กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่าง ประเทศไทย กับ สหราชอาณาจักร แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ

สมเด็จพระราชาธิบดี พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย และสมเด็จพระราชาธิบดี พระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ ไอร์แลนด์ และอาณาจักรบริติชอันพ้นทะเลทั้งหลาย พระจักรพรรดิแห่งอินเดีย (ต่อไปจะได้อ้างถึงพระองค์ว่า สมเด็จพระราชาธิบดี พระมหากษัตริย์ และพระจักรพรรดิ) มีพระราชประสงค์ที่จะจัดประกันสันติภาพ และทรงตระหนักว่า เป็นอันชอบด้วยประโยชน์แห่งอัครภาคีผู้ทำสัญญาทั้งสองฝ่ายที่จะยังความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองให้ดีขึ้น และเจริญขึ้น

ทรงคำนึงถึงข้อมั่นสัญญาระหว่างประเทศที่ได้ทรงรับรองไว้แต่ก่อน ซึ่งทรงแถลงว่า ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันในทางสันติภาพ และไม่ขัดกับสนธิสัญญานี้

มีพระราชประสงค์ที่จะยืนยัน และเท่าที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน จะปฏิบัติให้เป็นผลตามกติกาสัญญาทั่วไปเพื่อสละสงครามฉบับวันที่ ๒๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๘

จึงได้ทรงตกลงทำสนธิสัญญาเพื่อการนี้ และได้ทรงตั้งผู้มีอำนาจเต็ม คือ

ฝ่ายสมเด็จพระราชาธิบดี พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย

นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพระองค์

ฝ่ายสมเด็จพระราชาธิบดี พระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ ไอร์แลนด์ และอาณาจักรบริติชอันพ้นทะเลทั้งหลาย พระจักรพรรดิแห่งอินเดีย

สำหรับสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือ

เซอร์ โจไซอาห์ ครอสบี เค.บี.อี., ซี.ไอ.อี., อัครราชทูตของพระองค์ ณ กรุงเทพฯ

ผู้ซึ่ง เมื่อได้ส่งหนังสือมอบอำนาจเต็มให้แก่กันและกัน และได้ตรวจเห็นว่า เป็นไปตามแบบที่ดีและถูกต้องแล้ว ได้ทำความตกลงกันดังต่อไปนี้

ข้อ ๑.

อัครภาคีผู้ทำสัญญาแต่ละฝ่ายรับรองว่า จะไม่หันเข้ากระทำสงครามหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการใช้กำลังหรือรุกรานต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีใด ๆ เลย ไม่ว่าโดยลำพัง หรือโดยร่วมกับอานุภาพ ภายนอกประเทศหนึ่งหรือมากกว่าประเทศหนึ่งก็ตาม และจะเคารพต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขตของอัครภาคีผู้ทำสัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง

ข้อ ๒.

ถ้าอัครภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกอานุภาพภายนอกประเทศหนึ่งหรือมากกว่าประเทศหนึ่ง กระทำการอันเป็นการสงครามหรือรุกราน อัครภาคีผู้ทำสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งรับรองว่าจะไม่ให้ความช่วยหรือความช่วยเหลือทางตรงหรือทางอ้อมแก่ผู้รุกราน จะเป็นประเทศเดียวหรือหลายประเทศก็ตาม ตลอดเวลาที่ใช้สนธิสัญญานี้

ถ้าอัครภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กระทำการอันเป็นการสงครามหรือรุกราน ต่ออานุภาพภายนอกอัครภาคี ผู้ทำสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้มีสิทธิที่จะบอกเลิกสนธิสัญญานี้ทันที โดยไม่ต้องบอกล่วงหน้า

ข้อ ๓.

ข้อมั่นสัญญาที่ระบุไว้ในข้อ ๑ และข้อ ๒ นั้น จะไม่จำกัดหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิทธิและข้อผูกพัน ซึ่งอัครภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอยู่ เนื่องจากความตกลงซึ่งได้ทำไว้ก่อนเริ่มใช้สนธิสัญญานี้แต่อย่างใด และอัครภาคีผู้ทำสัญญาแต่ละฝ่ายแถลงไว้ ในที่นี้ว่าไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งความตกลงใด ๆ ซึ่งมีผลผูกพันให้เข้ามีส่วนในการกระทำอันเป็นการสงครามหรือรุกราน ซึ่งอานุภาพภายนอกเป็นผู้กระทำต่อภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง

ข้อ ๔.

บทสนธิสัญญานี้ ไม่ให้ถือว่ากระทบต่อสิทธิและข้อผูกพัน ซึ่งอัครภาคีผู้ทำสัญญามีอยู่ตามกติกาแห่งสันนิบาตชาติแต่อย่างใด

ข้อ ๕. อัครภาคีผู้ทำสัญญาแต่ละฝ่ายรับรองว่า จะเคารพต่ออธิปไตย หรืออาณา ซึ่งอัครภาคีผู้ทำสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีอยู่เหนืออาณาเขตของฝ่ายนั้นทุกประการ และจะไม่แทรกแซงในการภายในแห่งอาณาเขตนั้น ๆ แต่อย่างใด และจะเว้นกระทำการใด ๆ อันคำนวณที่จะก่อให้เกิด หรือช่วยการปลุกปั่น การเผยแพร่หรือการพยายามแทรกแซงใด ๆ ซึ่งปองร้ายต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขตใดๆ ดังกล่าวแล้ว หรือมีความมุ่งหมายที่จะทำการเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองแห่งอาณาเขตใด ๆ เช่นว่านั้นโดยใช้กำลังบังคับ

ข้อ ๖.

สนธิสัญญานี้ ซึ่งตัวบทภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นอันสมบูรณ์เท่าเทียมกันนั้น จะได้รับสัตยาบัน และจะได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ณ กรุงเทพฯ โดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ สนธิสัญญานี้ให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบันเป็นต้นไป และให้คงใช้อยู่เป็นกำหนดเวลาหนึ่งปี นับแต่วันที่อัครภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แจ้งเจตนาต่อภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ในอันจะเลิกสนธิสัญญา การแจ้งความที่ว่านี้ไม่ให้กระทำในกรณีใด ๆ ก่อนสิ้นกำหนดห้าปี หลังจากวันที่เริ่มใช้สนธิสัญญานี้

เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้มีอำนาจเต็มดังกล่าวนามมาแล้วข้างต้น ได้ลงนามและประทับตราสนธิสัญญานี้ไว้เป็นสำคัญ

ทำคู่กันเป็นสองฉบับ ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่สิบสองเดือนที่สาม พุทธศักราชสองพันสี่ร้อยแปดสิบสาม ตรงกับวันที่สิบสองเดือนมิถุนายน คริตสศักราชพันเก้าร้อยสี่สิบ

(ลงนามและประทับตรา) พิบูลสงคราม

(ลงนามและประทับตรา) J. Crosby

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ