- พระพุทธภาษิต
- ผู้เขียนขออุทิศ...
- คำนำในการพิมพ์ครั้งที่สอง
- คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ภาคหนึ่ง เริ่มสงครามด้านยุโรป ถึงเริ่มสงครามด้านเอเซีย
- ภาคสอง ระหว่างสงคราม
- บทที่ ๑ ไปญี่ปุ่น
- บทที่ ๒ สถานการณ์ทั่ว ๆ ไปของญี่ปุ่นก่อนเกิดสงคราม
- บทที่ ๓ ในญี่ปุ่นระหว่าง มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖
- บทที่ ๔ กลับเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ
- บทที่ ๕ เหตุการณ์ระหว่าง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ถึง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
- ข้อเขียนของนายทวี บุณยเกตุ
- ข้อเขียนของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์
- ข้อเขียนของพระพิศาลสุขุมวิท
- รายชื่อนักเรียนไทยในอเมริกาซึ่งได้สมัครเข้าร่วมงานต่อต้านญี่ปุ่น (คณะเสรีไทยในอเมริกา)
- ภาคสาม หลังสงคราม
- ภาคผนวก
- ๑. สัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศส
- ๒. สัญญาไม่รุกรานกับอังกฤษ
- ๓. สัญญาไม่รุกรานกับญี่ปุ่น
- ๔. อนุสัญญาสันติภาพกับฝรั่งเศส
- ๕. ความตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษ
- ๖. หนังสือแลกเปลี่ยนและหัวข้อความตกลงกับภาคผนวก
- ๗. สนธิสัญญาทางไมตรีกับจีน
- ๘. ความตกลงสันติภาพฉบับที่สุด ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
- ๙. ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
- ๑๐. คำแปลรายงานของคณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย
- ๑๑. รายงาน ความเห็นคณะกรรมาธิการวิสามัญสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติ ซึ่งคณะเสรีไทยได้ใช้จ่าย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
บทที่ ๓ ในญี่ปุ่นระหว่าง มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ถึง กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓)
ข้าพเจ้ารับราชการอยู่ในญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๐ เดือน ในระยะเวลาดังกล่าวข้าพเจ้าต้องเข้ามาราชการในกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง คือในปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ใช้เวลาอยู่ในกรุงเทพ ฯ ประมาณหนึ่งเดือน ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะกล่าวเพียงความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทยในระยะเวลาดังกล่าวเท่านั้น รวมถึงสถานะสงครามในระยะนั้น
หน้าที่ของทูตที่ไปถึงใหม่ ๆ นั้น นอกจากจะต้องเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์ต่อสมเด็จพระจักรพรรดิ และเข้าเฝ้าพระจักรพรรดินีแล้วยังต้องไปพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐบุรุษทั่ว ๆ ไปอีกหลายท่าน รวมทั้งบุคคลสำคัญนอกราชการซึ่งมีอิทธิพลในการเมืองอีกด้วย และยังต้องไปเยี่ยมคำนับทูตอื่น ๆ ซึ่งมาประจำอยู่ก่อน ในการนี้ภริยาก็ต้องไปเยี่ยมภริยาทูตอื่นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพราะเป็นธรรมเนียมนิยมกันว่า เนื่องจากทูตจะต้องพบกันอยู่เสมอ ทูตเก่าย่อมสันนิษฐานว่ารู้เรื่องของเมืองนั้นดีกว่าและก็มีอาวุโสกว่า
รัฐมนตรีและบุคคลสำคัญ ๆ ในขณะเมื่อข้าพเจ้าไปถึง และข้าพเจ้าได้พบมีมากหลาย แต่ที่จำได้คือ พลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรี พลเรือเอก ชิมาดา๑ รัฐมนตรีทหารเรือ นายชิเงโนริ โตโง๒ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ นายตานี รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ คนต่อมา นายชิเงมิทสุ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศต่อจากนายตานี นายอาโอกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพา จอมพล ซูกิยามา๓ เสนาธิการทหารบก จอมพลเรือนากาโน๔ เสนาธิการทหารเรือ นายกายา รัฐมนตรีว่าการคลัง๕ เจ้าชายโคโนเอ อดีตนายกรัฐมนตรี๖ นายฮิโรตา๗ อดีตนายกรัฐมนตรี นายเซฮิน อิเคดา อดีตรัฐมนตรีคลัง๘ แต่ผู้ที่ทูตจะต้องพบเป็นคนแรก คือ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ฉะนั้น บุคคลคนแรกที่ข้าพเจ้าเข้าพบคือ นายชิเงโนริ โตโง (Shigenori Togo) รัฐมนตรีต่างประเทศ ท่านผู้นี้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ในขณะที่ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ นายโตโงผู้นี้มีภริยาเป็นเยอรมัน มีลักษณะสงวนท่าที เราได้สนทนากันถึงความร่วมมือระหว่างสองประเทศตามกติกาสัญญาพันธไมตรีว่าด้วยการรุกและการป้องกันระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น๙
ต่อมาก็เป็นวันยื่นพระราชสาสน์ต่อสมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) ผู้ที่ไปพร้อมกับข้าพเจ้าในวันนั้น มี นายทวี ตะเวทิกุล อัครราชทูตและที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูต พลตรี พระยาสรกิจพิศาล ทูตฝ่ายทหารบก พลเรือตรี หลวงสมบูรณ์ยุทธวิชา๑๐ ทูตฝ่ายทหารเรือ หลวงรัตนทิพ๑๑ เลขานุการเอก นายถนัด คอมันตร์๑๒ เลขานุการโท นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล๑๓ เลขานุการโท และนายฉันท์ สมิตเวช๑๔ เลขานุการตรี
วันนี้ เวลา ๑๑.๐๐ น. สมุหพิธีการนำรถยนต์หลวง ๔ คัน มาจากพระราชวังเพื่อมารับข้าพเจ้าและคณะ รถคันแรกข้าพเจ้าและสมุหพิธีการนั่ง อีก ๓ คันหลังนั่งกันตามลำดับอาวุโส เมื่อรถผ่านประตูพระราชวัง ทหารกองเกียรติยศทำความเคารพ พวกเราเคารพตอบ
ถึงบันไดพระราชวัง มีข้าราชการในพระราชสำนักมาต้อนรับ เมื่อถึงบันไดชั้นบน ไวส์เคานต์ มัทสุไดรา (Viscount Matsudaira) สมุหพระราชมนเทียรรอต้อนรับอยู่ เข้าไปในท้องพระโรง มีท่าน ซุเนมัทสุไดรา๑๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังรออยู่
ได้เวลา เจ้าหน้าที่มาแจ้งให้ข้าพเจ้าไปเฝ้าคนเดียวก่อน ข้าพเจ้าได้อ่านคำกราบบังคมทูลเป็นภาษาไทย สาระสำคัญคือ รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาประจำพระราชสำนักของพระองค์ และจะพยายามทุกอย่างที่จะส่งเสริมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศเราทั้งสอง แล้วมีพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาญี่ปุ่น เสร็จพิธีแล้วทรงสนทนาด้วยโดยมีล่ามแปล เมื่อได้เวลาสมควร ข้าพเจ้าได้ขอพระบรมราชานุญาตเบิกข้าราชการในคณะเข้าเฝ้า โดยข้าพเจ้าเป็นผู้ขานนามทีละนาย และเมื่อข้าราชการที่ได้เข้าเฝ้ากลับออกไปหมดแล้ว ข้าพเจ้าก็ขอพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมลากลับ และต่อจากนี้ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดินีเช่นเดียวกัน ข้อสังเกต ทั้งสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินได้พระราชทานการต้อนรับ และรับสั่งถามถึงความเป็นอยู่ของเมืองไทยด้วยพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง สังเกตได้ว่าด้วยน้ำพระทัยจริง ๆ วันต่อ ๆ มาก็ไปเฝ้าเจ้านายอื่นในพระราชวงศ์ตามที่เขากำหนดให้ และเริ่มไปพบรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่สำคัญๆ รวมทั้งเพื่อนทูตด้วยกัน
ระหว่างที่ข้าพเจ้ารับราชการอยู่ในญี่ปุ่นนี้ ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นทั่วๆ ไปลงข่าวชื่นชมยินดีในการที่ไทยเป็นพันธมิตร ยกย่องประเทศไทยต่าง ๆ การพบปะกับบุคคลสำคัญต่างๆในวงราชการและนอกราชการที่ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง และเกี่ยวกับนักเรียนไทย กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นถึงกับมีหนังสือเวียนไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ให้เอื้อเพื่อช่วยนักเรียนไทยเป็นพิเศษในกรณีประสบความเดือดร้อน
ทางด้านการพยายามจะติดต่อกับรัฐบาลจอมพลเจียงไคเช็คนั้น เมื่อไปเห็นสภาพการณ์แล้ว พ้นวิสัย เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นกวดขันการเคลื่อนไหวมาก แม้แต่ทูตที่เป็นสัมพันธมิตรด้วยกันก็ไม่ยกเว้น
ในระหว่างระยะ ๒๐ เดือนนี้ มีเรื่องใหญ่ ๆ ที่ต้องพิจารณาปรึกษากับรัฐบาลญี่ปุ่นหลายเรื่อง ที่สมควรนำมากล่าวคือ เรื่องญี่ปุ่นตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพา เรื่องการรับรองรัฐบาลจีนวังจิงไว เรื่องญี่ปุ่นให้ดินแดนคืนบางแห่งซึ่งยกจากอังกฤษ เรื่องไทยใคร่สมัครเข้าเป็นอักษะด้วย และปัญหาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นทั่ว ๆ ไป
ญี่ปุ่นตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพา
เรื่องญี่ปุ่นตั้งกระทรวงการมหาเอเซียบูรพา (Ministry of Great East Asia Affairs) นี้เป็นเรื่องใหญ่โตกระทบกระเทือนมาก มีปฏิกิริยาจากรัฐบาลต่าง ๆ ในเอเซียด้วยกัน แม้รัฐบาลจีนวังจิงไว ซึ่งญี่ปุ่นเองเป็นผู้แต่งตั้งหรืออุปโลกน์ขึ้นมา ก็คัดค้าน เพราะนายซุยเหลียง เอกอัครราชทูตจีนในขณะนั้น ได้มาพบข้าพเจ้าและเล่าถึงการไปคัดค้านให้ฟัง
ปัญหาเรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้รับรายงานเข้ามายังรัฐบาลเรา สาระสำคัญของเรื่องมีดังนี้ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) กรมโฆษณาการญี่ปุ่นออกคำแถลงว่า นายชิเงโนริ โตโง รัฐมนตรีต่างประเทศได้ยื่นใบลาออก เนื่องจากเหตุผลส่วนตัว ในขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ทั่วไปในญี่ปุ่นลงข่าวว่า จะได้มีการจัดตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพาขึ้นโดยพลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรีจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศแทน และนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นจะไม่เปลี่ยนแปลง การลาออกของนายโตโงครั้งนี้ สันนิษฐานกันว่ามีสาเหตุเนื่องมาจากการปรับปรุงกระทรวงการต่างประเทศและการจัดตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพา จะได้โอนกรมสำคัญๆสองกรมของกระทรวงการต่างประเทศ คือ กรมกิจการฝ่ายใต้ (Southern Affairs) และกรมเอเซียตะวันออก (East Asia) ไปขึ้นกับกระทรวงใหม่ นอกจากนี้กรมกองต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแมนจูกัวและจีนก็จะต้องโอนไปขึ้นกระทรวงใหม่ บรรดาเอกอัครราชทูต อัครราชทูต และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศต่าง ๆ ในเอเซียบูรพาจะต้องโอนไปสังกัดกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพาเช่นเดียวกัน เมื่อพฤติการณ์เป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นการยากที่รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศจะดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป ในเมื่อตนถูกตัดทอนอำนาจหน้าที่สำคัญ ๆ ไป อนึ่ง ก่อนมีคำแถลงการณ์นี้หนึ่งวัน กรมโฆษณาการญี่ปุ่นได้แถลงว่า นายกรัฐมนตรีโตโจกับรัฐมนตรีต่างประเทศโตโง ได้ประชุมกันเป็นเวลานาน และต่อจากนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้เรียกประชุมรองรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ๑๖ (Vice Minister) และที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาจไม่เห็นพ้องด้วยในการปรับปรุงใหม่นี้โดยสมบูรณ์ จึงได้ลาออกพร้อมกับนายนิชิ รองรัฐมนตรีต่างประเทศ
เสียงทางราชการให้เหตุผลการจัดตั้งกระทรวงมหาเอเซียบูรพาครั้งนี้ว่า มีผลสำคัญเกี่ยวกับวิเทโศบายของรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับภาคเอเซียตะวันออกดังนี้
ความมุ่งประสงค์สำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่นในการที่จัดตั้งกระทรวงใหม่นี้ขึ้นก็คือ รวมประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกให้กระชับแน่นยิ่งขึ้น โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ศึกษาดำเนินนโยบายและตระเตรียมการเป็นศูนย์กลาง แทนที่จะกระจัดกระจายกันไปตามกระทรวงต่าง ๆ การรวบรวมดำเนินการเป็นศูนย์กลางเช่นนี้มีประโยชน์หลายประการ ประโยชน์เฉพาะหน้าคือ รวบรวมกำลังไว้สำหรับดำเนินการสงคราม เพราะญี่ปุ่นต้องอาศัยประเทศเหล่านี้เป็นส่วนมาก ทั้งในทางวัตถุสัมภาระและทางยุทธศาสตร์ ญี่ปุ่นต้องอาศัยประเทศเหล่านี้เป็นฐานทัพดำเนินการรบ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นคิดว่าถ้าชนะสงคราม จะได้อาศัยประเทศเหล่านี้เป็นแหล่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เป็นตลาดจำหน่ายสินค้า ประเทศเหล่านี้จะเป็นยังฉางสำหรับจะใช้เลี้ยงประชาชนพลเมืองญี่ปุ่นต่อไป ทั้งนี้เป็นเพียงความเห็นเหตุผลทางวัตถุ
ญี่ปุ่นคิดว่า ในฐานที่เป็นการดำเนินการขั้นแรกในการสร้างวงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา (Co-Prosperity Sphere of Greater East Asia) จึงจำเป็นต้องตั้งกระทรวงนี้ขึ้นเพื่อกระชับอำนาจควบคุมประเทศในวงไพบูลย์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และถึงแม้ว่าทางการยังคงยืนยันว่าการติดต่อระหว่างประเทศเหล่านี้กับญี่ปุ่น ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางการทูตแท้ๆ (Purely diplomatic matter) ก็คงดำเนินการเป็นทางการทูต คือ ผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศก็ตาม การตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพา มีผลเท่ากับรวมประเทศต่าง ๆ ในเอเซียตะวันออกไว้ให้อยู่ในฐานะเป็นประเทศที่ต้องอยู่ในโอวาทของญี่ปุ่น จะเป็นโดยตรงหรือโดยปริยายก็ตาม จริงอยู่ญี่ปุ่นรับรองว่าประเทศเหล่านี้ยังมีความเป็นอยู่อย่างอิสระตามความหมายระหว่างประเทศ แต่โดยที่ประเทศเหล่านี้มีฐานะพิเศษอยู่ในวงไพบูลย์ จะต้องร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อความสำเร็จในการสร้างวงไพบูลย์อันมีญี่ปุ่นเป็นหัวหน้า สรุปความว่าโดยนิตินัย ญี่ปุ่นปฏิบัติต่อประเทศจีน อินโดจีน ไทย ฯลฯ เช่นเดียวกับประเทศเอกราชอื่น ๆ แต่โดยพฤตินัยญี่ปุ่นอาจปฏิบัติต่อประเทศดังกล่าวเหมือนประเทศที่ต้องอยู่ในโอวาทของญี่ปุ่นโดยปริยาย เช่น แมนจูกัว จะต้องขึ้นกับญี่ปุ่น เพราะต้องร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อผลสำเร็จในการสงคราม และเพื่อการสร้างมหาเอเซียบูรพา
เมื่อรูปการณ์เป็นไปตามที่กล่าวนี้ ย่อมเห็นได้ชัดว่า นโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับการต่างประเทศ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ การจัดตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพานี้เป็นการดำเนินการขั้นแรกในการขยายการครอบครองของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้ของโลก และส่อให้เห็นว่า อุดมคติเกี่ยวกับการสร้างมหาเอเซียบูรพาของญี่ปุ่นอาจมิใช่อื่นไกล นอกจากการรวมประเทศต่าง ๆ ดังกล่าวให้อยู่ภายใต้การ “คุ้มครอง” และ “การนำ” ของญี่ปุ่น ความรู้สึกอันนี้มีอยู่ทั่วไปในวงการทูตต่างประเทศซึ่งประจำอยู่ในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งผู้แทนรัฐบาลจีนวังจิงไวเองด้วย สำหรับแมนจูกัวนั้นไม่มีปัญหา เพราะใคร ๆ ก็ทราบว่าเป็นหุ่นมานานแล้ว หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นทั่ว ๆ ไปก็คงจะรู้สึกหวั่น ๆ ว่าประเทศในมหาเอเซียบูรพาจะเข้าใจไปในทางไม่ดีแก่ญี่ปุ่น ถึงกับเตือนรัฐบาลว่าควรจะชี้แจงให้ผู้แทนประเทศต่าง ๆ ในมหาเอเชียบูรพาเข้าใจไว้ให้ดี
ในแง่กฎหมาย รัฐบาลญี่ปุ่นได้เตรียมแก้ไขข้อแย้งต่าง ๆ โดยอ้างว่า การเปลี่ยนแปลงและการจัดตั้งกระทรวงใหม่นี้ เป็นการภายในของญี่ปุ่นเอง และมีประโยชน์สำหรับการดำเนินงานภายในของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ญี่ปุ่นได้ยุบกระทรวงกิจการโพ้นทะเล (Ministry of Overseas Affairs) และให้โอนงานของกระทรวงนี้ไปขึ้นอยู่กับกระทรวงใหม่คือกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพา ทำให้เห็นว่าการตั้งกระทรวงใหม่นี้มีเค้าพิรุธ ผู้สังเกตการณ์ทั่ว ๆ ไปเห็นว่า กระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพานี้คงมิใช่อื่นไกล นอกจากเป็นกระทรวงอาณานิคมหรือกระทรวงกิจการโพ้นทะเลในรูปใหม่เท่านั้น
ในแง่จิตใจ รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมข้อแก้ไขไว้เช่นเดียวกันว่า การที่ให้เรื่องที่เกี่ยวกับบรรดาประเทศในมหาเอเซียไปขึ้นอยู่กับกระทรวงใหม่ โดยถือว่าเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันและมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด โดยที่ร่วมเป็นสมาชิกของวงไพบูลย์แห่งมหาเอเซียบูรพาและเป็นเกียรติแก่ประเทศเหล่านี้เสียอีก และเป็นกันเอง แทนที่จะถือระเบียบจัดเหมือนกับผู้อื่นซึ่งมิใช่ผิวเดียวกัน ที่กล่าวมานี้เป็นเสียงหนังสือพิมพ์ ซึ่งแน่นอนเป็นเสียงซึ่งรัฐบาลปล่อยออกมา
หลังจากการประกาศตั้งกระทรวงการมหาเอเซียบูรพาเพียงสองวัน มีชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งรู้จักกับข้าพเจ้าที่และเป็นผู้แทนของวงการรัฐบาล แต่ไม่ใช่ทางการ ได้มาพบข้าพเจ้าและกล่าวว่า เรื่องตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพานี้ได้ทราบว่า ทางประเทศไทยได้ต้อนรับนโยบายนี้เป็นอย่างดี แต่ความจริงใจอาจไม่พอใจก็ได้ ใคร่ให้ข้าพเจ้าทราบว่า ญี่ปุ่นมิได้มีเจตนาที่จะเหยียดไทยเหมือนไทยไม่มีเอกราช ความจริงการที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งกระทรวงนี้ขึ้นก็เพื่อความรวดเร็วในการงาน เดิมกระทรวงการต่างประเทศไม่มีอำนาจอย่างใด ต้องคอยฟังความเห็นจากทหารเสมอ แต่กระทรวงใหม่นี้มีอำนาจเด็ดขาด เพราะทหารจะเข้าช่วยเหลือในกิจการกระทรวงนี้ ข้าพเจ้าได้ตอบขอบใจไป แต่ได้ถามเขาว่าตามประกาศว่า ปัญหาการทูตจริง ๆ (Purely diplomatic matter) ให้ติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศ แต่เรื่องการเมืองการเศรษฐกิจ การวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่ไทยจะต้องเจรจากับกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพา เช่นนี้ ฐานะของไทยก็เท่ากับอินโดจีน เพราะในประกาศว่าเรื่องของแมนจูกัว จีน เกาะในอาณัติทะเลใต้ อินโดจีนและไทย เป็นหน้าที่ของกระทรวงใหม่นี้ หลักปฏิบัติระหว่างประเทศ ผู้แทนของรัฐบาลที่มีเอกราชจะเจรจากับกระทรวงอื่นมิได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทูตหรือเรื่องอื่นใด นอกจากปัญหานั้น ๆ จะได้รับอนุญาตจากกระทรวงการต่างประเทศให้ติดต่อเจรจาได้ ญี่ปุ่นจะเปรียบเทียบไทยเท่ากับดินแดนที่ตนเข้าครอบครอง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกามาแล้วไม่ได้ เพราะไทยเป็นเอกราชมาช้านาน ไม่เป็นอาณานิคมของชาติใด ไทยเป็นมิตรดีของญี่ปุ่น และเวลานี้ก็เป็นพันธมิตรทางทหารด้วย การที่ญี่ปุ่นทำเช่นนี้ เป็นโอกาสของฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกาที่จะประกาศได้แน่นอนว่า ญี่ปุ่นกำลังปฏิบัติต่อไทยอย่างเมืองขึ้น ซึ่งจะไม่เป็นผลดีแก่ญี่ปุ่นเลย ชาวญี่ปุ่นผู้นี้ปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่า ญี่ปุ่นมิได้มีเจตนาเช่นนั้นเลย
เรื่องการตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพานี้ ข้าพเจ้าได้มีโทรเลขและรายงานเข้ามายังรัฐบาลพร้อมทั้งความเห็น แต่รัฐบาลไม่ได้มีคำสั่งประการใด ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจรับผิดชอบเองโดยพยายามให้รัฐบาลญี่ปุ่นทราบว่า เราไม่พอใจในเรื่องการตั้งกระทรวงใหม่นี้
เริ่มแรกภายหลังที่ประกาศตั้งกระทรวงใหม่ประมาณ ๔-๕ วัน ข้าพเจ้าได้ไปขอพบนายยามาโมโต (Yamamoto) อธิบดีกรมกิจการอเมริกันซึ่งรักษาการแทนรองรัฐมนตรี๑๗ เพราะนายนิชิ รองรัฐมนตรีลาออกตามนายโตโง รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศดังได้กล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าไปพบโดยกล่าวว่า ข้าพเจ้ามาเยี่ยมคำนับในฐานที่เขาเข้ารักษาการในตำแหน่งรองรัฐมนตรี แล้วข้าพเจ้าได้ถือโอกาสพูดถึงการตั้งกระทรวงใหม่ว่า เพื่อเป็นแนวสำหรับการติดต่อในการข้างหน้าระหว่างสถานทูตกับกระทรวงการต่างประเทศ จึงขอให้นายยามาโมโตอธิบายให้ทราบด้วย นายยามาโมโตชี้แจงว่า การติดต่อก็คงเป็นไปตามเดิม แต่เมื่อข้าพเจ้าซักว่า ตามประกาศให้หมายเฉพาะถึงเรื่องการทูตจริง ๆ เท่านั้น นายยามาโมโต ก็ตอบไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงแจ้งว่า ข้าพเจ้าใคร่พบเยี่ยมคำนับพลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรีซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศด้วย นายยามาโมโตแจ้งว่า คงจะได้พบในเร็ว ๆ นี้ เพราะท่านนายกรัฐมนตรีก็จะออกรับทูตทั่วไปตามธรรมเนียมอยู่แล้ว๑๘
ต่อมาอีกประมาณ ๒-๓ วัน พลเอกโตโจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ก็ได้ออกรับทูตตามลำดับอาวุโสก่อนหลัง ข้าพเจ้าได้กล่าวขอบคุณที่ท่านออกต้อนรับ ท่านนายกรัฐมนตรีเริ่มกล่าวว่ายินดี ขอให้ถือเป็นกันเองไม่ต้องมีพิธีรีตองอย่างใด และเราพวกเอเซียด้วยกัน ต้องร่วมกันสร้างมหาเอเชียบูรพาทุกอย่างนั่นแหละ พวกเราจึงจะเจริญก้าวหน้า ข้าพเจ้าได้โอกาสจึงตอบว่า ข้าพเจ้ายินดีร่วมมือเต็มที่ แต่เวลานี้ยังข้องในเรื่องตั้งกระทรวงใหม่ เกี่ยวกับการติดต่อระหว่างสถานเอกอัครราชทูตกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพา แม้นายยามาโมโตจะได้ชี้แจงกับข้าพเจ้าแล้วก็ตาม แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง พลเอกโตโจได้อธิบายให้ฟังยืดยาวว่า ขอชี้แจงอย่างเราเป็นพี่น้องกัน การต่างประเทศเรา (ญี่ปุ่น) แบ่งออกเป็นสองประเภท ประเภทหนึ่ง คือ ยุโรปและอเมริกา ซึ่งเราถือว่าไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขอะไร อีกประเภทหนึ่งคือเอเซีย เราถือว่าชนชาวเอเซียเป็นญาติพี่น้องกัน เฉพาะอย่างยิ่งไทยกับญี่ปุ่นมีธรรมเนียมประเพณีคล้ายกัน ลักษณะหน้าตาก็คล้ายกัน เหมือนพี่น้องกัน เรื่องพิธีรีตองหรือแบบอย่างจะถูกต้องหรือไม่นั้น อย่าไปคำนึงถึงนัก อย่างที่ต้อนรับข้าพเจ้าในวันนี้ เราก็สนทนากันอย่างญาติ เมื่อสักครู่รับทูตทางยุโรปหลายคนก็รับเป็นธรรมเนียม ขอให้นึกถึงหัวใจว่า ญี่ปุ่นกับไทยต้องร่วมเป็นร่วมตาย เพราะเราเป็นพี่น้องกัน ฉะนั้นติดต่อกับกระทรวงใหม่นี้ดีกว่า และได้ประโยชน์รวดเร็วด้วย พลเอกโตโจยกตัวอย่างว่าเช่นในวงญาติ การไปเยี่ยมไปมาหาสู่ ไม่ต้องมีพิธีรีตอง ไม่ต้องนัดวันเวลา เวลาคิดถึงกันก็ไปเยี่ยมกัน ขอฝากให้ข้าพเจ้าช่วยชี้แจงไปยังรัฐบาลไทยทราบด้วย เพื่อนำให้ราษฎรของเราทั้งสองชาติเข้าใจซึ่งกันและกัน ข้าพเจ้าตอบว่า ยินดีจะรายงานโดยละเอียดไปให้รัฐบาลทราบ ที่ข้าพเจ้าเป็นห่วงก็คือในสายตาคนอื่นคงนึกแปลกอยู่บ้าง วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าได้พบนายซุยเหลียง เอกอัครราชทูตจีนของรัฐบาลวังจิงไว นายซุยเหลียงได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เมื่อวานพบกับพลเอกโตโจ ๆ ได้ชี้แจง ซึ่งก็มีใจความตรงกันกับที่ชี้แจงให้ข้าพเจ้าฟังทุกประการ
อีกสองสามวันต่อมา ข้าพเจ้าได้ไปพบบุคคลสำคัญคนหนึ่ง ซึ่งใกล้ชิดกับนายโตโง รัฐมนตรีต่างประเทศที่เพิ่งลาออกไป ท่านผู้นี้ได้ชี้แจงให้ข้าพเจ้าทราบว่า การที่โตโงต้องลาออกก็เพราะไม่เห็นด้วยในนโยบายตั้งกระทรวงใหม่นี้ เพราะจะเป็นการทำให้ประเทศในเอเซียด้วยกันระแวง แต่ก็เป็นความคิดของทางทหารที่ต้องการรวบรวมกิจการเกี่ยวกับ ไทย จีน แมนจูกัว และอินโดจีน ไว้ในแหล่งเดียวกัน แต่นายโตโงรัฐมนตรีต่างประเทศคัดค้านตลอดมา เพราะเกรงว่า ประเทศที่เกี่ยวข้องจะเข้าใจว่าเป็นการเอาเป็นเมืองขึ้นโดยปริยาย เรื่องคงค้างมา มาแตกหักเมื่อลาออกนี้ อย่างมากที่นายโตโงจะยอม คือ ให้กระทรวงใหม่นี้มีอำนานพียงเกี่ยวกับกิจการของดินแดนที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครอง (occupied territories) แต่พลเอกโตโจไม่ยอม และกลับเสนอว่ามีสองทาง คือ คณะรัฐมนตรีลาออก หรือโตโงลาออก โตโงขอเวลาตรึกตรองโดยกลับไปบ้านก่อน อีกสองชั่วโมงภายหลังคือประมาณ ๑๘ น. โตโงจึงกลับไปพบพลเอกโตโจและยื่นใบลาออก
ภายหลังสงครามหลักฐานต่าง ๆ และคำให้การของพลเอกโตโจก็ดี ของผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ก็ดี อาทิ นายโตโง และรัฐมนตรีอื่น ๆ ในศาลทหารระหว่างประเทศกรุงโตเกียว ปรากฏว่าตรงกันกับที่ข้าพเจ้าได้รายงานมายังรัฐบาลเราดังกล่าวแล้วข้างต้น ตามหลักฐานและคำพยานในศาลเป็นอันยุติได้ว่า เพื่อที่จะให้มีความสัมพันธ์พิเศษระหว่างญี่ปุ่นกับภูมิภาคที่ยึดครองไว้ พลเอกโตโจได้ตัดสินใจตั้งองค์การพิเศษขึ้นเพื่อควบคุมและประสานนโยบาย โดยให้มีคณะมนตรีพิจารณาเรื่องมหาเอเซียบูรพา เมื่อเดือนมีมาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ซึ่งเป็นฉากแรกของการตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเซีย บูรพา นายโตโงรัฐมนตรีต่างประเทศเพิ่งทราบเป็นครั้งแรกจากนายมิชิโอ ยูซาวา (Michio Yuzawa) รัฐมนตรีว่าการมหาดไทย นายโตโงได้เสนอความเห็นคัดค้านเต็มที่ เพราะอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศนั้น ถูกลิดตัดทอนมาหลายครั้งแล้ว เช่น เรื่องเกี่ยวกับแมนจูกัวก็ต้องผ่านสภากิจการแมนจูเรีย เรื่องเกี่ยวกับจีนก็ต้องผ่านสภากการจีน ฉะนั้นการที่จะมาจำกัดให้กระทรวงการต่างประเทศทำงานเฉพาะการทูตโดยแท้ (pure diplomacy) ซึ่งนายโตโงให้การต่อศาลว่า ได้รับทราบจากนายโฮโซโน ประธานสภาวางแผนว่า หมายถึงพิธีการต่าง ๆ เช่น การรับทูต การลงนามในสนธิสัญญา เป็นต้น นายโตโงจึงตัดสินใจจะต่อสู้เรื่องนี้ให้ถึงที่สุด และจะไม่ยอมลาออกเพื่อจะบังคับให้รัฐบาลโตโจลาออกทั้งคณะ แต่ปรากฏว่าพลเอกโตโจยืนกรานไม่ยอม ต่อมากองทัพบกกองทัพเรือส่งผู้แทนมาแจ้งกับนายโตโงว่า ทั้งสองกองทัพเห็นด้วยในการตั้งกระทรวงใหม่นี้ นายโตโงจึงไปขอความเห็นจากรัฐมนตรีพลเรือนอื่น ๆ ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดที่พร้อมจะสนับสนุนความเห็นของนายโตโง
วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) คณะรัฐมนตรีมีประชุมด่วน พลเอกโตโจได้เสนอแผนการตั้งกระทรวงนี้โดยชี้แจงว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมหาเอเซียบูรพานี้มีความสัมพันธ์พิเศษเท่ากับญาติ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องตั้งกระทรวงใหม่นี้เพื่อติดต่อ นายโตโงว่า แต่ประเทศเหล่านี้จะไม่พอใจแน่ เพราะจะต้องเข้าใจเอาว่า ญี่ปุ่นเหยียดเป็นลูกน้อง และถ้ากระทรวงใหม่นี้จะมีหน้าที่ทำนองสภากิจการอื่นแล้ว ก็ไม่เห็นได้ประโยชน์อันใด เพราะสภานั้นมีแต่จะทำให้ขึ้นไม่พอใจ นอกจากนี้การที่จะตั้งองค์การสององค์การเกี่ยวกับการทูตกลับจะทำให้งานสับสน และนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลแตกแยกกัน อนึ่งนายโตโงขอให้คณะรัฐมนตรีระลึกไว้ด้วยว่า ญี่ปุ่นยังไม่ได้ชนะสงคราม ฉะนั้นคณะรัฐมนตรีควรมุ่งสนใจในการชนะสงคราม และปล่อยปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศต่างๆ ในดินแดนยึดครองนี้ไว้ก่อน พิจารณาเอาภายหลังก็ได้ แต่ปรากฏว่า พลเอกโตโจยืนกรานไม่ยอม เมื่อนายโตโงเห็นว่าไม่เป็นผลสำเร็จ และการที่จะให้คณะรัฐมนตรีลาออกก็ไม่สำเร็จ จึงจำต้องลาออก คณะรัฐมนตรีจึงลงมติอนุมัติให้ตั้งกระทรวงใหม่นี้ขึ้น แต่เมื่อเสนอเรื่องขึ้นไปยังคณะกรรมการซึ่งองคมนตรีตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่รัฐบาลเสนอ ปรากฏว่าถูกคัดค้านอย่างแรงจากสมาชิกบางนาย ซึ่งมีดอกเตอร์ฮารา (Hara) ประธานองคมนตรีเองเป็นหัวหน้า พวกคัดค้านนี้ให้เหตุผลทำนองเดียวกับเหตุผลของนายโตโง คือ การตั้งกระทรวงใหม่จะทำให้สับสนเพราะ เกิดมีอีกกระทรวงหนึ่งซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการทูต และความไม่พอใจจะเกิดขึ้นจากประเทศที่ถูกกระทบกระเทือน แต่พลเอกโตโจได้ไปชี้แจงในคณะองคมนตรีว่า จำเป็นอย่างยิ่งต้องตั้งกระทรวงนี้ เพื่อให้นโยบายการสร้างมหาเอเซียบูรพามีเอกภาพ แต่เมื่อถูกถามว่ากระทรวงใหม่นี้จะมีอำนาจเพียงใด พลเอกโตโจยอมรับว่า กระทรวงใหม่นี้จะไม่มีอำนาจในภูมิภาคนี้เพราะทหารญี่ปุ่นเข้ายึดครองอยู่ อย่างไรก็ดี ทางทหารจะรีบให้ฝ่ายพลเรือนเข้าปกครองทันทีเมื่อโอกาสอำนวย สมาชิกองคมนตรีนายหนึ่งได้ตั้งคำถามอย่างรุนแรงว่า แม้แต่บนเกาะฟอร์โมซาเองเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองก็เป็นญี่ปุ่นอยู่เกือบหมดแล้ว ฉะนั้นในดินแดนที่เข้าไปปกครองใหม่นี้ จะหาคนไปปกครองได้อย่างไร พลเอกโตโจแถลงว่า จะพยายามให้คนพื้นเมืองมีส่วนร่วมการปกครองเป็นขั้น ๆ ไป ส่วนมากของคณะองคมนตรีไม่พอใจในคำชี้แจงของพลเอกโตโจ และนายตานีรัฐมนตรีต่างประเทศใหม่ซึ่งเข้าไปประชุม ชี้แจงสนับสนุนพลเอกโตโจ แต่ในที่สุดพลเอกโตโจก็เอาชนะคณะองคมนตรีได้ และสมเด็จพระจักรพรรดิต้องลงพระนามาภิไธยประกาศพระราชกฤษฎีกาตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพาในเดือนตุลาคม และเปิดทำการในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒)
ตอนนี้ข้าพเจ้าขอแทรกเรื่องคำว่า “มหาเอเซียบูรพา” ที่ญี่ปุ่นเรียกสักเล็กน้อย สงครามครั้งนี้ญี่ปุ่นเรียกว่า “สงครามมหาเอเซียบูรพา” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Greater East Asia War” อ่านออกเสียงภาษาญี่ปุ่นว่า “Dai Toa Senso” สงครามครั้งนี้มีวัตถุประสงค์จะสร้างวงไพบูลย์มหาเอเซียบูรพา (The Greater East Asia Co-prosperity Sphere) อ่านออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “Dai Toa Kyoeiken” คำนี้มีความหมายถึงสามทาง คือ ทางวัฒนธรรม ทางการเมือง และเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ซึ่งเป็นวันฉลองสัญญาพันธไมตรีญี่ปุ่น จีน และแมนจูกัว พลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรี และนายอาโอกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาเอเซียบูรพา ได้มีสุนทรพจน์สาระสำคัญว่า การสร้างมหาเอเชียบูรพามีฐานซึ่งตั้งอยู่บนหลักธรรม วัตถุประสงค์ไม่ใช่เพียงสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่อย่างเดียว แต่ต้องการช่วยให้ประชากรทุกชาติในอาณาบริเวณดังกล่าวได้ประโยชน์และมีฐานะจริงจัง สมกับที่ตนได้เกิดมามีภูมิลำเนาในดินแดนเหล่านี้ ฐานะนี้ต่างกัน โดยมูลฐานจากนโยบายอาณานิคมของชาติตะวันตก ญี่ปุ่นมีความมุ่งประสงค์ในเอเซียอย่างเดียวกับพันธมิตรของญี่ปุ่น (หมายถึงเยอรมันนีและอิตาลี) ในยุโรป สงครามครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการทำกันเพียงเพื่อยึดครองทรัพยากรธรรมชาติ แต่เป็นการรณรงค์อันศักดิ์สิทธิ์และศีลธรรมเพื่อสร้างระบบใหม่ ซึ่งทุกชาติจะต้องได้รับประโยชน์ ตามสิทธิที่ตนควรมีควรได้ และเพื่อประกันให้สันติภาพมีอยู่อย่างถาวรต่อไป ทางฝ่ายทหารนั้นเล่าเห็นว่าญี่ปุ่นมีภารกิจที่จะต้องนำเอเซีย จะต้องลบล้างอิทธิพลของตะวันตกออกไปให้หมดสิ้นจากเอเซีย การสถาปนามหาเอเซียบูรพาสำเร็จ ย่อมไม่หมายเพียงการสร้างสถานการณ์ให้ญี่ปุ่นเป็นจักรวรรดิที่เลี้ยงตัวเองได้ แต่จะเป็นการเลื่อนฐานะให้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำทั้งทางด้านจริยธรรมและวัฒนธรรมของเอเซีย อีกนัยหนึ่งญี่ปุ่นจะเป็นเสมือนหนึ่ง “ประทีปของเอเซีย” (Light of Asia) เมื่อญี่ปุ่นจะช่วยชาติต่าง ๆ ในเอเซียเช่นนี้ ชาตินั้น ๆ จะต้องร่วมมือ ช่วยกันสร้างวงไพบูลย์ให้สำเร็จ การต่อต้านเป็นการทรยศต่อญี่ปุ่นฉะนั้นจะต้องได้รับโทษถึงตาย ความคิดนี้ ญี่ปุ่นได้แสดงให้ปรากฏในฟิลิปปินส์ ซึ่งพลเมืองจงรักภักดีต่อสหรัฐอเมริกา และรวมกันช่วยสหรัฐอเมริกาต่อต้านญี่ปุ่นแทบทุกแห่ง ชาติต่าง ๆ จะต้องร่วมกันอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ช่วยเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ในการสงครามคราวนี้ ญี่ปุ่นต้องเสียสละมากกว่าชาติอื่น ๆ ในเอเซีย ฉะนั้น ชาติอื่น ๆ ไม่ควรร้องว่าลำบากต่างๆ นานา
ในด้านวัฒนธรรม ญี่ปุ่นต้องการช่วยรักษาวัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ ไว้ และลบล้างอิทธิพลของตะวันตกให้หมดสิ้นไป เช่น ในแมนจูกัวและเมืองจีน ญี่ปุ่นพยายามฟื้นฟูลัทธิขงจู๊ ในประเทศไทยเนื่องจากเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา ญี่ปุ่นสนับสนุนเต็มที่สำหรับไทย ถึงกับส่งพระญี่ปุ่นเข้ามาในมลายูกับเนเธอร์แลนด์อีสตอินดิส (อินโดนีเซีย) เนื่องจากศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ญี่ปุ่นก็สนับสนุนศาสนานี้เต็มที่ ในฟิลิปปินส์ก็สนับสนุนศาสนาโรมันคาธอลิก
เมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้ว สัมพันธมิตรได้ค้นพบร่างแผนการที่จะจัดการอย่างใดกับดินแดนที่ญี่ปุ่น ที่ได้จากเอกสารในกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น แผนการนี้ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) แต่เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรนำแสดงต่อศาลทหารระหว่างประเทศกรุงโตเกียว นายโตโงรัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้นปฏิเสธว่า ไม่เคยเห็นแผนการนี้ และไม่เคยได้ยินหรือคิดวางเลย อาจเป็นว่าเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยคิดขึ้นก็เป็นได้ แผนนี้เสนอให้เกาะสิงคโปร์ บางส่วนของสหพันธรัฐมลายู เกาะบอเนียวเหนือของอังกฤษ และซาราวัก เป็นดินแดนของญี่ปุ่น โดยให้มีผู้สำเร็จราชการอยู่ที่สิงคโปร์ นอกนั้นคือบางส่วนของมลายู ให้เป็นรัฐในอารักขา รวมทั้งเกาะบรูในด้วย ส่วนเนเธอร์แลนด์อีสตอินดีส (คืออินโดนีเซียในปัจจุบัน) ให้เป็นสหพันธรัฐอินโดนีเซีย แต่ดัทชนิวกินี ดัทชบอเนียว และดัทชทิมอร์ ให้ญี่ปุ่นควบคุมโดยให้เป็นจักรภพของสหพันธ์อินโดนีเซีย ให้ฟิลิปปินส์ได้เอกราช แต่ต้องให้ญี่ปุ่นได้สิทธิบางประการเกี่ยวกับทหารและเศรษฐกิจ ฮ่องกงให้เป็นดินแดนของญี่ปุ่น แต่อาจพิจารณาคืนให้ขึ้นได้เมื่อรัฐบาลเจียงไคเช็คเลิกล้มไปแล้ว
อย่างไรก็ดี ฝ่ายสัมพันธมิตรมีความเห็นว่า ถ้าญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะ ก็คงจะจัดการดังต่อไปนี้ ๑) ดินแดนที่ญี่ปุ่นจะโอนเป็นดินแดนของญี่ปุ่นทันที ก็คือ ดินแดนที่มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ บอเนียว นิวกินี และดัทชทิมอร์ ๒) ดินแดนซึ่งในชั้นแรกญี่ปุ่นจะปกครอง แต่ในที่สุดก็คงจะผ่อนให้ปกครองตนเองบ้างตามสมควรแต่โดยจำกัด คือ รัฐต่าง ๆ ในมลายู สุมาตรา ชวา มาโดวา และเซเลบีส และ ๓) แมนจูกัว จีน ฟิลิปปินส์ อินโดจีน ไทย และพม่า ประเทศเหล่านี้ญี่ปุ่นก็จะให้เอกราชหรือรับนับถือเอกราชต่อไป แต่ก็คงจะเรียกร้องเอาสิทธิบางประการ เฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับฐานทัพ และจะต้องมีสัญญาช่วยเหลือทางทหารและทางการเมือง ทางด้านเศรษฐกิจนั้น วงไพบูลย์หรือวงมหาเอเซียบูรพาจะเป็นดินแดนร่วมไพบูลย์และเลี้ยงตัวเองได้ โดยประเทศในวงไพบูลย์จะต้องผลิตวัตถุที่ดีที่สุดของตนให้มากที่สุด และจะได้รับสิ่งซึ่งตนไม่มีจากประเทศอื่น ๆ ในวงเดียวกัน
การรับนับถือรัฐบาลจีนวังจิงไว
ในระหว่างสงครามครั้งนี้ รัฐบาลไทยถูกขอร้องจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้รับนับถือรัฐบาลจีนวังจิงไว ก่อนจะเล่าถึงข้อเท็จริงในเรื่องนี้ จำเป็นจะต้องทราบถึงการเป็นมาของรัฐบาลวังจิงไวเสียก่อน
ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของจีนย่อมทราบแล้วว่า รัฐบาลจอมพลเจียงไคเช็คทำสงครามกับญี่ปุ่น๑๙ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗) ในขณะนั้นวังจิงไว๒๐ เป็นสมาชิกในคณะรัฐบาลจอมพลเจียงไคเช็ค วังจิงไวเป็นศิษย์คนสนิทของดอกเตอร์ซุนยัตเซน หัวหน้าปฏิวัติจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ (ค.ศ. ๑๙๑๐) ถูกจับฐานพยายามขว้างลูกระเบิดใส่ผู้สำเร็จราชการของจักรพรรดิปูยี ซึ่งต่อมาเป็นจักรพรรดิแมนจูกัว แต่มีสมาชิกในคณะรัฐบาลจีนครั้งนั้นเข้าช่วยเหลือจึงหลุดพ้นคดีออกมาได้ วังจิงไวมีสติปัญญาสูง เมื่อปฏิวัติตั้งคณะก๊กมินตั้งแล้ว วังจิงไวมีตำแหน่งรองจากดอกเตอร์ซุนยัตเซน และเป็นผู้เขียนพินัยกรรมของซุนยัตเซน ฉะนั้น ถ้าว่าถึงอาวุโสแล้ว วังจิงไวสูงกว่าเจียงไคเช็คมาก วังจิงไวเคยศึกษาอยู่ในญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป วังจิงไวมีนโยบายคล้าย ๆ นโยบายญี่ปุ่น คือ เอเซียสำหรับเอเซีย ต้องการให้เอเซียหลุดพ้นจากการกดขี่ของฝ่ายตะวันตก ซึ่งมาอาศัยใช้ประเทศในเอเซียเป็นที่หากิน วังจิงไวเห็นว่า ในการนี้จีนกับญี่ปุ่นจะต้องหาทางตกลงในนโยบายร่วมกัน ในความคิดทางด้านเศรษฐกิจ วังจิงไวเอนเอียงไปทางฝ่ายซ้าย แต่ต่อมาก็กลับเป็นฝ่ายคัดค้านอย่างแรงที่จีนจะเป็นคอมมิวนิสต์
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า รัฐบาลจีนของเจียงไคเช็คทำสงครามกับญี่ปุ่นมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)๒๑ ในขณะนั้นวังจิงไวเป็นสมาชิกในคณะรัฐบาลจีนของเจียงไคเช็ค ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ (ค.ศ. ๑๘๓๘) เจ้าชายโคโนเอ๒๒ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ประกาศว่า พร้อมที่จะทำสัญญาสงบศึกกับจีน ถ้าจีนยอมรับนับถือแมนจูกัว ทำสนธิสัญญากับญี่ปุ่นแอนตี้โคมินเติร์น ทำนอง เดียวกันกับที่ญี่ปุ่นทำกับเยอรมันนีและอิตาลี๒๓ ยอมให้ญี่ปุ่นมีทหารได้ในบางแห่งของจีน ให้ญี่ปุ่นมีสิทธิค้าขายได้ทั่วประเทศจีน ให้ญี่ปุ่นมีสิทธิพัฒนาการทรัพยากรธรรมชาติของจีนในภูมิภาคอื่นเหนือและมองโกเลียใน ในการนี้ญี่ปุ่นพร้อมที่จะรับรองว่า จะไม่ผนวกดินแดนของจีนและเรียกค่าเสียหายในการทำสงครามครั้งนี้ จะเคารพบูรณภาพอาณาเขตของจีน จะพิจารณาเลิกสภาพนอกอาณาเขต และเรื่องสัมปทานนิคมซึ่งญี่ปุ่นได้ไว้ในเมืองเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่สมัยกบฏบ๊อกเซอร์ วังจิงไวเร่งเร้าให้เจียงไคเช็คตกลงรับหลักการ เพราะเห็นว่าการรบกับญี่ปุ่นต่อไปก็มีแต่จะพินาศลงไปทุกวัน ประกอบทั้งวังจิงไวก็อยากจะร่วมมือกับญี่ปุ่นปราบคอมมิวนิสต์จีนอยู่แล้ว นอกจากนี้ มีผู้กล่าวว่า วังจิงไวแน่ใจว่าฝ่ายอักษะคงจะชนะสงคราม และถ้าเยอรมันนีชนะสงคราม เยอรมันนีก็คงจะไม่ปล่อยให้ญี่ปุ่นทำกับจีนได้ตามชอบใจ แต่ทางเจียงไคเช็คไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าการรับข้อเสนอของญี่ปุ่นก็เท่ากับยอมเป็นทาสญี่ปุ่น
ในที่สุดในเดือนธันวาคมปีนั้นเอง วังจิงไวกับมิตรบางคนก็ได้หลบหนีจากเมืองจีนมาที่เมืองฮานอยในอินโดจีน และ ๔ เดือนต่อมา คือในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙) จึงเดินทางไปเซี่ยงไฮ้ ซึ่งญี่ปุ่นยกครอง และเริ่มเจรจากับญี่ปุ่น โดยขอเอาหลักการของข้อเสนอที่ญี่ปุ่นเสนอกับเจียงไคเช็คเป็นมูลฐานการเจรจา ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน วังจิงไวก็เดินทางไปญี่ปุ่น และเจรจากับบารอน ฮิรานูมา นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และพลเอก อิตางากิ๒๔ รัฐมนตรีกลาโหมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลจีนขึ้นใหม่ ได้เจรจากันอยู่ประมาณ ๑ ปี ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ญี่ปุ่นตกลงรับนับถือว่า วังจิงไว เป็นประธานาธิบดีของชาติจีน มีสำนักอยู่ที่กรุงนานกิง และวังจิงไวยอมรับนับถือรัฐบาลแมนจูกัว ซึ่งมีอดีตจักรพรรดิปูยี ของจีน เป็นจักรพรรดิ และในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) วังจิงไวในนามของรัฐบาลจีนที่นานถึงได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงที่มาของการที่ไทยจำต้องรับรองรัฐบาลวังจิงไว เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) นายชิเงโนริ โตโง๒๕ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นได้เชิญข้าพเจ้าไปพบที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อได้สนทนากันในเรื่องทั่ว ๆ ไปแล้ว นายโตโงได้ปรารภว่า เวลานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลไทยได้มีความเข้าใจกันเป็นอย่างดีแล้วในเรื่องที่กองทัพไทยเดินทางเข้าไปในดินแดนพม่า เข้าใจว่าอาจจะมีการปะทะกันกับทหารของรัฐบาลจุงกิงของเจียงไคเช็ค๒๖ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลไทยก็คงจะต้องมีความจำเป็น ในการที่จะแสดงท่าที่ต่อรัฐบาลจุงกิงอย่างใดอย่างหนึ่ง รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นว่าแทนที่ไทยจะประกาศสงครามกับรัฐบาลจุงกิง ซึ่งเท่ากับไปรับนับถือรัฐบาลจุงกิง รัฐบาลไทยควรฉวยโอกาสประกาศรับรองรัฐบาลแห่งชาติจีนใหม่เสียทีเดียว (หมายถึงรัฐบาลของวังจิงไว) นอกจากนี้ โตโง ใคร่ขอให้ข้าพเจ้ารายงานไปยังรัฐบาลของเราด้วยว่า นโยบายของญี่ปุ่นนั้นเท่าที่เกี่ยวกับจีนและเอเชียตะวันออก ก็คือรับรองและนับถือรัฐบาลจีนวังจิงไวเท่านั้น ว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายและพันธมิตรของญี่ปุ่นทุกชาติก็ยอมรับนับถือด้วยแล้วทั้งนั้น เช่น รัฐบาลเยอรมันและอิตาเลียน และไม่ได้โต้ตอบประการใดในเมื่อรัฐบาลเจียงไคเช็คประกาศสงคราม ด้วยเหตุผลดังได้เล่ามานี้ ถ้าไทยจะดำเนินท่าทีต่อจีนผิดแผกไปจากรัฐบาลญี่ปุ่น และรัฐบาลพันธมิตรของญี่ปุ่นแล้ว ก็จะก่อให้เกิดความรู้สึกทั่วๆไปว่า เป็นการแปลกประหลาดมาก และอาจก่อให้เกิดสถานการณ์กระอักกระอ่วน (awkward situation) ในระหว่างรัฐบาลซึ่งเป็นพันธมิตรด้วยกันเพราะนโยบายเกี่ยวกับจีนไม่ประสานกัน รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีความประสงค์ที่จะให้รัฐบาลไทยตระหนักในพฤติการณ์ ซึ่งประเทศในเอเซียทั้งหลายจะต้องร่วมกำลังกันในการสร้างวงไพบูลย์ในมหาเอเซียบูรพา (Co-prosperity Sphere in Greater East Asia) และเพื่อเป็นการร่วมนโยบายอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างญี่ปุ่นกับพันธมิตร ในอันที่จะทำสงครามครั้งนี้ให้บรรลุชัยชนะ จึงใคร่ที่จะขอให้ไทยถือโอกาสในครั้งนี้รับรองและนับถือรัฐบาลวังจิงไวเสีย เช่นเดียวกับพันธมิตรอื่นของญี่ปุ่น โดยไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาพันธไมตรีระหว่างไทยกับจีนซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน โตโง แถมท้ายว่า ที่จริงก็น่าประหลาดที่รัฐบาลไทยรับนับถือรัฐบาลแมนจูกัวได้ แต่เกี่ยวกับจีนกลับลังเลใจ ข้าพเจ้าได้โต้ตอบไปว่า ปัญหาเรื่องแมนจูกัวกับปัญหาเรื่องจีนต่างกัน เรามีคนจีนอยู่มากในประเทศไทย และเรามีปัญหามากหลายเกี่ยวกับคนจีน ฉะนั้น รัฐบาลไทยจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าจะได้รายงานการสนทนาไปยังรัฐบาลของข้าพเจ้า ในเย็นวันนั้นเอง ข้าพเจ้าได้โทรเลขย่อความของการสนทนาเข้ามายังกระทรวงการต่างประเทศของเรา และในวันรุ่งขึ้นได้รายงานเป็นลายลักษณ์อักษรโดยละเอียด พร้อมทั้งเสนอความเห็นประกอบให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้ให้ดี เพราะปัญหาเรื่องจีนนี้มีมากมายสลับซับซ้อน ดังได้กล่าวแล้ว๒๗
เย็นวันที่ ๑๘ มิถุนายน คือ ๒๗ วัน ภายหลังที่ข้าพเจ้าได้พบกับโตโง เลขานุการรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นได้โทรศัพท์แจ้งว่า ในตอนบ่ายรัฐมนตรีต่างประเทศอยากจะพูดกับข้าพเจ้า แต่เนื่องจาก ข้าพเจ้าออกไปนอกสถานที่ ฉะนั้น เลขานุการจึงได้รับคำสั่งให้แจ้งกับข้าพเจ้าว่า รัฐมนตรีได้รับโทรเลขจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯว่า หลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นแล้วว่า รัฐบาลไทยได้ประชุมปรึกษาตกลงที่จะรับรองนับถือรัฐบาลวังจิงไวแล้ว โดยที่เรื่องนี้รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ขอร้องผ่านข้าพเจ้า จึงไม่ทราบว่าเหตุใดข้าพเจ้าจึงไม่มาพบ เพื่อตอบเรื่องนี้แก่รัฐมนตรีต่างประเทศด้วยตนเองเป็นทางการ
โดยที่ตั้งแต่รายงานเรื่องนี้ไปแล้ว รัฐบาลยังไม่เคยให้ความเห็นหรือสั่งการมายังข้าพเจ้าอย่างใด ฉะนั้น ข่าวที่ข้าพเจ้าทราบจากเลขานุการรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นข่าวแรกที่ข้าพเจ้าได้รับทราบ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจเป็นอย่างมาก จึงให้ตอบกับเลขานุการ ฯ ไปว่า ข้าพเจ้ายังไม่ทราบเรื่องนี้เลย จึงยังไม่ได้ไปพบ เพราะไม่มีคำตอบที่จะตอบ อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าจะโทรเลขสอบถามกรุงเทพฯ ไป เมื่อได้รับคำตอบประการใดก็จะได้ขอพบรัฐมนตรีทันที และในคืนวันนั้นเอง ข้าพเจ้าได้โทรเลขถึงกระทรวง เล่าเรื่องที่ถูกต่อว่าไปโดยละเอียด รุ่งขึ้นได้รับโทรเลขจากกระทรวงซึ่งสวนกับโทรเลขของข้าพเจ้า มีความว่า รัฐบาลไทยตกลงรับนับถือรัฐบาลวังจิงไวแล้ว ฉะนั้นขอให้ข้าพเจ้านำความแจ้งต่อรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น คือ โตโง และว่าในขณะเดียวกันทางกรุงเทพฯ ก็ได้แจ้งให้เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นทราบแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอพบโตโงทันที และแจ้งให้ทราบตามที่กรุงเทพฯ สั่งมา โตโงกล่าวขอบใจข้าพเจ้าและรัฐบาล แต่ขอให้ข้าพเจ้าต่อว่ารัฐบาลไทยว่า เขาเป็นผู้ขอร้องผ่านข้าพเจ้า ฉะนั้น ผู้ที่จะได้ฟังคำตอบในเรื่องนี้คนแรกก็คือตัวเขา ไม่ใช่ทูตญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ (ข้าพเจ้าสืบทราบได้ความว่า ในการที่โตโงขอร้องผ่านทางข้าพเจ้านี้ โตโงมิได้แจ้งให้ทูตญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ ทราบ ฉะนั้น เมื่อ รัฐบาลเรารีบตอบทางทูตญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ โตโงจึงไม่พอใจ) ข้าพเจ้าได้แก้ไปว่า ที่รัฐบาลไทยแจ้งกับญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ ก็คงเพื่อให้รวดเร็วเข้า และคงเพียงต้องการให้รัฐบาลญี่ปุ่นพอใจเท่านั้น การสนทนาในวันนี้ ข้าพเจ้าได้รายงานต่อรัฐบาลเราโดยละเอียด ในที่สุดรัฐบาลได้ประกาศรับรองเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒)
การรับรองรัฐบาลวังจิงไวครั้งนี้ รัฐบาลเจียงไคเช็คโกรธมาก เมื่อสงครามสิ้นสุดลง หนังสือพิมพ์ตากุงเป้าในจุงกิงถึงกับลงบทความ ขอให้รัฐบาลไทยทำพิธีการยอมแพ้ เช่นประเทศศัตรูอื่น ๆ และให้จับตัวบุคคลสำคัญ ๆ ในรัฐบาล รวมทั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งไปขึ้นศาลอาชญากรสงคราม๒๘ ในข้อนี้ก็ยังเอิญเคราะห์ดีที่ระหว่างสงคราม ไทยเราได้ร่วมมือกับฝ่ายสหประชาชาติอย่างลับ ๆ เฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เหตุการณ์จึงเบาบางลง ดังจะได้กล่าวต่อไปในภาคสามบทที่หนึ่ง เรื่องการทำสนธิสัญญากับจีน
ในวันที่รัฐบาลไทยประกาศรับนับถือรัฐบาลในวังจิงไวนี้ คือ วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) เอกอัครราชทูตจีนของวังจิงไว๒๙ ประจำกรุงโตเกียวได้มาพบข้าพเจ้า ขอให้รายงานขอบคุณรัฐบาลเราด้วยในไมตรีจิตครั้งนี้ ส่วนในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตนั้น เนื่องจากเวลานี้เป็นเวลาสงคราม จึงควรประหยัด ทูตเสนอว่า ทูตพร้อมที่จะเสนอไปยังรัฐบาลให้ตั้งทูตเป็นเอกอัครราชทูตหรืออัครราชทูตประจำกรุงเทพฯ อีกตำแหน่งหนึ่ง และถ้าข้าพเจ้าเห็นด้วยก็ขอให้ข้าพเจ้าเสนอต่อรัฐบาลไทยให้ตั้งข้าพเจ้าในตำแหน่งทำนองเดียวกันประจำกรุงนานกิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลวังจิงไว ทูตจีนได้ชี้แจงว่าเรื่องนี้ได้ปรึกษากับนายโตโงรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศญี่ปุ่นแล้ว ไม่มีข้อทักท้วงประการใด ข้าพเจ้าได้ตอบว่า ข้าพเจ้าจักรายงานรัฐบาลต่อไป
ในเรื่องการรับนับถือรัฐบาลวังจิงไวนี้ ข้าพเจ้าได้รายงานรัฐบาลตั้งแต่แรกแล้วว่า ใคร่ขอให้รัฐบาลพิจารณาให้ดี เพราะนโยบายของเราตลอดมาหลีกเลี่ยงการทำสนธิสัญญากับจีน เพราะเรามีคนจีนมาก แต่เมื่อรัฐบาลเกรงใจญี่ปุ่นจึงจำต้องรับรองรัฐบาลวังจิงไวก็แล้วไป แต่ถึงกับจะแลกเปลี่ยนทูตกันนั้นออกจะเดินไปไกลมาก ข้าพเจ้ายังไม่เห็นพ้องด้วย แต่ก็ต้องรายงานเข้ามายังรัฐบาลตามที่ทูตจีนเสนอ พร้อมด้วยความเห็นของข้าพเจ้า
ต่อมาวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ทูตจีนมาขอพบข้าพเจ้าอีกและแจ้งว่า รัฐบาลอื่นเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของทูตทุกประการ และได้รับคำสั่งให้มาแจ้งกับข้าพเจ้าว่า รัฐบาลจีนพร้อมที่จะตั้งเอกอัครราชทูตหรืออัครราชทูต โดยให้ทูตนอกจากประจำกรุงโตเกียวแล้ว ให้เดินทางไปเป็นทูตที่กรุงเทพฯด้วย รัฐบาลจีนทราบดีว่า รัฐบาลไทยคงเป็นห่วงในเรื่องฐานะและปัญหาคนจีนในประเทศไทย บัดนี้ รัฐบาลจีนขอให้คำมั่นได้ว่า รัฐบาลจีนจะไม่แตะต้องปัญหาเหล่านี้ ตรงกันข้ามจะพยายามแนะนำให้คนอื่นอยู่ในโอวาท และปฏิบัติตามกฎหมายไทยทุกประการ และร่วมมือกับรัฐบาลไทย ในการนำมาซึ่งความสำเร็จแห่งสงครามครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่า ข้าพเจ้าได้รายงานการสนทนากับทูตไปแล้ว แต่จนบัดนี้ ยังไม่ได้รับตอบ แต่ก็จะได้รายงานการสนทนาวันนี้เพิ่มเติมเข้าไปอีก ทูตได้กล่าวว่า โดยที่เรื่องรับรองรัฐบาลวังจิงไวครั้งนี้ ญี่ปุ่นเข้าช่วยเจรจา ทูตจึงคิดว่าจะต้องไปเล่าให้นายโตโงรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศทราบ และหยั่งเสียงเขาด้วย แล้วจะมาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังอีก ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่า ข้าพเจ้าไม่มีข้อทักท้วงประการใด วันรุ่งขึ้นทูตขึ้นมาพบอีก บอกว่าได้รับคำสั่งรัฐบาลให้ไปพบกับนายโตโงรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ซึ่งทูตก็ได้ไปพบและแจ้งให้รัฐมนตรีทราบว่า โดยที่รัฐบาลจีนรู้สึกว่า บางทีไทยอาจจะยังไม่ค่อยอยากแลกเปลี่ยนทูตนัก รัฐบาลจีนจึงให้หารือรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นดูว่า ถ้าไทยยังไม่พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนทูต รัฐบาลจีนใคร่จะส่งคณะทูตพิเศษไปแสดงความยินดีและขอบคุณรัฐบาลไทย ญี่ปุ่นจะเห็นด้วยหรือไม่ นายโตโงรัฐมนตรีได้ตอบกับทูตว่า ไม่เหมาะ เป็นการเสียเงินเสียทองเปล่า ๆ และก็ยุ่งยากด้วย ไม่เหมาะสมในกาลขณะนี้ แต่ในเรื่องแลกเปลี่ยนทูตนั้นเห็นด้วย ทูตได้ถามรัฐมนตรีว่า ควรเป็นชั้นเอกอัครราชทูตหรืออัครราชทูต รัฐมนตรีต่างประเทศตอบว่า ถ้าจีนและไทยตั้งชั้นเอกอัครราชทูต ก็ต้องคำนึงถึงตำแหน่งทูตไทยที่แมนจูกัวด้วย เพราะขณะนี้เป็นเพียงชั้นอัครราชทูต รัฐมนตรีเห็นว่า ไม่เห็นจำเป็นที่จีนกับไทยจะต้องตั้งชั้นเอกอัครราชทูต
วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้หยั่งเสียงทูตจีนว่า ถ้าจะตั้งพลตรีหลวงวีระโยธา๓๐ อัครราชทูตของเราที่แมนจูกัวให้เป็นทูตที่นานกิงด้วยจะเหมาะหรือไม่ ข้าพเจ้าจึงไปพบทูตจีนปรารภถึงเรื่องนี้ ทูตจีนแสดงท่าทีไม่ขัดข้อง แต่กล่าวว่า ขณะนี้หลวงวีระโยธาเป็นเพียงอัครราชทูต ถ้าเช่นนั้น มิต้องเลื่อนให้หลวงวีระโยธาเป็นเอกอัครราชทูตหรือ ข้าพเจ้ากล่าวว่า ฟังๆดู ทูตเองบอกกับข้าพเจ้าว่า ญี่ปุ่นไม่ค่อยอยากให้มีฐานะเอกอัครราชทูตนัก จะเหมาะหรือ รวมความการสนทนาวันนี้ ทูตจีนไม่ขัดข้อง แต่ใคร่ให้มีฐานะเป็นเอกอัครราชทูต
แต่ต่อมาวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งบัดนี้ได้เลื่อนขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พูดวิทยุโทรศัพท์กับข้าพเจ้าว่า เรื่องแต่งตั้งทูตกับจีนนานกิงนี้ นโยบายของรัฐบาลอยากให้มีอัครราชทูตประจำกรุงนานกิงเสียทีเดียวอีกคนหนึ่ง คือ เปลี่ยนนโยบายเดิมที่จะให้หลวงวีระโยธาประจำแมนจูกัวมาเป็นทูตที่นานกิงด้วย ข้าพเจ้าได้ตอบว่า เรื่องนี้ทูตจีนฟังจากรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นว่า ควรเป็นการไปชั่วคราว ไม่ใช่ประจำ หลวงวิจิตรวาทการกล่าวกับข้าพเจ้าว่า ขอให้พยายามเอาเป็นประจำให้ได้ ข้าพเจ้าตอบว่าจะลองเจรจา
วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ข้าพเจ้าพบกับนายโตโงรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่องรัฐบาลญี่ปุ่น มอบร่างสัญญาวัฒนธรรม๓๑ให้ไทยพิจารณา ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสหยั่งเสียงรัฐมนตรีเรื่องแลกเปลี่ยนทูตกับจีนตามที่หลวงวิจิตรวาทการสั่งไป ก็ได้รับคำตอบว่า การแต่งตั้งทูตประจำสิ้นเปลืองเปล่า ๆ ควรเพียงส่งทูตไปยื่นพระราชสาส์นแล้วกลับ ก็เป็นการเพียงพอ
ต่อมาข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้แจ้งกับทูตจีนว่า รัฐบาลยินดีที่จะตั้งทูตประจำและชั้นเอกอัครราชทูต แต่เนื่องจากทูตจีนเองรับว่า จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องคนอื่น รัฐบาลไทยจึงอยากให้มีหนังสือแลกเปลี่ยนรับรองในเรื่องนี้ก่อน ดังร่างซึ่งข้าพเจ้าได้มอบให้ ทูตจีนว่าไม่น่าขัดข้อง แต่เรื่องนี้ขอไปแจ้งให้รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นทราบด้วย ข้าพเจ้าจะขัดข้องหรือไม่ ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าไม่มีหน้าที่ขัดข้อง หรือไม่ขัดข้องประการใด เพราะเป็นเรื่องระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ในที่สุด ทูตจีนกล่าวกับข้าพเจ้าว่า ที่ญี่ปุ่นไม่อยากให้มีทูตประจำนั้น คงกลัวว่าทูตจีนจะไปรวมคนจีนในไทยเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อหนุนหลังจีนในนโยบายต่าง ๆ ก็เป็นได้ ต่อมาในกลางเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ข้าพเจ้าพบทูตจีนอีกในงานฉลองการตั้งรัฐแมนจูกัวครบ ๑๐ ปี ทูตจีนมากระซิบข้าพเจ้าว่า เรื่องตั้งเอกอัครราชทูตเห็นจะไม่สำเร็จ เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นขอให้ตั้งเพียงอัครราชทูต ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่า ถ้าเช่นนั้นลำบาก เพราะจีนมีทูตที่แมนจูกัวชั้นเอกอัครราชทูต ทูตจีนตอบว่า เห็นด้วยทุกประการ แต่รัฐบาลจีนวังจิงไวเองก็ยังไม่รู้จะตัดสินอย่างไร
ต่อมามีพฤติการณ์ซึ่งขบปัญหาเรื่องนี้ และทำให้ข้าพเจ้าสบายใจมาก คือ วังจิงไว ประธานาธิบดีจีนที่นานกิง กับนายจูหมินหงี รัฐมนตรีต่างประเทศ มาเยี่ยมญี่ปุ่นเป็นรัฐการ วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) นายจูหมินหงีรัฐมนตรีต่างประเทศจีนขอมาพบข้าพเจ้าที่บ้านพักราชการ เมื่อได้สนทนาถึงความสัมพันธ์อันสนิทเรื่อง “ชาติจีนชาติไทยมิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” คนไทยในตำแหน่งสูงๆ มากหลายก็มีเลือดเชื้อจีนทั้งนั้นแล้ว นายจูหมินหงีได้แจ้งว่า ในการมาญี่ปุ่นในครั้งนี้ ท่านวังจิงไวได้ปรึกษากับพลเอกโตโน นายกรัฐมนตรี นายตานี รัฐมนตรีต่างประเทศ นายอาโออิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการมหาเอเซียบูรพาแล้ว ท่านเหล่านี้เห็นว่า รัฐบาลจีนนานกิงยังไม่รู้สถานะเมืองไทย ควรจะไปศึกษาดูก่อน เพราะเพิ่งเริ่มสถาปนาไมตรีกัน ควรจะแลกเปลี่ยนคณะทูตพิเศษกันก่อน และตกลงว่า นายจูหมินหงีเองจะเป็นหัวหน้าเข้าไปเยี่ยม เรื่องนี้พลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะเป็นผู้พูดกับข้าพเจ้าเหมือนกัน แต่ในวันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าไปลาพลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรี เพื่อมาราชการกรุงเทพ ฯ ชั่วคราว ได้สนทนากันเรื่องทั่ว ๆ ไปเป็นเวลานานร่วมหนึ่งชั่วโมง แต่พลเอกโตโจไม่เอ่ยถึงเรื่องนี้เลย เป็นอันว่าเรื่องการรับรองรัฐบาลวังจิงไวเท่าที่ข้าพเจ้าทราบและเกี่ยวข้องด้วย ยุติเพียงเท่านี้
เรื่องรัฐบาลไทยประสงค์เข้าเป็นภาคีอักษะ๓๒
ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีจดหมายถึงข้าพเจ้าเป็นราชการว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย อีกตำแหน่งหนึ่ง พิจารณาเห็นว่า บัดนี้ไทยก็เข้ามาพัวพันเป็นมิตรกับญี่ปุ่นจนประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้ว๓๓ แต่ยังไม่ได้เป็นภาคีของสัญญาอักษะ คือ สัญญาพันธมิตรระหว่างเยอรมันนี อิตาลี และ ญี่ปุ่น ถ้าเสร็จสงครามแล้ว อักษะชนะ ไทยเราจะเสียเปรียบ เพราะอาจถูกปฏิบัติในฐานเป็นประเทศเล็กซึ่งไม่มีสิทธิสุ้มเสียงอะไร ฉะนั้น จึงให้เจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อเข้าเป็นอักษะให้ได้ ไทยเราจะได้มีสุ้มเสียงในโต๊ะสันติภาพได้ เมื่อได้รับคำสั่งเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงมาพิจารณาว่าควรปฏิบัติประการใด ความเห็นส่วนตัวข้าพเจ้านั้นเห็นว่า ไม่ควรเข้าอักษะ เพราะเหตุผลหลายประการ ประการหนึ่งข้าพเจ้า ไม่ชอบพวกอักษะมาช้านานแล้ว เพราะนโยบายรุกราน ประการที่สองข้าพเจ้าเชื่อมั่นตลอดเวลาว่า อักษะจะแพ้สงคราม เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะเข้าไปทำไม ประการที่สามเราประกาศต่อโลกว่า เราไม่นิยมฝ่ายใด และโลกก็เห็นใจว่าเราถูกฉุกเข้าสงครามเพราะถูกบังคับและไทยไม่มีกำลังต่อต้าน ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ เวลาเสร็จสงครามก็ยังจะพอพูดจากันได้ แต่การที่อยู่ดี ๆ โดยไม่ได้ถูกบังคับประการใด สมัครเข้าเป็นอักษะ เมื่อเสร็จสงครามแล้วจะแก้ตัวไม่ได้ ข้าพเจ้าได้ปรึกษาเรื่องนี้กับข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตบางนาย เช่น นายทวี ตะเวทิกุล นายถนัด คอมันตร์ และนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ทั้งสามนายก็เห็นพ้องกับข้าพเจ้า แต่จะทำอย่างไรได้เมื่อเป็นคำสั่งเช่นนี้ ก็ต้องปฏิบัติ แต่ก็ไม่ทราบว่านโยบายของญี่ปุ่นเป็นอย่างใดแน่ ถ้าเห็นด้วยก็ดีไป ถ้าไม่เห็นด้วย ญี่ปุ่นก็อาจระแวงว่า รัฐบาลไทยคิดปลีกตัวเอาเยอรมันนกับอิตาลีเข้าเป็นเกราะป้องกันสู้ญี่ปุ่น ข้าพเจ้าจึงเสี่ยงตัวเอาเป็นว่า เป็นความคิดเห็นของข้าพเจ้าเองดีกว่า ถ้าญี่ปุ่นสงสัยข้าพเจ้าก็ให้สงสัยข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว อย่าสงสัยรัฐบาล ก่อนเจรจากับญี่ปุ่นเป็นทางการ ข้าพเจ้าสืบได้ข้อเท็จจริงทั้งจากวงราชการและไม่ใช่ราชการโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว สังเกตว่าไม่กระตือรือร้นหรือยินดียินร้ายในเรื่องที่ไทยจะเข้าอักษะหรือไม่เท่าใดนัก การที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมกับอักษะนั้น ทางฝ่ายญี่ปุ่นยังแยกกันเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไหน ๆ ไทยก็ได้เข้ามาถึงเพียงนี้แล้ว ควรเข้าอักษะเสียด้วย แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า โดยพฤตินัยไทยก็นับเป็นพวกอักษะประเทศอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมีการยืนยันในเรื่องนี้อีก นอกจากนี้ยังได้ความเพิ่มเติมจากพวกญี่ปุ่นเองอีกว่า ในเมืองไทยมีคนไทยบางหมู่เห็นว่าไม่ควรร่วมอักษะ เพราะเห็นว่าถ้าเข้าไปแล้วเยอรมันนีและอิตาลีจะมาเรียกร้องเกณฑ์ให้ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทางทหารเพิ่มขึ้นอีกในฐานเป็นสัมพันธมิตรก็ได้
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเข้าพบนายโตโง รัฐมนตรีต่างประเทศ เมื่อได้สนทนากันเรื่องส่วนตัวตามสมควรแล้ว ข้าพเจ้าได้ปรารภว่า เวลานี้ไทยเราก็ร่วมมือกับญี่ปุ่นเต็มที่แล้ว แต่การที่ไม่ได้เข้าเป็นภาคีอักษะดูครึ่ง ๆ กลาง ๆ ข้าพเจ้ามีความเห็นส่วนตัวว่า ควรเข้า แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่า ประเทศเราทั้งสอง (ไทยและญี่ปุ่น) จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นประการใดหรือไม่ ในฐานเขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ย่อมทราบข้อเท็จจริง ทางได้ทางเสียมากกว่า เพราะมีหูมีตาหลายทาง อยากทราบความคิดเห็นของท่านรัฐมนตรีก่อน ถ้าท่านเห็นด้วย ข้าพเจ้าจักเสนอความเห็นของข้าพเจ้านี้ไปยังรัฐบาล แต่ถ้าท่านรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย ข้าพเจ้าก็จะระงับเสีย นายโตโงนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วตอบว่า ปัจจุบันนี้ ไทยกับญี่ปุ่นก็ได้ร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นที่พอใจอยู่แล้ว ไม่เห็นมีความจำเป็นจะต้องไปพึ่งผู้อื่น เราเอเซียด้วยกัน เราพึ่งซึ่งกันและกันดีกว่า ข้าพเจ้ารีบตอบเห็นด้วย เพราะตรงกับความในใจของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีความยินดีที่สุด รีบกลับสถานทูตโทรเลขรายงานโดยย่อและรายงานเป็นหนังสือลับ โดยฝากมากับข้าราชการไทยผู้หนึ่งซึ่งจะเดินทางมากรุงเทพฯ และขอให้รัฐบาลเรารักษาเรื่องรายงานของข้าพเจ้านี้เป็นลับที่สุด อย่าให้ญี่ปุ่นทราบเป็นอันขาด ข้าพเจ้าได้รายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอให้รัฐบาลเราระงับความคิดเสีย ซึ่งรัฐบาลก็ได้ตอบเห็นชอบกับรายงานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า การที่ญี่ปุ่นไม่ประสงค์ให้เราเข้าอักษะนั้น นอกจากหลายเหตุแล้ว คงเป็นเพราะเกรงว่าเราอาจหันเข็มการเมืองหนักไปในทางร่วมมือกับฮิตเล่อร์ในกาลภายหน้าก็ได้ ซึ่งทั้งนี้ ขัดกับหลักการก่อตั้งวงไพบูลย์ร่วมกันในมหาเอเซียบูรพา ซึ่งตามสัญญาไตรภาคีลงนามเมื่อ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) เยอรมันนีและอิตาลียอมรับนับถือว่าญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการสถาปนาระบอบใหม่ทางมหาเอเซียบูรพา
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สั่งให้หลวงวิจิตรวาทการตอบรับขอบใจ และเห็นด้วยกับข้าพเจ้าทุกประการในการที่ได้ปฏิบัติไป มีผู้ที่ได้อ่านรายงานนี้ที่กรุงเทพฯ ได้เขียนบอกไปยังข้าพเจ้าเป็นส่วนตัวว่า นายกรัฐมนตรีถึงกับเขียนคำสั่งในรายงานของข้าพเจ้าฉบับนี้ว่า ขอให้ทุกคนรักษาเป็นลับที่สุด ถ้าปรากฏว่ารั่วไหลจากผู้ใดจะถูกประหารชีวิต เมื่อข้าพเจ้ากลับเข้ามารับราชการในตอนหลังก็ได้เรียกเรื่องนี้มาดู ก็ได้เห็นคำสั่งนี้
เหตุสำคัญอีกเหตุหนึ่งก็คือ สัมพันธภาพระหว่างญี่ปุ่นกับเยอรมันนีเองแม้เป็นพันธมิตรกัน แต่ก็ไม่สู้กลมเกลียวราบรื่นนัก ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าเองก็ไม่สามารถทราบได้ มาทราบเมื่อภายหลังสงคราม จากการพิจารณาของศาลทหารระหว่างประเทศกรุงโตเกียว
แม้จะมีสัญญาไตรภาคีดังกล่าวแล้วก็ดี แต่เมื่อญี่ปุ่นประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) แล้ว อักษะสามชาติ คือ ญี่ปุ่น เยอรมันนี และ อิตาลี ได้ทำสัญญากันอีก เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) สาระสำคัญก็คือ ภาคีแห่งสัญญาจะช่วยกันรบสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ โดยนำสรรพกำลังที่มีทั้งหมดทุ่มเทเพื่อชัยชนะ ภาคีแต่ละชาติจะไม่แยกกันเซ็นสัญญาสงบศึก หรือสัญญาสันติภาพ เว้นไว้แต่จะได้ตกลงร่วมกัน เมื่อชนะสงครามแล้ว จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อสถาปนาระเบียบใหม่ในโลก โดยรากฐานของสัญญาไตรภาคี ฉบับลงวันที่ ๒๗ กันยายน ดังกล่าวแล้ว ต่อมา ทั้งสามชาติได้ลงนาม เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ที่กรุงเบอร์ลินระหว่างผู้แทนทางทหารของสามประเทศ สัญญานี้แบ่งอาณาบริเวณรบโดยชัดเจนว่า ภาคีใดรับทำหน้าที่แห่งใด สำหรับญี่ปุ่นนั้นรับหน้าที่ทั่วไปในเอเซีย แต่ญี่ปุ่นอาจช่วยเหลือเยอรมันนีและอิตาลีทางกำลังทัพเรือ ถ้าฝ่ายเยอรมันนีและอิตาลีตกหนักทางด้านมหาสมุทรแอตแลนติก จะตั้งกรรมการติดต่อในการวางแผนการและปฏิบัติในการยุทธสำคัญ ๆ และแลกเปลี่ยนข่าวสารทางทหาร รวมทั้งการทำสงครามเศรษฐกิจ ฯลฯ แต่ในทางปฏิบัติ ญี่ปุ่นและเยอรมันนีไม่ได้ร่วมปรึกษากันเท่าใดนัก ทั้งสองฝ่ายต่างถือว่าประโยชน์ของตนสูงสุด และมุ่งถึงชัยชนะขั้นสุดท้ายของตน ฉะนั้น ต่างฝ่ายจึงเดินนโยบายโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของอีกฝ่าย และ แม้มีกรรมการผสมซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลินและกรุงโตเกียว ก็แทบไม่ได้ประชุมกันเลย ทั้งนี้ก็เพราะทั้งสองฝ่ายไม่สู้ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ขอให้ย้อนไปศึกษากิจกรรมก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นเข้าตีเมืองจีนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)๓๔ เยอรมันนีขายอาวุธให้จีน และที่ปรึกษาการทหารของจอมพลเจียงไคเช็คขณะนั้น เป็นนายทหารเยอรมันส่วนมาก ญี่ปุ่นประท้วงต่อเยอรมันนีว่า ทำเช่นนี้ก็เท่ากับไม่เป็นมิตร ซึ่งในที่สุดเยอรมันนีต้องงดการขายอาวุธ และเรียกที่ปรึกษาเหล่านี้กลับหมด เมื่อตอนเยอรมันนีเจรจาเพื่อทำสัญญาไม่รุกรานกับรัสเซีย เยอรมันนีก็ปกปิดญี่ปุ่น เมื่อเยอรมันนีตัดสินใจโจมตีรัสเซีย เยอรมันนีก็ปิดบังญี่ปุ่น การที่ญี่ปุ่นหันมาเจรจากับสหรัฐอเมริกาก่อนประกาศสงคราม เยอรมันนีก็แสดงความไม่พอใจ นอกจากนี้ตามเอกสารต่าง ๆ ซึ่งปรากฏก็แสดงให้เห็นชัดว่า ฮิตเล่อร์เองเป็นมิตรกับญี่ปุ่นก็เพราะความจำเป็น และญี่ปุ่นเองก็หวาดว่า ถ้าเยอรมันนีชนะสงครามก็จะมาขู่ญี่ปุ่นต่อไป นอกจากนี้ก็มีอีกหลายเหตุซึ่งไม่ลงรอยกันในด้านนโยบาย
ญี่ปุ่นโอนดินแดนบางแห่งซึ่งอังกฤษปกครองให้ไทย
เรื่องการที่ญี่ปุ่นโอนดินแดนมลายู ๔ รัฐ คือ รัฐเปอรลิส รัฐไทรบุรี รัฐกลันตัน และรัฐตรังกานู และสองรัฐในแคว้นนาน คือ รัฐเชียงตุง และรัฐเมืองพานให้ไทยนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นผลเนื่องจากการพบปะระหว่างพลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทย ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) พลเอกโตโจ นั้นทราบว่าประสงค์จะมากรุงเทพฯ สองครั้งแล้ว ครั้งแรกภายหลังเริ่มสงครามมหาเอเซียบูรพาใหม่ ๆ แต่ทราบว่ามีผู้ทัดทานไว้โดยเห็นว่า การเดินทางทางอากาศยังไม่สู้จะปลอดภัยนัก ครั้งที่สอง ภายหลังที่ นายอาโอกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพากลับจากเยี่ยมกรุงเทพ ฯ ใหม่ๆ แต่ก็มีผู้คัดค้านอีกว่า เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการมหาเอเซียบูรพาไปแล้ว นายกรัฐมนตรีก็ไม่จำต้องไป ต่อมาพลเอกโตโจตัดสินใจว่าไหน ๆ จะไปสิงคโปร์แล้ว ก็ควรได้พบจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงสั่งให้ทูตญี่ปุ่นที่กรุงเทพ ฯ เจรจากับจอมพล ป. พิบูลสงคราม นัดพบกันที่สิงคโปร์ซึ่งฝ่ายเราตกลงด้วย และข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้ไปแจ้งความตกลงนี้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพาอีกด้วย เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) นายอาโอกิได้แสดงความยินดีและแจ้งว่า กำหนดวันนั้นไว้ตกลงกันภายหลัง เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัย และในการไปครั้งนี้พลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรี จะได้ถือโอกาสสนทนากับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเรื่องเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศของเราทั้งสองให้ดียิ่งขึ้น และจะได้ปรึกษากันถึงเรื่องการช่วยเหลือของญี่ปุ่น และเกี่ยวกับความปรารถนาของไทยด้วย (เรื่องดินแดน) ซึ่งเรื่องนี้พลเอกโตโจได้แย้มพรายไว้โดยแถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓)๓๕ ต่อรัฐสภา ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) ข้าพเจ้าได้รับจดหมายส่วนตัวจากนายอาโอกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพา ความว่า พลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรีตัดสินใจจะไปกรุงเทพ ฯ แต่โดยที่การเดินทางลับมาก เพื่อความปลอดภัย ท่านรัฐมนตรีจึงขออภัยจากข้าพเจ้าที่จะติดต่อโดยตรงกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ เมื่อรับจดหมายนี้ ข้าพเจ้าประหลาดใจเพราะเดิมตกลงกันที่กรุงเทพฯ ว่า ทั้งสองนายกรัฐมนตรีจะพบกันที่สิงคโปร์ ข้าพเจ้าจึงขอพบนายอาโอกิในวันรุ่งขึ้น คือ ๓ กรกฎาคม เพื่อซ้อมความเข้าใจให้ถูกต้อง นายอาโอกิตอบว่า บัดนี้พลเอกโตโจมาพิจารณาใหม่ว่า ไหน ๆ จะไปพบกันแล้วไปพบที่กรุงเทพฯ ดีกว่า และได้ให้ทูตญี่ปุ่นที่กรุงเทพ ฯ แจ้งกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทราบแล้ว ต่อมาวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) นายอาโอกิตามข้าพเจ้าไปพบอีกและกล่าวว่า มีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า พลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางถึงกรุงเทพ ฯ แล้วแต่เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ตอนบ่าย รุ่งขึ้นวันที่ ๔ กรกฎาคม ได้พบกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี สนทนากันสองชั่วโมงด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง ได้พูดถึงการที่ญี่ปุ่นจะมอบดินแดนทางเชียงตุง และ ๔ รัฐในสหรัฐมลายูด้วย และได้ออกคำแถลงการณ์ร่วมกันในเรื่องนี้ ดังสำเนาซึ่งนายอาโอกิขอมอบให้ข้าพเจ้า สาระสำคัญของคำแถลงการณ์ร่วมคือ ทั้งสองนายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันถึงสถานการณ์ของโลก และความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย และกระบวนการที่จะให้มหาเอเซียบูรพาเป็นปึกแผ่น และให้สงครามร่วมกันครั้งนี้สำเร็จผล ทั้งสองประเทศต่างเคารพเอกราชอธิปไตยซึ่งกันและกัน และได้ตกลงจะให้รัฐเปอรลิส รัฐไทรบุรี รัฐกลันตัน และตรังกานูในสหรัฐมลายู กับสองรัฐคือ รัฐเชียงตุง และรัฐเมืองพาน ทางสหพันธ์ฉานผนวกรวมอยู่ในประเทศไทย
ข้าพเจ้าได้กล่าวขอบคุณเป็นอย่างยิ่งตามมารยาท และว่าการกระทำของญี่ปุ่นครั้งนี้ คงทำให้คนไทยเห็นเจตนาดีของญี่ปุ่น
อีกสามสี่วันต่อมา รัฐบาลของเราได้แจ้งข้อความดังที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาเอเซียบูรพาแจ้งต่อข้าพเจ้ามาให้ข้าพเจ้าทราบ
ไทยทำสัญญาวัฒนธรรมกับญี่ปุ่น
ระหว่างข้าพเจ้ารับราชการที่ญี่ปุ่น มีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ซึ่งไทยจำเป็นต้องตกลงกับญี่ปุ่น คือ สัญญาวัฒนธรรมเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ประวัติของการลงนามในสัญญามีดังนี้
เมื่อวันที่ ๒๕ หรือ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศญี่ปุ่น๓๖ ได้ขอให้ข้าพเจ้าไปพบและมอบจดหมายถึงข้าพเจ้านำส่งร่างสนธิสัญญาส่งเสริมวัฒนธรรมระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมาว่า ขอให้นำส่งต่อไปยังรัฐบาลไทยด้วย เพื่อเป็นมูลฐานของการพิจารณา เพราะทราบว่ารัฐบาลไทยต้องการมูลฐานว่าสัญญาจะมีรูปอย่างใด เรื่องนี้สถานเอกอัครราชทูตของเราไม่ทราบ เรื่อง จึงได้แต่ทำหน้าที่บุรุษไปรษณีย์นำส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศของเรา และเมื่อส่งไปแล้ว ข้าพเจ้าได้พูดโทรศัพท์ทางไกลกับหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งบัดนี้ได้เลื่อนขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้วว่า เมื่อญี่ปุ่นเขาเสนอมาเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงต้องส่งเข้ามายังกระทรวง และว่าสถานทูตเราไม่ทราบเรื่องนี้เลย จู่ ๆ รัฐบาลญี่ปุ่นก็ส่งร่างมา หลวงวิจิตรวาทการได้ชี้แจงว่า เมื่อประมาณวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) นายโกอิชิ ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯได้มาพบและแจ้งว่ารัฐบาลญี่ปุ่นใคร่ให้มีการเจรจาทำความตกลงสัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งก็ตกลงว่าหลวงวิจิตรวาทการจะเป็นผู้ยกร่างขึ้นเอง แต่เมื่อได้รับโทรเลขจากข้าพเจ้าว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยื่นร่างทางสถานทูตที่กรุงโตเกียวก็ดีแล้ว และได้เชิญนายโกอิชิมาชี้แจงแล้วว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ หลวงวิจิตรวาทการจะได้พิจารณาร่างนี้เมื่อได้รับร่างจากสถานเอกอัครราชทูตไทยต่อไป ประมาณต้นเดือนตุลาคม ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งว่า รัฐบาลไทยได้พิจารณาร่างสัญญาแล้วมีการแก้ไขบางประการ และได้ส่งหนังสือมอบอำนาจให้ข้าพเจ้าลงนามได้ และในที่สุดก็ได้ลงนามกันที่กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น โดยฝ่ายญี่ปุ่น นายตานี รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศเป็นผู้ลงนาม เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) สาระสำคัญก็คือ รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการอำนวยความสะดวก ในอันที่จะแลกเปลี่ยนการตั้งสถานวัฒนธรรมในประเทศของภาคี ในการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียง ให้มีการแลกเปลี่ยนนักเรียน หนังสือตำรับตำรา ภาพยนตร์ ส่งเสริมให้มีการสอนภาษาระหว่างกันและกัน ฯลฯ ทั้งนี้ก็ตรงกับนโยบายสร้างมหาเอเซียบูรพาของญี่ปุ่นดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
เรื่องวัฒนธรรมญี่ปุ่นนี้ ข้าพเจ้าเองคาดคะเนไว้แล้วว่านโยบายของญี่ปุ่นที่ต้องการให้ชาวเอเซียทั้งหลายเข้าใจและนิยมในวัฒนธรรมของตน ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า มีดีหลายอย่าง ซึ่งเราน่าพิจารณา แต่ในขณะเดียวกันของไทยเราก็มีวัฒนธรรมดี ๆ มากเหมือนกัน เราจึงควรเผยแพร่ และทราบว่าญี่ปุ่นเขาพิมพ์เรื่องวัฒนธรรมของเขาเป็นเล่มเล็ก ๆ ทำเป็นภาษาอังกฤษออกจำหน่ายจ่ายแจกเป็นชุด ๆ ชุดหนึ่งประมาณ ๔๐-๕๐ เล่ม บรรยายเรื่องต่าง ๆ เช่น ละครต่าง ๆ ละครโนห์ กาบูกิ ฯลฯ ธรรมเนียมประเพณี ชีวิต ประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นโดยย่อ ฯลฯ ในการนี้ข้าพเจ้าได้ไปพบไวสเคานต์ โอกาเบ ซึ่งเป็นอุปนายกสมาคมญี่ปุ่น-ไทย และเคานต์โครดาแห่งสมาคมความสัมพันธ์วัฒนธรรมระหว่างประเทศ ทั้งสองท่านได้ส่งหนังสือมาให้ข้าพเจ้าหลายสิบเล่มด้วยกัน ซึ่งข้าพเจ้าได้รีบส่งเข้ามายังกระทรวงการต่างประเทศของเรา และกระทรวงตอบขอบใจไปว่า รัฐบาลจะได้ดำเนินการพิมพ์เรื่องวัฒนธรรมไทยเช่นเดียวกัน
ข้าพเจ้าขอกล่าวเพิ่มเติมอีกในเรื่องที่ญี่ปุ่นสนใจอยู่มากในการเผยแพร่วัฒนธรรมของเขาระหว่างสงคราม ระหว่างข้าพเจ้ารับราชการในญี่ปุ่น องค์การโฆษณาต่าง ๆ จะเป็นวิทยุหรือหนังสือพิมพ์ หรือ หนังสือข่าวสารอื่น ๆ ก็ดี มักจะย้ำถึงเรื่องวัฒนธรรมเสมอ ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์หลายประการ
๑) เพื่อให้คนญี่ปุ่นเองซาบซึ้ง เพราะความรู้ในเรื่องวัฒนธรรมของญี่ปุ่น แม้คนญี่ปุ่นธรรมดาทั่ว ๆ ไปเอง ก็สารภาพว่าเข้าใจยาก จริงอยู่ พลเมืองญี่ปุ่นอ่านหนังสือออกเกือบร้อยเปอร์เซนต์ แต่หนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมเขียนเป็นภาษาอ่านเข้าใจยาก หรือฟังไม่ออกเสียเลย เช่น ละครที่เรียก “โนห์” (Noh Play) หรือละครกาบูกิ (Kabuki) ซึ่งถือกันว่าเป็นเครื่องแสดงวัฒนธรรมอย่างสูงของญี่ปุ่น มักจะสูงเกินความสามารถของบุคคลธรรมดาที่จะเข้าใจได้อย่างซาบซึ้ง เพราะละครเหล่านี้ใช้ภาษายาก และนอกจากนี้ก็มีความหมายเปรียบเทียบอุปมาอุปไมย
เครื่องหมายวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่สำคัญก็คือ ละครโนห์ ละครกายูกิ การฟ้อนรำต่าง ๆ การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น พิธีเลี้ยงน้ำชา เรียกกันว่า “โอชาโนยุ” และพิธีศาสนา
การฟ้อนรำบางคราวคนญี่ปุ่นเองก็ไม่เข้าใจ ส่วนมากของการฟ้อนรำเหล่านี้มีจุดประสงค์ที่จะแสดงความรู้สึกเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ ความหนาว ความกลัว ความเศร้าโศก ความยินดีเมื่อเห็นธรรมชาติในฤดูใบไม้ผลิงอกงามสดชื่น หรือความหมายในทางความรู้สึกอื่น ๆ ซึ่งตามความจริงต้องทราบความหมายนี้ล่วงหน้าเสียก่อนจึงจะพอเข้าใจได้ แม้แต่ข้าราชการญี่ปุ่นเองซึ่งมีการศึกษาอย่างดี ก็ยังยอมรับ ว่า ไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้ซาบซึ้ง
เกี่ยวกับการจัดดอกไม้ก็เช่นเดียวกัน ชาวญี่ปุ่นได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า จะต้องจัดดอกไม้แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น ชั้นสูงสุดหมายความว่าถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชั้นกลางหมายถึงมนุษย์ และชั้นล่างที่สุดหมายถึงพื้นแผ่นดิน การจัดก็ย่อมดำเนินไปตามสายตาของแต่ละคน และถ้าสามารถทำให้ดอกไม้เอนเอียงไปได้อย่าให้แข็งตรงก็นับว่าทำได้ใกล้ธรรมชาติ และอนุมานเอาเองว่าหมายความอย่างไร ตามความนึกคิดของผู้จัดหรือผู้มาชม
พิธีเลี้ยงน้ำชา “โอชาโนยุ” นั้น เป็นพิธีซึ่งทำกันมาแต่โบราณกาล และมีท่าทางพิเศษมาก ข้าพเจ้าเคยไปเข้าพิธีนี้กับเขาหลายครั้ง ผู้ดื่มน้ำชานี้จะต้องปฏิบัติตามท่าที่ซึ่งได้กำหนดไว้อย่างแน่นอน เช่น ก่อนดื่มต้องยกถ้วยชาประคองด้วยมือทั้งสอง และขณะดื่มหรือจิบน้ำชา จะต้องบรรจงหมุนถ้วยไปรอบๆ เพื่อชมความงามหรือความเก่าแก่ของถ้วย ก่อนไปงานเขามีตำราบอกไว้ว่าต้องถามเจ้าของบ้านเขาว่า ถ้วยชานี้สร้างมาสมัยใด ได้มาจากตำบลใด เพื่อเป็นการแสดงความสนใจ แล้วก็ต้องชมเชยพิธีการของเขา พิธีนี้ชาวญี่ปุ่นอธิบายว่า มีความลึกซึ้งเป็นพิเศษ เป็นการฝึกหัดให้อารมณ์เยือกเย็น ทำให้ผู้นั่งดื่มคำนึงถึงความกว้างใหญ่ไพศาลของโลก และความลึกซึ้งของความคิดของมนุษย์
๒) เพื่อการเมือง การใช้วัฒนธรรมเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองได้ประโยชน์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะทางโรงเรียนซึ่งเป็นสถานการเผยแพร่วัฒนธรรมส่วนหนึ่ง ย่อมสามารถใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ ภาษาญี่ปุ่น และนอกจากนั้นเป็นเครื่องมือสำหรับอบรมให้เด็กหรือนักศึกษาที่เข้ามาสมัครเรียน เกิดความรักความนิยมชมชอบประเทศของเขา หรืออย่างน้อยก็จะทำให้รู้จักญี่ปุ่นดีขึ้น เป็นมูลฐานอันดีสำหรับการเผยแพร่ในด้านทางการเมืองและกิจการด้านอื่น ๆ กระทรวงมหาเอเซียบูรพาซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วข้างต้น ถึงกับตั้งกองวัฒนธรรมขึ้น สำหรับดำเนินการในเรื่องการจัดตั้งโรงเรียน สถานการพยาบาล หอวัฒนธรรมในประเทศต่าง ๆ ในเอเซีย ญี่ปุ่นระลึกเสมอว่า พวกมิชชั่นนารี่มีความสำเร็จในหลายประเทศ ฉะนั้น ญี่ปุ่นจะต้องทำสำเร็จและจะง่ายกว่าด้วย เพราะพวกมิชชั่นนารีเป็นชาวตะวันตกผิวขาว แต่ญี่ปุ่นเป็นชาวผิวเหลือง เข้ากันได้ง่ายกับชาวเอเซียอื่น ๆ
เรื่องเราประกาศสงคราม
ประมาณวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ข้าพเจ้าได้รับโทรเลขจากนายกรัฐมนตรีในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า “โดยที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ทำการรุกรานไทย โดยใช้เครื่องบินมาทิ้งระเบิด ฉะนั้น รัฐบาลจึงได้ประกาศสงครามกับสองประเทศแล้ว” เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ข่าวนี้ทำให้ข้าพเจ้าและข้าราชการในสถานเอกอัครราชทูตไม่สบายใจเป็นอันมาก เพราะเห็นว่าเท่าที่ผูกพันกับญี่ปุ่นโดยมีสัญญาพันธไมตรีก็หนักพอแล้ว ข้าพเจ้าได้ติดต่อฟังเสียงจากรัฐมนตรีของญี่ปุ่น รวมทั้งวงการต่าง ๆ ก็แยกเป็นสองเสียงคือ เสียงหนึ่งเห็นดีเห็นชอบด้วยและพอใจ อีกเสียงหนึ่งไม่เห็นด้วยที่ไทยประกาศสงคราม เพราะถ้าไทยไม่ประกาศสงคราม ญี่ปุ่นอาจได้ประโยชน์จากไทยมากกว่า เพราะสัมพันธมิตรคงไม่กล้าทำรุนแรงกับไทย ซึ่งในที่สุดญี่ปุ่นจะได้ประโยชน์ด้วย แต่เมื่อประเทศไทยประกาศสงครามแล้วเช่นนี้ ก็คงจะถูกสัมพันธมิตรปฏิบัติเต็มที่ฐานคู่สงคราม
สถานะสงคราม
สถานะสงครามตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มโจมตีอังกฤษและสหรัฐอเมริกา จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) มีดังต่อไปนี้
สงครามครั้งนี้ ทั้งกองทัพยกทัพเรือญี่ปุ่นมุ่งประสงค์ทั้งในด้านยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เพื่อล้างและทำลายมูลฐานซึ่งเป็นที่มาของพลังของสหรัฐอเมริกา อังกฤษและเนเธอร์แลนด์ในเอเซียบูรพา และเข้า ยึดครองดินแดนในภูมิภาคทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ฟิลิปปินส์ เกาะกวม ฮ่องกง มลายู พม่า หมู่เกาะบิสมาร์ก ชวา สุมาตรา บอร์เนียว เซเลบีซ และทิมอร์
การโจมที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐอเมริกาเป็นกิจกรรมที่โลกตะลึงมาก เพราะเพิร์ลฮาร์เบอร์อยู่ห่างจากเกาะญี่ปุ่นถึง ๓๐๐๐ ไมล์ ล้อมรอบด้วยเกาะต่างๆ ซึ่งมีป้อมปราการหนาแน่น ภายในเวลาสองชั่วโมง สหรัฐอเมริกาสูญเสียกองทัพเรือถึงครึ่งหนึ่ง เพราะเรือรบนานาประเภทประมาณ ๗๐ ลำจอดอยู่ในอ่าว จึงเป็นเป้าหมายอย่างดีให้ญี่ปุ่นโจมตี
การจมเรือรบ “Prince of Wales” ของอังกฤษซึ่งในขณะนั้นใหญ่ที่สุดในโลก ที่ใกล้ ๆ ฝั่งมลายู ก็เช่นเดียวกัน เพราะในขณะนั้น อังกฤษเองก็คุยนักว่า เป็นเรือที่จมไม่ได้ ต่อมาญี่ปุ่นก็ได้สิงคโปร์และมนิลา ภายในสองเดือนหลังจากประกาศสงคราม ได้ย่างกุ้ง ชวา หมู่เกาะอันดามาน ภายในสามเดือน
การที่ญี่ปุ่นได้เอเซียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวดเร็วเช่นนี้ ทำให้ญี่ปุ่นมีฐานะดีขึ้น สามารถได้อู่ข้าวอู่น้ำ ดีบุก ยาง ที่สำคัญที่สุด คือ บ่อน้ำมันของเนเธอร์แลนด์อีสตอินดีส ญี่ปุ่นหวังว่า เท่านี้ก็พอแล้ว จะพยายามใช้ทรัพยากรเหล่านี้เต็มที่เพื่อสงคราม และพร้อมที่จะโต้ฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะยึดที่มั่นและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติไว้ได้แล้ว เมื่อสามารถกันฝ่ายสัมพันธมิตรไว้ได้ ในที่สุดสหรัฐอเมริกาก็คงพร้อมที่จะทำสัญญาสันติภาพโดยประนีประนอม ซึ่งก็คงจะเป็นประโยชน์แก่ญี่ปุ่น
การรบที่เกาะมิดเวย์ (Midway)
ตลอดเวลา ๗ เดือนภายหลังญี่ปุ่นประกาศสงคราม ญี่ปุ่นชนะทุกแห่ง แต่เริ่มเป็นฝ่ายปราชัยครั้งแรก ก็คือ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ในการรบที่เกาะมิดเวย์ เกาะมิดเวย์ อยู่ห่างจากเพิร์ลฮาร์เบอร์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๑๑๓๕ ไมล์ ญี่ปุ่นเห็นว่าจำเป็นต้องตีเกาะมิดเวย์ให้ได้ มิฉะนั้นกำลังสหรัฐอเมริกาจะแข็งขึ้น ผู้อำนวยการการโจมตีครั้งนี้ก็คนเดียวกับที่บัญชาการที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ คือ จอมพลเรือ ยามาโมโต ผู้บัญชาการกองทัพเรือผสม การรบครั้งนี้เป็นการรบใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุทธนาวีของญี่ปุ่น เพราะใช้เรือรบมากกว่าสองร้อยลำ อาทิ เรือ ประจัญบาน เรือบรรทุกเครื่องบิน เรือลาดตระเวน เรือพิฆาต และเรือดำน้ำ นอกจากนี้ยังใช้เครื่องบินร่วมอีกกว่า ๗๐๐ เครื่อง ทั้งนี้ เพราะญี่ปุ่นเห็นว่า ถ้าตีเกาะมิดเวย์ได้ นอกจากจะเป็นการทำลายกำลังสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังจะใช้เกาะมิดเวย์นี้เป็นฐานทัพอากาศได้ดีที่สุด อย่างไรก็ดี การรบครั้งนี้ เริ่มแรกสหรัฐอเมริกาก็ได้เปรียบเสียแล้ว เพราะแปลประมวลลับของญี่ปุ่นได้ และทราบทันที่ว่า ญี่ปุ่นจะโจมตีวันใดเวลาใด ฝ่ายญี่ปุ่นเองก็คาดไม่ถึงว่า สหรัฐอเมริกาจะแปลประมวลลับได้ และการโจมตีก็คงจะชนะง่ายดายทำนองเพิร์ล ฮาร์เบอร์ พลเรือเอกนิมิตซ (Nimitz) ผู้บัญชาการทัพเรือภาคแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา จึงวางแผนรับได้เต็มที่ ญี่ปุ่นเริ่มโจมตีในเช้าวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) โดยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินรบนำก่อน แต่โดยที่ฝ่ายสหรัฐอเมริกา เตรียมรับอยู่ก่อนแล้ว ได้ใช้เครื่องบินและขึ้นต่อสู้อากาศยานป้องกันเป็นฉาก จนฝ่ายญี่ปุ่นบินเข้าสู่เกาะไม่ได้ นอกจากนี้เครื่องบินฝ่ายสหรัฐอเมริกายังบินไปทำลายเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นเสียหลายลำ จอมพลเรือยามาโมโต เห็นว่า ฝ่ายอเมริกันเป็นต่อ จึงสั่งระงับการโจมตีและถอยกลับ อย่างไรก็ดี ตามข้อเท็จจริงซึ่งปรากฏภายหลังสงครามว่า ทั้งสองฝ่ายบอบช้ำ คือ ญี่ปุ่นเสียเรือบรรทุกเครื่องบิน ๔ ลำ เรือลาดตระเวนหนัก ๑ ลำ เรือพิฆาต ๒ ลำ และเรือประจัญบาน ๑ ลำ เสียเครื่องบิน ๓๐๐ กว่าลำ ทางสหรัฐอเมริกาเสียเรือบรรทุกเครื่องบิน ๑ ลำ เรือพิฆาต ๑ ลำ เครื่องบิน ๑๔๗ ลำ
นายชิเงมิทสุ อดีตรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศญี่ปุ่น เขียนไว้ว่า ยุทธนาวีครั้งนี้ ญี่ปุ่นเสียหายมาก ทั้งเสียนักบินดี ๆ ก็มาก การรบครั้งนี้เป็นผลให้กำลังกองทัพเรือญี่ปุ่นทรุดต่ำกว่ากองทัพเรืออเมริกัน เป็นเหตุให้การรบในตอนหลังๆ สหรัฐอเมริกาสามารถเป็นเจ้าอากาศและครองทะเลได้ นับว่าการรบที่เกาะมิดเวย์เป็นหัวเลี้ยวของการปราชัยของญี่ปุ่น การปราชัยครั้งนี้ทำลายแผนสงครามของญี่ปุ่นหมด รัฐบาลญี่ปุ่นไม่กล้าประกาศให้ประชาชนทราบ แม้คณะรัฐมนตรีเองก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้รับรายงาน ทั้งกองทัพบกกองทัพเรือไม่ยอมรับว่าปราชัย เพียงประกาศสั้น ๆ ว่า มีการรบกัน แต่ฝ่ายสหรัฐอเมริกาเสียหายมากกว่า๓๗
การรบที่หมู่เกาะโซโลมอน
การรบที่หมู่เกาะโซโลมอน เป็นการรบสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งญี่ปุ่นพยายามที่จะยึดหมู่เกาะนี้ โดยใช้เวลารบถึง ๖ เดือน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ญี่ปุ่นเสียหายมากทั้งเรือรบและเครื่องบิน และนับแต่นี้เป็นต้นไป ฝ่ายสหรัฐอเมริกาก็เป็นฝ่ายเริ่มรุกขึ้นทุกที สหรัฐอเมริกาตีได้ทีละเกาะสองเกาะใกล้ญี่ปุ่นเข้ามาทุกที
การที่ญี่ปุ่นต้องการได้หมู่เกาะโซโลมอน ก็เพราะเกี่ยวกับยุทธศาสตร์สำคัญ หมู่เกาะนี้มีเนื้อที่ถึง ๑๗,๐๐๐ ตารางไมล์ ยาว ๗๐๐ ไมล์ มีพลเมืองเรียกว่าเชื้อชาติปาปวน (Papuans) และโปลีนีเชียน (Polynesians) ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ออสเตรเลียได้รับเป็นผู้อาณัติดูแลภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถ้าได้หมู่เกาะโซโลมอน ก็เท่ากับตัดเส้นทางลำเลียงระหว่างสหรัฐอเมริกากับออสเตรเลียได้
ญี่ปุ่นเสียแม่ทัพสำคัญ
ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) วันที่เท่าใดข้าพเจ้าจำไม่ได้ รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศสั้น ๆ ว่า จอมพลเรือ อิโซโรกุ ยามาโมโต (Isoroku Yamamoto) ผู้บัญชาการกองทัพเรือผสมสูงสุดของญี่ปุ่น ถึงอนิจกรรมโดยเครื่องบินประสบอุบัติเหตุ มีการไว้อาลัยเป็นรัฐพิธี พวกคณะทูตรวมทั้งข้าพเจ้าได้ไปร่วมแสดงความเสียใจกับรัฐบาลญี่ปุ่น เวลานั้นพวกเราก็ไม่ทราบรายละเอียด ต่อมาภายหลังสงครามจึงปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้ วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) กองทัพเรืออเมริกันดักแปลประมวลลับของญี่ปุ่นได้ ความว่า วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) เวลาเช้า จอมพลเรือ ยามาโมโต จะบินจากเกาะราโบลไปตรวจฐานทัพต่าง ๆ ในย่านแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ โดยเครื่องบินชนิดสองเครื่องยนต์ และจะมีเครื่องบินรบ ๖ ลำติดตามป้องกัน จะลงที่สนามบินกาฮิลิ (Kahili) ปลายเกาะบูเกนวิลส ห่างจากราโบลประมาณ ๓๐๐ ไมล์ รัฐมนตรีกระทรวงทหารเรืออเมริกันจึงสั่งให้จัดการกับยามาโมโต พอถึงเวลา เครื่องบินจอมพลยามาโมโตมาถึง เครื่องบินของอเมริกัน ๑๘ เครื่องซึ่งคุมเชิงรออยู่แล้ว ได้เข้าโจมตีเครื่องบินจอมพลยามาโมโตตก ถึงแก่อนิจกรรมทันที เหตุการณ์ครั้งนี้พิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า การทำสงครามนั้น ความลับในด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธี และประมวลลับสำคัญยิ่ง ถ้าข้าศึกทราบล่วงหน้า เป็นแพ้ทุกคราว
สถานะสงครามด้านยุโรป
ตลอดปี พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ฝ่ายอักษะเฉพาะอย่างยิ่ง เยอรมันนีเป็นฝ่ายรุกอยู่ตลอดมา แต่อิตาลีนั้นไม่เข้มแข็ง พ่ายแพ้ต่อสัมพันธมิตรหลายแห่งทางด้านแอฟริกา จนเยอรมันนีต้องส่งทหารมาช่วย แต่การรบในปีนี้ที่นับว่าสำคัญมากคือการที่เยอรมันนีรุกเข้าโจมตีเมืองสตาลินกราด ลึกเข้าไปในสหภาพโซเวียต
ขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) ฝ่ายอักษะเริ่มมีลางแพ้ในการยุทธหลายแห่งด้วยกัน เช่น การโจมตีเมืองสตาลินกราด ซึ่งฮิตเลอร์เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ยืดเยื้อมาเพราะถูกรัสเซียต่อต้านอย่างทรหด แทนที่ฝ่ายโจมตีจะเป็นฝ่ายชนะ กลับถูกรัสเซียล้อมไว้ได้และในที่สุดต้องยอมจำนน ในศึกสตาลินกราด เยอรมันนีต้องเสียทหารมากมายตายแสนกว่า ยอมให้จับเป็นเชลยสามแสน อาจกล่าวได้ว่าศึกสตาลินกราดเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อขั้นแรกของการปราชัยของเยอรมันนี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คือ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) เยอรมันนีเป็นฝ่ายรับแทบทุกแห่งในยุโรปตะวันออก
ในเดือนกรกฎาคม สัมพันธมิตรขึ้นบกที่เกาะซิซิลีของอิตาลี ในเดือนเดียวกันนี้ มุสโสลินี ผู้นำแห่งฟัสซิสต์อิตาลี ก็ถูกปลดจากตำแหน่ง เดือนกันยายนอิตาลียอมจำนนต่อสัมพันธมิตร และต่อมา รัฐบาลใหม่ของอิตาลีกลับประกาศสงครามต่อเยอรมันนี
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) ข้าพเจ้าป่วย และได้ลากลับในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ดังจะได้กล่าวในบทที่ ๔ ของภาคนี้ต่อไป
รวมเวลาที่ข้าพเจ้ารับราชการอยู่ในญี่ปุ่น ๒๐ เดือน มีแต่ความสุขกาย แต่ทางใจไม่สบาย เพราะข่าวการเมืองของไทยเท่าที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นไม่ค่อยดี ทางรัฐบาลต้องเจรจาโต้แย้งกับข้อเรียกร้องของทหารญี่ปุ่นตลอดเวลาและก็มีหลายสิบเรื่องที่รัฐบาลทางกรุงเทพฯ โอนมาให้ข้าพเจ้าเจรจาที่ญี่ปุ่น ข่าวน้ำท่วมใหญ่ เพื่อนร่วมชาติได้รับความเดือดร้อน ประกอบทั้งยังถูกทิ้งระเบิดเป็นระยะ ๆ การครองชีพสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย เพราะรัฐบาลต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น แต่ที่ข้าพเจ้าวิตกมากที่สุดก็คือ ปัญหาฐานะของเราภายหลังสงคราม ถ้าญี่ปุ่นชนะ แม้จะมีเอกราช แต่ก็คงต้องอยู่ในโอวาทของญี่ปุ่น หรืออาจเป็นอย่างแมนจูกัวก็ได้ หรือถ้าสหรัฐอเมริกาและอังกฤษชนะ โดยไทยไม่ได้มีส่วนต่อสู้ป้องกันชาติบ้านเมือง และให้ความร่วมมือ อีกนัยหนึ่งไทยไม่ได้มีการเสียสละ สองประเทศนี้ก็คงจัดการให้ไทยมีฐานะดีกว่าอาณานิคมเล็กน้อยก็เป็นได้ หรือมิฉะนั้นก็ถูกลงโทษอย่างหนัก ข้าพเจ้าจำคำของรัฐบุรุษอังกฤษระหว่างสงครามได้ดี ดูเหมือนเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ กล่าวว่า ประเทศใดที่ไม่ยอมเสียสละเลือดเนื้อป้องกันชาติของตน ไม่สมควรได้เกียรติที่จะดำรงเอกราช
เท่าที่เกี่ยวกับประชาชนญี่ปุ่นทั่ว ๆ ไปก็ดี บุคคลสำคัญ ๆ ในวงราชการและนอกราชการก็ดี ข้าพเจ้าว่า ส่วนมาก หรือกล่าวได้ว่า๙๙ เปอร์เซนต์ ได้มีไมตรีจิตเป็นอย่างดีต่อประเทศไทยอย่างจริงใจ เมื่อประเทศไทยได้รับภัยเช่น อุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้มีแก่ใจช่วยเหลือ ส่งเสื้อผ้าหยูกยามาให้ ในฐานเป็นเอกอัครราชทูต ข้าพเจ้าก็ได้รับเกียรติและการต้อนรับอย่างอบอุ่น สมเด็จพระจักรพรรดิและพระจักรพรรดินี รวมทั้งพระบรมวงศ์ก็ได้ทรงพระกรุณาแก่ข้าพเจ้าและภริยาเป็นอย่างดี ตลอดเวลาที่เราพำนักอยู่ในประเทศนั้น ตอนที่ข้าพเจ้าจะกลับ พระจักรพรรดิและพระจักรพรรดินีก็ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเลี้ยงแก่ข้าพเจ้าและภริยา และโปรดเกล้าฯให้สมุหพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์มาพระราชทานแก่ข้าพเจ้าที่สถานเอกอัครราชทูต
สำหรับข้าราชการในสถานเอกอัครราชทูตนั้นเล่า ทุกคนก็ได้ให้ความร่วมมือแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างดี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อฉลองคุณชาติบ้านเมืองในยามคับขัน ซึ่งข้าพเจ้าต้องขอขอบใจอย่างมากไว้ ณ ที่นี้
-
๑. ถูกศาลทหารระหว่างประเทศกรุงโตเกียวพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ↩
-
๒. นายโตโงเคยเป็นเอกอัครราชทูตที่เยอรมันนีและรัสเซีย เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลที่ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ถูกศาลทหารระหว่างประเทศพิพากษาจำคุก ๒๐ ปี ถึงแก่กรรมในคุก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ (ค.ศ. ๑๙๕๐) ↩
-
๓. ทำฮาราคีรีเมื่อญี่ปุ่นต้องยอมจำนน ↩
-
๔. ถึงแก่กรรมระหว่างต้องคดีในศาลทหารระหว่างประเทศ ↩
-
๕. ถูกศาลทหารระหว่างประเทศกรุงโตเกียวพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ↩
-
๖. ทำอัตวินิบาตกรรมเมื่อญี่ปุ่นยอมจำนน ↩
-
๗. นายฮิโรตาเคยเป็นหัวหน้าคณะทูตพิเศษมาเมืองไทยในระหว่างสงคราม ภายหลังสงครามถูกประหารชีวิตโดยศาลทหารระหว่างประเทศกรุงโตเกียว ↩
-
๘. ท่านผู้นี้สำเร็จจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการคลังในรัฐบาลเจ้าชายโคโนเอเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ (ค.ศ. ๑๙๓๘) บัดนี้ถึงแก่กรรมแล้ว ↩
-
๙. สัญญาฉบับนี้ ลงนามกันเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น วันที่ข้าพเจ้าไปพบนี้เป็นวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ↩
-
๑๐. ต่อมาเลื่อนเป็นพลเรือโท ↩
-
๑๑. ภายหลังเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงจาการ์ตา ปัจจุบันนอกราชการ ↩
-
๑๒. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน ↩
-
๑๓. ขณะนี้เป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงบอนน์ ↩
-
๑๔. ถึงแก่กรรมแล้ว ↩
-
๑๕. ท่านผู้นี้เคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำพระราชสำนักเซนต์เจมส์ และวอชิงตัน มีชื่อเสียงว่าเป็นนักเสรีนิยม และเป็นบิดาพระชายาเจ้าชายจิจิบุ พระอนุชาธิราชของสมเด็จพระจักรพรรดิ ↩
-
๑๖. รองรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นชื่อ นิชิ (Nishi) เมื่อนายโตโงลาออก นายนิชิได้ลาออกด้วย ภายหลังสงครามได้เป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้นมีสองนาย คือ นายนาโอตาเก ซาโต (Naotake Sato) อดีตเอกอัครราชทูตและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ และนายกาวาโงเอ (Kawagoe) อดีตเอกอัครราชทูตประจำประเทศจีน ↩
-
๑๗. ความจริงตำแหน่งรองรัฐมนตรี (Vice Minister) นี้ก็คือ ปลัดกระทรวงนั้นเอง แต่เมื่อทางรัฐบาลญี่ปุ่นเขาเรียกเป็นภาษาอังกฤษ ว่า Vice Minister ข้าพเจ้าจึงแปลว่ารองรัฐมนตรี ↩
-
๑๘. ธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูตในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยเราด้วย เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่เข้ารับหน้าที่ มีการนัดให้เอกอัครราชทูต อัครราชทูต และอุปทูต มาพบเป็นรายตัวเพื่อสนทนา ↩
-
๑๙. ดูการทูตเล่มหนึ่ง ของผู้เขียน หน้า ๗๐๕ ↩
-
๒๐. วังจิงไวเกิดปี พ.ศ. ๒๔๒๘ (ค.ศ. ๑๘๘๕) ถึงแก่กรรมที่ญี่ปุ่น ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) เคยเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศหลายครั้ง ↩
-
๒๑. การทูตเล่มหนึ่ง หน้า ๗๐๕ ↩
-
๒๒. เจ้าชายโคโนเอ ไม่ใช่เจ้าในพระราชวงศ์ แต่เป็นฐานันดรซึ่งสืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จสงครามแล้ว เกรงจะถูกจับขึ้นศาลอาชญากรสงคราม จึงกระทำอัตวินิบาตกรรม ↩
-
๒๓. การทูตเล่มหนึ่ง หน้า ๕๘๙-๕๙๘ ↩
-
๒๔. พลเอก อิตางากิ ถูกศาลทหารระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว พิพากษาประหารชีวิต ↩
-
๒๕. นายโตโงถูกศาลอาชญากรสงครามกรุงโตเกียวพิพากษาจำคุก ๒๐ ปี และถึงแก่กรรมในคุก ↩
-
๒๖. ขณะนั้น จุงกิง เป็นนครหลวงที่ตั้งรัฐบาลของรัฐบาลเจียงไคเช็ค ↩
-
๒๗. ในขณะนั้น จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ และหลวงวิจิตรวาทการ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาเลื่อนไปเป็นรัฐมนตรีว่าการ เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ↩
-
๒๘. “The Chinese in South East Asia” ของ Dr. Victor Purcell. หน้า ๑๙๐ ↩
-
๒๙. นายซุยเหลียง ↩
-
๓๐. ต่อมาเลื่อนเป็นพลเอก ↩
-
๓๑. เรื่องการทำสัญญาวัฒนธรรม ปรากฏต่อไปในบทนี้ ↩
-
๓๒. เรื่องอักษะ ดูการทูตเล่มหนึ่ง หน้า ๕๘๔-๕๙๘ ↩
-
๓๓. ประกาศสงคราม เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ↩
-
๓๔. ดูการทูตเล่มหนึ่ง หน้า ๖๘๔-๗๐๗ ↩
-
๓๕. เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. ๑๙๔๓) ข้าพเจ้าได้ไปฟังการประชุมรัฐสภาญี่ปุ่น พลเอกโตโจได้แถลงต่อรัฐสภาว่า “.........นอกจากนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าว ณ ที่นี้อีกว่า ประเทศญี่ปุ่น โดยที่คำนึงถึงความปรารถนาอันช้านาน (age old aspiration) ของประชาชาติไทย และโดยประสงค์ในความก้าวหน้าของประเทศนี้ต่อไป และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือใหม่แก่ประเทศนี้” นายพลออต์ (General Ott) เอกอัครราชทูตเยอรมันนี ซึ่งนั่งอยู่ติดกับข้าพเจ้าได้แปลให้ข้าพเจ้าฟัง ↩
-
๓๖. นายโตโง ↩
-
๓๗. “Japan and Her Destiny” ของ Mamoru Shigemitsu หน้า ๒๗๗ ↩