บทที่ ๗ ไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖)

เรื่องประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาตินี้เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเหตุการณ์ทางการทูตไทยที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฉะนั้นนักศึกษาการทูตของไทยจึงควรทราบไว้ตามสมควร

เรื่องไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาตินี้ นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล อธิบดีกรมสหประชาชาติ ได้เขียนไว้ในหนังสือสราญรมย์ฉบับที่ระลึก ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕ ดังนี้

“ภายหลังสงครามโลกคราวแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประชาชาติฝ่ายสัมพันธมิตร ได้เป็นสมาชิกเริ่มแรกของสันนิบาตชาติ ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยสนธิสัญญาสันติภาพ ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับประเทศฝ่ายเยอรมัน และนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยได้ปฏิบัติภาระหน้าที่ของสมาชิกอันซื่อสัตย์ภักดีแห่งสันนิบาตชาติโดยตลอด และโดยไม่คำนึงถึงความหวังต่อประโยชน์ใด ๆ ตอบแทนจากสันนิบาตชาติ

ระหว่างสงครามโลกคราวหลังซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้จัดตั้งองค์การระหว่างประเทศ ใช้นามว่า “สหประชาชาติ” ขึ้นแทนสันนิบาตชาติเดิม โดยเหตุการณ์และความจำเป็นบังคับ ประเทศไทยมิได้มีส่วนร่วมกับฝ่ายสหประชาชาติ ทั้งๆที่ฝ่ายเราได้พยายามมาแต่ต้น จึงต้องมีการสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การโลกใหม่

กฎบัตรสหประชาชาติข้อ ๔ บัญญัติว่า “สมาชิกภาพแห่งสหประชาชาติ เปิดแก่บรรดารัฐที่รักสันติภาพอื่น ๆ ซึ่งยอมรับความผูกพันที่ปรากฏในกฎบัตร และในคำวินิจฉัยขององค์การรัฐนั้น สามารถและพร้อมที่จะปฏิบัติตามความผูกพันดังกล่าว” ตามความในกฎบัตรข้อนี้ ไม่มีทางที่จะสงสัยในความเหมาะสมของประเทศไทยที่จะเข้าเป็นสมาชิก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่รักสันติภาพมาแต่โบราณ ประเทศไทยพร้อมที่จะรับและสามารถปฏิบัติตามความผูกพันของกฎบัตร ท่าทีและนโยบายของประเทศไทยสมัยสันนิบาตชาติ เป็นเครื่องยืนยันคุณสมบัติของประเทศไทยเป็นอย่างดี

แต่ทว่าวิธีการรับสมาชิกตามกฎบัตรข้อ ๔ วรรค ๒ กำหนดให้สมัชชาเป็นผู้รับ โดยคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง ความสำคัญในเรื่องนี้จึงหนักไปในทางที่ว่าประเทศที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ จะต้องเป็นที่พึงพอใจของคณะมนตรีความมั่นคงเสียก่อน กล่าวอีกนัยหนึ่ง จะต้องได้คะแนนเสียงสนับสนุนอย่างน้อยจาก ๒ ประเทศ ในบรรดา ๑๑ ประเทศที่เป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคง และโดยที่การรับสมาชิกใหม่ มิใช่เรื่องวิธีพิจารณาตามกฎบัตรข้อ ๒๒ วรรค ๓ คะแนนเสียงสนับสนุนจึงต้องรวมเสียงของมหาอำนาจทั้ง ๕ อันได้แก่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพสาธารณรัฐโซเวียตโซชะลิสต์ จีนและฝรั่งเศส ด้วย

ภายหลังสงครามใหม่ๆ ได้มีเสียงโฆษณาเกริ่นกันอยู่ว่า ประเทศฝรั่งเศสอาจจะขัดขวางต่อการที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เพราะฝรั่งเศสไม่พอใจในการที่ประเทศไทยได้ดินแดนคืนจากอินโดจีน โดยอาศัยอนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียว ลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ฉะนั้น ในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับเชิญครั้งแรกให้ไปร่วมประชุมองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๙ รัฐบาลแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้มอบให้ผู้แทนคนหนึ่งในคณะผู้แทนไทยในการประชุมองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ไปสอบดูลู่ทางที่ประเทศไทยจะสมัครเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เพื่อรัฐบาลจะได้วินิจฉัยดำเนินการต่อไป

เมื่อเสร็จการประชุมองค์การอาหารและเกษตรฯ ที่กรุงวอชิงตันแล้ว ผู้แทนไทยที่ได้รับมอบหมาย จึงเดินทางไปยังกรุงนิวยอร์ค และได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ เริ่มแต่ตัวเลขาธิการสหประชาชาติ ตลอดจนบรรดาผู้แทนประเทศที่เป็นสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคง ส่วนมากยินดีสนับสนุน แต่บางคนเกรงว่าฝรั่งเศสอาจจะขัดข้องและใช้สิทธิยับยั้งในชั้นการพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงก็ได้ ประกอบกับเวลานั้นมีเหตุการณ์ทางชายแดนกับอินโดจีนฝรั่งเศสอยู่ด้วย อย่างไรก็ดี ไม่มีผู้ใดทราบแน่นอนว่า หากประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติเข้าจริง ฝ่ายฝรั่งเศสจะใช้สิทธิยับยั้งหรือหาไม่ ผู้แทนหลายประเทศหวังว่า ฝรั่งเศสคงจะไม่ดำเนินการเช่นนั้น

เนื่องจากในตอนนั้น ประเทศที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติจะต้องยื่นใบสมัคร ให้ถึงคณะมนตรีความมั่นคง ภายในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๘๙ เพื่อให้ทันการพิจารณาของสมัชชาสมัยสามัญที่ ๑ ภาค ๒ ซึ่งในชั้นแรกกำหนดจะเปิดประชุมในวันที่ ๓ กันยายน ฉะนั้นในปลายเดือนกรกฎาคม รัฐบาลแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สั่งอุปทูตและผู้แทนไทย ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ยื่นหนังสือสมัครของประเทศไทย เป็นทางการ ต่อสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งผู้แทนไทยได้ดำเนินการเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม

ในเวลาใกล้กัน มีประเทศอื่นอีก ๘ ประเทศ ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติเช่นเดียวกับไทย คือ อัลเบเนีย มองโกเลีย อัฟฆานิสถาน ทรานสจอร์แดน ไอร์แลนด์ โปรตุเกส ไอซแลนด์ และสวีเดน คณะมนตรีความมั่นคงได้ส่งคำขอสมัครเหล่านี้ไปให้คณะกรรมาธิการรับสมาชิกใหม่พิจารณาชั้นหนึ่งก่อน ซึ่งคณะกรรมาธิการได้ประชุมกันถึง ๑๔ ครั้ง ตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ตามหลัก ถ้าคณะกรรมาธิการมีความสงสัยหรือข้อข้องใจใด ๆ หรือใคร่จะได้ทราบข้อความจากประเทศที่สมัคร ก็อาจจะเรียกร้องเอาจากผู้แทนของประเทศนั้นได้ โดยเฉพาะในกรณีไทยไม่มีการขอร้องข้อความแต่ประการใดจากผู้แทนไทยเลย ซึ่งแสดงว่า คณะกรรมาธิการรับสมาชิกใหม่ของคณะมนตรีความมั่นคงไม่สงสัยในเจตนาและท่าทีของประเทศไทย มีแต่ผู้แทนประเทศฝรั่งเศสได้แถลงในการประชุมของคณะกรรมาธิการเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ว่า ประเทศฝรั่งเศสยังถือว่าอยู่ในสถานะสงครามกับประเทศไทย จนกว่าประเทศไทยจะคืนดินแดนที่ได้รับตามอนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียว ให้แก่อินโดจีน ประเทศฝรั่งเศสไม่สามารถจะสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกของประเทศไทยได้ การแถลงของผู้แทนฝรั่งเศสนี้ ทำให้ผู้แทนออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์เกิดลังเลใจ ส่วนผู้แทนสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตโซชะลิสต์กล่าวว่า ไม่สามารถสนับสนุนประเทศไทยเหมือนกัน เนื่องจากประเทศไทยยังมิได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับโซเวียตรุสเซีย เมื่อมีผู้แสดงความข้องใจเช่นนี้ในชั้นกรรมาธิการ และเมื่อคณะกรรมาธิการก็มิได้ให้โอกาสแก่ผู้แทนไทยที่จะชี้แจงเป็นทางการ ผู้แทนไทยจึงต้องขอพบบรรดาผู้แทนประเทศต่าง ๆ อีกวาระหนึ่ง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลของฝ่ายไทย

ในส่วนที่เกี่ยวกับโซเวียตรุสเซีย ผู้แทนไทยได้อธิบายข้อเท็จจริงว่า ความจริงได้มีการแลกเปลี่ยนหนังสือเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันเป็นเวลานานมาแล้ว หากการส่งทูตไปประจำต้องระงับไป เนื่องจากเหตุสงครามในยุโรป แต่ฝ่ายโซเวียตรุสเซียยังคงติดใจที่จะให้รัฐบาลแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตำหนินโยบายของรัฐบาลก่อน ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโซเวียตรุสเซีย

สำหรับข้อกล่าวหาของฝรั่งเศส ผู้แทนไทยได้ปฏิเสธเด็ดขาดว่า ประเทศไทยไม่มีสถานะสงครามกับฝรั่งเศส เพราะนอกจากจะยังไม่เคยประกาศสงครามต่อกันแล้ว ตลอดเวลาสงครามโลกและแม้ภายหลัง ประเทศไทยได้ช่วยเหลือฝรั่งเศสตลอดมา สำหรับปัญหาเรื่องดินแดนกับอินโดจีน ก็ได้มีการพยายามหาทางระงับโดยสันติวิธี ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตกลงส่งคณะผู้แทนพิเศษคณะหนึ่ง มีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นหัวหน้า ไปดำเนินการเจรจากับฝ่ายฝรั่งเศสที่กรุงวอชิงตัน ครั้นเมื่อฝรั่งเศสเสนอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณา รัฐบาลแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ตกลงรับทันที ส่วนความยุ่งยากปั่นป่วนในอินโดจีนก็เนื่องจากพฤติการณ์ภายในอินโดจีนเอง ประเทศไทยหาได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแต่ประการใดไม่ ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยังได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชายแดนระมัดระวังอย่างกวดขัน มิให้เกิดกระทบกระเทือนกับฝ่ายฝรั่งเศส

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๘๙ ฝ่ายฝรั่งเศสอ้างว่ามีหลักฐานแสดงว่า รัฐบาลไทยมีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์ปั่นป่วนที่เสียมราฐ จึงได้ถอนข้อเสนอที่จะไปศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเสีย และสำทับว่า ถ้าไทยไม่ตกลงในเรื่องดินแดนก่อนแล้ว ฝรั่งเศสจะคัดค้านการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติของไทย

คณะมนตรีความมั่นคงได้ตกลงที่จะพิจารณาคำสมัครเข้าเป็นสมาชิก ในวันที่ ๒๘ สิงหาคม เหตุการณ์ตอนนั้นจึงนับว่าออกจะรัดรึงตรึงตัวสำหรับไทย จึงได้มีการประชุมคณะผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้เจรจาปัญหาข้อพิพาทกับฝรั่งเศสเต็มคณะเมื่อวันที่ ๑๗ มีการอภิปรายกันละเอียดถี่ถ้วน ที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่ควรที่จะให้ฝ่ายฝรั่งเศสถือเอาเรื่องการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เข้าพัวพันกับปัญหาเรื่องดินแดนทางอินโดจีน และเมื่อไม่มีทางดำเนินวิธีอื่น ก็เห็นสมควรที่จะขอให้คณะมนตรีความมั่นคงเลื่อนการพิจารณาคำสมัครของประเทศไทยไปพลางก่อน ดีกว่าที่จะเข้าเสี่ยงการใช้สิทธิยับยั้งของฝรั่งเศสในฐานะของมหาอำนาจ

ฝ่ายรัฐบาลอเมริกันซึ่งสนับสนุนประเทศไทยมาโดยตลอดในเรื่องนี้ เกิดดำริที่จะเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงแนะนำให้สมัชชาสหประชาชาติรับบรรดาประเทศที่สมัครทั้ง ๙ ประเทศรวมกันไป โดยคิดว่าจะเป็นทางจูงใจให้ฝ่ายโซเวียตรุสเซียยินยอมเห็นด้วย เพราะในบรรดารัฐที่สมัครคราวนั้น ส่วนหนึ่งได้รับความสนับสนุนจากฝ่ายตะวันตก อีกส่วนหนึ่งได้รับความสนับสนุนจากฝ่ายโซเวียตรุสเซีย ความดำริของรัฐบาลอเมริกันจึงน่าจะเป็นทางผ่อนผันแลกเปลี่ยนเข้าหากันได้ แต่ก็มีความรู้สึกวิตกอยู่เหมือนกันว่า ถ้าประเทศไทยได้รับความขัดข้องจากประเทศฝรั่งเศส โครงการของรัฐบาลอเมริกันที่จะให้รับทั้ง ๙ ประเทศ อาจประสบอุปสรรค

พฤติการณ์ข้อนี้ช่วยสนับสนุนให้ฝ่ายไทยปลงใจในการที่จะขอให้คณะมนตรีความมั่นคงเลื่อนการพิจารณาคำสมัครของประเทศไทย เพราะเมื่อเลี่ยงการยับยั้งของฝรั่งเศสในกรณีไทยเสียได้แล้ว ก็หวังว่าอีก ๘ ประเทศจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติตามโครงการของรัฐบาลอเมริกัน

ผู้แทนไทยในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ออกเดินทางจากกรุงวอชิงตัน คืนวันที่ ๒๗ โดยทางเครื่องบิน ถึงกรุงนิวยอร์ควันที่ ๒๘ เวลา ๐๑.๐๐ น. ตอนเช้า เวลา ๙.๓๐ น. ได้เข้าพบกับเลขาธิการสหประชาชาติ เลขาธิการยังไม่ทราบว่าที่แน่นอนของฝรั่งเศสว่าจะใช้สิทธิยับยั้งหรือไม่ ผู้แทนไทยได้แจ้งต่อเลขาธิการว่า ความประสงค์ของประเทศไทยที่จะเข้าเป็นสมาชิก เนื่องด้วยเจตนาดีและบริสุทธิ์ เพื่อความมุ่งหวังในการร่วมมือระหว่างนานาชาติ ประเทศไทยไม่มีความประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากภายในองค์การสหประชาชาติ และถ้าหากความเสียสละของประเทศไทย จะสามารถปัดเป่าการใช้สิทธิยับยั้งในการรับสมาชิกใหม่ในคณะมนตรีความมั่นคงได้ ประเทศไทยก็พร้อมที่จะขอให้คณะมนตรีความมั่นคงเลื่อนการพิจารณาคำสมัครของประเทศไทย

เมื่อข่าวนี้มาถึงกรุงเทพฯ ได้มีกระทู้ถามรัฐบาลในรัฐสภาอย่างเอิกเกริก เป็นการแสดงว่าปัญหาเรื่องไทยจะเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติอยู่ในความสนใจของส่วนรวม มิใช่ปัญหาเฉพาะพรรค เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวชมเชยการปฏิบัติของไทยว่าเป็นการดำเนินที่ฉลาด

อย่างไรก็ดี คณะมนตรีความมั่นคงได้ใช้เวลา ๒ วันในอันที่จะพิจารณารับสมาชิกใหม่ ๘ ประเทศ ปรากฏผลว่า อัฟฆานิสถาน ไอซแลนด์ และสวีเดน ได้รับความเห็นชอบของคณะมนตรีความมั่นคง โดยคะแนนเสียง ๑๐ คะแนน ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ไอร์แลนด์ได้คะแนนเสียง ๙ คะแนน มีโซเวียตรุสเซียคัดค้าน ทรานสจอร์แดนกับโปรตุเกสได้คะแนนเสียงสนับสนุน ๘ คะแนน โปแลนด์และโซเวียตรุสเซียคัดค้าน อัลเบเนียและมองโกเลียได้คะแนนเสียงสนับสนุน ๕ คะแนน และ ๖ คะแนนตามลำดับ ผู้แทนออสเตรเลียไม่ออกเสียงโดยตลอด เป็นอันว่า ๓ ประเทศไม่ผ่านคณะมนตรีความมั่นคง เพราะถูกโซเวียตรุสเซียยับยั้ง ๒ ประเทศไม่ผ่านคณะมนตรีความมั่นคง เพราะไม่ได้คะแนนเสียงถึง ๗ คะแนนตามกฎบัตร ความพยายามของรัฐบาลอเมริกันที่จะให้มีการรับทั้ง ๘ ประเทศเข้าเป็นสมาชิก เป็นอันไม่สำเร็จผล

ครั้นเมื่อรายงานการรับสมาชิกใหม่เสนอถึงสมัชชาสหประชาชาติ สมัชชาได้มีมติรับ อัฟฆานิสถาน ไอซแลนด์ และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิก และในขณะเดียวกัน ได้ขอร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาคำสมัครของอีก ๖ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงโดยปริยายว่า สมัชชาไม่สู้จะเห็นด้วยกับมติของคณะมนตรีความมั่นคงนัก

วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ การเจรจาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่กรุงวอชิงตันสำเร็จผล โดยผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในความตกลงระงับในกรณีอินโดจีน ฝ่ายฝรั่งเศสจึงเปลี่ยนท่าทีจากการขัดข้องต่อการที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ มาเป็นการสนับสนุน ปัญหาจึงยังคงเหลืออยู่แต่เพียงท่าทีของฝ่ายโซเวียตรุสเซีย ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ประเทศไทยได้ขอให้คณะมนตรี ความมั่นคงกลับพิจารณาคำสมัครของไทยใหม่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เสด็จถึงกรุงนิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม เพื่อทำความเข้าใจกับผู้แทนโซเวียตรุสเซีย การติดต่อได้ดำเนินมาหลายวันซึ่งภายหลังผู้แทนโซเวียตรุสเซียได้รับว่าถอนการขัดข้องในชั้นคณะมนตรีความมั่นคงในที่สุด สมัชชาสหประชาชาติได้ประกาศรับประเทศไทยในฐานะสมาชิกใหม่ของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๙ อันเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสมัชชาสมัยนั้น ทั้งนี้ โดยถือเป็นกรณีพิเศษ ที่ประชุมสมัชชาเต็มคณะพิจารณารายงานของคณะมนตรีความมั่นคง โดยไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการการเมืองเสียก่อนตามระเบียบปฏิบัติ”

ตามที่นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล เขียนไว้นี้เป็นข้อเท็จจริงโดยย่อ ซึ่งข้าพเจ้าขอเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ๆไทยเราอยู่ในฐานะลำบาก คือ เราประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ไม่รับการประกาศสงครามของเรา แต่อังกฤษรับนโยบายของไทย เราในขณะนั้นเห็นว่า การที่จะให้โลกรับรองฐานะเราในฐานเป็นประเทศเอกราช เพราะเราเป็นสมาชิกในครอบครัวนานาชาติมานานแล้ว และเราจะได้รับประโยชน์จากองค์การสหประชาชาติอย่างมาก ก็คือการได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แต่การที่จะเข้าได้นั้น ไม่เป็นของง่าย เพราะกฎบัตรสหประชาชาติวางเงื่อนไขไว้หลายประการ เช่น ต้องแสดงว่าเป็นรัฐที่รักสันติภาพ ต้องประกาศยอมรับข้อผูกพันที่มีอยู่ในกฎบัตร ที่สำคัญที่สุดก็คือคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องแนะนำรับรองต่อสมัชชาว่า สมควรรับเข้าได้ แต่ในการที่คณะมนตรีความมั่นคงจะแนะนำให้รับรองนั้น ขึ้นอยู่กับมหาประเทศ ๕ ชาติด้วยกันคือ สาธารณรัฐจีน ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ถ้าชาติใดชาติหนึ่งออกคะแนนเสียงไม่เห็นชอบด้วยก็ไม่สามารถเป็นมติแนะนำได้ ฉะนั้นเราจำต้องเป็นนโยบายให้ ๕ ชาตินี้ มีมติแนะนำเป็นเอกฉันท์ จึงจะเข้าเป็นสมาชิกได้ สหรัฐอเมริกานั้นไม่มีปัญหา สนับสนุนเราตั้งแต่แรก อังกฤษขอทำสัญญาสมบูรณ์แบบก่อนจึงจะสนับสนุน ฝรั่งเศสก็เช่นเดียวกันและเกี่ยงเรื่องคืนดินแดน จีนขอทำสัญญารับรองสิทธิคนจีนในประเทศไทย ให้มีฐานะอย่างชนชาติอื่นที่มีสนธิสัญญา โซเวียตขอให้เรามีความสัมพันธ์ทางการทูต มิฉะนั้นจะไม่ออกเสียงให้ เรื่องเหล่านี้ข้าพเจ้าจะได้กล่าวต่อไป ในตอนนี้จะกล่าวเฉพาะการขอเข้าเป็นสมาชิก คือ ตอนยื่นใบสมัครและได้เข้าเป็นสมาชิก

บังเอิญในขณะนั้น คือ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ข้าพเจ้ายังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอยู่ ได้ปรึกษากับอุปทูตอเมริกัน ในขณะนั้น ได้รับคำแนะนำว่า ก่อนอื่น รัฐบาลไทยควรเริ่มแสดงการสนใจในการประชุมระหว่างประเทศก่อน และเวลานั้นก็กำลังมีการประชุมองค์การอาหารและเกษตรที่กรุงวอชิงตัน ถ้าไทยถือโอกาสส่งผู้แทนไปเข้าประชุมด้วยจะเป็นการดีมาก รัฐบาลได้ตั้งให้นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล เป็นผู้แทนไปเข้าประชุม และในโอกาสนั้น รัฐบาลได้อนุมัติให้ข้าพเจ้าเขียนจดหมายถึงนายลี เลขาธิการองค์การสหประชาชาติขณะนั้น เพื่อทาบทามในเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก โดยให้นายกนต์ธีร์นำไปยื่น สาระสำคัญในจดหมายที่เขียนไปก็คือ เนื่องจากนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล จะมาเข้าประชุมองค์การอาหารและเกษตรที่วอชิงตัน ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสตั้งให้นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล เป็นผู้แทนส่วนตัวของข้าพเจ้า มาพบท่านเลขาธิการ ในประการแรก ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีกับท่านเลขาธิการในการที่ได้รับตำแหน่งนี้ พวกเราทางเมืองไทยซาบซึ้ง เพราะแสดงให้เห็นและเป็นการยอมรับถึงความสำคัญของประเทศเล็ก ๆ ซึ่งจะมีส่วนในองค์การนี้ ในประการที่สอง ประเทศไทยเรามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเข้าร่วมในองค์การสหประชาชาติ ความจริง ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกที่ซื่อสัตย์และเชื่อมั่นในสันนิบาตชาติและเป็นสมาชิกเริ่มต้นขององค์การนั้น จริงอยู่ในที่สุดสันนิบาตชาติก็ประสบความล้มเหลว แต่ทั้งนี้มิได้ทำให้ความมั่นใจของเราว่าองค์การใหม่นี้จำเป็นยิ่งเพื่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก ลดถอยลง

ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ในขณะที่กองทหารญี่ปุ่นเข้ายึดครองเมืองไทยอยู่ และภายหลังที่ได้ติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างลับๆ ทันทีนั้นผู้สำเร็จราชการไทยได้รีบส่งคณะผู้แทน ออกมานอกประเทศ เพื่อขอความสนับสนุนจากรัฐบาลสัมพันธมิตร โดยผ่านทางรัฐบาลอเมริกัน เพื่อที่จะจัดตั้งรัฐบาลนอกประเทศขึ้นในกรุงวอชิงตัน ภายใต้อัครราชทูตไทยณกรุงวอชิงตันในขณะนั้น โดยมีความประสงค์ชั้นสุดท้าย ก็คือเพื่อได้ร่วมในองค์การสหประชาชาติ ซึ่งขณะนั้นได้กำลังตั้งขึ้น แต่เนื่องจากขัดข้องด้วยวิธีการมากหลายจึงไม่สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับความมั่นคงภายในประเทศด้วย เพราะขณะนั้นญี่ปุ่นยังยึดครองอยู่

บัดนี้องค์การสหประชาชาติได้เปิดโอกาสให้รัฐต่างๆ สมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ข้าพเจ้าจึงมอบให้นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ผู้ถือจดหมายนี้ มาเพื่อสอบถามดู ในเรื่องการที่ไทยจะได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ข้าพเจ้าจะขอบคุณท่านเลขาธิการเป็นอันมาก ถ้าท่านจะช่วยแนะนำนายกนต์ธีร์ และข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ด้วยความช่วยเหลืออันมีค่าของท่านเลขาธิการ ประเทศไทยคงจะได้เป็นสมาชิก ข้าพเจ้าขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ประเทศไทยและประชาชนคนไทยพร้อมที่จะเข้าร่วมรับผิดชอบเต็มที่ ในการที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพัน ซึ่งกำหนดไว้ในกฎบัตร

ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ได้โทรเลขจากวอชิงตันว่า ได้ติดต่อกับอุปทูตของเรา เพื่อขอให้นำไปพบกับข้าราชการผู้ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน เพื่อให้ช่วยในเรื่องนี้ และนายกนต์ธีร์จะมานิวยอร์ค เพื่อติดต่อกับเลขาธิการสหประชาชาติตามคำสั่งของข้าพเจ้า และจะรายงานผลการติดต่อให้ทราบ ในขณะนี้ให้เตรียมทำใบสมัคร และส่งทางโทรเลขไปยังอุปทูตที่วอชิงตัน เพื่อส่งต่อไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ ต่อมาทางทูตอังกฤษและอเมริกันได้มากระซิบว่า อย่าเพิ่งยื่นใบสมัคร ควรตกลงกับฝรั่งเศสเรื่องดินแดนเสียก่อน นายกนต์ธีร์ ก็รายงานมาว่า รัฐบาลอเมริกันไม่สนับสนุนเรื่องการได้ดินแดนจากฝรั่งเศสในครั้งนั้น เพราะอเมริกายึดนโยบายสถานภาพเดิม (Status Quo)

ในที่สุด เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) รัฐบาลไทยจึงได้ยื่นใบสมัครเป็นทางการ โดยที่ใบสมัครนี้เป็นเอกสารสำคัญ จึงได้คัดคำแปลไว้ดังต่อไปนี้

กระทรวงการต่างประเทศ

กรุงเทพ ฯ

๒๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๖

“ฯพณฯ ทริกเวลี เลขาธิการแห่งองค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา

ฯพณฯ

ในสาสน์ฉบับก่อนของข้าพเจ้า ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ข้าพเจ้าได้ให้คำมั่นต่อ ฯพณฯ ในนามของประชาชาติและรัฐบาลไทย ถึงความเลื่อมใสอย่างแน่นอนของเรา ในองค์การระหว่างประเทศ ในฐานที่เป็นทางประกันสันติภาพและความมั่นคงของโลกกับทั้งความพร้อมเพรียงของประเทศข้าพเจ้าในอันจะสนองรับความรับผิดชอบและพันธกรณีต่างๆ ที่ได้บัญญัติไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติอย่างเต็มที่ ในเวลาเดียวกัน ข้าพเจ้าได้สอบถามถึงการที่อาจจะให้ประเทศไทยเข้าร่วมอยู่ในหมู่สมาชิกแห่งองค์การสหประชาชาตินี้ด้วย

บัดนี้โดยที่รัฐบาลและประชาชาติไทยปฏิบัติการอยู่ทุกทางแล้ว เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ในหลักการอันสูงส่ง ซึ่งเป็นมูลฐานที่องค์การระหว่างประเทศได้ก่อตั้งขึ้น และไม่ว่าในพฤติการณ์ใด ๆ จะไม่ละเลยที่จะแสดงให้เห็นถึงความเต็มใจ ที่จะร่วมมือกับประชาชาติประชาธิปไตยทั้งหลาย ในอันจะธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและส่งเสริมสวัสดิภาพของประชากรทั่วโลก ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีงามแล้วที่จะแถลงถึงความปรารถนาอย่างจริงใจของประเทศไทย ที่จะเข้าร่วมกันรักษาอุดมคติอันสูงที่ได้จรรโลงใจผู้ก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศขึ้นนั้นต่อไป

ในการที่เสนอคำร้องขอมาเป็นทางการ เพื่อประเทศไทยได้เข้าองค์การสหประชาชาติครั้งนี้ ข้าพเจ้าถือเป็นเกียรติอันสูงที่จะปฏิญาณว่า รัฐบาลของข้าพเจ้าและประชาชนร่วมชาติของข้าพเจ้าพร้อมใจ และตั้งปณิธานแน่วแน่ที่จะยึดถือและปฏิบัติตามพันธกรณีซึ่งมีอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ โดยครบถ้วนทุกประการ ข้าพเจ้าขอแสดงความหวังด้วยความบริสุทธิ์ใจในคำมั่นสัญญาและเจตนาอันมั่นคงหนักแน่นของเรา ที่จะมีส่วนช่วยในอุดมการณ์อันร่วมกัน ซึ่งองค์การสหประชาชาติกำลังอุทิศความพยายามทั้งมวลอยู่ว่า จะได้รับการพิจารณาด้วยความเห็นอกเห็นใจ

เป็นที่หวังว่า ด้วยความกรุณาช่วยเหลือจาก ฯพณฯ และด้วยความเห็นอกเห็นใจของบรรดาสมาชิกสหประชาชาติ คำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกจะได้รับการปฏิบัติด้วยเพื่อสัมฤทธิ์ผลตามความปรารถนาอันแรงกล้าของรัฐบาลและประชาชาวไทยด้วยโดยทั่วกัน

ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายัง ฯพณฯ

ดิเรก ชัยนาม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

แห่งประเทศไทย

ต่อมาในวันที่ ๘ สิงหาคม ศกเดียวกัน ได้รับโทรเลขจากนายกนต์ธีร์ ว่า ได้ยื่นใบสมัครแล้ว และโดยที่จำเป็นจะต้องตั้งผู้แทน เพื่อชี้แจงในคณะมนตรีความมั่นคง คณะรัฐมนตรีจึงลงมติให้นายกนต์ธีร์เป็นผู้แทนไปชี้แจง และในการนี้ หากมีปัญหาอะไร ให้นายกนต์ธีร์ปรึกษาหารือขอความเห็นชอบโดยใกล้ชิดกับคณะผู้แทนซึ่งไปเจรจาเรื่องดินแดนกับฝรั่งเศสที่กรุงวอชิงตันได้ คณะผู้แทนนี้ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นหัวหน้า นายควง อภัยวงศ์ เป็นรองหัวหน้า และท่านผู้อื่นอีกหลายท่าน ซึ่งมีทั้งผู้แทนทางการเมืองจากพรรคต่าง ๆ และผู้แทนทางราชการประจำ เช่น นายถนัด คอมันตร์ เป็นต้น ดังกล่าวแล้วในตอนต้น

ต่อมาในวันที่ ๑๔ สิงหาคม วิทยุกระจายเสียงนครซานฟรานซิสโกประกาศว่า เกี่ยวกับการที่ไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติครั้งนี้ ฝรั่งเศสจะคัดค้าน เพราะฝรั่งเศสถือว่ายังอยู่ในสถานะสงครามกับไทย รัสเซียก็จะค้านโดยให้เหตุผลว่า ไทยมิได้มีสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซีย เมื่อได้ข่าวเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงได้โทรเลขสั่งให้นายกนต์ธีร์ ศุภมงคลไปพบกับนายลี เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง นายกนต์ธีร์ ตอบมาว่า ได้สนทนากับนายลีแล้ว โดยได้แจ้งกับนายลีว่า เกี่ยวกับฐานะทางการทูตของเรากับรัสเซียนั้น ได้ตกลงกันระหว่างสงครามแล้วว่า จะแลกเปลี่ยนทูตกัน ส่วนที่ฝรั่งเศสหาว่ายังมีสถานะสงครามอยู่นั้น ความจริงไม่มี เพราะมีสัญญาสันติภาพกันแล้วเมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๑ และในขณะนี้ ฝรั่งเศสกับไทยกำลังเจรจากันอยู่แล้วในกรุงวอชิงตัน ในเรื่องปรับความสัมพันธ์ทั่วไป เลขาธิการได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ และกล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ขณะที่ไปเยี่ยมฝรั่งเศสและรัสเซีย เลขาธิการก็ยังได้ช่วยชี้แจงช่วยไทย สำหรับรัสเซียนั้น นายกนต์ธีร์ได้เจรจากับผู้แทนรัสเซียแล้ว ยืนยันว่ายังไม่มีสัมพันธ์ทางการทูต จริงอยู่ได้ตกลงกันแล้ว แต่รัฐบาลไทยยังไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทูตรัสเซียเสนอทางทูตไทยที่กรุงสต๊อกโฮล์มว่า ขอให้ไทยประกาศแสดงความเสียใจที่เดิมแอนตี้รัสเซีย ในเวลาเดียวกันนี้ ข้าพเจ้าได้เชิญเอกอัครราชทูตอเมริกัน๑๐ มาชี้แจงข้อเท็จจริง และขอให้ช่วยเหลือเรา และได้มีการพบปะกันแทบทุกวัน ในขณะเดียวกัน ได้โทรเลขทูลให้พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรทรงทราบข้อเท็จจริงโดยละเอียด เพื่อประทานคำแนะนำแก่นายกนต์ธีร์ ในกรณีนายกนต์ธีร์มากราบทูลหารือ ในวันที่ ๒๐ สิงหาคม นายกนต์ธีร์โทรเลขถึงข้าพเจ้าว่า ได้ทูลปรึกษาท่านหัวหน้าคณะผู้แทนแล้ว มีความเห็นพ้องกันว่า ฝรั่งเศสคงจะใช้สิทธิยับยั้งแน่ ถ้าไม่ตกลงคืนดินแดนก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรเลื่อนการขอสมัครไปก่อน ข้าพเจ้าได้ตอบเห็นชอบด้วย และขอบพระทัยท่านหัวหน้าคณะ และขอบคุณสมาชิกคณะผู้แทนทุกท่าน และขอให้นายกนต์ธีร์ปรึกษาหารือกับท่านหัวหน้าและคณะผู้แทนต่อไปโดยใกล้ชิด แล้วรายงานข้าพเจ้าทุกระยะ นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังได้โทรเลขทูลท่านหัวหน้าคณะว่า ข้าพเจ้าขอมอบให้พระองค์ท่านและคณะผู้แทนร่วมกับนายกนต์ธีร์พิจารณาและวินิจฉัยในกรณีมีประเด็นซึ่งจะต้องตัดสินใจและหารือรัฐบาลไม่ทันการ

วันที่ ๖ พฤศจิกายน ข้าพเจ้าโทรเลขทูลพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ในฐานทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนว่า ได้ทราบข่าวว่า คณะมนตรีความมั่นคงจะพิจารณารับสมาชิกใหม่ ๖ ชาติด้วยกันรวมทั้งไทยด้วย ฉะนั้น ขอให้พระองค์ท่านสืบสวนดูว่า ที่เราขอเลื่อนการสมัครไว้นั้น บัดนี้ ถึงเวลาที่เหมาะสมหรือยัง ที่จะขอให้คณะมนตรีพิจารณาการสมัครของเรา อย่างไรก็ดี แต่ทั้งนี้ต้องแน่ใจว่า เราจะไม่ถูกฝรั่งเศสและรัสเซียค้าน ทรงตอบมาว่า ฝรั่งเศสกำลังปรึกษารัฐบาลเขาอยู่ ในวันที่ ๓ ธันวาคม ข้าพเจ้าได้โทรเลขทูลท่านหัวหน้าคณะให้ทรงทราบว่า ได้รับแจ้งจากนายอรรถกิติกำจร๑๑ อัครราชทูตไทยที่สต๊อกโฮล์มว่ารัฐบาลรัสเซียตกลงแล้วที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย แต่เสนอให้มีการออกแถลงการณ์ว่า ไทยมีความจำนงแน่วแน่ที่จะมีนโยบายเป็นมิตรโดยสุจริตกับรัสเซีย และประณามท่าทีอันเป็นปฏิปักษ์ของรัฐบาลชุดก่อน ๆ และปรารถนาจะสถาปนาสัมพันธไมตรีมิตรภาพกับสหภาพโซเวียต และแลกเปลี่ยนทูตซึ่งกันและกัน รัฐบาลสหภาพโซเวียตตกลงตามเจตจำนงดังว่า ตามร่างนี้รัฐบาลเราไม่ขัดข้อง แต่ขอแก้ในตอนที่ว่าจะให้แถลงว่า เราประณามรัฐบาลชุดก่อน ๆ ไม่ได้ ฉะนั้น กำลังขอให้นายอรรถกิติกำจรเจรจาขอแก้ร่างนั้น ในที่สุดสหภาพโซเวียตได้ตกลงไม่คัดค้านการสมัครของเรา และไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติเป็นประเทศที่ ๕๕ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ โดยที่เวลากระชั้นมาก ข้าพเจ้าไม่สามารถเดินทางไป ณ ที่ประชุมสมัชชาได้ รัฐบาลจึงตกลงตั้งให้พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรเป็นผู้แทนรัฐบาล ในการลงพระนามแทนประเทศไทย เพื่อรับปฏิบัติตามข้อผูกพันตามกฎบัตรสหประชาชาติ๑๒

โดยสรุป นักศึกษาอาจสนใจว่า เหตุผลโดยละเอียดในการที่ไทยเราต้องการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาตินั้นมีอย่างไรบ้าง ในฐานที่ในขณะที่เราสมัครเข้าเป็นสมาชิกนั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบในการต่างประเทศอยู่ จึงขอชี้แจงเหตุผลไว้ดังต่อไปนี้

(๑) เพื่อความมั่นคงของไทย

เนื่องจากเวลานั้นเพิ่งเสร็จสงครามใหม่ ๆ ประเทศบางประเทศฝ่ายตะวันตกยังยืนยันเสมอว่า เราเป็นฝ่ายแพ้ นอกจากนี้รัฐบาลในขณะนั้นเห็นภัยต่าง ๆ ซึ่งจะมาได้มากสองทางคือ บางประเทศที่นิยมจักรวรรดินิยม อาจเคียดแค้นเรา หรือไม่ก็ภัยจากประเทศที่นิยมคอมมิวนิสต์ จริงอยู่ ในขณะนั้นสหรัฐอเมริกาได้แสดงเป็นมิตรดีที่สุดของเรา แต่บางกรณีระหว่างมิตรชาวยุโรป กับไทยซึ่งเป็นมิตรตะวันออก ไม่แน่ว่า สหรัฐอเมริกาจะเลือกฝ่ายใด ในกรณีเราถูกบีบต่าง ๆ ทางการเมือง ฉะนั้นจะหวังพึ่งสหรัฐอเมริกาชาติเดียวไม่ควรหวังนัก มองดูก็เห็นแต่องค์การสหประชาชาติเท่านั้นที่เป็นองค์การมีกำลังมากที่สุดที่สามารถธำรงสันติภาพและความมั่นคง และให้ความยุติธรรมสำหรับประเทศเล็ก ๆ อย่างเราได้ ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า เหตุผลสำคัญที่สุดที่เราอยากเข้าเป็นสมาชิก ก็คือเพื่อความมั่นคงของประเทศไทยเรา และนโยบายนี้ สหรัฐอเมริกาเห็นด้วยกับเรา

(๒) เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเก่าแก่ชาติหนึ่ง

ได้เคยกล่าวในตอนต้นเกี่ยวกับสันนิบาตชาติแล้วว่า ไทยเราเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ ตั้งแต่เริ่มกำเนิดสันนิบาตชาติ (original member) ฉะนั้นเราจำต้องแสดงให้โลกเห็นว่า เรามีเอกราชมาช้านานแล้ว การที่เข้าเป็นสมาชิกได้ ก็เท่ากับสมาชิกขององค์การโลก ยืนยันรับรองฐานะของไทยอีกครั้งหนึ่ง พึงสังเกตได้ว่าในจำพวกประเทศที่ฝ่ายตะวันตก (เว้นสหรัฐอเมริกา) ถือว่า เป็นประเทศฝ่ายอักษะนั้น ไทยเป็นประเทศแรกที่ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ

(๓) ไทยหวังความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

เมื่อได้อ่านกฎบัตรสหประชาชาติแล้ว จะเห็นได้ว่า องค์การสหประชาชาติมุ่งช่วยเหลือประเทศที่ยังด้อยพัฒนา ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ฉะนั้น ถ้าเราเข้าเป็นสมาชิกได้ จะได้ประโยชน์มาก และก็เพื่อช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ที่ด้อยพัฒนายิ่งกว่าเราบ้างตามสมควร

(๔) เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า เราอยากร่วมมือในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงของโลกจริงจัง

ลาออก

วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ข้าพเจ้าได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ต่อพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้นำความขึ้นกราบบังคมทูล เหตุผลในใบลาออก ข้าพเจ้ากล่าวสั้น ๆ ว่า บัดนี้ภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามความตกลงสมบูรณ์แบบ และเรื่องการต่างประเทศที่สำคัญ ๆ ก็ลุล่วงไปเป็นส่วนมากแล้ว สมควรที่ข้าพเจ้าจะกราบถวายบังคมลาออก บัดนี้เวลาล่วงมา ๒๐ ปีกว่าแล้ว มีผู้แจ้งกับข้าพเจ้าว่า ควรระบายเหตุผลอันแท้จริงไว้ตามสมควร เหตุผลย่อ ๆ ก็คือมีหลายเรื่องซึ่งรัฐบาลดำเนินไปทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้าเป็นรองนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้รับการปรึกษาหารือ และข้าพเจ้าคัดค้านเพราะคาดคะเนไว้ว่า ประชาชนคงไม่เห็นด้วย แต่นายกรัฐมนตรีก็ชี้แจงกับข้าพเจ้าว่า จำต้องเอาใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง เพราะเขาเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลอยู่ ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าก็พลอยรับผิดชอบด้วยเปล่า ๆ จึงตัดสินใจลาออก หนังสือพิมพ์ลงข่าววิจารณ์ต่าง ๆ ดังได้คัดไว้ต่อไปนี้

สุวันนภูมิ

ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒๐๕๓ วันพุธที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ ราคา ๕๐ สต.

รมต. ดิเรกยื่นใบลาออก

หลังจากเจรจาขอเลิกหัวข้อความตกลงสำเร็จ

ยังไม่ปรากฏเหตุการลาออกปุบปับ

ครม. ประชุมด่วนตอนบ่ายวานนี้

ในระยะเดือนหนึ่งมานี้ มีข่าวบางกระแสกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวในการเมืองวงใน คือทางคณะรัฐบาล อยู่ข้างจะสับสนสักหน่อย ทั้งนี้ไม่นับรวมถึงการกระพือข่าวจากวงการภายนอกที่ว่า มีความระส่ำระสายต่าง ๆ เหตุที่เกิดข่าวเคลื่อนไหวอันสับสน จะมีประการใดยังไม่ได้ทราบชัด อย่างไรก็ดี เมื่อวานนี้ก็ได้ทราบข่าวมาว่า นายดิเรก ชัยนาม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้วตั้งแต่ตอนเช้าวานนี้ และเหตุแห่งการลาออกครั้งนี้ยังไม่ปรากฏ

นายดิเรก ชัยนาม นับว่าเป็นนักการเมืองที่ฝากใฝ่และชำนาญการต่างประเทศที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยในยุคนี้ ในการเข้าบริหารนโยบายการต่างประเทศของไทยภายหลังสงคราม ในรัฐบาลชุดท่านปรีดี พนมยงค์ และชุดปัจจุบัน ได้ทำงานสำคัญสำเร็จไปแล้วหลายเรื่อง เช่น การแก้ไขสัญญาสมบูรณ์แบบทั้งสองครั้ง อันทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยกระเตื้องดีขึ้น การแก้ไขอัตราปริวรรตเงินตราต่างประเทศ การคุมวิเทโศบายให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกยูโนเป็นผลสำเร็จ สถาปนาความสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ รวมทั้งสหภาพโซเวียตรุสเซีย ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น และเราได้ทราบมาว่า งานชิ้นสุดท้ายที่นายดิเรกได้กระทำก่อนออกจากวังสราญรมย์ คือการเจรจาขอยกเลิกหัวข้อความตกลง ซึ่งทางรัฐบาลอังกฤษได้ตอบตกลงยกเลิกมาแล้ว

การลาออกของนายดิเรก ชัยนาม เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ไม่เฉพาะแต่ในวงการทูตต่างประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงวงการเมืองของไทยด้วย

----------------------------

สุภาพบุรุษ

ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๒๖๙๑ วันพุธที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ ราคา ๕๐ สต.

ดิเรกยื่นใบลาออกโดยกะทันหัน

นายกเพิ่งได้รับใบลาเช้าวานนี้ยังไม่ทราบสาเหตุ

ท่ามกลางข่าวอุบัติเหตุอย่างฉกรรจ์ ของรถไฟสายกาญจนบุรี-พม่าตกราง และมรณกรรมของ ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ ซึ่งนำความเศร้าสลดมาสู่ผู้รักคุ้นเคยอย่างใหญ่หลวง ในวงการเมืองต่างตกตะลึงงงงไปหมด เหมือนลูกระเบิดตกลง เมื่อปรากฏข่าวออกมาจากวงการที่เชื่อถือได้ว่า นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรองนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นใบลาออกเสียแล้ว เมื่อเวลาก่อนเที่ยงของวันอังคารที่ ๔ เดือนนี้

ในการลาออกครั้งนี้ ท่านรัฐมนตรีได้มีจดหมายเป็นส่วนตัว ถึงพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ขอลาออกจากตำแหน่งทั้งสองในความรับผิดชอบของท่านโดยทันที ให้เหตุผลสั้น ๆ ว่าเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ และเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะปฏิบัติงานเรียบร้อยมาแล้ว ส่วนรายการละเอียดของสาเหตุที่ทำให้ท่านลาออก ยังไม่เป็นที่ชัดพอที่จะเปิดเผยได้

นายดิเรก ชัยนาม โดยทางส่วนตัวเป็นมิตรสนิทคนหนึ่งของท่านนายกรัฐมนตรี ตลอดเวลาเกือบครึ่งปีที่เข้ารับตำแหน่งว่าการต่างประเทศรัฐบาลในชุดนี้มา ได้ปฏิบัติหน้าที่งานด้านนโยบายต่างประเทศบรรลุความสำเร็จเรียบร้อยมาอย่างหมดจดงดงาม

----------------------------

สยามนิกร

THE SIAM NIKORN

ปีที่๑๐ ฉบับที่ ๓๙๒๕ วันพฤหัสที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ ราคา ๕๐ สต.

นายกฯว่าถ้าออกก็ออกหมด

ดิเรกว่ายึดอาชีพเขียนตำราขาย

ยืนยันการลาออกอย่างเด็ดขาด ไม่ใช่หนักใจที่รัฐบาลถูกโจมตี

พร้อมกับข่าวตายของ ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ รัฐมนตรีคมนาคม ซึ่งก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงฐานะรัฐบาลนี้ว่าได้สิ้นคนดีอย่างยิ่งไปคนหนึ่งแล้วนั้น รัฐมนตรี ดิเรก ชัยนาม ซึ่งนับได้ว่าเชี่ยวชาญด้านการเมืองต่างประเทศมือหนึ่งของเมืองไทยปัจจุบัน ได้ยื่นใบลาออกต่อนายกรัฐมนตรี เช้าวันที่ ๔ นี้ อันก่อให้เกิดการวิจารณ์หนักหน่วงขึ้นอีก

นายดิเรก ชัยนาม ได้ออกต้อนรับนักข่าวหนังสือพิมพ์ ที่บ้านส่วนตัวซอยสันติสุข บ้านกล้วย เมื่อเช้าวันวานนี้ ได้แถลงยืนยันการลาออก ว่าเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และชี้แจงว่าไม่มีเรื่องเป็นส่วนตัวขัดแย้งกับรัฐมนตรีคนใดในทางนโยบาย แม้นายกเองด้วย เป็นการลาออกอย่างธรรมดาที่นักการเมืองจะพึงใช้สิทธิที่ตนมีอยู่ และเป็นสิทธิส่วนตัวอันเด็ดขาดเกี่ยวแก่การลาออกนี้

นายดิเรกได้เล่าเบื้องหลังการลาออกว่า เพิ่งจะคิดเมื่อ ๒ - ๓ สัปดาห์มานี้ และคิดเงียบ ๆ โดยไม่ปรึกษาใคร เริ่มเขียนใบลาออกในคืนวันจันทร์ ตั้งใจจะยื่นเช้าวันอังคาร และเป็นความคิดที่เด็ดเดี่ยว แม้ได้ทราบข่าวการตายของเพื่อนรัฐมนตรี ก็ยื่นใบลาออกต่อนายกรัฐมนตรีจนได้

ภายหลังจากยื่นใบลาแล้ว นายกได้ต่อว่า และขอให้ช่วยกันต่อไปอีก นายดิเรก ก็ยืนยันอยู่ตามความคิดเดิม แจ้งกับนายกว่าแม้จะออกแล้ว หากประเทศชาติต้องการจะใช้งานอื่นใด นอกจากตำแหน่งการเมืองแล้ว ยินดีสนองคุณชาติเสมอ

ต่อข้อถามนักข่าวว่า ขณะนี้ยังมองไม่เห็นใครที่เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่มีอยู่ก็เป็นฝ่ายค้านนั้น นายดิเรกกล่าวแต่เพียงว่ากรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี และปฏิเสธต่อข้อถามเรื่องตัวบุคคลที่จะมาเป็นแทน พูดแต่เพียงว่านายกก็ควรจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเอง

เมื่อนักข่าวของเราถามต่อมาว่า เมื่อท่านรัฐบุรุษอาวุโสกลับ และหากได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ จะเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี และโดยเฉพาะกระทรวงต่างประเทศหรือไม่นั้น นายดิเรกไม่ยืนยันว่าจะร่วมหรือไม่ร่วม แต่ยืนยันว่ารัฐบรุษอาวุโสจะไม่ยอมเป็นนายกอีก

อย่างไรก็ดี นักข่าวหนังสือพิมพ์ได้ถามความจริงใจของการลาออกอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ใช่หนักใจในคณะรัฐบาลที่รัฐมนตรีบางคน และบางกระทรวงถูกโจมตีอยู่ขณะนี้ เพื่อเป็นการสงวนชื่อเสียงไว้จึงลาออกหรือ

อดีตรัฐมนตรีนั่งตรึกตรองและหัวเราะน้อย ๆ ไม่ตอบคำถาม แต่ปรารภถึงว่างานใด ๆ ก็ดี แม้ทฤษฎีจะดีเยี่ยม แต่คนไม่ดีแล้ว ก็ใช้ไม่ได้ และบ่นเสียใจการตายของ ม.ล. กรี ว่า เราได้เสียคนดีที่สุดไปอีกคนหนึ่ง ม.ล. กรีเป็นคนพูดเปิดเผยและยากจน

เหตุผลการลาออกที่นายดิเรกเปิดเผยอีกข้อหนึ่งคือ การกล่าวว่าได้ทำงานด้านต่างประเทศสำเร็จลุล่วงไปแล้วถึง ๘๐ % และงานชิ้นสุดท้าย คือการเจรจายกเลิกหัวข้อความตกลงกับอังกฤษ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงควรลาออกให้คนอื่นทำแทนต่อไปบ้าง

นายดิเรกแจ้งในที่สุดถึงการประกอบอาชีพในระยะต่อแต่นี้ไปว่า จะเขียนหนังสือการทูต ซึ่งเขียนค้างอยู่ให้จบ และคาดว่าจะออกได้ราวเดือนหน้า และจะทำเล็กเชอร์ “ประวัติศาสตร์การปกครอง” ให้จบด้วย

ยังไม่ตัดสินใจรับใบลา รม. ดิเรก

วิลาศก็เคยยื่นใบลาออก

วงการทำเนียบ ๑๖ สิงหา ได้ปกปิดข่าวการลาออกของรัฐมนตรี ดิเรก ชัยนาม อย่างมิดเม้น แม้ทั้งที่จะเป็นข่าวซึ่งได้แพร่ไปแล้วก็ตาม นักข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้พากันห้อมล้อม เพื่อถามถึงเหตุผล และได้ส่งข้อถามเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ตาม จากปากคำของไสว สุทธิพิทักษ์ เลขานุการสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ท่านนายกไม่อาจะตอบได้ทันที

ต่อข้อถามของนักข่าว เลขานุการนายกรัฐมนตรีปฏิเสธไม่ทราบเรื่องการลาออก แต่ได้กล่าวว่า “เห็นเหมือนกันละครับ แต่ไม่ทราบว่าเป็นใบลาหรือมิใช่”

“ก็เคยมีรัฐมนตรีลาออกเหมือนกัน” ท่านเลขานุการกล่าว “อย่างคุณวิลาศก็เคยยื่นใบลาออก แต่ท่านนายกกล่าวว่า อย่าเพิ่งลาออกเลย ถ้าออกก็ออกกันหมด

อย่างไรก็ตาม นักข่าวของเราทราบมาว่า นายกรัฐมนตรีได้รับใบลาออกกะทันหันของดิเรก ชัยนาม อย่างงุนงง และยังไม่อาจจะตัดสินใจว่า ควรรับใบลาออกนั้นหรือไม่ นายกรัฐมนตรีรับจะให้ความกระจ่างทั้งหมดแก่หนังสือพิมพ์ในเช้าวันที่ ๖ เดือนนี้

การตัดสินใจครั้งนี้ ถ้าหากเป็นการลาออกทั้งชุด ย่อมหมายความว่า จะได้เรียกประชุมรัฐสภาโดยด่วน ซึ่งนักข่าวของเราตั้งข้อถาม ถามนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ

อนึ่ง บ่ายวานนี้ (ที่ ๕) ได้มีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วนทันที เป็นที่เข้าใจและคาดหมายได้ว่า คงจะมีการลาออกกันอีกเป็นการใหญ่ทีเดียว เราจะได้เสนอข่าวคืบหน้าต่อไปโดยลำดับ

----------------------------

ประชากร

ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๘๒ วันพฤหัสบดีที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ ๕๐ สต.

ทีท่ารัฐบาลจะขอลาออกทั้งคณะ

รัฐมนตรีดิเรกให้สัมภาษณ์ในกรณีที่ลาออก

เพราะหมดภาระยุ่งยากทางต่างประเทศแล้ว

ว่าผู้สมควรเป็น รมต. ต่างประเทศ คือนายกฯ

----------------------------

ให้ความเห็นว่าทฤษฎีของรัฐบาลดี

แต่การปฏิบัติยังบกพร่องควรแก้ไข

----------------------------

ในขณะที่ประชาชนกำลังเศร้าสลดใจ ที่รถไฟสายมฤตยู กาญจนบุรี-พม่า ได้คร่าชีวิต ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ปรากฏข่าวอันเป็นที่งงงันซ้อนขึ้นมาเวลาเดียวกันว่า นายดิเรก ชัยนาม ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศต่อหัวหน้ารัฐบาลปัจจุบัน

ตั้งแต่เดือนที่แล้วมา เคยมีข่าวลืออยู่ย่อย ๆ ในเรื่องรัฐมนตรีบางท่านในคณะรัฐบาลนี้จะลาออก และจะมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี แต่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ปฏิเสธทุกครั้ง เมื่อข่าวที่รัฐมนตรี ดิเรก ชัยนาม ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่างประเทศของคณะรัฐบาลนี้ เปิดหมวกอำลาโดยปัจุบันทันด่วน และมิเคยมีข่าวกระเสนกระสายล่วงหน้าเช่นนี้ ผู้แทนหนังสือพิมพ์ของเราและอีกหลายฉบับ จึงได้ไปขอพบนายดิเรก ชัยนาม ที่บ้าน “ถนนสันติสุข” เมื่อเช้าวานนี้ (ที่ ๕) เพื่อขอทราบกรณีที่ปลีกตัวออกจากคณะรัฐบาล

เมื่อพบหน้าพวกผู้แทนหนังสือพิมพ์ ซึ่งคุ้นเคยกันมาแล้ว นายดิเรกก็ได้กล่าวอย่างยิ้มแย้มแจ่มใสว่า “นี่จะมาเอาข่าวจากผมละซี” และเชื้อเชิญเข้าห้องรับแขก

จากคำถามซึ่งขอทราบกรณีที่ลาออก นายดิเรกได้หยิบสมุดบันทึกประจำตัวมาอ่านร่างหนังสือที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๔ เดือนนี้ให้ฟัง ซึ่งมีใจความสั้นๆ ว่า เนื่องจากเห็นสมควรจะกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ จึงขอลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอได้นำความกราบบังคมทูลด้วย

และนายดิเรกได้มีจดหมายถึงท่านนายกรัฐมนตรีเป็นส่วนตัว ขอขอบคุณที่ท่านนายกได้ไว้วางใจให้ปฏิบัติราชการแผ่นดิน ฉลองพระคุณชาติบ้านเมืองผ่านมาด้วยดี บัดนี้ ภารกิจยุ่งยากในการต่างประเทศภายหลังสงคราม ก็ได้ลุล่วงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ขอลาออก และขอให้ถือว่า การลาออกนี้มิได้มีข้อพิพาทกับรัฐมนตรีคนใดหรือท่านนายกฯ แต่อย่างใด เมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้ว ถ้ารัฐบาล มีกิจการที่จะใช้สอย ก็ยินดีช่วยเหลือเต็มสติกำลังไม่ทอดทิ้ง

“นี่เป็นเหตุผลที่ผมลาออก” นายดิเรก กล่าวยืนยัน “ผมได้ตั้งใจไว้ก่อนแล้วว่า ถ้าท่านวรรณ ฯ ทรงปฏิบัติภารกิจกลับมาแล้ว ธุระในการต่างประเทศก็เป็นอันหมดความยุ่งยาก ผมก็จะลาออก และผมคิดจะยื่นใบลาออกตั้งแต่วันจันทร์ (ที่ ๓) บังเอิญท่านนายก ฯ ไม่อยู่ ไปต่างจังหวัด จึงเขียนในตอนกลางคืนและยื่นเมื่อเช้าวันอังคาร

ถาม “มีอะไรอีกบ้างไหม ที่ท่านรัฐมนตรีไม่พอใจหรือนโยบายไม่ต้องกันกับรัฐบาล”

นายดิเรกย้ำว่า “เหตุผลมีอยู่ตามที่กล่าวในใบลาออกเท่านั้น”

ถาม “ถ้าท่านนายก ฯ ขอร้องให้ดำรงตำแหน่งต่อไป จะรับหรือไม่”

ตอบ “ใบลาออกของผมบอกไว้เด็ดขาดแล้ว และเป็นสิทธิของผมตามรัฐธรรมนูญ ท่านนายกฯ ได้ขอให้ผมพิจารณาอีกครั้ง แต่ผมว่าตั้งใจแน่เสียแล้ว และเวลานี้งานต่างๆ ก็ดำเนินไปเรียบร้อย ควรจะให้โอกาสแก่ผู้อื่นบ้าง”

ถาม “ถ้าอาจารย์ปรีดี (รัฐบุรุษอาวุโส) กลับมาและเป็นนายกฯ จะเข้าร่วมอีกหรือไม่ ?”

นายดิเรกหัวเราะพร้อมกับกล่าวหนักแน่นว่า “ ผมเชื่อว่าอาจารย์ไม่รับเป็นนายกฯ อีกอย่างแน่นอน”

ถาม “เมื่อท่านรัฐมนตรีออกแล้ว เห็นใครที่สมควรแก่ตำแหน่ง รมต. ต่างประเทศบ้าง”

ตอบ “ผมได้ให้ความเห็นแก่ท่านนายก ฯ แล้วว่า ท่านนายกฯ ควรจะดำรงตำแหน่งนี้เสียเอง เพราะท่านทำได้”

ผู้แทนหนังสือพิมพ์กล่าวติงว่า ภารกิจของต่างประเทศ ยังมีเรื่องดินแดน และการเจรจาเพื่อยกเลิกหัวข้อตกลงสมบูรณ์แบบ (Heads of agreement) ซึ่งค้างอยู่ ถ้าวางมือแล้วจะเรียบร้อยต่อไปหรือไม่?

นายดิเรกกล่าวว่า เรื่องดินแดน รัฐบาลก็ตั้งกรรมการสอบสวน ศึกษา ค้นคว้า เชื้อชาติ และเศรษฐกิจแล้ว เมื่อมีหลักฐานอย่างใด ก็ยื่นไปเจรจากัน ส่วนเรื่องหัวข้อตกลงสมบูรณ์แบบทางไทยเราได้ปฏิบัติไปหมดแล้ว จึงทาบทามขอยกเลิก และเมื่อ ๗-๘ วันมานี้ อัครราชทูตอังกฤษมาบอกว่า ทางรัฐบาลอังกฤษยินดีจะยกเลิกแล้ว คงรอแต่หนังสือที่จะแจ้งมาเป็นทางการเท่านั้น

เมื่อถามว่า ในกรณีที่รัฐบาลถูกโจมตีทั้งในสภาและความเห็นของหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ นั้น ท่านรัฐมนตรีมีความรู้สึกอย่างใด

ตอบว่า “น่าเห็นใจท่านนายกฯ ความเห็นส่วนตัวของผมว่าทฤษฎีน่ะดี แต่การปฏิบัติยังบกพร่อง จึงควรแก้ไข”

หลังจากพ้นตำแหน่งแล้ว นายดิเรกตั้งใจจะเขียนหนังสือเรื่องการทูต ซึ่งเริ่มทำเป็นเวลา ๔ ปีมาแล้ว ให้เสร็จเสียที และจะทำคำบรรยายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การปกครอง ของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ต่อจากประเทศอังกฤษ ที่ทำเสร็จแล้วคือฝรั่งเศส อเมริกา ฯลฯ ทั้งได้เคยวางโครงการอบรมเจ้าหน้าที่ทางการทูตต่อรัฐบาลไว้เมื่อก่อนลาออก ถ้าจะให้เป็นผู้บรรยายในการอบรม ก็พร้อมที่จะทำให้ โดยไม่คิดค่าป่วยการ

ในการลาออกของรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศนี้ในวงการเมืองทั่วไปสนใจมาก และกล่าวกันเป็นเชิงว่า นายดิเรกคงไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้ จึงปลีกตัวออก

เมื่อวานนี้ (ที่ ๕) เวลา ๑๔ น. ท่านนายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีส่วนเป็นพิเศษ ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อพิจารณาใบลาออกของรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ และจะได้หารือเกี่ยวกับฐานะรัฐบาลต่อไป แต่มีข่าวบางกระแสกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมรัฐมนตรีร่วมคณะทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง ภายในวันที่ ๑๐ เดือนนี้ และคาดหมายกันว่า อาจจะกราบถวายบังคมลาออกทั้งคณะ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่ต่อไป แต่รัฐบาลชุดนี้คงจะรักษาการแทนไปจนกว่าจะเปิดสมัยการประชุมวิสามัญของรัฐสภา ประมาณราวต้นเดือนหน้า

----------------------------

พิมพ์ไทย

หนังสือข่าวทุกเวลาเช้า วางตลาดย่ำรุ่งตรง

ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๐๑ วัน พฤหัศบดีที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ ราคา ๕๐ สต.

บุรุษผู้เปิดหมวกอำลา – “ภารกิจของผมหมดแล้ว” ดิเรก ชัยนาม

ระหว่างบรรทัด

โดย น้อย อินทนนท์

ภายในเวลาติดๆกัน นายกถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้สูญเสียบริการของบุคคลสำคัญ ทั้งในฐานะมิตรสนิทและรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของท่านไป ๒ คน ในกรณี ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ ชั่วกาลอวสาน และกรณีนายดิเรก ชัยนาม อย่างน้อยก็ชั่วคราว แต่ก็อาจจะชั่วอายุของรัฐบาลนี้

นอกจาก “เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ” และ “ให้เป็นการเหมาะสมแก่สถานการณ์ในปัจจุบัน” เพราะ “ได้ปฏิบัติภาระมาเรียบร้อยแล้ว” อันเป็นเหตุผลในการลาออกของท่าน ร.ม.ต. ว่าการต่างประเทศ และรองนายกรัฐมนตรี ดังที่ปรากฏตามข่าวหนังสือพิมพ์แล้ว การลาออกของนายดิเรก ชัยนาม ยังคงเป็นความพิศวงงงงวยแก่ประชาชน และในวงการเมืองทั่วไป

เพราะโดยส่วนตัว ท่านรัฐมนตรีผู้นี้ก็ทำนองเดียวกับ ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ ผู้วายชนม์ เป็นรัฐมนตรีในจำนวนไม่กี่คนในรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งอยู่นอกกระแสคลื่นแห่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแรง จากหนังสือพิมพ์และประชาชน เป็นรัฐมนตรีในจำนวนไม่กี่คนที่ได้รับความรักใคร่ เชื่อถือ และไว้วางใจ จากประชาชนและหนังสือพิมพ์ แม้กระทั่งที่เป็นเสียงของฝ่ายตรงข้าม อย่างจริงใจ

ฉะนั้น การกระทบกระทั่งรุนแรงจากมติมหาชนเป็นส่วนตัว จึงมิใช่เหตุผลแน่ในการลาออกของท่าน แต่เราก็คงไม่อาจรับรองกันได้ ในเรื่องความกระทบกระทั่งอย่างรุนแรง ที่คณะรัฐบาล ซึ่งท่านร่วมอยู่ได้รับ หรือความกระทบกระทั่งในระหว่างคณะรัฐบาลด้วยกันเอง เกี่ยวกับความแตกแยกความคิดเห็นบางประการ

เป็นที่รู้กันอยู่ แม้ระหว่างพรรคฝ่ายตรงข้าม ว่าท่านรัฐมนตรี ดิเรก ชัยนาม อาจะเป็นนักการเมือง และเล่นการเมือง แต่ท่านก็เป็นนักการเมืองที่ยึดถืออุดมคติของท่านอย่างแรงกล้า ท่านเป็นนักกีฬาที่เล่นตามกฎกติกา ท่านเป็นสุภาพบุรุษ และในฐานะบุคคลสามัญ ท่านมีความคารวะในตัวของท่านอย่างเคร่งครัด

อาจะเป็นด้วยบุคลิกลักษณะเหล่านี้เอง ที่ทำให้ท่านมองเห็นความจำเป็นต้องลาออกจากคณะรัฐบาล ซึ่งท่านได้พยายามปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบ และรับใช้มาด้วยความจงรักภักดีเป็นเวลาเกือบครึ่งปี แต่บางทีมันก็อาจจะเนื่องมาจากเหตุอื่น

อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าได้ระแคะระคายอยู่ว่า ฐานะของรัฐบาลในปัจจุบัน ไม่สู้จะเป็นที่สบายใจ หรือให้ความแจ่มใสแก่ความรู้สึกผิดชอบของท่านนัก นอกจากนั้น มันก็เกือบจะเป็นความลับที่เปิดเผยว่า ท่านรัฐมนตรีได้คำนึงถึงการปลีกตัวออกจากรัฐบาลชุดนี้ มาแต่รอบสัปดาห์ที่แล้ว แต่เราก็จะยังไม่ทราบกันแน่ชัดลงไปได้ จนกว่านาย ดิเรก ชัยนาม หรือนายกถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เปิดเผยรายการละเอียดออกมาว่า สาเหตุแห่งการลาออกครั้งนี้ คืออะไรแน่

จากดิเรก ชัยนาม

“ผมทำงานชิ้นสุดท้ายเสร็จแล้ว จึงรู้สึกตัวว่าควรจะลาออกเสียที โดยเฉพาะผมเองก็ฉายซ้ำเป็นรัฐมนตรีมา ๕ รัฐบาลแล้ว”

รัฐมนตรีต่างประเทศดิเรก ชัยนาม ‘ผู้กำลังจะจากไป’ กล่าวยืนยันข่าวลาออกของท่านต่อผู้สื่อข่าวของเรา ในการให้สัมภาษณ์ที่บ้านกล้วยเมื่อเช้าวานนี้

เสร็จภารกิจแล้ว งานชิ้นสุดท้ายที่นายดิเรกพูดถึงก็คือ การเจรจาขอยกเลิกหัวข้อความตกลง ซึ่งสถานทูตอังกฤษในประเทศไทย ได้มาแจ้งด้วยวาจาว่า รัฐบาลอังกฤษยินยอมที่จะยกเลิกความตกลงนั้นต่อนายดิเรก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

คิดลาออกมาก่อนแล้ว

รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวต่อไปว่า ความคิดที่จะลาออกมานี้มีมา ๓-๔ สัปดาห์แล้ว แต่รอเหตุการณ์อยู่สองเรื่อง คือ รอการกลับของท่านวรรณ ฯ ซึ่งเป็นผู้แทนไทยไปเจรจาที่ยูโน และรอดูเรื่องงบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อสองเรื่องนี้ผ่านไปแล้ว ท่านก็ตัดสินใจเด็ดขาดที่จะลาออก

เมื่อวานนี้ผมพบกับท่านนายก ท่านบอกว่า ทางคณะรัฐมนตรีขอให้ผมตกลงใจใหม่อีกครั้ง แต่ผมก็ยังเห็นว่า ผมควรจะลาออกอยู่นั่นเอง

มีสิทธิจะลาออก

ต่อข้อถามที่ว่า ถ้าทางคณะรัฐมนตรี หรือทางคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คัดค้านในลาฉบับนี้ ท่าน ร.ม.ต.ต่างประเทศ ตอบอย่างหนักแน่นว่า “ผมมีสิทธิที่จะลาออกตามรัฐธรรมนูญ”

นายกถวัลย์ควรแทน

เมื่อพูดกันถึงเรื่องใครจะเป็นผู้เหมาะสม สำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ นายดิเรกหัวเราะแล้วว่า

“ถ้าจะเคี่ยวเข็ญให้ผมเก็งตัว ผมก็คิดว่า ท่านนายกถวัลย์นั่นแหละ ควรมาว่าการต่างประเทศอีกตำแหน่ง”

ไม่อยากแสดงความเห็น

เมื่อเราขอให้ออกความเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลชุดนี้ นายดิเรก ส่ายหน้าแล้วว่า “ผมกำลังเป็นผู้จากไป อย่าให้พูดอะไรมากนักเลย” แต่ก็ยังทิ้งท้ายให้ว่า “สำหรับทฤษฎีของรัฐบาลนี้ ผมก็เห็นว่าดีแล้ว ส่วนผู้รับไปปฏิบัตินั้น ผมจะไม่ให้ความเห็น”

อย่าให้ผมพูดเลย

เมื่อเราถามว่า มีผู้สงสัยกันว่า อาจะเป็นเพราะการที่ท่านนายกโปรนายวิลาศมากไป จนทำให้รัฐบาลถูกโจมตีอย่างรุนแรง และเหตุนี้เองที่ทำให้นายดิเรกเบื่อหน่ายถึงกับลาออก

นายดิเรกตอบเราว่า “อย่าให้ผมพูดถึงเลยครับ ผมขอตัวที่จะพูดเรื่องนี้

สำหรับงานของท่านรัฐมนตรีต่างประเทศในกาลข้างหน้า นายดิเรกว่า

“ผมจะแต่งหนังสือขาย”

หนังสือที่กล่าวถึงคือหนังสือเกี่ยวกับการทูต ซึ่งนายดิเรกว่าใช้เวลาเขียนมา ๔-๕ ปีแล้ว ยังไม่เสร็จ

ระหว่างการสัมภาษณ์ มีคนเข้ามาบอกว่า อัครราชทูตอังกฤษขอนัดพบนายดิเรกที่กระทรวงการต่างประเทศ นายดิเรกสั่งให้ตอบปฏิเสธการนัด โดยอ้างว่า “ลาออกแล้ว” เป็นการย้ำความตั้งใจแน่นอนในการลาออกครั้งนี้

ทางทำเนียบ ๑๖ สิงหา

ค.ร.ม. ประชุมเคร่งเครียดตั้งแต่ ๑๔ ถึง ๑๗ น. วงการใกล้ชิดแจ้งว่า ที่ประชุมลงมติรับใบลาออกของนายดิเรก นายกถวัลย์เข้ารับตำแหน่ง ร.ม.ต. ต่างประเทศแทนนายดิเรก ร.ม.ต. ทองอินทร์ว่าการคมนาคมแทน ม.ล. กรี อีกตำแหน่งหนึ่ง

ควงว่ารอดูเขาไปก่อน คงไม่ออกแน่

ครม.รับใบลา นายกเข้าว่าต่างประเทศ

----------------------------

“ผมเพิ่งรู้จากหนังสือพิมพ์เมื่อเช้านี้เองว่าคุณดิเรกลาออก” นายควงกล่าวด้วยหน้าขึงขัง “ก็ยังแปลกใจอยู่ เพราะเมื่อเช้าวาน (วันที่ ๓) ก็ยังไปรับ ม.ล. กรี ด้วยกันทั้งนายก ไม่เห็นมีอะไร เรายังเดินคุยและหยอกล้อกันสนุกแท้ ๆ ไหงพอเที่ยง ยื่นใบลาออกได้” นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน กล่าวกับผู้แทนของเราเมื่อวันวานนี้

ไม่มีความเห็น

ต่อข้อถามของเราถึงความเห็นของนายควง ในกรณีลาออกของ รมต. ดิเรกครั้งนี้ นายควงกล่าวว่า “ผมไม่มีความเห็นอย่างใดในการลาออกของคุณดิเรก ไอ้เรื่องความเห็นมันเป็นของรัฐบาล ไม่ใช่ของผม” นายควงกล่าวและยิ้มกว้างขวาง แล้วยกถ้วยกาแฟขึ้นซด

ไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญ

นักข่าวของเราถามต่อไปว่า หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านคิดหรือไม่ว่า “การลาออกของรัฐมนตรีคราวนี้ อาจทำให้เกิดวิกฤติกาลขึ้นต่อไปแก่รัฐบาล”

แก่คำถามข้อนี้ นายควงตอบ “ผมก็ไม่เห็นว่าจะเกิดวิกฤติกาลอะไร เมื่อคุณดิเรกออก เขาก็หาตัวแทนกันเท่านั้น”

ในเรื่องเกี่ยวกับสาเหตุของการลาออก นายควงส่ายหน้าและยกมือโบกว้าวุ่น

เบิร์นกับมาร์แชล

“ผมไม่รู้-ไม่รู้จริง ๆ แต่ว่า-” ท่านหยุดเล็กน้อยและเคาะโต๊ะเบา ๆ “มันอาจเป็นการขัดกันอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจเป็นนโยบายของเขา อย่างทรูแมนเปลี่ยนตัว รม. ต่างประเทศ เอาเบิร์นออก แล้วเอามาร์แชลมาแทน ก็ได้”

ต่อข้อถามอันสำคัญที่ว่า พรรคฝ่ายค้านประชาธิปัตย์ ซึ่งนายควงเป็นหัวหน้าอยู่ มีท่วงท่าอย่างไรในความปั่นป่วนของคณะรัฐบาลปัจจุบัน นายควงตอบว่า ก็คงไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไรนัก และ “พวก ผมต้องรอดูไปก่อน”

เสนีย์วิจารณ์การลาออก

“การลาออกของคุณดิเรก ผมไม่มีความรู้สึกอย่างไร และไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องถึงกับรัฐบาลปัจจุบันได้รับความกระทบกระเทือน เพราะคุณดิเรกไม่ใช่ ‘เสาตอม่อ’ ของรัฐบาล รัฐบาลอยู่ได้และตั้งขึ้นได้ไม่ใช่เพราะคุณดิเรกคนเดียว” ม.ร.ว.เสนีย์ ตอบแก่นักข่าวของเราเช้าวันเดียวกัน

ต่อข้อถามของเรา เรื่องถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล จะทำอย่างไรในข้อแรก

สมัครจะเป็นพรรคค้าน

“ผมก็จะต้องดำเนินตามนโยบายของพรรคเป็นข้อแรก แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะทำอะไรบ้าง แต่ผมขอบอกให้คุณทราบไว้ด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องการเป็นรัฐบาล ต้องการเป็นฝ่ายค้านที่ดี ดีกว่าจะไปเป็นรัฐบาลที่เลว”

เมื่อเราถามถึงการจะเดินทางของพรรคที่จะออกหัวเมือง เสนีย์ตอบด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า

จะไปต่างจังหวัด

“ผมจะไปจังหวัดนครสวรรค์ก่อน เพราะจังหวัดนี้เป็นบ้านเกิดของผม และต่อจากนั้นก็จะล่องลงใต้ เพื่อเยี่ยมราษฎรทางปักษ์ใต้ พร้อมด้วยคณะประชาธิปัตย์ที่อยู่ทางปักษ์ใต้บางคน กะเอาว่าจะออก เดินทางในราวปลายเดือนมีนาคม นายควงกับหม่อมคึกฤทธิ์จะไปด้วยหรือไม่ ยังไม่ทราบแน่”

----------------------------

LIBERTY

Wednesday, February 5, 1947 Regular Edition 1 Baht

THAMRONG GOVT. MAY RESIGN

----------------------------

Events Are Fast Moving Towards Cabinet Crisis

----------------------------

Nai Direk Chayanam, Vice-Premier and Minister of Foreign Affairs, it is authoritatively learnt, tendered his resignation to the Prime Minister yesterday.

No reason has been given for this step.

Political circles are saying also that several other Ministers have signified their intention of leaving the Thamrong cabinet.

It is being generally felt this morning that events are fast moving towards a cabinet crisis.

Efforts are being made, it is said, by the Prime Minister and other persons to dissuade Nai Direk and other resigning Ministers from making any decision until Nai Pridi Phanomyong’s return. Report this morning says that an urgent telegram has been sent to Nai Pridi appealing him to return as soon as possible.

The tragic death of Minister of Communications, Momluang Kri Dejatiwongs has also complicated matters. Nai Direk’s resignation, however, is unconnected with Momluang Kri's death.

A Rift In The Lute

The resignation of Nai Direk is looked upon as being a political bombshell of the first magnitude. People are asking the question whether this is the appearance of the rift in the lute among Government supporters, the Sahacheep Party and Constitutional Front.

According to one member of the Government, Nai Direk’s announcement took them all by surprise. Officials at the Foreign Ministry were astonished to hear the news as there were no previous indications that their chief intended to pursue this step.

A group of newspaper representatives called on the Premier this morning but were unable to see him. Instead they were confronted by the Secretary to the Premier, Nai Sawai Suthiphithak.

Press Conference Tomorrow

The Secretary was unable to throw any light on the reasons for the resignation but admitted that the Premier had received a letter from Nai Direk, the contents of which were not disclosed.

Nai Sawai also said that some other Ministers had also sent in letters to the Premier which he understood might be letters of resignation, then added that the Premier had refused to consider these personal resignation since he held firmly to the principle that the Government should resign en bloc.

To repeated requests for an interview with the Premier, the latter, through the Secretary, expressed his regrets at not being able to see press representatives today but promised to preside over a press conference tomorrow morning.

----------------------------

THE BANGKOK POST

Vol. 1 No. 155 Wednesday February 5, 1947. Price 1 Baht

News of the Planning Book On Diplomacy

Friction Not Cause Of His Action, He Says

The surprise resignation of Nai Direk Jayanam as Minister of Foreign Affairs for Siam was announced late yesterday.

Nai Direk gave no reason for his action save that the major diplomatic problems facing the country have been settled and that he would like to retire now to work on a book on diplomacy which he has been writing.

He pointed out that with the agreements made with Great Britain, the opening of long range negotiations with France, and entry of Siam into the United Nations, major tasks of his office have been fulfilled, leaving the way clear for stepping from office.

The Foreign Minister handed his note of resignation to Premier Thamrong following his return yesterday from Thonburi station where he had gone to meet the train bringing in the body of Mom Luang Kri Dechatiwongs, Minister of Communications, who was killed in a railway accident last Saturday.

A copy of the letter was shown to members of the press this morning, at Nai Direk’s residence at Ban Kluey.

The letter thanked the Premier for his goodwill during his term of office and noted that he was not resigning because of any friction with fellow Cabinet members.

In speaking of his future the resigning minister said that he would return to diplomatic service only if his service was considered necessary.

When asked if he would join a Cabinet set up by Nai Pridi Phanomyong, Nai Direk said that in his opinion Nai Pridi did not intend to re-enter politics upon his return to Siam.

Nai Direk made his announcement late yesterday when he said farewell to his colleagues in the Foreign Office and other ministries.

A meeting of the Cabinet Council was scheduled for this afternoon when Nai Direk's resignation and the appointment of a successor to Mom Luang Kri Dechatiwongs, Minister of Communications, who was killed in a railway accident last Saturday, will be discussed.

It has already been reported that Prime Minister Thamrong may be urged to serve also as Foreign Minister.

Nai Direk has served in several Cabinets since his first appointment to ministerial rank in 1938. At that time Premier Phibun appointed him Acting Minister for the Ministries of Finance and Foreign Affairs.

His first public office had been as secretary to the Foreign Ministry, which office he assumed in 1933. In 1935 he became Assistant Secretary-General to the Council of Ministers. In 1936 he became Secretary-General of the Council.

In 1939 Nai Direk was appointed Deputy Minister of Foreign Affairs and two years later became Minister of Foreign Affairs.

After the invasion of the Japanese in 1941, Nai Direk resigned as Foreign Minister to become Siamese Ambassador to Japan. He requested that he be withdrawn from that office and finally was recalled 1913, when he again became Foreign Minister. He resigned again in 1945.

In 1945 he was appointed by Promier Thawi Bunyaket as Minister of Finance and Justice and in 1946 by Premier Pridi as Minister of Foreign Affairs, a post he continued to hold in the Thamrong government.

ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้ออกจากตำแหน่ง ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าก็ยังคงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร เขตห้าอยู่๑๓ ต่อมาอีกประมาณหนึ่งเดือน คือ ในต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้เชิญข้าพเจ้าไปพบและปรารภว่า เนื่องจากรัฐบาลได้ตกลงแลกเปลี่ยนยกฐานะสถานอัครราชทูตขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูต ทั้งที่กรุงวอชิงตันและกรุงลอนดอน สำหรับกรุงวอชิงตันนั้นก็เป็นอันตกลงแล้วว่า พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร จะเสด็จไป สำหรับลอนดอนนั้น โดยที่เวลานี้ การเจรจาเรื่องเลิกความตกลงสมบูรณ์แบบยังค้างอยู่ และมีปัญหาซึ่งโยงถึงเรื่องนี้มากหลาย โดยที่ข้าพเจ้ารู้เรื่องนี้ดี และโดยที่อังกฤษรู้จักข้าพเจ้าดี ฉะนั้น เชื่อว่าจะช่วยชาติบ้านเมืองได้ จึงขอให้ข้าพเจ้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตที่ลอนดอน ข้าพเจ้าได้ตอบว่าขอไปตรึกตรองก่อน เพราะมีปัญหาที่ข้าพเจ้าจะต้องไปพิจารณามากหลาย ข้าพเจ้าได้พิจารณาภายหลังจากพบนายกรัฐมนตรี คือ ข้าพเจ้าควรรับหรือไม่ เหตุผลที่ทั้งสองด้าน เหตุผลที่ไม่ควรรับก็คือ เมื่อลาออกจากตำแหน่งการเมืองแล้ว ก็ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องอีก นอกจากนี้ ข้าพเจ้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ ซึ่งจะต้องลาออก ราษฎรในเขตเลือกตั้งของข้าพเจ้าก็จะบ่นว่า เสียแรงเลือกเข้ามา ไม่กี่เดือนก็ไปเสียแล้ว ส่วนเหตุผลที่ควรรับ คือ ข้าพเจ้ารู้เรื่องความตกลงสมบูรณ์แบบที่ควรจะรับใช้ชาติ การไปเป็นทูตไม่เกี่ยวกับเรื่องพอใจหรือไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาล เรื่องการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องลาออก ก็ต้องลาออก และก็เคยมีตัวอย่างในนานาประเทศแล้ว อีกประการหนึ่งถ้าข้าพเจ้ายังคงอยู่ในกรุงเทพ ฯ ก็ไม่ได้ช่วยชาติบ้านเมืองอย่างไร เพราะมีหน้าที่ไปนั่งฟังการอภิปรายในสภา และออกเสียงลงมติเท่านั้น และก็ลำบาก เพราะการอภิปราย ถ้าอภิปรายคัดค้านรุนแรง ก็จะถูกหาว่าคงคิดมักใหญ่ใฝ่สูง ฉะนั้น ภายหลังที่ได้ปรึกษากับเพื่อนฝูงสนิทบางคนแล้ว ข้าพเจ้าจึงไปพบนายกรัฐมนตรี และแจ้งว่า ในหลักการข้าพเจ้าก็อยากรับ แต่ยังลำบากใจในเรื่องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเกรงว่า ท่านอัครราชทูตปัจจุบัน๑๔ที่กรุงลอนดอน อาจนึกว่าข้าพเจ้าวิ่งเต้นมาขอรับตำแหน่งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ตอบว่า ได้เตรียมไว้แล้ว ท่านทูตที่ลอนดอนนั้น ท่านสำเร็จจากฝรั่งเศส ทรงรู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศสดี ฉะนั้น จะได้ขอให้ท่านย้ายไปรับตำแหน่งที่ปารีส เพราะท่านจะช่วยชาติบ้านเมืองได้ดีทางฝรั่งเศส เรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เมื่อจำต้องลาออก รัฐบาลก็ให้คำมั่นได้ว่า จะคอยดูแลทุกข์สุขของราษฎรในเขตนี้ให้อย่างดีที่สุดเหมือนข้าพเจ้าอยู่ในกรุงเทพ ฯ อย่างไรก็ดี ได้มีการเจรจากันอีกหลายครั้งถึงเรื่องนี้ ในที่สุด เพื่อเป็นหลักฐานว่าข้าพเจ้าไม่ได้วิ่งเต้นขอตำแหน่งนี้ ได้ตกลงแลกเปลี่ยนหนังสือกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับข้าพเจ้า๑๕ สาระสำคัญในหนังสือที่นายกรัฐมนตรีมีถึงข้าพเจ้าก็คือ ขอให้ข้าพเจ้าไปช่วยชาติบ้านเมือง ในเรื่องเจรจาปลดพันธกรณีต่าง ๆ อันเกิดจากความตกลงสมบูรณ์แบบ และขอความกรุณาต่าง ๆ จากอังกฤษ ไม่ให้บีบคั้นเรามากนัก ส่วนเรื่องราษฎรในเขตของข้าพเจ้า รัฐบาลจะช่วยดูแลทุกข์สุข เหมือนหนึ่งข้าพเจ้ายังเป็นผู้แทนอยู่ และข้าพเจ้าได้มีหนังสือตอบขอบคุณรัฐบาลและตกลงรับเมื่อรัฐบาลให้เหตุผลดังกล่าว

ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นเอกอัครราชทูต ประจำพระราชสำนักเซนต์เจมส์ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ต่อจากนั้นอีกไม่กี่วัน ข้าพเจ้าเข้าเฝ้ากราบทูลลาพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร๑๖ ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และออกจากกรุงเทพฯ ไปกรุงลอนดอน

  1. ๑. ปัจจุบันเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงบอนน์ สหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมัน

  2. ๒. นายโยสต์

  3. ๓. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

  4. ๔. หลวงดิฐการภักดี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ประจำกรุงเฮก

  5. ๕. United Nations Yearbook, 1946–1949 (Lake Sucess, New York, Department of Public Information 1947) หน้า ๔๑๘

  6. #VALUE!
  7. ๗. ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

  8. ๘. ความตกลงนี้ ทำกันระหว่าง พ.อ. พระประศาสน์พิทยายุทธ อัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน กับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ สหภาพโซเวียต ในปี ค.ศ. ๑๙๔๐ ก่อนเยอรมันนีเข้าตีรัสเซีย

  9. ๙. ดูอนุสัญญาสันติภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๔๑ ในบทที่ ๑ ข้างต้น

  10. ๑๐. นายเอดวิน สแตนตัน

  11. ๑๑. ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และถึงแก่อนิจกรรมแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐

  12. ๑๒. United Nations Yearbook 1946-1947, หน้า ๔๑๙

  13. ๑๓. ในขณะนั้น เพื่อประโยชน์แห่งการเลือกตั้ง จังหวัดพระนครแบ่งออกเป็นหกเขต เขตห้า ซึ่งข้าพเจ้าสมัครรับเลือกตั้งในขณะนั้น ประกอบด้วย อำเภอพระโขนง อำเภอพระประแดง อำเภอสมุทรปราการ อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางพลี

  14. ๑๔. พันเอกหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าและทรงกรม เป็นกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ

  15. ๑๕. พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในฐานเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือถึงข้าพเจ้า ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ และข้าพเจ้าตอบตกลง โดยหนังสือลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐

  16. ๑๖. ต่อมา ทรงได้รับเลื่อนกรมขึ้นเป็นกรมพระ และเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เฉลิมพระยศเป็นสมเด็จกรมพระยา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ