บทที่ ๕ ญี่ปุ่นประกาศสงคราม

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) เป็นต้นมา จนถึงวันที่ญี่ปุ่นประกาศสงคราม คือ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ผู้เขียนได้ปรารภกับทูตอังกฤษและทูตอเมริกันหลายสิบครั้ง ว่า ทราบมาแน่ว่าญี่ปุ่นจะเข้าเมืองไทย และใช้ประโยชน์จากเมืองไทยเป็นแหล่งทำสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยที่ไทยเป็นประเทศเล็กและไม่อยากเข้าพัวพันกับฝ่ายใด ฉะนั้น รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลอเมริกันควรประกาศว่า ถ้าญี่ปุ่นรุกเข้าเมืองไทย ทั้งสองประเทศจะถือว่าเป็นการรุกรานอังกฤษและอเมริกา ทั้งนี้เพื่อให้ญี่ปุ่นยับยั้งชั่งใจให้ดี แม้กับนายฟูตามิ ทูตญี่ปุ่นเอง ข้าพเจ้าก็ได้เคยพูดว่า ถ้าญี่ปุ่นจำเป็นต้องทำสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าเมืองไทย ทิ้งไทยไว้ให้เป็นกลาง ผลจริงจังญี่ปุ่นกลับจะได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะไทยก็คงค้าขายกับประเทศอื่น ๆ ไม่ได้ นอกจากกับญี่ปุ่นหรือพันธมิตรของญี่ปุ่น

สำหรับอังกฤษนั้นเห็นด้วย ในปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) รัฐบาลอังกฤษ โดยผ่านอุปทูตอังกฤษที่กรุงวอชิงตัน ได้เสนอร่างต่อรัฐบาลอเมริกัน มีความดังต่อไปนี้ “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (สหราชอาณาจักร) ตระหนักว่า เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ศกนี้ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ท่านประธานาธิบดีโรสเวลต์ได้ยื่นสาสน์ต่อเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ในปัญหาเกี่ยวกับ ความกังวลของสหรัฐอเมริกา ในกิจกรรมทางทหารของญี่ปุ่นในอินโดจีน และก้าวต่อไป ซึ่งรัฐบาลอเมริกันจำเป็นจะต้องดำเนิน ถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นยังคงเป็นนโยบายรุกรานเช่นนี้อีกต่อประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความเป็นกังวลร่วมกับรัฐบาลอเมริกัน และไม่อาจเพิกเฉยต่อการคุกคามอย่างชัด ๆ ต่อความมั่นคงของดินแดนบริติช เพราะนโยบายของญี่ปุ่นเช่นนี้เป็นการคุกคามต่อความมั่นคงดังกล่าว

ฉะนั้น รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเท่าที่เกี่ยวกับตน ไม่มีเจตนาที่จะรุกรานประเทศใด ๆ ซึ่งมีดินแดนติดต่อกับดินแดนบริติช (หมายถึงไทยและจีน) หรือต่อญี่ปุ่นเอง จึงรู้สึกว่าจำเป็น เพื่อประโยชน์ของสันติภาพ ที่จะต้องแจ้งให้รัฐบาลญี่ปุ่นทราบว่า ถ้าญี่ปุ่นก้าวล่วงลงมาในอาณาบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้แล้ว ก็จะเป็นการบังคับให้รัฐบาลของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวดำเนินมาตรการโต้ตอบ แม้มาตรการนั้นจะเป็นการนำมาซึ่งสงครามระหว่างบริเตนใหญ่กับญี่ปุ่น

วันที่ ๒๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๑

ร่างบันทึกนี้ นายฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกัน มีความเห็นว่า รุนแรงเกินไป จะเป็นการทำให้ฝ่ายทหารญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องท้าทาย และรัฐบาลอเมริกันก็ได้เคยเตือนญี่ปุ่นแล้วในบันทึกฉบับวันที่ ๑๗ สิงหาคม ดังกล่าวแล้ว ฉะนั้น นายฮัลล์จึงเสนอให้อังกฤษแก้ถ้อยคำในร่างนั้นให้เบาลง และไม่ขัดข้องที่อังกฤษจะยื่นต่อญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ประมาณวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ทูตอังกฤษได้มาแจ้งกับข้าพเจ้าว่า นายแอนโทนี่ อีเดน รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอังกฤษได้ถือโอกาสแถลงในสภาสามัญ ความว่า การกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นการคุกคามความมั่นคงและบูรณภาพของประเทศไทยแล้ว รัฐบาลอังกฤษถือว่ากระทบถึงประโยชน์ของอังกฤษทันที

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับคำร้องขอของข้าพเจ้านี้ นายแกรนต์ ทูตอเมริกันได้โทรเลขรายงานไปยังรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกัน เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) และมีความ เห็นดังนี้ ถ้ากระทรวงการต่างประเทศอเมริกันเห็นด้วยที่จะประกาศสนับสนุนไทยตามที่ฝ่ายไทยขอร้องแล้ว ทูตแนะนำอย่างหนักแน่นว่า จะต้องลากเส้นให้ชัดเจน ในกรณีพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนเรื่องหนึ่ง กับปัญหาเรื่องญี่ปุ่นนี้ เพราะว่ารัฐบาลไทยซึ่งกำลังขอร้องให้เราประกาศช่วยเหลือนี้เอง จงใจไม่ฟังคำแนะนำของเราที่ให้มีสถานภาพเดิม (Status Quo) และการที่ร่วมมือกับญี่ปุ่นนั้น ก็เท่ากับมีความผิดในฐานรุกรานทางทหารต่ออินโดจีนจนได้ผล ไทยนั้นเก่งและโดยปรกติไม่วางไพ่ทุกใบให้เราเห็น ฉะนั้น อาจเป็นการเดินชั้นเชิงให้เราหลง จนกลายเป็นให้ความอนุมัติ ในการที่ไทยเอาดินแดนจากอินโดจีนครั้งนี้.........

อย่างไรก็ดี คำตอบซึ่งรัฐบาลอเมริกันให้มาทางนายแกรนต์ก็ดี ทางทูตของเราที่กรุงวอชิงตันก็ดี สาระสำคัญว่า “ถ้าไทยตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะต่อต้านญี่ปุ่นแล้ว สหรัฐอเมริกาจะช่วยไทยอย่างที่ช่วยประเทศจีน

ต่อมาในวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) รัฐบาลได้รับโทรเลขจากทูตของเราที่กรุงวอชิงตันว่า รัฐบาลอเมริกันได้เสนอขอตั้งนาย Willys R, Peck ข้าราชการในกรมกิจการตะวันออกของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันมาเป็นอัครราชทูต โดยจะเรียกนายแกรนต์กลับ นายเป็กผู้นี้อายุ ๕๐กว่า เคยอยู่ในประเทศจีนหลายปี เป็นข้าราชการทูตฝ่ายประจำ ไม่ใช่นักการเมือง รู้จักธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมตะวันออกเป็นอย่างดี รัฐบาลไทยได้ตอบให้ความเห็นชอบกันที สำหรับนายแกรนต์ การที่ถูกเรียกกลับนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าโดยเหตุผลหลายประการ ประการแรกคือ นายแกรนด์เป็นนักการเมืองพรรค Democrat มีความคิดเห็นต่าง ๆ เป็นนักการเมือง พวกข้าราชการทูตอเมริกันด้วยกันเองไม่ชอบ ว่ามีความคิดแปลก ๆ บางนายถึงกับมาหาข้าพเจ้าที่บ้านบอกว่า ทนอยู่ใต้บังคับบัญชาไม่ได้แล้ว จะลาออก หรือไม่ก็ขอให้เรียกกลับ ข้าพเจ้าต้องให้สติไว้ พวกทูตด้วยกันเองก็ไม่พอใจ เช่น ทูตอังกฤษมาปรารภกับข้าพเจ้าเสมอว่า เข้าใจกันยาก แทนที่จะร่วมมือกันเพื่อสู้กับญี่ปุ่น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านการเมือง กลับไม่ค่อยได้ร่วมกัน เพราะความคิดแปลก ตามเอกสารปรากฏว่ารัฐบาลอังกฤษให้ทูตอังกฤษในกรุงวอชิงตันไปเล่าให้กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันฟังหลายเรื่อง อนึ่ง แม้พวกพ่อค้าชาวอเมริกันเองก็ไม่ชอบ และมีเรื่องกระทบกระทั่งกับนายแกรนต์มากมาย ซึ่งข้าพเจ้าไม่จำต้องนำมาเล่าในที่นี้ สำหรับข้าพเจ้าเอง แม้จะได้รับความยุ่งยากจากทูตคนนี้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยแจ้งให้ทูตของเราที่กรุงวอชิงตันปรารภกับรัฐบาลอเมริกันเลย ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ขั้นสุดท้ายในที่สุด รัฐบาลอเมริกันเองต้องเรียกกลับ ก็คงเพราะได้ยินข่าวต่าง ๆ จากพวกของเขาเอง แม้แต่ได้รับคำสั่งให้กลับจากรัฐบาลอเมริกันแล้วก็ดี นายแกรนต์ก็ยังไม่พอใจถึงวิธีการที่เสนอตั้งทูตใหม่ นายแกรนต์ได้มาถามข้าพเจ้าว่า วิธีการที่ขอตั้งทูตใหม่โดยให้ทูตของเราที่กรุงวอชิงตันบอกเข้ามานั้น ไม่ถูก รัฐบาลไทยควรจะตอบไปว่า ต้องให้ทูตอเมริกันที่กรุงเทพฯ มาขอความเห็นชอบ ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่า ทำได้ทั้งสองทาง และเรื่องนี้เป็นสิทธิของรัฐบาลอเมริกัน ไทยเราไม่เกี่ยวข้อง

เป็นที่น่ายินดีที่สุดที่สหรัฐเมริกาส่งนายเป็ก ทูตคนใหม่มา ท่านผู้นี้ได้ให้ความร่วมมือกับเราเป็นอย่างดีที่สุด แต่ก็น่าเสียดาย นายเป็กมาถึงกรุงเทพ ฯ วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ทำหน้าที่ได้เพียงสองเดือนกว่า ก็เกิดสงครามด้านเอเซีย

หนังสือพิมพ์ในนิวยอร์คเอง อาทิ หนังสือพิมพ์ New York Times ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์หลักฐานมาก ก็ได้ลงข่าวว่า นายเป็กมาคราวนี้ เพื่อจะฟื้นฟูไมตรีระหว่างประเทศทั้งสองให้กลับดีขึ้น

วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ๒ นายพร้อม ๆ กัน คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ๒ กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ถอนตัว และทรงแต่งตั้งให้รัฐมนตรีช่วยว่าการทั้งสองกระทรวงขึ้นว่าการแทน คือ พ.อ. ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม ว่าการมหาดไทย และข้าพเจ้าว่าการต่างประเทศ มีข้อที่น่าสังเกตคือ ข้าพเจ้าเองไม่ทราบวี่แววล่วงหน้าเลย เป็นแต่ ๖ ชั่วโมงก่อนประกาศ นายทวีตะเวทิกุล ได้มาแจ้งให้ทราบว่า ทราบจากพันตรี เผ่า ศรียานนท์ นายทหารคนสนิทของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ตามที่ได้ทราบมา เยอรมันนี และอิตาลี ไม่ยินดียินร้ายประการใด ที่ข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งใหม่นี้ แต่ทูตทั้งสอง๑๐ก็ได้เขียนจดหมายแสดงความยินดีมาตามระเบียบ อุปทูตญี่ปุ่นในขณะนั้น ก็ได้แสดงความยินดีมาตามระเบียบ ทำนองเดียวกัน สำหรับอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้นยินดีมาก นอกจากแสดงความยินดีเป็นราชการแล้วยังเขียนมาเป็นส่วนตัวอีก ดังจะเห็นได้จากหนังสือทูตอังกฤษและอุปทูตอเมริกัน ตามลำดับดังต่อไปนี้

British Legation,

Bangkok.

August 26 th, 1941.

Dear Nai Direck Jayanâma,

Pray accept my heartiest felicitations upon your appointment to be Minister of Foreign Affairs. I was delighted to hear the good news, for I am convinced that you are the right man to fill this high and responsible position. I congratulate Thailand no less than yourself upon this appointment. May you prosper in all that you do in your new capacity I ask for nothing better than that you should allow me fo cooperate with you, as before, in maintaining and strengthening the historic ties of friendship between our two countries.

Believe me to be, dear Nai Direck Jayanâma,

Yours very sincerely,

J. Crosby

----------------------------

Legation of the United States of America.

August 27, 1941.

Dear Nai Direck,

Please accept my heartiest personal congratulation on your assumption of the important post of Minister of Foreign Affairs.

I do not envy your responsibility in these troubled times, but I know that your unfailing tact and wisdom will carry you through all difficulties, and I desire to express my sincere wishes for a long and successful tenure of office.

With cordial personal regards, believe me,

Yours most sincreely,

J.H. Chapman

นอกจากนี้ ในการที่ทรงแต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศครั้งนี้ อุปทูตอเมริกันได้รายงานไปยังรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกัน ดังนี้ “กรุงเทพ ฯ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ที่ ๔๔๒ ระหว่างการสนทนากับนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศในวันนี้ รัฐมนตรีได้แสดงความพอใจที่ได้รับรายงานจากอัครราชทูตไทย๑๑ กรุงวอชิงตัน ว่าเจ้าหน้าที่อเมริกันได้แสดงความเห็นอกเห็นใจในการออกใบอนุญาตให้มีการส่งออก ซึ่งสินค้าอเมริกันที่ประเทศไทยต้องการ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศกล่าวว่า รัฐบาลของเขาต้องการตามลำดับต่อไปนี้ ๑) อาวุธยุทธภัณฑ์ ๒) วัสดุต่าง ๆ ตามความต้องการของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ๓) ความต้องการด้านพลเรือน เท่าที่เกี่ยวกับคำแถลงของรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้อย่างชัดเจนไม่กำกวมว่าไทยจะต่อต้านการรุกรานนั้น รัฐมนตรีกล่าวว่าการต่อต้านนี้ จำเป็นต้องมีอาวุธ เขายิ้มและกล่าวว่า ในอดีตกรุงวอชิงตันอาจะเข้าใจว่า ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะให้อาวุธไทย เพราะอาวุธเหล่านี้อาจตกไปเป็นประโยชน์ของญี่ปุ่นได้นั้น หวังว่าบัดนี้ ความเข้าใจนั้นคงจะสูญหายไปแล้ว (หมายถึงการเปลี่ยนทูต)

เกี่ยวกับการมาถึงของนายเป็ก อัครราชทูตอเมริกันคนใหม่นี้ รัฐมนตรีกล่าวว่าจะจัดให้ได้ยื่นพระราชสาส์นโดยเร็วที่สุดภายหลังที่นายเป็กถึงกรุงเทพฯ แล้ว

ตามที่สถานทูตเคยรายงานเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ศกนี้แล้ว ว่าได้มีการแต่งตั้งให้พันเอก ประยูร ภมรมนตรี๑๒ และหลวงวิจิตรวาทการ๑๓ เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการต่างประเทศ และมีผู้เป็นห่วงกังวลนั้น การที่ต่อมาก็ได้เลื่อนนายดิเรก ชัยนาม ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ และมีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีบางกระทรวงนั้น ผู้สังเกตการณ์ที่สันทัดกรณีในกรุงเทพ ฯ นี้ เห็นว่าเป็นการแสดงฐานะของสมาชิกในคณะรัฐบาลที่นิยมฝ่ายประชาธิปไตย และแอนตี้อักษะได้แข็งข้อขึ้น ส่อให้เห็นว่าวงการรัฐบาลก็ดี ประชาชนก็ดี ตระหนักในภัยของการรุกรานของญี่ปุ่นซึ่งมีต่อไทย เนื่องจากที่ญี่ปุ่นรุกเข้ายึดครองอินโดจีน (ลงนาม) แชปแมน”๑๔

นายเป็ก เอกอัครราชทูตอเมริกันคนใหม่ มาถึงกรุงเทพ ฯ ราวกลางเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) และได้มาพบกับข้าพเจ้าทันที เราได้สนทนากันมากหลายถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ไทยกับเยอรมันนี อิตาลี ไทยกับอังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ความลำบากของไทยที่เป็นประเทศเล็กถูกบีบจากทั้งสองฝ่าย เพราะพึ่งตัวเองไม่ได้ทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจและยุทธปัจจัย ข้าพเจ้ารับรองกับทูตได้ว่า ไทยนิยมสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นประเทศที่มีไมตรีจิตต่อประเทศอื่นทั่วไป และไม่คิดรุกราน สำหรับญี่ปุ่น ไทยก็ยังนิยมในความสามารถของญี่ปุ่นจนเป็นมหาประเทศ แต่ก็กลัวญี่ปุ่นเพราะนโยบายขยายตัวของญี่ปุ่นเท่านั้นในการนี้ขอให้ทูตสอบถามในวงการทูตทั่วไป วงการพ่อค้าเอกชน และราชการทั่วไปเถิด จะทราบความจริง แล้วเรามาปรึกษากันต่อไป

ที่น่าประหลาดก็คือ ก่อนนายเป็กเข้ามากรุงเทพฯ นายเป็กเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมตะวันออกไกล มีตำแหน่งสำคัญซึ่งสามารถโอนเอนความคิดของรัฐบาลได้ เท่าที่เกี่ยวกับไทย และระหว่างอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศที่กรุงวอชิงตัน ก็ไม่สู้มีความเห็นสนับสนุนไทยเท่าใดนัก ดังจะเห็นได้จากบันทึกต่าง ๆ ในหนังสือ Foreign Relations ซึ่งได้อ้างไว้ในหนังสือนี้ แต่ภายหลังมาอยู่กรุงเทพ ฯ เพียง ๓ สัปดาห์ นายเป็กรายงานไปยังรัฐบาลสนับสนุนไทยเต็มที่ อาทิ รายงานว่า เนื่องจากไทยเป็นประเทศเอกราช เป็นศูนย์กลางของผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมเอเซีย สหรัฐอเมริกาควรสนับสนุนไทยเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ยันญี่ปุ่นไว้ อย่างน้อยการช่วยไทยโดยให้สินเชื่อและสินค้า ก็จะเป็นการกันไม่ให้ไทยต้องสมัครเข้าพัวพันกับญี่ปุ่น ไม่มีความเสียหายอะไรสำหรับสหรัฐอเมริกา และถ้าไม่พอใจเมื่อใดก็เลิกการช่วยเหลือได้ทันที ทูตขอให้รัฐบาลอเมริกันรีบเดินนโยบายนี้ การช่วยไทยทางเศรษฐกิจก็เพื่อที่จะส่งเสริมกำลังใจให้ไทยต่อต้านญี่ปุ่นไว้ ฉะนั้นไม่ควรเรียกร้องให้ไทยให้คำมั่นในทางการเมืองอย่างใด หรือให้ทำสัญญาเรื่องยางและดีบุก ตรงกันข้าม ควรสนับสนุนนโยบายไทยที่จะไม่ลำเอียงกับชาติใดชาติหนึ่ง ซึ่งก็เท่ากับสนับสนุนให้ไทยรักษาความเป็นกลางไว้ได้๑๕

มีผู้เสียดายกันมากว่า ถ้านายเป็กเข้ามาเป็นทูตก่อนหน้านี้สักหนึ่งหรือสองปี ไม่มีใครคาดได้ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาและไทยกับอักษะจะเป็นไปอย่างใด เพราะท่านผู้นี้เห็นอกเห็นใจไทยเรามาก

ในราวกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) จอมพล ป. พิบูลสงคราม แจ้งกับข้าพเจ้าว่า เนื่องจากสืบทราบมาว่า ญี่ปุ่นคงจะเข้าสงครามในราวสองสัปดาห์ข้างหน้า ฉะนั้นขอให้ข้าพเจ้าเชิญทูตอังกฤษมาพบและเล่าให้ฟังว่า ถ้าจำเป็น บางทีรัฐบาลอาจจะต้องประกาศกรุงเทพฯ เป็นเมืองเปิด เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นอ้างได้ มิฉะนั้น กรุงเทพฯ ก็จะถูกทำลาย ไทยต้องการเครื่องบินรบกวนและยุทธปัจจัยอื่น ๆ ขอให้อังกฤษช่วยด่วน มิฉะนั้นจะสายไป การที่อังกฤษคิดจะช่วยต่อเมื่อไทยถูกโจมตีแล้ว ไม่มีประโยชน์อันใด ถ้าญี่ปุ่นเข้าประเทศไทย และไทยต้องยอมแพ้โดยเร็ว จะถือเป็นความผิดของไทยไม่ได้ถ้าสัมพันธมิตรพลอยเสียหาย ขอให้ตอบด่วน อีกนัยหนึ่ง ความประสงค์ของนายกรัฐมนตรีคือ ๑) อังกฤษจะดำเนินการทางทหารอย่างใด เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของตน ในกรณีญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย และ ๒) อังกฤษจะมีความเห็นที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ไทยอย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าได้เชิญทูตอังกฤษมาพูดและเล่าให้ฟังตามนัยดังกล่าว ทูตอังกฤษรับจะรีบรายงานรัฐบาลทันที แต่ในเรื่อง อาวุธยุทธภัณฑ์นั้นทูตอังกฤษออกตัวว่า ไม่มีจริงๆ แต่จะช่วยพูดกับทูตอเมริกันให้

ในวันเดียวกัน ข้าพเจ้าได้เชิญทูตอเมริกัน๑๖ มาพบและขอให้เร่งเรื่องกระทรวงกลาโหมของเราต้องการซื้อเครื่องบินรบ ๒๔ ลำ โดยแจ้งให้ทูตทราบว่า รัฐบาลเราทราบมาจากที่อันควรเชื่อได้ ว่าญี่ปุ่นคิดจะเข้าเมืองไทยในเร็ว ๆ นี้ เพื่อสนับสนุนให้เห็นว่าญี่ปุ่นคุกคามเราเพียงใด ข้าพเจ้าได้แจ้งให้ทูตทราบว่า ได้รับรายงานจากพระยาศรีเสนา๑๗ เอกอัครราชทูตของเราที่กรุงโตเกียวว่า หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นกำลังลงกันเกรียวกราวว่า อังกฤษกำลังเดินนโยบายแอนตี้ญี่ปุ่นเต็มที่ในเมืองไทย และไทยกำลังนิยมอังกฤษอเมริกามาก กระทรวงการต่างประเทศไทย (หมายถึงตัวข้าพเจ้า) เป็นเครื่องมือของอังกฤษ ญี่ปุ่นจะว่าอย่างไรก็ตามที ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้กล่าวยืนยันและได้ยืนยันกับทูตทุกฝ่ายแล้วว่า เราจะต่อต้านการรุกรานไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด เราจะปฏิบัติตนเป็นกลางโดยเคร่งครัด ในการที่จะปฏิบัติเป็นกลางได้ก็ต้องมีอาวุธป้องกันตัว ทูตรับจะรายงานไปยังรัฐบาลด่วน

ในการพบครั้งต่อ ๆ มา ทูตทั้งสองชี้แจงกับข้าพเจ้าว่า รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลอเมริกันกำลังปรึกษากันว่าจะช่วยอย่างไรดี อังกฤษนั้นพร้อมที่จะให้ปืนสนามและปืนครก Howitzer จากสิงคโปร์และกระสุน ส่วนเครื่องบินนั้นมีอยู่บ้างที่สิงคโปร์ แต่ต้องปรึกษากับรัฐบาลอเมริกันก่อน วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ทูตอังกฤษได้ขอพบจอมพล ป. พิบูลสงคราม และให้คำตอบว่า อังกฤษพร้อมที่จะช่วยในเรื่องปืนสนามและปืนครกและกระสุน โดยจะลำเลียงมาจากมลายู ส่วนในเรื่องการป้องกันทั่วไปนั้น อังกฤษพร้อมจะคอยให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ฉะนั้นพร้อมที่จะตั้งของผู้ช่วยทูตทหารมาอีก ๓ นาย เรื่องนี้ภายหลังที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม พบทูตอังกฤษแล้ว ได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ดูซิ อังกฤษจะช่วยโดยให้ปืนครก ปืนสนาม นายกฯ ได้ตอบทูตไปว่า เนื่องจากเราไม่มีอะไร ฉะนั้นก็จะต้องหลีกเลี่ยงสงครามกับญี่ปุ่น ถ้าสามารถทำได้ จะรบจริงๆ ก็ต่อเมื่อจำเป็น ในที่สุดนายกฯปรารภว่า พวกนี้ก็จะให้เราสู้คนเดียว

ภายหลังพบนายก ฯ ทูตอังกฤษได้มาพบข้าพเจ้าและเล่าให้ฟังถึงการสนทนากับนายกรัฐมนตรี ดังที่นายก ฯ ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังก่อนแล้ว ข้าพเจ้าได้ตอบกับทูตอังกฤษว่า การที่ประเทศเล็ก ๆ ในยุโรปร่วงหล่นไปทีละประเทศ ทั้งๆ ที่ใกล้ชิดกับฝ่ายประชาธิปไตยยิ่งกว่าไทย ทำให้รัฐบาลไทยคลายความเชื่อในคำมั่นของอังกฤษลงมาก

สำหรับทูตอเมริกันนั้น มาพบข้าพเจ้าในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) และแจ้งว่า ได้รับคำสั่งจากกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันให้แจ้งกับข้าพเจ้าว่า “กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งกับทูตไทย (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช) หลายครั้งแล้วว่า เท่าที่เกี่ยวกับนโยบายของสหรัฐอเมริกาในการให้ความช่วยเหลือประเทศที่ต่อต้านการรุกราน ในกรณีไทย ถ้าถูกรุกรานและป้องกันตัวจริง ๆ รัฐบาลอเมริกันจะถือว่าไทยมีฐานะอย่างจีน และช่วยเหลืออย่างที่ช่วยจีน เรื่องการช่วยเหลือเรื่องเครื่องบินนั้น ได้ปรึกษากับรัฐบาลอังกฤษแล้ว เนื่องจากอังกฤษเองต้องการใช้มาก จึงไม่สามารถปลีกเอามาให้ไทยได้ รัฐบาลอเมริกันพยายามหาที่อื่นให้ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะจำเป็นทั้งนั้น เรื่องน้ำมันนั้นพอช่วยได้ และก็กำลังปรึกษากับอังกฤษอยู่ คงจะสำเร็จในเร็วๆ นี้

ข้าพเจ้าได้ตอบขอบใจทูตที่พยายาม แต่ไม่สำเร็จ และชี้แจงกับทูตว่า “ฐานะของประเทศไทยต่างกับจีนมาก จีนมีดินแดนใหญ่กว้างไพศาล ญี่ปุ่นรุกรานอยู่หลายปีก็ยังเอาชนะไม่ได้ และจีนมีกำลังคนและพลังอื่น ๆ มากกว่าไทยหลายร้อยเท่า ไทยอยู่ในภูมิภาคซึ่งจะถูกรุกรานง่าย กำลังก็แทบไม่มี ได้แต่สู้ด้วยกำลังใจ มานะ เลือดแห่งความเป็นไทยเท่านั้น

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) นายฟูตามิ อัครราชทูตญี่ปุ่น๑๘ ได้มาพบข้าพเจ้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการสนทนาถึงเหตุการณ์ตึงเครียดทางตะวันออกไกล นายฟูตามิได้ให้คำมั่นกับข้าพเจ้าว่า ขอให้รายงานรัฐบาลไทยได้ว่า ญี่ปุ่นจะไม่เข้าประเทศไทย แต่ถ้าจำเป็นก็จะใช้เป็นทางผ่านเพื่อไปที่อังกฤษเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทางเราไม่ได้เชื่อเลย เพราะตามข่าวที่ได้รับมาหลายกระแส เป็นอันแน่นอนว่า ญี่ปุ่นจะเข้าสงครามในเร็ว ๆ นี้ และจะต้องใช้เมืองไทยเพื่อการโจมตีอังกฤษ (ทางมลายู)

เนื้อความของโทรเลขต่อไปนี้ แสดงให้เห็นว่าทูตอเมริกันคนใหม่พยายามช่วยเราเต็มที่

โทรเลขลงวันที่ ๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑

“ทูตได้พบกับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ๑๙ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศได้บอกกับทูตว่า หมู่นี้ท่าทีของญี่ปุ่นเพลาลง แต่รัฐบาลไทยเข้าใจว่า ญี่ปุ่นกำลังวางแผนเข้าเมืองไทย และไทยจะต่อสู้ญี่ปุ่น เขาขอบใจที่รัฐบาลอเมริกันแจ้งกับทูตไทยที่วอชิงตันว่า จะช่วยไทยอย่างกรณีเมืองจีน เขาบอกว่านายกรัฐมนตรีไม่พอใจที่ได้รับความช่วยเหลือจากอังกฤษน้อยเหลือเกิน ทูตเข้าใจว่ารัฐบาลไทย คนไทยทั่วไป เชื่อมั่นว่าถ้าไทยต่อต้านญี่ปุ่นแล้ว อังกฤษและสหรัฐอเมริกาจะเข้าช่วยทันที นายมั่นนายคง โฆษกกรมโฆษณาการ ถึงกับกล่าวทางวิทยุกระจายเสียงว่า ไทยไม่กลัว ถ้าถูกรุกราน เพราะไทยมีมิตรจะมาช่วย ทูตมีความเห็นว่า ถ้าญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย และไทยไม่ได้รับความช่วยเหลือ คนไทยจะต้องโกรธเคืองอังกฤษและสหรัฐอเมริกามาก และญี่ปุ่นกับคนไทยบางคนที่ช่วยญี่ปุ่นอยู่แล้ว ก็คงจะช่วยพัดกระพืออีกด้วย ทูตขอวิงวอนเสมอให้รัฐบาลอังกฤษและอเมริกันแจ้งกับรัฐบาลไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ว่า จะช่วยในกรณีถูกญี่ปุ่นรุกรานทันทีอย่างใด และในระยะยาวจะช่วยอย่างใด ทั้งนี้ เพื่อจะให้รัฐบาลไทยสามารถวางแผนต่อสู้ได้ คนไทยยังเชื่อถืออังกฤษและอเมริกาอยู่ ทั้ง ๆ ที่ถูกปฏิเสธไม่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ และทูตเห็นว่าเพื่อความเป็นธรรม ควรจะแจ้งให้ไทยทราบว่า รัฐบาลอเมริกันเจตนาจะช่วยอย่างไรบ้าง ความเห็นของทูตนี้ ทูตอังกฤษก็กำลังรายงานเร่งไปยังรัฐบาลอังกฤษแล้วทำนองเดียวกัน”๒๐

โทรเลขลงวันที่ ๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑

“วันนี้ ทูตได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ๒๑ รัฐมนตรีได้ขอให้ทูตรับรายงานกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันอีกครั้งว่า รัฐบาลหวังว่ารัฐบาลอังกฤษและอเมริกันจะได้รับประกาศว่า ถ้าญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย ญี่ปุ่นจะเป็นศัตรูของอังกฤษและอเมริกา และทั้งสองประเทศจะช่วยไทยต่อสู้ รัฐมนตรีได้บอกว่าคำแถลงของอเมริกาและอังกฤษเมื่อเดือนสิงหาคม ศกนี้ ไม่แรงพอ รัฐบาลไทยเห็นว่า ควรจะออกคำแถลงใหม่ ใช้ถ้อยคำให้แรงกว่า จะได้ผลสองประการ คือ ยับยั้งญี่ปุ่นซึ่งในเวลานี้ทราบว่าญี่ปุ่นตัดสินใจแน่แล้ว และส่งเสริมกำลังใจคนไทยบางหมู่บางพวกที่ยังแกว่ง ๆ อยู่ เพราะไม่เชื่อว่าอังกฤษและสหรัฐอเมริกาจะมาช่วยจริงจังในกรณีเกิดเรื่องจริงๆ รัฐมนตรีกล่าวว่า คนไทยประเภทนี้มีอิทธิพลทางการเมืองไม่น้อย และชักจะเห็นด้วยกับเหตุผลของญี่ปุ่นที่ว่า พวกประเทศเล็กๆ ที่อังกฤษให้สู้ ในที่สุดก็ถูกอังกฤษทอดทิ้งและกลายเป็นเหยื่อของเยอรมันนี รัฐมนตรียืนยันว่า ไทยจะต่อต้านการรุกราน แม้จะไม่ได้การช่วยเหลือจากภายนอก แต่รัฐบาลไทยร้อนใจใคร่เห็นคำประกาศนี้และหวังว่าการประกาศของรัฐบาลทั้งสองจะช่วยได้มาก”๒๒

ในเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงตามบันทึกการสนทนาของข้าพเจ้ากับทูต ในวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ซึ่งข้าพเจ้าได้เสนอต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มีดังนี้

ทูตอเมริกันได้บอกกับข้าพเจ้าว่า เวลานี้เสียงในสหรัฐอเมริกาใคร่อยากให้อเมริกาประกาศขึงขังกับญี่ปุ่น ซึ่งถ้าญี่ปุ่นเข้าตีไทย ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดี

ข้าพเจ้าเห็นได้โอกาส จึงเลยพูดกับทูตทำนองเดียวกับพูดกับทูตอังกฤษในวันเดียวกันนี้ว่า ข้าพเจ้าเห็นว่าหนังสือพิมพ์อเมริกันพูดถูก เพราะในเมืองไทยเวลานี้ มีคนพูดกันว่าอเมริกันไม่ช่วยจริง จะให้ไทยไปตายก่อน การที่ช่วยอย่างช่วยเมืองจีนนั้น ไม่พอ ทูตก็รู้แล้วว่า ภูมิประเทศของไทยไม่เหมือนจีน ซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล ตราบใดที่อเมริกาและอังกฤษไม่ประกาศออกมาว่าจะรบ ถ้าญี่ปุ่นเข้าเมืองไทยแล้ว เห็นจะหวังสันติภาพยาก และจะเป็นการแสดงให้โลกเห็นด้วยว่า อเมริกาและอังกฤษมีคุณธรรมดีเพียงไร และข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าพูดเช่นนี้ญี่ปุ่นไม่มา ข้าพเจ้าจำได้ว่านายอีเดน รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอังกฤษ และนายฮัลล์รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกัน เคยพูดเมื่อเดือนสิงหาคม ศกนี้ เพียงว่า ถ้าญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย ทั้งสองประเทศจะเป็นห่วงกังวลใจยิ่ง (View this with great concern) คำพูดอย่างนี้ ญี่ปุ่นหัวเราะว่า ก็เป็นการพูดตามเคยอย่างพูดในยุโรป ซึ่งประเทศเล็ก ๆ หล่นร่วงไปตาม ๆ กัน ที่พูดอย่างนี้ พูดอย่างจริงใจ และถ้า frank เกินไปก็ขออภัย

ทูตอเมริกันได้ตอบว่า หามิได้ การพูดจริงใจโดยเปิดเผยย่อมทำให้ได้ประโยชน์มาก และดีใจมาก ที่ข้าพเจ้าพูดกันตรงไปตรงมาอย่างนี้ ทูตจะต้องพยายามชี้แจงให้รัฐบาลเขาตระหนักในข้อนี้ เพราะเสียงประชาชนอเมริกันก็ชักจะหันมาเห็นด้วยอยู่แล้ว และทูตเห็นว่ารัฐบาลอเมริกันควรทำ แต่ทูตย้อนถามข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าคิดหรือไม่ว่า ถ้ารัฐบาลอเมริกันยังไม่ประกาศออกมา คนไทยจะไม่มีกำลังใจสู้ญี่ปุ่น ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่าหามิได้ คนไทยกับรัฐบาลน้ำหนึ่งใจเดียวกัน บอกว่าสู้เป็นสู้ และรัฐบาลตามที่ข้าพเจ้าทราบแน่นอนว่า ตกลงใจสู้อยู่แล้ว ยังได้ประกาศชักชวนให้คนไทยต่อสู้ในกรณีถูกรุกรานแล้ว แต่ถ้าอังกฤษและอเมริกามีประกาศออกมายิ่งได้ประโยชน์เพิ่มหลายทาง อาทิ ทำให้ญี่ปุ่นต้องตรึกตรอง เป็นการส่งเสริมกำลังใจคนไทย และทำให้โลกเห็นว่า ประเทศเล็ก ๆ ที่ตั้งใจจะต่อต้านการรุกราน จะได้รับความช่วยเหลือ

โทรเลขลงวันที่ ๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑

“เช้าวันนี้ทูตได้ไปพบรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศเกี่ยวกับการลำเลียงน้ำมัน รัฐมนตรีได้แจ้งกับทูตว่า นายซูโบกามิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเพิ่งกลับไปเมื่อครู่นี้เอง และแจ้งกับรัฐมนตรีว่า ญี่ปุ่นจะไม่ใช้กำลังทหารซึ่งอยู่ในอินโดจีนเข้ามารุกรานไทยเป็นอันขาด แต่จะใช้เพื่อชุมนุมกำลังทางด้านถนนสายพม่า ฉะนั้นไทยไม่ต้องเป็นห่วง แต่รัฐมนตรีได้แจ้งกับทูตว่ารัฐบาลของเขา แม้ญี่ปุ่นจะมาให้คำรับรองก็ดี ก็ยังเป็นห่วงกังวลอยู่มาก เพราะได้รับรายงานหลายกระแสว่า ญี่ปุ่นจะโจมตีทางบกและทางอากาศในวันสองวันนี้ รัฐมนตรีไม่เต็มใจที่จะบอกกับทูตว่า ได้ข่าวมาจากแหล่งใด แต่กำลังขอให้ทูตอังกฤษมาพบเพื่อช่วยกันสืบข้อเท็จจริง ทูตได้กลับไปสอบถามทูตอังกฤษแล้วว่า จนบัดนี้ ยังไม่ได้ข่าวอย่างรัฐมนตรีว่า รัฐมนตรีต่างประเทศถามทูตอย่างร้อนใจว่า ทูตได้รายงานรัฐบาลอเมริกันหรือเปล่าว่า รัฐบาลไทยหวังว่า รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลอเมริกันคงจะประกาศช่วยไทย ถ้าถูกญี่ปุ่นรุกราน๒๓

ในที่สุดต่อมาอีกสามวัน คือ วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ญี่ปุ่นก็ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และต่อไปนี้เป็นสาระสำคัญซึ่งทูตอเมริกันโทรเลขถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน และเป็นโทรเลขฉบับสุดท้าย ส่งเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)

“วันนี้ เวลาบ่าย รัฐมนตรีต่างประเทศได้เชิญข้าพเจ้าและทูตประเทศอื่น ๆ ไปพบ ถ้อยคำที่แจ้งกับข้าพเจ้าตรงกันกับที่รัฐมนตรีแจ้งกับทูตอังกฤษ รัฐมนตรีได้กล่าวโดยย่อดังนี้

เขาแจ้งกับข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าก็เชื่อว่า เขาเสียใจจริง ๆ ที่รัฐบาลของเขาต้องยอมจำนนต่อกองทัพญี่ปุ่นซึ่งมีกำลังเหนือกว่ามากมาย และในวันนี้เขาต้องเซ็นสัญญาอนุญาตให้ทหารญี่ปุ่นเดินผ่านประเทศไทยโดยผ่านกรุงเทพ ฯ เพื่อญี่ปุ่นจะไปตีพม่าและมลายู เพื่อเป็นการตอบแทน ญี่ปุ่นรับประกันเอกราชอธิปไตย และบูรณภาพของประเทศไทย และให้คำมั่นว่าญี่ปุ่นจะไม่แตะต้องไทยในเรื่องปลดอาวุธ ญี่ปุ่นได้เสนอที่จะให้ดินแดนที่เสียไป แต่รัฐบาลไทยได้บอกปัด เพราะต้องการให้โลกทราบว่า ไทยจำต้องยอมจำนนเพราะถูกบังคับ ไม่ใช่เพื่อหากำไร ข้าพเจ้าได้ถามรัฐมนตรีว่า ความตกลงนี้จะกระทบถึงฐานะสถานทูตอเมริกัน และชนชาติอเมริกันในประเทศไทยเพียงใด รัฐมนตรีต่างประเทศตอบว่า เรื่องนี้ไม่ได้เจรจากัน แต่เมื่อญี่ปุ่นยอมรับนับถือเอกราชของไทย ฉะนั้นฐานะของอเมริกันจึงไม่ควรเข้ามาพัวพันด้วย รัฐมนตรีได้บอกเพิ่มเติมด้วยว่า ในการสนทนากับทูตอังกฤษ ๆ ได้ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าอังกฤษเอาทหารเข้ามาเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ไทยจะต่อต้านอังกฤษหรือไม่ รัฐมนตรีกล่าวว่าได้ตอบทูตอังกฤษไปแล้วว่า จะไม่ต่อต้าน ทูตอังกฤษได้พูดโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรี ๆ ได้ยืนยันรับรองความเห็นของรัฐมนตรี

ส่วนเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นก่อน จนถึงเวลาที่ทำความตกลงข้างต้นมีดังนี้

เวลา ๒๓.๐๐ น. ของวันที่ ๗ ธันวาคม เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นและคณะได้ไปพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบ แต่นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ ไปราชการที่อรัญประเทศชายแดน ในที่สุดรัฐมนตรีต่างประเทศได้เป็นผู้ออกรับคณะทูตญี่ปุ่น ซึ่งแจ้งกับรัฐมนตรีว่า ญี่ปุ่นกำลังต่อสู้เพื่อความเป็นหรือความตายกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และตั้งใจจะเข้าที่ดินแดนของประเทศดังกล่าวในเวลา ๑ นาฬิกา ของเช้าวันที่ ๘ ธันวาคม ดินแดนบางแห่งซึ่งจะโจมตีนั้น จะต้องอาศัยแผ่นดินไทย ญี่ปุ่นจึงขออนุญาตนำทหารผ่าน ญี่ปุ่นขอให้ประเทศไทย เลือกเอา ๑) เข้าร่วมกับญี่ปุ่นทำสงครามกับสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เพื่อเป็นการตอบแทน ญี่ปุ่นจะไม่เพียงรับประกันอธิปไตย เอกราชและบูรณภาพของไทย แต่จะเอาดินแดนทั้งหมดที่ไทยเสียไปแก่ประเทศอื่นคืนมาให้ ๒) ไทยอาจเข้าเป็นสมาชิกในสัญญาไตรภาคี (อักษะ) และอนุญาตให้ญี่ปุ่นนำทหารผ่านได้ ในกรณีเช่นนี้ ญี่ปุ่นก็ไม่มีคำมั่นในเรื่องคืนดินแดน๒๔ ฝ่ายไทยได้ปฏิเสธ ไม่ยอมเข้าร่วมสัญญาด้วย ผลจึงเป็นไปตามความตกลงดังกล่าวข้างต้น ผู้แทนไทยได้แจ้งกับญี่ปุ่นว่า เนื่องจากนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดไม่อยู่ จึงไม่มีผู้ใดที่จะให้คำสั่งแก่กองทัพไทยได้ ฉะนั้น ญี่ปุ่นควรยับยั้งการเข้าเมืองไทยไว้ก่อน ญี่ปุ่นตอบว่า ไม่ สามารถเปลี่ยนแผนการได้

ได้มีการรบพุ่งกันในคืนนั้น และเช้าวันรุ่งขึ้นที่สงขลา ปัตตานี และประจวบคีรีขันธ์ ทางฝั่งทะเลภาคใต้ และทางวัฒนา และอรัญประเทศ ทางพรมแดนตะวันออก ไทยเสียทหารประมาณหนึ่งกองพัน ที่ปัตตานี

สังเกตดู รัฐมนตรีต่างประเทศเศร้ามาก เขาได้กล่าวลำเลิกถึงความเพียรพยายามของประเทศเขาที่จะขออาวุธเพื่อมาเตรียมต่อสู้แต่ไม่สำเร็จ แต่เขาก็แสดงความขอบคุณในไมตรีจิตซึ่งแสดงออกโดยสหรัฐอเมริกา เขากล่าวว่า หัวใจคนไทยนั้นอยู่กับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ข้าพเจ้าไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น นอกจากยอมรับว่า ประเทศไทยได้มีความเพียรพยายามอย่างสุจริตที่จะสู้ญี่ปุ่น แต่ก็ต้องยอมจำนนในที่สุด เพราะกำลังสู้กันไม่ได้

ข้าพเจ้าและทูตอังกฤษ ตั้งใจจะทำหน้าที่ของเราต่อไป โดยปรกติเท่าที่จะทำได้ ในพฤติการณ์อันเป็นอยู่ในขณะนี้ เกือบจะเป็นการพ้นวิสัยที่คนของเรา (อเมริกัน) จะออกนอกประเทศได้ ข้าพเจ้าจึงได้อนุญาตให้มาพำนักในสถานทูตได้ถ้าต้องการ

สถานทูตได้โทรเลขถึงคนอเมริกัน ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย แนะนำให้พิจารณาหาทางออกไปทางพม่า ในกรุงเทพฯ เหตุการณ์ปรกติ เป็ก๒๕

ก่อนเล่าถึงข้อเท็จจริงในค่ำวันที่ ๗ ธันวาคม ซึ่งคณะทูตญี่ปุ่นมาขอพบ ควรพิจารณาเรื่องที่เราขอให้อังกฤษและสหรัฐอเมริกาแถลงประกาศบอกเล่าเก้าสิบกับทูตญี่ปุ่นว่า ถ้าเคลื่อนลงมาสู่ประเทศไทยอีก ทั้งสองชาติจะถือว่าเป็นการรุกรานประเทศตน ซึ่งหมายถึงสงคราม ได้กล่าวตั้งแต่แรกแล้วว่า อังกฤษเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่เมื่อชวนสหรัฐอเมริกา ๆ ไม่เต็มใจ อังกฤษก็ได้แต่ประกาศแถลงในสภาสามัญไปฝ่ายเดียวก่อน และทางสหรัฐอเมริกา นายฮัลล์ก็ได้กล่าวกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นหลายครั้ง เป็นการเตือน ๆ ว่า สหรัฐอเมริกาเป็นห่วงถ้ารุกลงมาอีกจากอินโดจีนเข้าประเทศไทย

ตามหลักฐานที่ปรากฏภายหลังสงคราม เซอรวินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้เสนอในคราวประชุมร่างกฎบัตรแอตแลนติกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) เชอร์ชิลล์ได้ชวนให้บอกกับญี่ปุ่นตรง ๆ เชอร์ชิลล์เชื่อว่าญี่ปุ่นคงจะชะงัก ไม่กล้ารุกเข้ามาเมืองไทย เพราะกลัวสองประเทศนี้ประกาศสงคราม เชอร์ชิลล์จึงเสนอร่างดังกล่าวแล้วในตอนต้น แต่รัฐมนตรีต่างประเทศฮัลล์เห็นว่ารุนแรงไป ได้แก้ถ้อยคำให้เบาลง โดยให้เหตุผลว่า เป็นการท้าทายญี่ปุ่นและอาจเกิดสงครามได้ ซึ่งในขณะนั้นสหรัฐอเมริกายังไม่พร้อม๒๖ ข้าพเจ้าเองคิดว่า ทั้งนี้เพราะนายฮัลล์เห็นว่า สหรัฐ อเมริกายังไม่พร้อม และถ้าญี่ปุ่นเข้าเมืองไทยอย่างเข้าอินโดจีน แต่ยังไม่ประกาศสงคราม ก็จำต้องทนไปก่อน จนกว่าสหรัฐอเมริกาจะพร้อม

อีกตอนหนึ่ง เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) เนื่องจากเราเร่งเร้าทูตอังกฤษ ทูตอเมริกัน หนักแน่นที่สุด เชอร์ชิลล์จึงได้เสนอต่อประธานาธิบดีโรสเวลต์อีกว่าให้ทั้งสองประเทศออกประกาศเตือนญี่ปุ่นว่า ทั้งสองชาติจะไม่ยอมอยู่เฉย ๆ๒๗ ในวันเดียวกันนี้ รัฐบาลอังกฤษได้แจ้งกับกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันว่า ได้รับรายงานว่า ญี่ปุ่นกำลังจะโจมตี และญี่ปุ่นคิดจะเข้ายึดคอคอดกระ อังกฤษมีแผนที่จะเข้ายึดคอคอดกระก่อนญี่ปุ่นเข้า เพื่อเป็นแนวป้องกันมลายู รัฐบาลอังกฤษต้องการทราบว่ารัฐบาลอเมริกันจะมีปฏิกิริยาอย่างใด๒๘ รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันตอบว่าจะเสนอประธานาธิบดีเมื่อกลับจากการพักผ่อน๒๙

พลเอก โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสมัยสงคราม ให้การต่อศาลทหารระหว่างประเทศที่กรุงโตเกียวว่า เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจว่า ในกรณีเกิดสงคราม ญี่ปุ่นต้องขอให้ไทยอนุญาตให้ทหารญี่ปุ่นเดินผ่าน แต่ณี่ปุ่นหวังว่าอังกฤษคงจะเคลื่อนกำลังเข้าไทยก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นโอกาสเหมาะที่ญี่ปุ่นจะอ้างได้ว่า เข้าเมืองไทยเพื่อป้องกันการรุกรานจากอังกฤษ๓๐

รัฐบาลอเมริกันดักรับโทรเลขลับของเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ รายงานรัฐบาลที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ว่า เพื่อที่จะให้เป็นผลตามนโยบายของ รัฐบาลญี่ปุ่น ญี่ปุ่นควรจะพยายามอย่างยิ่งอย่าเพิ่งเข้าเมืองไทย แต่ไปขึ้นที่ใกล้ ๆ โกตาบารู ในดินแดนอังกฤษ ซึ่งจะต้องทำให้อังกฤษเข้าดินแดนไทยจากปาดังเบซาร์๓๑

ประธานาธิบดีโรสเวลต์ไม่ยอมตอบเชอร์ชิลล์ในปัญหาที่ถามไป รัฐบาลอังกฤษจึงไม่กล้าทำอย่างใด ทางทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ ทราบข่าวว่า อังกฤษคิดจะส่งทหารเข้ามา ได้โทรเลขไปยังรัฐบาลที่กรุงลอนดอน วิงวอนว่า ขออย่าส่งทหารเข้าเมืองไทยเป็นอันขาด เพราะคนไทยอาจเข้ากับญี่ปุ่น เพราะเห็นว่าอังกฤษเป็นฝ่ายรุกรานก่อน๓๒

เมื่อเป็นเช่นนี้ เชอร์ชิลล์จึงให้ร่างประกาศเตือนญี่ปุ่นใหม่เสนอประธานาธิบดีโรสเวลต์ หากเห็นชอบด้วย ก็จะขอให้ประเทศในจักรภพนานาชาติบริติชทุกประเทศร่วมประกาศด้วย ร่างนี้โรสเวลต์ได้รับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑๓๓

โรสเวลต์เมื่อได้รับร่างของเชอร์ชิลล์ฉบับใหม่นี้ อยู่ในฐานะลำบาก ในใจจริงอยากประกาศสนับสนุนร่างนี้ แต่ไม่แน่ใจว่ารัฐสภาจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ในกรณีสหรัฐอเมริกาต้องเป็นฝ่ายยิงญี่ปุ่นก่อน และรัฐสภาอาจหาว่า ทำเพื่อป้องกันอาณานิคมของพวกยุโรป ๒๔ ชั่วโมงต่อมา ญี่ปุ่นช่วยโรสเวลต์ขบปัญหาโดยเข้าตีเพิร์ลฮาร์เบอร์

ส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับญี่ปุ่นเข้าเจรจา ในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) มีดังนี้

ในค่ำวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) เวลาประมาณย่ำค่ำกว่า เซอรโจซาย ครอสบี้ อัครราชทูตอังกฤษ ได้มาหาข้าพเจ้าที่บ้านซอยสันติสุข พระโขนง และเล่าให้ฟังว่า ทูตได้รับข่าวว่า เครื่องบินตรวจการณ์อังกฤษ ซึ่งบินตรวจ เห็นมีกองเรือรบญี่ปุ่นมาจากแหลมญวนและกำลังอยู่ในบริเวณใกล้อ่าวไทย ข้าพเจ้ากล่าวขอบคุณและว่าจะรีบเสนอให้รัฐบาลทราบต่อไป เราได้สนทนากันว่า ถ้าญี่ปุ่นเข้าเมืองไทยจะทำอย่างไร ข้าพเจ้าถามความเห็นทูตอังกฤษ ๆ บอกว่า ถ้าไทยสู้อังกฤษก็ต้องช่วยเต็มที่เท่าที่จะช่วยได้ ข้าพเจ้าได้แสดงความเห็นว่า ไทยนั้นสู้แน่ แต่ก็ไม่ทราบว่า จะสู้ได้นานเท่าใด เพราะเราเป็นประเทศเล็ก จะเปรียบญี่ปุ่นเป็นช้างตกมัน เราเป็นเด็กอายุ ๕-๖ ขวบก็ได้ ทูตอังกฤษแสดงความเข้าใจ แล้วทูตก็ลากลับไป เวลาประมาณ ๑๙ น. นายพลตำรวจเอก อดุลย์ อดุลยเดชจรัส ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจและรองนายกรัฐมนตรี ได้มาบ้านข้าพเจ้า เพราะนัดกันไว้จะมารับประทานอาหารค่ำกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้เล่าถึงเรื่องทูตอังกฤษมาพบให้ฟัง ในขณะนั้นเราทั้งสองปรึกษาเห็นพ้องกันว่าญี่ปุ่นเข้าสงครามแน่ นายพลตำรวจเอกอดุลย์ อดุลยเดชจรัส เองก็บ่นว่ายามคับขันเช่นนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ไม่ควรออกไปต่างจังหวัด อีกสักครู่หนึ่ง พลเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ โทรศัพท์มาขอพูดกับนายพลตำรวจเอกอดุลย์ จะพูดกันเรื่องอะไรไม่ทราบ แล้วนายพลตำรวจเอกอดุลย์รีบรุดไปจากบ้านข้าพเจ้า โดยไม่ได้รับประทานอาหาร และแจ้งกับข้าพเจ้าเพียงสั้นๆ ว่า เหตุการณ์ไม่ดี ต่อมาอีกประมาณครึ่งชั่วโมง มีโทรศัพท์มาจากวังสวนกุหลาบ ซึ่งขณะนั้นเป็นทำเนียบนายกรัฐมนตรี ให้ข้าพเจ้ารีบไปที่นั่นทันที เมื่อไปถึงวังสวนกุหลาบ ข้าพเจ้าเห็นนายซูโบกามิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น พร้อมด้วยคณะ คือ ผู้ช่วยทูตทหารบก ผู้ช่วยทูตทหารเรือ ที่ปรึกษา และเลขานุการ ล่าม นั่งอยู่ ข้าพเจ้าจึงเลี่ยงขึ้นไปชั้นบนทางบันไดหลัง ได้พบกับนายพลตำรวจเอกอดุลย์ที่นั่น นายพลตำรวจเอกอดุลย์แจ้งกับข้าพเจ้าว่า คณะทูตญี่ปุ่นมาขอพบนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ ก็จะขอพบนายพลตำรวจเอกอดุลย์ ในฐานะเป็นรองนายกรัฐมนตรี แต่รองนายกรัฐมนตรีไม่เต็มใจจะพบ จึงขอให้ข้าพเจ้าพบแทน ข้าพเจ้าจึงลงไปในห้องรับแขก เพื่อพบกับคณะทูตญี่ปุ่น ในการนี้นายวนิช ปานะนนท์๓๔ อธิบดีกรมพาณิชย์ได้มาร่วมอยู่ด้วยก่อนแล้ว เมื่อได้ทักทายกันตามธรรมเนียมแล้ว นายซูโบกามิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้กล่าวว่า ที่มาขอพบนายกรัฐมนตรีวันนี้ก็เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นเกิดขึ้น แต่เสียใจที่ไม่ได้พบนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่า นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ เข้าใจว่าไปตรวจราชการชายแดน เวลานี้กำลังให้วิทยุตามอยู่แล้ว สำหรับรองนายกรัฐมนตรีนั้น โดยที่รองนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นเรื่องการต่างประเทศ จึงขอให้ข้าพเจ้าออกรับทูตแทน เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้กล่าวต่อไปว่า ทุกท่านย่อมทราบดีแล้วว่า สหรัฐอเมริกา และอังกฤษได้บีบคั้นญี่ปุ่นตลอดมา บัดนี้ญี่ปุ่นทนต่อไปไม่ได้แล้ว วันนี้จึงตัดสินใจลุกขึ้นต่อสู้ โดยได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้ว ฉะนั้น ทูตจึงได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้มาแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีไทยว่า เนื่องด้วยเหตุจำเป็น กองทัพญี่ปุ่นจึงจำต้องขอเดินผ่านประเทศไทยเพื่อไปโจมตีประเทศทั้งสองซึ่งเป็นศัตรูของญี่ปุ่น แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีไม่สามารถพบได้ ก็จำเป็นต้องแจ้งแก่ข้าพเจ้าเป็นทางราชการ ข้าพเจ้าได้ตอบว่าท่านก็ทราบดีแล้วว่า ประเทศไทยได้ประกาศตนเป็นกลาง ฉะนั้น จึงมีนโยบายไม่ช่วยเหลือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทูตตอบว่าโดยที่เรื่องนี้เกี่ยวกับความเป็นความตายของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นต้องได้รับอนุญาตให้เคลื่อนกำลังทั้งทางบกทางทะเลและอากาศ ผ่านประเทศไทยให้จงได้๓๕ ข้าพเจ้าชี้แจงตอบว่า แต่การจะอนุญาตหรือไม่นั้น ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจอย่างใด เพราะท่านก็ทราบดีแล้วว่า ข้าพเจ้าเป็นเพียงรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ อำนาจสั่งอนุญาตไม่ให้ต่อสู้นั้น คือนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง และทูตคงทราบดีแล้วว่า รัฐบาลโดยทางผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ประกาศเป็นคำสั่งประจำ (standing order) ไว้แล้วว่า ไม่ว่ากองทหารประเทศใด ถ้าเข้ามาในดินแดนไทย ให้ต่อต้านเต็มที่ ฉะนั้น ผู้ที่จะประกาศยกเลิกคำสั่งนี้ก็คือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทันใดนั้นผู้ช่วยทูตทหารบกญี่ปุ่น คือพันเอกทามูรา ได้กล่าวว่า แต่ข้าพเจ้าควรจะทราบว่า การล่าช้าก็หมายถึงการนองเลือด เพราะเวลานี้ กองทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตามจุดต่าง ๆ ในประเทศไทยแล้ว ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าได้ชี้แจงแล้วว่า ข้าพเจ้าไม่สามารถทำอะไรได้ แต่อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าจะได้รับรายงานรองนายกรัฐมนตรีให้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเดี๋ยวนี้ แล้วจะได้แจ้งให้คณะทูตทราบถึงผลของการประชุม คณะทูตญี่ปุ่นตกลง และนั่งรออยู่ในห้องรับแขก ข้าพเจ้ากลับมารายงานพลตำรวจเอกอดุลย์ อดุลยเดชจรัส พลตำรวจเอกอดุลย์จึงตกลงให้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งในเวลานั้น รัฐมนตรีส่วนมากก็มานั่งรออยู่แล้ว เวลาประมาณ ๒๓ น. จึงเปิดประชุมกัน พลตำรวจเอกอดุลย์ให้ข้าพเจ้ารายงานถึงเรื่องที่ญี่ปุ่นมาพบดังกล่าวแล้ว เมื่ออภิปรายกันแล้ว ที่ประชุมเห็นว่า ทำอะไรไม่ได้ นอกจากต้องรอนายกรัฐมนตรีกลับ คณะรัฐมนตรีได้ให้นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการคลัง พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ฯ ที่ปรึกษาสำนักนายกฯ และข้าพเจ้าออกไปแจ้งต่อคณะทูตญี่ปุ่นว่า ควร จะกลับไปก่อน เมื่อนายกรัฐมนตรีกลับมาแล้ว จะได้เชิญให้มาพบ หรือจะรออยู่ก็ได้ แต่ไม่ทราบว่าจะมาถึงเมื่อใด ทูตญี่ปุ่นตอบว่าขอนั่งรอ ในระหว่างนี้คณะรัฐมนตรีก็นั่งรอกันอยู่ต่อไป พลตำรวจเอกอดุลย์ได้ชวนข้าพเจ้าไปกรมไปรษณีย์โทรเลข เพื่อโทรเลขติดต่อกับนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีอยู่ที่ใด เพราะพลตำรวจเอกอดุลย์ไม่ได้บอกข้าพเจ้า เพียงแต่ทราบว่า นายกรัฐมนตรีจะกลับมาเข้าประชุมประมาณรุ่ง พลตำรวจเอกอดุลย์และข้าพเจ้ากลับมาที่ประชุม แจ้งให้ที่ประชุมทราบ ข้าพเจ้าได้ออกไปแจ้งให้คณะทูตญี่ปุ่นอีกว่า ควรกลับไปก่อน คณะทูตญี่ปุ่นตกลงกลับไปสถานทูต และเวลาราว ๕ นาฬิกาได้กลับมาอีก

เวลาประมาณ ๗ นาฬิกา จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีมาถึงที่ประชุม พลตำรวจเอกอดุลย์ได้ให้ข้าพเจ้ารายงานเหตุการณ์ดังได้กล่าวแล้วอีกครั้งหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้ารายงานไปยังไม่ทันจบ นายกรัฐมนตรีถามขึ้นว่า “แล้วเราจะตกลงใจทำอย่างไรกันแน่” นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอว่า ก่อนที่จะตัดสินใจอย่างไรแน่ ใคร่เสนอให้พิจารณาทางได้ทางเสียว่า ถ้ายอมจะเสียหายอย่างใด ถ้าไม่ยอมเราจะเสียหายอย่างใด ทั้งนี้เพื่อระวังไม่ให้โลกวิจารณ์เราได้ เพราะเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ นายกรัฐมนตรีตอบว่า ในขณะนี้เราไม่มีเวลาที่จะอภิปราย เพราะญี่ปุ่นกำลังเข้าเมืองเราแล้ว ขอทราบความเห็นเท่านั้น ว่าจะยอมหรือไม่ยอม แล้วหันไปถามรัฐมนตรีบางนาย ซึ่งรับผิดชอบในการทหารว่าสู้ไหวหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าสู้ไม่ไหว พลตำรวจเอกอดุลย์ อดุลยเดชจรัสได้อภิปราย ทางได้ทางเสีย โดยสรุปก็คือเราไม่มีหนทางที่จะต่อสู้อย่างใด และฝ่ายสัมพันธมิตรก็มาช่วยอะไรเราไม่ได้ นายกรัฐมนตรี ได้ถามความเห็นรัฐมนตรีอื่นต่อไปอีกสองสามนาย ซึ่งก็เห็นด้วยว่าไม่มีทางสู้ประการใด ในที่สุดนายกรัฐมนตรีจึงประกาศว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต่อต้าน เพราะเราไม่มีกำลัง อังกฤษเอง สหรัฐอเมริกาเอง ก็เคยให้รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศเร่งให้ช่วย ก็ได้ความว่าไม่มีอะไรจะช่วย ครั้นแล้วนายกรัฐมนตรีก็ลุกออกไปพบกับคณะทูตญี่ปุ่น แต่จะพูดอย่างไรกันโดยละเอียด ข้าพเจ้าไม่ทราบ เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ลุกตามไปด้วย ต่อมาอีกประมาณครึ่งชั่วโมง นายกรัฐมนตรีได้นำนายวนิช ปานะนนท์ เข้ามาในที่ประชุม และให้นายวนิชชี้แจงว่าญี่ปุ่นเสนออย่างไร นายวนิชชี้แจงว่า คณะทูตญี่ปุ่นเสนอว่า มีแผนการที่จะขอความร่วมมือจากไทย ๓ แผน แผนที่หนึ่งคือ ญี่ปุ่นเพียงขอเดินทหารผ่านไทยไปเท่านั้น แผนที่สองไทยกับญี่ปุ่นทำสัญญาพันธมิตรกันเพื่อป้องกันประเทศไทย และแผนที่สามไทยกับญี่ปุ่นประกาศเป็นสหายสงคราม ร่วมรุกร่วมรบต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา และในการนี้ ญี่ปุ่นพร้อมที่จะให้ดินแดนที่ไทยเสียแก่อังกฤษและฝรั่งเศสกลับคืนมาทั้งหมด

คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีความเห็นแตกต่างเป็นหลายฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรรับแผนที่สาม เพราะไหน ๆ จะให้ญี่ปุ่นผ่านทั้งที ก็ควรเอาประโยชน์ให้เต็มที่ ฝ่ายที่สองไม่ออกความเห็น ข้าพเจ้าในฐานเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอว่า เมื่อเราต้องยอมญี่ปุ่น เพราะเราสู้ไม่ได้ อย่างมากก็เป็นเพียงยอมให้ผ่าน ถ้าเราเอาแผนอื่น โลกต้องวิจารณ์เราแน่นอนว่าที่แถลงไว้ว่าจะเป็นกลางอย่างเคร่งครัดนั้น ความจริงก็สมคบกับญี่ปุ่นและไม่เพียงยอมญี่ปุ่นเพราะสู้ไม่ได้ แต่กลับเข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้วย ในการนี้ พลตำรวจเอกอดุลย์ อดุลยเดชจรัส กับนายปรีดี พนมยงค์ ได้สนับสนุนความเห็นของข้าพเจ้า ในที่สุดที่ประชุมลงมติให้รับเพียงแผนที่หนึ่ง และได้ให้นายวนิช ปานะนนท์ ออกไปแจ้งแก่คณะทูตญี่ปุ่น ต่อมาอีกประมาณหนึ่งชั่วโมงก็ได้มีการลงนามระหว่างเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นกับข้าพเจ้า ในสัญญายอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยได้

หลังจากประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ข้าพเจ้าได้รับอนุมัติให้เชิญทูตต่าง ๆ ประจำกรุงเทพฯ มาพบ เพื่อแจ้งสถานการณ์ให้ทราบ สำหรับอัครราชทูตอังกฤษและอัครราชทูตอเมริกันนั้น ข้าพเจ้าได้เล่าให้ฟังโดยละเอียด ซึ่งสาระสำคัญที่ปรากฏในหนังสือ Foreign Relations ที่อ้างข้างต้นก็ตรงกัน

ในวันเดียวกันนี้ รัฐบาลได้ออกคำแถลงการณ์ดังต่อไปนี้

คำแถลงการณ์

“ด้วยเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๒.๐๐ น. กองทหารญี่ปุ่นได้เข้าสู่ประเทศไทยโดยทางทะเลในเขตจังหวัด สงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี (บ้านดอน) และบางปู ส่วนทางบกได้เข้ามาทางจังหวัดพระตะบองและพิบูลสงคราม เกือบทุกแห่ง ทหารและตำรวจไทยได้ทำการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง

อนึ่ง ในเวลาเดียวกันก็ได้มีข่าวจากต่างประเทศว่ากองทัพเรือญี่ปุ่นได้เข้าโจมตีเกาะฮาวาย และฟิลิปปินส์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ส่งทหารขึ้นบกที่โกตามารูในเขตมลายูของอังกฤษ และได้เข้าโจมตีสิงคโปร์ โดยเครื่องบินอย่างหนักด้วย

ในเรื่องนี้เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้มาที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลา ๒๒.๓๐ น. ได้ชี้แจงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่มิได้ถือว่าไทยเป็นศัตรู หากแต่มีความจำเป็นต้องขอทางเดินผ่านอาณาเขตไทย

รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พิจารณาปรึกษากันโดยรอบคอบแล้ว เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งนี้เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ แม้ประเทศไทยได้พยายามโดยสุดกำลังก็ไม่สามารถจะหนีเหตุการณ์อันนี้ได้พ้น และเนื่องจากสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การที่จะต่อสู้กันไปก็จะเป็นการเสียเลือดเนื้อชาวไทยโดยไม่สำเร็จประโยชน์ จึงจำเป็นต้องพิจารณาตามข้อเสนอของรัฐบาลญี่ปุ่นและผ่อนผันให้ทางเดินแก่กองทัพญี่ปุ่น โดยได้รับคำมั่นจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะเคารพเอกราช อธิปไตย และเกียรติศักดิ์ของไทย ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้ตกลงให้ทางเดินทัพแก่ญี่ปุ่น และการต่อสู้ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นก็ได้หยุดลง

ขอให้ประชาชนชาวไทยจงระงับความตื่นเต้นและพยายามประกอบกิจการงานต่อไปตามเดิม รัฐบาลจะทำความพยายามอย่างสูงสุด ในอันที่จะให้เหตุการณ์ทั้งหลายผ่อนจากหนักเป็นเบาให้มากที่สุดที่จะทำได้ ขอให้ประชาชนชาวไทยจงรักษาความสงบ และฟังคำสั่งคำตักเตือนของรัฐบาลทุกประการ”

นับตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) เป็นต้นมา ข้าพเจ้าได้ขอตัวไม่เข้าทำงานเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นต่อไป นายกรัฐมนตรีจึงมอบให้หลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรีช่วยว่าการ เข้าปฏิบัติงาน

ในการนี้ ข้าพเจ้าเว้นเสียมิได้ที่จะกล่าวว่า ตราบจนถึงเวลาที่ขณะผู้บัญชาการทหารสูงสุดสั่งหยุดยิง ทหารหาญของเราทุกด้านตามชายแดนได้ต่อสู้ญี่ปุ่น เพื่อป้องกันดินแดนบูรณภาพอาณาเขตไทยอย่างเต็มที่ เฉพาะอย่างยิ่งทางปักษ์ใต้ เลือดรักชาติของไทยได้ไหลซึมเพื่อชาติไทย ซึ่งพวกเราชาวไทยจะมิลืมเลย วีรกรรมของทุกท่านที่มีส่วนป้องกันชาติในครั้งนั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อถึงคราวป้องกันประเทศ คนไทยได้ยอมเสียสละทุกอย่าง รวมทั้งชีวิต ขอวิญญาณของท่านจงไปสู่สุคติในสัมปรายภพ วีรกรรมของท่านครั้งนี้ ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่า ไทยได้ทำตามหน้าที่ดีที่สุดแล้ว แต่ที่เราต้องยอมหยุดยิงในที่สุด ก็เพราะกำลังของเราสู้ไม่ได้จริงๆ ซึ่งใคร ๆ ก็ทราบแล้วว่า ญี่ปุ่นเป็นมหาประเทศ แม้อังกฤษและสหรัฐอเมริกาเอง ญี่ปุ่นก็ยังปราบได้ในชั้นแรก ดังข้าพเจ้าจะได้กล่าวในภาคที่สอง

เหตุการณ์ต่อมาอีกไม่กี่วัน ข้าพเจ้าได้ขอให้พลตำรวจเอกอดุลย์ อดุลยเดชจรัส พูดจากับนายกรัฐมนตรีว่า เนื่องจากนโยบายของเราจำต้องเปลี่ยนแปลงไปเพราะเหตุการณ์เช่นนี้ และข้าพเจ้าเองเป็นผู้ที่ยึดนโยบายเดิมเสมอ คือ ความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ฉะนั้น จึงควรเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอย่างที่เขาปฏิบัติกันในนานาประเทศ แต่ก็ไม่สำเร็จ นายกรัฐมนตรีถึงกับกล่าวในที่ประชุมว่า ในยามคับขัน ไม่ควรทิ้งกัน จึงทำให้เป็นการยากที่จะโต้เถียงได้ แต่ต่อมาอีกไม่กี่วัน ก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกคือ พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและข้าพเจ้า กลับเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศตามลำดับ และนายกรัฐมนตรีเข้าว่าการเองทั้งสองกระทรวง และในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ศกเดียวกัน นายกรัฐมนตรีก็ได้ลงนามกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นอีก ในสัญญาร่วมมือทางทหาร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม การเจรจาทำสัญญาฉบับนี้ โดยที่ข้าพเจ้าไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย จึงไม่ทราบรายละเอียด

การที่ข้าพเจ้าเล่าเหตุการณ์มาโดยละเอียดเช่นนี้ มิได้หวังจะเป็นการฟื้นฝอยหาตะเข็บ หรือเพื่อส่งเสริมให้เราเกลียดชังญี่ปุ่น แต่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงสำคัญในประวัติศาสตร์ ความจริงคนญี่ปุ่นส่วนมากดีมาก เรื่องสงครามที่เกิดขึ้นเพราะความรับผิดชอบของชนญี่ปุ่นหมู่น้อยเท่านั้น ดังข้าพเจ้าจะได้กล่าวต่อไปในภาคที่สอง

เกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) นี้ เอกอัครราชทูตซูโบกามิ ได้ให้การต่อศาลทหารระหว่างประเทศ (International Military Tribunal) ที่กรุงโตเกียวว่า ในวันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ เอกอัครราชทูตได้รับคำสั่งจากรัฐบาล ให้เตรียมพร้อมที่จะได้รับคำสั่งให้ขอต่อรัฐบาลไทย เพื่อให้ทำสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่น หรืออย่างน้อยให้ยอมให้กองทหารญี่ปุ่นเดินผ่านดินแดนไทยได้ เพื่อไปดำเนินการทางทหารต่อมลายูและพม่า ต่อมาในวันที่ ๗ ธันวาคม ศกเดียวกัน เขาได้รับคำสั่งชัดเจนให้ดำเนินการดังกล่าว จากจอมพลเตราอุจิ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นในภูมิภาคใต้ ในค่ำวันนั้น จอมพลพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทยไม่อยู่ในกรุงเทพ ฯ และสมาชิกในคณะรัฐบาลของเขาแสดงความไม่สมัครใจที่จะตกลงตามคำเรียกร้องของเอกอัครราชทูต ทั้งๆ ที่ได้เตือนกับฝ่ายไทยแล้วว่า กองทหารญี่ปุ่นจะเข้าดินแดนไทยในวันพรุ่งนี้เช้า ซึ่งในที่สุดกองทหารญี่ปุ่นก็ได้เข้าดินแดน และในชั้นต้นได้ถูกต่อต้าน แต่เมื่อจอมพลพิบูลสงครามกลับมาถึงกรุงเทพ ฯ ในเช้าวันนั้น ได้สั่งให้หยุดต่อต้าน และตกลงกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเพื่อให้ทหารญี่ปุ่นเข้าเมืองไทยได้โดยไม่ต้องรบกัน จอมพลพิบูลสงครามได้ตัดสินเลือกร่วมโชคชะตากับญี่ปุ่น และต่อมาได้มีการเจรจาทำกติกาพันธไมตรีทางทหารกับญี่ปุ่นทันที กติกานี้ได้ลงนามกันเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม โดยมีข้อความว่า ต่างฝ่ายต่างจะเคารพเอกราชและอธิปไตยซึ่งกันและกัน ภาคแต่ละฝ่ายจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่ในด้านการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ ในกรณีภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดขัดกันขึ้นกับประเทศที่สาม และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่แยกทำสัญญาสันติภาพ หรือสงบศึก กติกานี้มีโปรโตคลลับซึ่งไม่เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะช่วยให้ไทยได้ดินแดนคืนจากอังกฤษ และไทยสัญญาจะช่วยญี่ปุ่นในกรณีสงครามซึ่งมีอยู่แล้วระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศฝ่ายตะวันตก๓๖ สัญญาฉบับนี้ยกเลิกฉบับเดิมที่เพียงอนุญาตให้ญี่ปุ่นเดินทหารผ่าน ฉบับลงวันที่ ๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑

  1. ๑. สาระสำคัญของสาสน์นี้ปรากฏในหนังสือการทูตเล่มหนึ่ง หน้า ๗๕๖-๗๕๗ และ Foreign Relations of the United States, Vol. IV, 1941 หน้า ๔๑๐-๔๑๑

  2. ๒. Foreign Relations of the United States, Vol. IV, 1941, The Far East หน้า ๔๑๑

  3. ๓. ปัจจุบันมีบรรดาศักดิ์เป็น เอิร์ล อีเดน แห่งเอวอน (Earl Eden of Avon)

  4. ๔. Foreign Relations of the United States, Vol. V, 1941 หน้า ๒๓๖-๒๓๗

  5. ๕. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ขณะนั้นเป็นอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน

  6. ๖. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตของเราที่กรุงวอชิงตัน ได้ตัดหนังสือพิมพ์ New York Times ลงวันที่ ๑๕, ๑๘ และ ๒๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้ข้าพเจ้าทราบ

  7. ๗. ถึงอนิจกรรมแล้ว

  8. ๘. ขณะนั้นเป็นหัวหน้ากองกลาง กระทรวงการต่างประเทศ ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว

  9. ๙. ต่อมาเป็นพลตำรวจเอกและถึงอนิจกรรมแล้ว

  10. ๑๐. ทูตเยอรมันชื่อ ดอกเตอร์ วิลเฮลม ทอมัส และทูตอิตาเลียน ชื่อ ดอกเตอร์ ก็โด ครอลลา

  11. ๑๑. เสนีย์ ปราโมช

  12. ๑๒. ปัจจุบัน พลโท ประยูร ภมรมนตรี

  13. ๑๓. ตำแหน่งครั้งสุดท้ายคือ ปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี และถึงแก่อนิจกรรมแล้ว

  14. ๑๔. Foreign Relations of the United States, 1941 Vol. V. หน้า ๒๘๔

  15. ๑๕. ความเห็นของนายเป็ก ทูตอเมริกันคนใหม่นี้ ตรงกับคำขอร้องของข้าพเจ้าต่อนายแกรนต์ ทูตอเมริกันคนเก่า ซึ่งได้เสนอเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) แต่ทูตอเมริกันคนเก่าไม่เห็นด้วย ดังปรากฏในรายงานทูตซึ่งได้อ้างแล้วข้างต้น และขอให้ดู Foreign Relations, 1941, Vol. V หน้า ๒๓๕ และหน้า ๓๐๖-๓๐๙

  16. ๑๖. นายเป็ก

  17. ๑๗. ปัจจุบันเป็นองคมนตรี

  18. ๑๘. แม้เลื่อนฐานะสถานอัครราชทูตเป็นสถานเอกอัครราชทูต และมีเอกอัครราชทูตคนใหม่ ชื่อ นายซูโบกามิ มาแล้วก็ตาม นายฟูตามิ อัครราชทูตยังคงประจำสถานเอกอัครราชทูตอยู่

  19. ๑๙. ข้าพเจ้า

  20. ๒๐. Foreign Relations of the United States, 1951, Vol. V หน้า ๓๖๗

  21. ๒๑. ข้าพเจ้า

  22. ๒๒. Foreign Relations of the United States, 1941, Vol. V หน้า ๓๗๐

  23. ๒๓. Foreign Relations, 1941, Vol. V หน้า ๓๗๑-๓๗๒

  24. ๒๔. ข้อเท็จจริงที่ทูตอเมริกันรายงานนี้ สาระสำคัญก็ถูกต้อง แต่ยังคลาดเคลื่อนบางประการ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

  25. ๒๕. Foreign Relations, 1941, Vol. V หน้า ๓๗๙-๓๘๐

  26. ๒๖. หนังสือ Memoirs ของ Cordell Hall เล่ม ๒ หน้า ๑๐๑๘-๑๐๑๙

  27. ๒๗. ฮาร์เบอร์ หน้า ๔๐๓

  28. ๒๘. รายงานของคณะกรรมการผสมฯ ดังกล่าวข้างต้น หน้า ๔๐๓ -๔๐๔ และหนังสือของ Churchill, Second World War เล่ม ๓ หน้า ๕๓๔

  29. ๒๙. รายงานของคณะกรรมการผสม ฯ ดังกล่าวข้างต้น หน้า ๔๐๔

  30. ๓๐. คำให้การของพลเอกโตโจ สำนวนศาลทหารระหว่างประเทศ กรุงโตเกียว หน้า ๓๖๔๐๑

  31. ๓๑. รายงานของคณะกรรมการผสมฯเรื่องเพิร์ลฮาร์เบอร์ หน้า ๔๐๕

  32. ๓๒. รายงานของคณะกรรมการผสมฯเรื่องเพิร์ลฮาร์เบอร์ หน้า ๔๓๕

  33. ๓๓. รายงานของคณะกรรมการผสมฯ เรื่องเพิร์ลฮาร์เบอร์ หน้า ๔๒๙-๔๓๐

  34. ๓๔. ถึงแก่กรรมแล้ว

  35. ๓๕. เกี่ยวกับเอกอัครราชทูตซูโบกามิเจรจากับข้าพเจ้านี้ ภายหลังสงคราม เอกอัครราชทูตซูโบกามิได้ไปให้การในศาลทหารระหว่างประเทศที่กรุงโตเกียวอย่างใดบ้าง ข้าพเจ้าจะได้กล่าวในภายหลัง

  36. ๓๖. คำให้การของเอกอัครราชทูตซูโบกามิ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ในการสอบสวนชั้นต้นของศาลทหารระหว่างประเทศ กรุงโตเกียว และ Survey of International Affairs, 1936–1946, The Far East, 1942-1946 หน้า ๕๑-๕๒

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ