คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก

สงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้น นับจนบัดนี้ก็ร่วมเข้า ๒๗ ปี แล้ว ในสงครามครั้งนี้ ประเทศไทยเราถูกเหตุการณ์ต่าง ๆ บังคับให้เข้าไปพัวพันด้วย เหตุการณ์ต่าง ๆ เท่าที่เกี่ยวกับไทย เป็นเรื่องที่น่าศึกษาหรือทราบไว้ เพื่อประกอบความรู้ โดยที่ข้าพเจ้าบังเอิญเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในนโยบายต่างประเทศของเราอยู่บ้าง ตั้งแต่ก่อนเกิดสงคราม ระหว่างสงคราม จนภายหลังสงคราม และในระยะเวลาดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าได้ทำบันทึกไว้ก็มี เป็นบันทึกอนุทินความจำส่วนตัวก็มี บันทึกเหล่านี้ได้ช่วยฟื้นความจำแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าได้ประสบพบเห็นมาด้วยตนเองก็มีมาก ที่ได้จากบุคคลอื่น ๆ หรือข้อเท็จจริงจากหนังสือหรือเอกสารทั้งไทยและต่างประเทศก็มีไม่น้อย ข้าพเจ้าจึงรู้สึกว่า เรามีอายุมากขึ้นทุกวัน ในระหว่างที่ยังพอมีความจำ กำลังแข็งแรง ควรที่จะนำข้อเท็จจริงต่าง ๆ เท่าที่รู้เห็น มาเขียนเผยแพร่แก่พี่น้องเพื่อนร่วมชาติเท่าที่จะทำได้ คงจะได้ประโยชน์บ้าง เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อเวลายิ่งล่วงเลยนานเข้า ก็ยิ่งจะหลงลืม หนุ่มสาวในปัจจุบันนี้ ในสมัยนั้นยังเยาว์วัยทั้งนั้น และบางคนอาจยังไม่เกิด ควรจะได้มีโอกาสศึกษาและทราบเรื่องตามสมควร เพราะทุกคนต่างก็จะมีโอกาสได้รับใช้ชาติบ้านเมืองตามความสามารถของตน และแม้เพื่อนร่วมชาติรุ่นเดียวกับข้าพเจ้า ก็คงจะได้ประโยชน์จากความรู้เรื่องนี้ ไม่มากก็น้อย เพราะเหตุการณ์ในอดีตย่อมเป็นบทเรียนสำหรับอนาคต เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้รัฐบาลอเมริกันก็ยังตีพิมพ์โฆษณาเอกสารเกี่ยวกับการโต้ตอบติดต่อระหว่างกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันกับทูตของเขา ซึ่งประจำอยู่ในนานาประเทศ ถึงเรื่องสงครามครั้งนี้โดยละเอียด เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูตเกี่ยวกับไทย มีความตื้นลึกหนาบางอย่างใดนั้น ก็กินเนื้อที่เกือบถึง ๔๐๐ หน้า เซอร์โจซาย ครอสบี้ อัครราชทูตอังกฤษซึ่งประจำอยู่ในกรุงเทพฯ ก่อนสงคราม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ (ค.ศ. ๑๙๓๔) จนถึงญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย นายพลเรือเดอคูซ ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนฝรั่งเศสในสมัยพิพาทกับเรา นายชิเงมิทสุ อดีตรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศญี่ปุ่น นายคอร์เดล ฮัลล์ อดีตรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกัน และนายแอนโทนี อีเดน (เอิรลแห่งเอวอน) อดีตรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอังกฤษในสมัยสงคราม ก็ได้เขียนหนังสือ เล่าบรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้ไว้โดยละเอียดทั้งสิ้น นอกจากนี้ อัครราชทูตอังกฤษและอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทยคนแรก ภายหลังสงคราม ต่างก็ได้เขียนเรื่องความสัมพันธ์กับไทยไว้ในหนังสือของท่าน

โดยที่ข้าพเจ้าเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะไม่กล่าวถึงตัวเองด้วยในเหตุการณ์นั้น ๆ หวังว่าท่านผู้อ่านคงให้อภัย ข้าพเจ้ายึดหลักในการเขียนครั้งนี้ว่า เขียนโดยอาศัยข้อเท็จจริง ซึ่งตนรู้มาแน่นอนหรือมีหลักฐาน สิ่งใดหรือเหตุการณ์ใดที่ข้าพเจ้าไม่ทราบหรือไม่เคยได้ยินหรือไม่แน่ เพราะข้าพเจ้าไม่ได้มีส่วนปฏิบัติด้วย ก็จะไม่กล่าวถึง จริงอยู่ รายละเอียดปลีกย่อยอาจคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งธรรมดา อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าขอแจ้งไว้ ณ ที่นี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่มีเจตนาที่จะให้ร้ายต่อชาติใดชาติหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเลย

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น ๓ ภาคด้วยกัน ภาคแรกเป็นเรื่องตั้งแต่เริ่มสงครามด้านยุโรปจนถึงสงครามด้านเอเซีย ภาคสองเป็นเรื่องระหว่างสงครามด้านเอเซียจนเสร็จสงคราม และภาคสามเป็นเรื่องภายหลังสงคราม

มีพฤติการณ์ซึ่งเราคนไทยปลื้มใจมาก และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น คือ เมื่อเสร็จสงครามใหม่ ๆ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จนิวัตพระนคร กองทหารสัมพันธมิตรซึ่งเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ได้พร้อมใจกันสวนสนามถวายความเคารพ จำเพาะพระพักตร์แห่งพระองค์ท่าน ทั้งนี้ เพราะพระองค์ทรงเป็นองค์พระประมุข ทรงเป็นสัญญลักขณ์ของความเป็นชาติ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนไทยทั้งประเทศ ในเมื่อคำนึงดูว่า มหาประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรบางประเทศรับการประกาศสงครามของเรา และถือว่าฝ่ายเราเป็นประเทศศัตรู และในการสวนสนามของฝ่ายสัมพันธมิตรครั้งนี้ พลเรือเอกลอร์ดหลุย เมานต์แบตเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสัมพันธมิตรประจำเอเชียอาคเนย์ ก็มายืนอยู่เบื้องพระขนองแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ข้าพเจ้าจึงได้อัญเชิญพระรูปทางประวัติศาสตร์ เนื่องในโอกาสอันสำคัญนั้น มาลงไว้ในหน้าแรกของหนังสือนี้ด้วย

อนึ่ง ข้าพเจ้าเว้นเสียมิได้ที่จะต้องขอขอบคุณท่านผู้ร่วมงานทั้งหลาย ที่ได้มีส่วนช่วยข้าพเจ้าในระหว่างรับราชการด้วยกันมา หรือในระหว่างข้าพเจ้าอยู่นอกราชการชั่วคราวในระหว่างสงคราม ท่านเหล่านี้ก็ได้มีส่วนช่วยเหลือในกิจการของชาติเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถระบุพระนามและนามโดยทั่วถึง แต่มีท่านหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าต้องกล่าวขอบพระทัยไว้ ณ ที่นี้ คือ เสด็จในกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ด้วยระหว่างที่ข้าพเจ้าร่วมงานกับพระองค์ท่าน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ พระองค์ท่านได้ทรงพระเมตตาประทานพระดำริในปัญหาต่าง ๆ ที่ได้กราบทูลหารือ นับว่าทรงช่วยทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองเป็นอันมาก

มีอีกสามท่านที่ข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณเป็นพิเศษ ที่ช่วยให้หนังสือนี้มีข้อความครบถ้วนในข้อเท็จจริงบางประการ ซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถทราบได้ คือ นายทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี มิตรรักสนิทของข้าพเจ้า ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม) อดีตอธิบดีกรมทาง ผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งสองท่านหลังนี้ก็เป็นที่รักนับถือคุ้นเคยกันมาช้านาน สำหรับนายทวี บุณยเกตุ นั้น โดยที่ระหว่างสงคราม ท่านได้ทำหน้าที่สำคัญใหญ่ยิ่ง ร่วมมือกับสัมพันธมิตรภายในประเทศ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้มีส่วนสำคัญในการนำสาสน์จากพลเรือเอก ลอร์ดหลุย เมานต์แบตเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตรประจำเอเซียอาคเนย์ เข้ามาติดต่อกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น เป็นการเริ่มแรก และทำหน้าที่สื่อสำคัญระหว่างเรากับสัมพันธมิตร (ด้านอังกฤษ) ส่วนพระพิศาลสุขุมวิทนั้น ก็ได้มีส่วนสำคัญในการเล็ดลอดออกไปประจำอยู่กับสัมพันธมิตรที่สหรัฐ (ด้านอเมริกา) ถึง ๘ เดือน ข้าพเจ้าจึงขอร้องให้ท่านทั้งสามเขียนข้อเท็จริงเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้แทรกไว้ด้วย ซึ่งท่านทั้งสามนี้ก็ยินดีเขียนให้ และเมื่อข้าพเจ้าขอให้ท่านอ่านและวิพากษ์วิจารณ์ต้นฉบับหนังสือนี้ก่อนส่งไปโรงพิมพ์ ท่านก็ยินดีช่วยอีก อย่างไรก็ดี หากจะมีความผิดตกบกพร่องคลาดเคลื่อนประการใดปรากฏขึ้นในหนังสือนี้ ข้าพเจ้าขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่ผู้เดียว

ข้าพเจ้าขอขอบใจ นายสละ ศิวรักษ์ เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ ที่ได้ช่วยเหลือในการถ่ายรูปอัดสำเนาร่างหนังสือนี้ อนึ่ง นายทองเติม โกมลศุกร์ ธ.บ. เลขานุการตรี กระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้เป็นกำลังสำคัญ ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ดีดพิมพ์จากร่างตัวเขียนของข้าพเจ้าทั้งหมด พร้อมกันนี้ ข้าพเจ้าก็ขอขอบใจนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เนติบัณฑิตอังกฤษ และ B.A. (University of Wales) ที่ได้ช่วยดูแลในการพิมพ์หนังสือนี้ ตลอดจนตรวจทานและทำสารบาญค้นเรื่องท้ายหนังสือนี้ ทางฝ่ายสำนักพิมพ์แพร่พิทยานั้น นายจิตต์ แพร่พานิช ก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยมี นายยศ วัชรเสถียร นักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียง ช่วยเอาใจใส่ตรวจตราอย่างละเอียดรอบคอบ นอกจากนี้ก็มีนายสนิท เจริญรัฐ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้รักใคร่สนิทกับข้าพเจ้ามาหลายสิบปี ที่ได้ช่วยเหลือติดต่อในการจัดพิมพ์หนังสือนี้ โดยไม่เห็นแก่ความลำบากตลอดเวลา ข้าพเจ้าขอสำนึกในความปรารถนาดีของท่านที่เอ่ยนามมาแล้วนี้ด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ทางราชการอยู่ก็ดี ในขณะที่เรียบเรียงหนังสือนี้ก็ดี ภรรยาข้าพเจ้าได้มีส่วนช่วยเหลือและเป็นกำลังใจอันสำคัญอยู่ตลอดมา ข้าพเจ้าขอจารึกความขอบใจที่มีต่อเธอไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ข้าพเจ้าจะปลื้มใจเป็นอันมาก หากหนังสือนี้จะช่วยส่งเสริมกำลังใจของพี่น้องร่วมชาติทั้งหลาย ให้ตั้งหน้าปฏิบัติหน้าที่ของตน เพื่อให้ประเทศชาติอันเป็นที่รักของเรา พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของเรา และสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการของเรา มั่นคงสถิตสถาพรอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย

((ดิเรก ชัยนาม))

๗ ตุลาคม ๒๕๐๙

๒๕ ซอยสันติสุข ถนนสุขุมวิท

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ