๒๕๕. ใจความในพระราชสาสน์ของพระเจ้าฮำฮอง

ครั้นมาถึงเดือน ๒ สำเภาเข้ามา จงตกเจ้าเมืองกวางตุ้ง ส่งพระราชสาสน์สมเด็จพระเจ้าฮำฮองประกาศเข้ามาฉะบับ ๑ มีความว่า พระราชสาสน์เจ้าฮำฮองเจริญทางพระราชไมตรีมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา ด้วยสมเด็จพระเจ้าเตากวางพระราชบิดา ได้เสวยราชสมบัติสืบวงศ์กษัตริย์พระเจ้าเกียเข่งมา ๓๐ ปี ได้ประพฤติราชประเพณีตามวงศ์กษัตริย์ที่ล่วงไปแล้วแต่ก่อนมา มิได้ละเมิดในทางราชการ แล้วเมตตากับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เพราะคิดเห็นว่าบุญวาสนาน้อย จึ่งอุตสาหะทรมานพระองค์ทุกเช้าค่ำ ตั้งแต่พระเจ้าเตากวางได้เสวยราชสมบัติมาจนทุกวันนี้ บรรดาหนังสือบอกราชการในแผ่นดินก็ได้ตรวจตราดูแลทุกฉะบับ แล้วจดหมายข้อรับสั่งมาให้ขุนนางจัดการไปตามตำแหน่ง กว่าจะได้เสวยเช้าจนเวลาเที่ยง กว่าจะได้ถอดเสื้อออกจากพระองค์จนเพลาค่ำ หาใคร่จะมีเวลาว่างเปล่าไม่ ตั้งแต่ได้เสวยราชสมบัติมา ๓๐ ปี ประพฤติเป็น ๑ ดังนี้มิได้ขาด พระราชทรัพย์ในท้องพระคลัง การควรจะใช้จึ่งใช้ การไม่ควรจะใช้ก็ไม่ใช้ หวังจะไว้จับจ่ายราชการทำนุบำรุงแผ่นดิน เมื่อแรกได้เสวยราชสมบัติ ทรงเขียนพระราชบัญญัติด้วยพระหัตถ์ สั่งสอนพระองค์ไม่ให้หลงในรูปเสียงลาภสการ เครื่องอุปโภคบริโภคใช้สอยก็แต่พอควรไม่เป้อเย้อ สารพัตรเครื่องเล่นและการเที่ยวสนุกต่าง ๆ ห้ามขาดมิได้ประพฤติ ความดังนี้ขุนนางและราษฎรได้รู้ทั่วกันทั้งแผ่นดิน หัวเมืองด้านตะวันตกที่เป็นข้าศึก ก็ได้จัดกองทัพไปปราบปรามราบคาบแล้ว ความทั้งนี้มิใช่จะอวดปัญญาและฝีมือ ภายหลังพวกอังกฤษมาทำวุ่นวาย เกิดวิวาทกันขึ้นด้วยการค้าขาย การทั้งนี้ทรงคิดเห็นว่าประเวณีนักปราชญ์ถือเมตตาเป็นใหญ่ สงสารแก่พวกราษฎรเหมือนลูกอ่อนไม่รู้จักความ ไม่มีความผิดจะได้ความเดือดร้อนพลอยแหลกเหลวเพราะสู้รบกัน เป็นความเกิดขึ้นด้วยการซื้อขายเล็กน้อย จึ่งทรงอดพระทัยเสีย หวังจะให้นานาประเทศที่ใกล้และไกลเกรงกลัวนับถือ บัดนี้ได้ ๑๐ ปีมาแล้ว พวกที่คิดทรยศก็สงบไปสิ้น พวกราษฎรก็ได้ซื้อขายทำมาหากินเป็นปกติ การที่ทรงพระราชทานเมตตาอยู่ในพระทัยดังนี้ ราษฎรทั้งปวงก็รู้อยู่ทั่วประเทศ และซึ่งน้ำมากฝนแล้งนั้นเป็นการวิบัติเกิดขึ้นในแผ่นดิน ราษฎรได้ความลำบากทุกเช้าค่ำ ทรงคิดละอายอยู่ในพระทัยเป็นอันมาก แต่บรรดาหัวเมืองทั้งปวงมาร้องขอให้ลดภาษีอากรให้เบาลง ที่จะไม่โปรดพระราชทานนั้นไม่มี ไม่ทรงเสียดายพระราชทรัพย์ ให้เอาเงินในท้องพระคลังออกแจกจ่ายราษฎรที่คับแค้นอดอยากป่วยไข้ ความทั้งนี้พวกราษฎรก็แจ้งอยู่แก่ใจทั่วกัน และทรงปรนนิบัติพระราชมารดาให้เป็นสุขมา ๓๐ ปี มิได้คิดแก่เหนื่อยยากทุกเช้าค่ำโดยกตัญญู แต่ก่อนพระเจ้าเตากวางยังทรงพระกำลังมากอยู่ ปีกลายนี้ เมื่อฤดูฝนกับฤดูร้อนต่อกันทรงพระประชวร หมอประกอบยารักษา พระโรคก็หาหายเป็นปกติมีกำลังเหมือนดังเก่าไม่ เมื่อสิ้นเดือน ๒ ปีระกาเอกศก จึ่งเสด็จมาจากสวนดอกไม้มาอยู่ในพระราชวัง พอฮ่องทายฮอประชวรถึงแก่ทิวงคต ทรงอาลัยทุกข์โศกถึงฮ่องทายฮอเป็นอันมาก พระโรคเก่านั้นจึ่งกำเริบหนักขึ้นทุกวัน พระเจ้าเตากวางเสวยราชสมบัติได้ ๓๐ ปี พระชันษา ๖๙ ปี ถึงจะสวรรคตก็ไม่ทรงอาลัยแก่พระชนมายุ ทรงคิดแต่จะจัดการเลือกหาพระราชบุตรที่มีสติปัญญา จะได้ครองราชสมบัติทำนุบำรุงแผ่นดินกรุงปักกิ่งสืบไป เมื่อวันจะสวรรคต เวลาเช้ามีรับสั่งให้หาพระวงศานุวงศ์ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายในเข้ามาเฝ้าพร้อมกันแล้ว ทรงภู่กันชาดจดหมายด้วยพระหัตถ ตั้งเอกถูพระราชบุตรที่ ๔ ให้เป็นที่ถายจูแล้ว มีรับสั่งกับขุนนางผู้ใหญ่ทั้งปวงว่า ให้พร้อมใจกันช่วยจัดแจงราชการอย่างให้คิดอย่างหนึ่งอย่างใด ช่วยทำนุบำรุงถายจูให้ครองราชสมบัติสืบไปตามรับสั่ง แต่ตรัสสั่งด้วยราชการแผ่นดินอยู่ครึ่งวัน พระโรคกำเริบขึ้นกำลังน้อยแล้วตรัสว่า ถายจูคนนี้ใจดีมีกตัญญูและเมตตามาก เป็นคนมีบุญ เห็นจะครองราชสมบัติกรุงปักกิ่งสืบเชื้อวงศ์ต่อไปได้ ฟ้าให้เกิดราษฎรแล้วก็คงให้เกิดเจ้าขึ้นมาสำหรับปกครองกัน อย่าให้ขุนนางและราษฎรทั้งปวงมีความวิตก ด้วยถายจูคนนี้มีสติปัญญามาก อาจรู้ใจคนปกครองราษฎรรักษาแผ่นดินสืบต่อไปได้ แล้วมีอัชฌาศัยในการที่จะชุบเลี้ยงตั้งแต่งขุนนาง แจ่มเหมือนอย่างกระจก เที่ยงเหมือนตราชู จะดีชั่วหนักเบาอย่างไรก็แลเห็น มีราชการอย่างไรก็มิได้ทรงคิดเอาเป็นประโยชน์แก่ตน คิดแต่จะให้ราชการแผ่นดินสำเร็จอย่างเดียว ให้ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตั้งใจทำนุบำรุงถายจูให้ครองราชสมบัติเป็นฮ่องเต้ในแผ่นดินเป็นสุขสืบไป พระเจ้าเตากวางจะมีน้ำพระทัยยินดียิ่งนัก และการพระศพนั้นให้ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยนุ่งขาวห่มขาว ๒๗ วันตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน ความรับสั่งพระเจ้าเตากวางประกาศไว้เมื่อทรงพระประชวรดังนี้ให้รู้ทั่วกันไปทั้งแผ่นดิน พระราชสาสน์บอกมาเดือน ๓ ขึ้น ๑๔ ค่ำ[๑]จุลศักราช ๑๒๑๑[๒] ปีเตากวาง ๓๐ ปีระกาเอกศก



[๑] อาทิตย์ที่ ๒๗ มกราคม

[๒] พ.ศ. ๒๓๙๒

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ