การปฏิบัติงานในระหว่างและหลังสงคราม ในแคนดี ในนิวเดลฮี และในสหรัฐอเมริกา ของ พระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม)

(โดยย่อ)

----------------------------

คุณดิเรก ชัยนาม ผู้เขียนหนังสือ ไทยกับสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ข้าพเจ้าได้ไปปฏิบัติให้ขบวนการต่อต้านของไทย ในแคนดี ในนิวเดลฮี และในสหรัฐอเมริกา ระหว่างและภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อนำเข้าแทรกในหนังสือดังกล่าวของท่าน

ข้าพเจ้ามีความยินดียิ่ง ที่จะสนองความประสงค์ของคุณดิเรก ชัยนาม ผู้เป็นที่รักนับถือมานานแล้ว ทั้งข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะมีส่วนเล็กน้อยในหนังสือ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าจะเป็นเอกสารอันสำคัญอันหนึ่งของไทย และย่อมจะเป็นประโยชน์แก่นักประวัติศาสตร์และนักศึกษาที่ประสงค์จะค้นคว้าหาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับไทยกับสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะต้องถือว่าสงครามโลกครั้งที่สองเป็นสมัยสำคัญสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเรา คุณดิเรก ชัยนาม ก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในคณะรัฐบาล กับได้เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษในระหว่างนั้นกับเมื่อสงครามยุติแล้วด้วย ท่านจึงรู้เห็นเหตุการณ์โดยใกล้ชิด และมีหน้าที่เจรจาโดยตรงกับผู้แทนประเทศที่เกี่ยวข้องอยู่มาก

เรื่องที่เขียนนี้ ข้าพเจ้าได้ย่อลงเพื่อให้เข้ากับความมุ่งหมายของหนังสือ ไทยกับสงครามโลกครั้งที่สอง จึงมิได้กล่าวทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ปฏิบัติไป

รับมอบหมายหน้าที่

วันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (นายปรีดี พนมยงค์) ให้ตามตัวข้าพเจ้าและหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ (ประดิษฐ สุขุม) ผู้เป็นน้องชาย ไปพบที่บ้าน ที่ท่าช้างวังหน้าตอนกลางคืนราว ๒๑ น. เมื่อข้าพเจ้าไปพบแล้ว จึงทราบว่า ท่านให้ตามตัวในฐานะท่านเป็นหัวหน้าขบวนการต่อต้านของไทย ท่านหัวหน้าขบวนการต่อต้านได้กล่าวว่า อยากจะให้เราทั้งสอง ช่วยท่านทำงานสำคัญของชาติ เราจะสมัครใจหรือไม่ ถ้าสมัครใจ ก็ขอให้ปฏิญาณตนว่าจะไม่บอกเรื่องต่าง ๆ ที่จะเข้าร่วมทำด้วยนี้ แก่ผู้หนึ่งผู้ใดรวมทั้งลูกเมียด้วย เมื่อเราทั้งสองตอบว่า เราสมัครใจ และเมื่อได้ปฏิญาณตนแล้ว ท่านก็ได้เล่าให้เราฟังเรื่องงานของขบวนใต้ดินเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และประสงค์จะให้เราเล็ดลอดเดินทางไปสหรัฐอเมริกา และถามว่าเราสมัครไปหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะเล็ดลอดออกจากประเทศไทยโดยวิธีใด ข้าพเจ้าก็ได้ตอบความสมัครใจโดยทันที หลวงสุขุมฯ ก็ได้ตอบเช่นเดียวกัน และเราก็ได้รับแจ้งว่าให้รอคำสั่งต่อไป

ในวันเสาร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ท่านหัวหน้าขบวนการต่อต้านได้ตามตัวไปพบอีก และถามว่าข้าพเจ้าพร้อมที่จะออกเดินทางในวันมะรืนนี้ คือวันจันทร์ที่ ๒๑ นี้ ได้หรือไม่ เมื่อได้รับคำตอบว่าพร้อมแล้ว ท่านหัวหน้าขบวนการต่อต้านจึงได้เปิดเผยวิธีการเดินทาง โดยเราจะต้องเดินทางออกจากพระนครตอนกลางคืน ไปคอยขึ้นเครื่องบินทะเลในอ่าวไทย ณ จุดหนึ่งซึ่งได้นัดหมายกันไว้แล้ว

หน้าที่หลักที่เราได้รับมอบหมายคือ การจัดทำให้ผ่อนหนักเป็นเบา เนื่องจากการกระทำของรัฐบาลไทยในระหว่างสงคราม กับเตรียมการบรรเทาทุกข์และบูรณะประเทศหลังสงคราม เราจะต้องไปหาวิถีทางนำข่าวและข้อเท็จจริง ไปให้ชนชาวอเมริกันทราบและเข้าใจว่า จิตใจของคนไทยอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตร ในการที่ประเทศไทยได้ทำสัญญาร่วมรับร่วมรุกกับญี่ปุ่น และได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ และออสเตรเลียนั้น มิใช่เป็นมติมหาชน แต่เป็นการกระทำของบุคคลไม่กี่คน ที่มีอำนาจควบคุมประเทศอยู่ นอกจากนั้น ให้ไปติดต่อกับองค์การที่เกี่ยวกับการบรรเทาทุกข์ และบูรณะประเทศหลังสงคราม ในอันที่จะช่วยจัดส่งสิ่งของมาให้ประเทศไทย ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ในเมื่อสงครามเสร็จสิ้นไปแล้ว

ในโคลัมโบ แคนดี และนิวเดลฮี

เราได้ออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ตอนกลางคืนของวันจันทร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) โดยเรือยนต์เล็กขนาดยาว ๙ เมตร และได้เดินทางอยู่ ๒ วัน ๒ คืน จึงได้ไปขึ้นเครื่องบินทะเล ซึ่ง โอ.เอส.เอส. (office of Strategie Services) ของสหรัฐอเมริกาได้ส่งมารับในอ่าวไทย เมื่อถึงเมืองมาดราสในประเทศอินเดีย และค้างคืนหนึ่งคืนจึงได้เดินทางต่อไปยังเมืองโคลัมโบ ในเกาะลังกา ต่อจากนั้นก็ได้เดินทางไปเมืองแคนดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการทหารสูงสุดภาคเอเซียอาคเนย์ของสัมพันธมิตร มีพลเรือเอก หลอดหลุยส์ เมานท์แบตเตน เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ณ เมืองนี้คงเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ โอ.เอส.เอส. โดยมีพันเอกคอฟลิน เป็นผู้บัญชาการ

ใน ๒ - ๓ วัน ที่อยู่ในเมืองแคนดี ข้าพเจ้ามีกิจการที่ต้องปฏิบัติตลอดเวลา และได้พูดกับพันเอก คอฟลิน และนายทหารของ โอ.เอส.เอส. กันหลายเรื่อง ในด้านของ โอ.เอส.เอส. เป็นหน้าที่ขององค์การ ที่จะต้องสืบข่าวจากผู้ที่หนีออกมาจากประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในครอบครองของญี่ปุ่น เท่าที่ผู้นั้นจะให้ได้ สำหรับตัวข้าพเจ้า ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นสูง เขาก็หวังได้ข่าวทางสูง ฉะนั้น นอกจากข้อความต่างๆ ที่ข้าพเจ้าถูกซักถามแล้ว เมื่อมีเรื่องอื่นที่ยังไม่แจ่มแจ้งแก่เขา เขาก็ขอให้ข้าพเจ้าชี้แจงให้เป็นที่เข้าใจ เช่นเขาให้ข้าพเจ้าดูประวัติลับของคนไทยที่เป็นคนสำคัญ ๆ ซึ่งเขาได้เรียบเรียงไว้ และขอให้ข้าพเจ้าแก้ไขเพิ่มเติมให้ตรงกับความจริง ข้าพเจ้าจึงได้มีโอกาสทราบถึงฐานะของท่านเหล่านี้ในสายตาของรัฐบาลอเมริกัน และกองบัญชาการทหารอเมริกัน ทางฝ่ายข้าพเจ้าก็ได้ถามเขาเกี่ยวกับการ ดำเนินการสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร และได้เตือนให้เขารีบจัดส่งอาวุธให้ขบวนการต่อต้านของไทย ข้อความสำคัญที่พันเอกคอฟลินแจ้งให้ข้าพเจ้าฟัง และเป็นที่น่าสนใจ มีดังนี้

๑. เขากำลังวิตกและหนักใจ เกรงว่ากองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย จะยึดอำนาจรัฐบาลไทยเร็วเกินไป อาจจะเป็นวันนี้ พรุ่งนี้ ถ้ายึดเร็วเกินไปฝ่ายสัมพันธมิตรจะช่วยไม่ทัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดภาคเอเชียอาคเนย์ หลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเตน พยายามจะเข้าประเทศไทยเร็วที่สุด แต่ต้องมีเวลาเตรียมการและรอเครื่องมือและอาวุธ

๒. รัฐบาลอเมริกัน และอังกฤษ ได้รับรองว่า รู้ธ (นามแฝง ของนายปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้าของชนชาวไทย

๓. ประเทศไทยเป็นเขตที่กองทัพอังกฤษจะยกเข้าโจมตี ไม่ใช่เป็นเขตในหน้าที่ของกองทัพอเมริกัน

๔. ถ้าประเทศไทยจะต้องเลือกทำให้ชาติหนึ่งชาติใดในระหว่าง ๓ ชาติ คืออเมริกา อังกฤษ และจีน ขัดเคืองแล้ว เลือกอเมริกาดีกว่า

๕. เขาอยากให้พลโท โดโนแวน หัวหน้าของ โอ.เอส.เอส. พบกับรู้ธ โดยให้รู้ธบินไปย่างกุ้ง สำหรับนายพลโดโนแวนนั้น คงอยากเข้าไปพบรู้ธในเมืองไทย แต่ตามระเบียบของอเมริกัน ห้ามเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ขนาดนายพลโดโนแวน กระทำเช่นนั้น เพราะนายพลโดโนแวนรู้ความลับมากเกินไป เกรงจะถูกจับกุมตกเป็นเชลย

๖. ประเทศไทยอยู่ในเขตนอก (Outer Perimeter) ของเขตรบ ฉะนั้น จะขอสิ่งใด เช่น เครื่องมือและอาวุธยุทธภัณฑ์ไม่ได้ง่าย ทางวอชิงตันต้องการป้อนเครื่องมือเครื่องใช้ และอาวุธยุทธภัณฑ์ด้านแปซิฟิกก่อน เวลานี้เขาได้ขอเครื่องบินหนึ่งฝูง เพื่อใช้ส่งอาวุธให้เมืองไทย จะสำเร็จหรือไม่ เขาไม่ทราบ งานที่เขาทำนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากวอชิงตัน ถ้าไม่ได้ก็เป็นอันว่าไม่สำเร็จ

๗. การขนส่งป้อนเมืองจีน ยังต้องอาศัยทางอากาศมากกว่าทางบก เพราะรวดเร็วกว่า แต่อากาศเป็นศัตรูร้ายที่สุด ต้องบินข้ามภูเขาสูง น้ำแข็งจับปีก และเครื่องกลไกต่าง ๆ เดือนก่อนนี้ก็ตายไปหลายคน เครื่องบินลำหนึ่งบรรทุกได้ ๑๕,๐๐๐ ปอนด์ (๖,๘๑๘ กิโลกรัม)

๘. เวลานี้ อเมริกากำลังสร้างจรวด (Rocket) เมื่อแล้วเสร็จ เกาะญี่ปุ่นจะแหลกหมด อเมริกาตั้งงบประมาณไว้ ๑๕ พันล้านเหรียญ

๙. อเมริกาต้องการที่จะเผด็จศึกนี้ให้เสร็จเร็วที่สุด ไม่อยากให้ล่าช้า จึงรุกใหญ่ เพราะเห็นว่าสงครามเสร็จเร็ว จะเสียน้อยกว่าเสร็จช้า เขาบ่นถึงความล่าช้าในการรุกของอังกฤษในด้านนี้ เป็นต้น

๑๐. ตอนแรกเป็นห่วงกันว่า เมืองไทยจะเกิดมีผู้นำหลายคน แต่พอรู้ว่ารู้ธ และเบ็ตตี้ (นามแฝงของ พล.ต.อ.อดุลย์ อดุลยเดชจรัส ซึ่งทางอเมริกาให้ไว้) ร่วมกันได้แล้ว ทำให้ทั้งอเมริกาและอังกฤษโล่งใจมาก

๑๑. ในเดือนตุลาคม โอ.เอส.เอส. จะไปตั้งกองบัญชาการที่ย่างกุ้ง

การติดต่อกับเจ้าหน้าที่อื่นๆ นั้น เขาถามข้าพเจ้าในเรื่องต่างๆ ตามวิธีขององค์การ เช่น โอ.เอส.เอส. เพื่อประกอบความรู้ในการปฏิบัติงานของกองทัพอเมริกัน ในระหว่างที่ข้าพเจ้าอยู่ที่แคนดี ข้าพเจ้ากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในภูมิประเทศต่างๆในเมืองไทย เมื่อโอเอส.เอส. ได้รับรายงานว่าเครื่องบินของเขาได้บินลาดตระเวนเห็นการเคลื่อนไหวบนทางหลวง หรือในหมู่บ้าน หรือป่าดง เขาก็ต้องถามข้าพเจ้า ถึงลักษณะของภูมิประเทศเหล่านั้น

ในระหว่างที่อยู่ในแคนดี ข้าพเจ้าได้ซ้อมความเข้าใจกับนายทหารเจ้าหน้าที่ ขอมิให้เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิด ตามสถานที่ศาสนา หรือพระราชวัง หรือเกี่ยวกับวัฒนธรรมหรือวัตถุโบราณ ซึ่งเขาตอบว่า เขาพยายามปฏิบัติอยู่เช่นนั้นแล้ว แต่เขารับว่า บางทีก็อาจพลาดไปได้บ้าง

ข้าพเจ้าได้ออกเดินทางกลับเมืองโคลัมโบ ในวันพฤหัสบดี ที่ ๓๑ พฤษภาคม เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปยังเมืองนิวเดลฮี ในประเทศอินเดีย และจากที่นั่น ต่อไปยังสหรัฐอเมริกา

ข้าพเจ้าถึงเมืองนิวเดลฮี ในวันพฤหัสบดีที่ ๗ มิถุนายน โดยได้อยู่เตรียมตัว และรอการเดินทางในโคลัมโบ เสีย ๗ วัน

กองทหารอเมริกันที่ประจำอยู่ในนิวเดลฮี ส่วนมากเป็นหน่วยพลาธิการ (Service of Supplies ) หน่วยขนส่งทางอากาศ (Air Transport Command) และหน่วย โอ.เอส.เอส. ซึ่งข้าพเจ้าสังกัดอยู่ในขณะนั้น) มีพลโทซัลทัน (Sultan) เป็นผู้บัญชาการ แต่ในขณะที่ข้าพเจ้าอยู่นิวเดลฮี พลโท ซัลทันไม่อยู่ พลโท เมอร์ริล (Morril) รักษาการแทน ข้าพเจ้าจึงได้เข้าพบ พลโท เมอร์ริล และพูดกันเรื่องส่งอาวุธให้ขบวนการต่อต้านของไทย ซึ่งพลโท เมอร์ริลแจ้งว่า เขาพร้อมแล้ว แต่ยังคอยอนุญาตจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด ภาคเอเซียอาคเนย์

พลโท เมอร์ริล นี้ ได้ทำชื่อเสียงไว้มาก ตอนที่นำทหารไปลงหลังแนวญี่ปุ่นในพม่า และคอยรบกวนที่ญี่ปุ่นหลังแนว ทำให้กองทัพญี่ปุ่นลังเลใจ ห่วงหน้าห่วงหลังและได้รับความเสียหายมาก หน่วยของพลโทเมอร์ริลนี้ ได้ชื่อว่า Merril’s Marauders (หน่วยเที่ยวเผาผลาญของเมอร์ริล)

ข้าพเจ้าได้ออกจากนิวเดลฮี เมื่อวันพุธที่ ๑๓ มิถุนายน เพื่อเดินทางไปสหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา

การกระจายข่าวให้คนอเมริกันรู้เรื่องเมืองไทยกับสงคราม

เราได้เดินทางไปการาจี และบนต่อไปทางแอฟริกาเหนือ ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกถึงนิวยอร์คในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) พักอยู่ในนิวยอร์คหนึ่งคืนแล้ว เลยเดินทางไปวอชิงตัน

ทุกคนที่รู้จักสหรัฐอเมริกา และชนชาวอเมริกันดี ย่อมทราบว่านโยบายและการบริหารงานของรัฐบาล ต้องเป็นไปตามเสียงและมติมหาชน วิธีดำเนินงานของเรา ก็ต้องโฆษณาติดต่อให้ชนชาวอเมริกันทุกชั้นทุกอาชีพ ได้ทราบเรื่องเมืองไทยกับสงครามโลกนี้ และให้มีความเห็นอกเห็นใจแก่พวกคนไทย ที่มีจิตใจเป็นมิตรกับอเมริกา แต่ได้ถูกชักจูงไปร่วมรับร่วมรุกกับญี่ปุ่น การพบปะสนทนากับคนอเมริกันหลายคน ได้ปรากฏเป็นที่ชัดแจ้งว่า คนอเมริกันไม่รู้เรื่องเมืองไทยกับสงครามโลกครั้งที่สองนี้เลย นอกจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เราเห็นว่าการติดต่อและเข้าพบกับสมาชิกรัฐสภาบางคน (Congress) ย่อมมีความจำเป็นและสำคัญยิ่ง แต่ต้องหาผู้นำทาง ข้าพเจ้าและหลวงสุขุมฯ มีเพื่อนอเมริกันหลายคน เราเห็นว่านาย เฮอร์แมน เอฟ. โชลทส์ (Herman F. Scholtz) ค้าขายอยู่ในเมืองไทย และกว้างขวางกับคนอเมริกันที่มีอิทธิพล พอที่จะนำเราตามวัตถุประสงค์ได้ นายโชลทส์ เป็นเพื่อนเก่าแก่สนิทสนมกับข้าพเจ้า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖ (๑๙๒๓) ปีที่เขาและข้าพเจ้ามาถึงเมืองไทย เขามาเป็นนายช่างรับเหมาก่อสร้างทางรถไฟอรัญญประเทศ และข้าพเจ้ากลับจากการศึกษาในสหรัฐอเมริกา (ภายหลังเขาได้จัดตั้งบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลอินยิเนียริ่ง) ตอนที่ญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย เขาอยู่ในกรุงเทพฯ และถูกจับไปกักขังไว้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมกับพวกเชลยพลเรือน เมื่อได้มีการแลกเปลี่ยนเชลย เขาได้กลับไปอเมริกาและได้เข้าทำงานใน โอ.เอส.เอส. และได้ถูกส่งมาประจำการอยู่ในอินเดีย จนเขาลาออกและกลับไปอยู่อเมริกา เมื่อข้าพเจ้าได้ปรารภความประสงค์ของเราแก่นายโชลทส์ เขาก็รับจะจัดการให้

ดังที่ได้นัดไว้ตอนเช้าวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) นายโชลทส์ได้พาข้าพเจ้าและหลวงสุขุม ฯ ไปหานายเอมเมท โอนีล (Emmet O’Neil) ที่ตึกสำนักงานใหม่ของสภาผู้แทน นายเอมเมทโอนีล เป็นสมาชิกของสภาผู้แทนอเมริกัน (House of Representatives) โดยเป็นผู้แทนราษฎรรัฐเคนทักคี (Kentucky) และอยู่ในกรรมาธิการงบประมาณของสภาผู้แทน ฉะนั้น นอกจากมีเสียงในสภาแล้ว ยังรู้จักคนกว้างขวาง นายโชลทส์กับนายโอนีล เป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะมาจากรัฐเดียวกัน คือรัฐเคนทักกี้ เมื่อได้แนะนำให้รู้จักกัน และสนทนากันเล็กน้อย เพื่ออัธยาศัยไมตรี แล้ว นายโชลทส์ก็ได้เล่าเหตุการณ์ตามที่ได้ฟังจากเราบ้าง ที่เขาทราบเองบ้าง โดยถือแนวข้อความตามที่เราได้เตรียมไว้ แนวข้อความของเราก็คือ คนไทยเกือบทั้งประเทศไม่ต้องการเข้าข้างญี่ปุ่นเพื่อรบฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ได้ถูกนำโดยผู้มีอำนาจไม่กี่คน ให้กลายเป็นประเทศที่ร่วมรับร่วมรุกกับประเทศญี่ปุ่น ผลก็คือ ได้เกิดมีขบวนการต่อต้านใต้ดินขึ้น และขบวนการต่อต้านก็มีกำลังใหญ่โตขึ้นตามลำดับ จนบัดนี้ พร้อมที่จะลุกขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นในเมืองไทยเมื่อถึงเวลา ถ้าได้อาวุธยุทธภัณฑ์จากอเมริกัน ทั้งได้เล่าให้นายโอนีลฟัง ถึงสถานการณ์ของประเทศไทยก่อนสงคราม ในแง่การเมืองและในแง่เศรษฐกิจ ทั้งสองทางนี้ เราอยู่ในความครอบงำของอังกฤษ เรามีวัตถุดิบหลายอย่างที่อเมริกาต้องการ เช่น ยาง ดีบุก วุลแฟรม และไม้สัก เรามีความประสงค์จะให้สมาชิกรัฐสภาอเมริกันทราบเรื่องเมืองไทยไว้บ้าง เพื่อป้องกันการหลงเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อของบุคคลบางจำพวก

นายโอนีลรู้สึกสนใจเป็นอย่างมาก และมีความเห็นว่า สมาชิกรัฐสภาอเมริกันไม่มีความรู้เรื่องเมืองไทยจริง ควรให้เราได้พบและเล่าเรื่องให้พวกสมาชิกสภาสูง (Senators) และสมาชิกสภาผู้แทนฟังหลาย ๆ คน นายโอนีลจึงตกลงจะนัดท่านเหล่านั้นรับประทานอาหารกลางวันที่ห้องรับประทานอาหารของรัฐสภาในวันนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะโดยความพากเพียรและโดยการรู้จักคนกว้างขวาง เราได้ย่างเข้าติดต่อในวงการเมืองอันสูงสุดของประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว เมื่อเราอาจพูดชี้แจงโดยตรงต่อสมาชิกรัฐสภาอเมริกันเช่นนี้ เราอาจคลี่คลายความเข้าใจผิดและป้อนข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของเราเข้าไปได้โดยสะดวก ท่านผู้อ่านส่วนมากคงทราบถึงอำนาจของรัฐสภาอเมริกัน ซึ่งนอกจากเป็นปากเสียงของราษฎรทั่วไปแล้ว ยังมีอำนาจควบคุมรัฐบาลอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ตอนกลางวัน เราทั้งสาม คือ ข้าพเจ้า นายโชลทส์ และหลวงสุขุม ฯ ได้ไปพบกับนายโอนีลตามนัด และได้ไปรับประทานอาหารกลางวันด้วยกันในห้องรับประทานอาหารของรัฐสภา ในระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน เราได้สนทนากับสมาชิกรัฐสภาหลายคน นายโอนีลได้แจ้งให้เราทราบว่า เขาได้ไปพบกับนายซอล บลูม (Sol Bloom) ประธานกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสภาผู้แทนแล้ว นายซอล บลูม ได้ตกลงจะเรียกประชุมกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Foreign Affairs Committee of the House of Representives) เป็นพิเศษในวันพรุ่งนี้ (วันที่ ๑๒ กรกฎาคม) เวลา ๑๑.๐๐ น. เพื่อให้เราได้แถลงเรื่องเมืองไทยให้ที่ประชุมฟัง และจะได้ถือเป็นการประชุมลับ เราทั้งสามคนตกตะลึง เมื่อได้ฟังคำของ นายโอนีล เพราะเรื่องมันได้ดำเนินไปเกินกว่าที่เราได้คาดหมายไว้ และเราก็มิได้เตรียมตัวที่จะไปแถลงในที่ประชุมกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเวลาอันกระชั้นชิด คือในวันรุ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ดี เราเห็นว่าเราได้มีโอกาสเข้าถึงกรรมาธิการของรัฐสภาแล้ว ซึ่งผลอาจจะเป็นประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ประเทศไทย เมื่อกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทราบเรื่องของเราแล้ว ศัตรูของประเทศไทยจะไปเที่ยวพูดหลอกลวงรัฐสภาอเมริกันไม่ได้ เวลานั้นมีคนบางคนได้พูดประณามประเทศไทย นอกจากนั้น จะเป็นการสะดวกและง่ายขึ้น สำหรับรัฐบาลอเมริกัน จะได้บริหารงานตามนโยบาย ซึ่งรัฐบาลอเมริกันอาจะดำเนินกับประเทศไทย

เมื่อเราได้รับประทานอาหารกลางวันแล้ว เราได้ไปหาท่านราชทูต (ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช) เพื่อให้ได้รับทราบเรื่อง ทั้งเพื่อขอทราบความเห็นของท่านว่า ท่านจะมีข้อความเพิ่มเติมอย่างไรอีกบ้าง สำหรับแถลงในที่ประชุมกรรมาธิการ ท่านราชทูตได้มีความเห็นว่า การที่เราได้มีโอกาสเข้าแถลงในกรรมาธิการของสภาผู้แทนอเมริกันเช่นนี้ ย่อมเป็นประโยชน์ต่องานของเรามาก

วันรุ่งขึ้น คือวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) ข้าพเจ้าและหลวงสุขุมฯ ได้ไปพบกับนายโชลทส์ ที่สภาผู้แทน (House of Representatives) เวลา ๑๐.๔๕ น. เพื่อเข้าแถลงในที่ประชุมของกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งนัดไว้เวลา ๑๑.๐๐ น.

ในการประชุมกรรมาธิการดังกล่าว นายซอล บลูม นั่งเป็นประธานและมีกรรมาธิการเข้าประชุม ๒๐ คน เมื่อประธานได้เปิดการประชุมแล้ว นายโอนีล ได้ลุกขึ้นแนะนำนายโชลทส์ โดยกล่าวว่า นายโชลทส์เป็นเพื่อนสนิทของเขา และได้อยู่ในเมืองไทยถึง ๒๐ ปี รวมทั้งตอนญี่ปุ่นเข้าเมืองไทยแล้วด้วย และได้ถูกคุมขังอยู่ในค่ายเชลย จนถึงเวลาแลกเปลี่ยนเชลย ฉะนั้น นายโชลทส์รู้จักคนไทย เมืองไทย และเหตุการณ์ดี

นายโชลทส์ได้แถลงเรื่องต่อไปโดยได้กล่าวว่า เขาอยู่เมืองไทย ๒๐ ปีกว่า เดิมเป็นนายช่างก่อสร้างทางรถไฟ และภายหลังได้เปิดการค้าโดยตั้งบริษัทสั่งและส่งสินค้า เขารู้จักคนไทยดี และเห็นว่าคนไทยมีนิสัยดี ชอบคนอเมริกัน เพราะคนอเมริกันไม่เคยไปรบกวนคนไทยในทางการเมือง นอกจากไปทำประโยชน์ให้ เช่นตั้งโรงเรียนและโรงพยาบาล ในบริษัทของเขา มีคนไทยทำงานอยู่ถึง ๑๐๐ คน ซื่อสัตย์สุจริตต่อเขา ส่วนเขาเองก็ให้ความเป็นธรรมต่อคนไทยเหล่านั้น เขาได้รับการต้อนรับจากคนไทยในขณะอยู่ในเมืองไทยตลอด ๒๐ ปีเป็นอย่างดี เมื่อเขาออกจากเมืองไทยแล้ว เขาได้สมัครเป็นทหาร และได้ทำงานเกี่ยวกับเมืองไทยในประเทศอินเดีย บัดนี้ เขาได้ลาออกจากการทหารแล้ว และได้ไปซื้อไร่อยู่ในเวอจิเนีย เมื่อคนไทยได้แสดงอัธยาศัยไมตรีอันดีงามต่อเขา เขาก็ใคร่จะตอบแทน โดยแถลงให้กรรมาธิการทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยในขณะที่เขาอยู่ที่นั่น และได้พาเพื่อนคนไทย ๒ คนที่อยู่ในคณะกู้ชาติ และเพิ่งออกจากเมืองไทยเมื่อสองเดือนเศษนี้ มาให้คณะกรรมาธิการรู้จักและเล่าเรื่องบางอย่างให้ฟังด้วย

นายโชลทส์ได้กล่าวต่อไปว่า ก่อนสงคราม ๔-๕ ปี ญี่ปุ่นได้ส่งแนวที่ห้าเข้าไปในเมืองไทยและปลุกปั่นคนไทยโดยใช้เงินหว่าน ต่อมาก็ปลุกปั่นให้คนไทยเรียกร้องดินแดนในอินโดจีนคืน ได้มีการจ้างบุคคลให้เดินขบวน ซึ่งคนขับรถยนต์ของเขาก็ได้รับเงินค่าจ้างเข้าร่วมด้วย การยุยงส่งเสริมให้คนไทยเรียกร้องดินแดนคืนนี้ ญี่ปุ่นได้ปลุกจิตใจของคนไทยถูก เพราะเรื่องดินแดนนี้คนไทยจดจำอยู่ในหัวอกมานานหลายปีแล้ว เนื่องจากเคยเป็นดินแดนเดิมของไทย และฝรั่งเศสได้แย่งไปโดยใช้กำลัง ประเทศไทยเคยถูกทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสแบ่งแยกดินแดนไปเสียมาก แต่อังกฤษใช้วิธีการเจรจา ส่วนฝรั่งเศสใช้กำลัง ผลของการปลุกปั่นจึงได้มีการรบกันเล็กน้อย ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ครั้นเมื่อรบกันแล้วไม่นาน ญี่ปุ่นซึ่งได้วางแผนการเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ก็ตั้งตัวเป็นอนุญาโตตุลาการ ตัดสินให้ดินแดนบางส่วนคืนมาให้ประเทศไทย เมื่อญี่ปุ่นยกทหารเข้าอินโดจีน ย่อมเป็นที่ทราบกันว่าจะยกเข้าเมืองไทยต่อไป สภาผู้แทนราษฎรของไทยจึงได้ลงมติให้ขัดขวางการรุกรานของศัตรู ก่อนเวลานั้นไม่นานนัก เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่อเมริกามีผู้แทนในประเทศไทย (หมายถึงราชทูตอเมริกัน) ที่ไม่ถูกกับรัฐบาลไทยและคนไทย ไทยจึงหันเข้าหาความช่วยเหลือจากอเมริกาไม่ได้ กรรมาธิการคนหนึ่งถามว่าใครเป็นผู้แทนอเมริกา นายโชลทส์ตอบว่า นายกร๊าน (Grant) ตัวเขาเองได้ช่วยติดต่อระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยและราชทูตอังกฤษในทางส่วนตัว กระทรวงการต่างประเทศไทยได้บอกกับเขาว่า ไทยจะขัดขวางการรุกราน แต่ขออาวุธยุทธภัณฑ์จากอังกฤษ ซึ่งเขาก็ได้แจ้งข้อนี้ต่ออังกฤษ อังกฤษไม่ได้ตอบรับรองประการใด ก็พอดีญี่ปุ่นยกทหารเข้าเมืองไทย ในวันเดียวกับที่ญี่ปุ่นบุกรุกเพิลฮาเบอร์ (Pearl Harbour) โดยยกทหารขึ้นบกหลายแห่งใกล้กรุงเทพ ฯ และในปักษ์ใต้ ซึ่งแสดงว่าญี่ปุ่นได้เตรียมการไว้นานแล้ว ในตอนต้นทหารและตำรวจไทยได้สู้รบขัดขวาง แต่ภายหลัง นายกรัฐมนตรี พิบูลสงคราม ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย ได้สั่งให้หยุดการขัดขวาง ตามความเห็นส่วนตัวของเขา ถ้าไทยสู้รบต่อไปก็คงถูกทำลายเสียหายยับเยิน เพราะมีอาวุธยุทธภัณฑ์น้อย และล้าสมัย เมื่อญี่ปุ่นเข้าเมืองไทยแล้ว พวกคนอังกฤษและอเมริกันถูกจับหมด แต่พวกเขาได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากคนไทย เพราะทหารไทยคุมค่ายอยู่ภายในญี่ปุ่นอยู่ภายนอก พวกเขาได้มีโอกาสทำงานใต้ดิน มีการนั่งฟังข่าววิทยุและจดแจกให้อ่านกัน และเมื่ออ่านแล้วก็ฉีกเสีย คนไทยที่เคยทำงานด้วยกันหรือเพื่อนฝูงก็ได้ส่งข้าวของให้ เนื่องจากคนไทยไม่ชอบญี่ปุ่น จึงเกิดมีขบวนใต้ดินขึ้นในเมืองไทย และได้ส่งผู้แทนครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๔๒ เพื่อติดต่อกับสัมพันธมิตร แต่ได้สูญหายเสียในป่าในพม่า ผู้แทนชุดที่สองที่ขบวนใต้ดินได้ส่งไป ได้เดินทางถึงเมืองจีน แต่ถูกจีนเก็บตัวไว้ และถึงแก่กรรมเสียที่นั่น ต่อมาถึงชุดที่ ๓ จึงทำการติดต่อกันได้ เมื่อเขาได้ออกจากเมืองไทยแล้ว เขาก็ได้ช่วยทำงานในอินเดียเพื่อการติดต่อนี้ เวลานี้ขบวนการต่อต้านของไทยขาดอาวุธ นายพลเมอร์ริล ซึ่งอยู่ในอินเดีย พร้อมที่จะส่งให้ แต่ต้องรออนุญาตจากนายพลเรือหลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบตเตน และก็ยังคงรออยู่ (คำแถลงตอนนี้เอาตามที่นายพลเมอร์ริลได้บอกข้าพเจ้าที่เมืองนิวเดลฮี) ตามที่ได้ตกลงกันในที่ประชุมที่เมืองควิเบค ในประเทศคานาดา ภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในเขตการรบภายใต้บังคับบัญชาของพลเรือเอก หลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบตเตน กรรมาธิการคนหนึ่งได้ถามขึ้นว่า เหตุใดอังกฤษจึงยังไม่อนุญาตให้ส่งอาวุธ นายโชลทส์ได้ตอบว่า เพราะอังกฤษไม่อยากจะสูญเสียความศักดิ์สิทธิ์ โดยที่อังกฤษอยากจะรบเสียเอง นอกจากนั้นก็เพื่อเหตุผลในทางยุทธศาสตร์ นายโชลทส์ได้กล่าวต่อไปว่า บริษัทของเขาเป็นบริษัทค้าขายอเมริกันบริษัทเดียวในประเทศไทย นอกนั้นส่วนมากเป็นของอังกฤษและชาติอื่น ๆ เมืองไทยมีดีบุก ยาง และไม้สักมาก เขาเห็นว่าอังกฤษประสงค์จะควบคุมเมืองไทย โดยส่งที่ปรึกษาไปประจำตามกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ กรรมาธิการคนหนึ่งได้ถามขึ้นว่าควบคุมได้อย่างไร นายโชลทส์ตอบว่า เขาอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลานานหลายปี เขารู้วิธีการที่จะให้ที่ปรึกษาควบคุมกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ

ต่อจากนั้น ประธานกรรมาธิการได้ขอให้ข้าพเจ้าแถลง ข้าพเจ้าได้เริ่มกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะขอแถลงเพิ่มเติมคำแถลงของนายโชลทส์ และข้าพเจ้าได้กล่าวต่อไปว่า เมื่อญี่ปุ่นได้ยกทหารเข้าอินโดจีนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ความไม่ไว้วางใจได้เกิดขึ้น ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๑ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ออกพระราชบัญญัติบังคับให้คนไทยต่อสู้ หากมีการรุกรานประเทศไทย โดยมีบทกำหนดโทษจากจำคุกตลอดชีวิตถึงประหารชีวิต และถ้าจะต่อสู้การรุกรานไม่ได้ ก็ให้ทำลายสิ่งต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่ข้าศึก คนไทยได้ถือกฎหมายฉบับนี้เป็นหลักปฏิบัติการ ฉะนั้น เมื่อญี่ปุ่นยกทหารเข้าเมืองไทย จึงได้มีการต่อสู้ ญี่ปุ่นได้ฆ่าคนไทยตายหลายคน และเราก็ได้ฆ่าญี่ปุ่นตายหลายคนเช่นกัน แต่ภายใน ๒-๓ วัน นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งให้หยุดการขัดขวาง ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกหลายคนได้แสดงว่าไม่เห็นชอบด้วย สมาชิกบางคนถึงกับร้องให้ และบางคนได้กล่าวขึ้นว่า ชาติไทยได้เสียเกียรติเสียแล้ว เมื่อรัฐบาลได้ประกาศสงครามกับอเมริกาและบริเตนใหญ่ ก็ได้ประกาศไปก่อนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ได้ลงนามทุกคน ตั้งแต่นั้นมา ขบวนไทยใต้ดินก็ได้เกิดขึ้นเป็นหน่วยย่อมๆ โดยต่างฝ่ายต่างไม่รู้กัน ในที่สุดขบวนใต้ดินได้รวมกันเป็นปึกแผ่น ดังที่เป็นอยู่เวลานี้ กรรมาธิการคนหนึ่งได้ถามข้าพเจ้าว่า มีคนไทยมากน้อยเท่าไรที่ไม่ชอบญี่ปุ่น ข้าพเจ้าตอบว่า เกือบจะว่าทั้งหมด ข้าพเจ้าได้แถลงต่อไปว่า บัดนี้ ขบวนใต้ดินเป็นองค์การใหญ่พอที่จะลงมือทำการได้ มีหน่วยต่าง ๆ อยู่แทบทั่วราชอาณาจักร แต่ยังขาดอาวุธยุทธภัณฑ์ ซึ่งเราต้องการความช่วยเหลือจากอเมริกา เราอยากจะช่วยรบไล่ญี่ปุ่นออกจากเมืองไทย เพื่อกู้เอกราชของประเทศไทย นอกจากนั้นข้าพเจ้าได้กล่าวต่อไปว่า เราต้องการความช่วยเหลือจากอเมริกา สำหรับบรรเทาทุกข์และบูรณะประเทศภายหลังสงคราม โดยต้องการซื้อเครื่องจักร เครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อการนี้ กรรมาธิการคนหนึ่งถามข้าพเจ้าว่า ภายหลังสงคราม อเมริกาและอังกฤษจะเข้าไปทำการค้าขายโดยเสรีได้หรือไม่ ข้าพเจ้าตอบว่า ไปทำการค้าขายได้โดยเสรีอย่างแน่นอน เราต้องการจะเปิดความเจริญให้แก่ประเทศ ฉะนั้น ยินดีจะเห็นทุนต่างประเทศและคนต่างประเทศไปทำการค้าขาย กรรมาธิการคนหนึ่งถามข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้ามาในนามของใคร ข้าพเจ้าตอบว่า มาในนามของประชาชนชาวไทย กรรมาธิการคนนี้ได้พูดต่อไปว่า เป็นเรื่องที่แปลกมากที่ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับอเมริกา แล้วมีคนไทยมาขอความช่วยเหลือจากอเมริกา ในคณะกรรมาธิการนี้ นายโอนีลได้ขอให้ข้าพเจ้าเล่าถึงความอดอยากของนักเรียนไทยที่เพิ่งกลับจากญี่ปุ่น ข้าพเจ้าได้กล่าวว่าประเทศไทยส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาต่าง ๆ ในประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น นักเรียนไทยที่พึ่งกลับจากญี่ปุ่นเล่าว่า ในญี่ปุ่นกำลังอดอยากอาหาร วันหนึ่ง ๆ มีข้าวรับประทานเพียงชามเดียว และกับข้าวก็มีเพียงถั่วเหลือง ยิ่งฝ่ายสัมพันธมิตรไปทิ้งลูกระเบิดมากขึ้นเช่นทุกวันนี้ ความอดอยากคงจะเพิ่มพูนขึ้นเป็นแน่ กรรมาธิการคนหนึ่งถามว่า คนญี่ปุ่นบ่นถึงความอดอยากอาหารหรือเปล่า ข้าพเจ้าตอบว่าบ่น

เนื่องจากหมดเวลาการประชุม คณะกรรมาธิการจึงได้ปิดการประชุม และได้มีกรรมาธิการหลายคนมาจับมือนายโชลทส์ ข้าพเจ้า และหลวงสุขุมฯ โดยได้แสดงความพอใจในเรื่องราวที่เราได้แถลงให้ฟัง ข้าพเจ้าได้สังเกตว่าในขณะการแถลงของนายโชลทส์และข้าพเจ้า กรรมาธิการทุกคนได้นั่งฟังอย่างสนใจที่สุด

ข้าพเจ้าได้มาคิดดูอีกทีหนึ่ง ภายหลังที่ได้ไปนั่งประชุมกับคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสภาผู้แทนอเมริกัน โดยได้ไปรับความรู้สึกจากสิ่งแวดล้อมของที่ประชุมว่า น้ำหนักของคำพูดของเราต้องมีมาก เพราะกรรมาธิการได้ฟังคำพูดจากปากของคนอเมริกันที่รู้จักเมืองไทย และได้รู้เห็นเหตุการณ์ตอนต้น กับจากปากคำของคนไทยที่อยู่ในขบวนการต่อต้านและเพิ่งออกไปจากเมืองไทย ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ข้าพเจ้าเป็นคนไทยคนแรกที่ได้มีโอกาสเข้าแถลงในคณะกรรมาธิการนี้ และอาจจะเป็นคนไทยคนสุดท้ายก็ได้

เราได้ออกจากห้องประชุมกรรมาธิการเวลา ๑๒.๓๐ น. และ ได้ไปรับประทานอาหารกลางวันที่ห้องรับประทานอาหารของสภาผู้แทน โดยมีกรรมาธิการบางคนขอมานั่งรับประทานกับเรา เพื่อสนทนาต่อไป

ในระหว่างที่ข้าพเจ้าอยู่ในวอชิงตัน ข้าพเจ้าได้มีความสนิทสนมกับนายโอนีลและครอบครัว เมื่อข้าพเจ้ากลับเมืองไทยแล้ว ก็ยังได้มีจดหมายติดต่อกัน ตอนหลังนายโอนีลได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการในประเทศฟิลิปปินส์ก่อนประเทศนั้นได้รับเอกราช

ในด้านทหารนั้นกระทรวงกลาโหมอเมริกันขอนัดสัมภาษณ์เรา ดังที่ข้าพเจ้าจะได้กล่าวต่อไปนี้

ข้าพเจ้า และหลวงสุขุมฯ ได้ไปหา พันเอก ฮัทเชสัน หัวหน้าฝ่ายสืบข่าวลับของ โอ.เอส.เอส. ตามที่เขาได้นัดไว้ เมื่อถึงที่นั่นแล้ว เขาจึงได้บอกเราว่ากระทรวงกลาโหมอเมริกันต้องการจะขอสัมภาษณ์เรา ในเรื่องที่เกี่ยวกับเมืองไทยที่กระทรวงกลาโหมในบ่ายวันนั้น เวลา ๑๕.๐๐ น. และกระทรวงทหารเรือจะส่งผู้แทนเข้าร่วมด้วย ข้าพเจ้าและหลวงสุขุม ฯ รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ในเรื่องสำคัญเช่นนี้ พันเอกฮัทเชสันมิได้บอกให้เรารู้ตัวล่วงหน้า จะเป็นด้วยเขาประสงค์จะรักษาไว้เป็นความลับ หรือเขาเห็นในความสามารถของเราทั้งสอง ที่จะให้สัมภาษณ์เป็นกลอนสดได้ ข้าพเจ้าก็ทายไม่ออก แต่อย่างไรก็ดี พันเอก ฮัทเชสัน ได้นัดกับเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมไว้ เวลา ๑๕.๐๐ น. อย่างแน่นอนแล้ว เราไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เป็นแต่เพียงตกลงกันว่า ข้าพเจ้าจะเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ และหลวงสุขุม ฯ จะเป็นผู้ช่วย เรา คือ พันเอกฮัทเชสัน นายกาเด็น (เจ้าหน้าที่ในกองเอเซียตะวันออกเฉียงใต้) หลวงสุขุมฯ และข้าพเจ้า ได้ไปถึงกระทรวง กลาโหมอเมริกัน (Pentagon) เวลา ๑๔.๔๕ น.

เวลา ๑๕.๐๐ น. เราได้รับเชิญเข้าห้องที่จะต้องถูกสัมภาษณ์ ห้องนี้เป็นห้องขนาดใหญ่ มีขนาดราว ๒๐ เมตร สี่เหลี่ยม และด้านหนึ่งมีเวที เข้าใจว่าคงใช้เป็นห้องปาฐกถา ที่ผนังด้านเวทีมีแผนที่ขนาดใหญ่หลายแผ่นแขวนอยู่ พันเอกฮัทเชสัน ได้นำเราขึ้นไปนั่งเรียงแถวบนเวที คือ พันเอกฮัทเชสัน ข้าพเจ้า และหลวงสุขุมฯ ส่วนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ชั้นผู้น้อย และผู้เชี่ยวชาญที่เป็นพลเรือน ทั้งหญิงและชายรวมประมาณ ๔๐ คน ได้นั่งคอยเราอยู่แล้ว ท่านเหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่ในแผนกต่าง ๆ ของสามกองทัพ คือ กองทัพบก เรือ และอากาศ

เมื่อข้าพเจ้าเห็นผู้ที่จะสัมภาษณ์ข้าพเจ้าส่วนมากเป็นนายทหาร ฉะนั้น ก่อนที่พันเอกฮัทเชสันจะได้ลุกขึ้นแนะนำข้าพเจ้า และหลวงสุขุม ฯ ข้าพเจ้าได้กระซิบพันเอกฮัทเชสันให้กล่าวเสียด้วยว่า เราไม่ใช่ทหาร เรารู้เรื่องการทหารเท่าที่พลเรือนเช่นเราจะรู้เท่านั้น ผู้แทนกองทัพทั้งสามถามเรื่องร้อยแปดมากมายหลายแขนง เมื่อแยกหัวข้อออกแล้วก็คงเข้าในประเภทการเมือง การทหาร และการเศรษฐกิจ ตัวอย่างคำถามของผู้แทนสามกองทัพ ซึ่งแสดงความละเอียดลออของฝ่ายอเมริกันในการสอดส่องการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นมีเช่น เรือไม้ที่ญี่ปุ่นสร้างและจอดอยู่มากมายหลายลำในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีกี่ลำ สร้างด้วยไม้อะไร มีคำถามบางเรื่องที่เขาถามล่วงเข้ามาในความลับของขบวนใต้ดินไทย ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ตอบเลี่ยงเสีย เช่น เขาถามว่าใครเป็นหัวหน้าขบวนใต้ดินไทย เป็นต้น ส่วนมากของคำถาม ข้าพเจ้าตอบได้ คำถามใดที่ข้าพเจ้าตอบไม่ได้หรือ ไม่ควรตอบ ข้าพเจ้าก็ตอบเลี่ยงเสีย เราได้ถูกซักถามอยู่ประมาณ ๔๕ นาที จึงได้เลิกการประชุมนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกเหนื่อยมาก เพราะในเวลา ๔๕ นาทีนี้หัวของข้าพเจ้าหัวเดียวต้องตอบสนองความคิดอ่านที่เขาได้เตรียมมาแล้วจากผู้ชำนาญการของสามทัพอเมริกันถึง ๔๐ หัว โดยไม่มีการพักผ่อนและโดยกลอนสดทั้งสิ้น ท่านผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ ล้วนแต่พกโน้ตขนาดใหญ่มาทุกท่าน ส่วนตัวข้าพเจ้าเองขึ้นไปนั่งบนเวทีมือเปล่า การถามก็ถามกระโดดจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง เช่นกระโดดจากเรื่องการเมืองไปเรื่องการทหาร แล้วก็กระโดดกลับมาเรื่องการเมืองอีก แล้วแต่ใครจะมีโอกาสเข้าถาม และทุกคนคอยยกมือขอถามอยู่ตลอดเวลา เพราะทุกคนพกคำถามมาคนละหลายข้อ

ภายหลังที่ข้าพเจ้าและหลวงสุขุมฯ ได้ถึงวอชิงตันไม่นานนัก ท่านราชทูต (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช) ได้พาเราทั้งสองไปพบนายมอฟแฟทท์ (Moffatt) ผู้อำนวยการกองตะวันออกเฉียงใต้ภาคเอเซียของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันเพื่อแนะนำให้รู้จักกัน ข้าพเจ้าได้สังเกตว่า นายมอฟแฟทท์มีความหวังดีต่อประเทศไทย และตั้งใจช่วยเหลือ ในระหว่างที่ข้าพเจ้าอยู่ในวอชิงตัน ข้าพเจ้าได้ติดต่อกับนายมอฟแฟทท์ตลอดเวลา มีเรื่องอะไรที่จะพูดก็ถือวิสาสะไปหาเขา และเขาก็พยายามสนองความประสงค์ของข้าพเจ้าเสมอไป และเขาก็ถือวิสาสะกับข้าพเจ้าเช่นเดียวกัน

เป็นอันว่า ทางฝ่ายรัฐบาลอเมริกันทราบเรื่องข้าพเจ้า และหลวงสุขุมฯ ผู้แทนขบวนการต่อต้านไทย ซึ่งเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ก็ได้ติดต่อกับเราตามแต่จะมีเรื่องเกิดขึ้น

เมื่อข้าพเจ้าและหลวงสุขุมฯ ได้เดินทางจากอินเดียถึงกรุงวอชิงตัน และได้พบกับพวกเสรีไทยที่นั่น ได้ปรารภกันขึ้นว่า องค์การเสรีไทยและขบวนการต่อต้านในเมืองไทยขาดหน่วยสื่อข่าวในอเมริกา เพื่อกระจายข่าวข้อเท็จจริงและข่าวอื่น ๆ ซึ่งเราประสงค์จะให้คนอเมริกันทราบและรู้เห็น นอกจากนั้นบางครั้งบางคราวมีหนังสือพิมพ์อเมริกัน หรือคนอเมริกัน ต้องการทราบเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับประเทศไทย ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำในเรื่องนี้ และถ้าสถานทูตเห็นว่าจำเป็นต้องตอบคำถามก็คงตอบภายในขอบเขตโดยต้องระมัดระวังมิให้เกินอำนาจหน้าที่ของสถานทูต ซึ่งประจำอยู่ในต่างประเทศ เราได้ปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้หลายครั้ง ในที่สุดวันศุกร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม หลวงสุขุมฯ ได้นัดประชุมเพื่อตั้งสำนักงานสื่อข่าวสำหรับขบวนเสรีไทย วัตถุประสงค์ของสำนักงานสื่อข่าวนี้ ก็เพื่อที่จะให้ข่าวเกี่ยวกับเมืองไทยและพวกเสรีไทย ซึ่งองค์การอเมริกันและคนอเมริกันควรจะได้ทราบและประสงค์จะทราบ เราได้ตกลงกันว่า จะให้เป็นหน่วยอิสระ คือไม่ใช่เป็นหน่วยงานของสถานทูต ทั้งนี้เพื่อมิให้สถานทูตต้องรับผิดชอบ ถ้าหากหน่วยสื่อข่าวนี้จะพูดเกินขอบเขตของทางการสถานทูต เป็นการให้สำนักงานนี้กระจายข่าวและตอบคำถาม โดยมิต้องคอยคำนึงถึงอำนาจหน้าที่ และมรรยาทของสถานทูต เราได้ตกลงให้ชื่อว่า Thai Information Service หลวงสุขุมฯ ได้อธิบายถึงงาน ซึ่งสำนักงานสื่อข่าวนี้จะต้องปฏิบัติและได้วางหน้าที่ให้ทุกคนที่ยินดีจะร่วมมือในงานนี้ โดยให้ นายฉุน ประภาวิวัฒน์เป็นหัวหน้า นายฉุน ประภาวิวัฒน์ คงยังเป็นหัวหน้าสำนักงานหลายปีภายหลังที่สงครามได้เลิกกันแล้ว

นอกจากการติดต่อกับนักหนังสือพิมพ์ในวอชิงตัน เพื่อให้เขาลงข่าวเกี่ยวกับเมืองไทยแล้ว เรายังได้ไปนิวยอร์ค เพื่อพบกับนักสื่อข่าวอื่น ๆ อีกด้วย ที่นิวยอร์ค ข้าพเจ้าได้พบนายแดร์เรลล์ เบอร์ริแกน (Darrel Berrigan ซึ่งเคยเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ Bangkok World บัดนี้ถึงแก่กรรมแล้ว) เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) นายเบอร์ริแกน เป็นนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งเคยอยู่เมืองไทยตอนญี่ปุ่นเข้าเมือง เขาได้หนีออกจากเมืองไทยเข้าพม่า และไปเป็นนักสื่อข่าวอยู่กับกองทัพหลังแนวญี่ปุ่นของนายพลเมอร์ริล เวลานั้น เขาทำงานอยู่กับยูไนท์เต็ดเพรส (U.P.) ข้าพเจ้าได้เคยรู้จักนายเบอร์ริแกนมาก่อน ขณะนั้นเขาเป็นนักหนังสือพิมพ์หนุ่มที่กล้าหาญอดทนคนหนึ่ง ทั้งมีความเฉลียวฉลาดและมีปฏิภาณสูง เป็นนักหนังสือพิมพ์ชนิดที่มักจะต้องถูกส่งไปสื่อข่าวในแนวรบ หรือในภาวะที่ต้องเผชิญต่อภยันตราย เขาเป็นเพื่อนคุ้นเคยกับนายกุมุท จันทร์เรือง อีกด้วย ซึ่งเป็นอันว่า เราอาจอาศัยเขาได้ในเรื่องหาข่าวและส่งข่าว เราตั้งใจว่าจะต้องติดต่อกับนายเบอร์ริแกน ตลอดเวลาในระหว่างที่อยู่นิวยอร์ค และได้นัดเขาให้พานักหนังสือพิมพ์อื่น ๆ ไปดื่มเหล้าและสนทนากันที่ห้องชุดของเพื่อนในคืนวันนั้น เป็นผลให้เราได้พบนักหนังสือพิมพ์อีกหลายคน และเมื่อได้ดื่มเหล้ากันเข้าไปคนละมาก ๆ ก็เกิดเป็นกันเองมากขึ้น เราได้ข่าวที่น่าสนใจหลายเรื่อง นายเบอร์ริแกนรับว่า หากเราต้องการส่งข่าวทาง ยู.พี. (U.P.) เพื่อประโยชน์ต่อเมืองไทย เขารับจะจัดการให้ การที่เราได้นักหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ มาคอยช่วยเรา นับว่าเป็นประโยชน์แก่งานของเราเป็นอย่างยิ่ง โดย เฉพาะ ยู.พี. ซึ่งเป็นที่รู้จักและเชื่อถือทั่วโลก เมื่อส่งข่าวออกไปก็จะกระจายไปทั่วโลก คืนวันนั้น กว่าจะยุติการสังสรรค์กันก็ตก ๒.๓๐ น.

ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) ประธานาธิบดีทรูแมนได้ประกาศทางวิทยุเมื่อ ๑๙.๐๐ น. ว่าญี่ปุ่นยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข และในวันที่ ๖ กันยายน ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) หลวงดิฐการภักดี ซึ่งเวลานั้นเป็นอุปทูตไทย ได้เรียกประชุมข้าราชการสถานทูต และแจ้งเรื่องกองทหารอังกฤษเข้าประเทศไทย และกำลังบังคับให้ไทยเซ็นสัญญา สัญญามีข้อความรุนแรงมาก แต่ไม่ทราบรายละเอียด อังกฤษคงพยายามเก็บข้อความในสัญญาไว้เป็นความลับ เพราะไม่มีข่าวลงในหนังสือพิมพ์อเมริกันเลย ที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรหาทางให้สหรัฐอเมริกาช่วยยับยั้งการบังคับให้เซ็นสัญญาฉบับนี้ แต่เนื่องจากทราบว่า นายมอฟแฟทท์ ผู้อำนวยการกองเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันบอกว่า กำลังจัดการในเรื่องนี้อยู่ เราจึงเห็นว่าควรคอยดูผลงานของกระทรวงการต่างประเทศ อเมริกันก่อนที่จะพูดทางรัฐสภาอเมริกันและทางหนังสือพิมพ์

เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) ข้าพเจ้าได้ไปหานายมอฟแฟทท์ ผู้อำนวยการกองเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน เพื่อพูดเรื่องเงินที่เราต้องการสำหรับซื้อยาและเวชภัณฑ์ กับสิ่งของอื่น ๆ ที่จำเป็น (อเมริกากักกันเงินไทยไว้ตอนสงคราม) นายมอฟแฟทท์รับจะจัดการเลิกการกักกัน (Unfreeze) เงินไทยให้

เรารอคอยนั่งอยู่อย่างวิตกยิ่งว่าอังกฤษจะปฏิบัติอย่างไรแก่ไทย เมื่อได้ทราบว่า อังกฤษได้ยื่นสนธิสัญญา ๒๑ ข้อ ให้ไทยรับเป็นคู่สัญญา ก็ได้เที่ยวสืบข้อความใน ๒๑ ข้อของสัญญา ทางสถานทูตไทยก็ไม่ได้รับข่าว ได้ขอให้นายเบอร์ริแกนสืบทาง ยู.พี. ก็ยังไม่ได้ผล

ครั้นเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) หนังสือพิมพ์ในอเมริกาได้ลงเงื่อนไขของสนธิสัญญา เมื่อได้อ่านแล้วก็คงเป็นดังที่เราได้คาดหมายไว้ เอาไทยให้เกือบเป็นเมืองขึ้นเสียเลย เราได้พิจารณาเห็นว่า คณะเราซึ่งเป็นผู้แทนเสรีไทยและขบวนการต่อต้านของไทยและซึ่งอยู่ในอเมริกา มีอยู่คณะเดียว ที่สามารถจะวิ่งเต้นให้อเมริกาเห็นใจไทย และช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา

ข้าพเจ้าและ พ.ท. ม.ล. ขาบ กุญชร (ปัจจุบันเป็นพลโท) พร้อมด้วยนายกุมุท จันทร์เรือง (หลวงสุขุมฯกลับเมืองไทยแล้ว) ได้ปรึกษากันและตกลงจะให้นายริชาร์ด อีตัน ซึ่งเป็นผู้ปราศรัย (Commentator) ทางวิทยุกระจายเสียงสำคัญคนหนึ่งในกรุงวอชิงตัน พูดเรื่องนี้ทางวิทยุ เมื่อได้โทรศัพท์ถึงเขา เขาก็ตกลงจะปราศรัยในวันรุ่งขึ้น คือวันศุกร์ที่ ๗ ธันวาคม โดยจะให้ พ.ท. ม.ล. ขาบ กุญชร และนายจำรัส ฟอลเลท พูดด้วยในฐานะเป็นคนไทย

เมื่อถึงเวลา ๒๐.๑๕ น. นายริชาร์ด อีตัน ได้ปราศรัยในวิทยุกระจายเสียงซึ่งถ่ายทอดไปหลายสถานี (Network) เป็นการประจำของเขา ในเรื่องอื่นก่อน แล้วจึงได้พูดเรื่องเมืองไทย เกี่ยวกับเงื่อนไขของอังกฤษ เขาได้พูดอย่างรุนแรงมาก เพื่อเป็นการช่วยเหลือประเทศไทย

ท่านผู้อ่านคงทราบแล้วว่า ผู้ปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียง (Commentator) ที่มีชื่อเสียงเช่นอย่างนายริชาร์ด อีตัน นั้น เมื่อถึงเวลาเขาปราศรัย จะมีคนเปิดฟังในเวลานั้นมากมาย และข้อความที่เขาพูดมักจะมีอิทธิพลชักจูงแนวความคิดของผู้ฟังด้วย ข้าพเจ้านั่งอยู่ใกล้ ๆ นายริชาร์ด อีตัน และเมื่อได้ฟังเขาพูดสนับสนุนไทยกับติเตียนอังกฤษก็รู้สึกตกใจ ที่เขากล้าพูดรุนแรงเช่นนั้น คงทำให้อังกฤษขุ่นเคืองไม่น้อย และอังกฤษคงทราบว่ามีคนไทยหนุนหลังอยู่ แต่ก็คงเป็นที่แน่นอนด้วยว่า นายริชาร์ด อีตัน ต้องมีจิตใจช่วยเราด้วย จึงพูดเช่นนั้น ต่อจากนายริชาร์ด อีตัน ม.ล. ขาบ และนายจำรัส ก็ปราศรัยตามลำดับ ทั้งสองคนพูดดีมาก ทำให้เราพอใจเป็นอย่างยิ่ง การปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงคราวนี้ คงทำประโยชน์ให้ประเทศไทยมิใช่น้อย ส่วนในทางหนังสือพิมพ์ ก็มีผู้เขียนออกความเห็นและ เขียนหนังสือไปลงในหนังสือพิมพ์ พูดในทำนองเดียวกันหมด เรื่องต่างๆ ที่ลงในหน้าหนังสือพิมพ์ดังกล่าวนี้ Thai Information Service ได้ตัดเก็บรักษาไว้

ข้าพเจ้าได้พบนายโชลทส์ และขอให้เขาร้องขอนายโอนีล ให้พูดในสภาผู้แทนอเมริกัน นายโอนีลก็ได้วิ่งเต้นโดยได้ไปขอทราบข้อเท็จจริงจากนายดีน แอเชสัน (Dean Acheson) ผู้รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกัน (นายเบิร์นส์ รัฐมนตรีว่าการไปประชุมเสียที่ลอนดอน) ถึง ๒ ครั้ง นายแอเชสันได้รับรองนายโอนีลว่า อเมริกากำลังโต้แย้ง ขอให้อังกฤษแก้ไขสัญญา ให้ลดหย่อนลง นอกจากนั้นนายโอนีลได้เตรียมการที่จะแถลงเรื่องประเทศไทยในสภาผู้แทนอเมริกัน แต่เผอิญได้มีการลงนามในสัญญากันเสียก่อน เป็นที่น่าเสียดายที่ทางอเมริกาได้รับทราบข้อความในร่างสัญญาสายเกินไป เพราะข่าวพึ่งเปิดเผยในเมื่อต้นเดือนธันวาคม ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) และไทยกับอังกฤษได้ลงนามในสัญญาในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๘ (๑๙๔๖) หากทางประเทศไทยได้ปล่อยข่าวออกไปก่อน ทางเราจะมีเวลาหาเสียงทางอเมริกาให้เข้าช่วยเหลือได้มากยิ่งขึ้น

ข้าพเจ้าได้ไปพบกับชาวอเมริกันผู้หวังดีต่อเมืองไทยเป็นอย่างมากอีกคนหนึ่ง คือนายออทโท เพรเกอร์ (อดีตที่ปรึกษากรมไปรษณีย์โทรเลขไทย และเคยเป็น Assistant Post Master-General เป็นผู้ริเริ่มการเดินไปรษณีย์อากาศอเมริกัน และเคยเป็นนักหนังสือพิมพ์ประจำรัฐสภาอเมริกัน) ซึ่งเป็นผู้กว้างขวางในหมู่สมาชิกรัฐสภาอเมริกัน และวงรัฐการอเมริกัน ข้าพเจ้ารู้จักกับนายเพรเกอร์ดีระหว่างที่เขารับราชการอยู่ในเมืองไทย นายเพรเกอร์รับจะพูดกับนายคอร์เนลล์ ฮัลล์ ผู้ซึ่งพึ่งออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกัน ไปเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีในกิจการต่างประเทศ เขาบอกว่าเป็นเพื่อนกัน กับจะพูดกับสมาชิกวุฒิสภา เช่นนายทอม คอนเนลลี ประธานกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสภาสูงอเมริกัน (Senate) และนายโทมาส สมาชิกสภาสูง ผู้เป็นประธานกรรมาธิการทหารและเป็นกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งเป็นผู้คอยสนับสนุนประเทศไทย โดยการพูดทางวิทยุกระจายเสียง และเขียนข้อความลงในหนังสือพิมพ์ (ภายหลังนายเพรเกอร์ได้มอบสำเนาหนังสือถึงนายฮัลล์ และหนังสือตอบจากนายฮัลล์ กับสำเนาหนังสือถึงนายทอม คอลเนลลีและนายโทมาสให้ข้าพเจ้า) นอกจากนั้น ข้าพเจ้าได้พบกับข้ารัฐการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันหลายคน เช่น นาย จอห์น แชพแมน (อดีตอุปทูตอเมริกันประจำประเทศไทย) นายคลาค (อดีตเลขานุการสถานทูตอเมริกันในเมืองไทย) นายคลาคขยายให้ฟังว่า กระทรวงการต่างประเทศกำลังมีการเคลื่อนไหวในเรื่องเงื่อนไขของอังกฤษ

ในตอนต้น กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันยังคงนิ่งเงียบอยู่ แต่เมื่อได้ถูกหนังสือพิมพ์และผู้แทนเตือนมากขึ้น นายดีน แอเชสัน รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกัน จึงได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) ว่า เรื่องสัญญาสันติภาพระหว่างไทยกับอังกฤษนั้น รัฐบาลอเมริกันได้ร้องขอให้ ๒ ประเทศระงับการลงนามไว้ก่อน จนกว่ากรุงวอชิงตันกับกรุงลอนดอนจะได้เจรจาตกลงกันเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย แต่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษในกรุงวอชิงตันได้ออกคำแถลงการณ์ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๑๙ เดือนเดียวกันว่า คำแถลงการณ์ของนายดีน แอเชสัน ยังมีข้อความไม่ทันกับเหตุการณ์ เพราะรัฐบาลอังกฤษได้เสนอร่างสัญญาตามที่ได้แก้ไขกันใหม่ต่อสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันในกรุงลอนดอน และเป็นที่พอใจของสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันแล้ว ฉะนั้น อังกฤษกับไทยจะได้ลงนามในสัญญากันในปลายเดือนธันวาคมนี้ ต่อมากระทรวงการต่างประเทศอเมริกันจึงได้ออกคำแถลงการณ์อีกครั้งหนึ่งว่า ขอขอบใจรัฐบาลอังกฤษ และรัฐบาลไทย ที่ได้รั้งรอการลงนามในสัญญาสันติภาพตามคำร้องขอของรัฐบาลอเมริกัน จนเป็นที่พอใจด้วยกัน ทุกฝ่าย ต่อมาจึงได้มีข่าวว่าไทยกับอังกฤษได้ลงนามกันในสัญญาสันติภาพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๙ (๑๙๔๖) เป็นอันว่าอเมริกาได้ชักจูงให้อังกฤษลดหย่อนเงื่อนไขในสัญญากับไทย ให้อ่อนลงบ้าง และหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ลงข้อความของสัญญานั้นด้วย ในขณะที่หนังสือพิมพ์และสมาชิกรัฐสภาอเมริกันกำลังรุกกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันในเรื่องประเทศไทยอยู่นั้น เป็นเวลาที่อังกฤษกำลัง เจรจาขอกู้ยืมเงินจำนวน ๔ พันล้านเหรียญอเมริกันอยู่ด้วย ซึ่งประธานาธิบดีทรูแมนเห็นชอบด้วย แต่ยังมิได้ผ่านรัฐสภาอเมริกัน ฉะนั้น สมาชิกรัฐสภาอเมริกันจึงนำเรื่องนี้เป็นประเด็น พูดกับรัฐบาลอเมริกันในกรณีเรื่องประเทศไทย รัฐบาลอเมริกันจึงรู้สึกหนักใจและตกใจมาก

ในวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๘๙ (๑๙๔๖) ข้าพเจ้าได้ไปหานายมอฟแฟท์ทที่กระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน เพื่อเตือนและซ้อมความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่เราได้พูดกันไว้ และเพื่อเป็นการอำลาและขอบใจเขาที่ได้ช่วยเหลือไทยด้วย เราได้สนทนากันเป็นเวลา ๑ ชั่วโมงเศษ เรื่องที่ได้พูดกันมีดังนี้คือ

๑. เรื่องการบรรเทาทุกข์และบูรณะประเทศไทยหลังสงคราม (UNRRA) ข้าพเจ้าได้เตือนนายมอฟแฟทท์ ขอให้เสนอเรื่องเข้าไปอีกเกี่ยวกับการช่วยเหลือประเทศไทย ซึ่งอังกฤษได้คัดค้านไว้ในคราวประชุมที่กรุงลอนดอน ข้าพเจ้าได้กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ ก็ควรเตือนเพื่อศักดิ์ศรีของสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งได้เสนอในครั้งแรก นายมอฟแฟทท์รับจะพิจารณา แต่ได้พูดว่า ถ้าจะทำให้มีการกระทบกระเทือนระหว่างอเมริกากับอังกฤษ ก็คิดว่าจะไม่เสนออีก

๒. ข้าพเจ้าได้เตือนนายมอฟแฟทท์ว่า รัฐบาลอเมริกันควรจะรีบส่งเสริมให้บริษัทและนักธุรกิจอเมริกันเข้าไปทำการค้าในเมืองไทย เพราะยิ่งรอนานไปก็ยิ่งจะเสียเปรียบพ่อค้าชาติอื่น นายมอฟแฟท์ทรับ จะรีบดำเนินการในเรื่องนี้

๓. เรื่องเลิกกักกัน (Unfreeze) เงินของไทย ซึ่งนายมอฟแฟทท์ บอกว่าได้เสนอแนะนำไปแล้ว และควรจะเลิกกักกันเงินของไทยได้ในต้นเดือนหน้า แต่เวลานี้เรื่องจะไปติดอยู่ที่โต๊ะใครไม่ทราบ

๔. เรื่องพ่อค้าอเมริกันควรจะซื้อสินค้าตรงจากเมืองไทย เช่น ดีบุก ยางพารา ไม้สัก แทนซื้อผ่านลอนดอน ซึ่งนายมอฟแฟทท์เห็นด้วย

๕. เรื่องข้าว ซึ่งไทยใช้เป็นค่าเสียหายนั้น นายมอฟแฟทท์ ขอให้ข้าพเจ้าบอกให้รัฐบาลไทยรีบจัดการเสีย เพื่อรักษาชื่อเสียงไว้

๖. นายมอฟแฟทท์เตือนว่า ไทยจะต้องอยู่ใกล้ชิดกับอังกฤษ ฉะนั้น ต้องหาวิธีเป็นเพื่อนกันโดยเร็วที่สุด

๒. นายมอฟแฟทท์เล่าให้ฟังว่า ความจริงข้อความในสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษนั้น ยังไม่เป็นที่พอใจแก่กระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน แต่เนื่องจากทางฝ่ายอเมริกันไปเริ่มเจรจาในถ้อยคำในตอนต้น เพราะถ้อยคำตามร่างสัญญาของอังกฤษมีข้อความกำกวมไม่แน่ชัด ทำให้ต้องเสียเวลามาก และอังกฤษชักเบื่อหน่ายตึงเครียดขึ้น จึงต้องตกลงปรองดองกัน แต่อย่างไรก็ดี บัดนี้ อเมริกาได้ขอให้อังกฤษทำบันทึกชี้แจงข้อความอันกำกวม ให้มีความหมายแน่ชัดขึ้น ทั้งนี้ อเมริกาอ้างว่า เมื่อมีถ้อยคำกำกวมเช่นนี้ หากต่อไปภายหน้า รัฐบาลอังกฤษอาจปฏิบัติผิดไป จากความหมายในขณะร่างสัญญาก็ได้ [เรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้ทราบมาจากนายเฮนสลี ผู้แทนยูไนเต็ดเพรส (U.P.) ในกรุงวอชิงตันมาก่อนแล้วว่า อเมริกาได้ขอให้อังกฤษทำบันทึกลับชี้แจงความหมายถ้อยคำที่กำกวมในสัญญา ส่งให้รัฐบาลอเมริกัน ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้ส่งให้แล้ว ฉะนั้น หากจะมีปัญหาเกิดขึ้นในการปฏิบัติตามสัญญา ก็อาจจะร้องขอให้รัฐบาลอเมริกันวินิจฉัยตัดสินได้]

งานอีกด้านหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้ดำเนินไปก็คือ ชักชวนให้นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมอเมริกัน มาค้าขายและประกอบอุตสาหกรรมในประเทศไทย ย่อมเป็นที่ทราบว่า เมื่อก่อนสงคราม อเมริกามีการค้าขายกับประเทศไทยน้อยมาก แม้แต่การซื้อวัตถุดิบของเราเช่นยางพารา ก็ซื้อผ่านลอนดอน คนอเมริกันมีบริษัทค้าขายขนาดกลางอยู่เพียงบริษัทเดียว (นอกจากบริษัทน้ำมัน) ส่วนบางประเทศในยุโรปนั้น มีบริษัทใหญ่ ๆ ค้าขายในประเทศไทยมากหลาย เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะชักจูงให้คนอเมริกันมาทำการค้า และทำการอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อให้คนอเมริกันมีส่วนได้เสียในเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น จะได้มีความสนใจในความเป็นอยู่ของไทย ในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ เราจึงจะได้ทำการค้าขาย และประกอบอุตสาหกรรม โดยไม่ถูกกดขี่จากประเทศอื่นใด

เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) นายแบรคแมน แห่ง ยู.พี. (ยูไนเต็ด เพรส) ได้ขอสัมภาษณ์ข้าพเจ้า เรื่องเศรษฐกิจของเมืองไทย ทั้งนี้แสดงว่าคนอเมริกันสนใจในปัญหาเศรษฐกิจของเมืองไทยมากขึ้น

การบรรเทาทุกข์และบูรณะความเสียหายของประเทศหลังสงคราม

งานบรรเทาทุกข์ และบูรณะความเสียหายของประเทศหลังสงคราม เป็นงานที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายจากหัวหน้าขบวนการต่อต้านของไทย การดำเนินงานนี้ ข้าพเจ้าจำต้องติดต่อกับองค์การสหประชาชาติ เพื่อบรรเทาทุกข์และบูรณะความเสียหายของประเทศ เรียกว่า United Nations Relief and Rehabilitation Administration (UNRRA) (เป็นที่สังเกตว่าสัมพันธมิตรได้นำคำ United Nations มาใช้ ก่อนจัดตั้ง United Nations Organization และองค์การอื่น ๆ ที่จะช่วยเหลือเมืองไทยในทำนองเดียวกัน)

ไม่กี่วันหลังจากที่ข้าพเจ้าถึงวอชิงตัน เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) ท่านราชทูตไทย (ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช) ได้พาข้าพเจ้าไปพบ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ (Dr. Francis B. Sayre) หรือ พระยากัลยาณไมตรี ณ สำนักงานของอันรรา ดร. แซร์ เคยเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการต่างประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๖ และได้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศไทยอย่างมากมาย จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี เมื่อข้าพเจ้ากลับเข้ามารับราชการจากอเมริกาในสมัยนั้น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบปะกับท่านเจ้าคุณกัลยา ฯ เสมอ และคุ้นเคยกับท่านจนถึงกับเล่นเทนนิสด้วยกันเป็นการประจำทุกสัปดาห์ที่ราชกรีฑาสโมสร ในวันที่ข้าพเจ้าไปพบกับท่านเจ้าคุณกัลยา ฯ พร้อมกับท่านราชทูต ท่านจำข้าพเจ้าได้ดี ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้พบกันตั้ง ๒๐ ปี ท่านได้ตรงเข้าจับมือข้าพเจ้า เรียกชื่อ “ประสบ” ซึ่งเป็นชื่อตัวข้าพเจ้า และเป็นชื่อที่ท่านเคยเรียกข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจยิ่งที่ได้มาพบเพื่อนเก่าซึ่งจำข้าพเจ้าได้ดี และอยู่ในตำแหน่งสำคัญในอันรรา คือ ตำแหน่งที่ปรึกษาทางการทูต (Diplomatic Advisor) ของอันรรา ทั้งนี้จะทำให้งานที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายสะดวกยิ่งขึ้น

ข้าพเจ้าได้อธิบายให้ท่านเจ้าคุณกัลยาฯ ทราบถึงความประสงค์ของประเทศไทย ที่จะขอร้องให้อันรราเข้าทำการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ และบูรณะความเสียหายของประเทศภายหลังสงคราม ท่าน เจ้าคุณกัลยา ฯ ได้ชี้แจงให้ข้าพเจ้าฟังว่า ประเทศไทยยังไม่อยู่ในข่ายที่อันรราจะช่วยเหลือได้ เพราะไม่ถือเป็นประเทศที่ฝ่ายศัตรูได้เข้าเหยียบย่ำ และฝ่ายสัมพันธมิตรได้ช่วยกอบกู้ให้เป็นอิสระ (Liberated Countries) ทั้งนี้คงเนื่องจากประเทศไทยได้เซ็นสัญญาร่วมรับร่วมรุกกับญี่ปุ่น และได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ และออสเตรเลีย ฉะนั้น ถ้าจะมีการช่วยเหลือ จะต้องมีมติของคณะกรรมการผสมของอันรรา (Combined Board) เสียก่อน นอกจากนั้นท่านเจ้าคุณได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ประเทศที่ได้รับการช่วยเหลือแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ ประเภท ๑ ประเทศที่ไม่มีเครดิตในต่างประเทศ เช่น ประเทศกรีซ ประเทศดังกล่าวนี้อันรราจะส่งสิ่งของให้โดยไม่คิดมูลค่า ประเภท ๒ เป็นประเทศที่มีเครดิตในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส ฮอลลันดา และเบลเยี่ยม ซึ่งอันรราจะส่งสิ่งของให้โดยคิดมูลค่า ถ้าประเทศไทยจะได้รับความช่วยเหลือกคงอยู่ในประเภทที่ ๒ ในการเจรจานี้ ท่านเจ้าคุณกัลยา ฯ ได้เรียกนายเอ็ด อานอลด์ หัวหน้าฝ่ายเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มาเข้าร่วมด้วย การเจรจากันในวันนี้ เป็นการเจรจาเบื้องต้น ข้าพเจ้าและนายอานอลด์ได้นัดพบกันอีก ส่วนท่านเจ้าคุณกัลยา ฯ กำลังจะออกเดินทางไปประเทศอาฟริกาใต้ เพื่อเจรจาหาถ่านหินให้ประเทศอินเดีย เราจึงได้อำลากันจนกว่าท่านจะกลับจากการเดินทางของท่าน

เนื่องจากจะมีการประชุมคณะกรรมการผสมในกรุงลอนดอน และนายอานอลด์ก็จะเข้าประชุมด้วย ข้าพเจ้าจึงได้ขอร้องให้นายอานอลด์นำเรื่องประเทศไทยเข้าพูดด้วย โดยประสงค์จะให้ประเทศไทยเข้าอยู่ในประเภทที่ได้รับการกู้ให้เป็นอิสระ นายอานอลด์ได้รับรองจะทำตามคำร้องขอของข้าพเจ้า ในวันอังคารที่ ๑๗ กรกฎาคม นายอานอลด์จึงได้นัดประชุมที่สำนักงานของอันรรา โดยขอให้ข้าพเจ้านำบัญชีสิ่งของที่ต้องการพร้อมด้วยบันทึกมาด้วย ทั้งได้ขอให้ข้าพเจ้าแถลงในที่ประชุมด้วย (บัญชีสิ่งของที่จำเป็นและที่เมืองไทยต้องการ หัวหน้าขบวนการต่อต้านได้เตรียมไว้ก่อนข้าพเจ้าเดินทางจากเมืองไทยแล้ว เป็นสมุดเล่มหนาพอใช้)

เมื่อท่านเจ้าคุณกัลยาณไมตรี (ดร. แซร์) กลับจากการไปธุระต่างประเทศแล้ว ข้าพเจ้าได้ไปหาท่านเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๔๘๙ (๑๙๔๖) ได้ขอให้ท่านช่วยสืบเรื่องอันรรากับประเทศไทยว่าจะตกลงช่วยเหลือแค่ไหน ซึ่งท่านก็รับจะสืบให้ (ตอนนี้นายอานอลด์ย้ายตำแหน่งแล้ว)

เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๔๘๙ (๑๙๔๖) ข้าพเจ้าได้ไปหาท่านเจ้าคุณตามที่นัดไว้เมื่อวันที่ ๘ ท่านได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ตามที่รับจะสืบเรื่องเมืองไทยกับอันรรานั้น บัดนี้ได้ความว่า เมื่อคราวการประชุมคณะกรรมการผสมของอันรราที่ลอนดอน สหรัฐอเมริกาตั้งใจจะเสนอให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่อันรราควรช่วยเหลือ แต่ยังไม่ทันเสนอ อังกฤษได้ขัดข้องไว้ เพราะอังกฤษถือว่าไทยเป็นประเทศศัตรู และตามหลักเกณฑ์ของอันรราฯ จะไม่ช่วยประเทศศัตรู ข้าพเจ้าได้ถามท่านเจ้าคุณกัลยาฯ ว่าประเทศไทยควรจะขอเข้าเป็นประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือหรือเข้าเป็นสมาชิก หรือไม่ขอเข้าอย่างหนึ่งอย่างใดเลย เพราะทางที่จะได้รับความช่วยเหลือมีน้อย และการเป็นสมาชิกของอันรราจะต้องเสียส่วนช่วยเหลือร้อยละหนึ่งของรายได้ของประเทศ ท่านเจ้าคุณไม่กล้าพูดออกมาตรง ๆ แต่ฟังเสียงรู้สึกว่า เข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติดีกว่า

การหาสิ่งของมาบรรเทาทุกข์และบูรณะประเทศภายหลังสงคราม นอกจากที่ข้าพเจ้าได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากอันรราแล้ว ข้าพเจ้ายังได้ติดต่อกับองค์การเศรษฐกิจต่างประเทศ (Foreign Economic Administration) หรือเรียกโดยย่อว่า เอฟ.อี.เอ. (F.E.A.) เพื่อขอซื้อสิ่งของเหลือใช้จากสงครามอีกทางหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ไปติดต่อกับพันเอกรีแดล หัวหน้าองค์การนี้ และได้นำบัญชีความต้องการของเราไปมอบให้เขา เราได้หารือกันถึงว่าจะนำสิ่งของเหล่านี้ไปเก็บเตรียมไว้ที่ประเทศอินเดีย เมื่อขับไล่ญี่ปุ่นออกนอกประเทศไทยแล้ว สิ่งของเหล่านี้จะได้ถึงเมืองไทยเร็วขึ้น ข้าพเจ้าลองถามความเห็นพันเอกรีแดลว่า อันรราจะช่วยเหลือไทยได้แค่ไหน พันเอกรีแดล ซึ่งเป็นคนพูดตรงไปตรงมาอย่างทหาร ตอบข้าพเจ้าว่า สู้ช่วยตัวเองไม่ได้ คือตกลงซื้อเสียอีกว่า ข้าพเจ้าตั้งใจว่า จะดูราคาเสียก่อน หากไม่แพงเกินไป จะพยายามหาทางตกลงซื้อสิ่งของเหลือใช้สงครามก่อนประเทศอื่น ๆ แย่งซื้อไปเสีย

เนื่องจากทางรถไฟ รถจักรและล้อเลื่อนของเราถูกทำลายทางอากาศเสียหายมาก ข้าพเจ้าได้คำนึงถึงการฟื้นฟูการขนส่งทางรถไฟของเราให้เร็วที่สุด จึงได้ติดต่อกับบริษัทบอลวินโลโคโมทีฟ (รถไฟไทยได้ซื้อรถจักรของบริษัทนี้ใช้อยู่หลายคัน) บริษัทบอลวินโลโคโมทีฟ ได้เชิญข้าพเจ้าไปชมโรงงานของเขาที่เมืองเชสเตอร์ และได้ชมกิจการอยู่ตลอดวัน เมื่อเจรจากันถึงเรื่องราคาและเวลาสร้าง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเวลาสร้างนานเกินไปสำหรับความต้องการของเรา (เมื่อข้าพเจ้ากลับเมืองไทยแล้ว รัฐบาลได้จัดตั้งองค์การจัดหาสิ่งของเพื่อบรรเทาทุกข์ และบูรณะความเสียหายของประเทศ (อ.ก.ส.) ในเดือนเมษายน ๒๔๘๙ (๑๙๔๖) โดยแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นผู้อำนวยการ เราได้ซื้อรถจักร ๒๐ ตัว และรถบรรทุก ๖๐๐ คัน จากสิ่งของที่อังกฤษได้ “ยืมเช่า” (Lend-Lease) จากอเมริกา และนำไปใช้ในอินเดีย (แต่ในสมัยต่อมา อ.ก.ส. ได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์และการดำเนินงานเป็นรูปร้านค้า และคนกลางจัดซื้อของบางอย่างให้หน่วยราชการ)

มีสิ่งของหลายอย่างที่จำเป็นในการครองชีพ และต้องการด่วน เช่น ยาและเวชภัณฑ์ เสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ดำเนินการเตรียมจัดหาส่งเมืองไทย รวมทั้งได้สืบสวนเรื่องเรือขนส่งด้วย แต่ทุกสิ่งทุกอย่างคงติดอยู่ที่เงิน ซึ่งรัฐบาลอเมริกันได้กักกัน (Freeze) ไว้ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้เตือนนายมอฟแฟทท์ ผู้อำนวยการกองเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ขอให้รีบเลิกกักกัน (Unfreeze) นายมอฟแฟทท์ก็ได้รับจะรีบดำเนินการให้ (ดูหน้า ๔๖๔ ข้อ ๓)

เมื่อรัฐบาลได้มีคำสั่งให้ข้าพเจ้ากลับ ข้าพเจ้าก็ได้รีบเดินทางกลับถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๘๔ (๑๙๔๖)

ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าใคร่ขอกล่าวขอบคุณชนชาวอเมริกัน ที่ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ และช่วยเหลือเมืองไทยในยามคับขัน และทั้งรู้สึกปลื้มปีติยินดีที่คนไทยในสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถระบุนามได้ทั้งหมด เพราะมากมายด้วยกัน ได้ร่วมมือกันเสียสละทำงานให้ชาติอย่างเข้มแข็งและพร้อมเพรียง

พระพิศาลสุขุมวิท

บ้านศาลาแดง

๕ ถนนสีลม

พระนคร

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ