บทที่ ๑ ไทยเจรจากับอังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน การคลังของไทย

วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) คือ สองวันหลังจากญี่ปุ่นยอมจำนนสัมพันธมิตร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ออกประกาศสันติภาพ ซึ่งได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎรว่า การที่ประเทศไทยประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) นั้น เป็น โมฆะ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญและความประสงค์ของประชาชนชาวไทย และว่าประเทศไทยมีเจตจำนงแน่วแน่ ที่จะกลับสถาปนาสัมพันธไมตรี ซึ่งได้มีอยู่กับสหประชาชาติก่อนการยึดครองของญี่ปุ่น ตลอดทั้งพร้อมที่จะคืนอาณาเขตบางส่วนที่ญี่ปุ่นได้มอบหมายให้แก่ไทย ทั้งแก่บริเตนใหญ่ และฝรั่งเศส และรับว่าจะพิจารณายกเลิกบทกฎหมายที่มีผลเสื่อมผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ และจักรวรรดิบริติช และให้คำมั่นที่จะให้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมและความยุติธรรมสำหรับความยุบสลายอันเนื่องมาจากกฎหมายเช่นว่านั้น กับทั้งสัญญาว่าจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ของไทยต่อสหประชาชาติ ในอันที่จะสถาปนาเสถียรภาพของโลก

ต่อมาอีกไม่กี่วัน นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังสงคราม ในการนี้ได้มีประชุม โดย นายปรีดี พนมยงค์ เป็นประธาน นายทวี บุณยเกตุ นายพลตำรวจเอกอดุลย์ อดุลยเดชจรัส นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย พลโทชิด มั่นศิลปสินาดโยธารักษ์ พลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ และข้าพเจ้า ปรึกษากันว่าท่านผู้ใดควรจะเหมาะสมที่จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าในเหตุการณ์และสถานการณ์เช่นนี้ ควรมอบให้ ม.รว. เสนีย์ ปราโมช เพราะเป็นหัวหน้าเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา ไม่สมควรที่ผู้อยู่ภายในประเทศจะรับตำแหน่งนี้ แต่ระหว่างที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชยังเดินทางมาไม่ถึงกรุงเทพฯ จำเป็นจะต้องมีรัฐบาลบริหารงานไปก่อนชั่วคราว เพราะมีเรื่องที่จะต้องรีบปฏิบัติมากมาย ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรก็กำลังทยอยเข้ามา จึงตกลงให้กราบบังคมทูลแต่งตั้งนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ซึ่งนายทวี บุณยเกตุก็ยินดีรับใช้ชาติแม้เพียงระยะเวลาสั้น จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายทวี ยุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) นายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่จนถึงวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) จึงกราบถวายบังคมลาออก และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีแทน คณะรัฐมนตรีชุดนายทวี บุณยเกตุ และชุด ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช มีรายนามดังต่อไปนี้

คณะรัฐมนตรีชุดนายทวี บุณยเกตุ

(๑ กันยายน ๒๔๘๘ - ๑๗ กันยายน ๒๔๘๘)

๑. นายทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรี
๒. นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
๓. นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
๔. พลโทชิด มั่นศิลปสินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
๕. พลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
๖. พลอากาศโทหลวงเทวฤทธิ์พันลึก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
๗. นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
๘. นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
๙. นายประจวบ บุนนาค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
๑๐. นายสพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
๑๑. นายสพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
๑๒. นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
๑๓. นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
๑๔. นายเดือน บุนนาค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
๑๕. นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
๑๖. นายพลตำรวจเอกอดุลย์ อดุลยเดชจรัส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
๑๗. นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๑๘. นายทวี ตะเวทิกุล รัฐมนตรี
๑๔. นายวิจิตร ลุลิตานนท์ รัฐมนตรี
๒๐. พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ รัฐมนตรี
๒๑. พระตีรณสารวิศวกรรม รัฐมนตรี
๒๒. นายทองอิน ภูริพัฒน์ รัฐมนตรี
๒๓. นายเตียง ศิริขันธ์ รัฐมนตรี
๒๔. นายถวิล อุดล รัฐมนตรี
๒๕. นายพึ่ง ศรีจันทร์ รัฐมนตรี
๒๖. นายทอง กันทาธรรม รัฐมนตรี
๒๗. นายสงวน ตุลารักษ์ รัฐมนตรี
๒๘. หลวงบรรณกรโกวิท รัฐมนตรี
๒๙. นายจำลอง ดาวเรือง รัฐมนตรี
๓๐. นายวุฒิ สุวรรณรักษ์ รัฐมนตรี

รัฐบาลชุดนี้บริหารงานอยู่เพียง ๑๗ วัน ก็ลาออกเพื่อให้ ม.ร.ว. เสนีย ปราโมช จัดตั้งรัฐบาลใหม่

คณะรัฐมนตรีชุด ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

(๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙)

๑. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี
๒. นายพลตำรวจเอกอดุลย์ อดุลยเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
๓. พลโทชิด มั่นศิล์ป สินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
๔. นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
๕. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
๖. พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
๗. หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม
๘. นายสพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
๙. นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
๑๐. พระยานลราชสุวัจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
๑๑. พระตีรณสารวิศวกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๑๒. นายประจวบ บุนนาค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
๑๓. นายทวี ตะเวทิกุล รัฐมนตรี
๑๔. นายสงวน ตุลารักษ์ รัฐมนตรี
๑๕. นายวิจิตร ลลิตานนท์ รัฐมนตรี
๑๖. นายเตียง ศิริขันธ์ รัฐมนตรี
๑๗. นายทอง กันทาธรรม รัฐมนตรี
๑๘. นายพึ่ง ศรีจันทร์ รัฐมนตรี
๑๙. นายจำลอง ดาวเรือง รัฐมนตรี
๒๐. นายจรูญ สืบแสง รัฐมนตรี
๒๑. พระสุทธิอรรถนฤมนต์ รัฐมนตรี
๒๒. เจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน รัฐมนตรี
๒๓. นายชิด เวชประสิทธิ์ รัฐมนตรี

ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ พลโทชิด มั่นศิล์ป สินาดโยธารักษ์ ลาออก และพลโทจิระ วิชิตสงคราม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทน และตั้งรัฐมนตรีเพิ่มอีกสองนายคือ นายทองอิน ภูริพัฒน์และนายถวิล อุดล รัฐบาลชุดนี้บริหารงานเพียง ๓ เดือน ๑๔ วัน

การต่างประเทศ

ปัญหาด่วนซึ่งเผชิญหน้ารัฐบาลใหม่ทั้งสอง คือ รัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ และรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้แก่ การปรับความสัมพันธ์กับอังกฤษ และฝรั่งเศส และการเจรจากับจีน

ความจริง ปัญหาสำคัญที่สุด คือ การปรับความสัมพันธ์กับอังกฤษและฝรั่งเศสเท่านั้น เพราะสหรัฐอเมริกานั้น เนื่องจากการปฏิบัติของคนไทยทั้งนอกและในประเทศที่ดีต่อเขามาตั้งแต่แรก ดังได้กล่าวไว้แล้วในบทที่ ๕ ของภาคสอง สหรัฐอเมริกาจึงไม่ถือว่าไทยเป็นประเทศศัตรู ทั้ง ๆ ที่ได้มีการประกาศสงครามกับเขาเป็นทางการ แต่อังกฤษนั้นรับเอาประกาศสงครามของเราเป็นกิจกรรมทางราชการ และถือว่าเราเป็นศัตรู ทั้ง ๆ ที่ไทยก็ได้พยายามช่วยเหลือและร่วมมือกับอังกฤษตลอดเวลาระหว่างสงคราม แต่อังกฤษก็ชี้แจงว่า เขาได้รับความเสียหายมาก ทั้งไทยก็เอาดินแดนไปอีกด้วย และก็คงตั้งใจจะทำให้ไทยเจ็บบ้าง ฉะนั้น จะได้กล่าวถึงการที่รัฐบาลต้องทำความตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษ ดังต่อไปนี้

ไทยทำความตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษ

วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖)

ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า พอญี่ปุ่นยอมจำนนไม่กี่วัน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ประกาศเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ว่า ไทยอยู่ในฐานะสันติภาพทันที

ทางรัฐบาลอเมริกันนั้น ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม นายเจมส์ เบิร์นส์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ได้ประกาศรับทราบประกาศสันติภาพของไทย มีข้อความดังนี้ “ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยได้นำแถลงการณ์ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ใน พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม มาเสนอต่อกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศนี้ คำแถลงการณ์นี้ ได้แจ้งให้ถือคำประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) เป็นโมฆะ เพราะผิดรัฐธรรมนูญและไม่ต้องด้วยเจตนาของปวงชนชาวไทย และยังได้ประกาศว่า ประเทศไทยมีความจำนงที่จะจรรโลงความสัมพันธไมตรีที่เคยมีมากับสหประชาชาติสัมพันธมิตร เมื่อก่อนญี่ปุ่นเข้าปกครองประเทศ และได้สัญญาว่าจะพิจารณายกเลิกพระราชบัญญัติใด ๆ ที่มีผลกระทบกระเทือนถึงผลประโยชน์ของเรา และได้รับรองว่าจะชดเชยค่าเสียหายอันเกิดจากบทบัญญัติเหล่านั้นด้วยความยุติธรรม และได้สัญญาว่า ประเทศไทยจะร่วมมือกับสหประชาชาติอย่างสุดความสามารถ ในอันที่จะรักษาความมั่นคงเป็นปึกแผ่นในโลก การกระทำของรัฐบาลไทยครั้งนี้ เป็นการจำเริญความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย

ญี่ปุ่นได้เข้ายึดประเทศไทยพร้อมกับที่ได้เข้าโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ต่อมาอีก ๒ สัปดาห์ประเทศไทยจึงได้ประกาศสงคราม รัฐบาลไทยในครั้งนั้นอยู่ในอำนาจของญี่ปุ่นทุกประการ รัฐบาลอเมริกันได้เชื่อตลอดมาว่า การประกาศลงครามในครั้งนั้น มิต้องด้วยเจตนาของประชาชนชาวไทย ด้วยเหตุฉะนั้น เราจึงมิได้ถือเอาคำประกาศสงครามฉบับนั้น และยังคงรับรองสถานะของอัครราชทูตไทย ในกรุงวอชิงตันต่อไป และไม่รับรองรัฐบาลไทยในกรุงเทพ ฯ ซึ่งอยู่ใต้อำนาจญี่ปุ่น

เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดประเทศไทยแล้ว อัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ได้จัดตั้งคณะเสรีไทยขึ้นทันทีในหมู่ชาวไทยทั้งหลายที่อาศัยอยู่นอกประเทศ เมื่อญี่ปุ่นเข้าย่ำยี และนับแต่นั้นมา คณะเสรีไทย (Free Thai Movement) นอกประเทศนี้ ก็ได้ช่วยเหลือกิจการของสหประชาชาติพันธมิตรไว้เป็นอันมาก หลังจากที่ญี่ปุ่นเข้ายึดประเทศไทยได้ไม่ทันไร ก็ปรากฏมีการส้องสุมผู้คนเตรียมขัดขวางขึ้นในประเทศ รัฐบาลอเมริกันของเรากับรัฐบาลอังกฤษ ได้ให้ความช่วยเหลือสำคัญต่อ และได้รับความช่วยเหลือสำคัญ ๆ จาก คณะกู้ชาติภายในประเทศ และในระยะหลัง ๆ นี้ก็ได้ทำการติดต่อกับคณะกู้ชาติไทยตลอดมา นับเป็นเวลาได้หลายเดือน ที่คณะกู้ชาติไทยได้เตรียมพร้อมที่จะลุกขึ้นต่อสู้ญี่ปุ่น แต่เพื่อประโยชน์ต่อปฏิบัติการ รัฐบาลนี้กับรัฐบาลอังกฤษได้ขอร้องให้คณะกู้ชาติรอไว้ก่อน และก็เพราะเหตุผลที่กล่าวมานี้แต่เพียงข้อเดียว ที่คณะกู้ชาติไทยมิได้เริ่มต่อสู้ประการใด การที่ญี่ปุ่นมายอมจำนน ทำให้การต่อสู้หมดความจำเป็น เมื่อก่อนสงครามประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกามีประวัติความสัมพันธไมตรีสนิทสนมมาช้านาน เราหวังใจว่า ความสัมพันธไมตรีนั้นจะใกล้ชิดสนิทสนมกันขึ้นในวันข้างหน้า ในระหว่าง ๔ ปีที่แล้วมา เรามิได้ถือประเทศไทยเป็นศัตรู แต่ถือว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่เราจะเข้าไปช่วยกู้ให้พ้นจากอำนาจศัตรู บัดนี้ เมื่อประเทศไทยได้พ้นจากอำนาจปัจจามิตรแล้ว เราจึงใคร่จะเห็นประเทศไทยได้กลับเข้าอยู่ในสังคมนานาชาติเช่นเดิม ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นชาติเสรี มีอำนาจอธิปไตยและมีเอกราช”

สำหรับอังกฤษนั้น ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ศกเดียวกัน นาย เออร์เนอสต์ เบวิน รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอังกฤษ ได้ออกคำแถลงการณ์ว่า “รัฐบาลอังกฤษรับทราบความช่วยเหลือที่ได้รับจากขบวนการต่อต้านของไทย รัฐบาลอังกฤษจะได้พิจารณาประกาศสันติภาพของไทยด้วยความระมัดระวังก่อน เพื่อจะดูว่ามีมูลฐานเพียงพอแก่การที่จะจัดฐานะอันผิดธรรมดาให้เข้าสู่ระเบียบได้หรือไม่ การที่ไทยได้เข้าร่วมมือกับญี่ปุ่น ทำให้มีปัญหาทางปฏิบัติหลายประการที่จะหลีกเลี่ยงไม่ชำระสะสางไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลอังกฤษจะได้ตรวจพิจารณา และท่าทีของอังกฤษขึ้นอยู่ที่ว่า คนไทยจะปฏิบัติตามความต้องการของทหารอังกฤษ ซึ่งกำลังจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยนั้นอย่างไร และคนไทยจะจัดการแก้ไขความผิดซึ่งคนรุ่นก่อนได้กระทำและจัดการชดใช้คนสำหรับความเสียหาย ความวินาศ และความบุบสลายที่เกิดขึ้นแก่ผลประโยชน์ฝ่ายบริติช และฝ่ายสัมพันธมิตรเพียงใด และมีส่วนช่วยในการที่จะให้สันติภาพความสงบเรียบร้อย และการบูรณะทางเศรษฐกิจ กลับคืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงใด”

ความจริงรัฐบาลไทยเราพอประกาศสันติภาพแล้วโดยยังไม่ทันทราบแน่ว่า อเมริกาและอังกฤษจะประกาศนโยบายอย่างใด ก็ได้ทำทุกอย่างเพื่อให้ทั้งสองชาตินี้เห็นใจ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้ อาทิ ได้ทำการช่วยเหลือเชลยศึกของสัมพันธมิตรที่อยู่ในมือของญี่ปุ่นในประเทศทันที และโดยฝ่ายไทยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ได้จัดหาอาหาร เสื้อผ้า และให้การรักษาพยาบาล ให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของสัมพันธมิตร ในการจัดส่งตัวเชลยเหล่านี้กลับประเทศของตน ได้จัดหาสัมภาระและบริการทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของสัมพันธมิตรต้องการโดยไม่คิดมูลค่า ตลอดทั้งบรรดาความสะดวกและความช่วยเหลือที่ต้องการเพื่อการปฏิบัติตามภารกิจของตน ในอันที่จะปลดอาวุธและกักคุมกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วย

ต่อมาในเดือนกันยายน ปีเดียวกันนี้ ผู้แทนกองทัพอังกฤษในกรุงเทพ ฯ ได้แจ้งกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้แจ้งกับรัฐบาลว่า รัฐบาลอังกฤษใคร่จะให้รัฐบาลไทยส่งคณะผู้แทนออกไปเจรจาทำสัญญาทางทหารกับรัฐบาลอังกฤษ แต่เพื่อเกียรติศักดิ์ของไทยเอง ขอให้รัฐบาลไทยออกคำแถลงเองว่า จะส่งคณะผู้แทนออกไปเอง เพื่อเจรจาเรื่องนี้ที่เมืองแคนดี เกาะลังกา รัฐบาลไทยตกลงและได้ส่งคณะผู้แทนไป๑๐ เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) เพื่อเจรจารายละเอียดเกี่ยวกับการทหารของสัมพันธมิตร ซึ่งจะจัดการให้ญี่ปุ่นทำพิธียอมแพ้และปลดอาวุธของกองทัพญี่ปุ่น ฝ่ายอังกฤษได้เสนอร่างความตกลง ๒๑ ข้อต่อคณะผู้แทนไทย มีความดังนี้

๑. ให้ยุบองค์การทหาร องค์การกึ่งทหาร องค์การการเมือง ซึ่งกระทำการโฆษณาเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาติ

๒. ส่งมอบบรรดาเรือทั้งหมดที่เป็นของสหประชาชาติ ซึ่งอยู่ในท่าเรือ ให้แก่เจ้าหน้าที่สัมพันธมิตร

๓. จะกระทำทุกวิถีทางเพื่อปลดเปลื้องบรรเทาทุกข์เชลยศึก และผู้ที่กักกันสัมพันธมิตร และจะออกค่าใช้จ่ายในการจัดอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยา อนามัย และการขนส่ง ให้มีจำนวนเพียงพอ โดยปรึกษากับเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตร

๔. จะรับผิดชอบในการป้องกันรักษาและซ่อมแซมชดใช้ ซึ่งทรัพย์สินของสัมพันธมิตรทั้งหมด

๕. ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทางการทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในเรื่อง

ก. ปลดอาวุธญี่ปุ่นในประเทศไทย และส่งมอบให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร

ข. ยกและมอบเครื่องอุปกรณ์ในการสงครามของญี่ปุ่น ให้แก่เจ้าหน้าที่ทางการทหารฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งจะได้ตั้งขึ้น รวมทั้งเรือรบ เรือสินค้าทุกชนิด เครื่องบิน อาวุธ กระสุน ยานยนต์ และยานอื่น ๆ คลังทหารต่าง ๆ รวมทั้งน้ำมันที่ใช้ในการบิน และน้ำมันอื่น ๆ กับเชื้อเพลิง เสื้อผ้า เครื่องมือเครื่องใช้ของวิทยุ และทรัพย์สมบัติอื่น ๆ ซึ่งเป็นของกองทัพญี่ปุ่น

๖. ห้ามทำการค้ากับศัตรูของสัมพันธมิตร

๗. ยึดทรัพย์ของญี่ปุ่นทั้งหมด (และศัตรูอื่น) มอบให้กับสัมพันธมิตร

๘. ร่วมมือในการฟ้องร้องและสอบสวนบุคคลซึ่งต้องหาว่าเป็นอาชญากรสงคราม หรือผู้ที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น หรือกับศัตรูของสัมพันธมิตรโดยเปิดเผย

๙. ส่งมอบตัวกบฏซึ่งเป็นชนชาติสัมพันธมิตรให้แก่เจ้าหน้าที่สัมพันธมิตร

๑๐. จะบำรุงรักษา และพร้อมที่จะช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งทางทัพเรือ ทัพบก และทัพอากาศ ตลอดจนท่าเรือ สนามบิน สิ่งก่อสร้าง เครื่องมือเครื่องใช้ ทางคมนาคม อาวุธและคลังทุกชนิด ตามที่จะได้ระบุ และนอกจากนั้น รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างบนพื้นดิน และคลังสัมภาระอื่น ๆ ตามแต่เจ้าหน้าที่ทหารสัมพันธมิตรจะได้แจ้งความประสงค์เป็นครั้งคราว เพื่อใช้เป็นที่พักทหารในการที่จะเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่น และเป็นที่เก็บของด้วย

๑๑. จะให้ใช้ท่าเรือและให้ความสะดวกในการจราจรแก่เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในดินแดนไทยได้ตามความประสงค์

๑๒. จัดการตามความประสงค์ของเจ้าหน้าที่สัมพันธมิตรในการควบคุมหนังสือพิมพ์ ตรวจตราและควบคุมวิทยุ การติดต่อทางสายต่าง ๆ การติดตั้งหรือกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการคมนาคมภายใน

๑๓. จะดำเนินการปกครองทางพลเรือนต่อไปโดยปฏิบัติตามความประสงค์ของเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติกิจการของเขาได้

๑๔. ในกรณีที่ต้องการจะให้มีความสะดวก ในการเกณฑ์แรงงาน และในการใช้ประโยชน์ในดินแดนไทย ซึ่งการประกอบการอุตสาหกรรมขนส่ง ตลอดจนการคมนาคม โรงไฟฟ้า สาธารณกิจ และความสะดวกอื่น ๆ คลังเชื้อเพลิง และวัตถุอื่น ๆ ตามแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสัมพันธมิตรจะแสดงความประสงค์มา

๑๕. เรือสินค้าของชาวไทย ไม่ว่าจะอยู่ในน่านน้ำไทยหรือต่างประเทศ ต้องอยู่ในความควบคุมของสัมพันธมิตร เมื่อสัมพันธมิตรต้องการเพื่อผลประโยชน์ของสัมพันธมิตร

๑๖. ยอมให้จัดตั้งคณะผู้แทนทางทหารซึ่งแต่งตั้งโดยเจ้าหน้าที่ทางการทหาร เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการจัดกำลัง การฝึก และการจัดเครื่องมือเครื่องใช้กำลังของกองทัพไทย

๑๗. ห้ามไม่ให้นำข้าว ดีบุก ยาง และไม้สัก ออกนอกประเทศชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่สัมพันธมิตรจะเห็นว่าจำเป็น โดยพิจารณาเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอยู่ในขณะนั้น เว้นแต่ในความอำนวยของคณะกรรมการผสมฝ่ายสัมพันธมิตร หรือเจ้าหน้าที่คล้ายกัน ที่จะมาแทนคณะกรรมการคณะนี้

๑๘. ตลอดเวลาที่โลกยังขาดแคลนข้าว ตามความเห็นของคณะกรรมการผสมสัมพันธมิตร หรือเจ้าหน้าที่สัมพันธมิตร จะต้องปรับปรุงข้าวให้ได้ผลเป็นจำนวนมากที่สุด และจำนวนที่เหลือจะต้องมีไว้ให้กรรมการข้าวสัมพันธมิตร ด้วยราคาที่จะตกลงกับคณะกรรมการข้าว โดยถือราคาควบคุมข้าวที่อยู่ในประเทศอื่น ๆ ในเอเซีย

๑๙. จะตกลงรายละเอียดกับคณะกรรมการข้าวของสัมพันธมิตร ในเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่จะให้บังเกิดผลตามข้อตกลงข้างบนนี้ ข้อตกลงดังกล่าวนี้ จะต้องกินความถึงรายละเอียดตามภาคผนวกแห่งข้อตกลงนี้ และนอกจากนั้นจะจัดให้มี

ก. สัมพันธมิตรจะเข้าควบคุม เพื่อให้กิจการต่าง ๆ ที่สัมพันธมิตรต้องการ ให้เป็นไปตามความประสงค์ จนกว่ารัฐบาลไทยจะมีประกันให้แก่สัมพันธมิตร

ข. เพื่อให้มีการร่วมมือภายหลังต่อไปอีก ระหว่างรัฐบาลไทยกับคณะกรรมการข้าวสัมพันธมิตร ในการที่จะบริหารข้อผูกพันใด ๆ ซึ่งได้มีขึ้นแล้วนั้นต่อไป

๒๐. การวางนโยบายการเงินของไทย (รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งกำหนดเมื่อเริ่มต้น) ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของผู้แทนฝ่ายสัมพันธมิตร โดยยึดหลักความสะดวกที่จะให้การปลูกข้าวมีผลมากที่สุด และให้บังเกิดอุปโภคอื่น ๆ ที่ยังขาดแคลนอยู่ และเพื่อหลีกเลี่ยงการยุ่งยากทางเศรษฐกิจ

๒๑. จะให้ข่าวที่ประสงค์โดยเร็วที่สุด และจะปฏิบัติตามภาคผนวกซึ่งได้แนบมาด้วย

ภาคผนวก A

วิธีการซึ่งคิดว่าจำเป็นเพื่อประกันให้จำนวนข้าวเป็นสินค้าออกได้มากที่สุด

(ก) ให้เจ้าของข้าวแจ้งปริมาณข้าวเปลือก และข้าวสาร

(ข) ให้คาดคะเนข้าวที่เหลือใช้ในประเทศไทย

(ค) เก็บข้าวที่เหลืออยู่หรือได้มาจากองค์การตุนข้าว หรือถ้าจำเป็นให้เกณฑ์

(ง) ให้จัดข้าวที่เหลือนี้ขายให้คณะกรรมการข้าวสัมพันธมิตร ดังปรากฏในข้อ ๑๓ ในราคาที่ไม่เกินราคาข้าวของพม่าที่ตั้งไว้

(จ) ห้ามส่งข้าวเปลือกหรือข้าวสารออกนอกประเทศ เว้นแต่จะโดยคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตร

(ฉ) ห้ามเก็บภาษีสินค้าออกหรือภาษีข้าวสารหรือข้าวเปลือก เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ข้าวฝ่ายสัมพันธมิตร

(ช) สนับสนุนให้มีการปลูกข้าวให้มากที่สุดในประเทศไทย

(ซ) จดทะเบียนโรงสีทุกแห่ง และจำกัดราคาซื้อขายข้าวโรงสีไม่ให้เกินราคาที่กะไว้

(ด) บูรณะโรงสีใหม่โดยทุก ๆ ทางที่สามารถ รวมทั้งการสับเปลี่ยนเครื่องจักรจากโรงสีที่เสียหายมาก ไปยังโรงสีที่เสียหายน้อย เพื่อให้โรงสีที่ใช้งานได้มีพอเพียงที่จะสีข้าว

(ต) ในการขนส่งข้าวจากนาไปโรงสี จากโรงสีไปท่าเรือ ให้มีการขนส่งที่เพียงพอกับข้าวที่เก็บเกี่ยวได้

(ถ) ให้รีบจัดการบูรณะท่าเรือให้เพียงพอ

(ท) ควบคุมการแจกจ่ายเครื่องบริโภค ในลักษณะที่ชักจูงให้เกิดชาวกสิกรรมจำนวนมากที่สุด

(น) การควบคุมข้าวข้างบนนี้จะทำชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าความอัตคัดข้าวจะสิ้นสุดลง

ภาคผนวก B

ว่าด้วยองค์การรวบรวมให้ข่าวและวิธีปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องกระทำ (รายละเอียดต่าง ๆ ในภาคผนวกฉบับนี้มิได้คัดไว้ สรุปคือ ต้องยินยอมให้อังกฤษควบคุมการติดต่อสื่อสารทุกอย่างในประเทศ)

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าข้อเสนอ ๒๑ ข้อของอังกฤษนี้ ล้วนแต่จะควบคุมกิจการของไทยทั่วไปทั้งสิ้น ทั้งทางการเมือง การทหารและการเศรษฐกิจ อาทิ จะเห็นได้จากข้อ ๑. คือให้ยุบเลิกองค์การทหาร ข้อ ๘. ร่วมมือกับสัมพันธมิตรฟ้องอาชญากรสงคราม ซึ่งหมายความว่าสัมพันธมิตร (อังกฤษ) จะเข้าร่วมจัดการด้วย ข้อ ๑๓. ดำเนินการปกครองบ้านเมืองตามประสงค์ของสัมพันธมิตร (อังกฤษ) ข้อ ๑๖. มีผู้แทนทางทหารของสัมพันธมิตรเข้าจัดกำลัง จักเครื่องมือเครื่องใช้ของกองทัพไทย ข้อ ๑๗. เข้าควบคุมการส่งออกนอกประเทศ ซึ่งข้าว ดีบุก ยาง และไม้สัก ข้อ ๑๘. ให้ข้าวแก่สัมพันธมิตร และข้อ ๒๐. ควบคุมนโยบายการเงิน การคลัง ของไทย

คณะผู้แทนไทยเห็นว่าไม่สามารถลงนามได้ เพราะนอกอำนาจที่ได้รับมอบหมาย จะลงนามได้ก็บางข้อ เกี่ยวกับการช่วยเหลือทางทหารเท่านั้น จึงส่งผู้แทนบางท่านเข้ามารายงานรัฐบาล๑๑ รัฐบาลได้ประชุมปรึกษากันเห็นว่า โดยที่รัฐบาลไม่สามารถตกลงได้ จึงจำต้องเสนอขออนุมัติต่อสภาผู้แทนราษฎร ในขณะเดียวกัน ทั้งทางผู้แทนไทยที่ลังกา และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้รีบติดต่อกับผู้แทนอเมริกันว่า เสียแรงร่วมมือด้วยอย่างเต็มที่ กลับจะถูกสัมพันธมิตร (อังกฤษ) บังคับเสมือนไม่มีเอกราช เรื่องจึงปรากฏว่า รัฐบาลอเมริกันไม่ได้รับคำปรึกษาเรื่องนี้เลย ทางสภาผู้แทนราษฎรนั้น เมื่อ รัฐบาลชี้แจงเหตุผลว่า ถูกบีบบังคับ ก็จำต้องอนุมัติให้ลงนามได้ แต่ให้บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่า จำต้องยอมอังกฤษ เพราะถูกบังคับ ไม่ใช่ยินยอมโดยสมัครใจ๑๒

บังเอิญนับว่าเป็นเคราะห์ดีของชาติไทยเรามาก รัฐบาลอเมริกันได้รีบประท้วงกับรัฐบาลอังกฤษอย่างแรงว่า ร่างที่ยื่นต่อไทยนี้ ทำในนามสัมพันธมิตร ฉะนั้นรัฐบาลอเมริกันจำต้องได้รับคำปรึกษา รัฐบาลอเมริกันไม่ยอมรับรู้ด้วย ในขณะเดียวกัน ผู้แทนอเมริกันได้แจ้งกับฝ่ายเราว่า ให้ยับยั้งการลงนามไว้ก่อนได้ เพราะสหรัฐอเมริกากำลังประท้วงอังกฤษอยู่ ในที่สุดจึงไม่มีการลงนาม ตามข้อเสนอ ๒๑ ข้อนี้๑๓ เรื่องนี้สหรัฐอเมริกาก็น่าเคืองอังกฤษ เพราะเมื่อจวนสงครามจะเสร็จสิ้นลง นายคอร์เดลล์ ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกันได้แจ้งกับรัฐบาลอังกฤษดังนี้ “เราไม่ถือว่าไทยเป็นศัตรูของเรา ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับเรา เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) เราไม่ประกาศสงครามตอบ โดยเราถือว่า รัฐบาลที่กรุงเทพ ฯ อยู่ใต้อำนาจญี่ปุ่น จึงไม่เป็นผู้แทนความปรารถนาอันแท้จริงของราษฎร และเราคงรับรองอัครราชทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน (ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช) ในฐานเป็นอัครราชทูตอยู่

ความปรารถนาของเรา (อเมริกา) ต้องการเห็นไทยกลับคืนเป็นประเทศเอกราช แต่รัฐบาลอังกฤษถือว่าไทยเป็นประเทศศัตรู ฉะนั้น จะต้องทำงานสร้างทางไปสู่เอกราช นายอีเดน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ได้ให้คำมั่นกับเราว่า อังกฤษปรารถนาให้ไทยได้อธิปไตยในที่สุด แต่ขอสงวนเรื่องเกี่ยวกับฐานะของประเทศไทย ซึ่งมีต่อความมั่นคงของประเทศอังกฤษ และการร่วมมือกับอังกฤษในด้านเศรษฐกิจ และจะต้องให้ไทยรับประกันเรื่องจะไม่ขุดคลองที่คอคอดกระ เรื่องดินแดนที่ไทยได้มาจากฝรั่งเศสเนื่องจากญี่ปุ่นไกล่เกลี่ยนั้น เราตกลงด้วยว่า ต้องคืน แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะเจรจาปรับปรุงกันภายหลังโดยสันติ นอกจากนี้ท่านประธานาธิบดี (โรสเวลต์) ยังได้มีคำสั่งไปยังทูตของเราที่ลอนดอน ปารีสและเฮกด้วยว่า รัฐบาลอเมริกันหวังว่าความตกลงใดๆ เกี่ยวกับอนาคตของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คงจะปรึกษากับสหรัฐอเมริกาด้วย ทั้งนี้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

เมื่อข้าพเจ้า (คอร์เดล ฮัลล์) พ้นจากตำแหน่ง นโยบายของเรา (สหรัฐอเมริกา) เท่าที่เกี่ยวกับไทย คือ ต้องการให้ไทยกลับเป็นประเทศเอกราช มีอธิปไตย มีรัฐบาลอิสระ เป็นผู้แทนของราษฎร ซึ่งสามารถแสดงเจตจำนงได้โดยเสรี เราไม่รับนับถือรัฐบาลในขณะนั้น (ในระหว่างสงคราม) เราเห็นอกเห็นใจ “ขบวนการเสรีไทย” ได้เริ่มตั้งแต่ที่นี่ (วอชิงตัน) และประเทศอื่น ๆ แต่เราไม่ต้องการมีความผูกพันทางการเมืองกับขบวนการนี้ เพราะเราปรารถนาให้ราษฎรไทยเขาเลือกรัฐบาลของเขาเอง........”๑๔

อย่างไรก็ดี ในที่สุดคณะผู้แทนได้ลงนามเฉพาะในเรื่องการทหารดังต่อไปนี้ (๑) ไทยจะทำทุกวิถีทางที่จะรับรองทำการช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ต่อบรรดาเชลยศึกแลผู้ถูกกักกัน และจะออกค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาหารเลี้ยงดู (๒) ร่วมมือกับทหารสัมพันธมิตรในการปลดอาวุธญี่ปุ่น ในการกักกันคนญี่ปุ่นและเยอรมัน ในการยึดส่งมอบให้แก่สัมพันธมิตรซึ่งบรรดาวัตถุสงครามและสัมภาระอื่น ๆ ของญี่ปุ่น ฯลฯ (๓) เกี่ยวกับประโยชน์ทางการทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรตามข้อ (๑) และ (๒) จะบำรุงรักษาและพร้อมที่จะมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ของฝ่ายสัมพันธมิตรได้ใช้เกี่ยวกับกองทัพเรือ กองทัพบก และกองทัพอากาศ ฯลฯ (๔) ข้อตกลงนี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนในทางใดทางหนึ่ง ต่อฐานะแห่งรัฐบาลชาติพันธมิตรแต่ละรัฐบาลที่มีต่อประเทศไทย และไม่มีผลขัดแย้งกับการตกลง ซึ่งรัฐบาลชาติสัมพันธมิตรแต่ละชาติจะได้ตั้งใจทำร่วมกับประเทศไทยอย่างหนึ่งอย่างใดเลย

รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

ได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่า นายทวี บุณยเกตุ รับเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) จนถึงวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ซึ่งเป็นวันที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา จึงกราบถวายบังคมลาออก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ ม.ร.ว. เสนีย ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๘๘ เป็นต้นมา ส่วนข้าพเจ้าก็ยังคงอยู่ทางกระทรวงการคลังต่อไปในคณะรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) มีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ รัฐบาลจึงกราบถวายบังคมลาออกตามรัฐธรรมนูญ

ในรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชนี้มีเรื่องสำคัญที่ต้องทำความตกลงกับฝ่ายสัมพันธมิตรสองเรื่อง คือ ความตกลงสมบูรณ์แบบ๑๕กับอังกฤษ และสนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างไทยกับจีน๑๖

(๑) ความตกลงสมบูรณ์แบบ

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เข้าเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศได้เพียง ๕ วัน คือ ในวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ก็ได้รับคำขอจากผู้แทนอังกฤษ ให้รัฐบาลส่งคณะทูตอีกคณะหนึ่งไปเมืองแคนดี ลังกา เพื่อเจรจากับผู้แทนอังกฤษ เกี่ยวกับการกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ปรกติระหว่างอังกฤษกับไทย รัฐบาลได้ตอบตกลงและตั้งคณะผู้แทนประกอบด้วย หม่อมเจ้า วิวัฒนไชย ไชยยันต์๑๗ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการคลัง พลโทพระยาอภัยสงคราม๑๘ นายเสริม วินิจฉัยกุล๑๙ พ.อ. ม.จ. ชิดชนก กฤดากร๒๐ น.ท. ม.จ. อุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย๒๑ นาย กนต์ธีร์ ศุภมงคล๒๒ พ.ต. ป๋วย อึ๊งภากรณ์๒๓ และนายประหยัด บุรณศิริ๒๔

วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) คณะผู้แทนไทยได้รับร่างหัวข้อกำหนดความตกลงและภาคผนวกเพื่อให้พิจารณา ปรากฏว่าข้อกำหนดต่าง ๆ นี้ จะก่อภาระอันหนัก และความลำบากให้ แก่ประเทศไทยยิ่งไปกว่าร่างความตกลง ๒๑ ข้อที่กล่าวข้างต้นเสียอีก เช่น ไทยจะต้องให้ข้าวจำนวน ๑ ๑/๒ ล้านตันโดยไม่คิดราคา ซึ่งคิดเป็นมูลค่าในขณะนั้นอย่างน้อย ๒,๕๐๐ ล้านบาท ไทยจะต้องใช้เงินสำหรับการบำรุงรักษาเชลยศึกสัมพันธมิตร และสำหรับค่าทดแทนความวินาศหรือความบุบสลายของทรัพย์สิน

เมื่อคณะผู้แทนรายงานเข้ามายังรัฐบาล ๆ ได้สั่งให้คณะผู้แทนเสนอขอแก้ไขหลายประการด้วยกัน ซึ่งผู้แทนฝ่ายอังกฤษก็รับเสนอต่อไปยังรัฐบาลอังกฤษที่กรุงลอนดอน เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องข้าว ๑ ๑/๒ ล้านตันนั้น ไทยก็บอบช้ำอยู่แล้ว ขอลดหย่อนบ้าง ต่อมาคณะผู้แทนรายงานว่าการเจรจาชักช้าลงและทราบมาว่า ข้าวตามจำนวนที่อังกฤษต้องการนี้ ถ้าเราตกลงให้ก็อาจตกลงได้ในข้ออื่น ๆ ที่เราขอแก้ไข รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จึงเสนอขอความเห็นชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยเป็นที่เข้าใจว่า จำนวนข้าว ๑ ๑/๒ ล้านตันนี้ ให้รวมทั้งข้าว ๒๔๐,๐๐๐ ตัน ซึ่งเราประกาศอุทิศให้เปล่าเมื่อเสร็จสงครามแล้วใหม่ ๆ ด้วย สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติอนุมัติตามหลักการที่รัฐบาลเสนอไป แต่วางเงื่อนไขไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องได้รับความพอใจเรื่องอื่น ๆ ตามข้อเสนอของไทย การเจรจาไม่ปรากฏว่าได้ผลคืบหน้า คณะผู้แทนจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ ต่อมาในราวต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) อังกฤษแจ้งมาใหม่ ขอให้รัฐบาลส่งคณะผู้แทนไปใหม่ คราวนี้ขอให้ไปที่เมืองสิงคโปร์ ซึ่งฝ่ายเราก็ตกลง

วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) คณะผู้แทน (ชุดเก่าที่ไปประชุมที่ลังกา) จึงออกจากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์ ก่อนออกเดินทางหนึ่งวัน นายเบิร์ด๒๕ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ (เพราะยังไม่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์) ซึ่งประจำอยู่กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของสัมพันธมิตรที่กรุงเทพ ได้นำจดหมายของนายเดนนิง๒๖ มาให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในจดหมายนั้นมีสาระสำคัญว่า อังกฤษถือว่าที่เราได้ให้ความช่วยเหลือในขบวนการต่อต้านนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะให้ประโยชน์แก่การดำเนินการสงครามอย่างจริงจัง อังกฤษยอมรับว่าไทยได้แสดงความประสงค์ในการที่จะลุกขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) จริง แต่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีความเห็นว่า ไทยยังไม่ได้รับการฝึกและไม่มีอาวุธครบมือเพียงพอ ซึ่งทั้งนี้ยังจะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากสัมพันธมิตรต่อไปอีก ตรงกันข้าม ไทยควรพอใจในการที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ญี่ปุ่นแพ้ก่อนที่จะมีการรบกันขึ้นในประเทศไทย ฉะนั้นคนไทยจึงยังไม่ได้ผจญกับความทารุณโหดร้ายของสงคราม อนึ่ง ฝ่ายอังกฤษถือว่าไทยเป็นผู้ทำการหน่วงเหนี่ยวให้การเจรจาชักช้า จนนายเดนนิงต้องไปราชการที่ชวา ความจริงนายเดนนิงได้บอกกับคณะผู้แทนไทยแล้วตั้งแต่อยู่ที่แคนดี ลังกา ว่า ข้อตกลงนี้จะแก้ไขได้แต่ถ้อยคำ จะแก้ไขในสาระสำคัญไม่ได้ ฝ่ายไทยจะต้องรับข้อเสนอของฝ่ายอังกฤษเรื่องให้ข้าวจำนวนหนึ่งล้านตันครึ่ง และต้องถือว่าเป็นการให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ กับทั้งต้องจัดการให้แก่ประเทศอังกฤษโดยเร็ว เพราะมิฉะนั้นบรรดาประเทศที่ต้องการข้าว หากรู้ความจริงก็จะมีความรู้สึกไม่ดีต่อประเทศไทย เท่าที่อังกฤษได้ปฏิบัติต่อประเทศไทยมานั้น ถือว่าเป็นการปรานีอย่างที่สุดแล้ว เพราะเขาไม่ได้ถือตามหลักปฏิบัติระหว่างประเทศ ซึ่งควรจะเป็นการบังคับ ให้ยอมรับข้อตกลงอังกฤษมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่เสมอ เช่น การช่วยเหลือจัดการเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย เป็นต้น

วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยยันต์ หัวหน้าคณะผู้แทนรายงานมายังรัฐบาลว่า เมื่อเปิดประชุมในวันนี้แล้ว ผู้แทนอังกฤษ๒๗ ได้กล่าวสุนทรพจน์เป็นเชิงเทศนาว่า การที่ต้องมีการเจรจาทำความตกลงกันเช่นนี้ ก็เพราะไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ แต่อังกฤษก็คำนึงถึงความดีของขบวนการต่อต้านของไทยที่ได้ดำเนินการมา หากแต่ว่าการกระทำและการเสียสละของไทยนั้นยังน้อยกว่าที่อื่น๒๘ หัวข้อความตกลงที่อังกฤษเสนอใหม่ครั้งนี้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเป็นหัวข้อเสนอที่น้อยที่สุดแล้ว(minimum) ไม่อาจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ และรัฐบาลอังกฤษพร้อมที่จะให้สถานะสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษสิ้นสุดลงโดยเร็ว ฉะนั้น รัฐบาลไทยพร้อมที่จะให้คณะผู้แทนลงนามได้หรือไม่ ถ้าไม่พร้อมก็จะจัดเครื่องบินให้เข้ามารายงานที่กรุงเทพฯ ได้ ม.จ.วิวัฒนไชย ไชยยันต์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยจึงเสด็จเข้ามากรุงเทพ ฯ เพื่อรายงาน รัฐบาลในวันที่ ๑๒ ธันวาคม คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาหารือกันในวันที่ ๑๓ ธันวาคม ได้พิจารณาทั้งทางได้ทางเสีย เห็นกันว่า ผลได้ในการที่จะยอมลงนามมีมากกว่าที่จะไม่ยอมลงนาม และอย่างไรก็ดี รัฐบาลก็ได้เคยขออนุมัติสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการเจรจาภายในอาณัติที่สภาผู้แทนราษฎรมอบหมายให้ ซึ่งก็ได้รับอนุมัติไว้แล้ว บัดนี้เมื่อการเจรจาก็ได้เป็นไปในรูปคำขาด แม้รัฐบาลย่อมทำได้เพราะอยู่ภายในอาณัติของสภาผู้แทนราษฎร แต่ถึงกระนั้นก็ดี ก่อนที่จะลงนาม ก็ใคร่ที่จะให้มีแถลงการณ์ร่วมกันระหว่างผู้แทนรัฐบาลทั้งสอง โดยระบุว่าข้อเสนอของฝ่ายอังกฤษนี้ คือข้อกำหนดอย่างน้อยที่สุดที่อังกฤษจะรับได้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นพยานหลักฐานในการที่รัฐบาลจะได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรในภายหลังได้ ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยยันต์ จึงเสด็จกลับไปเมืองสิงคโปร์ ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) และแจ้งให้ฝ่ายอังกฤษทราบในวันนั้น ในขณะเดียวกันผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้เชิญให้ผู้แทนฝ่ายอเมริกันในกรุงเทพฯมาพบด่วนและแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบและขอให้เขารีบรายงานไปยังรัฐบาลอเมริกันด่วน

ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) นี้เอง นายชารลส์ โยสต์๒๙ อุปทูตอเมริกัน ได้มาพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และแจ้งว่ารัฐบาลอเมริกันขอรับรองว่า เรื่องนี้เมื่อได้รับแจ้งจากไทยว่า ถูกอังกฤษบีบคั้น รัฐบาลอเมริกันก็ได้ต่อว่ารัฐบาลอังกฤษแล้ว และขอให้อังกฤษผ่อนผันให้ความตกลงเบาลงและขออย่าให้อังกฤษชิงลงนามก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะได้รับความพอใจ รัฐบาลอังกฤษรับจะพิจารณาข้อเสนอของอเมริกัน และรับว่าจะตอบให้รัฐบาลอเมริกันทราบภายในสิ้นเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) การที่อังกฤษมาเร่งรัดให้ฝ่ายไทยรีบลงนามเช่นนี้ รัฐบาลอเมริกันได้ทักท้วงไปยังกรุงลอนดอน แล้ว อุปทูตอเมริกันจึงขอให้รัฐบาลเรารีบสั่งไปยังคณะผู้แทนไทยที่สิงคโปร์ว่าอย่าเพิ่งลงนาม อุปทูตอเมริกันรับรองว่า ถ้าเนื่องจากฝ่ายเรารีรอชักช้านี้ อังกฤษเสนอข้อความหนักซ้ำขึ้นอีก สหรัฐอเมริกา จะเป็นผู้รับผิดชอบเอง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เสนอเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรี ๆ จึงลงมติให้สั่งไปยังคณะผู้แทนที่สิงคโปร์ ให้ยับยั้งการลงนามไว้ก่อน ในระหว่างนี้ ในสหรัฐอเมริกา หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ได้ลงข่าวครึกโครมว่า อังกฤษบีบคนไทยต่าง ๆ นานา

จริงอย่างคาดคะเนไว้ วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยยันต์ เสด็จกลับเข้ามารายงานคณะรัฐมนตรีว่า ได้เข้าประชุมกับฝ่ายอังกฤษ นายเดนนิงผู้แทนอังกฤษ ได้ถามว่า ทางกรุงเทพ ฯ ตกลงอย่างไร ได้ทรงตอบไปว่าโดยที่ทราบอย่างชัดแจ้งว่า ข้อเสนอของอังกฤษนี้เป็นข้อเสนออย่างน้อยที่สุดที่อังกฤษจะรับได้ และจะไม่ให้มีการอภิปรายหรือเจรจาต่อรองกันต่อไปแล้ว รัฐบาลไทยก็ต้องยอมรับ เว้นแต่ในเรื่องใดที่จะต้องมีกฎหมายบังคับจะต้องรอจนกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเปิดสมัยประชุมเสียก่อน ในวันประชุมนี้เอง ผู้แทนอังกฤษแจ้งให้ทราบเพิ่มเติมว่า นอกจากหัวข้อความตกลงและภาคผนวกนี้แล้ว (Heads of Agreement and Annex) ไทยยังจะต้องทำสัญญาอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า “Formal Agreement” ซึ่งต่อมาแปลว่า “ความตกลงสมบูรณ์แบบ” ซึ่งขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษยังกำลังร่างอยู่ ฝ่ายไทยได้สอบถามว่ามีข้อความอย่างไรบ้าง ผู้แทนอังกฤษก็ตอบเพียงว่ายังไม่ทราบแน่ แต่คาดคะเนเอาว่าคงจะมีลักษณะเป็นสองสถาน คือ (๑) อาจเป็นเอกสารบรรจุหัวข้อแห่งสัญญาที่ได้ตกลงกัน แต่ร่างขึ้นใหม่ให้ถูกต้องตามแบบแห่งหนังสือสัญญา หรือ (๒) อาจมีข้อความเป็นรายละเอียด ว่าด้วยการปฏิบัติการตามความตกลงก็ได้ คณะรัฐมนตรีได้สั่งคณะผู้แทนไว้ว่า ถ้าร่างความตกลงสมบูรณ์แบบเป็นเพียงร่างใหม่ให้ถูกต้องตามแบบแห่งหนังสือสัญญา ก็ให้คณะผู้แทนรับเจรจาได้ แต่ถ้าเป็นรายละเอียด ก็ให้กลับเข้ามาปรึกษาหารือที่กรุงเทพ ฯ ก่อน

อย่างไรก็ดี เมื่อ ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยยันต์ กลับไปสิงคโปร์แล้ว ถึงวันที่ ๒๐ ธันวาคม การเจรจาได้มีจนถึงวันนั้น ก็เพียงตกลงในวิธีการลงนามข้อสัญญาต่างๆ กันไว้เป็นการชั่วคราว เสร็จแล้วคือสำหรับหัวข้อความตกลงและภาคผนวกนั้น ไม่มีการลงนาม แต่ทำหนังสือแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับการใช้หัวข้อความตกลงและภาคผนวกนี้ ในวันเดียวกันกับที่มีหนังสือแลกเปลี่ยน ผู้แทนที่เกี่ยวข้องก็ลงนามความตกลงสมบูรณ์แบบ ซึ่งรัฐบาลที่เกี่ยวข้องจะโฆษณา ทั้งนี้ไม่โฆษณาหนังสือแลกเปลี่ยน หรือหัวข้อความตกลงกับภาคผนวกเลย ฉะนั้น รัฐบาลจึงขอให้คณะผู้แทนเตือนฝ่ายอังกฤษ ให้รีบส่งร่างความตกลงสมบูรณ์แบบเข้ามาเพื่อรัฐบาลจะได้พิจารณา แต่ได้รับคำตอบว่า ร่างความตกลงสมบูรณ์แบบนี้จะได้ในปลายเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) และว่าคงจะลงนามพร้อมกับเรื่องเกี่ยวกับหัวข้อความตกลงและภาคผนวกไม่ได้

วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) คณะรัฐมนตรีได้ปรึกษากัน โดย ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยยันต์ หัวหน้าคณะผู้แทนเข้าร่วมด้วย ได้ตกลงกันว่า ฝ่ายไทยอาจลงนามหัวข้อความตกลงได้ก่อนความตกลงสมบูรณ์แบบ และคำว่า “ข้อกำหนดอย่างน้อยที่สุด” นั้น จะไม่ปรากฏในหนังสือแลกเปลี่ยน ก็ยอมได้ เพราะถ้าฝ่ายอังกฤษไม่ประสงค์ถ้อยคำนี้แล้ว และไม่มีการลงนามสัญญากัน ฝ่ายอเมริกันก็คงจะไม่พอใจ เพราะได้เข้ามามีส่วนแทรกแซงให้ฝ่ายอังกฤษผ่อนผันอยู่เป็นอันมาก

ต่อมาในวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) นายโยสต์ อุปทูตอเมริกัน มาพบกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ชี้แจงให้ทราบถึงข้อเสนอแก้ไขของฝ่ายอเมริกันที่แจ้งไปยังฝ่ายอังกฤษและว่าบัดนี้อังกฤษได้ยอมผ่อนปรนเป็นส่วนมากแล้ว ทางฝ่ายอเมริกันได้รับความพอใจ จึงขอถอนคำร้องที่ไม่ให้ไทยลงนามนั้นเสีย สำหรับเรื่องข้าวนั้นจะได้มีคณะกรรมการผสมซึ่งมีผู้แทนอเมริกันรวมอยู่ด้วย เพื่อทำการประเมินปริมาณข้าวที่มีอยู่ เพื่อส่งไปแจกให้สหประชาชาติ และแจ้งด้วยว่า ในการประเมินค่าเสียหายต่าง ๆ นั้น ก็จะได้ตั้งคณะกรรมการเรียกร้องค่าเสียหายพันธมิตรขึ้น ซึ่งคงจะได้กำหนดค่าเสียหายไม่ให้เกินกำลังที่ไทยจะชดใช้ได้ ทั้งนี้คงจะมีผู้แทนอเมริกันร่วมอยู่ด้วยเหมือนกัน ซึ่งก็จะเป็นการประกันดียิ่งให้แก่ไทย

ต่อมาวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) รัฐบาลได้โทรเลขทูลไปยัง ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยยันต์ ให้ถามนายเดนนิง ผู้แทนฝ่ายอังกฤษว่า เหตุใดจึงยังไม่ได้รับร่างความตกลงสมบูรณ์แบบจากลอนดอนเพราะเป็นการล่าช้า วันที่ ๒๗ ธันวาคม ม.จ. วิวัฒนไชย ตอบมาว่า ได้สอบถามแล้วได้ความว่า เหตุล่าช้าเนื่องมาจากกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษคิดว่า ความตกลงสมบูรณ์แบบนี้ จะลงนามกันไม่ได้ จนกว่าสภาผู้แทนราษฎรไทยจะประชุมพิจารณา ซึ่ง ม.จ. วิวัฒนไชย ได้ตอบไปว่าการลงนามไม่ต้องรอการประชุมสภาผู้แทนและว่า ผู้แทนอังกฤษได้ขอให้รัฐบาลอังกฤษรีบส่งร่างความตกลงสมบูรณ์แบบมาโดยทางโทรเลขทันทีแล้ว

ในการเจรจาที่สิงคโปร์คราวนี้ ผู้แทนฝ่ายอังกฤษได้จัดการให้ผู้แทนรัฐบาลอินเดียและผู้แทนจักรภพแห่งออสเตรเลียเข้าร่วมการเจรจากับผู้แทนฝ่ายไทยด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับอินเดียนั้น เป็นที่ตกลงกันว่า ความตกลงใดที่รัฐบาลอังกฤษจะทำกับฝ่ายไทย ก็เป็นอันให้รัฐบาลอินเดียร่วมเป็นภาคีด้วย คือ ในการเลิกสถานะสงครามนั้น รัฐบาลไทยไม่ต้องเจรจากับอินเดียต่างหากจากอังกฤษ ส่วนออสเตรเลียนั้น ผู้แทนออสเตรเลียและผู้แทนฝ่ายไทยได้เจรจาทำหนังสือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เพื่อให้ฝ่ายไทยรับภารกิจบางประการเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วจะได้เจรจาทำสนธิสัญญากันเพื่อเลิกสถานะสงครามที่มีอยู่ระหว่างกันนั้นต่อไป หนังสือแลกเปลี่ยนนี้ จะได้แลกเปลี่ยนกันในวันเดียวกับที่ลงนามความตกลงกับฝ่ายอังกฤษและอินเดีย

ในที่สุด เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ผู้แทนไทยได้รับอนุมัติจากรัฐบาล ให้ลงนามกับผู้แทนอังกฤษ ที่เมืองสิงคโปร์ ความตกลงนี้เรียกว่า “ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อเลิกสถานะสงคราม ระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย”๓๐ ซึ่งมีทั้งหมด ๒๔ ข้อด้วยกัน และในวันเดียวกันนี้ ก่อนการลงนามในความตกลงสมบูรณ์แบบ ผู้แทนฝ่ายไทยได้แลกเปลี่ยนหนังสือกับฝ่ายอังกฤษฉบับหนึ่ง ความว่า ฝ่ายอังกฤษได้ส่งหัวข้อความตกลง (Heads of Agreement) พร้อมด้วยภาคผนวก (Annex) วางข้อกำหนดต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลสหราชอาณาจักรกับอินเดีย พร้อมที่จะเลิกสถานะสงคราม กับไทย และขอให้ไทยตอบให้ทราบว่า รัฐบาลไทยพร้อมที่จะลงนามความตกลงสมบูรณ์แบบฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับโดยไม่ชักช้า ซึ่งครอบถึงบทต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในหัวข้อความตกลงและภาคผนวกนี้ กับว่าในระหว่างที่ยังไม่ได้ลงนามเช่นว่านั้น รัฐบาลไทยจะปฏิบัติตามบทเหล่านี้ทุกประการ ผู้แทนฝ่ายไทยได้ตอบรับรองไปเช่นนั้นแล้ว

ความตกลงสมบูรณ์แบบนี้ ฝ่ายอังกฤษชี้แจงเสมอว่าไม่หนักหนาอะไร แต่ในสายตาของไทยเรารู้สึกว่าหนักมาก ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะผู้อื่นจะมารู้ความจริงกว่าไทยได้อย่างไร เช่น ใครมาหยิกเรา ๆ เจ็บมากน้อยเพียงใด คนหยิกไม่รู้สึก อย่างไรก็ดี เราก็คิดว่าไว้ไปแก้เอาข้างหน้า ซึ่งก็ได้ผลดังจะได้กล่าวต่อไปในบทที่สองและสามของภาคนี้

สาระสำคัญของความตกลงสมบูรณ์แบบนี้ คือ

๑. จัดการเรื่องที่ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษให้สู่สภาพเดิมก่อนวันประกาศ

๒. ไทยยืนยันว่าการกระทำต่าง ๆ ซึ่งไทยทำต่ออังกฤษภายหลังญี่ปุ่นเข้าเมืองไทยเป็นโมฆะ และจะจัดการให้สู่สภาพเดิม หรือให้ค่าทดแทนสำหรับทรัพย์สินของอังกฤษที่เสียหายไป

๓. ไทยยอมรับผิดชอบในการพิทักษ์รักษา และคืนในสภาพไม่เสื่อมเสียซึ่งบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ทุกชนิดของอังกฤษในประเทศไทย

๔. ไทยยอมรับว่า สงครามที่ญี่ปุ่นทำครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันมลายู พม่า อินเดีย และอินโดจีน และความมั่นคงทางมหาสมุทรอินเดีย และแคว้นแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ ฉะนั้น จะร่วมมือเต็มที่ในบรรดาข้อตกลงเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การสหประชาชาติหรือคณะมนตรีความมั่นคงเห็นชอบแล้ว

๕. ไทยจะไม่ตัดคลองข้ามอาณาเขตไทย เชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย (ขุดคอคอดกระ) โดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรมิได้เห็นพ้องด้วยก่อน

๖. ไม่ช้ากว่า ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) รัฐบาลไทยยอมรับว่า นอกจากจะได้เป็นไปตามคำแนะนำของคณะกรรมการประสมในวอชิงตัน หรือองค์คณะใด ๆ ที่จะมาทำการแทน และในกรณีข้าว นอกจากจะได้เป็นไปตามคำอำนวยขององค์การพิเศษ ที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อการนั้นแล้ว จะห้ามบรรดาการส่งข้าว ดีบุก ยาง และไม้สัก ออกนอกประเทศ และจะจัดระเบียบการค้าและเร่งเร้าการผลิตโภคภัณฑ์เหล่านี้

๗. ไทยจะให้ข้าวสารโดยไม่คิดมูลค่า ๑ ๑/๒ ล้านตันแก่องค์การซึ่งรัฐบาลสหราชอาณาจักรจะได้ระบุ ซึ่งในขณะนั้นตันละประมาณ ๒๘ ปอนด์ (ปอนด์ละ ๖๐ บาท) เท่ากับ ๒,๕๒๐ ล้านบาท๓๑

๘. ไม่ช้ากว่าวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) รัฐบาลไทยจะจัดให้องค์การข้าวดังกล่าว ใช้ประโยชน์ได้ในข้าวทั้งหมดอันเป็นส่วนที่เหลือจากความต้องการภายในประเทศไทย โดยคิดราคาที่กำหนดด้วยความตกลงกับองค์การนั้น

๙. ไทยจะทำความตกลงกับรัฐบาลอังกฤษและอินเดียเกี่ยวกับการร่วมบำรุงรักษาที่ฝังศพสงคราม

๑๐. โดยคำนึงถึงคำมั่นสัญญา ซึ่งไทยให้โดยความตกลงนี้ รัฐบาลอังกฤษและอินเดีย จะสนับสนุนไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ

ส่วนหัวข้อความตกลง๓๒ (Heads of Agreement) ซึ่งผู้แทนอังกฤษส่งมาให้ผู้แทนไทย และผู้แทนไทยตอบรับรองไปดังกล่าวข้างต้นนั้น มีสาระสำคัญก็คล้าย ๆ กับความตกลงสมบูรณ์แบบ แต่มีรายละเอียดมากกว่าสาระสำคัญดังนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียหวังว่ารัฐบาลไทยจะดำเนินกระบวนการ ดังต่อไปนี้ ก่อนที่ตกลงเลิกสถานะสงคราม

ก. กระบวนการบอกปฏิเสธ

เช่น ปฏิเสธการประกาศสงคราม วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๒) บอกเลิกสัญญาพันธไมตรีทางทหารกับญี่ปุ่น บอกเลิกว่าการได้ดินแดนต่าง ๆ ของอังกฤษเป็นโมฆะ

ข. การใช้คืนและการปรับปรุง

บอกเลิกกระบวนการทางนิติบัญญัติ และทางปกครองเกี่ยวกับการซึ่งนับว่า เป็นการผนวกหรือรวมเข้าในประเทศไทย ซึ่งดินแดนของอังกฤษ ถอนบรรดาเจ้าหน้าที่ทหารไทยและพลเรือนไทยออกจากอาณาเขตของอังกฤษ จะคืนบรรดาทรัพย์สินที่ได้เอาไปจากอาณาเขตอังกฤษ จะให้ค่าทดแทนความวินาศหรือความยุบสลายแห่งทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ ในอาณาเขตเหล่านี้ อันเกิดจากไทยเข้าไปยึดครอง จะไถ่ถอนเป็นเงินปอนด์จากทุนสำรองสเตอร์ลิงที่เคยมีอยู่ ซึ่งธนบัตรไทยที่เดินสะพัดอยู่ในอาณาเขตเหล่านี้ จะปลดปล่อยเชลยศึก ฯลฯ จะช่วยร่วมกับอังกฤษในเรื่องรักษาหลุมฝังศพสงคราม จะยอมรับผิดชอบในการพิทักษ์รักษา และคืนในสภาพไม่เสื่อมเสีย ซึ่งบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ทุกชนิดของฝ่ายบริติชในประเทศไทย และในการใช้ค่าทดแทนเพื่อความวินาศ หรือความยุบสลายที่ได้รับ

ค. กระบวนการเพื่อร่วมมือในเรื่องยุทธศาสตร์ภายหลัง

รัฐบาลไทยยอมรับนับถือว่า สงครามครั้งนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของไทยเนื่องในการป้องกันมลายู พม่า อินเดีย และอินโดจีน และความมั่นคงของมหาสมุทรอินเดีย และเขตแคว้นแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ ไทยตกลงจะร่วมมือเต็มที่ในบรรดาข้อตกลงเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การสหประชาชาติหรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การนี้เห็นชอบแล้ว จะไม่ตัดคลองข้ามอาณาเขตไทย เชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย โดยอังกฤษมิได้เห็นพ้องด้วยก่อน (คอคอดกระ)

ง. กระบวนการร่วมมือทางเศรษฐกิจ ภายหลังสงคราม

รายละเอียดคล้ายกับความตกลงสมบูรณ์แบบ ข้อ ๘ ถึงข้อ ๑๕

จ. ให้ไทยกลับเข้าสู่ฐานะเดิม ตามสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่ได้ทำไว้กับอังกฤษ

ส่วนภาคผนวก (Annex) ซึ่งผู้แทนอังกฤษได้ยื่นให้ในวันลงนาม ความตกลงสมบูรณ์แบบมีสาระสำคัญดังนี้ รัฐบาลไทยจะตกลง

(๑) รับผิดชอบในการพิทักษ์รักษา และคืนในสภาพไม่เสื่อมเสียซึ่งบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ทุกชนิดของฝ่ายบริติชในประเทศไทย และใช้ค่าทดแทนเพื่อความวินาศหรือความบุบสลายที่ได้รับ

(๒) จะเลิกการพิทักษ์ธุรกิจ การธนาคาร และการพาณิชย์ ของฝ่ายพันธมิตร และยอมให้กลับดำเนินธุรกิจต่อไป

(๓) จะเอาบรรดาทรัพย์สินของญี่ปุ่น และของศัตรูอื่น ไว้ให้พันธมิตรใช้

(๔) จะร่วมมือในการจับกุม และชำระบุคคลที่ต้องหาว่าได้กระทำอาชญากรรมสงคราม หรือขึ้นชื่อว่าให้ความช่วยเหลือ อย่างเป็นกิจเป็นการแก่ญี่ปุ่น

(๕) จะมอบตัวบรรดาผู้ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นผู้ทรยศซึ่งมีสัญชาติพันธมิตร ให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตร

(๖) จะให้ความคุ้มกันทางศาลและทางอื่น สำหรับกองทหารพันธมิตรในประเทศไทย

(๗) เพื่อดำเนินการระงับสงครามกับญี่ปุ่นให้เสร็จสิ้นไป จะให้ฝ่ายทหารของพันธมิตรใช้เมืองท่าและความสะดวกในการไปมาโดยเสรี และบนอาณาเขตไทย ตามแต่จะต้องการ จะจัดให้โดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งบรรดาสัมภาระและแรงงานอื่น ๆ เพื่อใช้ในประเทศไทย และบรรดาเงินตราไทยที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของพันธมิตรต้องการ ฯลฯ

(๘) จะควบคุมธนาคารและธุรกิจการปริวรรตต่างประเทศ และการทำธุรกิจพาณิชย์และการคลังกับต่างประเทศ ตามความตกลงกับฝ่ายพันธมิตรตราบเท่าที่จำเป็น เพื่อสำเร็จกิจในทางการทหาร การเศรษฐกิจ และการคลัง อันเกี่ยวกับฝ่ายพันธมิตรซึ่งเกิดขึ้นจากการระงับสงครามต่อญี่ปุ่น

ในวันที่ลงนามนี้ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ๓๓ ออกคำแถลงการณ์ ดังต่อไปนี้

แถลงการณ์

เนื่องจากรัฐบาลไทยสมัยหนึ่งได้ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่ ฉะนั้น บริเตนใหญ่จึงได้ถือว่าสถานะสงครามเกิดขึ้นระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

โดยปกติการที่จะเลิกสถานะสงครามระหว่างสองประเทศนั้น ฝ่ายที่ชนะย่อมจะเรียกร้องบังคับให้ฝ่ายที่แพ้ทำสัญญาสันติภาพ เมื่อได้ลงนามในสัญญาสันติภาพแล้ว สถานะสงครามจึงจะสิ้นสุดลง ประเทศไทยได้ตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ด้วย แต่ว่าด้วยเหตุที่คนไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้ร่วมมือกันทั้งขบวนการต่อต้านประเทศที่เป็นศัตรูกับสัมพันธมิตรขึ้น และได้แสดงเจตจำนงที่จะร่วมกับสหประชาชาติ ประกอบทั้งคณะรัฐบาลที่รับผิดชอบในการก่อให้เกิดสถานะสงครามขึ้นได้ล้มไปแล้ว บริเตนใหญ่จึงได้ตกลงใจใช้วิธีใหม่ด้วยน้ำใจอันกว้างขวาง กล่าวคือ แทนที่จะให้ประเทศไทยทำสัญญาสันติภาพ บริเตนใหญ่ได้เรียกร้องแต่เพียงให้ประเทศไทยยอมรับข้อกำหนดบางประการเกี่ยวกับการที่จะทำให้ทรัพย์สินที่ได้เสียหายไปในระหว่างสงครามได้กลับคืนมา และให้ประเทศไทยได้ร่วมมือในการบูรณเศรษฐกิจ และร่วมมือในการจัดประกันความมั่นคง และส่งเสริมสันติภาพระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันมิให้เกิดมีสงครามขึ้นในภายหน้า

ข้อกำหนดที่บริเตนใหญ่เรียกร้องให้ประเทศไทยปฏิบัตินั้น ได้ทำความตกลง ซึ่งได้ลงนามกันระหว่างผู้แทนของสองประเทศ ที่สิงคโปร์ ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เมื่อได้ลงนามในความตกลงนี้แล้ว สถานะสงครามระหว่างบริเตนใหญ่และประเทศไทยเป็นอันสิ้นสุดลง ความสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศซึ่งเคยมีมา เป็นอันดีแต่กาลก่อน และต้องมาหยุดชะงักลงนั้น เป็นอันกลับคืนมาดังเดิม

บรรดาการใด ๆ อันจะต้องตรากฎหมายขึ้น เพื่อดำเนินการตามข้อกำหนดในความตกลงนั้น ก็จะได้เสนอต่อสภาโดยเร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้

เท่าที่ปรากฏในความตกลงระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่นั้น ย่อมเป็นที่หวังได้ว่า บริเตนใหญ่ได้เรียกร้องแต่เพียงเท่าที่ควรเรียก และทั้งจะรู้สึกเห็นอกเห็นในและผ่อนผัน ในการที่จะใช้บังคับความตกลงนั้น บริเตนใหญ่ได้แสดงเจตนาดีให้เห็นแล้ว โดยเสนอที่จะช่วยเหลือในทางการคลัง และการเงิน ให้ประเทศไทยได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้รวดเร็ว นอกจากนี้ ยังถือว่าสถานะสงครามเป็นอันสุดสิ้นลงและจะดำเนินการโดยทันที ในอันจะกลับเจริญความสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศไทยและแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตกัน อีกทั้งรับรองด้วยว่าจะสนับสนุนการที่ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติ เจตจำนงทั้งนี้ย่อมเป็นพยานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความตั้งใจที่ของบริเตนใหญ่ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

สำนักนายกรัฐมนตรี

วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๙

ความคิดเห็นของทูตอังกฤษเกี่ยวกับไทย

ปัญหามีว่าทำไมอังกฤษทั้ง ๆ ที่ฝ่ายไทยเราระหว่างสงครามได้พยายามช่วยเหลืออังกฤษโดยแก้ไขสิ่งร้ายให้เป็นที่เต็มที่ แต่อังกฤษก็ยังยืนยันจะจัดการกับเราบ้าง ในเรื่องนี้ ถ้าเราจะอ่านหนังสือซึ่งเซอร์โจซาย ครอสบี้ ทูตอังกฤษ เขียนไว้ระหว่างสงคราม ก็พอจะมองเห็นเหตุผลได้ จริงอยู่ความเห็นของทูตอังกฤษไม่ใช่เป็นทางการ เพราะเขียนในฐานะเอกชนคนหนึ่ง แต่ก็เป็นกระจกส่องเห็นได้ ทูตอังกฤษเขียนไว้ดังนี้

(๑) ความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ของไทย

เป็นที่เห็นชัดว่า ฐานะทางภูมิศาสตร์ของไทย ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) และ พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างมากสำหรับจักรวรรดิบริติช พรมแดนของไทยด้านตะวันตกติดพม่า ทางใต้ติดมลายู ทางเหนือจดรัฐฉาน ฉะนั้น ประเทศไทยจะเป็นที่ตั้งฐานทัพของฝ่ายข้าศึกอังกฤษได้อย่างดี เพราะระยะบินจากกรุงเทพฯ ไปมลายู ไปพม่า ไม่กี่ชั่วโมง และสิงคโปร์เป็นกุญแจของมหาสมุทรอินเดีย๓๔

(๒) ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ

ทูตอังกฤษเขียนไว้ว่า การที่ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษนั้น ในคำแถลงการณ์น่าประหลาด พูดเป็นเด็ก และไม่จริงใจ (amazingly puerile and disingenuous nature) การที่ญี่ปุ่นใช้กรุงเทพ ฯ และเมืองอื่นในประเทศไทยเป็นฐานทัพสำหรับดำเนินการรบพุ่งกับเรา (อังกฤษ) จึงไม่ควรประหลาดใจที่เรา (อังกฤษ) จำต้องดำเนินการบอมบ์ญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ในเมืองไทย การทิ้งระเบิด แน่นอน จะให้แม่นยำไม่ได้ จอมพล พิบูลสงคราม แถลงว่า การมาทิ้งระเบิดของอังกฤษเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ในคำประกาศสงครามยังกล่าวว่า เรา (อังกฤษ) พยายามควบคุมฐานะการเงินของไทย และจะควบคุมการค้าข้าว ยาง ดีบุก และไม้สัก ซึ่งไม่จริงเลย เรา (อังกฤษ) ไม่เคยเข้าแทรกแซงเลย๓๕

(๓) ความเห็นของทูตอังกฤษ เกี่ยวกับการกระทำของไทย

รัฐบาลไทยเริ่มต้นไม่ดี เที่ยวประกาศต่อโลกว่าจะต่อสู้การรุกรานอย่างเต็มที่ ถึงกับประกาศว่า ถ้าใครเข้าเมืองไทยจะดำเนินนโยบายเผาหมด ไม่ให้ศัตรูได้ประโยชน์ (scorched earth policy) รัฐบาลไทยประกาศกับราษฎรว่า ทางรถไฟ โรงไฟฟ้า ฯลฯ ให้ทำลายหมด แต่ภายหลังกลับจากทางภาคตะวันออกไม่ถึงครึ่งชั่วโมง จอมพล พิบูลสงครามก็สั่งยอมญี่ปุ่น ไม่เพียงเท่านี้ ยอมให้ญี่ปุ่นกักกันคนอังกฤษ อเมริกัน ดัทช โดยไม่โต้แย้งแม้แต่น้อย แล้วก็รีบเซ็นสัญญาร่วมรุกร่วมรับกับญี่ปุ่น แล้วก็รีบประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา๓๖

(๔) ทูตอังกฤษเห็นใจว่า ไทยอยู่ในฐานะลำบาก

ถ้าสู้ก็คง ต้องถูกญี่ปุ่นยึดครองปลดอาวุธหมดและนองเลือด ซึ่งทูตเห็นว่าจะหวังให้สู้จนคนตายหมดนั้น ไม่ยุติธรรม ฉะนั้นไม่ควรตำหนิไทยที่ต้องยอมจำนนญี่ปุ่น แต่ที่ทูตขอตำหนิก็คือ ไม่ควรคุยว่าจะสู้จนคนสุดท้าย แล้วก็ยอม อย่าคุยดีกว่า๓๗ แต่ที่ทูตไม่เห็นด้วยก็คือไม่ใช่เรื่องยอมญี่ปุ่น แต่เป็นเรื่องช่วยเหลือร่วมมือกับญี่ปุ่นในตอนหลัง

(๕) อนาคตของไทย

ทูตอังกฤษลงความเห็นว่า ภายหลังสงคราม จะต้องให้ไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจริง ๆ ในการนี้ ทูตเห็นว่าควรที่สหประชาชาติเข้าช่วยจัดการให้ไทยเป็นไทยจริง ๆ (free in the true sense of the word Thai) โดยไม่ให้เข้าใจผิด นำเอาการรักชาติ (patriotism) ไปเป็นการหลงชาติ (chauvinism) นอกจากนี้ ต้องคำนึง ถึงฐานะของไทยภายหลังสงครามเกี่ยวกับความมั่นคงทางทหาร ทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของสัมพันธมิตรด้วย๓๘ เมื่อได้อ่านหนังสือของทูตอังกฤษเล่มนี้แล้ว จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่อังกฤษยื่นข้อเสนอ ๒๑ ข้อ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

จดหมายเหตุแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศไทยกับออสเตรเลียเพื่อที่จะเลิกสถานะสงคราม

ในวันเดียวกับที่ผู้แทนไทยที่สิงคโปร์ได้ลงนามในความตกลงสมบูรณ์แบบกับสหราชอาณาจักร คือ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ผู้แทนไทยก็ได้มีจดหมายเหตุแลกเปลี่ยนกับผู้แทนรัฐบาลออสเตรเลียในเรื่องเลิกสถานะสงคราม สาระสำคัญคือ รัฐบาลไทยจะทำทุกอย่างเพื่อบอกปฏิเสธโดยบริบูรณ์ ซึ่งการประกาศสงครามที่ได้ทำต่อบริเตนใหญ่ พันธไมตรีกับญี่ปุ่น และบรรดากระบวนการที่มีผลเป็นการเสียหายต่อบริเตนใหญ่ ออสเตรเลีย และบรรดาพันธมิตร จะทำสนธิสัญญากับออสเตรเลียในเมื่อร้องขอ จะรับผิดชอบในการรักษาและบำรุงที่ฝังศพสงครามออสเตรเลียในประเทศไทย ยอมรับผิดชอบในการปฏิบัติตามคำอำนวยแห่งรัฐบาลออสเตรเลีย ในส่วนที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพและผลประโยชน์ ของบรรดาผู้มีถิ่นที่อยู่ชาวออสเตรเลีย ซึ่งถูกกักหรือกักคุมในประเทศไทย ภายหลังวันที่ ๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ จะให้ความช่วยเหลือเต็มที่ ในการจับกุมและลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดทางอาชญากรสงครามต่อชาวออสเตรเลีย ยอมรับผิดชอบที่จะใช้ค่าทดแทนแก่รัฐบาลออสเตรเลีย และพลเมืองออสเตรเลีย เพื่อบรรดาความวินาศและความบุบสลายที่ได้รับภายหลังวันที่ ๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ จะร่วมมือทางภูมิภาค ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ซึ่งชอบด้วยหลักการแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ และมีความมุ่งหมายที่จะจับประกันความมั่นคงของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเขตแคว้นแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ และปฏิบัติตามความตกลงสมบูรณ์แบบซึ่งทำกับอังกฤษและอินเดีย ในวันเดียวกันนี้ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติให้สำนักนายกรัฐมนตรีออกคำแถลงการณ์มีสาระสำคัญว่า เนื่องจากรัฐบาลไทยสมัยหนึ่งได้ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสมาชิกในจักรภพ จึงประกาศตอบไทยร่วมกับอังกฤษ บัดนี้ ได้ตกลงแลกเปลี่ยนจดหมายเหตุเพื่อเลิกสถานะสงครามกันแล้ว รัฐบาลไทยจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตกลงทุกประการ รัฐบาลไทยจะได้ตกลงทำสนธิสัญญาเลิกสถานะสงครามโดยเร็ว๓๙

  1. ๑. นายปรีดี พนมยงค์

  2. ๒. โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๘๘ และกราบถวายบังคมลาออกวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๒ ตอน ๔๗ หน้า ๕๐๙ - ๕๑๑

  3. ๓. โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ และเนื่องจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ จึงกราบถวายบังคมลาออกเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ รัฐบาลชุดนี้ มีอายุ ๓ เดือนกับ ๑๔ วัน ดูราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๖๒ ตอน ๕๒ หน้า ๕๕๗

  4. ๔. ปัจจุบัน พลเอก

  5. ๕. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

  6. ๖. หมายถึงคนไทยที่ช่วยในการนี้ที่อยู่นอกประเทศไทยทุกนาย

  7. ๗. ดู Keesing’s Publication ค.ศ. ๑๙๔๕ หน้า ๗๓๗๑,๗๓๗๙ และ ค.ศ. ๑๙๔๖ หน้า ๗๕๓๕

  8. ๘. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙

  9. ๙. ในขณะนั้น รัฐบาลอังกฤษยังไม่ได้เปิดสถานทูต

  10. ๑๐. คณะผู้แทนนี้ประกอบด้วย ๑. พลเอก หลวงเสนาณรงค์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้า (ถึงอนิจกรรมแล้ว) ๒. ร.อ. เฉลิมศักดิ์ จูฑะพงศ์ นายทหารคนสนิทของหัวหน้าคณะ ๓. นายทวี ตะเวทิกุล อธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ (ถึงแก่กรรมแล้ว) ๔. พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ ๕. พันเอก สุรจิต จารุเศรณี รองเสนาธิการทหารบก (ปัจจุบันเป็นพลเอก) ๖. พันเอก เนตร เขมะโยธิน รองเสนาธิการทหารบก (ปัจจุบันเป็นพลเอก) ๗. นาวาอากาศโท ทวี จุลทรัพย์ นายทหารฝ่ายเสนาธิการทหารอากาศ (ปัจจุบันเป็นพลอากาศเอก) และ ๘. พันตรี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้แทนและเลขานุการ (ปัจจุบันเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย)

  11. ๑๑. รัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ ขณะนั้น นายทวี บุณยเกตุ เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

  12. ๑๒. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕)

  13. ๑๓. ดูการเจรจาเรื่องนี้ในหนังสืองานใต้ดินของพันเอกโยธี โดยพลเอกเนตร เขมะโยธิน หน้า ๖๔๗ - ๗๑๒

  14. ๑๔. Memoirs of Cordell Hull รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกัน ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) ถึง พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) เล่มสอง หน้า ๑๕๘๗-๑๕๘๘

  15. ๑๕. ตัวบทความตกลงสมบูรณ์แบบ มีปรากฏในภาคผนวกข้างท้าย

  16. ๑๖. ตัวบทสนธิสัญญา มีปรากฏในภาคผนวกข้างท้าย

  17. ๑๗. ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า และสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓

  18. ๑๘. ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว

  19. ๑๙. รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

  20. ๒๐. ปัจจุบันทรงเป็นพลโท อดีตเอกอัครราชทูต ประจำประเทศญี่ปุ่นและเอธิโอเปีย

  21. ๒๑. สิ้นชีพตักสัยแล้ว

  22. ๒๒. ปัจจุบันเป็นเอกอัครราชทูต กรุงบอนน์

  23. ๒๓. ปัจจุบันเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

  24. ๒๔. ปัจจุบันเป็นเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ

  25. ๒๕. ภายหลังเมื่อกลับคืนสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้ว นายเบิร์ดได้รับแต่งตั้งเป็นอุปทูตอังกฤษ ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ต่อมาอีกไม่กี่เดือนก็ถึงแก่กรรมในกรุงเทพ ฯ

  26. ๒๖. นายเดนนิง ระหว่างสงครามเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองของพลเรือเอก ลอร์ดหลุย เมานต์แบตเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสัมพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และเป็นผู้เจรจาในนามรัฐบาลอังกฤษ ภายหลังสงครามเป็นรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตประจำญี่ปุ่น และได้บรรดาศักดิ์เป็นเซอร์

  27. ๒๗. เดนนิง

  28. ๒๘. หมายความว่ายังไม่ถึงกับรบกับญี่ปุ่น และเสียหาย ผู้คนล้มตายหรือทรัพย์สินสูญหายมากมาย

  29. ๒๙. ต่อมานายโยสต์ได้เป็นเอกอัครราชทูตประจำหลายประเทศ และตำแหน่งสุดท้ายเป็นเอกอัครราชทูตรองหัวหน้าคณะทูตถาวรที่องค์การสหประชาชาติ ทราบว่าลาออกจากตำแหน่งแล้ว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ (ค.ศ. ๑๙๖๖)

  30. ๓๐. รายละเอียดของความตกลงนี้ ดูในภาคผนวกข้างท้าย

  31. ๓๑. ดูความตกลงสมบูรณ์แบบข้อ ๑๔

  32. ๓๒. รายละเอียดเรื่องความตกลงสมบูรณ์แบบ หัวข้อความตกลง และภาคผนวก (Annex) ดูรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖)

  33. ๓๓. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

  34. ๓๔. Siam : The Crossroads ของ Sir Josiah Crosby หน้า ๙-๑๐

  35. ๓๕. Siam : The Crossroads ของ Sir Josiah Crosby หน้า ๑๓๖-๑๔๓

  36. ๓๖. Siam : The Crossroads ของ Sir Josiah Crosby หน้า ๑๔๔-๑๔๕

  37. ๓๗. Siam : The Crossroads ของ Sir Josiah Crosby หน้า ๑๔๖-๑๔๗

  38. ๓๘. Siam : The Crossroads ของ Sir Josiah Crosby หน้า ๑๕๐-๑๖๔

  39. ๓๙. ต่อมาได้ทำสนธิสัญญากับออสเตรเลียดังกล่าว เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ดูรายละเอียดในบทที่ ๕ ของภาคสาม และจดหมายเหตุแลกเปลี่ยนในภาคผนวกของหนังสือนี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ