- คำนำ
- คำอธิบาย
- ๑๕๙ ประกาศมหาสงกรานต์ปีมะแมเอกศก
- ๑๖๐ ประกาศเรื่องมิให้ละทิ้งคนเสียจริต
- ๑๖๑ ประกาศให้ผู้รับพระบรมราชโองการฟังรับสั่งให้ชัดเจน
- ๑๖๒ ประกาศพระราชบัญญัติพระสงฆ์สามเณรแลศิษย์วัด
- ๑๖๓ ประกาศขนานนามพระที่นั่งในท่าราชวรดิษฐแลพระที่นั่งสร้างใหม่
- ๑๖๔ ประกาศพระราชบัญญัติให้คัดความมรดกทูลเกล้าฯ ถวายใน ๑๕ วัน
- ๑๖๕ ประกาศให้ใช้คำ กับ, แก่, แด่, แต่, ต่อ, ใน, ยัง, ในที่ควร
- ๑๖๖ ประกาศพิกัดอากรค่าน้ำให้เก็บตามเครื่องมือ
- ๑๖๗ ประกาศว่าด้วยทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
- ๑๖๘ ประกาศมหาสงกรานต์ปีวอกโทศก
- ๑๖๙ ประกาศห้ามข้าเจ้ามิให้ปิดบังความผิดของเจ้านาย
- ๑๗๐ ประกาศว่าด้วยลักษณะให้ลงแกงไดลายมือในหนังสือสำคัญ มณฑลกรุงเทพ ฯ
- ๑๗๑ ประกาศว่าด้วยลักษณะให้ลงแกงไดลายมือในหนังสือสำคัญ ในหัวเมืองทั่วไป
- ๑๗๒ พระราชบัญญัติกฎหมายท้องน้ำ บุกรุก ห้ามยิงปืน แลการเที่ยวอาละวาดของพวกกลาสี
- ๑๗๓ ประกาศให้ยกค่าไม้ปกำใบค่าน้ำมัน
- ๑๗๔ ประกาศพระราชบัญญัติให้ภิกษุสามเณรแลศิษย์วัด เมื่อประพฤติอนาจารแล้วให้มาลุแก่โทษเสีย จะยกโทษให้
- ๑๗๕ หมายประกาศเรื่องตัวเลขเปนพาลให้เจ้าหมู่มูลนายกักขัง แลบอกกล่าวเสียจึงจะพ้นความผิด
- ๑๗๖ ประกาศห้ามพระสงฆ์ไม่ให้บอกบ้ายแทงหวยแลประพฤติอนาจาร
- ๑๗๗. ประกาศให้ผู้ที่ทรงรู้จักมาเฝ้าจะพระราชทานเงิน
- ๑๗๘ ประกาศพิกัดราคาเงินเหรียญบาทแลเงินแป
- ๑๗๙ ประกาศให้เจ้าคณะมีหมายประกาศไปตามพระอารามให้ชำระต้นไม้ต่างๆ ที่ขึ้นบนหลังคาแลกำแพง ให้ชำระลานวัดให้หมดจด ในเวลาเสด็จพระราชทานพระกฐิน
- ๑๘๐ ประกาศพระราชบัญญัติเรื่องที่กระหนาบคาบเกี่ยว แลการกู้หนี้ในระหว่างญาติ
- ๑๘๑ ประกาศให้ตรวจตรารักษาบ้านเรือนแลจับกุมโจรผู้ร้าย
- ๑๘๒ ประกาศขอแรงราษฎรบ้านใกล้เคียงตัดถอนต้นโพธิ์ต้นไทร แลต้นไม้อื่นๆ ที่กำแพง, ป้อม, ประตู
- ๑๘๓ หมายประกาศพระราชกระแสซึ่งทรงตัดสินโทษจีนเสงอำแดงอิ่มผู้ทำวิชาอาคม
- ๑๘๔ ประกาศร่างตราภูมคุ้มห้ามค่านาแก่ไพร่หลวงบางเหล่าเปนพิเศษ
- ๑๘๕. ประกาศมหาสงกรานต์ ปีระกาตรีศก
- ๑๘๖ ประกาศพระราชบัญญัติเรื่องพระสงฆ์สามเณรลักเพศ
- ๑๘๗ ประกาศเรื่องบรรจุของในพระเจดีย์ที่เขาพนมขวด
- ๑๘๘ ประกาศเรื่องข้าเจ้าแขงบ่าวนายแรงข่มเหงราษฎร
- ๑๘๙ ประกาศดาวหางปีระกาตรีศก
- ๑๙๐ ประกาศสุริยอุปราคา
- ๑๙๑ ประกาศพระราชบัญญัติให้ใช้คำนำหน้าชื่อชนต่างๆ
- ๑๙๒ ประกาศร่างพระราชหัดถเลขาพระราชทานนาพระเจ้าลูกเธอ
- ๑๙๓ ประกาศดาวพระเคราะห์พุธเข้าในดวงพระอาทิตย์
- ๑๙๔ ประกาศวางระเบียบให้เจ้านายแต่งพระองค์ในพิธีถือน้ำแลตามเสด็จ
- ๑๙๕ ประกาศทรงอนุญาตให้ข้างในกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ
- ๑๙๖ ประกาศการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอแลเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
- ๑๙๗ ประกาศให้นำเลขมารับหนังสือพิมพ์คุ้มสักแลสักหลังมือ
คำนำ
หม่อมเจ้าชายประสบประสงค์ กับหม่อมเจ้าบุญจิราทร มาแจ้งความยังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ว่าในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์พระบิดา ณ พระเมรุท้องสนามหลวงในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ นี้ มีประสงค์จะพิมพ์หนังสือสำหรับแจกเปนที่ระฦกสักเรื่อง ๑ ขอให้กรรมการหอพระสมุดฯ ช่วยเลือกเรื่องแลพิมพ์หนังสือนั้น ทั้งขอให้ข้าพเจ้าผู้มีชื่อในคำนำนี้แต่งเรื่องพระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์พิมพ์ไว้ด้วย
ข้าพเจ้ารับเปนธุระด้วยความยินดีที่มีโอกาศได้สนองพระคุณกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์บ้างเล็กน้อย เพราะเมื่อเสด็จดำรงพระชนม์อยู่ นอกจากที่ได้รักใคร่คุ้นเคยกันมาโดยฐานที่เปนพี่กับน้อง กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์กับข้าพเจ้าได้เคยรับราชการร่วมกระทรวงกันมาหลายตอน นับตั้งต้นแต่เคยอยู่ในกรมทหารมหาดเล็กมาด้วยกัน แล้วย้ายไปรับราชการทหารบกด้วยกันในสมัยเมื่อแรกตั้งกรมยุทธนาธิการ แลที่สุดได้รับราชการในกระทรวงมหาดไทยด้วยกันต่อมาอีกช้านาน ตลอดเวลาทุกระยะนี้ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ได้มีพระคุณแก่ข้าพเจ้าทั้งในหน้าที่ราชการ แลในการส่วนตัวเปนอันมาก
หนังสือสำหรับจะพิมพ์แจกในงารพระศพกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์นั้น ข้าพเจ้าเลือกได้ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาคที่ ๕ คือประกาศที่ได้ออกในปีมะแมเอกศก ปีวอกโทศก แลปีระกาตรีศก รวม ๓ ปี ให้พิมพ์เปนสมุดเล่มหนึ่ง เหตุที่เลือกประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ให้พิมพ์ เพราะประกาศในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์แทบทั้งนั้น นับว่าเปนหนังสือไทยหมวดหนึ่งซึ่งเปนอย่างดีที่สุด เพราะเหตุมีความรู้ทางราชการแลพงศาวดาร พระราชทานพระบรมราชธิบายไว้ในประกาศทั้งปวงนั้นเปนอันมาก ทางสำนวนเล่าก็นับว่าเปนปฏิภาณอย่างเอกในภาษาไทยด้วย เพราะฉนั้นบรรดาผู้ที่เปนนักเรียน ใครได้อ่านประกาศรัชกาลที่ ๔ จึงย่อมพึงใจไม่มีเว้น ก็ประกาศในรัชกาลที่ ๔ นั้น หอพระสมุดฯ ได้พยายามรวบรวมมาช้านาน ได้สำเนาประกาศไว้กว่า ๔๐๐ เรื่องด้วยกัน จะพิมพ์ให้พร้อมกันหมดในคราวเดียวก็มากนัก จึงได้คิดแบ่งพิมพ์เปนตอนๆ พอพิมพ์ตอนแรกออกไป ไม่ว่าใครได้อ่านก็พากันชอบ มีผู้มาเร่งรัดตักเตือนให้หอพระสมุดฯ พิมพ์ต่อเนืองๆ กรรมการจึงคิดเห็นว่าถ้าพิมพ์ประกาศรัชกาลที่ ๔ ให้ตลอดได้เร็วเพียงใด ประโยชน์ก็จะยิ่งมีมากขึ้นเพียงนั้น เมื่อหม่อมเจ้าในกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์มาขอให้เลือกเรื่องหนังสือในหอพระสมุดฯ ให้พิมพ์ สำหรับจะแจกในงารพระศพพระบิดา ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้พิมพ์ประกาศรัชกาลที่ ๔ หม่อมเจ้าทั้ง ๒ องค์ก็เห็นชอบด้วย
พระประวัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันอังคารที่ ๒๙ ธันวาคม ปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๐๐ เปนพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๓ ในเจ้าจอมมารดาพึ่ง ที่ ๑ พระองค์เจ้าชายทักษิณาวัฏ ประสูติเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ แต่สิ้นพระชนม์เสียเมื่อยังทรงพระเยาว์ ที่ ๒ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ประสูติเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๘๘ ที่ ๓ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เปนพระองค์น้อยในเจ้าจอมมารดาเดียวกัน
ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระชัณษาได้ ๑๑ ปี สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงเลือกไว้ในเหล่าพระเจ้าลูกเธอที่สำหรับรับใช้ประจำพระองค์ แต่รับราชการอยู่เช่นนั้นไม่ถึงปีหนึ่ง พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต มาได้โสกันต์ต่อในรัชกาลที่ ๕ แล้วทรงผนวชเปนสามเณรอยู่วัดบวรนิเวศ ทรงศึกษาพระธรรมวินัยในสำนัก สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระอุปัธยายาจารย์ อยู่พรรษา ๑ ได้ถวายเทศนามหาชาติกัณฑ์ฉกระษัตริย์ตามประเพณีเจ้านาย ทรงผนวชแล้วลาผนวชมาประทับอยู่ที่วังกรมหลวงพิชิตปรีชากรกับเจ้าจอมมารดาด้วยกัน
(อยู่ในระหว่างตรวจต้นฉบับ)
กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งหม่อมเจ้าในกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ บำเพ็ญสนองพระเดชพระคุณบิดา ด้วยความกตัญญูกตเวที ทั้งได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้ได้อ่านกันแพร่หลาย เชื่อว่าท่านทั้งหลายที่ได้รับหนังสือนี้ไป คงจะอนุโมทนาทั่วกัน
สภานายก
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑๕ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๖