นอไวพจน์
๏ ตัวนอจะต่อตั้ง | เติมบท |
คือหมวดนอไวพจน์ | พากย์พ้อง |
นักเรียนเร่งจำจด | จงแม่น |
กลอนกล่าวยานีคล้อง | เลศล้วนลำนำ ๚ะ |
๏ หมวดที่เอกาทัศ จะแจกจัดนออักษร เกลากลั่นสรรเป็นกลอน ผูกพากย์ผ่อนสอนกุมาร ๏ เรียกชื่อนอไวพจน์ พึงจำจดบทวิจารณ์ สำเหนียกสำเนาสาร อย่าพลิกอ่านเล่นเปล่าดาย ๏ จำแนกนอบทต้น คำว่านนนั้นมีหลาย คำไทยใช้บรรยาย นกไก่ควายแพ้จำนน ๏ ฝีมือไทยรูปชอบกล เรียกว่าหม้อคะนน แทบทุกคนรู้จักมัน ๏ ดนตรีครูประสิทธิ์ เรียกให้ติดกำนนพลัน คือว่าบูชาปัน เป็นส่วนครูผู้สอนเพลง ๏ สามนนคำไทยหมด ความแปลบทบอกตัวเอง ใช้กันมาแต่เพรง นอสกดบทคำกลาง ๏ กานนแปลว่าป่า เป็นภาษามคธวาง อนนต์บอกไม่พราง ว่าไม่มีที่สุดลง ๏ สิ่งของฤๅการกาล แลสงสารที่วนวง กำหนดไม่ได้คง เรียกอนนต์พ้นประมาณ ๏ นนทะลีว่ามารดา ที่มีมาท่านว่าขาน ไม่ทราบมูลสฐาน ว่าเป็นพากย์ภาษาใด ๏ อานนท์แลนนท์นี้ คำแปลชี้มาข้างไทย ว่าความชื่นชมใน จิตรแจ่มใสใจยินดี ๏ เมืองขึ้นกรมท่า นามเรียกว่านนท์บุรี เจ้ากรมอาสามี ตำแหน่งที่เสนานนท์ ๏ กรมวังนอกนั้นเกณฑ์ หลวงนนทเสนกำกับคน ขุนศรีประชานนท์ ตำแหน่งกรมพวกธรรมการ ๏ คำนนท์พากย์มคธ นอสกดบทสาธารณ์ ย้ายแยกแจกวิจารณ์ คือตอทอส่อการันต์ ๚ะ
นัน๏ นันนันภาษาไทย ที่มีใช้ไทยพูดกัน นักเลงเล่นพนัน แข่งประชันเอาชะนะ ๏ สู้เสียของกำนัน แจกให้ปันสู้สละ เกี่ยวข้องต้องชำระ สืบกำนันพันร้อยแขวง ๏ สิบสองพระกำนัน ที่ว่ากันนั้นอย่าแคลง สิบสองนี้ยังแฝง พนักงานฤๅหมู่กรม ๏ คำนันชนิดนี้ เห็นวาทีไทยนิยม นันทะว่าชื่นชม เหมือนคำนนในหนหลัง ๏ สวนทิพย์นันทะวัน พระเทศธรรม์เราได้ฟัง ไม่ได้เห็นจริงจัง ยินแต่ชื่อเลื่องฦๅชม ๏ สวนนันทะอุทยาน เกณฑ์นายด้านทำระดม ทาษหลวงมีสารกรม มาแต่เก่าเฝ้ารักษา ๏ อเนกอนันตแน่น พลนับแสนสังขยา อนันตเสนา นับไม่มีที่สุดลง ๏ อนนตกับอนันต์ คำเดียวกันอย่าใหลหลง สำเนียงออกไม่ตรง เพราะไทยขอมปลอมเปลี่ยนแปลง ๏ นันโทปะนันทะ อุระคราชฤทธิแรง เรื่องราสกล่าวสำแดง ในฎีกาพาหุงเห็น ๏ อนัญญะสาธารณ์ แปลคำขานไม่ยากเย็น คือของที่บเป็น สาธารณ์ทั่วทุกตัวคน ๚ะ
นาน๏ นานเนิ่นเกินกำหนด สยามพจน์บทยุบล ชำนาญเชี่ยวชาญกล ตัวญอใหญ่ใช้จึ่งควร ๏ สำนานคู่สำเนา โดยข้อเค้าเก่าสำนวน คำใช้ในขบวน เบาราณมากหลากหลายคำ ๏ คัคนานต์ส่วนสุดฟ้า ใช้เป็นอากาศประจำ มีตอการันต์นำ แนะส่อว่าคำบาฬี ๚ะ
นิน๏ นินทาว่าติเตียน ใช้จำเนียรหลายร้อยปี ถึงเดิมเป็นบาฬี เอามาใช้ในสยาม ๏ ผู้ใหญ่ตลอดเด็ก พูดกันเซกทราบเนื้อความ ลดหย่อนต้องผ่อนตาม มคธปลายกลายเป็นไทย ๏ มุนินทรพระผู้เลิศ รู้ประเสริฐนักปราชใหญ่ พระปรีชาชาญไว คือสรรเพชผู้ทรงธรรม์ ๏ นิละศับท์มคธ แปลตามบทว่าเขียวขำ ข้างไทยใช้ว่าดำ ดุขใช้คำว่าเพชรนิล ๏ ชื่อม้านิลรัตน์ ก็จำกัดม้าดำสิ้น ถึงคนที่ชื่อนิล ประสงค์ดำคล้ำผิวกาย ๏ พระยานิลเป็นชื่อช้าง คำที่อ้างนั้นมีหลาย แปลแปลงมคธกลาย กลับกันได้ใช้เป็นดี ๏ คำว่าเจ้าธรณินทร์ คือพระปิ่นปัถพี ณอใหญ่ใช้ต้องมี ทรท้ายฝ่ายการันต์ ๚ะ
นูน๏ คำไทยว่าบวมนูน ผลนางนูนก็เหมือนกัน ล้วนเป็นคำสามัญ นอสกดบทภิปราย ๏ มคธพจน์นุกูล พระธรรมนูญชื่อกฎหมาย ญอญาติอย่าคลาศคลาย สกดลงตรงกับความ ๏ พึงทราบในกระแส ศับท์นี้แปลว่ายอมตาม โดยยุติธรรมงาม ประทับความถูกกระทรวง ๚ะ
เนน๏ คนชื่อนายขุนเนน เรียกกันเจนปากทั้งปวง ตัวเพิ่มไม่เติมตวง ต้องที่ใช้คำไทยตรง ๏ ในบทมคธเกณฑ์ พระชิเนนทรคือพุทธองค์ ฦๅไชยยิ่งใหญ่ยง เพราะเหตุพระชนะมาร ๏ สามเณรคำมคธ รอสกดบทไขขาน ณอใหญ่ใช้ควรการ จงวิจารณ์วัดวะจี ๏ แปลว่าเชื้อวงษ์วาร คือบุตรหลานแห่งพระชี รำงับดับบาบี บัญญัตินามตามกันมา ๏ เจ้ากรมไพร่หลวงใน มหาดไทยมีสมญา คำอัดถ์ชัดวาจา หลองธรเณนทรเกณฑ์ไพร่พล ๚ะ
นอน๏ คำนอนในสยาม ใช้แต่ความว่านอนกรน นรนี้แปลว่าคน สกดรอส่อเสียงกร ๏ เทียบพจน์มคธไว้ คำที่ใช้นิกรนร แปลอัดถ์อันสาธร ว่าหมู่คนกล่นเกลื่อนหลาม ๏ กินรนามปักษี กายินทรีย์เหมือนคนงาม ไม่เห็นเป็นแต่ตาม เขาว่ากันสนันหู ๏ วานรแปลว่าลิง นี่มีจริงฉันได้ดู มีดื่นพื้นชมพู ทั้งป่าบ้านพล่านถมไป ๏ คำนรนอสกด มิใช่บทข้างคำไทย พ้องพจน์มคธไข ไว้เป็นแบบแยบอย่างยล
เนียน๏ เนียนเนียรสองภาษา พ้องวาจาต่างยุบล คำไทยใช้ปะปน ไม่รู้กลใช้วนเวียน ๏ แผ่ทองหุ้มแล้วกวด ที่ลายลวดกวดให้เนียน คำนี้ที่จะเขียน นอสกดบทสามัญ ๏ หนึ่งคำว่าแนบเนียน ถ้าจะเขียนก็เหมือนกัน ตัวนอบผิดผัน เขียนสกดบทไทยไทย ๏ จำเนียรคำมคธ จิระบททางแผลงไป เป็นเจียรแล้วกลับไข เป็นจำเนียรว่านานวัน ๏ อีอคำว่าดำเนียน คือติเตียนไทยพูดกัน วิธีอาเทศผัน แผลงคำเตียนเป็นดำเนียน ๏ เหมือนติว่าดำหนิ ตามลัทธิบพาเหียร บังคับในคำเขียน เช่นคำเดินว่าดำเนิน
เนิน๏ ดำเนิรรอสกด ที่แบบบทเห็นจะเกิน เพราะแผลงออกจากเดิน คำไทยไทยใช้สามัญ ๏ เช่นกับเนินไศล ควรจะใช้ให้เหมือนกัน หากคิดให้ผิดผัน จึงใช้รอพอแปลกแปลง ๚ะ
นง๏ คำไทยใช้ตรงตรง โลดทนงประยงแดง อนงค์นี้คำแฝง ต้องมีคอต่อการันต์ ๚ะ
นาง๏ นางนิ่มหน้านวนงาม คนสยามย่อมพูดกัน มคธบทพากย์พันธ์ คัคคะณางค์ต่างกันมี ๏ แปลว่าองค์เป็นเหตุ โดยสังเกตในราษี อากาศนภวิถี คือดวงดาวกล่าวตามตรง ๏ ประพาฬพรรณางค์นี้ ชื่อพาชีท่านจำนง ม้าแดงโดยประสงค์ เป็นม้าทรงขึ้นระวาง ๚ะ
นัก๏ คำไทยใช้ประจักษ์ ไปไกลนักจักหลงทาง สำนักนิ์ก็คำกลาง ไยจึ่งวางนิเติมปลาย ๏ ข้อนี้ก็เป็นจน เหลือจะค้นข้อธิบาย เพราะเราเกิดต่อภาย หลังแห่งท่านบัญญัติคำ ๏ ทศนักข์ว่าสิบเล็บ ควรจะเก็บใส่ใจจำ บาฬีที่แนะนำ ทศนักข์สะโมธาน ๏ สิบเล็บประชุมลง เพื่อจำนงนมัศการ เรียกว่าสะโมธาน ทศนัขสกดขอ ๏ อำนัคฆมณีรัตน์ ของกระษัตริย์มีเพียงพอ อำนัคฆคำนี้หนอ นับในบทมคธคง ๏ แก้วหาค่ามิได้ บอกแปลไว้อย่าใหลหลง ศับท์เดิมที่คำตรง คืออะนัคท่านชักแผลง ๏ เหมือนชื่อท้าวเทวินทร์ เดิมอมรินทร์ท่านใช้แปลง เป็นอำมรินทร์แผลง แบบเช่นนี้มีมากหลาย พำนักนิ์คำบุราณ บทบรรหารบรรยาย คือแปลงคือเปลี่ยนกลาย จากคำพักพักอาไศรย์ ๏ ตัวนิมีเติมท้าย จะธิบายให้เข้าใจ เช่นนี้มักมีใน บาฬีใช้บทบูรณ์ ๏ เติมไว้พอเต็มที่ แต่ไม่มีความเพิ่มภูล ไว้หวังจะนุกูล แก่เอกโคลงละหุฉันท ๏ นักหนึ่งคำเขมร ใช้ออกเจนรู้ทั่วกัน เหมือนว่านักองค์จัน นักองค์เองออกความตรง ๏ เจ้านายฝ่ายเขมร พูดกันเจนว่านักองค์ คำนักนี้จำนง แปลว่าเจ้าตามเค้าขอม ๏ นักเรียนแลนักสวด มักประกวดกันไม่ยอม นักโทษอดโซผอม ผลความผิดติดสนอง ๏ นักนักคำเหล่านี้ คำแปลชี้ว่าเจ้าของ ยังอีกคำหนึ่งปอง ว่าบอกเล่าเจ้าพนักงาน ๏ คำนี้ก็แปลตาม ดังเนื้อความที่ไขขาน คือว่าเจ้าของการ ตามตำแหน่งแห่งกระทรวง
นาก๏ ตำราทำธาตุนาก มีหลากหลากแต่มักลวง บุนนาคดอกดกดวง ช่อชูพวงร่วงเรณู ๏ แห่นาคเสียงโห่ร้อง คนเพรียกพร้องวิ่งตามพรู ถ้องแถวแนวสินธู นาคราชผาดผังจร ๏ หนึ่งนาคแปลว่าช้าง คำที่อ้างนาคกุญชร ย้ายแยกแจกคำสอน สาธรพจน์บทสนอง ๏ นากนาควิภาคพจน์ ตัวสกดปันเป็นสอง ตัวกอตัวคอปอง เป็นแบบไว้ใช้ตามควร ๚ะ
นึก๏ คำนึกไทยมคธ กดสกดสิ้นทั้งมวน เหมือนว่าข้ารันจวน นึกถึงน้องหมองกระมล ๏ คำว่าปัจจะนึก คือข้าศึกไพรีชน อณึกในยุบล แปลแบบครูว่าหมู่ดัง ๏ เสนาช้างม้ารถ พลบทจรจัตุรังค์ แซ่ซ้องก้องกึกกัง เรียกหมู่ดังทั้งสี่กอง ๏ หัดถาณึกที่หนึ่ง แล้วนับถึงม้าที่สอง อัศวาณึกนามปอง ที่สามรองระถาณึก ๏ ที่สี่พลเดินเท้า นามตามเค้าหมู่อธึก เรียกว่าบรรดาณึก ภาษาพจน์บทบาฬี
หนวก๏ สำแดงแผลงคำบวก เป็นผนวกเลขวิธี เสียงพ้องโสตรหนวกมี คู่ไวพจน์บทวิจารณ์ ๚ะ
นด๏ คำนดภาษาไทย ไม่มีใช้ทั่วสาธารณ์ ประนตบทมาลย์ ชมพูนุทสดใสแสง ๏ โอนตว่าน้อมก้ม นับนิยมสามคำแจง มคธบทสำแดง ไว้เป็นแบบแยบยนต์สอน ๏ ประนตกับโอนต ตอสกดอย่าลดทอน ประนตบทสุนทร ว่าโอนอ่อนอัญชลี ๏ เรียกทองชมพูนท เพราะกำหนดกำเกิดมี ในชมพูนที กิ่งหว้าใหญ่ในหิมวันต์ ๏ กิ่งหว้าประจำภพ หลายอ้อมทบใหญ่มหันต์ ร่องน้ำเป็นขอบคัน มีน้ำขังหลั่งล้นไหล ๏ เรียกชมพูนที หน่อจามีงอกดื่นไป ครั้นนานก็เคลื่อนไคล ตามกระแสแผ่ผ้านมา ๏ ดลแดนถิ่นมนุษ ทองบริสุทธิเช่นนั้นหนา บางผู้รู้ตำรา ก็เรียกว่าชมพูนท ๏ ชื่อนี้จึ่งแพร่หลาย ทั่วหญิงชายรู้กันหมด เรียกนามตามมคธ ชมพูนทแน่คำตรง ๏ ครั้นนานกาลก็กลาย สำเนียงปลายเติมอุลง เป็นชมพูนุทคง เรียกยืนยงจนทุกวัน ๚ะ
นัด๏ ผัดนัดคำสยาม ใช้ตามความไทยพูดกัน ยานัดถุการันต์ บอกสำคัญคำบาฬี ๏ ทุกวันนี้ใช้ลด การันต์บทถุไม่มี จะฝ่าฝืนวาที เป็นอันยากลำบากใจ ๏ มคธบทสาธก แต่ต้องตกเป็นคำไทย เขียนใดก็เขียนไป คงเข้าใจว่านัดยา ๏ บาฬีที่ไขอัดถ์ พงพนัศแปลว่าป่า ยังไม่พบที่มา เห็นใช้มากหากตามกัน ๏ อาณัติว่าบังคับ กระแสศับท์บอกสำคัญ ราชาณัติคือบัญ ญัติเจ้าหล้าบัญชาการ ๏ ตำแหน่งขุนนางจัด ราชาณัติยานุหาร แปลว่าผู้นำการ ตามบังคับเจ้าธรณินทร์ ๚ะ
นาด๏ นางนาฎผาดผันผาย เดินนาดกรายคล้ายกินริน ภูวนารถเจ้าแผ่นดิน ทรงอำนาจอาจองหาญ ๏ พระไตรยภพนารถ องค์เอกราชเจ้าจอมปราณ บรมนารถพระภูบาล พระโลกนารถสาศดา ๏ พระนามเจ้าต่างกรม นารถนิยมในสมญา นิพนธพจนา พิศณุนารถนิภาธร ๏ หนึ่งว่าประชานารถ โดยจอมราชนิพนธ์กลอน เป็นแบบอุทาหรณ์ แห่งคำใช้ในวาจา ๏ ปลัดกรมสนม นามนิยมตำแหน่งตรา ทั้งคู่เป็นซ้ายขวา รักษานารถราชบำเรอ ๏ สมุหบาญชีกรมเกษตร์ รู้แขวงเขตรทุกอำเภอ ชูเชิดนามเสนอ เสนานารถอาจอาษา ๏ บัณฑูรสิงหนาท มีพระราชบัญชา นินนาทก้องโกลา หลนฤนาทอาจทรนง ๏ ลุถึงเมืองไชยนาท ผู้คนกลาดดาษดาดง สงสารญาติวงษ์ จะพินาศขาดอุปถัมภ์ ๏ วันโลกะวินาศ โหราสาตรย่อมแนะนำ ห้ามฤกษบให้ทำ การมงคลสิ้นทั้งผอง ๏ บรรณาศว่าห้าสิบ ควรยกหยิบอย่างทำนอง รอหันสรรณรอง ศอสกดไวพจน์ผัน ๏ อยู่เดียวเปลี่ยวอนาถ พรากจากคลาศนาฎนวนจันทร์ ดงหนาดพาดพัวพัน กอพิสนาดดาษดื่นดง ๏ อนาถกับดงหนาด เสียงพ้องพาดเสียงเดียวตรง เขียนตัวต้องจำนง ให้รู้แยกแปลกอักษร ๚ะ
นิด๏ ชาดชิดนิดนาดนาย พวกฝีพายมีนามกร คำไทยไม่ลดทอน นิดอะไรไม่ได้ความ ๏ นิจจะแปลว่าเที่ยง ท่านบ่ายเบี่ยงบิดแผลงตาม จอสองอักษรสยาม เป็นตะยะสกดรวม ๏ นิจนิตรเหมือนพูดซ้ำ เป็นสองคำไม่กำกวม เนื้อความอย่างเดียวกรวม ว่าเสมอแลเที่ยงตรง ๏ ใส่บาตรอยู่เป็นนิตย์ ตั้งอุทิศต่อพระสงฆ์ ราชาคะณะองค์ นิตยภัตรจัดถวาย ๏ ตัวอะเติมต้นคำ อนิตยกรรมแปลว่าตาย มคธบทธิบาย เกิดกับตายกลายกลับเห็น ๏ คำว่าวินิจจัย วินิจฉัยสองคำเป็น มคธข้อประเด็น ว่าตัดสินสิ้นคดี ๏ พินิจจิตรพิจารณ์ สำเนาสารส่อวาที พานิชสินค้ามี จะจำหน่ายขายสิ่งของ ๏ คำต้นนั้นว่าอิฐ สังสกฤศฎ์แผลงทำนอง เป็นอำนิฐสนอง ในคำแปลว่าปราถนา ๏ นพนิตย์ว่านมเนย เครื่องสังเวยท้าวเทวา ๏ ผานิตนี้เจรจา ว่าน้ำอ้อยอร่อยหวาน ๏ หุ้มแพรนามรังสฤษดิ์ นายพินิตราชการ อีกนามท่านขนาน พระราชาคะณะสงฆ์ ๏ สัญญาบัตรลิขิต พระพินิตพินัยตรง ความแปลว่าจำนง จิตรทรมานการวินัย ๏ เสาวนิตคู่เสาวนี สำหรับที่ท่านฝ่ายใน สั่งซั้นบัญชาไข โดยแบบใช้เสาวนี ๏ ตำหรับฉบับแบบ เป็นอย่างแยบสอนโลกีย์ เรียกนามตามคำภีร์ โลกนิติ์วิจิตรสาร ๏ ตำราสอนหนังสือ เรียกโดยชื่อเป็นโวหาร อักษรนิติขนาน นามบัญญัติจัดแบบสอน ๏ แบบหนึ่งซึ่งลิขิต วาหนิท้ายนิกร ว่าแบบนำอักษร สูงจูงต่ำนำสำเนียง ๏ นิทราแลเนานิทร ถ้าจะคิดโดยเทียบเคียง ตัวต่างแต่พ้องเสียง ส่วนไวพจน์บทนิยม ๏ เนานิทรว่านอนอยู่ ฤๅลงสู่นิทรารมณ์ ว่าหลับแลบันทม ตามคำใช้ไพร่ผู้ดี ๏ ธรณิศรคิดแปลเค้า คือพระเจ้าจอมธรณี สูงสุดสมภารมี อานุภาพปราบแดนดิน ๏ สนิทอักะณิฐ ตัวต่างผิดโดยถวิล แต่เสียงซึ่งได้ยิน อย่างเดียวกันเหมือนหมั้นหมาย ๏ ชื่นชมสมสนิท แนบชูชิดเช่นชู้ชาย โตนดตาลต่อวาย หวานสนิทติดใจกิน ๏ อกะณิฐชื่อชั้นภพ ที่สุดจบภพพรหมิน หนึ่งของมากมูลดิน ว่าอกะณิฐติดวาจา ๏ เหล่านี้ตัวสกด อย่างแบบบทเช่นบัญชา มิใคร่ได้พรรณา พึงดูที่มีประจำ ๏ คำหลายพากย์อังกฤศ ว่ามินิตมีแม่นยำ เครื่องนับสำหรับกำ หนดทุ่มโมงบาดนาที
นุด๏ นายนุตบุตรนายเนตร อ้างออกเหตุคำไทยมี อนุชคำบาฬี แปลว่าน้องพ้องอุทร ๏ นงนุชคู่นางนาฎ คำนักปราชหากสังหร เพื่อใช้ในบทกลอน เป็นคำสั้นกระชั้นเสียง ๏ อนุดตรสมโพธิ์ เสร็จแล้วโปรดสัตว์ภอเพียง เวไนยที่ใกล้เคียง บันลุล่วงห่วงสงสาร ๏ เนื้อทองชมพูนุท บริสุทธิเกินประมาณ ดอกโกกะนุทบาน แบ่งเบิกกลีบกลิ่นเกศร ๏ มนุศย์อีกมานุษย์ ใจสูงสุดไม่ท้อทอน เอิบเอื้อมดวงทินกร ดวงจันทราเอื้อมฟ้าสวรรค์ ๏ อนุศสติญาณ แปลโวหารที่รู้กัน ปัญญารฦกธรรม์ พุทธคุณเป็นประธาน ๏ สกดบทนุดนี้ ประจำที่ทุกคำขาน บัณฑิตย์จิตรวิจารณ์ จักรู้ได้ไม่ฉงน ๚ะ
เนด๏ คำใช้ไนยเนตร จะแจ้งเหตุแห่งยุบล คำไทยไม่ปะปน มีแต่บทมคธขอม ๏ ตรีเนตรท้าวสามตา เจ้าภูผาเป็นปิ่นจอม ไกรลาศนามดอยดอม คืออิศวรเจ้าภพไตรย ๏ พันเนตรท้าวพันตา ซึ่งเรียกว่าสหัสไนย เจ้าฟ้าสุราไลย นามนี้ตรงองค์อมรินทร์ ๏ คำหนึ่งนามวิเศศ ภูวเนตรตาแผ่นดิน ใช้นามเจ้าธรณินทร์ เป็นหัวหน้าดวงตาชน ๏ เนดติว่าแบบอย่าง เป็นที่อ้างแนะนำคน ให้ดูรู้เล่ห์กล เยี่ยงอย่างยลเพราะแบบบุรพ์ ๏ พระยามนูเนตร นามพิเศศในลูกขุน ความรู้ชูเชิดคุณ ชำนาญบทกฎหมายหลาย ๏ เนตติกับเนตระ เววะจะนะกันบคลาย ถึงความอธิบาย ก็ลม้ายคล้ายคลึงกัน ๏ ถอนหนวดทรงผนวช สองคำตรวจตัวต่างพรรณ์ แต่เสียงพ้องจองกัน คู่ไวพจน์กำหนดจำ ๚ะ
นบ๏ เคารพนบนอบไหว้ นี่คำไทยใช้ประจำ พระนบนั้นเป็นคำ เรียกเครื่องทรงองค์ขัดติยา ๏ สองคำบสกด ต้องตามบทแบบบัญชา นับเนื่องในภาษา สยามใช้ไทยจำนัน ๏ นพนี้แปลว่าใหม่ เก้าก็ใช้ไม่ผิดผัน สองคำร่วมตัวกัน ใช้จงต้องคลองวาจา ๏ นพใหม่ใช้จงชอบ ตามรบอบแบบภาษา คือนพนัครา ว่าเมืองใหม่จงใคร่ครวญ ๏ นพซึ่งแปลว่าเก้า ความตามเค้าในขบวน เนื้อทองเก้าน้ำควร คำเรียกร้องทองนพคุณ ๏ เทวัญปั่นเป็นเขตร สำแดงเหตุแห่งบาปบุญ เก้าองค์ให้โทษคุณ เรียกนพเคราะห์เหมาะความแปล ๏ อรรณพว่าห้วงน้ำ ซึ่งมีลำเป็นกระแส ทะเลที่สุดแล เรียกมหรรณพลบล้นฟอง ๏ คำเดิมอัณณะวะ วะเป็นพะตามทำนอง มะหะเข้าหนุนรอง เป็นมหรรณพจบวาที ๏ มหรรณพาราม ขนานนามวัดก็มี ภายในพระบุรี ถนนเนื่องเฟื่องนคร ๏ ทานพนี้ว่าครุธ ฤทธิรุตม์ข้างราญรอน อีกครูหนึ่งท่านสอน ว่ายักษมารบรรหารไข ๏ นภะแปลว่าฟ้า พระเลิศหล้านภาไลย พระนามเจ้าจอมไตรย สารเสวตรเกษธรณี ๏ นภดลว่าพื้นฟ้า ในนภากาศวิถี พระองค์เจ้าหนึ่งมี นามสมญาว่านภวงษ์ ๏ มานพคนน้อยหนุ่ม เรียกกันกลุ้มมคธตรง เช่นไทยใช้จำนง เรียกกันอยู่หนูหนูแทน ๏ ในหมวดนอไวพจน์ มีกำหนดเป็นเขตรแดน จำได้ใช้บแคลน บขัดข้องคล่องใจตน ๏ เสียแรงเป็นนักเรียน จงพากเพียรให้เป็นผล รู้จริงยิ่งฝูงชน จักได้ดลศุขสวัสดี ๚ะ
๏ จบ รบอบรเบียบถ้อย | ทางสอน |
นอ อเนกเสนาะกลอน | กล่าวอ้าง |
ไว วินิตย์อทาหรณ์ | หาเหตุ ต้นเฮย |
พจน์ พิจารณ์จิตรมล้าง | มละสิ้นกินแหนง |