สอไวพจน์

๏ ถั่นถัดจัดหมวดตั้ง ตามลำ ดับเอย
สอหมวดไวพจน์นำ แนะไว้
เรียงเรียบเทียบเทียมทำ ตามถิ่น เขานา
กลอนสุรางคณางค์ให้ สวดซ้ำทำนอง ๚ะ

๒๘ เริ่มหมวดสอไว พจน์แผ่แก้ไข แบบในละบอง กุมารศึกษา อุส่าห์ตฤกตรอง อย่าให้เคลื่อนคลอง สำเนาเลาเดิม ๏ รวมทั้งสามสอ คิดเค้าเหล่ากอ ติดต่อแต้มเติม ที่ยังบกพร่อง ก็ต้องแซมเสริม ไว้เป็นเฉลิม แก่หมู่กุมาร ๏ ในหมวดสอนี้ คำคัดชัดชี้ เลศไนยไขขาน ตั้งแต่แม่กน ประดนพจมาน นานาสาธารณ์ จนถึงแม่เกย ๏ ล้วนเป็นโอวาท คำท่านผู้ปราช ฉลาดเฉลย แต่ข้อขยาย พิปรายเปรียบเปรย ไม่ควรละเลย ลืมจำคำสอน ๚ะ

สน ตัวสอแม่กน ตั้งแต่คำสน ยุบลสุนทร คือว่าผู้คน สับสนสัญจร ปากบุกซุกซอน สื่อสนไปมา ๏ ต้นสนสูงใหญ่ สาขากิ่งใบ สพรั่งรังกา ค่อยจดค่อยจ้อง สอดคล้องไนยนา สนเข็มเล็มผ้า ไนตามุ่งมอง ๏ ชาวนาสามารถ กล้าหาญชาญฉกาจ องอาจรับรอง สนกระบือเปลี่ยว แรงเรี่ยวลำพอง ด้วยจิตรคิดปลง จะร้อยตะพาย กรองร้อยสร้อยสน เห็นงามชอบกล มาลีคลี่คลาย สร้อยสนดนตรี ก็มีชื่อหมาย สุวรรณพรรณราย ถักสายสร้อยสน ๏ หกคำนี้ความ ชัดในสยาม ต้องตามยุบล อีกคำหนึ่งไซ้ เห็นใช้ปะปน คือคำไพรสณฑ์ ว่าราวป่าดง ๏ ไพรนี้ภาษา กัมพุชพจนา ก็ว่าป่าตรง สณฑ์นี้มคธ สองพจนรวมลง แปลโดยประสงค์ ว่าหมู่ราวไพร ๏ ไพรสณฑ์ไพรสัณฑ์ เป็นคำเดียวกัน พากย์กลายเป็นไทย พนสณฑ์นี้บท มคธขานไข แปลเช่นกับไพร สณฑ์แลไพรสัณฑ์ ๏ สั่งสนทนา มคธภาษา กำกวมรวมกัน กับคำสยาม เนื้อความสามัญ จงรู้สำคัญ ทั้งสองวาที ๏ สั่งสนทนา ว่าให้วาจา ไหลหากันดี ฝ่ายข้างสยาม เนื้อความก็มี ว่าพวกเมธี สนทนากัน ๏ ชักมาให้เห็น ได้ดูรู้เช่น พูดเป็นสำคัญ ทั้งสองกระทู้ ให้รู้แบ่งปัน ละม้ายคล้ายกัน ยืนยันอย่างยล

๏ เรื่องราวติดต่อ แก้ไขเป็นข้อ เรียกอนุสนธิ์ ตัวธิการันต์ สำคัญยุบล คำไทยใช้ปน ระคนบาฬี ๏ บำเพญกุศล พูดแทบทุกคน เข้าใจกันดี ว่าเขาทำบุญ เพิ่มหนุนทวี สร้างสมบารมี กุศลสมภาร ๏ โกศลคำนี้ เป็นคำบาฬี ไทยใช้มานาน แปลว่าฉลาด สามารถ์ทุกประการ ฉลาดโวหาร ฉลาดเจรจา ๏ ญาณะโกศล แปลว่าเป็นคน ฉลาดด้วยปัญญา ปิฎกโกศล คือคนปรีชา เล่าเขียนศึกษา ปริยัติถ่องธรรม ๏ หัดถะโกศล นี้คือบุคคล เป็นช่างสารพัน ฝีมือฉลาด เขียนวาดถากฟัน ช่างสลักช่างปั้น ช่างสรรพ์นานา ๏ สนสนไทยขอม คิดรวบรวมชอม สิบสองวาจา จัดแยกแจกยก สาธกพรรณา พอเพิ่มปัญญา วิชาฝ่ายไทย ๚ะ

สัน งามสมคมสัน เขามักพูดกัน คมสันสุดใจ สันมีดสันพร้า สันตวาไสว สันนอกสันใน โตใหญ่ล่ำสัน ๏ เป็นโรคสันทฆาฏ แทบจะพินาศ สูญขาดชีวัน หากแพทย์รู้ชอบ ประกอบยาทัน จึงคลายหายพลัน ชีวันรอดมา ๏ ฝีอะคะเนสัน หมอรู้ไม่ทัน ไม่ถูกอยูกยา ข้ามสันไปซ้าย วางวายชีวา แต่ถึงมรณา นับกว่าร้อยพัน ๏ พวกนาวาจร ทอดที่สันดอน ปากน้ำเขตรคัน สันเหล่านี้หมด สกดสามัญ นอนิลสำคัญ สำหรับคำสยาม ๏ จัดสรรเลือกสรร คำไทยใช้กัน เสกสรรในความ สกดรอหัน แบบบรรพ์เหลือหลาม จึ่งเขียนเลียนตาม สังเกตเหตุการณ์ ๏ สร้างสรรค์รังสรรค์ ตัวคอการันต์ รอหันพิจารณ์ เขียนตามกระแส มาแต่โบราณ คำแปลไขขาน ว่าแต่งสร้างสรรค์ ๏ หนึ่งสังสัคคะ คำมะคะธะ ว่าระคนกัน คำไทยใช้มี ไมตรีสังสรรค์ สกดรอหัน คอสรรเสริมปลาย ๏ สัพพะสัพพา บาฬีแปลว่า ทุกสิ่งทุกพาย ไทยใช้สบสรรพ์ รอหันที่หมาย ตัวพอเพิ่มท้าย เป็นฝ่ายการันต์ ๏ คำที่ใช้มาก อยู่ล่อล่อปาก คือทุกสิ่งสรรพ์ แปลเป็นสยาม ความว่าสารพัน เช่นชื่อกรมสรร พากรนอกใน ๏ หนึ่งคำจำนัน ว่าถึงอาสัญ ชีวันบันไล อาสัญญะกรรม เป็นคำสูงไพ เราะเพราะใช้ใน ๏ ชั้นยศพระยา ๏ ญอญาติสกด ให้ถูกตามบท มคธภาษา อาสันอีกคำ จะร่ำพรรณา สกดนอสา มัญเหมือนคำสยาม ๏ อาสันนี้ไซ้ ท่านแปลว่าใกล้ วินิจไฉยโดยความ คือใกล้สิ่งใด ก็ใช้ไปตาม ใกล้นิคมคาม ใกล้เขตรนคร ๏ หนึ่งคำพูดกัน ว่ามรณาสัน คือใกล้ม้วยมรณ์ นอนิลสกด มคธนิกร แยบยนต์กลกลอน ยอกย้อนพจมาน ๏ พนสัณฑ์ไพรสัณฑ์ ก็เช่นเดียวกัน ไพรสัณฑ์พิจารณ์ แปลกแต่ปลายเสียง เทียบเคียงไขขาน เพื่อบทบรรหาร รับกลอนผ่อนผัน ๏ น่าฝนคนไทย รู้จักพูดใช้ ฤดูวษันต์ สังเกตตัวท้าย ต่อปลายการันต์ แต่มักใช้กัน วรรษานฤดู ๏ เกษมสันต์นี้ จะสำแดงชี้ อย่างแยบแบบครู เกษมว่าสิ้น ไพรินริปู สันตะว่าผู้ รำงับไภยพาล ๏ ศัลละว่าปืน คำใช้ยั่งยืน มาแต่เบาราณ คำว่าโศกศัลย์ ปืนโศกประหาร คำแผลงแปลงสาร ตัวลอเป็นยอ ของเก่าบังคับ เป็นแบบฉบับ ให้เขียนศอคอ ใช้ตามมคธ สกดตัวลอ เติมท้ายตัวยอ ยกเป็นการันต์ ๏ ในสารสิโลก ใช้ความทุกขโศก วิโยคจากกัน ร้องไห้ร่ำหา โศกาจาบัลย์ คือว่าโศกศัลย์ ปืนโศกปักทรวง ๏ บอกบทธิบาย คุ้ยคัดขยาย ชัดเช่นเด่นดวง แนะให้ผู้เพียร นักเรียนทั้งปวง ใชคำฬ่อลวง ว่าเล่นเป็นกลอน ๏ สาธกถิ่นที่ คำศับท์ลับลี้ ชี้อุทาหรณ์ พวกสันวาจา คณนานิกร ตามลำดับกลอน สิบสามวจี ๚ะ

สาน สานสานนุสนธิ์ จัดในยุบล คำไทยใช้มี ประสานสนิท ต่อติดชิดดี คนช่างพาที ประสมประสาน ๏ ช่างเขียนฉลาด ประสานสีชาด ระบายบนาน เป็นสีอ่อนแก่ ตามแต่ต้องการ ชำนิชำนาญ ประสานน้ำยา ๏ ช่างจักช่างสาน ลวดลายวิดถาร ตระการนานา ลายสองลายสาม สานตามตำรา กะบุงตะกร้า สานได้ทุกพรรณ์ ๏ ประสานจักสาน นี่บทบรรหาร คำไทยใช้กัน นอนิลสกด เป็นบทสามัญ อย่าเขียนเหียนหัน ย้ายยักอักษร ๏ เข้าสานนี้ไซ้ ก็เป็นคำไทย สามัญนิกร แต่เห็นนักปราช ฉลาดสุนทร ใช้รออักษร สกดก็มี ๏ เช่นกับสารหนู ทุกคนย่อมรู้ คำไทยพาที แต่สกดรอ แปลข้อคดี ว่าแรงฤทธี แล่นว่องเรวไว ๏ สารแปลว่าช้าง มีคำข้ออ้าง ฝ่ายข้างคำไทย รันแทะแสะสาร คำขานมีใน กาพย์โคลงถมไป ท่านใช้ชุกชุม ๏ ใช้สารคำเดียว ท่านคิดเฉลียว จะเป็นสุขุม จึ่งเติมคำคช เป็นบทรวบรุม สองคำชุมนุม ใช้ว่าคชสาร ๏ คำหนึ่งลับลี้ แต่ของท่านมี มาแต่โบราณ ว่าค่อยและเลียม เสงี่ยมเสี่ยมสาร แปลโดยโวหาร ว่าค่อยเยื้องกราย ๏ คำสารเหล่านี้ ชักมาเชิดชี้ แปลบทธิบาย ล้วนรอสกด มคธกลายกลาย ลดเลือนเคลื่อนคลาย เรี่ยรายพจนา ๏ สาระว่าแก่น นี้เป็นคำแม่น มคธภาษา ไทยเห็นยังอ่อน พูดซ้อนวาจา หนุนให้แน่นหนา พูดว่าแก่นสาร ๏ คำสารนี้ไซ้ คำมคธใช้ ที่ของโอฬาร คือแก้วคือทรัพย์ ควรนับประมาณ วิมุตติญาณ มีสารเติมปลาย ๏ คือรัตนสาร แปลโดยโวหาร ว่าแก้วแก่นหลาย อีกธะนะสาร ไขขานบรรยาย ว่าทรัพย์มากมาย เป็นแก่นถาวร ๏ วิมุตติสาร เป็นชื่อแห่งญาณ วิมุติหลุดถอน พ้นจากกิเลศ ข้ามเขตรนิวรณ์ ได้นามะกร ว่าแก่นปัญญา ๏ เหล่านี้มคธ ตัวรอสกด ตามบทบัญชา เพลงยาวคำไทย มักใช้สารา ประสงค์วาจา ว่าเป็นแก่นสาร ๏ หนึ่งเป็นของนึก ว่าให้ระฦก สมัคสมาน สมรไมตรี ตามที่ต้องการ จึ่งเรียกว่าสาร อักษรกลอนเพลง ๏ ฃอแถลงแต่งสาร ๏ นี่เป็นโวหาร แต่กาลก่อนเพรง เสนาะสุภสาร อ่อนหวานวังเวง นี่หล่อนคิดเอง ฤๅจ้างใครทำ ๏ สารเช่นนี้ไซ้ พากย์สยามใช้ แปลว่าถ้อยคำ เหตุให้ระฦก ชวนนึกแนะนำ จึ่งเรียกประจำ ชื่อกลอนเพลงยาว ๏ ข่าวราชสาสน มีข้อบรรหาร สืบเนื่องเรื่องราว ต้องใช้สาสนะ ตามระบิลสาว สืบมายืดยาว มคธยืนยัน ๏ บันดาคำสั่ง บอได้แปรผัน ต้องเขียนสาสนะ มีนอการันต์ อ่านตามสำคัญ ว่าราชสาสน ๏ สาระนั้นไซ้ แต่ก่อนก็ได้ เขียนใช้มานาน พึ่งจะเปลี่ยนผลัด ในรัชกาล พระบาทภูบาล ที่สี่โกสินทร์ ๏ ปราสาณมคธ เนื้อความตามบท ท่านแปลว่าหิน เมื่อผูกสีมา ย่อมว่าอาจิณ ร้องขานลูกหิน ว่าปาสาโณ ๏ คือบอกนิมิตร เรียงรายตามทิศ ลูกหินใหญ่โต เป็นที่วิเศศ ปันเขตรพุทโธ รสเรียกโดยโว หารวิสุงคาม ๏ หนึ่งทิศอิสาณ ว่าโดยโวหาร แปดทิศเรียงนาม ตวันออกเฉียงใต้ เขียนให้ถูกความ ตัวสกดตาม อย่างแยบแบบบุรพ์ ๏ ปราสาณอิสาณ บังคับไขขาน สกดณอคุณ อ่านดูรู้ได้ จำไว้เป็นทุน ใจอยาบทารุณ บอรู้คำดี ๏ เรียกว่าโรงศาล ตกเป็นโกหาร คนไทยพาที ต้องเขียนศอคอ ลอสกดมี สังเกตวะจี ใช้ที่โรงศาล ๏ ควรจะรู้เท่า คือท่านเทียบเอา ศาลาคำขาน เป็นแบบใช้มา ศาลาเป็นศาล ลดตามโวหาร พูดสั้นวาจา ๏ กระษัตริย์แลพราหมณ์ สารทรัพย์เหลือหลาม มั่งคั่งโภคา คะหะบดี เศรฐีสมญา สมบัติเหลือตรา เรียกว่ามหาศาล ๏ ประสงค์มีทรัพย์ ถึงที่โดยนับ กำหนดประมาณ เงินเกบเงินใช้ สะสมนมนาน หลายชั่ววงษ์วาร สืบสารตระกูล ๏ พิศาลไพศาล มคธคำขาน วิศาลเค้ามูล คำแปลออกอ้าง กว้างขวางเพิ่มพูน คล้ายกับไพบูลย์ วิบุลยเดิมคำ ๏ หมู่สานสาธก ยี่สิบหยิบยก แจกจดพจนำ ชักมาให้เห็น โดยเช่นฉันรำ พันแผ่ควรกำ หนดแน่แก่ใจ ๚ะ

สิน ในหมู่คำสิน แจกตามระบิล คือสินคำไทย ตัวสินสามัญ พูดกันสองไนย แปลว่าขาดไป กับว่าเงินทอง ๏ ไม้ยาวเกินขนาด นายช่างฉลาด สินเสียโดยปอง สินนี้ท่านใช้ แทนตัดตามคลอง คดีทำนอง ในพากย์สยาม ๏ หนึ่งว่าตัดสิน ใช้ในระบิล ตัดสินถ้อยความ คือตัดขาดลง คงให้ทำตาม บอให้ลวนลาม ทั้งโจทยจำเลย ๏ คนเข้าของหาย ไปทำกฎหมาย ตราสินตามเคย คือจำทรัพย์ไว้ บอให้ลืมเลย อ้างอำเภอเนย นับเป็นพยาน ๏ ทรัพย์สินสมบัติ คำไทยใช้ชัด มาแต่บุราณ ใช้สินแทนทรัพย์ เปลี่ยนศับท์ตามการ เช่นกับโวหาร เรียกว่าสินไหม ๏ แปลว่าส่วนทรัพย์ เป็นของต้องปรับ ผู้ประราไชย ทุกคนย่อมรู้ คู่กับพิไนย โดยคดีไทย ที่ใช้กันมา ๏ อีกสินสำรด คือทรัพย์สดสด สามีภรรยา ทำมาหาได้ ใหม่ใหม่มีมา นอกจากเงินตรา ทุนสินสอดเดิม ๏ เรียกสินสำรด คือทรัพย์สดสด เขาหาเพิ่มเติม สินสอดนี้นับ ว่าทรัพย์สอดเสริม เจือทุนจุนเจิม จำนวนทวี ๏ สินสำรศไซ้ โดยแยบแบบใช้ อีกอย่างหนึ่งมี ว่าสินสมรศ แปลพจน์พาที แปลตามวะจี ว่าทรัพย์เงินทอง ๏ เกิดขึ้นตั้งแต่ ผัวเมียพ่อแม่ มอบให้สมสอง ทำมาหาได้ บริคนปนปอง เรียกโดยทำนอง สมรศจำนวน ๏ สินภาษาไทย ต่างเหตุเลศไนย เลือกใช้ใคร่ครวญ ให้ต้องตามความ อย่าลามอย่าลวน เจ็ดคำจำนวน ครบถ้วนสินไทย ๏ คำว่าสายสิญจน์ กำหนดมีถิ่น มคธขานไข ว่าสายสำหรับ รดชลาไลย ล่ามติดเนื่องไป แต่หม้อน้ำมนต์ ๏ สกดญอญาติ การันต์อย่าคลาศ จะนะประดน คำนี้พระบาท ธิราชจุํพล จอมประชาชน บัญญัติแบบบรรพ์ ๏ คำกระแสสินธุ์ เป็นแบบระบิล ไทยขอมปนกัน ว่ากระแสน้ำ จงคำสำคัญ ตัวธุการันต์ เพิ่มท้ายวาที ๏ รัตนโกสินทร์ แปลตามวาทิน แก้วท้าวโกษีย์ เป็นนามนคร กรุงเทพบุรี อ้างพระมณี มรกฎอำไพ ๏ เดิมพระมหาเถร นามนาคเสน ธรรมาภิสมัย ดำริห์จะสร้าง พุทธรูปผ่องใส ให้ถาวรใน พระพุทธสาศนา ๏ จึ่งท้าวเทวินทร์ โกสินทร์อมรินทร์ นำแก้วนี้มา ถวายแด่พระนาค ยินมลากเหลือตรา สร้างพระปฏิมา ด้วยแก้วพระอินทร์ ๏ กรุงเทพเรานี้ พระพุทธมณี เป็นหลักธานิน จึ่งเชิดชื่อชัด กรุงรัตนโกสินทร์ เติมสร้อยมหิน ทราอยุทธยา ๏ กรุงรัตนโกสินทร์ สกดนอนิล ระบิลบัญชา ทรการันต์ ท่านสรรพจนา ต้องตามภาษา มคธบทเฉลย ๏ สิบปะมคธ ท่านแผลงตามบท สะกะฏะล่วงเลย เป็นศิลป์คำนี้ วิธีตามเคย คำเทียบเปรียบเปรย เช่นอย่างศิลปี ๏ คำพูดเกลื่อนกลาด ว่าเรียนศิลประสาตร ประหลาดหลากมี ศิลปะแปลว่า บันดาวิธี ฝีมีอการดี ที่ควรศึกษา ๏ ศิลปศรพระขรรค์ คนไทยใช้กัน จัดสรรวาจา คือศรใดใด ที่ได้เรียนมา สำหรับกายา ชำนาญชาญแผลง ๏ คนรู้เพลงอา วุธศรนานา ชาญเชี่ยวเรี่ยวแรง แม้นถึงศรอื่น นับหมื่นอย่าแคลง ควรจะสำแดง นามว่าศิลปศร ๏ เขียนเช่นศิลปสาตร ตามแบบนักปราช โอวาทสุนทร สิบปะศิลปะ พจนะนิกร เป็นอุทาหรณ์ ชี้อ้างอย่างยล ๚ะ

สีน รักษาศีลพรต ตามสิกษาบท กำหนดยุบล ศีลแปดศีลห้า ภาสิตทศพล ศีลใหญ่ประดน สองร้อยเศศปลาย ๏ ศิลาว่าหิน แต่อ่านว่าศิล ใช้ชินมากมาย เช่นกับลีลา ลีลาดผาดผาย เสียงไทยใช้กลาย ลินลาดลินลา ๏ ขบวนเขบ็จ คำสินสิ้นเสร็จ สิบเจ็ดวาจา รวบไว้ถ้วนถี่ คลายคลี่สารา บันเทาสงกา แก่ผู้เพียรเรียน ๚ะ

สุน คนโก่งกระสุน คันอ่อนลมุน ยกขึ้นเทียมเศียร ยิงปราดไปถูก ลูกนกตกเตียน นี่อ้างอย่างเขียน กระสุนคำสยาม ๏ คำพระศรีสุณห์ สกดณอคุณ หอการันต์ความ แปลว่าสะใภ้ ละไมคำงาม คำนี้ใช้ตาม มคธบทขอม ๏ สุนทรคำนี้ ท่านแปลว่าดี ไม่มีชั่วปลอม แต่สำเนียงไทย เห็นใช้รอมชอม เหมือนจะยินยอม ข้างว่าถ้อยคำ ๏ จงสังเกตดู ข้อความกระทู้ ในเลศลำนำ ได้ทราบสุนทร บทกลอนหล่อนทำ สุนทรเอื้อนอำ ถ่องถ้อยสุนทร ๏ สังเกตที่ใช้ คำที่ว่าไว้ ในพจนบทกลอน เป็นศับท์ไทยแปล รู้แท้แน่นอน คือศับท์สุนทร แปลว่าวะจี ๏ สุนทโรวาท คือคำนักปราช สั่งสอนการดี สุนทรโวหาร ไขขานวาที ว่าเรียงความดี เจนจัดอัดถ์สาย ๏ กงสุลคำนี้ เป็นฝ่ายวาที อังกฤศพิปราย ใช้เขียนตัวสอ ลอสกดปลาย อ่านสำเนียงกลาย เป็นเสียงตัวซอ ๏ กงซุลอังกฤศ อ่านเสียงสนิท คลาศจากตัวสอ สำเนียงพวกเรา หนักเบาเพียงพอ ลงเหล่าลงกอ พรักพร้อมยอม กัน ๏ ถึงอ่านผิดตัว แต่ผิดทั่วทั่ว แล้วไม่แปรผัน ภาษาสยาม เนื้อความสำคัญ มักตามตามกัน ในที่เจรจา ๚ะ

สูน สูญสูญคำนี้ คิดดูไม่มี สยามภาษา มีแต่คำอ้าง โดยทางที่มา จากพจนบทบา ฬีกลายหลายคำ ๏ สิ้นสูญสาบสูญ เป็นคำเพิ่มพูน ไทยใช้ประจำ เสื่อมสูญอีกเล่า ก็เค้าเดียวคำ ญอญาติแนะนำ สกดพจมาน ๏ หนึ่งมักทักทาย ว่าท่านทั้งหลาย ๏ สูญหายไปนาน จะวัดอะไร ย่อมใช้ประมาณ สูญกลางวางการ ให้ได้ดิ่งสูนย์ ๏ ยอดพระเจดีย์ ยอดมณฑปมี ชั้นเก้าเค้ามูล ท่านเรียกบรรจบ ว่านพสูญ ปราสาทจำรูญ นพสูญเช่นกัน ๏ คำนี้ประสงค์ เอาที่ยอดตรง ดิ่งสูญสำคัญ นพะว่าเก้า นับเค้าชั้นปัน บัวหงายถงัน เก้าชั้นขึ้นไป ๏ จึ่งถึงยอดตรง สัณฐานรูปทรง เรียวแหลมละไม เรื่องนี้ที่แท้ ไม่แน่แก่ใจ ต้องฃออะไภย แก่ผู้รู้จริง ๏ สูญเจดคำสอน โดยลำดับกลอน สุนทรประวิง ญอใหญ่สกด ตามพจน์พาดพิง เป็นอย่างอ้างอิง แหล่งอุทาหรณ์ ๏ สุระว่ากล้า ที่ใช้นั้นว่า ดวงทินกร เพราะแสงกล้าส่อง ทั่วท้องดินดอน เช่นนามกร เจ้าพระยาสุรวงษ ๏ สุระเช่นว่า มีอะนำน่า เป็นคำลดลง กลับเป็นไม่กล้า ภาษาประสงค์ อสุระเผ่าพงษ์ คือวงษ์ยักษ์มาร ๏ ราพนาสูร คำนี้เค้ามูล มีใช้มานาน ก็แปลว่ายักษ์ ประจักษ์วงษ์วาร มียศศฤงฆาร เช่นท้าวทศกรรฐ ๏ คำว่าอสูร คือพงษ์ประยูร พวกยักษ์สามัญ เช่นว่าพวกพล อสูรหลายพัน คือเรียกรวมกัน พลยักษ์โยธา ๏ อีกนามเค้ามูล ว่ารามสูร อยู่กลีบเมฆา เหิมฮึกห้าวหาญ ถือขวานเป็นอา วุธขว้างเมขลา เล่ามาแต่บรรพ์ ๏ อะสูรทั้งหมด ใช้รอสกด บอแผกแปลกกัน ศูลลอสกด นี่บทสำคัญ แปลคำจำนัน ว่าหลาวเหล็กคม ๏ ใช้ว่าตรีศูล เป็นคำเพิ่มพูน สังขยาระดม ว่าหลาวสามง่าม ดูความก็สม นามภูวสยม ว่าตรีศุลี ๏ เพราะอ้างเอาเหตุ ว่าเจ้าโลเกศร มีมือถือตรี ศูลแหลมสามเล่ม ขันเข้มฤทธี ปราบราพราวี ยินยอบอาญา ๏ ดวงสูริยแสงสูริย คำนี้เค้ามูล สุริยะเดิมมา อ่านย่นสกด โดยพจนภาษา สยามเจรจา ก็ว่าสูริย์จันทร์ ๏ ไอสูริย์นี้ไซ้ ที่วางทางไว้ พอได้สำคัญ คืออิศศริยะ มะคะธะแบบบรรพ์ แผลงเป็นไอสวรรย์ กลับแผลงแปลงคำ ๏ เอาวะเป็นอู นอกนั้นคงอยู่ กระทู้พจนำ จึ่งเป็นไอสูริย์ เค้ามูลแม่นยำ ทีี่ใช้ประจำ พิพิธไอสูริย์ ๏ อีกคำเฉลิม มีคำต้นเสริม ต่อเติมเพิ่มภูน มีคำที่ใช้ ว่ามไหสูรย แปลทวีคูณ ว่าใหญ่ศักดา ๏ ไอสูรยไอสวรรย แปลอย่างเดียวกัน เช่นฉันพรรณา ที่มีมาใน วอไวพจน์ปรา กฎชัดสารา เบื้องต้นหนหลัง มีบทบังคับ ที่ใช้วาจัง ยกเป็นพระนาม กระษัตริย์โดยหวัง คล้ายบทพจนัง บดีสูรยสม ๏ แปลว่าควรเปรียบ มีคุณควรเทียบ ดวงสุริโยดม แปลเป็นใหญ่กว่า ประชาทุกกรม สองศับท์นิยม ในราชสมญา ๏ คำสูญเสร็จสรัพ โดยจำนวนนับ สิบสี่วาจา ต่างตัวสกด ตามบทพจนา ควรจะศึกษา โดยแบบแยบยนต์ ๚ะ

สอน เริ่มข้อต่อกลอน ชักอุทาหรณ์ แห่งสอนนุสนธิ์ สอนพูดในความ ๏ สยามยุบล สอนเวทสอนมนต์ สารพัดสั่งสอน ๏ เกสรคำนี้ ว่าตามท้องที่ พวกรอเป็นออน ชี้อย่างอ้างเพื่อน ก็เหมือนพระกร แต่ไทยใช้ผ่อน เกสอนมีออ ๏ เพราะเกณฑ์เอาไป เป็นภาษาไทย เขียนใช้มาพอ เดิมเป็นมคธ สกดตัวรอ พวกเค้าเหล่ากอ พวกรอเป็นออน ๏ ในคำบาฬี บทตัวอย่างมี เช่นว่าไกรสร เป็นชื่อสิงหราช ชาติมฤคินทร เรียกเต็มนามกร ไกรสรราชสีห์ ๏ คำว่าอนุสร พากยพจนบทกลอน ใช้หลากมากมี แปลว่าคำนึง รำพึงคดี ในคำสูงศรี ว่าทรงอนุสร ๏ ใช้ต่างตำริห์ ความนึกตฤกตริ แห่งองค์ภูธร สยามความใช้ แต่ในบทกลอน คำคงถาวร ไม่กลายเป็นไทย ๏ สโมสรศับท์ มักพูดรวบกับ สมัครักใคร่ เป็นคำระแวง แปร่งแปร่งข้างไทย แต่ที่จริงใช้ คำบาฬีคง ๏ แปลว่าประชุม คือของชุํนุํ ที่รวบรวมลง แต่ที่ไทยใช้ ดูไม่สู้ตรง มักอ้างจำนง ยินดีปรีดา ๏ สามคำนี้ไซ้ สอลอท่านใช้ เป็นบทแบบมา ตัวรอสกด โดยบทบัญชา ออกสำเนียงปรา กฎว่าเป็นสร ๏ แต่นี้จะนำ จัดเอาพวกคำ ศอคอต่อกลอน ตั้งเค้าคำลง ว่าองค์อดิศร ใช้เป็นนามกร กระษัตริย์ก็มี ๏ ว่ายิ่งเป็นใหญ่ ท่านมักรวบใช้ กับเดชฤทธี เดชาดิศร นามกรสูงศรี กรมสมเด็จพี่ ยาเธอเลอยศ ๏ พระแผลงแสงศร มีในบทกลอน รู้ทั่วกันหมด มีคันมีสาย ต้นปลายงอคด เรียกตามกำหนด ว่าพระแสงศร ๏ บางแห่งจำนง คำศรประสงค์ ว่าปืนราญรอน เช่นกับเจ้ากรม กรมแสงนามกร พระอัคเนศร นี่ว่าปืนไฟ ๏ คำเดิมอัคนี พฤฒิวิธี อีเป็นเอไป เป็นอัดเนศร แปลว่าปืนไฟ เจ้ากรมแสงใน คู่ศรสำแดง ๏ อดิศรนี้ ฉันจะช่วยชี้ ชัดคำสำแดง ว่าเป็นใหญ่ยิ่ง คำจริงแจ้งแจง ยลแยบแอบแฝง ฟอกเฟ้นเห็นความ ๏ อดิศรไซ้ ท่านมักจะใช้ คำสูงสยาม วงษาดิศร ในกลอนพระนาม แปลออกโดยความ วงษ์เป็นใหญ่สูง ๏ ที่ใช้เป็นพื้น บางทีคำอื่น เข้าหนุนพยูง เดชาดิศร คำเดชมาจูง ว่าเดชใหญ่สูง สมศักดิ์สมพงษ์ ๏ มหิศรศับท์ คำนี้ท่านนับ เป็นนามแห่งองค์ สมเด็จพระบาท อธิราชธำรง พิภพใหญ่ยง ด้าวแดนแผ่นดิน ๏ อีกนริศร ก็เป็นนามกร จอมนารถนรินทร์ เป็นเจ้าแห่งชน สากลธรณิน นิยมยอบยิน ในราชอาญา ๏ อังคณิศร ตั้งเป็นนามกร ขุนนางเสนา เป็นเค้าบาญชี โยธีโยธา สำหรับตรวจตรา บาญชีรี้พล ๏ ศรหกวาจา ดังเช่นว่ามา โดยแบบแยบยนต์ เขียนใช้ศอคอ ตามข้อยุบล สืบสารนุสนธ์ แต่เบื้องปางบรรพ์ ๏ คำเดิมอักขะระ มาเป็นพจนะ ของไทยใช้กัน ขะเป็นษอบอ บอกข้อสำคัญ เช่นใช้ทุกวัน นี้ว่าอักษร ๏ คำเดิมอัจฉรา เป็นชื่อนางฟ้า กัญญานิกร แปลงฉเป็นศอ ติดต่อบทกลอน ว่านางอับศร เทพกัลยา ๏ คำเดิมขะระ แผลงเป็นสะกะฏะ วิธีภาษา ออกเป็นกาษร สุนทรพจนา เช่นใช้กันมา ว่ากระบือคง ๏ เดิมอัพภาสะ เป็นกะขะระ ตามคำจำนง ขะเป็นษอบอ โดยข้อประสงค์ เสียงไทยไม่ตรง ชักกะเป็นกา ๏ จึ่งเป็นกาษร ตัวอุทาหรณ์ เหตุต้นค้นมา ชี้แจงให้เห็น ดังเช่นพรรณา สุขุมสารา อุส่าห์ตริตรอง ๏ หมวดสอนไวพจน์ นับคำกำหนด โดยบทละบอง สิบห้าคำถ้วน จำนวนทั้งผอง คิดคัดจัดจอง โดยแยบแบบบรรพ์ ๚ะ

สวน คำสวนสวนสอบ ว่าตามระบอบ คำไทยใช้กัน พูดยังสงไสย ได้สวนปากกัน สวนสัดถังธัญ แสสวนทนาน ๏ คำดีที่ควร เป็นแบบกระสวน ประมวญประมาณ กระสวนช่างไม้ ย่อมใช้ในการ เป็นอย่างเทียบทาน ปีกจั่วจันทัน ๏ เรือกสวนไร่นา พูดอยู่อัตรา วาจาสามัญ หนึ่งว่ากำสรวญ โศกาจาบัลย์ นี่คำสามัญ ญอญาติสกด ๏ กำสรวญสร้อยเศร้า นี่เป็นคู่เค้า กับคำกำสรด ผิดภาษาไทย มิใช่มคธ คำแยบแบบบท เป็นของบุราณ ๏ อีกทรงพระสรวล แลทรงสำรวล ก็ควรพิจารณ์ เป็นราชาศับท์ สำหรับภูบาล เจ้านายวงษ์วาร พระปิ่นปัถพี ๏ แปลว่าหัวเราะ โดยความงามเหมาะ ไพรเราะวาที ใช้ลอสกด ตามบทแบบมี เป็นคำกระวี วางแบบระบิล ๏ นามพระอิศวร แต่คนทั้งมวน มักเรียกว่าอิน คำพูดเรียกใช้ ใครไม่ตัดสิน เช่นประฎิทิน เรียกนินตามกัน ๏ ถึงผู้แปลได้ เวลาพูดใช้ ก็ไม่บิดผัน ตามเขาทั้งมวญ อินควนเหมือนกัน ต่อเขียนตัวนั้น จึ่งเป็นอิศวร ๏ พูดภาษาไทย มักเคลื่อนเลื่อนไหล ต้องให้ใคร่ครวญ ลางคำก็คง ตรงกับที่ควร ลางคำผันผวน เพี้ยนคลาศพลาดไป ๏ คำนี้มะคะธะ ก็คืออิศศระ แปลว่าเป็นใหญ่ สังสกฤษฎ์เสริม วอเติมลงไป อ่านเป็นคำไทย อิศวรควรการ ๏ มเหศวรศับท์ คำนี้ก็นับ นามเจ้าจักรวาฬ มหิศศระ ตัวต้นประธาน อิเอแปลงสาร จึ่งเป็นมเห ๏ ก็คืออิศวร ที่พราหมณ์ทั้งมวญ สมมตเป็นเท เวศรเจ้าพิภพ เลิศลบทรงเด โชไชยในเก ลาศคิรีรมย์ ๏ พระภูมิศวร ศับท์นี้สมควร เป็นคำอุดม ใช้เป็นพระนาม กระษัตริย์ดูสม แปลความนิยม เจ้าภูดาธาร ๏ ราเมศวรนี้ นามกระษัตริย์ลี้ ลับแล้วมานาน ครอบครองผดุง ครั้งกรุงโบราณ หลายองค์ขนาน นามนี้พ้องกัน ๏ พระนเรศวร นับในจำนวน พระนามทรงธรรม์ แปลว่าเป็นเจ้า เหล่าประชาอัน อยู่ในเขตรคัน อาณานคร ๏ อดิศศะวะระ ที่ต้องการคละ สัมผัศฟัดกลอน อ่านอดิศวร ก็ควรสุนทร เหมือนอดิศร ทั้งแปลทั้งความ ๏ จำนวนสวนหมด ย้ายแยกแจกจด มคธสยาม แบบแจ้งบรรจบ พอครบสิบสาม ครวญใคร่ใช้ตาม เห็นงามแก่ใจ ๚ะ

เสียน คำเสียนเปลี่ยนกลอน แจกอุทาหรณ์ ทั้งขอมทั้งไทย กระเบียดกระเสียน เบียดเบียนกันไป จะปรับอะไร พอให้กระเสียน ๏ เสียนเช่นนี้ไซ้ เป็นภาษาไทย พูดใช้จำเนียร นอนิลสกด บทบังคับเขียน เหล่าพวกนักเรียน เร่งรู้ดูจำ ๏ เกษียณอายุ รู้ให้โปร่งปรุ ยุบลต้นคำ ตัวเดิมขีณะ สะกะฎะแผลงคำ กะษิณะนำ เป็นไทยใช้เกษียณ ๏ แปลว่าอายุ ที่สิ้นล่วงลุ เรวฤๅจำเนียร สิ้นน้อยฤๅมาก วิภาคจัดเจียน นับตามเกษียณ อายุสิ้นไป ๏ บทไอยการ ใช้เป็นประมาณ ในเบี้ยปรับไหม หนึ่งเป็นประมาณ ในการทาษไทย อายุเท่าใด ลดหย่อนผ่อนทวี ๏ เกษียรสมุท จงรู้ให้สุด ต้นเค้าวาที คำเดิมขีระ พจนะบาฬี แผลงโดยวิธี สะกะฎะนิยม ๏ จึ่งเป็นเกษียร แปลให้แนบเนียน ทเลน้ำนม เพราะเป็นวารี ศรีขาวควรชม นารายน์บันทม เกษียรสินธู ๏ เรื่องนี้ว่าตาม คัมภีร์ข้างพราหมณ์ ยกความเชิดชู จะจริงไม่จริง นิ่งฟังไปดู คงจะพบครู ผู้ตัดสงไสย ๏ ศิระมคธ ที่เขียนปรากฏ ตามบทข้างไทย เอาอิบนศอ เป็นยอแปลงไป อ่านสำเนียงไทย ก็ใช้ว่าเศียร ๏ ใช้เป็นคำสูง เติมพระหนุนจูง นำน่าแนบเนียน เช่นราชาศับท์ ใช้ว่าพระเศียร ด้วยต้องระเมียน ระมัดวาจา ๏ เศียรว่าศีศะ ดังท้าวอะสุระ เจ้ากรุงลงกา นามท้าวทศเศียร ทศกรรฐา เรียกอีกสมญา ว่ายี่สิบกร ๏ คำเสียนสาธก นับพอครบหก ตามอุทาหรณ์ จะแจกคำสง จำนงต่อกลอน แก้สงไทยก่อน ผันผ่อนนุกรม ฯ

สง คำไทยใช้สง พูดกันตรงตรง หมากสงมีถม สงฟางสงหญ้า ถั่วยาสงธม ปลากระสงจม ในท้องสินธู ๏ ชำระสระสรง พระวรองค์ อนงค์โฉมตรู แล้วจึ่งทรงเครื่อง รุ่งเรืองไพรู จิรัตนรายดู เลิศล้ำอำไพ ๏ คำว่าสรงน้ำ เดิมเป็นของกำ พุชพากย์ขานไข จัดเป็นคำสูง ในภาษาไทย แต่มักเข้าใจ ว่าคำสยาม ๏ ประสงค์คำนี้ เดิมคำบาฬี คนไทยใช้ตาม แปลว่าอะไร ก็ไม่ได้ความ แต่คนสยาม ย่อมเข้าใจกัน ๏ ลิขิตคิดต่อ เขียนใช้สอลอ มีคอการันต์ เช่นราชประสงค์ จำนงสัตย์ธรรม์ แปลโดยสามัญ นั้นว่าต้องการ ๏ บวชเป็นพระสงฆ์ คำนี้ก็ตรง มคธพจมาน แต่พวกคนไทย ก็ใช้มานาน ฆอระฆังขาน เพิ่มท้ายการันต์ ๏ ปราสงษคำนี้ แปลความบาฬี ว่าสรเสริญสรรพ์ คำภาษาไทย ไม่ใคร่ใช้กัน มีแต่ในฉันท์ พากย์โคลงกาพย์กลอน ๏ จะเขียนใช้กัน ษอบอการันต์ เพิ่มท้ายสังหร เป็นที่สังเกต ตามเหตุอักษร จำนงแน่นอน ถนัดชัดเจน ๏ มสังไทรโศก ต้องวายุโบก เขยื้อนโยกอ่อนเอน คำสังหลากหลาก หายากบากเบน สังไทยใช้เกณฑ์ เอาผักกระสัง ๏ ด้ายดิบรัดศพ พันผูกเท้าทบ รึงรัตตราตรัง เรียกกันง่ายง่าย ว่าด้ายตราสัง กำหนดพจนัง ๏ นับในสยาม ๏ หนึ่งว่าเซซัง ระเสิดระสัง เป็นถ้อยสร้อยความ ระเสิดว่าหนี ระสังผลีผลาม ลุกลนลวนลาม สยามพูดกัน ๏ บาฬีพจนัง นั้นคือแตรสังข์ มีขอการันต์ ม้าสังข์รัศมี กระบี่สังขวรรณ์ ช้างสังขทันต์ งาขาวดุจสังข์ ๏ นารายน์ฤทธิ์รอน ทรงพระนามกร ว่าพระทรงสังข์ เห็นใช้กันมาก คำพากย์โขนหนัง นามอีกวาจัง ว่าสังขกร ๏ เพราะท่านทรงถือ สังขจักรคู่มือ กับคทาธร พระหัดถ์หนึ่งมี แผ่นที่ดินดอน ครบทั้งสี่กร แห่งองค์นารายน์ ๏ สังฆการี พนักงานมี กิจสงฆ์ทั้งหลาย เรียกนานการจาง คำกลางขาดหาย เรียกแต่ต้นปลาย ว่าสังกะรี ๏ สังฆราชา ตั้งเป็นสมญา พระครูก็มี สมเด็จพระสัง ฆราชบาตรมณี อธิบดี แก่สงฆ์ทั้งผอง ๏ สังสังไทยขอม จัดรวบรอมชอม เข้าเป็นหมวดกอง ได้หกวาจา อุส่าห์ไตร่ตรอง ตามแบบละบอง บทบ่อนกลอนเรียง ๚ะ

สาง คำไทยใช้สาง ยนต์แยบแบบอย่าง จัดวางเทียบเคียง ชำระสระสาง อยู่ข้างลำเอียง ซักไซ้ไล่เลียง แต่ข้างจำเลย ๏ เวลาสางสาง จวนจะรุ่งราง เราตื่นตามเคย ผีสางเทวา ตูข้าสังเวย ฃอข้าล่วงเลย เสือสางกลางดง ๏ หวีพลางสางผม จะให้คนชม ต้องคอยประจง หวีเครื่องต้นจัด กระษัตริย์ท่านทรง มีคำจำนง เรียกว่าพระสาง ๏ เศศส่วนแห่งสิบ บัญญัติยกหยิบ คำใช้ไว้วาง จงจำสำเหนียก ท่านเรียกทะสางค์ คู่กับสะตางค์ อย่างรองน้ำฝน ๏ เป็นคำบาฬี จะเขียนต้องมี ตัวคอประดน เป็นฝ่ายการันต์ จัดสรรยุบล ไม่คละปะปน กับคำสยาม ๏ ทะสางคุลี จะแปลคำนี้ ให้จัดชัดความ ว่าสิบนิ้วกลม น่าชมชูงาม นี้แปลแต่ตาม เตมตัวอักษร ๏ ทะสางคุลี ท่านใช้ไว้มี ในบทกาพยกลอน รวบกับกรรพุม สุขุมสาธร ว่าประนมกร สิบนิ้วหัดถา ๏ หมวดสางวางแบบ บรรยายรายแยบ ครบแปดวาจา ไทยขอมพร้อมหมด ตามบทสารา อยากยลค้นหา ตามจ่าบาญชี ๚ะ

สิง จะแจงแจ้งจริง แจกอัดถ์อ้างอิง ในสิงวาที ผีสิงท้าวมด บาทบทใช้มี นับในวจี คำไทยเจรจา ๏ สิงโตโวหาร มีแต่โบราณ เรียกขานกันมา งูสิงเลื้อยออก จากทรอกคันนา ตีสิ้นชีวา ฝูงกาตอมกิน ๏ สิงหะคำนี้ มาแต่บาฬี เป็นชื่อมฤคินทร์ คือราชสีห์ มีในแดนดิน ประเทศเขตรถิ่น ที่ป่าหิมพานต์ ๏ บ่างเรียกสิงหราช ใช้กันออกกลาด มาแต่บุราณ สีหราชเดโช ฤทธิไกรเกรียงหาญ เป็นนามขนาน อาษาใหญ่ยง ๏ ศรีสิงห์เทพ มะหาดไทยเสพย์ ยศศักดิ์ธำรง สิงหมุทธา ชื่อตราโดยจง แปลความตามตรง ว่าตราราชสีห ๏ สิงหบัญชร พระแกลบวร ปรางปราสาทศรี ในบานทั้งสอง ลายทองรูจี สำหรับภูบดี ทอดทัศไนย ๏ นะระสิงหะ คนมีเดชะ อำนาจเกรียงไกร สรสิงหราช ฉลาดว่องไว บมีผู้ใด จะเทียบเทียมทัน ๏ อิกว่านรสิงค์ มีจริงไม่จริง คำเขาเล่ากัน รูปคล้ายกับคน พิกลบิดผัน แต่รูปประพรรณ์ มีครีบมีเขา ๏ ในคำเขาว่า มันเป็นสัตว์ป่า ไกลเกินลำเนา เห็นแต่รูปปั้น รูปเขียนเลียนเดา ดูก็พริ้งเพรา รูปร่างอย่างคน ๏ มักพูดกันว่า หญิงชายกรีธา ฤดีกามกล ในเขตรอาราม ลวนลามซุกซน บาปนั้นนำตน เกิดเป็นนรสิงค์ ๏ คำท่านขู่ไว้ เพื่อเผื่อจะให้ หากเห็นเป็นจริง จะได้กลัวเกรง นักเลงผู้หญิง ไม่อาจพาดพิง ในเขตรที่สงฆ์ ๏ นรสิงค์นี้ จะเขียนต้องมี คอการันต์ลง ด้วยเป็นมคธ โดยบทประสงค์ ควรให้ใช้คง คำแยบแบบบรรพ์ ๏ เมืองสิงห์บุรี เช่นใช้เคยมี ตัวหอการันต์ บางพวกเห็นแปลก ย้ายแยกต่างกัน เขียนคอการันต์ เมืองสิงค์บูรี ๏ ป่ารังโคสิงค์ คำนี้มีจริง ในพระบาฬี โคสิงคสา ละวันราชี ป่าใหญ่ไพรศรี เป็นที่สำราญ ๏ คำใช้หมวดสิง ตัวอย่างอ้างอิง สิบเอ็จประมาณ ประมวญไว้หมด ตามบทพิจารณ์ ดูให้ชำนาญ ในสารคดี ๚ะ

สก ตัวสอแม่กก ว่าผมหยักสก คำไทยพาที คือผมหยิกหยอง เกี่ยวคล้องพันหวี ไม่สลวยรวยรี เช่นเขาทั้งหลาย ๏ ศกคำเขมร รู้ชัดจัดเจน เจริญพระศก ยกออกธิบาย เป็นคำเจ้านาย แปลว่าโกนผม ๏ วันเถลิงศก คือวันเลิกยก ตั้งปีนุกรม เป็นต้นแห่งวัน ปีนั้นนิยม เป็นวันอุดม ต้นวันทั้งผอง ๏ เอกศกโทศก นี่คำสาธก ที่หนึ่งที่สอง เรียงไปจนสัม ฤทธิศกปอง นับโดยทำนอง ที่สิบถึงสูญ ๏ เงินห้ามาศก อัตราสาธก นับตามเค้ามูล เงินห้ามาศก เป็นบาทบริบูรณ์ จงคิดเพิ่มพูน เอาตามอัตรา ๏ เดิมอุบาศก เป็นคำยะมก อุบาสิกา คำไทยใช้ลด แปลงพจน์สารา ประสกสีกา ต้นหายปลายคง ๏ อุบาศกนี้ แปลความบาฬี ที่คำจำนง ว่าผู้เข้าไป นั่งใกล้จิตรจง ชีวิตรจิตรปลง ต่อแก้วทั้งสาม ๏ คือถึงสระณะ บอได้เลยละ ทุกโมงทุกยาม จิตรมั่นเลื่อมไส บอได้ล่วงลาม หาที่พึ่งตาม ศรัทธานิยม ๏ อาการดังว่า ชายเรียกอุบา ศกเอกอุดม หญิงเรียกอุบา สิกาควรชม เพราะประพฤติสม กับนามความดี ๏ ซึ่งลดเรียกว่า ประสกสีกา แปร่งปร่าวาที ดูก็พองาม กับความจารี บุรุศย์สัตรี อัชฌัดตะนา ๏ ศกคำไทยแท้ มีคำหนึ่งแน่ ไทยชอบเจรจา ของสกกระปรก ดูรกไนตา นี่เป็นภาษา สยามความตรง ๏ เมืองพนมศก คำเขมรยก ว่ายอดเขาคง อยู่ในประเทศ แดนเขตรป่าดง ควรนับจำนง ในกัมพุชพจน์ ๏ ศกเขมรไทย อีกคำศกใน ภาษามคธ ประมวญวาจา ที่ว่าทั้งหมด ควรจำกำหนด นับเก้าวาที ๚ะ

สัก สักคำสยาม พูดใช้ในความ หลากหลากมากมี ต้นสักขอนสัก โรงสักสัสดี สักตามบาญชี หมายหมู่หมวดกัน ๏ พวกลาวพุงดำ กายากำยำ สักขาดูขัน กระแซพะม่า สักขาเช่นกัน อยากรู้สำคัญ เอาเหล็กสักลง ๏ คำว่าตระศัก ต้องแปลเยื้องยัก ย้ายตามความตรง ว่าเสียงตระศัก เพราะหนักยิ่งยง ว่าด้วยรูปทรง ก็แปลว่างาม ๏ คำว่าสัดติ แผลงตามลัทธิ สังสกฤษฏ์พราหมณ์ ใช้กันว่าศักดิ์ ประจักษ์โดยความ ใช้ในสยาม ว่ายศศักดิศรี ๏ ศักดินักปราช แปลว่าอำนาจ มหิทธิฤทธี ตำแหน่งประจักษ์ สุรศักด์มนตรี จางวางธิบดี มหาดเล็กหลาย ๏ หลวงศักดินายเวร ที่เรียกกันเจน นั้นว่าหลวงนาย มีเกียรดิยศศักดิ์ ประจักษ์มากมาย ต้นสั่งบาดหมาย รับพระราชโองการ ๏ ขุนธนศักดิ์ รู้แม่นแน่นหนัก ตำแหน่งพนักงาน จัดเงินถวาย ใช้จ่ายในการ พลเรือนทหาร ทุกหมู่ทุกกรม คำไทยใช้นัก ช่างชะเลยสัก เกณฑ์มารดม หมอชะเลยศัก รู้หลักมีถม สองคำนิยม ว่านอกเถบียน ๏ ชื่อเมืองหล่มสัก คือถิ่นสำนักนิ์ ป่าศักดาษเดียร เดิมที่ลุ่มหล่ม โคลนตมอาเกียรณ์ จึ่งตั้งนามเมียน หล่มศักบุรี ๏ เมืองหนึ่งตระหนัก ชื่อจำปาสัก ประเทศธานี หนึ่งแควป่าสัก แยกยักทางมี ออกจากนะที กรุงเทพนคร ๏ หนึ่งมเหศักข์ คำนี้ท่านมัก ใช้หนุนนามกร ว่ามเหศักข์ เทวราชสังหร แปลตามอักษร ศักดาใหญ่ยง ๏ จะเขียนใช้กัน ตัวขอการันต์ เร่งสรรใส่ลง เติมท้ายสกด มคธคำตรง ควรใช้ให้คง จำนงสุนทร ๏ สักขีคำขาน แปลว่าพยาน บริหารเบิกถอน โจทยจำเลยอ้าง ไว้วางแน่นอน ท่านใช้ในกลอน มักว่าสากษี ๏ ตัวสักเป็นสาก ใช้สำเนียงหลาก แผลงโดยวิธี ขอเป็นษอบอ ติดต่อวจี จึ่งเป็นสากษี ว่าพยานความ ๏ เดิมคำบาฬี สะกะฏะวาที คนไทยใช้ตาม ครั้นเนิ่นนานปี ตัวที่เสื่อมทราม เหลือแต่ต้นนาม ว่าศักระวา ๏ สะกะวาที คำคู่กันมี คือปะระวา ทีคำเราเขา ตอบโต้ไปมา เช่นเพลงไก่ป่า แลเพลงเทพทอง ๏ สักรเทวราช ผู้มีอำนาจ ผ่านแผ่ปกครอง เป็นเจ้าเทวา ชั้นฟ้าทั้งสอง เรียกโดยจำนอง ว่าท้าวสกรินทร์ ๏ พระวงษ์แห่งพระ เรียกว่าสักยะ นครกระบิล ละพัสดุวงษ์ ดำรงธรณิน สืบมาอาจิณ จนทุกวันวาร ๏ มเหศรศักดิ์ เป็นนามตระหนัก จอมจักรพาฬ บางทีท่านใช้ ในคำสาธารณ์ ยอยศภูบาล แลเทพยุดา ๏ หลวงสรศักดิ์ เป็นคำแยกยัก สุรศักดิ์วาจา แปลความก็ต่าง แปลอย่างกันมา สรศักดิแปลว่า ยศศักดิงามดี ๏ ศักสักขอมไทย ชักมาว่าไว้ สิบแปดวะจี แต่พอได้ดู ได้รู้ท่วงที ศักคำบาฬี กับคำสยาม ๚ะ

สาก คำไทยพูดสาก ไม่สู้มีมาก โดยกระแสความ สากคู่กับครก นี่ยกเป็นสยาม กับว่าผ้าคราม สากสากคายคาย ๏ พระสากยบุตริย คือสงฆ์บริสุทธิ แนวเนื้อเชื้อสาย แห่งพระชินวร วงษ์สากยหมาย สืบแส้แพร่หลาย มาถึงทุกวัน ๏ ไพศาขคำนี้ ออกจากวาที วิศาขบรรพ์ เอาวะเป็นพะ สระอิหัน เป็นไอไปพลัน ไพศาขเสร็จคำ ๏ แปลว่าเดือนหก คือดาวฤกษตก เดือนหกประจำ วิศาขบุณ ณะมีมีสำ คัญเป็นที่กำ หนดแน่แก่ใจ ๏ ข้อเค้าเลาเลศ ที่สำแดงเหตุ แห่งสากพจน์ไพ คิดคัดรอมชอม ทั้งขอมทั้งไทย ตริตรองตราไตร สี่คำรำพัน ๚ะ

สึก คำว่าข้าศึก มิใช่คำฦก คนไทยจำนัน คำเศิกก็ใช้ ศึกได้เหมือนกัน เช่นในคำฉันท์ ส่ายเศิกเพิกพัง ๏ พระบวชแล้วสึก นี่ก็ไม่ฦก สยามพจนัง สึกหรออะไร กับไขวาจัง ไม่เหมือนกระทั่ง กระทบด้วยกาย ๏ เครื่องเหล็กใช้สอย ถูกสับบ่อย ๆ สึกย่อยทั้งปลาย สิ่งของใดใด ที่ใช้ไม่วาย สึกหรอกลับกลาย ทุกเดือนทุกปี ๏ ศึกอีกวาจา ออกจากสิกขา วาจาบาฬี คำไทยใช้ว่า ศึกษาวิธี แปลในวจี ว่าสำเหนียกเรียน ๏ ศึกนี้ศอคอ ตัวษาษอบอ ติดต่อคำเขียน ถูกตามบังคับ คำศับท์จำเนียร จงอุส่าห์เพียร สังเกตเลศไนย ๚ะ

สุก จงรู้ทำนุก คำว่าเข้าสุก นี่ภาษาไทย หุงต้มเผาปิ้ง สรรพสิ่งใดใด ล้วนสุกด้วยไฟ คำไทยทั้งมวญ ๏ แก่ห่ามสุกหอม บ่มไว้ให้งอม ผลไม้ในสวน สุกคู่กับดิบ หยิบใช้ให้ควร อยู่ในจำนวน คำไทยทั้งหมด ๏ คำว่าผาศุก คู่กับสนุกนิ์ นี่คำมคธ ลิขิตศอคอ ตัวกอสกด แปลในแบบบท ว่าความสำราญ ๏ ศุกระว่าขาว เรียกเป็นชื่อดาว ฤกษในคัคณานต์ เป็นที่หกใน สับดาหะวาร คู่มิตรอังคาร ที่รองเสารี ๏ เขียนว่าวันศุกร ตามแบบทำนุก รอการันต์มี ศุขังทุกขัง ระวังจงดี ศุขังคำนี้ แปลว่าสบาย ๏ ความศุขในจิตร คู่แอบแนบชิด ความศุขในกาย ศุขสกดขอ เป็นข้ออ้างหมาย เขียนอย่ากลับกลาย เป็นเข้าสุกไป ๏ นักเลงเทดวด กะแต้มตราตรวจ ถึงสุกดีใจ อันสุกคำนี้ ต้องที่สุกไทย เหมือนผลอะไร สุกแล้วเสร็จคราว ๏ ศุกสุกขอมไทย ชักมาว่าไว้ พอได้เรื่องราว เพ้อมากปากจืด ชักยืดชักยาว นับโดยจาวจาว สุกมีสี่คำ ๚ะ

เสก ลงยันต์ลงเลข แล้วปลุกเป่าเสก เอกอาคมขำ เสกนี้คำไทย พูดใช้ประจำ เดิมจะเป็นคำ ภาษาอะไร ๏ นี่ก็เหลือล้น เอารากเอาต้น ให้สิ้นสงไสย เกิดทีหลังรู้ ต้องสู้ทนไป เขาว่ากะไร ก็ว่าตามกัน ๏ อภิเศกนี้ เป็นคำบาฬี มีใช้มากครัน ว่ารดโสรดสรง ด้วยน้ำสำคัญ ตามพิธีอัน เนื่องมาแต่พราหมณ์ ๏ กระษัตริย์องค์เอก มุรธาภิเศก ประเสริฐเลิศนาม ปกครองไพร่ฟ้า ทั้งหล้าเขตรคาม เป็นสง่างาม ในพื้นธรณี ๏ ราชาภิเศก วังหลวงองค์เอก จอมภพปัถพี อุปราชา ภิเศกรองมี คือตำแหน่งที่ ราชวังบวร ๏ ที่เหล่าประชา เรียกว่าวังน่า คำราษฎร แบ่งสมบัติถึง กึ่งพระนคร พูดกันขจร เช่นนี้มีชุม ๏ พระอริยเจ้า จัดเป็นสองเหล่า ว่าโดยชุมนุม เสกขบุคคล อะเสกขสุขุม คิดควบรวบรุม เป็นสองสฐาน ๏ อะเสกขบุคคล บันลุมรรคผล เสร็จสาวกญาณ ท่านตัดกิเลศ สมุจเฉทปหาน ได้นามขนาน อะเสกขอรหันต์ ๏ อริยเบื้องต่ำ โดยนามแนะนำ คือโสดาบัน สกิทาคา อะนาคาปัน สามภูมนี้สรร เป็นเสกขบุคคล ๏ เพราะยังศึกษา จะตัดตัณหา เพื่อมรรคเบื้องบน ต่อบันลุสัตย์ อรหัดตผล จึ่งล่วงเลยพ้น อเสกขนาม ๏ เสกเสกหกคำ ดังเช่นแนะนำ ประจำข้อความ ปราชควรครวญใคร่ อย่าได้วู่วาม เห็นชอบใช้ตาม โดยความประสงค์ ๚ะ

สด ตัวสอแม่กด พูดว่าของสด คำไทยใช้ตรง ทั่วทุกสิ่งสด สกดดอคง บต้องจำนง อัดถ์แปลแก้ไข ๏ ศีลอุโบสถ ตัวถอสกด มิใช่คำไทย เป็นคำบาฬี ซึ่งมีมาใน พุทธสาศนไตรย ปิฎกคัมภีร์ ๏ หนึ่งตระกูลช้าง ตำราว่าอ้าง ชื่อช้างอย่างดี ชื่ออุโบสถ หมดจดใสดี นับในไตรตรี รัตนสิบคชวงษ์ ๏ ยาทุกสิ่งหมด ที่เนื่องกำหนด ในเจ้าจักรพงษ์ เรียกพระโอสถ ตามบทจำนง จนบุหรี่ทรง โอสถเหมือนกัน ๏ คำพระโอสถ ตัวถอสกด ใช้บทสามัญ เป็นราชาศับท์ คำสูงสำคัญ จำเพาะใช้กัน แต่คำเจ้านาย ๏ สร้อยเศร้ากำสรด มิใช่มคธ โดยบทธิบาย เป็นพากยสยาม ตามโบราณหมาย มีใช้มากหลาย แต่ในกาพยกลอน ๏ กำสรดไห้หวน คู่กับกำสรวญ คร่ำครวญโศกศร รวบรวมคำสด ตามบทนิกร ในอุทาหรณ์ ครบห้าคำคง ๚ะ

สัด สัดคำสยาม พูดใช้ในความ สัดไปไม่ตรง สบัดสัดแกว่ง คลาศแห่งประสงค์ กวดให้มั่นคง อย่าให้สัดเซ ๏ เรือเสาเรือใบ คลื่นซัดสัดไป ในท้องทะเล สัดไปเมืองอื่น หลายคืนค่ำเว วาวันหันเห จึ่งกลับคืนมา ๏ เอาสัดตวงสวน เข้าเปลือกจำนวน ที่ได้ในนา สัดครบยี่สิบ ยกหยิบตีตรา สัดยี่สิบห้า ว่าเป็นสัดกลาง ๏ ไก่เบ็ดเสร็จสัด ลุกขึ้นสบัด ขนปีกขนหาง สัดนี้คำกล้ำ อยาบย้ำอำพราง ท่านใช้ไว้วาง อยาบอ้างแอบอิง ๏ สัจจะบาฬี กล่าวตามวิธี แปลว่าความจริง ตัวอย่างที่ใช้ อย่าได้ประวิง นักปราชพาดพิง เสี่ยงสัตยอธิฐาน ๏ ความสัตยความจริง ตูข้าอ้างอิง เอาเป็นพยาน อาสัตยธาธรรม์ แปรผันสันดาน เป็นของคนพาล พูดฬ่อลิ้นลม ๏ ตัวเดิมสัจจะ ใช้เป็นสัตยะ อักขะระบรรสม จะเป็นตะยะ พจนะนิยม วิธีนุกรม อาเทศทางแผลง ๏ เช่นกับนิจจะ ใช้ว่านิตยะ พจนะสำแดง จอซ้อนสกด กำหนดอย่าแคลง ต้องอาเทศแผลง เป็นตยะทุกคำ ๏ สัตยาธิษฐาน สัตยาภิบาล โวหารแนะนำ พิพัฒสัตยา เทวาประจำ คนถือสัตยธรรม ได้พ้นโพยไภย ๏ เภสัชว่ายา สำหรับรักษา โรคาพาธใน กายให้รำงับ โรคดับไกษย คำแปลแก้ไข ว่าการของหมอ ๏ หนึ่งภาษาวัด หมากเรียกเภสัช จัดพากยเพียงพอ เพลาว่าพลู รู้เค้าเหล่ากอ เหตุผลต้นตอ ไม่ทราบอธิบาย ๏ บริสัชบริวาร โบราณาจาริย์ ใช้มามากมาย ตัวชอสกด บทแบบแยบคาย เช่นพรหมกาย พรหมปาริสัชชา ๏ มดธขัตติยะ แผลงโดยสะกะฏะ เป็นกระษัตริยา แปลว่าเป็นใหญ่ เขตรไร่แดนนา ทั่วรัชสีมา อาณามณฑล ๏ สัตตะว่าข้อง ในอารมณ์ต้อง ติดพันระคน ตราตรึงรึงรัด ผูกมัดกระมล ศุขทุกข์จำทน ปะปนสันดาน ๏ จึ่งเรียกวาสัตว์ โดยอย่างบัญญัติ สมมุตโวหาร เรียกโดยบรบัดถ์ จัดเป็นสังขาร คือสัตวสาธารณ์ ทั่วโลกยพิไสย ๏ ตัวเดิมสัตตะ แผลงเป็นสัตวะ สะกะฏะเลศไนย สามัญสรรพสัตว์ แจกจัดออกไป อย่างต่ำคำไข คือสัตวเดียรัจฉาน ๏ เรียกโลกียสัตว คนในจังหวัด อนันต์จักรวาฬ พระโพธิสัตว ผู้สร้างสมการ เพื่อพระโพธิญาณ ช้านานได้ตรัส ๏ หนึ่งเรียกสมญา อีกอย่างหนึ่งว่า พระมะหาสัตว พระคุณพิเศศ ข้ามเขตรไตรวัฏ เป็นใหญ่เห็นชัด กว่าสัตวสามัญ ๏ ศรัทธาทำบุญ ใจผู้การุญ ดำรงสัทธรรม์ อุส่าห์ก่อสร้าง หนทางสวรรค์ ผูกจิตรติดพัน ในพระสัทธรรม ๏ จตุบริสา เห็นท่านใช้มา อย่างสุขุมคำ จตุบรรสัสย สะยะประจำ ควรเป็นที่สำ เหนียกนึกตฤกตรอง ๏ บริสัสยนารถ นี่คำนักปราช ใช้ในละบอง ระเบียบพระนาม เจ้านายโดยปอง แปลตามทำนอง ที่พึ่งบริหาร ๏ คำว่าสัดสัด คิดค้นคัดจัด สิบแปดประมาณ ทั้งขอมทั้งไทย ควรใช้ในการ เด็กจงพิจารณ์ จักใช้ใคร่ครวญ ๚ะ

สาด คำไทยใช้สาด เรียกเครื่องปูลาด เสื่อสาดทั้งมวญ อีกต้นลางสาด ดื่นดาษในสวน เพลิงไหม้ใกล้จวน วิดสาดวารี ๏ มคธพจนารถ เรียกว่าปิศาจ ไทยแปลว่าผี สกดตัวจอ ตามข้อคดี ใช้พูดกันมี ว่าปิศาจสิง ๏ สัดถะสัดถา มคธภาษา สำแดงแจ้งจริง แปลได้สี่อย่าง โดยทางอ้างอิง อาวุธทุกสิ่ง เรียกว่าสาตรา ๏ เช่นไดกุมสาตร คำนี้นักปราช นิพนธ์พจนา ไดแปลว่ามือ กุมถือซึ่งอา วุธครบซ้ายขวา เข้าในสงคราม ๏ หนึ่งเรียกคัมภีร์ บันดาที่มี โหราสาตรนาม อีกไสยสาตร คัมภีร์พวกพราหมณ์ เวชชะสาตรคาม ภีร์แพทย์พวกหมอ ๏ อักษรสาตร นี่คำนักปราช แปลไว้ละออ คัมภีร์อักษร บทกลอนเพียงพอ สำแดงเหล่ากอ กำเนิดอักษร ๏ หนึ่งแปลว่าหมู่ ว่าพวกเกรียวกรู เป็นหมู่สัญจร สาตรวาหะ นี่พวกนิกร พ่อค้าเกวียนดอน พาพวกคระไล ๏ ตัวเดิมสัดถะ แผลงตามสะกะฏะ ถะเป็นตระไป ตัวสัดเป็นสาตร สั้นยาวกล่าวไข รู้แน่แก่ใจ ชอบใช้ให้ควร ๏ สิปปะเป็นสิลป แปลตามระบิล ความรู้ทั้งมวญ เขียนศิลปสาตร นักปราชใคร่ครวญ เช่นอย่างกระบวน โหราสาตรคง ๏ คำต้นสัดถา แผลงเป็นสาศดา คำบาฬีตรง แปลว่าผู้สอน ต้นบัญญัติยง สี่คำจำนง แปดสาตรสาศดา ๏ เดือนแปดนักปราช เรียกเดือนอาสาธ โดยนามตำรา เดือนแปดก่อนเรียก ว่าปฐมา สาธแลบุรพา สาธมาศมีสอง ๏ ฝ่ายเดือนแปดหลัง จัดเรียกนามตั้ง ทุติยาสาธปอง กับเรียกอุตรา สาธโดยทำนอง นามเดือนแปดสอง อธิกมาศมี ๏ หนึ่งนายเนสาท พรานใจฉกาจ ดั้นดงพงพี มือแม่นแว่นไว น่าไม้ปืนดี ยิงหมู่มฤคี โคช้างกวางทราย ๏ ปราสาทพิมาน ล้วนแก้วแกมกาญจน์ พริ้มเพริศเฉิดฉาย ประสาทเลื่อมไส ในธรรมบรรยาย สาทเหล่านี้หมาย สกดทอทาน ๏ หนึ่งฤดูสารท ในคำนักปราช ว่าสะระทะกาล ฤดูปายาศ แลยาคูหวาน เรียกโดยโวหาร ว่าสารทกลางปี ๏ ปะสาธนะ ในคำมคธะ ใช้มามากมี ว่าเครื่องประดับ สำหรับผู้มี แต่งเชิดชูศรี วะโรโอภาษ ๏ เช่นนามะกร หม่อมเจ้าสังวร วะระประสาธน์ แปลว่ามีศีล สำรวมมารยาด เป็นเครื่องโอ่อาตม์ ผุดผาดผ่องใส ๏ มหาลัดดา ประสาธน์นี้นา โดยเรื่องพระไตรย ปิฎกยกย่อง เป็นของสูงใหญ่ จำเภาะได้ใส่ แต่หญิงมีบุญ ๏ คือวิสาขา กับนางมลิกา ภรรยาพันทุล ชายาทั้งคู่ เป็นผู้มีบุญ ได้ทรงอดุลย์ มหาลัดดา ๏ ประสาธน์นี้บท ธอเธอสกดนอการันตา อย่าเขียนเปลี่ยนแปลง ให้แปร่งวาจา จะผิดภาษา สังเกตเลศเลา ๏ สาสะนะสาศนา สองนี้แปลว่า คำสอนพระเจ้า บอกอนุสาศน์ ประกาศหนักเบา การที่ควรเคา รพรับปฏิบัติ ๏ อนุสาศนสอน คำในบทกลอน มีอยู่ชัดชัด แต่เขามักว่า เป็นภาษาวัด รู้ไว้ให้จัด บ้านวัดก็ดี ๏ มีพระประสาสน์ สั่งด้วยทางราช กิจการอันมี รับพระประสาสน์ ผายผาดจรลี จัดการตามมี ประสาสนสั่งพลัน ๏ อนุสาศนประสาสน์ บังคับเขียนวาด ลม้ายคล้ายกัน สกดตัวสอ มีนอการันต์ เป็นที่สำคัญ การันต์พจนา ๏ ประมวญทั้งหมด คำไทยมคธ ทั้งสองภาษา ยี่สิบสี่คำ เช่นรำพันมา พวกกุมารา เรียนเล่าเข้าใจ ๚ะ

สิด เอาไม้สีสิด ประกอบประกิจ เก๋งเรือละไม คำสิดเช่นนี้ คดีคำไทย ตามแบบสอไว พจน์พากยหลากคำ ๏ หนึ่งคำอังกฤศ ใช้ว่าลิสิด หนังสือแม่นยำ เหมือนกับฎีกา ใบเสร็จประจำ ที่ไทยใช้สำ หรับรายเงินทอง ๏ สิทธิว่าเสร็จ ฤๅว่าสำเร็จ แปลคำทำนอง เหมือนว่าสิทธิ์ขาด อำนาจปกครอง ทำได้โดยปอง ทุกสิ่งประสงค์ ๏ มอบอาญาสิทธิ์ แปลว่ามอบกิจ เสร็จอาญาปลง ธุระสิทธิ์ขาด สามาดถ์จะลง โทษถึงชีวง วางด้วยอาญา ๏ ชนกชนะนี ทรัพยบันดามี ที่สะสมมา ยกให้เป็นสิทธิ แต่บุตรธิดา ปกครองรักษา ทรัพยสินศฤงฆาร ๏ พระฤๅษีสิทธิ ฦๅเดชเวทฤทธิ์ ศักสิทธิ์พิศาล ประสิทธิประสาท แก่ราชกุมาร ประสิทธิไชยชาญ เชิดชื่อฦๅไชย ๏ คำสิทธิมคธ บังคับตามบท สกดไทวย ทอท่านธอเธอ เสนอกันไป สิทธาก็ใช้ สิทธํก็มี ๏ วันสิทธิโชค ว่าตามโฉลก โยคเกณฑ์ดิถี มะหาสิทธิโชค โชคไชยใหญ่ทวี ทั้งสองวาที ว่าเสร็จสมประสงค์ ๏ ครูผู้บัณฑิตย์ อุส่าห์สอนศิศย์ ตั้งจิตรจำนง ฝ่ายผู้เป็นศิศย์ ตั้งจิตรซื่อตรง หมายมอบตนคง เป็นศิศย์ศึกษา ๏ ศิศย์นี้มีบท ศอคอสกด ยอการันตา ษอบอก็ได้ เช่นใช้มีมา เช่นมนุษยา มนุศย์ก็มี ๏ ตัวเดิมศิศะสะ สอปลายเป็นยะ สะกะฏะวิธี เหมือนมนุสสะ ศะยะวาจี สำแดงคดี ดูอย่างอ้างเหมือน ๏ แบบนี้สำคัญ อย่างใช้ยืนยัน อย่าฟั่นอย่าเฟือน ใช้แต่โบราณ นับนานปีเดือน อย่าใช้แชเชือน คลายเคลื่อนคลาศคลา ๏ ดุสิตสวรรค อยู่เรียงเคียงกัน กับชั้นยามา แปลว่าเป็นที่ ยินดีปรีดา ภิรมย์หรรษา แห่งเทพไทย ๏ ตอตราสกด ต้องตามแบบบท มคธขานไข มักตั้งเป็นนาม อารามละไม กับปราสาทใน กรุงเทพธานี ๏ พระที่นั่งดุสิต ปราสาทโสภิต ไพโรจรูจี วัดดุสิดา รามงามผ่องศรี อย่างสั้นวาที วัดดุสิตคง ๏ คำว่าสฤษดิ์ แบบสังสกฤษฎ์ เติมษอบอลง ดิการันต์เพิ่ม ท้ายเสริมประสงค์ ที่คำเดิมตรง คือสัดติมี ๏ แปลว่าอำนาจ สำเร็จเด็ดขาด ในกิจการดี พระสฤษดิรักษ ประจักษวะจี จัดเป็นนามศรี สังกรอวตาร ๏ คำว่ารังสฤษดิ เห็นใช้ลิขิต มาแต่เบาราณ แปลว่าแต่งสร้าง นฤมิตรบันดาน เป็นบทพจมาน คู่กับรังสรรค์ ๏ กับสฤษดิที่ว่า เลศเลาวาจา ละม้ายคล้ายกัน มักมีใช้ขุม สุขุมฦกครัน ในโคลงในฉันท์ ใช้ชุมกลุ้มไป ๏ อุส่าห์แคะคิด ในหมวดคำสิด ทั้งขอมทั้งไทย รวมเข้าเป็นหมวด ตราตรวจเป็นไว พจน์พากยหลากไนย สิบสองวาจา ๚ะ

สุด ในคำว่าสุด พูดกันอุตลุด สยามภาษา เกินเห็นมนุศย ว่าสุดสายตา ที่สุดลงมา เพียงชั้นเชาเรา ๏ สูงใหญ่ที่สุด เห็นเกินบุรุศย จะเทียบเทียมเขา สุดเขตรชนบท บรรพตภูเขา สุดแดนนาเรา เพียงนานายยัง ๏ สุดเสียงประโคม ที่คฤกครื้นโครม พิณพาทยแตรสังข สิ้นสุดสำเนียง สุดเสียงระฆัง สิ้นสุดชีวัง ว่าตายวายชนม์ ๏ โอ้ทรามสุดสวาสดิ์ ไยจึ่งมาคลาศ ไกลมิ่งนฤมล โอ้สุดที่รัก เหลือจักผ่อนปรน สุดทุกขสุดทน ด้วยเจ้าสุดใจ ๏ คำสุดเหล่านี้ เช่นอย่างอ้างชี้ สุดภาษาไทย ตัวดอสกด ตามบทวินิจไฉย สังเกตเลศไนย อย่าให้แปรผัน ๏ ผิวภักตรผ่องผุด ผิวงามบริสุทธิ์ แจ่มเพียงเพญจันทร์ วิสุทธิ์กระษัตริย์ ฉวีวรวรรณ พิสุทธิสบสรรพ์ ศรีวิสุทธิวงษ์ ๏ สุทธะมคธ แปลว่าหมดจด กายจิตรจำนง ของซึ่งสอาด แลชาติกุลพงษ์ ไม่ปะปนคง นับว่าบริสุทธิ์ ๏ มรรคผลนฤพาน เป็นธรรมแก่นสาร เรียกว่าโลกุต ดรข้ามกันดาร สงสารสมุท ฦกซึ่งกว้างสุด ยิ่งสิ่งทั้งผอง ๏ สุดสุดไทยขอม คิดรวบรอมชอม พอครบสิบสอง นักเรียนเพียรดู ให้รู้ทำนอง ครวญใคร่ไตร่ตรอง ตามเหตุเลศไนย ๚ะ

สูด หมวดคำสูดสูด ฟังเสียงคนพูด ว่าสูดคำไทย สูดดมยานัด สูดกลิ่นมาไลย สูดดมอะไร ไม่ฟูชูรศ ๏ ไม่เหมือนกลิ่นน้อง วันแรกร่วมห้อง รื่นรวยสรวยสด ยิ่งกว่าพิมเสน ราเชนชะมด ค่อยสูดค่อยซด เอิบทราบอาบทรวง ๏ คนกลับกลอกพูด ต้องให้พิสูตร ตามอาญาหลวง วิสูตรรูดลอง สิ่งของทั้งปวง วัดชั่งนับตวง สอบสวนทวนดู ๏ สูตรว่าเส้นด้าย หนึ่งแปลว่าสาย แยบคายคิดดู เครื่องสนด้วยสูตร พูดตามแบบครู สูตรสังวาลตรู สายสังวาลงาม ๏ พระสูตรบรมัดถ์ วิไนยท่านจัด เป็นปิฎกสาม คำสูตรท่านใช้ เลศไนยเนื้อความ แปลผ่อนผันตาม แต่เค้าคดี ๏ วิสูตรโยธา มาตยเรียกสมญา ชื่อขุนนางมี อีกคำเขาพูด วิสูตรสาลี ยังอีกวาที วิสูตรโกษา ๏ คำสูตรมคธ คำตามแบบบท สกดตอตรา ต้องเติมตัวรอ แทน ดอหนึ่งรา สูตตะวาจา มคธบทไข ๏ ในหมวดคำสูตร คิดรวมคำพูด ทั้งขอมทั้งไทย ถ้วนทัศวาที ตามมีมาใน แบบเดิมเติมใส่ แซมเสริมสองสาม ๚ะ

เสด คำเสศนี้ไซ้ ไม่มีคำใช้ พูดในสยาม เอาคำมคธ พากยพจนคำงาม ใช้ต่อล่อลาม ก็กลายเป็นไทย ๏ เสรฐว่าประเสริฐ คือเป็นผู้เลิศ ยิ่งกว่าใครๆ เช่นว่าเศรฐี มีทรัพยโภไคย ประเสริฐสุกใส ด้วยทรัพยศฤงฆาร ๏ ใช้ตามแบบบท บังคับสกด ตัวฐอสันฐาน ตัวอย่างอ้างไว้ เขียนใช้มานาน จู่ลู่ใช้การ มักง่ายคลายเพียร ๏ คำว่าปฏิเสธ แปลความตามเหตุ ห้ามปัดสลัดเตียน ในข้อคำถาม เรื่องความบเมียน บ่ายบากจากเจียร เป็นอย่างอื่นไป ๏ ปฏิเสธนี้ เช่นอ้างอย่างชี้ ปฏิตอนใน ธอเธอสกด ตามแบบบทไว พจนพากยหากไข เช่นใช้อาจิณ ๏ ปฏิเสธภาคเสศ เป็นที่สังเกต ในข้อตัดสิน ภาคเศศแบ่งส่วน สำนวนวาทิน ตระลาการยิน ยลชัดจัดความ ๏ เศศแปลว่าเหลือ คำนี้ใช้เจือ กับคำสยาม ด้วยพูดใช้มาก ติดปากล่อลาม คนไทยใช้ตาม เหมือนภาษาตน ๏ เช้าสอง บ่ายสาม} โมงเศศ เป็นที่สังเกต ช้างลงอาบชล เสศผ้าเสศส่าน ประมาณพวกพล นับรวบรวมคน สักพันเศศมี ๏ อายุยายขลิบ นับได้เก้าสิบ กับเศศสามปี เศศไร่เศศงาน บรรหารคะดี เศศสร้อยวาที เศศเลขคูณหาร ๏ บางทีพูดซ้ำ ซ้อนซ้อนสองคำ เช่นตวงเข้าสาน ถังเคยสังเกต เหลือเศศทนาน ถังของนายปาน เหลือเศศมากไป ๏ คำเศศทั้งหมด เดิมเป็นมคธ ลดเป็นคำไทย ทารกก็รู้ พูดอยู่เกลื่อนไป ยลแยบแบบไนย ศอคอทั้งสอง ๏ วิเศศพิเศศ คิดค้นต้นเหตุ แห่งแบบตะบอง นั้นท่านแปลว่า ยิ่งกว่าทั้งผอง ใช้คำทำนอง วิเศศกว่ากัน ๏ ได้ของวิเศศ แต่ต่างประเทศ วิเศศครามครัน ท่านผู้วิเศศ รู้เวทย์มนต์ขยัน ตำรายาฉัน วิเศศจริงจริง ๏ วิเศทนอกใน ทั้งนายทั้งไพร ล้วนพวกผู้หญิง วิเศศสาหัศ ปากจัดจริงจริง ใครพูดพาดพิง ว่าไม่ปราไสย ๏ วิเศศมคธ แล้วตกเลื่อนลด ลงมาเป็นไทย เด็กเด็กสามัญ พูดกันอึงไป ชินปากชินใจ รู้ได้ชัดเจน ๏ คำเศศสอบสวน บรรจบจำนวน ครบถ้วนในเกณฑ์ คำไทยใช้มาก หันบากความเบน พูดขานชาญเชน ทั่วทุกวาจา ๚ะ

เสิด เสิดแปลว่าหนี เคลื่อนไปจากที่ บุราณภาษา ทุกวันยังมี คัมภีร์โหรา พระเคราะห์เทวา บ้างเสิดภักมน ๏ เสิดนี้คำเก่า เดี๋ยวนี้พวกเรา ไม่พบตำรา ก็ท่าใจจน จะคิดเวียนวน ว่าคำอะไร ๏ คำมคธมี ประเสริฐเศรฐี ประเสริฐเลิศไกร คำว่าประเสริฐ ชูเชิดในไทย พูดขึ้นใครใคร ก็รู้ทั่วกัน ๏ เดิมพากยมคธ พูดมากหากลด ลงเป็นสามัญ ด้วยเหตุเพราะว่า ใช้มานานครัน พวกเราสำคัญ ว่าคำเชาเรา ๏ ประเสริฐเลิศลบ ได้มาประสบ พบกับนงเยาว์ อย่าสบประมาท จู่ลู่ดูเบา สบประมาทเขา ไม่ควรแก่การ ๚ะ

สบ น้ำผึ้งยาผง ใส่ปนกันลง สิ่งละทนาน กวนให้สบกัน ตักใส่ในจาน เกบไว้กินนาน เป็นยาลูกกอน ๏ เขาเป็นน้องเมีย พ่านต้องสบเสีย ให้เก็บอากร พอสบไสมย คัลไลลาจร แปลอุทาหรณ์ ว่าถูกความไป ๏ รู้ครบสบสาตร นี้คือนักปราช เรียนจบครบใน คัมภีร์ทุกดย่าง ที่อ้างว่าไตรย เวทางค์วิไสย รู้สิ้นสบสรรพ์ ๏ สบศิลปนี้ว่า รู้จบวิทยา เพลงศรทุกพรรณ์ คำสบเหล่านี้ วาทีสามัญ บอสกดยัน ยืนว่าคำสยาม ๏ การศพปลงศพ คำนี้ปรารภ คิดค้นต้นความ คำเดิมฉะวะ พากยมคธนาม แปลเป็นสยาม ว่าซากศพผี ๏ ฉอเป็นศอคอ วะเป็นตัวพอ แผลงตามวิธี จึ่งอ่านว่าศพ บรรจบวาจี ใช้เป็นคำดี ไม่มีอยาบคาย ๏ พูดเป็นชั้นๆ เรียกพระศพนั้น คือศพเจ้านาย พระบรมศพ เลิศลบทั้งหลาย องค์กระษัตริย์สาย สืบสันตติวงษ์ ๏ รู้ให้รอบคอบ รู้คำประกอบ สูงต่ำคำคง ให้ต้องตามบท กำหนดประสงค์ ความรู้ตำรง ภูมศักดิ์นักเรียน ๏ พระขีณาศพ ท่านถึงที่จบ ไม่ต้องทำเพียร สิ้นกิเลศดอง สันดานจำเนียน หมดเชื้อเกษียณ สิ้นของดองดำ ๏ มคธพจนะ มหุศสะวะ เป็นต้นเดิมคำ กระแสแปลว่า การเล่นเต้นรำ ท่านแผลงแปลงทำ สกฏะวิธี ๏ เป็นมหรศพ นับรวมบรรจบ ศพห้าวาจี พอพิณสกด ถูกบทบาฬี กำหนดจงดี โดยเหตุเลศไนย ๏ อุสะภะศับท์ ท่านแผลงแปลงกลับ เป็นพฤศภไป เป็นชื่อราษี คัมภีร์แพทไสย แปลข้างคำไทย ว่าโคอุสะภา ๏ พระนราศพ สมญาปรารภ องค์พระสาศดา ดังโคประเสริฐ ล้ำเลิศโลกา จูงหมู่ประชา ข้ามพ้นกันดาร ๏ ศภสองคำนี้ ภอภรรยาชี้ สกดพจมาน อีกคำว่าศพ สมทบพิจารณ์ นามท้าวมัฆวาน เทเวศร์วัชรินทร์ ๏ หมวดสบครบถ้วน จัดคำจำนวน ที่ควรยลยิน สิบสี่คำชอบ ระบอบระบิล เช่นใช้อาจิณ ควรจำดำรง ๚ะ

สับ พูดสับคำไทย เอามีดอะไร มาสับฟันลง ทั้งโขกทั้งสับ ย่อยยับเป็นผง พูดสับปลับปลง สลัดสัตยา ๏ พูดสับประดน เพื่อให้ฝูงคน หัวเราะเฮฮา เป็นบาปต้องปรับ สัมผับปะลา ปะโทษวาจา จัดว่าอย่างเบา ๏ สตตะว่าเจ็ด วิธีเผด็จ ท่านแผลงแปลงเอา ตัวตอเป็นบอ ติดต่อสำเนา สับดศกเรา ก็ใช้ชินตา ๏ สัดตาหะวาร ในคำโบราณ ท่านใช้สับด่าห์ แปลว่าเจ็ดวัน สำคัญพจนา สะกะฏะภาษา ใช้มานมนาน ๏ สัททะว่าเสียง แลว่าสำเนียง เสียงมีวิญญาณ กับสำเนียงที่ ไม่มีวิญญาณ ทั้งสองประการ เรียกสัททารมณ์ ๏ สัททะเดิมนี้ แผลงโดยวิธี สะกะฏะนิยม ทอเป็นตัวบอ เดิมต่อบรรสม กดกบระดม เปลี่ยนแปลนแทนเสียง ๏ เหมือนหนึ่งสัดตะ แผลงเป็นสับดะ อ่านออกสำเนียง อีกอัจฉะระ เป็นอับศรเรียง คำอ้างอย่างเคียง เทียบไว้ให้ดู ๏ มคธคำสับท์ มีอะเนกนับ เหลือจะเชิดชู ต้นนามะศับท์ ตำหรับแบบครู กิริยาสับท์ดู อีกทัพพศับท์หลาย ๏ ศับท์นกสับท์ไม้ เรียกชื่อเปลี่ยนใช้ มีหลากมากมาย ถ้าจะใครรู้ เรียนมูละกัจจายน์ คงรู้เงื่อนสาย แห่งศับท์นานา ๏ ศับท์ที่คนไทย เอามาพูดใช้ ชุมในภาษา คือคำกิติศับท์ เขาล่ำฦๅมา อีกเรียกราชา ศับท์สูงวาที ๏ หนึ่งบรรฦๅศับท์ คำนี้สำหรับ นักเลงกระวี แต่งกาพยโคลงฉันท์ ใช้กันมากมี ความแปลวจี ว่าบรรฦๅเสียง ๏ สัพพะสรรพะ คำเดียวใช้คละ แต่แปลกสำเนียง แปลว่าทั้งหมด มคธเทียบเคียง คำอ้างวางเรียง เช่นสัพพัญญู ๏ คำแผลงเผด็จ ใช้ว่าสรรเพช นามพระเชิดชู ใช้ในสยาม เป็นนามพระภู บดินทรเจ้าอยู่ หัวแห่งประชา ๏ สัพพัญญูนี้ แปลความเชิดชี้ ชัดตามภาษา ว่ารู้ทุกสิ่ง จริงแก่ปัญญา แห่งเหล่าเมธา ทั่วภพมณฑล ๏ คำว่าเสร็จสรรพ รอหันสรรกับ ตัวพอประคน ตกเป็นคำไทย พูดใช้ทุกคน แต่เค้ายุบล แบบบทบาฬี ๏ บ้างเขียนแต่ง่าย เป็นมคธกลาย สยามวจี เอาตัวบอบท สกดก็มี เห็นงามตามที่ ไม่ติเตียนใคร ๏ น้ำซับสินทรัพย คู่นี้ควรนับ ไวพจน์พิไสย ว่าโดยลำดับ น้ำซับคำไทย สินทรัพยนี้ไซ้ มคธคำแผลง ๏ ตัวเดิมทัพพะ วิธีสะกะฏะ เปลี่ยนพอยอแปลง ใช้มาอาจิณ จนสิ้นระแวง แปลตามศับท์แสง เครื่องใช้กอบการ ๏ ไวพจน์หมวดสับ คณะนานับ สิบคำประมาณ ข้อคำทั้งมวญ ไต่สวนพิจารณ์ จัดสอนกุมาร ให้อ่านให้จำ ๚ะ

สาบ แมลงสาบเหมนสาบ รู้กันโดยอยาบ สยามพจนำ พระยากระสาปน์ แช่งสาปนี้คำ มคธควรสำ เหนียกแยกแปลกกัน ๏ คำว่าแช่งสาป จะเขียนอย่าอยาบ สกดปอปัน กระสาปน์ตัวปอ มีนอการันต์ เป็นข้อสำคัญ คำต่างอย่างยล ๚ะ

สิบ นับหนึ่งถึงสิบ ควรจะยกหยิบ สามัญยุบล เรียกอิศวรเวท ตามเหตุนุสนธิ์ เรียกว่าศิพมนตร์ แปลงวอเป็นพอ ๏ เมืองลพบุรี นามเก่าเหล่ากอ เรียกเขาศีวะลึงค์ เรียกอึงเพียงพอ คนละเอียดละออ เห็นว่าอยาบคาย ๏ จึ่งเปลี่ยนนามสฤษดิ์ เขาสิพนิมิตร ขึ้นเป็นชื่อหมาย เกี่ยวข้องคำสิพ ยกหยิบธิบาย เดี๋ยวนี้ก็กลาย เรียกสัพพะไป ๚ะ

เสบ ส้องเสพยเสพยนี้ ตรวจดูไม่มี ในภาษาไทย เอาศับท์เสวะ ว่ามคธไข มาพูดมาใช้ เข้าใจกันดี ๏ เหมือนเสพยสุรา ส้องเสพยกามา สมรศฤดี ส้องเสพยคบหา เจรจาพาที พูดเสพยรู้ดี ดังภาษาไทย ๚ะ

สม คำพูดอยาบช้า ว่าสมน้ำหน้า สมสาแก่ใจ ผัวเมียคู่นั้น สมกันกะไร ต้องการสิ่งใด ได้สมปราถนา ๏ มีคู่สู่สม เขาย่อมนิยม แต่ไหนๆมา สมนึกสมคิด สมจิตรจินดา ทำให้สมสา แก่ใจไม่ดี ๏ อีกว่าสะสม จัดอย่างนิยม สยามวาที ของรู้ไม่ยาก พูดหลากมากมี สมสิ้นอินทรีย์ สมหน้าสมตัว ๏ สมยศสมศักดิ์ สมกับใจรัก สมัคพันพัว สมที่ทำกล้า ใครว่าไม่กลัว สมที่มึนมัว เมายศวาศนา ๏ ร่ำไปไม่จบ คำว่าปรารภ สมไทยเจรจา มีมากฟั่นเฝือ เห็นเหลือคณนา จะเนิ่นสารา ชักมาป่วยการ ๏ สองสมสมพาศ คำนี้นักปราช พูดใช้มานาน เดิมสังวาสะ คำมคธขาน ท่านแผลงแปลงสาร นิคคะหิดเป็นมอ ๏ จึ่งอ่านว่าสม อาเทศนิยม เอาวอเป็นพอ เสร็จเป็นสมพาศ สกดศอคอ เป็นคำลออ ละเมียดละไม ๏ สมว่าเสมอ เช่นคำเสนอ สมยศสมใจ อย่านึกนิยม ว่าสมคำไทย แปลเหตุเลศไนย ยุคไวยคราวกัน ๏ สติความตฤก สำหรับรฦก ทุกสิ่งสารพัน สังสะกฤษฎ์แท้ ท่านแปลแปลกผัน พินธาคมสรร เป็นสมฤดี ๏ จะอ้างพยาน คำพูดคำขาน บุราณก็มี ว่าสิ้นสติ สมประฤๅดี แปลงแปลงวาที มีปะเติมปน ๏ จะเป็นคนไทย คำพูดอะไร มักเสริมนุสนธิ์ สังสะกฤษฎ์แท้ ยังแน่ยุบล ตัวปะไม่ปน เป็นสมฤดี ๏ อาศรมนี้ไซ้ ท่านมักพูดใช้ อาศรมฤๅษี เดิมอัศสะมะ พจนะบาฬี สะกะฏะวิธี แผลงว่าอาศรม ๏ สมบูรณสมบัติ ทุกผู้รู้ชัด ใช้มานานนม ถึงเป็นมคธ ตามบทมธยม ไม่ต้องปรารมภ์ ปรารภอรรถแปล ๏ สมสมไทยขอม คิดรวบรอมชอม ไว้ตามกระแส ได้สิบเอ็จคำ หมั่นจำดูแล เหหันผันแปร ตามลักษณอักษร ๚ะ

สุม คำไทยใช้สุม มักพูดกันชุม ว่าสุมกองฟอน สุมแกลบกลบไว้ เห็นไฟสุมขอน สุมหญ้าสุมบอน สุมเพลิงเริงชาล ๏ ยาสุมศีศะ เปราะหอมอย่าละ ยาครูบุราณ ใบสมีฝักเข้า ตำเคล้าอย่านาน ใบฆ้องสามย่าน สุมเศียรเด็กดี หนึ่งพูดกันชุม ฤดูมรสุม บดกลุ้มเมฆี มรสุมเข้ากล้า เชานาเปรมปรี มรสุมวจี จนเป็นคำสยาม ๏ มคธพจนะ นั้นว่ากุสุมะ ชื่อดอกไม้งาม ท่านมักใช้ชุม โกสุมในความ ฝ่ายข้างสยาม ชมดอกมาลี ๏ อีกโกสุมภะ ก็เป็นวาทะ มาในคำภีร์ แปลว่าดอกคำ ซึ่งเรียกแสดสี เขียนใช้ต้องมี ตัวภอการันต์ ๏ สุขุมละเอียด ใช้คำละเมียด อาเทศแปรผัน ขอเป็นษอบอ ติดต่อเกี่ยวพัน เช่นคำจำนัน สุษุมสาตรสาร ๏ ในสุมวาที ทั้งไทยบาฬี เก้าคำประมาณ มิใช่อุตริ คติเบาราณ แบบสอนก่อนกาล เก็บมาพาที ๚ะ

เสม คำไทยใช้เสม เหมือนบุตรนายเอม ชื่อเสมก็มี เกษมนี้ไซ้ ใช่คำบาฬี เขมะเดิมที ท่านแผลงแปลงมา ๏ ขะเป็นกะษะ วิธีสะกะฏะ พจนะภาษา เช่นเขตรเกษตร คือแดนไร่นา โกษมพัตรา ไกษยไภยสูญ ๏ บุตรนายจันโสม ให้ชื่อนายโฉม สมเชื้อประยูร กินโสมถึงชั่ง กำลังมากมูน นี่คำเพิ่มพูล โสมภาษาไทย ๏ โสรมว่าพระจันทร์ นี่คำท่านสรร แต่มคธไข แจ่มแจ้งแสงโสรม คือโคมอำไพ สว่างสร่างใส แสงโสรมรังษี ๏ หมวดสอไวพจน์ แจกจบครบหมด โดยบทวิธี เพียงคิดแคะไค้ คำใช้ลิปี สอนเด็กอันมี ปัญญาอ่อนเยาว์ ๏ ถ้อยคำทั้งมวญ นักเรียนไม่ควร จู่ลู่ดูเบา อุส่าห์สืบสาง ต้นทางสำเนา มักง่ายดายเดา มักเขาดูแคลน ๏ รู้ให้แท้รู้ เขาถามถึงงู อย่าว่าปลาแทน เขารู้เขาหัว แด่ตัวแทนๆ ผู้รู้ในแดน ดินสิ้นเมื่อไร ๏ ตัวไม่อุส่าห์ ไต่ถามศึกษา ชล่าเลยไป นอกทางเฉลย เขาเพ้ยไยไพ โกรธเขาทำไม อดใจตริตรอง ๏ จบสอไวพจน์ จงจำกำหนด แบบบทละบอง ทั้งไทยมคธ เบ้ากรดทดลอง เกลากลั่นสรรปอง บำรุงปรีชา ๚ะ

๏ หมวดสอไวพจน์สิ้น สารสรร
เพียรคิดหลายคืนวัน จวบแล้ว
พิจารณ์จัดแจกปัน เป็นหมวด ไว้นา
เด็กอ่านฤๅจักแคล้ว คลาศได้ปรีชา ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ