บทที่ ๕ เหตุการณ์ระหว่าง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) ถึง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ซึ่งเป็นเดือนที่ยุติสงคราม

เมื่อข้าพเจ้าออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) พร้อมกับ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) เป็นต้นไปจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ซึ่งเป็นเดือนที่ญี่ปุ่นยอมจำนน ข้าพเจ้าได้ใช้เวลาทั้งหมดดำเนินการร่วมมือกับสัมพันธมิตรในประเทศไทยร่วมกับท่านผู้อื่นมากหลาย โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นเป็นหัวหน้า ซึ่งเรียกว่าขบวนเสรีไทย อย่างไรก็ดี เมื่อสงครามโลกเสร็จสิ้นแล้ว ขบวนการเสรีไทยได้หมดหน้าที่และยุบตัวเอง พลเอกเนตร เขมะโยธิน ได้เขียนไว้ว่า ในการนี้นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้กล่าวคำปราศรัยแก่บรรดาเสรีไทย เล่าความเป็นมาและความมุ่งหมายของขบวนการเสรีไทยดังนี้

“การกระทำคราวนี้ มิได้ก่อตั้งเป็นคณะหรือพรรคการเมือง แต่เป็นการร่วมงานกันประกอบกิจ เพื่อให้ประเทศชาติได้กลับคืนสู่สถานะก่อนวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ แม้ว่าการดำเนินงานจะได้จัดให้มีองค์การบริหาร คือ กองบัญชาการ สำนักงานหรือสาขาใดๆขึ้น ก็เพื่อความจำเป็นที่จะให้งานนี้ได้มีระเบียบ อันนำมาซึ่งวินัยและสมรรถภาพ สมาคมซึ่งมีสมาชิกน้อยกว่าผู้ร่วมงานคราวนี้ต้องมีกรรมการฉันใด ผู้ร่วมงานคราวนี้ซึ่งมีจำนวนมากก็ยิ่งจำต้องมีองค์การบัญชาการฉันนั้น เมื่อองค์การรับใช้ชาติจำเป็นที่จะต้องมีขึ้นดังกล่าวแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องมีนามสำหรับในการนี้ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนชาวไทยอยู่ในต่างประเทศได้รับความรับรองตลอดมา ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกองค์การและผู้ร่วมงานในต่างประเทศว่า “เสรีไทย” เพราะเวลานั้นต่างประเทศเข้าใจว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้ครอบครองของญี่ปุ่น เสรีไทยไม่ใช่ผู้ที่อยู่ใต้ครอบครองของญี่ปุ่น ความหมายก็คือ ไทยที่เป็นเสรี หรือไทยทั้งหลายที่ต้องการให้ประเทศของตนเป็นอิสระ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ต่างประเทศรับรองการกระทำของผู้ที่อยู่ในต่างประเทศ หาใช่คณะหรือพรรคการเมืองไม่ ส่วนองค์การต่อต้านภายในประเทศนั้น ในชั้นเดิมไม่มีชื่อเรียกองค์การว่าอย่างไร การชักชวนให้ร่วมงานตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ก็ชักชวนกันเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นให้พ้นไปจากประเทศ และเมื่อองค์การภายในและภายนอกประเทศได้ติดต่อกันแล้วในชั้นหลัง สาส์นที่เจ้าหน้าที่ต่างประเทศมีมายังข้าพเจ้า เรียกขานองค์การที่เราร่วมงานระหว่างคนไทย ทั้งภายในและภายนอกนี้ว่า Free Siamese Movement หรือขบวนเสรีไทย เป็นนามสมญาที่ควรยอมรับ ข้าพเจ้าก็ได้ถือเอานามนี้โต้ตอบกับต่างประเทศ โดยใช้นามองค์การว่าขบวนเสรีไทย ซึ่งเราทั้งหลายก็จะเห็นได้ชัดอีกว่าไม่ใช่เรื่องคณะพรรคการเมือง

วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้ มีจำกัดดังกล่าวแล้ว และมีเงื่อนเวลาสุดสิ้น กล่าวคือ เมื่อสภาพการณ์เรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลายก็คือ มิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมาโดยปราศจากความคิดที่จะเปลี่ยนสภาพองค์การเหล่านี้ให้เป็นคณะหรือพรรคการเมือง และเพราะเหตุที่การกระทำคราวนี้ เป็นการสนองคุณชาติ ผู้ใดจะรับราชการตำแหน่งใดหรือไม่นั้น จึงเป็นไปตามความสามารถ ตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนเหมือนดังคนไทยอื่นทั้งหลาย เราพึงพอใจด้วยความระลึกและความภูมิใจว่า เราได้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกิดมาเป็นคนไทย จริงอยู่ ในระหว่างสะสางให้สภาพของประเทศไทยกลับเข้าสู่ฐานะเดิม ได้มีผู้ร่วมงานคราวนี้บางคนรับตำแหน่งในราชการ แต่ทั้งนี้ขอให้เข้าใจว่า บุคคลเหล่านี้เข้ารับหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายโดยพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติ หรือนัยหนึ่งเป็นการปฏิบัติตามคำสั่ง เพื่อจัดการเรื่องที่ยังเกี่ยวพันอยู่กับนานาประเทศ ให้เสร็จสิ้นไปเท่านั้น หาใช่เป็นการเอาตำแหน่งราชการมาเป็นรางวัลไม่

ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่า ทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้ร่วมองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ ๑๗ ล้านคน ที่ได้กระทำโดยอิสระของตน ในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำได้ หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มี หรือแม้แต่คนไทยที่นั่งอยู่โดยไม่ทำการขัดขวางผู้ต่อต้านญี่ปุ่นหรือผู้รับใช้ชาติ ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้รับใช้ชาติทำการได้สะดวก ฯลฯ เป็นต้น คนไทยทั้งปวงเหล่านี้ ทุก ๆ คนร่วมกันทำการกู้ชาติของตนด้วยทั้งสิ้น ส่วนผู้ที่คอยขัดขวางการต่อต้านของผู้รับใช้ชาติ จะเป็นโดยทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ นั้น มีบ้างเล็กน้อย เป็นธรรมดา แต่เขาเหล่านั้น โดยทางพฤตินัย ไม่ใช่คนไทย เพราะการกระทำของเขาเหล่านั้นไม่ใช่การกระทำของคนที่เป็นไทย เขามีสัญชาติไทยแต่เพียงนิตินัย คือ เป็นคนไทยเพราะกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

ข้าพเจ้าจึงกล่าวได้ในนามของสหายทั้งหลายว่า ราษฎรทั้งปวงประมาณ ๑๗ ล้านคน ที่เป็นคนไทยทั้งโดยทางนิตินัยและพฤตินัยนั่นเอง เป็นผู้กู้ชาติไทย ฉะนั้นผู้ซึ่งข้าพเจ้าจะต้องขอบคุณอย่างสูงยิ่งก่อนอื่น ก็คือ คนไทยทั้งปวงนี้

ในส่วนผู้ที่ร่วมงานกับข้าพเจ้าในการรับใช้ชาติ ข้าพเจ้าขอขอบใจ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และขอบใจคนไทยในสหรัฐอเมริกา คนไทยในอังกฤษ คนไทยในจักรภพของอังกฤษและคนไทยในประเทศจีน ผู้ที่ได้ช่วยเหลือกิจการอยู่ในต่างประเทศ

ส่วนภายในประเทศ ข้าพเจ้าขอขอบใจหัวหน้าผู้ใหญ่ในกองบัญชาการ คือ นายทวี บุณยเกต นายพลตำรวจเอก อดุลย์ อดุลยเดชจรัส พลเรือตรี สังวรณ์ สุวรรณชีพ นายดิเรก ชัยนาม พลโท ชิด มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ซึ่งได้เป็นหัวหน้าบัญชาการในการต่อต้านให้ดำเนินไปด้วยดี”

ข้าพเจ้ามีความเห็นพ้องด้วยว่า คนไทยทั้งชาติได้มีส่วนในงานนี้ ผู้มีส่วนประกอบด้วยบุคคลทุกประเภท เช่น สมาชิกในพระราชวงศ์ก็มีหลายท่าน อาทิ ม.ล. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ม.จ. การวิก จักรพันธ์ ฯลฯ เป็นต้น มี ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ข้าราชการพลเรือน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ่อค้า คหบดี และราษฎร แม้กระนั้นก็ดี ได้มีการกล่าวเกี่ยวกับการใช้เงิน จนสภาผู้แทนราษฎรต้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวน

เรื่องการต่อต้านนี้ พลเอก เนตร เขมะโยธิน เขียนไว้ว่า “สงครามยุติลงแล้ว ขบวนการเสรีไทยก็หมดหน้าที่ลง และยุบตัวเอง ตามแถลงการณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าใหญ่ ตามที่กล่าวมาแล้วในบทก่อน ข้าพเจ้าเห็นพ้องด้วยกับคำแถลงของท่านผู้นี้ที่กล่าวว่า “...ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ที่มิได้ร่วมองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีก ๑๗ ล้านคน ที่ได้กระทำโดยอิสระของตน ในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำได้ หรือเอากำลังใจ ช่วยขับไล่ญี่ปุ่นให้พ้นไปจากประเทศไทย โดยเร็วก็มี หรือแม้แต่คนไทยที่นั่งอยู่โดยไม่ทำการขัดขวางผู้ต่อต้านญี่ปุ่น หรือผู้รับใช้ชาติ ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้รับใช้ชาติทำการได้โดยสะดวก ฯลฯ เป็นต้น คนไทยทั้งปวงเหล่านี้ทุก ๆ คนร่วมกันทำการกู้ชาติของตนด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนผู้ที่คอยขัดขวางการต่อต้านของผู้รับใช้ชาติ จะเป็นโดยทางวาจาหรือทางใจนั้น ก็มีบ้างเล็กน้อยเป็นธรรมดา แต่เขาเหล่านั้นโดยพฤตินัยไม่ใช่คนไทย เพราะการกระทำของเขาเหล่านั้น ไม่ใช่การกระทำของคนที่เป็นไทย เขามีสัญชาติไทยแต่เพียงนิตินัย คือเป็นคนไทย เพราะกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น”

งานของขบวนการเสรีไทย ได้กลายเป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว ที่อาจจะเหลืออยู่ ก็แต่ในความทรงจำของเราทั้งหลายเท่านั้น ส่วนผู้ที่ได้มีโอกาสรับใช้ชาติในระหว่างสงครามก็มีแต่ความภูมิใจ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกิดมาเป็นคนไทย

เป็นความจริงที่การปฏิบัติงานในครั้งนั้นมีผู้ที่ร่วมงานเป็นจำนวนมากด้วยกัน ในบรรดาคนหมู่มากเช่นนั้น ย่อมจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนซื่อสัตย์สุจริตและนักฉวยโอกาส เพราะฉะนั้นจึงปรากฏว่า เมื่อสงครามยุติลงแล้ว เสรีไทยหลายคนได้ร่ำรวยขึ้นผิดปรกติ หลายคนได้รับบำเหน็จรางวัลในตำแหน่งหน้าที่ และก็หลายคนอีกเหมือนกัน ที่เคยเป็นอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น บางคนก็ไม่มีใครรู้จักและถูกลืม แต่ร้ายที่สุดก็คือ ในอีกไม่กี่ปีต่อมา เขาเหล่านั้นกลับถูกคนบางกลุ่มกดกันและตั้งข้อรังเกียจว่าเคยทำงานเสรีไทยก็มี ทั้งๆ ที่การปฏิบัติงานเพื่อรับใช้ชาติครั้งนั้น เป็นการเสียสละเพื่อประเทศชาติโดยแท้ อันที่จริงบรรดาผู้ร่วมงานเสรีไทยส่วนมากหรือเกือบทั้งหมด มิได้ปฏิบัติงานเพื่อนายปรีดี พนมยงค์ หรือเพื่อบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่เพื่อชาติเป็นส่วนรวม แต่ครั้นแล้ว เขาเหล่านั้นก็หนีไม่พ้นที่จะถูกกล่าวหาหรือตั้งข้อสงสัยว่า เป็นพรรคพวกของนายปรีดี พนมยงค์ อยู่ตลอดไป

การกินแหนงแคลงใจ และการอิจฉาริษยาระหว่างคนไทยด้วยกันดังกล่าวนี้เอง เป็นสาเหตุหนึ่งในบรรดาสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการแตกแยกในระหว่างผู้ที่ทำงานเสรีไทยมาด้วยกัน และระหว่างผู้ที่อยู่นอกวงงานเสรีไทยกับผู้ปฏิบัติงานเสรีไทยในระยะต่อมา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่า ความจริงนั้น ผู้ที่ได้ตกลงใจร่วมมือในการปฏิบัติงานรับใช้ชาติในครั้งนั้นได้ยอมรับหลักการกันแล้วว่า ทุกคนกระทำงานเพื่อประเทศชาติ มิได้หวังผลตอบแทนอย่างใด ถ้าทุกคนกระทำเพื่อหวังผลตอบแทนแล้ว เรื่องก็ไม่มีวันจะจบสิ้นลงได้ เพราะผู้ร่วมงานครั้งนั้นมีจำนวนมากมายหลายพันคน ถ้าทุกคนจะทวงหนี้บุญคุณที่ตนได้กระทำไปแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าไม่มีทางที่จะทำความพอใจให้แก่ทุกคนได้เลย ไม่ว่าใครทั้งนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนได้รับ และควรจะพอใจก็คือ ความภาคภูมิที่ตนได้ทำหน้าที่อันสมควรที่ตนได้เกิดมาเป็นคนไทยชาติหนึ่งเท่านั้น ถ้าทุกคนคิดได้เช่นนี้ ความยุ่งยากต่างๆ ก็คงจะไม่เกิดขึ้นในระยะต่อมา เช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ดี คนไทยนั้นมีลักษณะที่ดีอยู่อย่างหนึ่ง กล่าวคือแม้ว่าในทางส่วนตัวจะมีความเกลียดชังหรือทะเลาะวิวาทกันอย่างไร แต่พอถึงคราวที่ชาติจะอับจนหรือเข้าที่คับขันก็ยังอาจรวมกันได้ ขอให้ดู ในเรื่อง “งานเสรีไทย” คราวนี้เป็นตัวอย่าง ถ้าเราพิจารณาตัวบุคคลสำคัญที่ร่วมงานเสรีไทยครั้งนั้น เราจะเห็นว่ามีทั้งบรรดาเจ้านายในราชวงศ์ และผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งในทางการเมืองก็ไม่รู้จะปรองดองกันนัก มีทั้งทหารและพลเรือน ตลอดจนประชาชนทุกเพศทุกวัย ซึ่งไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันเลยก็มี แต่เมื่อทุกคนเห็นว่า ประเทศชาติอยู่ในฐานะที่จะไปไม่รอดแน่แล้ว บุคคลเหล่านั้นก็หันมาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ไม่ถือเขาถือเรา ไม่ถือว่าฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้า ฝ่ายหนึ่งเป็นไพร่ ไม่ถือพรรคถือพวก ในที่สุดบ้านเมืองของเราก็รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ ดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ นี่คืออุทาหรณ์ที่ข้าพเจ้าใคร่จะขอฝากไว้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลัง ให้ยึดถือปฏิบัติและรักษาไว้ชั่วกัลปาวสาน ถ้าคนไทยเรายังรักษาคุณสมบัตินี้ไว้ได้ ก็เป็นการเชื่อแน่ว่าเราจะเป็นไทยได้ตลอดไป

ในระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นนี้ การร่วมมือระหว่างไทยกับรัฐบาลอเมริกันและรัฐบาลอังกฤษได้เป็นไปอย่างใกล้ชิด มีผู้แทนทั้งสองประเทศลอบเข้ามาประจำอยู่ในไทย เหตุการณ์เหล่านี้ญี่ปุ่นทราบดี แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ทำอะไร ก็เพราะเห็นว่าตนเสียเปรียบอยู่ในสถานะสงคราม ถ้ารุนแรงกับไทย มติของโลกก็จะเห็นอกเห็นใจไทยว่า คงทนการกดขี่ของญี่ปุ่นไม่ไหวต่อไป จึงลุกขึ้นต่อสู้ ถ้าญี่ปุ่นทำแก่ไทยเช่นนี้ ก็เป็นการขัดกับที่ประกาศไว้ว่า จะช่วยเอเซียให้หลุดพ้นจากการกดขี่ของฝรั่ง นอกจากนี้ก็เพราะบังเอิญมีแม่ทัพญี่ปุ่นคือ นายพลนากามูรา ซึ่งเป็นผู้สุขมเห็นการณ์ไกลดังกล่าวแล้วในตอนต้น

แม้กระนั้นก็ดี เหตุการณ์ตึงเครียดขึ้นทุกวัน ฝ่ายไทยเราก็เกรงว่าญี่ปุ่นอาจยึดเราสักวันหนึ่งเพื่อเป็นการป้องกันตน ฝ่ายกองทัพของเราก็เริ่มสร้างป้อมและรังปืนกลแทบทุกแห่งตามถนนหนทางในกรุงเทพฯ ญี่ปุ่นถามว่าสร้างทำไม เราตอบว่าเพื่อต่อสู้สัมพันธมิตร ในกรณีสัมพันธมิตรบุกเข้าเมืองไทย แต่ญี่ปุ่นก็ทราบดีว่าสร้างเพื่ออะไร ในที่นี้ต้องขอขอบคุณนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งแสดงตีหน้ากับญี่ปุ่นได้อย่างดี

เพื่อต่อความซึ่ง ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เขียนผนวกท้ายบทนี้เล็กน้อยในตอนปลายสงคราม คือ ประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) กองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรเอเซียอาคเนย์ ของลอร์ดหลุยเมาน์ตแบตเตนที่ลังกาส่งสาสน์มาว่า เท่าที่เราติดต่อกับเขาโดยใกล้ชิด ยังไม่พอ เช่น การส่งข่าวให้ การที่ให้เขาเข้ามาตั้งสถานีวิทยุส่งข่าวการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่น เป็นต้น จึงอยากจะทราบว่าไทยจะร่วมมือกับสหประชาชาติเพียงใด ฉะนั้นให้ส่งคณะทูตทหารออกไปพบกับเขาลับๆ ที่ลังกา โดยเขาจะส่งเครื่องบินทะเลมารับ ทางผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นได้เรียกประชุมฝ่ายเราหลายท่านด้วยกัน ตกลงมีความเห็นว่า ถ้าส่งไปพูดเฉพาะเรื่องทหารแล้ว ไม่ได้ประโยชน์แก่ชาติเท่าใดนัก เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรจะได้ประโยชน์ข้างเดียว เราไม่ได้อะไร เราจึงตอบโดยให้ พ.ต. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ส่งโค้ดลับไปว่า ในการส่งทูตออกไปนั้น ให้ถือว่าเป็นทั้งคณะทูตทหารและทูตการเมืองด้วย ลอร์ดหลุยตอบมาว่า ขัดข้อง โดยที่เวลานั้นทางลังกาไม่มีอำนาจที่จะเจรจาในเรื่องการเมือง ขอเป็นเรื่องการทหาร เราปรึกษากันว่า ถ้าเราไม่แสดงใจกล้าออกไปแล้ว เขาจะหาว่าเราขี้ขลาด อยากรับใช้ชาติแต่ไม่ยอมเสี่ยง ในที่สุดเราจึงตอบตกลง

เมื่อได้ปรึกษากันแล้วผู้สำเร็จราชการได้ให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าคณะผู้แทน พลโทหลวงชาตินักรบ เสนาธิการทหารบกในขณะนั้นเป็นผู้แทน ส่วนผู้แทนและเลขานุการคณะ ข้าพเจ้าได้รับอนุมัติให้เลือกผู้ที่วางใจได้ ข้าพเจ้าจึงได้ทาบทามถาม นายถนัด คอมันตร์ ว่าจะยินดีร่วมรับใช้ชาติต่อไปอีกหรือไม่ เพราะร่วมมือกันตั้งแต่ไปญี่ปุ่นแล้ว ส่วนนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล๑๐ นั้นถูกส่งไปติดต่อที่สหรัฐอเมริกาแล้ว นายถนัด คอมันตร์ ตอบยินดีร่วมมือเต็มที่ ในการนี้ทางสัมพันธมิตรได้ตกลงเรียกชื่อคณะเราว่า VIOLET และตัวข้าพเจ้าเขาให้นามแฝงว่า Omar ในการนี้คณะเราได้รับเงินไปสองพันบาท เพื่อใช้จ่ายไปมา กำหนดไม่เกิน ๑๔ วัน ข้าพเจ้าได้มอบให้ นายถนัด คอมันตร์ เป็นผู้ถือเงินและจับจ่าย ขากลับมาสิ้นค่าใช้จ่ายไปในการทำกับข้าว รางวัลคนเรือ ฯลฯ รวม ๗๕๐ บาท ส่งคืนกองบัญชาการ ๑๒๕๐ บาท ข้าพเจ้าจำวันไม่ได้แน่ คณะเรา ๓ นาย และนายจุ่นเคง๑๑ กับนายประพฤทธิ์ ณ นคร๑๒ ทั้งสองคนเป็นนักเรียนที่อังกฤษซึ่งทางอังกฤษส่งเข้ามา เราออกจากกรุงเทพฯ ไปพักที่บ้านบิดานายเซ็งจือ ลือประเสริฐ ที่จังหวัดสมุทรสาครสัก ๖ ชั่วโมง และลงเรือยนต์จากที่นี่ไปถึงเกาะตารุเตาประมาณ ๑๘ ชั่วโมงภายหลัง พักค้างที่นั่นหนึ่งคืน รุ่งขึ้นอีกคนหนึ่งอังกฤษส่งเครื่องบินทะเลมารับตามที่นัดหมายกันไว้ บินไปกัลกัตตา จากกัลกัตตาบินต่อไปยังทรงโคมาลี เกาะลังกา แล้วนั่งรถยนต์ขึ้นไปที่พักในสวนยางชื่อ Riverdale Estate เมืองแคนดี พบกับหัวหน้า Force 136 ชื่อ แม็กเกนซี (Mackenzie) มียศเทียบนายพลตรี และพบคนอังกฤษอีกหลายคนซึ่งเคยทำงานในกรุงเทพฯ เราประชุมกับพวกนี้รวมทั้งนายเดนนิง๑๓ ทุกวัน อยู่ที่แคนดีประมาณ ๗ วัน กลับถึงกรุงเทพ ฯ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕)

ภายหลังข้าพเจ้าได้ชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎรถึงการไปลังกาครั้งนั้น และเหตุที่ลอร์ดหลุยเมานต์แบตเตนผู้บัญชาการทหารสูงสุด ฝ่ายสัมพันธมิตรประจำเอเซียอาคเนย์ไม่ยอมพบเรา แต่ให้พบกับพลตรีแม็กเกนซีและนายเดนนิงนั้น ดังนี้ “ฝ่ายอังกฤษชี้แจงว่า ไทยยังอยู่ในสถานะสงครามกับเขา จะเป็นการเผชิญหน้ากัน ได้มีการเจรจาเรื่องการทหาร เขาต้องการทราบว่า เรามีกำลังเท่าใด ญี่ปุ่นมีเท่าใด เราจะช่วยเขาได้เพียงใด เราได้ให้ข้อเท็จจริงไป และว่า เราพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกด้าน เรื่องการเมืองเมื่อเขาไม่อยากพูด เราก็ไม่พูด แต่วันหนึ่ง นายเดนนิง ที่ปรึกษาทางการเมืองของพลเรือเอกลอร์ดหลุย เมานต์แบตเตนแจ้งกับคณะเราว่า อยากจะคุยเรื่องการเมือง แต่เราตอบว่า มาเรื่องทหารไม่อยากคุยการเมือง เขาบอกว่าไม่เป็นไร คุยกันเล่นเท่านั้น ในการคุยนั้นเขาได้ถามความเห็นว่า ภายหลังสงคราม ไทยจะมีท่าทีอย่างใด เราก็ชี้แจงว่าความจริงนั้นเจตนาของประชาชนชาวไทยซึ่งแสดงออกทางสภาผู้แทนราษฎร ไม่อยากร่วมรบร่วมรับกับญี่ปุ่น แต่เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาเต็มเมืองแล้ว ไทยเราเล็กนิดเดียวจะทำอะไรได้ ขอให้เห็นใจไทย คณะทูตได้แจ้งกับเขาว่า อังกฤษจะเดินนโยบายดีมาก ถ้าจะประกาศสักหน่อยว่า อังกฤษจะเคารพเอกราชและอธิปไตยของไทยทุกประการ เพราะรู้ว่าการที่ไทยร่วมมือกับญี่ปุ่นนั้น ก็ด้วยความจำเป็น (ทำนองความเห็นของอเมริกา) และเวลานี้ ไทยก็เตรียมเล่นงานญี่ปุ่นอยู่แล้ว และก็จะนิยมคิดถึงบุญคุณอังกฤษมาก ทั้งจะส่งเสริมให้ไทยมีกำลังใจร่วมมือเล่นงานญี่ปุ่น เขาตอบว่าขอไปตรึกตรอง เพราะว่าประชาชนอังกฤษไม่คิดเลยว่า ไทยจะไปประกาศสงครามกับเขา ทั้งข่าววิทยุก็ด่าเขาเต็มที่ ส่วนเหตุการณ์ภายในจริงเท็จเพียงใดประชาชนอังกฤษไม่ทราบ ฝ่ายคณะทูตเราก็แก้ไปว่า จะทำอย่างไรได้ ขืนพูดตรงออกมาให้โลกรู้ ญี่ปุ่นก็คงจะจัดการกับเรา ไม่ทันช่วยสัมพันธมิตรได้ ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุด อังกฤษรีบประกาศเสีย เขาตอบว่าวิธีของอังกฤษนั้นทำไม่ได้ เป็นประชาธิปไตย ราษฎรไม่รู้เรื่อง จู่ ๆ รัฐบาลไปประกาศเข้า ราษฎรเล่นงานแย่ เพราะไม่ทราบข้อเท็จจริง อย่างไรก็ดี การที่แสดงความร่วมมืออย่างนี้ก็เป็นการแสดงส่วนหนึ่งแล้ว ผลแห่งการเจรจากันทางการเมืองไม่มีข้อผูกพันประการใด แต่เป็นขั้นหนึ่งที่แสดงให้เขาพอใจว่า เราร่วมมือจริงๆ

ต่อมาในประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ทางองค์การการต่อต้านญี่ปุ่นของเรา ซึ่งประกอบด้วยทหารและพลเรือน พิจารณาเห็นว่า ถ้าไม่แสดงอย่างหนึ่งอย่างใดให้โลกและสหประชาชาติเห็นว่า เราพร้อมที่จะเสียสละแล้ว เห็นจะไม่สำเร็จ เราจึงตกลงทำใจกล้าและก็กล้าจริง ๆ ด้วย ผู้สำเร็จราชการได้โทรเลขไปยังหัวหน้าเสรีไทยนอกประเทศที่กรุงวอชิงตัน๑๔ ให้นำความเสนอต่อรัฐบาลอเมริกันทางหนึ่ง และมีถึงลอร์ดหลุยเมานต์แบตเตนอีกฉบับหนึ่ง ในนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สาระสำคัญว่า เวลานญี่ปุ่นกำลังบีบเอาเงิน ๑๐๐ ล้านบาท นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีได้ปรึกษากับผู้สำเร็จราชการ ฯ แล้ว ตกลงกันว่า เราไม่ให้ญี่ปุ่น ถ้าญี่ปุ่นบีบเราหนัก รัฐบาลนายควงก็จะลาออก เมื่อออกแล้วเราก็จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้น รัฐบาลใหม่นี้จะประกาศนโยบายเพิกถอนนโยบายต่าง ๆ ที่ทำไว้กับญี่ปุ่นหมด แต่เราจะถือว่าเราไม่ไปรบกับญี่ปุ่น โดยเราจะแถลงว่า เราคืนเข้าสู่สถานะเดิมก่อนวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) เมื่อคืนเข้าสู่สถานะเดิมแล้ว ญี่ปุ่นไม่มีสิทธิที่จะมาอยู่ในเมืองไทยต่อไป แต่เราคาดคะเนว่า ญี่ปุ่นเป็นนักเลงโตในประเทศเรา คงจะไม่ยอมให้รัฐบาลทำเช่นนั้น ผลก็คือ open break คือ ประกาศต่อสู้กันอย่างเปิดเผย แต่ถึงแม้กำลังอาวุธที่สหประชาชาติส่งมายังไม่พอที่จะรบก็ดี แต่เราเชื่อว่า ด้วยกำลังทุกฝ่ายทั้งราษฎรทั้งข้าราชการจะสู้ญี่ปุ่นได้ถ้าญี่ปุ่นมาเล่นเรา แต่เราจะประกาศอย่างนี้ และการที่จะทำอะไรไป เราถือว่า สหประชาชาตินั้นมีส่วนร่วมได้เสียด้วยกัน เพราะฉะนั้นขอแจ้งให้รัฐบาลอเมริกัน และรัฐบาลอังกฤษทราบและลอร์ดหลุยทราบไว้ด้วย แต่ในการนี้เราคิดว่ารัฐบาลอเมริกันก็ดี รัฐบาลอังกฤษก็ดี จะได้ความร่วมใจจากประชาชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง ถ้ารัฐบาลอเมริกันและรัฐบาลอังกฤษจะประกาศออกมาเลยทีเดียวในวันที่เราจะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เปลี่ยนนโยบายใหม่นั้นว่า รัฐบาลทั้งสองเห็นด้วยและเคารพเอกราชของเราทุกประการ นั่นแหละจะส่งเสริมกำลังจิตใจของเราทั้งหมดให้สู้กับญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ คือคล้าย ๆ เราขอเงื่อนไขอะไรนิดหน่อย การที่แจ้งไปนั้นก็ได้ผลสำหรับอเมริกา ดังที่ท่านรองรัฐมนตรีคือท่านกรู (Grew) ซึ่งเคยเป็นเอกอัครราชทูตที่โตเกียว ได้แจ้งมายังผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า ขอบใจประชาชนไทย ซึ่งมีท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นผู้นำเป็นอย่างยิ่ง และรัฐบาลอเมริกันขอให้คำมั่นว่า เมื่อถึงเวลาสมควรแล้วรัฐบาลอเมริกันจะประกาศว่า อเมริกันไม่เคยคิดเลยว่าประเทศไทยเป็นศัตรู คิดอยู่เสมอว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่ถูกญี่ปุ่นครอบครอง เพราะฉะนั้นรัฐบาลอเมริกันจะประกาศว่าจะเคารพเอกราชและอธิปไตยและไม่ถือว่าไทยได้ประกาศสงคราม เพราะฉะนั้น ขอยับยั้งไว้ก่อน เพื่อประโยชน์ของสหประชาชาติในทางทหารขอให้ใจเย็นไว้ก่อน แต่ส่วนอังกฤษนั้นชั้นแรกไม่ตอบอย่างใด ในที่สุดได้รับคำตอบว่า วัตถุที่ประสงค์ในที่สุดของรัฐบาลอังกฤษนั้นคล้าย ๆ กับรัฐบาลอเมริกัน แต่อย่างไรก็ดีเมื่อได้คำตอบเท่านี้ก็ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ เมื่อเขาห้ามมาเช่นนี้ ทีนี้ในระหว่างการเจรจาที่แคนดี คือ หมายความว่า ทางอังกฤษเขาก็ได้อ้างเหตุผลที่เขาไม่พอใจเราหลายอย่าง อย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรี๑๕เล่ามาเห็นจะไม่จำเป็นต้องชี้แจงอีก”๑๖

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อจากข้าพเจ้าดังนี้ “ข้าพเจ้าขอชี้แจงเพิ่มเติมอีกสักหน่อย คือปัญหาเกี่ยวกับว่าท่าทีของแต่ละชาติมีต่อเราอย่างไร ข้าพเจ้าเมื่อกี้ลืมไป คือสำหรับอเมริกา เรื่องเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่ ๑๙๔๓ ภายหลังคนของเราออกไปติดต่อกันแล้ว ดูเหมือนก่อนนิดหน่อย คือวันหนึ่งมีเอกสารมาจากจีนบอกมาว่า ประเทศจีนรับเคารพในเอกราชของเมืองไทย ไม่คิดจะเอาเมืองไทยเป็นอะไรต่าง ๆ พอได้ข่าวเช่นนั้น กลางปี ๑๙๔๓ ทางกระทรวงต่างประเทศอเมริกันก็แถลงการณ์สนับสนุนจีนว่า รัฐบาลอเมริกันมีนโยบายสนับสนุนเอกราชของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ เราถือเหตุที่ประเทศจีนและอเมริกันรับรองเรา ๆ ขอให้อังกฤษรับรอง แต่ในกาลต่อมาจนกระทั่งภายหลังที่ได้มีการประกาศสันติภาพจากเมืองไทยแล้ว เราก็เอานี่ไปที่สเตทเม็นท์ของเบิร์น สเตทเม็นท์ของเบิร์นซึ่งประกาศทั่วโลก คือว่าเมืองไทยเรามีออฟเฟอร์แล้วที่จะรบญี่ปุ่น แต่อังกฤษอเมริกาห้ามไม่ให้รบ แกจะถือว่าเรามีส่วน แต่ถูกห้ามขอร้อง และตอนท้ายกล่าวเป็นข้อสำคัญซึ่งเป็นสำนวนดีสำหรับเราว่า อเมริกาไม่ได้ถือเลยว่าเมืองไทยเป็นศัตรู เขาทักทายปราศรัยกับข้าพเจ้าอย่างดี เขาพูดว่าเขาแปลกใจที่ประเทศไทยประกาศสงครามกับเขา ซึ่งบางทีคนอังกฤษยังไม่รู้ว่าเมืองไทยอยู่ที่ไหน อย่าว่าแต่ประกาศสงครามเลย แม้แต่เมืองไทยเขาก็ไม่รู้ เขาบอกว่าคนของเขาช็อค นั้นก็แล้วแต่เขาจะพูด และเขาพูดว่าตัวเขาสืบสวนด้วยตนเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเมืองไทยอยู่ที่ไหน แต่อย่างไรก็ดี เขารู้สึกเสียใจที่เมืองไทยเป็นเพื่อนกับเขาดีๆ ไม่น่าจะประกาศสงครามกับเขา แล้วก็ยกเอา ๓ ประการของคำเบวิน๑๗ มาบอกว่า ต้องทำอย่างนี้เสียก่อนจึงจะคิดเป็นมิตรกันตามเดิม แล้วเขาถามว่าข้าพเจ้ามีอะไรพูดหรือไม่ ข้าพเจ้าบอกว่าไม่มี เขารู้สึกแปลกใจ นึกว่าจะพูดอะไรก็ไม่พูด และข้าพเจ้าก็เลยไม่พูด รีบลาเขาไปเสียให้พ้น เพราะว่าทางนี้ตกลงอย่างไรยังไม่รู้ จะพูดไปก็ไม่ได้ ในเฉพาะที่ลอนดอนนั้นข้าพเจ้าก็ไม่ได้พูดอะไร เป็นแต่เขาพูดข้างเดียว เพราะฉะนั้นที่ท่านถามว่าไปสัญญาอะไรกับเขาไว้หรือเปล่านั้น ข้าพเจ้าขอปฏิญาณได้ว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ไปสัญญาอะไรกับเขาเลย นี่เรื่องเป็นอย่างนี้ ก็จะสรุปความว่า สำหรับอเมริกันนั้นข้าพเจ้าไม่มีความสงสัยเขา ซึ่งอเมริกันนั้นตรงกันข้าม มีความประสงค์อยากจะให้ฐานะมาตรฐานการกินการอยู่ของเราสูงขึ้นเพื่อเขาจะขายสินค้าให้เรา เขารู้ว่าเราต้องการสินค้ามาก เขาอยากจะให้มีเงินมาก ๆ คนอเมริกันเขาเป็นเช่นนี้ ปากกับใจเขาตรงกับพูดจา แต่อังกฤษข้าพเจ้าไม่รู้แกมาท่าไหน รู้แต่อย่างนี้ว่าแกพยายามอย่างยิ่งที่จะยึดสถานะสงคราม ตั้งแต่เมืองไทยประกาศสงครามแกก็ยึดอันนี้มั่นคงตั้งแต่นั้นมา ส่วนจีนเท่าที่ทราบว่าเจียงไคเช็คบอกว่า ไม่มีความปรารถนาที่จะมารบกวนเอกราชของไทย นี่ก็ขอเรียนให้ทราบ”๑๘

เมื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ไทยร่วมมือจริงจังแล้ว อังกฤษจึงตกลงส่งคณะนายทหารอังกฤษมาประจำกองบัญชาการฝ่ายต่อต้านของเรา โดยมีนายพลเจ๊กซ์๑๙เป็นหัวหน้า มีการประชุมติดต่อกับฝ่ายเราทุก วัน ผู้แทนฝ่ายเราโดยปรกติคือนายถนัด คอมันตร์ และบุคคลอื่นอีกหลายท่าน แล้วแต่ลักษณะของเรื่องที่จะพูด ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าผู้ใดบ้างเพราะเป็นลับ

ทางด้านอินโดจีนเอง นายพลเรือ เดอคูซ์ (Decoux) ผู้สำเร็จราชการก็ดำเนินงานเพื่อเตรียมช่วยสหรัฐอเมริกาปราบญี่ปุ่นในกรณีสหรัฐอเมริกาขึ้นอินโดจีน เหตุการณ์ตระเตรียมของพลเรือเดอคูซ์กับพวกครั้งนี้ ญี่ปุ่นทราบเช่นเดียวกัน วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ญี่ปุ่นทนไม่ได้ต่อไป จึงสั่งให้ทูตญี่ปุ่นประจำเมืองฮานอยไปพบ นายพลเรือ เดอคูซ์ และแจ้งว่า เนื่องจากมีข่าวว่า ทหารอเมริกันจะขึ้นอินโดจีน ฉะนั้นทูตจึงได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้กระชับเกลียวสัมพันธ์ป้องกันร่วมกันกับอินโดจีนยิ่งขึ้น นายพลเรือ เดอคูซ์ไม่เห็นด้วย ว่ากระชับอยู่แล้ว ทูตญี่ปุ่นจึงงัดบันทึกออกมาอ่านให้ฟัง ความว่า ให้กองทัพฝรั่งเศสและกองตำรวจโอนมาขึ้นใต้บังคับบัญชาแม่ทัพญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจะเข้ายึดครองเส้นทางคมนาคมทุกสาย หน่วยราชการต่างๆ ซึ่งเดิมผู้สำเร็จราชการเป็นผู้ปกครอง ต่อไปญี่ปุ่นจะเป็นผู้สั่งงานโดยผ่านผู้สำเร็จราชการ ญี่ปุ่นให้เวลาตอบภายในสองชั่วโมง ขณะอ่านบันทึกเป็นเวลา ๗ โมงเช้า ให้ตอบภายใน ๙ โมงเช้า และถ้าไม่ตกลงญี่ปุ่นเสียใจจะต้องใช้กำลังบังคับ นายพลเรือเดอคูซ์ต่อรองขอเป็นว่า รอไว้เมื่อทหารอเมริกันขึ้นอินโดจีนจริงๆ จะโอนอำนาจให้ญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นไม่ยอม และในทันใดนั้นเอง ญี่ปุ่นก็เข้ายึดอินโดจีนทั่วไป รวมทั้งจับกุมตัวนายพลเรือเดอคูซ์ไปขัง มีหลายคนญี่ปุ่นเชิญตัว เพราะทราบว่าเป็นพวกใต้ดิน และเอาไปฆ่าเสีย ในการนี้หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นในสิงคโปร์ได้ออกคำแถลงว่า การที่กองทัพญี่ปุ่นได้หลักฐานชัดเจนว่า รัฐบาลฝรั่งเศสในอินโดจีนตีสองหน้า โดยเปิดเผยแสดงว่าเป็นมิตรกับญี่ปุ่น ความจริงไม่เป็นมิตร และติดต่อกับศัตรูโดยทางลับ ฝรั่งเศสชุมนุมทหารใกล้เมืองใหญ่ ๆ เพื่อเตรียมโจมตีญี่ปุ่น ฝรั่งเศสช่วยทำลายการเดินเรือของญี่ปุ่นตามชายฝั่งอินโดจีน โดยส่งข่าวไปยังเรือดำน้ำอเมริกันและฐานทัพอากาศอเมริกันในเมืองจีนและฟิลิปปินส์ เครื่องบินทิ้งระเบิดอเมริกันขึ้นมา ฝรั่งเศสก็เฉยเสีย นักบินอเมริกันถูกยิงตกลงมา ฝรั่งเศสก็เอาตัวไปซ่อนเสีย ญี่ปุ่นประท้วงหลายครั้งก็ไม่เชื่อฟัง ยังคงติดต่อกับอเมริกันและจีนอยู่ตลอดมา ในที่สุดญี่ปุ่นขอให้ร่วมมือเป็นขั้นสุดท้าย ก็ปฏิเสธ การที่ญี่ปุ่นต้องดำเนินมาตรการโดยฉุกเฉินเช่นนี้เป็นการทำอย่างเบาที่สุดแล้ว เพื่อควบคุมสถานการณ์

เหตุการณ์ในอินโดจีนครั้งนี้ ทำให้ไทยเราเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้นอีก

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) พลโทนากามูรา แม่ทัพญี่ปุ่น เชิญข้าราชการผู้ใหญ่ไทยไปกินเลี้ยง ฝ่ายไทยได้แบ่งกันไปอยู่รักษาการณ์บ้าง รับเชิญบ้าง แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น เคราะห์ดี ทราบมาภายหลังว่า รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งระงับไม่ให้จับกุม มิฉะนั้นก็คงนองเลือดกันขึ้นแล้ว และก็ไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร

ในระยะเวลาดังกล่าวในบทนี้ คือ ตั้งแต่สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) จนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ซึ่งเป็นเดือนที่ญี่ปุ่นยอมจำนน สถานการณ์ทางสงครามในยุโรปและเอเซีย มีดังนี้

ด้านยุโรป

กลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) สัมพันธมิตร คือ ทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งฝรั่งเศสซึ่งส่งทหารมาด้วย ได้ยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ของฝรั่งเศสอีกทางด้านเมืองตูลองและเมืองคานน์ ภายในสองสัปดาห์สัมพันธมิตรยึดเมืองท่าริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้หมด คือ เมืองนิซ ซึ่งเป็นที่ตากอากาศมีชื่อเสียงของฝั่งมรกต เมืองตูลอง และเมืองมาเซย์

วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) สัมพันธมิตรเข้ากรุงปารีสได้

กลางเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) สัมพันธมิตรส่งทหารพลร่มเข้าฮอลแลนด์ได้

เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) สัมพันธมิตรเข้ายึดกรุงเอเธนส์ นครหลวงของกรีซได้

เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) กองทัพโซเวียตเข้ากรุงเวียนนา นครหลวงของออสเตรียได้ ในเดือนนี้เองมุสโสลินีถูกพวกต่อต้านอิตาเลียนประหารชีวิต และฮิตเล่อร์ทำอัตวินิบาตกรรมในที่หลบภัยกรุงเบอร์ลิน

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ทหารโซเวียตเข้ากรุงเบอร์ลิน และกองทัพเยอรมันที่อยู่ในอิตาลียอมจำนนต่อสัมพันธมิตร

วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) กองทัพเยอรมันยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขต่อสัมพันธมิตรและโซเวียตรัสเซีย

ด้านเอเชีย

ภาคแปซิฟิก

การรบที่เลเต (Leyte)

เมื่อได้เกาะไซปันแล้ว กองทัพอเมริกันภายใต้การนำของนายพลแม็กอาเธอร์ ก็เตรียมการขึ้นเกาะฟิลิปปินส์ ในการนี้จะต้องตีเกาะเลเตก่อน ในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) กองทัพเรืออเมริกันจึงเข้าโจมตีญี่ปุ่นที่เลเต การรบครั้งนี้ญี่ปุ่นพ่ายแพ้อย่างย่อยยับอีก อาจกล่าวว่า กองทัพเรือญี่ปุ่นที่เหลืออยู่จากสงครามแห่งอื่น ๆ ถูกทำลายเกือบทมด ทหารตายร่วมหกหมื่น ทางอเมริกันตายและบาดเจ็บประมาณหนึ่งหมื่น

การรบที่ลูซอน (Luzon)

ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) กองทัพอเมริกันรุกเข้าไปในอ่าวลินกาเยน (Lingayen Gulf) เพื่อโจมตีเกาะลูซอนของฟิลิปปินส์ และได้ลูซอนภายในไม่กี่วัน ในเดือนกุมภาพันธ์ อเมริกันยึดเมืองมนิลา นครหลวงของฟิลิปปินส์ กลับคืนได้จากญี่ปุ่น

การรบที่เกาะอิโวจิมา (Iwo Jima)

ได้กล่าวแล้วว่าการที่อเมริกันที่เกาะไซปัน เกาะตีเนียน และเกาะกวมได้ รวมทั้งหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในตอนหลังนี้ ทำให้ใกล้เกาะซึ่งเป็นที่ตั้งประเทศญี่ปุ่นเข้าไปมาก คืออย่างไกลเพียง ๑,๐๐๐ ไมล์ เกาะเหล่านี้สัมพันธมิตรใช้เป็นประโยชน์สำหรับเสริมกำลังและสร้างสนามบินเพิ่มเติมสำหรับเป็นฐานทัพโจมตีประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งฐานทัพที่อยู่ในเมืองจีน ญี่ปุ่นเองก็กำลังลดลงมาก กองทัพเรือแทบไม่มีป้องกัน เครื่องบินก็หมดไปมาก ประสิทธิภาพของอาวุธของเครื่องบินก็ล้าสมัย เพราะคิดและประดิษฐให้มีกำลังการทำลาย ฯลฯ เพิ่มขึ้นไม่ทันสหรัฐอเมริกา ฉะนั้น ตอนนี้อเมริกาจึงได้เปรียบมาก

การรบที่เกาะอิโวจิมา ญี่ปุ่นก็ต้องพ่ายแพ้อีก อิโวจิมาเป็นเกาะเล็กๆ แต่สำคัญสำหรับสัมพันธมิตร เพราะอยู่ห่างกรุงโตเกียวเพียง ๗๕๐ ไมล์ ถ้าได้เกาะนี้ก็ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเกาะญี่ปุ่นอย่างสะดวก ไปและกลับมีน้ำมันเหลือเฟือ แต่สำหรับญี่ปุ่นก็สำคัญยิ่งเช่นเดียวกัน เป็นเกาะสำคัญสำหรับป้องกันและเป็นหูเป็นตาในกรณีเครื่องบินสัมพันธมิตรจะบินผ่านมาเพื่อโจมตีเกาะญี่ปุ่น กองทัพญี่ปุ่นที่เกาะนี้สามารถบอกให้โตเกียวทราบและป้องกันตัวได้ทันกาล ฉะนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงทุ่มเทกำลัง ฝ่ายหนึ่งที่จะตีเอาให้ได้ และอีกฝ่ายหนึ่งที่จะรักษาไว้ ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจึงเสริมกำลังป้องกัน สร้างป้อมและรังปืนกลหลายพันป้อมทั่วไปบนเกาะ ป้อมและรังปืนกลทำอย่างแข็งแรง ผูกเหล็กลงเฟโรคอนกรีต นอกจากนี้ บนเกาะนี้ยังมีถ้ำใหญ่เล็กมากมายเหมาะสำหรับตั้งรับข้าศึก

วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) เวลาย่ำรุ่ง ขบวนเรือรบกองทัพเรืออเมริกันแล่นเข้าสู่เกาะอิโวจิมา และระดมยิงด้วยปืนใหญ่จากเรือรบ อีกสองชั่วโมงต่อมา พรรคนาวินประมาณสามหมื่นลงเรือลำเลียงขึ้นบนเกาะ แต่ญี่ปุ่นได้ระดมยิงต่อต้านอย่างทรหด โดยที่เรือรบญี่ปุ่นมีเหลือน้อยมาก ญี่ปุ่นจึงใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดพุ่งเข้าทำลายเรือรบอเมริกัน และเรือบรรทุกเครื่องบิน เครื่องบินชนิดนี้ผู้ขับยอมตาย มีชื่อโด่งดังไปทั่วโลกว่า เครื่องบินกามิกาเซ (Kamikazes) ปรากฏว่าได้ผลพอสมควร เรือรบอเมริกันถูกจมโดยเครื่องยินยอมตายนี้ถึง ๓๔ ลำ เสียหาย ๒๘๘ ลำ แต่ญี่ปุ่นเองเสียเครื่องบินประมาณ ๑,๒๒๘ ถึง ๔,๐๐๐ เครื่อง รวมทั้งนักบินด้วย

อย่างไรก็ดี ทหารพรรคนาวินอเมริกันที่บุกขึ้นเกาะยิงบุกเข้าถึงสองวันสองคืนไม่มีหยุดพัก จึงยึดเกาะได้บางส่วน แต่ก็ต้องเสียทหารไปหลายพัน การรุกได้เพียงชั่วโมงละไม่กี่หลา เพราะแทบทุกฝีก้าวติดรังปืนกลญี่ปุ่น กว่าจะกวาดล้างหมดทั้งเกาะและสามารถชักธงอเมริกันได้ทั่วเกาะ ทหารอเมริกันใช้เวลารบทั้งหมดถึง ๒๑ วัน ทหารญี่ปุ่นตาย ๒๑,๐๐๐ ยอมให้จับเป็นเชลยศึกเพียง ๒๐๐ ทหารอเมริกันเองทั้งบาดเจ็บและตายร่วมสองหมื่น

การเสียอิโวจิมาครั้งนี้ ญี่ปุ่นขวัญเสียมาก เพราะเกาะอิโวจิมาเป็นส่วนหนึ่งของเกาะญี่ปุ่น อีกนัยหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนญี่ปุ่นเอง

การรบที่เกาะโอกินาวา (Okinawa)

ญี่ปุ่นคาดถูกว่า กองทัพอเมริกันจะต้องตีเกาะโอกินาวาต่อไป ฉะนั้นหลังจากแพ้อิโวจิมาไม่เกิน ๑๐ วัน กองบัญชาการทัพเรือที่โตเกียว จึงส่งกองทัพเรือซึ่งมีอยู่บางส่วน อาทิ เรือประจัญบาน เรือลาดตระเวน และเรือพิฆาต เพื่อโจมตีกองทัพเรืออเมริกันที่เตรียมจะขึ้นเกาะโอกินาวา แต่ญี่ปุ่นก็แพ้เปรียบอีก เพราะกองทัพเรืออเมริกันแปลประมวลลับได้อีก จึงเตรียมรับที่ทะเลจีนด้านตะวันออก ห่างจากหมู่เกาะกิวชิวของญี่ปุ่นเพียง ๕๐ ไมล์ ญี่ปุ่นเสียเรือรบเกือบหมด

ฉะนั้น การรบที่เกาะโอกินาวา ญี่ปุ่นจึงเสียเปรียบอีก เกาะโอกินาวาอยู่ทางใต้ของหมู่เกาะคิวชิวของญี่ปุ่นเพียง ๓๖๒ ไมล์ และตามกฎหมายแบ่งส่วนราชการภูมิภาคของญี่ปุ่น ถือว่าโอกินาวาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ทำนองเกาะอิโวจิมา เกาะโอกินาวาเป็นเกาะใหญ่มาก ด้านยาว ๆ ถึง ๖๗ ไมล์ ด้านกว้างระหว่าง ๓ ไมล์ ถึง ๒๐ ไมล์ เต็มไปด้วยหุบผาและเหวลึก ญี่ปุ่นสร้างตึกใหญ่ๆ เป็นป้อมปราการ และป้อมเล็ก ๆ ไว้มากมายเช่นเดียวกับเกาะอิโวจิมาและมากมายกว่า ใช้ทหารป้องกันถึง ๗๐,๐๐๐ มีปืนใหญ่ ๕๐๐ กระบอก

เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) กองทัพเรือที่ ๕ ของอเมริกันระดมยิงเกาะนี้และหมู่เกาะริวกิว ในขณะเดียวกัน เครื่องบินป้อมบินจากเกาะอิโวจิมา ซึ่งเพิ่งตีได้ใหม่ๆ ก็บินมาปูพรมทำลายฐานทัพอากาศญี่ปุ่นที่หมู่เกาะกิวชิว ระหว่างนี้อังกฤษส่งกองทัพเรือมาช่วยระดมยิงด้วย ในการนี้สัมพันธมิตรใช้เรือรบทั้งหมดทุกขนาดทุกประเภทถึง ๑,๓๐๐ ลำ และทหาร ๑๐๐,๐๐๐

อีก ๙ วัน คือ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) จึงยกพลขึ้นบก ญี่ปุ่นต่อต้านเต็มที่ รบกันอยู่ถึง ๓ เดือนเต็ม ๆ จึงยึดเกาะได้ ญี่ปุ่นเสียทหาร ๑๐๙,๖๒๙ ถูกจับเป็นเชลย ๗,๘๗๑ ฝ่ายอเมริกันเสียทหาร ๑๒,๕๒๐ บาดเจ็บ ๓๖,๖๓๑

การเสียเกาะโอกินาวาครั้งนี้ นับว่าเป็นการปราชัยอย่างใหญ่หลวงที่สุดของญี่ปุ่น เพราะโอกินาวาเป็นประตูบ้านของญี่ปุ่น ห่างจากเกาะญี่ปุ่นด้านใต้จริง ๆ เพียง ๕๐ กว่าไมล์ กองทัพเรือและกองทัพอากาศญี่ปุ่นเกือบจะหมดฤทธิ์แล้ว แต่กองทัพบกยังมีกำลังอยู่ แม้กระนั้นก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะต้องกระจายกำลังไปยึดอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ที่ตีไว้ได้ รวมทั้งในประเทศต่าง ๆ ที่เข้ายึดครอง เช่น จีน พม่า ดัทชอีสตอินดีส (อินโดนีเซีย) มลายู และไทย เป็นต้น การที่อเมริกันยึดโอกินาวาได้ เป็นการตัดเส้นทางคมนาคมของญี่ปุ่นทางทะเลกับดินแดนต่าง ๆ ที่ตนยึดไว้ทางภาคใต้ และกองทัพอเมริกันได้เริ่มใช้เกาะโอกินาวาเป็นฐานทัพสำคัญ สำหรับยกพลขึ้นเกาะญี่ปุ่นต่อไป ซึ่งกำหนดไว้เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) คือ อีก ๖ เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี ระหว่างนี้ คือภายหลังที่ได้โอกินาวาไม่กี่วัน เครื่องบินอเมริกันก็เริ่มทิ้งระเบิดโจมตีเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่นแทบทุกวัน คือ ระหว่างพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ถึงกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕)

ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงการรบทางด้านพม่าใกล้บ้านเราสักเล็กน้อย เป็นที่ทราบกันแล้วว่า การรบของสัมพันธมิตรทางด้านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คือในดินแดนประเทศพม่า มลายู ไทยและอินโดจีน อยู่ในหน้าที่ปฏิบัติการของกองทัพอังกฤษ ภายใต้บัญชาการของพลเรือเอกลอร์ดหลุย เมานต์แบตเตน๒๐ ทางกองทัพอังกฤษเตรียมการรุกใหญ่ด้านประเทศไทย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงคือ เมษายน ที่อเมริกาได้เกาะโอกินาวานี้ อังกฤษจึงยังอยู่ในระหว่างเตรียมการ

แต่ข่าวที่สั่นสะเทือนโลกมากที่สุดก็คือ ในวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) รัฐบาลอเมริกันประกาศว่า ได้ทิ้งลูกระเบิดปรมาณูลงในเมืองฮิโรชิมา ลูกระเบิดลูกเดียวนี้มีกำลังทำลายถึง ๒๐,๐๐๐ ตัน T.N.T. เมืองฮิโรชิมาถูกทำลาย ๖๐ เปอร์เซนต์ ในเนื้อที่ ๔ ๑/๑๐ ตารางไมล์ คนตาย ๗๘,๐๐๐ บาดเจ็บ ๓๗,๐๐๐ หาย ไป ๑๐,๐๐๐ ผืนละอองปรมาณูกระจายทั่วไป ผู้ที่อยู่ห่างไกลก็พลอยรับภัยจากพิษลูกระเบิดด้วย เพราะฝนและอากาศเข้าไปทางลมหายใจและผิวหนัง

แม้โดนลูกระเบิดร้ายแรงเช่นนี้ก็ดี ญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมจำนน เพราะฝ่ายทหารเห็นว่า ยังคงสู้ต่อไปได้ แต่ไม่สำเร็จ๒๑ ต่อมาในวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งลูกระเบิดปรมาณูลูกที่สองอีกที่เมืองนางาซากิ

ในการทิ้งลูกระเบิดปรมาณสองครั้งนี้ ทางอเมริกาให้เหตุผลว่า ต้องการให้สงครามเสร็จสิ้นโดยเร็ว จริงอยู่ ผลคือราษฎรญี่ปุ่นต้องตายมาก แต่ในทางไกล ทั้งอเมริกาและญี่ปุ่นจะรอดตายมากกว่าโดยยุติสงคราม อย่างน้อยถ้าใช้อาวุธธรรมดา ญี่ปุ่นก็คงจะสู้เรื่อยไป จนอเมริกาขึ้นเกาะญี่ปุ่นได้และรบกันทุกเมือง กว่าจะยึดได้ทั่วประเทศก็อีกหลายเดือน ทหารอเมริกันจะต้องล้มตายอีกอย่างน้อย ๕๐๐,๐๐๐

ต่อมาในวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ญี่ปุ่นยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข

อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าขอกล่าวอีกว่า โชคดีของเมืองไทย พระสยามเทวาธิราชคุ้มครอง มิฉะนั้นก็คงจะเกิดนองเลือดในประเทศ กล่าวคือ รัฐบาลญี่ปุ่นส่งผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่น ชื่อนายพลนากามูรา มาประจำในประเทศไทย ท่านผู้นี้นับถือพระพุทธศาสนาเคร่งครัด เป็นทั้งทหาร และรัฐบุรุษ มองเห็นการณ์ไกล จึงสามารถระงับการรบพุ่งระหว่างไทยเรากับทหารญี่ปุ่นไว้ได้

ในวันที่ญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนนั้น นายทหารคนสนิทคนหนึ่งของนายพลนากามูรา ซึ่งเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่นบุตรชายข้าพเจ้า ได้มาหาข้าพเจ้าและมอบดาบประจำตัวของเขาให้ข้าพเจ้า ๆ ได้ถามว่า เอามาให้ทำไม เขาตอบว่ามอบให้ข้าพเจ้า ดีกว่าที่จะมอบให้ต่างประเทศชาติอื่น เพื่อเป็นการขอบคุณในท่าทีของท่านนายพลนากามูรา ข้าพเจ้าได้ให้บุตรชายของข้าพเจ้านิมนต์พระพุทธรูปสมัยอยุธยาองค์หนึ่งไปมอบให้นายพลนากามูรา เพื่อให้เขานำไปบูชา ต่อมาพบกันครั้งใด นายพลนากามูราแจ้งว่า ยังรักษาเคารพบูชาอยู่ทุกวัน

  1. ๑. เรื่องการดำเนินงานต่อต้านญี่ปุ่นครั้งนี้มีผู้เขียนไว้ เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้คือหนังสือ “งานใต้ดิน” และ “ชีวิตนายพล” ของพลเอกเนตร เขมะโยธิน หนังสือ “Into Siam-the Underground Kingdom” ของ Nicol Smith และ Blake Clarke ซึ่งแปลโดยนายเอก วีสกุล หนังสือ Some Aspects of Siamese Politics ของ John Coast ปาฐกถาเรื่องการปฏิบัติงานของเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา ของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ในหนังสืองานใต้ดินของ พลเอก เนตร เขมะโยธิน หน้า ๗๕๓-๘๐๖ และปาฐกถาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และภาคผนวก “ทหารชั่วคราว” ของ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในหนังสือเล่มเดียวกัน หน้า ๘๔๕-๘๙๗ กับบทความของนายทวี บุณยเกต ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และพระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม) ท้ายบทนี้

  2. ๒. สถิติพลเมืองประเทศไทยในขณะนั้น คือ ๑๙ ปีมานี้ ประมาณ ๑๗ ล้าน

  3. ๓. จากหนังสือ “งานใต้ดิน” ของพลเอก เนตร เขมะโยธิน หน้า ๗๔๔-๗๔๙

  4. ๔. ดูบทความของนายทวี บุณยเกต ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ พระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม) ท้ายบทนี้

  5. ๕. เรื่องการปฏิบัติของคนไทยครั้งนี้ มีผลโยงไปถึงการเจรจาภายหลังสงคราม โปรดดูภาคสาม บทที่ ๑, ๒ และ ๓.

  6. ๖. รายงานคณะกรรมาธิการมีในภาคผนวก กรรมาธิการชุดนี้มี พระยาเทพวิทูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและประธานศาลฎีกา เป็นประธาน พระยานลราชสวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและกรรมการศาลฎีกา พระยาวิกรมรัตนสุภาษ ประธานศาลฎีกา พระยานิติศาสตร์ไพศาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายพิชาญ บุญยง ที่ปรึกษาการร่างกฎหมาย

  7. ๗. หนังสือ “งานใต้ดิน” ของพลเอกเนตร เขมะโยธิน บทที่ ๔๒

  8. ๘. ขณะนั้นยังไม่ได้ปริญญาเอก

  9. ๙. ปัจจุบันเป็นพลเอก

  10. ๑๐. ปัจจุบัน เอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์

  11. ๑๑. ปัจจุบัน ชื่อ พัฒนพงษ์ รินทกุล เป็นผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทสยามซีเมนต์

  12. ๑๒. ปัจจุบันเป็นข้าราชการชั้นพิเศษ กรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเศรษฐการ

  13. ๑๓. นายเดนนิ่ง (Dening) ต่อมาเป็นรองปลัดกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ สมัยข้าพเจ้าออกไปเป็นทูตที่ลอนดอน ภายหลังได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเซอร์ และเป็นเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงโตเกียว ปัจจุบันนอกราชการ นายเดนนิงผู้นี้ ตอนข้าพเจ้าไปรับราชการที่ลอนดอนเป็นผู้เจรจาฝ่ายอังกฤษ เรื่องราคาข้าว และการเลิกสัญญาสมบูรณ์แบบกับข้าพเจ้า ได้ให้ความร่วมมือกับข้าพเจ้าเป็นอย่างดี ดังจะได้กล่าวต่อไปในภาคที่สาม

  14. ๑๔. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

  15. ๑๕. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

  16. ๑๖. รายงานการประชุมสภา ฯ ครั้งที่ ๒๙/๒๔๘๘ (สามัญ) สมัยที่ ๒ ชุดที่ ๓ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เวลา ๑๕.๓๒ น

  17. ๑๗. รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ

  18. ๑๘. รายงานการประชุมสภาฯ ครั้งที่ ๒๙/๒๔๘๘ (สามัญ) สมัยที่ ๒ ชุดที่ ๓ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เวลา ๑๕.๕๐ น.

  19. ๑๙. ก่อนสงครามเป็นทนายความอยู่ในกรุงเทพฯ รู้ภาษาไทยดี เป็นมิตรของไทยผู้หนึ่ง ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว

  20. ๒๐. ปัจจุบันเป็นจอมพลเรือ เอิร์ล ออฟ เบอร์ม่า นอกราชการแล้ว

  21. ๒๑. ดู “Japan and her Destiny” ของ Mamoru Shigemitsu อดีตรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศญี่ปุ่นระหว่างสงคราม และภายหลังสงคราม หน้า ๓๖๔ - ๓๖๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ