บทที่ ๑ เหตุการณ์ต่าง ๆ ทั่วไป

ชีวิตราชการของข้าพเจ้า ส่วนมากเกี่ยวกับราชการทางกระทรวงการต่างประเทศ ฉะนั้น จึงเป็นการจำเป็นอยู่เองที่ข้าพเจ้าจะต้องสนใจในเรื่องการต่างประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ (ค.ศ. ๑๙๓๘) พันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งแรก และข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และให้ไปช่วยราชการกระทรวงการคลังซึ่งขณะนั้นหลวงประดิษฐมนูธรรม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ข้าพเจ้าอยู่กระทรวงการคลังไม่กี่เดือน เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยนั้นได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้โอนข้าพเจ้าไปช่วยทางกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งข้าพเจ้าก็ยินดี เพราะชอบงานทางด้านนี้ และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศก็เป็นผู้ใหญ่ที่ข้าพเจ้ามีความเคารพรักนับถือมาช้านาน อย่างไรก็ดีเมื่อตกลงย้ายข้าพเจ้าแล้ว พันเอกหลวงพิบูลสงครามยังคงให้ข้าพเจ้าอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปก่อน

คณะรัฐมนตรีชุดนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม

[๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ (ค.ศ. ๑๙๓๘) - ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ]

๑. นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
๒. นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
๓. หลวงประดิษฐมนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
๔. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
๕. นายนาวาอากาศเอกพระเวชยันตรังสฤษดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
๖. นายนาวาเอกหลวงสินธุ์สงครามชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ
๗. หลวงโกวิทอภัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงธรรมการ
๘. นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
๙. นายพันตำรวจเอกหลวงอดุลยเดชจรัส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
๑๐. นายนาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
๑๑. นายพันเอกพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ
๑๒. นายนาวาอากาศเอกหลวงกาจสงคราม รัฐมนตรี
๑๓. หลวงชำนาญนิติเกษตร รัฐมนตรี
๑๔. นายพันตรีหลวงเชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรี
๑๕. นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรี
๑๖. หลวงเดชสหกรณ์ รัฐมนตรี
๑๓. นายตั๋ว ลพานุกรม รัฐมนตรี
๑๔. หลวงนฤเบศรมานิต รัฐมนตรี
๑๕. นายนาวาโทหลวงนาวาวิจิตร รัฐมนตรี
๒๐. นายพันโทประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรี
๒๑. นายพันเอกหลวงพรหมโยธี รัฐมนตรี
๒๒. หลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรี
๒๓. นายพันเอกหลวงสฤษฎยุทธศิลป รัฐมนตรี
๒๔. ขุนสมาหารหิตะคดี รัฐมนตรี
๒๕. นายนาวาโทหลวงสังวรยุทธกิจ รัฐมนตรี
๒๖. นายพันเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์ รัฐมนตรี

ต่อมาในวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งหลวงนฤเบศรมานิต เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และพันเอกหลวงพรหมโยธี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๘๒ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกตำแหน่งหนึ่ง และตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๘๔ โปรดเกล้าฯ ตั้งนายพลโทหลวงพรหมโยธี รัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทนจอมพล ป. พิบูลสงคราม

วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๘๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พันเอกหลวงเชวงศักดิ์สงคราม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สืบแทนจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อีกนัยหนึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม คงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตำแหน่งเดียว

วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๘๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งหลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลในครั้งนั้น ตามที่แถลงในสาระสำคัญ คือ จะเป็นมิตรกับนานาประเทศ ไม่เป็นศัตรูกับชาติใด จะปฏิบัติตามพันธกรณีตามสนธิสัญญาอย่างเคร่งครัด

ข้าพเจ้าย้ายมาอยู่กระทรวงการต่างประเทศไม่กี่เดือน เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศก็กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง เพราะป่วย พันเอกหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงเข้าว่าการต่างประเทศแทนอีกตำแหน่งหนึ่ง และข้าพเจ้าเลื่อนขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙) ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙) ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สองด้านยุโรป โดยฮิตเล่อร์เข้าตีโปแลนด์ วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๘๔๑) จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีถอนตัวจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการมหาดไทย สำหรับกระทรวงการต่างประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งแทน๑๐ ดังได้กล่าวแล้ว

ต่อมาภายหลังจากญี่ปุ่นเข้าเมืองไทยเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ไม่กี่วัน ข้าพเจ้าได้ขอลาออกจากตำแหน่ง

เพราะรู้สึกว่าเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายไป ก็ควรจะลาออก แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ และในวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับเข้าเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกลาโหม ข้าพเจ้าและพลโทมังกร พรหมโยธี กลับเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศและกลาโหมตามลำดับ และต่อมาอีกไม่กี่วัน คือวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) ข้าพเจ้าก็ต้องเดินทางไปรับราชการในตำแหน่งเอกอัครราชทูตที่กรุงโตเกียว โดยเหตุผลที่จะได้กล่าวต่อไปในภาคที่สอง บทที่หนึ่ง

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศนั้น เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ จึงต้องออกรับทูตานุทูตแทนแทบทุกวันก็ว่าได้ เพราะนายกรัฐมนตรีไม่มีเวลาพอที่จะออกรับได้ ยิ่งจวน ๆ ญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย คือระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ถึง ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ยิ่งหนักขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทูตอังกฤษและทูตอเมริกัน สำหรับทูตญี่ปุ่นนั้นนาน ๆ จึงจะมาหาข้าพเจ้าสักครั้งหนึ่ง ญี่ปุ่นชอบติดต่อทางนายกรัฐมนตรีโดยตรง หรือทางบุคคลบางคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีใช้ให้ติดต่อเป็นพิเศษ

เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจถึงสถานการณ์ของโลกทั่ว ๆ ไปตั้งแต่เริ่มสงครามด้านยุโรปจนถึงเกิดสงครามด้านเอเซีย คือ ญี่ปุ่นประกาศสงครามและบุกเข้าเมืองไทย ข้าพเจ้าขอลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ ไว้ ณ ที่นี้

พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙)

วันที่ ๑ กันยายน เยอรมันนีเข้าตีโปแลนด์ ในวันเดียวกันนี้ อังกฤษและฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้เยอรมันนีถอยจากโปแลนด์ มิฉะนั้นจะประกาศสงคราม
วันที่ ๓ กันยายน อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมันนี
วันที่ ๒๗ กันยายน โปแลนด์ยอมแพ้
วันที่ ๒๘ กันยายน เยอรมันนีและสหภาพโซเวียตตกลงแบ่งโปแลนด์ระหว่างกัน
วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน สหภาพโซเวียตบุกฟินแลนด์

พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐)

วันที่ ๑๒ มีนาคม สหภาพโซเวียตกับฟินแลนด์ ทำสัญญาสันติภาพระหว่างกัน
วันที่ ๙ เมษายน เยอรมันนีบุกเดนมาร์กและนอรเวย์
วันที่ ๑๒ พฤษภาคม กองทัพเยอรมันนี รุกเข้าดินแดนฝรั่งเศส
วันที่ ๑๕ พฤษภาคม กองทัพฮอลแลนด์ยอมแพ้
วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พระเจ้าเลโอโปลด์ แห่งเบลเยี่ยม ยอมแพ้
วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ถึง ๔ มิถุนายน กองทัพอังกฤษและสัมพันธมิตรถอยจากเมืองดันเกิร์กในฝรั่งเศสกลับไปเกาะอังกฤษ
วันที่ ๑๐ มิถุนายน อิตาลีประกาศสงคราม กับอังกฤษและฝรั่งเศส และบุกเข้าฝรั่งเศส
วันที่ ๑๒ มิถุนายน ไทยเซ็นสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศส
วันที่ ๑๔ มิถุนายน กองทัพเยอรมันนีเข้ากรุงปารีส
วันที่ ๒๒ มิถุนายน ฝรั่งเศส ยอมเซ็นสัญญาสงบศึกกับเยอรมันนีที่ป่าเมืองคอมเปียน

พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐)

วันที่ ๒๗ กันยายน เยอรมันนี อิตาลี และญี่ปุ่น ทำสนธิสัญญาไตรภาคี
วันที่ ๒๘ ตุลาคม อิตาลีบุกกรีซ

พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)

วันที่ ๑๑ เมษายน สหภาพโซเวียตกับญี่ปุ่นทำสัญญาความเป็นกลาง
วันที่ ๑๔ มิถุนายน สหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสงคราม กักเงินและสินทรัพย์ของฝ่ายอักษะที่ฝากอยู่ในสหรัฐอเมริกา
วันที่ ๒๒ มิถุนายน เยอรมันนีเข้าโจมตีโซเวียตทั้งๆ ที่ทำสัญญาไม่รุกรานกับโซเวียตเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
วันที่ ๑๒ กรกฎาคม อังกฤษทำสัญญาช่วยเหลือซึ่งกันและกันกับโซเวียต
วันที่ ๑๑ ตุลาคม พลเอกโตโจเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
วันที่ ๗ ธันวาคม ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ และประกาศสงคราม กับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
วันที่ ๘ ธันวาคม ญี่ปุ่นส่งทหารเข้าประเทศไทย และมลายู อังกฤษและอเมริกาประกาศสงครามตอบญี่ปุ่น

มูลเหตุ ของสงครามโลกครั้งที่สองด้านยุโรปและด้านเอเซียนี้ ข้าพเจ้าเคยได้กล่าวไว้โดยละเอียดแล้ว๑๑ ฉะนั้นจะไม่กล่าวซ้ำอีกในหนังสือเล่มนี้ แต่จะกล่าวถึงสถานการณ์ทั่ว ๆ ไปทั้งทางด้านยุโรปและเอเซียในระยะเวลาดังกล่าวข้างต้น คือ ตั้งแต่เริ่มสงครามด้านยุโรป จนถึงวันที่ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพราะจะช่วยให้เราได้พิจารณาศึกษาถึงฐานะของประเทศไทยเราในขณะนั้นได้อีกด้วย เท่าที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์สองฝ่าย คือฝ่ายอักษะฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายตะวันตกอีกฝ่ายหนึ่ง

เราทราบแล้วว่าสงครามครั้งนี้ เยอรมันนีทำการรบที่เรียกกันว่า แบบสายฟ้าแลบ คือรุกอย่างไม่ให้ข้าศึกตั้งตัวติด ชนะโปแลนด์ภายในเวลา ๒๖ วัน ชนะเนเธอร์แลนด์ภายใน ๕ วัน ชนะเบลเยี่ยมภายใน ๑๘ วัน เดนมาร์กภายใน ๒๔ ชั่วโมง นอรเวย์ภายใน ๒๘ วัน

แต่ที่โลกพิศวงงงงวยมากที่สุดก็คือ ฝรั่งเศสแพ้เยอรมันนีภายใน ๔๐ วัน นับแต่วันที่เยอรมันนีบุกเข้าดินแดนฝรั่งเศส คือ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) และฝรั่งเศสยอมแพ้ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) พึงสังเกตว่า ทั้ง ๆ ที่ฝรั่งเศสกำลังจะแพ้อยู่แล้ว เพื่อรักษาคำพูด ไทยได้ยอมเซ็นสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศสก่อนฝรั่งเศสแพ้เพียง ๑๐ วัน คือเราเซ็นกันที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) รายละเอียดเรื่องนี้จะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง

ที่ว่าโลกพิศวงเรื่องฝรั่งเศสแพ้เยอรมันน้อย่างรวดเร็วนั้น ก็เพราะตามที่ทราบกันในขณะนั้น ฝรั่งเศสมีกำลังทหารแข็งที่สุดในยุโรป ในจำนวนพลเมืองชาย ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ คน เป็นทหารถึง ๘๐๐,๐๐๐ และทหารกองหนุนซึ่งได้รับการฝึกแล้วอีก ๕,๕๐๐,๐๐๐ ป้อมแนวมาจิโนต์ (Maginot Line) ของฝรั่งเศสที่มีชื่อว่าสร้างด้วยคอนกรีตและเหล็กยาวยืด ตั้งแต่พรมแดนด้านสวิตเซอร์แลนด์ถึง เบลเยี่ยม ฝรั่งเศสใช้เงินสร้างป้อมแนวนี้มากมาย ภายในแนวป้อมลงไปใต้ดินมีถึงหกชั้น มีโรงทหารอยู่ภายใน มีที่เก็บคลังอาวุธ สรรพอาหาร น้ำ โรงครัว กำลังไฟฟ้า รถไฟ โรงพยาบาล และมีปืนขนาดใหญ่มากหลาย ตลอดแนวหันไปทางเยอรมันนี แต่เยอรมันนีไม่ได้ตีฝรั่งเศส ทางแนวมาจิโนต์ เยอรมันนีเข้าตีฝรั่งเศส ทางเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นด้านจุดอ่อนที่สุดของฝรั่งเศส โดยใช้กำลังทหารถึง ๑๐๐ กองพล ในขณะเดียวกัน ใช้กำลังทัพอากาศโจมตีทิ้งลูกระเบิดนำเข้าไปก่อน

การที่ฝรั่งเศสแพ้เยอรมันนีรวดเร็วภายใน ๔๐ วันเช่นนี้ เพราะเยอรมันนีมีฝีมือเหนือกว่าทุกด้าน ทั้งกำลังคน ผู้นำและความสามัคคี การเมืองของฝรั่งเศสยุ่งที่สุด รัฐบาลล้มลุกคลุกคลานและแตกกัน อิจฉาริษยากัน ในด้านกำลังมีผู้ทำสถิติแสดงไว้ว่า ก่อนเกิดสงคราม เยอรมันนีสร้างเครื่องบินได้เดือนละไม่น้อยกว่า ๒ พันเครื่อง แต่ฝรั่งเศสไม่เกิน ๑๐๐ เครื่อง เรื่องผู้นำ ฝรั่งเศสก็ไม่มีคนอย่างเชอร์ชิลล์หรือฮิตเล่อร์

นายพลเดอโกลล์ หัวหน้าฝรั่งเศสเสรีได้กล่าวภายหลังสงครามว่า ฝรั่งเศสแพ้สงครามเพราะเหตุผลชัดเจน

(๑) ทางการทหารของฝรั่งเศสไม่คำนึงถึงกำลังทางกลไกในอากาศและทางบก

(๒) เมื่อกองทัพยานยนต์เยอรมันบุกเข้าฝรั่งเศสอย่างสายฟ้าแลบ ราษฎรตกใจขวัญเสีย

(๓) ฝ่ายข้าศึกใช้แนวที่ห้าปลุกปั่นให้ผู้นำของฝรั่งเศสมีความคิดแปรปรวน และ

(๔) ไม่มีการประสานงานระหว่างฝรั่งเศสกับสัมพันธมิตร

ก่อนฝรั่งเศสแพ้ไม่กี่วัน มุสโสลินี ผู้เผด็จการอิตาลี เห็นว่าถ้าฝรั่งเศสแพ้สงครามโดยอิตาลีไม่ได้เข้าสงคราม อิตาลีจะไม่ได้อะไร เพราะไม่ได้มีส่วนเสียสละ จึงรีบประกาศสงครามกับฝรั่งเศส ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) คือก่อนฝรั่งเศสยอมแพ้เพียง ๑๐ วัน และในขณะนั้น กองทัพเยอรมันอยู่ห่างกรุงปารีสเพียง ๓๕ ไมล์ หรือ ๕๖ กิโลเมตร

ก่อนฝรั่งเศสยอมแพ้ประมาณ ๒๗ วัน อังกฤษเองก็ไม่มีกำลังที่จะต่อต้านเยอรมันนีต่อไปได้ และเกรงว่าจะต้องถูกจับเป็นเชลยทั้งกองทัพ อังกฤษจึงถอยกลับเกาะอังกฤษ โดยลงเรือที่เมืองดันเกิร์ก ริมฝั่งตะวันตกของฝรั่งเศส การถอยครั้งนี้มีผู้ชมเชยมาก เพราะสามารถลำเลียงทหารกลับได้ทั้งหมดร่วมสี่แสนกว่าใช้เวลาเพียง ๙ วัน ทั้ง ๆ ที่ถูกกองทัพเยอรมันทั้งบกและอากาศระดมยิงและทิ้งลูกระเบิดรุนแรง

ภายหลังฝรั่งเศสยอมแพ้แล้วหกสัปดาห์ ฮิตเล่อร์จึงสั่งให้โจมตีเกาะอังกฤษ สงครามที่เกาะอังกฤษครั้งนี้มีชื่อเสียงมาก เรียกกันว่า The Battle of Britain ทำไมฮิตเล่อร์จึงทิ้งเวลารอถึงหกสัปดาห์ มีผู้อธิบายว่า เพราะฮิตเล่อร์ยังไม่พร้อมและไม่นึกฝันว่าฝรั่งเศสจะแพ้โดยรวดเร็ว ประกอบทั้งกลัวฝรั่งเศสจะลอบตีข้างหลัง รวมทั้งไม่วางใจโซเวียตด้วย ระหว่างหกสัปดาห์นี้ อังกฤษภายใต้การนำของวินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรี ระดมสรรพกำลังเต็มที่เพื่อรับศึกฮิตเล่อร์ รัฐบาลถึงกับออกกฎหมายว่า ชายหญิงทุกคนต้องพร้อมที่จะให้รัฐบาลเรียกเกณฑ์ได้ พวกที่ถูกสงสัยแม้แต่น้อยว่าเป็นแนวที่ห้า ถูกกักกัน ราษฎรทั้งชายหญิงอาสาสมัครรัฐบาลช่วยในการป้องกันด้านต่าง ๆ ในกรณีถูกลูกระเบิดหรือข้าศึกยกพลขึ้นเกาะ โรงงานทำเครื่องบิน ปืน และกระสุน ทั่วประเทศ เปิดทำงาน ทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีเวลาหยุด ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

ฮิตเล่อร์เริ่มโจมตีเกาะอังกฤษทางอากาศเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) เกาะอังกฤษถูกโจมตีแทบทุกวัน บางคราวทั้งกลางวันกลางคืน ประมาณ ๔ เดือน แต่อังกฤษก็ทรหด ไม่ยอมแพ้ ตรงกันข้าม เยอรมันนีต้องเสียเครื่องบินและนักบินไปมากมาย ทางอังกฤษนั้นขณะที่ถูกเยอรมันนีบุกทางอากาศ มีเครื่องบินรบชนิดดีที่สุดเพียง ๑,๔๗๕ เครื่อง แต่เยอรมันนีใช้เครื่องบินถึง ๒,๖๗๐ เครื่อง อาจกล่าวได้ว่าสงคราม The Battle of Britain ครั้งนี้ กองทัพอากาศอังกฤษมีส่วนสำคัญที่สุด ที่ยับยั้งเยอรมันนีไว้ได้ วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ถึงกับแถลงในสภาผู้แทน ราษฎรว่า ไม่เคยมีในประวัติการรบครั้งใดของอังกฤษ ที่ประชาชนส่วนมากเป็นหนี้บุญคุณบุคคลสองสามคน ถ้อยแถลงนี้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะซาบซึ้งตรึงใจยิ่งนัก ข้าพเจ้าไม่สามารถแปลให้ถึงใจ ตรงกับเจตนารมณ์ของเจ้าของคำพูดได้ จึงขอคัดไว้ดังต่อไปนี้ “The gratitude of every home in our Island, in our Empire, and indeed throughout the world, except in the abode of the guilty, goes out to the British airmen, who, undaunted by odds, unwearied in their constant challenge and mortal danger, are turning the tide of the world war by their prowess and by their devotion. Never in the field of human conflict was so much owed by so many to so few.๑๒

เมื่อเอาชนะอังกฤษไม่ได้ ฮิตเล่อร์จึงคิดว่าทำอย่างไรเสียอังกฤษก็คงไม่มีฤทธิ์เดชอะไร เยอรมันนีควรหันมาพิจารณาหาทางปราบโซเวียตดีกว่า เพราะฮิตเล่อร์เกรงโซเวียตตีข้างหลังดังกล่าวแล้ว

ในที่สุด ฮิตเล่อร์ ตัดสินใจสั่งกองทัพเยอรมันเข้าตีโซเวียตในวันอาทิตย์ที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑)

เหตุใดฮิตเล่อร์จึงตีโซเวียต ทั้ง ๆ ที่มีสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน ตามเอกสารซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรจับได้จากแฟ้มกระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน มีสำเนาจดหมายฮิตเล่อร์เขียนถึงมุสโสลินีก่อนโจมตีโซเวียต ซึ่งพอจะอนุมานย่อเหตุผลได้ว่า ฮิตเล่อร์ไม่สามารถปล่อยโซเวียตไว้ได้ต่อไป เพราะเชื่อว่าวันหนึ่งโซเวียตคงตีเยอรมันนี เพราะทราบว่าโซเวียตมีทหารมาชุมนุมอยู่ตามพรมแดน สำหรับอังกฤษนั้นถือว่าแพ้สงครามแล้วก็ได้ เมื่อจัดการกับโซเวียตแล้วจึงค่อยหันมาจัดการกับอังกฤษก็ง่ายไม่มีปัญหายุ่งยากอะไร แต่ฮิตเล่อร์คำนวณผิด นึกว่าจะชนะโซเวียตได้ง่ายรวดเร็วอย่างฝรั่งเศส และสงครามคงจะเสร็จก่อนฤดูหนาวมาถึง ทั้ง ๆ ที่เข้าไปมองเห็นวังเครมลินในมอสโคว์แล้วก็ยังตีไม่ได้ ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ฮิตเล่อร์ประกาศหยุดการโจมตีโซเวียตชั่วคราว โดยอ้างเหตุว่า อากาศหนาวจัด

สำหรับสหรัฐอเมริกานั้น เมื่อเกิดสงครามในยุโรปใหม่ ๆ โรสเวลต์ประธานาธิบดีประกาศความเป็นกลางทันที และห้ามไม่ให้ขายอาวุธยุทธภัณฑ์ให้แก่คู่สงคราม ประกาศฉบับนี้อังกฤษเดือดร้อนมากที่สุด เพราะอาวุธยุทธภัณฑ์ของอังกฤษมีน้อยมาก แต่อังกฤษยังเป็นจ้าวทะเล อังกฤษสามารถใช้กองทัพเรือคุมลำเลียงมาอังกฤษได้ ในขณะเดียวกันก็คอยทำลายเรือฝ่ายเยอรมัน เพราะกำลังกองทัพเรือเยอรมันน้อยกว่ามาก อังกฤษจึงประกาศว่าจะขอค้นเรือสินค้าอเมริกันก่อนออกเดินทาง ว่าสินค้านั้น ๆ จะส่งไปยังเยอรมันนีหรือเปล่า เมื่อเป็นเช่นนี้สหรัฐอเมริกา ซึ่งก็มีจิตใจลำเอียงเข้ากับอังกฤษอยู่แล้ว จึงแก้กฎหมายเกี่ยวกับการขายอาวุธยุทธภัณฑ์ว่า คู่สงครามอาจมาซื้อและเอาเรือมาขนเอาไปได้เอง ถ้าชำระเงินสด ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสแพ้สงคราม ยิ่งทำให้สหรัฐอเมริกาวิตกขึ้นว่า ถ้าอังกฤษแพ้เข้าอีก ภัยก็จะมาถึงสหรัฐอเมริกาแน่นอน คนอเมริกันในขณะนั้นแบ่งได้ออกเป็นสองประเภท ประเภทแรกอยากช่วยอังกฤษ แต่ไม่ถึงกับเข้าสงคราม อีกประเภทหนึ่งเห็นว่าไม่ควรเข้าไปเกี่ยว เพราะไม่ได้ประโยชน์อันใด แต่เพื่อเตรียมพร้อม รัฐบาลอเมริกันได้เร่งสะสมอาวุธทุกประเภท รวมทั้งเครื่องบินและเรือรบ

เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) สหรัฐอเมริกาโอนเรือพิฆาตแบบเก่า ๕๐ ลำให้อังกฤษ โดยอังกฤษยอมให้สหรัฐอเมริกาเช่าฐานทัพเรือและอากาศในภูมิภาคต่าง ๆ ทางมหาสมุทรแอตแลนติคของอังกฤษได้มีกำหนด ๙๙ ปี ในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็ขายอาวุธยุทธภัณฑ์ให้อังกฤษเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

ทางด้านญี่ปุ่นนั้น ก็มีเรื่องกระทบกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐอเมริกามาหลายปีแล้ว ตั้งแต่เรื่องญี่ปุ่นรุกรานจีน ญี่ปุ่นยึดเอาแมนจูเรีย ญี่ปุ่นประกาศวางระเบียบใหม่ในเอเซีย ซึ่งเป็นการขัดกับความตกลงในเรื่องเปิดประตูค้าในเมืองจีน๑๓ ต่อมา เมื่อญี่ปุ่นทำสัญญาไตรภาคีกับเยอรมันนีแล้ว ได้เดินนโยบายรุกลงมาทางใต้ เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝรั่งเศสกำลังพ่ายแพ้เยอรมันนี ญี่ปุ่น ได้รุกเข้าอินโดจีน ทางสหรัฐอเมริกาได้คัดค้านญี่ปุ่นและขอให้ญี่ปุ่นยับยั้ง ญี่ปุ่นไม่ยอมฟังเสียงเพราะเห็นเป็นโอกาส สหรัฐอเมริกาจึงกักกันเงินและสินทรัพย์ของญี่ปุ่น และบีบทางด้านเศรษฐกิจต่างๆ๑๔ ได้มีการเจรจากัน แต่ก็ไม่สามารถหาทางตกลงกันได้ ในที่สุดญี่ปุ่นจึงประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น๑๕

  1. ๑. ต่อมาเป็น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อไปเพื่อป้องกันการผิดพลาด ยศบรรดาศักดิ์ และนามของบุคคลต่างๆ ที่จะกล่าวถึงในหนังสือนี้นั้น จะได้กล่าวตามความเป็นจริงที่ใช้อยู่ในขณะนั้น

  2. ๒. ขณะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีนั้น ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๙ (ค.ศ. ๑๙๓๖)

  3. ๓. ต่อมาลาออกจากบรรดาศักดิ์ เป็น นายปรีดี พนมยงค์

  4. ๔. ข้าพเจ้าขาดจากตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙) และนายทวี บุณยเกตุ รับตำแหน่งสืบแทนข้าพเจ้า

  5. ๕. ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๘๑ เล่ม ๕๕ หน้า ๗๑๐ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลง เช่น รัฐมนตรีลาออก ตั้งซ่อม หรือแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่หลายครั้ง รายละเอียดให้ดูหนังสือ “เรื่องคณะรัฐมนตรี” โดย นายมนูญ บริสุทธิ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเกษม ศรีพยัคฆ์ หน้า ๑๓๕-๑๔๖

  6. ๖. ยังมีการตั้ง เปลี่ยนแปลงตำแหน่งรัฐมนตรีอื่น ๆ อีกหลายท่าน รายละเอียดขอให้ดูหนังสือ “เรื่องคณะรัฐมนตรี” โดย นายมนูญ บริสุทธิ์ ซึ่งอ้างข้างต้น

  7. ๗. ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ เล่ม ๕๖ หน้า ๖๔๗

  8. ๘. การทูตเล่มหนึ่งของผู้เขียน หน้า ๖๖๖-๖๘๓

  9. ๙. พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

  10. ๑๐. ราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เล่ม ๕๘ หน้า ๑๐๖๙

  11. ๑๑. การทูตเล่มหนึ่งของผู้เขียน บทที่ ๕ หน้า ๖๖๖-๗๑๗

  12. ๑๒. ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีอังกฤษในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐)

  13. ๑๓. หนังสือการทูตเล่มหนึ่ง หน้า ๗๑๒-๘๒๓

  14. ๑๔. เรื่องบีบทางเศรษฐกิจนี้ ข้าพเจ้าจะได้กล่าวในภายหลังเมื่อกล่าวถึงไทยในท่ามกลางสงครามเศรษฐกิจ

  15. ๑๕. เหตุผลในการเจรจาไม่ตกลงกัน ดูหนังสือการทูตเล่มหนึ่ง หน้า ๗๑๒-๘๑๓

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ