๗๙. กองทัพไทยกับกองทัพญวนเข้าสู้รบกัน

เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึ่งแต่งให้พระยาราชนิกูล (เสือ) พระยานครราชสีมา (ทองอิน) คุมกองทัพหัวเมืองเหนือและเมืองนครราชสีมา รวมเป็นคน ๗,๐๐๐ เศษ ยกข้ามไปทางบาพนม เดินตรงไปช่วยเมืองไซ่ง่อน เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้เรือชะเลยเมืองเขมร กับเจ้าพระยาพระคลังรวมทัพกันไปทางเรือ ให้เจ้าพระยาพลเทพเป็นทัพหน้าล่วงไปก่อน ไปตามลำน้ำโจฎกเลี้ยวคลองวามะนาว พอพบทัพองทำตาน องจันเบียมาตั้งรับอยู่ค่ายด่านปากคลองข้างใต้ เมื่อณเดือน ๓ ขึ้น ๑๒ ค่ำ[๑] ได้สู้รบกันอยู่วัน ๑ ทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา ทัพเจ้าพระยาพระคลังลงไปทันก็เข้าระดมยิงทัพญวน ญวนก็สู้รบอยู่ เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้พวกทัพบกซึ่งขี่เรือเล็กขึ้นตั้งค่ายบกประชิดค่ายญวนทั้ง ๒ ฟาก ญวนก็เข้าตีแตกไป แล้วทัพเรือฝ่ายไทยก็เข้ารุกไลยิง ทัพเรือญวนน้อยตัวกว่าก็ล่าถอยไปตั้งรับอยู่ปากคลองข้างเหนือทางจะลงไปเมืองสะแดก ที่นั้นเป็นค่ายเก่า ญวนมาตั้งรับทัพพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์ แต่ก่อน ญวนซ่อมแซมไว้เป็นค่ายด่านไม่รื้อถอนเสีย การครั้งนี้ญวนได้อาศัยค่ายนั้นมั่นอยู่

เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาพระคลัง เห็นทัพญวนล่าถอยไป แล้วก็จัดให้พระยาณรงคฤทธิโกษา พระยาวิเศษสงครามไปปิดปากคลององเจืองไว้ จะมิให้ญวนเอาเรือรบลัดตัดหลังมาได้ แล้วให้บาทหลวงเป๋ที่ไปด้วยพระยาวิเศษสงคราม เกลี้ยกล่อมญวนเข้ารีต ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในคลององเจือง ประมาณ ๓๐๐ เศษ ยอมสมัครเข้าเกลี้ยกล่อมด้วยสิ้นทั้งบ้าน แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชา สั่งให้เอาตัวปลัดยกกระบัตรเมืองสระบุรีซึ่งทิ้งค่ายแตกหนีญวนไปกับหัวหมื่นตำรวจกรมนอกซ้ายนาย ๑ เป็นเชื้อสายของท่านอยู่ด้วย เมื่อเวลารบกับญวนอยู่นั้น ลงเรือช่วงไปแอบหางเสืออยู่ท้ายเรือรบ ท่านไปเห็นเข้า สั่งให้จับเอาตัวมาให้เอาไปประหารชีวิตเสียทั้งปลัดยกกระบัตรเมืองสระบุรีทั้ง ๓ คนด้วยกัน แล้วก็ยกตามญวนลงไปถึงปากคลองวามะนาว ตั้งประชิดกันอยู่ ให้กองทัพออกจับญวนมาได้คน ๑ ถามให้การว่า องเตียนกุนให้องทำตานดายท่านกับองจันเบียคุมคน ๓,๐๐๐ เป็นแม่ทัพมาแทนตัว ๆ นั้นล้อมเมืองไซ่ง่อนอยู่ ครั้นเวลาค่ำญวนก็ปล่อยแพไฟลงมาเป็นอันมาก ปรารถนาจะเผาทัพเรือ ก็ไม่ได้ไหม้แต่สักลำ ๑ เพราะญวนทำการไม่ถูก ปล่อยแพลงมาเหมือนอย่างลอยกะทงเล่น ก็ลอยเป็นทิวไปตามสายน้ำ ไม่ได้ถูกเรือแต่สักลำ ๑

ครั้นณเดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ[๒] เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาพระคลังปรึกษากันว่า ญวนตั้งค่ายบก เอาเรือทอดกั้นขวางแม่น้ำไว้ จะต้องตีหักลงไปให้พร้อมกันทั้งทัพบกทัพเรือ ญวนจึ่งจะไม่ช่วยกันได้ ครั้นปรึกษากันแล้ว จึ่งสั่งให้นายทัพนายกองเตรียมการไว้ให้เสร็จ ครั้นณเดือน ๓ แรม ๕ ค่ำ[๓] เวลา ๓ ยาม เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็คุมทัพบกเข้าปล้นค่ายญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชาต้อนคนลุยขวากหนามเข้าไปจนถึงเสาค่ายญวน ๆ ก็จุดพลุขึ้นรอบค่ายสว่างเห็นตัวกันถนัด ญวนก็วางปืนใหญ่ปืนคาบศิลาระดมมาต้องทัพไทยล้มตายเป็นอันมาก จะปีนค่ายเข้าไปมิได้

ฝ่ายทัพเรือ เจ้าพระยาพระคลังก็เข้าตีทัพเรือญวนพร้อมกัน ญวนก็ยิงปืนสู้รบเป็นสามารถ นายทัพนายกองฝ่ายไทยก็ถอนสมอลงไป เรือพระยาอภัยโนฤทธิ (บุนนาค) ลำ ๑ เรือพระอนุรักษโยธาลำ ๑ แต่เรือพระยาท้ายน้ำลำ ๑ นั้น ถอนสมอขึ้นแล้วเข้าไปแอบตลิ่งอยู่ เรือพระยาอภัยโนฤทธิ์ เรือพระอนุรักษโยธานั้นแจวลงไป ไม่เห็นเรือข้างหลังตามไปก็ถอยหลังมาเสีย เจ้าพระยาพระคลังก็ลงเรือแง่ทรายพลแจว ๒๐ เที่ยวไล่เรือรบให้ถอนสมอลงไปโดยเร็ว คนในลำเรือถอนสมอขึ้นแล้ว ก็ไปไล่ลำอื่นต่อไป ครั้นท่านห่างไปแล้วก็ปล่อยสมอลงไปเสียดังเก่า เรือเจ้าพระยาพลเทพ พระยาราชวังสัน พระยาเพ็ชรบุรี ว่าแต่ที่เป็นผู้ใหญ่ พระยาพระหลวงเป็นนายลำอื่นอีกก็มีเป็นอันมาก แต่เห็นผู้ใหญ่ไม่ลงไป ก็ถอนสมอไม่ขึ้นเสียทั้งนั้น ถอนขึ้นมาที ๑ ก็ปล่อยลงไปเสียที ๑ ถ้าเห็นเรือไปเร่งรัด ก็ทำเป็นถอนสมอแต่สมอนั้นไม่ขึ้น ญวนเห็นว่าทัพเรือไม่ลงไปแล้ว ก็เอาเรือมาระดมกันขึ้นไปช่วยค่ายบก

เจ้าพระยาบดินทรเดชาซึ่งเข้าตีค่ายญวนเหลือกำลัง ผู้คนก็ล้มตายลงมาก ก็สั่งให้ล่าถอยออกมา เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาพระคลังปรึกษากันว่า นายทัพนายกองไม่กลัวแม่ทัพใหญ่ดังนี้ จะทำการศึกสงครามไปที่ไหนได้ ให้เอาตัวผู้ที่ขลาดมาฆ่าเสียให้สิ้น เอาผู้น้อยที่กล้าแข็งแรงตั้งขึ้น เอาเครื่องยศให้แก่มัน ยกเข้าตีอีกครั้ง ๑ เจ้าพระยาพระคลังจึ่งว่า ซึ่งโปรดดังนี้ก็ชอบอยู่ แต่ท่านเหล่านี้เป็นผู้ใหญ่ ๆ ที่กินพานทองก็หลายนาย จะฆ่าเสียเห็นจะไม่ได้ จะเกิดภัยขึ้นข้างหน้า เดี๋ยวนี้สะเบียงอาหารกระสุนดินดำก็น้อยลง แล้วก็เป็นเทศกาลฤดูเดือน ๔ น้ำน้อย การทำไปไม่ตลอดโทษก็มี จะกลับก็ยากถ้าจะรับสั่งเอาโทษตามอัยยการศึกเหมือนอย่างทำแก่ท่านเหล่านี้ก็ตายเปล่า เจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า ถ้าอย่างนั้นก็ได้แต่ล่าถอยอย่างเดียว ปรึกษาตกลงแล้ว ครั้นณเดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ[๔] ก็ถอนคนค่ายบกลงเรือแง่ทรายชะเลยมาก่อน แล้วเรือรบมีชื่อก็ล่าตามมาต่อภายหลัง ถอนสมอขึ้นได้โดยเร็ว ญวนเข้ารีดอยู่ในคลององเจืองก็ลงเรือแง่บันล่องอพยพตามกองทัพมาสิ้น ทัพบกขึ้นรักษาอยู่เมืองโจฎก ทัพเรือก็ผ่อนกันเข้าคลองขุดมาเมืองบันทายมาศก่อน

เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาพระคลังยังอยู่ที่เมืองโจฎก ครั้นรุ่งขึ้นณเดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ[๕] เห็นทัพเรือญวนยกตามมาทอดอยู่ใต้เมืองโจฎก เรือค่าย ๑๕ ลำ เรือแง่โอเรือแง่ทราย ๓๐ ทอดห่างเมืองอยู่ประมาณ ๒๐ เส้น ครั้นรุ่งขึ้นแรม ๑๑ ค่ำเวลาเช้าโมง ๑ ญวนก็ยกเข้าตีเมืองโจฎก คนประจำหน้าที่ก็วางปืนป้อมและกำแพงเชิงเทินระดมยิงไป ญวนก็มิได้ท้อถอย แจวผ่านหน้าเมืองขึ้นมาเหมือนไม่มีปืนยิง ด้วยกลองแม่ทัพยังตีเร่งอยู่ถอยไม่ได้ ขึ้นมาเหนือเมืองจึ่งเอาเรือจอดเข้าที่ตลิ่ง หมายจะขึ้นบนยกเข้าหักเอาเมือง พวกกองทัพก็เอปืนตับคาบศิลาไปนั่งยิงที่ตลิ่งถูกญวนตายเป็นอันมาก เรือแม่ทัพเห็นดังนั้นก็ตีกลองให้ล่าถอย พวกญวนจึ่งได้เอาขอนลูกกลิ้งๆ ไปตามแคมนอก ให้เรือเอียงตะแคงขึ้นรับลูกปืน ลอยเรือลงไปถึงเรือแม่ทัพญวนแล้ว

ฝ่ายพวกทัพเรือเข้าคลองมาถึงกลางย่าน น้ำน้อยพอครือท้องเรือชิงแย่งกันจะไปก่อน เรือก็อัดกันเข้าไปไม่ได้ เจ้าพระยาพระคลังทราบแล้ว จึ่งสั่งให้กองช้างไปชักลากเรือจนตกลึกหมดแล้ว ก็ให้ช้างเดินบกมาทางเมืองกำปอด

อ้ายเขมรกำเริบขึ้นก็เข้าฆ่าพวกกองช้างเสีย ตีชิงเอาช้างไปได้สิ้น



[๑] อังคารที่ ๒๑ มกราคม

[๒] อังคารที่ ๒๘ มกราคม

[๓] พุธที่ ๒๙ มกราคม

[๔] ศุกรที่ ๓๑ มกราคม

[๕] จันทร์ที่ ๓ กุมภาพันธ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ