- พระพุทธภาษิต
- ผู้เขียนขออุทิศ...
- คำนำในการพิมพ์ครั้งที่สอง
- คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ภาคหนึ่ง เริ่มสงครามด้านยุโรป ถึงเริ่มสงครามด้านเอเซีย
- ภาคสอง ระหว่างสงคราม
- บทที่ ๑ ไปญี่ปุ่น
- บทที่ ๒ สถานการณ์ทั่ว ๆ ไปของญี่ปุ่นก่อนเกิดสงคราม
- บทที่ ๓ ในญี่ปุ่นระหว่าง มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖
- บทที่ ๔ กลับเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ
- บทที่ ๕ เหตุการณ์ระหว่าง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ถึง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
- ข้อเขียนของนายทวี บุณยเกตุ
- ข้อเขียนของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์
- ข้อเขียนของพระพิศาลสุขุมวิท
- รายชื่อนักเรียนไทยในอเมริกาซึ่งได้สมัครเข้าร่วมงานต่อต้านญี่ปุ่น (คณะเสรีไทยในอเมริกา)
- ภาคสาม หลังสงคราม
- ภาคผนวก
- ๑. สัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศส
- ๒. สัญญาไม่รุกรานกับอังกฤษ
- ๓. สัญญาไม่รุกรานกับญี่ปุ่น
- ๔. อนุสัญญาสันติภาพกับฝรั่งเศส
- ๕. ความตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษ
- ๖. หนังสือแลกเปลี่ยนและหัวข้อความตกลงกับภาคผนวก
- ๗. สนธิสัญญาทางไมตรีกับจีน
- ๘. ความตกลงสันติภาพฉบับที่สุด ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
- ๙. ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
- ๑๐. คำแปลรายงานของคณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย
- ๑๑. รายงาน ความเห็นคณะกรรมาธิการวิสามัญสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติ ซึ่งคณะเสรีไทยได้ใช้จ่าย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
กติกาสัญญาไม่รุกรานกัน ระหว่าง ประเทศไทย กับ สาธารณรัฐฝรั่งเศส
สมเด็จพระราชาธิบดี พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย
และประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
มีความประสงค์ที่จะจัดประกันสันติภาพ และตระหนักว่า เป็นอันชอบด้วยประโยชน์แห่งอัครภาคี ผู้ทำสัญญาทั้งสองฝ่ายที่จะยังความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองให้ดีขึ้นและเจริญขึ้น
คำนึงถึงข้อมั่นสัญญาระหว่างประเทศที่ได้รับรองไว้แต่ก่อน ซึ่งแถลงว่า ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันในทางสันติภาพ และไม่ขัดกับสนธิสัญญานี้
มีความประสงค์ที่จะยืนยัน และเท่าที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน จะกำหนดความในกติกาสัญญาทั่วไป เพื่อสละสงครามฉบับวันที่ ๒๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๘ ให้แม่นยำ
จึงได้ตกลงทำสนธิสัญญาเพื่อการนี้ และได้ตั้งผู้มีอำนาจเต็ม คือ
ฝ่ายสมเด็จพระราชาธิบดี พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย
ฯพณฯ นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม มหาวชิรมงกุฎ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ฝ่ายประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
ฯพณฯ มองซิเออร์ ป.ป. เลปิสสิเอร์ ออฟฟิสิเอร์ แห่งเลจิอองดอนเนอร์ อัครราชทูตของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ ณ กรุงเทพ ฯ
ผู้ซึ่ง เมื่อได้แลกเปลี่ยนหนังสือมอบอำนาจ อันรับรองว่าเป็นไปตามแบบที่ดีและถูกต้องแล้ว ได้ทำความตกลงกันในบทต่อไปนี้
ข้อ ๑.
อัครภาคีผู้ทำสัญญาแต่ละฝ่ายรับรองว่า จะไม่หันเข้ากระทำสงครามหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการใช้กำลังหรือรุกรานต่ออีกฝ่ายหนึ่งในกรณีใด ๆ เลย ไม่ว่าโดยลำพัง หรือโดยร่วมกับอานุภาพภายนอกประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศก็ตาม และจะเคารพต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขตของภาคีผู้ทำสัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
ข้อ ๒.
ถ้าอัครภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถูกอานุภาพภายนอกประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศ กระทำการอันเป็นการสงครามหรือรุกราน อัครภาคีผู้ทำสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งรับรองว่า จะไม่ให้ความช่วยหรือความช่วยเหลือทางตรงหรือทางอ้อมแก่ผู้รุกราน จะเป็นประเทศเดียวหรือหลายประเทศก็ตาม ตลอดเวลาที่ใช้สนธิสัญญานี้
ถ้าอัครภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำการ อันเป็นสงครามหรือรุกรานต่ออานุภาพภายนอก อัครภาคีผู้ทำสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสนธิสัญญานี้ทันที โดยไม่ต้องบอกล่วงหน้าก็ได้
ข้อ ๓.
ข้อมั่นสัญญาที่ระบุไว้ในข้อ ๑ และข้อ ๒ นั้น จะจำกัดหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิทธิและข้อผูกพัน อันมีขึ้นสำหรับอัครภาคีผู้ทำสัญญาแต่ละฝ่ายเนื่องจากความตกลง ซึ่งตนได้ทำไว้ก่อนเริ่มใช้สนธิสัญญานี้ ไม่ได้เลย ทั้งนี้ ภาคีแต่ละฝ่ายแถลงไว้ในที่นี้ด้วยว่า ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งความตกลงใด ๆ ซึ่งมีผลผูกพันให้ตนเข้ามีส่วนในการกระทำอันเป็นสงครามหรือรุกราน ซึ่งรัฐภายนอกเป็นผู้กระทำต่อภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง
ข้อ ๔.
บทสนธิสัญญานี้ไม่ให้ถือว่ากระทบต่อสิทธิและข้อผูกพัน ซึ่งอัครภาคีผู้ทำสัญญามีอยู่ตามกติกาแห่งสันนิบาตชาติ
ข้อ ๕.
อัครภาคีผู้ทำสัญญาแต่ละฝ่ายรับรองว่า จะเคารพต่ออธิปไตย หรืออาณาซึ่งภาคีผู้ทำสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีอยู่เหนืออาณาเขตของฝ่ายนั้นทุกประการ และจะไม่แทรกแซงในการภายในแห่งอาณาเขตที่กล่าวนั้นแต่อย่างใด และจะเว้นการกระทำใด ๆ อันโน้มไปในทางก่อให้เกิดหรือช่วยการปลุกปั่น การเผยแพร่ หรือการพยายามแทรกแซงใดๆ ซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะเสื่อมบูรณภาพแห่งอาณาเขตของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองโดยใช้กำลังบังคับในอาณาเขตของฝ่ายนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
ข้อ ๖.
สนธิสัญญานี้ ซึ่งให้ใช้ตัวบทภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศสเป็นหลักฐานได้เท่าเทียมกันนั้น จะได้รับสัตยาบันและจะได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ณ กรุงเทพฯ โดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ สนธิสัญญานี้ให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบันเป็นต้นไป และให้คงใช้อยู่ต่อไปจนกว่าจะพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่อัครภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้แจ้งเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่งในอันจะเลิกสนธิสัญญา การแจ้งความที่ว่านี้ ไม่ให้กระทำในกรณีใดๆ ก่อนสิ้นกำหนดห้าปี นับแต่วันเริ่มใช้สนธิสัญญานี้
เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้มีอำนาจเต็มได้ลงนามและประทับตราสนธิสัญญานี้ไว้เป็นสำคัญ
ทำคู่กันเป็นสองฉบับ ณ กรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่สิบสอง เดือนที่สาม พุทธศักราชสองพันสี่ร้อยแปดสิบสาม ตรงกับวันที่สิบสอง เดือนมิถุนายน คริสตศักราชพันเก้าร้อยสี่สิบ
(ลงนามและประทับตรา) พิบูลสงคราม
(ลงนามและประทับตรา) Paul Lepissier
(คำแปล)
กระทรวงการต่างประเทศ
กรุงเทพฯ วันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐
ลับ
ท่านอัครราชทูต
ข้าพเจ้าขอยืนยันความตกลง ซึ่งเราได้กระทำกันนั้นมายัง ฯพณฯ ตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้
โดยคำนึงถึงสัมพันธไมตรีที่มีมาโดยผาสุกเป็นเวลาช้านาน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส และโดยที่ต่างฝ่ายต่างมีความปรารถนาที่จะรักษาสัมพันธภาพนั้นไว้ให้ทรงอยู่ในความแจ่มใส ซึ่งมิรู้วันเสื่อมคลาย รัฐบาลทั้งสองจึงตกลงกันจะระงับบรรดาข้อยุ่งยาก ในทางปกครองที่ยังมีอยู่ระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนนั้นด้วยเจตนารมณ์แห่งมิตรภาพอันดี เพื่อที่จะให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองนี้ตั้งอยู่ในฐานที่ต่างฝ่ายต่างไว้วางใจและร่วมมือกันทุกประการ
เพื่อการนี้ รัฐบาลทั้งสองได้มีมติว่า จะแก้ปัญหาข้อยุ่งยากเรื่องแม่น้ำโขง โดยให้เส้นเขตแดนในลำแม่น้ำนี้ต้องเป็นไปตามร่องน้ำที่ไทยจะเดินเรือได้สะดวกทุกฤดูกาล ฉะนั้น อาณาเขตใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปใดก็ตาม ซึ่งอยู่ข้างขวาแห่งเส้นเขตแดนนี้ ย่อมเป็นอาณาเขตไทย และอาณาเขตใดๆ ที่อยู่ข้างซ้ายแห่งเส้นเขตแดนนั้น ย่อมเป็นอาณาเขตฝรั่งเศสดุจกัน
เพื่อกำหนดเส้นเขตแดนนี้ รัฐบาลทั้งสองจะได้แต่งตั้งผู้แทน ซึ่งจะได้รับมอบอำนาจอันถูกต้อง และความตกลงระหว่างผู้แทนที่ว่านี้ ให้ใช้ได้ภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันแลกเปลี่ยนหนังสือนี้เป็นต้นไป
อนึ่ง เป็นที่เข้าใจกันว่า คณะผู้แทนฝรั่งเศสซึ่งจะอยู่ในความอำนวยของบุคคลผู้ใหญ่ชั้นเอกอัครราชทูตนั้น จะได้มีอำนาจทำการเจรจาบรรดาปัญหาในทางปกครองอื่น ๆ ที่คั่งค้างอยู่ด้วย
อย่างไรก็ดี เป็นที่กำหนดแน่นอนไว้ตั้งแต่บัดนี้ว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่ติดพันอยู่กับปัญหาซึ่งเรียกว่าเรื่องแม่น้ำโขงที่จะต้องกำหนดเส้นเขตแดนในลำแม่น้ำโขง อันคุณประโยชน์ที่จะได้ในเรื่องนี้นั้น เป็นที่กำหนดแน่นอนไว้อีกครั้งหนึ่งว่า จะเป็นอันได้มาแต่เมื่อลงนามและสัตยาบันกติกาสัญญาไม่รุกรานกันเป็นต้นไป
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังท่านอัครราชทูต
(ลงนาม) พิบูลสงคราม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ฯ พณ ฯ
มองสิเออร์ ป.ป. เลปิสสิเอร์
อัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
กรุงเทพ ฯ
(คำแปล)
สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย
ที่ ๗๗/๔๐/ก.
สาธารณรัฐฝรั่งเศส
กรุงเทพฯ วันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐
ลับ
ท่านนายกรัฐมนตรี
ข้าพเจ้าขอยืนยันความตกลง ซึ่งเราได้กระทำกันนั้นมายัง ฯพณฯ ตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้
โดยคำนึงถึงสัมพันธไมตรีที่มีมาโดยผาสุกเป็นเวลาช้านาน ระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย และโดยที่ต่างฝ่ายต่างมีความปรารถนาที่จะรักษาสัมพันธภาพนั้นไว้ให้ทรงอยู่ในความแจ่มใส ซึ่งมิรู้วันเสื่อมคลาย รัฐบาลทั้งสองจึงตกลงกันจะระงับบรรดาข้อยุ่งยาก ในทางปกครองที่ยังมีอยู่ระหว่างอินโดจีนกับประเทศไทยนั้นด้วยเจตนารมณ์แห่งมิตรภาพอันดี เพื่อที่จะให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองนี้ตั้งอยู่ในฐานที่ต่างฝ่ายต่างไว้วางใจและร่วมมือกันทุกประการ
เพื่อการนี้ รัฐบาลทั้งสองได้มีมติว่า จะแก้ปัญหาข้อยุ่งยากเรื่องแม่น้ำโขง โดยให้เส้นเขตแดนในลำแม่น้ำนี้ต้องเป็นไปตามร่องน้ำที่ไทยจะเดินเรือได้สะดวกทุกฤดูกาล ฉะนั้น อาณาเขตใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปใดก็ตาม ซึ่งอยู่ข้างขวาแห่งเส้นเขตแดนนี้ ย่อมเป็นอาณาเขตไทย และอาณาเขตใด ๆ ที่อยู่ข้างซ้ายแห่งเส้นเขตแดนนั้น ย่อมเป็นอาณาเขตฝรั่งเศสดุจกัน
เพื่อกำหนดเส้นเขตแดนนี้ รัฐบาลทั้งสองจะได้แต่งตั้งผู้แทน ซึ่งจะได้รับมอบอำนาจอันถูกต้อง และความตกลงระหว่างผู้แทนที่ว่านี้ ให้ใช้ได้ภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันแลกเปลี่ยนหนังสือนี้เป็นต้นไป
อนึ่ง เป็นที่เข้าใจกันว่า คณะผู้แทนฝรั่งเศสซึ่งจะอยู่ในความอำนวยของบุคคลผู้ใหญ่ชั้นเอกอัครราชทูตนั้น จะได้มีอำนาจทำการเจรจาบรรดาปัญหาในทางปกครองอื่น ๆ ที่คั่งค้างอยู่ด้วย
อย่างไรก็ดี เป็นที่กำหนดแน่นอนไว้ตั้งแต่บัดนี้ว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่ติดพันอยู่กับปัญหาซึ่งเรียกว่าเรื่องแม่น้ำโขงที่จะต้องกำหนดเส้นเขตแดนในลำแม่น้ำโขง อันคุณประโยชน์ที่จะได้ในเรื่องนี้นั้น เป็นที่กำหนดแน่นอนไว้อีกครั้งหนึ่งว่า จะเป็นอันได้มาแต่เมื่อลงนามและสัตยาบันกติกาสัญญาไม่รุกรานกันเป็นต้นไป
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายังท่านนายกรัฐมนตรี
(ลงนาม) ปอล เลปิสสิเอร์
ฯ พณ ฯ นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
กรุงเทพฯ