลค่า เป็นการทำให้มีกำลังซื้อสินค้าต่างประเทศมากยิ่งขึ้น นี่แหละ เป็นกรณีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเดี๋ยวนี้ และสำหรับผู้สังเกตการณ์ ซึ่งไม่ให้ไปสู่แคว้นนั้นเสียหลายปีแล้ว ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นประดุจการปฏิวัติ (revolution) ทีเดียว
โดยที่ทางเข้าสู่อาณาเขตเหล่านี้ จากทางทิศตะวันตกสะดวกกว่าจากทางทิศตะวันออกและทิศใต้ สายการค้าของอาณาเขตเหล่านั้น ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมุ่งไปสู่กรุงเทพ ฯ ยิ่งกว่าทางอื่น เวลานี้ก็กำลังมีการปรับปรุงเมืองท่ากรุงเทพฯ ตลอดทั้งทางเข้าสู่เมืองท่านี้ด้วย หากเสร็จลงเมื่อใดก็จะไม่แต่มีผลโดยตรงให้ค่าขนส่งลดลงเท่านั้น แต่จะมีผลทางอ้อมในการส่งเสริมการผลิตกรรม และพาณิชยกรรมของทุก ๆ เขตแดน ซึ่งอาจจะไปสู่กันได้โดยทำทางให้ตลาดต่างประเทศมากขึ้น และโดยเพิ่มระยะและปริมาณแห่งโภคภัณฑ์ที่จะส่งออกจากเขตเหล่านั้นด้วย
จึงยุติได้ว่า ทั้งทางแง่สวัสดิภาพภายในและแง่การพาณิชย์ภายนอกเขตแดน ค.ศ. ๑๙๘๓ ขัดขวางความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
เขตแดนปี ค.ศ. ๑๙๐๔
ข้อคำนึงในลักษณะของการเป็นหน่วยทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ ของลุ่มแม่น้ำโขงดังกล่าวไว้ในกรณีแห่งสนธิสัญญา ฉบับลงวันที่ ๓ ตุลาคม ๑๘๙๓ นั้น ย่อมนำมาใช้ได้แก่กรณีของอาณาเขตทั้งสองบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงนี้ และอาจะใช้ได้ดียิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ
ทัศนะทางเชื้อชาติ
พลเมืองเกือบทั้งหมดของจังหวัดลานช้างและจังหวัดจัมปาศักดิ์ เหนือแม่น้ำเซลำเพา อยู่ในกลุ่มเชื้อชาติเดียวกันกับพลเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย บรรดาคารมที่ได้แถลงเกี่ยวกับเขตแดนแม่น้ำโขง จึงนำมาใช้ได้แก่จังหวัดทั้งสองนี้ โดยน้ำหนักเท่าเทียมกันหากไม่ยิ่งกว่ากัน
ทัศนะทางภูมิศาสตร์
โดยสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ฉบับ ค.ศ. ๑๘๙๓ เขตแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้อาศัยแม่น้ำโขงตลอด ตั้งแต่จากปากแม่น้ำรวก ในทางเหนือลงมาจนถึงทุกใต้สตึงเตรงในทางใต้
อนุสัญญาฉบับ ค.ศ. ๑๙๐๔ ได้ทำให้อาณาเขตฝรั่งเศสโผล่ข้ามแม่น้ำโขงไปทางตะวันตก ประดุจลิ่มที่แทรกเข้าไปในตอนเหนือของอาณาเขตไทยเดิม
การที่อาณาเขตฝรั่งเศสข้ามแม่น้ำโขงไปนี้ ทำให้ได้ผนวกตอนเหนือของแม่น้ำโขงจากเหนือละติจูด น. องศาที่ ๒๐ ถึงประมาณองศาที่ ๑๘ เป็นของฝรั่งเศสไปด้วย และแม้จะมีบทของสนธิสัญญาเป็นประการใดก็ตาม การผนวกอาณาเขตเช่นนี้ ทำให้คุณค่าของแม่น้ำในฐานะที่เป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศต้องเสื่อมลง เพราะเหตุว่าการจราจรผ่านส่วนที่ถูกแยกไปนี้ ซึ่งเดิมที่เป็นสิทธินั้น กลับเป็นความลำบาก
อย่างไรก็ดี ลักษณะอันสำคัญที่สุดของตอนเหนือของเขตแดนนี้ก็คือ การที่เขตแดนใหม่นี้ได้บีบบังคับแก่อาณาเขตลานช้าง ในการที่ขยายทางคมนาคม จากด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และด้านใต้ของอาณาเขตนี้ ทั้งนี้เป็นการเสียหายอย่างใหญ่หลวง เพราะทางที่จะเข้าไปสู่อาณาเขตนี้จากด้านตะวันออกและด้านใต้นั้นถูกจำกัดโดยลักษณะของภูมิศาสตร์อยู่แล้ว
การคมนาคมกับภาคใต้ โดยทางแม่น้ำโขงนั้นก็ล่าช้าและสิ้นเปลืองมาก จากไซ่ง่อนไปหลวงพระบางต้องเสียเวลาระหว่าง ๓๒ ถึง ๔๐ วัน และไปเวียงจันทน์ระหว่าง ๑๖ ถึง ๒๐ วัน ทั้ง ๆ ที่ได้ใช้ความพยายามและค่าใช้จ่ายไปอย่างมากเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่สิ่งกีดขวางตามธรรมชาติ เช่น กระแสน้ำเชี่ยว หาด และน้ำตก ทำให้แม่น้ำโขงเป็นทางออกที่ไร้ประสิทธิภาพ สำหรับการค้าขายของ อาณาเขตนี้
ทางเข้าโดยถนนจากเมืองวินซ์บนฝั่งทะเลด้านตะวันออก เป็นระยะทางเกือบ ๓๐๐ กิโลเมตร ผ่านภูมิประเทศอันเป็นภูเขานั้น ก็ยากที่จะเป็นการประหยัด เฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับการขนส่งสินค้าใหญ่ ๆ ที่มีมูลค่าต่ำตามที่ผลิตกันอยู่ในท้องถิ่น และแม้จะใช้ถนนสายสั้น ๆ ทางด้านตะวันออกในตอนใต้ต่อกับการขนส่งทางน้ำ ก็ไม่ทำให้ทางดีขึ้นเท่าใด
อาจเปรียบเทียบสภาพการขนส่งระหว่างตอนบน และตอนล่างของแม่น้ำโขงกับหลวงพระบาง ซึ่งอยู่ห่างจากทะเลจีนโดยทางแม่น้ำถึง ๒,๑๑๑ กิโลเมตร ได้ดังนี้ แม่น้ำทั้งสองตอนนี้ยังไกลจากอุดมคติของการเป็นเส้นทางค้าขายที่ดี เพราะว่าตอนบนนั้นยากแก่การใช้เรือเล็ก ๆ ส่วนตอนล่างแม้จะกว้างกว่า แต่ก็มีหาดและกระแสน้ำเชี่ยวที่น่ากลัว อย่างไรก็ดี ความชำนาญได้ชี้ว่าการย้อนแม่น้ำสะดวกและรวดเร็วกว่าระหว่างเชียงแสนและหลวงพระบาง ถ้าไปทวนน้ำจะกินเวลาระหว่าง ๑๑ ถึง ๑๗ วัน แล้วแต่ฤดู แต่ไปตามน้ำจะกินเวลา ๖ ถึง ๗ วันเท่านั้น คุณประโยชน์นี้เป็นที่ประจักษ์แล้ว คือ ในยามขาดแคลน ข้าวเป็นจำนวนมากได้ไปจากเชียงแสนยังหลวงพระบาง โดยคำขอเจาะจงของเจ้าหน้าที่อินโดจีนเอง ได้เคยมีการเจรจาหาทางที่จะขนส่งไปรษณียภัณฑ์ฝรั่งเศสโดยเส้นทางสายนี้ เพราะไปรษณียภัณฑ์ธรรมดาจากยุโรปเคยกินเวลาระหว่าง ๓๕ ถึง ๔๐ วัน จึงจะถึงห้วยทรายเมืองหลวงของลาวเหนือ แต่ถ้าไปทางไซ่ง่อนและแม่น้ำโขงแล้ว จะกินเวลานานถึง ๗๕ ถึง ๘๐ วัน
จังหวัดน่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และพิชัยของไทย เคยเป็นทางออกสำหรับการค้าทางเกวียน (Caravan) กับลานช้างมาตั้งแต่โบราณกาล จังหวัดอุตรดิตถ์และพิชัยสองจังหวัดหลังนี้อยู่ในทางรถไฟ ส่วนสองจังหวัดแรกมีถนนเชื่อมติดต่อกับทางรถไฟ
นอกจากเส้นทางการค้าที่มีอยู่ เส้นทางคมนาคมที่ดีที่สุดสำหรับลานช้าง ได้แก่ถนนที่ขยายจากจังหวัดขอนแก่นไปจังหวัดเลย ซึ่งขณะนี้กำลังสร้างอยู่ ผ่านเขตแดนทางใต้ไปปากลาย และขยายไกลออกไปทางเหนือและการติดต่อทางหลวงสายน่านไปหลวงพระบางด้วย แต่การขยายถนนทั้งสองดังกล่าวนี้ ไม่มีท่าทีจะลุล่วงไปได้ ตราบเท่าที่เขตแดนปัจจุบันยังเป็นอยู่เช่นนี้
เพราะฉะนั้น จึงอาจยุติได้ว่า การเข้าไปยังลานช้างจากอาณาเขตไทยนั้น ทำได้มากกว่าจากอาณาเขตอินโดจีนฝรั่งเศส และเขตแดนปี ๑๙๐๔ นั้น เป็นอุปสรรคต่อความเจริญในอนาคตของเส้นทางที่ดีกว่านั้น
เขตแดนตอนที่แยกจังหวัดจัมปาศักดิ์เดิมไปจากประเทศไทยนั้น ได้มีนิยามไว้ในข้อ ๑ ของอนุสัญญา ตอนที่เขตแดนเริ่มจากจุดบนฝั่งซ้ายของทะเลสาบไปยังจุดที่บรรจบกับสันปันน้ำของเทือกเขาดังแรกนั้น ไม่เกี่ยวกับประเด็นปัจุบันแล้ว เพราะได้เปลี่ยนแปลงโดยมีเขตแดนปี ๑๙๐๗ เขตแดนที่เราพิจารณากันอยู่นี้ เริ่มจากจุดบรรจบที่กล่าวบนเทือกเขาดังแรกไปตามสันปันน้ำของเทือกเขาอื่น ๆ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และไปสิ้นสุดยังแม่น้ำโขง ใต้ปากแม่น้ำมูล
โดยการกำหนดเขตแดนนี้ อนุสัญญาฉบับ ค.ศ. ๑๙๐๔ ได้กันเอาอีกส่วนหนึ่งของแม่น้ำโขง ไปเป็นอาณาเขตอินโดจีนฝรั่งเศส เช่นเดียวกับทางเหนือ และได้ตัดแม่น้ำโขงออกเสียจากการเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศ
เขตแดนตอนนี้ โดยสาระสำคัญแล้ว เป็นเขตแดนภูเขา และในแนวความคิดของภูมิศาสตร์อย่างแคบ ๆ แล้ว ก็อาจจะถือว่าใกล้กับอุดมคติที่ว่ามีความถาวร และไม่มีที่อื่นเหมือน อย่างไรก็ดี แง่ภูมิศาสตร์นั้น ควรจะมีทัศนะกว้างขวางกว่านี้ การแยกอยู่โดดเดี่ยว และการเพียงพอสำหรับตนเอง ไม่ช้าก็เร็วจะต้องยอมต่อความจำเป็นในทางการค้าระหว่างประเทศ ในกรณีที่พิจารณาอยู่นี้ การที่มีถนนผ่านตอนเหนือของเขตแดนนี้ไปเชื่อมปากเซกับสถานีปลายทางรถไฟไทยที่วารินทร์ ตรงข้ามอุบล เป็นข้อพิสูจน์อย่างดีถึงความจำเป็นเช่นว่านั้น โดยทัศนะอย่างกว้างทางภูมิศาสตร์นี้ จะเห็นได้ว่า เขตแดนนี้ทำให้อาณาเขตซึ่งได้ถูกแยกจากประเทศไทยมีทางเข้าออกถึงโดยจำกัด ซึ่งทำให้ต้องเลือกใช้ทางออกอันไม่เพียงพอทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทางใต้แทน ทางที่เหมาะสมกว่าทางตะวันตก ซึ่งทั้งนี้ ย่อมเป็นการเสียประโยชน์แก่พลเมืองในอาณาเขตนี้
แม้ว่าถนนข้ามภูเขาจากเมืองวินซ์และ Tan Ap ไปท่าแขก และจากกวางตรีไปสุวรรณเขต จะเชื่อมต่อจากปากเซก็ดี ก็ยังน่าสงสัยว่าการขนส่งสินค้าหนัก ๆ โดยทางถนนยาว ๆเช่นนี้ โดยผ่านภูมิภาคอันทุรกันดาร จะเป็นการประหยัด ดังนั้นเมื่อเทียบกันแล้ว แม่น้ำโขงจึงยังคงเป็นทางออกที่ดีสำหรับการค้าจากจัมปาศักดิ์ เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสคนหนึ่งซึ่งเป็นที่เชื่อถือ เคยประมาณไว้ในปี ๑๙๓๕ ว่า ในปีหนึ่งๆ มีสินค้าประมาณ ๔,๐๐๐ ตัน ที่ขนส่งไปมาจากแคว้นลาว โดยทางแม่น้ำนี้ และว่าจำนวนสูงสุดประจำปีจะไม่เกิน ๒๐,๐๐๐-๒๕,๐๐๐ ตัน (ดู A. Agard Region Naturelles et Geographic Economique หน้า ๒๗๑) เพราะสภาพของแม่น้ำซึ่งแม้ในตอนต้น ๆ ก็มีน้ำตก หาด และทางแคบเป็นอุปสรรค เช่น ตอน Kratie-Khong และ Phma-Kred และ Kamott เป็นต้น ทำให้ต้องถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่มาเรือเล็ก และจากเรือเล็กมาเรือใหญ่ ได้พิจารณาเห็นว่า แม่น้ำนี้ไม่มีความสามารถในปัจจุบันและอนาคตเพียงพอแก่ความต้องการทางเศรษฐกิจของแคว้นลาวเลย
ตรงกันข้าม ที่วารินทร์ (อุบล) อันเป็นสถานีปลายทางรถไฟไทย ซึ่งมีถนนติดต่อกับจัมปาศักดิ์อยู่แล้ว ผ่านพิมูลไปยังแม่น้ำโขงที่เมืองเก่า ตรงข้ามปากเซนั้น เป็นทางเข้าออกที่สิ้นเปลืองน้อย และเป็นทางผ่านแดนตรงไปออกทะเลที่กรุงเทพฯ ได้ ทางนี้เหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าทุกชนิด สินค้าที่ขนส่งโดยรถยนต์บรรทุกและเกวียนระหว่างพิมูลกับเขตแดนที่ช่องเมคในปีที่แล้ว มีจำนวนถึงประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตัน ท่าเรือกรุงเทพฯ และทางเข้าสู่ท่าเรือนั้น กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงให้ดีขึ้นตามโครงการ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแห่งสันนิบาตชาติได้แนะไว้ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะบังเกิดผลโดยอ้อม ในทางส่งเสริมความเจริญของอาณาบริเวณทั้งหมดโดยรอย
ถ้าไม่มีเขตแดนนี้แล้ว ทางรถไฟก็อาจขยายออกไปอีก และจากเมืองจัมปาศักดิ์บนฝั่งแม่น้ำโขง ก็จะมากรุงเทพฯ ได้ภายใน ๒ วัน เทียบกับการไปจากเมืองนั้นทางน้ำไปไซ่ง่อน ซึ่งจะกินเวลาตามปรกติ ๘ หรือ ๙ วัน
การขยายถนนข้ามภูเขาจากวารินทร์ไปเดชอุดมนั้นอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ในอนาคต แต่ก็ยังไม่สำเร็จไปได้จนกว่าจะได้เลิกเขตแดนนี้ อย่างไรก็ดี ทางออกนี้ไม่สู้สำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับทางออกโดยทางรถไฟ เมื่อมีประตูคนก็ย่อมสมัครจะเข้าบ้านทางประตูมากกว่าจะปีนเข้าทางหน้าต่าง นอกจากนี้มีแม่น้ำโขงและแควต่าง ๆ ตอนกลาง เช่น แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี เป็นส่วนประกอบให้มีทางออกทางด้าน ตะวันตกไปสู่ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยอีก
ทัศนะทางเศรษฐกิจ
ทัศนะทางเศรษฐกิจของเขตแดนปี ๑๙๐๔ นั้น อาศัยลักษณะทางภูมิศาสตร์ในข้อที่ว่าจะเข้าออกได้มากน้อยเพียงใดอยู่มาก จังหวัดทั้งสองซึ่งถูกแยกจากประเทศไทยโดยเขตแดนปี ๑๙๐๕ นี้ เราอาจ พิจารณารวมกันไปได้ทั้งในแง่ของสวัสดิภาพทางเศรษฐกิจภายในและแง่ของความเจริญทางการพาณิชย์ภายนอก
ในการพิจารณาถึงสวัสดิภาพทางเศรษฐกิจของประชากรนั้น ควรเป็นที่เข้าใจว่า เนื่องด้วยขาดสนเทศในทางปริมาณ ข้อต่าง ๆ ที่อ้างในการโต้เถียงนี้ จึงย่อมอาศัยได้แต่การอนุมานเท่านั้น เพราะว่าการสำรวจเศรษฐกิจชนบท ๒ ครั้ง คือ ใน ค.ศ. ๑๙๓๐-๓๑ และ ๑๙๓๔-๓๕ ก็มิได้รวมแคว้นทั้งสองนี้ไว้ด้วย
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนั้น ได้ค้นพบว่า โดยทั่วไป พลเมืองตามชนบทอยู่ในสภาพเศรษฐกิจที่พอเลี้ยงตัวเอง และทำการกสิกรรมเป็นพื้น โดยที่พลเมืองนี้ติดต่ออย่างใกล้ชิดกับพลเมืองของจังหวัดลานช้างและจัมปาศักดิ์ สภาพทางเศรษฐกิจึงน่าจะคล้ายคลึงกัน รายงานการสำรวจแสดงว่า ในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีพลเมืองในแขนงเชื้อชาติเดียวกัน และซึ่งมีการคมนาคมที่เจริญกว่า รายได้ประจำปีของครัวเรือนหนึ่ง ๆ ในชนบท เฉลี่ยแล้วประมาณ ๑ ใน ๕ ถึง ๑ ใน ๔ เป็นรายได้จากการค้า ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น รายได้จากการค้ามเพียงเล็กน้อย ข้าวที่ปลูกในภาคเหนือนั้นประมาณ ๔๐ ในร้อย เป็นข้าวสำหรับขายส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขายข้าวที่ปลูกเพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างความเจริญของเศรษฐกิจกับของการคมนาคม ได้ปรากฏอย่างชัดแจ้ง และโดยคำนึงถึงสภาพของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของลานช้างและจัมปาศักดิ์ในปัจจุบันนี้ ก็ขอยืนยันว่า ความสัมพันธ์เช่นเดียวกันนั้นจึงมีอยู่ในกรณีจังหวัดทั้งสองนี้
ถ้าได้ปรับปรุงการคมนาคมให้ดีขึ้นแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สภาพอันค่อนข้างโดดเดี่ยวของจังหวัดทั้งสองในปัจจุบันนี้ จะกลายเป็นมีกิจการค้าขายอย่างไพศาลยิ่งขึ้น เพิ่มพูนปริมาณและประเภทของผลิตผลต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นทางให้ได้ผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ตามที่จำเป็นสำหรับสวัสดิภาพ และความก้าวหน้าของทั้งสองจังหวัดต่อไป ผลทางเศรษฐกิจอันเกิดจากความเจริญของทางหลวงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนั้น จะต้องเห็นด้วยตาจึงจะเชื่อ และก็จะประจักษ์ว่า ที่อ้างว่าเป็นการมหัศจรรย์จริง ๆ นั้น ไม่เกินความจริงไปเลย
เพราะฉะนั้น จึงยุติได้ว่า จากทัศนะของสวัสดิภาพภายใน และการพาณิชย์ภายนอก เขตแดนปี ค.ศ. ๑๙๐๔ เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจ เพราะกีดขวางความเจริญในทางคมนาคม
เขตแดนปี ค.ศ. ๑๙๐๗
ทัศนะทางเชื้อชาติ
ถึงแม้ว่า ส่วนใหญ่ของพลเมืองของจังหวัดทั้งสามนี้ จะมีเชื้อมอญ-เขมรมาแต่เดิมก็ดี ก็ควรระลึกว่า สายสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองเหล่านี้กับคนไทย มิใช่เป็นผลของการผสมกันในทางเชื้อชาติเป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วเท่านั้น แต่เป็นผลของการกลมกลืนกันในเร็วๆ นี้ โดยการติดต่อทางสังคม และเศรษฐกิจอันใกล้ชิด กอบด้วยศาสนาและวัฒนธรรมอย่างเดียวกันเป็นเครื่องส่งเสริมอีกด้วย
มีแง่พิจารณาที่หนักไปในทางปฏิบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ ส่วนมากของประชากรในจังหวัดชายแดนของประเทศไทยที่ติดกับเขตแดนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือและภาคเหนือนั้น ประกอบด้วยประชาชนที่มีเชื้อสายเดียวกัน และไม่แตกต่างกับพลเมืองส่วนที่อาศัยอยู่อีกด้านหนึ่งของเขตแดนเลย นอกจากว่า จำนวนคนที่พูดทั้งภาษาเขมรและภาษาไทยนั้น มีอยู่มากในอาณาเขตปัจจุบันของไทย ทั้งนี้ ก็เพราะการแยกกันทางการเมืองในระยะเวลา ๔๐ ปีที่แล้วมานั้น ได้ทำให้เกิดความแตกต่างในโอกาสที่จะได้รับการศึกษาอย่างไม่ต้องสงสัย ในประเทศไทย ประถมศึกษาเป็นการบังคับ จึงมีก็แต่คนรุ่นเก่าบางคนเท่านั้นที่ยังคงไม่รู้ภาษาไทย
ข้อบกพร่องในแง่เชื้อชาติที่ร้ายแรงประการหนึ่ง ของเขตแดนตอนสุดด้านใต้ ก็คือ การกำหนดให้แยกกลุ่มทั้งหมดของคลองเกาะปอ (Klong Koh Poa) ออกจากอาณาเขตไทยนั้น ได้แยกชุมชนซึ่งเกือบจะเป็นไทยแท้ทั้งสิ้นเสียจากเพื่อนบ้านของเขาในจังหวัดตราด
ทัศนะทางภูมิศาสตร์และทางเศรษฐกิจ
ในข้อนี้ ขอกล่าวถึงทัศนะทางภูมิศาสตร์และทางเศรษฐกิจของเขตแดนปี ๑๙๐๗ ภายใต้หัวข้อเดียวกัน โดยพิจารณาเห็นว่าทัศนะทั้งสองนี้แยกกันไม่ออก เพราะความแตกต่างระหว่างภูมิศาสตร์แท้ๆ ภูมิศาสตร์ในทางเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์นั้น เป็นที่น่าสนใจแต่ในทางทฤษฎีเท่านั้น
คำนิยามเขตแดนตอนที่แยกแคว้นพระตะบอง ศรีโสภณ และเสียมราฐ ไปจากประเทศไทยนั้น มีปรากฏอยู่ในข้อ ๑ ของพิธีสารว่าด้วยการปักปันเขตแดนผนวกสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๐๗
ในแง่ภูมิศาสตร์อย่างเคร่งครัดแล้ว คำนิยามเขตแดนอย่างเช่นที่กล่าวถึงเขตแดนระหว่างพนมเปญและแม่น้ำสาย (Namsai) ว่า เส้นเขตแดน “คงเป็นไปในตอนต้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศเหนือ ตามเส้นเขตแดนเดิม ระหว่างจังหวัดพระตะบองด้านหนึ่ง กับจังหวัดจันทบุรีและตราดอีกด้านหนึ่ง” เช่นนี้ เป็นไปในทางประวัติศาสตร์ยิ่งกว่าภูมิศาสตร์ เพราะฉะนั้น ก็ย่อมหาเป็นการถาวรยั่งยืน ไม่ นอกจากนั้น จากจุดหนึ่งในแม่น้ำศรีโสภณใต้อรัญญประเทศ ๑๐ กิโลเมตร ยังมี “การกล่าวถึงเส้นตรงไปสู่จุดหนึ่งในภูเขาดังแรก ครึ่งทางระหว่างช่องเขา......” โดยเป็นที่เข้าใจว่า “เส้นนี้จะได้ลากโดยให้ถนนตรง ระหว่างอรัญญประเทศกับช่องตะโกอยู่ในอาณาเขตไทย” เช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าขัดกันในตัว ผลจึงเป็นว่าไม่มีเส้นตรงบนแผนที่เขตแดน
แต่ข้อผิดพลาดเหล่านี้เป็นของเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับลักษณะในทางเศรษฐกิจ-ภูมิศาสตร์ของเขตแดน เพื่อให้เห็นชัดในลักษณะเหล่านี้ เป็นการจำเป็นที่จะเปรียบเทียบถนนผ่านแดนด้านใต้ กับด้านตะวันตกของอาณาเขตเหล่านี้
เป็นความจริงว่า การขนส่งที่ถูกที่สุด เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสินค้าราคาถูกที่ไม่เสียง่าย ก็คือ โดยทางน้ำ ถัดไปก็คือโดยทางรถไฟ การขนส่งทางถนนจะเป็นการประหยัดก็สำหรับคนโดยสาร และสินค้าเบา ๆ ที่มีมูลค่าสูง และไปในระยะทางสั้น ในที่นี้ใคร่จะขอกล่าวสั้น ๆ ถึงความสะดวกของการขนส่งหลาย ๆ ทาง โดยถือเมืองพระตะบองเป็นเกณฑ์
ทะเลสาบซึ่งติดต่อกับพระตะบองโดยแม่น้ำนั้น เรือเดินได้ตลอดปี เพียงแค่สนอคตรูเป็นอย่างไกล ที่สนอคตรูนี้ เรือจะผ่านได้ในระยะเวลาประมาณ ๕ เดือนในปีหนึ่ง ๆ ต่อจากนี้ไปแล้ว เรือเดินได้สะดวกไปพนมเปญและไปสู่ทะเล
มีรถไฟเกินระหว่างพระตะบองกับพนมเปญ พนมเปญนี้เป็นท่าเรือที่มีเครื่องมือค่อนข้างจะดี อยู่ริมแม่น้ำ ห่างจากทะเลอื่น ๓๕๐ กิโลเมตร ท่าเรือนี้สามารถรับเรือกันน้ำลึกถึง ๑๒ ฟุตได้ ดังนั้น การจราจรทางทะเลจากท่าเรือนี้ จึงจัดว่าเป็นการเดินชายฝั่งเป็นส่วนมาก
ถึงแม้จะมีถนนเชื่อมพระตะบองกับพนมเปญและกับไซ่ง่อน อันเป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น ๕๓๒ กิโลเมตรก็ตาม ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การขนส่งทางถนนไม่เป็นการประหยัด เฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับระยะทางไกล ๆ
ดังนั้น ความจุของท่าเรือพนมเปญจึงเป็นองค์สำคัญที่จะกำหนดเส้นทางผ่านแดนทางใต้
ขอให้เราหันไปดูทางด้านตะวันตก
รถไฟไทยซึ่งเชื่อมกรุงเทพ ฯ กับเขตแดนที่อรัญญประเทศ (อรัญ) ตั้งแต่ปี ๑๙๒๗ นั้น ได้ต่อกับพระตะบองแล้ว หลังจากที่ได้ล่าช้ามาหลายปี พระตะบองเองก็มีถนนถึงกรุงเทพฯ
ท่าเรือกรุงเทพฯ อยู่ห่างจากทะเล ๓๕ กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางสั้นกว่าระยะระหว่างท่าเรือพนมเปญกับทะเลถึง ๑๐ เท่า แม้ความจุของกรุงเทพฯ ในฐานะเป็นท่าเรือในขณะนี้ จะมากกว่าพนมเปญอยู่แล้วก็ดี เมืองนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป ตามโครงการที่วางไว้ โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของสันนิบาตชาติ เสร็จเมื่อใด ก็จะสามารถรับเรือกินน้ำลึกถึง ๒๘ ฟุตได้ เทียบกับพนมเปญ ซึ่งจะรับเรือได้เพียงขนาดกินน้ำลึก ๑๒ ฟุตเท่านั้น ในที่สุดกรุงเทพฯ อาจรับเรือกินน้ำลึกขนาด ๓๑ หรือแม้ ๓๓ ฟุตได้ โครงการปรับปรุงนี้ มิใช่วางขึ้นเพื่อลดโสหุ้ยในการขนส่งอย่างเดียว แต่เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในธุรกิจทางเศรษฐกิจของอาณาบริเวณทั้งหลายโดยรอบ โดยการหาทางไปสู่ตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น และโดยการเพิ่มพูนชนิดและปริมาณสินค้าจากอาณาบริเวณเหล่านี้ด้วย
นอกจากทางรถไฟในกรุงเทพฯ แล้ว เมื่อดูแผนที่ ถนนทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย จะเห็นถนนสายที่สั้นกว่าไปสู่จันทบุรีและต่อไปยังตราดด้วยอย่างชัดเจน ถ้าหากมีการปรับปรุงตอนหนึ่งของถนนสายนี้ ซึ่งเป็นทางหลวงของเขมรเดิม ระหว่างไพลินและจันทบุรี ให้ทันสมัยขึ้นแล้ว ระยะทางจากพระตะบองไปสู่ทะเลก็จะลดลงเหลือเพียงประมาณ ๑๗๕ กิโลเมตร แทนที่จะเป็น ๕๐๐-๖๐๐ กิโลเมตร โดยถนนด้านใต้
แผนที่ที่ดี จะแสดงให้เห็นด้วยว่า ยังมีทางออกผ่านทิวเขาดังแรกที่ใช้ได้อีกหลายทาง ซึ่งพอจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ถนนสองสายก็กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง จนกระทั่งเร็ว ๆ นี้ได้เป็นที่คาดหวัง ว่า การค้าแบบโบราณกาล โดยแลกปลาจากทะเลสาบกับเกลือจากทางเหนือนั้น จะกลายเป็นการค้าอันเรียบร้อยโดยอาศัยถนนเหล่านี้
เพราะฉะนั้น จึงเป็นที่เห็นได้ว่า ทางคมนาคมด้านตะวันตกและด้านเหนือนั้น อยู่ในวิสัยที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นในภายหน้า ยิ่งกว่าทางคมนาคมด้านใต้ แต่ความเจริญและการที่จะใช้ประโยชน์ได้เต็มที่นั้น จะไม่อาจทำได้ ตราบเท่าที่เขตแดนยังคงอยู่ในฐานะปัจจุบันนี้
ต่อไปนี้ จึงคงเหลือปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิภาพทางเศรษฐกิจภายในเท่านั้น ที่จะพึงพิจารณาและจะเห็นได้ว่าปัญหานี้ก็คือ ผลโดยอ้อมของปัญหาการเข้าออกและการพาณิชย์ภายนอกนั่นเอง
การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทของประเทศไทยที่ได้จัดทำในปี ๑๙๓๐-๓๑ และในปี ๑๙๓๔-๓๕ นั้น ได้แสดงว่าความเจริญทางเศรษฐกิจในชนบท ย่อมอาศัยการขนส่งเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะช่วยหาทางเพิ่มพูนรายได้ในครอบครัวขึ้นหลายทาง อันอาจทำให้มาตรฐานการครองชีพดีขึ้น การขนส่งในชนบท และเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงถนนในชนบทที่ติดต่อกับศูนย์กลางตลาดการค้าให้ดีขึ้น ย่อมดาศัยรายได้ทางจังหวัดและประชาบาล ซึ่งได้มาจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นนานาประการ แต่รายได้นี้เอง ก็ย่อมต้องอาศัยความวัฒนาในทางพาณิชย์ อันเป็นผลจากการค้าภายในและภายนอกอีกต่อหนึ่ง
เพราะฉะนั้น จึงยุติได้ว่า เขตแดนปี ๑๙๐๗ ซึ่งจำกัดการปรับปรุงทางเข้าออกในภายหน้านั่นเอง เป็นการขัดขวางความเจริญทางเศรษฐกิจในอนาคตของอาณาเขตที่เขตแดนนั้นกันออกไปจากประเทศไทย
(คำแปล)
(หนังสือของตัวแทนฝรั่งเศส ถึงประธานคณะกรรมการการประนอม ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๙๐)
ท่านประธาน
ตัวแทนรัฐบาลไทยประจำคณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย ได้ส่งบันทึกขยายความในคำขอของเขา ฉบับลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๑๙๔๗ ดังที่ได้ยื่นต่อท่านแล้วเมื่อวันที่ ๒๙ เดือนเดียวกัน มาให้ข้าพเจ้า บันทึกนี้ในเวลาเดียวกันตอบข้อสังเกตของข้าพเจ้า ฉบับลงวันที่ ๒๒ เดือนเดียวกันด้วย
เพื่อต่อเนื่องข้อสังเกตของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอยื่นบันทึกมายังท่าน ๑ ฉบับพร้อมกับหนังสือนี้ เพื่อเสนอคณะกรรมการ บันทึกนี้ เป็นข้อสังเกตทั่วไปในคำขอของรัฐบาลไทยโดยตลอด รวมทั้งข้อยุติ ซึ่งข้าพเจ้าขอแถลงเกี่ยวกับคำขอนี้ ในนามของรัฐบาลฝรั่งเศส
แนบท้ายบันทึกนี้ มีข้อสังเกตทวนถึงพฤติการณ์ ซึ่งได้นำไปสู่การทำความตกลงระงับกรณี ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๑๙๔๖ และการพิจารณาข้อคำนึงที่ได้อภิปรายในบันทึกของฝ่ายไทยฉบับวันที่ ๒๙ พฤษภาคมเป็นข้อ ๆ
เพื่อความสะดวกของคณะกรรมการ ได้เสนอเอกสารเหล่านี้มารวม ๕ ชุด พร้อมด้วยคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ
ขอท่านประธานได้รับความนับถืออย่างยิ่งจากข้าพเจ้า
วอชิงตัน วันที่ ๗ มิถุนายน ๑๙๔๗
(ลงนาม) ฟรังซิส ลาคอสต์
ตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสประจำคณะกรรมการการประนอม ฝรั่งเศส-ไทย
ฯพณฯ วิลเลียม ฟิลลิปส์
อดีตเอกอัครรัฐทูตแห่งสหรัฐอเมริกา
ประธานคณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย
๑๗๑๘ เอตทีนสตริต เอน. ดับบลิว.
วอชิงตัน ดี.ซี.
ข้อสังเกตและข้อยุติของตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส
เกี่ยวกับคำขอ ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยได้ยื่นไว้
ต่อคณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๙๐
และซึ่งได้มีการชี้แจงขยายความโดยบันทึกไทย
ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๙๐
----------------------------
เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ตัวแทนรัฐบาลไทยได้ยื่นบันทึกเพิ่มเติม และข้อสังเกตเกี่ยวกับคำตอบของฝ่ายฝรั่งเศส ฉบับวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ต่อคณะกรรมการ สนับสนุนคารมโดยย่อของคำขอของฝ่ายไทยที่ได้ยื่นไว้ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม แต่อย่างไรก็ดี นอกจากการพาดพิงกล่าวหารัฐบาลฝรั่งเศสบางข้อ ซึ่งปราศจากมูลแล้ว ก็ดูเหมือนว่าบันทึกและข้อสังเกตของตัวแทนรัฐบาลไทยนี้ หามีคารมอันเป็นสาระใหม่ ๆ ใดๆ เลยไม่ ดังนี้ บันทึกของฝรั่งเศสฉบับวันที่ ๒๒ พฤษภาคม และข้อสังเกตละเอียดที่ได้แนบไปด้วยนั้น เป็นอันได้ตอบสาระสำคัญของเอกสารไทย ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ทั้ง ๒ ฉบับแล้ว
แต่อย่างไรก็ดี รู้สึกเห็นเป็นการสมควรที่จะเสนอเอกสาร ดังต่อไปนี้ ต่อคณะกรรมการ เพื่อให้ความกระจ่างแจ้ง
๑. ข้อสังเกตทวนพฤติการณ์ที่ได้นำไปสู่การทำความตกลงระงับกรณี ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๑๙๔๖ ซึ่งได้กำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการนี้ขึ้น (ภาคผนวก ๑)
๒. บันทึกคำตอบและวิเคราะห์คำตอบ ที่ได้ให้ไว้แล้วต่อคารมที่ฝ่ายไทยกล่าวซ้ำมาอีกเป็นข้อ ๆ ไป (ภาคผนวก ๒)
๓. สรุปสาระแห่งการมซึ่งได้อภิปรายเป็นคำตอบคำเรียกร้องของรัฐบาลไทยไว้แล้ว
๔. ข้อยุติซึ่งปรากฏอยู่ในตอนท้ายของบันทึกนี้ และซึ่งขอเสนอในนามของรัฐบาลฝรั่งเศส ขอให้คณะกรรมการการประนอมรับ
ข้อสังเกต
๑
๑. บันทึกของฝ่ายไทยฉบับที่ ๒ กล่าวไว้ในข้อ ๕ ว่า “ความตกลงปี ค.ศ. ๑๙๔๖ ได้จัดตั้งคณะกรรมการการประนอมเพื่อกลับพิจารณาสถานการณ์ อันเป็นผลของบทบัญญัติของสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓, ๑๙๐๔, ๑๙๐๗) การทำความตกลงดังกล่าวนั้น ภาคีที่เกี่ยวข้องได้รับรองอย่างเปิดเผย ถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการกลับพิจารณาดังกล่าว
๒. ความจริงรัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศอยู่เสมอว่า อาณาเขตซึ่งฝรั่งเศสต้องถูกคร่าไปเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๔๑ โดยพลกำลังและโดยการละเมิดสนธิสัญญาว่าด้วยเขตแดนซึ่งได้กระทำ ยืนยันและประกันกันไว้อย่างเคร่งครัดนั้น จะต้องคืนให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส และการคืนเช่นนี้จะต้องเป็นอันเด็ดขาด การคืนได้เป็นไปตามข้อ ๑ แห่งความตกลงระงับกรณี ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๑๙๔๖
๓. ก็ด้วยเจตนาอันเป็นที่สุดอย่างพิเศษ และไม่ต้องสงสัย คงมีตัวอย่างน้อยในประวัติกฎหมายระหว่างประเทศ ที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ยินยอมตามข้อ ๓ แห่งความตกลงระงับกรณี ให้เสนอคารมซึ่งประเทศไทยอาจจะใคร่ยืนยันเพื่อสนับสนุนการแก้ไขอาณาเขตต่อคณะกรรมการ ที่จะได้จัดตั้งขึ้นตามข้อ ๒๑ แห่งสนธิสัญญาทางไมตรี ค.ศ. ๑๙๓๗
๔. การที่ยอมรับให้คณะกรรมการการประนอมฟังคารม ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสเองก็ไม่เคยรู้ เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสก็ไม่ทราบว่ามากน้อยเพียงใดนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสรู้สึกว่า ได้ยอมเพื่อสันติภาพและมิตรภาพอันควรแก่การสรรเสริญ เฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้รับความเสียหายร้ายแรงที่สุดอยู่แล้ว กล่าวคือ การรุกรานอย่างกะทันหัน ฝ่าฝืนข้อผูกพันที่ได้มีอยู่แต่นานมาแล้ว และที่เพิ่งได้รับการยืนยันใหม่ ๆ และในขณะที่เป็นที่ทราบกันอยู่ดีว่า รัฐบาลฝรั่งเศสอยู่ในฐานะยุ่งยาก การรุกรานนี้ยังทำให้บั่นทอนประชากรและดินแดน ซึ่งเป็นของรัฐที่ฝรั่งเศสได้ให้ความคุ้มครองและส่งเสริมมาเป็นเวลากว่ากึ่งศตวรรษแล้ว
๕. แต่แม้จะได้ยินยอมให้มข้อ ๓ ไว้ในความตกลง ปี ค.ศ. ๑๙๔๖ รัฐบาลฝรั่งเศสมได้ยอมรับว่าจำเป็นหรือสมควรแก้ไขอาณาเขตแต่ประการใดเลย ที่ข้อ ๓ ได้กล่าวว่า อาจจะมีการแก้ไขหรือยืนยันข้อความแห่งสนธิสัญญาที่อ้างถึงนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสมุ่งที่จะให้โอกาสแก่รัฐบาลไทยเสนอคารม ซึ่งขณะนั้นยังมิได้มีอยู่ต่อองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งจะพึงวินิจฉัยได้โดยเที่ยงธรรมว่า คารมเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีเหตุผลเพียงไรหรือไม่ และในการนี้ สำหรับรัฐบาลฝรั่งเศสเอง รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้สงวนที่จะขอให้องค์การระหว่างประเทศนั้น รับน้ำหนักแห่งสิทธิของฝรั่งเศส และเหตุผลสนับสนุนความเชื่อมั่นของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ว่าบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญาซึ่งระบุไว้ในข้อ ๓ นั้น ควรได้รับการยืนยัน
๖. นอกจากนั้น ในการที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ยอมให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศตามความในข้อ ๒๑ (แห่งสนธิสัญญาทางไมตรี) รัฐบาลฝรั่งเศสเองได้ละเลยโดยจงใจไม่คำนึงถึงความจริงที่ว่า ตามความในข้อ ๒๑ ซึ่งเท่ากับใช้บทบัญญัติแห่งกรรมสารทั่วไปแห่งกรุงเจนีวา ปี ค.ศ. ๑๙๒๘ (ข้อ ๑) นั้น “ปัญหาข้อพิพาท” เท่านั้น ที่อาจะเสนอต่อคณะกรรมการเช่นนั้นได้ แต่ทว่าระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลไทย ก็หามีข้อพิพาทใด ๆ ตามความหมายที่แท้ของคำไม่
๗. อนึ่ง “ปัญหาข้อพิพาท” เช่นนี้ จะนำเสนอต่อคณะกรรมการทำนองนี้ได้ก็ต่อเมื่อได้พยายามดำเนินการ “ระงับโดยวิถีทางการทูต” แล้วไม่สำเร็จ แต่นี่ก็หามีการพยายามที่จะดำเนินการทางการทูตดังกล่าวแต่ประการใดไม่ และความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งได้ชะงักไปเพราะการรุกรานเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๔๑ ก็ยังมิได้กลับสถาปนาขึ้นใหม่ระหว่างรัฐบาลทั้งสอง
๘. ข้อความทั้งสองดังกล่าวมานี้ ย่อมเพิ่มน้ำหนักให้แก่ความพยายามของรัฐบาลฝรั่งเศสในการที่จะทำการประนอม ด้วยความปรารถนาที่จะให้มีการกลับสถาปนาความเข้าใจอันดี อันที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านที่ดี ระหว่างสหภาพฝรั่งเศสกับประเทศไทย
๙. ท้ายที่สุด การสังเกตว่า ถ้ารัฐบาลฝรั่งเศสจะถูกติเตียน ว่ามิได้ปฏิบัติตามความผูกพันในข้อ ๓ เพราะเหตุว่า ไม่ยอมรับแก้ไขดินแดนที่เป็นปัญหานี้แล้ว ก็อาจจะกล่าวติเตียนรัฐบาลไทย โดยใช้คารมเดียวกันว่า มิได้ปฏิบัติตามความผูกพันดังที่ปรากฏในข้อสัญญาข้อเดียวกันนี้ เพราะเหตุว่า รัฐบาลไทยปฏิเสธไม่ตกลงกับฝรั่งเศส ในอันที่จะเสนอหลักการยืนยันสนธิสัญญาอันมีผลบังคับอยู่ และซึ่งไม่มีภาคีฝ่ายใดปฏิเสธว่าไม่สมบูรณ์เลย
๒
๑. บันทึกของฝ่ายไทย ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม วรรค ๕ ทำให้เข้าใจว่า เพียงแต่การที่มีข้อ ๓ อยู่ในความตกลงระงับกรณี ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ นี้ ทำให้เป็นอันต้องสมมติว่า มีสถานการณ์ที่บังคับให้ต้องมีการแก้ไขสถานภาพเดิมทางดินแดนที่ได้กำหนดโดยสนธิสัญญาปี ค.ศ. ๑๙๓๗
๒. อันที่จริงประเทศไทยก็ได้อาศัยความเห็นนี้เท่านั้น ที่จะแสดงว่า คำขอเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติสนธิสัญญาต่าง ๆ ซึ่งได้คงใช้บังคับมาตามสนธิสัญญาปี ค.ศ. ๑๙๓๗ เป็นสิ่งที่ชอบธรรม
๓. แต่ทว่าทั้งคำขอของรัฐบาลไทย และทั้งบันทึกขยายความซึ่งได้ชี้แจงเพิ่มเติม และสนับสนุนคารมเดิมของตน ก็หาได้พยายามที่จะแสดงให้ปรากฏแต่อย่างใดไม่ว่า มีสถานการณ์ทางชายแดนของไทย ลาว และเขมร อย่างที่ไม่อาจจะทนทานได้ ในทางเชื้อชาติ ทางภูมิศาสตร์ หรือทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในลักษณะที่จำเป็นจะต้องดำเนินกระบวนการพิเศษ ตลอดจนต้องเสียสละเพราะกระบวนการเหล่านั้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยประชากรที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศเขมร ลาว และประเทศฝรั่งเศสเอง
๔. เหตุที่มิได้มีการแสดงเช่นนั้น หรือแม้พยายามที่จะแสดงเช่นนั้น ก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ โดยเหตุที่สถานการณ์เช่นนั้น หามีอยู่ไม่
๓
๑. แม้จะสมมติว่า รัฐบาลไทยมีเหตุผลที่ใช้ได้บางประการ ในการที่จะขอรวมดินแดนของลาวและเขมรเข้ากับตน อย่างน้อยก็ควรจะต้องพิสูจน์ให้ชัดแจ้งว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น จะต้องไม่นำมาซึ่งความเสียหายใหญ่หลวงแก่อาณาเขตที่ถูกโอน หรือแก่อาณาเขตที่ต้องเสียดินแดนนั้นไป แต่บันทึกของไทยลงวันที่ ๑๒ และ ๒๙ พฤษภาคม ทั้ง ๒ ฉบับ ก็มิได้พยายามที่จะแสดงความข้อนี้ และพูดตามความจริงแล้ว ก็มิได้เอาใจใส่ต่อปัญหาข้อนี้เลย
๒. แต่ตรงกันข้าม ทางฝ่ายฝรั่งเศสนั้นได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่ฝ่ายไทยเสนอจะก่อให้เกิดผลอันร้ายแรงยิ่งแก่อาณาเขตทั้ง ๒ ฝ่าย
๔
๑. ท้ายที่สุด บันทึกฉบับแรกของฝ่ายฝรั่งเศส (วันที่ ๒๒ พฤษภาคม) และภาคผนวกก็มิได้โต้แย้งคารมทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ ตามบันทึกของฝ่ายไทย ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม นั้น โดย “อ้างการกล่าวพาดพิงทางการเมืองโดยตรงหรือโดยอ้อม อันไม่เกี่ยวกับประเด็น” ดั่งที่ฝ่ายไทยอ้างในบันทึกฉบับที่ ๒ วรรคแรก นั้นเลย บันทึกฉบับแรกของฝรั่งเศสได้ใช้คารมชนิดเดียวกัน และภาคผนวกของบันทึกนี้ได้ยกคารมที่ปรากฏในบันทึกฉบับที่ ๒ ของฝ่ายไทยขึ้นพิจารณาเป็นคารม ๆ ไป ตามขอบเขตแห่งความตกลงระงับกรณีข้อ ๓ โดยแท้ ถ้าหากว่าในบางขณะจะมีข้อคำนึงทางการเมืองบ้าง ก็เป็นเพราะเนื่องจากผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากคำเรียกร้องของรัฐบาลไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
๒. บันทึกฉบับแรกที่ฝ่ายฝรั่งเศสได้ยื่นต่อคณะกรรมการ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ได้แสดงถึงความประหลาดใจของรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อได้รับทราบคำขอของรัฐบาลไทยที่ขอแก้ไขอาณาเขต
๓. บันทึกฉบับที่ ๒ (วันที่ ๒๙ พฤษภาคม) ก็ยังคงถือประหนึ่งว่า คำเรียกร้องที่ปรากฏในบันทึกฉบับแรกเป็นของธรรมดา และมิได้ตัดทอนเลย แต่ตรงกันข้าม กลับคงยืนยันโดยตลอดและหนักยิ่งขึ้น จึงใคร่ที่จะกล่าวถึงลักษณะของคำเรียกร้องอันเกินกว่ากฎหมายระหว่างประเทศเหล่านี้อีก กล่าวคือ ดังที่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้แล้ว คำเรียกร้องเหล่านี้มุ่งที่จะทำลายรัฐลาวโดยสิ้นเชิง และอย่างน้อย ในชั้นแรกนี้จะเป็นการบั่นทอนรัฐลาว จนอาจจะเป็นอันตรายถึงความเป็นอยู่ของรัฐลาวเอง ส่วนประเทศเขมรนั้น ก็จะต้องได้รับการบั่นทอนที่ร้ายแรงเท่าเทียมกัน แต่ทว่าในปัจจุบันนี้ ทั้งลาวและเขมรก็เป็นองค์การทางการเมืองที่มีชีวิตของตนเอง และมีสภาพเป็นบุคคลซึ่งในทัศนะแห่งกฎหมายระหว่างประเทศย่อมมีสิทธิเด็ดขาดอันพึ่งได้รับการเคารพ
๔. ข้อคำนึงนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสรู้สึกมีความสำคัญยิ่ง และขอให้คณะกรรมการได้พิจารณาถึงโดยเฉพาะ
๕
๑. การชี้แจงด้วยวาจาในระหว่างการประชุมของคณะกรรมการ เพื่อตอบปัญหาที่ได้ตั้งต่อตัวแทนทั้ง ๒ ฝ่าย ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่มีเหตุผลในทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ หรือเศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยได้อ้างใด ๆ เลย ที่จะสามารถแสดงว่าคำเรียกร้องของรัฐบาลไทยที่เสียหายแก่ลาวและเขมรนี้เป็นการชอบธรรม ทั้งนี้ไม่ว่าจะพิจารณาเหตุผลนั้นรวมกันหรือแยกกัน
๒. ตรงกันข้าม การที่จะถือการเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยหลักเช่นนี้โดยทั่วไปแล้ว จะก่อให้เกิดความผันผวนในทางการเมืองโดยทั่วไป ดังที่ได้กล่าวแล้ว สถานการณ์คล้ายคลึงกับที่บันทึกของฝ่ายไทยกล่าวไว้นั้นมีอยู่ในส่วนอื่น ๆ ของโลก และได้รับการจัดระเบียบเรียบร้อยมาโดยสนธิสัญญา นับเป็นศตวรรษ ๆ มาแล้ว สนธิสัญญาเช่นนี้ก็ได้ใช้มาด้วยที่เป็นเวลาช้านาน และรับรองโดยกฎหมายระหว่างประเทศ
๓. ยิ่งกว่านั้นถ้าจะนำคารมซึ่งบันทึกของฝ่ายไทยได้อ้างมาใช้บังคับเป็นรายๆ ไปแก่เขตแดนที่ฝ่ายไทยกำลังวิพากษ์อยู่นี้แล้ว ก็อาจจะกลับเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศไทยเอง คือ
๔. ในทางเชื้อชาติ เส้นที่แบ่งคนไทยกับคนลาวนี้อยู่ไปทางตะวันตกของเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาวปัจจุบัน และเส้นที่แบ่งคนไทยกับคนเขมร ก็อยู่ไปทางเหนือและทางตะวันตกของเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเขมรปัจจุบัน
๕. ในทางภูมิศาสตร์ สันปันน้ำระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำโขงอยู่ไปทางตะวันตกของเขตแดนระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่ง กับประเทศลาวและเขมรอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ โดยไม่กล่าวถึงการปักปันเขตแดนอันผิดปรกติของเขตแดนเขมรด้านริมอ่าวสยาม ซึ่งห่างฝั่งเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ลาวและเขมรจึงต่างรู้สึกว่าได้รับความเสียหายร้ายแรง เพราะการที่ประชากรซึ่งเป็นคนลาวและคนเขมรโดยแท้ และโต้เถียงไม่ได้นั้น ถูกแยกจากลาวและเขมรโดยเส้นเขตแดนปัจจุบันนี้
ฉะนั้น ถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนกันแล้วตามเหตุผลที่ชอบ ก็ควรจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ให้ประโยชน์ต่อลาวและเขมร
๖. ในทางเศรษฐกิจ ก็ได้มีการแถลงด้วยวาจาในการประชุมของคณะกรรมการ และซึ่งได้ยืนยันโดยลายลักษณ์อักษรในเอกสารแนบท้ายบันทึกนี้แล้ว ว่าประเทศไทยฝ่ายหนึ่ง กับประเทศลาวและเขมรอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นประเทศที่มีทรัพยากรคล้ายคลึงกัน และโดยนัยนั้น จึงไม่ต้องประกอบหรือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
๗. ที่จริงนอกจากในเขตที่จำกัดจริง ๆ แล้ว และซึ่งก็เป็นเขตที่คลุมไว้แทบทั่วแล้ว โดยเขตปลอดการศุลกากรชายฝั่งแม่น้ำโขง จะมีการต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างท้องที่ที่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำโขง ก็แต่เพียงในจังหวัดหลวงพระบางและจัมปาศักดิ์เท่านั้น ในทั้งสองกรณีนี้ ส่วนที่ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และซึ่งถูกกั้นทางด้านตะวันตก โดยเทือกเขาสำคัญแล้ว เป็นส่วนที่ให้ความอนุเคราะห์อย่างสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชากรในอาณาเขตฝั่งซ้ายที่เต็มไปด้วยภูเขา
๘. ด้วยเหตุนี้ระเบียบการที่ใช้อยู่ตลอดเขตแดนทั้งทางลำน้ำหรือทางบก ก็เป็นไปในทางเสรีนิยม จนในทางปฏิบัติไม่มีการขัดขวางต่อการแลกเปลี่ยนระหว่างหมู่บ้านของคนชาติทั้ง ๒ ฝ่าย ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์อันสำคัญของความกังวลในบันทึกของฝ่ายไทยทั้ง ๒ ฉบับประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ลาวก็ได้เห็นตลาดของตนขยายตัวเรื่อยมาไปตลอดส่วนอื่นของอินโดจีน จนสะดุดหยุดลงก็เพราะสงครามเท่านั้น ส่วนชีวิตทางเศรษฐกิจของจังหวัดพระตะบองเช่นเดียวกันกับของประเทศเขมร ได้เคยมุ่งไปเสมอ และจะคงมุ่งต่อไปในอนาคต ยิ่งกว่าในปัจจุบัน สู่ตะวันออกเฉียงใต้ และสู่ประเทศโพ้นทะเลโดยผ่านทางไซ่ง่อน
๙. ท้ายที่สุดการปรับปรุงใด ๆ ในวิธีการขนส่งระหว่างประเทศ ย่อมจะต้องอาศัยความตกลงทางการพาณิชย์และศุลกากร ตามแบบซึ่งเป็นของธรรมดาระหว่างรัฐใกล้เคียงที่เจริญแล้วทั่วโลก ฉะนั้น ประเทศฝรั่งเศสและมิตรของตนจึงหวังว่าประเทศไทยคงพร้อมที่จะยอมให้ได้ประโยชน์ในความสะดวกของทางคมนาคม ปัจจุบันหรืออนาคต อันอาจจะเป็นผลดีแก่การค้าของฝ่ายฝรั่งเศส เช่นเดียวกับฝ่ายฝรั่งเศสก็พร้อมที่จะถ้อยทีถ้อยปฏิบัติให้แก่ประเทศไทย ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงเขตแดนในแหลมอินโดจีนยิ่งไปกว่าในส่วนใด ๆ ของโลกเพื่อการนี้เลย
ข้อยุติ
๑) โดยอาศัยข้อคำนึงต่าง ๆ เหล่านี้ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงคงยืนในความเห็นว่า คารมที่ได้แถลงในคำขอของฝ่ายไทย ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม และในบันทึกขยายความและ “ข้อสังเกต” ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม เพื่อแก้ไขสถานภาพเดิมนั้น เป็นสิ่งที่ปราศจากเหตุผล ไม่เกี่ยวกับเรื่อง และไม่สมควรที่คณะกรรมการจะยอมรับ ส่วนคารมที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้เสนอเพื่อให้คงไว้ซึ่งสถานภาพเดิมนั้น แม้จะได้ อ่านเอกสารของฝ่ายไทย ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม แล้วก็ดี ยังคงมีน้ำหนักอยู่อย่างสมบูรณ์
๒) แม้ว่าเส้นเขตแดนยัจุบันจะไม่ใช่ความพอเพียงต่อความปรารถนาอันชอบของลาวและเขมรที่จะให้รวมหมู่ประชากรส่วนสำคัญ ซึ่งถือว่าถูกแยกไปจากสังคมที่อยู่ในเขตอำนาจของลาวและเขมร และแม้ว่าเส้นเขตแดนนั้น จะไม่เป็นไปตามสภาพของภูมิศาสตร์ ซึ่งควรจะค่อนไปทางตะวันตกของเขตแดนก็ดี รัฐบาลฝรั่งเศสยังเห็นว่าการคงไว้ซึ่งเส้นเขตแดนที่แน่นอนและสันติมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๗ (นอกจากการรุกรานใน ค.ศ. ๑๙๔๑) นั้น เป็นที่พึงปรารถนาและจำเป็น
๓) ฉะนั้น โดยที่ความตกลงระงับกรณีลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ เป็นมูลฐานทางนิตินัยของสถานภาพเขตแดนปัจจุบัน ระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน อย่างโต้แย้งมิได้ และโดยที่เอกสารทางการทูตฉบับนิว่าด้วยสถานะของคณะกรรมการเอง ข้าพเจ้าจึงขอเสนอต่อคณะกรรมการการประนอมในนามของรัฐบาลฝรั่งเศสให้รับข้อยุติดังต่อไปนี้ คือ
๑. ก) ในการลงนามความตกลงระงับกรณี เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ โดยเฉพาะข้อ ๓ รัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งได้สงวนสิทธิที่จะเสนอคารมในทางยืนยันไว้อย่างชัดแจ้ง มิได้ยอมรับเลยว่ามีความจำเป็น ที่จะกลับพิจารณาบทบัญญัติว่าด้วยอาณาเขตแห่งสนธิสัญญา ปี ค.ศ. ๑๘๙๓, ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ ซึ่งได้รับการยืนยันโดยสนธิสัญญา ปี ค.ศ. ๑๙๓๗ อีก
ข) เมื่อเป็นเช่นนี้ ตัวแทนสำหรับรัฐบาลไทยจึงไม่มีมูลที่จะยกคารมไปในทางที่จะแก้ไข
๒. ก) เพื่อที่จะให้คารมของตัวแทนสำหรับรัฐบาลไทย ที่ขอให้มีการแก้ไข เป็นสิ่งที่รับฟัง ได้ฝืนสนธิสัญญาที่ได้กระทำยืนยัน และประกันโดยเปิดเผย จำเป็นที่คารมเหล่านั้นจะต้องพิสูจน์ว่าประเทศไทยได้ประสบความเสียหายโดยเหตุแห่งสถานภาพเดิมอย่างมิใช่ธรรมดา หากแต่เป็นความเสียหายอย่างเหลือที่จะทนทานได้
ข) แต่ทว่าไม่มีคารมทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจของตัวแทนสำหรับรัฐบาลไทยข้อใดเลย ที่แสดงให้เห็นว่า โดยเหตุแห่งสถานภาพเดิม ประเทศไทยได้ประสบความเสียหาย
๓. ก) ที่จริง บันทึกของตัวแทนไทยมิได้แสดงให้เห็นว่า ประชากรทางฝั่งขวาได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงประการใด จากการมีเขตแดนทางการเมืองระหว่างตนกับประชากรฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เพราะเหตุที่ต้องแยกคนซึ่งพูดภาษาพื้นเมืองใกล้เคียงกัน หรือมีขนบประเพณีคล้ายคลึงกัน
ข) ข้อพิสูจน์เช่นเดียวกัน ก็ไม่มีสำหรับหลวงพระบางฝั่งขวาหรือจัมปาศักดิ์ฝั่งขวา
ค) ทั้งไม่มีการพิสูจน์ว่า การมีเขตแดนทางการเมืองได้กีดกันมิให้คนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และแคว้นตะวันตกของหลวงพระบางและจัมปาศักดิ์ มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมกับคนในอีกด้านหนึ่งของเขตแดน
ง) บันทึกของฝ่ายไทย มิได้กล่าวถึงชนไทยหมู่น้อยใด ๆ ในอาณาเขตที่ประเทศไทยเรียกร้อง และความจริงก็ไม่มีชนหมู่น้อยเช่นนั้น
๔. กล่าวโดยทั่วไป ตามแง่ภูมิศาสตร์ เขตแดนนี้แน่นอนอยู่แล้ว มีเครื่องหมายโดยพื้นที่ที่ผิดปรกติอันได้เลือกแล้วอย่างรอบคอบ และกำหนดโดยการปักปันเขตแดน ซึ่งได้ปฏิบัติร่วมกันโดยผู้เชี่ยวชาญของประเทศทั้งสอง
๕. บันทึกของตัวแทนรัฐบาลไทยไม่ได้พิสูจน์ว่า ประเทศไทยได้รับความเสียหายในเศรษฐกิจของตน เพราะการมีเส้นเขตแดนทางการเมืองนี้ ทำความพินาศ หรือเสื่อมโทรม ให้แก่การค้าของประเทศไทย
๖. ความไม่สะดวก ซึ่งอาจเป็นผลจากเขตแดน ย่อมมีอยู่อย่างปรกติในทุกแห่งที่มีเขตแดน และไม่มีคารมใดที่จะใช้ยันสนธิสัญญา ซึ่งทำกันแน่นอนและยืนยันอย่างเคร่งครัด โดยประเทศไทย หรือเขตแดนที่ประเทศไทยได้ประกันแล้ว
๗. ก) ตัวแทนรัฐบาลไทยมิได้แสดงว่า การเปลี่ยนแปลงที่แนะนั้นจะไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ประชากร หรือแก่อาณาเขตที่เกี่ยวข้อง
ข) ตรงกันข้าม ตัวแทนรัฐบาลไทยได้พยายามที่จะพิสูจน์ว่า ข้อเสนอของตนจะเป็นประโยชน์อันพึงปรารถนาแก่อาณาเขตที่มิใช่ไทย เป็นการสู้คดีสำหรับฝ่ายที่ตนมิใช่ผู้แทน ผิดต่อหลักกฎหมายทั่วไป
๘. ส่วนตัวแทนฝ่ายฝรั่งเศสนั้น ตรงกันข้าม ได้แสดงว่าข้อเสนอของไทยจะเกิดผลเสียหายอย่างทนทานไม่ได้แก่อาณาเขตและหน่วยทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสภาพนิติบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศ
๙. ก) ความจริง บันทึกของตัวแทนไทยมุ่งไปในทางที่จะทำลายล้างรัฐลาว โดยการผนวกดินแดนทั้งหมดของรัฐนี้กับประเทศไทย และอย่างน้อยจะบั่นทอน และเปลี่ยนโฉมหน้าของเขมรและลาว ซึ่งเป็นหน่วยทางการเมืองที่ตั้งขึ้นแล้ว และมีสภาพนิติบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศ โดยการแย่งอาณาเขตไปผนวกกับประเทศไทยเป็นจังหวัด ๆ ไป
ข) นอกจากคารมทั้งหลายที่กล่าวแล้ว อาณาเขตฝั่งขวาของหลวงพระบางเป็นส่วนสำคัญของจังหวัดหลวงพระบาง ซึ่งเป็นศูนย์การเมืองของลาว
ค) ฝั่งขวาของจัมปาศักดิ์ เป็นส่วนสำคัญของจังหวัดจัมปาศักดิ์ ซึ่งไม่อาจแยกไปจากลาว โดยไม่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนอย่างร้ายแรง
ง) หากจะมีการยอมตามคำเรียกร้องอันปราศจากเหตุผลของประเทศไทย อันขัดต่อสนธิสัญญาเกี่ยวกับเขตแดน ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว มีผลโดยสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นการนำความเสียหายอย่างไม่เป็นธรรมแก่จังหวัดเหล่านั้นและแก่ลาว
จ) เหตุผลในทางเดียวกันนี้ ใช้ได้สำหรับจังหวัดพระตะบอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเขมร และซึ่งมีชีวิตหันไปทางพนมเปญแม่น้ำโขง และทะเลอื่น
๑๐. ก) กล่าวโดยสรุป สิ่งที่ตัวแทนฝ่ายไทยร้องขอต่อคณะกรรมการ ก็คือ เพื่อความสะดวกของประเทศไทย กลับจะให้มีการผันผวนทางอาณาเขตอย่างที่จะเสียหายร้ายแรงแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และเป็นสิ่งที่ทนทานมิได้ ทั้งในทางวัตถุและจิตใจแก่อีกฝ่ายหนึ่ง แทนที่จะให้เป็นไปตามสถานการณ์ทางอาณาเขตที่ได้รับการสถาปนายืนยันและประกันโดยสนธิสัญญาโดยที่แล้ว
ข) ในที่สุด ในการร้องขอคืนข้ออ้างเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก่อน ค.ศ. ๑๘๙๓ นั้น ประเทศไทยมุ่งที่จะสร้างสถานการณ์อันไม่มีมาในกฎหมายระหว่างประเทศแผนกมหาชน และโดยก่อภาระต่ออนาคตของลาวและเขมร จะไม่มีผลอย่างอื่น นอกจากก่อให้เกิดความไม่มั่นคงแก่ดินแดนเหล่านั้น ในลักษณะที่จะทำลายความวัฒนาและสันติภาพในส่วนนั้นของโลก
ข้อยุติสุดท้าย ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงขอยกคารมของไทยที่ขอให้มีการแก้ไขเสีย และขอรับคารมของฝรั่งเศสที่จะให้ยืนยันบทบัญญัติของสนธิสัญญาซึ่งระบุไว้ในข้อ ๓ แห่งความตกลงระงับกรณีระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖
----------------------------
ภาคผนวกที่ ๑
ต่อท้าย “ข้อสังเกตและข้อยุติ”
ของตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส
ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๙๐
----------------------------
ข้อสังเกตเกี่ยวกับพฤติการณ์ซึ่งได้นำให้
ทำความตกลงระงับกรณี ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส
ฉบับลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖
๑. ในการยกเลิกอนุสัญญากรุงโตเกียว ฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสได้บอกปฏิเสธมาก่อนนานแล้วนั้น ความตกลงระงับกรณีฉบับลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ในข้อ ๑ ได้ให้กลับใช้สนธิสัญญาฉบับลงวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ทั้งหมดตามเดิมเป็นกฎหมายแห่งภาคี
๒. ข้อ ๓ แห่งความตกลงระงับกรณี ได้บัญญัติไว้ว่า “ในทันที ภายหลังการลงนามความตกลงฉบับนี้ ประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส โดยใช้ข้อ ๒๑ แห่งสนธิสัญญาระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ จะได้จัดตั้งคณะกรรมการการประนอมขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้แทนของภาคี ๒ คน และผู้เป็นกลาง ๓ คน ตามความในกรรมสารทั่วไปแห่งกรุงเจนีวา ฉบับวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๘ สำหรับการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ซึ่งวางระเบียบการจัดตั้งและการดำเนินงานของคณะกรรมการนี้ คณะกรรมการนี้จะได้เริ่มงานโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ ภายหลังที่ได้ดำเนินการโอนอาณาเขตซึ่งกล่าวไว้ในข้อ ๑ วรรค ๒ เสร็จแล้ว คณะกรรมการนี้จะได้รับมอบหมายให้พิจารณาคารมทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจของภาคี ในการสนับสนุนการแก้ไขหรือยืนยันข้อความแห่งสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๕๓ อนุสัญญาฉบับวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ และสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งข้อ ๒๒ แห่งสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ยังให้คงใช้อยู่”
๓. ฉะนั้น สถานภาพทางอาณาเขตที่มีบัญญัติไว้โดยข้อ ๒๒ แห่งสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ จึงได้เป็นจุดประสงค์ของการโต้เถียง ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ต่อหน้าคณะกรรมการนี้ ในพฤติการณ์ที่มีลักษณะพิเศษจริง ๆ
๔. จุดประสงค์ของข้อสังเกตฉบับนี้ ก็คือ เพื่อจะพิจารณาสถานภาพทางอาณาเขตในตัวเอง และเพื่ออธิบายถึงหน้าที่ตั้งแต่ได้ใช้บังคับมา
สถานภาพและหน้าที่ของเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน
๑. ข้อ ๒๒ แห่งสนธิสัญญา ปี ค.ศ. ๑๙๓๗ ได้ยืนยันความตกลงปี ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งได้แถลงว่า เป็นครั้งที่สุดแล้วแต่ต้น ในอารัมภบทของสนธิสัญญา ปี ค.ศ. ๑๙๐๗ และซึ่งได้ยืนยันโดยข้อ ๒ แห่งสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๕ อีก เอกสารฉบับหลังนี้ได้บัญญัติต่อไปว่า อัครภาคีทั้ง ๒ รับรองร่วมกัน ซึ่งสถานภาพทางอาณาเขตของแต่ละฝ่าย ซึ่งอัครภาคีทั้ง ๒ เพิ่งได้ยืนยันนัยหนึ่งคือ ต่างฝ่ายต่างจะไม่ยกขึ้นเป็นข้อโต้เถียงกัน การรับรองนี้ ได้กล่าวซ้ำในข้อ ๒๒ แห่งสนธิสัญญา ปี ค.ศ. ๑๙๓๗ ซึ่งข้อ ๒ แห่งความตกลงระงับกรณีได้ให้กลับคืนใช้บังคับเต็มที่ ฉะนั้น สนธิสัญญาอาณาเขต ปี ค.ศ. ๑๙๓๗ เป็นแต่เพียงยืนยันและรับรองสถานการณ์ของ ๓๐ ปีที่แล้วอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยมีข้อโต้เถียงโดยรัฐบาลไทยเลย
๒. เขตแดนซึ่งได้สถาปนาขึ้น ในปี ค.ศ. ๑๙๐๗ มีความดี ๒ ประการ คือ ได้เป็นเขตแดนที่แน่นอน เพราะได้มีการปักปันอย่างรอบคอบและสมบูรณ์ที่สุด และได้เป็นเขตแดนที่อาจเรียกได้ว่า สันติ จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ ปี ค.ศ. ๑๙๔๐, ๑๙๔๑ เขตแดนนี้ ก็ได้เป็นเขตแดนที่ไม่มีเรื่องใด ๆ เลย
๓. อนึ่ง รัฐบาลฝรั่งเศสได้ยอมต่อการเรียกร้องของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับเส้นอาณาเขตเพียงส่วนที่เป็นเหตุให้มีปัญหา ไม่ใช่ความยุ่งยากในความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ฝ่าย คือเขตแดนแม่น้ำโขง การนิยามเขตแดนทางน้ำ ระหว่างอินโดจีน และประเทศไทย ตามลำแม่น้ำโขง เป็นผลของข้อ ๓ แห่งอนุสัญญาฉบับลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๖ วิธีการที่นิยามไว้นั้นยุ่งยาก และทำความลำบากให้แก่การปกครองที่ดี ในบางตอนก็ได้มีการแก้ไขสถานการณ์ อันเนื่องมาจากเส้นเขตแดนนี้แล้วโดยการกระทำของคณะข้าหลวงใหญ่ประจำแม่น้ำโขง อย่างไรก็ดี นอกจากที่เกี่ยวกับเส้นเขตแดนเองแล้ว ระบอบการ ซึ่งได้เป็นที่รับกันโดยอัครภาคี ก็ได้ให้ประกันการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันโดยชอบแล้ว (อนุสัญญา ปี ค.ศ. ๑๙๒๖ ข้อ ๕ และต่อ ๆ ไป)
๔. ในระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๓๙ และ ค.ศ. ๑๙๔๐ รัฐบาลทั้ง ๒ จึงได้ตกลงที่จะให้นำความคิดเห็น ซึ่งได้ปรากฏขึ้นในระหว่างการเจรจาก่อน ๆ ในเรื่องนี้มาใช้ให้ได้ผล รัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลไทยได้ทำความเข้าใจกัน ในแบบการปักปันเขตแดนตามลำแม่น้ำโขง ซึ่งได้เป็นที่เห็นชอบด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ และซึ่งได้เป็นที่ยอมรับแน่นอน โดยหนังสือแลกเปลี่ยน ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ในขณะที่ได้ทำสัญญาไม่รุกรานต่อกัน ในการเจรจากติกาสัญญาไม่รุกรานในตอนต้น ๆ นั้น รัฐบาลฝรั่งเศสได้รับหนังสือจากรัฐบาลไทยใจความว่า ตามที่ได้ตกลงร่วมกันเปลี่ยนแปลงเขตแดนแม่น้ำโขงเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยนั้น จะไม่กระทบถึงหลักทั่วไป ซึ่งได้วางไว้ตั้งแต่ ปี ค.ศ. ๑๙๐๗ ว่าจะไม่มีการแตะต้องเขตแดน
๕. พร้อมกับการเจรจานี้ รัฐบาลทั้ง ๒ ได้เจรจาเพื่อทำกติกาสัญญาไม่รุกรานต่อกัน ดังที่คณะกรรมการทราบอยู่แล้ว ตามข้อ ๑ แห่งกติกาสัญญานี้ อัครภาคีแต่ละฝ่ายต่างรับรองที่จะเคารพต่ออธิปไตยและอำนาจในอาณาเขตของภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ในทุกกรณี อัครภาคีแต่ละฝ่ายตกลงจะไม่เข้าเกี่ยวข้องในกิจการภายในอาณาเขตของอีกฝ่ายหนึ่ง และจะเว้นการกระทำใดอันโน้มไปในทางก่อหรือช่วยการปลุกปั่น การเผยแพร่ หรือการพยายามแทรกแซง ซึ่งมุ่งหมายที่จะเสื่อมบูรณภาพแห่งอาณาเขตของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง โดยใช้กำลังบังคับในอาณาเขตของฝ่ายนั้น ทั้งหมดหรือบางส่วน
๖. กติกาสัญญานี้ ได้ลงนาม เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ และ สัตยาบันโดยสภาผู้แทนราษฎรไทยเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม อย่างไรก็ดี ความพยายามของฝรั่งเศสที่จะให้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบัน ก็ไม่มีผล และในวันที่ ๙ กันยายน อัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ก็ได้รับแจ้งจากนายกรัฐมนตรีไทยว่า ระเบียบปฏิบัตินี้ ได้พิจารณาเห็นว่า ยังไม่ควรแก่เวลา
ประเทศไทยและสนธิสัญญา ปี ค.ศ. ๑๙๓๗
จาก ปี ค.ศ. ๑๙๔๐ ถึง ปี ค.ศ. ๑๙๔๖
๑. เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ สถานทูตไทยในประเทศฝรั่งเศสได้ส่งบันทึกช่วยจำของรัฐบาลไทยไปยังเจ้าหน้าที่เมืองวิชี ให้ความว่า รัฐบาลไทยเสนอว่า ก่อนที่จะทำให้กติกาสัญญามีผลใช้บังคับ ใคร่จะให้ตกลงกันในปัญหา ซึ่งได้เป็นเรื่องที่เจรจากันมาเป็นทางราชการ คือ
๑) การปักปันเขตแดนแม่น้ำโขง โดยถือร่องน้ำลึก และการตกลงในปัญหาทางการปกครองต่าง ๆ ซึ่งคั่งค้างอยู่ ดังที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือแลกเปลี่ยนลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐
๒) การถือเอาแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนระหว่างประเทศทั้งสอง จากเหนือถึงใต้ จนจดเขตแดนเขมร ซึ่งเท่ากับการคืนดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตรงข้ามหลวงพระบางและปักเซ ให้แก่ประเทศไทย
๒. รัฐบาลไทยได้ขอต่อรัฐบาลฝรั่งเศสต่อไปอีกว่า ให้รับรองโดยทางหนังสือว่า ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอธิปไตยฝรั่งเศส ฝรั่งเศส “จะคืนอาณาเขตลาวและเขมรให้แก่ประเทศไทย”
๓. รัฐบาลไทยได้ถือ “พฤติการณ์” เป็นเหตุผล
๔. ในวันที่ ๑๘ กันยายน ฝรั่งเศสก็ได้ยื่นบันทึกช่วยจำไปยังสถานทูตไทย มีความว่า
“รัฐบาลฝรั่งเศสไม่สามารถเข้าใจเจตนาของรัฐบาลไทย เพื่อสนองความประสงค์ของนายกรัฐมนตรีไทยที่ได้กล่าวไว้ในจดหมายถึงอัครราชทูตฝรั่งเศส ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๑๙๔๐ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ยอมให้มีการประชุมคณะกรรมการผสม ซึ่งจะได้รับมอบหมายให้ตกลงในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแม่น้ำโขง ในเวลาเดียวกับที่จะทำสัตยาบันกติกาสัญญาไม่รุกราน รัฐบาลฝรั่งเศสคงพร้อมที่จะปฏิบัติตามความนี้ คำเรียกร้องขอคืนดินแดนบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงนั้นรับไม่ได้”
๕. ในวันที่ ๓๐ กันยายน สถานทูตไทยได้ดำเนินการต่อไปอีก สถานทูตไทยได้ย้ำข้อเรียกร้องของไทยอีก และพยายามที่จะให้เหตุผลแสดงว่าเป็นการชอบธรรม อย่างไรก็ดี สถานทูตไทยก็ได้ระงับข้อเรียกร้องขอคำรับรองเกี่ยวกับอาณาเขตเขมรและลาวไว้ชั่วขณะหนึ่ง
๖. ในวันที่ ๒ ตุลาคม รัฐบาลฝรั่งเศสได้ตอบสถานทูตไทย บอกปัดข้อเรียกร้องนั้นทุกประการ บันทึกช่วยจำของฝ่ายฝรั่งเศสกล่าวว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสได้พิจารณาถึงสถานการณ์ซึ่งจะนำไปสู่การบรรจุปัญหาเรื่องดินแดนบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงลงในระเบียบวาระของคณะกรรมการผสม หลังจากการที่ได้ลองสอบสวนแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสจำเป็นจะต้องแถลงว่า เป็นการเหลือวิสัยสำหรับฝรั่งเศสที่จะสนองความเห็นของรัฐบาลไทยได้ ที่จริงการบรรจุปัญหานี้ลงในระเบียบวาระ จะทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสสามารถจะรับหลักการคืนดินแดนที่กล่าวนี้เท่านั้น แต่ทว่ากรณีไม่อาจะเป็นเช่นนั้นได้ รัฐบาลฝรั่งเศสเองได้ยืนยันอยู่ตลอดเวลาว่า รัฐบาลฝรั่งเศสถือว่า เขตแดนปัจจุบันเป็นเขตแดนที่เด็ดขาดแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลฝรั่งเศสยังระลึกอยู่ว่า รัฐบาลไทยเองแทนที่จะโต้แย้งความเห็นนี้ กลับยังได้เสนอที่จะให้บ่งไว้ในอรัมภบทแห่งสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๑๙๐๗ ว่าทั้งนี้เป็นการตกลงที่สุด คำที่ว่านี้ก็มุ่งหมายที่จะแสดงถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ของอัครภาคีทั้งสองที่จะระงับคำเรียกร้องใหม่ใดๆ ในภายหน้า เมื่อไม่นานมานี้เอง รัฐบาลทั้งสองยังได้มีโอกาสยืนยันสภาวะนี้อีก ในการที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ยอมรับที่จะเสนอให้พิจารณาพิเศษ ซึ่งปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับเกาะในแม่น้ำโขง ในเดือนมิถุนายนที่แล้ว ด้วยความกังวลถึงความสัมพันธ์ฐานเพื่อนบ้านที่ดี และด้วยเจตนารมณ์ที่ซาบซึ้งในผลปฏิบัติของไทย ก็เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสคำนึงถึงข้อความและเจตนารมณ์ของสนธิสัญญาที่ได้ทำอย่างเคร่งครัด ในปี ค.ศ. ๑๙๐๗ และอาศัยคำรับรองโดยกิจจะลักษณะที่นายกรัฐมนตรีไทยได้ให้ไว้ว่า รัฐบาลไทยไม่มีความปรารถนาที่จะถือโอกาสนี้เรียกร้องเกี่ยวกับดินแดน
๗. ฐานะในทางนิตินัยของรัฐบาลฝรั่งเศสยิ่งมั่นคงกว่าใจความที่ได้กล่าวไว้ด้วยถ้อยคำสั้น ๆ และเบา ในบันทึกช่วยจำของตน ลงวันที่ ๒ ตุลาคม อัครภาคีไม่เพียงแต่จะได้ยืนยันความตกลงเกี่ยวกับเขตแดนปี ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งได้ประกาศความสมบูรณ์ตั้งแต่แรกแล้ว ในสนธิสัญญาต่อ ๆ มาแห่งปี ค.ศ. ๑๙๒๕ และ ค.ศ. ๑๙๓๗ เท่านั้น อัครภาคียังได้ให้ประกันร่วมกันในเขตแดนของแต่ละฝ่าย เป็นการห้ามมิให้ต่างฝ่ายต่างยกขึ้นโต้เถียงกันแต่นั้นไป ฉะนั้น ในกรณีเช่นนี้ จึงไม่มีปัญหาของการที่จะยกข้อ ๒๑ แห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๓๗ มาใช้ เพราะไม่มีปัญหาข้อพิพาทใดที่จะยกขึ้นว่าเกี่ยวกับเขตแดนนี้ การปฏิเสธเด็ดขาดของรัฐบาลฝรั่งเศสจึงมีเหตุผลพร้อมมูล
๘. เหตุการณ์ซึ่งได้เกิดขึ้นต่อมา และซึ่งได้นำมาซึ่งความตกลงอนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียว โดยความช่วยเหลือของประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นที่ทราบกันดีแล้ว เป็นการเพียงพอที่จะตั้งสังเกตว่า แม้ที่กรุงโตเกียวเองประเทศไทยก็ได้รับแต่เพียงส่วนหนึ่งของที่ขอและข้อเรียกร้องครั้งนี้กลับมากไปกว่าที่ได้รับในครั้งนั้นมาก โดยฝืนต่อสนธิสัญญาต่าง ๆ ซึ่งได้ยืนยันโดยเคร่งครัดหลายครั้ง และฝืนต่อบทบัญญัติซึ่งรับรองสถานภาพทางอาณาเขต
๙. อนุสัญญากรุงโตเกียว ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสได้บอกปฏิเสธ ได้ถูกยกเลิกโดยข้อ ๑ แห่งความตกลงระงับกรณี ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ และสถานภาพก่อนอนุสัญญานั้น เป็นอันกลับสถาปนา
----------------------------
ภาคผนวกที่ ๒
ต่อท้าย “ข้อสังเกตและข้อยุติ”
ของตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส
ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๙๐
----------------------------
คำตอบบันทึกของตัวแทนรัฐบาลไทย
ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม เป็นข้อ ๆ
หมายเหตุ คารมส่วนมากในบันทึกฉบับที่สองและภาคผนวกของตัวแทนรัฐบาลไทยได้กล่าวแล้วในบันทึกของฝ่ายไทยฉบับแรกลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ฝ่ายฝรั่งเศสได้ตอบคารมเหล่านั้นโดยบันทึกของฝ่ายฝรั่งเศส ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม และภาคผนวกกับโดยบันทึกลงวันที่ ๗ มิถุนายน
ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องแก้คารมเหล่านั้นใหม่ และเอกสารฉบับนี้จึงได้อ้างถึงคำตอบที่ได้ให้ไปแล้ว
๑ - คำตอบบันทึกลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม
๑-๑) ได้ตอบแล้วในบันทึกลงวันที่ ๗ มิถุนายน หมวด ๔ วรรค ๑
๒-๒) ได้ตอบแล้วในบันทึกลงวันที่ ๗ มิถุนายน หมวก ๑ และ ๔
๓-๓) ได้ตอบแล้วในใบแนบบันทึกลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม หน้า ๑๖ วรรค ๒ และในบันทึกลงวันที่ ๗ มิถุนายน (ความในข้อ ๙-๕)
เกี่ยวกับวรรคสองและสามดู ๓-๘ ต่อไปนี้
๓-๔) การที่คำขอของฝ่ายไทยลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ไม่ได้กล่าวถึงความตกลงระงับกรณี ค.ศ. ๑๙๔๖ หรือสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๓๗ นั้น มิใช่เป็นการละเลยโดยธรรมดาเท่านั้น ความจริงคำขอลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม มิได้คำนึงถึงผลของตัวบททั้งสองฉบับที่มีต่อบทนิยามของวัตถุประสงค์ ของการที่เสนอให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งไม่ใช่การที่จะยกเอาสถานภาพของเส้นเขตแดนในปี ค.ศ. ๑๘๕๓, ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ มาพิจารณาเรียงตัวกันไป เพราะว่าการทำเช่นนั้นทำให้การเสนอคารมของฝ่ายไทยมีลักษณะเป็นไปในทางประวัติศาสตร์ คำขอของฝ่ายไทยควรจะพิจารณาสถานภาพของเขตแดนตามที่เป็นอยู่ในบัดนี้ โดยสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๓๗ เฉพาะในแง่เชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจเท่านั้น
ข้อสังเกตที่กล่าวไว้ในบันทึกลงวันที่ ๗ มิถุนายน หมวด ๑ วรรค ๔ เป็นอันคงยืนยัน
๓-๕) ได้ตอบแล้วในบันทึกลงวันที่ ๗ มิถุนายน หมวด ๑ และในใบแนบที่ ๑ บันทึกนั้น
๓-๖) ขอยืนยันข้อสังเกตในวรรค ๖ ของบันทึกลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ไม่มีการมใดที่จะถือจากความผิดพลาดอันเกิดขึ้นในสมัยนี้
เพราะไม่สามารถรู้สาระของข้อเท็จจริง ของสถานการณ์ทางการเมือง ของท้องถิ่นอันกำลังปั่นป่วน
๓–๗) การเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย ระหว่างระบอบภายในของประเทศไทย กับระบอบภายในของประเทศต่าง ๆ ในอินโดจีนฝรั่งเศสนั้น เป็นเรื่องนอกประเด็นของกรณีนี้ ดู ๓–๘ ต่อไปนี้ และบันทึกลงวันที่ ๗ มิถุนายน หมวด ๓-๑ และ ๒ สำหรับคำชี้แจงอื่นต่อไปดูบันทึกลงวันที่ ๗ มิถุนายน หมวด ๓-๘
๓-๘) ข้อความใด ๆ ว่าด้วยการจัดระเบียบทางการเมืองของประเทศไทย ของฝรั่งเศสหรือของรัฐซึ่งร่วมสัมพันธ์อยู่กับฝรั่งเศสนั้น รับฟังไม่ได้ ตามบทแห่งความตกลงระงับกรณี ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๑๙๔๖ ข้อ ๓
อีกประการหนึ่ง บันทึกลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ของไทย ดูเหมือนจะถือว่า “ภยันตรายถึงตาย” ซึ่งบันทึกของฝ่ายฝรั่งเศส ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม กล่าวถึงนั้น มีลักษณะเป็นเรื่องอาหารการกิน ความหมายที่แท้จริงนั้น คือ ภยันตรายซึ่งอาจจะคุกคามรัฐลาว ในฐานที่เป็นหน่วยการเมือง และเป็นบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าหากยอมตามคำเรียกร้องของฝ่ายไทยยื่นตามคำขอ ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ข้อสังเกตในวรรค ๑ และ ๘ ของบันทึกลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ได้รับการยืนยันจากบันทึกของฝ่ายไทย ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม และขอยืนยันตามนั้น
๓–๙) ขอยืนยันตามท่าทีในวรรค ๙ ของบันทึก ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม
๔-๑๐) ที่คำขอของฝ่ายไทย มิได้กล่าวชัดแจ้งถึงความเด่นของ “เชื้อชาติ” ไทย ก็มิได้คลายลักษณะเชื้อชาตินิยมของคำร้อง อันโน้มน้าวไปในทางจะรวมอาณาเขตเข้ากับประเทศตน โดยอาศัยเหตุที่ว่าอาณาเขตเหล่านั้นเป็นที่อยู่ของคนที่เกี่ยวดองกันทางเชื้อชาติ (racialement)
(ดูวรรค ๔ และ ๙ และ ๑๓ ของคำขอของฝ่ายไทยลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม)
๔-๑๐) หน้า ๙) บันทึกของฝ่ายไทยประณาม “ลัทธิแผ่อาณาเขต” ของรัฐบาลฝรั่งเศส เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสได้อ้างถึงการมีกลุ่มคนเขมรและลาวที่สำคัญอยู่นอกเขตแดนเขมรและลาว เพียงแต่อ้างถึงข้อสรุปในบันทึกทั้งสองของฝ่ายฝรั่งเศส ก็พอที่จะทำให้ข้อกล่าวหานั้นหมดไป
ตรงกันข้าม ถ้ายอมตามข้อเรียกร้องในคำขอของฝ่ายไทยแล้ว ย่อมหมายความว่า ประเทศไทยจะได้แผ่อาณาเขตราว ๒๗๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีพลเมืองราว ๑,๕๐๐,๐๐๐ คนอาศัยอยู่
วรรคท้าย ดู ๓-๘ ข้างต้น
๔-๑๐) ได้ตอบแล้วโดยบันทึกลงวันที่ ๗ มิถุนายน หมวด ๘ และ ๙ และได้แถลงด้วยวาจาในการประชุมของคณะกรรมการในวันที่ ๔ มิถุนายน
หน้า ๑๑) ขอยืนยันข้อสังเกตในวรรค ๑๔ ของบันทึกลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม
วรรคท้าย หน้า ๑๒) ดูข้อสังเกตข้างต้น ๔ - ๑๐ หน้า ๙
“การก้าวหน้า” ของอาณาเขตเขมรและลาวที่สืบเนื่องกันมาหลายคราว ได้ทำให้ประเทศทั้งสองได้คืนดินแดนที่ต้องสูญเสียไป
๔-๑๑) ได้ตอบแล้วโดยบันทึก ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม หมวด ๕ วรรค ๖ และโดยคำแถลงด้วยวาจา ในการประชุมเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม (ดูบันทึกการประชุมนั้น) ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของไทยและลาวนั้นมิใช่ต้องประกอบกัน ควรสังเกตว่าใบแนบบันทึกของฝ่ายไทย ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม (หน้า ๘ วรรคแรก และหน้า ๑๖ วรรค ๒) ก็ยอมรับโดยชัดแจ้งในข้อนี้
๑๒) ขอยืนยันตามหลักที่ได้แสดงไว้แล้วในข้อสรุปของบันทึกฝ่ายฝรั่งเศส ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม และ ๗ มิถุนายน สำหรับวรรคท้ายดู ๓-๘
๑๓) ได้ตอบแล้วกที่กล่าวไว้เกี่ยวกับ ๔-๑๐ หน้า ๑๒ ข้างต้น
๒ - คำตอบภาคผนวกของบันทึกลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม
ภาคผนวกนี้ ในสาระสำคัญเป็นการอภิปรายความคิดเห็นที่ว่า เขตแดนด้านตะวันออกของประเทศไทยควรเลื่อนไปทางทิศตะวันออก เพื่อให้สายการคมนาคมของประเทศไทยมีเขตทำงานกว้างขวางยิ่งขึ้น
ในส่วนเกี่ยวกับอาณาประโยชน์ซึ่งการคมนาคมเหล่านั้น อาจนำมาสู่ดินแดนลาวและเขมรอันอยู่ใกล้เคียงนั้นได้ตอบไปแล้ว กล่าวคือ ๑) ประเทศทั้งสองนี้มีทางคมนาคมเพียงพอที่จะให้ผลิตผลของตน เคลื่อนไปยังทางออกที่ให้ราคาดีที่สุดที่จะให้สินค้าที่ต้องการตามสภาพการณ์เศรษฐกิจปกติ (ดูบันทึกลงวันที่ ๗ มิถุนายน หมวด ๕ วรรค ๘ และคำแถลงด้วยวาจาในการประชุมคณะกรรมการ เมื่อ วันที่ ๔ มิถุนายน) และ ๒) ประเทศฝรั่งเศสและประเทศที่ร่วมอยู่กับฝรั่งเศสหวังว่า ประเทศไทยคงจะพร้อมที่จะให้ฝ่ายฝรั่งเศสได้รับผลประโยชน์จากความสะดวกในการคมนาคมที่มีอยู่แล้วเวลานี้ หรือที่จะเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นผลดีต่อการค้าของประเทศเหล่านั้น โดยไม่จำต้องเลื่อนเส้นเขตแดน (บันทึกลงวันที่ ๗ มิถุนายน หมวด ๕ วรรค ๙)
ทัศนะทางเชื้อชาติ ปี ค.ศ. ๑๘๙๓, ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗
ได้ตอบแล้วในใบแนบบันทึกลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม (วรรค ๔ และ ๑๘) และในบันทึกลงวันที่ ๗ มิถุนายน (หมวด ๕ วรรค ๓ และ ๔)
ทัศนะทางภูมิศาสตร์
ไม่มีคารมทางภูมิศาสตร์ชัดแจ้งในเอกสารนี้โดยเฉพาะคารมซึ่งแถลงมานั้น มีลักษณะเป็นทางเศรษฐกิจและซ้ำกับคารม ซึ่งจะได้พิจารณาในวรรคต่อไป ควรสรุปได้ว่า ไม่มีคารมทางภูมิศาสตร์โดยเฉพาะอย่างใด ที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างสนับสนุนการเปลี่ยนเส้นเขตแดนปัจจุบันนี้ได้ ขอยืนยันข้อสังเกตในใบแนบบันทึก ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม วรรค ๕, ๑๐, ๑๕, ๑๙ และข้อสังเกตในคำแถลง ด้วยวาจา ณ ที่ประชุมคณะกรรมการ เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ทุกข้อ ทุกประการ
ทัศนะทางเศรษฐกิจ
นอกจากข้อสังเกตเบื้องต้นอันสำคัญในตอนเริ่มภาคปัจจุบันนี้ พึงต้องพิจารณาหัวข้อต่อไปนี้ คือ
หน้า ๒ ข้อความที่คณะกรรมการได้รับทราบเกี่ยวกับงานของคณะข้าหลวงใหญ่ไทย-ฝรั่งเศส ประจำแม่น้ำโขง ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า องค์การนั้นมีความสามารถปฏิบัติงานอย่างดีเลิศได้ ถ้าหากสมาชิกทุกท่านต่างมีเจตนารมณ์แท้จริงที่จะร่วมมือกัน งานซึ่งคณะข้าหลวงนั้นได้ทำเสร็จไปแล้วนั้น มีเป็นอันมาก และรัฐบาลฝรั่งเศสได้อนุมัติข้อตกลง ซึ่งคณะกรรมการได้จัดทำขึ้นด้วยความตกลงระหว่างคู่กรณีแล้ว การที่จะใช้ข้อบังคับเหล่านั้นบางข้อต้องล่าช้ามาก แต่ความล่าช้านี้จะโทษรัฐบาลฝรั่งเศสหาได้ไม่
หน้า ๔ ไม่มีเหตุผลทางภูมิศาสตร์ใด ๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างทางรถไฟตามลำแม่น้ำโขง ถนนของสหพันธ์สาย ๑๓ ซึ่งยังคงอยู่ในระดับราบเป็นส่วนมาก เพราะตัดไปตามทางน้ำ ซึ่งเดินเรือได้นั้น อาจทำทางรถไฟขนานไปได้
ข้อความที่ (ไทย) ยกมากล่าวนั้น เอามาจากหนังสือนำเที่ยวซึ่งพิมพ์เมื่อ ๒๒ มาแล้ว
หน้า ๖ ได้ตอบแล้วในใบแนบบันทึกลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม วรรค ๗ และในตอนของใบแนบ ๑ ของบันทึก ลงวันที่ ๗ มิถุนายน วรรค ๓ และ ๔
หน้า ๑๙ ตรงข้ามกับคำกล่าวอ้างในบันทึกของฝ่ายไทย ช่องสนอคตรู
หน้า ๒ (Snoc-Trou) ไม่กีดขวางการไปสู่ทะเลสาบ (Great Lakes) เป็นเวลา ๗ เดือนต่อปี ที่จริง เพียงแต่ว่าในฤดน้ำลดต่ำที่สุด ระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนเท่านั้น ที่เรือบรรทุกกินน้ำขึ้นเท่านั้นสามารถผ่านช่องไปได้ แต่การจราจรเพียงเท่าที่ทำได้นี้ ก็เพียงพอที่จะให้ปลาแห้งจากทะเลสาบมีทางออกไปได้ตลอดทุกเวลา
จากข้อสังเกตที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เห็นได้ว่า ไม่มีคารมซึ่งตรงกับประเด็น หรือมีเหตุผลที่ใหม่ในบันทึก ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม หรือในใบแนบบันทึกนั้นเลย ฉะนั้น ตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้แต่ยืน ยันข้อยุติของตน ดังที่มีในบันทึก ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม และ ๗ มิถุนายน
----------------------------