ยอไวพจน์

๏ ต่อนี้จะแยกย้าย ยอไว พจน์แฮ
ละบทละบ่อนไข คิดค้น
แจกแต่แม่กนไป เป็นระเบียบ บทเฮย
ล้วนเลศเหตุฦกล้น ลับลี้ชี้แถลง ๚ะ

ฉบัง จักเริ่มเติมต่อยอไว พจน์แจงแจกใน ตำหรับฉบับบรรยาย ๏ ตั้งแต่แม่กนจนปลาย บเคลื่อนคลาคลาย คลาศหมวดที่ตรวจไตรตรา ๚ะ

ยน คำยนค้นในภาษา ไทยที่เจรจา บอจวบบรรจบพบมี ๏ ซึ่งว่ายลภักตรผ่องศรี ยลโฉมนารี เช่นนี้ก็พูดอึงไป ๏ แต่ยลใช่ภาษาไทย พากย์กัมพุชไข ว่าเห็นว่าดูโดยตรง ๏ เขียนสกดตัวลอเล็กลง ตามของเดิมคง จำนงในพากย์ภาษา ๏ เช่นคำว่ายลภักตรา ยลโฉมพนิดา แลยลตระบัดชัดชาญ ชักหุ่นสายยนต์ชำนาญ เคยเล่นออกงาน กะเกริกกะก้องท้องสนาม ๏ แยบยนต์กลในใช้ตาม มคธบทคาม ภีรัดถ์แลชัดวาจา ๏ ไพรชยนต์เป็นชื่อปรางปรา สาททิพย์โสภา พิมานสมเด็จอมรินทร ๏ สามคำสกดนอนิล ตอการันต์ถวิล จิตรตั้งจำนงจงดี ๚ะ

ยัน คำยันสรรแยบยนต์มี คำไทยพาที ว่าถือไม้เท้ายันเดิน ๏ เราถูกยืนยันยับเยิน ว่าเราก้ำเกิน คนเกิดวิวาทบาดหมาง ๏ หมากยันกินน้ำลายจาง เหื่อโซมสรรพางค์ สวิงสวายกายใจ ๏ เอาไม้ยันถ่างห่างไกล ค้ำยันบันได สดุดลงดิ้นยันๆ ๏ เหล่านี้วาจาสามัญ คนไทยใช้กัน นอนิลสกดพจน์สยาม ๏ แดยันคำนี้มีความ ว่าค้ำอกตาม ในยามที่ทรวงโศกสัลย์ ๏ แลคำกัมพุชไทยยัน สองพากย์รวมกัน กับแดนี่แปลว่าใจ ๏ พราหมณ์ครูรู้คัมภีรไสย บูชายัญใน ตำหรับวิธีกองกุณฑ์ ๏ แลยัญคำนี้เจือจุน ให้ทานทำบุญ ก็เรียกว่ายัญบูชา ๏ ยัญนี้นับในคำบา ฬีบทพจนา ญอญาติสกดทดแทน ๏ สายัณห์ตาวันรอนแสน โศกศัลย์ขวัญแขวน คนึงอนุชสุดถวิล ๏ สายัณห์เยนพยับเมฆิน ดับแสงดวงทิน นกรฉอุ่มเวหน ๏ สายัณห์รู้ทั่วทุกคน ตลอดเลยจน เด็กเด็กก็พูดกันอึง ๏ แต่เขียนควรคิดรำพึง จงใช้ให้ถึง สกดณอแลหอการันต์ ๏ คำว่าปลุกเสกเลขยันต์ สกดสำคัญ ตัวนอแล ตอเติมปลาย ๏ เหมือนกันกับเวทมนต์หมาย บางครูอธิบาย เอาตะเป็นตระมนตรา ๏ ดูพบเขียนในตำรา ยันตระนี้นา ท่านใช้เป็นพื้นดื่นไป ๏ สวนสอบชอบทั้งสองไนย จะเขียนอย่างใด ก็ได้บอต้องค้านติง ๏ แจกไว้เพื่อให้รู้จริง กระจ่างอ้างอิง บออิดบอเอื้อนอมพนำ ๏ อีกว่ายรรยงจงจำ โบราณขานคำ ว่างามชะแล่มแจ่มใส ๏ พิมานท่านท้าวสหัสไนย เกิดที่สุดไชย ชำนะอสูรสบสรรพ์ ๏ เรียกนามว่าเวชยันต์ อยู่ชั่วกัปกัลป ประจำในเทพธานี ๏ แผลงในสะกะฎะวาที เช่นใช้กันมี ว่าทิพย์พิมานไพรชยนต์ ๏ เจ้านายวงษ์กระษัตริย์สากล โดยเสด็จดล พรักพร้อมพระญาติวงษ์วาร ๏ มีนามเรียกโดยโวหาร มคธคำขนาน ว่าวงษ์กระษัตริย์อนุยันต์ ๏ ตัวสกดเช่นคำสามัญ เติมตอการันต์ ทั้งสองเช่นพร้องขานไข ๚ะ

ยาน คำยานบรรหารคำไทย ขึงเชือกใดใด อย่าให้มันด้อยย้อยยาน ๏ นารีรูปสวยสคราน สถนคล้อยยาน ก็หย่อนที่ส่วนโสภณ ๏ เห็นเงาะเหาะทยานเวหน เคียดแค้นกระมล แลเดือดทยานดานใจ ๏ เห็นเขายิ่งกว่าตนไป ฤษยาตาไฟ ทะเยอทะยานแข่งเขา ๏ เช่นนี้ภาษาไทยเรา พูดตามสำเนา ในพากย์สยามความตรง ๏ ยานว่าเครื่องไปใช้คง เกวียนรถดุรงค์ คชโคกระบือนาวา ๏ อย่างต่ำถึงรองบาทา เรียกตามภาษา มคธว่ายานเครื่องจร ๏ พระเสลี่ยงพระวอบวร สำหรับภูธร ท่านเรียกว่าพระราชยาน ๏ สวนต้นผลไม้ตระการ สวนบุษบมาลย์ มะลิกุหลาบหลากพรรณ ๏ เรียกว่าอุยยานทั่วกัน อีกคำหนึ่งผัน เป็นอุทยานอย่างมี ๏ แล้วเป็นอยุทยานแผลงทวี แปลคำบาฬี ว่าเป็นที่เงยแหงนชม ๏ ยอเล็กนอนิลนิยม สกดบรรสม เสมอสยามพจนา ๏ คำญาณคู่กับปรีชา นั้นคือปัญญา อันรู้พิเศศสารพัน ๏ ปัญญาเห็นแจ้งแจ่มทัน เทียบจักษุอน ยลชัดสนัดแจ่มใจ ๏ เรียกญาณจักษุมีใน มคธคำไข คดีขอมมีใช้ชุม ๏ กำลังปัญญาสุขุม สิบอย่างรวบรุม ท่านเรียกว่าทศพลญาณ ๏ ปัญญาพระสาศดาจารย์ รู้จบเหตุการ ตลอดทุกสิ่งสมพอง ๏ สรรพัญญุตญาณยลปอง เสนอนามสนอง ว่าพระผู้รอบรู้ธรรม์ ๏ อย่างหนึ่งนามเรียกสะมัน ตญาณคู่กัน ว่ารู้ระบอบรอบองค์ ๏ อนาวรญาณประสงค์ ปัญญายิ่งยง บอมีที่กั้นกีดบัง ๏ พระเพชรญาณกำลัง ปัญญาคมดัง หนึ่งเพชรเผด็จหมู่มาร ๏ หนึ่งนามสยมภูวญาณ ไป่มีอาจาริย์ ปัญญาประเสริฐเกิดเอง ๏ ปัญญาณท่านว่ายำเยง เพราะบารมีเพรง มาพรักมาพร้อมไพรบูลย์ ๏ โพธิสัตว์หน่อพุทธางกูร สร้างบารมีพูน เพื่อโพธิญาณใหญ่ยง ๏ หวังได้ตรัสรู้เป็นองค์ สัมพุทธผู้ทรง พระภาคย์พ้นโลกีย์ ๏ อนึ่งวรญาณมุนี แปลเค้าคดี นักปราชประเสริฐปัญญา ๏ ญาณสิบฝ่ายวิปัสสนา หมวดมาติกา กำหนดว่าทศพิธญาณ ๏ สำหรับเพ่งพิศสังขาร ประจักษโดยการ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ใช่ตน ๏ ปัญญาเนื่องในมรรคผล ชื่อมรรคญาณยล แลผลญาณยิ่งยง ๏ ความรู้แจ้งสัตย์สี่คง ปฏิเวธญาณตรง ตระหนักประจักษ์นฤพาน ๏ อีกคำหนึ่งว่าวิญญาณ คือจิตรสาธารณ์ ที่รับแลรู้อารมณ์ ๏ คำญาณญอใหญ่นิยม ณอคุณบรรสม เบ็ดเสร็จสิบเอ็จวาจา ๚ะ

ยุน คำพยุนนี้เป็นชื่อปลา สยามภาษา นอนิลสกดบทไทย ๏ มะยุระยาตรนี้อย่าสงไสย แปลว่าคลาไคล งามดังพิหคนกยูง ๏ เป็นบทมคธคำสูง อักษรกลอนจูง สำเนียงเสนาะเพราะกลอน ๏ คำไทยใช้บทลดทอน ตัวมะอักษร สูญไปก็ใช้โดยเดา ๏ หนึ่งว่าปยุรวงษ์ฝ่ายเรา ปยุรญาติฝ่ายเขา สองคำนี้ไทยใช้ชิน ๏ เรียกแต่วงษ์เจ้าธรณินทร์ ใช้มาอาจิณ ก็จัดเป็นคำสูงทรง ๏ ชั้นต่ำใช้คำเชื้อวงษ์ แลญาติคำคง บควรจะลวนเลียมลาม ๚ะ

ยูน พงษประยูรนี่ก็คำงาม อย่างเดียวโดยความ แต่แปลกที่เปลี่ยนคำยาว ๏ นกยูงขนแววแพรวพราว รำร้องในราว ป่าเรียกว่านกมายูร ๏ สร้อยอ่อนทองเรืองจำรูญ เรียกว่าเกยูร สำหรับประดับภูธร ๚ะ

เยน สุริเยนทรคือดวงทินกร ชาเยนทรคืออร เอกอรรคยอดชายา ๚ะ

ยง ตัวยงยุยงภาษา สยามเจรจา กันอยู่ก็รู้โดยความ ๏ เยียรยงยรรยงว่างาม คำนี้ใช้ตาม แต่เพรงท่านพร้องพาที ๏ ปิยังคุคำบาฬี ปิเป็นประมี ที่ใช้ว่าไม้ประยงค์ ๏ เติมเขียนคุการันต์คง ตามศับท์จำนง ครั้นนานก็หายกลายไป ๏ ตกเป็นประยงไทยไทย ชี้เลศเหตุใน คดีพอดูรู้เชิง ๚ะ

ยาง ต้นยางเจาะปล่องช่องเพลิง ไฟสุมรุมเริง แลยางก็ย้อยไหลริน ๏ ยางไม้มีทั่วแดนดิน ชันใช้อาจิณ ยางรงแลยางกำยาน ๏ สิเนหะว่าเยื่อยางสมาน ความผูกรักปาน ยางรักกระชับชิดชม ๏ คำไทยใช้เสน่หนิยม มาแต่บุรม บุราณย่อมขานวาที ๏ สามองค์คงใช้ว่าตรี ยางค์ยลเยี่ยงมี ตรียางค์นวางค์คู่กัน ๏ เขียนต้องตัวคอการันต์ ส่อคำสำคัญ คือบทมคธคำคง ๏ อีกว่าไตรยางษ์อ้างตรง กับคำจำนง ที่นับในแยบแบบสอน ๏ ษอบอการันต์บั่นรอน เป็นอุทาหรณ์ แปลความว่าสามส่วนมี ๏ อักษรสูงกลางวะจี ต่ำสำเนียงตรี พอครบที่ใช้ไตรยางษ์ ๚ะ

ยัก ยักไทยยักที่ยักทาง ยักคิ้วยักคาง ยักเคี้ยแลยักย้ายไป ๏ มีมากยักพูดคำไทย จะยักสิ่งใด ก็ใช้ว่ายักตามการ ๏ มคธคำว่ายักษมาร คือยักษสาธารณ์ ทั้งยักษที่เรืองฤทธี ๏ บังคับเขียนใช้ต้องมี ษอบอเติมทวี ที่ท้ายเป็นฝ่ายการันต์ ๚ะ

ยุก ยุคในคำไทยสามัญ ไม่มีจำนัน เป็นบทมคธคำกลาง ๏ ยุคนี้แปลว่าคู่บาง ที่ท่านไว้วาง ว่าครั้งว่าคราวกล่าวเฉลย ๏ ยุคแปลว่าคู่โดยเคย ใช้คำพิเปรย พิปรายเช่นฝ่ายยุคล ๏ เช่นว่าข้านบน้อมตน ไหว้บาทยุคล ทั้งคู่พระบาทสาศดา ๏ ยุคแปลว่าคู่คำบา ฬีอะเนกา บุรุษยุคอย่างมี ๏ ยุคว่าคราวข้อคดี เช่นคำพาที ว่าเกิดในยุคเดียวกัน ๏ สมะยุคสมะไวยเทียมทัน ควรแข่งคู่ขัน เพราะสองเสมอรุ่นคราว ๏ ยุคสามมีความยืดยาว ใคร่รู้สืบสาว ตำหรับฉบับบุรพา ๏ กุลียุคอีกไตรดา ยุคยังทวา บริยุคคำรบครบสาม ๏ จำแนกแจกได้โดยนาม ไปประจักษความ จะพูดก็พ้นภูมเรียน ๏ ยุดติเป็นยุกดิ์ก็เมียน ที่ใช้จำเนียร จำนงต่อยุกติธรรม์ ๏ แม่กกกดแผลงถึงกัน เช่นคำรำพัน สัดดิเป็นศักดิสากษี ๚ะ

โยก จับโยกคำไทยพาที กอสกดมี คำเดียวโสลกโยกไทย ๏ อนุโยคย้อนซักถามไป ดวงชตาใคร ได้ครบทั้งโยคเกณฑ์ดี ๏ ดลฤกษอุษาโยคมี สุภโชคไชยศรี สวัสดิขจัดไภยา ๏ จางวางเปรียบมวยสมญา หลวงมลโยธา นุโยคนิยมยศนาม ๏ ภาวนานุโยคนี้ความ ซึ่งแปลกันตาม ในบทมคธคำกลาง ๏ ว่าผู้ประกอบวิริยางค์ บำเพ็ญในทาง วิธีเจริญภาวนา ๏ เหล่านี้บาฬีภาษา นิยมวาจา บังคับสกดคอควร ๏ คำยอแม่กกจำนวน ทั้งหมดประมาญ ประมาณสิบสี่คำคง ๚ะ

ยด คำยดแก่กดประสงค์ ยกคำไทยตรง แต่ม้าพยดลำพอง ๏ นอกจากคำนี้นับปอง เป็นพากย์อื่นผอง คือพากย์มคธพาที เกียรดิยศแลยศศักดิ์ศรี ๏ หนึ่งท่านผู้มี ยศทรัพย์แลสูงวาศนา ๏ อิศริยยศบริวา ระยศคำบา ฬีชัดแลพลัดเป็นสยาม ๏ พูดกันชั้นเด็กรู้ความ บอต้องไต่ถาม เพราะรู้กันทั่วตัวคน ๚ะ

ยัด เดินเบียดเยียดยัดสับสน ท่านขุนสกล แก่ทำอายัดตราสิน ๏ อายัดนายนุดนายนิล ขุนสวัสดินครินทร ก็รับอายัดจัดการ ๏ เบียดกันกลแป้งยัดทยาน ปากคนสามาญ มักพูดว่ายัดแทนกิน ๏ คำพูดแดกดันโดยถวิล ใช้กันอาจิณ ออกชัดว่ายัดอะไร ๏ ยัดเมาะยัดหมอนละไม ยัดภาษาไทย ย่อมใช้อเนกนานา ๏ สวดญัตติกรรมวาจา ตามวิไนยา นุญาตประสิทธิกิจสงฆ์ ๏ ยัชประวิชแหวนลง เลขยันต์จำนง นิ้วก้อยประกอบพิธี ๏ พะยัศะนะอีกวะจี แปลในบาฬี ว่าความพินาศนิศผล ๏ คำยัดจัดเยี่ยงอย่างยล ไทยขอมระคน บรรจบได้เจ็ดวาจา ๚ะ

ยาด คำยาดสยามภาษา คนนี้มีมา ระยาดเป็นชาติผู้ดี ๏ มูกย้อยยืดยาดยาวรี ยาดไทยพาที ประสบได้พบเพียงสอง ๏ หมู่ญาติวงษ์ญาติแบบละบอง ติสกดปอง เป็นบทมคธคำกลาง ๏ ประยุระญาติคำสูงไว้วาง ใช้ในที่ทาง พระญาติพระเจ้าธรณินทร์ ๏ อนุญาตนั้นว่ายอมยิน ดีด้วยโดยถวิล เพราะสมกับคิดจิตรปลง ๏ เขียนต้องสกดตอลง อย่าได้จำนง เป็นติเช่นญาติวงษ์วาร ๏ อุตรินอกครูอาจาริย์ จู่ลู่ใช้การ กระวีซึ่งมีครูสอน ๏ ยาตราว่าดำเนินจร เช่นว่าภูธร ธิราชธยาตราพล ๏ อีกมะยูรยาตรจรดล สองคำอำพน สกดตัวตอรอเติม ๏ มยุรคำหนุนจุนเจิม ต้นคำซ้ำเสริม เห็นใช้แต่ในผู้ดี ๏ แต่ลดตัวมะไม่มี ยุรยาตรจรลี แลยุรยาตรนาดกราย ๏ ทายาทนี้เป็นคำกลาย ถูกทั้งสองราย มคธกับไทยใช้ปน ๏ ทายาทมคธว่าคน ควรรับทรัพย์ธน มรฎกบิดามารดา ๏ คือบุตรแลเชื้อวงษา ล้วนทายาทา ที่ควรได้ส่วนแบ่งปัน ๏ ผู้ให้บุตรหลานออกบรร พชาเช่นกัน กับให้เป็นเชื้อชินวร ๏ ควรรับมรฎกคำสอน เรียกตามนามกร ว่าผู้ทายาทศาสนา ๏ เช่นเดียวกับบุตรนัดา อันได้โภคา ที่ควรเป็นส่วนถึงตน ๏ ทายาทแปลในยุบล แบบพุทธนิพนธ์ อย่างนี้กระจัดชัดความ ๏ แต่ทายาทใช้ในสยาม เห็นไม่ต้องตาม กับบทมคธพาที ๏ ความไทยว่าในพงพี เสือโคร่งใหญ่มี มันดุทายาดอาจหาญ ๏ ใช้แทนนักหนาเกินการ ทายาทพิจารณ์ จำแนกเป็นสองตรองดู ๏ พยาธิอีกคำนี้ตู ก็เห็นเป็นทู พิธพากย์เช่นทายาทยล ๏ โรคซึ่งเบียดเบียนนรชน ไข้เจ็บทุกคน นี่คือพยาธิโรคา ๏ หนึ่งความสยามเจรจา ว่าแขนนายยา เป็นโรคพยาดยายี ๏ ต้องเผาด้วยยาอัคนี ไหม้เป็นแผลมี เช่นนี้พยาดคำไทย ๏ พยาธิคำที่มีใน มคธขานไข ตัวธิสกดบทขอม ๏ พยาดคำไทยใช้ปลอม ตัวดอก็ยอม สกดเป็นบทสามัญ ๏ กวนเข้าปายาศนี้ขัน คำไทยใช้กัน ร้องเรียกคยาสาดหวาน ๏ ประจวบกวนฤดูกาล ยามสารทวันวาร ปายาศนิยมสมมุต ๏ เข้าทิพย์กวนกันอุตลุด ใส่ของบริสุทธิ์ สับปิธธินมเนย ๏ ตั้งพระราชพิธีเคย กวนบล่วงเลย ณวันพิธีสารทคง ๏ ควรเรียกปายาศแท้ตรง กับคำจำนง ที่นับเป็นแบบบูรพา ๏ อุปายาศอีกวาจา นี่แปลกันมา มักมีที่ข้อความไข ๏ ว่าข้องคับแค้นเคืองใจ ด้วยเหตุใดใด ก็เรียกอุปายาศมี ๏ บายาศอุปายาศทวี พจนพากย์บาฬี บังคับสกดศอคอ ๏ คำยาดโดยเค้าเหล่ากอ นับบรรจบพอ ครบถ้วนจำนวนสินค้า ๚ะ

ยุด ฉวยฉุดยุดข้าล้มคมำ ไทยพูดประจำ แปลว่ายุดฉุดมือกัน ๏ มคธคำว่ายุติธรรม์ ยงยุทธแยงยัน ต่อยุทธแลยุทธไพรี ๏ สองฝ่ายพลยุทธโยธี ยุทธนาราวี ในยุทธภูมิพื้นรณ ๏ ยุทธะว่ารบแกว่นกน รู้ทั่วทุกคน บอต้องธิบายบอกแปล ๏ ธรรมยุทธเป็นสองกระแส ควรต้องดูแล ซึ่งตัวสกดบทปลาย ๏ คำหนึ่งธรรมยุดติกะนิกาย ติสกดหมาย เหมาะความว่าควรแก่ธรรม ๏ ธรรมยุทธทอธอประจำ แปลข้อในคำ ว่ารบในคำโต้เถียง ๏ อยุชฌิยะบุรีคือเวียง เบาราณสำเนียง หนึ่งเรียกว่าศรีอยุทธยา ๏ เป็นนามกรุงเทพทวา ระวะดีมหา นครณะเขตรหนองโสน ๏ แปลว่าเป็นเมืองใหญ่โต สบสรรพริโป บออาจจะรบราวี ๏ คำยุดนับเจ็ดคำมี เลศหลากวิธี ที่ควรได้คัดจัดวาง ๚ะ

โยด คำโยดมีแต่คำกลาง ภาษาไทยทาง จะพูดบอพบยลยิน ๏ ว่าทางนับโยชน์อย่าถวิล ใช้มาอาจิณ แลเพื่อประโยชน์ใดใด ๏ สองคำมคธเป็นไทย เพราะว่าใครใคร ก็ใช้ก็พูดทุกคน ๏ อโยทธอยุทธเดียวกล เปลี่ยนสั้นยาวยล คืออุเป็นโอออกเสียง ๏ อโยชฌิยะบูรีรมย์เรียง อโยทธยาเวียง ก็คือว่ากรุงอยุทธยา ๏ คำโยดยุบลภาษา มคธพจนา จะนับก็มีสี่คำ ๏ แจกยอไวพจน์จดคำ จัดเป็นลำนำ ฉบังก็จบบริบูรณ์ ๚ะ

๏ จบยอไวพจน์เค้า คำเคียง
คิดคัดคำพ้องเสียง สืบค้น
ลำดับนับเรียบเรียง ระเบียบแบบ ฉบับนา
หมายหมวดตรวจแต่ต้น ตกแต้มเติมเสริม ๚ะ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ