ชอไวพจน์

๏ หมวดชอจะต่อตั้ง เดิมบท
เรียกว่าชอไวพจน์ พวกนี้
คำแจกจะจานจด จาฤก ไว้พ่อ
บฦกบลับลี้ เลศแจ้งประจักษความ

๑๖ จักแจกหมวดชอต่อสาร โดยแบบบรรหาร ที่จัดเปนมัดหมวดกอง ๏ ตั้งต้นแต่ชนชั้นรอง จนจบลบอง บอกคำที่ซ้ำส่อเสียง ๏ ชนชนคำไทยใช้เพียง กระบือตฤบเกลียง ที่กล้าก็ร่าชนกัน ๏ ชนนกชนไก่พนัน เช่นนี้สามัญ คำพูดสยามความตรง ๏ ประชาชนชาติอาจอง บุถุชนมักหลง กิเลศอันหนามาบัง ๏ ตัวสกดสองตัวนี้หวัง นอนิลประดัง สกดเช่นบทชนไทย ๏ คำว่าพระชนม์อ่อนไวย พระชนม์ภูวไนย จะนับก็ห้าสิบปลาย ๏ พูดตามราชาศับท์หมาย คำแปลบ่อคลาย บ่อคลาศอายุขวบปี ๏ เขียนต้องมอการันต์มี เพิ่มท้ายทวี เปนที่สังเกตเลศไนย ๏ เมืองชลกระแสชลไหล ท่านบรรหารไข แปลคำว่าน้ำมีทาง ๏ ชลธีชลธารท่านวาง ไว้เปนคำกลาง แปลว่าแม่น้ำห้วยคลอง ๏ อัศสุชลชลเนตรไหลนอง อาบภักตรผิวหมอง แปลว่าน้ำตาถั่งไหล ๏ อีกคำหนึ่งว่าชลไนย มคธกลายไทย มักใช้ในคำกลอนชุม ๏ ชลธาราหลั่งรวมรุม ถั่งลงที่ลุ่ม ก็ไหลก็ลบทบทวน ๏ ใช้แต่ชลธารก็ควร แปลโดยประมวน ว่าแถวอุทกทุกพาย ๏ ชนบทเป็นชื่อเมืองหลาย คือหัวเมืองราย รอบขึ้นแก่กรุงธานี ๚ะ

ชัน คำชันสามัญมากมี คือเขินคีรี พาทีว่าภูเขาชัน ๏ บันไดตั้งตรงถงัน ว่าบันไดชัน กระชั้นลำบากยากเดิน ๏ ฝั่งน้ำลำห้วยหาดเขิน ต้องปีนดำเนิน นั้นเรียกว่าตลิ่งชัน ๏ ยางไม้ป่นปนน้ำมัน ยางยาปิดกัน รั่วเรียกว่าชันยาเรือ ๏ หูชันขนชันฝั้นเฝือ คำหนึ่งอยาบเจือ ก็เหลือจะชี้ตัวตรง ๏ เล่นงานประชันประสงค์ ชะนะจำนง ไว้เกียรดิเลื่องฦๅนาม คำชันพูดใช้ในสยาม ต่างต่างตามความ จะร่ำก็พ้นพรรณา ๏ อัญชันนี้เดิมภาษา บาฬีมีมา บรรจบประจวบคำไทย ๏ เรียกดอกอังชันเพี้ยนไป ก็บอเปนใด มิใกล้มิไกลต่อกัน ๏ คำว่าสติสับปชัญ มคธจำนัน ว่าสติอันตริตฤกการ บมิเผลอไหลเล่อหลักฐาน ระวังวิจารณ์ สิ่งผิดแลชอบชั่วดี ๏ ญอญาติสกดวาที ตามเดิมบาฬี เปนหลักเปนเค้ามูลคำ ๚ะ

ชาน คำชานนอกชานประจำ สยามพจนำ ต้องที่สกดนอนิล ๏ ชานอ้อยชานหมากเดนกิน พูดทุกประดิทิน บต้องอัดถ์แปลแก้ไข ๏ เชี่ยวชาญนี้คำอุภัย มคธแกมไทย แปลว่ารู้ชัดเชี่ยวแรง ๏ คือชาญชำนาญคำแผลง เช่นอย่างสำแดง มาในข้างต้นหนหลัง ขายชู้ทำชู้ปิดบัง เขียนว่าชารหวัง ให้รู้สกดตัวรอ ๏ ฌอฌานสกดตัวนอ นิลนั้นก็พอ สังเกตณเหตุวาจา ๏ คือฌานกระสิณสมา บัดิแห่งโยคา วจรฤๅษีชีไพร ๏ ชาลานี้ว่าเปลวไฟ บางทีท่านใช้ว่าชาลบรรหารวาที ๚ะ

ชิน คำชินสยามความมี คิดผูกไมตรี สนิทแลชิดชินกัน ๏ ดีบุกขาวดำสองพรรณ โวหารจำนัน ก็เรียกว่าชินใช้มา ๏ ชิณในมคธภาษา คือชิณชะรา ต้องบทสกดณอคุณ ๚ะ

ชุน คำไทยใช้ว่าเย็บชุน เลอียดทารุณ ก็ชุนเปนเนื้อเดียวดี อรรชุนว่าเมฆก็มี ใช้เปนนามศรี แห่งเทพว่าท้าวอรรชุน ๏ ตำแหน่งยศนามตามคุณ พระยาเทพประชุน เปนชื่อปลัดทูลฉลอง ๏ กรมกระลาโหมยศครอง ชื่อนี้นับปอง เป็นนามแห่งเทพฝ่ายฝน ๏ ชุณหปักษคือวันฝ่ายบน ขึ้นคำหนึ่งจน ตลอดวันเพ็ญพูลทวี ๏ นับครบสิบห้าราตรี ลำดับดิถี เรียกชุณหปักษโดยหมาย ๏ คำนี้สะกะฏะแผลงกลาย โดยแบบบรรยาย เปนชุษณปักษไป ๏ คำฦกเลศล้นคนไทย จะพูดขานไข จึ่งคงเป็นคำบาฬี ๚ะ

เชน คำไทยพูดใช้เช่นมี ชาญเชนเจนดี ชัดเชนก็ใช้จำนัน ๏ คเชนทรมคธคำสรร ทรการันต์ ว่าช้างเปนใหญ่ในพงษ์ ๚ะ

ชอน กระชอนนี้คำไทยตรง คือของจำนง สำหรับจะตรองใดใด ๏ แมงกชอนเปนสัตวชอนไช อรชรนี้ใช้ อุชุมคธบทมี แผลงอุเปนระสองที จัดโดยวาจี อุชุจงเปนอรชร ๏ คำแปลว่าตรงคงสอน ใช้ในกาพย์กลอน บขัดบข้องคำคง ๏ ว่างามอรชรยรรยง คืองามตรงตรง บหย่อนบลดงดงาม ช่อดอกอรชรนี้ความ ว่าช่อชุมทราม แลดอกก็ออกโดยตรง ๏ กุญชรว่าช้างสี่พงษ์ คือวิษณุวงษ์ แลพงษ์อิศวรจอมผา ๏ พวกหนึ่งพงษ์พรหมธาดา วงษ์อัดถ์นิปรา กฎแจ้งตำแหน่งคชกรรม ๏ บัญชรว่ากรงคงคำ พระแกลจรนำ ก็เรียกว่าสิงหบัญชร ๏ เพราะเพรงมีสี้เรียงรอน กั้นบานบัญชร รายรายก็คล้ายสี้กรง

ชวน ชักชวนประชวรอย่าหลง คู่คำจำนง ให้รู้สกดต่างตัว ๏ คำสยามความพูดพันพัว ชักชวนครอบครัว แลชวนกันทำการงาน ๏ ร่ำไปไม่สิ้นอวะสาน คำไทยไขขาน ชักชวนสกดนอนิล ๏ ประชวรนี้ท่านตัดสิน เป็นคำระบิล ระบอบในบทบาฬี ๏ ปะ ชะ วะ ระ เดิมมี แปลว่าโรคี รันทำแลย่ำยีกาย ๏ ใช้คำป่วยเจ็บเจ้านาย ราชาศับท์หมาย เปนศักดิ์เปนศรีพจนา ๏ ควรใช้สกดรอรา ให้ต้องตามบา ฬีบทมคธคำเดิม ๚ะ

เชิน สองคำประเชินเชิญเสริม ใส่ข้อต่อเติม ให้เตมในบทพจมาน ๏ ผ้าขาดประเชินควรการ ผเชิญพยาน ยลเพื่อนแลเตือนเชื้อเชิญ ๏ สกดเหมือนคำจำเริญ ญอใหญ่ยิ่งเกิน สามัญประจำคำสยาม ๏ เปนแบบจำเนียรเขียนตาม คิดค้นต้นความ บได้สำคัญมั่นใจ ๚ะ

ชง ชงชงคำจีนเจือไทย ซงน้ำร้อนใบ ชาห่อให้ภอควรกัน ๏ ชงเปล่าบ่อมีการันต์ จัดเปนสามัญ คือคำที่ไทยใช้คง ๏ มคธคำว่าพระชงฆ์ ว่าแข้งจำนง จงนับในศับท์ราชา ๏ ใช้ตัวฆอระฆังกา รันต์เพิ่มเติมวา จีจดประจักษ์ชักความ ๚ะ

ชัด คำชัดเช่นใช้ในสยาม แจ้งชัดอัดถ์ตาม ที่ได้เห็นชัดชัดเจน ๏ พูดไทยไม่ชัดชาวเขมร ด่ากันเกนเกน จะฟังบ่อชัดวาจา ๏ รกชัฏสกดฎชะฎา คำนี้มีมา แต่บทมคธคำขาน ๏ ชัฎชัดบัญญัติเบาราณ จะเขียนจะจาน จะใช้อย่าได้พลาดแพลง ๚ะ

ชาด ทาชาดสดดีสีแดง เขียนอย่าคลางแคลง สกดตัวดอโดยตรง ๏ ร้อยชาติแสนชาติอย่าหลง ติสกดลง ตามบทมคธคำควร ๚ะ

ชิด เชยชิดสนิทนีมนวน ใกล้ชิดชิดชวน ชิดชมภิรมย์เปรมปรีดิ์ ๏ ผลชิดแช่อิ่มเอมมี ชิดในวาที ไทยใช้ตัวดสกด ๏ ชิดเช่นอย่างคำมคธ ตัวตอกำหนด ดังบทพิชิตชลธาร ๏ พระยาไชยวิชิตคิดการ พระพิชิตมาร พระยาอนุชิตชาญไชย ๏ อนุชิตพิทักษ์มหาดไทย กรมชลาไลย ราชานุชิตหนึ่งมี ๏ พระสยามพิชิตภักดี อีกนามหนึ่งศรี สกลวิชิตชาญณรงค์ ๏ คำชิตวิชิตจำนง มคธประสงค์ แปลว่าชำนะแลแขวง ๏ ถือชุดจุดเพลิงเริงแรง ชุษณปักษ์แผลง มาแต่ชุณหะตรงกัน ๚ะ

เชด นายเชดเชดนี้สามัญ สุรเชฐรงงสรรค์ ว่าพรหมแต่งสร้างโลกา ๏ พระโลกะเชฐเจษฎา อีกพระเชษฐา ธิราชดิเรกเรืองบุญ ๏ วัดเชตุพนยลสุน ทรเทียบวังจุล ละจักรพรรดิพงษ์พันธุ์ ๏ คำเดิมเปนเชตะวัน เติมอุแปลงผัน กลับวะเปนพะพาที ๚ะ

โชด นายโซดบ้านบางนางชี คำสามัญมี ตัวดอสกดบทไทย ๏ แสงโชติชวลิตสุกใส ช่วงโชติอำไพ วิโรจะรุ่งรังษี ๏ ความว่ารุ่งเรืองรัศมี เป็นพากย์บาฬี ตัวติสกดงดงาม ๏ แจกบทมคธกับสยาม ธิบายแปลความ ทุกข้อทุกคำรำพัน ๏ ไทยฃอมระคนปนกัน แปดสิบรวมบรร จบจัดที่คัดคำขาน ๏ หมวดชอไวพจน์นิติสาร จัดแจกพิจารณ์ ก็ครบแลจบจำนวน

๏ หมวดชอไวพจน์อ้าง ออกนาม
เรียงเรียบเทียบทำตาม แบบตั้ง
อุส่าห์พยายาม แยกคัด คำเฮย
หมั่นเล่าจงอย่าพลั้ง พลาดถ้อยทางเรียง ๚ะ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ