- พระพุทธภาษิต
- ผู้เขียนขออุทิศ...
- คำนำในการพิมพ์ครั้งที่สอง
- คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ภาคหนึ่ง เริ่มสงครามด้านยุโรป ถึงเริ่มสงครามด้านเอเซีย
- ภาคสอง ระหว่างสงคราม
- บทที่ ๑ ไปญี่ปุ่น
- บทที่ ๒ สถานการณ์ทั่ว ๆ ไปของญี่ปุ่นก่อนเกิดสงคราม
- บทที่ ๓ ในญี่ปุ่นระหว่าง มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖
- บทที่ ๔ กลับเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ
- บทที่ ๕ เหตุการณ์ระหว่าง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ถึง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
- ข้อเขียนของนายทวี บุณยเกตุ
- ข้อเขียนของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์
- ข้อเขียนของพระพิศาลสุขุมวิท
- รายชื่อนักเรียนไทยในอเมริกาซึ่งได้สมัครเข้าร่วมงานต่อต้านญี่ปุ่น (คณะเสรีไทยในอเมริกา)
- ภาคสาม หลังสงคราม
- ภาคผนวก
- ๑. สัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศส
- ๒. สัญญาไม่รุกรานกับอังกฤษ
- ๓. สัญญาไม่รุกรานกับญี่ปุ่น
- ๔. อนุสัญญาสันติภาพกับฝรั่งเศส
- ๕. ความตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษ
- ๖. หนังสือแลกเปลี่ยนและหัวข้อความตกลงกับภาคผนวก
- ๗. สนธิสัญญาทางไมตรีกับจีน
- ๘. ความตกลงสันติภาพฉบับที่สุด ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
- ๙. ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
- ๑๐. คำแปลรายงานของคณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย
- ๑๑. รายงาน ความเห็นคณะกรรมาธิการวิสามัญสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติ ซึ่งคณะเสรีไทยได้ใช้จ่าย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
บทที่ ๘ การทูตไทยกับอังกฤษตามความตกลงสมบูรณ์แบบ
ในบทที่ ๒ แห่งภาคสอง ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงลักษณะทั่ว ๆ ไป ตลอดจนสถานการณ์ของประเทศญี่ปุ่นเมื่อก่อนเกิดสงครามว่า ระบอบ การปกครองของญี่ปุ่นวิวัฒนาการมาอย่างไร สำหรับอังกฤษนี้ ข้าพเจ้าเคยเขียนไว้ในคำสอนที่มหาวิทยาลัยแล้วเป็นส่วนมาก เช่น ประวัติศาสตร์การปกครองของอังกฤษ และรัฐธรรมนูญบริติช เป็นต้น ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวในที่นี้อีก แต่เพื่อเป็นการประดับความรู้ จะได้กล่าวถึงอิทธิพลต่างๆ ซึ่งมีส่วนในการสร้างนโยบายต่างประเทศของอังกฤษ ข้าพเจ้าใช้คำว่า “อังกฤษ” ก็เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ที่ถูกต้องคือ “บริติช” ซึ่งหมายความถึงชาวอังกฤษ (English) ชาวเวลช (Welsh) และชาวสก็อต (Scot)
ก) องค์การรัฐบาล
๑. คณะรัฐมนตรี
๒. ราชการฝ่ายประจำกระทรวงการต่างประเทศ
๓. รัฐสภา
ข) องค์การซึ่งไม่ใช่รัฐบาล
๑. พรรคการเมือง
๒. พวกมีส่วนได้เสีย
ค) สาธารณมติ
ก) องค์การรัฐบาล
๑. คณะรัฐมนตรี
แน่นอน องค์การที่รับผิดชอบในการวาง และดำเนินนโยบายต่างประเทศของอังกฤษ คือ คณะรัฐมนตรีหรือที่เรียกกันว่า The cabinet แต่ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ไม่ปลดเปลื้อง ให้รัฐมนตรีอื่น และนายกรัฐมนตรี พ้นความรับผิดชอบด้วย อีกนัยหนึ่ง คณะรัฐมนตรีทั้งคณะร่วมกันรับผิดชอบ อย่างไรก็ดี ตามประวัติทางการเมืองของอังกฤษ มีคณะรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีแข็ง ก็เอาอำนาจการวางนโยบายต่างประเทศมาไว้ในมือ ถ้านายกรัฐมนตรีสนใจเรื่องอื่นมากกว่า และเชื่อรัฐมนตรีต่างประเทศ ก็มักปล่อยให้รัฐมนตรีต่างประเทศดำเนินนโยบายโดยลำพัง
ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่า ข้าราชการฝ่ายการทูตและฝ่ายประจำในกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ มีอิทธิพล ในการที่รัฐบาลจะวางนโยบายต่างประเทศ ไม่น้อย
๒. ราชการฝ่ายประจำของกระทรวงการต่างประเทศ
สำหรับอังกฤษ ข้าราชการฝ่ายประจำของกระทรวงการต่างประเทศ คือ ทูตและข้าราชการประจำในกระทรวงการต่างประเทศ มีส่วนสำคัญยิ่ง ในการแนะนำนโยบายแก่รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคคอนเซอร์เวทีฟ หรือรัฐบาลพรรคกรรมกร อาจกล่าวได้ว่า ราชการประจำของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเครื่องมือของรัฐบาลแต่ไม่มีหน้าที่วางนโยบาย อย่างไรก็ดี ราชการประจำก็ยังเป็นผู้เสนอข้อเท็จจริงทั้งหมด ให้รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศทราบ และเสนอว่าควรจะเป็นนโยบายในกรณีเช่นนั้นอย่างไร รัฐมนตรีมีสิทธิเต็มที่จะฟังและเชื่อหรือไม่ ย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของตนเอง
๓. รัฐสภา
ตามรัฐธรรมนูญอังกฤษ โดยปรกติพรรคที่มีสมาชิกในสภาสามัญมากที่สุด ย่อมเป็นพรรคที่ได้รับจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้น เว้นแต่ในกรณีสงคราม หรือมีพรรคอื่นซึ่งมีสมาชิกในสภาสามัญมากไล่เลี่ยกัน ในกรณีเช่นนี้อาทั้งรัฐบาลผสมขึ้น ประกอบด้วยสมาชิกพรรคต่างๆ ฉะนั้น รัฐบาลที่มีสมาชิกเป็นฝ่ายข้างมาก จึงชนะเสมอในการลงมติ แม้บางคราวจะมีสมาชิกในพรรคซึ่งสนับสนุนรัฐบาล ออกเสียงค้าน รัฐบาลก็ตาม ซึ่งในกรณีเช่นนั้น มักจะถูกตำหนิหรือลงโทษ เช่น ถูกขับออกจากพรรค แล้วแต่ความหนักเบาของปัญหา อย่างไรก็ดี ในสภาสามัญ มักจะมีการอภิปรายในปัญหานโยบายต่างประเทศทุกๆ เดือน ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้เสนอก่อน หรือบางคราวฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอ โดยปรกติ ให้มีการอภิปรายเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งในการอภิปราย ก็พอทราบได้ว่า สภามีนโยบายอย่างใกในการต่างประเทศ
ข) องค์การซึ่งไม่ใช่รัฐบาล
๑. พรรคการเมือง
ในอังกฤษ มีพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดสองพรรค คือ พรรคคอนเซอร์เวทีฟ (Conservative) หรือพรรค “ธำรงรักษา” ซึ่งเอียงไปทางขวา และพรรคกรรมกร (Labour) ซึ่งเอียงไปทางซ้าย พรรคคอนเซอร์เวตีฟ กล่าวว่านโยบายของพรรคกรรมกรซ้ายมาก จนกล่าวได้ว่าเป็นสังคมนิยม (Socialist) พรรคกรรมกรก็กล่าวหาว่า พรรคคอนเซอร์เวตฟยึดนโยบายสนับสนุนสถานภาพเดิม (status Quo) และจักรวรรดินิยม อย่างไรก็ดี ในนโยบายต่างประเทศ ทั้งสองพรรคมักมีความเห็นตรงกัน
๒. พวกมีส่วนได้เสีย
พวกที่มีประโยชน์ส่วนได้เสีย ก็มีอิทธิพลในนโยบายการต่างประเทศไม่น้อย เช่น พวกนายธนาคาร พวกนายทุน และบริษัทการค้าใหญ่ ๆ ในอังกฤษมีธนาคารใหญ่ที่สุดห้าธนาคาร เรียกกันว่า “ธนาคารใหญ่ทั้ง ๕” (The Big Five) คือ ธนาคารบาเคลย์ส (Barclays) ธนาคารมิดแลนด์ (Midland) ธนาคารลอยด์ส (Lloyds) ธนาคารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster) และธนาคารแนชันแนล โปรวินเชียล (National Provincial) นอกจากนี้ ก็มีธนาคารเล็ก ๆ อีกมากมาย ประสิทธิภาพของธนาคารเหล่านี้เป็นหนึ่ง ไม่เป็นรองธนาคารประเทศอื่น กฎหมายควบคุมก็รัดกุม ไม่มีทางให้ธนาคารหลีกเลี่ยง หรือทำการหละหลวมให้ประชาชนต้องเสียหายได้ พวกเหล่านี้ รัฐบาลมักฟังความคิดเห็น เฉพาะอย่างยิ่ง ในนโยบายด้านการเงิน ทั้งภายในและภายนอกกับต่างประเทศ และการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ก็มีพวกสหภาพแรงงาน (Trade Union) พวกสมาคมอุตสาหกรรมต่างๆ พวกเหล่านี้ก็มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลมากเช่นเดียวกัน เฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับรัฐบาลพรรคกรรมกร
๓. สื่อมวลชน
สื่อมวลชน ซึ่งมีอิทธิพลสำคัญในนโยบายต่างประเทศของอังกฤษ คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และองค์การโทรทัศน์
หนังสือพิมพ์ในอังกฤษมีอิทธิพลสำคัญมากในวิถีชีวิตการเมืองของประเทศ จากหนังสือพิมพ์ ราษฎรจะทราบการอภิปรายในรัฐสภา (สภาสามัญและสภาขุนนาง) ข่าวจากคณะรัฐมนตรีและองค์การอื่นๆ ของรัฐบาล ปัญหาทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญของบ้านเมือง หนังสือพิมพ์จะนำมาลง โดยลงทั้งความเห็นของรัฐบาล ความเห็นของฝ่ายค้าน และข้อวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์เอง เฉพาะอย่างยิ่งโดยบทนำ (editorial) ของบรรณาธิการ ไม่มีปัญหา เมื่อราษฎรอ่าน ย่อมมีความคิดความเห็นและวินิจฉัยไป สุดแต่บทนำเหล่านั้นจะหนักแน่นและจูงใจตนเพียงใด
องค์การกระจายเสียง บี.บี.ซี. ก็มีอิทธิพลสำคัญเช่นเดียวกัน แต่ระมัดระวังมากในการกระจายข่าว คือ กระจายตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ แต่บางคราวรัฐบาลก็ใช้เป็นสื่ออธิบายนโยบายต่างประเทศ ในเรื่องสำคัญๆ แต่ในกรณีการเลือกตั้ง รัฐบาลมักจะตกลงกับฝ่ายค้าน กำหนดเวลา ซึ่งต่างฝ่ายจะมาพูด เพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกัน
๔. สาธารณมติทั่ว ๆ ไป
สาธารณมติในเรื่องใด ๆ ก็ตาม มักมีอิทธิพลเหนือรัฐบาล เช่น ในกรณีอังกฤษร่วมกับฝรั่งเศสทิ้งระเบิดอียิปต์ เกี่ยวกับอียิปต์ ประกาศโอนกรรมสิทธิบริษัทคลองสุเอซเป็นของรัฐบาล สาธารณมติในอังกฤษทั่วไปไม่เห็นด้วย ในที่สุดรัฐบาลต้องเป็นนโยบายผ่อนปรน และยอมให้สหประชาชาติพิจารณาเรื่องนี้
ก่อนออกเดินทาง พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งกับข้าพเจ้าว่า นโยบายสำคัญเท่าที่เกี่ยวกับอังกฤษ ก็คือ เจรจายกเลิกความตกลงสมบูรณ์แบบให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้ความสัมพันธ์กับอังกฤษสู่สภาพปกติเหมือนก่อนสงคราม เพราะจะเป็นทางให้เราฟื้นตัวได้เร็วที่สุด โดยหมดกังวลว่ามีภาระจะต้องปฏิบัติพันธกรณีให้อังกฤษไม่มีที่สิ้นสุด รัฐบาลกำลังร่างบันทึกขอเลิกความตกลงสมบูรณ์แบบ เพื่อมอบให้แก่เอกอัครราชทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ โดยมีเหตุผลสั้น ๆ เมื่อยื่นแล้วจะได้ส่งนายวิลเลียม ดอลล์ ที่ปรึกษาราชการคลังของรัฐบาลเรา ออกไปช่วยในด้านเทคนิค ส่วนในเหตุผลทางการเมืองว่า ควรเลิกอย่างไร โดยที่ข้าพเจ้าทราบเรื่องดีอยู่แล้ว จึงมอบให้ข้าพเจ้าใช้ดุลพินิจได้เต็มที่ ในการเจรจาเรื่องอื่นทั่ว ๆ ไป ให้ข้าพเจ้าใช้ดุลพินิจได้ว่า ถ้าประเทศชาติไม่เสียประโยชน์อันใด ให้ข้าพเจ้ามีอำนาจเจรจาต่อรองได้ทันที (bargain) นอกจากนี้ โดยที่ปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐ ค.ศ. ๑๙๔๗) เป็นปีแรกของไทย ที่เข้าประชุมสหประชาชาติในฐานเป็นสมาชิก จึงจะขอให้ข้าพเจ้าไปร่วมด้วย
ข้าพเจ้าไปถึงอังกฤษ ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) และได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์ต่อพระเจ้าจ๊อชที่หก
SIAM AND GREAT BRITAIN
On Wednesday last, the Siamese Embassy published the following Statement to the Press :-
To-day at 11.30 a.m. the Siamese Ambassador was received by H.M. King George VI for the presentation of his credentials.
On this auspicious day the Siamese Ambassador took the opportunity to express to the British publio his profound appreciation of the initiative taken by the British Government, which resulted in the elevation of diplomatio missions of both countries to that of Embassies. He believed that this was the clear indication of importance, which the British Government attaches to the role which his country is occupying at the present moment, at a time when great changes are taking place in Asia and elsewhere.
Siam has long been bound by olose and cordial ties of friendship with Great Britain, and the Government and the people of Siam are ever mindful of all the co-operation and assistance extended by Great Britain to their country. It can be said that during the last twelve months or more, since the re-establishment of Anglo-Siamese relations, the two Governments have worked together in the best atmosphere and with considerable achievement, for the solution of various outstanding problems of mutual interest and concern. Nor shall Siam ever forget the unstinted aid given by Great Britain to the Siamese resistance movement or the generous consideration that she has shown to Siam in the resumption of friendly relations with her.
British assistance is not lacking in the present task of rehabilitation of the economy of Siam. The wise counsel of British advisers and experts, and the commercial activities of British businessmen and other forms of co-operation, have greatly contributed to the modern progress of Siam.
With grateful appreciation for this manifold and generous assistance, the Government and people of Siam are firmly determined to render closer, not only tho ties of friendship, but also the economic and cultural relations between the two countries. It is to the achievement of this purpose that the Ambassador will devote himself wholeheartedly as the first Siamese Ambassador to the Court of St. James.
ต่อจากนั้น ในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมคำนับ นายเบวิน
รัฐบาลพรรคกรรมกร
ระหว่างข้าพเจ้ารับราชการในอังกฤษนี้ รัฐบาลซึ่งบริหารบ้านเมืองเป็นพรรคกรรมกร เมื่อเยอรมันนียอมแพ้ใหม่ ๆ รัฐบาลในขณะนั้นเป็นรัฐบาลผสมประกอบด้วยพรรคคอนเซอร์เวทีฟเป็นส่วนมาก และก็มีพรรคกรรมกรและพรรคลิเบอรัลสมทบด้วย ในขณะนั้น นายวินสตัน เชอร์ชิลล์
ผลของการเลือกตั้ง เป็นที่ประหลาดใจแก่ประชาชนทั่วโลก เพราะคนส่วนมากคิดว่าทำอย่างไรเสีย พรรคนายเชอร์ชิลล์ก็คงชนะอีก เพราะนำประเทศรอดภัยมาได้ แต่พรรคกรรมกรกลับชนะมากมาย ในจำนวนที่นั่งในสภาสามัญขณะนั้น ๖๔๐ ที่นั่ง พรรคกรรมกร ได้ถึง ๓๙๓ ที่นั่ง พรรคคอนเซอร์เวทีฟได้เพียง ๑๘๙ ที่นั่ง พรรคลิเบอรัลได้ ๑๒ ที่นั่ง พรรคคอมมิวนิสต์ได้ ๒ ที่นั่ง พรรคกรรมกรจึงได้รับจัดตั้งรัฐบาล และประกาศแถลงว่า รัฐบาลเป็นรัฐบาลพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (democratic Socialism) ข้อมุ่งประสงค์ในทางสังคมของพรรคก็เพื่อโอนอุตสาหกรรมหลักมูลของรัฐ (basic industry of state) มาเป็นของสาธารณะและวิสาหกิจในทางเศรษฐกิจอื่นใดซึ่งเห็นชัดๆ ว่าเป็นการผูกขาด เช่นพลังงาน การทำถ่านหิน การไฟฟ้า อุตสาหกรรมเหล็ก บริการขนส่งสำคัญ ๆ (รถไฟ) และการคมนาคม การผูกขาดไฟ แก๊ส น้ำประปา ซึ่งคำนวณแล้ว ๒๐ เปอร์เซนต์ของวิสาหกิจทั้งหมด จะต้องโอนมาเป็นของสาธารณะ (public ownership) และจัดการโดยรัฐบาล ส่วนวิสาหกิจอีก ๘๐ เปอร์เซนต์นั้น รัฐบาลจะให้เอกชนดำเนินงานต่อไป แต่รัฐบาลจะต้องควบคุมบางประการ เพื่อให้ประสานกับการวางแผนเศรษฐกิจของประเทศ อีกนัยหนึ่งการธุรกิจเอกชน รัฐบาลจะควบคุมบางประการ เกี่ยวกับการลงทุน ท้องที่ที่จะทำการอุตสาหกรรมนั้น ๆ การจัดสรรตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยการควบคุมการค้าและการคลัง รัฐบาลจะได้วางแผนชีวิตเศรษฐกิจ โดยเอาวิสาหกิจของเอกชนหลายพันรายมาร่วมตามโครงการ ตามนโยบายของพรรค การวางแผนเศรษฐกิจและการควบคุมดังกล่าว จะต้องทำโดยรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลโดยประชาชนเลือก อนึ่ง ในการดำเนินการตามนโยบาชของพรรคนี้ จะต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหลักมูลของราษฎร (basic civil liberties) จะคุ้มครองอิสรภาพในการอภิปราย สิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ฉะนั้น พรรคกรรมกรจึงต่อต้านนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ แม้นโยบายของคอมมิวนิสต์ในเรื่องเศรษฐกิจและสังคมบางประการ จะคล้ายกับของพรรคกรรมกร ปรัชญาของพรรคกรรมกรนั้น คัดค้านการปกครองโดยเผด็จการเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นโดยหมู่คณะ หรือการใช้มาตรการแบบรัฐตำรวจก็ตาม ยิ่งกว่านี้ พรรคนี้ยังไม่เห็นด้วยกับพวกคอมมิวนิสต์ที่ว่า รัฐจะต้องวางแผนโดยละเอียดเกี่ยวกับการผลิต และการจำหน่ายจ่ายแจก พรรคกรรมกรไม่มีความประสงค์จะบังคับให้ทุกคนต้องทำงานตามที่รัฐบาลเห็นเหมาะสม หรือจะต้องคอยหาเครื่องใช้ไม้สอยให้ราษฎรตามที่เขาต้องการ เพราะวิธีนี้เป็นวิธีของการเอาคนลงเป็นทาส แต่ถ้าให้ความคุ้มครองให้ถูกต้อง ประชาชนส่วนมากก็คงประสงค์จะขายแรงงานของตนและซื้อของใช้ในตลาดเสรี สิ่งที่สังคมประชาธิปไตยหมายมั่นจะให้บรรลุก็คือ เสรีภาพของตลาดต้องเป็นอิสรเสรีจริง ๆ ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต้องโดยรัฐเข้าแทรกแซงช่วยเหลือด้วย รัฐบาลมีนโยบาย ซึ่งก็สำคัญเช่นเดียวกันกับในเรื่องเศรษฐกิจ คือ เรื่องความสุขของสังคม รัฐบาลเชื่อว่า รัฐมีความรับผิดชอบที่จะประกันมาตรฐานการครองชีพของราษฎรให้มีความสุขตลอดไป โดยที่พวกคนงานซึ่งเป็นลูกจ้างรายวัน หรือรายเดือนมีมาตรฐานต่ำมาก ฉะนั้น จะต้องดำเนินกระบวนการให้พวกเหล่านี้ ได้รับประโยชน์จากผลได้ของชาติ พรรคกรรมกรไม่มีความมุ่งประสงค์ที่จะให้มนุษย์มีรายได้เท่ากัน แต่อยากจะให้รายได้ระหว่างพวกมีรายได้สูงกับพวกมีรายได้ต่ำ ไม่ห่างกันนัก
ฐานะเศรษฐกิจของอังกฤษในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๔๙๐ ค.ศ. ๑๙๔๗)
เมื่อข้าพเจ้าไปถึงอังกฤษใหม่ ๆ คือเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) เวลานั้นอังกฤษยังทรุดโทรมมาก เนื่องจากสงคราม เพราะสงครามเพิ่งเสร็จไปประมาณสองปี ทุกอย่างอัตคัด เช่น น้ำมัน เชื้อเพลิง ถ่านหิน เสื้อผ้า อาหาร ต้องใช้บัตรปันส่วน คนงานสำหรับผลิตวัตถุจำหน่ายนอกประเทศก็มีน้อย เพราะส่วนมากถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ถึงแม้จะมีการปลดทหารลงบ้างแล้วก็ตาม แต่โรงงานส่วนมาก ก็ยังอยู่ในฐานะปรักหักพัง ที่ยังอยู่เรียบร้อยก็มักเป็นโรงงานผลิตวัสดุเกี่ยวกับสงคราม เมื่อเสร็จสงครามใหม่ ๆ ๔๒ เปอร์เซนต์ของพลังคนงานที่มีอยู่ทั้งประเทศยังเป็นทหาร มีเพียงสองเปอร์เซนต์ ที่อยู่ในโรงงานผลิตกรรมสำหรับจำหน่ายออกนอกประเทศ มี ๘ เปอร์เซนต์สำหรับทำงานซ่อมแซมสิ่งปรักหักพัง เงินสำหรับลงทุนก็ไม่มี เงินตราต่างประเทศที่จะซื้อสินค้าจากต่างประเทศก็แทบไม่มี รัฐบาลออกคำแถลงว่า ต้องการ ๑,๔๕๐ ล้านปอนด์ (ประมาณ ๘๗,๐๐๐ ล้านบาท) สำหรับซื้อสินค้าเข้ามาอุปโภคบริโภค หนี้สินต่างประเทศก็มีมาก รัฐบาลจะพยายามผลิตถ่านหินให้ได้มากที่สุด จะผลิตเหล็กให้ได้มากที่สุดจะบำรุงการขนส่ง และขอให้ราษฎรพยายามใช้ยานพาหนะการขนส่งน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเอายานพาหนะไปช่วยขนส่งสินค้า จะเร่งให้เพิ่มผลิตกรรมทางเกษตรให้มากที่สุด เพื่อสงวนเงินตราต่างประเทศไว้ใช้ในเรื่องสำคัญ ๆ จึงขอให้ราษฎรซื้ออาหารจากต่างประเทศน้อยที่สุด จะช่วยให้การผลิตสินค้าสำหรับขายต่างประเทศให้มากกว่าก่อนสงคราม ประกาศให้อุตสาหกรพยายามผลิตสินค้าที่จะเป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของชาติ ยิ่งกว่าคิดผลิตวัตถุที่ได้กำไรมาก ๆ ขอให้พวกนายทุนใช้แรงงานกรรมกรไปในทางที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด อุตสาหกรรมที่สำคัญ ๆ เช่น การทำถ่านหิน ควรจะเพิ่มเวลาทำงาน จะลดกำลังทหารให้มากที่สุด และถอนทหารที่ส่งไปประจำในประเทศต่าง ๆ กลับ จะให้สั่งสินค้าเข้าน้อยที่สุด รายได้จากการฉายภาพยนตร์ต่างประเทศจะต้องถูกจำกัด ให้ส่งออกนอกประเทศไม่เกิน ๒๕ เปอร์เซนต์ จำกัดน้ำมันรถยนต์ ผู้ที่จะไปเที่ยวต่างประเทศ อนุญาตให้เอาเงินออกนอกประเทศเพียงปีละไม่เกิน ๓๕ ปอนด์ จะควบคุมการลงทุนอย่างใกล้ชิด
เพื่อชักจูงให้ราษฎรเห็นใจ และเข้าใจในสถานการณ์ นายแอทลี
การเจรจาขอเพิ่มราคาข้าว
ได้กล่าวแล้วว่า ข้าพเจ้ายื่นพระราชสาสน์ในวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) หลังจากนั้น แทบทุกวัน ที่เที่ยวเยี่ยมข้าราชการผู้ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศหลายท่านด้วยกัน และพวกทูตด้วยกันตามธรรมเนียม สำหรับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่ข้าพเจ้าพบบ่อยครั้ง ก็คือ ผู้ที่เราจะต้องเจรจาในข้อราชการเป็นประจำ คนแรกชื่อ นายเมเบอรลี เดนิง
ภายหลังยื่นพระราชสาสน์ไม่ถึงหนึ่งเดือน ในวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) รัฐบาลสั่งมายังข้าพเจ้า ความว่า ตามที่ข้าพเจ้าได้แลกเปลี่ยนหนังสือกับทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖)
อนึ่ง เพื่อเป็นการเร่งให้ข้าวหลั่งไหลมา อังกฤษพร้อมที่จะให้เงินรางวัลเพิ่มเติม คือ จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) รัฐบาลอังกฤษจะให้เงินรางวัล ๓ ปอนด์ต่อ ๑ ตัน นอกเหนือไปจากราคาซึ่งตกลงกัน คือ ๑๒ ปอนด์ ๑๔ ชิลลิง และสำหรับข้าวที่สามารถส่งได้ระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม ถึง ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ก็จะให้เงินรางวัลเพิ่มขึ้นอีก ตันละ ๑ ปอนด์ ๑๐ ชิลลิง บัดนี้ความตกลงนั้นจะหมดอายุลงในวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) แต่ไม่ราบรื่น เพราะราคาข้าวยังต่ำมาก เมื่อเทียบกับราคาข้าวของประเทศอินโดจีน และพม่า ทั้ง ๆ ที่คุณภาพข้าวของเราก็สูง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงยังมีการลักลอบส่งออกอยู่เรื่อย ๆ และรัฐบาลอังกฤษก็ตระหนักดีในเรื่องนี้ จึงให้เอกอัครราชทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ เสนอต่อรัฐบาลไทยว่า ถ้าไทยจะยังส่งข้าวตามปกติต่อไป อย่างน้อยตลอดปี พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ให้แก่องค์การจัดสรร และธำรงราคาข้าวไว้ได้อย่างเดิม (รวมทั้งภาษีขาออก) ตลอดระยะเวลาดังกล่าว รัฐบาลอังกฤษเท่าที่เกี่ยวกับตน พร้อมที่จะยกเลิกข้อปรับตามที่ตกลงไว้ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) รัฐบาลเราพร้อมที่จะรับข้อเสนอข้อแรกของอังกฤษได้ คือส่งข้าวตามที่ตกลงไว้ แต่เรื่องราคานั้น ขอให้รัฐบาลอังกฤษพิจารณาให้ความเป็นธรรม เช่น พม่า ได้ราคาตันละ ๓๕ ปอนด์ แต่ไทยได้เพียงตันละ ๑๒ ปอนด์ ๑๔ ชิลลิง ฉะนั้น ขอให้ข้าพเจ้าเจรจาอย่างน้อยที่สุดให้ได้เท่าราคาพม่า เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) เป็นต้นไป คือ พอสัญญาเดิมหมดอายุ ก็ให้ใช้ความตกลงใหม่นี้ต่อทันที ทั้งนี้ให้ข้าพเจ้าหาเหตุผลทุกอย่างที่จะหาได้ ทั้งการเมืองภายในและภายนอก และเหตุผลทางเศรษฐกิจ ส่วนเหตุผลที่รัฐบาลตอบกับรัฐบาลอังกฤษนั้น คือ ไทยจะพยายามร่วมมือเต็มที่ที่จะผลิตข้าวให้ได้มากที่สุด และส่งออกนอกประเทศให้มากที่สุดตามความตกลง เพราะเห็นใจว่าโลกกำลังขาดแคลน ฉะนั้น ราคาจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการจูงใจให้ผลิตมากขึ้น รวมทั้งการขนส่งและป้องกันการลักลอบส่ง เพราะเมื่อได้ราคาแล้ว ผู้คิดทุจริตก็เห็นว่าการลักลอบส่งข้าวไปนอกประเทศไม่ได้ผลคุ้มค่า รัฐบาลได้ให้คำตอบแก่ทูตอังกฤษ และแจ้งให้ทูตอเมริกันทราบแล้วเช่นเดียวกัน ฉะนั้นขอให้ข้าพเจ้าพยายามสุดความสามารถ เพราะรัฐบาลอังกฤษรู้จักข้าพเจ้าดี โดยขอให้เห็นอกเห็นใจ แล้วรีบรายงานผลของการเจรจา
ข้าพเจ้าได้รีบติดต่อกับนายเดนิง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมเอเซียตะวันออกทันที และชี้แจงเหตุผลโดยละเอียด ที่เราจำต้องขอขึ้นราคาข้าว และขอให้รัฐบาลอังกฤษรีบพิจารณาด่วน เพราะสัญญาเดิมก็จะหมดอายุในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ศกนี้ (พ.ศ. ๒๔๙๐-ค.ศ. ๑๙๔๗) แล้ว นายเดนิงชี้แจงว่า รัฐบาลอังกฤษเห็นใจ แต่เรื่องนี้รัฐบาลอังกฤษทำตามลำพังไม่ได้ จะต้องปรึกษากระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง
อีกสองสามวันต่อมา รัฐบาลของเราแจ้งมายังข้าพเจ้าเพิ่มเติมว่า ลอร์ด คิลเลิร์น (Lord Killearn)
เรื่องโลกขาดอาหารนี้ พวกเราในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยทราบเรื่องนัก เห็นจะเป็นด้วยในเมืองเราอุดมสมบูรณ์ เมื่อเสร็จสงครามใหม่ๆ รัฐบาลอังกฤษได้ตั้งกรรมการขึ้นสำรวจสถานการณ์เรื่องอาหารของโลก และพิมพ์สมุดปกขาว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ซึ่งอ่านแล้วน่าวิตกน่าสงสาร สาระสำคัญของสมุดปกขาวนี้ ความว่า มูลสำคัญของการขาดอาหารก็เพราะสงครามที่ทำกันมาหกปี ราษฎรไม่เป็นอันทำมาหากินตามปรกติ และประกอบด้วยดินฟ้าอากาศวิปริตด้วย โดยปรกติในทวีปยุโรป (ยกเว้นรัสเซีย) ผลิตอาหาร (ข้าวสาลีและข้าว Rye) ปีละ ๕๙ ล้านตัน แต่ในปีเสร็จสงคราม (ค.ศ. ๑๙๔๕) ผลิตได้เพียง ๓๑ ล้านตัน สัตวซึ่งเนื้อพอจะใช้เป็นอาหารได้ก็ล้มตายมากมาย ประเทศอื่น ๆ นอกยุโรปก็เช่นเดียวกัน ในอินเดีย จีน แอฟริกาเหนือ แอฟริกาใต้ ขาดอาหาร ก่อนสงครามสั่งอาหารเข้าเพียง ๒ ๑/๒ ล้านตัน ภายหลังสงครามต้องการถึง ๑๐ ล้านตัน พม่าและไทย ก่อนสงคราม ผลิตข้าวได้ ๘,๔๐๐,๐๐๐ ตัน ภายหลังสงครามผลิตได้เพียง ๔,๙๐๐,๐๐๐ ตัน ภูมิภาคที่เดือดร้อนมากและด่วนที่สุด คือ อินเดีย เพราะเกิดฝนแล้งและทุพภิกขภัย พลเมืองก็เพิ่มขึ้นปีละ ๕ ล้าน เดิมอินเดียเคยพึ่งพม่า แต่พม่าก็ประสบภัยจากสงคราม ไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก
เฉพาะเรื่องข้าว สมุดปกขาวกล่าวว่า ทางเอเซียก็ขาดข้าวอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับยุโรปขาดข้าวสาลี ในระหว่างสงคราม เนื่องจากถูกญี่ปุ่นยึดครองทำสงคราม ประเทศทั้งสามนี้ ซึ่งเป็นประเทศ ผลิตข้าว คือ พม่า ไทย และอินโดจีน (หมายถึงลาว กัมพูชา และญวน) ก่อนสงคราม ส่งข้าวออกนอกประเทศ ๖,๐๐๐,๐๐๐ ตัน แต่ภายหลังสงครามที่น่ากลัวจะผลิตไม่พอรับประทาน แต่ก็หวังว่าไทยจะช่วยได้ประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ ตัน
ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า การที่ไทยได้ช่วยในเรื่องข้าว ก็นับว่าประชาชนชาวไทยทั้งชาติได้ร่วมกันมีส่วนทำบุญกุศลเลี้ยงชาวโลกไม่น้อย
ในระหว่างนี้ มีการพบปะเจรจากับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเป็นระยะ ๆ เพื่อทราบผลของการพิจารณา ทางด้านรัฐบาลเราก็เร่งมาว่า สภาผู้แทนราษฎรจะปิดสมัยประชุมวันที่ ๑๕ สิงหาคม จึงอยากให้ข้าพเจ้าเร่งให้รัฐบาลอังกฤษตกลงโดยเร็ว เพื่อประกาศให้สภาผู้แทนทราบว่า หมดสัญญาแล้ว ได้ทำสัญญาใหม่ โดยได้ราคาดีขึ้น
บังเอิญในระยะนี้ นายวิลเลียม ดอลล์ ที่ปรึกษาราชการคลัง มาธุระส่วนตัวของเขาที่อังกฤษ รัฐบาลจึงสั่งมายังข้าพเจ้าว่า ถ้าข้าพเจ้าประสงค์จะเอานายดอลล์ไว้ช่วยก็ได้ ข้าพเจ้าตอบยินดี เพราะ นายดอลล์กับข้าพเจ้าเคยทำงานร่วมกันตั้งแต่ก่อนสงคราม และภายหลังสงครามก็ได้ร่วมกับข้าพเจ้า เมื่อสมัยข้าพเจ้าอยู่กระทรวงการคลัง เราตกลงกันว่า นายดอลล์จะทำหน้าที่ติดต่อกับกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง เป็นการภายใน ไม่ใช่ราชการ เฉพาะอย่างยิ่ง ชี้แจงให้พวกเหล่านี้ทราบถึงฐานะของไทยในทางเศรษฐกิจ และความเป็นมิตรของไทยต่ออังกฤษในอดีต เพราะเขาเป็นอังกฤษด้วยกัน ส่วนข้าพเจ้าจะชี้แจงในนามของรัฐบาล และเหตุผลต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าจะชี้แจงหรือรับรอง เป็นการกระทำอย่างมีน้ำหนัก เพราะรัฐบาลอนุมัติให้รับรองได้ ปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผลมาก ดังจะเห็นผลซึ่งจะกล่าวต่อไป
วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ข้าพเจ้าเลี้ยงดินเนอร์ให้แก่ เซอร์ ออร์ม ซาร์เจนต์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษที่โรงแรมแคลริตเยส การเลี้ยงได้เป็นไปด้วยไมตรีสนิท ภายหลังดินเนอร์ หลวงพินิจอักษรที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตมารายงานว่า ข้าราชการผู้ใหญ่นายหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งร่วมรับประทานอาหารด้วย ได้แจ้งว่า เรื่องเราขอขึ้นราคาข้าวนี้ กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเห็นอกเห็นใจไทยเป็นอันมาก แต่กระทรวงเจ้าหน้าที่อื่น เช่น กระทรวงอาหาร กระทรวงการคลัง ยังไม่เต็มใจนัก โดยกล่าวว่าเราไม่ได้ส่งข้าวให้ตามที่เขาคาดว่าจะได้ และตัวเลขเดือนนี้ (คือเดือนสิงหาคม) ก็มีจะส่งเพียง ๒๐,๐๐๐ ตัน และก็ยังมีการลักลอบส่งข้าวกันอยู่อีก ทางฝ่ายอังกฤษเข้าใจว่า การที่มีการลอบส่งข้าวออกนอกประเทศได้นี้ เพราะเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อยของไทยต่ำมาก ถ้ารัฐบาลไทยสามารถส่งข้าวได้มากขึ้น ก็คงจะได้รับการพิจารณาด้วยดี หลวงพินิจอักษรได้ชี้แจงไปว่า รัฐบาลก็ได้พิจารณาขึ้นอัตราเงินเดือนข้าราชการแล้ว เพราะค่าการครองชีพสูงขึ้น ส่วนการลักลอบนั้นจะโทษเราฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะถ้าทางมลายูควบคุมกวดขันการเอาข้าวเข้าประเทศก็คงจะไม่สะดวกนัก ข้าพเจ้าไม่สบายใจเมื่อได้รับแจ้งเช่นนี้ และก็ไม่สามารถทราบตัวเลขแท้จริงอย่างไรแน่ จึงรีบโทรเลขรายงานขอข้อเท็จจริง รัฐบาลรีบโทรเลขแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ที่กล่าวหาว่าเราส่งข้าวน้อยนั้นไม่เป็นความจริง เพราะกว่าจะถึงสิ้นเดือนสิงหาคม (คือเดือนที่กำลังเจรจานี้) ก็จะส่งได้ทั้งหมด ๓๐๐,๐๐๐ ตันตามข้อตกลง และกว่าจะถึงสิ้นปี คือ สิ้นธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ก็จะส่งให้ทั้งหมดถึง ๔๒๐,๐๐๐ ตัน ต่ำกว่าจำนวนที่ตกลงไว้ไม่กี่พันตัน สำหรับเดือนสิงหาคมนี้ นับตั้งแต่วันที่ ๑ ถึง ๘ สิงหาคม ส่งไปแล้ว ๖,๓๓๙.๗๐ ตัน กว่าจะถึงสิ้นเดือนก็คงส่งได้ประมาณ ๓๐,๐๐๐ ตัน ส่วนตัวเลขตั้งแต่ต้นปีนี้ (คือ พ.ศ. ๒๔๙๐) มา คือ มกราคม ส่ง ๔๖,๘๓๑.๐๕ ตัน กุมภาพันธ์ส่ง ๒๐,๕๓๐.๐๒ ตัน มีนาคมส่ง ๓๓, ๘๗๓.๑๑ ตัน เมษายนส่ง ๕๘,๐๕๔.๗๕ ต้น พฤษภาคมส่ง ๕๒,๒๕๗.๑๓ ตัน มิถุนายนส่ง ๒๓,๙๑๓.๙๒ ตัน กรกฎาคมส่ง ๓๒,๓๑๒.๐๐ ตัน เรื่องการลักลอบนั้นเราก็กวดขันอยู่แล้ว ทางมลายูก็ควรกวดขันด้วย การที่จะได้ผล รัฐบาลทั้งสองจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น แต่ปัญหาเรื่องราคาสำคัญมาก เมื่อราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกมากมาย ก็ย่อมจูงใจให้คนทุจริตเอาไปขายทางลักลอบ ดีกว่าจะขายให้รัฐบาลเพราะได้กำไรดีกว่าหลายเท่า ฉะนั้นให้ข้าพเจ้า ยืนยันอย่างเด็ดขาดว่า เราต้องได้ราคาข้าวอย่างน้อยเท่ากับราคาข้าวพม่า ทั้งนี้ ขอให้ข้าพเจ้าพยายามชี้แจงให้อังกฤษเห็นใจไทย เพราะเกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของชาติบ้านเมือง
เมื่อได้รับคำชี้แจงเป็นหลักฐานเช่นนี้ ข้าพเจ้าได้ให้นายดอลล์ ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ของกระทรวงการคลังและกระทรวงอาหาร ส่วนตัวข้าพเจ้าเองได้ไปพบชี้แจงกับข้าราชการผู้ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศหลายนายด้วยกัน โดยให้เหตุผลหลายประการ เช่น เรื่องตัวเลขการส่งข้าว เมื่อเราได้สถิติเป็นทางราชการแน่นอนเช่นนี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไรที่อังกฤษควรข้องใจ การลักลอบนั้นข้าพเจ้าขอเสนอให้รัฐบาลอังกฤษสั่งกำชับเจ้าหน้าที่ทางด้านมลายู และขอให้ปรึกษากับรัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ เราพร้อมที่จะประชุมร่วมมือปรึกษา แต่เรื่องราคาเป็นนัยสำคัญซึ่งเจ้าหน้าที่อังกฤษเองทราบอยู่แก่ใจว่า ราคาที่กดให้เราเกือบเหมือนเอาเปล่านั้น เป็นการส่งเสริมการลักลอบ ต่อให้มีการร่วมมือดีที่สุดอย่างใด เมื่อทางยั่วใจมีมากก็ป้องกันยาก นอกจากนี้ยังไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งที่จะกดราคาข้าวเราให้ต่ำกว่าพม่า ซึ่งคุณภาพของข้าวเราก็เป็นที่หนึ่งในโลก ดังที่โลกทราบกันอยู่แล้ว รัฐบาลอังกฤษเองก็ยอมรับว่าการซื้อขายข้าวนี้ไม่ใช่เป็นการซื้อโดยการเมืองแต่เป็นการซื้อขายทางการพาณิชย์ และเวลาราษฎรไทยทั่วไปก็กำลังรอฟังข่าวอยู่ ถ้าไม่สำเร็จ รัฐบาลก็คงลาออก (รัฐบาลแจ้งกับข้าพเจ้าว่าจะต้องลาออก) รัฐบาลใหม่เข้ามา ข้าพเจ้าก็คิดว่าคงไม่สามารถตกลงรับราคาที่จะให้ได้ ถ้าไม่ได้เท่าราคาพม่า เมื่อเป็นเช่นนี้ อังกฤษก็จะต้องใช้บทปรับ คือเอาเปล่า ผลร้ายแรงจะมียิ่งขึ้น คือคนไทยจะเกลียดอังกฤษ และอังกฤษเองก็จะไม่ได้ข้าว สำหรับไทยนั้น ถ้าข่าวประกาศออกไปทั่วโลกว่าไทยเกลียดอังกฤษ เพราะบีบคั้นเช่นนี้ โลกจะต้องเชื่อไทยแน่นอน ข้าราชการผู้ใหญ่ของอังกฤษเอง (ข้าพเจ้า หมายถึงลอร์ดคิลเลิร์น) เคยกล่าวว่าราคาข้าวไม่สำคัญ ข้อสำคัญต้องการข้าว นอกจากนี้ ข้าพเจ้าได้อธิบายถึงฐานะการเมืองของไทยให้เห็นว่า ประเทศรอบข้างของไทยล้วนแต่ประสบความยุ่งยากทั้งนั้น ไทยเป็นประเทศที่สงบ รักสันติภาพ ถ้าไทยต้องถูกซ้ำเติมในเรื่องเศรษฐกิจเรื่องการเงิน จะปั่นป่วนไปหมด และก็จะเป็นเหยื่อของลัทธิที่พวกเราเกลียดชัง รวมความว่าอังกฤษเองจะเดือดร้อน ฐานะของอาหารซึ่งตึงเครียดอยู่แล้ว จะทรุดลงเพราะความยากจน การหากินไม่เป็นปกติสุข ไม่มีใครอยากทำนา เพราะไม่ได้ราคาพอที่จะยังชีพ ซึ่งโดยปกติชาวนาก็เป็นราษฎรประเภทที่น่าสงสารมากอยู่แล้ว
ต่อมาในวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ก่อนสัญญาเรื่องข้าว ฉบับลงวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) จะหมดอายุลง ๓ วัน ข้าพเจ้าได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า รัฐบาลอังกฤษตกลงให้ราคาตามราคาพม่า โดยมีความเข้าใจว่า รัฐบาลไทยยังคงใช้ระบบการควบคุมการส่งข้าวออกนอกประเทศ ในการนี้รัฐบาลอังกฤษได้สั่งไปยังทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ แล้ว ข้าพเจ้าได้แสดงความขอบคุณเขาอย่างยิ่ง ในความเห็นอกเห็นใจครั้งนี้ แล้วได้โทรเลขรายงานให้รัฐบาลเราทราบในวันเดียวกันนั้น
ต่อมาในวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) รัฐบาลเราได้โทรเลขถึงข้าพเจ้ามีความว่า ได้รับโทรเลขของข้าพเจ้า แจ้งเรื่องรัฐบาลอังกฤษยอมขึ้นราคาข้าวให้เท่ากับราคาข้าวพม่าแล้ว ในการนี้ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ ได้ยื่นบันทึกความว่า รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลอินเดียได้พิจารณาคำขอร้องของไทยในเรื่องการขอขึ้นราคาข้าวด้วยความเห็นอกเห็นใจแล้ว ยอมตกลงให้เท่ากับราคาข้าวพม่า คือตันละ ๓๓ ปอนด์ ๖ ชิลลิง ๘ เพนซ์ เป็นราคา f.o.b. เพื่อตอบแทนในการที่รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลอินเดียยอมผ่อนปรนนี้ รัฐบาลอังกฤษขอร้องให้รัฐบาลไทยรับสัญญาว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรแลกสัตยาบันความตกลงนี้ และจะคงควบคุมราคาข้าวภายในประเทศไว้ ตลอดจนการส่งข้าวออกนอกประเทศจนสิ้นปี พ.ศ. ๒๔๙๑ (ค.ศ. ๑๙๔๘) เมื่อได้รับคำมั่นสัญญาดังกล่าวนี้ รัฐบาลอังกฤษจะยกเลิกข้อปรับซึ่งระบุไว้ในความตกลงเรื่องข้าวระหว่างอังกฤษกับไทยโดยสิ้นเชิง รัฐบาลไทยได้ยื่นบันทึกช่วยจำตอบขอบคุณไปแล้ว และแสดงความชื่นชมในไมตรีจิตครั้งนี้ของรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลอินเดีย ในเรื่องการรับรองนี้ รัฐบาลได้รีบแถลงในรัฐสภาแล้ว รัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับกิจกรรมของรัฐบาลที่ได้ปฏิบัติไป ทูตอังกฤษพอใจที่รัฐบาลตอบบันทึกช่วยจำดังกล่าวนี้ ในการนี้นายกรัฐมนตรี
โดยสรุปก็คือ จากราคาข้าวซึ่งเดิมเราได้ตันละ ๑๒ ปอนด์ ๑๔ ชิลลิง บัดนี้ ตามความตกลงใหม่ได้ ๓๓ ปอนด์ ๖ ชิลลิง ๘ เพนซ์ เป็นอันว่าเราได้ราคาเพิ่มขึ้นประมาณตันละ ๒๐ ปอนด์ หรือตันละ ๑๒๐๐ บาท ข้าว ๑ ล้านตัน ได้เพิ่มขึ้นเป็นเงิน ๑๒๐๐ ล้านบาท
ผู้ที่ช่วยเหลือวิ่งเต้นมากที่สุดในเรื่องนี้คือ นายดอลล์ ที่ปรึกษาราชการคลัง ซึ่งข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณไว้ในที่นี้ นายดอลล์ได้ทำงานร่วมมือกับข้าพเจ้าเป็นอย่างดี เมื่อกลับไปกรุงเทพฯ แล้ว นายดอลล์ได้มีจดหมายถึงข้าพเจ้ายืดยาว ขอคัดบางตอนมาไว้ ณ ที่นี้
Office of the Financial Adviser,
Bangkok.
30th Septembr 1947.
Dear Khun Direck,
Reeve
Our new rice prices have hardly had time to have their effect yet. But I received the cheering news yesterday from the Rice Unit that September sales will probably produce £ 1,000,000 for the first time for many months.
I envy Reeve coming to work with you. It was a real joy to me to work with you last month. I have the feeling that we were getting somewhere and really effecting something for Siam. Working with you in London was wonderful. All your thoughts and those of your staff were concentrated on doing something for the country. If only I could be Economic Financial plus a bit of Diplomatic Attaché to you, I should be perfectly and ideally happy. It would be impossible to have anyone more delightful to work with ........
With my very best and dearest good wishes and remembrances to you and with my renewed thanks for all your kindness to me and with every hope for your success in these new pegotiations.
การเจรจาเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกความตกลงสมบูรณ์แบบ
๗ วันหลังจากตกลงเรื่องราคาข้าว หลวงอรรถกิติกร รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศโทรเลขถึงข้าพเจ้าในวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ว่าตามที่ทราบอยู่แล้วว่า รัฐบาลดำริจะขอแก้ไขหรือยกเลิกความตกลงสมบูรณ์แบบนั้น บัดนี้ รัฐบาลได้ตกลงใจแล้วที่จะดำเนินการ ฉะนั้นเมื่อวันที่ 6 กันยายนศกเดียวกันนี้ได้ยื่นบันทึกช่วยจำต่อเอกอัครราชทูตอังกฤษ และอุปทูตอินเดียแล้วในเรื่องนี้ โดยที่เราจะพบกันที่นิวยอร์ค
ในบันทึกซึ่งรัฐบาลเรายื่นต่ออังกฤษและอินเดีย เราให้เหตุผลสำคัญสามประการที่ขอแก้ไขหรือยกเลิก
(๑) ความตกลงสมบูรณ์แบบ มีขึ้นเพื่อยกเลิกสถานะสงครามระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร และอินเดีย บัดนี้สัมพันธภาพก็มีมาด้วยดีร่วมสองปีแล้ว [ตั้งแต่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ.๑๙๔๖)]
(๒) ความตกลงสมบูรณ์แบบมีขึ้น ก็เพราะเวลานั้นไทยยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ยังไม่มีข้อผูกพันอย่างใด แต่บัดนี้ไทยก็เข้าเป็นสมาชิกแล้ว หมายความว่า ไทยยอมปฏิบัติตามพันธกรณีข้อผูกพันต่าง ๆ ในฐานเป็นสมาชิกที่ดีแล้ว ฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต่อไปที่จะมีความตกลงสมบูรณ์แบบผูกมัดอีก
(๓) บทบัญญัติในความตกลงสมบูรณ์แบบ ส่วนมากได้ปฏิบัติลุล่วงไปแล้วและพ้นสมัย เพราะเวลาได้ล่วงเลยมานานแล้ว
ส่วนเหตุผลละเอียด เกี่ยวกับการขอแก้ไขความตกลงสมบูรณ์แบบ
คำปรารภ
คำปรารภในความตกลง เป็นคำปรารภก่อนไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นอย่างใด
ความตกลงข้อหนึ่ง เรื่องรัฐบาลไทยจะบอกปฏิเสธบรรดากระบวนการเนื่องจากการประกาศสงคราม
และ ข้อสอง (ก) (ข) ข้อสี่ และ ข้อห้า เรื่องจะประกาศว่า การกระทำที่เกี่ยวกับการเอาดินแดนบริติชเป็นโมฆะ การถอนเจ้าหน้าที่ไทยจากดินแดนบริติช การจะยกเลิกการพิทักษ์ธุรกิจของธนาคารบริติช การที่ไทยจะให้ดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ที่ค้างชำระและเงินบำนาญเหล่านี้ ก็เป็นข้อเท็จจริงซึ่งปฏิบัติลุล่วงไปแล้ว
ความตกลงข้อสอง (ค) (ง) (จ) และข้อสาม เรื่องคืนบรรดาทรัพย์สินที่เอาไปจากอาณาเขตบริติช เรื่องจะให้ค่าทดแทนเพื่อความวินาศ เรื่องจะไถ่ถอนเป็นเงินสเตอรลิงก์จากทุนสำรองสเตอรลิงก์ที่เคยมีอยู่ซึ่งธนบัตรที่เดินสะพัดอยู่ เรื่องเหล่านี้รัฐบาลไทยเห็นว่า เป็นภาระต้องมารับผิดชอบมาก ความตกลงนี้ไม่คำนึงว่าไทยหรือญี่ปุ่น หรือสัมพันธมิตรไปทำไว้ ไทยต้องรับผิดชอบทั้งนั้น ทรัพย์สินของไทยเอง อังกฤษก็ยังกักกัน (freeze) อยู่ เฉพาะอย่างยิ่ง ข้อสาม ผูกมัดไทยยิ่งกว่าพวกอักษะ เช่น อิตาลีเสียอีก ไทยไม่ควรมีพันธะเกินกว่าที่ตนได้ก่อไว้จริง ๆ สิ่งใดที่ไทยไม่ได้ก่อก็ควรเอาจากทรัพย์สินญี่ปุ่น และการชำระหนี้ทั้งหมด ควรเป็นเงินก้อน ในข้อนี้ ข้าพเจ้าเองก็เตรียมเรื่องไว้ เพราะในสัญญาสันติภาพซึ่งสัมพันธมิตรทำกับอิตาลีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ก็ไม่รุนแรงเท่า ข้อสามของความตกลง เราต้องคืนทรัพย์ที่สภาพไม่เสื่อมเสีย และการใช้ค่าทดแทนต้องเต็มที่ และตามหนังสือแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจในความตกลงนี้ อาจเรียกร้องให้ชำระเป็นเงินปอนด์ได้ ส่วนสัญญากับอิตาลี การชดใช้เพียง ๒ ใน ๓ ของค่าเสียหายเท่านั้น และชำระเป็นเงินลีร์ได้ด้วย
ข้อหกและข้อเจ็ด สำหรับข้อหกนี้ ข้าพเจ้าขออธิบายเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ ตามความตกลงสมบูรณ์แบบข้อหก แบ่งออกเป็นสองเรื่อง เรื่องแรกให้ไทยยอมรับว่า สงครามกับญี่ปุ่นคราวนี้ พิสูจน์แล้วว่า การจะป้องกันอาณาบริเวณต่าง ๆ ของมลายู พม่า อินเดีย และอินโดจีน และความมั่นคงในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยมีความสำคัญมาก และเรื่องหลัง เมื่อเป็นเช่นนี้ ไทยจะต้องร่วมมือเต็มที่ในการตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับความมั่นคงในบริเวณนี้
การที่อังกฤษยืนยันให้เราตกลงความตกลงสมบูรณ์แบบในเรื่องนี้ ก็เพราะอังกฤษได้บทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว และโดยที่ไทย จะว่าแพ้สงครามก็ไม่เชิง จะว่าชนะสงครามก็ไม่ใช่ อังกฤษจึงบังคับให้ทำความตกลงสมบูรณ์แบบ สำหรับเหตุผลทางยุทธศาสตร์นั้นสำคัญยิ่ง มีผู้กล่าวว่า ใครเข้าคุมช่องมาลักกาและสิงคโปร์ได้ ก็เท่ากับมีอำนาจเหนือเส้นทางเดินเรือ และแหล่งยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะเส้นทางเดินเรือช่องมาลักกานี้ เป็นเส้นทางการค้าสำคัญของโลกสายหนึ่ง ซึ่งเชื่อมตะวันตกกับตะวันออก จริงอยู่ ถ้าจะเปลี่ยนเส้นทางคือ เดินอ้อมลงมาทางใต้เกาะสุมาตราแล้วเข้าสู่ช่องซันดา (Sunda Strait) ระหว่างเกาะสุมาตรากับกับเกาะชวาก็ได้ แต่ก็อ้อมมาก และช่องนี้ก็เป็นของเนเธอร์แลนด์ในขณะนั้น (ค.ศ. ๑๙๔๖) ระหว่างสงครามได้พิสูจน์แล้วว่าเมื่อญี่ปุ่นได้ช่องแคบทั้งสองนี้ สามารถคุมเส้นทางคมนาคมออกไปได้ไกลมาก การที่ญี่ปุ่นเข้ายึดเมืองไทยได้ประโยชน์มาก ทั้งทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์ แม้สงครามเสร็จแล้ว ญี่ปุ่นแพ้ไปแล้วก็ตาม อังกฤษก็ทราบดีว่า ภัยใหม่ที่จะต้องเผชิญอีกก็คือ คอมมิวนิสต์ ซึ่งเวลานี้ (ในขณะนั้น) จีนแดงก็เริ่มมีเสียง และกำลังทำสงครามกลางเมืองกับจีนชาติอยู่อย่างรุนแรง ความจริง เราก็เห็นใจอังกฤษ แต่เราไม่สบายใจ เราเป็นประเทศเอกราช ทำไมจะต้องมีสัญญาบังคับเรา และเมื่อเราเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติแล้ว หน้าที่ของสมาชิกก็มีผูกพันเต็มที่อยู่แล้ว ยิ่งกว่ากล่าวในความตกลงสมบูรณ์แบบเสียอีก
สำหรับข้อเจ็ด เรื่องจะไม่ตัดคลองข้ามอาณาเขตไทย เชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทยโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรมิได้เห็นพ้องด้วยก่อน ข้อนี้ก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลไทยไม่ว่ารัฐบาลไหนก็จะต้องพิจารณาว่า การขุดคอคอดนี้จะมีผลในทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเพียงใด ถ้ามีผลร้ายก็ไม่ขุด และก็เหตุผลเช่นเดียวกันอีก เราเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติแล้ว การที่จะมีสัญญาชนิดนี้ไว้ ฝ่ายไทยเรารู้สึกว่า เป็นการตัดทอนเอกราชอธิปไตยของเรา มีผู้อธิบายว่า ความจริงเรื่องจะขุดคอคอดกระนี้มีมา ๕๐ กว่าปีแล้ว เพื่อจะให้เส้นทางการเดินเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับตะวันออกไกลสั้นเข้า และประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกไกล (หมายถึงจีนและญี่ปุ่น) ก็จะได้รับความสะดวก ไม่ต้องผ่านสิงคโปร์ ถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิด มีผู้เสนอให้ขุดในราวปี พ.ศ. ๒๔๒๕ (ค.ศ. ๑๘๘๒) แต่ก็ต้องระงับ เพราะว่าคำนวณแล้ว จะไม่ได้กำไร เพราะสมมติว่าเรือเดินออกจากเมืองท่าที่ลังกา ถ้าจะผ่านคอคอดกระ จะต้องแล่นขึ้นเหนืออย่างน้อย ๒๐๐ ไมล์ เมื่อผ่านคอคอดแล้ว โดยที่บริเวณทะเลทางฝั่งกัมพูชาน้ำวนมาก จะต้องเลี่ยงลงมาทางใต้อีกประมาณ ๒๐๐ ไมล์ ก่อนถึงทางใต้ของทะเลอื่น ยิ่งกว่านี้สิงคโปร์เป็นแหล่งศูนย์กลางของการค้าระหว่างประเทศที่มั่นคงมาช้านานแล้ว ยากที่เราจะแข่งได้ ฉะนั้น ประโยชน์ของคอคอดกระ จึงหนักไปในทางยุทธศาสตร์ยิ่งกว่าทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น ถ้าคิดดูในแง่ยุทธศาสตร์ แน่นอน อังกฤษกังวล เพราะว่าจะเป็นภัยแก่การเดินเรือของอังกฤษ ในราวปี พ.ศ. ๒๔๓๕ (ค.ศ. ๑๘๙๒) ชาวเยอรมันเคยคิดจะซื้อเกาะบางเกาะในหมู่เกาะลังกาวี ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของคอคอดนี้ และรัสเซียสมัยซาร์ ก็เคยมาสำรวจเพื่อเสนอตัดเช่นเดียวกัน
ข้อแปด เก้า สิบ และสิบเอ็ด สี่ข้อนี้เป็นเรื่องการร่วมมือทางพาณิชย์และทางเศรษฐกิจตามสนธิสัญญาฉบับเดิม ซึ่งทำกันไว้ก่อนสงคราม คือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗) ฉะนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่งปฏิบัติตามสนธิสัญญาอยู่แล้ว
ข้อสิบสอง เรื่องนี้เกี่ยวกับไทยเราสัญญาว่าจะร่วมในความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับยางและดีบุก ตามหลักการขององค์การสหประชาชาติหรือคณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม ในข้อนี้ก็เช่นเดียวกัน เดิมมีไว้ก็เพราะไทยยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เมื่อเป็นสมาชิกแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นอย่างใด
ข้อสิบสาม ข้อนี้เราสัญญาว่า เราจะห้ามการส่งข้าว ดีบุก ยาง และไม้สัก ออกนอกประเทศ นอกจากจะส่งโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประสมที่วอชิงตัน แต่การห้ามนี้ไม่เกินวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) บัดนี้ก็เกินเวลาแล้ว ขอสิบสามจึงไม่มีผลแล้ว
ข้อสิบสี่ และข้อสิบห้า เรื่องเราจับจะให้ข้าวโดยไม่คิดมูลค่า และจะให้โดยวิธีซึ่งองค์การที่จะตั้งขึ้นพิเศษจะระบุ และจะมีผลเพียงวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) เรื่องข้าวนี้ก็เลิกไปแล้ว และมีสัญญาใหม่ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ดังกล่าวข้างต้น กับบัดนี้ก็มีความตกลงใหม่ให้ราคาเท่าราคาข้าวพม่าแล้ว เป็นอันว่าสองข้อนี้ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว
ข้อสิบหก รัฐบาลไทยรับจะให้สายการเดินอากาศฝ่ายพลเรือนแห่งจักรภพนานาชาติบริติชได้รับผลปฏิบัติ โดยตกลงเจรจากับรัฐบาลแห่งสมาชิกจักรภพนานาชาติบริติช ไม่น้อยกว่าที่ให้ไว้แก่บริษัทอิมพีเรียลแอร์เวย์ของอังกฤษ ตามความตกลงปี ค.ศ. ๑๙๓๗ ในเรื่องนี้ก็ปฏิบัติอยู่แล้ว และรัฐบาลก็พร้อมที่จะเจรจา
ข้อสิบเจ็ด รัฐบาลไทยจะทำความตกลง ต่างฝ่ายต่างบำรุงรักษาที่ฝังศพสงคราม เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องการกุศลและแสดงน้ำใจ ซึ่งรัฐบาลไทยก็ทำให้แล้ว รอความตกลงเท่านั้น
ข้อสิบแปด และข้อสิบเก้า เรื่องสนธิสัญญาที่มีอยู่ก่อนสงคราม ให้นำมาใช้ เรื่องนี้ก็ปฏิบัติอยู่แล้ว
ข้อยี่สิบ เรื่องนี้เกี่ยวกับว่า ระหว่างสงครามที่อังกฤษเป็นภาคองค์การระหว่างประเทศใด ๆ รัฐบาลไทยตกลงว่าจะปฏิบัติตามข้อผูกพันขององค์การนั้น ๆ จนกว่าไทยจะเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ความจริงเรื่องนี้เราเองก็อยากเข้าเป็นสมาชิกอยู่แล้ว และก็ปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ที่เราไม่สมัครให้ในข้อนี้มีอยู่ก็เพราะดูคล้ายๆ เราไม่มีอำนาจอธิปไตย จึงอยากให้เลิกเสีย
ข้อยี่สิบเอ็ด เป็นเรื่องอังกฤษและอินเดีย เลิกสถานะสงคราม เมื่อมีความสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้ว ข้อนี้ก็ตกไป
ข้อยี่สิบสอง อังกฤษและอินเดียจะสนับสนุนให้ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ก็บัดนี้ เราเข้าเป็นมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ข้าพเจ้าได้สนทนาเรื่องไทยเราขอแก้ความตกลงสมบูรณ์แบบ หรือยกเลิกนี้ อย่างยืดยาวกับนายเดนิง โดยข้าพเจ้าชี้แจงเหตุผลเป็นข้อ ๆ ดังกล่าว มาแล้วในเบื้องต้น ในที่สุด ข้าพเจ้าได้กล่าวว่า นายเดนิงเองคงเห็นด้วยกับข้าพเจ้าว่า ความตกลงสมบูรณ์แบบนี้พ้นสมัยเสียแล้ว เพราะแทบทุกข้อ ฝ่ายไทยได้ปฏิบัติแล้ว หรือมิฉะนั้นเหตุการณ์ก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว การแก้ไขหรือการยกเลิกสัญญาครั้งนี้ ถ้าสำเร็จคนไทยจะไม่ลืมเลย เพราะตราบใดที่สัญญานี้ยังคงอยู่ ก็เหมือนหนึ่งว่าคนไทยทั้งชาติมีความผิด ซึ่งจะตรึงตราอยู่เสมอ นายเดนิงเป็นผู้เซ็นสัญญาฉบับนี้ ฉะนั้น ถ้านายเดนิงเป็นผู้สามารถแก้ไขข้อผูกพันได้ รัฐบาลไทยก็จะขอบคุณยิ่ง
ข้าพเจ้ารีบรายงานเรื่องนี้ให้รัฐบาลเราทราบทันที และรัฐบาลเราก็รีบยื่นบันทึกทำนองเดียวกันต่ออุปทูตออสเตรเลีย
ระหว่างนี้ ข้าพเจ้าก็พยายามพบปะชี้แจงกับข้าราชการผู้ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษคนอื่น ๆ อีกด้วย
ในขณะเดียวกัน นายรีฟที่ปรึกษากระทรวงการคลัง ซึ่งรัฐบาลส่งมาให้ช่วยข้าพเจ้าในเรื่องเทคนิค มารายงานข้าพเจ้าว่า ได้ติดต่อกับข้าราชการ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ ในเรื่องการชำระหนี้ทดแทนแล้ว ได้ความว่า ท่าทีของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษนั้น เห็นอกเห็นใจไทย และเห็นด้วยที่ไทยเราเห็นว่าเรื่องหนี้นั้นเหมากันเป็นก้อนเป็นดีที่สุด มิฉะนั้นจะไม่รู้จักจบ แต่ในเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศ จะต้องมีการประชุมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และบางกระทรวงอาจไม่เห็นด้วย เพราะถ้าประโยชน์ของชาวบริติชในเรื่องนี้เสื่อมเสียไป อาจถูกตั้งกระทู้ในสภาสามัญ แต่ก็ยังเชื่อว่าความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษคงจะมีน้ำหนัก และมีผู้รับฟังเป็นส่วนมาก เข้าใจว่าจะมีการประชุมระหว่างกระทรวงในวันที่ ๒๑ ตุลาคม ที่ประชุมเห็นอย่างไร จะต้องเสนอไปยังคณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะรัฐมนตรี แล้วเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจนำเสนอคณะรัฐมนตรีก็ได้ แล้วเรื่องก็กลับมายังกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อได้รับนโยบายเด็ดขาดลงมาแล้ว ก็จะปรึกษากับออสเตรเลีย อินเดีย มลายู และพม่า เพื่อฟังดูว่าประเทศต่าง ๆ เหล่านี้จะมีปฏิกิริยาอย่างใด แล้วก็จะเริ่มเจรจากับข้าพเจ้าเป็นทางการ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษคาดว่า อย่างเร็วที่สุด ก็คงราวกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗)
วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ลอร์ดเนธาน (Lord Nathan of Churt)
แม้ไทยจะได้ประกาศสงครามกับอังกฤษก็ตาม แต่ก็ทำไปโดยทำเป็น และกลับเป็นการช่วยอังกฤษเสียด้วยซ้ำ เพราะเมื่อเป็นสหายสงครามกับญี่ปุ่นแล้ว ญี่ปุ่นก็ต้องปล่อยให้ไทยควบคุมชนชาติสัมพันธมิตรเอง ไม่กล้าเข้ามาแตะต้อง ซึ่งชนชาติสัมพันธมิตรที่อยู่ในค่ายกักกันของไทยทุกคนได้ประกาศอย่างเปิดเผยแล้วว่า ไทยได้ช่วยเหลือทุกอย่าง นอกจากนี้ ขบวนการเสรีไทย ทั้งนอกและในประเทศ ก็ได้ช่วยเหลือสัมพันธมิตรมากหลาย ดังปรากฏรายละเอียดในรายงานขององค์การอังกฤษ (Force 136) และองค์การอเมริกัน O.S.S. (Office of the Strategic Service)
เรื่องข้าว ลอร์ด เนธาน ก็ทราบดีแล้วว่า ไทยช่วยอย่างไร ผลของการขึ้นราคาข้าวเท่ากับพม่า ก็ได้เป็นการจูงใจให้พ่อค้าข้าวไม่คิดลักลอบ เพราะได้ไม่เท่าเสีย แม้กระนั้นก็ดี รัฐบาลไทยก็ได้เสียสละเรื่องข้าวนี้มามากมายแล้ว อย่างน้อย ถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิด ให้เปล่าไปประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ตันแล้ว สินทรัพย์สเตอร์ลิงก์บางส่วน อังกฤษก็ยังยึดไว้ จริงอยู่ อังกฤษว่ายึดไว้ก่อน เพราะเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนค่าเสียหายยังไม่ได้ตกลง แต่การยึดไว้ก็มีผลกระทบถึงเงินทุนสำรองของรัฐบาลไทย พฤติการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ไทยอ่อนเปลี้ย ไม่มีเงินตราต่างประเทศเพียงพอที่จะซื้อวัสดุมาบำรุงประเทศ ด้วยเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ รัฐบาลจึงกำลังเสนอให้รัฐบาลอังกฤษยุบเลิกคณะกรรมการผสมเรื่องพิจารณาค่าทดแทน และพิจารณาเป็นจำนวนเงินก้อนเสียคราวเดียว
สำหรับเรื่องทองคำนี้ ความจริงข้าพเจ้าพอทราบเรื่องอยู่บ้าง เพราะเมื่อเสร็จสงครามใหม่ ๆ ข้าพเจ้าเข้าไปอยู่กระทรวงการคลัง ได้ศึกษาเรื่องนี้ไว้ และก่อนจะเดินทางมายังกฤษกคาดคะเนไว้ว่า คงจะต้องเป็นผู้เจรจาขอให้อังกฤษช่วย แต่ระหว่างอยู่ที่สหรัฐอเมริกา หลวงอรรถกิติกำจร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติด้วยกัน แจ้งกับข้าพเจ้าว่า เวลานี้กำลังเจรจากับรัฐบาลอเมริกันอยู่แล้ว ขอให้ข้าพเจ้ายับยั้งอย่าเพิ่งยกเรื่องนี้ขึ้นเจรจากับอังกฤษ จนกว่าจะได้รับคำสั่ง เพราะเกรงสหรัฐอเมริกาจะไม่พอใจ ข้าพเจ้าจึงชี้แจงย่อ ๆ กับลอร์ดเนธานว่า เรื่องนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ ข้าพเจ้ายังไม่ได้รับคำสั่งประการใด แต่พอชี้แจงข้อเท็จจริงย่อ ๆ ได้ว่า ทองคำของเราที่อยู่ที่ญี่ปุ่นนั้น แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งก่อนสงคราม อีกส่วนหนึ่งระหว่างสงคราม แต่ก็ผูกหู (earmarked) เป็นของไทยโดยเด็ดขาด ฉะนั้น ไทยจึงมีความชอบธรรมที่จะได้รับคืน และในสายตาของพันธมิตรก็ไม่มากมายอะไรนัก แต่สำหรับไทยนั้น จะช่วยเหลือในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างดี เพราะไทยเราจน ถ้าไทยสามารถตั้งตัวได้ ก็ย่อมไม่มีปัญหา อังกฤษก็จะได้ประโยชน์ด้วยในทางอ้อม ลอร์ดเนธานพอใจเป็นอันมาก และกล่าวย้ำกับข้าพเจ้าอีกว่า เมื่อจะเริ่มเปิดการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษเป็นทางการเมื่อใด ขอให้ข้าพเจ้าไปพบ พร้อมทั้งขอบันทึกดังกล่าว และในระหว่างนี้ท่านจะคอยสดับตรับฟังเรื่องให้ตามสมควร ข้าพเจ้าได้ขอบคุณท่านเป็นอันมากในไมตรีจิตครั้งนี้
ระหว่างนี้ รัฐบาลเราก็เร่งข้าพเจ้ามาเรื่อยว่า อยากให้เจรจาสำเร็จโดยเร็ว อีกสองวันต่อมา คือ วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ข้าพเจ้าได้ไปพบกับนายบีสลี
ข้าหลวงใหญ่ได้กล่าวขอบคุณข้าพเจ้าที่มาเล่าให้ฟัง และว่าเมื่อสองสามวันมานี้เอง รัฐบาลออสเตรเลียได้แจ้งมายังเขาว่า ฝ่ายไทยได้ยื่นบันทึกช่วยจำต่อกงสุลใหญ่ออสเตรเลียที่กรุงเทพ ฯ แต่ไม่ได้แจ้งรายละเอียด นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษก็ได้แจ้งให้ข้าหลวงใหญ่ทราบ ว่ากำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ แต่ข้าหลวงใหญ่ทราบว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่เรื่องเหมืองแร่ของออสเตรเลีย
ต่อมาอีก ๑๑ วัน เพื่อให้เกียรติยศแก่นายเบวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษและภริยา ข้าพเจ้าได้เชิญท่านทั้งสองรับประทานอาหารค่ำที่สถานเอกอัครราชทูต นอกจากท่านทั้งสองแล้ว ข้าพเจ้าได้เชิญข้าหลวงใหญ่ออสเตรเลียและภริยา เซอร์ ออตโตนี มาเยอร
วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) นายรีฟ ที่ปรึกษากระทรวงการคลังมารายงานข้าพเจ้าว่า ทราบมาว่ากระทรวงการต่างประเทศได้มีประชุมกระทรวงที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้ตกลงกำหนด เงินก้อนซึ่งจะเรียกร้องจากรัฐบาลไทยแล้ว แต่ไม่ทราบจำนวน เวลานี้รัฐบาลอังกฤษกำลังปรึกษากับรัฐบาลเครือจักรภพอยู่ กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษจะมีประชุมเร็ว ๆ นี้ โดยให้พวกบริษัทต่างๆ ที่เสียหายยื่นคำร้อง แสดงว่าเสียหายอย่างไรบ้าง และต้องการเงินเท่าใด ส่วนการแก้ไขความตกลงสมบูรณ์แบบนั้น คงจะเพียงกระทำโดยหนังสือแลกเปลี่ยน อ้างถึงความตกลงสมบูรณ์แบบ ดีกว่าทำความตกลงใหม่ แต่ยังไม่ทราบแน่ว่ารัฐบาลอังกฤษจะให้เจรจาที่กรุงเทพ ฯ หรือที่กรุงลอนดอน อนึ่ง ตามที่ข้าพเจ้าใช้ให้นายรีฟไปพูดเป็นไปรเวทกับพวกกระทรวงการต่างประเทศว่าข้าพเจ้าได้รับคำสั่งมาจากรัฐบาล ว่าการที่อังกฤษจะบีบไทย ว่าก่อนคืนทรัพย์สินให้ จะต้องซ่อมเสียก่อนคืนทรัพย์นั้น ไทยเราเห็นว่ารีดเรามากไป เมื่อให้เงินค่าซ่อมแล้ว ก็ควรจะรับมอบไปได้ ในข้อนี้กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเห็นว่า ความเห็นของเรามีเหตุผล แต่จะขอศึกษาเรื่องก่อน ข้าพเจ้าได้รับโทรเลขรายงานเรื่องทั้งหมดนี้เพิ่มเติมไปยังรัฐบาล
รุ่งขึ้น คือ วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ก็ได้รับโทรเลขจากหลวงวิสูตรวิรัชเทศ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศว่า เกิดรัฐประหารขึ้นในประเทศไทยแล้ว จึงแจ้งมาให้ข้าพเจ้าทราบ อีกสองสามวันต่อมา พระยาศรีวิสารวาจา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลใหม่ ชุดนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้โทรเลขแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบถึงการตั้งรัฐบาลใหม่
ปฏิกิริยาในอังกฤษมีดังนี้ อังกฤษเกรงว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะเดินนโยบายร่วมกับอักษะ อย่างระหว่างสงคราม นายเดนิงได้เชิญข้าพเจ้าไปพบและแจ้งว่า รัฐบาลอังกฤษ รัฐบาลอเมริกัน และรัฐบาลจีนชาติ สามประเทศได้ปรึกษากันแล้ว จะยังไม่รับนับถือ (recognise) รัฐบาลนี้ จนกว่าจะพอใจว่าได้มีการจัดตั้งรัฐบาลตามแบบประชาธิปไตย คือมีรัฐธรรมนูญ และมีการเลือกตั้ง แต่ระหว่างนี้ รัฐบาลอังกฤษรับนับถือข้าพเจ้าในฐานเป็นเอกอัครราชทูตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกนัยหนึ่ง ผู้แทนองค์พระประมุข แต่ไม่ใช่ผู้แทนรัฐบาลไทย ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าอยู่ในฐานะลำบากมาก แต่ข้าพเจ้าก็ได้รายงานการสนทนานี้เข้ามากรุงเทพ ฯ ในที่สุดข้าพเจ้าได้ตัดสินใจลาออก เพราะเห็นว่าข้าพเจ้าออกมาอังกฤษครั้งนี้ ก็โดยเหตุผลที่รัฐบาลขณะนั้นต้องการให้มาเจรจาการเมืองกับอังกฤษ เมื่อรัฐบาลนั้นต้องรัฐประหารออกไปแล้ว ผู้ที่รับการแต่งตั้งมาเป็นทูตโดยเหตุผลทางการเมือง ควรเปิดโอกาสให้รัฐบาลใหม่มีมืออิสระ ไม่อยู่ในฐานะลำบากใจในเมื่อต้องการปลดหรือโยกย้าย แต่เมื่อรัฐบาลอังกฤษยังไม่รับรองรัฐบาลใหม่ แต่กลับรับนับถือข้าพเจ้า ในฐานเป็นเอกอัครราชทูตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าก็มีหน้าที่ต่อองค์พระประมุขและชาติที่จะรับใช้ชาติต่อไป จนกว่ารัฐบาลอังกฤษจะรับนับถือรัฐบาลใหม่ มิฉะนั้น ก็เท่ากับประเทศชาติไม่มีผู้แทน ในการนี้ข้าพเจ้าจึงคงปฏิบัติงานไปตามปกติ และรายงานเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ไปยังพระยาศรีวิสารวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ต่อไปดังเดิม ในงานเกี่ยวกับพิธีการกับอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษยังคงปฏิบัติกับข้าพเจ้าเช่นเคยทุกอย่าง เช่น ไปในงานประจำปีของนายกเทศมนตรีของกรุงลอนดอน (Lord Mayor’s Dinner) ซึ่งเป็นงานใหญ่มาก เพราะนายกเทศมนตรีเลี้ยงคณะรัฐมนตรีและคณะทูต เนื่องจากเข้ารับตำแหน่งใหม่ งานอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าหญิงเอลิซะเบธ
ส่วนเรื่องการเจรจานั้น เมื่อรัฐบาลอังกฤษมีท่าทีและปฏิกิริยาดังกล่าว รัฐบาลเราจึงเรียกนายรีฟ ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง กลับกรุงเทพฯ เป็นอันว่าการเจรจาต้องระงับลง ต่อมาในวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ (ค.ศ. ๑๙๔๘) รัฐบาลอังกฤษ รัฐบาลอเมริกัน และรัฐบาลจีนชาติ เห็นว่ารัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยถูกต้องแล้ว จึงได้แจ้งการรับนับถือรัฐบาลไทยให้รัฐบาลทราบ และกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบล่วงหน้าประมาณ ๖ วัน ข้าพเจ้าได้โทรเลขรายงานให้รัฐบาลทราบ และพร้อมกันนั้นได้เขียนจดหมายถึงพระยาศรีวิสารวาจา
โดยสรุป ข้าพเจ้ามาถึงประเทศอังกฤษและเข้ารับตำแหน่งในวันถวายพระราชสาสน์เมื่อ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ออกจากตำแหน่งทูต เมื่อเดินทางถึงกรุงเทพ ฯ คือ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ (ค.ศ. ๑๙๔๘) รวมเวลาที่เป็นทูตในลอนดอนไม่ถึงหนึ่งปี ได้ทำหน้าที่จริงจังเกี่ยวกับการเจรจาข้อราชการเพียง ๕ เดือน ข้าพเจ้าขอขอบใจเพื่อนข้าราชการที่รับราชการอยู่ด้วยในขณะนั้นที่ให้ความร่วมมือกับข้าพเจ้าเป็นอย่างดี สมัครสมานสามัคคี นำเกียรติมาสู่ชาติบ้านเมือง
สำหรับรัฐบาลอังกฤษนั้น แม้ข้าพเจ้าจะมีเวลาน้อยที่ได้ติดต่อเจรจากับผู้แทนฝ่ายเขาก็ตาม แต่ในการเจรจาก็ดี ในการติดต่อสังสรรค์ก็ดี ข้าพเจ้าได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจริงๆ และได้รับความสะดวกทุกประการ
เมื่อเป็นอันแน่นอนว่า ข้าพเจ้าจะกลับกรุงเทพฯ รัฐบาลอังกฤษได้กรุณาให้ดินเนอร์ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ (ค.ศ. ๑๙๔๘) ที่โรงแรมซาวอย ที่ข้าพเจ้ากล่าวว่ารัฐบาลอังกฤษให้ดินเนอร์นั้น เพราะในบัตรเชิญเขาใส่ว่า His Majesty Government in the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland เป็นผู้เชิญ ในการนี้ นายคริสโตเฟอร์ เมฮิว
DINNER TO SIAMESE AMBASSADOR 27th May 1948
The British Government held a dinner on Thursday, May 27th at Savoy Hotel, London, in honour of the retiring Siamese Ambassador, His Excellency Nai Direk Jayanâma and Madame Jayanâma. Mr. Christopher Mayhew M.P., Parliamentary UnderSecretary of State for Foreign Affairs, presided at the dinner, and the guests included other well-known figures in British Parliamentary and diplomatic life.
In a speech of farewell to Their Excellencies, Mr. Mayhew expressed his deep regret at the departure from England of Nai and Madame Direk who, he said, had made numerous friends as well in private as in official circles and would be greatly missed. Mr. Mayhew referred to the Ambassador s distinguished career in the service of his country and warmly praised the understanding of the British people and institutions shown by Nai Direk, as well as his unremitting efforts to further the traditional friendship between the Siamese and British peoples. He said he was sure that the Ambassador, as an acute observer, would have appreciated that the economic difficulties confronting Great Britian at the present time were the result of no inherent weakness, either material, or moral, but of the tremendous expenditure of effort made in the cause of freedom during the late war. He was sure that the Ambassador had sensed the strength and unity of our people, based on a common tradition of democratic liberty. Great Britian valued greatly the common ties linking her with Siam. Ms. Mayhow concluded by expressing his hope that Their Excellencies had enjoyed their time in London and would retain as warm a recollection of Great Britain as the British people would certainly retain of them.
His Excellency the Siamese Ambassador, in a reply of great charm and distinction, which deeply moved his fellow guests, thanked Mr. Mayhew for his appreciation of the services he had been able to render in the country in enabling him to make Siam better known and understood. He expressed his warm affection for Great Britain and for all the many friends whom he had known here. He said that his stay in England would remain a permanently happy memory and that he and Madame Direk deeply regretted their departure.
ส่วนการเจรจาเลิกหรือแก้ไขความตกลงสมบูรณ์แบบ ก็เป็นอันระงับชั่วคราว ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการแลกเปลี่ยนหนังสือแก้ไขบางเรื่อง เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม และ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๓ (ค.ศ. ๑๙๕๐) และวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ (ค.ศ. ๑๙๕๑) รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตกลงชำระเงินก้อนที่เจรจาค้างอยู่ในสมัยข้าพเจ้าเป็นทูตที่ลอนดอนดังกล่าว แล้ว เงินก้อนที่รัฐบาลตกลงชำระในครั้งนี้เป็นเงิน ๕,๒๒๔,๒๒๐ ปอนด์ แม้จะชำระเงินให้แล้วก็ดี แต่ต่อมาอีก ๓ ปี จึงได้มีการแลกเปลี่ยนหนังสือเลิกความตกลงสมบูรณ์แบบ เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ (ค.ศ. ๑๙๕๔)
ระหว่างข้าพเจ้าและครอบครัวเดินทางมาโดยเรือวิลเฮล์มไรซในมหาสมุทรอินเดีย ได้รับวิทยุโทรเลขจากนายแมลคอล์ม แมคโดแนลด์
ข้าพเจ้าเดินทางถึงกรุงเทพวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ (ค.ศ. ๑๙๔๘) และขาดจากตำแหน่งหน้าที่ในวันนั้น ภารกิจของข้าพเจ้าอันเกี่ยวกับการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเป็นอันสิ้นสุดลงในวันนั้น
-
๑. พระชนกนาถของพระราชินีเอลิซะเบธที่สอง พระมหากษัตริย์ปัจจุบันของอังกฤษ ↩
-
๒. ปัจจุบันเป็นเอกอัครราชทูตประจำอินโดนีเซีย ↩
-
๓. ต่อมาเป็นพลโท และเอกอัครราชทูตประจำประเทศญี่ปุ่น และเอธิโอเปีย ปัจจุบันนอกราชการ ↩
-
๔. ต่อมาเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง ปัจจุบันนอกราชการ ↩
-
๕. ต่อมาเป็นเอกอัครราชทูตประจำหลายประเทศ ปัจจุบันนอกราชการ ↩
-
๖. ถึงแก่กรรมแล้ว ↩
-
๗. ปัจจุบันเป็นอุปทูตประจำประเทศลังกา ↩
-
๘. สมเด็จพระราชชนนีของพระเจ้าจ๊อชที่หก เสด็จสวรรคตแล้ว ↩
-
๙. ถึงอนิจกรรมแล้ว ↩
-
๑๐. ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเขอร์ และถึงอสัญกรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ (ค.ศ. ๑๙๖๕) ↩
-
๑๑. ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เอิร์ล ↩
-
๑๒. ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเซอร์ และเป็นเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ ↩
-
๑๓. นายริชาร์ด แอลเลน (Richard Ellen) ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเซอร์ และเป็นเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศพม่า ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ ↩
-
๑๔. รายละเอียดดูบทที่ ๔ ของภาคสาม ข้างต้น ↩
-
๑๕. เดิมเป็นเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงไคโร เมื่อเสร็จสงครามแล้ว ได้รับแต่งตั้งมาเป็นข้าหลวงใหญ่พิเศษประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ สิงคโปร์ มีหน้าที่ให้คำแนะนำรัฐบาลอังกฤษ ในปัญหาอันกระทบถึงการเมืองระหว่างประเทศของภูมิภาคนี้ และสำรวจฐานะอาหารของภูมิภาคนี้ และแนะนำรัฐบาล ท่านผู้นี้ถึงอนิจกรรมเสียแล้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ (ค.ศ. ๑๙๖๔) ↩
-
๑๖. คาดคะเนตามความตกลงสมบูรณ์แบบ ↩
-
๑๗. พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ↩
-
๑๘. หลวงอรรถกิติกำจร ↩
-
๑๙. นาย D. W. Reeve ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง รัฐบาลส่งมาให้ช่วยข้าพเจ้าในเรื่องการเจรจาจำนวนเงินที่อังกฤษจะเรียกเกี่ยวกับการชดใช้ทดแทนตามความตกลงสมบูรณ์แบบ นาย Reeve เป็นรองนายดอลล์ ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการคลังของรัฐบาล ↩
-
๒๐. หมายถึงเรื่องเจรจาเพื่อแก้ไข หรือยกเลิกความตกลงสมบูรณ์แบบ และเรื่องค่าทดแทนตามความตกลงสมบูรณ์แบบ ↩
-
๒๑. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและข้าพเจ้า ต่างก็จะเดินทางไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นิวยอร์ค ในวันที่ ๑๕ กันยายน ศกเดียวกัน ↩
-
๒๒. ดูตัวบทความตกลงสมบูรณ์แบบในภาคผนวก ↩
-
๒๓. ดูเรื่องเราสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติข้างต้น ↩
-
๒๔. นายเดนิงเซ็นความตกลงสมบูรณ์แบบที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) กับคณะผู้แทนไทย ซึ่งมีพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงเป็นหัวหน้า ดูการเจรจากับอังกฤษ ในบทที่ ๑ ภาคที่สามข้างต้น ↩
-
๒๕. นายอีสต์แมน ปัจจุบันเป็นข้าหลวงใหญ่ออสเตรเลีย ประจำกัวลาลัมเปอร์ ↩
-
๒๖. ถึงอนิจกรรมเสียแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ (ค.ศ. ๑๙๖๓) ↩
-
๒๗. ทราบว่าท่านผู้นี้ถึงแก่อนิจกรรมเสียแล้ว ระหว่างประเทศในเครือจักรภพด้วยกัน เรียกชื่อทูตของตนว่า ข้าหลวงใหญ่ (High Commissioner) แทนที่จะเรียกว่าเอกอัครราชทูต ↩
-
๒๘. ดูภาคสาม บทที่ ๑ ข้างต้น ↩
-
๒๙. ดูสัญญาสันติภาพ ซึ่งสัมพันธมิตรทำกับอิตาลีใน (Keesing’s Publication) ปี ค.ศ. ๑๙๔๗ ↩
-
๓๐. ในประเทศไทยขณะนั้น ออสเตรเลียมีผลประโยชน์ในเรื่องการทำเหมืองแร่มากที่สุดยิ่งกว่าชาติอื่น ๆ ↩
-
๓๑. ท่านผู้นี้เป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ↩
-
๓๒. เมื่อนายเบวินถึงอนิจกรรมเมื่อประมาณ ๑๐ ปีมานี้ หนังสือพิมพ์ Standard ได้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนบทความไว้อาลัย ซึ่งข้าพเจ้ายินดีสนองรับ เพราะท่านมีไมตรีจิตต่อประเทศไทยเป็นอันมาก ↩
-
๓๓. ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซะเบธที่สอง ↩
-
๓๔. สวรรคตแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ (ค.ศ. ๑๙๕๒) ↩
-
๓๕. ต่อมาเป็นองคมนตรี ปัจจุบันเป็นปลัดบัญชาการสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี ↩
-
๓๖. ต่อมาเป็น Deputy Minister of Defence ของรัฐบาลกรรมกร (แผนกกองทัพเรือ) เพิ่งลาออก เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙ (ค.ศ. ๑๙๖๖) ↩
-
๓๗. ราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ และ Exchange of Note, Thailand and Great Britain, Treaty Series, No. 19 (1954), Cmd. 9090 ↩
-
๓๘. ท่านผู้นี้เป็นบุตรนายแรมเซย์ แมคโดแนลด์ นายกรัฐมนตรี ของพรรคกรรมกรเมื่อ ๓๐ ปีกว่ามานี้ และเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคม ปัจจุบันเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำประเทศเคนยา ↩