รายงาน ความเห็นคณะกรรมาธิการวิสามัญสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติ ซึ่งคณะเสรีไทยได้ใช้จ่าย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ตามที่คณะกรรมาธิการได้รับมอบหมายมาสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติ ซึ่งคณะเสรีไทยได้ใช้จ่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศนั้น เบื้องต้นคณะกรรมาธิการอยากจะเสนอเสียก่อนว่า คำว่า ทรัพย์สิน ของชาติที่ให้สอบสวนสะสางนี้ หมายถึงอะไรบ้าง คณะกรรมาธิการได้เชิญผู้เสนอญัตติมาชี้แจงต่อที่ประชุม นายบุญช่วย อัตถากร ชี้แจงว่า ไม่มีหลักฐานอันใดว่าใครทุจริตในข้อไหน อันใด แต่ได้มีการซุบซิบในทำนองไม่งดงาม เห็นจะหมายความว่า ได้มีใครในคณะนี้เอาเงินทองไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวในเมื่อได้รับเงินมาจากกองบัญชาการเสรีไทย ส่วนในเรื่องทรัพย์สินอย่างอื่น เช่นเครื่องยุทโธปกรณ์นั้น ไม่มีใครกล่าวอ้างถึง แต่ตามคำชี้แจงของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ว่าเครื่องยุทโธปกรณ์เหล่านี้ได้รับมาจากฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมิได้เบิกจ่ายมาจากรัฐ เครื่องยุทโธปกรณ์เหล่านี้บางทีจะยกให้แก่ประเทศไทย ทั้งนี้ เป็นที่เข้าใจว่า ทางเสรีไทยมิได้รับเครื่องยุทโธปกรณ์ของรัฐมาใช้สอยในกิจการนี้ เครื่องยุทโธปกรณ์เหล่านี้จึงไม่อยู่ในข่ายพิจารณาของกรรมาธิการ

ต่อไปจะได้รายงานถึงเรื่องจำนวนเงินต่างๆ ที่เสรีไทยได้รับและใช้จ่ายไปในกิจการของเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศ ตามที่มีญัตติเสนอในเรื่องนี้ ซึ่งเดิมขอสอบสวนสะสางเฉพาะภายในประเทศ แล้วจึงมี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ขอให้ขยายไปถึงกิจการภายนอกประเทศด้วย

คณะกรรมาธิการได้ตรวจพิจารณาตามเอกสารต่างๆ ที่ได้ยื่นไว้ต่อคณะกรรมาธิการ ปรากฏว่าตามเอกสารหมาย ง. หน้า ๒ ว่า รายรับและจ่ายตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ มีรายการว่า เงินของประเทศไทยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งฝากไว้ในแนชนัลซิตี้แบงค์แห่งนิวยอร์ค เป็นเงิน ๒,๗๓๐,๔๗๘.๖๑ เหรียญ ได้จ่ายไปแล้วคือ (๑) จ่ายทางสถานทูต ณ กรุงวอชิงตัน ๖๕๗,๐๙๒.๓๙ เหรียญ (๒) จ่ายทาง โอ.เอส.เอส. สำหรับหน่วยเสรีไทย ๔๑๑,๕๕๗.๙๕ เหรียญ (๓) จ่ายทาง โอ.เอส.เอส. สำหรับส่งของไปเป็นค่าใช้จ่ายในเมืองไทย ๖๓,๑๒๔.๑๘ เหรียญ

จำนวนเงินยอดที่ (๑) ที่ว่าจ่ายทางสถานทูตไทย คือ ๖ แสนเศษนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง เพราะเป็นค่าใช้จ่ายทางสถานทูตไทยที่วอชิงตัน สำหรับกิจการของสถานทูต ดังปรากฏในหน้า ๔. แห่งเอกสารหมาย ง. ฉบับเดียวกันนี้ว่า จ่ายไปสำหรับเงินเดือนข้าราชการ และค่าใช้สอยของสถานทูต เงินค่าดูแลนักเรียน เงินค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนรัฐบาลและนักเรียนส่วนตัว เงินเดือนนายดอลแบร์ เงินค่าเดินทางของครอบครัว ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช กลับเมืองไทย เงินบำนาญ ดร. เอลลิส บำนาญพระยานิเทศวิรัชกิจ เงินเดือนและค่าเดินทางนายเลอเคาท์ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเสรีไทยในอังกฤษ ค่าเครื่องแบบนายทหารเสรีไทยในอเมริกา และทดลองจ่ายให้แก่ผู้ซึ่งถูกส่งออกไปจากเมืองไทย

จริงอยู่ เงินจำนวน ๖ แสนเศษนี้ ไม่เกี่ยวกับประเด็นโดยตรง แต่มีที่น่าสังเกตในยอดต่าง ๆ ๓ ยอด คือ (ก) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเสรีไทยในอังกฤษว่าเป็นจำนวนเงิน ๓๔,๗๔๗.๐๐ เหรียญ กับ (ข) ค่าเครื่องแบบนายทหารเสรีไทยในอเมริกา ๑๓,๔๕๑.๔๔ เหรียญ และ (ค) เงินทดรองจ่ายให้ผู้ซึ่งถูกส่งออกไปจากเมืองไทย เป็นจำนวนเงิน ๖๓,๔๑๗.๕๕ เหรียญ สำหรับเงินยอด (ก) และ (ข) นั้น คงไม่มีปัญหาอันใด เพราะหลวงดิฐการ ผู้เป็นเจ้าหน้าที่การเงินในเรื่องนี้ ลงนามรับรองมา เป็นอันว่าได้จ่ายจริงถูกต้องแล้ว แต่ตามยอด (ค) นั้นว่า เป็นเงินทดรอง ซึ่งในที่สุดทางสถานทูตอาจเรียกคืนได้ จึงไม่น่าจะเกี่ยวกับหน้าที่ของกรรมาธิการชุดนี้

จำนวนเงินยอดที่ (๒) ที่ว่าจ่ายทาง โอ.เอส.เอส. สำหรับหน่วยเสรีไทย ๔๑๑,๕๕๗.๙๕ เหรียญนั้น ต้องเป็นที่เข้าใจว่าจ่ายสำหรับเสรีไทยนอกประเทศ ซึ่งหมายถึงเสรีไทยในอเมริกาโดยเฉพาะ เพราะตามยอดเงินหมายเลข (๑) ได้แยกรายการค่าใช้จ่ายสำหรับเสรีไทยในอังกฤษไว้ต่างหาก ดังปรากฏในหน้า ๔. ที่รายการหมายเลข ๑๔ ซึ่งในเอกสารหมาย ง. หน้า ๕. ชี้แจงว่า นายมณี สาณะเสน จะรวบรวมบัญชีส่งเข้ามาตรวจสอบ (ทางสถานทูตในอเมริกา) และส่งเงินคืนถ้ามีเหลือ จำนวนเงินตามยอดที่ (๒) นี้มีรายละเอียดตามเอกสารหมายอักษร ข. ตอน ๒ ว่า โอ.เอส.เอส. ได้รับเงิน ๕๐๐,๐๐๐ เหรียญมาแล้ว ได้ใช้จ่ายไปเป็น ๖ รายการ มีเงินเดือนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการ ค่าอีควิบเมนต์ - ค่าตึกบัญชาการในจีน - ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายรายวันนอกทะเล คงเหลือเงิน ๘๘,๔๔๒.๐๕ เหรียญ ซึ่งได้ส่งคืนเข้าบัญชีของรัฐบาลแล้ว เงิน ๖ รายการเหล่านี้ ทางสถานทูตสหรัฐอเมริกา มีนายพันตรี เจมส์ เอช. ดับลยู. ทอมสัน ลงนามในจดหมายลงวันที่ ๑๗ เมษายน ๑๙๔๖ มาว่า ทางการได้จ่ายจริงตามนี้ และเงินจำนวน ๔๑๑,๕๕๗.๙๕ เหรียญนี้ ทางสถานทูตไทยในวอชิงตัน มีหลวงดิฐการลงนามรับรองรายจ่ายนี้ไว้ ดังปรากฏในเอกสารหมาย ง. หน้า ๒ และในเอกสารหน้าเดียวกันนี้ หลวงดิฐการลงนามรับรองว่า โอ.เอส.เอส. ได้ส่งคืนเงินที่เหลือเป็นจำนวน ๘๘,๔๔๒.๐๕ เหรียญเข้าบัญชีคงคลัง (ของไทย) ที่แนชนัลซิตี้แบงค์แห่งนิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๔๘๙ เงิน ๒ ยอดนี้ทั้งที่จ่ายไปและส่งคืนนี้ ถ้ารวมกันก็เป็น ๕๐๐,๐๐๐ เหรียญ เท่าที่ โอ.เอส.เอส. ได้รับไป

คณะกรรมาธิการเห็นว่า จำนวนเงิน ๕๐๐,๐๐๐ เหรียญ ซึ่ง โอ. เอส. เอส. ได้รับไปเพื่อใช้จ่ายในการเสรีไทยนอกประเทศนั้น ได้ใช้จ่ายไปจริงถูกต้องแล้ว ตามหลักฐานที่ได้ยื่นมา และเงินที่เหลือก็ได้คืนให้รัฐบาลไทยแล้ว ยอดที่ได้จ่ายไปเป็นเงิน ๔๑๑,๕๗๗.๙๕ เหรียญ และส่งคืนเป็นเงิน ๘๘,๔๔๒.๐๕ เหรียญ คงรวมกันเท่ากับยอดเงิน ๕๐๐,๐๐๐ เหรียญ ที่ โอ.เอส.เอส ได้รับไปถูกต้องตรงกันแล้ว

คราวนี้ว่าถึงเงินยอดที่ (๓) ตามหนังสือสถานทูตในวอชิงตัน หน้า ๒ คือเงินที่ใช้จ่ายเกี่ยวกับเสรีไทยอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวกับกิจการทางในเมืองไทยเป็นจำนวน ๖๓,๑๒๔.๑๘ เหรียญ เงินจำนวนนี้มีคำอธิบายในหน้า ๖ ว่าได้ซื้อทองคำส่งไปเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการต่อต้านในเมืองไทย งวดแรกเป็นเงิน ๔๙,๙๕๗.๐๖ เหรียญ และค่าใช้จ่ายในการนี้ ๑๒๘,๖๒ เหรียญ กับส่งไปให้นายถวิล อุดล ในเมืองอื่นอีก ๑๓,๐๓๘.๕๐ เหรียญ รวมเป็นเงิน ๖๓,๑๒๔.๑๘ เหรียญ เมื่อได้หักเงินจำนวนนี้ออกจากเงินที่จัดสรรไว้สำหรับเสรีไทยในประเทศ ๕๐๐,๐๐๐ เหรียญแล้ว คงเหลือเงิน ๔๓๖,๘๗๕,๘๒ เหรียญ ทั้งมีรายการแจ้งอยู่ในบัญชีรายละเอียดของ โอ.เอส.เอส. เรียกว่า บัญชีเงินไทย เอฟ.อี. ๒ ค่าใช้จ่ายระหว่าง ๑๗ เมษายน ๑๙๔๕ ถึง ๑๙ พฤศจิกายน ๑๙๔๕ ทั้งนี้ตามเอกสารหมาย ง. หน้า ๗

คณะกรรมาธิการเห็นว่า เงินจำนวน ๔๙,๙๕๗.๐๖ เหรียญ เป็นจำนวนที่ถูกต้องซึ่งกองบัญชาการเสรีไทยในประเทศได้รับไว้ ดังที่ปรากฏในเอกสารหมาย ก. ซึ่งเป็นจดหมายของสถานทูตสหรัฐอเมริกา ซึ่งลงนาม ชาลล์. ดับลยู, โยสต์ ลงวันที่ ๑๗ เมษายน ๑๙๔๖ ถึง นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศยืนยันว่า ทองคำซึ่งทาง โอ.เอส. เอส. ได้ส่งมายังกรุงเทพฯ เพื่อใช้จ่ายสำหรับขบวนเสรีไทยในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๔๕ เป็นจำนวนเงิน ๔๙,๙๕๗.๐๖ เหรียญ นอกจากเอกสารหมาย ก. นี้ ยังมีบัญชีรายการละเอียดส่งมาประกอบการใช้จ่ายเงินรายนี้อีก คือจดหมายสถานทูตสหรัฐอเมริกา ลงนาม นายพันตรี เจมส์ เอช. ดับลยู. ทอมปสัน ลงวันที่ ๑๗ เมษายน ๑๙๔๖ ถึง ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งกรรมาธิการหมาย ข. ในรายการหมายเลข ๓ ว่า ทองคำส่งมอบที่กรุงเทพฯ ราคา ๔๙,๙๕๗.๐๖ เหรียญ ทองคำรายนี้ นายวิจิตร ลุลิตานนท์ ประจำกองบัญชาการเสรีไทยในประเทศ พร้อมด้วยนายทวี ตะเวทิกุล ได้ลงนามรับมอบไว้จาก พ.ต. เวสเตอร์ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๔๘๘ ซึ่งมีหลักฐาน นายดิเรก ชัยนาม บันทึกไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นถูกต้องแล้ว วันนี้ ด.ช. ๙ เมษา ๘๓” ทองคำนี้หนักประมาณ ๕๐ ก.ก. ตีราคาเป็นเงินอเมริกัน ๔๙,๙๕๗.๐๖ เหรียญ ทั้งนี้ต่ำกว่าจำนวนที่ระบุมาในจดหมายสถานทูตสหรัฐอเมริกา และรายงานสถานทูตไทยในวอชิงตันเพียง ๕๐ เซนต์ กรรมาธิการได้สอบถามนายวิจิตร ลุลิตานนท์ แล้วชี้แจงว่า การรับมอบกันครั้งนั้น ผู้นำมาไม่มีบัญชีกำกับ เร่งนับคำนวณกันโดยด่วนในบ้านลี้ลับซ่อนเร้นแห่งหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นสถานแห่งกิจการของเสรีไทย คณะกรรมาธิการเห็นว่าผิดกันเพียงจำนวนเล็กน้อย (๕๐ เซนต์เท่านั้น) ทั้งนี้ปรากฏตามเอกสารหมาย ค.

นายวิจิตร ลุลิตานนท์ ได้จัดการให้ธนาคารจำหน่ายขายทองคำนี้ โดยหักค่าป่วยการของธนาคารแล้วได้เงิน ๑,๔๖๐,๑๘๔.๘๔ บาท ตามเอกสารหมาย ค. หน้า ๒ เงินจำนวนนี้ทางกองบัญชาการเสรีไทยในประเทศได้ใช้จ่ายไปรวม ๑๘ รายการ ตามเอกสารหมาย ฌ. คือ

๑. ค่าใช้จ่ายส่งคนไปต่างประเทศ

๑๘๔,๖๐๕.๐๐ บาท

๒. ค่าใช้จ่ายหน่วยอุตรดิตถ์-สุโขทัย

๒๐,๐๐๐.๐๐ บาท

๓. ค่าใช้จ่ายหน่วยบางกะปิ

๒๐,๐๐๐.๐๐ บาท

๔. ค่าใช้จ่ายหน่วยเลย

๓๖,๐๐๐.๐๐ บาท

๕. ค่าใช้จ่ายหน่วยกาญจนบุรี

๓,๕๐๐.๐๐ บาท

๖. ค่าใช้จ่ายหน่วยนครศรีธรรมราช-เพชรบุรี

๔๒,๑๐๐.๐๐ บาท

๗. ค่าใช้จ่ายหน่วยชัยภูมิ

๕,๐๐๐.๐๐ บาท

๘. ค่าใช้จ่ายหน่วยหัวหิน-ปราณบุรี

๑,๐๐๐.๐๐ บาท

๙. ค่าใช้จ่ายหน่วยระนอง

๘๐,๐๐๐.๐๐ บาท

๑๐. ค่าใช้จ่ายหน่วยสกลนคร-นครพนม-หนองคาย-มหาสารคาม-อุดร-อุบล

๑๖๕,๒๐๐.๐๐ บาท

๑๑. ค่าใช้จ่ายสายลับพิเศษ

๔๗,๐๐๐.๐๐ บาท

๑๒. ค่าใช้จ่ายในการเรือขนส่งทางน้ำ

๑๖๘,๒๕๓.๓๐ บาท

๑๓. ค่าใช้จ่ายค่ายอังกฤษ

๑๕๘,๒๙๒.๑๐ บาท

๑๔. ค่าใช้จ่ายค่ายอเมริกัน

๑๖๕,๕๑๐.๐๐ บาท

๑๕. ค่าใช้จ่ายในการวิทยุสื่อสารลับ

๒๑๑,๑๒๗.๐๐ บาท

๑๖. ค่าใช้จ่ายสายจีน

๕๗,๑๙๗.๕๑ บาท

๑๗. ค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง

๓๐,๘๐๐.๐๐ บาท

๑๘. ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด-รับรอง-พาหนะ-เบี้ยเลี้ยง-ซ่อมแซมพาหนะ

๑๒๔,๕๙๙.๙๓ บาท

รวมทั้งสิ้น

๑,๔๑๐,๑๘๔.๘๔ บาท

เป็นอันว่าเงินจำนวน ๔ หมื่น ๙ พันเหรียญเศษนั้น ได้จ่ายหมดสิ้นไปแล้ว ตามเอกสารหมาย ฌ. ซึ่งนายวิจิตร ลุลิตานนท์ ลงนามรับรองว่า ได้ใช้จ่ายไปในการรับรองเสรีไทยจริง

ส่วนเงินอีกรายการหนึ่ง ตามจดหมายของสถานทูตสหรัฐอเมริกา เอกสารหมาย ข. คือค่าปฏิบัติการ (Operating expenses) ๑๒๘.๖๒ เหรียญนั้น มีคำสนับสนุนในรายงานของสถานทูตไทยในวอชิงตันหมายอักษร ง. หน้า ๕ ว่า ค่าใช้จ่ายในการนั้น (หมายถึงการซื้อทองคำส่งมาให้เสรีไทยในประเทศ) เงิน ๑๒๘.๖๒ เหรียญ และในเอกสารหมาย ง. นี้ หน้า ๗ ยังแสดงรายละเอียดในเงินจำนวนนี้ว่า (๑) ค่าหลอมทองคำของโรงกษาปณ์ เงิน ๗๒.๐๘ เหรียญ กับ (๔) ค่าขนส่งในสหรัฐอเมริกาเงิน ๕๖.๕๔ เหรียญ ซึ่งเมื่อคำนวณบวกกันดู ก็เป็นเงิน ๑๒๘.๖๒ เหรียญตรงกัน เอกสารเหล่านี้ มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ลงนามยืนยันมาโดยเรียบร้อย ฉะนั้นจึงถือได้ว่าได้จ่ายไปจริง

กับอีกจำนวนหนึ่ง คือเงิน ๑๓,๐๓๘.๕๐ เหรียญ ซึ่งในเอกสารหมาย ข. ระบุไว้ในรายการหมายเลข ๔ ว่า ทองคำ ส่งให้ ถวิล อุดล เงิน ๑๓,๐๓๘.๕๐ เหรียญ ทั้งนี้มีเอกสารหมาย ง. ซึ่งเป็นรายงานของสถานทูตไทยในวอชิงตัน หน้า ๖ ว่า “ส่งมอบทองให้นายถวิล อุดล รวมเป็นราคา ๑๓,๐๓๘.๕๐ เหรียญ” และในเอกสารฉบับเดียวกันนี้ หน้า ๗ ว่า ซื้อทองคำส่งไปให้นายถวิล อุดล เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๑๙๔๕ เงิน ๑๑,๗๘๓.๕๔ เหรียญ กับเมื่อ วันที่ ๕ ตุลาคม ๑๙๔๕ อีก ๑,๒๕๕.๙๖ เหรียญ เงินสองจำนวนนี้ รวมกันเป็น ๑๓,๐๓๘.๕๐ เหรียญ เอกสารสองฉบับนี้ มีเจ้าหน้าที่ลงนามรับรองยืนยันมา ฉะนั้นจึงเป็นอันถูกต้องว่าได้ใช้จ่ายไปจริงในกิจการของเสรีไทย

เมื่อรวมเงินรายย่อย ๓ ราย คือซื้อทองคำส่งมาให้กองบัญชาการเสรีไทยในประเทศ ๔๙,๙๕๗.๐๖ เหรียญ กับค่าใช้จ่ายในการนั้นอีก ๑๒๘.๖๒ เหรียญ และจ่ายให้นายถวิล อุดล อีก ๑๓,๐๓๘,๕๐ เหรียญ แล้วคงรวมเป็นจำนวนเงิน ๖๓,๑๒๔.๑๘ เหรียญ และเมื่อเอาเงินจำนวนที่ โอ.เอส.เอส. ส่งคืนเข้าบัญชีรัฐบาลตามเอกสารหมาย ง. หน้า ๗ เป็นเงิน ๔๓๖,๘๗๕.๘๒ เหรียญ มาคำนวณบวกกันเข้า คงได้จำนวนเลข ๕๐๐,๐๐๐ เหรียญ เท่ากับจำนวนเงินที่จัดสรรสำหรับเสรีไทยในประเทศจ่ายให้ โอ.เอ.เอส. ไป ฉะนั้น จึงเป็นอันว่า เงินค่าใช้จ่ายของเสรีไทยในประเทศที่เอามาจากเงินเหรียญที่ถูกกักไว้ในอเมริกานั้นเป็นอันถูกต้องแล้ว ไม่มีการหายหกตกหล่นประการใด เงินจำนวน ๔ แสนเหรียญเศษ ปรากฏในเอกสารหมาย ง. หน้า ๓ ว่า ส่งคืนเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๘

สรุปความว่า เงินที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้จัดสรรจ่ายให้ โอ.เอส.เอส. ไป ๒ จำนวน จากเงินของรัฐบาลที่ถูกกักอยู่ที่อเมริกา เป็นเงินคราวละ ๕ แสนเหรียญ รวม ๑ ล้านเหรียญนั้น เจ้าหน้าที่จำหน่ายบัญชีได้ถูกต้องตรงกันแล้ว ไม่มีสูญหายประการใดเลย

ส่วนเงินในงบประมาณแผ่นดินที่เรียกว่า งบช่วยประชาชน หรือที่เรียกในภายหลังว่า งบศานติภาพนั้น มีรายการเลข ๑ ว่า เงินใช้ในการต่อต้านญี่ปุ่น ถึง ๑๐ สิงหาคม ๒๔๘๘ เป็นเงิน ๘,๘๖๗,๙๘๙.๘๗ บาท ตามเอกสารหมาย ฉ. นั้น เจ้าหน้าที่ได้ใช้จ่ายไปหมดสิ้นแล้ว ตามเอกสารหมาย ญ. มีรายการดังนี้ คือ

๑. หน่วยทหาร

๓๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท

๒. หน่วยตำรวจ

๒,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท

๓. หน่วยชลบุรี

๕๖๗,๔๕๐.๐๐ บาท

๔. หน่วยกาญจนบุรี

๕๒๘,๐๐๐.๐๐ บาท

๕. หน่วยสุพรรณบุรี

๒๑๗,๕๐๐.๐๐ บาท

๖. หน่วยปราจีน-ฉะเชิงเทรา

๓๙,๒๑๗.๑๖ บาท

๗. หน่วยอ่างทอง-อยุธยา

๓๕๐,๔๖๕.๐๐ บาท

๘. กองบัญชาการ

๔๒,๐๐๐.๐๐ บาท

๙. หน่วยอุบล

๕๓,๐๐๐.๐๐ บาท

๑๐. หน่วยมหาดไทย

๕๓๖,๔๔๑.๘๗ บาท

๑๑. หน่วยสุโขทัย-อุตรดิตถ์

๑๒๐,๐๐๐.๐๐ บาท

๑๒. หน่วยสื่อสาร

๒๒๓,๐๐๐.๐๐ บาท

๑๓. หน่วยกระทุ่มแบน

๒๕,๓๑๐.๕๐ บาท

๑๔. หน่วยแพร่

๖,๑๑๗.๗๒ บาท

๑๕. หน่วยต่างประเทศ

๑๐๙,๒๘๗.๙๗ บาท

๑๖. หน่วยสกลนคร

๕๒,๐๐๐.๐๐ บาท

๑๗. หน่วยอีสาน

๑๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท

๑๘. หน่วยโคราช

๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท

๑๙. หน่วยเชื้อเพลิง-ค่าขนส่ง

๓,๕๔๘,๑๙๙.๖๕ บาท

รวม

๘,๘๖๗,๙๘๙.๘๗ บาท

ในการใช้จ่ายตามรายการเหล่านี้ มีเจ้าหน้าที่กองคลังแห่งกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี คือ นายอรุณ ประสานทอง ลงนามรับรองว่า รายการต่างๆ ถูกต้องแล้ว ได้ใช้จ่ายไปในกิจการเสรีไทยจริง จึงเป็นอันว่า เงินยอดใช้ในการต่อต้านญี่ปุ่นรวม ๘,๘๖๗,๙๘๙.๘๗ บาท ตามงบประมาณช่วยประชาชน รายการเลข ๑ นั้น จำหน่ายบัญชีได้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว

อนึ่งตามเอกสารหมาย ฉ. คืองบช่วยประชาชน มีรายการหมายเลข (๒) เงินใช้จ่ายในงบศานติภาพ ได้กำหนดไว้เป็นจำนวนเงิน ๑๕,๐๘๘,๙๙๖.๒๐ บาท ตามเอกสารหมาย ฉ. นั้น มีการใช้จ่ายสืบเนื่องเกี่ยวกับเสรีไทยภายหลังที่ญี่ปุ่นยอมจำนน รวม ๙ รายการ เป็นเงิน ๗๓๗,๔๓๙.๙๑ บาท ตามเอกสารหมายอักษร ป. มีเจ้าหน้าที่การคลังแห่งกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงนามรับรองว่า ได้จ่ายไปจริงตามรายการนั้น ๆ ในกิจการของเสรีไทย ฉะนั้นจึงเป็นอันว่า มีการจำหน่ายบัญชีได้ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติของขบวนเสรีไทยมีรายการดังนี้ คือ

๑. หน่วยกาญจนบุรี

๔๘๘.๑๐ บาท

๒. หน่วยปราจีน-ฉะเชิงเทรา

๖๑,๒๖๐.๔๙ บาท

๓. หน่วยอ่างทอง-อยุธยา

๒๘,๗๕๒.๓๙ บาท

๔. หน่วยกระทุ่มแบน

๑,๖๕๐.๐๐ บาท

๕. หน่วยอุบล

๘,๔๘๕.๐๐ บาท

๖. หน่วยสกลนคร

๑๙๐,๐๐๐.๐๐ บาท

๗. หน่วยนครปฐม

๑๐,๐๐๐.๐๐ บาท

๘. หน่วยโฆษณาและการรับรอง

๓๒๓,๑๓๙.๒๓ บาท

๙. หน่วยขนส่งเชื้อเพลิง

๑๑๓,๖๖๔.๗๐ บาท

รวม

๗๓๗,๔๓๙.๙๑ บาท

กับอนึ่งตามเอกสารหมาย ช. ปรากฏว่าได้มีการใช้จ่ายบางรายในกิจการของเสรีไทย ยังมิได้รับเงินสดใช้ที่เขาได้ออกไป เช่น น.อ. กาจ เก่งระดมยิง ร้องขอรับเงินสดใช้ที่ได้จ่ายไปแล้ว เป็นเงิน ๑๔๔,๖๖๐ บาท เงินที่มีผู้ได้ใช้จ่ายไปในกิจการของเสรีไทยนี้ เมื่อยังมิได้รับชำระก็เป็นเรื่องที่หัวหน้าเสรีไทยจะพิจารณาเงินรายใดชดใช้ให้เขาตามสมควร

คณะกรรมาธิการขอชี้ให้เห็นว่า ขบวนการกระทำอย่างลับ ๆ ชนิดนี้นั้น จะหวังให้มีบัญชีรายละเอียดและใบคู่จ่ายอย่างบัญชีงบดุลย์แห่งบริษัทหรือสมาคมในยามสงบนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ผู้สอบถามน่าจะต้องพอใจเมื่อเห็นว่าเงินนั้นได้จ่ายไปเป็นการพิเศษ จำเป็นสำหรับความสำเร็จแห่งขบวนการกระทำนั้น ตามที่ปรากฏข้างบนนี้ คณะกรรมาธิการเห็นว่า โรงทหาร สนามบิน ค่าย กองบัญชาการ ฯลฯ ได้ก่อสร้างในอาการที่ลำบาก ด้วยสมรรถภาพที่น่าชมเชย และเป็นผลแสดงว่า เงินที่ใช้จ่ายไปแล้วนั้น สมควรแก่การงานที่กระทำไป นายพล เจ๊กส์ โดยเฉพาะ ได้กล่าวทักว่า สนามบินที่เสรีไทยได้ก่อสร้างทำไปนั้น ว่าโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ก่อสร้างได้ถูกมาก ทั้งนี้ย่อมเป็นที่น่านับถือ (Credit) ในบุคคลที่รับผิดชอบในการนี้

ย่อมเป็นการจำเป็นที่จะต้องใช้เงินในรายการที่นายพล เจ๊กส์ เรียกว่า จำนวนเงินงบบัญชีไม่ได้ (Unaccountable) เป็นต้นว่า จำนวนเงินที่ให้ไปแก่นักโดดร่มชูชีพในดินแดนศัตรู

ความจริงในเมื่อเกิดกรณีซ่อนเร้นและน่าอันตรายเช่นนั้น ต้องระวังกันอย่างกวดขัน อย่าให้เป็นภัยแก่ผู้มีส่วนในขบวนการกระทำนั้น ต้องปกปิดนามกัน เช่นหัวหน้าเสรีไทย ก็กระทำไปในนามแฝงว่า “รู้ธ” เอกสารโดยเฉพาะ เช่น เช็ค ใบคู่จ่าย ใบเสร็จ คำสั่ง ฯลฯ ย่อมจะเปิดเผยนามผู้รับ ผู้ใช้จ่าย ไม่ได้ เพราะจะเกิดผลให้รู้ว่าใครเป็นใคร บุคคลที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องเสี่ยงชีวิตเนือง ๆ ซึ่งถ้าข้าศึกได้ค้นพบเอกสารอันเป็นโทษเหล่านั้นเข้า จะเป็นภัยอย่างยิ่ง โค้ดลับเท่านั้น ที่จะใช้เป็นอุบายป้องกันผลอันน่ากลัว มิให้บังเกิดขึ้น ในเวลาพลาดท่าพลาดทางลง

ข้อนี้มิใช่เป็นกรณีพิเศษสำหรับประเทศไทยเท่านั้น แม้เหตุการณ์เช่นเดียวกันยังเกิดขึ้นในประเทศอื่น ก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน นายพันตรี ทอมป์สัน ก็ได้มาชี้แจงยังคณะกรรมาธิการว่า ขบวนต่อต้านในฝรั่งเศสก็ต้องรักษาความลับ ต้องเชื่อถือไว้วางใจกัน ไม่ควรเข้าใจผิด อย่างในประเทศไทย นายนาวาตรี แมกโดแนลด์ ก็ได้ชี้แจงว่า ทางโอ.เอส.เอส. ไม่ต้องการรายละเอียดค่าใช้จ่ายอย่างไรเลย นายพลเจ๊กส์ หัวหน้า วัน. ธรี. ซิกซ์. ของอังกฤษ ได้อ้างถึงคำสั่งทั่วไปว่า ไม่ให้เก็บเอกสาร ใบรับ หรือนามบุคคล โดยให้รักษาความลับอย่างที่สุด เพราะว่าอาจนำไปซึ่งการจับกุม กระทำให้เสียซึ่งโครงการถูกทำลายสิ้นไป และความจริงเพื่อหลักประกัน (Security) ทางเสรีไทยได้ถูกร้องขอโดย วัน.ธรี. ซิกซ์. ให้ทำลายบรรดาเอกสารทั้งสิ้น ที่อาจเป็นภัยในทางปฏิบัติ ย่อมถือเอาซึ่งการงานที่ได้รับมอบหมายไปกระทำ ส่วนรายละเอียดโดยเฉพาะย่อมต้องปิดบัง

ฉะนั้น คณะกรรมาธิการจึงมีความเห็นว่า การที่กระทำไปในประเทศไทย ย่อมต้องเป็นไปเช่นเดียวกับที่กระทำกันในประเทศอื่น และในกรณีเช่นนี้ ย่อมเป็นการผิดวิสัยและพ้นวิสัยที่จะขอร้องรายละเอียดแห่งรายการต่าง ๆ ที่กล่าวข้างบน

(ดูเหมือนต้นเหตุแห่งเหตุการณ์คราวนี้ เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดในจำนวน ๕ แสนเหรียญในอเมริกา ซึ่งจัดจำแนกไว้สำหรับเสรีไทยเป็นเบื้องต้น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ดูเหมือนคิดไว้แต่ต้น จะส่งเงินจำนวนนี้มาให้ขบวนเสรีไทยในประเทศไทย แต่ภายหลังมีการส่งมาทางเอเซีย รวมทั้งสิ้นเพียง ๖๓,๑๒๔.๑๘ เหรียญ ส่วนเงินจำนวนนอกนั้น คงยังอยู่ในสหรัฐอเมริกา มิได้สูญหายประการใด ข้อนี้ตามทางสอบสวนได้ความชัด แต่หากก่อนหน้านั้น เกิดการสับสนในความตั้งใจและในข้อเท็จจริง จึงทำให้บางคนเกิดสงสัยว่า เงินจำนวนนี้จะได้สูญหายไปเป็นบางส่วน)

พึงสังเกตว่า ความเข้าใจผิดเช่นนี้ แม้จะโดยสุจริตก็ดี อาจทำให้เกิดเล่าลือแพร่หลายได้ง่าย ๆ ในเมื่อการเมืองกับการเงินเข้าปะปนกันขึ้น อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการทำให้รู้แน่ได้ว่า ข่าวลือเหล่านั้นไม่มีมูลความจริง จากการตรวจสอบเอกสารและบัญชีที่ยื่นต่อคณะกรรมาธิการ ปรากฏชัดว่า ทุกสิ่งถูกต้องตรงกัน ในการสอบสวนของคณะกรรมาธิการ ปรากฏว่า ผู้เสนอญัตติไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงอันใดที่จะเสนอต่อคณะกรรมาธิการ เพื่อให้เห็นว่า ข่าวลือนั้นเป็นความจริงให้เกิดการสงสัย (เช่นว่าการยักยอกเงินของชาติ หรือใช้จ่ายไปนอกเหนือกิจการเสรีไทย หรือทำให้เสียหายตกหล่นอย่างไร ฯลฯ)

ขบวนเสรีไทย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ขบวนใต้ดินนี้ มีข้อเท็จจริง ซึ่งตามกฎหมายได้ถือว่าได้ปฏิบัติการช่วยเหลือเผื่อแผ่แก่ราชศัตรู ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๑๐ อาจมีโทษถึงตายก็เป็นได้ ซึ่งเป็นผู้ที่เสี่ยงชีวิตเพื่อเห็นแก่ประเทศชาติในยามคับขัน เพราะมีอุดมคติตั้งใจจะกอบกู้ฐานะของประเทศมิให้เสียเอกราชฐานผู้แพ้สงคราม หรือมิฉะนั้นก็เป็นประเทศเอกราชแต่ในนามตามสัญญา สงบศึก

ตามเอกสารหมาย ค. ซึ่งเป็นคำตอบของผู้รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีสหรัฐอเมริกา ถึงหัวหน้าเสรีไทย ให้คำรับรองว่าจะเคารพ (Respect) ความเป็นเอกราชของประเทศไทย และตามเอกสารหมาย ต. นาย เอช. อาร์ เบิต ก็ได้กล่าวว่า ผลของขบวนเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นนั้น ได้กระทำให้รัฐบาลอังกฤษแนะเสนอข้อตกลงอย่างเบาที่สุด และว่าถ้าเป็นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามแล้ว ข้อตกลงที่เสนอนั้น จะหนักต่างกันอย่างยิ่ง เพราะจะถือว่าไทยเป็นประเทศศัตรูทำนองเดียวกับเยอรมันและญี่ปุ่น

ตามเอกสารหมาย ถ. เป็นสำนวนถ้อยแถลงของนายเบวิน เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๘๓ เกี่ยวกับเสรีไทยว่า รัฐบาลอังกฤษยอมรับรู้ในการที่ขบวนเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือ แต่จะลบล้างการที่ไทยได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษ ซ้ำยังรับเอาดินแดนของอังกฤษไปจากมือญี่ปุ่น หรือไม่ ประการใดนั้น ต้องรอดูจิตารมณ์ของไทยต่อไปในการรับรองทหารฝ่ายอังกฤษที่จะเข้าไปในประเทศไทย

ตามเอกสารหมาย ท. เป็นถ้อยแถลงของนายโยสต์ กล่าวตอบรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๘๙ ใจความเกี่ยวกับเสรีไทยว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกายังจำได้อยู่เสมอ ด้วยความขอบคุณและชมเชยว่า ขบวนเสรีไทยใต้ดินได้ซื่อสัตย์ช่วยเหลือสัมพันธมิตร

ตามเอกสารหมาย บ. เป็นถ้อยแถลงของนายฮาริงตัน เกี่ยวกับเสรีไทยว่า ขบวนเสรีไทยได้มีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้อเมริกาเชื่อแน่ว่า ไทยเป็นมิตร จึงพร้อมที่จะช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อบูรณะการเศรษฐกิจของประเทศ

ตามเอกสารต่าง ๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า ขบวนเสรีไทยได้กอบกู้ฐานะของประเทศชาติเนื่องจากสงครามคราวนี้ได้เป็นอย่างดี สมควรเป็นเจ้าหนี้บุญคุณแก่ปวงชนชาวไทย และถ้ามีทางใดที่ประเทศชาติจะสมนาคุณแก่ผู้ที่เสี่ยงชีวิตเข้ามาในการกอบกู้ฐานะของประเทศชาติเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นที่ยินดียิ่ง

(ในสุดท้ายขอให้ระวังอย่าให้เกิดการท้อถอยอิดหนาระอาใจ จนไม่มีใครคิดริเริ่มกระทำกิจการสิ่งใดในเมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันในอนาคต หากว่าบุคคลซึ่งริเริ่มกระทำการส่งนั้นถูกไต่สวนในเรื่องการเงินอันพ้นวิสัยจะปฏิบัติได้ ในกรณีเช่นนี้ ผลของงานย่อมสนองนโยบายและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายที่จะกอบกู้ฐานะของประเทศชาติย่อมจะต้องเชื่อถือกัน และหนทางที่เขากระทำไปเพื่อบำบัดความยุ่งยาก ก็ควรจะเชื่อถือด้วย)

(ลงชื่อ) เทพวิทุร

(ลงชื่อ) นลราชสุวัจน์

(ลงชื่อ) วิกรมรัตนสุภาษ

(ลงชื่อ) นิติศาสตร์

(ลงชื่อ) พิชาญ บุลยง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ