๒๐๗. เตรียมการป้องกันอังกฤษ

เพราะฉะนั้นจึ่งโปรดให้กรมหลวงรักษรณเรศรไปทำเมืองนครเขื่อนขันธ์ เสริมป้อมมหาสังหาร ป้อมเพ็ชร์หึงขึ้นอีกชั้น ๑ ทำปีกกาขึ้นที่หน้าเมืองอีก ๒ ตำบล ชื่อว่าปีกกาวงเดือน ที่เมืองสมุทรปราการโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหม ลงไปทำปีกกาขึ้นอีก ๒ ฟากแม่น้ำ ต่อปีกกาป้อมนาคราชลงไป ชื่อว่าปีกกาพับสมุทร ป้อมผีเสื้อสมุทรนั้นให้รื้อชั้นบนเสียชั้น ๑ ตั้งใบเสมาปีกกาออกไป ๒ ข้าง ทำทุ่นปักหลักต้นโกลนและแล่นสายโซ่ข้ามแม่น้ำที่หลังป้อมผีเสื้อสมุทร ข้ามมาถึงปากคลองด้านฝั่งตะวันออก แล้วถมศิลาที่แหลมฟ้าผ่ารั้วกะลาวนอีก ๕ กอง ไว้ช่องเรือแต่พอเดิน เรียกว่าโขลนทวาร

ลุศักราช ๑๒๐๗[๑] ปีมะเส็งสัปตศก เป็นปีที่ ๒๒ เจ้าราชวงศ์เชียงใหม่ นำช้างพลายเล็บรอบเท้า เล็บข้างหน้าห่างกันตามธรรมเนียม แต่ข้างหลังนั้นห่างกัน ๓ นิ้ว ๔ นิ้ว ลงมาถวายช้าง ๑ สูง ๔ ศอก ๒ นิ้ว ถึงกรุงเทพฯ ณวันศุกรเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ[๒] พระราชทานชื่อขึ้นระวางเป็น พระบรมนขาคเชนทร์



[๑] พ.ศ. ๒๓๘๘

[๒] วันที่ ๑๑ เมษายน

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ