ทหารชั่วคราว ของ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์

๑. การรวบรวมก่อตั้งคณะเสรีไทยในอังกฤษ

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ข้าพเจ้าเป็นทหารชั่วคราว ตั้งแต่สิงหาคม ๒๔๘๕ จนถึง มกราคม ๒๔๘๙ การสมัครเข้าเป็นทหารครั้งนั้นมีลักษณะผิดธรรมดาอยู่หลายประการ กล่าวคือ เพื่อนฝูงข้าพเจ้า และข้าพเจ้าเป็นคนไทย ยึดถือสัญชาติไทย แต่สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ และสวมเครื่องแบบทหารอังกฤษ ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะในเวลานั้นเป็นเวลาสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับอังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่นรุกรานเข้ามาในประเทศไทย จนกระทั่งรัฐบาลไทยต้องทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น บรรดาคนไทยที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรอังกฤษนั้น รัฐบาลไทยเรียกตัวให้กลับ แต่มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมกลับแม้ว่ารัฐบาลไทยจะขู่เข็ญว่า ผู้ที่ไม่กลับประเทศไทยตามคำสั่งนั้นจะถูกถอนสัญชาติ ผู้ที่ไม่ยอมกลับประเทศไทยเหล่านั้นเรียกตนเองว่าเสรีไทย และยังดื้อถือสัญชาติไทยอยู่ต่อไป (ข้าพเจ้าจึงใช้คำว่า “ยึดถือสัญชาติไทย” ในตอนต้น) ทางสหรัฐอเมริกาเผอิญท่านอัครราชทูต ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ท่านเป็นหัวหน้าเสรีไทย และสามารถเจรจากับรัฐบาลสหรัฐเป็นผลสำเร็จ เพื่อให้สหรัฐนับถือคณะเสรีไทยและกองทหารเสรีไทยในสหรัฐ เหล่าทหารไทยในสหรัฐจึงสามารถรวบรวมกันเป็นปึกแผ่น ได้ใช้เครื่องแบบทหารไทย และมีผู้บังคับบัญชาไทย เป็นหน่วยไทยค่อนข้างแท้ ส่วนในสหราชอาณาจักรอังกฤษนั้น ปราศจากผู้ใหญ่ที่พอจะก่อตั้งรวบรวมกันได้อย่างที่สหรัฐ ท่านอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอนมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางกลับประเทศไทยตามคำสั่งรัฐบาล พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ซึ่งประทับอยู่ในอังกฤษก็ทรงปฏิเสธคำเชิญให้เป็นหัวหน้า โดยรับสั่งว่าไม่ทรงประสงค์จะเกี่ยวกับการเมืองและทรงปฏิบัติราชการในกองรักษาดินแดนของอังกฤษอยู่แล้ว ส่วนสมเด็จพระนางเจ้ารำไพ พรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ และ ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ผู้เชษฐาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งประทับอยู่ในอังกฤษในขณะนั้น ทรงสนพระทัยที่จะร่วมงานเสรีไทยด้วย แต่บรรดาคนไทยเห็นว่าจะทูลเชิญเป็นหัวหน้าเสรีไทย ย่อมอาจจะเกิดความเข้าใจผิดในด้านการเมืองภายในของคนไทยได้ ฉะนั้นสรุปว่าคณะเสรีไทยในอังกฤษไม่มีหัวหน้าเป็นหลักฐานอย่างในสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นเมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นทหาร จึงต้องเข้าเป็นทหารในเครื่องแบบและในกองทัพอังกฤษ และเนื่องด้วยคนไทยในอังกฤษนั้น รัฐบาลอังกฤษถือว่าเป็นชนชาติศัตรู (enemy aliens) เมื่อเข้าเป็นทหารในกองทัพ อังกฤษจึงต้องเข้าอยู่ในหน่วยที่เรียกว่า “Pioneer Corps” (หน่วยการโยธา) แบบชนชาติศัตรูอื่น ๆ (เยอรมัน ออสเตรียน อิตาเลียน ฯลฯ)

เรื่องของ Pioneer Corps และเรื่องในชีวิตทหาร ข้าพเจ้าขอยกไว้ก่อน จะกล่าวในตอนต่อไป ในขั้นนี้ใคร่ทวนกลับไปถึงเหตุการณ์ในตอนเริ่มต้นตั้งเสรีไทยในอังกฤษ เพื่อให้บทความนี้สมบูรณ์พอสมควร

ในระหว่างสงครามโลกตอนต้น ก่อนการประกาศสงครามที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย แต่เป็นระยะที่อังกฤษทำสงครามกับเยอรมันนีแล้ว คนไทยในอังกฤษนับเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ถึงกับเป็นชนชาติศัตรู จึงมิต้องถูกกักกัน เพียงแต่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายที่อยู่บางประการ ข้าราชการสถานทูตได้รับสิทธิพิเศษ ยกเว้นในข้อจำกัด ต่อมาเมื่อประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ คนไทยตกอยู่ในฐานะชนชาติศัตรู ข้าราชการสถานทูตและคนไทยต่างได้รับการปฏิบัติให้อยู่ในข้อบังคับเข้มงวดยิ่งขึ้น แต่ไม่ถึงกับถูกกักกัน นอกจากข้าราชการสถานทูตในระยะใกล้จะถูกส่งตัวกลับมีข้อจำกัดกักกันบ้าง นักเรียนไทยโดยทั่วไปได้รับยกเว้นไม่ต้องกักกัน แต่มีข้อห้ามมิให้ออกนอกที่อยู่ในเวลาวิกาล ข้าราชการสถานทูตยังพอมีเงินใช้อยู่บ้าง เพราะเป็นเรื่องถ้อยทีปฏิบัติระหว่างข้าราชการอังกฤษในไทยกับข้าราชการไทยในอังกฤษ แต่นักเรียนไทยในอังกฤษนั้นถูกตัดเงินที่เคยได้รับจากประเทศไทย ต้องอาศัยเงินรายได้ของตนเองในอังกฤษ บางคนที่ได้รับทุนเล่าเรียนของอังกฤษอยู่ก็ไม่ลำบากนัก แต่นักเรียนไทยส่วนมากต้องไปทำนาหรือทำงานในโรงงาน เพื่อจะได้มีเงินใช้สำหรับเลี้ยงอาตมาไปวันหนึ่ง ๆ

นักเรียนไทยในขณะนั้น กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ ที่มีมากอยู่สักหน่อยก็ที่เคมบริดจ์ ซึ่งมีทั้งนักเรียนเคมบริดจ์แท้ เช่น นายเสนาะ ตันบุญยืน นายเสนาะ นิลกำแหง ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ นายยิ้มยล แต้สุจิ ม.จ.ภีศเดช รัชนี กับนักเรียนอพยพไปอาศัยเคมบริดจ์ เช่น นักเรียนเศรษฐศาสตร์จากลอนดอน (รวมทั้งข้าพเจ้า) และนักเรียนแพทย์บางคน ฉะนั้น เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ หลังจากที่ได้ทำสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่นแล้ว การเคลื่อนไหวทางด้านนักเรียนจึงเกิดขึ้นที่เคมบริดจ์เป็นแหล่งแรก

นักเรียนไทยในเคมบริดจ์ก็เหมือนกับคนไทยทั่ว ๆ ไป มีความคิดและความรู้สึกต่างๆ กันไปแต่ละคน แต่ก็เหมือนกับคนไทยอื่น ๆ อีกในแง่ที่เป็นห่วงใยในอิสรภาพ อธิปไตยของประเทศ เมื่อญี่ปุ่นยกทัพขึ้นในแดนไทย เราก็ภาวนาขอให้มีช่องทางอย่างใดให้ญี่ปุ่นออกไปเสีย ครั้นรัฐบาลไทยก้าวล้ำเข้าไปอีกขั้นหนึ่ง โดยทำสัญญาร่วมกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับสหรัฐและสหราชอาณาจักร เราก็ยิ่งเกิดความพรั่นพรึงว่า เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามและไทยก็ร่วมแพ้ด้วย เห็นที่หายนะจะเกิดแก่ชาติเราเป็นแน่ ถ้าหากว่าคนไทยทุกคนเชื่อผู้นำ และทำอะไรตามผู้นำไปหมด ฉะนั้นเมื่อมีคำสั่งให้เตรียมตัวเดินทางกลับประเทศไทยในการแลกเปลี่ยนเชลยศึก จึงเป็นวาระที่พวกเราจะต้องเลือกทางเดิน จะเดินทางกลับบ้าน หรือจะอยู่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่อนาคตของประเทศชาติ

ก่อนหน้านั้น ผู้ที่รู้สึกว่าเดือดร้อนใจในเรื่องนี้มากที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าทราบ คือ นายเสนาะ ตันบุญยืน รองลงมาคงจะเป็นนายเสนาะ นิลกำแหง และนายสว่าง สามโกเศศ เพราะสามสหายนี้เป็นผู้ที่ได้เริ่มวิ่งเต้นหาผู้นั้นผู้นี้ จะให้มาเป็นหัวหน้าเสรีไทยในอังกฤษ นายเสนาะ ตันบุญยืนเป็นคนหูตาไว ส่งข่าวต่าง ๆ ให้เราทราบ และพวกเรามักจะประชุมคุยกันที่ห้องพักเสนาะ ตันบุญยืน บ่อย ๆ เสนาะ ตันบุญยืน ได้เขียนจดหมายถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เล่าเหตุการณ์ทางอังกฤษให้ทราบ และขอเชิญให้ ม.ร.ว. เสนียฺ เดินทางข้ามไปที่อังกฤษ เพื่อรับเอานักเรียนไทยที่อาสาสมัครเข้าในขบวนเสรีไทยที่ท่านได้จัดตั้งขึ้นในสหรัฐ ม.ร.ว. เสนีย์ ตอบมาว่า ท่านไม่สามารถเดินทางจากสหรัฐมาได้ เพราะท่านก็กำลังมีภาระเต็มมือ แต่ท่านจะส่งผู้แทนที่เหมาะสมมาดำเนินการตามความประสงค์ของพวกเราทางอังกฤษ ต่อมาในไม่ช้า (แต่ขณะที่พวกเรารอกันอยู่นั้นรู้สึกว่านานเหลือเกิน) ผู้แทนที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ส่งมาดำเนินการทางอังกฤษก็มาถึง คือ นายมณี สาณะเสน คณะเสรีไทยในเคมบริดได้ประชุมกันและลงมติให้นายเสนาะ ตันบุญยืน กับข้าพเจ้าเป็นผู้ติดต่อกับนายมณี สาณะเสน ที่ลอนดอน ขณะนั้นล่วงเข้ามาในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ๒๔๘๕ แล้ว

นายมณี สาณะเสน ผู้นี้ พวกเราไม่เคยรู้จักมาแต่ก่อน เคยแต่ทราบกิตติศัพท์ว่า เป็นคนไทยที่ทำงานที่สันนิบาตชาติ (League of Nations) มาเป็นเวลานาน ต่อมาเมื่อวิสาสะคุ้นเคยกันแล้ว จึงทราบว่านายมณี เริ่มเดินทางไปอังกฤษตั้งแต่อายุน้อย ขณะนั้นบิดานายมณีเป็นอัครราชทูตอยู่ ณ กรุงลอนดอน ครั้นสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมแล้ว นายมณีได้ศึกษากฎหมายอยู่ในประเทศอังกฤษจนสำเร็จแล้ว ก็เริ่มเข้าทำงานในสันนิบาตชาติที่สวิตเซอร์แลนด์ตลอดมา ครั้นเกิดสงครามในยุโรปครั้งที่สอง ผู้ใหญ่ทางกรุงเทพ ฯ ได้ชักชวนให้กลับมารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ กำลังเดินทางกลับผ่านสหรัฐอเมริกาก็เผอิญมีข้อขัดข้องในการเดินทาง เพราะเป็นยามสงคราม กระทรวงการต่างประเทศจึงมีคำสั่งให้ช่วยราชการอยู่ในสถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันอยู่ตลอดมา เนื่องจากนายมณี เป็นผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ในราชการอังกฤษอยู่มาก ทั้งทางพลเรือนและทหาร ม.ร.ว. เสนีย์จึงมอบหมายให้นายมณี เดินทางมาช่วยรวยรวมคณะเสรีไทยในอังกฤษ (นายมณีผู้นี้เมื่อเลิกสงครามโลกแล้วได้กลับเข้าทำงานในองค์การสหประชาชาติต่อจนครบเกษียณอายุ บัดนี้ยังคงพำนักอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์)

นายมณีได้เริ่มเปิดสำนักงานขึ้น ที่โรงแรมบราวน์ ในกรุงลอนดอน และได้เริ่มติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อให้รัฐบาลอังกฤษรับรองคณะเสรีไทยในอังกฤษทำนองเดียวกันกับในสหรัฐ แต่รัฐบาลอังกฤษขัดข้องตลอดมา จนกระทั่งในวาระสุดท้าย เมื่อได้ทราบแน่แน่วว่าคณะเสรีไทยในอังกฤษนี้มีจำนวนมากกว่า ๔๐ คน และแต่ละคนมีเจตนาที่จะไม่ยอมกลับประเทศไทยจนกว่าจะเสร็จศึก กับเจตนาจะรับใช้ประเทศไทย ด้วยการอาสาสมัครในกองทัพอังกฤษโดยไม่เลือกงาน รัฐบาลอังกฤษจึงได้เริ่มรับรองคณะเสรีไทยอังกฤษภายใต้การนำของนายมณี สาณะเสน โดยระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า ที่รับรองนี้มิใช่เป็นการรับรองเป็นรัฐบาลนอกประเทศ

ในด้านการติดต่อกับคนไทย นายมณีได้พึ่งพวกเราเป็นแก่นสำคัญ กล่าวคือ ตั้งแต่วาระที่คณะนักเรียนไทยในเคมบริดจ์ได้เริ่มติดต่อกับ ม.ร.ว. เสนีย์นั้น นายเสนาะ ตันบุญยืน ได้เริ่มทำหนังสือเวียนถึงนักเรียนไทยและคนไทยทุกคน รวมทั้งข้าราชการสถานทูตด้วยเป็นประจำ เพื่อส่งข่าวให้ทราบว่าจะมีการจัดตั้งเสรีไทยขึ้นในอังกฤษ และแจ้งให้ทราบเป็นระยะถึงความคืบหน้าในการติดต่อกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ในขณะเดียวกัน ถ้ามีข่าวจากประเทศไทยมาทางวิทยุที่รับได้ ก็คัดมาแจ้งให้ทราบด้วย ฉะนั้น เมื่อนายมณีมาตั้งสำนักงานขึ้นที่ลอนดอน นายเสนาะและข้าพเจ้าก็ได้ทำหนังสือเวียนต่อเนื่องจากที่เคยทำมานั้นเผยแพร่กิจการของนายมณีต่อไป ท้ายที่สุด เมื่อจะเรียกอาสาสมัครได้ เพราะทางราชการอังกฤษตกลงแล้ว เราก็ได้มีหนังสือไปเชิญให้สมัครกันมาเป็นทางการ แต่ถือเป็นความลับให้แต่ละคน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่จะกลับประเทศไทยโดยเรือแลกเปลี่ยนเชลยนั้น นำความลับกลับไปบอกทางกรุงเทพฯ ในหนังสือที่เชิญให้สมัครนั้น พวกเราได้พยายามชี้แจงให้ทราบว่าเป็นการสมัครใจจริงๆ ไม่มีการบังคับขู่เข็ญ เพราะเรือแลกเปลี่ยนเชลยก็ใกล้จะออกเดินทางไปประเทศไทยแล้ว เพื่อนสนิทของเราบางคนจำเป็นต้องกลับมากรุงเทพฯ ด้วยเหตุส่วนตัวก็มีเป็นอันมาก และบางคนภายหลังก็ได้ร่วมงานในขบวนเสรีไทยที่กรุงเทพ ฯ (เช่น นายมาลา บุณยประภัสสร)

ผู้สมัครเข้าเป็นเสรีไทยเป็นทางการ เริ่มทยอยกันยื่นใบสมัคร จนเรารวบรวมจำนวนได้กว่าห้าสิบคน นับตั้งแต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และผู้ติดตามพระองค์ท่าน จนถึงนักเรียนทุนส่วนตัว ที่ส่วนมากเราไม่เคยพบเห็น เช่น นายบุญพบ ภมรสิงห์ (เขียนประวัติไว้ละเอียดในหนังสือ “ศิลปินไทยในยุโรป” บริษัทนิพนธ์ จำกัด ๒๕๐๕) และมีข้าราชการสถานทูตด้วยที่เป็นผู้ใหญ่ขนาดเลขานุการเอกหรือเทียบเท่าก็หลายคน

วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๘๕ เป็นวันที่คณะเสรีไทยอังกฤษได้รับเรียกให้เข้าสมัครเป็นทหารในกองทัพอังกฤษเป็นทางการ คณะอาสาสมัครได้ไปตรวจร่างกายตามระเบียบของอังกฤษ บางคนที่มีโรคประจำตัว ตรวจร่างกายไม่ได้จึงไม่ได้เข้าเป็นทหาร นอกจากนั้นยังมีอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้รับการยกเว้น มิต้องเข้าเป็นทหารด้วยเหตุนานาประการ เพื่อประโยชน์ของอนุชนต่อไป ขอคัดเอารายชื่อบรรดาเสรีไทยมารวบรวมไว้ ณ ที่นี้ โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เป็นทหารแต่ปฏิบัติการช่วยเหลือในด้านอื่น กับกลุ่มที่เป็นทหาร ดังนี้

(ก) เสรีไทยอังกฤษที่มิได้เป็นทหาร

๑. สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

๒. ม.จ. หญิง ผ่องผัสมณี สวัสดิวัตน์ (จักรพันธ์)

๓. นายมณี สาณะเสน

๔. นายเสนาะ ตันบุญยืน

๕. หลวงจำนงดิฐการ

๖. นายยิ้ม พึ่งพระคุณ

๗. นายสมบูรณ์ ปาลเสถียร

๘. นายพร้อม วัชรคุปต์

๙. นายเกษม ผลาชีวะ

๑๐. นายเต็กลิ้ม คุณวิศาล

๑๑. นายจำนง สุ่มสวัสดิ์

๑๒. นายสมาน มันตราภรณ์

๑๓. นายเกษม ล่ำซำ

๑๔. นายวรี วิรางกูล

๑๕. น.ส. สุภาพ รักตประจิต (ยศสุนทร)

๑๖. น.ส. บุบผา แต้สุจิ (บุรี)

๑๗. น.ส. อนงค์ แต้สุจิ

(ต่อมา น.ส. สุภาพ รักตประกิจ ได้รับคัดเลือกส่งไปอินเดีย เพื่อช่วยในด้านวิทยุกระจายเสียง)

เลข ๕ ถึง ๗ เป็นข้าราชการสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน

(ข) เสรีไทยที่เป็นทหาร

๑. หลวงอาจพิศาลกิจ

๒. หลวงภัทรวาที

๓. นายกลิ่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา

๔. นายประเสริฐ ปทุมมานนท์ (เป๋า)

๕. ม.จ. การวิก จักรพันธ์ (รัศมี)

๖. ม.จ. กอกษัตริย์ สวัสดิวัตน์

๗. ม.จ. ภีศเดช รัชนี (มั่น)

๘. ม.จ. จิรีดนัย กิติยากร (รี)

๙. ม.ร.ว. กิตินัดดา กิติยากร

๑๐. ม.ล. จิรายุ นพวงศ์

๑๑. นายสวัสดิ์ ศรีสุข (Raven)

๑๒. นายจุ้นเคง (พัฒพงษ์) รินทกุล (พงษ์)

๑๓ นายประทาน เปรมกมล (แดง)

๑๔. นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ (เข้ม)

๑๕. นายเปรม บุรี (ดี) ๑๖. นายรจิต บุรี (ขำ)

๑๗. นายสำราญ วรรณพฤกษ์ (เค็ง)

๑๘. นายธนา โปษยานนท์ (กร)

๑๙. นายกฤษณ์ โตษยานนท์ (คง)

๒๐. นายเสนาะ นิลกำแหง (จิ๋ว)

๒๑. นายประโพธิ เปาโรหิต (นุ่น)

๒๒. นายเทพ เสมถิติ (หนู)

๒๓. นายกำแหง พลางกูร (หลอ)

๒๔. นายอรุณ สรเทศน์ (ไก่ฟ้า)

๒๕. นายยิ้มยล แต้สุจิ

๒๖. นายบุญพบ ภมรสิงห์

๒๗. นายบุญเลิศ เกษมสุวรรณ

๒๘. นายโต บุนนาค

๒๙. นายปัทม์ ปัทมสถาน (นา)

๓๐. นายบุญส่ง พึ่งสุนทร (ชัย)

๓๑. นายทศ พันธุมเสน (บุญ)

๓๒. นายวัฒนา ชิตวารี (ท้วม)

๓๓. นายประพฤทธ์ ณ นคร (เล็ก)

๓๔. นายประวิตร กังศานนท์ (ยศสุนทร) (แก่)

๓๕. นายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพ็ชร

๓๖. นายสว่าง สามโกเศศ

๓๗. ม.ข. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ (อรุณ)

เลข ๑ ถึง ๔ เป็นข้าราชการสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน

เลข ๘ เข้าเป็นทหารทีหลัง หลังจากวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๘๕

เลข ๓๗ รัฐบาลอังกฤษรับเป็นนายทหารต่างหาก

๒. ความมุ่งหมายร่วมกันของเสรีไทยในอังกฤษ

เหล่าเสรีไทยในอังกฤษทั้งกว่า ๕๐ คนนี้อาจจะอาสาสมัครเข้าเป็นเสรีไทยด้วยเหตุต่างๆกัน ได้เคยมีการถกกันถึงเรื่องนี้ในระหว่างที่สมัครเข้าใหม่ๆ และระหว่างที่เดินทางหรือพักแรมในที่ต่าง ๆ บางคนก็ว่าสมัครเพื่อกู้ชาติ บางคนก็ว่าเพื่อเสรีภาพและความชอบธรรมแห่งชีวิต บางคนก็พูดไม่ออก นอกจากจะเห็นเป็นหน้าที่ บางคนปรารภว่าบิดามารดารีบส่งไปศึกษาที่อังกฤษ เพราะใกล้จะถึงกำหนดเกณฑ์ทหารที่เมืองไทย และบิดามารดากลัวลำบาก แต่แล้วก็ยังไปสมัครเป็นทหาร ได้รับความลำบากยิ่งกว่าถูกเกณฑ์ที่เมืองไทยเป็นหลายเท่า อย่างไรก็ตาม พอจะพูดได้ว่าความมุ่งหมายร่วมกันของพวกเราได้ระบุไว้เด่นชัด ดั่งต่อไปนี้

(๑) พวกเราเข้าเป็นทหารอังกฤษมิใช่เพื่อรับใช้ชาติอังกฤษ แต่ต้องการรับใช้ชาติไทยโดยอาศัยอังกฤษร่วมมือ

(๒) คณะของเรามิต้องการที่จะเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศไทย และไม่ยอมเป็นเครื่องมือในการเมืองของพรรคใด ผู้ใดที่เป็นเสรีไทยภายในประเทศเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น คณะของเราจะร่วมด้วยทั้งนั้น และเมื่อเลิกสงครามแล้ว คณะเสรีไทยอังกฤษก็จะสลายตัวไป

(๓) คณะเสรีไทยจะไม่ถือโอกาสแอบอ้างผลความที่ใด ๆ มาเรียกร้องแสวงประโยชน์ส่วนตัวในด้าน ลาภ ยศ หรือด้านอื่นใด

(๔) คณะเสรีไทยอังกฤษได้แสดงให้ทางการอังกฤษ เห็นแจ้งชัดแต่เริ่มแรก ว่าคณะของเราต้องการกระทำการใด ๆ ในระหว่างสงครามในลักษณะทหาร กล่าวคืออยู่ในเครื่องแบบและยศทหาร แม้ว่าจะเป็นพลทหารก็ยินยอม ทั้งนี้หมายความว่าไม่ยอมเป็นเครื่องมือในลักษณะจารชน ถ้าจะต้องปฏิบัติราชการลับก็ทำในฐานเป็นทหาร

ในทางปฏิบัตินั้น ทหารเสรีไทยเริ่มเข้าเป็นทหารฐานะพลทหาร ตั้งแต่ ๗ สิงหาคม จนกระทั่งได้เดินทางถึงประเทศอินเดีย จนแยกย้ายกันฝึกไปบ้าง ปฏิบัติงานบ้าง ส่วนใหญ่ได้รับยศเป็นร้อยตรีเมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๘๖ กองทหารพวกเรามีลักษณะพิเศษอยู่ คือ เป็นผู้ที่มีวิทยฐานะสูงกว่าหน่วยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยการโยธา (Pioneer Corps) หรือหน่วยอื่นที่เราเข้าร่วมด้วยในจำนวน ๓๖ คน (ไม่นับ ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท เพราะท่านยังมิได้เข้าร่วมกับหน่วยของเรา) มีปริญญาและประกาศนียบัตรรวมกันประมาณ ๓๐ ปริญญา ที่เกือบได้ปริญญาเพราะกำลังเรียนอยู่ปีสุดท้ายก็หลายคน ฉะนั้น ผู้บังคับบัญชาฝ่ายอังกฤษ จึงได้ให้เสรีภาพแก่พวกเรา ในการปกครองกันเองอยู่เสมอ ทั้งนี้ภายใต้กรอบวินัยทั่วไปของกองทัพอังกฤษ การปกครองกันเองนี้หมายความว่า พวกเราทหารเสรีไทยมีการเลือกตั้งหัวหน้าและผู้แทนกันเอง ทุกครั้งที่มีการย้ายไปประจำค่ายใหม่ และผู้บังคับบัญชาในกองทัพอังกฤษ ก็ยินยอมรับรองหัวหน้าที่เราเลือกตั้งขึ้นนั้น ว่าเป็นผู้แทนของเราโดยชอบธรรม เมื่อพวกเราเป็นพลทหาร หัวหน้าที่เราเลือกตั้งขึ้น ก็มักได้รับยศโดยอัตโนมัติให้เป็นสิบตรีชั่วคราว เฉพาะถิ่น กิตติมศักดิ์ (Local, Temoporary, Unpaid, Lance -Corporal) ซึ่งเป็นยศเรียกยืดยาว มีความสำคัญเฉพาะตัวน้อย แต่มีความสำคัญสูงในด้านระบอบประชาธิปไตย ภายในวงการของเรา และในด้านความนิยมรับรองของกองทัพอังกฤษ

การที่อังกฤษรับพวกเราเข้าเป็นทหารใน Pioneer Corps หรือหน่วยการโยธานั้น เข้าใจว่าจะเป็นการทดลองดูใจของพวกเรา ว่ามีความมั่นคงเพียงใด เพราะหน่วยการโยธาดังกล่าว เป็นหน่วยที่ถือกันว่าไม่สู้จะมีเกียรติ ชนชาติศัตรู ถ้าจะสมัครเป็นทหาร ก็ให้เข้าหน่วยนี้ ถ้าเป็นคนอังกฤษก็ต้องเป็นกรรมกรที่ไม่มีคุณวุฒิหรือไม่มีความชำนาญในการใดๆ มีคติประจำหน่วยว่า “Labor Omnia Vincit” แปลว่า “งานหนัก (งานโยธา) ย่อมชนะได้ทุกอย่าง” คนอังกฤษนั้น ถ้าเป็นช่างก็เข้าหน่วยทหารช่าง ถ้าเป็นหมอก็เข้าหน่วยทหารแพทย์ หรือมีความรู้หรือพื้นเพสูงก็เข้าหน่วยทหารปืนใหญ่ รถเกราะ หรือทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เป็นต้น หน่วยการโยธามีหน้าที่การโยธาสมชื่อ ทำหน้าที่ขุดมันฝรั่ง ล้างส้วม ทำความสะอาดโรงอาหารหรือที่พัก หรือรักษาการณ์เป็นยาม เป็นต้น หน้าที่เหล่านี้พวกเราเคยทำกันมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าเดิมเป็นคุณหลวง หรือนักการทูต เป็นหม่อมเจ้าเชื้อพระวงศ์หรือบุตรเสนาบดี อธิบดี มาแต่ก่อน และพวกเรายังได้แต่งบทประพันธ์ไว้เป็นที่ระลึก พรรณนาความไว้ ดังจะขอคัดมาบางตอน

“...โอ้เต๊นท์หรูเคยอยู่ต้องจู่จาก ต้องจำพรากมาอยู่ตึกพิลึกยิ่ง
นอนกับดินกินกับอู่ดูเพราพริ้ง ต้องมากลิ้งบนเตียงเยี่ยงนารี
น้ำล้างชามเคยเย็นเป็นมันฝา น้ำล้างหน้าเย็นชื่นเคยรื่นรี่
ต้องมาใช้น้ำอุ่นฉุนเต็มที แล้วอย่างนี้หรือสะอาดอนาถใจ
กินอาหารจานสนิมชิมชูรส กินไม่หมดก็มีผู้คอยดูให้
พาไปเลี้ยงเกลี้ยงชามงามกระไร แล้วเดี๋ยวนี้จะมีใครมาตรวจตรา
.................... ....................
แต่เคราะห์ดีมีวิชาทำ “ฟาตีก” ให้หัดหลีกหลบตัวเหล่าหัวหน้า
สิบโท “มิลล์” ชำนาญการโยธา ถือคทาไม้กวาดใหญ่หาไพร่พล
ขัดพื้นเรือนเพื่อนให้ถูดูสะอาด ส้วมก็กวาดพังทลายไปหลายหน
โต๊ะม้านั่งยังได้ขัดหัดเล่ห์กล น้ำลูบไล้ให้พ้นไปวัน ๆ
งานเฝ้ายามตามไฟได้ฝึกฝน ตวาดคนหวั่นกลัวจนตัวสั่น
เวรกลางคืนปืนกับหอกออกประจัญ เวรกลางวันถือสง่าคทาพลอง
บางเวลาพากันขุดมันเทศ พลางร่ายเวทด่าฝรั่งกันดังก้อง
ขุดขนไปด่าไปในทำนอง พวกนายกองชอบใจเพราะไม่รู้...”

หน่วยทหารเสรีไทยฝึกและปฏิบัติงานอยู่ในอังกฤษ ตั้งแต่ ๗ สิงหาคม ๒๔๘๕ จนถึงกลางเดือนมกราคม ๒๔๘๖ จึงได้เดินทางจากอังกฤษรอนแรมอ้อมทวีปแอฟริกาไปยังอินเดีย ถึงอินเดีย คือ ที่บอมเบย์ เมื่อปลายเดือนเมษายน ๒๔๘๖ นับตั้งแต่นั้นมา ๓๖ สหายของเราก็เริ่มแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ ตามที่ทางการอังกฤษจะต้องการ ประวัติการเป็นทหารของพวกเราทั้ง ๓๖ คน ตั้งแต่เริ่มจนถึงตอนนี้ เท่าที่พวกเราได้มีชีวิตร่วมกันตลอดเวลา ได้มีคุณบุญพบ ภมรสิงห์ เขียนไว้ค่อนข้างละเอียดในหนังสือ “ศิลปินไทยในยุโรป” (บริษัทนิพนธ์ จำกัด ๒๕๐๕) ตั้งแต่บทที่ ๗ จนถึงบทที่ ๑๒ ใคร่จะเชิญท่านผู้อ่านที่สนใจหาอ่าน

ในการที่คณะทหารเสรีไทยอังกฤษแยกย้ายกันไปปฏิบัติงานนั้น มีบางกลุ่มย้ายไปเดลฮีเพื่อปฏิบัติงานด้านวิทยุกระจายเสียงบ้าง ด้านการทำแผนที่บ้าง บางกลุ่มก็ถูกเรียกไปปฏิบัติงานทางการาจี (กลุ่มของคุณบุญพบ-ดูได้ในหนังสือที่กล่าวข้างต้น) บางกลุ่มก็ถูกเรียกไปปฏิบัติและฝึกงานราชการลับ แต่กลุ่มใหญ่ที่สุดซึ่งข้าพเจ้าอยู่ด้วย ถูกส่งไปฝึกการรบกองโจรที่ค่ายแห่งหนึ่งนอกเมืองปูนา ฝรั่งเรียกกลุ่มเราว่า “ช้างเผือก” (White Elephants) ที่ตั้งค่ายฝึกนั้นอยู่ริมทะเลสาบ ชื่อตำบลนั้นแปลเป็นไทยว่า “รังรัก” ต่อมาพวกเราจึงเข้าในเรื่องดียิ่งขึ้น ปรากฏว่ากลุ่มของข้าพเจ้านี้สังกัดอยู่ในแผนกประเทศไทย ของกองกำลัง ๑๓๖ (Force 136) แห่งหน่วยบริหารงานพิเศษ (Special Operations Executive = S.O.E.) ในกระทรวงการสงครามเศรษฐกิจ (Ministry of Economic Warfare) ท่านผู้อ่านที่ทราบเรื่องของ O.S.S. ในสหรัฐดีกว่าเรื่องของอังกฤษ พอจะเทียบ S.O.E. ได้คล้ายคลึงกับ O.S.S.

๓. สถานีวิทยุสถานีแรกในประเทศไทยติดต่อกับสหประชาชาติ

ข้าพเจ้าจะขอรวบรัด เล่าถึงการฝึกของข้าพเจ้าแต่เพียงย่อ ๆ เพื่อจะบรรยายถึงการปฏิบัติงานในประเทศไทยให้ละเอียดพอสมควรในภายหลัง ในชั้นนี้จะเพียงขอลำดับวันและเวลาที่ข้าพเจ้าได้ไปทำการฝึกไว้โดยไม่ขยายความ

พฤษภาคม ๒๔๘๖ - กันยายน ๒๔๘๖ ฝึกที่ค่าย “รังรัก” ใกล้ปูนา
ตุลาคม ๒๔๘๖ ผู้รับการฝึกได้รับยศร้อยตรี
ตุลาคม ๒๔๘๖ - พฤศจิกายน ๒๔๘๖ ฝึกวิชาจารกรรม ที่กัลกัตตา มีสำราญ วรรณพฤกษ์ (เค็ง) กับข้าพเจ้า
พฤศจิกายน ๒๔๘๖ นายสำราญ วรรณพฤกษ์ นายประทาน เปรมกมล (แดง) และข้าพเจ้าลงเรือใต้น้ำ จากลังกา จะขึ้นบกที่พังงา ตะกั่วป่า แต่ไม่ได้ขึ้นบก เพราะไม่มีสัญญาณจากคนมารับ
ธันวาคม ๒๔๘๖ ทั้งสามคนพักผ่อนที่นิลคีรีในอินเดียใต้
มกราคม ๒๔๘๗ สมทบกับกลุ่มใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการฝึกเดินป่า เดินเขา ที่เทือกเขาสิงหะ บริเวณปูนา
กุมภาพันธ์ ๒๓๘๗ ฝึกโดดร่มที่ลาวัลพินดี ในปัญจาป มี ๖ คน คือ นายประทาน เปรมกมล นายสำราญ วรรณพฤกษ์ นายเปรมบุรี (ดี) นายรจิต บุรี (จำ) นายธนา โปษยานนท์ (กร) และข้าพเจ้า
มีนาคม ๒๔๘๗ โดดร่มเข้ามาปฏิบัติงาน

ต่อไปนี้จะรายงานถึงเหตุการณ์ซึ่งทำให้มีการติดตั้งสถานีวิทยุสถานีแรก สำหรับติดต่อกับสหประชาชาติในดินแดนประเทศไทย ขณะที่ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งกองทัพอยู่

ความมุ่งหมายข้อใหญ่ของทางราชการ (อังกฤษและอเมริกัน) ในการที่รับเอาคนไทยเข้าไว้ในกองทัพของตนนั้น ก็เพื่อที่จะตั้งกองทหารของสหประชาชาติมากกอง หรือน้อยกองแล้วแต่จะทำได้ หลังแนวรบญี่ปุ่น และหวังว่ากองทหารเช่นนี้อาจจะได้ช่วยกองทัพสหประชาชาติในทางการรบและกองโจร ในทางด้านสงคราม การเมือง และในการสื่อสาร คนไทยผู้สมัครเข้าในกองทัพอังกฤษมีความประสงค์ที่จะรับใช้ชาติของตน โดยการที่จะเข้าร่วมมือกับทหารอังกฤษอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ก็เป็นความประสงค์ของเราที่ถือเป็นข้อสำคัญอยู่อีกข้อหนึ่งว่า เราจะพยายามติดต่อร่วมมือและตกลงกันกับกองต่อต้านภายในประเทศ เพื่อให้เป็นที่เข้าใจกันด้วยดี

ในกลางปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เราพอจะทราบได้แน่นอนแล้วว่า กองต่อต้านในประเทศไทยนั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่แต่เพียงเป็นสิ่งที่เราคาดหวังเท่านั้น เพราะเหตุว่า เราทราบว่าได้มีผู้เดินทางออกจากประเทศไทยไปถึงเมืองจุงกิง และได้ติดต่อกับผู้แทนฝ่ายสหประชาชาติแล้ว

ส่วนมากของเสรีไทยจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเราเรียกกันว่า “ช้างเผือก” (White Elephants) กำลังฝึกหัดกลยุทธแบบกองโจร เป็นวาระสุดท้ายที่นอกเมืองปูนาในประเทศอินเดีย เราได้ยินข่าวว่า ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ได้เดินทางไปยังจุงกิง เพื่อจะติดต่อกับนายกำจัด พลางกูร ซึ่งลักลอบเดินทางออกไปจากประเทศไทย และภายหลังเราก็ได้ทราบว่า ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท ได้รับมอบอำนาจจากทางราชการอังกฤษส่งคนจากยูนนาน เดินทางบุกเข้ามากรุงเทพฯ ถือหนังสือจากกองทัพอังกฤษ มาถึง “รู้ธ” หัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย คือ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขอร้องให้ “รู้ธ” จัดการต้อนรับพวก “ช้างเผือก” คณะแรกที่เดินทางมาโดยเรือใต้น้ำ กำหนดจะขึ้นบกในฝั่งตะวันตกของประเทศไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ คณะ “ช้างเผือก” นี้จะเข้ามาพร้อมด้วยเครื่องส่งและรับวิทยุ เพื่อจะได้ตั้งสถานติดต่อระหว่างประเทศไทยกับฐานทัพอังกฤษในอินเดียได้เป็นการประจำ

ในเดือนกันยายน ๒๔๘๖ ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งซึ่งจะเดินทาง โดยเรือใต้น้ำนั้น และหน่วยของข้าพเจ้าเรียกว่า “Pritchard” คณะของข้าพเจ้าประกอบด้วย นายประทาน เปรมกมล “แดง” เป็นนักวิทยุ นายสำราญ วรรณพฤกษ์ “เค็ง” และข้าพเจ้า “แดง” ได้ถูกส่งไปเมียรุตสำหรับจะฝึกหัดการรับวิทยุเพิ่มเติม ส่วน “เค็ง” และข้าพเจ้าได้เดินทางไปยังโรงเรียนพิเศษโรงเรียนหนึ่ง นอกเมืองกัลกัตตา เพื่อฝึกสำหรับจะปฏิบัติราชการพิเศษ

ต่อมา “แดง” ได้เดินทางมาร่วมคณะที่กัลกัตตา และหลังจากที่ได้มีการฝึกวิธีขึ้นบกโดยเรือใต้น้ำ ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ที่ตำบลทริงโกมาลี ในเกาะลังกา เมื่อเดือนพฤศจิกายนแล้ว คณะของเราก็ได้เดินทางโดยเรือใต้น้ำจากเมืองโคลอมโบ ในเรือใต้น้ำนั้น มีนายทหารบกกองทัพอังกฤษ ๒ คน กับสิบเอกอีก ๑ คน สำหรับจะมาส่งเราขึ้นบก

เมื่อได้เดินทางมาถึงที่ที่กำหนดแล้ว เรือใต้น้ำก็ได้ลอยลำและดำน้ำอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ ๔-๕ ไมล์ เป็นเวลา ๑ สัปดาห์ เวลากลางวันก็จมลงไป และเวลากลางคืนก็ขึ้นมาลอยลำ คอยดูอาณัติสัญญาณ แต่หาได้ปรากฏอาณัติสัญญาณไม่ ต่อมาภายหลังเราจึงได้ทราบว่า “จีน” ผู้ถือหนังสือจากยูนนานเข้ามาในประเทศไทยนั้น กว่าจะเข้ามาได้ถึงกรุงเทพฯ ก็เป็นเวลาหลังจากเดือนมิถุนายน ๒๔๘๗

อย่างไรก็ดี การเดินทางด้วยเรือใต้น้ำนี้ มิใช่ว่าจะปราศจากเหตุการณ์ก็หามิได้ เราได้มีเวลาตื่นเต้นอยู่ข้างในเมื่อทราบว่ามีเรือใหญ่อยู่เหนือผิวน้ำใกล้เคียงกับที่เราจมอยู่ อาจจะเป็นเรือญี่ปุ่นหรือเรือไทยก็เป็นได้ แล้วเราก็ไม่ทราบแน่ว่าเรือลำนั้นเห็นเรือของเราหรือไม่ แต่เราได้พยายามรักษาความเงียบสงบไว้เพื่อความปลอดภัย ในเวลาเช่นนั้นทุกคนในเรือใต้น้ำจะต้องนั่งเงียบ ๆ ไม่ทำเสียงอย่างหนึ่งอย่างใด และข้าพเจ้าเองแทบจะไม่กล้าหายใจ เพราะรู้สึกว่าลมหายใจเป็นเสียงดังอย่างไม่น่าเชื่อ แต่เราไม่เคยได้รับลูกระเบิดใต้น้ำเลย เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม ในคืนสุดท้ายก่อนที่เราจะเดินทางกลับ ทหารอังกฤษที่ไปกับเรานั้นตกลงใจว่า จะนำเรือเล็กเข้าไปยังที่ชายฝั่งเพื่อสอดแนม (พวกเราคนไทยไม่ได้ไปด้วย เพราะเหตุว่าเราได้รับคำสั่งอย่างเข้มงวดมิให้ขึ้นบก นอกจากจะมีผู้มารับตามข้อตกลง) สหายชาวอังกฤษของเราไม่เคยอยู่ในประเทศไทยเลย แต่เมื่อไปสอดแนมมาแล้ว ก็รายงานว่าไม่มีใครมาคอยเราอยู่ที่ชายฝั่ง เมื่อการณ์ปรากฏว่า ถึงจะคอยต่อไปอีกก็ไม่มีประโยชน์แล้ว เราจึงตัดสินใจเดินทางกลับเกาะลังกา แต่ในคืนต่อมา เราได้พบเรือหาปลาขนาดเล็ก จึงได้ตกลงว่าจะลอยลำขึ้นมาดูสักที ในเรือหาปลานั้นมีคนจีนอยู่หลายคน ฝ่ายเรารู้สึกว่าจะทำให้เขาตกใจมาก แต่เราไม่ต้องการอะไรจากเขามาก นอกจากบางสิ่งบางอย่าง เช่นเหรียญกระษาปณ์และเอกสาร และเราก็ได้เอาธนบัตรไทยกับอาหารให้เขา เป็นการแลกเปลี่ยนกัน

ข้าพเจ้าไม่สมควรที่จะกล่าวให้ยืดยาวนักในการพรรณนาชีวิตในเรือใต้น้ำ บางทีไม่จำเป็นที่จะต้องพูดมากไปกว่าว่าเรือใต้น้ำนั้นร้อน ชีวิตน่าเบื่อหน่าย ไม่มีอะไรจะทำ นอกจากนอน กิน และทอดลูกเต๋า เรานอนในเวลากลางวัน และตื่นในเวลากลางคืน เมื่อเวลาเรือลอยลำขึ้นมา และเมื่อลอยลำขึ้นมาเช่นนั้น ผู้โดยสารก็ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนดาดฟ้ารับอากาศบริสุทธิ์ได้ ผู้โดยสารจะสูบบุหรี่ได้ก็แต่ที่ในเวลาเรือลอยลำ ข้าพเจ้ายังมีความรู้สึกจำได้อยู่ข้อหนึ่ง คือ เมื่อส่องกล้องดูฝั่งไทยจากเรือใต้น้ำนั้น ข้าพเจ้าจำได้ว่าได้เห็นแผ่นดินอันเป็นที่รักของเราสวยงามมาก หาดทรายขาวและมีกระท่อมคนหาปลาอยู่ มีต้นไม้เป็นอันมาก ตำบลที่เราตั้งใจจะขึ้นบกนั้นรู้สึกว่าเปลี่ยวมาก ข้าพเจ้าไม่เคยไปในตำบลนั้นเลย แต่ยังรู้สึกว่าที่นั่นเป็นแผ่นดินที่รักของเรา และมีคนร่วมชาติที่รักของเราอาศัยอยู่

คณะเรากลับถึงโคลอมโบทันเวลาคริสต์มาส เมื่อใกล้จะถึงน่านน้ำลังกา เรือใต้น้ำได้ผุดขึ้นมาและเดินทางบนผิวน้ำด้วยความเร็วเต็มที่ ชีวิตในเรือใต้น้ำซึ่งเดินทางบนผิวน้ำ ไม่มีอะไรนอกจากทำให้ผู้โดยสารเมาคลื่น และได้รับทุกขเวทนาเหลือประมาณ

เมื่อได้หยุดพักผ่อนเป็นเวลาเล็กน้อยในทิวเขานิลคีรีอันงดงามแล้ว คณะของข้าพเจ้าได้เดินทางขึ้นไปยังเมียรุตในต้นเดือนมกราคม ๒๔๘๘ จากนั้นเราได้เดินทางไปยังเมืองปูนาเพื่อฝึกให้มีกำลังแข็งแรง ขึ้น คณะ “ช้างเผือก” คนอื่น ๆ ได้มารวมพลกันอยู่ ณ ที่นั้น และในระหว่างที่เราออกทะเล เพื่อนฝูงของเราเหล่านี้ก็ได้ฝึกหัดต่อไปบ้าง และได้พักผ่อนหย่อนใจยังที่ต่างๆ กันบ้าง

การที่มาร่วมคณะกันใหม่คราวนี้ ทำให้เรามีโอกาสที่จะปรึกษาหารือกันเป็นครั้งสุดท้ายในเรื่องสถานการณ์และการงาน ซึ่งเราคาดหมายว่าจะต้องทำต่อไป คณะ “ช้างเผือก” ได้ประชุมกันคืนวันหนึ่งบนยอดเขาสิงหะ ในขณะนั้นเรารู้เรื่องหน้าที่การงานของเราดียิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน สำหรับบางคนในคณะเราเช่นข้าพเจ้า การโดดร่มชูชีพ และการเดินทางโดยเรือใต้น้ำเป็นข้อที่หลับตาแล้วเตือนให้สะดุ้งอยู่เสมอ สำหรับคนอื่นเขาอาจะกระตือรือร้นอยากจะได้ทำอะไรต่ออะไรโลดโผนเช่นนั้นในกาลข้างหน้าก็เป็นได้ ข้อเจรจาในการหารือบนยอดเขาสิงหะคืนนั้น ข้าพเจ้าจำไม่ได้หมด แต่จำได้อยู่ว่า พวกเรามีจิตใจรักกันและสามัคคีกันมาก ข้าพเจ้าจำได้ว่าข้าพเจ้าได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาข้อหนึ่ง คือข้อที่ว่าเมื่อเราเข้าไปในประเทศไทยแล้ว เราจะต้องพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะไม่ใช้อาวุธประหัตประหารคนไทยด้วยกัน ถึงแม้ว่าจะต้องเสียชีวิตก็ไม่ควรที่จะต่อสู้ แต่ว่าเราไม่ควรที่จะให้ญี่ปุ่นจับเราได้เป็น ๆ จะต้องต่อสู้จนจับตาย ข้อเสนอของข้าพเจ้านี้ ได้เสนอขึ้นโดยระมัดระวัง มิให้เป็นการบังคับ เพราะข้าพเจ้าเข้าใจดี ว่ามีบางคนในพวกเรา จะไม่ยอมฝืนธรรมชาติที่จะสู้ก่อนที่จะถูกจับ แต่อย่างไรก็ดี ส่วนมากของคณะ “ช้างเผือก” ได้ลงความเห็นชอบตามข้อเสนอนั้น

แผนการเข้าประเทศไทย ได้ร่างขึ้นใหม่ในภายหลัง “ช้างเผือก” ๒-๓ คนจะต้องเข้ามาในประเทศไทยด้วยร่มชูชีพ พร้อมด้วยเครื่องรับและส่งวิทยุ การโดดร่มคราวนี้เรียกว่าโดดอย่างสุ่ม (Blind dropping) หมายความว่าไม่มีใครมารับที่บนพื้นดิน ที่ที่จะลงนั้นกำหนดไว้ว่าจะเป็นในป่าทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ คือระหว่างสุโขทัยกับสวรรคโลก และกำหนดเวลาไว้ในเวลาข้างขึ้นหรือข้างแรมอ่อน ๆ ในเดือนมีนาคมและเมษายน เราจะแยกกันเป็น ๒ คณะ ๆ ละ ๓ คน เรียกว่า Appreciation ทั้ง ๒ คณะ คณะ Appreciation ที่ ๑ จะทำการในเดือนมีนาคม และเมื่อลงไปถึงพื้นดินแล้วหาที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าสูง วิทยุกลับมายังฐานทัพ และเตรียมรับคณะ Appreciation ที่ ๒ ในโอกาสเดือนหงายคราวหน้า ถ้าฐานทัพไม่ได้ยินวิทยุ Appreciation ที่ ๑ คณะที่ ๒ จะกระโดดร่ม “สุ่ม” ลงมาอีกที่หนึ่งในจังหวัดใกล้เคียง และลงมาทำการเช่นเดียวกัน หน้าที่ของเรามีเป็นลำดับต่อไปนี้ คือ

(ก) รักษาตัวให้รอด

(ข) ติดต่อทางวิทยุกับฐานทัพ

(ค) รับคนที่จะมาโดดร่มในภายหลัง

และ (ง) ถ้าทำได้ และในโอกาสที่จะทำได้ ให้ติดต่อกับขบวนต่อต้านข้างใน

บุคคลที่จะเข้าเป็นคณะทั้ง ๒ นี้ ได้เปลี่ยนแปลงไปจากคณะ Pritchard เนื่องจากเราจะไม่มีใครมารับ การติดต่อทางวิทยุจึงมีความสำคัญยิ่งขึ้น และเนื่องจากเราจะต้องเข้าไปอยู่ในป่าด้วยตนเอง จึงจำเป็นที่จะต้องมีนักเรียนหมอเข้าร่วมคณะด้วย นายเปรม บุรี “ดี” กับนายระจิต ยุรี “ขำ” ได้ถูกเลือกสำหรับใช้ทำการส่งวิทยุและเป็นแพทย์ประจำคณะ คนที่ ๖ คือ นายธนา โปษยานนท์ “กร” ซึ่งเข้า มาในคณะที่ ๒ “เค็ง” เป็นหัวหน้าคณะ Appreciation ที่ ๒ ฉะนั้น คณะดังกล่าวจึงประกอบด้วยบุคคลเหล่านี้ คือคณะ Appreciation ที่ ๑ “เข้ม” (ข้าพเจ้า) “แดง” และ “ดี” คณะ Appreciation ที่ ๒ มี “ เค็ง” “ขำ” และ “กร”

ในเดือนกุมภาพันธ์ พวกเรา ๖ คน อำลาพรรคพวก และเดินทางไปยังเมืองราวัลพินดีเพื่อฝึกหัดโดดร่มชูชีพ เราต่างคนได้ฝึกโดดร่มจากเครื่องบินคนละ ๕ ครั้ง ๔ ครั้งแรกในเวลากลางวัน และครั้งสุดท้ายในเวลากลางคืน การโดดครั้งแรกจากเครื่องบินฮัดสัน แต่อีกสี่ครั้งโดดจากลิเบอเรเตอร์ การโดดเช่นนี้ได้กระทำหลังจากได้ฝึกหัดบำรุงกำลังร่างกายอย่างเคร่งเครียดเป็นเวลาหลายวัน และหลังจากหัดกระโดดลงจากที่สูงโดยไม่มีอันตราย พวกเราไม่ชอบการกระโดดร่มเช่นนี้ ถึงแม้จะรู้สึกว่าไม่มีอันตรายเลย แต่ข้าพเจ้าเองก็ไม่สามารถที่จะกล่าวด้วยความจริงใจได้ว่าข้าพเจ้าไม่กลัว แต่อย่างไรก็ดี พวกเราพยายามที่จะซ่อนความหวาดกลัวนั้นไว้ ทุก ๆ เวลาเช้าระหว่างเดินทางจากที่อยู่ของเราไปสนามบิน เราจะต้องผ่านป่าช้าแห่งหนึ่ง และเมื่อเวลาผ่านไปพวกเรามักจะเตือนสติซึ่งกันและกันว่า ที่นั่นแหละเป็นที่ที่สังขารจะต้องไปถึงในที่สุด ไม่เร็วก็ช้า และสำหรับพรรคพวกคนอื่น ๆ นั้นคงน่ากลัวจะเร็ว แต่สำหรับผู้พูดคงจะช้า ความรู้สึก และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม พวกเราได้รับประโยชน์จากการฝึกบำรุงกำลังนั้น และอากาศอันสดชื่นของมณฑลปัญจาบทำประโยชน์ให้แก่เรามาก และพวกเราต่างรู้สึกแข็งแรงหลังจากที่อยู่พินดีหนึ่งสัปดาห์

จากพินดีไปสู่กัลกัตตา รอคอย “เรื่องจริง” เรายังมีเวลาอยู่บ่างสำหรับที่จะได้ลิ้มรสความสุข จากความเจริญแบบสมัยใหม่ เช่น ดูภาพยนตร์ในโรงที่มีเครื่องทำความเย็น รับประทานไอศศรีม โซดา และรับประทานอาหารในภัตตาคารเป็นครั้งสุดท้าย ในไม่ช้า วันกำหนดก็มาถึง พวกเราสามคนใน Appreciation ที่ ๒ เริ่มออกไปทำการในต้นเดือนมีนาคม คือวันที่ ๖ ก่อนวันเกิดของข้าพเจ้าสามวัน ข้าพเจ้าได้บอกกับนายทหารผู้บังคับบัญชาเป็นเชิงล้อว่าให้ส่งของขวัญวันเกิดไปให้ข้าพเจ้าในป่า อย่าพลาดเป็นอันขาด เช้าวันนั้นพวกเราเดินทางด้วยเครื่องบินจากกัลกัตตาไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ห่างจาก เมืองใหญ่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ข้าพเจ้าจำชื่อสถานที่นั้นไม่ได้ แต่สิ่งต่าง ๆ ในที่นั้นข้าพเจ้าจะลืมไม่ได้เป็นอันขาด ที่นั้นเป็นสนามบิน อยู่ในท่ามกลางเนื้อที่กว้างขวาง ไม่มีพฤกษชาติเลย ไม่มีน้ำบริสุทธิ์ไม่มีอะไรทั้งสิ้น เว้นแต่เครื่องบินกับกระท่อมหลายกระท่อมที่น่าทุเรศ นอกจากนั้นเรายังต้องทนรับประทานอาหารกลางวันอันจืดชืด มีเนื้อกระป๋องแห้ง ๆ ขนมปังแห้ง ๆ และดื่มน้ำซึ่งเหม็น เพราะเหตุว่าใส่คลอรีนมากเกินไป แน่นอนทีเดียวต้องมีใครทำผิดพลาดแน่ ที่จะส่งให้เราไปทำการครั้งนี้จากสถานที่เช่นนี้ เพราะมีแต่ทำให้จิตใจของเราหดหู่ลงเท่านั้น

ในตอนเย็นวันนั้น เราขึ้นเครื่องบินลิเบอเรเตอร์ซึ่งจะนำเราไปสู่จุดหมาย เพื่อเป็นการคุ้มกันการกระโดดร่มของเรา เครื่องบินทิ้งระเบิดฝูงหนึ่งได้ถูกส่งออกไปในคืนวันเดียวกัน เพื่อจะทำการในบริเวณใกล้เคียงกับที่เราจะไปโดดร่ม แต่จากสนามบินที่เดียวกันในเย็นวันนั้น เราได้สังเกตเห็นว่า มีเครื่องบินลิเบอเรเตอร์อีกเครื่องหนึ่งขึ้นสู่อากาศก่อนเราเล็กน้อย ภายหลังจึงได้ทราบว่าลิเบอเรเตอร์เครื่องนั้น นำเอาชาวจีนสี่คนเดินทางไปทำการแบบเดียวกับเรา แต่ไปโดดลงที่ใกล้นครปฐม

เราใช้เวลาส่วนมากในการเดินทางนั้นนอนไปในเครื่องบิน เครื่องบินนั้นไม่เป็นที่สุขสบายเลย และอากาศก็เลว ข้าพเจ้าเองรู้สึกเมาเครื่องบินเล็กน้อย เรารับประทานอาหารไม่ได้มากในระหว่างเดินทาง ภายนอกอากาศมืดมัว ถึงแม้ว่าจะมีพระจันทร์ข้างขึ้น และเราไม่ทราบเลยว่าในเวลาใดเราอยู่ที่ใด ประมาณ ๒๒.๓๐ น. มีผู้มาบอกให้เราเตรียมตัว และประมาณ ๒๓.๐๐ น. เราสามคนก็นั่งรออยู่เหนือช่องกระโดดในเครื่องบินพร้อมที่จะไถลตัวกระโดดลงในท่ามกลางความมืด ช่องที่ว่างนั้นอยู่บนพื้นเครื่องบินมีประตูเปิดออกใกล้ตัวเครื่องของเครื่องบิน ช่องนั้นใหญ่พอที่จะให้ผู้กระโดดไถลตัวลงไปได้พร้อมด้วยเครื่องหลังและร่มชูชีพที่อยู่บนหลัง ถ้าคำสั่ง “ลง” มีมาเมื่อใด เราก็จะ “กระโดด” ลงไปสู่ความมืดและไปสู่ยถากรรม เราคงได้นั่งอยู่ที่นั้นคือที่ขอบเหวนั้นเป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง...ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจะเป็นหนึ่งปี...คำนึงถึงชีวิตและมรณะ คำนึงถึงอนิจจังและอนัตตา และจากช่องกระโดดนั้น ลมเย็นกระโชกพัดเข้ามาอยู่ตลอดเวลา คงจะมีประโยชน์สำหรับจะทำให้เราแน่ใจว่าที่ที่จะลงไปนั้นไม่ใช่นรก เพราะว่าไม่มีเปลวเพลิงอันร้อนมีแต่ลมเย็น เครื่องบินวนเวียนอยู่เรื่อย ๆ รู้สึกว่าจะไม่หยุด แต่ว่าคำสั่งให้เตรียมกระโดดไม่มีเข้าหูเราเลย ผลสุดท้ายมีผู้มาตบไหล่เบา ๆ และเราได้ยินว่าเลิกกันได้ เพราะเหตุว่านักบินไม่สามารถจะหาที่ที่เราจะลงไปได้ แผนที่ก็เลว และอากาศก็มืด พวกเรากำลังเดินทางกลับไปยังกัลกัตตา

เราไม่ได้อยู่ที่กัลกัตตานานนัก เพราะเหตุว่าทุกคน เฉพาะอย่างยิ่ง พวกเรามีความวิตกกังวลอยากจะให้เรื่องกระโดดร่มนี้เสร็จสิ้นกันไปเสียที หลังจากการเดินทางครั้งแรก ต่อมาสักหนึ่งสัปดาห์ เราได้ข่าวจากกองทัพอากาศอังกฤษว่า เขาพร้อมที่จะพาเราไปอีกครั้งหนึ่งแล้ว เราก็ต่างออกเดินทางทันที จากสนามบินเดียวกัน เดินทางแบบเดียวกัน เวลากลางคืนแบบเดียวกันกับคราวที่แล้ว ผิดกันอยู่ที่เวลา ดึกกว่าเดิมสัก ๔-๕ ชั่วโมง เพราะเหตุว่าเป็นข้างแรม เมื่อเราได้เดินทางถึงเหนือประเทศไทย มีคนมาบอกเราว่า คราวนี้พบที่หมายแน่นอนแล้ว เครื่องบินวนเวียนอยู่หลายรอบ และค่อนข้างจะบินต่ำ พวกเราได้เห็นแสงไฟบนพื้นดินเป็นอันมาก และเกิดความสงสัยขึ้นในใจว่าเราได้ถูกนำมาในที่ที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุว่าเป็นที่ตกลงกันว่าเราจะต้องอยู่ในกลางป่า มีบ้านเรือนที่ใกล้เคียงที่สุดก็ห่างออกไปตั้งหลายกิโลเมตร แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีเวลาที่จะไต่ถามได้ และไม่มีเวลาที่จะถกเถียงกัน คำสั่งให้ลงมาถึง และเราก็ลงไป

ทั้ง ๓ คนลงถึงพื้นดิน ในที่ว่างเปล่าใกล้เคียงกัน และเราพอจะเห็นกันในระหว่างที่เราลอยตัวลงมา ข้าพเจ้าค่อนข้างจะเคราะห์ร้าย โดยที่ได้ลงมาเท้าหนึ่งอยู่บนคันนา และอีกเท้าหนึ่งอยู่นอกคันนา ทำให้ข้อเท้าขวาแพลงไป ข้าพเจ้าจึงรู้สึกตัวว่าพื้นดินที่เราลงมานั้นเป็นนา และข้อนี้ยิ่งทำให้สงสัยใหญ่ว่าได้ลงมาผิดที่เสียแล้ว เรา ๓ คนเข้ามาร่วมดูแผนที่อย่างเร่งรีบ และจากแผนที่นั้นก็ทำให้แน่ใจยิ่งขึ้นอีกว่า ที่ที่เราอยู่นั้นเราไม่ได้ตั้งใจลงมาเลย เพราะเป็นที่ที่ห่างจากจุดหมายถึง ๒๕ หรือ ๓๐ กิโลเมตร และยิ่งร้ายไปกว่านั้นเรารู้สึกว่า เราอยู่ใกล้หมู่บ้านจนเกินไป เมื่อเราเดินหาร่มอาหารและเครื่องมือ ๗ ร่มที่เรานำมาด้วยสำหรับจะมีอาหารรับประทานในป่าเป็นเวลา ๑ เดือน ก็ปรากฏว่าร่ม ๑ หายไป แดงกับดีเดินออกไปหา แล้วในไม่ช้าก็กลับมารายงานว่า ร่มที่หายไปนั้นได้ตกลงไปในใจกลางหมู่บ้าน และหมู่บ้านนั้นห่างจากที่เราอยู่เพียงมีพุ่มไม้เล็ก ๆ คั่นอยู่ แดงกับดีต้องรีบกลับมา เพราะเหตุว่าได้ยินสุนัขเห่า ฉะนั้น เราจึงตัดสินใจว่าจะต้องออกจากที่ที่เราอยู่นั้น โดยเร็วที่สุดที่จะเร็วได้

ขณะนั้นเป็นเวลาเช้ามืดประมาณ ๔ นาฬิกา เรามีเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงก่อนจะรุ่งสาง เราไม่สามารถที่จะออกเดินทางได้โดยเร็ว เพราะมีหีบห่อใหญ่หลายหีบและจะขุดหลุมฝังให้มิดชิดก็ทำยาก เพราะว่าใกล้หมู่บ้าน แต่อย่างไรก็ตามเราไม่มีเวลาสำหรับที่จะตัดสินใจนานนัก เพราะในขณะเดียวกันกับที่เราตัดสินใจว่า จะออกเดินทางต่อไป เเราก็เห็นชาวนา ๕-๖ คนเข้ามา และเขาเหล่านั้นได้เห็นเราแล้ว

ชาวนาเหล่านั้นเป็นคนเผาถ่านจากหมู่บ้านอีกหมู่บ้านหนึ่งห่างไกลออกไป ในวันนั้นได้เข้าไปในป่าเพื่อจะตัดไม้ และเมื่อได้ตัดไม้แล้ว ก็กำลังเดินทางกลับบ้าน ในคืนนั้นเขาพักแรมอยู่นอกหมู่บ้านวังน้ำขาว ตั้งในดินทางกลับในวันรุ่งขึ้น (วังน้ำขาวคือหมู่บ้านที่เราลงมานั้น และวังน้ำขาวอยู่ในจังหวัดชัยนาท แต่ที่เราตั้งใจมาลงนั้นอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือระหว่างจังหวัดตากกับนครสวรรค์) แสงไฟที่เราได้เห็นจากเครื่องบินของเรานั้นคือคบเพลิงของชาวเกวียนนั้นเอง พวกเขาได้ยินเสียงเครื่องบินของเรา และโคกระบือก็แตกตื่นวิ่งหนีไป ชาวเกวียนเหล่านั้นได้เห็นร่มของเราขาวเมื่อลงมาจากเครื่องบิน แต่บางคนเข้าใจว่าเป็นควัน เมื่อเขาเหล่านั้นได้พบเราบนพื้นดิน ต่างก็ประหลาดใจที่เห็นเราเป็นคนไทย เพราะเหตุว่าเขาคาดว่าคงจะเป็นพวกชาวต่างประเทศที่เข้ามาทิ้งระเบิด

แต่มีสิ่งหนึ่งที่บางคนในพวกเขารู้สึกแน่ใจคือ เครื่องบินที่เขาเห็นนั้นไม่ใช่เครื่องบินไทยหรือญี่ปุ่น เพราะเหตุว่ามี ๔ เครื่องยนต์เราพยายามที่จะชี้แจงว่า เครื่องบินนั้นเป็นเครื่องบินแบบใหม่ที่ญี่ปุ่นให้รัฐบาลไทยยืม และเราเป็นทหารอากาศของไทยมาซ้อมรบ แต่เราทราบดีว่าคำพูดของเรานั้นไม่เป็นที่เชื่อถือ ถึงแม้ว่าชาวเกวียนเหล่านั้นจะไม่ได้บอกว่าไม่เชื่อ เว้นไว้แต่คน ๆ เดียวที่กล้าพูด อย่างไรก็ดี เมื่อเราพบเสือแล้ว เราก็ต้องสู้ประจันหน้า ฉะนั้นเราจึงได้ขอร้องให้เพื่อนร่วมชาติของเราเหล่านั้นช่วยเราแบกเครื่องมือเข้าไปทางหมู่บ้าน แสร้งทำเป็นว่าเราจะเข้าไปในหมู่บ้านในเวลารุ่งเช้า พวกชาวเกวียนก็ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เมื่อถึงชายหมู่บ้าน เราก็ขอบใจเขา และบอกว่าเราจะรอเพื่อนที่นัดพบกันที่นั่น ชาวเกวียนก็กลับไป

ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๕ นาฬิกา เราไม่มีเวลาที่จะทำอะไรอีกแล้ว จึงเอาเครื่องส่งวิทยุ อาหารบ้างเล็กน้อยและเสื้อผ้าบางชิ้น สิ่งของนอกจากนั้นเอาซุกเข้าไว้ในพุ่มไม้บ้าง ขุดหลุมฝังบ้าง แต่จะมีประโยชน์อันใดที่จะไปเก็บอะไรไว้ให้มิดชิด เพราะร่มทั้งคันมีของเต็มได้ลงจากเครื่องบิน ตกลงไปในกลางหมู่บ้าน ดูเหมือนจะเป็นที่หน้าศาลาวัดเสียด้วย เมื่อเราได้ทำการบางอย่างเท่าที่จะทำได้แล้ว เรารีบย้อนเดินกลับไปทางตะวันตกเข้าป่าซึ่งเป็นชายป่าใหญ่ต่อไป ข้อเท้าของข้าพเจ้าที่แพลงนั้นเป็นข้อที่หน่วงทำให้เพื่อนของข้าพเจ้าไม่สามารถจะเดินไปได้โดยเร็วเท่าที่ต้องการ เราได้เดินเข้าไปในป่าประมาณ ๔-๕ ชั่วโมง จนกระทั่งถึงที่ที่ค่อนข้างจะทึบ จึงได้ตัดสินใจว่าจะหยุดพัก ความจริงหยุดที่นั่นไม่ปลอดภัย แต่เราหวังว่าจะได้ติดต่อทางวิทยุกับกองบัญชาการที่อินเดีย ความมุ่งหมายของเราข้อใหญ่ก็คือ ต้องการจะบอกกับกองบัญชาการว่า เราได้ถูกทิ้งลงมาในที่ที่น่าเกรงอันตราย และเราจะฝังวิทยุไว้ ณ ที่นั้นกับจะเดินทางไปตะวันตกเฉียงเหนือไปยังที่ที่จะนัดพบกับคณะ Appreciation ที่ ๒ ซึ่งจะลงมาในข้างขึ้นเดือนหน้า ในร่างโทรเลขนั้นเราจะเจาะจงเตือนให้กองบัญชาการระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้คณะที่ ๒ ลงมาผิดที่อย่างที่เราได้ประสบมา เพราะเหตุว่าชาวบ้านรู้ตัวเสียแล้ว

เรายังมีเวลาก่อนที่จะถึงเวลากำหนดที่เราจะออกอากาศติดต่อกับกองบัญชาการ ฉะนั้นเราจึงใช้เวลาขุดหลุมเพื่อจะฝังเครื่องวิทยุของเรา เมื่อการส่งวิทยุนั้นเป็นผลสำเร็จแล้ว นอกนั้นยังมีของที่เราเห็นว่าไม่สู้จำเป็นจริงหลายอย่าง เราก็ขุดหลุมฝังไว้ด้วย เพื่อจะได้เดินทางโดยมีน้ำหนักเบาที่สุด ที่มั่นของเราเวลานั้นเป็นพุ่มไม้ค่อนข้างหนา และเครื่องวิทยุของเราเก็บไว้อีกแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากที่อยู่นัก แต่ไม่เห็นกัน ที่ที่อยู่นั้นเป็นที่ที่เหมาะอยู่บ้าง เพราะเหตุว่าเราได้แน่ใจว่า ถึงแม้จะมีคนเดินไปมาห่างจากที่ซ่อนสัก ๔-๕ เมตรก็แทบจะไม่เห็น

วันนั้นอากาศร้อน ป่าเงียบสงบ นอกจากจะมีเสียงลิงและนกร้องเล็กน้อย ข้อเท้าของข้าพเจ้าบวมขึ้นมา และค่อนข้างจะปวด เราต่างรู้สึกอ่อนเพลียหลังจากที่ได้เดินท่ามกลางความร้อนเป็นเวลาครึ่งวัน และเฉพาะอย่างยิ่งต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่คาดหวังในเวลาเช้ามืด รู้สึกใจเสียอยู่บ้างเนื่องด้วยมีคนเห็นเราลงจากร่มมา และร่ม ๑ ร่มก็พลัดลงไปในหมู่บ้าน เรามีน้ำอยู่ในขวดแต่เพียง ๓ ขวด เพราะเหตุว่าตามแผนการเดิม เราจะลงที่ใกล้ลำธาร เราไม่รู้สึกหิวเลย ฉะนั้นจึงไม่ต้องกังวลกับเรื่องอาหาร

เมื่อถึงเวลาที่จะส่งวิทยุ แดงกับดีก็ไปยังสถานีวิทยุของเขา ข้าพเจ้านั่งเป็นยามอยู่สักครึ่งชั่วโมง ต่อมาแดงกับดีกลับมาบอกว่าติดต่อไม่ได้ เขาพอจะฟังได้ยินกองบัญชาการแต่เพียงเบา ๆ แต่กองบัญชาการไม่ได้ยินพวกเราเลย ที่ร้ายไปกว่านั้น กองบัญชาการไม่ได้รอเรานานพอสมควร เพราะเหตุว่าเขาให้อาณัติสัญญาณเลิกส่งเร็วเกินกำหนดไป บางทีกองบัญชาการอาจจะไม่ได้คาดหมายว่าเราจะติดต่อวิทยุมาในทันทีทันใดก็เป็นได้

เราจะทำอย่างไรดี พวกเราตัดสินใจว่าการส่งวิทยุนี้เป็นของสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นจะต้องคอยส่งให้ได้โดยเร็ว ถ้าเราเดินทางไปพร้อมด้วยเครื่องวิทยุเราจะไปไม่ได้ไกล เพราะน้ำหนักมาก และเท้าของข้าพเจ้าก็บวม และที่ที่เราอยู่นี้ ก็รู้สึกว่าจะเป็นที่ที่มิดชิดพอสมควร แดงมีความเห็นว่าสายอากาศของเราอาจจะทำให้ดีขึ้น และในวันรุ่งขึ้นเราก็จะได้ติดต่อกับกองบัญชาการอีก ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วย และเนื่องจากข้าพเจ้าเป็นหัวหน้า ข้าพเจ้ารับผิดชอบในข้อตัดสินใจนั้น ในระหว่างที่รออยู่จนถึงวันรุ่งขึ้น เราก็พยายามหาน้ำมาใส่ขวดสำหรับจะได้เดินทางไป และเมื่อเราได้ส่งวิทยุไปแล้ว เราก็จะเดินทางต่อไปทันที

แดงกับดี ก็ออกไปลาดตระเวนหาน้ำ ข้าพเจ้าอยู่ในที่พักแต่ผู้เดียว เพื่อนของข้าพเจ้าได้จากไปเป็นเวลาหลายชั่วโมง และไม่ได้กลับมาจนกระทั่งรุ่งสาง เขาได้พบหนองน้ำแห่งหนึ่งสกปรกอยู่นอกป่า แต่ว่าเมื่อเวลาจะเดินกลับมายังที่ เดือนยังไม่ขึ้นไม่เห็นทาง จึงต้องรอจนกระทั่งเช้ามืด ๓ นาฬิกา ข้าพเจ้าเองนั่งเฝ้าอยู่ ฟังเสียงลิงและนก และเมื่อเดือนขึ้นก็เห็นป่านั้นสวยงามมาก ไม่ได้ระแวงคิดถึงอันตรายอาจจะเกิดจากสัตวป่าเลย แต่เมื่อเห็นเพื่อนข้าพเจ้ากลับมา ก็รู้สึกมีความยินดีมาก

การพยายามส่งวิทยุครั้งต่อมา ยิ่งประสบผลน้อยกว่าคราวแรก เพราะเหตุว่าคราวนี้เราไม่ได้ยินกองบัญชาการเลย เรารู้สึกวิตกเป็นอันมาก และข้าพเจ้าจำได้ว่า ที่ได้บอกว่า ถ้าเราไม่รีบเดินทางออกไปโดยเร็ว ชาวบ้านก็จะตามเราทัน อย่างไรก็ดีพวกเราก็วิตกกังวลถึงคณะที่ ๒ และคณะต่อ ๆ ไป ว่าจะได้รับความลำบาก ถ้าเราไม่ส่งวิทยุแจ้งให้กองบัญชาการทราบ ข้าพเจ้ารับผิดชอบและตัดสินใจว่าจะต้องพยายามส่งอีกครั้งหนึ่ง และคราวนี้เป็นคราวสุดท้ายจะส่งออกได้หรือไม่ก็ตาม เราจะต้องเดินทางไป การส่งครั้งนี้จะทำกันในเช้าวันรุ่งขึ้น คือในเช้าวันที่ ๓ หลังจากเราได้โดดร่มมา ในเวลาบ่ายวันนั้น ๆ และข้าพเจ้าเป็นออกลาดตระเวนและหาน้ำ เราได้เห็นชาวบ้านบางคน แต่รู้สึกว่าเขาไม่สงสัยอะไรเรา ในคืนนั้นเราก็พักแรมอยู่ด้วยกันนั้น

รุ่งขึ้นเวลา ๑๐ นาฬิกา ดีกับแดงก็ไปส่งวิทยุในที่ซ่อนวิทยุนั้น ข้าพเจ้านั่งยามอยู่คนเดียวเช่นเดิม เพื่อนของข้าพเจ้าไปได้ประมาณ ๕ นาที ข้าพเจ้าก็เห็นคนหลายคนเดินผ่านไปห่าง ๆ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเขาไม่ได้เห็นข้าพเจ้าในครั้งนั้น ข้าพเจ้านั่งเฝ้าคอยอยู่เป็นเวลาสักอึดใจก็มีคนเป็นจำนวนมากโผล่ขึ้นมาล้อมที่พักของเรา ชาวบ้านเหล่านั้นเข้ามาทั้งทางซ้าย ทางขวา ข้างหน้า ข้างหลัง ชูปืนพกอยู่หลายกระบอก เกมของเราสุดสิ้นลงเพียงแค่นี้ อย่างน้อยก็เกมของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะตะเบ็งเสียงขึ้นว่า “ยอมแพ้จับไปเถิด” หวังว่าเสียงที่ข้าพเจ้าตะเบ็งจะได้ยินไปถึงเพื่อน ข้าพเจ้าและทำให้เขามีเวลาหนีไป

ข้าพเจ้าแทบจะไม่สามารถเชื่อได้ว่าภายในเวลาไม่ถึง ๑ วินาที ในขณะนั้น ความคิดต่าง ๆ แล่นพลั่งเข้ามาในศีรษะของข้าพเจ้าเป็นอันมาก ตั้งแต่เวลาที่ข้าพเจ้ารู้ตัวว่ามีคนมาล้อมข้าพเจ้า จนถึงเวลาที่เขาเข้ามาถึงตัว ในสมองข้าพเจ้าได้เกิดความคิดความเห็นหลายอย่าง จนไม่ทราบว่าอะไรมาก่อนอะไรมาหลัง คิดถึงคู่รักของข้าพเจ้าที่ลอนดอน คิดถึงคำสุดท้ายของคุณมณี สาณะเสน ที่ได้กล่าวแก่ข้าพเจ้า เมื่อก่อนเราเดินทางออกจากประเทศอังกฤษ คิดถึงเพื่อนของข้าพเจ้าที่ยังอยู่ในอินเดีย คิดถึงเพื่อนอีก ๒ คนของข้าพเจ้าที่อยู่ในพุ่มไม้ใกล้เคียง คิดถึงญาติและมิตรที่อยู่กรุงเทพฯ คิดถึงสาส์นจากกองบัญชาการถึง “รู้ธ” ที่ยังอยู่ในกระเป๋าของข้าพเจ้า และคิดถึงยาพิษที่อยู่ในกระเป๋าหน้าอกของข้าพเจ้า ความคิดข้อสุดท้ายนี้เป็นความคิดที่มาหลังสุด ข้าพเจ้าควรจะกลืนยาพิษเข้าไปไหม หรือจะควรยอมให้จับเป็น ให้เขาจับตายเถิด เพราะเหตุว่าความลับที่ข้าพเจ้านำมานั้นมีอยู่มากเหลือเกิน และถ้าจะถูกจับเป็นไปก็จะทำให้ข้าพเจ้าต้องขายเพื่อน ขายความลับเหล่านั้น แต่อย่าเลยถูกจับดีกว่า เพราะเหตุว่าเอกสารต่างๆ ที่อยู่กับข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าสามารถที่จะป้องกันได้ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าตายไปเสียจะป้องกันอย่างไร ชีวิตเป็นสิ่งที่มีความสดชื่นและสวยงาม และตราบใดที่มีชีวิต ตราบนั้นก็ยังมีความหวัง ถ้าญี่ปุ่นจะทรมานข้าพเจ้า ข้าพเจ้าตายเสียเดี๋ยวนี้เห็นจะสบายดีกว่า แต่เห็นแล้วว่าไม่มีญี่ปุ่นอยู่ในหมู่คนที่จะเข้ามาจับข้าพเจ้าเลย อย่ากระนั้นเลย เมื่อปะเสือก็ต้องยอมสู้ตายเลย ให้เขาจับเป็นจะดีกว่า อย่าเพิ่งตาย

และข้าพเจ้าก็ยังคงมีชีวิตอยู่ เมื่อได้ผ่านความคิดเห็นเรื่องความตายมาในสมองแล้ว ข้าพเจ้าก็สามารถที่จะเห็นแง่ขันบางอย่าง ในขณะที่ข้าพเจ้าถูกจับ คนที่อยู่ข้างหน้าข้าพเจ้ามีปืนพกแต่งเครื่องแบบตำรวจ โดดเข้ามาถึงข้าพเจ้าแบบที่เห็นกันอยู่บนโรงลิเก เขาไม่ได้ร้องเพลงลิเกแต่ร้องเสียงว่าอะไรฟังไม่ออก มีอีกหลายคนที่ซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ และไม่ยอมออกมาจนกว่าข้าพเจ้าจะยกมือขึ้นแสดงให้เห็นว่าไม่มีอาวุธติดตัวเลย ผู้ที่เข้ามาจับข้าพเจ้าในขั้นแรกมีประมาณ ๕ หรือ ๖ คน แต่ต่อมาสักหนึ่งนาทีหลังจากข้าพเจ้าได้ยอมแพ้ เห็นมีประมาณ ๓๐ คน เข้ามัดมือข้าพเจ้าไพล่หลังด้วยผ้าขาวม้า ต่อไปนี้ก็เป็นเวลาที่ผู้จับข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเขาพูดว่าอย่างไรบ้าง เพราะต่างคนต่างก็พูดพร้อมๆ กัน แต่คนที่ใกล้ข้าพเจ้าที่สุดดูเหมือนจะบอกข้าพเจ้าว่าครอบครัวของข้าพเจ้าเป็นสัตว์ชั้นต่ำ และพ่อแม่ของข้าพเจ้าคงไม่แต่งงานกัน ข้าพเจ้าเคราะห์ดีที่ยอมแพ้ มิฉะนั้น......ฯลฯ คนที่เข้ามาทีหลังเมื่อได้เห็นแน่ชัดว่า มือของข้าพเจ้าถูกมัดไพล่หลังแล้ว ก็หาความสนุกด้วยการตบตีข้าพเจ้า และถือโอกาสสั่งสอนข้าพเจ้าด้วยถ้อยคำอันหยาบคาย ข้าพเจ้าไม่ได้กล่าวโต้ตอบสักคำเดียว ความจริงข้าพเจ้าตื่นเต้นและอื้อไปหมด เพราะเหตุว่า ข้าพเจ้าพะวงอยู่แต่ในเรื่องปัญหาว่าเพื่อนข้าพเจ้าถูกจับหรือเปล่า ในไม่ช้าก็รู้สึกเบาใจไปบ้าง ที่ไม่เห็น ๒ คนนั้นถูกจับมา ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะแบกวิทยุรวมกลุ่มอยู่ และนอกจากนั้นไม่ได้ยินเสียงปืนเลย จึงเป็นที่เบาใจ

ข้าพเจ้าทราบความทีหลังว่า แดงและดีได้ยินเสียงคนมาจับข้าพเจ้า จึงวิ่งหนีไปก่อนที่จะมีใครได้เห็น เขาทั้งสองเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในอีกส่วนหนึ่งของป่าจนกระทั่งถึงเวลากลางคืน และในคืนนั้นได้เดินทางไปยังที่ที่เราได้กำหนดนัดพบกันไว้ ถ้าเผื่อเราคลาดกัน หวังว่าถ้าข้าพเจ้าหนีไปได้ข้าพเจ้าก็คงจะได้ไปคอยที่นั่น แต่เมื่อไม่พบข้าพเจ้า เขาก็เดินทางต่อไปทางภาคเหนือ เข้าไปยังจังหวัดอุทัยธานี และในไม่ช้าก็ถูกจับระหว่างที่กำลังรับประทานอาหารอยู่ในตลาด เพราะไม่ได้สวมหมวก

ผู้ที่มาจับข้าพเจ้ามีหัวหน้า ๒ คน เป็นปลัดอำเภอประจำตำบลมีพลตำรวจ ๒ คน นอกจากนั้นเป็นชาวนาที่หน้าตารื่นเริงและมีใจกรุณา ท่านเหล่านี้ได้พาข้าพเจ้าออกจากป่าไปยังหมู่บ้านวังน้ำขาว เมื่อจะถึงชายหมู่บ้าน ได้มีผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ที่จับข้าพเจ้า ได้มารวมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนายอำเภอวัดสิงห์ ซึ่งเป็นคนเดียวที่ขี่ม้า ผู้ที่อารักขาข้าพเจ้าอยู่มีจำนวน ๒-๓ ร้อยคน ส่วนมากเป็นชาวนาจากหมู่บ้านต่าง ๆ ใกล้เคียง ในหมู่คนเหล่านั้นข้าพเจ้าสังเกตได้ว่ามีสหายเก่าของเรา ๒-๓ คน คือคนตัดไม้ที่เราได้พบในคืนวันแรก ข้าพเจ้าทราบความต่อมาว่า หลังจากที่เขาได้ผละจากเราไปแล้ว ได้แจ้งความยังอำเภอวัดสิงห์ และทางอำเภอจึงได้เกณฑ์ชาวบ้านออกมาตามจับเรา เขาเข้าใจว่าเรามี ๔ คน และพยายามจะซักถามให้ข้าพเจ้าบอกว่าอีก ๓ คนนั้นหนีไปอยู่ที่ไหน

เมื่อนายอำเภอได้พบข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าได้ถูกนำตัวโดยที่มีมือมัดไพล่หลังอยู่ตลอดเวลา ไปยังศาลาวัดวังน้ำขาว ณ ที่นั้นเขาล่ามโซ่ข้าพเจ้าไว้ที่เท้า ผูกไว้กับเสากลางศาลา เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ได้พยายามต่อสู้หรือหลบหนี เขาก็ยอมให้ข้าพเจ้าไม่ต้องถูกมัดมือ ข้าพเจ้าได้ยินเจ้าหน้าที่ถกเถียงกันอยู่บ้าง และรู้สึกว่าความเห็นของเจ้าหน้าที่ในเรื่องข้าพเจ้านั้นแตกแยกกันออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นนักโทษอุกฉกรรจ์ เป็นคนทรยศต่อชาติ พยายามทำลายชาติและฆ่าเพื่อนร่วมชาติด้วยกัน อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกจะเป็นจำนวนเท่า ๆ กับฝ่ายแรก มีความกรุณา และหลังจากที่ข้าพเจ้าได้บอกเขาโดยไม่ได้บอกชื่อของข้าพเจ้าเอง ว่าข้าพเจ้าเป็นนักเรียนของรัฐบาล ที่รัฐบาลส่งไปอังกฤษ เขาก็เชื่อข้าพเจ้า และตั้งคำถามข้าพเจ้าหลายข้อด้วยกัน ถึงเรื่องอนาคตและสถานะแห่งสงคราม ในฝ่ายหลังนี้ปลัดอำเภอประจำตำบลคนหนึ่งท่าทางเรียบร้อย มากระซิบกับข้าพเจ้าด้วยถ้อยคำสุภาพทำให้เป็นที่ปลาบปลื้มยินดีจับใจนัก ตรงกันข้ามมีปลัดอำเภอประจำตำบลอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีใจกระด้างได้ตะคอกแก่ชาวบ้านต่าง ๆ ให้ออกไปห่างๆ ข้าพเจ้า เพราะว่าข้าพเจ้าเป็นกบฎรุนแรง ใจเหี้ยมอำมหิต จะอยู่ต่อไปไม่ได้กี่วันแล้ว ในหมู่ชาวบ้านนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเขามีความเมตตากรุณาทั่ว ๆไป ไม่ใช่เพราะว่า เขารู้เรื่องการเมืองหรือการสงคราม แต่เพราะเหตุว่าน้ำใจอันดี และซื่อตามธรรมชาติของเขา พาให้เขามองข้าพเจ้าเป็นเพื่อนมนุษย์ และเป็นเพื่อนมนุษย์ที่กำลังได้ทุกข์อยู่ และถึงแม้จะมีคนที่ไม่แยแสกับอะไรทั้งสิ้น ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเกลียดชัง นอกจากจะอยากรู้อยากเห็น ข้าพเจ้าสังเกตว่า ทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้านอย่างน้อยก็เลื่อมใสอยู่ข้อหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าได้โดดร่มลงมาจากเครื่องบินทิ้งระเบิด ๔ เครื่องยนต์ ซึ่งข้าพเจ้าได้วาดภาพให้เขาดู บอกว่าใหญ่เท่ากับโบสถ์แต่ไม่สูงเท่า

อาหารกลางวันและอาหารเย็นในวันนั้น ชาวบ้านนำเอามาให้แก่เจ้าหน้าที่และข้าพเจ้า ถึงแม้ว่าใจคอข้าพเจ้าจะไม่สู้ดีนัก อาหารเหล่านั้นก็อร่อยและข้าพเจ้าก็รับประทานอย่างเต็มที่ ในตอนบ่ายชาว บ้านที่มาจากหมู่บ้านอื่น ๆ ได้ขึ้นมาบนศาลา มาดูพลร่ม เขานั่งล้อมวงไม่ใกล้ข้าพเจ้านัก เพราะเหตุว่าเจ้าหน้าที่ที่เกลียดชังข้าพเจ้า ไล่ให้เขาออกไปห่างๆ อยู่เสมอ และพอตกบ่ายเจ้าหน้าที่บางคนก็ม่อยหลับไป ชาวบ้านจึงได้กระเถิบเข้ามาใกล้เข้าทุกที และเริ่มซักถามข้าพเจ้า ในหมู่ชาวบ้านหน้าซื่อเหล่านี้มีหญิงผู้หนึ่งอายุค่อนข้างมาก ข้าพเจ้าสังเกตว่าแกนั่งใกล้ข้าพเจ้าอยู่นานถึง ๒ ชั่วโมงไม่ไปไหนและนั่งเอามือกอดเข่า เมื่อคนที่มาดูข้าพเจ้าค่อยบางตาไปบ้างแล้ว หญิงชราผู้นั้นก็พูดกับข้าพเจ้าเสียงแปร่ง ๆ ว่า พุทโธหน้าเอ็งเหมือนลูกข้า ข้าพเจ้าถามว่า ลูกของป้าอยู่ไหน ได้รับคำตอบว่า ถูกเกณฑ์ทหารไปนานแล้ว ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหน เสียงอันเยือกเย็นซึ่งแสดงถึงน้ำใจของหญิงผู้นี้ ทำให้ข้าพเจ้าตื้นตัน และรู้สึกว่าได้มีรสหวานอันเป็นรสแห่งความรักของมารดาห้อมอยู่ในศาลานั้น

คืนวันนั้นข้าพเจ้านอนหลับสนิท เพราะเพลียทั้งร่างกายและจิตใจ รุ่งขึ้นเวลาสางชาวบ้านได้นำเอาเกวียนมารอข้าพเจ้า เพื่อจะนำไปยังที่ตั้งอำเภอวัดสิงห์ ข้าพเจ้านั่งมาในเกวียนข้อเท้าล่ามโซ่ติดอยู่กับเกวียนและมีตำรวจ ๒ คนนั่งเกวียนมาด้วย ชาวบ้านประมาณ ๑๒ คนเดินเป็นองครักษ์อยู่ข้างๆ เกวียน เกวียนที่ใส่ของสัมภาระของเรา รวมทั้งเครื่องวิทยุ ได้ออกเดินทางไปล่วงหน้า ตำรวจในขณะนั้นรู้สึกว่าจะมีจิตใจเป็นมิตร และพยายามที่จะทำให้ข้าพเจ้าได้รับความสบายมากที่สุดที่จะทำได้โดยไม่ขัดกับข้อบังคับ ประมาณ ๗ น. ขบวนของเราหยุดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เพื่อรับประทานอาหารเช้า รู้สึกว่าพวกชาวบ้านรู้ตัวจึงคอยเตรียมอาหารไว้ และเห็นจะไม่มีใครในหมู่บ้านที่ไม่มาดูข้าพเจ้า ตำรวจทั้ง ๒ คนนั้นหยอกล้อหญิงสาว ถามว่าเมื่อได้เห็นพลร่มแล้วรู้สึกรักบ้างไหม คำตอบมักจะไม่เป็นไปในทางปฏิเสธ อาหารนั้นอร่อยมาก มีแกงบะฉ้อปลา ผักและน้ำพริก ชาวบ้านได้เอาเหล้ามาเลี้ยง และตำรวจก็เชิญให้ข้าพเจ้าดื่มด้วย และกล่าวว่าข้าพเจ้าจะไม่มีโอกาสลิ้มรสเหล้านั้นอีกเป็นเวลานาน ข้าพเจ้ารู้สึกสนุก ถึงแม้ว่า ๗ นาฬิกาในเวลาเช้า จะเช้าเกินไป สำหรับการดื่ม เป็นจริงดังที่ข้าพเจ้าได้คาด มีชาวบ้านหลายคนมาห้อมล้อมเกวียนของข้าพเจ้าและมาคุยด้วย ถามถึงเครื่องบิน การทิ้งระเบิด และสงคราม รู้สึกว่าเขาดีใจที่ได้ยินจากข้าพเจ้าว่าญี่ปุ่นกำลังจะแพ้ และจะเลิกสงครามในเร็ว ๆนี้ และรู้สึกว่าชาวบ้านเหล่านั้นไม่ได้เกลียดชังอะไร ข้าพเจ้าได้ยินบางคนตะโกนว่า อะไรกัน คนไทยเหมือนเรานี่เอง และเมื่อขบวนของข้าพเจ้าออกจากหมู่บ้าน ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงไชโยจากเพื่อนมนุษย์เหล่านั้นหลายครั้ง

เราหยุดรับประทานอาหารกลางวัน ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง และข้าพเจ้าได้รับการต้อนรับทำนองเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ต้อนรับชาวบ้านเช่นเดียวกันกับคราวก่อน คือ ตอบคำถามของเขาในเรื่องต่างๆ และรู้สึกว่าพูดได้คล่องกว่าคราวก่อน ก่อนที่เราจะออกเดินทางบ่ายวันนั้น มีชายคนหนึ่งซึ่งกำลังพูดอยู่กับข้าพเจ้า เห็นไม่มีใครมอง เอาว่านชิ้นหนึ่งใส่มือข้าพเจ้าแล้วกระซิบว่า เก็บเอาไว้ให้ดี ไม่เป็นอันตราย ดูที่หน้าผากแล้วเห็นจะทำงานสำเร็จ ทำใจให้ดีๆ ไว้ ไม่เป็นอะไร

ประมาณ ๑๖ น. เราหยุดที่หมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง ใหญ่กว่าหมู่บ้านอื่น ๆ ที่เราได้ผ่านมา ประชาชนที่มาถามข้าพเจ้า มีความรู้มากกว่าพวกก่อน ๆ มีพระสงฆ์อยู่หลายรูป ครู และมีอีกหลายคนที่เคยไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ พอตกเย็นเราก็ถึงวัดสิงห์ และเกวียนก็นำข้าพเจ้าไปยังสถานีตำรวจ เมื่อก่อนจะเข้าเขตอำเภอวัดสิงห์ ตำรวจ ๒ คนผู้คุมข้าพเจ้าซึ่งเวลานั้นสนิทชิดชอบกันมาก เอาเงินรวมกันได้ ๑๒ บาทส่งให้ข้าพเจ้าและบอกว่า ข้าพเจ้าจะใช้เป็นประโยชน์ได้ใน ๒-๓ วันข้างหน้า ตำรวจทั้ง ๒ นี้ ในวันรุ่งขึ้นได้เอาไข่ต้มมาให้ข้าพเจ้ารับประทานในกรงขัง และบอกว่าอาหารที่ราชการให้ข้าพเจ้า คงจะพอสำหรับทำให้หิวต่อไปอีก

ในทันทีทันใดที่เราได้เดินทางถึงสถานีตำรวจ สภาพการเป็นนักโทษของข้าพเจ้าก็แปรไปเป็นทางการ ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้เข้าไปในกรงขัง ซึ่งเราเห็นกันอยู่ทุกแห่งตามสถานีตำรวจทั่วราชอาณาจักร กรงนั้นเป็นรูปหกด้าน กว้างยาวประมาณ ๑๐ ฟุต เป็นกรงเหล็กรอบด้าน เว้นแต่ด้านพื้นดิน เมื่อข้าพเจ้าไปถึงมีผู้อาศัยอยู่คนหนึ่งแล้ว เป็นชายรูปร่างกำยำล่ำสัน ผิวคล้ำ เช่นเดียวกับชาวนาอื่น ๆในประเทศ รู้สึกหน้าตาชื่นบาน ยิ้มปากกว้างให้เห็นฟันขาว ชายผู้นั้นยังรู้สึกว่าชื่นบานถึงแม้ว่าจะถูกกล่าวหาในข้อที่สำคัญ คือเขาได้ทะเลาะกับลูกพี่ลูกน้องในงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง มึนเมาเข้าไป “ชกเข้าไปทีหนึ่ง กระทืบหนึ่งหนที่กลางอกเขาก็ตาย” เพื่อนร่วมกรงของข้าพเจ้าได้ทราบล่วงหน้าว่าข้าพเจ้าถูกจับ และปรากฏว่าเขารู้สึกยินดีในเอกสิทธิ์ที่ได้เห็นพลร่มในระยะใกล้ชิด และได้มีการสนทนาปราศรัยในทำนองเดียวกับที่ได้เคยเป็นมา หลังจากนั้นครึ่งชั่วโมง มีนักโทษคนที่สามถูกจับมา คนนี้เป็นชายชาวกรุงเทพ ฯ ถูกจับด้วยข้อหาว่าพยายามทำจารกรรม ชายผู้นี้ได้มาถึงวัดสิงห์เมื่อ ๓-๔ วันก่อน ตั้งใจจะมาหาแร่ในบริเวณวังน้ำขาว ซึ่งเป็นหมู่บ้านเดียวกับที่เรากระโดดร่มลงมา เขาพยายามหาคนงานหาเกวียนจะเดินทางไปสำรวจแร่ พอดีตำรวจทราบเรื่องก็เลยสงสัยว่าคงจะเกี่ยวกับพลร่ม ผู้ต้องหานี้ได้คัดค้านอย่างมาก เแต่ไม่เป็นผล และใครจะมารู้ดีไปกว่าข้าพเจ้า ว่าชายผู้นี้ไม่มีความผิดเลย ในกาลต่อมา ข้าพเจ้าพบชายผู้นี้อีกหลายครั้ง ที่กองตำรวจสันติบาลในกรุงเทพฯ เป็นเวลานาน ๔ เดือน หลังจากที่เขาถูกจับ เพราะเหตุว่าชายผู้นี้ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้เลยเป็นเวลานาน แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานประกอบแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

ในเวลาเย็นและค่ำวันนั้น ชาวบ้านอำเภอวัดสิงห์ ก็เข้ามารวมอยู่ในสถานีตำรวจ เพื่อดูหน้าพลร่ม ตำรวจแสดงว่าพยายามจะห้ามไม่ให้เข้ามา แต่เนื่องจากตำรวจก็อยากอนุญาตให้ญาติมิตรของตน และญาติมิตรของเพื่อนฝูงของตนได้เข้ามาชมสิ่งประหลาดด้วย ในไม่ช้าสถานีตำรวจนั้นก็เต็มไปด้วยราษฎรผู้อยากรู้อยากเห็นของอำเภอวัดสิงห์ ผู้เยี่ยมเยียนเราเหล่านี้มิได้ระงับปากเสียงเกี่ยวกับพลร่มเลย บางคนก็รู้สึกเกลียดชังโกรธแค้น แต่บางคนก็เมตตา ผู้ต้องหาเคยฆ่าคนตายกับข้าพเจ้ารู้สึกสนุกบ้าง ในการที่มีคนมาดู แต่นักหาแร่ของเราไม่สามารถที่จะกลั้นความทุกข์ร้อนของตนได้ นักค้นแร่นี้เป็นคนเดียวที่บริสุทธิ์ ไม่มีความผิด ส่วนเราทั้งสองคนนั้นถูกจับในขณะกระทำผิด ราษฎรบางคนดูไม่เข้าใจว่าคนใดในสามคนนี้เป็นพลร่ม และเมื่อเขาถามกันอย่างดังๆ ข้าพเจ้าก็เลยชี้ว่านักโทษฆ่าคนตาย คือพลร่ม นักโทษฆ่าคนตายก็ชี้นักค้นแร่ว่าเป็นพลร่ม แต่นักค้นแร่ไม่พูดว่ากระไร นั่งหน้าเศร้าอยู่ ต่อวันรุ่งขึ้นจึงเริ่มพูดจาวิสาสะบ้าง แต่พูดอยู่กับพวกเราเท่านั้น ไม่พูดกับคนอื่น เผอิญแกเป็นคนเรียนทางหมอดู แกเลยดูลายมือของข้าพเจ้าแล้วบอกว่าชะตายังไม่ถึงฆาต ส่วนเส้นลาภในมือนั้นปรากฏชัด สำหรับชะตาของแกเองนั้นไม่สู้ดี

ในบ่ายวันรุ่งขึ้น ข้าหลวงประจำจังหวัดชัยนาทได้เดินทางมาถึงพร้อมด้วยครอบครัว และมีผู้กำกับการตำรวจกับผู้พิพากษามาด้วย และต่อจากนั้นอีกหนึ่งชั่วโมง เราทั้งสามคนก็ออกเดินทางไปกับข้าราชการผู้ใหญ่เหล่านั้น เพื่อไปสู่ชัยนาท ระหว่างทางตั้งแต่สถานีตำรวจนถึงท่าเรือยนต์ ทั้งสามคนถูกล่ามโซ่ติดกันเป็นพวง (นักค้นแร่ดูเหมือนจะเป็นคนหน้าบางสักหน่อย) ท่านข้าหลวงประจำจังหวัดรู้สึกกระดากที่ต้องเอาโซ่มาล่ามข้าพเจ้า ผู้ซึ่งเป็นนักเรียนที่รัฐบาลส่งไปเรียนเมืองนอก จึงได้มาบอกข้าพเจ้าล่วงหน้าก่อนจะออกเดินทาง “หวังว่าคงจะไม่รังเกียจ” ตลอดทางที่ไปสู่ท่าเรือยนต์ ประชาชน พากันออกมาดูนักโทษเป็นครั้งสุดท้าย เฉพาะอย่างยิ่ง นักโทษพลร่ม มีบางคนที่ข้าพเจ้าจำได้ว่าเป็นนักเรียนกฎหมาย ได้มาดูข้าพเจ้าเมื่อวันก่อน และเมื่อข้าพเจ้าผ่านหน้าเขา เขาก็โบกมือต้อนรับ

ที่จังหวัดชัยนาท ข้าพเจ้าถูกแยกตัวจากเพื่อนนักโทษ นำตัวไปที่จวนข้าหลวง อยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง ระหว่างนั้น ข้าพเจ้าขออนุญาตอาบน้ำ ท่านข้าหลวงก็อนุญาตโดยให้สัญญาว่าจะไม่พยายามหลบหนี ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสโกนหนวดเคราโดยใช้มีดโกนของข้าพเจ้ายี่ห้อ Roll Razor (เวลาจะลับมีดโกนชนิดนี้มีเสียงดังคล้าย ๆ จุดประทัด) ในทันใดนั้นประตูห้องน้ำก็ถูกผลักดันเปิดออก และมีคนวิ่งเข้ามา เขาว่าเขาได้ยินเสียงปืนกล ความจริงไม่ใช่อื่นเลย เสียงข้าพเจ้าลับมีดโกนนั่นเอง หลังจากอาบน้ำแล้ว ข้าพเจ้าได้รับประทานอาหารเอร็ดอร่อย ครั้นแล้วผู้กำกับการตำรวจก็มาถึง พร้อมด้วยอัยการจังหวัด เพื่อจะสอบสวนทั่วไปในชั้นแรก ข้าพเจ้าได้ให้ชื่อข้าพเจ้าในครั้งนั้น และความประสงค์อันแท้จริงที่เข้ามาทำราชการ แต่มิได้บอกว่าเพื่อนของข้าพเจ้ามีอยู่กี่คนในกองทัพอังกฤษ และแน่ละ ข้อความลับทั้งมวล ข้าพเจ้าก็ไม่เปิดเผย ผู้ซักถามข้าพเจ้าในครั้งแรกก็ถามอย่างอ่อนโยน แต่เมื่อมาถึงปัญหาที่สำคัญ ๆ และข้าพเจ้าดิ้อดึงไม่ยอมตอบ ก็รู้สึกชักเคือง ๆ แต่ก็หาได้กระทำการอย่างใดกับข้าพเจ้าไม่ เวลา ๒๒.๐๐ น. ค่ำวันนั้น เป็นอันว่าการสอบสวนชั้นแรกนี้ได้สิ้นสุดลง และข้าพเจ้าได้ถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจในจังหวัดนั้น เพื่อขังไว้หนึ่งคืน

เมื่อข้าพเจ้าไปถึงสถานีตำรวจ มีเพื่อนร่วมกรงอยู่แล้วประมาณ ๑๒ คน ในนั้นมีหลายคนที่รู้สึกว่ามีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี เขากำลังนอนกัน และพื้นของกรงขังก็พอดี ๆ กับจำนวนคนอยู่แล้ว เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเพิ่มอีกคนหนึ่งก็ต้องมีคนใดคนหนึ่งปีนขึ้นไปอยู่ยอดกรง เพื่อนร่วมกรุงทุกคนลงความเห็นว่า ควรจะให้เด็กคนหนึ่งขึ้นไปเสียชั้นบน แม้ว่าข้าพเจ้าจะขอขึ้นไปเอง ภายหลังข้าพเจ้าจึงทราบว่า ทำไมเขาถึงยัดเยียดให้คนนั้นขึ้นไปเสียชั้นบน ไม่มีใครอยากจะให้แกเข้าใกล้ เพราะแกเป็นโรคผิวหนัง ข้าพเจ้าไปนอนแทนที่แก และตัวแกก็ขึ้นไปอยู่ชั้นบนตรงศีรษะข้าพเจ้าพอดี เด็กคนนี้เกาตลอดคืน และมีสะเก็ดหล่นลงมาบนตัวข้าพเจ้า คืนนั้นข้าพเจ้านอนไม่หลับ เพราะเหตุที่เด็กเกาหนวกหู กับมีตัวเรือด มียุง มีมด และถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะสวมเสื้อผ้าคลุมร่างกายได้ทั้งตัว แต่ศีรษะจนถึงเท้า ก็ไม่ช่วยอะไรได้มากมายนัก

เช้าวันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าถูกย้ายไปอยู่ที่เรือนจำจังหวัดชัยนาท มีแพทย์เป็นผู้ควบคุม แพทย์ผู้นี้ก็เป็นนักโทษนั่นเอง โทษฐานฆ่าคนตาย ต้องจำคุกตลอดชีวิต แต่เนื่องด้วยมีการพระราชทานอภัยโทษ (งานเฉลิมพระชนมพรรษา งานขึ้นปีใหม่ ฯลฯ) จึงใกล้กำหนดที่จะปลดปล่อยออกไป และเนื่องจากแกเป็นคนที่มีความประพฤติดีกับมีความรู้ทางหมออยู่บ้าง จึงได้เป็นผู้รับผิดชอบใน “โรงพยาบาล” ของเรือนจำ โรงพยาบาลนี้จะว่าเป็นโรงพยาบาลไม่ได้ เพราะไม่เห็นมียา ส่วนคนไข้ก็นอนอยู่บนพื้น คอยให้ธรรมชาติบำบัดไข้หรือบั่นทอนชีวิตไป คนไข้ส่วนมากเป็นโรคไข้จับสั่น หมอนั่นเป็นคนที่มีนิสัยดี แต่ทำอะไรให้คนไข้ไม่ได้ นักโทษบางคนถูกที่ตรวนที่ข้อเท้า พวกนี้เป็นพวกที่ได้รับโทษอย่างหนัก และเพิ่งเข้ามารับโทษ ถ้าอยู่นานสักหน่อยและแสดงตนว่ามีความประพฤติดี ก็ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องตีตรวน มีอยู่หลายคนที่ได้รับอนุญาตให้ไปทำงานทำถนนที่นอกเรือนจำ นักโทษที่ดีที่สุดได้รับการยกเว้น ไม่ต้องทำงานอะไรเลย และได้รับอนุญาตให้ออกไปเที่ยวในเมืองได้ในเวลากลางวัน แต่ต้องกลับมานอนในเรือนจำ มีบางคนที่หัดอ่านและเขียนหนังสือในเรือนจำ และบางคนก็หัดทำการจักสานและงานฝีมืออย่างอื่น มีเรือนหนึ่งพิเศษสำหรับผู้หญิงซึ่งผู้ชายเข้าไปไม่ได้ และมีคนบอกข้าพเจ้าว่านักโทษผู้หญิงกับนักโทษผู้ชายบางคน เมื่อออกไปแล้ว ก็ไปแต่งงานกัน ก็มี นักโทษเหล่านั้นรับประทานข้าวแดงและแกงซึ่งมีแต่ผัก วันละสองครั้ง นักโทษที่มีความประพฤติดี อาจจะไปจับปลามาได้แล้วเอามาต้มเอาเอง มีบางคนที่ทางบ้านส่งเสียอาหารให้ก็มี ข้าวแดงนั้นฝืดคอเกินไปสำหรับคนใหม่อย่างข้าพเจ้า และถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะพยายามกลืนแบบเดียวกับคนอื่น ก็ยังรู้สึกว่าต้องการน้ำแกงมากมายที่จะช่วยให้ผ่านลำคอลงไปได้ ในเวลานี้เอง ที่เงิน ๑๒ บาท ที่ตำรวจได้ให้ไว้ได้มีประโยชน์ เพราะข้าพเจ้าใช้ซื้อขนมรับประทาน และพัสดีเรือนจำก็ยังมีความเมตตา คือ ส่งข้าวขาวมาให้ข้าพเจ้าพร้อมด้วยไข่และแกงได้รับประทานทุกมื้อ อาหารเหล่านั้นข้าพเจ้าแบ่งรับประทานรวมกับหมอ และนักโทษอื่น ๆ ซึ่งเป็นผู้ช่วยหมอ

ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าข้าพเจ้าอยู่ในเรือนจำนั้นกี่วัน อาจจะเป็นระหว่างสามวันกับหนึ่งสัปดาห์ เช้าวันหนึ่งข้าพเจ้าถูกเรียกตัวไปที่สถานีตำรวจ เข้ากรงขังที่ข้าพเจ้าเคยเข้ามาแล้ว และในราว ๑๑.๐๐ น. วันเดียวกันนั้น ข้าพเจ้าก็ขึ้นเรือยนต์เดินทางมาสู่กรุงเทพฯ มีผู้กำกับการตำรวจควบคุมมา ในเรือนั้นมีนักโทษอยู่คนหนึ่ง ถูกล่ามโซ่อยู่กับข้าพเจ้า เขาเคยเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลโรคจิตที่ปากคลองสาน แต่ได้หลบหนีไป และในระหว่างที่หลบหนีไปนั้นได้ไปฆ่าพระสงฆ์รูปหนึ่งตาย เขาบอกข้าพเจ้าว่าไม่บ้าหรอก และข้าพเจ้าเองก็มองไม่เห็นอาการเป็นบ้าอย่างใดเลย ข้าพเจ้าอยากทราบว่าเรื่องของเขาเป็นไปอย่างไรในเวลาต่อไป

ผู้กำกับการตำรวจ ผู้ควบคุมข้าพเจ้า ชอบนำตัวข้าพเจ้าแสดงแก่เพื่อนของท่านเป็นจำนวนมาก ตลอดทางในเวลากลางคืน ข้าพเจ้าก็ถูกนำตัวขึ้นจากเรือไปขังไว้ที่สถานีตำรวจ เพื่อนร่วมกรงขังของข้าพเจ้าทุกแห่งมีเรื่องแปลก ๆ น่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่ข้าพเจ้าไม่สามารถจะนำมาเล่าให้ฟังในที่นี้ เพราะจะทำให้ยืดยาวเกินไปนัก ในเช้าวันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้ารับประทานข้าวต้มของข้าหลวงประจำจังหวัดอ่างทอง ท่านผู้นี้กล่าวว่าเราก็เหมือนกับคนเล่นงิ้ว เรารบกันสักหน่อย แล้วพอเลิกก็มากินข้าวต้มกัน ในคืนวันสุดท้ายข้าพเจ้านอนอยู่สถานีตำรวจนนทบุรี และในวันรุ่งขึ้นก็ออกมายังกรุงเทพฯ

ตั้งแต่แรกมาจนถึงบัดนี้ ไม่ว่าข้าพเจ้าจะถูกนำตัวไป ณ ที่ใด มักจะมีคนได้ยินเรื่องข้าพเจ้า และออกมาดูพลร่ม แต่ที่กรุงเทพ ฯ รู้สึกว่าไม่มีใครสังเกตเห็นเรือตำรวจเล็ก ๆ ซึ่งนำข้าพเจ้ามา และเมื่อข้าพเจ้าขึ้นบกที่ท่าช้าง ซึ่งห่างจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่กี่ก้าว ข้าพเจ้ามองหาใครที่รู้จักสักคนหนึ่งก็ไม่มี เมื่อรออยู่ที่ท่าน้ำสักสองชั่วโมง ก็มีรถตำรวจมารับ และนำข้าพเจ้าไปกองตำรวจสันติบาล ณ ที่นั้นข้าพเจ้าทราบว่า “แดง” และ “ดี” ได้มาถึงเมื่อวันก่อน และในไม่ช้าข้าพเจ้าก็ได้พบเพื่อนทั้งสองคนนี้ และได้คุยกันในเวลารับประทานอาหารกลางวัน

ในไม่ช้าจำนวน “นักโทษสงคราม” ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนหน้าพวกเรา ๓ คนนั้น มีจีน ๒ คนพูดไทยได้ ซึ่งเป็นผู้ที่รอดตายมาจากคณะซึ่งโดดลงที่นครปฐม (ซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวถึงในตอนต้น เพื่อนของเขา ๑ คน ถูกฆ่าตาย และอีกคนหนึ่งหลบหนีไปได้) หลังจากข้างขึ้นเดือนต่อไป Appreciation ที่ ๒ (เค็ง ขำ และกร) ก็ได้มาถึงโดยสวัสดิภาพ (คือถูกจับมาเหมือนกับพวกเรา) ต่อมามีจีนอีก ๒ คน ผู้รอดตายมาจากจำนวน ๕ คน ซึ่งขึ้นบกจากเรือใต้น้ำในทางภาคใต้ของประเทศไทย ต่อจากนั้นไปคนไทยจากอเมริกาก็ถูกจับเข้ามาเรื่อย ๆ คราวละ ๒ คน ๑ คน และ ๕ คน ตามลำดับเวลา คนไทยจากอเมริกานี้ บางคนเดินทางบกจากยูนนาน บางคนเข้ามาทางเรือบินทะเลจากโคลอมโบ มีนักเรียนไทย ๒ คน จากอเมริกาถูกฆาตกรรมหลังจากที่ได้ถูกจับในภาคอีสาน พวกเรา “ช้างเผือก” ๖ คนรู้สึกขอบคุณในโชคชะตาที่ไม่ได้เสียชีวิตเลย เนื่องจากจำนวนนักโทษเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้น เราจึงถูกย้ายจากกรงขังที่ตึกสันติบาล ออกมาอยู่บ้านพักตำรวจภายในบริเวณสันติบาลนั้น ต่อมามีพวกเรามาจากอังกฤษเข้ามาอีก ๒ คน ไม่ได้ถูกจับ แต่เข้ามาอาศัยอยู่กับพวกเรา คือ นายสวัสดิ์ ศรีสุข (เรเวน) กับนายจุ้นเคง รินทกุล (พงษ์) ในตอนสุดท้าย เราได้รับอนุญาตให้เดินเล่นได้ ในบริเวณของกองตำรวจ สันติบาล และได้เงินเบี้ยเลี้ยงมากขึ้น ทำให้พวกเราสามารถอยู่ดีกินดีขึ้น จนกลายเป็นเจ้าจำนำของร้านค้าในกองตำรวจสันติบาล (ในระหว่างนี้พวกเราได้ถูกญี่ปุ่นสอบสวน โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเข้าร่วมคุ้มครองพวกเราด้วย เรื่องการสอบสวนนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ อุโฆษสาร ปี ๒๔๙๕ ชื่อเรื่องว่า “มุสาวาทาเวรมณี” จึงขอระงับไม่นำมากล่าว)

การที่เราจะติดต่อทางวิทยุกับกองบัญชาการ ในอินเดียได้นั้น ได้อาศัยความช่วยเหลือ จากเสรีไทยผู้ใหญ่และผู้น้อยภายในประเทศ เป็นอันมาก บางคนยอมสละ ถึงกับให้ใช้บ้านเป็นสถานีวิทยุ เวลา กลางวันพวกเราอยู่ในสันติบาลในฐานเป็นนักโทษ ใช้เวลาอ่านหนังสือ ตำรวจบ้าง หนังสืออ่านเล่นบ้าง เลี้ยงปลากัดบ้าง (เด็ก ๆ ลูกตำรวจ ชอบ) เตะตะกร้อข้าง (ผู้ใหญ่ตรวบางคนชอบ) ชุดกทำการ สุขาภิบาลในเขตบ้านบ้าง อะไรเหล่านี้ เพื่อไม่ให้มีพิรุธว่าในเวลา กลางคืนพวกเราออกไปส่งวิทยุได้

แต่การติดต่อทางวิทยุนั้น ลำบากยากแสน เพราะเหตุว่ากองบัญชาการเข้าใจว่าเราถูกจับไปแล้ว จึงไม่ติดต่อมาตามกำหนดนัดหมาย เราพยายามอยู่เป็นเวลาหลายเดือน ผลสุดท้ายจึงได้ส่งคน ถือหนังสือไปทางบก ไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทหารอังกฤษที่จุงกิง และอีกด้านหนึ่งเราก็ใช้วิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการแต่งบทความสนทนาที่มีความนัย อ้างถึงชื่อปลอมของพวกเรา (ซึ่งไม่มีใครรู้ในประเทศไทย) และขอร้องให้พวกเรา “ช้างเผือก” ในอินเดียคอยฟังวิทยุลับของพวกเราด้วย พวกเราในสันติบาลได้ผลัดเวรกันไปส่งและรับวิทยุทุกคนแต่ไม่มีผล นักวิทยุกลับมารายงานเป็นประจำว่าไม่ได้ยินเสียงจากอินเดีย จนกระทั่งถึงต้นเดือนกันยายน เมื่อหนังสือที่ส่งออกไปทางบกประกอบกับข้อความสนทนาที่ส่งโดยวิทยุของกรมโฆษณาการได้ถึงหูพวกเราในอินเดีย ทางอินเดียจึงได้เริ่มติดต่อมา ในคืนวันที่ติดต่อนั้น พวกเรานอนไม่หลับเพราะปลื้มปิติยินดีเหมือนกับตายแล้วเกิดใหม่

ด้วยความช่วยเหลือของผู้ใหญ่ในประเทศไทย หลังจากนั้น งานของเสรีไทยจากอังกฤษ ก็เป็นไปโดยง่ายดายและปลอดภัย เราได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจทั่วประเทศ และหลังจากนั้นทหารบกทหารเรือและทหารอากาศก็ได้ร่วมมืออย่างแข็งขัน ตั้งแต่ชั้นนายพลลงมาถึงชั้นพลทหาร ตั้งแต่ชั้นรัฐมนตรีลงมาจนถึงราษฎรสามัญ ในราวเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๘ ขบวนเสรีไทยได้เจริญเติบโตขึ้น จนกระทั่งเมื่อข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้ลาไปพักผ่อนที่อินเดียและอังกฤษ ข้าพเจ้าก็สามารถออกเดินทางด้วยเครื่องบินคาตาลินาจากหัวหิน และกลับด้วยเครื่องบินดาโกต้า บินมาลงที่สนามบินของกองทัพอากาศไทยในภาคอีสาน คณะ “ช้างเผือก” และคณะเสรีไทยจากอเมริกา (ซึ่งมีจำนวนมากกว่าพวกเรา และทำงานได้รวดเร็วกว่าพวกเรา) ก็ได้เริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๗ เป็นต้นมา และเนื่องจากได้มีสถานีวิทยุติดต่อกับอินเดียเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก งานของคณะ Appreciation ก็มีความสำคัญน้อยลงทุกที จนกระทั่งเห็นว่าเราควรจะแยกกันไปทำงานที่อื่น พงษ์กับเรเวนได้ออกไปทำงานพิเศษก่อนหน้านั้นแล้ว ต่อมาในเดือนเมษายน ๒๕๕๘ กร กับ ขำก็ลงไปยะลา หลังจากนั้น ดีกับเค็งก็ไปปฏิบัติงานอีกแห่งหนึ่งในภาคใต้ในกรุงเทพฯ มีแต่แดงกับข้าพเจ้าเหลืออยู่ ไม่สู้จะได้ทำอะไรเป็นกิจจะลักษณะนัก จนกระทั่งเสร็จสงคราม

๔. ปัจฉิมบท และบทขยายความ

ข้อความในตอนที่ ๓ ข้างต้นนั้น ข้าพเจ้าได้เขียนไว้นานแล้ว และในขณะนั้นได้พยายามเขียนให้ได้ความชัดพอสมควร แต่จะเขียนมากนักไม่ได้ เพราะเหตุผลหลายประการ บัดนี้ถึงโอกาสที่ควรจะขยายความเพิ่มขึ้นบ้าง (แต่ก็ยังไม่สามารถกระทำได้ทั้งหมด) ประกอบกับที่บทความนี้ จะนำไปใช้เป็นผนวกของหนังสือประวัติการณ์ที่อาจารย์ ดิเรก ชัยนาม เรียบเรียงขึ้น จึงขอบรรยายเพิ่มเติมไว้บางข้อที่เกี่ยวพันกับหนังสือของอาจารย์ ดิเรก ชัยนาม นั้น

(๑) เหตุใดข้าพเจ้าจึงถูกเลือกให้เข้ามาติดต่อกับขบวนเสรีไทยเป็นคนแรก คำตอบสั้น ๆ ก็คือ เพราะขบวนเสรีไทยในประเทศไทยนั้น เจ้าหน้าที่อังกฤษทราบดีว่ามีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองมีส่วนสำคัญอยู่มากในขบวนการนั้น ข้าพเจ้าเป็นธรรมศาสตรบัณฑิตผู้หนึ่ง และเคยทำงานใน ม.ธ.ก. อยู่หลายเดือน แม้ขณะนั้นจะไม่คุ้นเคยกับผู้ประศาสน์การ (นายปรีดี) เป็นส่วนตัว ก็มีความสัมพันธ์กันอยู่บ้างดังนี้

(ก) ข้าพเจ้าสำเร็จได้ปริญญา ธ.บ. เมื่อมิถุนายน ๒๔๗๙ ซึ่งเป็นบัณฑิตรุ่นแรกในหมู่นักศึกษาที่เริ่มเรียน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ แรกตั้ง ม.ธ.ก. บัณฑิตรุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่มีการอบรมในมหาวิทยาลัยก่อนรับปริญญา พอจะได้คุ้นเคยวิสาสะกับคณาจารย์อยู่บ้าง

(ข) เมื่อข้าพเจ้าสอบไล่ได้ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนนั้น ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง โดยอาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ ได้ทราบถึงคะแนนและผลที่สอบได้เกียรตินิยมสูง ได้นำความเสนอผู้ประศาสน์การ และผู้ประศาสน์การได้มีโทรเลขแสดงความยินดี ทั้งในฐานะผู้ประศาสน์การ และฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจ้าสังกัด

ฉะนั้นสรุปความแล้ว หากข้าพเจ้าสามารถเล็ดลอดเข้ามาพบกับหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ ก็คงจะเป็นการสะดวกที่จะให้ความไว้วางใจและเชื่อถือในด้านขบวนการภายใน ไม่ต้องสอบสวนอีกยาว หรือเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย

แท้จริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อข้าพเจ้าและพวกถูกจับกุมมาอยู่ที่กองตำรวจสันติบาล นายตำรวจผู้ควบคุมข้าพเจ้า คือ ร้อยตำรวจเอก พโยม จันทรัคคะ ธ.บ. (ปัจจุบัน พ.ต.อ.) และก่อนที่อธิบดีกรมตำรวจ (พลตำรวจเอก อดุลย์ อดุลยเดชจรัส) จะอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุ (ที่พระที่นั่งอุดรฯ) ติดต่อได้กับฐานทัพในอินเดีย คุณพโยมก็ได้เสี่ยงอันตราย แอบเอาเครื่องวิทยุไปตั้งทดลองส่งที่บ้านของตน ทั้งนี้โดยติดต่อกับอาจารย์ วิจิตร ลุลิตานนท์ (เลขาธิการ ม.ธ.ก.ขณะนั้น) และอาจารย์ วิจิตร เป็นสื่อ ติดต่อกับอาจารย์ปรีดีอีกชั้นหนึ่ง คุณพโยมได้ลอบนำข้าพเจ้าไปพบอาจารย์ปรีดีเป็นครั้งแรกที่บ้านอาจารย์วิจิตรที่บางเขน เพื่อเสนอสารจากผู้บัญชาการสูงสุดของสหประชาชาติ (หลอดหลุยส์ เมานต์แบตเตน) ต่อหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในระหว่างที่ลักลอบกระทำการโดยยังมิได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมตำรวจนั้น เพื่อน ๆ ข้าพเจ้าได้สามารถติดต่อทางวิทยุกับอินเดียเป็นผลสำเร็จ ได้สามารถรับเอาคุณประเสริฐ ปทุมานนท์ และคุณกฤษณ์ โตษยานนท์ มาลงร่มที่ใกล้หัวหิน และได้ติดต่อสัมพันธ์กับหัวหน้าเสรีไทยผู้อื่นเป็นครั้งคราว รวมทั้งอาจารย์ ดิเรก ชัยนาม ด้วย

การลอบพบปะกับผู้ใหญ่ในครั้งนั้น กระทำในเวลากลางคืน (เว้นแต่การนัดพบกันที่บ้านอาจารย์วิจิตรที่บางเขนนั้น เป็นเวลากลางวัน) ข้าพเจ้ามักจะ “แว้บ” จากที่พักในกองตำรวจสันติบาล มาเดินเล่นที่ถนนสนามม้า แล้วเผอิญคุณโพยมขับรถผ่านมา เป็นเวลาที่ผู้อื่นมองไม่เห็นหรือไม่สังเกต ข้าพเจ้าและเพื่อนเชลยสงครามเข้าไปนั่งป๋อในรถแล้ว คุณพโยมพาขับไปยังที่นัดหมายต่าง ๆ แล้วถ่ายรถ จำได้ว่าพบกับอาจารย์ดิเรกครั้งแรกก็เป็นวิธีนี้ ขากลับก็มีการถ่ายรถอีกในที่นัดหมาย กว่าจะได้เข้านอนก็สาง ๆ หรือระหว่าง “หวอ” คือ สัญญาณเครื่องบินมาโจมตี ยิ่งต่อมา ท่านอธิบดีกรมตำรวจให้พบท่านหลังเที่ยงคืนทุกครั้ง บางครั้งเริ่มพบท่านเวลา ๓ นาฬิกา และท่านมักจะพาไปเดินคุยกันในบริเวณพระบรมรูปทรงม้าบ้าง ในบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบ้าง เมื่ออธิบดีกรมตำรวจอนุญาตให้ติดต่อทางวิทยุได้นั้น การติดต่อทางลับของเราเสร็จเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้น จึงสามารถแสดงสมรรถภาพให้ท่านได้เห็นว่าติดต่อได้รวดเร็วมาก พลร่มรุ่นแรกที่ท่านอธิบดีกรมตำรวจสั่งให้รับเป็นทางการได้ คือ นายเสนาะ นิลกำแหง นายประโพธิ เปาโรหิต และนายเทพ เสมถิติ รับลงที่บนภูกระดึง พลร่มรุ่นหลังๆ ยิ่งรับได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะขบวนการเสรีไทย รวมทั้งคุณพโยม ไม่ต้องปฏิบัติการเป็นความลับถึงสองชั้น คือ นอกจากจะปิดญี่ปุ่นและคนอื่น ๆ แล้ว ยังต้องปิดท่านอธิบดีและตำรวจอื่น ๆ ด้วย และความร่วมมือของอธิบดีกรมตำรวจ ทำให้การปฏิบัติงานของพวกเราทั้งหลายสะดวกขึ้นหลายประการ เพราะตำรวจเป็นใจด้วย และตำรวจมีกำลังอยู่ทุกหนทุกแห่ง แม้ว่าญี่ปุ่นจะพบพวกเราที่เป็นนายทหารฝรั่งมากับตำรวจ ก็เตรียมกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเล่านิยายว่าตำรวจไทยจับเชลยได้

(๒) เหตุใดข้าพเจ้าจึงได้รับอนุญาตให้ลาไปพักผ่อนที่อินเดียและอังกฤษ ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้ไปจากกรุงเทพฯ เมื่อมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๘ เพราะ (ก) ทางกองบัญชาการอังกฤษใคร่จะให้ข้าพเจ้าไปรายงานตัวด้วยวาจา (ข) ข้าพเจ้าอยากไปอังกฤษ และเมื่อได้ทำความดีความชอบถึงขนาดกองบัญชาการก็อนุญาตให้ข้าพเจ้าไปพักผ่อนที่อังกฤษได้ เพื่อเยี่ยมคู่รักของข้าพเจ้าที่นั่น

ประโยชน์ที่อาจารย์ปรีดีใคร่จะให้ข้าพเจ้าไปทำที่อังกฤษนั้น ก็คือ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง อาจารย์ปรีดีต้องการให้ข้าพเจ้าไปขอร้องให้รัฐบาลอังกฤษ ยอมรับรองขบวนการเสรีไทยเป็นรัฐบาลอันชอบธรรมของไทย ทำนองเดียวกับที่สหรัฐได้รับรองแล้ว และให้ข้าพเจ้าไปขอร้องให้รัฐบาลอังกฤษปลดปล่อยเงินสำรองเงินตราที่เราฝากไว้ที่อังกฤษ และซึ่งถูกกักกันอยู่ทั้งมวล ในการนี้อาจารย์ปรีดีบอกข้าพเจ้า ให้พยายามติดต่อกับนายแอนโตนี อีเดน รัฐมนตรีต่างประเทศขณะนั้น แต่ข้าพเจ้าเรียนปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าข้าพเจ้าไม่รู้จักอีเดน และการไปอังกฤษเพียงไม่กี่วัน จะเข้าพบอีเดนนั้นเหลือวิสัย อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าจะพยายามหาช่องทางที่ดีที่สุดที่จะเจรจากับใครคนใดคนหนึ่งในเรื่องนี้

ขณะนั้นปรากฏว่า สงครามทางยุโรปยุติแล้ว และอังกฤษกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไป จากคำเล่าลือในกองทหารทั้งหลาย ข้าพเจ้าคะเนว่าพรรคกรรมกรของอังกฤษคงจะชนะเลือกตั้ง เผอิญประธานพรรคกรรมกรในขณะนั้น คือ ศาสตราจารย์ ลัสกี้ แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ข้าพเจ้าไม่คุ้นเคยเป็นส่วนตัวกับลัสกี้ เพราะท่านเป็นหัวหน้าวิชารัฐศาสตร์ ข้าพเจ้าเรียนทางเศรษฐศาสตร์ เคยแต่เข้าฟังบรรยายของท่าน แต่ก็คิดว่าคงจะเข้าหาท่านง่ายกว่าเข้าหาอีเดน และอีกประการหนึ่ง ถ้าพรรคกรรมกรจะชนะเลือกตั้งแล้ว การติดต่อกับอีเดนก็ไม่มีความหมาย ฉะนั้นจึงตัดสินใจบันทึกข้อความถึงลัสกี้ ขอพบท่าน ท่านก็ดีใจหาย อนุญาตให้พบที่บ้านท่าน ข้าพเจ้าแต่งตัวใส่เครื่องแบบพันตรีอังกฤษเข้าไปพบลัสกี้ เพื่อแสดงว่าข้าพเจ้าเอาชีวิตเข้าแลกกับเรื่องนี้แล้ว โดยร่วมรบกับอังกฤษ แต่ข้อนี้จะซาบซึ้งใจของศาสตราจารย์ลัสกี้เพียงใด ไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่า เมื่อข้าพเจ้าได้อธิบายเรื่องความต้องการของขบวนเสรีไทยแล้ว ศาสตราจารย์ลัสกี้ได้บอกว่าท่านจะพยายามช่วย แต่มีเงื่อนไขอยู่ข้อหนึ่ง เงื่อนไขข้อนี้ท่านใช้เวลาอธิบายให้ข้าพเจ้าฟังถึงกว่าชั่วโมง สรุปความว่าท่านจะช่วยไทย แต่ไม่ต้องการช่วยไทยประเภทที่ถืออำนาจหรือมีทรัพย์สินส่วนตัวมากมาย ท่านต้องการช่วยตาสี ตาสา (common people) มากกว่า และเวลากว่าหนึ่งชั่วโมงนั้น ท่านใช้เทศนาให้ฟังว่าควรจะช่วยตาสีตาสาทำไม

การติดต่อกับลัสกี้นี้ ไม่ได้ผลเต็มที่ตามที่คาดหวัง เพราะรัฐบาลกรรมกรของอังกฤษยังคงดำเนินนโยบายถือไทยเป็นศัตรูแบบเดิม แต่อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ลัสกี้ก็ได้กระทำตามที่ท่านพูด คือ ท่านพยายามเขียนบันทึกถึงนายเบวิน รัฐมนตรีต่างประเทศหลายครั้ง ตามที่ข้าพเจ้าขอร้อง ปรากฏจากปากคำของเพื่อน ๆ ที่อยู่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า บันทึกของลัสกี้นี้ได้รับพิจารณาจากเบวินอย่างเต็มที่ แสดงว่าแม้มิได้ผลจริง ๆ ลัสกี้ก็ได้พยายามช่วยไทยโดยแข็งขัน

(๓) การไปเจรจาที่แคนดีหลังการยอมแพ้ของญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว ข้าพเจ้าได้ถูกส่งไปกับคณะผู้แทนไทยยังแคนดีสองครั้ง ทั้งสองครั้งได้ถูกกำชับให้แต่งเครื่องแบบพันตรีอังกฤษ มิให้บกพร่อง เพราะการเจรจากับอังกฤษนั้นเป็นเรื่องสำคัญ อังกฤษไม่ยอมไทยง่าย ๆ อย่างสหรัฐ

ครั้งแรกข้าพเจ้าเดินทางไปในคณะของพลเอก หลวงเสนาณรงค์ เป็นคณะผู้แทนไทยฝ่ายทหาร พลเอก หลวงเสนาณรงค์ เป็นหัวหน้าคณะไป เพราะท่านมีกิตติศัพท์เป็นที่ทราบกันอยู่ว่า ท่านเป็นผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่นอย่างแข็งขันที่สุดในการรุกขึ้นบกของญี่ปุ่น และสามารถต่อต้านได้สำเร็จในส่วนของท่าน จนรัฐบาลไทยสั่งหยุดยิง พลเอก หลวงเสนาณรงค์ เป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะเด่น สมเป็นทหาร และมีชื่อเสียงในทางสุจริต รักชาติ และกล้าหาญ คณะผู้แทนไทยคณะนั้นไม่ได้มีการเจรจากันมาก เป็นการ “แสดงธง” ของไทย เพื่อให้อังกฤษและนักหนังสือพิมพ์ทั่วไปเห็นว่าไทยก็ได้สู้ญี่ปุ่น และพร้อมที่จะสู้ญี่ปุ่นตลอดมาจนเลิกสงคราม หากแต่สหประชาชาติห้ามหน่วงเหนี่ยวไว้

ข้าพเจ้าได้ไปในคณะผู้แทนไทยอีกครั้งหนึ่งยังกรุงแคนดี ซึ่งหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ทรงเป็นหัวหน้าไป รายละเอียดการเจรจาเรื่องนี้ ปรากฏในหนังสือของอาจารย์ดิเรกแล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องเล่าไว้ ณ ที่นี้ และความจริงข้าพเจ้าก็ถูกเรียกตัวกลับไปศึกษาต่อที่ลอนดอนเสียก่อนที่การเจรจาจะเสร็จลง

(๔) คุณหลวงสุรณรงค์ และนายมาร์ติน ก่อนจบบทความนี้ ข้าพเจ้าไม่ควรจะเว้นกล่าวถึงบุคคลสองท่าน ที่ได้ให้กำลังใจแก่เรา เมื่อเราไปถึงอินเดียใหม่ ๆ ขณะนั้นใจของพวกทหารเสรีไทยกำลังฝ่อ เพราะได้ตรากตรำเดินทางมาเป็นเวลาหลายเดือน และไม่แน่ใจว่าอนาคตของพวกเราจะเป็นอย่างไรในอินเดีย ปรากฏว่า เราได้พบชาวอังกฤษหลายท่านที่เคยมาทำงานในประเทศไทย และพูดไทยได้ อยู่ในกองทหารซึ่งจะบังคับบัญชาเรา คนอังกฤษเหล่านี้ เช่น Pointon, Micholoyn, Bryce, Smith, Hobbs, Hopkins ได้ให้กำลังใจแก่พวกเราอยู่บ้าง แต่ท่านที่ให้กำลังใจแก่เราอีกด้านหนึ่งนั้น คือ พลเอก หลวงสุรณรงค์ และ Mr. Martin คุณหลวงสุรณรงค์ท่านไปอินเดียจากสิงคโปร์ ขณะที่ท่านไปสิงคโปร์นั้น ท่านไปราชการทหาร แต่เมื่อญี่ปุ่นเริ่มรุกราน ท่านก็เลือกหลบหนีไปอินเดีย เพื่อแสดงว่าเป็นคนไทยคนหนึ่งที่ไม่ยอมแพ้ พวกเราหนุ่ม ๆ ได้เห็นตัวอย่างของท่านจริง ๆ เข้าก็มีกำลังใจสูงขึ้น อีกท่านหนึ่งเป็นชาวอังกฤษ ชื่อ มาร์ติน มีอายุมาก เป็นบิดาของนายแพทย์ไทย คือ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน ท่านเดินจากประเทศไทยไปอินเดียด้วยเท้า เพื่อไม่ยอมอยู่เป็นเชลยญี่ปุ่น พวกเราหลายคนคุ้นเคยกับบุตรของท่าน และถือท่านเสมือนคนไทย ตัวอย่างของ “ลุงมาร์ติน” ก็เป็นสิ่งส่งเสริมกำลังใจของเราเช่นกัน

(มิถุนายน ๒๕๐๙)

 

  1. ๑. “บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเป็นพิเศษตามคำขอร้องของศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสที่ท่านศาสตราจารย์ได้เขียนหนังสือขึ้นเผยแพร่เป็นวิทยาทาน อันจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาในอนาคตต่อไป
    ตอนที่ ๓ ในบทความนี้ เดิมได้พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันเอก สรรค์ ยุทธวงศ์ (น้องเขยของข้าพเจ้า) เมื่อ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๖” -ป๋วย อึ๊งภากรณ์

  2. ๒. ในตอนท้ายสงครามโลก หน่วยการโยธานี้ได้รับยกย่องขึ้น โดยมีการยกฐานะขึ้นเป็น “Royal Pioneer Corps”

  3. ๓. พวกเราเพิ่งย้ายค่ายจาก “เดนบี” เวลส์เหนือ ซึ่งเรานอนในเต็นท์บ้าง นอนที่โรงรถบ้าง ไปอยู่ที่แบร็ดฟอร์ดในยอร์กเชียร์ และได้อยู่ตึกที่เคยเป็นโรงเรียนมัธยมในยามสงบ

  4. ๔. เมื่อเร็ว ๆ นี้ ใน พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้มีหนังสือเรื่องบทบาทของ S.O.E. ในการดำเนินงานใต้ดินในฝรั่งเศสระหว่างสงครามออกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นทางการแล้ว

  5. ๕. โปรดดูความละเอียดในหนังสือ “งานใต้ดินของพันเอกโยธี” ของพลเอกเนตร เขมะโยธิน บทที่ ๗-๘-๙ และ ๑๗-๑๘-๑๙

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ