๒๒
เช้าวันรุ่งขึ้น ก่อนการแสดงปาฐกถาของ ดร. เลี่ยวถิงไข่ เรื่อง กรณีญี่ปุ่นกับแมนจูเรีย ที่ พี.ยู.เอ็ม.ซี. ไม่กี่ชั่วโมง ข้าพเจ้าเข้าไปทำงานอยู่ในห้องสมุด College of Chinese Studies พร้อมกับบัว เราไม่พูดอะไรกันเลย เพราะเราต้องเคารพระเบียบของห้องสมุดอย่างเคร่งครัด ต่างคนต่างก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่ที่โต๊ะซึ่งเราเลือกไว้ ข้าพเจ้ากำลังค้นคว้างานของนักปฏิรูปผู้ใหญ่ยิ่งของจีนสมัยบัจจุบัน คือท่านเหลียงฉีเชา ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ที่ดื้อรั้นที่สุดของ ดร. ซุนยัดเซน จากงานของท่านผู้นี้ ข้าพเจ้าสามารถทราบได้ว่า ประเทศจีนในวันสุดท้ายของราชวงค์แมนจู ได้มีการต่อสู้ระหว่างนักการเมืองและนักคิดสองฝ่ายอย่างรุนแรงมาก ฝ่ายหนึ่งต้องการระบอบสาธารณรัฐ อีกฝ่ายหนึ่งต้องการระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย งานของเหลียงฉีเชาเป็นงานที่มีค่าอย่างยิ่ง แต่งานอันมีค่าสูงนี้ไม่สามารถจะแสดงคุณค่าออกมาได้อย่างสมบูรณ์ เพราะเหลียงฉีเชาไม่เล่นการเมืองกับราษฎร เขาเล่นการเมืองอย่างนักการเมืองธรรมดาที่มือยู่มากมายตามข้างถนน คือนักการเมืองที่บูชาแต่อำนาจ ใครมีอำนาจก็วิ่งไปหาคนนั้น พอคนนั้นล้มลงก็วิ่งไปหาคนใหม่ การเล่นการเมืองของเหลียงทำให้ราษฎรหมดความนับถือไปทีละน้อย เดิมทีประชาชนชาวจีนเคารพความคิดเห็นของเหลียงมาก ประชาชนตื่นขึ้นจากการหลับอันยาวนานนับด้วยศตวรรษ ก็เพราะปากกาของเหลียงฉีเชา ดร. ซุนยัดเซนปฏิวัติสำเร็จก็เพราะราษฎรสนับสนุน และการที่ราษฎรสนับสนุนก็เพราะเหลียงฉีเชาเป็นคนปลุกให้ราษฎรตื่น ดร. ซุนซาบซึ้งดีว่าเหลียงเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญยิ่งของการปฏิวัติ และ ดร. ซุนก็เคารพอาวุโสของเหลียงอยู่ เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากจะเป็นปฏิปักษ์กับเหลียงเลย ทั้ง ๆ ที่ขัดแย้งกันในทางความคิดเห็น คือ ดร. ซุนต้องการการปกครองระบอบสาธารณรัฐ แต่เหลียงต้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย ตามความเป็นจริงแล้ว เหลียงควรจะเอาชนะ ดร. ซุนได้ไม่ยากนัก ถ้าแม้เหลียงเป็นตัวของตัวเอง ไม่คอยแต่พึ่งพวกนายพลซึ่งราษฎรเกลียดชัง เหลียงคิดไกลมากในการที่จะรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ ประเพณีจีนมีกษัตริย์ปกครองมานับเป็นพัน ๆ ปี ราษฎรคุ้นเคยกับระบอบกษัตริย์มากกว่าระบอบประชาธิปไตยแผนใหม่ ถ้าเหลียงเล่นการเมืองกับราษฎรแบบที่ ดร. ซุนเล่นมาตั้งแต่ต้น เหลียงก็อาจจะชนะใจราษฎรได้ และอาจสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายได้สำเร็จ ซึ่งถ้าเป็นได้ตามนี้ จีนจะไม่แหลกลาญอย่างที่เป็นมาแล้วและกำลังเป็นอยู่ และสันติสุขในตะวันออกก็จะดำรงอยู่ได้ คนเป็นอันมากเสียดายอุดมการณ์ของเหลียงฉีเชา แม้รัฐบาลก๊กมินตังก็ได้แสดงความเคารพความคิดของเหลียงอย่างเปิดเผย โดยสร้าง “ห้องสมุดเหลียงฉีเชา” ไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ในห้องนี้เขายกห้องสมุดส่วนตัวของเหลียงมาตั้งไว้พร้อมด้วยโต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องใช้ของเหลียงสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกๆ วันประชาชนพากันเข้าไปชม และทุกคนไม่เคยลืมเหลียงฉีเชาเลย
บัวกับข้าพเจ้าทำงานอยู่ในห้องสมุดของ College of Chinese Studies จนถึงเที่ยงวัน จึงพากันไปรับประทานอาหารกลางวันในห้องอาหารใหญ่ตึกเวสต์บิลดิ้ง ระหว่างกินอาหาร บัวพูดกับข้าพเจ้าถึงจางหลิน ตอนหนึ่งเขากล่าวว่า
“ผมพบจางหลินเมื่อวานที่ วาย.เอ็ม.ซี.เอ. เขาว่าจะมาฟังปาฐกถา ดร. เลี่ยววันนี้”
“เขาบอกผมเหมือนกัน จวนฟางก็จะมาด้วย” ข้าพเจ้าหยิบแก้วน้ำมาถือไว้ในมือ แต่ไม่ทันดื่ม บัวก็สวนขึ้นว่า
“ผมเจอทามูราอยู่กับจางหลิน ดูเขาสนิทกันมาก”
ข้าพเจ้าพยักหน้า
“มีคนแปลกใจที่ญี่ปุ่นกับจีนเป็นเพื่อนรักกันโด้”
บัวหัวเราะ
“ผมก็แปลกใจ แต่ทามูราท่าทางเป็นคนใจดี”
“ไม่มีตาแบบญี่ปุ่น”
“อะไรนะ?”
“เป็นคนซื่อ มีความจริงใจ”
“ผมก็เห็นเหมือนคุณ แต่ผมก็ยังไม่เชื่อ”
“คุณสงสัยอะไร?”
“ก็ไม่สงสัยอะไร แต่ไม่ไว้ใจ ญี่ปุ่นเขารักชาติอย่างเดียว เขาทำอะไรได้ทุกอย่างเพื่อชาติ”
“แต่ทามูราคงไม่ทำอะไรได้ทุกอย่างเพื่อชาติญี่ปุ่น” ข้าพเจ้าพูดอย่างท้วง
บัวโคลงศีรษะช้า ๆ
“ทามูราเป็นคนลึกซึ้ง ธรรมดาน้ำนิ่งมันก็ต้องไหลลึก ผมยังไม่ค่อยแน่ใจนัก”
“ผมเคยพบทามูรา”
“คุณพบเขาไม่ถึงชั่วโมง คุณจะอ่านหัวใจเขาได้อย่างไร เวลานี้สปายญี่ปุ่นมีอยู่เต็มจีนเหนือ คนที่เป็นสปายมันก็ต้องลึก”
“ทามูราไม่เห็นด้วยกับนโยบายรุกรานจีนของรัฐบาลญี่ปุ่น เขาพูดกับผมอย่างนี้” ข้าพเจ้าพยายามชี้แจง
บัวสั่นหน้าอย่างไม่เห็นด้วย
“ถ้าเขาเห็นด้วยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เขาก็เป็นสปายให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้”
ข้าพเจ้านิ่ง คำของบัวเป็นข้อคิดที่น่าคิดเหมือนกัน ในโลกนี้เรากำลังเล่นละคร ทุกคนกำลังโกหกหลอกลวงกันเพื่อเอาตัวให้รอด ทามูราอาจต่ารัฐบาลของเขาเพื่อให้จางหลินเชื่อก็ได้ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่อยากจะคิดอย่างบัว คือเห็นคนเป็นสุนัขจิ้งจอกไปเสียหมด ข้าพเจ้ายังยึดมั่นอยู่ในความจริงที่ว่า คนดีจะต้องมีอยู่ในโลกนี้ แม้จะเป็นจำนวนน้อยกว่าคนชั่ว แต่ก็มิใช่ว่าเราจะไม่พบคนดีเสียเลย ข้าพเจ้าเชื่อว่าจางหลินเป็นคนดี และในเวลาเดียวกันก็อยากจะลองเชื่อดูสักนิดว่าทามูราก็ควรจะเป็นคนดีคนหนึ่งได้ เลือดญี่ปุ่นไม่จำเป็นจะต้องทำให้ญี่ปุ่นทุกคนกลายเป็นทานากา–เจ้าลัทธิบูชิโด—ไม่จำเป็นจะต้องทำให้ญี่ปุ่นฆ่าตัวตายอย่างคนบ้าเพื่อจะเป็นเจ้าโลก
บัวกับข้าพเจ้าแยกกันไปพักผ่อนในห้องพัก เมื่อเสร็จจากการกินอาหารกลางวันแล้ว ข้าพเจ้าพบจดหมายฉนับหนึ่งเสียบอยู่ที่หน้าประตูห้อง จึงหยิบติดมือเข้าไป แล้วลงมืออ่านก่อนอื่น
ข้าพเจ้าจำลายมือได้ จดหมายฉบับนั้นผู้เขียนคือ ประนุท มีใจความว่าดังนี้ :
“จดหมายของพี่ได้รับแล้ว ดีใจที่พี่สบายดี แต่ก็เป็นห่วงที่เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์เรื่องญี่ปุ่นเข้าแมนจูเรีย พวกเราไม่สบายใจเลย เพราะถ้าเกิดสงคราม ปักกิ่งจะต้องเป็นสนามรบไปด้วย เพราะญี่ปุ่นคงไม่หยุดแค่แมนจูเรีย หรือพี่เห็นอย่างไร คุณแม่ห่วงพี่มาก นุทก็ได้แต่คอยปลอบใจท่าน แต่ก็ไม่มีเหตุผลอะไรจะพูดให้ท่านเข้าใจว่าพี่จะต้องอยู่ได้อย่างปลอดภัย เพราะนุทเองก็มองไม่เห็นว่าพี่จะอยู่ไปได้อย่างไร ไม่ทราบว่าพี่จะคิดอย่างไรในเรื่องนี้ มีทางจะหลบลงไปเซี่ยงไฮ้ไหมคะ หรือถ้าจะให้แน่ใจก็ลงไปอยู่เสียที่แคนตอน นุทขอร้องพี่ว่าอย่าประมาท และอย่าใช้เลือดคนหนุ่มตัดสินชีวิตของพี่ พี่ไม่ได้ฝันไปปักกิ่งอย่างนักผจญภัย พี่เป็นนักศึกษา จะต้องกลับมาเมืองไทยเพื่อบ้านเมืองและเพื่อพวกเราที่คอยอยู่ พี่มีค่ามากเหลือเกินสำหรับพวกเราทุกคน เพราะฉะนั้นโปรดคิดถึงความปลอดภัยให้มาก
“นุทพบคุณเทวัน เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ของพี่เมื่อวานที่บ้านบรรทัดทอง คุณเทวันยังคงแวะไปเยี่ยมคุณแม่ของพี่บ่อย ๆ บางครั้งก็ได้คุยกับท่าน บางครั้งก็ไม่พบใคร เพราะคุณแม่ท่านมักจะเข้าวัง แต่บางทีก็โชคดีได้พบกับคุณพ่อ
“พบคุณเทวันวันนั้น แกพูดชอบกล เสียงแกดูจะอยากให้เมืองไทยเป็นประชาธิปไตยมีรัฐธรรมนูญ แกพูดถึงเสรีภาพและสิทธิของประชาชนในการปกครอง แกย้ำเรื่องเสรีภาพมาก นุทฟังแล้วก็ไม่สบายใจ เพราะกลัวจะวุ่นวายกัน นุทคิดอย่างคนหัวเก่าว่าการเปลี่ยนอะไรใหญ่ ๆ โต ๆ อย่างนี้มันเท่ากับการรื้อบ้าน รื้อแล้วถ้าปลูกใหม่ได้เรียบร้อย อยู่กันได้อย่างสบายก็ดีไป แต่ถ้ารื้อแล้วก็ปลูกใหม่ไม่สำเร็จ ต้องทิ้งค้างไว้ มีแต่เสาไม่มีหลังคา ก็คงจะต้องตากแดดตากฝนกันแย่แน่ ๆ ความคิดของคุณเทวันดูจะโด่งเกินไปสักหน่อย ปัญหามันอยู่ที่ว่าราษฎรของเราพร้อมหรือยัง และอีกอย่างหนึ่งที่น่าห่วงมากก็คือ พวกที่คิดรื้อบ้านเขาสร้างบ้านกันเป็นหรือไม่ เขามีฝีมือมีความตั้งใจจริงแค่ไหน แล้วก็เขาซื่อตรงต่อราษฎรเพียงไร มันมีเรื่องที่ต้องคิดมากมาย แต่คุณเทวันเขาดูเหมือนไม่คิดถึงปัญหาเหล่านี้เลย
“นุทออกจะคิดมากไปก็ได้ คนที่คิดมากบางทีก็ทำอะไรไม่ได้เลย คุณเทวันเขามุ่งแต่ทำ ไม่คิดอะไรมาก เขาบอกว่าถ้าไม่ทำอะไรกันเสียเลย ชาติบ้านเมืองก็ไม่ก้าวหน้า ราษฎรไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร แล้วก็จะพร้อมไปเอง ถ้าขืนกลัวราษฎรไม่พร้อม อีกร้อยปีเมืองไทยก็คงย่ำเท้าอยู่อย่างนี้
“คุณเทวันบอกว่า เขาเชื่อว่าคนที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองจะต้องเป็นคนดี เพราะถ้าไม่ใช่คนดีแล้ว คงไม่ยอมเอาชีวิตเข้าเสี่ยงกับดาบเพชฌฆาตเป็นแน่ เหตุผลของเขายังฟังไม่ชัด ดูจะรวบรัดเอาเองมากเกินไป พวกโจรที่ปล้นประชาชนก็ต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยง แล้วโจรพวกนี้ก็ไม่ใช่คนดี การเสี่ยงชีวิตไม่ได้หมายความว่าผู้เสี่ยงจะต้องเป็นคนดีเสมอไป
“แต่คนที่เสี่ยงชีวิตเข้าเปลี่ยนเปลงการปกครองอาจเป็นคนดีทุกคนก็ได้ นี่นุทพูดอย่างไม่รอบคอบ แต่มันก็เกิดปัญหาอีกว่า คนดีพวกนี้จะรักษาความดีไว้ไม่ดลอดรอดฝั่งหรือไม่ เขาจะมีใจเข้มแข็งพอไหมที่จะต่อสู้กับตัวเอบ เพื่อเอาชนะความโลภความหลงทั้งปวงที่ล้อมอยู่รอบตัวเมื่อเขาเป็นใหญ่ขึ้นมา? เขาจะรักษาอุดมคติของการเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้ได้หรือไม่ เขาจะอดทนต่อคำสรรเสริญเยินยอของคนที่มานั่งอยู่ที่หัวบันไดบ้านเขาทุกเช้าทุกเย็นได้หรือไม่? เขาจะลืมตัวไหมเมื่อเขาพบแต่คนที่บอกว่าศีรษะของเขามีแสงเรือง ๆ ขึ้นมาแล้ว? เหล่านี้เป็นตัวมารที่จะมาคอยผจญ ถ้าเขาทนได้สู้ได้ และ ขับไล่มารเหล่านี้ออกไปได้ เขาจะเป็นคนดีที่ราษฎรพอจะพึ่งได้
“แต่คนดีอย่างนี้จะมีสักกี่คนในพวกนักรื้อบ้านของราษฎร? นุทว่ามีนับตัวได้ แล้วมันจะคอนกันไหวหรือ? ราษฎรช่วยตัวเองไม่ได้ ผลที่สุดราษฎรก็จะถูกต้มถูกปล้นจนตัวล่อนจ้อน แล้วพวกเหลือบยุงทั้งหลายก็จะแห่กันเข้ามารับช่วงสูบเลือดกินต่อไป จนเกิดเป็นชนชั้นเทวดาขึ้นอีกชั้นหนึ่งที่หากินอยู่บนหลังของราษฎร
“นุทได้อ่านจดหมายของพี่บ่อยๆ เรื่องการสูบเลือดราษฎรในเมืองจีน อ่านแล้วก็อนาถใจมาก ทำให้รู้สึกว่ายังเคราะห์ดีที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย เท่าที่พี่เขียนมา รู้สึกว่าพี่ห่วงเมืองไทยมาก พี่กลัวว่าเมืองไทยจะยุ่งอย่างเมืองจีน ถ้ามีคนอุตริคิดกบฏต่อประชาชนขึ้น ก็น่าห่วงอย่างพี่ว่า เมืองไทยเวลานี้ถึงจะค่อย ๆ ก้าว แต่เราก็อยู่ในความสงบร่มเย็น เรายังพอใจที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงปกครองด้วยธรรม คำว่า ‘ธรรม’ เป็นคำลึกและกว้าง นุทวิตกว่านักปกครองที่คิดจะยึดอำนาจพวกนี้จะไม่เข้าใจคำว่าธรรม ถึงเข้าใจก็คงปฏิบัติยากเพราะขาดสถาบันที่ครองใจเขา กลัวเขาจะตื่นอำนาจตื่นเงิน แล้วก็จะพาบ้านเมืองเข้ารกเข้าพงไป
“นุทมีอะไรก็เขียนชุ่ย ๆ มาให้พี่อ่านแก้กลุ้มเท่านั้นเอง อาจเป็นคนคิดโง่ๆ ที่ไม่น่าจะพูดออกมาก็ได้ แต่ก็คงจะเป็นประโยชน์บ้าง เพราะคงจะทำให้พี่หายเหงา
“ขอให้พี่ปลอดภัยและมีความสุขเสมอ บ้านพี่ไม่ต้องห่วง ขอให้ตั้งหน้าเรียนให้สำเร็จ นุทจะรอพี่เสมอ”
จดหมายของนุทเป็นกำลังใจตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่ในปักกิ่ง อย่างน้อยเธอผู้นี้ก็เป็นเพื่อนที่ดีเสมอต้นเสมอปลาย รักและซื่อตรง ทนต่อกาลเวลาซึ่งเป็นพระเจ้าของการเปลี่ยนแปลง
บัวมาเคาะประตูอีกครู่ใหญ่ ๆ ต่อมา เพราะจวนเวลาที่ ดร. เลี่ยวถิงไข่จะขึ้นแสดงปาฐกถาแล้ว เรารีบไปปรากฏตัวที่ออดิทอเรียมของ College of Chinese Studies สุภาพบุรุษสุภาพสตรีหลายชาติหลายภาษาเข้าไปนั่งอยู่ ณ ห้องโถงจนเกือบจะไม่มีเก้าอี้ว่าง ทุกคนสนใจจะฟังความคิดความเห็นของ ดร. เลี่ยว ซึ่งเป็นผู้รู้คนหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ในตะวันออกไกล
-
๑. ขณะนั้นรับราชการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ↩