จอไวพจน์

๏ แต่นี้จะแจกแจ้ง จอไว พจน์พ่อ
เรียงร่ำลำดับใน แบบพร้อง
สุรางคณางคไพ เราะเรื่อง กลอนนา
สวดอ่านขานบทคล้อง คลาศแล้วเลือนเหลว

สุรางคนางค์ จะเริ่มรำพรรณ์ จอไวพจน์สรร เกลากลั่นเปนกลอน นักเรียนเพียรอ่าน ในสารสุนทร จักบันเทาถอน โทษเขลาเบาบาง ๚ะ

จน ตัวจอแม่กน พูดว่ายากจน คำไทยไว้วาง โอ้ว่าเชาเรา สำเภาอับปาง มาจนกึ่งทาง แค้นคับอับจน ๏ จะประจญศึก ใช้ปัญญาตฤก ให้ฦกเล่ห์กล ใจด่วนหวนหัก มักจลวิจล เสียทีรี้พล จุลาจลไป ๏ สองคำข้างท้าย คำมคธขยาย มากลายเปนไทย จลวิจลนี้ว่า เคลือคลาไหวใหญ่ จลคำเดียวไซ้ หวั่นไหวเหมือนกัน ฯะ

จัน คำถัดนี้ไซ้ จันภาษาไทย ใช้ว่าประจัญ กับคำประจญ ยุบลพาดพัน คำที่พูดนั้น ว่าประจัญบาน ๏ อีกประจันห้อง คำนี้ก็พ้อง คำไทยว่าขาน หนึ่งว่าโจษจรร พลขันธ์ทวยหาญ นี่คำโบราณ ว่าสนั่นบันฦๅ ๏ อีกอย่างหนึ่งว่า คำเขาจรรจา ปฤกษาหาฤๅ จำนรรจาแผลง สำแดงก็คือ จรรจาพูดอื้อ ยิ่งพูดเจรจา ๏ เหล่านี้คำไทย ท่านเขียนท่านใช้ แต่โบราณา เปนคำฬ่อ ๆ สรรส่อสืบมา จัดเปนภาษา วาจาสามัญ ๏ พวกคำมคธ ในแบบตัวบท บอกว่าแก่นจันทน์ เขียนต้องเติมต่อ ทอนอการันต์ เช่นใช้ทุกวัน ต้นจันทนา ๏ เรียงคำถัดนั้น มีบทพระจันทร์ คือดวงจันทรา จะเขียนคำนี้ มีทอรอกา รันต์สรรตามบา ฬีแท้แก้ไข ๏ วันอาทิตย์วันจันทร์ เขียนตัวเหมือนกัน การันต์วิไสย เพราะอ้างดวงจันทร์ ที่อันอำไพ จึ่งเรียกเขียนใช้ ชื่อว่าวันจันทร์ ๏ ประจันตคาม คำนี้พูดตาม มคธพากย์พรรณ์ คือเมืองปลายด่าน บ้านปลายเฃตรคัน หนึ่งเรียกประจันต์ ชนบทก็มี ๏ พูดว่าอัศจรรย์ คำนี้ท่านสรร มาจากบาฬี ตัวเดิมนั้นชัด ว่าอัจฉะรีย์ สะกะฏะวิธี แผลงฉอเปนศอ ๏ เขียนอัศจรรย์ ต้องใส่รอหัน การันต์ตัวยอ การประหลาดมาก ออกปากอ๋อออ ลิงโลดใจฅอ ตบมือหฤหรรษ์ ๏ อาการเช่นนี้ แปลความวจี ที่ว่าอัศจรรย์ ชี้เดิมให้ดู ให้รู้สำคัญ มิใช่สามัญ พจน์พากย์สยาม ๏ อัฒจันท์นั้นเล่า คิดตามต้นเค้า แปลได้ใจความ ว่ารูปกึ่งวง พระจันทร์อันงาม เก้าเจ็ดห้าสาม ขั้นชั้นบันได ๏ บันไดสามัญ เช่นเราใช้กัน กึ่งจันมิใช่ ตรงๆ ยาวๆ ควรกล่าวคำไทย เรียกว่าบันได เท่านั้นมั่นคง ๏ บันไดตำหนัก ท่านผู้สูงศักดิ์ นั้นควรประสงค์ ถึงรูปอย่างอื่น ไม่เปนกึ่งวง จันท์ก็ควรคง เรียกว่าอัฒจันท์ ๏ ในหมวดจันนี้ จำแนกแจกชี้ เชิดชัดจัดสรร สิบสองวาจา กล่าวมาครบครัน สิ้นข้อคำจัน จบหมวดตรวจตรา ฯะ

จาน ในจานไวพจน์ จานใช้ในบท สยามภาษา ถ้วยโถโอจาน ตระการนาๆ ทำประจานข้า ให้ได้อับอาย ๏ หนังสือใบลาน ผูกนี้ใครจาน ฝีมือหลักหลาย กินเข้าจานน้ำ กลืนกล้ำสบาย กับเข้าเปล่าตาย ปลาทูชูรศ ๏ จานๆเหล่านี้ เช่นอ้างอย่างชี้ คำไทยใช้หมด ครูท่านตัดสิน นอนิลสกด ถูกต้องตามบท วาจาสามัญ ๏ ทีนี้จะแจก คำส่วนแผนก มคธจัดสรร คือว่าอาจาริย์ คำที่ใช้กัน มียอการันต์ ตัวริสกด ๏ แปลว่าท่านครู บันดาเด็กผู้ เปนศิศย์ทั้งหมด ควรประพฤติผ่อน ลดหย่อนออมอด นบน้อมประนต เอื้อเฟื้อคำสอน ๏ หนึ่งสะมาจาร ในบทพจมาน บรรหารคำกลอน แปลว่ามารยาด ที่ปราชสาธร เปนครูฝึกสอน โอนอ่อนงามดี ๏ อาจารนี้เล่า โดยคำต้นเค้า มาแต่บาฬี แปลว่ามารยาด นักปราชวาที แต่มารยาดนี้ เปนคำกลางๆ ๏ ยังอีกคำหนึ่ง ทุราจารพึง พิเคราะห์เสาะสาง แปลว่ามารยาด ชั่วชาติกะดางลาง อยาบออกนอกทาง ชั่วกายวาจา ๏ คำที่อะวะสาน ว่าภิกขาจาร โวหารสมะณา ว่าเที่ยวบิณฑบาต เที่ยวยาจะนา คำไทยเจรจา เที่ยวฃออาหาร ๏ ในสี่คำเคียง ลำดับนับเรียง ตามบทพจมาน ล้วนรอสกด จำจดวิจารณ์ รวมเก้าคำขาน หมดจานจบลง ๚ะ

จิน ในจินวาที คำไทยไม่มี ที่ใช้ประสงค์ ทำเปนอาจิณ นิจสินยืนยง มคธแปลคง คำว่าสั่งสม ๏ ทิศปราจิณนี่ ตำหรับเชิดชี้ ว่าทิศอุดม คือทิศตวันออก คำบอกนิยม คนมักชื่นชม บ่ายเศียรยามนอน ๏ ปราจิณบูรี แปลนามตามมี โดยนามกร เมืองตวันออก แห่งกรุงนคร มีด่านราญรอน รับรบไพรี ๏ สามคำกำหนด ณอคุณสกด ตามบทวิธี ข้อยคิดติดต่อ ล้วนข้อคะดี แจงจัดวะจี มีแบบแยบยนต์ ๏ จินดามณี คำมคธมี สืบสารนุสนธิ์ แปลว่าแก้วดี มีฤทธิ์ดำกล สำเร็จเด็ดดล ดังมาดปราดถนา ๏ ยังคำหนึ่งมี จินตะกระวี บาฬีภาษา คือนักปราชคิด วิจิตรสารา กาพย์กลอนคาถา พจนานิพนธ์ ๏ หกคำหมวดจิน นับบทระบิล เสร็จสิ้นนุสนธิ์ คำจุนต่อเนื่อง ราวเรื่องยุบล ระบอบชอบกล ควรยลควรจำ ฯะ

จุน สยามภาษา มักใช้เจรจา ในความอุประถัมถ์ ว่าท่านอุดหนุน ค้ำจุนแนะนำ หนึ่งเรือนเก่าคร่ำ ไม้ค้ำจุนเรือน ๏ คำคนเก่าๆ ว่าผู้แก่เถ้า ไม้เท้าเปนเพื่อน เดินจะซวดเซ หันเหแชเชือน ไม้เท้าจุนเหมือน พยุงกายา ๏ จุนเช่นนี้นั้น คำไทยพูดกัน สามัญวาจา นอนิลสกด ตามบทบัญชา จุนในภาษา มคธก็มี ๏ จุณณิยะบท เรียกตามกำหนด ในพระบาฬี จับจุณจันท์เจิม เฉลิมราษี ของละเอียดดี ว่าแหลกเปนจุณ ๏ จุณอย่างนี้ไซ้ บทแบบท่านใช้ สกดณอคุณ บอกไว้ให้ทราบ อย่าอยาบทารุณ มตธบทจุน ยังมีต่อไป ๏ จุนทะคำนี้ ตัวอย่างอ้างชี้ บาฬีขานไข จะเทียบตัวอย่าง ข้างภาษาไทย ไม่มีคำใช้ ที่ในสยาม ๏ จอมจุลจักรพรรดิ จะแปลให้ชัด ในกระแสความ จักรพรรดิอย่างน้อย เดชถอยพานทราม ไม่เท่าทรงนาม ๏ มหาจักรพรรดิ ๏ จุลศักรราช คำนี้นักปราช ท่านตั้งบัญญัติ ที่รองมหา ศักรราชอนุวัตร เติมชื่อไว้ชัด จุละน้อยลง ๏ จุละวรา ภรณชื่อดวงตรา ช้างเผือกจำนง เทียบถัดมหา วราภรณ์ตรง คู่ใหญ่น้อยจง สังเกตเหตุตาม ๏ จุลสุรา ภรณนี้ชื่อตรา มงกุฎสยาม ที่รองมหา สุราภรณ์นาม ใหญ่น้อยคล้อยตาม ตำแหน่งดวงตรา ๏ คำจุลเช่นนี้ แบบบังคับชี้ สกดลอหนา จุนสิบเอ็ดคำ ดังร่ำพรรณา สิ้นข้อสารา ร่ำว่าด้วยจุน ๚ะ

โจน คำไทยใช้โจน คือว่าโลดโผน โดดโจนชุลมุน โจนลงในน้ำ น้ำโจนจากขุน เฃาแก่งแหล่งพรุน เพราะน้ำเซราะโดน ๏ อย่างนี้คำไทย์ พูดทั่วกันไป เรียกใช้ว่าโจน ชะนีตัวบ่าง ลิงค่างทะโมน พาพวกเพื่อนโจน จากกิ่งพฤกษา ๏ คำไทยทั้งหมด นอนิลสกด ตามบทบัญชา โจรคำมคธ สกดรอรา เช่นคำใช้ว่า โจรใจฉกรรจ์ ๏ อีกคำหนึ่งว่า เปนชื่อผืนผ้า บริกฃาระภัณฑ์ ผ้าพระใช้สอย เล็กน้อยต่างพรรณ์ เรียกชื่อผ้านั้น บริกฃาระโจฬ ๏ คำใช้เช่นนี้ ตัวอย่างอ้างชี้ ออกชัดเชิดโชน ประพันธ์สรรกลอน บ่หย่อนบ่โอน จัดแจกหมวดโจน จงจำคำสอน

จอน คนไทยสำเหนียก โดยคำที่เรียก ว่ากรรเจียกจอน กับว่าจอนหู เปนคู่สาธร นอนิลสังหร สกดบทไทย ๏ ขจรกำจร ไป่ทราบนิกร ว่าคำหมู่ไหน แปลว่าฟุ้งเฟื่อง นับเนื่องคำไทย แต่เพราะเหตุไร จึ่งสกดรอ ๏ ข้อนี้สารภาพ ว่ารู้ยังอยาบ ไม่ถึงต้นตอ เก่าใช้เป็นพื้น มากดื่นมาพอ จึ่งได้ตอนต่อ เปนแบบสืบมา ๏ คำอนุจร เรียกนามกร สงฆ์อ่อนพรรษา คือพระอันดับ สำหรับราชา คณะถานา บังคับกิจการ ๏ ข้อนี้แปลตาม ใช้ในสยาม โดยความประมาณ จะใช้ให้ต้อง ในคลองโวหาร บทแปลคำขาน ว่าผู้ประพฤติตาม ๏ สัญจรคำนี้ จะสำแดงชี้ ที่ใช้ในสยาม แปลว่าเที่ยวไป ถูกในใจความ สัญจรเฃตรคาม นครทุรคม ๏ คำอุทาหรณ์ ซึ่งว่าสมจร บาฬีนิยม ประพฤดิเสมอ แปลความงามสม ช่างไทยว่าชม เชยรศฤดี ๏ เช่นคำสังหร ว่านาคสมจร กับนางนาคี นางลาสมจร อัศดรก็มี สมจรอย่างนี้ คนไทยใช้ชุม ๏ มคธกลายๆ เปนความภิปราย ไม่สู้สุขุม ข้างไหนไม่แท้ เปนแต่คลำคลุม เขาพูดกันชุม ชักมาว่าฃาน ๏ พเนจรนี้ คำแปลท่านชี้ ชัดว่านายพราน คนเที่ยวแสวงหา มฤคาคชสาร ดั้นพงดงดาร ด้วยการหากิน ๏ เขจรนี้ว่า เที่ยวไปในฟ้า ฟูมฝ่าเมฆิน เหินหาวเหาะได้ ดังใจถวิล คำนิยมยิน เรียกว่าเขจร ๏ ยังอีกคำคู่ เขียนเคียงกันอยู่ ในอุทาหรณ์ ว่าตามลำดับ เคจรคเนจร คือเที่ยวซอกซอน จากบ้านเรือนตน ๏ นักปราชท่านว่า ทั้งสองวาจา นี้มีแยบยนต์ เดิมเปนมคธ กำหนดนุสนธิ์ ใช้มาแต่ต้น ว่าเคหจร ๏ ครั้นกาลนานมา สยามภาษา วาจาลดทอน ตัวหะตกหาย กลายเปนเคจร บทถ้อยสุุนทร ท่านสอนไว้มี ๏ เคกับคะเน กล่าวโดยเลศเล่ห์ คำเดียววาที เช่นคัลคำนัล แบบสรรวะจี เปนฝ่ายวิธี เงื่อนงำคำแผลง ๏ ตั้งแต่ขจร เรียงอุทาหรณ์ คำกลอนแจกแจง ตัวรอสกด ทุกบทอย่าแคลง ริร่ำสำแดง หมวดจรจบลง

เจียน อาเจียนตัดเจียน มีแบบแนบเนียน ใช้เขียนให้คง เจียนนอคำไทย ใช้ตามจำนง เจียนตองประสงค์ บรรจงรองจาน ๏ สารพัดตัดเจียน คำไทยใช้เขียน สกดนอนิลฃาน เจียรรอสกด มคธบรรหาร แปลว่าช้านาน เนิ่นกาลพาที ๏ ในคำว่าเจียร แผลงเปนจำเนียร ใช้เขียนก็มี อยู่เนิ่นจำเนียร ที่ในไพรศรี นานนับเดือนปี ก็ว่าจำเนียร ๏ ในบทแบบฉบับ นั้นมีแต่ศับท ซึ่งว่าจากเจียร เหนยังบกพร่อง ต้องเติมคำเขียน เพิ่มคำจำเนียร สะกะฏะวิธี ๏ เจียรคำมคะธะ ตัวเดิมจิระ สระอิมี แปลงอิเปนยอ ตามข้อคดี เปนเจียรวาจี เช่นนี้คำกลาง ๏ ตัวจอแม่กง มีคำจำนง จืดจางเบญจางค์ เปนคู่ไวพจน์ กำหนดไว้วาง คำไทยว่าจาง ไม่ต้องธิบาย ๏ เบญจางค์คำมคธ แปลคำจำจด ว่าองค์ห้าหมาย แปลงบัญเปนเบญ อย่างเช่นภิปราย วัจจ์เปนเว็จกลาย คัจเปนเค็จมี ๏ อีกวัชฌฆาฏ ท่านผู้เปนปราช แผลงโดยวิธี วัชฌเปนเพชฌ์ สำเร็จวาที ตัวอย่างอ้างมี ที่เบ็ญจ์กับบัญจ์ ๚ะ

จัก คำว่าจักๆ คำไทยใช้ยัก ย้ายพูดจำนัน จักผ่าจักสาน โวหารเดียวกัน จักให้จักปัน จักเกรียกเรียกราย ๏ จักรคำมคธ จัดไว้ตามบท บ่อนใช้มีหลาย จักรแก้วจักรทรง จักองค์นารายน์ สัตว์เวียนเกิดตาย เรียกจักรสงสาร ๏ กงเกวียนกงรถ เรียกตามมคธ ว่าจักรใช้การ มณฑลโลกธาตุ นักปราชบรรหาร เรียกว่าจักรวาฬ โวหารบาฬี ๏ จักรแก้วจักรพรรดิ คำท่านแจงจัด ในพระคัมภีร์ เฃตรอาณาจักร์ แว่นแคว้นกรุงศรี เมืองขึ้นธานี สุดเฃตรนคร ๏ นารายน์เทวราช ทรงฤทธิ์อำนาจ องอาจกลางสมร ทรงจักราวุธ โรมรุดราญรอน พระนามกรว่าจักรปาณี ๏ จะว่าโดยคุณ บันดาของหมุน ท่านย่อมพาที เรียกจักรทั้งหมด ตามบทคำภีร์ ภาษาต่างมี คำเรียกต่างไป ๏ จักขุจักษุ รู้ไว้ให้ปรุ โปร่งจิตรแจ่มใส แปลว่าดวงตา ซ้ายขวาคำไทย จักขุขานไข มคธคำคง ๏ จักษุแปลงฃอ ไปเปนษอบอ แจ้งข้อคำตรง ให้เสียงเสนาะ ไพเราะจำนง ดั่งภิกขุสงฆ์ ภิกษุแทนกัน ๏ คำว่าประจักษ์ แผลงเปนปรตยักษ์ ษอบอการันต์ แปลว่าชัดแจ้ง หลักแหล่งสำคัญ ความที่จำนัน ประจักษ์แจ่มใจ ๏ รวบรวมคำจัก จำแนกแยกยัก ตามเหตุเลศไนย์ รวมเป็นสองบท มคธกับไทย สิ้นข้อคำไข จักไวพจน์นำ ๚ะ

จาก คำจากหลากถ้อย มีที่ใช้น้อย เพียงสองสามคำ จากภาษาไทย ที่ใช้ประจำ จรจากกรากกรำ ครวญคราจากไกล ๏ จากมุงหลังคา ฝูงสกุณา จากพรากเพรียกไพร เวรามาพราก จำจากกันไป จากคำพูดไทย ใช้สกดกอ ๏ มคธพากย คำว่าบริจาค สกดตัวคอ แปลว่าเสียสละ สิ่งของเพียงพอ จุใจไม่ท้อ ที่บำเพ็ญทาน ๏ บริจาคคำนี้ อาจาริย์ท่านชี้ โดยศับท์แผลงขาน เปนปริตยาค ใช้มากสาธารณ์ มีในกลอนการ กาพย์โคลงพากยฉันท์ ๚ะ

จัด คำจัดในสยาม พูดพอรู้ความ ไม่สู้สำคัญ เจนจัดกำจัด ปากจัดจัดปัน จัดซื้อสารพรรณ จัดสรรนานา ๏ จัดเช่นนี้ความ พูดใช้กันตาม สยามภาษา ดอเดชสกด โดยบทบัญชา สามัญวาจา ไม่ต้องพิจารณ์ ๏ จตุบาทจตุบท ในคำมคธ เขียนเรียงตัวอ่าน แต่เมื่อคนไทย สำเนียงกังวาน ว่าจัดชัดเสียง ๏ เดิมคำละหุ กลายเปนคะรุ ตัวตุที่เคียง เปนตัวสกด ตามบทสำเนียง สองคำแปลเรียง สัตวสี่เท้าคง ๏ อีกสองคำอัดถ์ พูดคำไทยชัด จัตุรัศจัตุรงค์ คำแปลจัตุรัศ ว่าสี่เหลี่ยมตรง คำว่าจตุรงค์ องค์สี่เสนา ๏ จตุอุสระ แปลงเปนตัววะ ใช้เปนจัตวา ตกเปนคำไทย พูดใช้กันมา ไม้ตรีจัตวา วรรณยุตยืนยัน ๏ หัวเมืองเอกโท กล่าวไว้ตามโว หารไทยใช้กัน เมืองตรีจัตวา ลดหย่อนผ่อนผัน เมืองที่หนึ่งชั้น สองสามสี่เรียง ๏ แจกคำว่าจัด คำไทยคำอรรถ ที่ชัดสำเนียง เลือกแต่ที่ใช้ มาไว้พูดเพียง ตัวอย่างวางเรียง เปนเยี่ยงอย่างสอน ๚ะ

จิต คำว่าจิตนี้ คำไทยไม่มี ตัวอุทาหรณ์ มีแต่มคธ เติมบทต่อกลอน สาธกสาธร บวรสารา ๏ คำว่าจิตรใจ แม้นถึงคนไทย พูดใช้กันมา รู้ความกันได้ เพราะใช้เจรจา ของเดิมภาษา มคธบทบรรพ ๏ วิจิตรพิจิตร แผลงใช้ไพรจิตร ลิกขิตตามกัน แปลว่าของดี ถ้วนถี่ครบครัน ว่างามเฉิดฉัน พรายพรันก็มี ขจิตรจิตร สองคำสนิท ติดเนื่องบาฬี ขจิตว่าสอดแซม ติดแต้มต่างสี ระจิตวะจี เหมือนกับรจนา ๏ แปลว่าร้อยกรอง เรียบเรียงคำพร้อง เรื่องความนานา เปนคำสามัญ ฤๅฉันท์คาถา สยามภาษา แลคำบาฬี ๏ เรียกว่าระจิต แต่งตามความคิด จินตะกระวี ผูกพันสรรเรื่อง เนื่องในวิธี ลิขิตสารศรี คดีทุกพรรณ์ ๏ ช่างเขียนเรียนทราบ ชั้นเชิงรูปภาพ ระบายพรายพรัน รูปม้ารูปช้าง ต่างต่างสารพัน การช่างเขียนนั้น เรียกว่าจิตรกรรม ๏ หนึ่งว่าจิตรมาศ นักเรียนฉลาด ควรรู้ดูจำ เปนชื่อเดือนห้า ที่ต้นฉนำ เพราะเปนที่สำ เหนียกฤกษจิตรา ๏ คำจิตรเหล่านี้ ตัวอย่างอ้างชี้ สกดพจนา ท่านใช้ตัวตอ ควบรอบ้างรา ให้ต้องภาษา เดิมมาเค้ามูล ๚ะ

จุด จุดไฟจุดจี้ อีกจุดทสี่ รองวันเพ็ญสูญ จุดไทยตัวดอ เพียงภอเพิ่มภูล มคธประมูล สกดทอทาน

เจด เจดในสยาม ไม่มีใจความ จะใช้ไขขาน มีแต่ในบท มคธบรรหาร เจตรมาศกาล เดือนห้าข้างไทย ๏ แผลงจิตรเปนเจตร วิธีอาเทศ ต้นเหตุมีใน สังสกฤษฏพากย์ คำหลากกันไป อิกคำหนึ่งใช้ กันว่าเจษฎา ๏ คำนี้ไม่สุด ไม่สิ้นวิมุติ ที่ในกังขา บางครูท่านกล่าว ว่าคำนี้หนา กำพุชภาษา แปลว่าเรืองฤทธิ์ ไวพจน์ประพันธ์ ๏ ครูหนึ่งท่านว่า เปนคำภาษา ในสังสกฤษฏ์ แปลว่าเปนใหญ่ ใช้กันสนิท เปนคำวิจิตร ลิกขิตกาพย์กลอน ฯะ

๏ คำโจดในสยาม พูดในใจความ ตามข่าวขจร เลื่องฦๅโจดกัน สนั่นดินดอน มีในคำกลอน ว่าเสียงโจษจรร ๏ โจดเจ้าโจดนาย โดยเหตุภิปราย คำไทยใช้กัน ตัวดอสกด ตามบทรำพัน ไป่ต้องเลือกสรร เอาตัวอื่นมา ๏ เปนโจทย์ฟ้องความ มิใช่สยาม มคธภาษา คือเปนผู้ทัก ท้วงโทษมิจฉา ตักเตือนอัตรา กว่าจะเสร็จความ ๏ โจทย์เลขลูกคิด ทักท้วงถูกผิด แก้ในคำถาม แล้วตักเตือนให้ คิดในข้อความ แปลในสยาม ว่าผู้ท้วงเตือน ๚ะ

จาบ จาบจาบคำไทย ที่พูดที่ใช้ ก็ไม่ฟั่นเฟือน ฝูงนกกระจาบ ทำรังริมเรือน ต้นพุงจาบเกลื่อน กล่นดื่นพื้นดง ๏ ไทยพูดคำจาบ ไม่สู้เอิบอาบ โดยตามประสงค์ บังคับในบท สกดบตรง อย่าหวังจำนง ใช้ตัวอื่นแทน ๏ คำธนูจาป แปลไว้ให้ทราบ บให้ขาดแคลน ว่าแล่งธนู สู้ข้าศึกแสน จงรู้เขตรแดน จาบปอสกด ๏ อีกคำหนึ่งเล่า ว่าตามมูลเค้า ถ้อยคำจำจด สกุณจาป ภาษามคธ แปลความตามบท ว่าบุตรสกุณา ๏ หมวดนี้จงจำ ไทยขอมสี่คำ เช่นร่ำพรรณา บอปอสกด ตามบทวาจา กุมารอ่านมา หมั่นจำคำสอน ๏ อุส่าห์เพียรพาก รวมคำหลากหลาก เกลากลั่นสรรกลอน หวังให้จำง่าย แยบคายสุนทร เด็กปัญญาอ่อน อุส่าห์เพียรจำ ฯะ

๏ เพียรคิดคัดจัดแจ้ง จอไว พจน์เฮย
โดยบทฉบับไข ขอดค้น
สิ้นสุดเสร็จสารใน จอหมวด หมายนา
สอบอ่านทานทวนต้น ตลอดเบื้องอวสาน ๚ะ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ