- พระพุทธภาษิต
- ผู้เขียนขออุทิศ...
- คำนำในการพิมพ์ครั้งที่สอง
- คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ภาคหนึ่ง เริ่มสงครามด้านยุโรป ถึงเริ่มสงครามด้านเอเซีย
- ภาคสอง ระหว่างสงคราม
- บทที่ ๑ ไปญี่ปุ่น
- บทที่ ๒ สถานการณ์ทั่ว ๆ ไปของญี่ปุ่นก่อนเกิดสงคราม
- บทที่ ๓ ในญี่ปุ่นระหว่าง มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖
- บทที่ ๔ กลับเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ
- บทที่ ๕ เหตุการณ์ระหว่าง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ถึง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
- ข้อเขียนของนายทวี บุณยเกตุ
- ข้อเขียนของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์
- ข้อเขียนของพระพิศาลสุขุมวิท
- รายชื่อนักเรียนไทยในอเมริกาซึ่งได้สมัครเข้าร่วมงานต่อต้านญี่ปุ่น (คณะเสรีไทยในอเมริกา)
- ภาคสาม หลังสงคราม
- ภาคผนวก
- ๑. สัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศส
- ๒. สัญญาไม่รุกรานกับอังกฤษ
- ๓. สัญญาไม่รุกรานกับญี่ปุ่น
- ๔. อนุสัญญาสันติภาพกับฝรั่งเศส
- ๕. ความตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษ
- ๖. หนังสือแลกเปลี่ยนและหัวข้อความตกลงกับภาคผนวก
- ๗. สนธิสัญญาทางไมตรีกับจีน
- ๘. ความตกลงสันติภาพฉบับที่สุด ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
- ๙. ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
- ๑๐. คำแปลรายงานของคณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย
- ๑๑. รายงาน ความเห็นคณะกรรมาธิการวิสามัญสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติ ซึ่งคณะเสรีไทยได้ใช้จ่าย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
บทที่ ๕ การเจรจากับฝรั่งเศส
ได้กล่าวในภาคที่หนึ่ง บทที่สาม เกี่ยวกับการพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) และในที่สุด ญี่ปุ่นได้เข้าเป็นผู้ไกล่เกลี่ย และได้ทำอนุสัญญาสันติภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปีนั้น แต่เมื่อเสร็จสงครามครั้งนี้ ฝรั่งเศสถือว่าเป็นฝ่ายสหประชาชาติซึ่งชนะสงคราม จึงจะเอาดินแดนจากไทยกลับไปอีก และประกาศว่าฝรั่งเศสยังมีสถานะสงครามกับไทย จนกว่าไทยจะยอมคืนดินแดนให้ และไม่รับรู้อนุสัญญาสันติภาพดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นอนุสัญญาสันติภาพที่ญี่ปุ่นบีบบังคับรัฐบาลฝรั่งเศสที่วิชี ให้จำต้องตกลงยินยอม
เรื่องการเจรจากับฝรั่งเศสนี้ เริ่มต้นตั้งแต่เสร็จสงครามใหม่ๆ ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช แต่ขณะนั้นข้าพเจ้ารับตำแหน่งทางกระทรวงการคลัง เมื่อข้าพเจ้าเข้ามารับตำแหน่งในกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) การเจรจายังค้างอยู่ จึงได้เจรจาต่อเนื่องกันมา เสร็จสิ้นลงโดยคณะกรรมการประนอม๑ ซึ่งไทยกับฝรั่งเศสตั้งขึ้นพิจารณา และมีความเห็นให้ไทยคืน เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ในสมัยรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และขณะนั้นข้าพเจ้าเพิ่งออกไปรับราชการที่ประเทศอังกฤษ
เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบเรื่องติดต่อกัน ขอเล่าข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงไม่กี่วัน นายเบิร์ด (Bird) ผู้แทนฝ่ายอังกฤษ ซึ่งเข้ามาประจำในกรุงเทพ ฯ ได้แจ้งต่อรัฐบาลในขณะนั้น๒ ว่า เกี่ยวกับดินแดนที่ประเทศไทยได้มาจากอินโดจีนฝรั่งเศสนั้น สัมพันธมิตรได้ยืนยันมาแล้วแต่แรกว่า ไม่รับรองการได้มาซึ่งดินแดนใด ๆ โดยอำนาจอิทธิพลของฝ่ายอักษะ จึงขอให้รัฐบาลไทยประกาศเจตจำนงให้แน่ชัด เพื่อที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะได้พิจารณาประกาศสันติภาพของประเทศไทยต่อไป นายควง อภัยวงศ์ ซึ่งยังคงรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ เพราะยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จึงได้ขออนุมัติผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้สำนักนายกรัฐมนตรีออกคำแถลงการณ์เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ว่า แม้ประกาศพระบรมราชโองการสันติภาพ ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ดังกล่าวแล้วข้างต้น จะมิได้กล่าวถึงเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนก็ดี แต่โดยที่ประเทศไทยปรารถนาที่จะแสวงหาความเป็นธรรม ฉะนั้น หากได้มีการพิจารณาตามวิธีการของธรรมนูญสหประชาชาติ (กฎบัตร สหประชาชาติ) แห่งนครซานฟรานซิสโกแล้ว ประเทศไทยก็พร้อมที่จะรับปฏิบัติตามผลแห่งการพิจารณาวินิจฉัยตามหลัก ซึ่งสหประชาชาติได้วางไว้
ต่อมา ในกลางเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ผู้แทนฝ่ายอังกฤษดังกล่าวได้ไปพบนายกรัฐมนตรี๓ และแสดงความปรารถนาของรัฐบาลอังกฤษ ที่จะได้เห็นประเทศไทยกับฝรั่งเศสทำความตกลงกันเสีย และต่อมาอีกไม่กี่วัน ผู้บัญชาการทหารสัมพันธมิตรในประเทศไทย๔ ได้มีหนังสือถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แจ้งว่า รัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดส่งผู้แทนมายังเมืองแคนดี เกาะลังกา เพื่อทำความตกลงกับไทย ในลักษณะเดียวกันกับความตกลงที่ไทยจะทำกับอังกฤษ และในวันเดียวกันนี้เองคือ วันที่ ๑๘ กันยายน ผู้แทนอังกฤษได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี๕ ความว่า ตามหนังสือจากผู้บัญชาการทหารสัมพันธมิตรในประเทศไทยถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขอส่งคำเชื้อเชิญโดยปริยายให้รัฐบาลไทยส่งผู้แทนไปเจรจากับฝรั่งเศสนั้น ได้กระทำไปในนามของผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพันธมิตรประจำภาคเอเซียอาคเนย์๖ ซึ่งณ ที่นี้ถือว่าเป็นตัวแทนของฝรั่งเศสด้วย
ในปลายเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) รัฐบาลส่งคณะผู้แทน ซึ่งมีพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงเป็นหัวหน้า ออกไปเจรจากับอังกฤษดังกล่าวแล้วข้างต้น๗ ในระหว่างการเจรจากับอังกฤษนี้ ผู้แทนฝรั่งเศส๘ซึ่งมาอยู่ที่เมืองแคนดี ได้ถือโอกาสเฝ้าพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และยื่นหนังสือเป็นทางการ ขอให้นำเสนอผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า รัฐบาลฝรั่งเศสถือว่าประเทศฝรั่งเศสยังอยู่ในฐานะเป็นศัตรูกับประเทศไทย แต่พร้อมที่จะเจรจาเพื่อฟื้นฟูสัมพันธภาพเป็นปกติ โดยยึดถือมูลฐานแห่งการกลับคืนสู่สภาพก่อนเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓๙ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ท่านหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ทรงรายงานว่า นอกจากนี้ผู้แทนฝรั่งเศสยังได้แจ้งข้อเรียกร้องที่รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการจากประเทศไทย กล่าวคือให้ประเทศไทยยอมทำความตกลงอันมีลักษณะคล้ายคลึงกับหัวข้อความตกลงซึ่งฝ่ายไทยจะได้ลงนามกับรัฐบาลอังกฤษ แต่ไม่รวมถึงภาคผนวก ทั้งรัฐบาลฝรั่งเศสต้องการให้ไทยคืนดินแดนที่ได้รับไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ตลอดจนขอพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ด้วย หัวหน้าคณะผู้แทนได้ตอบผู้แทนฝรั่งเศสไปว่า โดยที่มิได้รับอำนาจมาจากรัฐบาล จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเจรจากับฝรั่งเศสได้ อย่างไรก็ดี ผู้แทนฝ่ายไทยได้แจ้งเป็นการส่วนตัวว่า มิได้มีความเห็นสอดคล้องกับฝรั่งเศสในเรื่องสถานะเป็นศัตรูระหว่างประเทศทั้งสอง เพราะสันติภาพได้กลับคืนมาสู่ประเทศทั้งสองแล้วโดยอนุสัญญาสันติภาพลงวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)๑๐ ส่วนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับพระแก้วมรกตนั้น เชื่อว่าคงไม่มีรัฐบาลชุดใดที่จะสามารถรับฟังได้ แน่นอนที่ผู้แทนฝรั่งเศสเสนอจะขอพระแก้วมรกตนั้น ก็โดยคำสั่งของรัฐบาลเขา ต่อมาผู้แทนฝรั่งเศสได้แจ้งต่อผู้แทนไทยว่า พร้อมที่จะถอนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับพระแก้วมรกตนั้น ข้าพเจ้ายังจำได้ดีว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีมาเล่าเหตุการณ์นี้ให้คณะรัฐมนตรีฟังนั้น๑๑ ที่ประชุมเห็นเป็นคำขอน่าขบขันเพื่อที่จะยั่วกันมากกว่า
ต่อมาผู้แทนอังกฤษที่แคนดี แจ้งแก่ผู้แทนไทยว่า อังกฤษเร่งร้อนที่จะได้เห็นไทยกับฝรั่งเศสกลับมีสัมพันธไมตรีโดยสันติโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับดินแดนที่ไทยได้รับคืนไปนั้น ผู้แทนอังกฤษได้แจ้งว่า สัมพันธมิตรเห็นว่าไทยควรจะคืนดินแดนส่วนที่ได้มาให้แก่ฝรั่งเศสเสียก่อน และสงวนสิทธิไว้ในอันที่จะยกปัญหาขึ้นเสนอต่อองค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนไทยได้ให้ข้อสังเกตแก่ฝ่าย อังกฤษเช่นเดียวกับที่ได้ตอบไปกับผู้แทนฝรั่งเศส ผู้แทนอังกฤษตอบว่า ปัญหาสถานะศัตรูนั้นอาจจะเจรจากับฝรั่งเศสได้ ส่วนในเรื่องพระแก้วมรกตนั้น เขาได้แนะให้ฝรั่งเศสถอนข้อเรียกร้องนี้แล้ว ในที่สุดผู้แทนอังกฤษได้เสนอว่า ถ้าเริ่มการเจรจาเสียในเมืองแคนดีได้ ก็จะดี และอังกฤษรับจะทำหน้าที่เป็นนายหน้าที่สุจริต (honest broker)๑๒
เมื่อได้รับรายงานจากคณะผู้แทนดังกล่าว รัฐบาล๑๓จึงสั่งให้คณะผู้แทนอธิบายกับผู้แทนอังกฤษและอเมริกันดังต่อไปนี้
ก) รัฐบาลไทยประหลาดใจเป็นอันมากในท่าทีของฝรั่งเศส ที่ถือว่า มีสถานะศัตรูระหว่างประเทศทั้งสอง ทั้งนี้ เพราะทั้งสองฝ่ายมิได้มีการประกาศสงคราม และมิได้มีการรบพุ่งกันในทางปฏิบัติ ในประการที่สอง ขบวนการต่อต้านของไทยและของฝรั่งเศสก็ถือว่าเป็นการทำงานขนานกันไป และในที่สุดขบวนการต่อต้านของไทยที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐบาลแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับขบวนเสรีฝรั่งเศส ก็ได้รับหน้าที่ให้เป็นรัฐบาลชั่วคราวของฝรั่งเศส นอกจากนี้ ขบวนการต่อต้านทั้งสองต่างก็ได้ร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อต่อสู้กับประเทศอักษะ ฉะนั้นจึงไม่ชอบด้วยเหตุผลที่จะถือว่าขบวนการต่อต้านทั้งสองเป็นศัตรูต่อกัน อนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับอินโดจีน ขบวนการต่อต้านของไทยก็ได้ช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ฝรั่งเศสด้วย อาทิ ในการสืบหาข่าว ซึ่งทั้งหน่วย ๑๓๖ ของอังกฤษ (Force 136) และหน่วย โอ.เอส. เอส. (O.S.S.) ของอเมริกา๑๔ย่อมทราบดีว่า ในระหว่างสงครามในบางกรณี เมื่อฝ่ายฝรั่งเศสไม่สามารถจะสืบข่าวจากแหล่งที่เชื่อถือในอินโดจีนได้ ขบวนการต่อต้านของไทยก็ได้ช่วยสืบหาให้ ในประการที่สาม ถึงแม้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสในสมัยนั้นจะยอมอนุญาตให้กองทัพเรือญี่ปุ่นใช้อินโดจีนเป็นฐานทัพสำหรับรุกรานไทยและมลายูก็ตาม ท่าทีของไทยต่ออินโดจีนฝรั่งเศสและต่อประเทศฝรั่งเศสเองก็ได้เป็นมาอย่างฉันมิตรโดยมิได้เปลี่ยนแปลง ดังจะเห็นได้จากประจักษ์พยานที่ประเทศไทยได้ต้อนรับเลี้ยงและช่วยเหลือคนชาติฝรั่งเศสที่หลบหนีภัยเข้ามาในประเทศไทย
ข) อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยก็พร้อมที่จะเจรจากับฝรั่งเศสในโอกาสอันควร ทั้งนี้ เพราะเป็นความปรารถนาอันแท้จริงและเป็นความตั้งใจอันแน่วแน่ของเราที่จะกระทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมสันติภาพ และความสัมพันธ์ฉันมิตร และการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีที่สุด ทั้งในภาคนี้และภาคอื่น ๆ ของโลก แต่ทว่าในขณะนี้ยังมิใช่เวลาอันเหมาะสมที่จะทำการเจรจากับฝรั่งเศส
ค) สถานการณ์ปัจจุบันในอินโดจีนก็ยังไม่อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย แต่ส่วนประชาชนที่อยู่ในดินแดนซึ่งประเทศไทยได้รับกลับคืนมานั้น ต่างมีเสรีภาพ และได้รับสิทธิตามเสรีภาพ โดยสามารถเลือกตั้งผู้แทนของตนให้เข้ามาร่วมประชุมในสภาผู้แทนราษฎร ถ้าประชาชนเหล่านี้จะต้องเสียสิทธิที่กล่าว โดยการคืนดินแดนให้กลับไปอยู่กับฝรั่งเศสแล้ว เขาก็คงจะรู้สึกขุ่นเคืองและมีความรู้สึกขมขื่นต่อประเทศไทยที่ทำให้เขากลับต้องตกไปอยู่ในฐานะลำบาก
ง) ถึงแม้ว่าจะพิจารณาตามท่าทีทั่วไปของพันธมิตร ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตที่ได้กระทำกันมา นับแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙) แล้ว ฐานะของดินแดนที่ไทยได้รับกลับคืนมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ก็ยังแตกต่างกับฐานะของดินแดนฝรั่งเศสในยุโรป ยกตัวอย่างเช่น มณฑล อัตซาส ลอเรน เป็นต้น ดินแดนนี้ควรจะกลับคืนไปอยู่กับฝรั่งเศส เพราะประชาชนเป็นฝรั่งเศส ทั้งเมื่อได้กลับคืนไปอยู่กับฝรั่งเศสแล้ว ประชาชนที่ได้เป็นเสรีหลุดพ้นจากการปกครองของเยอรมันนี แต่ในส่วนดินแดนที่ไทยได้รับคืนมานี้ ประชาชนเป็นเสรีอยู่แล้ว แต่จะกลับถูกตัดเสรีภาพ ถ้ากลับไปอยู่กับฝรั่งเศส
จ) อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาเห็นเป็นการสมควร และโดยสอดคล้องกับหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ ในอันที่จะพิสูจน์เจตจำนงของประชาชนในดินแดนที่กล่าวแล้ว รัฐบาลแห่งประเทศไทยก็พร้อมที่จะต้อนรับคณะกรรมการ ซึ่งอาจประกอบด้วยผู้แทน ๔ มหาอำนาจซึ่งอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคง คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน และรัสเซีย ให้เข้ามาดำเนินการบริหารในดินแดนที่กล่าว เป็นระยะเวลาพอสมควร เช่น ๖ เดือนเป็นต้น แล้วให้มีการดำเนินการออกเสียงขอประชามติ (plebiscite)
ฉ) ส่วนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรนั้น ไม่มีรัฐบาลไทยชุดใดที่ยังเคารพตนเองอยู่สามารถจะรับฟังได้
ต่อมาในวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ผู้แทนฝ่ายอังกฤษที่แคนดี มีหนังสือมาถึงผู้แทนไทยว่า นับตั้งแต่แรกเริ่มการติดต่อ ผู้แทนอังกฤษได้แจ้งให้ฝ่ายไทยทราบถึงความสำคัญ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้ให้แก่การกระทำความตกลงระหว่างไทยกับฝรั่งเศส บัดนี้ ผู้แทนอังกฤษรู้สึกว่า จำเป็นจะต้องแจ้งให้ไทยทราบเป็นลายลักษณ์อักษรว่า เงื่อนไขของอังกฤษไม่ได้รวมถึงปัญหาเรื่องดินแดนที่ประเทศไทยได้มาจากอินโดจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) เพราะเป็นที่อนุมานได้ว่า ปัญหานี้จะได้ตกลงให้ลุล่วงไปในระหว่างไทยกับฝรั่งเศสโดยเป็นที่พึงพอใจแก่ฝรั่งเศสในความตกลง ซึ่งจะได้เจรจาพร้อมกันไปกับความตกลงส่วนของอังกฤษ นอกจากนี้ผู้แทนอังกฤษยังได้แจ้งให้ฝ่ายไทยทราบว่า ไม่ยอมรับนับถือการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับดินแดนที่ได้มีขึ้นโดยการใช้กำลังบังคับระหว่างเวลานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองได้อุบัติขึ้น โดยที่ฝรั่งเศสมีฐานะเป็นพันธมิตรของบริเตนใหญ่ ฉะนั้น ผู้แทนอังกฤษจึงขอสงวนสิทธิที่จะกล่าวถึงปัญหาเรื่องดินแดนนี้ไว้ในความตกลงระหว่างอังกฤษกับไทยอีกด้วย ถ้าจำเป็น และในอันที่จะเติมบทบัญญัติเพื่อให้เป็นไปดังว่านั้น (ไม่ว่าในเวลาใด) ได้ด้วย จนกว่าจะมีการลงนามในความตกลงสมบูรณ์แบบ
วันที่ ๒๘ ตุลาคม ปีเดียวกัน ผู้แทนไทยได้ตอบอังกฤษไปว่า ในส่วนปัญหาที่ยังค้างพิจารณานั้น มีปัญหาเรื่องฝรั่งเศสในกรณีที่กล่าวนี้ ผู้แทนฝ่ายไทยเชื่อว่ารัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความเห็นว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะกีดขวางมิให้ฝรั่งเศสยกปัญหาเรื่องนี้ขึ้นเจรจาตามวิถีทางปรกติได้ทุกขณะ
นับแต่นั้นมาการเจรจาเรื่องฝรั่งเศสก็เงียบไป วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) หนังสือพิมพ์ไทมส์ในกรุงลอนดอน ลงข่าวว่า รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศว่า ในการเรียกร้องขอคืนดินแดนจากไทยครั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลอเมริกัน ได้ให้คำมั่นแก่รัฐบาลฝรั่งเศสแล้วว่า จะสนับสนุนการเรียกร้อง เรื่องนี้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ในฐานเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานในคณะรัฐมนตรีว่า ได้ถามทั้งทูตอังกฤษและทูตอเมริกันแล้ว ทั้งสองนายรับรองว่าเป็นความจริง เพราะเรื่องนี้ทั้งอังกฤษและอเมริกาได้ปฏิบัติตามนโยบายสถานภาพเดิม (Status Quo) คือไม่รับนับถือการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตระหว่างสงคราม
เรื่องเงียบมาจนกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ในสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ อังกฤษแจ้งมาอีกว่า ขอให้ส่งคณะผู้แทนไปเจรจากับฝรั่งเศสที่สิงคโปร์ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติตั้งคณะผู้แทนขึ้นชุดหนึ่ง แต่คณะผู้แทนยังไม่ทันออกเดินทาง ก็พอที่รัฐบาลลาออก รัฐบาลใหม่ คือ รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ เข้ารับหน้าที่แทน ในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) และข้าพเจ้ากลับเข้าเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น
ข้าพเจ้าได้ออกต้อนรับนายทอมปสัน อัครราชทูตอังกฤษ และนายโยสต์อุปทูตอเมริกันเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ดังกล่าวแล้วในตอนต้น อัครราชทูตอังกฤษได้เตือนข้าพเจ้าว่า รัฐบาลใหม่ควรรีบส่งคณะผู้แทนออกไปสิงคโปร์เพื่อเจรจากับฝรั่งเศสโดยด่วน เพราะถ้าชักช้าฝรั่งเศสอาจทำเรื่องยุ่งขึ้น (หมายถึงก่อกวนทางชายแดน) ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าเพิ่งรับมอบหน้าที่จาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ เช้าวันนี้เอง ฉะนั้น ขอเวลาพิจารณา อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้ามีความเห็นเป็นส่วนตัว เพราะยังไม่ได้พูดกันในคณะรัฐมนตรี ว่าการที่จะส่งคณะผู้แทนออกไปสิงคโปร์นั้น ก็เท่ากับไปเจรจากันเป็นทางการทีเดียว ซึ่งถ้าการเจราล้มเหลว เรื่องอาจจะไปกันใหญ่ ฉะนั้น ถ้าเปลี่ยนเป็นส่งคณะผู้แทนออกไปเป็นไปรเวท ไม่เปิดเผย และโดยที่ทราบว่ารัฐบาลอังกฤษก็มีผู้แทน คือ นายไมเคล รีต อยู่ที่ไซ่ง่อน ซึ่งเดิมเคยเป็นกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ และรู้จักเมืองไทยดี อาจจะช่วยเหลือได้มาก เมื่อไปแล้วก็จะได้พบกับนายพลเรือดาจังลิเออร์๑๕ และนายคลารัก๑๖ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและสำรวจหาทางทั่ว ๆ ไป (exchange of views and exploratory talk) เพื่อจะหามูลฐานว่า ความคิดแต่ละฝ่ายมีอย่างไร ซึ่งพอจะวางแนวได้ แล้วคณะผู้แทนรีบกลับมารายงานรัฐบาล เมื่อรัฐบาลตกลงใจในนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จึงเปิดการเจรจาเป็นทางการ เพื่อนำไปสู่ความตกลง อัครราชทูตอังกฤษตอบว่า ความเห็นส่วนตัวของเขาเห็นว่าวิธีนี้ดีมาก แต่จะขอไปตรึกตรองดูสักสองสามวันก่อน (เข้าใจว่าเพื่อขอเวลาไปหารือรัฐบาลของเขาก่อน) อย่างไรก็ดี ขอย้ำว่า ถึงแม้จะมีนายไมเคล รีต อยู่ไซ่ง่อนแล้วก็ดี ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนี้ อังกฤษจะไม่เข้าไปยุ่มย่ามด้วย ข้าพเจ้าได้ตอบว่า เป็นการถูกต้องแล้ว แต่ข้าพเจ้าหวังว่าอย่างน้อยก็คงจะช่วยในรอบนอกได้ เพราะอังกฤษที่เป็นมิตรดีของไทยและอยากให้เรื่องเรียบร้อย อัครราชทูตตอบว่า เรื่องช่วยข้างนอกนั้น รับรองจะช่วยเต็มที่
อัครราชทูตอังกฤษลากลับไป นายโยสต์ อุปทูตอเมริกันก็เข้าพบข้าพเจ้า เมื่อสนทนากันเรื่องอื่น ๆ ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น ข้าพเจ้าได้แจ้งให้อุปทูตอเมริกันทราบถึงความเห็นส่วนตัวข้าพเจ้าที่แสดงกับทูตอังกฤษ อุปทูตอเมริกันได้ตอบเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของข้าพเจ้า ว่าเป็นการป้องกันการแตกร้าวในเมื่อการเจรจาไม่เป็นผล เรื่องดินแดนนี้อุปทูตมีความเห็นว่า ยอมฝรั่งเศสเสียดีกว่า เพราะท่าทีของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาที่จะให้เปลี่ยนจากสถานภาพเดิม (Status Quo) นั้นเป็นไปไม่ได้ และการที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาตินั้น ก็จะถูกฝรั่งเศสขัดขวางอยู่เรื่อยไป
ท่าทีของอังกฤษเกี่ยวกับเรื่องดินแดนนี้ ปรากฏชัดในหนังสือของนายเดนนิง ผู้แทนอังกฤษที่สิงคโปร์ มีทูลพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ลงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) สาระสำคัญว่า รัฐบาลของสมเด็จพระมหากษัตริย์ ในสหราชอาณาจักรไม่ยอมรับนับถือการที่ประเทศไทยได้มาซึ่งอาณาเขตใด ๆ ที่ได้ภายหลังวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) การไม่ยอมรับนับถือนี้หมายความตลอดถึงอาณาเขตทั้งสิ้น ซึ่งนับว่ารัฐบาลวิชี รัฐบาลฝรั่งเศสในสมัยจอมพลเปแตงเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยกให้ไทย เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)๑๗ ส่วนท่าทีของสหรัฐอเมริกานั้น นอกจากการยืนยันด้วยวาจาของอุปทูตอเมริกันที่กรุงเทพฯ แล้ว ยังปรากฏในรายงานของหลวงดิฐการภักดี๑๘ อุปทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ลงวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ถึง มร.ว. เสนีย์ ปราโมช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น สาระสำคัญว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาปฏิเสธไม่ยอมรับข้อโต้แย้งของรัฐบาลไทยที่ว่า การคืนดินแดนในกรณีพิพาทได้กระทำไปด้วยความสมัครใจของรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่ได้แถลงไว้แล้ว รัฐบาลอเมริกันจึงไม่ยอมรับรองการยึดครองในปัจจุบันของฝ่ายไทย ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ รัฐบาลอเมริกันจึงเสียใจที่ไม่อาจจะสนับสนุนข้อเสนอของรัฐบาลไทยได้ การให้คืนดินแดนในกรณีพิพาทจะไม่กระทบกระเทือนถึงคำอุทธรณ์ใดๆ ซึ่งประเทศไทยอาจเสนอต่อองค์การสหประชาชาติในเมื่อมีโอกาส๑๙
ขอย้อนกลับมาถึงเรื่องทูตอังกฤษ ขอเอาความเห็นของข้าพเจ้าไปพิจารณา อีกสองสามวันต่อมา ทูตอังกฤษมาพบข้าพเจ้า และตอบเห็นด้วยในเรื่องจะส่งคณะผู้แทนเป็นไปรเวทไปไซ่ง่อนแทนที่จะไปสิงคโปร์ คณะรัฐมนตรีจึงตั้งคณะผู้แทน ประกอบด้วย นายเชียด อภัยวงศ์ เลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้า หลวงวิสูตรวิรัชชเทศ๒๐ และนายบุณย์ เจริญไชย๒๑ เป็นเลขานุการ
วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) คณะผู้แทนกลับมารายงานรัฐบาลว่า ได้ไปพบข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำอินโดจีน และนำสาสน์ของนายกรัฐมนตรีไปมอบให้ข้าหลวงใหญ่ แสดงความพอใจและต้อนรับคณะผู้แทนเป็นอย่างดี แต่โดยที่จะต้องไปประชุมกับผู้แทนรัฐบาลเวียตนามที่เมืองดาลัท จึงขอให้คณะผู้แทนไทยสนทนากับนายคลารัก ในการพบปะกับนายคลารัก ฝ่ายฝรั่งเศสได้ถามว่า ฝ่ายไทยพร้อมที่จะคืนดินแดนที่ได้ไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) หรือไม่ คณะผู้แทนไทยได้ตอบไปว่า การมาครั้งนี้ก็เพื่อจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาทางปัดเป่าความเข้าใจผิด รวมทั้งเพื่อหามูลฐานในอันที่จะให้มีความตกลงโดยตรง ระหว่างฝรั่งเศสกับไทยให้เป็นที่พอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายฝรั่งเศสกลับยื่นร่างความตกลงซึ่งมีลักษณะเหมือนกับความตกลงสมบูรณ์แบบ ซึ่งเราทำกับอังกฤษเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) เฉพาะในข้อสำคัญคือ ต้องคืนดินแดน ๔ จังหวัดให้แก่ฝรั่งเศสและจะต้องชดใช้ค่าเสียหายในทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ในดินแดนเหล่านี้ และซึ่งฝรั่งเศสได้เสียหายทั่วไปในประเทศไทย นอกจากนี้ ฝรั่งเศสพร้อมที่จะออกคำแถลงการณ์เป็นใจความว่า จะมีท่าทีฉันมิตรและยอมปรับเส้นเขตแดนในส่วนปลีกย่อย๒๒ (หมายความถึงให้พรมแดนตามลำแม่น้ำโขงเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ) เพื่อให้ความสะดวกแก่การเดินเรือในลำแม่น้ำโขงและการคมนาคมในระหว่างหมู่ชนต่าง ๆ คณะผู้แทนได้ตอบไปว่า ไทยปรารถนาที่จะหาวิถีทางกึ่งกลาง ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถจะตกลงกันได้ และในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐบาลไทยก็พร้อมที่จะเสนอปัญหานี้ให้องค์การสหประชาชาติพิจารณา สำหรับดินแดนที่เป็นปัญหานี้ ไทยพร้อมที่จะให้มีการลงประชามติ (Plebiscite) ผู้แทนฝรั่งเศสตอบว่า เรื่องดินแดนนี้เป็นเรื่องระหว่างไทยกับฝรั่งเศสโดยตรง ไม่เกี่ยวกับองค์การโลก ส่วนการขอประชามตินั้น แม้ว่าจะรับหลักการได้ ก็จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขว่า เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส เขมร และลาวแห่งท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ฝ่ายไทยเสนอว่าไทยพร้อมที่จะประกาศรับหลักการที่จะคืนดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส แต่ในขณะเดียวกันต้องขอให้ทำความตกลงโดยฝรั่งเศสยอมมอบดินแดนเหล่านี้ให้ไทย
ต่อมา ผู้แทนฝรั่งเศสชี้แจงกับผู้แทนไทยว่า ได้เสนอข้อเสนอของไทยไปยังรัฐบาลฝรั่งเศสแล้ว ได้รับคำสั่งให้ชี้แจงแก่คณะผู้แทนไทยว่า ฝรั่งเศสไม่สามารถที่จะรับข้อเสนอของไทยได้ จึงขอให้ไทยรีบตกลงในรูปลักษณะเดียวกับที่ฝรั่งเศสได้เสนอไว้แล้ว ทั้งนี้เพราะฝรั่งเศสได้ยอมลดหย่อนผ่อนปรนให้มากแล้ว อาทิ ยอมถอนการเรียกร้องที่เกี่ยวกับพระแก้วมรกต และยอมแถลงเรื่องการปรับเขตแดนในส่วนปลีกย่อย
ระหว่างเจรจาอยู่นี้เอง ในวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) นายกรัฐมนตรีได้แจ้งกับข้าพเจ้าว่า ได้รับโทรเลขจากนครพนม ๒ ฉบับ ฉบับที่หนึ่งมีความว่า “เวลา ๖.๓๐ น. ถึง ๗.๑๐ น. ฝรั่งเศสที่ท่าแขกยิงด้วยปืนเล็ก ปืนกล และปืนใหญ่ ขนาดปืนครกเข้ามาในเขตเทศบาลนครพนมอย่างหนัก กระสุนปืนใหญ่ถูกศาล ๔ ลูก สถานีตำรวจ ๑ ลูก พัศดุไฟไหม้แต่ดับทัน ตกที่เทศบาล ๓ ลูก นอกจากถูกบ้านเรือนราษฎร ญวนถูกกระสุนปืนใหญ่ตาย ๑ บาดเจ็บสาหัส ๒ สาเหตุเกิดจากญวน ลาวอิสระเข้ายึดเมืองหินบูรณ์ ฝรั่งเศสหาว่า คนญวนและไทยข้ามไปช่วยทำการด้วย ความจริงญวนลาวที่หลบหนีทำการกันเอง เมื่อทำการเสร็จแล้ว เวลาราว ๑๒ น. ของวันที่ ๕ พฤษภาคม นี้ ก็ถอยหนีไป มิได้ข้ามมาฝั่งไทย คงมีแต่คนขนของข้ามมาดังกล่าวแล้ว” โทรเลขฉบับที่สองจากนครพนมความดังนี้ “เวลา ๑๐ ถึง ๑๑ น. วันที่ ๒ ทหารฝรั่งเศสที่หินบูรณ์ได้ระดมยิ่งปืนกลมาที่อำเภอท่าอุเทนอย่างหนัก ยังไม่ทราบความเสียหาย ที่นครพนมยังมีเรือไฟกาญจนจมหนึ่งลำ เรือไฟวัฒนานครและเรือดาวนครเครื่องชำรุดเสียหาย ได้ขอกำลังตำรวจโรงเรียนพลที่สกลนครให้มาช่วยแล้ว และได้สั่งวางแผนการป้องกันตลอดอำเภอชายแดนทุกแห่ง ยังไม่มีท่าทีว่าจะข้ามมา ฝ่ายเราไม่ได้ยิงโต้ตอบ คนเจ็บตายในนครพนม ตาย ๑ บาดเจ็บไม่สาหัส ๒ รวมที่แล้วเป็น 5 คน
ข้าพเจ้าได้เชิญทูตอังกฤษ และอุปทูตอเมริกัน มาพบโดยด่วน ข้าพเจ้าได้แจ้งกับท่านทั้งสองให้ทราบโดยละเอียด ตามข้อความในโทรเลขดังกล่าวและได้ยืนยันว่า ฝ่ายไทยเราไม่ได้โต้ตอบประการใด เพราะมีนโยบายที่จะดำเนินการโดยสันติ แต่การที่ฝรั่งเศสข่มเหงไทยเช่นนี้ ข้าพเจ้ารับรองไม่ได้ว่า เมื่อประชาชนทราบ อาจโกรธแค้นฝรั่งเศสก็เป็นได้
อัครราชทูตอังกฤษ และอุปทูตอเมริกัน ได้รับรองกับข้าพเจ้าว่า จะรีบบอกไปยังรัฐบาลโดยด่วน เพื่อแจ้งให้ฝรั่งเศสงดการกระทำเช่นนี้ต่อไป อัครราชทูตและอุปทูตได้แจ้งแก่ข้าพเจ้าว่า ได้ยินมาว่าฝรั่งเศสคิดจะเข้าเขตแดนเราก่อนฤดูฝนนี้ แต่อัครราชทูตได้เคยแจ้งกับพันเอกแซงเปรอนายทหารฝรั่งเศสประจำอินโดจีน ซึ่งเข้ามาในกรุงเทพฯ ว่าถ้าขืนทำ มติของโลกจะไม่เป็นผลดีแก่ฝรั่งเศสเอง อัครราชทูตและอุปทูตได้แจ้งกับข้าพเจ้าว่า ควรรีบเจรจากับฝรั่งเศสในเรื่องดินแดน โดยคืนให้แก่ฝรั่งเศสเสียโดยเร็ว ข้าพเจ้าได้ตอบว่า ถ้าสหประชาชาติวินิจฉัยหรือรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลอเมริกันมีหนังสือเป็นทางราชการมาว่าต้องคืน รัฐบาลก็อาจมีเหตุผลที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่อยู่ดี ๆ จะให้คืนโดยไม่มีการเจรจานั้น ไม่มีรัฐบาลไทยชุดใดจะทำได้
ต่อมา สถานทูตอังกฤษและอเมริกันได้ตกลงส่งผู้แทน ออกไปสังเกตการณ์ชายแดนที่นครพนม พร้อมด้วยนายบุณย์ เจริญไชย ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) อุปทูตอเมริกันมาพยข้าพเจ้า เมื่อได้สนทนากันในเรื่องอื่น ๆ แล้ว อุปทูตได้พูดถึงเรื่องฝรั่งเศสว่า ฝรั่งเศสนั้นคอยจับผิดอยู่แล้ว เช่นว่าไทยคงจะรู้เห็นให้พวกอพยพเหล่านี้ลอบเอาอาวุธไปรังควานตน ฉะนั้นฝ่ายไทยควรจัดการด่วน อย่าให้พวกอพยพเหล่านี้มีอาวุธอยู่กับตัว จริงอยู่ ได้ทราบว่าทัพผสมประจำจังหวัดได้ปลดอาวุธหมดแล้ว แต่อาจจะมีการเล็ดลอดไปได้ ถ้าทำได้ จะเป็นหลักฐานอ้างกับฝรั่งเศสได้อย่างดียิ่ง ข้าพเจ้าได้ตอบว่าเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีกำลังให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาด่วนอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี อยากถามอุปทูตว่า ฝรั่งเศสมีสิทธิอันชอบธรรมหรือไม่ที่จะยิงเรา อุปทูตตอบว่า แน่นอน ไม่มีสิทธิอันชอบธรรม
วันเดียวกับที่อุปทูตอเมริกันมาเรานี้ อัครราชทูตอังกฤษก็มาขอพบและพูดถึงเรื่องนี้ และกล่าวว่าเรื่องการยิงกันขึ้นนี้ จะว่าฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูกก็ไม่ตรงนัก ควรจะถือว่าเป็นการนอกเหนือความสามารถที่จะคุมสถานการณ์ได้ (beyond control) ของทั้งสองฝ่าย เท่าที่ทูตสังเกต ทางฝ่ายไทยก็ไม่มีกำลังพอที่จะปลดอาวุธพวกอพยพให้ได้จริงจัง ฝรั่งเศสจึงระแวงว่าพวกอพยพเหล่านี้คอยหลบเข้าไปรังควานฝรั่งเศส โดยอาศัยดินแดนไทยเป็นที่พำนัก ทางฝ่ายฝรั่งเศสเล่าก็รั้งพวกใต้บังคับบัญชาไม่อยู่ ข้าพเจ้าได้แสดงความเห็นว่า ถึงอย่างไรก็ดี ไม่เป็นการ beyond control ที่ฝรั่งเศสจะระดมยิงเช่นนี้ ควรจะพูดจากันและทางฝ่ายไทยนั้นทูตเองก็ได้ทราบจากรายงานของผู้แทนของทูตแล้วว่า ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับฝรั่งเศสทุกทางเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้เมื่อฝรั่งเศสหนีพวกญวนและลาวเข้ามาในไทยเมื่อห้าเดือนก่อน ไทยก็ได้ให้ความอุปการะเต็มที่ และทูตคงระลึกได้ว่า ทูตเองเคยแสดงความวิตกกับข้าพเจ้าว่าฝรั่งเศสจะทำยุ่ง ถ้าเราไม่รีบคืนดินแดน ทูตได้มีความเห็นว่าไทยควรเพิ่มเติมกำลังทหารไปตามชายแดนเพื่อปลดอาวุธพวกอพยพให้เด็ดขาด และต้อนพวกอพยพให้เข้าไปอยู่ห่างฝั่งแม่น้ำโขง ก็จะดี ข้าพเจ้าได้ตอบว่า จะเหมาะหรือ เพราะถ้าส่งทหารไป ฝรั่งเศสยิงมา ทางทหารเราก็ต้องยิงตอบ อย่างไรก็ดี กระทรวงมหาดไทยกำลังพิจารณาส่งกำลังตำรวจเพิ่มเติมอยู่แล้ว
วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) รัฐบาลไทยออกคำแถลงการณ์ดังต่อไปนี้
แถลงการณ์
เกี่ยวกับข่าวการรุกรานและละเมิดอธิปไตยของไทย รัฐบาลไทยยังได้ร้องเรียนไปยังประมุขของประเทศต่าง ๆ และบุคคลสำคัญ ๆ ดังใจความปรากฏในสำเนาคำแปลโทรเลข ดังต่อไปนี้ ถึง
๑. ฯ พณ ฯ ประธานาธิบดี แห่งสหรัฐอเมริกา
๒. ฯ พณ ฯ เคลเมนต์ แอตลี นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศอังกฤษ
๓. ฯ พณ ฯ จอมพลโยเซฟ สตาลิน ประธานแห่งสภาโซเวียต
๔. ฯ พณฯ จอมพลเจียงไคเช็ค ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน
๕. ฯ พณ ฯ เลขาธิการแห่งองค์การสหประชาชาติ
๖. ฯ พณ ฯ เฮอร์เบอร์ต ซี. ฮูเวอร์๒๓
๗. ฯ พณ ฯ ลอร์ด คิลเลิร์น๒๔
“ข้าพเจ้ามีเกียรติที่จะแจ้งข้อความดังต่อไปนี้ต่อ ฯ พณ ฯ
เมื่อวันที่ ๒๔, ๒๕, ๒๖ พฤษภาคมนี้ กองทหารฝรั่งเศสได้ข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย และใช้กำลังยึดดินแดนไทย และยังคงยึดดินแดนไทยอยู่ การโจมตีเหล่านี้ต้องถือว่า เป็นการกระทำร่วมกันละเมิดอธิปไตยของประเทศไทย และกระทบกระเทือนถึงการรักษาสันติภาพ ถึงแม้ว่าจะมีการโจมตีอย่างปราศจากเหตุผลเหล่านี้ก็ดี ประเทศไทยก็ได้อดใจยึดมั่นในนโยบายสันติ
ประชาชนที่อยู่ในเขตที่ถูกโจมตีและในเขตที่ใกล้เคียง ต่างต้องละทิ้งบ้านช่องและไร่นา ในขณะที่รัฐบาลของข้าพเจ้ากำลังพยายามเต็มความสามารถที่จะปฏิบัติตามพันธกรณี ในอันที่จะผลิตและจัดส่งข้าวจำนวนมากที่สุดไปยังบริเวณที่ต้องประสบฉาตกภัย แต่การที่พลเมืองของข้าพเจ้าต้องแตกแยกกัน และถูกรบกวนเนื่องจากการรุกรานของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นฝ่ายจะต้องรับผิดแต่ผู้เดียวนี้ ทำให้ความพยายามของประเทศของข้าพเจ้า ในอันที่จะช่วยเหลือหาเลี้ยงประชาชนที่อดอยาก ต้องถูกกระทบกระเทือนอย่างน่าวิตก
เพื่อประโยชน์แห่งสันติภาพ และในนามของประชาชนที่กำลังอดตายอยู่ในเขตนี้ ข้าพเจ้าขอวิงวอนขอให้ ฯ พณ ฯ เห็นอกเห็นใจ และช่วยเหลือร่วมมือในอันที่จะสถาปนาให้กลับฟื้นคืนมา ซึ่งมูลฐานแห่งสันติ เพื่อความสำเร็จแห่งวัตถุประสงค์เพื่อมนุษยชาติ ซึ่ง ฯ พณ ฯ และข้าพเจ้าปรารถนาด้วยความจริงใจ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสแสดงความนับถืออย่างยิ่งมายัง ฯ พณ ฯ
ปรีดี พนมยงค์
นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย
๒๗ พ.ค. ๒๔๘๙
คำวิงวอนของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย
ต่อพลโลก ซึ่งได้รับความอดอยากทั้งหลาย
“รัฐบาลไทยได้ออกคำแถลงการณ์หลายครั้งมาแล้ว ถึงการที่ฝรั่งเศสใช้กำลังอาวุธโจมตีประเทศไทย แต่เหตุการณ์เช่นว่านี้ก็ยังคงมีอยู่เรื่อยมา เมื่อวันที่ ๒๔, ๒๕ และ ๒๖ พฤษภาคม กองทหารฝรั่งเศสได้ใช้กำลังข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย และยังคงยึดดินแดนไทยอยู่ การรุกรานเหล่านี้ไม่เหมือนกับเหตุการณ์ชายแดน ซึ่งมีประปรายมาแต่ก่อนนั้น และต้องถือว่าการรุกรานเหล่านี้เป็นการกระทำร่วมกันละเมิดอธิปไตยของประเทศไทย และกระทบกระเทือนถึงการรักษาสันติภาพในบริเวณที่ว่านี้ ถึงแม้ว่าจะมีการรุกรานอย่างไม่เป็นธรรมเหล่านี้ก็ดี รัฐบาลไทยก็ได้อดใจยึดมั่นในนโยบายสันติ
ผลการโจมตีของฝ่ายฝรั่งเศสนี้ ทำให้ราษฎรทั้งในบริเวณที่ถูกรบกวนโดยตรง และในบริเวณที่ติดต่อกันนั้น ต้องทิ้งบ้านช่องไร่นา มีผลกระทบกระเทือนถึงการปลูกข้าว และการส่งข้าวออกนอกประเทศด้วย ประเทศไทยได้รับเอาพันธกรณีอันเคร่งครัดในอันที่จะส่งข้าวเป็นจำนวนมากที่สุดที่จะทำได้ให้แก่ประเทศต่าง ๆ ที่ขาดแคลนอาหาร และประเทศไทยกำลังพยายามอย่างเต็มที่ที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ว่านี้ แต่การทั้งนี้จะสำเร็จผลไปไม่ได้ตราบเท่าที่การรุกรานของฝรั่งเศส เป็นเหตุทำให้ราษฎรต้องอพยพทั้งบ้านช่องไร่นาไป และกระทบกระเทือนถึงการปลูกข้าวและการคมนาคมด้วย รัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยขอวิงวอนต่อพลโลกซึ่งรักสันติภาพ และมีเมตตากรุณาจงได้มีความเห็นใจและร่วมมือกับประเทศไทย ในการพยายามอย่างเต็มที่ของประเทศไทย เพื่อรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ และเพื่อเลี้ยงดูประชาชนต่าง ๆ ที่อดอยากในซีกของโลก
ต่อมาอีกสองวัน คือ ในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) นายลี เลขาธิการองค์การสหประชาชาติประกาศว่า ได้รับคำร้องจากรัฐบาลไทยดังกล่าวแล้ว และว่าจะได้นำเรื่องนี้เสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคง และว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ประเทศซึ่งยังไม่ได้เป็นสมาชิกได้ร้องต่อสหประชาชาติ
วันที่ ๓๐ พฤษภาคม รัฐบาลฝรั่งเศสออกคำแถลงว่า ไม่ได้ทำการรุกรานทางทหารต่อประเทศไทยประการใด จริงอยู่ ทหารฝรั่งเศสเคยข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย เพื่อติดตามโจรผู้ร้ายซึ่งข้ามไปรังควานฝรั่งเศส ในขณะเดียวกันข้าหลวงใหญ่อินโดจีนได้ออกคำแถลงว่า การที่ต้องข้ามมาทางฝั่งไทย เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยไม่สามารถควบคุมการกระทำของพวกลาวและญวนซึ่งเป็นกบฎได้ และว่าฝ่ายไทยกล่าวหาเกินความจริง
วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) อุปทูตอเมริกันมาแจ้งกับข้าพเจ้าว่า เมื่อประธานาธิบดีทรูแมนได้รับสาส์นจากนายกรัฐมนตรี ท่านก็ได้รับสั่งให้เอกอัครราชทูตอเมริกันที่กรุงปารีส เจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสทันที รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสรับว่าจะได้รีบมีคำสั่งไปยังเจ้าหน้าที่ที่อินโดจีน ให้ระงับการกระทำดังกล่าวแล้ว
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้โทรเลขถึงนายกรัฐมนตรีของเราว่า ตามที่เราร้องเรียนไปเกี่ยวกับฝรั่งเศสนั้น เลขาธิการได้ส่งสำเนาโทรเลขร้องเรียน ให้สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงทราบแล้ว
ในระหว่างนี้ นายเอดวิน สแตนตัน อัครราชทูตอเมริกันก็มาเข้ารับตำแหน่ง นายสแตนตันได้มาพบข้าพเจ้าบ่อยครั้ง และให้ความเห็นแก่ข้าพเจ้าว่า นโยบายรัฐบาลอเมริกันมีอย่างไร ตลอดจนเรื่องที่เราจะร้องเรียนเป็นทางการเรื่องฝรั่งเศสทั้งหมดต่อสหประชาชาติด้วย
ในการที่เราร้องต่อสหประชาชาติครั้งนี้ ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ประเทศซึ่งมิได้เป็นสมาชิกจะต้องยินยอมรับล่วงหน้า ว่าจะปฏิบัติตามข้อผูกพันแห่งการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตร โดยที่กรณีพิพาทชายแดนนี้อาจเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องดินแดนที่เป็นปัญหาอยู่ การยินยอมรับรองล่วงหน้าซึ่งพันธกรณีแห่งการระงับกรณีพิพาทโดยสันติวิธี จึงอาจพาดพิงถึงพันธกรณีเกี่ยวกับดินแดนด้วย และเพราะการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต้องได้รับความยินยอมจากรัฐสภาก่อน รัฐบาลจึงเสนอต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ขอให้รัฐสภาลงมติมอบอำนาจแก่รัฐบาล เพื่อรับรองต่อองค์การสหประชาชาติว่า จะปฏิบัติตามพันธกรณีในอันที่จะตกลงตามสันติวิธีในเรื่องนี้ต่อไป ส่วนอำนาจที่ได้รับมอบไปนี้ รัฐบาลจะได้ใช้ต่อเมื่อถึงเวลาอันจำเป็นและสมควร ซึ่งรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบและมอบอำนาจให้ทันทีในวันเดียวกัน
ภายหลังนั้น รัฐบาลจึงได้ลงมติตั้งคณะผู้แทนขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร๒๕ ทรงเป็นหัวหน้า นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเป็นรองหัวหน้า และมีผู้แทนทางพรรคการเมืองต่าง ๆ และข้าราชการฝ่ายประจำอีกหลายท่าน๒๖ เพื่อออกไปเจรจาระงับกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ตามอำนาจที่รัฐสภามอบหมายดังกล่าว การที่รัฐบาลตั้งผู้แทนหลายประเภทด้วยกัน ก็เพราะเห็นว่า ภารกิจที่รัฐบาลรับอาณัติมานี้ เป็นภารกิจของชาติในส่วนรวม
วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) รัฐบาลได้ให้ยื่นบันทึกต่อเลขาธิการสหประชาชาติ ยืนยันว่า ไทยพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของสหประชาชาติทุกประการ
ในต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) รัฐบาลได้รับรายงานจากคณะผู้แทนส่งจากนครนิวยอร์คว่า ฝรั่งเศสได้เสนอวิธีการใหม่ผ่านรัฐบาลอเมริกัน ตามวิธีการใหม่นี้ คณะผู้แทนได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว เห็นว่าไม่มีหนทางอื่นใด และเพื่อประโยชน์ในวันข้างหน้า คณะผู้แทนเห็นว่าพึงรับหลักการได้ส่วนรายละเอียดนั้น คณะผู้แทนจะได้เจรจาให้เป็นผลดีที่สุดต่อไป ดัง บันทึกต่อไปนี้๒๗
บันทึกสรุปความเห็นของคณะผู้แทนไทย เกี่ยวกับเรื่องกรณีพิพาทและปัญหาดินแดนกับฝรั่งเศส
๑. โดยที่ในการเดินทางไปกรุงปารีส ของนายควง อภัยวงศ์ และนายถนัด คอมันตร์ ได้เป็นผลให้ทราบท่าทีของฝรั่งเศส และเกิดมูลฐานในการที่ฝรั่งเศสจะยกขึ้นเสนอ เพื่อทำความตกลงกันโดยตรงกับฝ่ายไทย ในปัญหาเรื่องกรณีพิพาทเกี่ยวกับปัญหาดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันนี้ใหม่ (ภายในวงขอบของธรรมนูญองค์การสหประชาชาติ ดังปรากฏตามบันทึกรายงานของนายถนัด คอมันตร์ ประกอบกับบันทึกการสนทนาของนายควง อภัยวงศ์ กับบุคคลสำคัญ ๆ ในวงการรัฐบาลฝรั่งเศส อันได้นำขึ้นเสนอต่อคณะผู้แทนไทยแล้วนั้น) และโดยที่หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ได้รายงานถึงทีท่าและผลงานที่ได้ไปติดต่อกับฝ่ายอังกฤษทางกรุงลอนดอน ให้คณะผู้แทนทราบโดยตลอดแล้ว รวมทั้งข้อสังเกตและพฤติการณ์ที่คณะผู้แทนได้รับทราบเกี่ยวกับท่าทีของวงการรัฐบาลอเมริกัน ตลอดเวลาที่ไปอยู่ ณ กรุงวอชิงตัน จึงเห็นเป็นการสมควรว่า ในโอกาสที่นายสุจิต หิรัญพฤกษ์ จะเดินทางกลับไปรายงานข้อราชการแก่รัฐบาล ณ กรุงเทพฯ ในวันที่ ๕ ตุลาคม ศกนี้ คณะผู้แทนไทยจึงร่วมกันพิจารณาถึงประเด็นที่จะมอบหมายให้ นายสุจิต หิรัญพฤกษ์ นำไปชี้แจงแก่รัฐบาล เพื่อให้ทราบความคิดเห็นของคณะผู้แทนไทยในเรื่องนี้
๒. ในชั้นแรก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร สมาชิกพฤฒสภา หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย ได้ทรงตั้งประเด็นให้คณะผู้แทนพิจารณา และลงมติเป็นความเห็นร่วมกันโดยเอกฉันท์ ในปัญหาที่ว่า ถ้าเราจะไปคณะมนตรีความมั่นคงต่อไปให้ได้ตามเจตนาเดิม ผลจะเป็นอย่างไร ซึ่งได้แยกพิจารณาโดยอาศัยมูลฐานข้อสังเกตท่าทีของฝรั่งเศส ในกรณีที่ฝ่ายไทยจะยืนยันเสนอเรื่องกรณีพิพาทต่อคณะมนตรีความมั่นคง ว่าคงเป็นไปในลักษณะต่อไปนี้ คือ ๑) ถ้าเราจะขืนเสนอเรื่องไปยังคณะมนตรีความมั่นคงให้ได้ ฝรั่งเศสก็จะค้านโดยใช้สิทธิวีโต และข้ออ้างอื่น ๆ เช่น กฎข้อบังคับในธรรมนูญองค์การโลกเอง ๒) ถึงหากฝรั่งเศสแพ้ โดยจนต่อมติของฝ่ายข้างมาก และไทยเข้าคณะมนตรีความมั่นคงได้ ฝรั่งเศสคงหาวิธีและเครื่องมือต่อสู้กับเราจนสุดกำลัง โดยไม่มีความคิดที่จะผ่อนสั้นผ่อนยาวแก่กันต่อไป ๓) เมื่อไปถึงขั้นนั้น ก็หมายความว่ามิตรสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ชะงักอยู่ในปัจจุบัน ก็จะเป็นอันตัดขาดจากกันตลอดกาล อย่างที่ไม่ทราบว่าจะมีวันกลับคืนมาอีกเมื่อใด
๓. คณะผู้แทนฝ่ายไทยได้พิจารณาในประเด็นที่ว่า มหาประเทศที่เป็นมิตร คือ อังกฤษและอเมริกา อยู่ในฐานะจะช่วยเราได้หรือไม่ โดยที่การจะเข้าไปในคณะมนตรีความมั่นคงนั้น ผลจะได้ สำเร็จเพียงใด อยู่ที่การสนับสนุนของอังกฤษและอเมริกาเป็นสำคัญ บัดนี้ก็ทราบท่าทีของทั้งสองประเทศแน่ชัดแล้วว่า อยากให้ไทยตกลงกับฝรั่งเศสโดยตรง และไม่สนับสนุนให้นำเรื่องเข้าคณะมนตรีความมั่นคงต่อไปอีก ฉะนั้น เราจะหวังได้ผลดีจากคณะมนตรีความมั่นคงนั้น ย่อมเป็นการยาก
๔. นอกไปจากนั้น คณะผู้แทนได้พิจารณาถึงท่าทีของประเทศอื่น ๆ ในคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งจะมีความสำคัญในกระบวนการดำเนินเรื่องของเรา และมีความเห็นว่า ในกรณีที่เกี่ยวกับโซเวียต รัสเซีย ตราบใดที่ไทยยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับมอสโกให้เป็นที่เรียบร้อย ก็ย่อมไม่มีหวังที่ได้รับความสนับสนุนของบล็อกโซเวียตเลย และผู้แทนโซเวียตอาจถือโอกาสอภิปรายกว้างขวางนอกขอบเขตไปอย่างไร ก็ทราบไม่ได้
๕. คณะผู้แทนจึงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ สรุปความว่า หนทางที่จะไปคณะมนตรีความมั่นคงนั้นยากลำบาก และเป็นสิ่งที่มิพึงกระทำ เนื่องจากกรณีแวดล้อมและสถานการณ์โดยทั่วไปนานัปการ
๖. ในปัญหาเกี่ยวกับข้อเสนอของฝ่ายฝรั่งเศส ที่ยื่นผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๘๙ นั้น คณะผู้แทนได้พิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ เห็นว่าไม่มีหนทางออกใดอื่น และเพื่อประโยชน์ในวันข้างหน้า พึงรับหลักการได้ ส่วนรายละเอียดนั้น คณะผู้แทนจะได้เจรจาให้เป็นผลดีที่สุดต่อไป
๑๔ ตุลาคม ๒๔๘๙
คณะรัฐมนตรีได้มีประชุมด่วน ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ในที่สุดก็เห็นพ้องกันว่า ไม่มีทางอื่นใด นอกจากปฏิบัติตามที่คณะผู้แทนเสนอมา ประกอบทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นที่พึ่งได้ ก็สนับสนุนฝรั่งเศส และไม่เห็นด้วยในวิธีอื่นใด วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี จึงมีหนังสือถึงประธานรัฐสภาส่วนมาก ขอให้มีประชุมรัฐสภาในวันที่ ๑๔ ตุลาคม เพื่อพิจารณาเรื่องอนุสนธิที่รัฐสภาได้มอบอำนาจไว้ เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ว่า บัดนี้เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป เพราะฝรั่งเศสเสนอวิธีการใหม่ ดังที่รัฐบาลจะได้แถลงในวันประชุม โดยที่เรื่องนี้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต คือ เพิกถอนอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๔๑๒๘ ตามมาตรา ๗๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลจึงต้องรายงานขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
เพื่อให้ผู้อ่านเข้าในเรื่องโดยละเอียด ข้าพเจ้าขอนำคำแถลงของข้าพเจ้า ซึ่งแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) มาเสนอไว้ดังต่อไปนี้
“ท่านประธานรัฐสภาและท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ
ด้วยตามที่รัฐสภาได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๘๙ เห็นชอบด้วยข้อเสนอของรัฐบาล ในการที่จะเสนอกรณีพิพาทชายแดนไทย-ฝรั่งเศส ให้องค์การสหประชาชาติพิจารณาและมอบอำนาจ ให้รัฐบาลทำการรับรองต่อองค์การสหประชาชาติว่าจะปฏิบัติตาม พันธกรณีแห่งการระงับกรณีพิพาทโดยสันติวิธี ตามที่ได้บัญญัติไว้ในธรรมนูญองค์การโลก รัฐบาลได้ดำเนินการจัดตั้งคณะผู้แทนไทย เพื่อนำกรณีพิพาทชายแดนไทย-ฝรั่งเศส ไปเสนอองค์การสหประชาชาติ และในการนี้ ได้ส่งคณะผู้แทนอันมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นหัวหน้า และนายควง อภัยวงศ์ เป็นรองหัวหน้า พร้อมด้วยคณะออกไปกรุงวอชิงตัน เพื่อที่จะทำการเจรจากับผู้แทนองค์การสหประชาชาติ และทำการลงนามความตกลงเนื่องในการนี้
ในระหว่างเวลาที่คณะผู้แทนกระทำการประชุมปรึกษาหารือ และพิจารณาเตรียมการรอกำหนดการเดินทางอยู่นั้น รัฐบาลก็ได้รับข้อเสนอของฝรั่งเศส ซึ่งเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำกรุงเทพฯ ได้นำยื่นต่อนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๘๙ ข้อเสนอของฝรั่งเศสที่ส่งผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันมานี้มีสาระสำคัญ คือ ให้ประเทศคู่กรณีทั้งสองเสนอปัญหาต่อศาลโลกว่า อนุสัญญากรุงโตเกียวลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และการที่ไทยได้ดินแดนบางส่วนของอินโดจีนฝรั่งเศสตามอนุสัญญานั้น เป็นการสมบูรณ์ทางนิตินัยหรือไม่ และขอให้ไทยถอนข้อเสนอกรณีพิพาทจากองค์การสหประชาชาติเสีย
ในการนี้ อัครราชทูตอเมริกันได้แจ้งความเหนกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากข้อเสนอของฝรั่งเศสนั้น ในประการสำคัญ คือ ข้อเสนอทั้งหมดนี้อยู่ภายในวงกรอบขององค์การสหประชาชาติดั่งที่ไทยปรารถนา ไม่ใช่ความตกลงระหว่างไทยกับฝรั่งเศสสองฝ่ายเท่านั้น
รัฐบาลในขณะนั้น พร้อมด้วยคณะผู้แทน ได้พิจารณาข้อเสนอของฝรั่งเศส ประกอบกับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันแล้ว เห็นสมควรที่จะรับหลักการตามข้อเสนอของฝรั่งเศสได้ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในขอบอำนาจที่รัฐสภาได้ให้ไว้ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า ศาลโลกก็เป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ ดังนั้นรัฐบาลจึงให้อำนาจเต็มแก่คณะผู้แทนไทยไปดำเนินการตามกันต่อไป แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเสนอของฝรั่งเศส ให้ไทยถอนคำร้องทุกข์ที่ได้ยื่นไว้ต่อองค์การสหประชาชาตินั้น รัฐบาลเห็นควรปล่อยให้คงค้างไว้กับองค์การสหประชาชาติก่อน รัฐบาลจึงได้สั่งให้คณะผู้แทนไทยสงวนข้อนี้ไว้กล่าวกันในภายหลัง
เมื่อคณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปถึงกรุงวอชิงตัน ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ศกนี้แล้ว ก็ได้เริ่มติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน เพื่อดำเนินการเจรจาไปตามทำนองที่ฝรั่งเศสเสนอมา แต่ยังมิทันได้ผลแน่นอนประการใด ทางดินแดนของอินโดจีนฝรั่งเศสด้านจังหวัดเสียมราฐก็ได้เกิดการปฏิวัติวุ่นวายขึ้น ฝรั่งเศสได้กล่าวหาว่าไทยมีการร่วมด้วย ในการโจมตีจังหวัดเสียมราฐ โดยกล่าวหาว่าชาวไทยข้ามชายแดนเข้าไปร่วมมือบ้าง ว่ารัฐบาลไทยส่งทหารที่ได้ฝึกซ้อมแล้วเข้าไปบ้าง ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย ตามผลของการสอบสวนดังที่ได้เคยแถลงให้สภาฯ ทราบมาก่อนแล้ว ในที่สุดฝรั่งเศสได้ชี้แจงต่ออเมริกันว่า ฝรั่งเศสถอนข้อเสนอที่จะให้นำกรณีพิพาทไปสู่ศาลโลก
เมื่อเป็นเช่นนี้ คณะผู้แทนไทยจึงได้ติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน เพื่อหาทางเจรจากับฝรั่งเศสต่อไป ในขณะเดียวกัน ทางราชการไทยก็ได้แถลงบอกปฏิเสธความเกี่ยวข้องของรัฐบาลไทย ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในดินแดนเขมร และคณะผู้แทนก็ได้ชี้แจงให้ทุก ๆ ฝ่ายเห็นว่ารัฐบาลไทยมิได้มีส่วนรับผิดชอบด้วยในเหตุการณ์นั้นทางหนึ่งทางใด และยังได้แสดงความเห็นว่า เหตุการณ์นั้นเป็นคนละเรื่องกับกรณีพิพาทชายแดน ไม่พึงนำมาเกี่ยวข้องกัน และแม้กระนั้น ฝ่ายไทยก็พร้อมที่จะให้มีการสอบสวน โดยผู้ที่เป็นกลาง ให้แจ่มแจ้งในเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้ก็หาเป็นผลสำเร็จไม่ เมื่อหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ทรงสนทนากับผู้ที่ทำการแทนรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน ก็ได้รับแจ้งว่า ทางฝ่ายอเมริกันไม่อาจทำอย่างไรได้ เพราะเหตุว่าฝ่ายฝรั่งเศสถอนข้อเสนอเดิม และฝ่ายอเมริกันแสดงความเห็นว่า ใคร่จะให้ไทยและฝรั่งเศสเจรจาทำความตกลงกันโดยตรง ยิ่งกว่าโดยวิธีอื่น
อย่างไรก็ดี ต่อมา ฝรั่งเศสได้ส่งนาย ย. ปีโกต์ ซึ่งเคยเป็นอุปทูตประจำประเทศไทย และในขณะนี้เป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศเวเนซูเอลา เดินทางมาเจรจากับคณะผู้แทนไทย ในกรุงวอชิงตัน เป็นทางกึ่งราชการ
มูลฐานของข้อเสนอของฝรั่งเศส ซึ่งนายปีโกต์แจ้งแก่ฝ่ายไทยนั้น ก็ยังไม่อาจเป็นที่รับได้ เพราะฝรั่งเศสยืนยันให้ไทยบอกเลิกอนุสัญญา ๑๙๔๑ ก่อนที่จะทำการเจรจาปรับปรุงเส้นเขตแดนใดๆ และฝรั่งเศสไม่ยอมรับข้อเสนอของไทยที่ผิดแผกไปจากนั้น และเพื่อให้ไทยได้เห็นท่าทีที่แท้จริงของรัฐบาลฝรั่งเศสด้วยตนเอง นายปีโกต์ จึงได้แจ้งกับคณะผู้แทนว่า คณะผู้แทนควรส่งให้รองหัวหน้าเดินทางไปปารีส ในข้อนี้คณะผู้แทนได้เห็นชอบด้วย ฉะนั้น เมื่อหัวหน้าคณะผู้แทนขออนุมัติมา รัฐบาลก็ได้อนุมัติให้รองหัวหน้าและเลขาธิการเดินทางไปปารีสได้ ในวันที่ ๗ กันยายน พร้อมกับนายปี โกต์
ในเวลาเดียวกันรัฐบาลก็ได้อนุมัติให้ พ.ท.หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯเดินทางกลับไปกรุงลอนดอน เพื่อฟังเสียงและหยั่งท่าทีของรัฐบาลอังกฤษในเรื่องนี้อีกด้วย
บัดนี้ ผู้แทนทั้งสามได้เดินทางกลับไปถึงกรุงวอชิงตันและได้นำความเสนอต่อคณะผู้แทน คณะผู้แทนได้ประชุมปรึกษากันแล้ว ก็ได้มอบเอกสารต่าง ๆ พร้อมด้วยความเห็นของคณะผู้แทนให้นายสุจิต หิรัญพฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทน ซึ่งเป็นผู้แทนสำรองด้วยนายหนึ่ง นำมารายงานรัฐบาลโดยตรง
ปรากฏตามรายงานของคณะผู้แทนว่า หลังจากการเจรจาของผู้แทนไทยในกรุงปารีส รัฐบาลฝรั่งเศสได้ยื่นข้อเสนอใหม่ เพื่อเป็นมูลฐานแห่งการทำความตกลงโดยตรงระหว่างรัฐบาลไทยกับฝรั่งเศส มอบให้แก่รองหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และในเวลาเดียวกัน รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ยื่นข้อเสนอนั้นต่อกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน เพื่อมอบให้แก่คณะผู้แทนไทย ในการยื่นข้อเสนอของฝรั่งเศสต่อคณะผู้แทนไทย ซึ่งมีข้อความดั่งที่ปรากฏอยู่ในใบแนบที่ ๑ แห่งคำแถลงนี้ กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันได้ยื่นบันทึกถ้อยแถลงด้วยวาจาของฝ่ายฝรั่งเศสให้แก่คณะผู้แทนไทยทั้งปรากฏอยู่ในใบแนบที่ ๒ และในเวลาเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันก็ได้มอบบันทึกของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันต่อคณะผู้แทนไทยดั่งปรากฏอยู่ในใบแนบที่ ๓ ด้วย
ตามบันทึกของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันที่กล่าวนี้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้แสดงความเห็นและได้ย้ำถึงท่าทีของตนเป็นใจความว่า สหรัฐอเมริกาไม่อาจรับนับถือการโอนดินแดนซึ่งประเทศไทยได้มาจากอินโดจีนฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๙๔๑ แล้วว่า ประเทศไทยควรจะคืนดินแดนเหล่านั้น และกลับสถาปนาสถานะเดิม
ในข้อที่เกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลอเมริกันก็ดี รัฐบาลอังกฤษก็ดี ในเรื่องดินแดนที่ไทยได้รับจากฝรั่งเศสนั้น รัฐบาลในสมัยนั้นได้เคยเสนอต่อรัฐสภาโดยพิสดารแล้ว ในขณะเสนอขอมติรัฐสภาเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๘๙ ซึ่งขอนำมากล่าวในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ใจความย่อ ๆ ว่า ในระหว่างการเจรจาเพื่อเลิกสถานการณ์สงครามระหว่างประเทศไทยกับประเทศอังกฤษ ณ เมืองแคนดี กับเมืองสิงคโปร์ นั้น ผู้แทนฝ่ายอังกฤษได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๘๘ ยืนยันมายังผู้แทนฝ่ายไทยว่า ฝ่ายอังกฤษไม่ยอมนับถือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับดินแดน ที่ได้มีขึ้น โดยใช้กำลังบังคับในระหว่างเวลานับแต่สงครามโลกได้อุบัติขึ้น และโดยหนังสือลงวันที่ ๑ มกราคม ศกนี้ ผู้แทนฝ่ายอังกฤษได้แจ้งแก่ผู้แทนฝ่ายไทยอีก ดังสำเนาหนังสือของ นายเดนนิง ผู้แทนอังกฤษถึงหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยยันต์ ดังต่อไปนี้
สิงคโปร์
๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖
ท่านผู้แทน
เนื่องจากการอภิปรายด้วยวาจาซึ่งได้กระทำกันที่แคนดี และสิงคโปร์ระหว่างคณะผู้แทนฝ่ายไทยโดยที่ท่านเป็นหัวหน้ากับตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งจากรัฐบาลของสมเด็จพระมหากษัตริย์ในสหราชอาณาจักร ให้บันทึกไว้ซึ่งท่าทีของรัฐบาลนั้น เกี่ยวกับการที่ประเทศไทยได้อาณาเขตมาโดยเป็นกลของการกระทำหรือการแทรกแซงของญี่ปุ่น
รัฐบาลของสมเด็จพระมหากษัตริย์ในสหราชอาณาจักรไม่ยอมรับนับถือการที่ประเทศไทยได้มาซึ่งอาณาเขตใด ๆ ที่ได้ภายหลังวันที่ ๑๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ การไม่ยอมรับนับถือนี้กินความตลอดถึงอาณาเขตทั้งสิ้น ซึ่งนับว่ารัฐบาลวิชีได้ยกให้เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑
ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้ขอให้ท่าน ในนามแห่งรัฐบาลไทย รับทราบท่าทีของรัฐบาลแห่งสมเด็จพระมหากษัตริย์ ในสหราชอาณาจักร
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(ลงนาม) ม. อี. เดนนิง
ทางฝ่ายอเมริกันก็เช่นเดียวกัน อุปทูตไทยในกรุงวอชิงตันได้เคยรายงานผลของการสัมภาษณ์ ของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่รับรองการที่ไทยได้ดินแดนคืนจากประเทศฝรั่งเศส ตามอนุสัญญา ๑๔๙๑ แต่รัฐบาลอเมริกันกล่าวว่า การให้คืนดินแดนในกรณีพิพาทนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงคำอุทธรณ์ใด ๆ ซึ่งประเทศไทยอาจเสนอต่อองค์การสหประชาชาติในเมื่อมีโอกาส และนอกจากนั้นทางสถานทูตอเมริกันประจำกรุงเทพฯ ก็ได้เคยยืนยันนโยบายของรัฐบาลอเมริกันต่อกระทรวงการต่างประเทศในเรื่องนี้หลายครั้ง
เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลจึงได้พิจารณาข้อเสนอใหม่ของฝรั่งเศส ดังที่คณะผู้แทนรายงานมาประกอบกับความเห็นของคณะผู้แทน และโดยคำนึงถึงท่าทีอเมริกาและอังกฤษดังที่กล่าวแล้ว เห็นว่าหลักการสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ เพิกถอนอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๔๑ ซึ่งอันที่จริง ถ้าหากเป็นค่าวินิจฉัยขององค์การสหประชาชาติแล้ว รัฐสภาก็มอบอำนาจให้ตกลงได้แล้ว แต่โดยที่วิธีการซึ่งฝรั่งเศสเสนอมานี้เป็นการนอกอำนาจที่รัฐสภาได้มอบให้แก่รัฐบาลไว้ ทั้งเป็นนโยบายส่วนรวมของชาติตั้งรัฐบาลได้เคยแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ศกนี้ รัฐบาลจึงเสนอมาเพื่อการพิจารณาวินิจฉัยของรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนรายละเอียดของเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอประทานอ่านดั่งต่อไปนี้
คำแปล
(ใบแนบหมายเลขที่ ๑)๒๙
ข้อเสนอระงับระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสและรัฐบาลไทยตกลงที่จะระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ระหว่างกัน โดยมูลฐานดังต่อไปนี้
๑. การรับสภาพการเป็นโมฆะของอนุสัญญา ฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ ๑๙๔๑ ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องประกาศว่าเป็นโมฆะ ฉะนั้น อาณาเขตอินโดจีนที่ไทยยกครองจะต้องโอนให้แก่เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส เพื่อส่งมอบให้แก่รัฐบาลเขมรและลาวต่อไป
๒. หลังจากการกลับคืนสถานะเดิม ซึ่งเลิกสถานะสงครามระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทยแล้ว ความสัมพันธ์ทางการทูตจะได้กลับสถาปนาโดยทันที และการสัมพันธ์ติดต่อระหว่างประเทศทั้งสอง จะได้เป็นไปตามสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ และข้อตกลงพาณิชย์และศุลกากรฉบับวันที่ ๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ต่อไปอีก ประเทศไทยจะถอนคำร้องที่ได้เสนอไว้ต่อคณะมนตรีความมั่นคง ประเทศฝรั่งเศสจะไม่ขัดขวางการที่ประเทศไทยจะเข้าในองค์การสหประชาชาติอีกต่อไป
๓. ในทันทีที่รัฐบาลไทยจะได้ประกาศอนุสัญญา ฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ เป็นโมฆะ ประเทศฝรั่งเศสจะยอมรับว่า โดยอาศัยข้อ ๒๑ แห่งสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการประนีประนอม ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนแห่งภาคทั้งสองฝ่าย ๒ คน และผู้แทนของประเทศที่เป็นกลาง ๓ คน ตามตราสารทั่วไปแห่งเจนีวา ฉบับลงวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๘ ว่าด้วยการ “ระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี” ซึ่งวางระเบียบการจัดตั้งและหน้าที่ของคณะกรรมาธิการไว้ คณะกรรมาธิการจะได้เริ่มงานทันที หลังจากที่ได้ปฏิบัติการตามบทแห่งข้อหนึ่งของข้อเสนอระงับนี้แล้ว คณะกรรมาธิการนี้จะมีภาระตรวจพิจารณาข้อโต้เถียงต่าง ๆ ในทางเชื้อชาติ ทางภูมิศาสตร์ และทางเศรษฐกิจของภาคี เพื่อการแก้ไขหรือยืนยันบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งยังคงใช้อยู่ตามความในข้อ ๒๒ แห่งสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๓๗
๔. เมื่อได้มีการกลับสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว จะได้เปิดการเจรจาเพื่อสะสางบรรดาปัญหาต่าง ๆ ที่คั่งค้างอยู่ระหว่างประเทศทั้งสอง และเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อกำหนดค่าเสียหายที่รัฐบาลไทยจะต้องชำระให้เป็นค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของประเทศไทยต่อทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ของฝรั่งเศสหรืออินโดจีนนั้นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เพื่อกำหนดจำนวนเงินที่จะเป็นเครดิตของรัฐบาลไทยด้วย
คำแปล
(หมายเลข ๒)
บันทึกถ้อยแถลงด้วยวาจา
ในเรื่องข้อเสนอของฝ่ายฝรั่งเศสซึ่งได้ส่งให้ในวันนี้ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสได้ชี้แจงเพิ่มเติมด้วยวาจาบางประการ
เขากล่าวว่า ถ้ารัฐบาลไทยปรารถนา รัฐบาลฝรั่งเศสก็เต็มใจในเรื่องเกี่ยวกับการถอนคำร้องของไทยต่อคณะมนตรีความมั่นคง ในอันจะหาทางให้ได้รับการแสดงความเห็นชอบจากองค์การนั้นในวิธีการที่ได้ตกลงกัน เพื่อสะดวกแก่การที่รัฐบาลไทยจะยอมรับได้
เขากล่าวด้วยว่า ไม่แต่เพียงฝ่ายฝรั่งเศสจะถอนข้อขัดข้องเกี่ยวกับสมาชิกภาพของไทยในสหประชาชาติเท่านั้น ฝ่ายฝรั่งเศสยังจะสนับสนุนสมาชิกภาพเช่นว่านั้นด้วย
เขามีข้อสังเกตว่า แม้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะยืนยันว่า คณะกรรมาธิการประนีประนอมจะไม่เริ่มงานจนกว่าจะได้คืนอาณาเขตต่าง ๆ และสถาปนาสถานะเดิมแล้วก็ดี รัฐบาลฝรั่งเศสก็พร้อมที่จะเริ่มการจัดองค์การของคณะกรรมาธิการเช่นว่านั้นไปก่อนเวลานั้นได้
เขาชี้แจงด้วยว่า ตามข้อกำหนดแห่งตราสารทั่วไปนั้น เมื่อจะให้มีวิธีการประนีประนอมกันแล้ว คณะกรรมาธิการประนีประนอมจะต้องจัดตั้งขึ้น และงานการของคณะกรรมาธิการต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่ระบุ และการดำเนินงานย่อมดำเนินอยู่ตลอดไป และดำเนินไปจนถึงที่สุดด้วย
เขาให้คำมั่นว่า จะไม่มีข้อขัดข้องในการทำความตกลง หรือการทำความตกลงพร้อมกันหลายฉบับ ซึ่งบรรจุโครงการทั้งหมดลงไว้ แต่การที่จะให้ส่วนต่าง ๆ แห่งวิธีการที่เสนอนี้มีผล ก็จะต้องเป็นไปตามลำดับเรื่องที่ได้ระบุไว้ด้วย
เอกอัครราชทูตได้แจ้งให้ทราบถึงความจำเป็น ที่จะต้องทำพิธีสารกำหนดวิธีการคืนอาณาเขตต่าง ๆ ด้วย
ในที่สุด เอกอัครราชทูตกล่าวว่า รัฐบาลฝรั่งเศสยินดีที่จะรับความช่วยเหลือของรัฐบาลนี้ ในการกำหนดรายละเอียดแห่งความตกลงฉบับเดียวหรือหลายฉบับ เพื่อให้ข้อตกลงที่เสนอนี้มีผล
คณะผู้แทนเชื่อมั่นได้ว่า ความช่วยเหลือของรัฐบาลนี้ก็ย่อมอำนวยให้แก่รัฐบาลไทยได้ในทำนองเดียวกัน ถ้าหากต้องการ
คำแปล
(หมายเลข ๓)
บันทึก
สมาชิกคณะผู้แทนไทยจะระลึกได้ว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้แสดงความเห็นโดยชัดแจ้งแล้วหลายครั้งว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะยอมรับนับถือการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ซึ่งญี่ปุ่นได้กระทำหรือได้กระทำด้วยการช่วยเหลือของญี่ปุ่นระหว่างที่ญี่ปุ่นทำการรุกรานนั้นไม่ได้ และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงไม่ยอมรับนับถือการโอนบรรดาอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยได้มาจากอินโดจีนในปี ค.ศ. ๑๙๔๑ และเห็นว่าประเทศไทยควรจะคืนอาณาเขตเหล่านี้ และกลับสถาปนาสถานะเดิม
รัฐบาลนี้จะขอร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศสยอมรับข้อเสนออันใด ซึ่งถือเอาการคืนอาณาเขตเหล่านี้เป็นเงื่อนไข ให้ยอมยกส่วนหนึ่งของอาณาเขตดังกล่าวให้แก่ประเทศไทยไม่ได้อย่างแน่นอน การทำเช่นนั้นย่อมหมายความว่า อเมริกาสนับสนุนในข้อที่ว่า ชาติที่ได้กระทำผิดความนิยมระหว่างประเทศ จะนำเอาการกระทำดังว่านั้นมาใช้เป็นการต่อรองผลกำไรบางอย่างที่ตนปรารถนา และปฏิเสธที่จะแก้การกระทำเช่นว่านั้นเสียให้ถูกต้อง จนกว่าตนจะได้รับผลที่ต้องการก็ได้
อีกประการหนึ่ง รัฐบาลนี้ได้แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งเช่นเดียวกันแล้วว่า แม้จะยึดเชื่ออยู่ว่า วิธีการที่ประเทศไทยได้อาณาเขตเหล่านี้มาเป็นวิธีที่ผิด และอาณาเขตเหล่านี้ควรจะได้คืนไปก็ตาม รัฐบาลนี้ไม่ได้ทำการวินิจฉัยกรณีผิดถูกในเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนเมื่อก่อนปี ค.ศ. ๑๙๔๑ นั้นแต่ประการใดเลย และฐานะของรัฐบาลนี้เป็นอันปราศจากความเสื่อมประโยชน์ทั้งปวง ที่เป็นการเสียหายต่อการปรับปรุงเขตแดนหรือการโอนอาณาเขต ซึ่งจะกระทำกันโดยทางสงบและสันติ หลังจากการคืนอาณาเขตเหล่านี้ ก็ได้ ฉะนั้น รัฐบาลนี้จึงได้ขอร้องรัฐบาลฝรั่งเศสอยู่ตลอดมาเพื่อให้คำมั่นว่า เมื่อประเทศไทยได้คืนอาณาเขตเหล่านี้เสร็จแล้ว จะได้ให้โอกาสแก่ประเทศไทยในอันจะหาทางปรับปรุงเขตแดน หรือทำการโอนอาณาเขต เช่น ที่รัฐบาลไทยเห็นสมควรถูกต้องโดยทางสงบและสันตินั้นได้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกายังได้แสดงความเห็นแก่รัฐบาลฝรั่งเศสด้วยว่า ถ้าหากกระทำได้ เพื่อที่จะกำจัดรากฐานแห่งความไม่สงบในกาลภายหน้า หรือความไม่พอใจระหว่างประเทศ ก็ควรพิจารณาการเปลี่ยนแปลงที่พึงทำได้เกี่ยวกับเขตแดน เมื่อก่อนปี ค.ศ. ๑๙๔๑ นั้น โดยคำนึงถึงคุณค่าที่จะได้รับในทางปฏิบัติ และการพิจารณาควรพิจารณาข้อที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ เกี่ยวกับทางภูมิศาสตร์และทางเศรษฐกิจ และข้ออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน มากกว่าข้อเรียกร้องทางนิตินัยและทางประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของอดีตกาล
บัดนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ร้องขอให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกานำส่งข้อเสนอวิธีการระงับข้อยุ่งยากระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ดังที่เสนอมาให้แก่ คณะผู้แทนฝ่ายไทย และให้ขอร้องรัฐบาลไทยให้ยอมรับข้อเสนอนี้ด้วย วิธีการนี้เป็นการเหมาะสมกับฐานะ ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้รักษามั่นอยู่แล้วทุกประการ และสหรัฐอเมริกาเห็นว่า เป็นการสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ดี กับทั้งหลักและจุดประสงค์ของสหประชาชาติด้วยโดยบริบูรณ์
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงหวังอย่างจริงใจว่า รัฐบาลไทยจะสนองรับข้อเสนอของฝ่ายฝรั่งเศส โดยถือว่าเป็นวิถีทางอันมีเกียรติ และสมควรในการระงับข้อยุ่งยากระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย และสถาปนาสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศทั้งสอง รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเชื่อว่า การระงับข้อยุ่งยากที่มีอยู่ในขณะนี้เสียโดยเร็วนั้นเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง ในการสถาปนาหลักการและความสงบเรียบร้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีค่าเป็นอันมากสำหรับประเทศไทย เพราะเหตุว่าข้อยุ่งยากที่มีอยู่นี้ต้องตัดทอนความเพียรพยายามของไทยในอันที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศตน ซึ่งถูกทำลายด้วยการสงคราม ให้กลับดีขึ้นนั้นไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลนี้จึงหวังว่า ข้อเสนอเหล่านี้จะได้รับการพิจารณาโดยเร็ว และถ้าหากสนองรับรายละเอียดแห่งความตกลงฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่จำเป็น ก็จะได้กำหนดและจัดขึ้นให้สมบูรณ์โดยเร็วที่สุดที่จะทำได้
กระทรวงการต่างประเทศ
วอชิงตัน ๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๖
สมาชิกรัฐสภาได้พิจารณาและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ในที่สุด ด้วยความเสียใจอย่างยิ่ง จำต้องลงมติมอบอำนาจให้รัฐบาลตกลงตามที่คณะผู้แทนเสนอได้ เพราะมองเห็นแล้วว่า เรื่องนี้เราไม่มีมิตรใดที่จะช่วยเราแม้แต่ชาติเดียว ซึ่งรวมทั้งจีนคณะชาติด้วย เราก็ได้หารือไป แต่ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถช่วยอย่างไรได้ เพราะสหรัฐอเมริกาและอังกฤษยืนยันในนโยบายสถานภาพเดิม (Status Quo)
ในคืนวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีกล่าวทางวิทยุกระจายเสียง เล่าถึงเหตุการณ์ในเรื่องนี้โดยตลอดให้พี่น้องชาวไทยทราบทั่วกัน และว่า การที่ต้องคืนดินแดนให้ฝรั่งเศสครั้งนี้ นับว่าเป็นการเสียสละสุดยอด (supreme sacrifice) ของชาติไทย เพื่อสันติภาพและหลักการอุดมการณ์ของสหประชาชาติ ตามที่อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาได้แนะนำ
ในที่สุด เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) คณะผู้แทนรายงานว่า พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร หัวหน้าคณะและ นายควง อภัยวงศ์ รองหัวหน้าคณะ ได้ลงพระนามและลงนามแล้ว ในความตกลงระงับกรณีระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย๓๐ ณ กรุงวอชิงตันในวันนั้น สาระสำคัญของความตกลงระงับกรณีพิพาท คือ สถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง เลิกอนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียว ฉบับลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑๓๑ จะตั้งคณะกรรมการประนอมขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาว่าจะควรแก้ไขหรือยืนยันสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๘๙๓๓๒ อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔๓๓ และสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๗๓๔ เป็นอันว่าหลักสถานะเดิม (Status Quo) ก็เป็นไปตามความประสงค์ของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และสมประสงค์ฝรั่งเศส แต่ต่อมาอีกไม่กี่ปี หลักสถานะเดิมของประเทศทั้งสองดังกล่าวก็พังทลายสิ้น ประเทศต่าง ๆ ในอินโดจีนได้เอกราช ด้วยการขับไล่ฝรั่งเศสออกไป ในอาฟริกาได้เอกราชเกือบหมด ทั้งๆ ที่ประเทศผู้ปกครองไม่เต็มใจนัก
เรื่องการรักษาสถานภาพเดิม (Status Quo) นี้ นายดัลเลส อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน ซึ่งล่วงลับไปแล้ว กล่าวไว้น่าฟังมากว่า ในโลกนี้ยังมีผู้เข้าใจผิดมาก กล่าวคือเข้าใจว่าโลกจะมีสันติภาพได้ ต่อเมื่อทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างเดิม อย่าเปลี่ยนแปลง กฎของชีวิตนั้นต้องเปลี่ยนแปลง (พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้สองพันห้าร้อยปีมาแล้วว่า อนิจจังไม่เที่ยง เมื่อเกิดแล้ว มีป่วยเจ็บตาย ไม่มีสิ่งใดถาวร) ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือชีวิตของชาติหรือระหว่างชาติ ถ้าเราเอาเครื่องกีดขวางมากั้นการเปลี่ยนแปลงนั้น เท่ากับเราช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยให้มีการรุนแรงและระเบิดออก ผู้ชนะสงครามมักจะแบ่งดินแดนเอาตามชอบใจ พวกนี้มักกล่าวว่า สันติภาพหมายถึงการรักษาสถานะเช่นนี้ไว้ตลอดกาล นโยบายนี้ผิดศีลธรรม และในทางปฏิบัติทำไม่ได้ เพื่อพิสูจน์หลักน เราจงลองไปค้นดูแผนที่ที่หอสมุด และดูแผนที่ในยุคต่าง ๆ อาทิ เมื่อพันปีมาแล้ว เทียบกับเมื่อร้อยปีมานี้ แล้ว ๕๐ ปีมานี้ แล้วตั้งปัญหาถามตัวเองว่า เราจะพอใจหรือไม่ ถ้าเราอยู่ในโลกตามแผนที่สมัยนั้น เราทราบแล้วว่า ในความอ่อนแอของสันนิบาตชาติ ซึ่งมีอยู่หลายข้อนั้น ข้อหนึ่งคือ นโยบายที่จะรักษาสถานะเดิม.........๓๕
คณะกรรมการประนอมฝรั่งเศส-ไทย ซึ่งตั้งขึ้นตามความตกลงระงับกรณีระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับไทย เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ดังกล่าว ประกอบด้วย นายวิกเตอร์ อันเดรเบเลานเด เอกอัครราชทูตเปรู สมาชิกของศาลประจำอนุญาโตตุลาการ กรุงเฮก นายวิลเลียม ฟิลลิปส์ อดีตเอกอัครราชทูตและอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน และเซอร์โฮเรซ ซีย์มัวว์ อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษ สามนายนี้ รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสเลือก รัฐบาลฝรั่งเศสเลือกคนชาติตนหนึ่งนายคือ นายปอล เอมิล นักจิยาร์ เอกอัครราชทูต รัฐบาลไทยเลือกพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน นอกจากนี้แต่ละรัฐบาลได้แต่งตั้งตัวแทนของตนประจำคณะกรรมการ คือ ฝรั่งเศสตั้งนายฟรันซีส ลาคอสต อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงวอชิงตัน และนายยัง บูร์เนย์ มนตรีแห่งรัฐ ฝ่ายไทยแต่งตั้งหม่อมเจ้าสกลวรรณาการ วรวรรณ ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย และนายเตียง ศิริขันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร
เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๗ คณะกรรมการได้ทำรายงานละเอียดยืดยาว๓๖ สรุปข้อแนะนำและข้อยุติดังต่อไปนี้
สรุปข้อแนะนำ
ข้อแนะนำของคณะกรรมการ อันเป็นผลเนื่องมาจากตอนก่อน ๆ ของรายงานฉบับนี้ จะย่อให้สั้น ๆ ได้ดังต่อไปนี้
๑) คณะกรรมการไม่สนับสนุนคำเรียกร้องของไทยต่ออาณาเขตลานช้าง (หลวงพระบางฝั่งขวา) และบทอนุสัญญา ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ เกี่ยวกับเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสในดินแดนลานช้างนั้นไม่ควรแก้ไข๓๗ (ตอน ๓ ก. วรรค ๔)
๒) คณะกรรมการไม่สนับสนุนคำเรียกร้องของไทยต่ออาณาเขตบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ฉะนั้น บทแห่งสนธิสัญญาลงวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๕๓ เกี่ยวกับเรื่องนี้จึงไม่ควรแก้ไข๓๘ (ตอน ๒ วรรค ๘) อย่างไรก็ดี เขตแดนทางน้ำอันเป็นผลเนื่องมาจากสนธิสัญญาต่าง ๆ และการปักปันที่ได้กระทำขึ้นในท้องที่นั้น ควรจะได้แก้ไขเพื่อที่จะให้เขตแดนเป็นไปตามร่องน้ำเดินเรือที่สำคัญ๓๙ (ตอน ๓ ข. วรรค ๖)
๓) อำนาจของคณะข้าหลวงใหญ่แม่น้ำโขงควรยืดออกไป และขยายหน้าที่ให้มากขึ้น (ตอน ๓ ข.วรรค ๗)
๔) คณะกรรมการไม่สนับสนุนคำเรียกร้องของไทยในอาณาเขตบาสสัค (จัมปาศักดิ์) ฉะนั้น บทอนุสัญญาลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ เกี่ยวกับเรื่องนี้จึงไม่ควรแก้ไข๔๐ (ตอน ๓ ค. วรรค ๗)
๕) คณะกรรมการไม่สนับสนุนคำเรียกร้องของไทยต่อเมืองพระตะบอง ฉะนั้น บทสนธิสัญญาลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ เกี่ยวกับเรื่องนี้จึงไม่ควรแก้ไข (ตอน ๓ ง. วรรค ๗)
๖) ในส่วนที่เกี่ยวกับการประมงในทะเลสาบ คณะกรรมการขอแนะนำให้มีข้อตกลงระหว่างภาคี เพื่อรับรองให้มีการแจกจ่ายปลาแก่ประเทศไทยอย่างพอเพียง (ตอน ๓ ง. วรรค ๘)
๗) คณะกรรมการขอแนะนำว่า รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสควรดำเนินการเจรจา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจัดตั้งคณะกรรมการปรึกษาหารือระหว่างประเทศขึ้นคณะหนึ่ง ณ กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาปัญหาเทคนิคต่าง ๆ อันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันแก่บรรดาประเทศต่าง ๆ ในแหลมอินโดจีน (ตอน ๕)
ข้อยุติ (Conclusion)
คณะกรรมการปรารถนาจะชี้แจงอีกครั้งหนึ่งว่า โดยปฏิบัติภายในขอบเขตแห่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา คณะกรรมการได้จำกัดการศึกษาและการพิจารณาของคณะกรรมการอยู่ในทางเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจ และงดเว้นจากการพิจารณาในทางการเมืองและทางประวัติศาสตร์ หลักฐานที่คณะกรรมการมีอยู่นั้น ตัวแทนทั้งสองซึ่งพูดแทนรัฐบาลของตนตามลำดับเป็นผู้ยันมา
แม้ว่าคณะกรรมการไม่มีหนทางที่จะสนับสนุนคำเรียกร้องของประเทศไทยเกี่ยวกับดินแดนที่คณะกรรมการได้ทำข้อแนะนำไว้บางประการ ซึ่งถ้ารัฐบาลทั้งสองเห็นชอบด้วย ก็ควรจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชนที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการยืนยันว่า เพียงแต่การโอนอาณาเขตในเขตแดนด้านหนึ่งไปให้อีกด้านหนึ่ง โดยปราศจากความยินยอมของพลเมืองนั้น จะไม่เป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชนตามตำบลชายแดน ซึ่งสวัสดิภาพและความผาสุกอันแท้จริงย่อมอาศัยเสรีภาพที่จะมีความสัมพันธ์ต่าง ๆ กับเพื่อนบ้านของตนที่อยู่ข้ามเขตแดนไปนั่นเอง เขต ๒๕ กิโลเมตรอันเป็นเขตปลอดการศุลกากรและปลอดการทหาร และเป็นเขตที่มีอยู่แล้ว แต่ละฟากเขตแดนทางน้ำนั้น เป็นการอนุเคราะห์แก่ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนเช่นว่านี้ และส่งเสริมให้พลเมืองที่อยู่ตามลำแม่น้ำมีการสังสรรค์ทางไมตรีสืบเนื่องกันตลอดไปด้วย
ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ และโดยรัฐบาลทั้งสองกระทำตามข้อแนะนำต่าง ๆ นี้ คณะกรรมการหวังอย่างจริงใจว่า เจตนารมณ์แห่งความรู้สึกอันดี และความร่วมมือกันนั้น จะจรรโลงความสัมพันธ์ของภาคีทั้งสอง และจะอำนวยสันติและความเจริญรุ่งเรื่องซึ่งจำเป็นจริง ไม่เฉพาะสำหรับอนาคตของประเทศไทยและอินโดจีนเท่านั้น แต่สำหรับอนาคตของแหลมนี้ทั้งสิ้นด้วย
ในการปฏิบัติงานครั้งนี้ คณะผู้แทนได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากปาฐกถา ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ได้ทรงแสดงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ ว่า “.........ก่อนอื่น ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า ภารกิจที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ไปในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นงานของชาติในส่วนรวม ซึ่งคณะทูตจะเว้นการขอบใจรัฐบาลเสียมิได้ ข้อที่ว่า งานครั้งนี้นับว่าเป็นงานส่วนรวมของชาตินั้น ดังจะเห็นได้ว่า รัฐบาลได้เลือกสรรตัวบุคคลในคณะทูตนี้ เช่น นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเป็นรองประธานคณะทูตด้วย ซึ่งแสดงว่าเป็นงานของประเทศชาติ ที่จะต้องร่วมมือกันทุกวิถีทาง......”
“การดำเนินงานของคณะผู้แทน ซึ่งเดินทางไปเจรจา ณ กรุงวอชิงตันครั้งนี้ ได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมีการโต้เถียงกันโดยเสรี แล้วก็ได้มีการลงมติกัน และในการลงมตินั้น ที่ประชุมได้ลงมติกันเป็นเอกฉันท์ทุกคราว เมื่อที่ประชุมได้ลงมติไปแล้ว ผู้ได้รับมอบหมายไปดำเนินงาน ทั้งข้าพเจ้าและรองหัวหน้าคณะก็ได้ปฏิบัติตามมติของที่ประชุมทุกประการ อนึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือนายปรีดี พนมยงค์ กับนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน๔๑ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ๔๒ ก็ได้ให้ความไว้วางใจแก่คณะผู้แทน และข้าพเจ้าเป็นอย่างดียิ่ง อันเป็นการก่อให้เกิดกำลังน้ำใจอันสำคัญ ในการเจรจาครั้งนี้ คณะผู้แทนและข้าพเจ้าได้กล้ารับผิดชอบในบางข้อ ซึ่งบางทีสิ่งเหล่านั้นควรจะต้องโทรเลขเข้ามาให้รัฐบาลทราบก่อนก็ตาม แต่เนื่องด้วยเวลาไม่อำนวย คณะผู้แทนจำต้องปฏิบัติให้ลุล่วงไปโดยเร็ว จึงจำเป็นต้องปฏิบัติไปก่อนแล้วรายงานให้รัฐบาลทราบในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ข้าพเจ้าและคณะผู้แทนขอขอบคุณรัฐบาลทั้งสองชุดที่ได้อนุมัติให้เป็นไปตามนั้นเป็นอย่างยิ่งด้วย......”
-
๑. รายงานคณะกรรมการประนอมโดยละเอียด มีปรากฏในภาคผนวกข้างท้าย ↩
-
๒. รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ บริหารงานหลังจากเสร็จสงคราม คือวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) จนถึงวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ↩
-
๓. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ↩
-
๔. พลตรี เอแวนซ ↩
-
๕. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ↩
-
๖. พลเรือเอก ลอร์ดหลุย เมานต์แบตเตน จอมพลเรือ ปัจจุบันมียศเป็นจอมพลเรือ ↩
-
๗. ดูบทที่ ๑ ในภาคนี้ ↩
-
๘. นายคลารัค ต่อมาเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำไทย ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๓ จนถึงปัจจุบันนี้ ↩
-
๙. ดูบทที่ ๒ แห่งภาคหนึ่ง เรื่องการทำสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ↩
-
๑๐. ดูภาคหนึ่ง บทที่ ๒ ข้างต้น ↩
-
๑๑. ขณะนั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ↩
-
๑๒. เจ้าชายบิสมาร์กแห่งปรัสเซียใช้ถ้อยคำนี้ในการชุมนุมใหญ่กรุงเบอร์ลิน ค.ศ. ๑๘๗๘ ขอให้ดูหนังสือการทูตเล่มหนึ่ง หน้า ๒๕๗ ↩
-
๑๓. รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ↩
-
๑๔. ชื่อย่อเรียกว่า O.S.S. ชื่อเต็ม Office of Strategic Services ซึ่งมีนายพลโดโนแวน (General Donovan) เป็นหัวหน้า นายพล โดโนแวน ต่อมาได้เป็นเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ (ค.ศ. ๑๙๕๔) ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ท่านผู้นี้สามารถมาก เดินนโยบายเก่ง เป็นมิตรกับฝ่ายชนะเสมอ ↩
-
๑๕. ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำอินโดจีนในขณะนั้น ↩
-
๑๖. ขณะนั้นเป็นที่ปรึกษา ฝ่ายการทูตของรัฐบาล ในอินโดจีนฝรั่งเศส ต่อมาเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๓ (ค.ศ. ๑๙๖๐) จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๐๙ หรือ ค.ศ. ๑๙๖๖) ↩
-
๑๗. หนังสือนายเดนนิงนี้ ปรากฏในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ↩
-
๑๘. ปัจจุบันเป็นเอกอัคราชทูตประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ↩
-
๑๙. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ↩
-
๒๐. ต่อมา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตำแหน่งครั้งสุดท้าย เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศเสวีเดน ปัจจุบันนอกราชการ ↩
-
๒๑. ต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตำแหน่งปัจจุบัน เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ↩
-
๒๒. หลักการนี้ตกลงกันแล้วตั้งแต่ทำสัญญาไม่รุกราน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ดูภาคหนึ่ง บทที่ ๒ ข้างต้น ↩
-
๒๓. อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งเข้ามาเยี่ยมประเทศไทย ↩
-
๒๔. ลอร์ด คิลเลิร์น ในขณะนั้นเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำมลายู ↩
-
๒๕. ปัจจุบันทรงกรม เป็นกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ↩
-
๒๖. เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ มี หลวงวิสูตรวิรัชชเทศ ร.ท. หม่อมเจ้า ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ นายถนัด คอมันตร์ ทำหน้าที่ผู้แทนสำรองและเลขาธิการ นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล หลวงดิฐการภักดี หม่อมเจ้าดิลกฤทธิ์ กฤดากร นายจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายสุจิต หิรัญพฤกษ์ นายดุสิต บุญธรรม และนายจาพิกรณ์ เศรษฐบุตร ↩
-
๒๗. ดูรายละเอียดในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ↩
-
๒๘. ดูเรื่องอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๔๑ ในบทที่ ๓ ภาคหนึ่ง ข้างต้น ↩
-
๒๙. ดูรายงานการประชุมรัฐสภา วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ↩
-
๓๐. ดูสัญญาท้ายภาคผนวกนี้ ↩
-
๓๑. ดูอนุสัญญาสันติภาพในบทที่ ๓ ภาคหนึ่ง ข้างต้น ↩
-
๓๒. ดูการทูตเล่มหนึ่งของผู้เขียน หน้า ๓๖๐-๓๖๕ ↩
-
๓๓. ดูการทูตเล่มหนึ่งของผู้เขียน หน้า ๓๖๐-๓๖๕ ↩
-
๓๔. ดูการทูตเล่มหนึ่งของผู้เขียน หน้า ๓๖๕-๔๒๐ ↩
-
๓๕. หนังสือ War or Peace ของ John Foster Dulles หน้า ๑๘-๑๙ ↩
-
๓๖. ดูคำแปลรายงานคณะกรรมการในภาคผนวก ↩
-
๓๗. อนุสัญญาฉบับนี้เกี่ยวกับไทยเราเสียฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามหลวงพระบางและตรงข้ามปากเซ ดูหนังสือการทูตเล่มหนึ่ง หน้า ๓๖๐-๓๖๕ ↩
-
๓๘. ดูสนธิสัญญาในเล่มนี้เกี่ยวกับไทยเราเสียฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในหนังสือการทูตเล่มหนึ่ง หน้า ๓๕๖-๓๖๐ ↩
-
๓๙. เรื่องร่องน้ำลึกนี้ฝรั่งเศสตกลงแล้วในคราวทำสัญญาไม่รุกราน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ดูบทที่ ๒ แห่งภาค ๑ ข้างต้น ↩
-
๔๐. ดูหนังสือการทูตเล่มหนึ่ง หน้า ๓๖๐-๓๖๕ ↩
-
๔๑. พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ↩
-
๔๒. ผู้เขียน ↩