- พระพุทธภาษิต
- ผู้เขียนขออุทิศ...
- คำนำในการพิมพ์ครั้งที่สอง
- คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก
- ภาคหนึ่ง เริ่มสงครามด้านยุโรป ถึงเริ่มสงครามด้านเอเซีย
- ภาคสอง ระหว่างสงคราม
- บทที่ ๑ ไปญี่ปุ่น
- บทที่ ๒ สถานการณ์ทั่ว ๆ ไปของญี่ปุ่นก่อนเกิดสงคราม
- บทที่ ๓ ในญี่ปุ่นระหว่าง มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖
- บทที่ ๔ กลับเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ
- บทที่ ๕ เหตุการณ์ระหว่าง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ถึง สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
- ข้อเขียนของนายทวี บุณยเกตุ
- ข้อเขียนของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์
- ข้อเขียนของพระพิศาลสุขุมวิท
- รายชื่อนักเรียนไทยในอเมริกาซึ่งได้สมัครเข้าร่วมงานต่อต้านญี่ปุ่น (คณะเสรีไทยในอเมริกา)
- ภาคสาม หลังสงคราม
- ภาคผนวก
- ๑. สัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศส
- ๒. สัญญาไม่รุกรานกับอังกฤษ
- ๓. สัญญาไม่รุกรานกับญี่ปุ่น
- ๔. อนุสัญญาสันติภาพกับฝรั่งเศส
- ๕. ความตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษ
- ๖. หนังสือแลกเปลี่ยนและหัวข้อความตกลงกับภาคผนวก
- ๗. สนธิสัญญาทางไมตรีกับจีน
- ๘. ความตกลงสันติภาพฉบับที่สุด ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
- ๙. ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
- ๑๐. คำแปลรายงานของคณะกรรมการการประนอมฝรั่งเศส-ไทย
- ๑๑. รายงาน ความเห็นคณะกรรมาธิการวิสามัญสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติ ซึ่งคณะเสรีไทยได้ใช้จ่าย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
บทที่ ๒ ไทยทำสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศส อังกฤษ และญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐)
ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องไทยทำสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศส และอังกฤษ กับสนธิสัญญากับญี่ปุ่นว่าด้วยการเจริญสัมพันธไมตรี และต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตแห่งกันและกันนั้น เห็นสมควรท่านผู้อ่านได้ทราบพอเป็นเค้าถึงประวัติความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสามประเทศนี้ไว้บ้าง เพราะจะช่วยให้เข้าใจเรื่องการทำสัญญาต่าง ๆ ในบทนี้ได้ดี และเรื่องของเรากับประเทศอื่น ๆ ในบทหลัง ๆ ด้วย
ยุโรปแสวงหาอาณานิคม
ความจริงตามประวัติศาสตร์ ไทยเรามีความสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆ อาทิ โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น และชาติอื่น ๆ มาช้านานหลายร้อยปีแล้ว ชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่มาติดต่อกับเมืองไทย ทำการค้าขายตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๕๔ (ค.ศ. ๑๕๑๑) สเปญในระหว่าง พ.ศ. ๒๑๔๓ (ค.ศ. ๑๖๐๐) กับ พ.ศ. ๒๑๔๗ (ค.ศ. ๑๖๐๔) ญี่ปุ่นใน พ.ศ. ๒๑๓๖ (ค.ศ. ๑๕๙๓) เดนมาร์ก ใน พ.ศ. ๒๑๖๔ (ค.ศ. ๑๖๒๑) เนเธอร์แลนด์ใน พ.ศ. ๒๑๕๑ (ค.ศ. ๑๖๐๘) อังกฤษใน พ.ศ. ๒๑๕๕ (ค.ศ. ๑๖๑๒) ฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๒๐๕ (ค.ศ. ๑๖๖๒)
ในสมัยดังกล่าวข้างต้น ความคิดที่จะแสวงหาอาณานิคมของพวกยุโรปยังไม่ปรากฏ ส่วนมากเท่าที่มีหลักฐาน ล้วนแต่เพียงต้องการทำการค้าขายด้วย จะมีก็แต่ฝรั่งเศส แต่ก็ไม่ใช่เรื่องต้องการ อาณานิคม เท่าที่เกี่ยวกับไทยในครั้งนั้น ก็มุ่งไปในทางที่จะให้หันมานับถือศาสนาคริสเตียน๑
เราทราบแล้วว่าประมาณ ๑๕๐ ปีมานี้ อุตสาหกรรมปฏิวัติเกิดขึ้นในยุโรป และต่อมาประมาณ ๘๐-๙๐ ปีมานี้ ได้พัฒนาก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมและด้านการคมนาคม การผลิต และการขนส่ง มีโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย อุตสาหกรรมถ่านหิน เหล็ก เจริญยิ่ง เมื่อผลิตได้มากที่มีการส่งออกไปขายต่างประเทศได้มาก เมื่อมีสินค้ามากก็ต้องสร้างเรือเดินทะเลมากขึ้น บ้านเมืองก็พลอยเจริญตามตัวด้วย เพราะได้กำไรจากการขายสินค้ามาบำรุงบ้านเมือง เอกชนซึ่งเป็นนายทุนก็ร่ำรวยไปตาม ๆ กัน ผลสำคัญในด้านการเมืองระหว่างประเทศก็คือ ความคิดที่จะต้องมีอาณานิคม มหาประเทศที่ร่ำรวยมากกกระตือรือร้นที่จะได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศเหล่านี้แสวงหาอาณานิคม อาจสรุปได้มี ๔ ประการ
(๑) เมื่อผลิตสินค้าได้มากก็ต้องมีตลาด เพราะลำพังแต่จะขายในประเทศเท่านั้น สินค้าจะล้นเหลือ และก็ไม่มีเงินตราต่างประเทศสำหรับมาบำรุงประเทศ การมีตลาดจึงจำเป็นยิ่งสำหรับส่งสินค้า ที่ล้นตลาดของตนออกไปขาย การมีอาณานิคมจะเป็นตลาดอย่างดี เพราะเท่ากับผูกขาดการซื้อในอาณานิคมนั้น ๆ
(๒) เมื่อผลิตมาก ก็ต้องมีวัตถุดิบมาสำหรับผลิตมากขึ้น และโดยมากวัตถุดิบเหล่านี้ก็ไม่มีในประเทศของตน ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ฉะนั้นจึงต้องแสวงหาอาณานิคมที่มีวัตถุดิบดังกล่าว เพื่อเป็นหลักประกันว่าไม่ต้องวิ่งหาจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งอาจถือโอกาสบีบคั้นต่าง ๆ ในทางการเมือง เมื่อมีอาณานิคมของตนเองก็มีอิสระในการเป็นนโยบายต่างประเทศ
(๓) มหาประเทศบางประเทศรู้สึกว่า พลเมืองของตนนับวันจะทวีหนาแน่นยิ่งขึ้น ฉะนั้น ถ้าได้อาณานิคมสำหรับระบายพลเมือง ก็จะเป็นประโยชน์เท่ากับให้ไปหากินในดินแดนนั้น ๆ และก็ไม่มีปัญหา ย่อมจะมีความงรักภักดีต่อประเทศชาติของตน และ
(๔) เมื่อเป็นมหาประเทศร่ำรวยแล้ว ก็ควรจะมีอาณานิคม เป็นการแสดงเกียรติภูมิ ไม่น้อยหน้าชาติอื่น ๆ ด้วยกัน
ปัญหาจึงมีว่า ดินแดนใดบ้างที่ประเทศในยุโรปเหล่านี้ไปสำรวจว่าควรจะเอามาเป็นอาณานิคม เมื่อดูแผนที่และสำรวจแล้วก็เห็นว่ามีอยู่สองทวีปที่จะหามาได้ คือ อาฟริกาและเอเซีย ในที่นี้ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉพาะเอเซีย
ชาวยุโรปเองยอมรับว่า เอเซียเป็นประเทศที่มาของอารยธรรมก่อนยุโรป ชาวเอเซียบางเชื้อชาติมีอารยธรรมสูงอยู่แล้ว ในขณะที่ชาวยุโรปยังเป็นคนป่าเถื่อน ในดินแดนเอเซียเหล่านี้ มีทรัพยากรธรรมชาติคุณค่ามากมาย แต่เนื่องจากไม่อดอยาก มีความพอใจในชีวิต จึงไม่ติดต่อไปมาหาสู่กับทวีปอื่น ๆ เช่น ยุโรป ซึ่งกำลังเจริญก้าวหน้า เพราะปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อไม่ติดต่อ ก็ไม่เจริญและก้าวหน้า สถานะของดินแดนต่าง ๆ เหล่านี้จึงคงที่ ในสมัยโบราณมีชีวิตอยู่อย่างใด ในสมัยนี้ก็คงดำเนินชีวิตอย่างเดียวกัน จะเริ่มมีความคิดสมัยใหม่บ้าง ก็ในบางประเทศที่ชาวยุโรปมาติดต่อด้วย
ได้กล่าวแล้วว่า ระหว่างคริสตศตวรรษที่ ๑๖ และที่ ๑๗ พวกชาวยุโรป เช่น โปรตุเกส ดัทช ฝรั่งเศส และอังกฤษ ได้เข้ามาค้าขายในเมืองไทย แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น ชนชาติเหล่านี้ได้เข้าไปประเทศต่าง ๆ ทั่วไปในเอเซีย และต่างแย่งกันเพื่อขอผูกขาดการค้าจากเจ้าของประเทศที่ตนเข้าไป หรือไม่ก็ขอสิทธิพิเศษบางประการ เมื่อเป็นเช่นนี้ยุโรปต่อยุโรปเองก็เกิดปะทะกัน เช่น ฝรั่งเศสกับอังกฤษแย่งประโยชน์พิเศษกันในอินเดีย แต่ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายแพ้ อังกฤษจึงได้สิทธิพิเศษในอินเดีย และในที่สุดก็ได้อินเดียทั้งหมด ทางดัทชก็มาได้หมู่เกาะที่เรียกว่า เนเธอร์แลนด์อีสตอินดีส (ปัจจุบันคืออินโดนีเซีย) สำหรับจีน ประเทศในยุโรปต่างก็พยายามแย่งประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในที่สุดจีนก็ต้องทำสัญญาแบ่งประโยชน์ให้ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้มากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่ประเทศไหนจะมีกำลังมากกว่า และเดินการทูตเก่งกว่า
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
เริ่มแรก บาทหลวงชาวฝรั่งเศสเข้ามาสอนศาสนาในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๐๕ (ค.ศ. ๑๖๖๒) และ พ.ศ. ๒๒๐๗ (ค.ศ. ๑๖๖๔) ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า เพราะไทยเราเป็นประเทศนับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมีคติขันติธรรมไม่เบียดเบียนศาสนาอื่น จึงไม่ขัดข้อง ตรงกันข้ามสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกลับทรงพระราชทานความสะดวกต่าง ๆ เป็นอันมาก เช่น พระราชทานที่เพื่อสร้างวัดและตั้ง โรงเรียนเป็นต้น ส่วนการค้านั้น ไทยก็เปิดประตูค้าให้ทุกประเทศ ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ได้ชาวกรีกคนหนึ่งชื่อ ฟอลคอน มารับราชการ ทรงโปรดปราน เพราะทรงเห็นว่ามีความสามารถในพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นเจ้าพระยาวิชเยนทร ฟอลคอนถือศาสนาคริสตัง จึงสนิทสนมกับพวกบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งติดต่อกับพระเจ้าหลุย ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสในขณะนั้น สมเด็จพระนารายณ์จึงส่งคณะทูตออกไปเจริญทางไมตรีกับฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ (ค.ศ. ๑๖๘๐) แต่เรือที่ไปได้อับปาง คณะทูตถึงแก่กรรมหมด แม้กระนั้นก็ดีก็ยังส่งคณะทูตออกไปอีกเป็นครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๗ (ค.ศ. ๑๖๘๔)
ใน พ.ศ. ๒๒๒๘ (ค.ศ. ๑๖๘๕) ฝรั่งเศสส่งเซอวาลิเอร์ เดอโชมองต์เป็นราชทูตมาทำสัญญาการค้า โดยไทยให้ความสะดวกแก่ฝรั่งเศสหลายประการ ให้ฝรั่งเศสผูกขาดการซื้อดีบุกทางภูเก็ต และยอมให้หัวหน้าบริษัทการค้าฝรั่งเศสลงโทษคนของตน ซึ่งกระทำโจรกรรมได้ด้วย
ต่อมาไทยก็ส่งคณะทูตออกไปฝรั่งเศสอีก คือ โกษาปาน เป็นครั้งที่สาม เข้าใจว่าในปี พ.ศ. ๒๒๒๙ (ค.ศ. ๑๖๘๖) ในปี พ.ศ. ๒๒๓๐ (ค.ศ. ๑๖๘๗) ไทยทำสัญญาพาณิชย์กับฝรั่งเศสอีก โดยให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทฝรั่งเศส เช่น การซื้อขายสินค้าบางชนิดไม่ต้องเสียภาษีจังกอบ ภาษีผ่านที่เรียกว่า ค่าขนอน (Octroi) ถ้าคนของบริษัทเป็นความระหว่างกันเองให้บริษัทชำระได้ แต่ถ้าบริษัทเป็นความกับผู้ซึ่งมิได้อยู่ในบังคับของบริษัท ให้ตระลาการไทยพิจารณา แต่ให้ฝรั่งเศสอยู่ด้วย
ต่อมา เนื่องจากคณะบาทหลวงฝรั่งเศสเดินนโยบายที่จะให้ไทยถือศาสนาคริสต์ จึงทำให้ข้าราชการไทยเกลียดชังไม่พอใจ พอดีพระนารายณ์สวรรคตในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ (ค.ศ. ๑๖๘๘) พระเพทราชาแย่งราชสมบัติได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ได้กำจัดเจ้าพระยาวิชเยนทร และเลิกการติดต่อกับฝรั่งเศส แต่ก็คงยังอนุญาตให้บาทหลวงฝรั่งเศสและพ่อค้าชาวยุโรปคงค้าขายอยู่ได้ต่อไปที่กรุงศรีอยุธยา
ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงทำสนธิสัญญากับอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ (ค.ศ. ๑๘๕๕) เพิ่มเติม พ.ศ. ๒๓๙๙ (ค.ศ. ๑๘๕๖) เป็นสัญญาฉบับแรกที่ไทยเราจำเป็นต้องยอมเสียเปรียบ คือ อังกฤษได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว เช่นไทยจะบอกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวไม่ได้ คนในบังคับอังกฤษจะเสียภาษีศุลกากรขาเข้าเพียงอัตราร้อยชักสาม ภาษีศุลกากรขาออกตามพิกัดอันกำหนดตายตัว ถ้าไทยให้ประโยชน์ชาติอื่นอย่างใดต้องให้แก่อังกฤษด้วย ถ้าคนอังกฤษเป็นจำเลยต้องขึ้นศาลกงสุลของอังกฤษ การจับกุมคนอังกฤษกระทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากกงสุลอังกฤษ การเก็บภาษีอากรอื่น ๆ นอกจากภาษีศุลกากร ต้องได้รับอนุมัติจากกงสุลอังกฤษจึงจะเก็บได้ ความจริงเรื่องนี้ไม่ปรากฏในสนธิสัญญา แต่อังกฤษตีความเอาฝ่ายเดียว ไทยต้องยอมเรื่องสัญญาเสียเปรียบเหล่านี้ รัฐบาลไทยในครั้งนั้นก็ทราบดีว่าเป็นการเสียประโยชน์ เสียอธิปไตย แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า เรายอมเสียสละบางส่วนยังดีกว่าเสียเอกราชทั้งประเทศ เพราะเวลานั้นมหาประเทศต่าง ๆ ที่กำลังมุ่งมาทางเอเซียแล้ว เช่น อังกฤษได้เมืองยะไข่ เมาะตะมะ ทวาย และตะนาวศรี ใน พ.ศ. ๒๓๖๙ (ค.ศ. ๑๘๒๖) พม่าใต้ (Lower Burma) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ (ค.ศ. ๑๘๕๒)๒
เมื่อฝรั่งเศสเห็นอังกฤษได้ประโยชน์เช่นนี้ ก็ขอเจรจาทำสนธิสัญญาขอประโยชน์อย่างอังกฤษบ้าง ซึ่งไทยก็ต้องยอมทำด้วย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ (ค.ศ. ๑๘๕๘) ต่อมาอีกเพียงปีเดียว ฝรั่งเศสก็เอาโคจินจีนในเป็นอาณานิคมใน พ.ศ. ๒๔๐๒ (ค.ศ. ๑๘๕๙) บังคับให้กัมพูชา ซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศราชของไทย โอนไปอยู่ใต้อารักขาของฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๐๖ (ค.ศ. ๑๘๖๓) และบังคับให้ไทยรับนับถือว่ากัมพูชาและเกาะกงเป็นของฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๑๐ (ค.ศ. ๑๘๖๗) และต่อมาฝรั่งเศสก็บังคับให้ไทยมอบดินแดนให้ดังต่อไปนี้
พ.ศ. ๒๔๓๑ (ค.ศ. ๑๘๘๘) ให้ไทยยกสิบสองจุไทยให้ พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) หรือที่เรียกว่ากรณี ร.ศ. ๑๑๒ ให้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พ.ศ. ๒๔๔๗ (ค.ศ. ๑๙๐๔) ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบางและตรงข้ามปากเซ และครั้งสุดท้ายใน พ.ศ. ๒๔๕๐ (ค.ศ. ๑๙๐๗) เอาพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ๓
ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไทยได้เข้าร่วมเป็นสัมพันธมิตรกับฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศส ฉะนั้น เมื่อเสร็จสงครามแล้ว ไทยได้ขอเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาฉบับเก่าซึ่งทำไว้กับอังกฤษ ฝรั่งเศส และชาติอื่น ๆ แต่ก็ด้วยความยากลำบาก เพราะประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ เกรงจะขาดประโยชน์ไม่ค่อยยอมง่าย ๆ แต่ไทยได้คนที่มาช่วย คือ พระยากัลยาณไมตรี (ดอกเตอร์แฟรนซีสบีแซยร์) บุตรเขยประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกามาเป็นที่ปรึกษาการต่างประเทศ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ผลแห่งการเจรจา ประเทศต่าง ๆ ๑๓ ประเทศด้วยกัน รวมทั้งอังกฤษโดยสนธิสัญญาปี พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๕) และฝรั่งเศสโดยสนธิสัญญาปี พ.ศ. ๒๔๖๗ (ค.ศ. ๑๙๒๔) ยอมตกลง แต่ก็ยังมีเงื่อนไขบางประการ คือ
(๑) ยอมเลิกอำนาจศาลกงสุล โดยให้คนต่างชาติแห่งต่างประเทศคู่สัญญาขึ้นศาลไทย แต่มีเงื่อนไขว่าจนกว่าไทยจะประกาศและใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้ว และต่อไปอีก ๕ ปี ถ้าพนักงานทูตหรือกงสุลเห็นสมควรถอนคดีที่คนชาติของตนเป็นจำเลยไปพิจารณาพิพากษาเสียเอง เพื่อประโยชน์แก่ความยุติธรรม ก็ถอนคดีไปได้ แต่จะถอนไปจากศาลฎีกาไม่ได้ และ
(๒) ในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากร ไทยมีอิสรภาพในการตั้งพิกัดอัตราศุลกากร แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น สัญญากับอังกฤษมีจำกัดไว้ว่า ภายในเวลา ๑๐ ปี ไทยจะไม่เก็บศุลกากรด้ายดิบ ด้ายเย็บผ้า ผ้าและสรรพสิ่งอื่น ๆ ที่ทำด้วยฝ้าย เหล็ก เหล็กกล้า และสิ่งต่าง ๆ ที่ทำด้วยเหล็ก หรือเหล็กกล้า กับทั้งเครื่องจักรและส่วนของเครื่องจักร ในอัตราสูงกว่าร้อยละ ๕ ของราคา๔
จะเห็นได้ว่า สนธิสัญญาชุดนี้ไทยยังถูกผูกมัดอีกหลายประการ คือ ไม่มีอธิปไตยสมบูรณ์ สนธิสัญญานี้เราถูกมัดฝ่ายเดียว และถูกจำกัดในการวางนโยบายแห่งชาติเกินสมควร ไม่สามารถที่จะหาเงินมาทำนุบำรุงประเทศได้เต็มที่เหมือนประเทศเอกราชสมบูรณ์ทั้งหลาย
รัฐบาลในรัชกาลที่ ๖ จึงเร่งชำระและร่างประมวลกฎหมายต่าง ๆ ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งบรรพหนึ่ง สอง และสาม ใน พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๕)
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ได้ประกาศใช้ประมวลแพ่งและพาณิชย์บรรพสี่ และห้า ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ (ค.ศ. ๑๙๓๑)
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลใหม่ในสมัยนี้ (รัชกาลที่ ๗) ได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งบรรพห้าและบรรพหก และประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลพิจารณาความแพ่ง พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ (ค.ศ. ๑๙๓๕) เป็นอันครบถ้วนกฎหมายตามที่นานาประเทศต้องการ
รัฐบาลได้เริ่มเจรจากับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งอังกฤษ และฝรั่งเศสขอทำสนธิสัญญาใหม่ โดยให้เหตุผลว่า เหตุการณ์ในสมัยทำสนธิสัญญาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๓ (ค.ศ. ๑๙๒๐)-กับ พ.ศ. ๒๔๖๙ (ค.ศ. ๑๙๒๖) ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ในสมัยเดิมนั้นต่างประเทศแสดงความเป็นห่วงว่ากฎหมายไทยยังไม่ทันสมัย บัดนี้เราก็ประกาศใช้ครบถ้วนแล้ว และเป็นกฎหมายที่มีหลักที่ไม่แพ้นานาประเทศ เพราะร่างด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศมากมายหลายท่าน ไทยหวังในความเห็นอกเห็นใจของประเทศต่าง ๆ ในการเจรจาทำสัญญาใหม่นี้ ไทยขอเสนอใช้หลักแห่งสนธิสัญญาเสมอภาค หรือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน (Principle of Reciprocity) หลักความเป็นธรรม (Principle of Equity) และหลักคุณประโยชน์แก่กันและกัน (Principle of Mutual Benefit) ซึ่งนานาประเทศได้ตกลงรับหลักการดังกล่าวนี้
ในที่สุดประเทศต่าง ๆ ก็ได้ทำสัญญาใหม่กับไทย ๑๓ ประเทศด้วยกัน รวมทั้งสนธิสัญญากับอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗) สนธิสัญญากับฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗) และสนธิสัญญากับญี่ปุ่นใน พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗)
ตามสนธิสัญญาเหล่านี้ ประเทศไทยได้อิสรภาพในเรื่องอำนาจศาลและการภาษีอากรกลับคืนมาโดยเต็มที่ ศาลยุติธรรมของไทยชำระชาวต่างประเทศได้เหมือนกับคนไทย ส่วนศุลกากรและภาษีอากรอย่างอื่นก็เก็บได้ตามที่เห็นสมควร จะเอาบุคคลทั้งปวงที่เกิดในประเทศไทยไว้เป็นคนชาติไทยก็ได้ และจะสงวนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ยังไม่มีเจ้าของไว้ให้แก่คนชาติไทยก็ได้ ประเทศไทยเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์แล้ว สรุปความก็คือ บรรดาสนธิสัญญาใหม่เป็นแบบเดียวกับที่อารยประเทศทำต่อกัน กล่าวคือให้ผลปฏิบัติอย่างชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งในเรื่องการค้าและการพาณิชย์ และให้ผลปฏิบัติอย่างชาติพื้นเมืองในเรื่องภาษีอากร๕
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษ
ตามประวัติปรากฏว่า เรือสินค้าอังกฤษเข้ามายังประเทศไทย โดยมาที่กรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๕๕ (ค.ศ. ๑๖๑๒) ในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม โดยมีพระราชสาสน์จากพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งแห่งประเทศอังกฤษ พระเจ้าทรงธรรมได้ทรงอนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษเปิดโรงการค้าได้ แต่ปรากฏว่าไม่เป็นผลกำไรจึงปิดโรงการค้านั้นใน พ.ศ. ๒๑๗๕ (ค.ศ. ๑๖๓๒) เมื่ออังกฤษหยุดการค้า ฝ่ายเนเธอร์แลนด์ซึ่งทำการค้าอยู่ก่อนแล้วพอใจมาก เพราะไม่มีผู้แข่งขัน ไทยเกรงว่าเนเธอร์แลนด์จะคุมการค้าฝ่ายเดียว จึงพยายามเจรจาให้อังกฤษกลับมาทำการค้าอีก แต่อังกฤษเกี่ยงว่าต้องให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้รับการผูกขาดบางอย่าง ไทยไม่ยอม จึงไม่สามารถตกลงกันได้ แม้กระนั้นก็ดีก็ยังมีคนอังกฤษทำการค้าอยู่บ้าง โดยได้รับอุปการะจากฟอลคอน (เจ้าพระยาวิชเยนทร) สำหรับบริษัทอินเดียตะวันออกนั้นไม่ชอบฟอลคอน เพราะฟอลคอนทำการค้าแข่งกับตน ฟอลคอนตั้งคนอังกฤษคนหนึ่งชื่อแซมวลไวท์ไปเป็นเจ้าเมืองมะริด ซึ่งก็เท่ากับให้ไปทำการค้าด้วย ไวท์เกิดไปวิวาทกับบริษัทอังกฤษเรื่องการค้า บริษัทอังกฤษส่งเรือรบมายึดเมืองมะริดและจับเอาแซมวลไวท์ไป ผลถึงกับไทยโดยการจัดการของฟอลคอนประกาศสงครามกับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษใน พ.ศ. ๒๒๓๐ (ค.ศ. ๑๖๘๗) แต่ก็ไม่ได้ทำสงครามกันอย่างใด ตั้งแต่นั้นมาการติดต่อกับอังกฤษก็เป็นอันยุติไป จะเห็นได้ว่าไทยกระทบกับอังกฤษครั้งแรกนี้เกี่ยวกับคนอังกฤษเองไปขัดกับประโยชน์ของบริษัทอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษสนับสนุน และข้าราชการไทยเราเองคือฟอลคอนก็ค้าขายด้วย จึงเกิดประโยชน์ขัดกันขึ้น๖
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) พวกฝรั่งจึงกลับเข้ามาติดต่อกับไทยอีก รวมทั้งอังกฤษด้วย แต่เวลานั้นอังกฤษรังเกียจวิธีการค้าขายกับไทยหลายประการ เช่น เมื่อเรือเข้ามาจากเมืองต่างประเทศ เจ้าพนักงานไทยก็ลงไปตรวจสินค้าที่รัฐบาลต้องการก่อน เมื่อพบแล้วก็กันเอาไว้ ห้ามมิให้ขายให้ผู้ใดผู้หนึ่ง แล้วก็ซื้อตามราคาที่ตนเห็นสมควร สำหรับสินค้าที่รัฐบาลไม่ต้องการจึงให้ขายให้ผู้อื่นได้ สินค้าบางอย่างเป็นของผูกขาดของหลวง ผู้ใดจะขายสินค้านั้น ๆ แก่พ่อค้าต่างประเทศไม่ได้ พวกพ่อค้าต่างประเทศจะต้องซื้อจากพระคลังหลวงแห่งเดียว ซึ่งรับซื้อจากราษฎรโดยราคาถูก ๆ แล้วนำไปขายแก่พ่อค้าต่างประเทศโดยราคาสูง และภาษีอากรที่เก็บจากสินค้าที่นำเข้ามายังเมืองไทยนั้นก็ไม่มีพิกัดอัตราแน่นอน สุดแล้วแต่เจ้าพนักงานไทยจะเรียกเก็บ อังกฤษมีข้อรังเกียจกังนี้ จึงส่งทูตชื่อ จอห์น ครอเฟอร์ด (John Crawfurd) เข้ามาเจรจาในปี พ.ศ. ๒๓๖๔ (ค.ศ. ๑๘๒๑) แต่ไม่ได้ตกลงอย่างไร ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ คืออีก ๕ ปีต่อมาคือใน พ.ศ. ๒๓๖๙ (ค.ศ. ๑๘๒๖) ภายหลังที่อังกฤษได้เมืองยะไข่ มะตะบัน ทวาย และตะนาวศรีแล้ว จึงส่งเฮนรี่ เบอร์เนย์ (Henry Burney) เข้ามาเจรจาใหม่ และได้ทำสนธิสัญญากับไทยในปีนี้ โดยไทยยอมให้ความสะดวกแก่อังกฤษในการค้า ไม่ถูกกันอย่างแต่ก่อน และคนอังกฤษก็ต้องขึ้นศาลไทยเหมือนคนไทย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไทยทำสัญญากับต่างประเทศภายหลังที่ได้ยุติการติดต่อกับชาวยุโรปมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระเพทราชาดังกล่าวมาแล้ว
ต่อมา ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) อังกฤษส่งเซอร์จอห์น บาวริง (Sir John Bowring) เจ้าเมืองฮ่องกงเข้ามาเจรจาใหม่ใน พ.ศ. ๒๓๙๘ (ค.ศ. ๑๘๕๕) และลงนามกันในปีนี้ รายละเอียดของสนธิสัญญาฉบับนี้ได้กล่าวแล้วว่า เราจำต้องยอมเสียเปรียบอย่างใด๗ สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นสนธิสัญญาแบบซึ่งประเทศอื่น ๆ เรียกร้อง และไทยจำต้องลงนามด้วยอีก ๑๓ ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ (ค.ศ. ๑๘๕๖) สหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ (ค.ศ. ๑๘๕๖) เดนมาร์กเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ (ค.ศ. ๑๘๕๘) โปรตุเกสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ (ค.ศ. ๑๘๕๙) เนเธอร์แลนด์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓ (ค.ศ. ๑๘๖๐) เยอรมันนีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕ (ค.ศ. ๑๘๖๒) สวีเดนและนอรเวย์๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๘) เบลเยี่ยมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๘) อิตาลีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๘) ออสเตรียฮังการี๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ (ค.ศ. ๑๘๖๙) สเปญเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ (ค.ศ. ๑๘๗๐) ญี่ปุ่น๑๐ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ (ค.ศ. ๑๘๙๘) และรัสเซียเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ. ๑๘๙๙)
ข้าพเจ้าขออธิบายเพิ่มเติมอีก ในเรื่องสัญญาเสียเปรียบครั้งนี้ ที่ว่าเสียเปรียบคือ มัดเราฝ่ายเดียว ความจริงถ้าจะกล่าวอย่างให้เป็นกลางในเรื่องเขาขออำนาจศาล ซึ่งเป็นเรื่องเสื่อมเสียอำนาจอธิปไตย แต่เราก็ต้องยอมรับว่าในขณะนั้นศาลยุติธรรมของเรายังไม่ทันสมัยอย่างนานาประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นก็ควรอยู่ แต่เรื่องห้ามเราไม่ให้เก็บภาษีศุลกากรเกินกว่าอัตราที่เขากำหนดให้นี้ไม่ เป็นธรรมยิ่ง เป็นการกดขี่อย่างรุนแรง เราก็ทราบแล้วว่าสมัยนั้นเป็นสมัยแสวงหาอาณานิคม ประเทศที่ทำสงครามกับอังกฤษเช่น อินเดีย พม่า ก็พ่ายแพ้ ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไปแล้ว และ ๑๓ ปีก่อนนี้เอง คือเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ (ค.ศ. ๑๘๕๒) อังกฤษรบกับจีนเป็นครั้งแรก คือเรื่องสงครามฝิ่น ในสมัยนั้นจีนอนุญาตให้ชาวยุโรปเข้าไปค้าขายผ่านเมืองท่าเมืองเดียว คือเมืองกังตั๋ง แม้กระนั้น ก็วางเงื่อนไขเข้มงวด ซึ่งชาวยุโรปไม่พอใจ โดยผ่านเมืองกังตั๋งนี้เอง พ่อค้าอังกฤษส่งฝิ่นเข้าไปจำหน่าย รัฐบาลจีนเห็นว่าฝิ่นเป็นยาเสพติดร้ายแรง พลเมืองจีนสูบแล้วติดงอมแงม จึงสั่งห้ามไม่ให้นำเข้าไป โดยตั้งกองตำรวจกวดขันที่ท่าเรือ ตำรวจจับได้เอาฝิ่นเหล่านี้โยนลงทะเลหมด และเนรเทศพ่อค้าอังกฤษที่มีผิดในเรื่องนี้ รัฐบาลอังกฤษสนใจในเรื่องฝิ่นเพราะในขณะนั้นอินเดียปลูกฝิ่นและได้เงินจากการขายฝิ่นมาก จึงส่งกองเรือรบไปปิดล้อมอ่าวเมืองกังตั๋งและระดมยิงกองเรือรบจีนซึ่งก็มีไม่กี่ลำ ในขณะเดียวกันก็ยึดเมืองท่าต่าง ๆ เช่น เอ้หมึง ฟูเจา นิงโป เซี่ยงไฮ้ และนานกิง ใน พ.ศ. ๒๓๘๕ (ค.ศ. ๑๘๔๒) จีนขอยอมแพ้ และทำสัญญายอมเสียค่าเสียหายให้อังกฤษ ยอมให้อังกฤษเช่าเกาะฮ่องกง และให้เมืองท่าเอ้หมึง ฟูเจา นิงโป และเซี่ยงไฮ้ เป็นเมืองเปิด ในเรื่องอังกฤษทำสงครามกับในครั้งนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับสั่งว่าครั้งนั้นในเมืองไทยเชื่อคำจีนโดยมากว่า จีนไม่ได้แพ้ฝรั่งเป็นแต่ยอมทำสัญญาซื้อรำคาญ มีไทยที่เป็นชั้นสูงแค่ ๓ ท่านซึ่งเห็นว่าจีนแพ้ฝรั่งแน่ และเชื่อว่าชาวยุโรปจะออกมามีอำนาจทางประเทศตะวันออกในวันหน้า ๓ ท่านนี้คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นทรงผนวชอยู่พระองค์หนึ่ง พระปิ่นเกล้าฯ พระอนุชาของพระจอมเกล้าฯ พระองค์หนึ่ง และสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งต่อมาเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกองค์หนึ่ง ฉะนั้น ไทยจะต้องขวนขวายหาความรู้วิชาการอย่างฝรั่ง เพื่อเตรียมการสำหรับต่อต้านทางการทูต๑๑ ความจริงสัญญาที่ไทยทำกับ เฮนรี่ เบอร์เนย์ ครั้งแรกดังกล่าวแล้วนั้น อังกฤษก็ไม่พอใจนัก ทางไทยเราก็ทราบมาว่าทางอังกฤษนั้นเตรียมไว้แล้ว ถ้าไม่ยอมก็เตรียมจะเอาเรือรบเข้ามาบังคับทำนองทำกับจีน ซึ่งเรียกกันว่า “การทูตโดยใช้เรือรบ” (Gunboat diplomacy)
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๒ (ค.ศ. ๑๙๐๙) ไทยทำสัญญากับอังกฤษ ยกกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิศ กับบรรดาเกาะที่ใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ เพื่อเป็นการตอบแทนอังกฤษที่ตกลงให้คนในบังคับอังกฤษทั้งฝรั่งและชาวเอเซีย ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นคนในบังคับอังกฤษไว้ก่อนนั้น ขึ้นศาลต่างประเทศ จนกว่าไทยจะได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วน
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๕) และ พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗) ก็ได้แก้ไขทำสนธิสัญญาใหม่เป็นลำดับดังกล่าวแล้วข้างต้น๑๒
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นนี้ น่าสนใจ สำหรับระบอบการปกครอง การเมือง ของญี่ปุ่น ตลอดจนนโยบายต่างประเทศทั่ว ๆ ไป ข้าพเจ้าจะได้กล่าวในภาค ๓ บทที่สอง เฉพาะในตอนนี้จะกล่าวแต่เรื่องความสัมพันธ์กับไทย
ชาวญี่ปุ่นจะเข้ามาติดต่อประเทศไทยเมื่อใดแน่นั้น ไม่สามารถหาหลักฐานได้ แต่ตามพงศาวดารปรากฏว่า ในปี พ.ศ. ๒๑๓๖ (ค.ศ. ๑๕๙๓) ในแผ่นดินพระนเรศวรมหาราช มีทหารญี่ปุ่น ๕๐๐ คนอยู่ในกองทัพไทย ซึ่งแสดงว่าญี่ปุ่นต้องเข้ามาก่อนนั้นแล้ว ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามานั้นมีหลายประเภทด้วยกัน เข้ามาทำการค้าขายก็มี เป็นนักเดินเรือก็มี มาสมัครเป็นทหารก็มี เราทราบแล้วว่า ญี่ปุ่นก่อน พ.ศ. ๒๔๐๓ (ค.ศ. ๑๘๖๘) พระเจ้าจักรพรรดิไม่มีพระราชอำนาจอันใด อำนาจแท้จริงอยู่กับผู้สำเร็จราชการที่เรียกกันว่า “โชกุน” (Shogun) โชกุนติดต่อกับพระมหากษัตริย์ไทยโดยตรง ตั้งแต่รัชกาลพระเอกาทศรฐ คือใน พ.ศ. ๒๑๔๓ (ค.ศ. ๑๖๐๖) โชกุนถึงกับมีอักษรสารกราบทูลชมเชยว่า ไทยทำปืนไฟเก่งและขอไปใช้บ้าง ซึ่งก็ได้พระราชทานไป ในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมได้ส่งคณะทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรีที่ประเทศญี่ปุ่นถึงสามครั้ง คือ ใน พ.ศ. ๒๑๖๔ (ค.ศ. ๑๖๒๑) พ.ศ. ๒๑๖๖ (ค.ศ. ๑๖๒๓) และ พ.ศ. ๒๑๖๙ (ค.ศ. ๑๖๒๖) ปรากฏว่ามีหนังสือไปมาโต้ตอบกันอย่างสนิทสนม และแลกเปลี่ยนของขวัญซึ่งกันและกัน ในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมถึงกับทรงตั้งกรมอาสาทหารญี่ปุ่นขึ้นและตั้งคนญี่ปุ่นชื่อ ยามาดา นางามาซา เป็นออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น
ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง คือ ในปี พ.ศ. ๒๑๗๙ (ค.ศ. ๑๖๓๖) โชกุนระแวงพวกฝรั่ง เฉพาะอย่างยิ่งพวกโปรตุเกส ซึ่งเข้าไปสอนศาสนาโรมันคัธลิกในญี่ปุ่น จึงประกาศห้ามไม่ให้คนญี่ปุ่นและเรื่อญี่ปุ่นออกนอกประเทศ ใครละเมิดจะถูกประหารชีวิต และห้ามติดต่อกับชาวต่างประเทศ ทั้งห้ามไม่ให้ชาวต่างประเทศเข้าเมืองอีกด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นจึงสะดุดหยุดลง
ญี่ปุ่นปิดเมืองไม่ติดต่อกับประเทศอื่น ๆ จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๙๖ (ค.ศ. ๑๘๕๓) นายพลเรือเปอรี ผู้บัญชาการกองเรือรบอเมริกัน นำเรือรบเข้าไป และบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประตูค้าขายกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นยอมตกลง และทำสัญญากับสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. ๒๓๙๗ (ค.ศ. ๑๘๕๔) และอังกฤษก็ยกกองเรือรบมาบังคับในปีเดียวกันนี้ และญี่ปุ่นยอมทำสัญญาค้าขายด้วย ต่อมาญี่ปุ่นก็ทำสัญญาทำนองเดียวกันกับรัสเซียและเนเธอร์แลนด์
ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ (ค.ศ. ๑๘๖๗) พระจักรพรรดิโกเมอิ (Komei) สวรรคต มกุฎราชกุมารมัทซุฮิโต (Mutsuhito) ได้สืบราชสมบัติแทน พวกซามูไรเห็นว่าให้โชกุนมีอำนาจไม่ได้ประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างไร จึงเลิกตำแหน่งโชกุน และถวายพระราชอำนาจให้พระจักรพรรดิใหม่
อาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่นั้นมาญี่ปุ่นก็เริ่มมีบทบาททางการทูตกับนานาประเทศอย่างแข็งขัน ในการนี้ญี่ปุ่นก็ต้องยอมทำสนธิสัญญากับนานาประเทศ โดยถูกผูกมัดอย่างไทยถูกผูกมัดตามสนธิสัญญาชุดปี พ.ศ. ๒๓๙๘ - พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ. ๑๘๕๕ – ค.ศ. ๑๘๙๙) ดังกล่าวข้างต้น
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ค.ศ. ๑๘๙๗) สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของเราในขณะนั้น เสด็จไปญี่ปุ่น ปรากฏว่าได้ลงพระนามร่วมกับ นายอาโอกิ รองรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น และออกแถลงการณ์ร่วมกัน ว่าทั้งสองประเทศจะแลกเปลี่ยนทูตซึ่งกันและกัน จะตั้งสถานกงสุลและส่งเสริมการพาณิชย์และการเดินเรือ ต่อมาอีกหนึ่งปีญี่ปุ่นได้ตั้งอัครราชทูตเข้ามาทำสนธิสัญญากับไทยเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๑ (ค.ศ. ๑๘๙๘) ข้อความในสนธิสัญญาก็คล้าย ๆ กับสนธิสัญญากับอังกฤษ ปี พ.ศ. ๒๓๙๘ (ค.ศ. ๑๘๕๕) คือไทยยอมให้อำนาจศาลแก่ญี่ปุ่นในกรณีเกี่ยวกับคนญี่ปุ่นเป็นจำเลย เรื่องภาษีอากรต้องให้ผลปฏิบัติอย่างชนชาติที่โปรดให้ได้ประโยชน์อย่างยิ่ง คือชาติอื่นใดเช่นกับอังกฤษ ฝรั่งเศส เราสัญญาจะไม่เก็บภาษีเกินร้อยละสาม เราก็ต้องปฏิบัติกับญี่ปุ่นทำนองเดียวกัน แต่ต่างกันเล็กน้อยในเรื่องอำนาจศาล ถ้าไทยประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบเมื่อใด ศาลกงสุลจะหมดฐานะไป พึงสังเกตว่าในปีที่ญี่ปุ่นทำสนธิสัญญากับเรา และได้อำนาจศาลกงสุลไปจากเรานั้น ญี่ปุ่นเองยังต้องให้นานาประเทศมีศาลกงสุลในญี่ปุ่นอยู่ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ. ๑๘๙๙) ญี่ปุ่นประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วน นานาประเทศจึงยอมยุบเลิกศาลกงสุล
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ (ค.ศ. ๑๙๒๓) ภายหลังที่สหรัฐอเมริกาได้ทำสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือกับไทยใหม่แล้ว ๓ ปี ญี่ปุ่นจึงทำสนธิสัญญาใหม่กับไทย โดยมีหลักการเช่นเดียวกับสนธิสัญญาที่ไทยทำกับฝรั่งเศสและอังกฤษ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) ไทยได้เจรจาทำสนธิสัญญาใหม่กับนานาประเทศ ญี่ปุ่นก็ได้ตกลงทำสนธิสัญญาใหม่เช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. ๑๙๓๗) คือเป็นสนธิสัญญาเสมอภาค หลักการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน หลักความเป็นธรรม และหลักคุณประโยชน์แก่กันและกัน และให้ผลปฏิบัติอย่างชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งในเรื่องการพาณิชย์และการเดินเรือ และให้ผลปฏิบัติอย่างชาติพื้นเมืองในเรื่องภาษีอากร
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมากระชับขึ้นอีก คือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕๑๓ (ค.ศ. ๑๙๓๒) คณะกรรมการ ๑๙ ชาติรายงานต่อสภาสันนิบาตชาติว่า การที่ญี่ปุ่นพิพาทกับจีนเรื่องแมนจูเรียนั้น ญี่ปุ่นผิด และรัฐบาลแมนจูกัวนั้นญี่ปุ่นจัดการตั้งขึ้นเป็นรัฐบาลหุ่น นานาชาติไม่ควรรับรอง ข้าพเจ้าจำเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ดี เพราะเพิ่งเข้ารับราชการอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ พระยาศรีวิสารวาจา รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศในขณะนั้น ได้เสนอหารือในคณะรัฐมนตรี ๆ ลงมติว่าเพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นหมางใจ ไทยเราควรงดเว้นการออกเสียง รัฐบาลจึงได้โทรเลขสั่งการไปยังผู้รักษาการแทนผู้แทนไทยที่สันนิบาตชาติ๑๔ ต่อมาหลวงภัทรวาทีรายงานเข้ามาว่า เมื่อถึงเวลาลงมติได้งดเว้นลงมติ และมีไทยประเทศเดียวที่งดเว้นลงมติ ภายหลังนั้นผู้แทนญี่ปุ่น๑๕ ได้เดินออกจากที่ประชุม ก่อนออกจากห้องประชุมได้เดินเข้ามาจับมือกับผู้แทนไทยและกล่าวว่า ขอบใจมาก ถ้าฝรั่งรบไทยญี่ปุ่นจะช่วยรบ การงดเว้นออกเสียงของไทยครั้งนี้ ชาติต่าง ๆ ในยุโรปแสดงความไม่พอใจบ้าง และญี่ปุ่นได้ประกาศว่า ไทยได้สนับสนุนญี่ปุ่นในทางใจ (moral support)๑๖ ต่อมาในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน ญี่ปุ่นก็ยื่นใบลาออกจากสันนิบาตชาติ
กติกาสัญญาไม่รุกรานระหว่างไทยกับฝรั่งเศส อังกฤษ และญี่ปุ่น
โดยที่เรื่องนี้ รัฐบาลไทย๑๗ ในขณะนั้นได้เจรจารวมและพร้อมกันทั้งสามประเทศคือ ฝรั่งเศส อังกฤษและญี่ปุ่น ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะได้กล่าวรวมกันโดยไม่แยกเป็นประเทศ ๆ
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙) ก่อนเกิดสงครามด้านยุโรปไม่กี่วัน อีกนัยหนึ่งเกิดวิกฤตกาลขึ้นแล้วในยุโรป คือ เยอรมันนีโดยฮิตเล่อร์เป็นผู้นำ ได้คุกคามโปแลนด์เพื่อขอแดนซิกและแนวฉนวนโปแลนด์พร้อมทั้งยื่นเงื่อนไขต่าง ๆ อัครราชทูตฝรั่งเศส๑๘ที่กรุงเทพฯ ในขณะนั้น ได้มาทาบทามพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ เพื่อขอทำกติกาสัญญาไม่รุกราน พลตรีหลวงพิบูลสงครามได้นำเรื่องปรึกษากันในคณะรัฐมนตรี ๆ ก็เห็นชอบด้วย
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙) รัฐบาลไทย โดยทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำบันทึกช่วยจำตอบอัครราชทูตฝรั่งเศสไปว่า รัฐบาลยินดีจะทำกติกาด้วย แต่ในขณะเดียวกันปัญหา เรื่องเขตแดนแม่น้ำโขง ซึ่งยังไม่สะดวกแก่การปกครองนั้น ก็ควรจะทำความตกลงแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามหลักเรื่องร่องน้ำลึก (Thalweg) ซึ่งเป็นหลักตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะตามสัญญาเดิมนั้น ไม่ได้เป็นไปตามหลักนี้ กล่าวคือฝรั่งเศสเอาแม่น้ำโขงเป็นของตน ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ตอบตกลงในหลักการ
ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสตอบตกลงในหลักการที่เราเสนอไปแล้ว รัฐบาลจึงมาพิจารณาว่า อังกฤษก็เป็นประเทศที่มีดินแดนติดต่อกับเรา คือ สหพันธรัฐมลายูในขณะนั้นและพม่าซึ่งยังเป็นของอังกฤษอยู่ ก็ควรจะเจรจาเสียด้วย เพราะขณะนั้นเกิดสงครามด้านยุโรปแล้ว อังกฤษเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นแม้จะอยู่ห่างกับเรา แต่ก็เป็นฝ่ายอักษะ คือ พวกเยอรมันนีและอิตาลี คนละค่ายกับอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อป้องกันการระแวงจากทุกฝ่าย จึงควรเจรจากับญี่ปุ่นด้วย
สำหรับอังกฤษนั้น ไม่มีปัญหาเรื่องเขตแดนอย่างใด เพราะเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศอยู่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศจึงยื่นบันทึกช่วยจำให้แก่อัครราชทูตอังกฤษ๑๙ ที่กรุงเทพฯ สาระสำคัญว่า รัฐบาลไทยกำลังเจรจาจะทำกติกาสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศส ฉะนั้น โดยที่อังกฤษก็เป็นประเทศที่มีดินแดนติดต่อกับไทย จะสนใจทำกติกาอย่างฝรั่งเศสหรือไม่ ถ้าสนใจรัฐบาลไทยก็ยินดีจะเจรจาด้วย
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้ยื่นบันทึกช่วยจำทำนองเดียวกัน ให้แก่อัครราชทูตญี่ปุ่น๒๐ ที่กรุงเทพ ฯ ด้วย
สำหรับอังกฤษกับฝรั่งเศสนั้น ได้มีการเจรจายกร่างกันอยู่ในราวเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) จึงตกลงกัน๒๑
สำหรับญี่ปุ่นนั้น ในชั้นแรกแสดงความไม่สนใจ เมื่ออังกฤษกับฝรั่งเศสตกลงแล้วเช่นนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังไม่ตอบประการใด วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ข้าพเจ้าจึงได้เชิญอัครราชทูตญี่ปุ่นมาพบ และแจ้งกับทูตว่า เรื่องสัญญาไม่รุกรานคืบหน้าไปเพียงใด นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศใคร่ทราบ ทั้งนี้เพราะการเจรจาทางด้านฝรั่งเศสและอังกฤษตกลงแล้ว คงจะเซ็นกันในราว ๒-๓ สัปดาห์ข้างหน้า อัครราชทูตญี่ปุ่นตอบว่าขอบอกเป็นไปรเวตว่า ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีประโยชน์เกี่ยวข้องนัก เพราะในแดนเราไม่ได้ติดต่อกัน อีกประการหนึ่งญี่ปุ่นเกรงว่าเยอรมันนีและอิตาลีจะเข้าใจผิด อย่างไรก็ดี ทูตจะรีบรายงานไปยังรัฐบาลของตน
เมื่อข้าพเจ้ารายงานเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรีฯได้สั่งให้ข้าพเจ้าเชิญอัครราชทูตเยอรมัน๒๒ อัครราชทูตอิตาเลียน๒๓ และอัครราชทูตอเมริกัน๒๔ มาพบและเล่าให้ฟัง เพื่อทราบปฏิกิริยา
วันที่ ๑๓ เมษายน ข้าพเจ้าจึงได้เชิญอัครราชทูตทั้งสามมาพบ และแจ้งให้ทราบว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สั่งให้ข้าพเจ้าเชิญทูตมาพบเพื่อชี้แจงข้อความบาง อย่างเป็นความลับ ข้าพเจ้าได้เล่าให้ทูตทั้งสามฟังถึงเรื่องการเจรจาในเรื่องนี้ว่า ดำเนินมาอย่างไรถึงได้กล่าวแล้วในตอนต้น ที่ให้ทูตทั้งสามทราบก็เพื่อขอให้รายงานไปยังรัฐบาลของตน เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดเป็นอย่างอื่น และเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ข้อความในร่างสัญญาไม่มีข้อความเป็นเลศนัยอย่างใด นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้าพเจ้าเอาร่างบันทึกช่วยจำถึงอัครราชทูตฝรั่งเศส บันทึกช่วยจำถึงอัครราชทูตอังกฤษ บันทึกช่วยจำถึงอัครราชทูตญี่ปุ่น และร่างสัญญาไม่รุกราน ให้อัครราชทูตทั้งสามอ่าน ปฏิกิริยาในชั้นนี้มีดังนี้ คือ อัครราชทูตเยอรมันขอบคุณที่เรามีอัธยาศัยไมตรีจิตให้ข้อเท็จจริงแจ่มแจ้ง ทูต ไม่เห็นข้อความใดที่จะทำให้เข้าใจผิดไปได้ และที่รัฐบาลไทยปฏิบัตินั้นชอบด้วยเหตุผลทุกประการ และเป็นการแสดงความสุจริตใจว่า ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นพันธมิตรกับฝ่ายใด อัครราชทูตอิตาเลียนก็มีความเห็นทำนองเดียวกัน
สำหรับอัครราชทูตอเมริกันได้กล่าวขอบคุณในไมตรีจิต และว่าจักได้รายงานไปยังรัฐบาล และก็เชื่อว่ารัฐบาลอเมริกันก็คงเข้าใจดีในเรื่องนี้
วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) กล่าวคือ ๑๑ วันหลังจากที่ข้าพเจ้าได้เชิญมาสอบถามว่าเรื่องคืบหน้าไปประการใด อัครราชทูตญี่ปุ่นได้มาพบและแจ้งว่ารัฐบาลญี่ปุ่นตกลงในหลักการเรื่องทำสัญญาไม่รุกราน ที่ญี่ปุ่นรีรอมา เพราะกลัวว่าโลกจะเข้าใจผิด เฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายอักษะ อีกประการหนึ่งญี่ปุ่นไม่เคยเห็นสัญญาทำนองนี้กับใครเลย ฉะนั้น ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรก และอีก ๕-๖ วันอัครราชทูตญี่ปุ่นจะได้มาประชุมปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของไทยในเรื่องร่างนี้ การที่ญี่ปุ่นชักช้าก็เพราะมีพิธีการมาก และแม้จะตกลงในหลักการนี้ก็ตาม คณะองคมนตรี๒๕ และสภาผู้แทนราษฎร จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ยังไม่แน่ แต่อย่างไรก็ดี อัครราชทูตญี่ปุ่นใคร่ขอพบนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียนให้ทราบว่า ถ้าอังกฤษเซ็นสัญญาก่อน สาธารณมติในญี่ปุ่นจะไม่เข้าใจ และอาจไม่พอใจรัฐบาลไทยก็ได้ โดยหาว่าไปเป็นมิตรกับอังกฤษ ทูตจึงคิดว่าถ้าไทยหน่วงการเซ็นสัญญากับอังกฤษไว้อีก ๓-๔ สัปดาห์ได้จะดีมาก เพราะญี่ปุ่นอยากเซ็นก่อน หรือมิฉะนั้นก็ต้องเซ็นวันเดียวกัน ข้าพเจ้าได้ตอบว่าในทางปฏิบัติกว่าจะพิมพ์ตรวจทานตัวบทเสร็จก็ต้องใช้เวลาอีกราว ๓ สัปดาห์ และฝรั่งเศสก็ยังไม่พร้อม เพราะยังพิจารณาร่างอยู่ และฝรั่งเศสเองก็เกรงว่าเราจะเซ็นกับอังกฤษก่อนเหมือนกัน ฉะนั้นทูตไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องนี้ เรื่องเซ็นนั้นถ้าเซ็นพร้อมกันในวันเดียวกันก็ดีเหมือนกัน ต่อมาอัครราชทูตญี่ปุ่นได้เสนอร่างแก้ไขร่างสัญญาของเราที่เสนอไป โดยชี้แจงเหตุผลว่า ไม่อยากมีข้อความทำนองเดียวกับอังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งได้พิจารณากันในคณะรัฐมนตรี เห็นว่าสาระสำคัญของเราคือ ต้องการให้มีการรับรองว่าจะเคารพบูรณภาพอาณาเขตซึ่งกันและกัน ถ้ามีหลักนี้ก็พอใจแล้ว สำหรับข้าพเจ้าเองไม่ชอยถ้อยคำบางคำ เช่น จะมีการแลกเปลี่ยนข่าวสาร และปรึกษากันในปัญหาข้อหนึ่งข้อใดซึ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งดูเชิงเป็นมิตรพิเศษ แต่เมื่อญี่ปุ่นยืนยัน และนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศด้วย ทั้งคณะรัฐมนตรีก็เห็นว่าไม่ควรขัดข้อง เพราะไม่เสียหายประการใด ข้าพเจ้าก็ไม่คัดค้านประการใด
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) อัครราชทูตญี่ปุ่นมาขอพบข้าพเจ้าอีกและแจ้งว่า ตามที่เราขอแก้ว่า ต่างฝ่ายต่างเคารพต่อการปกครองภายในซึ่งกันและกันนั้น จริงอยู่ ญี่ปุ่นเข้าใจดีตามที่เราชี้แจงว่า มีไว้ให้เหมือนกับร่างสัญญาที่จะทำกับอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ญี่ปุ่นไม่อยากให้เหมือนกัน ฉะนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นเสียใจที่จะตกลงด้วยไม่ได้ และเห็นว่ามีเพียงว่า ต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตซึ่งกันและกันก็พอแล้ว เพราะในประเทศญี่ปุ่นมีผู้มีความคิดเห็นแปลก ๆ มาก ทูตเองออกมาอยู่ต่างประเทศเสียนาน จึงไม่เข้าใจเหมือนกัน และทูตได้เคยแสดงความเห็นกับข้าพเจ้าไว้ตั้งแต่แรกว่า ไม่มีข้อขัดข้องอันใด แต่บัดนี้รัฐบาลสั่งให้ทูตมาชี้แจงว่า การเคารพระบอบการปกครองของแต่ละฝ่าย (Political regime) นี้ ทางญี่ปุ่นถือว่าหมายถึงองค์พระจักรพรรดิ การที่จะเอาพระจักรพรรดิเข้ามาเกี่ยวในสัญญานี้ลำบาก จะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียด้วย ดังที่เคยเกิดเรื่องมาแล้วเมื่อ ๕ ปีมานี้ คือ ศาสตราจารย์มิโตเบ (Mitobe)๒๖ แห่งมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล อธิบายเรื่องรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นว่า พระจักรพรรดิเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกออกจากราชการ และตำราที่เขียนไว้ถูกริบหมด เมื่อญี่ปุ่นยืนยันอ้างเหตุผลทางการเมืองเช่นนี้ ในคณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ตกลงได้
ในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) อัครราชทูตเยอรมันมาพบข้าพเจ้าและแจ้งว่า ได้รายงานเรื่องที่ข้าพเจ้าชี้แจงการเจรจาสัญญาไม่รุกรานกับสามประเทศไปให้รัฐบาลของเขาทราบโดยละเอียดแล้ว บัดนี้รัฐบาลได้สั่งให้มาตอบว่า รัฐบาลเยอรมันขอขอบคุณมากที่มีแก่ใจเล่าให้ฟังและเข้าใจเรื่องนี้ดี และในวันเดียวกันนี้อัครราชทูตอิตาเลียนก็มายืนยันเช่นเดียวกันว่า รัฐบาลอิตาเลียนขอบคุณและเข้าใจเรื่องนี้ดี
ในที่สุดได้ตกลงจะลงนามกัน ณ ทำเนียบรัฐบาลในขณะนั้น คือวังสวนกุหลาบ ระหว่างพลตรีหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับอัครราชทูตฝรั่งเศส อัครราชทูตอังกฤษและอัครราชทูตญี่ปุ่น ตามลำดับของการเจรจาก่อนหลัง ในวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐)
แต่ถึงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ทูตญี่ปุ่นมาขอพบข้าพเจ้าอีก และกล่าวว่า เกรงใจข้าพเจ้าที่สุดที่มารบกวนซ้ำซาก คือรัฐบาลสั่งมาว่า ในการเซ็นสัญญานั้น ใคร่จะได้เซ็นก่อนอังกฤษหรือฝรั่งเศส วันหรือ ๒ วัน ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์สงครามในยุโรป รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายไม่พัวพันด้วย (non-involvement) ถ้าเซ็นในวันเดียวกัน บางประเทศจะเข้าใจญี่ปุ่นผิดไปว่า ญี่ปุ่นมาร่วมมือกับอังกฤษและฝรั่งเศสในเอเซีย ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่า เซ็นวันเดียวกันเหมาะกว่า และไม่มีใครเข้าใจผิด เพราะรัฐบาลเยอรมันและรัฐบาลอิตาเลียนได้สั่งให้ทูตมาแจ้งแล้วว่าเข้าใจเรื่องดีทีเดียว ถ้าเปลี่ยนแปลงไป ข้าพเจ้าจะเอาเหตุผลอะไรชี้แจงกับทูตฝรั่งเศสและอังกฤษ อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าจะได้รายงานเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ
รุ่งขึ้น ข้าพเจ้าได้รายงานเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ และพร้อมทั้งแสดงความเห็นว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยที่เราจะยอมตามคำขอของญี่ปุ่น เพราะฝรั่งเศสและอังกฤษจะหาว่าไทยผิดมารยาทและไทยกลัวญี่ปุ่นจนเกินไป ถึงกับไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรีได้สั่งเห็นชอบด้วย
วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ข้าพเจ้าเชิญทูตญี่ปุ่นมาพบ และแจ้งว่า ข้าพเจ้าได้รายงานนายกรัฐมนตรีแล้ว มีคำสั่งให้ชี้แจงกับทูตว่า ฝ่ายเราได้พิจารณาคำขอของญี่ปุ่นแล้วด้วยความเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้ารัฐบาลไทยตกลงด้วย รัฐบาลจะอยู่ในฐานะกระอักกระอ่วนมาก (embarassing) เพราะเหตุว่า อันที่จริงลำดับแห่งการเจรจาก็ดี ลำดับตัวอักษรของประเทศที่เจรจาก็ดี ฝรั่งเศสและอังกฤษเขามาก่อน แต่เพื่อเป็นการแสดงไมตรีจิตและให้ดูงดงามทั่ว ๆ ไป จึงได้ขอให้ลงนามในวันเดียวกัน ซึ่งฝรั่งเศสและอังกฤษเขาก็ไม่ทักท้วงประการใด ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลไทยกลับมาเซ็นกับญี่ปุ่นเสียก่อนสองชาตินั้นคงไม่งดงามแน่ หวังว่าทูตคงเห็นใจ ทูตตอบว่า เข้าใจคำชี้แจงของข้าพเจ้าเป็นอย่างดี และตระหนักดีว่า เป็นการแสดง diplomatic discourtesy ต่อรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลฝรั่งเศส แต่เมื่อรัฐบาลสั่งมาทูตก็จำใจต้องปฏิบัติ แต่เมื่อข้าพเจ้าชี้แจงเหตุผลละเอียดเช่นนี้ก็จักได้รีบรายงานไป
ต่อมาทูตญี่ปุ่นมาแจ้งอีกว่า รัฐบาลญี่ปุ่นตกลงด้วยที่จะเซ็นวันเดียวกันกับฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่ขอเซ็นที่กรุงโตเกียว ซึ่งฝ่ายเราก็ตอบไม่ขัดข้อง
ในที่สุดก็ได้มีการลงนามในกติกาสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศสและอังกฤษ ที่วังสวนกุหลาบ ในวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) และในกรุงโตเกียวในวันเดียวกันระหว่างนายอาริตา รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศญี่ปุ่นกับพระยาศรีเสนา อัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว๒๗
สาระสำคัญของกติกาสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน กับฝรั่งเศสและอังกฤษมีดังนี้
(๑) ภาคแต่ละฝ่ายจะไม่ทำสงครามซึ่งกันและกัน หรือใช้กำลังรุกรานซึ่งกันและกันโดยลำพังหรือร่วมกับประเทศอื่น ๆ และจะเคารพบูรณภาพอาณาเขตของแต่ละฝ่าย
(๒) ภาคแต่ละฝ่ายจะไม่ช่วยชาติอื่น ซึ่งทำสงครามกับภาคหนึ่งภาคใด
(๓) ภาคแต่ละฝ่าย จะเคารพอธิปไตย หรืออาณาเขตของอีกฝ่าย
สาระสำคัญของสนธิสัญญากับญี่ปุ่นว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรี และต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตแห่งกันและกัน
(๑) จะเคารพบูรณภาพอาณาเขตแห่งกันและกัน
(๒) จะรักษาไว้ซึ่งการติดต่อกันฉันมิตร เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร และปรึกษาหารือกันในปัญหาข้อหนึ่งข้อใดเกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกันอันจะพึงมีขึ้น
(๓) ถ้าอัครภาคีถูกประเทศอื่น ๆ โจมตี อัครภาคอีกฝ่ายจะไม่ช่วยเหลือแก่อานุภาพที่กล่าวนั้น
กติกาสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษ และสัญญาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลคู่สัญญาต่อมาได้ให้สัตยาบัน ฉะนั้น สัญญาทั้งสองฉบับนั้นจึงเป็นอันใช้บังคับ ส่วนกติกาสัญญากับฝรั่งเศสนั้น รัฐบาลไทยต่อมายังไม่ได้ให้สัตยาบัน ดังเหตุผลซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในบทที่ ๓ ของภาคนี้ คือ เรื่องอนุสัญญาสันติภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ณ กรุงโตเกียวใน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)
ถ้าจะพิจารณาจากตัวบทของสัญญา ๓ ฉบับ ที่กล่าวมาแล้วนี้ จะเห็นได้ว่ากติกาสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษ ไทยกับฝรั่งเศสเหมือนกันแทบทุกตัวอักษร แต่สำหรับฝรั่งเศสมีหนังสือแลกเปลี่ยน๒๘ซึ่งกันและกันว่า เขตแดนตามลำแม่น้ำโขงจะต้องเป็นไปอย่างไรโดยแน่ชัด ส่วนปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความยุ่งยากลำบากในทางปกครองและปัญหาที่คั่งค้างอยู่ ก็จะได้รีบเจรจาให้เสร็จสิ้นไป สำหรับสัญญาที่ทำกับญี่ปุ่นนั้น เนื่องจากญี่ปุ่นไม่ยอมทำตามแบบที่ทำกับอังกฤษและฝรั่งเศส จึงได้เปลี่ยนรูปใหม่ แต่มีสาระสำคัญต่างจากสัญญาที่ทำกับอังกฤษและฝรั่งเศสอยู่ข้อหนึ่ง คือในข้อ ๒ ของสัญญากับญี่ปุ่นที่มีความว่าผู้ทำสัญญานี้ต่างจะรักษาไว้ซึ่งการติดต่อกันฉันมิตร เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร และปรึกษาหารือกันในปัญหาข้อหนึ่งข้อใดเกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกันอันจะพึงมีขึ้น ในข้อนี้ทูตอังกฤษได้มาซักถามข้าพเจ้าว่า มีนัยเป็นพันธมิตรหรือเปล่า ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่าเปล่า ที่ญี่ปุ่นขอให้มีถ้อยคำเช่นนี้ ก็โดยอ้างเหตุผลว่าไม่อยากให้มีสัญญาแบบอังกฤษหรือฝรั่งเศส และฝ่ายเราก็เห็นว่าไม่ผูกพันในทางการทหารอย่างใด ส่วนในเรื่องพรมแดนแม่น้ำโขงที่ไม่เป็นธรรม คือการไม่ใช้หลักร่องน้ำลึกนี้ แม้ทูตอังกฤษเองก็เขียนไว้ว่าไม่เป็นธรรม ควรจะตกลงกับไทยเสียก่อนลงนามในกติกาสัญญาเสียด้วยซ้ำ และไทยก็ได้ร้องขอมานานแล้ว แต่ฝรั่งเศสดื้อดึง๒๙
ได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่า เมื่อเราประสบเหตุการณ์ร้ายแรงกับฝรั่งเศสเมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) นั้น ไทยเราจำต้องยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมทั้งเกาะในลำแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศสด้วย นับแต่นั้นมาปัญหาเรื่องแม่น้ำโขงในฐานเป็นพรมแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส จึงได้เริ่มเกิดขึ้นและเพิ่มความยุ่งยากในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองมากมาย เพราะความเคลือบคลุมของถ้อยคำในสัญญา ฝ่ายฝรั่งเศสก็ตีความเอาเปรียบไทยตลอดเวลา ครั้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไทยเข้าสงครามเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อมาฝรั่งเศสจึงยอมทำอนุสัญญาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ (ค.ศ. ๑๙๒๒) เกี่ยวกับอินโดจีน ยอมตั้งคณะข้าหลวงใหญ่ไทยฝรั่งเศสประจำแม่น้ำโขง โดยให้องค์การผสมนี้มีหน้าที่เกี่ยวกับแม่น้ำโขง และวางระเบียบชายแดนเพื่อให้ความสะดวกต่าง ๆ ด้วย แม้กระนั้นก็ดี ก็ยังไม่สามารถตกลงปัญหาสำคัญ ๆ บางเรื่องได้ ปัญหาสำคัญที่สุดก็คือ ปัญหาเรื่องการใช้ลำแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสตั้งแต่ตอนเหนือจนถึงแดนเขมร และการใช้เส้นร่องน้ำลึก (Thalweg) เป็นเส้นเขตแดน แต่ฝรั่งเศสก็ไม่ตกลงด้วยทั้ง ๆ ที่รัฐบาลในสมัยนั้น๓๐ จะได้ชี้แจงว่าหลักนี้เป็นหลักซึ่งนานาชาติรับรองอยู่แล้ว
แม่น้ำโขงในฐานเป็นพรมแดน
เรื่องแม่น้ำโขงในฐานเป็นพรมแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสนี้ ยังมีผู้ไม่เข้าใจอีกเป็นอันมากว่ามีความสำคัญสำหรับประเทศไทยเพียงใด ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอชี้แจงในหนังสือนี้เล็กน้อย ถึงประวัติเกี่ยวกับแม่น้ำโขงเป็นพรมแดน และมีความสำคัญสำหรับไทยเราอย่างใด เฉพาะอย่างยิ่งในทางยุทธศาสตร์ ในทางเศรษฐกิจ และด้านการปกครอง ในด้านยุทธศาสตร์ที่เห็นได้ชัด ๆ ก็คือ ตอนใดที่แม่น้ำโขงเป็นเขตแดน เราก็ยังพอปลอดภัยบ้าง เพราะถ้าฝ่ายข้าศึกที่คิดจะรุกรานเรายกมาก็ยังมีแม่น้ำกีดขวาง แต่ถ้าตอนใดไม่ถือให้แม่น้ำโขงเป็นพรมแดน แต่กลับให้เอาที่ราบเป็นพรมแดน เราก็อยู่ในฐานะเสียเปรียบอย่างยิ่ง การแทรกซึมก็ง่ายสะดวก
ปัญหาแม่น้ำโขงนี้เป็นปัญหาซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เริ่มเกิดมีขึ้นเมื่อ ปี ร.ศ. ๑๑๒ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓)๓๑ ซึ่งเป็นปีที่ไทยมีเรื่องกับฝรั่งเศสดังกล่าวข้างต้นแล้ว ความจริงฝรั่งเศสได้มามีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทยเราตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๖ (ค.ศ. ๑๘๖๓) โดยบังคับให้กัมพูชายอมเป็นประเทศในอารักขาของฝรั่งเศสดังกล่าวแล้วในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส อีก ๔ ปีต่อมา คือ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ (ค.ศ. ๑๘๖๗) ฝรั่งเศสบังคับให้ไทยทำสัญญารับนับถือว่า ราชอาณาจักรกัมพูชาอยู่ในความอารักขาของฝรั่งเศส แม้กระนั้นก็ตามไทยยังคงทรงไว้ซึ่งอธิปไตยเหนืออาณาเขตส่วนซึ่งในปัจจุบันคือประเทศลาว โดยมีอาณาเขตมาทางทิศบูรพาตอนเหนือจดตังเกี๋ย ตอนกลางจดญวนโอบถึงทะเลจีน คลุมแคว้นหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจัมปาศักดิ์ทั้งสิ้น แม่น้ำโขงในขณะนั้นจึงนับว่าเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ (International River) ตามความหมายของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองได้ แต่ก็ในฐานะที่เป็นแม่น้ำไหลผ่านดินแดนในอำนาจของฝรั่งเศส (ตอนจากทะเลผ่านโคชินจีนและเขมร) และดินแดนในอธิปไตยของไทย
เนื่องจากกรณี ร.ศ. ๑๑๒ นี้เอง ไทยจำต้องทำสัญญาสละกรรมสิทธิดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะในลำแม่น้ำโขงด้วย ภายหลังทำสัญญานี้เอง ปัญหาเรื่องแม่น้ำโขงในฐานะเป็นพรมแดนจึงเกิดขึ้น เพราะความตกลงเคลือบคลุมไม่กระจ่างแจ้ง ฝรั่งเศสถืออำนาจตีความฝ่ายเดียว แต่ไทยก็ต้องยอมทนอดกลั้นตลอดมา จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ (ค.ศ. ๑๙๒๖) จึงได้ทำสัญญากับอินโดจีนเป็นพิเศษว่าด้วยการกำหนดเส้นเขตแดนและเขตปลอดทหารระหว่างสองประเทศ ว่าด้วยการเดินเรือในลำแม่น้ำโขง ว่าด้วยการจับสัตว์น้ำในลำแม่น้ำโขง การใช้แม่น้ำโขงเพื่อประโยชน์ในด้านอื่น การบำรุงรักษา และประกอบแต่งลำแม่น้ำโขงให้เป็นทางน้ำเดินเรือได้ การตำรวจ การตั้งคณะข้าหลวงใหญ่ไทย-ฝรั่งเศสประจำแม่น้ำโขง เพื่อดูแลเรื่องแม่น้ำโขงและวางระเบียบชายแดนบางเรื่องด้วย แม้ตามอนุสัญญาอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๖๙ (ค.ศ. ๑๙๒๖) นี้ ได้ทำความตกลงเรื่องเส้นเขตแดนตามลำแม่น้ำโขงดีขึ้นกว่าสัญญาเดิมบ้างเล็กน้อยก็ตาม แต่ก็ยังขัดหลักกฎหมายระหว่างประเทศอีก คือ
(๑) ตามลำแม่น้ำโขงที่เป็นพรมแดนระหว่างอินโดจีนฝรั่งเศสกับไทย ให้ถือร่องน้ำเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีน
(๒) ตามลำแม่น้ำโขงในตอนที่แยกออกเป็นหลายสาย เพราะมีเกาะซึ่งออกห่างจากฝั่งไทย โดยมีกระแสน้ำไหลสะพักอยู่ในระหว่างนั้น จะเป็นเวลาใดในขวบปีก็ตาม ให้ถือร่องน้ำของสายแยกที่ใกล้ฝั่งไทยที่สุดเป็นเส้นเขตแดน แทนที่จะถือร่องน้ำลึกเรือเดินได้ตลอดปีเป็นเกณฑ์
แม้จะตกลงดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ก็มีปัญหาอีก เพราะแม่น้ำโขงมิได้เป็นพรมแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนโดยตลอด จากปากน้ำโขงขึ้นไปจนกระทั่งปากน้ำมูล แม่น้ำโขงไหลอยู่ในอาณาเขตของอินโดจีน โดยเฉพาะกล่าวคือ ในตอนนี้ดินแดนทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็นดินแดนของอินโดจีนหรือฝรั่งเศส และในตอนเหนือก็เช่นเดียวกัน ระหว่างปากน้ำไทยจนกระทั่งถึงเชียงคานดินแดนไทยฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ก็ถูกฝรั่งเศสบังคับให้โอนไปเป็นของฝรั่งเศส โดยสัญญาปี พ.ศ. ๒๔๔๖ (ค.ศ. ๑๙๐๓)
แม่น้ำโขงในสองตอนที่กล่าวนี้ ฝรั่งเศสถือว่าเป็นของฝรั่งเศส ทั้งลำแม่น้ำ ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ถือว่าเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศเพราะผ่านหลายประเทศ ประเทศที่จำต้องใช้แม่น้ำนี้จึงมีสิทธิใช้ร่วมได้ เช่น แม่น้ำไรน์ในเยอรมันนีเป็นต้น ซึ่งให้เรือทุกประเทศเดินผ่านได้โดยสะดวก อนุสัญญาอินโดจีนนี้ จึงไม่ได้ขบปัญหาเรื่องการเดินเรือ หรือการล่องแพซุง ของฝ่ายไทยได้ เช่น การล่องแพซุง การเดินเรือ จะต้องผ่านเข้าไปในเขตฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่ เพราะต้องเดินตามกระแสธรรมชาติของน้ำ ฉะนั้น ฝรั่งเศสจึงได้เปรียบในทางเศรษฐกิจ โดยฝรั่งเศสวางระเบียบต่างๆ เข้มงวดว่าฝ่ายอื่นใดซึ่งไม่ใช่ฝรั่งเศส ถ้าจะเดินเรือผ่านร่องน้ำของฝรั่งเศสจะต้องปฏิบัติตามวิธีการต่าง ๆ ของฝรั่งเศส ทำให้ฝ่ายไทยไม่สามารถใช้แม่น้ำโขงได้สะดวก เช่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ (ค.ศ. ๑๙๓๕) มีคนไทยชื่อ นายอินตา บรรจงจิตต์ ต้องการทำการล่องซุงจากจังหวัดเชียงรายไปไซ่ง่อน ฝรั่งเศสได้วางเงื่อนไขจนนายอินตา บรรจงจิตต์ ไม่สามารถปฏิบัติได้ ต้องเลิกความคิดนี้ ผลจึงเห็นได้ชัดว่าฝรั่งเศสเท่านั้นมีสิทธิใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงได้เต็มที่
ในด้านยุทธศาสตร์หรือทางด้านความมั่นคงจากการแทรกซึมก็ดี แม่น้ำโขงควรจะเป็นพรมแดนระหว่างประเทศตลอดทั้งเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งยืดยาวถึง ๒,๐๐๐ กิโลเมตร แต่ยังได้กล่าวแล้วว่า กรณีมิได้เป็นเช่นนั้น สองตอน คือตอนใต้จากทะเลถึงอำเภอโขงเจียม ปากน้ำมูล และตอนเหนือจากเชียงคานจนถึงปากน้ำไทย เราทราบแล้วว่า หลักการซึ่งนานาประเทศนิยมกันในการกำหนดเส้นเขตแดนอันสำคัญหลักหนึ่ง ก็คือ ให้ถือเขตแดนตามธรรมชาติเช่น ภูเขา ลำแม่น้ำ เป็นเขตแดน เพราะเป็นประโยชน์ในการป้องกันประเทศจากภัยรุกรานของต่างประเทศได้สะดวก
-
๑. ดูเรื่องคติของฝรั่งเข้ามาเมืองไทย ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ↩
-
๒. ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๒๙ (ค.ศ. ๑๘๘๖) อังกฤษผนวกพม่าทั้งหมดเป็นเมืองขึ้น ↩
-
๓. เรื่องการเสียดินแดนแก่ฝรั่งเศสนี้ ให้ดูการทูตเล่มหนึ่ง ของผู้เขียน หน้า ๓๓๑-๔๒๐ ↩
-
๔. หนังสือ Glad Adventure ของ Dr. B. Sayre หน้า ๑๐๔-๑๒๓ และประวัติการทูตของไทย ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หน้า ๕๔-๕๗ ↩
-
๕. ดูรายละเอียดเรื่องการทำสนธิสัญญาใหม่ของไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ เรียบเรียง ให้สำนักงานโฆษณาการพิมพ์แจก ในงานพระราชพิธีฉลองสนธิสัญญาใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙) ↩
-
๖. ดูประวัติการทูตของไทย ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ↩
-
๗. ดูเรื่องความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสข้างต้น ↩
-
๘. ในสมัยนั้นสวีเดนและนอรเวย์ยังไม่ได้แยกกัน ↩
-
๙. ในสมัยนั้นออสเตรียฮังการียังเป็นจักรวรรดิ มีพระจักรพรรดิเป็นองค์ประมุข ↩
-
๑๐. มีข้อสังเกต ญี่ปุ่นเองเพิ่งเซ็นสัญญากับประเทศต่างๆ หลุดพ้นจากการผูกมัดทำนองเดียวกับไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๗ (ค.ศ. ๑๘๙๔) กับ พ.ศ. ๒๔๔๐ (ค.ศ. ๑๘๙๗) เช่นสัญญากับสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมันนี อิตาลี ออสเตรียฮังการี รัสเซีย เบลเยี่ยม ฯลฯ แม้กระนั้นก็ดี ยังมีเงื่อนไขบางประการ มาหมดข้อผูกพันจริงๆ ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ (ค.ศ. ๑๙๑๑) ↩
-
๑๑. ดูเรื่องคติของฝรั่งเข้ามาเมืองไทย ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ↩
-
๑๒. ดูเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสข้างต้น ↩
-
๑๓. ขณะนั้นเรายังไม่ได้เปลี่ยนปีปฏิทิน คือยังคำนวณแบบไทย คือปีใหม่เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ถ้าคำนวณแบบใหม่ก็ควรจะเป็น พ.ศ. ๒๔๗๖ ↩
-
๑๔. ขณะนั้นคือ หลวงภัทรวาที ต่อมาได้เป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตอีกหลายประเทศ ปัจจุบันนอกราชการ ↩
-
๑๕. นายมัทซูโอกา ต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ และเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในกรณีพิพาทระหว่างเรากับฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองถูกขึ้นศาลอาชญากรสงครามและถึงแก่กรรมระหว่างต้องขัง ↩
-
๑๖. Japan among the Great Powers ของศาสตราจารย์เซจี ฮิชิดา หน้า ๓๑๖-๓๒๒ ↩
-
๑๗. ในขณะนั้น พลตรี ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ↩
-
๑๘. นายปอล เลปิสซิเอร์ (Paul Lépissier) ↩
-
๑๙. อัครราชทูตอังกฤษขณะนั้น คือ เซอร์โจซาย ครอสบี้ (Sir Josiah Crosby) ↩
-
๒๐. อัครราชทูตญี่ปุ่นขณะนั้นคือ นายมูราอิ (Murai) ↩
-
๒๑. รัฐบาลได้ถวายให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (ขณะนั้นยังไม่ได้ทรงกรม) ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้เจรจาในการยกร่างสนธิสัญญากับผู้แทนประเทศทั้งสาม ↩
-
๒๒. อัครราชทูตเยอรมันในขณะนั้น คือ นายวิลเฮลม ทอมัส (Wilhelm Thomas) ↩
-
๒๓. อัครราชทูตอิตาเลียนในขณะนั้น คือ นายครอลลา (Crolla) ↩
-
๒๔. อัครราชทูตอเมริกันในขณะนั้น คือ นายเนวิลล์ (Neville ↩
-
๒๕. เรื่องคณะองคมนตรีญี่ปุ่นให้ดู ภาค ๒ บทที่ ๑ ↩
-
๒๖. ดูเรื่องศาสตราจารย์ผู้นี้ในภาค ๓ บทที่ ๑ เกี่ยวกับการอธิบายรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ถูกคณะทหารจัดการ และเกือบถูกฆ่าตาย ↩
-
๒๗. ตัวบทกติกาสัญญาทั้งสามฉบับ และหนังสือแลกเปลี่ยน เรื่องการจะปรับปรุงเส้นเขตแดนในแม่น้ำโขงกับฝรั่งเศส มีปรากฏในภาคผนวกข้างท้าย ↩
-
๒๘. ดูหนังสือแลกเปลี่ยนในภาคผนวก ↩
-
๒๙. ดูหนังสือ Siam, The Crossroad ของ Sir Josiah Crosby หน้า ๑๑๗-๑๑๘ ↩
-
๓๐. คือสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) ↩
-
๓๑. เรื่อง ร.ศ. ๑๑๒ ให้ดูหนังสือการทูตเล่มหนึ่ง ของผู้เขียน หน้า ๓๕๖-๓๖๐ ↩