คอไวพจน์

๏ จักแจกคอคิดเค้า ไวพจน์
จงพิจารณ์จำจด จะแจ้ง
เปนหมวดตรวจตราบท แบบฉบับ นั้นนา
คำธิบายกลั่นแกล้ง กล่าวอ้างออกขยาย

๏ จักแก้คอไวพจน์ ตั้งแต่บทสกดนอนิล สืบเนื่องเรื่องระบิล จนถึงถิ่นหมดหมวดคอ

คน ผู้คนคำสยาม โดยเนื้อความสกดนอ กับข้องระคนพอ รู้ชัดว่าภาษาไทย ๏ ล้วงมือลงในน้ำ มือคนซ้ำน้ำใสๆ กลับเปนน้ำขุ่นไป คนคำไทยใช้นอนิล ๏ เสาวคนธ์ควรถนอม คือของหอมอันส่งกลิ่น หอมชื่นรื่นรวยริน กลิ่นดอกไม้กระแจะจันท์ ๏ คันธะกำจรเล่า ประสงค์เอากลิ่นทุกพรรณ์ หอมฟุ้งขจรจรัล เรียกว่าคันธกำจร ๏ เครื่องหอมหากบรรจง สำหรับองค์มหิศร ทรงทาพระบวร อินทริย์เรียกพระสุคนธ์ ๏ สามคำพากย์มคธ ตามกำหนดบทยุบล นอนิดสกดปน ธอเธอท้ายฝ่ายการันต์ ๏ โยธีคณควรรู้ แปลว่าหมู่พลเข้มขัน รบท่อต่อประจัน กล้าชิงไชยในสงคราม ๏ บุคคลแลบุทคล แยบอย่างยลที่ต้นความ มิใช่คำสยาม แต่เนื้อความคล้ายคำไทย ๏ บุคคลควรจำจด นี่เปนบทมคธไข สกฏะแผลงตามไนย ว่าบุทคลประดนทอ ๏ อีกคำว่ามงคล อนุสนธิ์ก็เพียงพอ จะรู้อยู่ล่อ ๆ ปากเจรจาว่าทั่วกัน ๏ คือทางที่ดำเนิน ความเจริญเปนมิ่งขวัญ ยศศักดิ์สารพรรณ์ ท่านจัดสรรว่ามงคล ๏ คำแปลกแยกบรรยาย คัดขยายอย่างยุบล บุคคลแลมงคล ลอสกดบทคำควร ๏ บริคนคำหนึ่งไซ้ คนไทยใช้ว่าประมวญ กรมธรรม์แลประทวน กับประกันแลทานบน ๏ ลูกขุนแลขุนศาล ใช้โวหารว่าบริคน คำนี้ยังมัวมน ไม่กระจ่างสว่างใจ ๏ ถ้าหากจะเป็นบท ทั้งมคธมาเปนไทย จะต้องเขียนคำไข บริคณห์อย่างนี้ควร ๏ แปลว่าของกำหนด ถือเอาบทในจำนวน สำหรับได้สอบสวน สิ่งสำคัญไม่ผันแปร ๏ ในหมวดคำคนนี้ สิบเอ็ดมีตามกระแส อยากรู้หมั่นดูแล ในระบิลสิ้นสงกา ๚ะ

คัน ขอบคันแลคันเฃตร แสดงเหตุตามภาษา สยามความเจรจา กันออกดื่นทุกคืนวัน ๏ อนึ่งว่าตามเค้า ถ้าจะเกาๆ ที่คัน พวกนี้คำสามัญ เช่นเถาคันคำไทยตรง ๏ หนึ่งคำว่าสำคัญ ตัวนี้ขันน่าพิศวง เปนพากย์สยามคง ฤๅพากย์แปลกแตกเลศไนย ๏ จึ่งได้สกดญอ ไม่พบข้อวินิจไฉย เขียนตามที่ท่านใช้ มาแต่ก่อนผ่อนตามครู ๏ พวกคันคำมคธ จงกำหนดหนาพ่อหนู จะจัดคัดให้ดู เปนหมวด ๆ ตรวจตฤกตรา ๏ นังคัลแปลว่าไถ ราษฎรใช้ว่าไถนา คำสูงศับท์ราชา ใช้ว่าจรดพระนังคัล ๏ จงรู้ที่เปลี่ยนแปลก จัดย้ายแยกทุกสิ่งสรรพ์ อีกคำว่าอังคัล เขมรใช้ว่าไถนา ๏ โรงคัลว่าโรงเฝ้า ที่จอมเจ้าเสด็จออกว่า ราชกิจแลกิจจา นุกิจย่อมพร้อมขุนนาง ๏ อีกคำบังคมคัล ว่าไหว้เฝ้าเจ้ากรุงขวาง กัมพุชคำลำอาง เอามาใช้ไทยพาที ๏ ล้วนเหล่าลอสกด คล้ายมคธบทวิธี คำคันสรรวจี หกวาจาอย่าฉงน ๏ ยังเพิ่มเติมเศกสรร คำครันครรภ์เข้าระคน โดยแยบแบบยุบล บอกคำใช้ไม่แปลกปลอม ๏ ของเขามีมากครัน จะฃอปันเขาไม่ยอม มีครรภ์ต้องอดออม จะยืนนั่งระวังกาย ๏ ครามครันคำไทยแท้ ไม่ต้องแก้อัดถ์พิปราย มีครรภนั้นธิบาย แบบบังคับศับท์บาฬี ๏ คัพภะพากย์มคธ ตามกำหนดในวิธี แผลงสังสกฤษฎมี หันตัวรอภอการันต์ ๏ ควรอ่านว่าครรภะ ที่ลดละก็ว่าครรภ์ เสียงไทยใช้จำนัน ว่าครัน ๆ ทั่วทุกคน ๚ะ

คาน หมวดคานบรรหารเหตุ ให้สังเกตุพจน์นิพนธ์ ไทยขอมปลอมปะปน จัดประดนประดับกลอน ๏ แสรกคานแลคานหาม ว่าเรียงตามในแบบสอน คำคานขานสุนทร อุทาหรณ์คานคำไทย ๏ อาคารว่าโรงเรือน เฃตรคันเขื่อนที่อาไศรย์ โกฐาคารนี้ไซ้ คำแปลใช้ว่าเรือนคลัง ๏ คำว่าเภราคาร จงวิจารณ์จิตรใจฟัง ว่าหอกลองประดัง ตีประจำทุกค่ำคืน ๏ สัลลาคารคำนี้ แปลความชี้ว่าโรงปืน กุฎาคารยั่งยืน ว่าเรือนยอดทุกทุกพรรณ์ ๏ ซึ่งลอยพระอังคาร คือลอยถ่านเท่าปนกัน คำว่าอังคารนั้น แปลโวหารว่าถ่านไฟ ๏ วันจันทร์อังคารเล่า เรียกตามเค้าคำข้างไสย เปนชื่อดาวมีใน เวหาห้องท้องอำพร ๏ ห้าคำคารทั้งหมด รอสกดบทแบบสอน ในพวกอุทาหรณ์ คารตัวรอพอเพียงจำ ๏ สิงคาลลอสกด ตามอย่างบทที่ใช้คำ จิ้งจอกสัตว์อยู่สำ นักนิ์ในดงพงไพรแกง ๏ หนึ่งคำว่าสิงฆาร พระอาจาริย์ท่านดัดแปลง เปนคำวิธีแผลง ว่าศฤงฆารอ่านสืบมา ๏ ว่าเครื่องประดับยศ เปนมคธภาษา ข้างไทยใช้เจรจา ว่าศฤงฆารบริวาร ๏ สมบัติก็ควรใช้ สมคำไทยพูดไขขาน สิ่งใดใช้นาน ๆ มักกลายเกลื่อนเคลื่อนความเดิม ๏ ฆานนิ้ฆอธะนิต ตัวรอชิดสกดเดิม หมวดคานสารสอนเสริม สิบสองคำเช่นรำพรรณ์ ฯะ

คุน คำคุณในสยาม ไม่มีความจะใช้กัน เอาพากย์มคธสรร มาพูดหลายกลายเปนไทย ๏ เหมือนพูดว่าบุญคุณ แลขอบคุณการุญใจ เจ้าคุณท่านสั่งใคร ให้อยู่เวรประจำซอง ๏ กระตัญญรู้คุณท่าน ประกอบการทดแทนสนอง ให้ชอบตามท่านอง กะตะเวทีผู้มีคุณ ๏ เชาไทยพูดเช่นนี้ คำบาฬีมาเจือจุณ เพราะเหตุคำว่าคุณ ไม่มีใช้ในสยาม ๏ เนื้อทองนพคุณ เรืองจำรญสุกอร่าม ผคุณนี้เปนนาม แห่งเดือนลี่สุดปีปลาย ๏ คำคุณทั้งสิ้นไซ้ ณอใหญ่ใช้สกดหมาย ตัวเดียวบกลับกลาย บทธิบายบอกคำตรง

คูณ คำคูนภาษาไทย ก็มีใช้อย่าใหลหลง ต้นคูนคนจำนง ปลูกไว้ใช้ใบเหมือนบอน ๏ คำคูณมคธขาน เลขคูณหารหมวดนิกร หนึ่งศับท์อุทาหรณ์ ทวีคูณแลตรีคูณ ๏ คูณะคำเช่นนี้ ความแปลมีว่าเพิ่มภูล เติมเข้าตามเค้ามูล เปนสองปูนสองต่อเติม ๏ เลขคูณพูนตามที่ สองๆ มีเปนสีเสริม สองห้าสิบเฉลิม เติมทวีดังนี้ไป ๏ ทวีคูณตรีคูณเล่า ก็มีเค้าจงเข้าใจ ที่ว่าด้วยปรับไหม คือสองต่อสามต่อมี ๏ ฤๅจะว่าสองเท่า สองชั้นเล่าส่วนทวี ก็ต้องกับบาฬี คำคุณะทีฆะคู ๏ เขียนคำภาษาไทย ก็ต้องใช้ตามแบบครู ณอใหญ่สกดดู อ่านว่าคูณอย่าสูญเดิม ๏ ว่าไว้แต่สองสาม จะใช้ความจงต่อเติม ร้อยพันหมื่นแสนเสริม เข้ากันคูณภูลเพิ่มคำ

เคน ประเคนลำเค็ญใช้ ภาษาไทยแต่บูรำ ยาวสั้นสรรประจำ จัดไวพจน์บทคำไข ๏ ประเคนว่าส่งยื่น ลำเค็ญขืนลำบากใจ สองคำนี้คนไทย ใช้เจรจามานมนาน ๚ะ

คอน คอนคอนคำไทยๆ ที่เรียกใช้กันทุกวาร หาบคอนพูดไขขาน กับเรือคอนแลคอนเรือ ๏ คำนี้รู้ทั่วกัน คำสามัญไม่ฟั่นเฝือ พากย์อื่นบมีเจือ นอสกดบทว่าคอน ๏ ยังพวกพากย์มคธ ตามแบบบทอุทาหรณ์ ๏ ศาครกรุงนคร ควรตามที่ชี้วาจา ๏ ศาครว่าทะเล ฦกเลเพพ้นคณนา ขันใหญ่ใส่ชลา ก็เรียกว่าขันศาคร ๏ ขันอ้างต่างทะเล รูปจรเข้หมู่มังกร มัจฉาชาติชลจร เต่าปูปลาสารพรรณ์มี ๏ สำหรับโอรสราช ลงประพาศสรงวารี โดยราชประเพณี เรียกศาครที่สรงชล ๏ นครแปลว่าเมือง รู้ราวเรื่องแทบทุกคน ฃอแต่อย่าลุกลน เอาณอใหญ่ใส่ต้นคำ ๏ ซึ่งว่ารำลคร นักเลงฟ้อนรู้เต้นรำ โอดครวญหวนลำๆ ระรี่เรื่อยเจื้อยจับใจ ๏ เขาเล่าว่าเดิมที ยังไม่มีลครไทย ชาตรีซึ่งมีใน เมืองนครก่อนเปนครู ๏ ฝึกครอบมอบสอนให้ ลครไทยได้เฟื่องฟู เลื่องฦๅระบือดู เต้นรำเรื่องเมืองนคร ๏ ครั้นนานกาลก็กลาย ตัวนะหายคลายเคลื่อนถอน เรียกว่าดูลคร สกดรอพอเปนพยาน ๚ะ

ค่าง ค่างเอกข้างโทไซ้ จำกัดใช้จะไขขาน ค่างเอกนั้นบรรหาร ว่าค่างลิงวิ่งในดง ๏ ข้างโทต้องที่ว่า ข้างซ้ายขวาน่าหลังตรง ข้างเราเฝ้าจำนง ข้างเขาคงจะระแวง ๏ คำต่างด้วยโทเอก จัดสรรเศกออกแจ้งแจง ถ้วนถี่ชี้แถลง ไม่ต้องแคลงเคลือบคลุมคลำ ๏ ไวพจน์แม่กดใช้ แบบบอกไว้วางประจำ จะแจกแยกเรียงคำ โดยลำนำแนะบรรยาย ๚ะ

คด ขดเข้ากับไม่คด สยามพจน์พูดมากหลาย มคธคำพิปราย พลคชคชบาล ๏ คชะแปลว่าช้าง มีคำอ้างคือคชสาร ในคำคชบาล คือกรมช้างบ้างออกความ ๏ องคตบุตรพาลี กล่าวไว้มีในเรื่องราม ฤๅษีองคตนาม จับนางแพะแหวะอุทร ๏ เอากุมารเข้าใส่ไว้ ครั้นเติบใหญ่ได้นามกร องคตฤทธิรอน เรียกตามนามพระฤๅษี ๏ สุคตนามพระพุทธเจ้า เค้าความว่าดำเนิรดี เลยละล่วงโลกีย์ ไม่กลับมาหามลทิน ๏ องคตพระสุคต ตอสกดบทรบิล ฃอท่านอย่าติฉิน ว่าพูดเพ้อใหลเล่อลาม ๏ ตั้งจิตรคิดมุ่งหมาย จะธิบายให้ชัดความ จะเพ้อเจ้อก็ตาม แต่ได้ความเปนประมาณ ๏ ชาวเมืองมคธราษฎ์ ล้วนฉลาดปรีชาชาญ พูดพากย์มคธขาน เป็นภาษาเจรจากัน ๏ ในคำว่ามคธ ธอสกดบทสำคัญ ด้วยใช้มากครามครัน จำให้มั่นแม่นแก่ใจ ๏ คำว่ารัดประคต จะแจ้งบทธิบายไข มคธปนกับไทย ท่านแปลว่าผ้ารัดกาย ๏ นับคำในหมวดคด โดยจำจดบทเรียงราย แปดคำกำหนดหมาย ต่างสกดพจมาน ๏ คำพูดว่าคัด ๆ สำเนียงชัดไทยว่าขาน อัตคัดขัดกันดาร แลคัดฆ้านพูดค้อนติง ๏ ลอกคัดท้องตราส่ง ให้นายสงไปเมืองสิงห์ คัดไม้ใหญ่จริงๆ ต้องทอดทิ้งไว้ตามทาง ๏ เหล่านี้คำไทยหมด ตามแบบบทท่านไว้วาง ตกลงเปนคำกลาง สกดดอข้อบรรหาร ๏ คัจฉะคำมคธ จอสกดบทพิจารณ์ คำไทยไม่พบพาน จะเขียนอ่านไม่ใคร่มี ๏ คัจฉะว่าจงไป แลกอไม้ในปัถพี แปลได้สองวาที คำบาฬีมีมากหลาย ๚ะ

คาด เคียนคาดว่าผูกรัด พากย์ลาวชัดว่าเคียนกาย ผ่อนผ้าคาดเอวคลาย แก้ขยายให้หย่อนลง ๏ อังคาดอีกคำหนึ่ง รู้ไม่ถึงในจำนง พูดว่าอังคาดสงฆ์ โดยความตรงว่าเลี้ยงดู ๏ คาดนี้ภาษาไทย พูดกันใช้ออกแส้หู ว่าคาดคะเนรู้ ทุกๆผู้รู้ทั่วกัน ๏ คำว่าผูกอาฆาฏ พยาบาทพูดผูกพัน ว่าคิดปองร้ายกัน กระทบใจในต้นเดิม ๏ คำใช้ไล่พิฆาฏ คำประหลาดพูดต่อเติม สยามความสอดเสริม ใช้พูดว่าฆ่าราวี ๏ สองฑาฏฆอระฆัง เปนตัวตั้งเช่นคำมี ตัวสกดพจน์พาที ฏอรกชัฏท่านจัดสรร ๏ คำคือจันทรคาธ สุริยคาธเปนคู่กัน ว่าจับดวงพระจันทร์ ดวงตาวันให้มืดมัว ๏ คาหะกับคาธะ สองพยัญชะนะใช้พันพัว อาเทศแปลงเปลี่ยนตัว ต่างกันได้ใช้ตัวแทน ๏ ว่านี้ตามกำหนด ในมคธเปนเฃตรแดน ธอเธอท่านใช้แทน ตัวหอได้ไขว้วาจา ๏ คาธะว่าหยุดยั้ง ก็จงฟังอีกไนยหนา ไนยนี้มีความว่า ทำให้ยั้งขั้งรัศมี ๏ อาทิตยทั้งดวงจันทร์ ทุกๆวันผ่องผาดสี ทำให้มัวมืดมี่ เวลาขั้งยั้งหยุดแสง ๏ คำคาธสองอย่างนี้ แปลความชี้ชัดแสดง ไว้วางไม่คลางแคลง ชอบบทไหนให้วิจารณ์ ๏ ผักคราดคำไทย ๆ พูดเรียกใช้ไม่วิดถาร ชักมาว่าเทียบทาน เปนคู่คาดคราธบาฬี ๏ อัฒคราธจับกึงดวง ไม่เลยล่วงถึงส่วนตรี ถ้าล่วงสามส่วนมี เรียกตรีคราธคาธดวงจันทร์ ๏ สรรพคราธจับสิ้นหมด มีกำหนดต่างๆกัน ดวงเดือนดวงตาวัน อุปะราคภาคเปนสาม ๏ คำคาธกับคราธนั้น อย่างเดียวกันโดยเนื้อความ นักเรียนพยายาม อยากใคร่รู้ดูแบบสอน ๚ะ

คิด คำคิดภาษาไทย ไม่มีใช้ในแบบกลอน วางแบบอุทาหรณ์ แต่มคธบทคำขาน ๏ ประโคมเครื่องสังคีต เป่าสีดีดก้องกังวาน คีดแคนไพเราะปาน เพลงสวรรค์มาบันฦๅ ๏ คีตแปลว่าขับร้อง คำพรอกพร้องต้องนับถือ ตามแต่จะหัดปรือ เรียนต่อครูรู้ชำนาญ ๏ คีตะคำมคธ ตอสกดบทบรรหาร เรียนรู้ให้ชัดชาญ ให้สมการกับเพียรเรียน ๚ะ

คุด คำคุดพากย์สยาม ดูเนื้อความจะอ่านเขียน สังเกตให้แนบเนียน อย่าให้เพี้ยนผิดวาจา ๏ เข้าคุดมุดแฝงอยู่ นอนคุดคู้ส้อนกายา มังคุดผลโอชา รศหวานฉ่ำชวนกล้ำกลืน ๏ พระอังคุฐว่านิ้วใหญ่ มือเท้าใช้อย่าใฝ่ฝืน ตำราว่ายั่งยืน ราชาศับท์บังคับวาง ๏ ศับท์ใช้ไม่สิ้นสุด คำนังคุฐแปลว่าหาง แห่งสัตว์ทุกๆปาง คือว่าหางสัตว์ทุกพรรณ์ ๏ สองคุฐฐอสกด จงจำจดพจน์จำนัน ตามปูนที่แบ่งปัน เปนแผนกแยกย้ายคำ ๚ะ

คูด คูถถอคูธธอนี้ สองวาทีมีประจำ เปนสองคำออกสำ เนียงเดียวดูรู้คดี ๏ จะเขียนอักษรใด ก็ตามใจจะพาที ด้วยว่าคำบาฬี มีสองทางอย่างบรรหาร ๚ะ

เค็ด สังเคิดคำไทยใช้ คือผ้าไตรย์บาตรบริขาร ทำบุญในการงาน พระศพเจ้าศพผู้ดี ๏ สังเค็ดชอบกลอยู่ ที่บางครูมักพาที ว่าเดิมคำบาฬี สังฆิกะไทยทานัง ๏ ถ้าสังฆิกะพจน์ โดยกำหนดฆอระฆัง อิเอเปลี่ยนโดยหวัง เปนสังเฆเล่ห์วาจา ๏ ตัวกะแปลงเปนตะ โดยไนยะอาเทศมา ยกขึ้นเปนภาษา ว่าสังเฆ็ดเสร็จกระบวน ๏ แต่ตกเปนคำไทย แล้วกันไปไม่รบกวน จะได้แคะทบทวน เรื่องร้อนใจได้รำคาน ๏ เค็จฉาเค็จฉยาตร คำนักปราชแต่โบราณ ท่านแผลงใช้โวหาร ในคำหลวงเวศสันดร ๏ คำเดิมก็คัจฉะ อัดสระอาเทศถอน เปนเอ็ดเสร็จสุนทร เช่นวัจจะเปนเว็จมี ๚ะ

โคตร คำโคตรพากย์มคธ ตรสกดบทวจี คำไทยไม่พาที คำขีนมีใช้แซ่แทน ๏ อุโฆษเสียงกึกก้อง แล้วป่าวร้องทุกด้าวแดน นฤโฆษกึกก้องแสน ไม่มีว่างระหว่างเสียง ๏ หนึ่งในอักษรโสด โฆษอะโฆษสรรสำเนียง สิบเอ็ดอักษรเรียง เรียกว่าโฆษโอฐกังวาน ๏ อะโฆษยี่สิบสอง โดยทำนองมคธขาน เสียงไม่ก้องพิศดาร จัดกรณ์ฐานต่างๆกัน ๚ะ

คับ คำไทยพูดคำคับ คะเนนับมีมากครัน บังคับบัญชาฉัน ฉันคับใจไม่รู้วาย ๏ ประคับประคองไว้ ถนอมใช้ไม่สลาย สัประคับถักด้วยหวาย ยกขึ้นตั้งหลังกุญชร ๏ คับที่พออยู่ได้ ถ้าคับใจเจียรม้วยมรณ์ คับไทยอุทาหรณ์ ยังมีมากหลากๆความ ๏ พระเต้าเบ็ญจะครรภ ราชาศับท์ต้องใช้ตาม แปลมาข้างสยาม ห้าห้องชั้นชั้นหากเห็น ๏ สงสารทรามบังอร คัพโภทรหนักลำเค็ญ ลำบากได้ยากเยน ต้องจำเปนประเพณี ๏ คำคับสองสฐาน เช่นบรรหารโดยวิธี คำไทยคำบาฬี มีครบถ้วนกระบวนสอน ๏ สิ้นข้อคอไวพจน์ ซึ่งจำจดเปนบทกลอน โดยแบบแบบสุนทร ล้วนละม้ายคล้ายสำเนียง ๏ หนูๆได้ดูอ่าน จงวิจารณ์คำเรียบเรียง จะได้เปนเสบียง ทุนความรู้ณะหนูเอย ๚ะ

๏ จบคอไวพจน์แก้ คำขยาย
นับสิบหกหมวดราย เรียบถ้อย
แจงจัดอัดถ์บรรยาย แยกบท บอกนา
ไว้เพื่อหนูจ้อยๆ อ่านจ้อเจนใจ ๚ะ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ