บอไวพจน์

๏ จักแจกจำแนกเบื้อง บอไว พจน์นา
ติดต่อถัดนอใน หมวดนี้
ลำดับนับเรียงไป เป็นท่อง แถวแฮ
กลอนสุรางคณางชี้ ชัดถ้อยทางกลอน ฯ

๏ จักแจกแยกบท หมวดบอไวพจน์ กำหนดสารา ให้รู้คำพ้อง ต้องตามบัญชา แบบที่ศึกษา อุส่าห์พิจารณ์ ๏ แต่ละหมวดตรวจดู เท่าไรไม่รู้ นับคู่ประมาณ คำที่พ้องกัน ให้หมั่นเทียบทาน ให้ชินชำนาญ เล่าอ่านตฤกตรอง ๏ ไวพจน์ตัวต้น คือคำว่าบน อนุสนธิ์สนอง ข้างล่างข้างบน ผู้คนก่ายกอง ผู้ใดอย่าปอง สินจ้างสินบน ๏ สกดสองคำนี้ นอนิลตามที่ ไม่มีแยบยนต์ ยังอีกสองคำ ตำบลยุบล สองนี้ชอบกล สกดตัวลอ ๏ จะเป็นคำไทย ฤๅคำอะไร ไม่ทราบต้นตอ เขียนมาเก่าเก่า เป็นเหล่าเป็นกอ เห็นสกดลอ ก็เขียนตามกัน ๏ ยุบลนั้นว่า ใจความสารา ทุกอย่างต่างพรรณ์ ตำบลว่าถิ่น ที่ดินแดนปัน เช่นว่ากำนัน ตำบลบ้านแมน ๏ ตำบลกับแขวง มีแยบแอบแฝง อย่าใช้ทดแทน ตำบลว่าที่ แขวงว่าเขตรแดน เหมือนหมื่นกับแสน น้อยมากหลากหลาย ๏ อุบลบานสด ตัวลอสกด มคธขยาย อุบลใช้ทั่ว พวกบัวมีสาย กอก้านกระจาย ศีต่างต่างกัน ๚ะ

บัน ถัดบันนี้ไป ให้รู้จักใช้ คำไทยน่าบัน คือว่าน่าจั่ว ลายสลักลายปั้น หลายอย่างต่างพรรณ์ บันเปล่าก็มี ๏ บันทุกบันทัด บันเทากำจัด บันทมในที่ บันเทิงสำราญ บันสานสอดสี บรรสมพาที บรรจงรจนา ๏ ประจบบรรจบ คือของสมทบ ถ้วนครบอัตรา อ้างอย่างพระนาม บรรจบเบญจมา ครบถ้วนที่ห้า ธิดาภูธร ๏ คำว่าบรรยง คล้ายกับบรรจง จัดในนามกร พระที่นั่งบรรยง รัตนาศน์บวร ครั้งกรุงนคร ทวาราวดี ๏ ต้นสัตบัน คำไทยเรียกกัน ชื่อพฤกษาศรี สัตบุดสัตบัน คู่กันก็มี บันไทยพาที หลากหลากมากหลาย ๏ บันทูลวาจา กัมพุชภาษา ใช้มามากมาย สำหรับวังน่า บัญชาบาตหมาย ลดหย่อนผ่อนคลาย จากพระโองการ ๏ บรรหารนี้ไซ้ มคธปนไทย ด้วยใช้มานาน คำมคธแท้ มีแต่บริหาร ท่านแผลงแปลงสาร บรรหารรอหัน ๏ แปลว่ารักษา อย่างหนึ่งแปลว่า ปลดเปลื้องจำนัน เช่นว่าจำเลย ให้การแก้กัน เปลื้องชัดสำคัญ ซึ่งโจทย์ฟ้องหา ๏ บัญหารคำไทย เห็นความตามใช้ คู่กับบัญชา หลวงนังคัลกิจ บัญหารกรมนา กระสิการบัญชา ปลัดถัดไป ๏ นี่เป็นฉบับ แปลนามตามศับท์ บังคับการไถ ตัวอย่างอ้างบท มคธปนไทย จะควรฉันใด จงรู้ดูความ ๏ คำว่าบรรยาย นี่คำกลายกลาย มคธปนสยาม มคธแปลว่า ยุบลใจความ มีเรื่องราวตาม เหตุร่ำสำแดง ๏ ความใช้ไทยกลาย เหมือนว่าขยาย บรรยายคัดแปลง สาราวาจัง นี่ยังแอบแฝง บรรยายชี้แจง ให้กระจ่างคำ ๏ เนื้อความเช่นนี้ ชักมาเชิดชี้ เป็นอย่างอ้างนำ บรรยายคำไทย ที่ใช้ประจำ แปลกกับถ้อยคำ บริยายฝ่ายขอม ๏ บัญชานี้เล่า จะว่าเป็นเค้า คำไทยก็ยอม แต่เกี่ยงข้างเกนท์ เขมรมาปลอม ถึงเดิมของขอม ต้องยอมเป็นไทย ๏ คำว่าบัญญัติ เป็นมคธชัด โดยอัดถ์เลศไนย แปลว่าแต่งตั้ง ศิกขาวิไนย บัญญัติฝ่ายไทย คือตั้งกฎหมาย ๏ เขียนโดยทำนอง ญอใหญ่ทั้งสอง ติสกดปลาย แต่ตัวตินั้น การันต์กลายกลาย บอกข้อแยบคาย บรรยายเหตุผล ๏ บัญชรคำนี้ จะเชิดชูชี้ กาทียุบล ท่านแปลว่ากรง ขังสัตว์ขังคน ตั้งพื้นแขวงบล ล้วนว่าบัญชร ๏ น่าต่างตำหนัก ซี่กรงลวดถัก ทำงามบวร มีชื่อประจักษ์ โดยศักดิ์สุนทร เรียกพระบัญชร เดิมมีซี่กรง ๏ คำเดิมบุปผะ แผลงเป็นบุษบะ ไทยใช้ไม่คง เขียนเป็นบุษบา ว่าดอกไม้ตรง นักเลงกลอนจง เติมเป็นบุษบัน ๏ แต่ว่าความมัว ใช้เป็นดอกบัว บุษบงคู่กัน ฟังดูแกว่งแกว่ง แปร่งแปร่งจำนัน แต่รู้เค้ากัน แล้อก็ตามที ๏ บัณณะณอใหญ่ แปลว่าใบไม้ หนังสือก็มี บัณณะศาลา อาศรมฤๅษี เพราะมุงบังดี ด้วยใบไม้ดง ๏ สันเทศบรรณ หนังสือส่งกัน ตามความประสงค์ บุพพะคำต้น ประดนแผลงตรง เป็นบรรพจำนง แปลว่าก่อนกาล ๏ เหมือนว่าเบื้องบรรพ์ แปลในคำนั้น ว่าแต่ก่อนนาน บรรพบุรุศย ในพุทธบรรหาร ว่าญาติวงษ์วาร เก่าก่อนล่วงไป ๏ หนึ่งในโคลงฉันท์ ว่าฉบับบรรพ์ คือแบบใดใด ซึ่งเป็นของเก่า อ้างเค้าออกไข คดีเลศไนย ว่าฉบับบรรพ์ ๏ บัณณาศบัญญาศ สองคำนักปราช ท่านนับส่วนปัน ยกหยิบรำพรรณ์ จงจำสำคัญ ญอณอสกด ๏ อนึ่งบัณหา แผลงเป็นปฤษณา ว่าตามแบบบท แปลว่าคำถาม ข้อความทั้งหมด ณอใหญ่สกด มคธพากย์พรรณ ๏ คำว่าบรรจ์ฐรณ์ พรมเจียมเสื่ออ่อน เสื่อทุกสิ่ง/*สรรพ์ เครื่องปูเครื่องลาด สอาดพรายพรรณ ควรเรียกว่าบรรจ์ ฐรณ์สิ้นทุกประการ ๏ ซึ่งว่าบัณฑิตย์ คือคนรู้คิด บาปบุญแก่นสาร รอบรู้วิทยา ปรีชาชำนาญ รู้โทษสาธารณ์ รู้คุณความดี ๏ บัญจกนี้หนา แปลว่าหมวดห้า ภาษาบาฬี บัญแผลงว่าเบญ เหมือนเช่นวาที ว่าเบญญินทรีย เบญโญภาศพรรณ ๏ เบญจางคิกะ ศีลองค์ห้าละ อกุศลธรรม์ ฆ่าสัตวลักทรัพย์ กามลับผิดผัน พูดปดปิดกัน ดูดดื่มของเมา ๏ เว้นห้าอย่างนี้ เป็นศีลเชิดชี้ บอกเช่นเป็นเลา แปลคำบัญจางค์ โดยทางสำเนา ไม่ควรดูเบา บทแยบแบบสอน ๏ บัญจกแปลว่า ประชุมของห้า สิ่งตามนามกร ตะจะบัญจก ยกอุทาหรณ์ มาเทียบทางกลอน กลางอ้างทางเห็น ๏ บัณณะระสี คือว่าดิถี เวียนวนเช้าเย็น จนถึงสิบห้า เรียกว่าวันเพญ คำเดิมนั้นเป็น บัณณะระสะ ๏ อีกคำหนึ่งมี ใช้ในบาฬี ว่าบัณฑระ แปลว่าสีขาว คู่กับเสตะ รวบกับนาคะ ว่าช้างเผือกพรรณ์ ๏ พระยานกครุธ เรืองฤทธิรุตม์ กายใหญ่มหันต์ มคธเรียกว่า พระยาสุบรรณ์ รอสองสำคัญ ณอคุณสกด ๏ บันถะนี้ไซ้ เห็นแต่ที่ใช้ ในคำมคธ แปลว่าทางเปลี่ยว ห่างบ้านชนบท โจรสัญจรลด เลี้ยวซุ่มชุมชิง ๏ บรรณศาลา มุงด้วยจากคา ใบไม้ทุกสิ่ง เสาพื้นเครื่องบน ถึงปนไม้จริง นามเดิมไม่ทิ้ง ชื่อบรรณศาลา ๏ ถัดนั้นบรรณาศ คู่กับปัญญาศ มคธภาษา แปลว่าห้าสิบ ยกหยิบเจรจา ณอใหญ่ใช้มา กับทั้งรอหัน ๏ บรรจบบรรจง สองคำจำนง คำไทยสามัญ คำเดิมประจบ ประจงตรงกัน แผลงเป็นรอหัน ประพันธ์เพิ่มพจน์ ๏ เบื้องบรรพ์ป่างบรรพ์ สองคำสำคัญ ไทยปนมคธ แปลว่าปางก่อน ตามผ่อนกำหนด บุพพะเดิมบท ท่านแผลงเป็นบรรพ์ ๏ แบบก่อนฉบับก่อน สองคำนี้ผ่อน เป็นพจน์ผูกพันธ์ ประสมคำเป็น แบบบรรพ์ฉบับบรรพ์ จงเห็นเช่นกัน กับเบื้องแลปาง ๏ คำว่าบรรหาร คำใช้ไขขาน ได้เสาะสืบสาง บริหารบท มคธคำกลาง แผลงใช้ไว้วาง นั้นว่าบรรหาร ๏ แปลว่านำรอบ ความไทยใช้ชอบ ว่ารักษาการ บัญญัติฝ่ายไทย ใช้แต่โบราณ แปลคำบันหาญ ว่าพูดเจรจา ๏ คิดค้นต้นเค้า ตามคำของเก่า ก็มีสืบมา โดยราชบรรหาร ไขขานบัญชา ความเช่นนี้หนา ๏ ว่ากล่าวถ้อยคำ ๏ บัญหารนี้ไซ้ แต่ก่อนทานใช้ ญอใหญ่ประจำ พวกกับบัญชา บังคับให้จำ ข้อล้วนควรกำ หนดจดพิจารณ์ ๚ะ

บาน ถัดบันนี้ไป ฉันจักแก้ไข ในคำว่าบาน เรียงตามลำดับ ฉบับเบาราณ คำไทยพูดบาน ประมาณไว้มี ๏ คำไทยสาธารณ์ ว่าดอกไม้บาน ตระการต่างศี หนึ่งว่าใบบาน ทวารก็มี บานน่าต่างดี มิดชิดปิดบัง ๏ สร้อยนวมบานพับ เจ้าพนักงานรับ ไว้ส่งคงคลัง บานพับใหญ่เล็ก พวกเจ๊กประดัง ทำส่งขึ้นคลัง ในขวาสารพัน ๏ ได้ทราบในสาร น้ำใจเบิกบาน ปานได้เห็นสวรรค์ ต้นบานพะแนก ดูแปลกแยกกัน บานเช่นว่านั้น คำไทยใช้ตรง ๏ บาญชีนี้ไซ้ สกดญอใหญ่ เห็นใช้ยืนยง ภาษาอะไร ก็ไม่จำนง เขียนข้อคำคง ตามตามกันมา ๏ บาลลอสกด ใช้ตามแบบบท มคธภาษา ที่คำละม้าย มีหลายวาจา สาธกยกมา ประมวญควรถวิล ๏ มหิบาลภูบาล อีกพระนฤบาล นามเจ้าแผ่นดิน เอาใจใส่ดู ให้อยู่ให้กิน เป็นประดิทิน นั้นว่าพยาบาล ๏ คนเลี้ยงโคจ้าง เลี้ยงของตนบ้าง ท่านอ้างไขขาน เรียกชื่อโดยหมาย ว่านายโคบาล แปลความตามการ ว่าคนเลี้ยงโค ๏ อภิบาลบริบาล สองคำร่ำขาน พิจารณ์ตามโว หารแห่งมคธ พากย์พจน์ภิย์โย รู้กันอะโข ว่าเลี้ยงรักษา ๏ อภิอธิศับท มักมีกำกับ ต้นบาลวาจา โยธาธิบาล แลหลวงรัตนา ภิบาลพระยา สมบัตยาธิบาล ๚ะ

บิน ในคำว่าบิน ไทยใช้อาจิณ นกบินไปนาน โห่ให้ขวัญบิน ลักกินน้ำตาล ถูกต้องตามการ รบอบรบิล ๏ บ้านด่านหณุมาณ พระราชโองการ พระเจ้าแผ่นดิน โปรดเกล้ายกให้ เป็นแดนบุริน นามชัดตัดสิน กระบินทรบุรี ๏ แปลว่าเมืองด่าน แห่งหณุมาณ พระยากระบี่ เขียนลอสกด ผิดบทวาที นอสกดมี ทรการันต์ ๏ คำตีเข้าบิณฑ์ ยากจะตัดสิน ให้ชัดจัดสรร ด้วยว่าคำไทย ใช้มานานครัน รู้มากด้วยกัน ทั่วทั้งหญิงชาย ๏ จะว่าโดยบท เดิมเป็นมคธ พูดนานการกลาย แปลว่าประมวณ เข้าของทั้งหลาย สัปปุรุศเรี่ยราย รวมกันทำบุญ ๏ สกดอย่าคลาศ เมือนบิณฑบาต ใช้ตัวณอคุณ ฑอไพรฑูริย์ท้าย หมายการันต์หนุน เป็นพยานจุน เจือจัดชัดเจน ๏ เรียกโคกระบิล เพราะผิวกายิน หม่นแดงดังเสน คำนี้ยังแคลง ไม้แกล้งกะเกณฑ์ ถ้าเห็นโอนเอน อย่าเพ่อลงใจ ๏ เกาบิลอีกคำ หนึ่งนี้ได้กำ หนดแน่แต่ไร แปลว่าประคำ บริกรรมนับไป ครบร้อยแปดใบ กลับไปเวียนวน ๏ เกาบิลคำอัดถ์ จะแปลให้ชัด ข้องขัดยุบล ได้คิดความดู พอรู้แยบยนต์ ตามสารนุสนธิ์ เสือโคคำฉันท์ ฯ ๚ะ

บุญ บุญภาษาไทย ไม่มีพูดใช้ แต่เบื้องปางบรรพ์ พูดตามแบบบท มคธพากยพรรณ์ สืบมานานครัน กลายเป็นคำไทย ๏ เขียนตามมคธ ญอญาติสกด กำหนดตามใน คำสังสกฤษฎ์ ลิขิตขานไข บังคับเขียนใช้ สกดนอยอ ๏ ทำบุญมีบุนย์ ได้เป็นเจ้าคุณ สมบุนย์เพียงพอ สมบัติมั่งคั่ง บุญหลังท่านก่อ ควรยกเยินยอ ว่าท่านมีบุนย์ ๏ สองบทแบบใช้ อุส่าห์แคะไค้ ให้เห็นเป็นคุณ ตัวอื่นอย่าใช้ เขวไขว้ชุนลมุน จำไว้เป็นทุน อุดหนุนปัญญา ๏ อีกคำกำหนด นิบุณณะบท มคธวาจา แปลว่าเต็มแท้ กระแสภาษา สยามพจนา ว่าเต็มเปี่ยมพูล ๚ะ

บูน ถัดนี้ต่อไป บูนภาษาไทย เรียกไม้ตะบูน เขาตัดเผาถ่าน ใช้การมากมูน ฟืนไม้ตะบูน ส่งกำปั่นไฟ ๏ สมบูรณ์นี้บท ฝ่ายช่างมคธ แปลเป็นคำไทย ว่าเต็มพร้อมเพรียง แยบเยี่ยงอย่างไข เห็มเสมอก็ใช้ แปลได้เหมือนกัน ๏ บริบูรณเล่า แปลก็ลงเค้า ว่าเต็มครามครัน เต็มโดยรอบคอบ ประกอบสารพัน สมบูรณ์เช่นกัน ต่างแต่อักษร ๏ พิบูลย์ไพรบูลย์ สองร่วมนุกูล คำเดียวสังหร พิแปลงเป็นไพ เพื่อใช้กาพย์กลอน ยาวสั้นบั่นทอน ผันผ่อนพาที ๏ ทั้งสองวาจา นี้ท่านแปลว่า เต็มพูลทวี เต็มจนแพร่หลาย ฟูมฟายมากมี ในสองคำนี้ สกดลอยอ ๏ เมืองเพชรบูร มคธเค้ามูล สกดตัวรอ ปุระว่าเมือง สืบเนื่องติดต่อ จำแต่ย่อย่อ ตัวรอสกด ๏ เพ็ญบูรณ์คำนี้ ฉันจะช่วยชี้ วิภาคหลากบท เขมรคำต้น ปลายปนมคธ ความแปลสองพจน์ ว่าเต็มด้วยกัน ๏ แต่ดูที่ใช้ ตามสังเกตไว้ ว่าด้วยดวงจันทร์ เต็มตามสำเหนียก ท่านเรียกเพ็ญวัน เป็นของสำคัญ เพ็ญบูรณ์ดิถี ๏ คำว่าการบูร เดิมคำเค้ามูล มาจากคำภีร์ คือกับปุระ พจนะวิธี หนึ่งพ้องพาที กับพากย์ชวา ๏ ซึ่งว่าทิศบูรพ มีคำเพิ่มพูล ว่าทิศบูรพา เพราะเป็นทิศต้น ประธานทิศา ต้นเดิมก็มา แต่พากย์มคธ ๏ เมืองจันทบูรี คำใช้ตามที่ ไม่มีสกด แต่คนเรียกกัน ว่าจันทบูรหมด ผิดแยบแบบบท ลาลดตามกัน ๏ บูนสิบวาจา เช่นได้ใช้มา ไม่ผิดแผกผัน แนะไว้ให้รู้ กระทู้แบบบรรพ์ ภอเป็นสำคัญ ในการอ่านเขียน ๚ะ

เบน เบนคำสยาม พูดใช้ในความ วาจาพาเหียร คนไทยใช้คล่อง ไม่ต้องเล่าเรียน เบนบากจากเจียร เบนเบี่ยงเลี่ยงเอน ๏ ชายผ้าเหน็บนุ่ง ร้องเรียกกันยุ่ง ว่าโจงกระเบน แท้ไทยพจนำ ใช่คำเขมร อีกปลากระเบน หนังกายคายคม ๏ มวยเบนทำหลบ เบนท้ายเรือรบ ให้สบต้นลม เบนเหล่านี้ไซ้ คำไทยนิยม เขียนใช้ให้สม วาจาสามัญ ๏ เบนทรพากย์มคธ นอนิลสกด ทรการันต์ ภูเบนทรสิงหนาท เทวราชรังสรรค์ นฤเบนทรทรงธรรม์ คือเจ้าแผ่นดิน ๏ มนุชาธิเบนทร แปลอัดถ์ชัดเจน ว่าเจ้าทรณินทร์ แปลคำสนธิ ควรตริควรถวิล คำเดิมคืออินทร์ แปลว่าใหญ่ยง ๚ะ

บอน กอบอนปากบอน นี่อุทาหรณ์ คำไทยตรงตรง นอเล็กสกด ตามบทใช้คง ใครอย่าจำนง นึกเขียนเปลี่ยนแปลง ๏ คำบรบาฬี ย่อมใช้พาที จะชี้สำแดง ข่ายบรฝ่ายบร อักษรแถลง ข่ายบรชี้แจง ว่าบ่วงริปู ๏ พูดภาษาไทย ว่าตกอยู่ใน อำนาจศัตรู บรคือปะระ มคธคำครู ท่านแปลว่าผู้ พวกอื่นดื่นดาย ๏ คำว่าฝ่ายบร อาจาริย์ท่านสอน เรียนมามากหลาย ว่าพวกข้าศึก ความฦกขยาย คำนี้ธิบาย เช่นกับปรปักษ์ ๏ วาจาปรากฎ แปลความตามบท มคธเป็นหลัก ใครจะเรียนรู้ รู้จงประจักษ์ รู้ให้ตระหนัก แน่แท้แก่ใจ ๚ะ

บวน รู้จงครบถ้วน คำว่าแกงบวน นี้ควรคำไทย ท่านจัดกระบวน ทิวทวนไสว นี่ก็คำไทย สกดใช้นอนิล ๏ บริบวรณ์บท นี้เป็นมคธ วาจาอย่าถวิล ก็คือบริบูรณ์ ที่ใช้อาจิณ ทางอาเทศผิน ผันอูเป็นวอ ๏ จึ่งเป็นบริบวรณ์ คำนี้ก็ควร จะรู้ต้นตอ แปลว่าเต็มรอบ ผิดชอบเพียงพอ รู้เค้าเหล่ากอ ต้นข้อคะดี ๏ แจกบอแม่กน สิ้นสารนุสนธิ์ นิพนธ์พาที นักเรียนเพียรอ่าน ชำนาญวาจี จักปรุโปร่งปรี ชาเชาวน์เบาใจ ๚ะ

บด ยานี ตัวบอต่อเติมบท ในแม่กดบรรหารไข ข้างต้นค้นคำไทย ออกแจงแจกแยกย้ายคำ ๏ หินบดหมอบดยา ไทยเจรจาอยู่ประจำ แสงแดดมืดมัวคำ เรียกแดดบดสกดดอ ๏ กระบถแลขบถ เขียนสกดใช้ตัวถอ ไม่ทราบที่ต้นตอ ว่ามาแน่แต่พากย์ใด ๏ บุราณท่านบังคับ เป็นฉบับก็ใช้ไป จะว่าเป็นคำไทย ก็แคลงจิตรคิดสงกา ๏ สบถสาบาลนี้ ในบาฬีย่อมมีมา ท่านแปลว่าวาจา สำหรับแช่งสาบตัวเอง ๏ หนึ่งบถแปลว่าทาง ท่านไว้วางมาแต่เพรง ควรใช้ไม่ควรเกรง วายุบถว่าทางลม ๏ กับอะนิลบถ ควรกำหนดโดยนิยม ก็แปลว่าทางลม วายุบถแบบเดียวกัน ๏ คำอาทิตยบท เป็นมคธภาษาสรร แปลว่าทางตวัน พระสุริยันคัลไลย์จร ๏ โดยความทั้งสามศับท์ ท่านก็นับว่าอัมพร พระพายทินกร ย่อมจรดลหนนภางค์ ๏ ทางบกสถลบท ควรจำจดที่ไว้วาง ชลบถแปลว่าทาง ลำน้ำแน่กระแสชล ๏ อีกคำกรรมบถ ในมคธมีแยบยนต์ แปลว่าคลองกุศล แลคลองบาปอันอยาบคาย ๏ ข้อนี้มีวิดถาร โดยโวหารท่านบรรยาย คือใจวะจีกาย ที่กำเนิดเกิดบาปบุญ ๏ สองฝ่ายย้ายโดยกิจ สุจริตนั้นฝ่ายคุณ ทุจริตโทษทารุณ ย่อมเกิดในไตรยทวาร ๏ ฆ่าสัตวลักของเขา อีกชำเรามิจฉาจาร สามนี้กายทวาร เกิดทุจริตติดพัวพัน ๏ พูดปดพูดเสียดล่อ พูดด่าทออยาบหยามกัน เพ้อเจ้อคำจำนัน ตลกคนองปองเฮฮา ๏ คำพูดสี่ชนิด เรียกทุจริตในวาจา ฝ่ายจิตรอะภิชฌา มุ่งของท่านมาเพื่อตน ๏ พยาบาทคิดแช่งสัตว ให้วิบัดิยับปี้ป่น มิจฉาทิษฐิยล สิ่งที่ผิดคิดเป็นดี ๏ ทั้งสามทุจริต เกิดในจิตรล้วนกระลี รวมสิบประการมี ชื่อกรรมบถฝ่ายอกุศล ๏ วิรัติความเว้นบาป อันชั่วอยาบไม่รคน เว้นบาปสามตำบล กายปากใจเช่นไขขาน ๏ วิรัตินี้บัณฑิตย์ เรียกสุจริตไตรยทวาร เรียกรวบสองประการ ชื่อกรรมบถกำหนดจำ ๏ บดบถพจน์ภาษา เช่นแจกมาทั้งแปดคำ สกดใช้ประจำ ถอถวิลควรจินดา ๏ ฝ่ายบทสกดทอ มีเพียงพออเนกา ลูกขุนเชิญบทมา พวกศักระวาคิดบทกลอน ๏ บทเพลงเครงคฤกคฤ้าน พูดเป็นพื้นบทละคร ทรงยศบทจร ข้าประนตบทมาลย์ ๏ บทรัชละอองบาท คำนักปราชท่านไขขาน จงรู้ประกอบการ ที่จะใช้ให้สมควร ๏ สองบทรู้ในความ ที่พระนามนเรศวร ผิดความอย่าลามลวน ใช้กระบวนมักง่ายงม ๏ ชนบทบ้านบึงบาง คู่คำวางกับนิคม หัวเมืองเนื่องนุกรม เรียกชนบทกำหนดมี ๏ คำว่าพระดาบศ นามกำหนดพระฤๅษี คู่กันกับโยคี คือนักพรตว่างสาศนา ๏ คำบดประมวญจัด ยี่สิบทัศชัดวาจา ใช้ในสองภาษา มคธไทยเช่นไว้วาง

บัด บัดบัดภาษาไทย คำพูดใช้ได้สะสาง กระบือโคของกลาง เขาบัดบัดสัดสองวง ๏ หยูกยาบำบัดโรค คนทั้งโลกยต้องประสงค์ เมื่อนั้นพระจักรพงษ์ เสด็จลงด้วยบัดใจ ๏ บัดนั้นนายเสนี เตรียมโยธีพร้อมพลไกร ทูลแด่พระภูวไนย ทราบรหัศในบัดดล ๏ สักครู่บัดเดี๋ยวใจ คำคนไทยพูดทุกคน พวกพาลสันดานซน ฉ้อกระบัดจัดจริงจริง ๏ ระบัดเอาสินท่าน เชิงจัดจ้านไปทุกสิ่ง ทหารชำนาญยิง ปืนตระบัดผลัดเปลี่ยนกัน ๏ คนขี่ไม่สันทัด ม้าสบัดย่างเหยาะยัน คนขี่ยั้งไม่ทัน มันสบัดพลัดตกลง ๏ ทิวชายปลายสบัด พระพายพัดต้องเทียวธง คนถือไม่มั่นคง สบัดหลุดยุดไม่ไหว ๏ เข้ากล้านาริมวัด ผลิหน่อผลัดระบัดใบ ทุ่งนาหญ้าไสว ใบละบัดลัดทันกัน ๏ บัดบัดจัดสำเนียง คำเทียบเคียงไทยจำนัน แปดคำเช่นรำพัน ล้วนพจน์ใช้ในสยาม ๚ะ

๏ คำบัดในมคธ ตัวสกดเปลี่ยนตามความ บัฎฎอชฎาดาม แปลว่าแผ่นผันโดยของ ๏ ศิลาบัฎฐานแท่น แปลว่าแผ่นศิลารอง เรียบเรียงใต้เตียงทอง ทำเป็นฐานตระการงาม ๏ หนึ่งบัฎท่านแปลว่า แผ่นผืนผ้านานานาม ผ้าไหมผ้าด้ายตาม แต่จะใช้ได้ทุกพรรณ์ ๏ ตรสกดบัตร จัดว่าใบทุกสิ่งสรรพ์ ท่านใช้คู่กับบรรณ์ ตาละปัตรพัดใบตาล ๏ หนึ่งของที่พึ่งผาย แผ่คลี่คลายเช่นใบลาน กระดาษแผ่นเงินกาญจน์ ใช้โวหารว่าบัตรใบ ๏ บัตรนี้แม้นจะแปล ว่าแผ่นแผ่ก็แปลได้ แผ่นเงินแผ่นอุไร ก็เรียกใช้บัตรเหมือนกัน ๏ เช่นพระสุวรรณบัตร แปลก็ชัดแผ่นสุวรรณ์ แผ่นเงินงามเทียมกัน เรียกหิรัญบัตรบาง ๏ นามบัตรสัญญาบัตร แปลได้ชัดคำไว้วาง แผ่นชื่อยศขุนนาง ตามนิยมกรมกระทรวง ๏ บัตรพลีว่าใบไม้ สำหรับใส่เครื่องบวงสวง ตั้งเกยทั้งบำบวง เทพไทยไสยวิธี ๏ สมบัติว่าถึงพร้อม คำไทยน้อมว่ามั่งมี สกดตัวดิดี ฤๅตรก็ภอควร ๏ วิบัดิคู่สมบัติ แปลโดยอัดถ์ว่าประมวญ ว่าถึงคลามแปรปรวน ถึงวินาศขาดทุนรอน ๏ วิบัดิมีหลายอย่าง คำพูดอ้างในอักษร สวดเพี้ยนผิดฐานกรณ์ ว่าอักษรตู่ตัวไป ๏ เรียกอักขระวิบัดิ เป็นข้อขัดพระวิไนย์ จะสวดกรรมใดใด ไม่เสร็จกิจสังฆกรรม์ ๏ ขุนนางซึ่งมียศ ต้องถอยถดยศเพลี่ยงพล้ำ ต้องถอดต้องจองจำ เรียกวิบัดิชัดแลเห็น ๏ เศรฐีผู้มีทรัพย์ มาย่อยยับพเอินเป็น สิ้นทรัพย์คับแค้นเข็ญ เรียกวิบัติโภคะขันธ์ ๏ คนมีพี่น้องมาก ตายพรัดพรากจำจากกัน อย่างนี้ท่านจัดสรร ญาติวิบัติขัดสนใจ ๏ จะร่ำให้ครบจบ ท้าวทวนทบเฉลยไข จะชักยืดยาวไป รำคานใจท่านผู้ฟัง ๏ ในคำว่าพิบัดิ ความแปลชัดเช่นหนหลัง หากเขียนเปลี่ยนประนัง วิเป็นพิตริไตรตรา ๏ พระสงฆ์ปลงอาบัติ คำในวัดใช้กันมา ปลงความถึงโทษา ล่วงบัญญัติขัดขืนทำ ๏ เข้าฌานสมาบัติ ว่าโดยอัดถ์สุขุมคำ คือท่านที่ได้จำ เริญกระสิณอภิญญา ๏ ได้ถึงซึ่งวิเวก เกิดจิตรเอกอัคคตา บันลุฌานสมา บัดิใจบากจากโลกีย์ ๏ บัจจัยสกดจอ ท้ายตัวยอประจำมี เป็นคำในบาฬี ว่าต้นเหตุให้เกิดผล ๏ เรียกเงินว่าบัจไจย รู้กันได้แทบทุกคน ขอมไทยใช้ปะปน พากย์มคธลดเป็นไทย ๏ คำว่ายกรบัตร รู้ไม่ชัดยังสงไสย มคธฤๅคำไทย ไม่แน่ใจเป็นสองเสียง ๏ ดูที่เป็นมคธ ด้วยสกดตอรอเรียง จะ แปลออกสำเนียง ที่ถ่องแท้ไม่แน่ใจ ครูหนึ่งนั้นท่านว่า เป็นวาจามคธไข ยุคะปัตตะไนย ๏ คำแปลไว้ว่าถึงคราว ๏ เขียนว่ายุคะบัตร ใคร่รู้ชัดจงสืบสาว เสาะค้นต้นเรื่องราว จึงรู้แน่กระแสความ ๏ คำบัดในมคธ โดยกำหนดนับสิบสาม รวมทั้งบัดสยาม ยี่สิบเอ็ดเสร็จวาจา

บาด บาดข้างคำไทยหมด ดอสกดตามตำรา บาดแผลแลกายา ถูกมีดบาดเลือดสาดไหล ๏ คนอยาบพูดบาดหู คนศัตรูพูดบาดใจ กระจกแว่นวิไลย แสงบาดตาไม่น่าดู ๏ แต่งตัวละครคาด เจียรบาดเห็นงามตรู ลูกศิศย์คิดแค้นครู เกิดบาดหมางระคางหมอง ๏ ทอดโฉนดวางบาดหมาย ถึงมูลนายตามลบอง ทำนุกถูกทำนอง โจทย์จำเลยเฉลยกัน ๏ นักเลงเล่นสักกา ทอดบาดมาไม่ช้าพลัน แต้มอ่อนผ่อนไม่ทัน ชะนะกันหลายกระดาน ๏ บาดไทยใช้ประจำ ทั้งแปดคำเช่นร่ำขาน เรียนร่ำจำวิจารณ์ จัดเป็นแผนกแยกให้เห็น ๏ ขอเชิญพวกนักปราช มาสันนิบาตเวลาเย็น อาการโรคนี้เป็น ไข้สันนิบาตชาติร้ายแรง ๏ สันนิบาตว่าประชุม ไม่สุขุมฝั้นเฝือแฝง มคธไม่เปลี่ยนแปลง ใช้ตรงตรงคงภาษา ๏ นิยายเรื่องนิบาต คำนักปราชท่านเล่ามา นิบาตหิจะวา คู่อุปสัคชักเทียบเคียง ๏ แสงสายอสนิบาต อึงอากาศเปรื่องเปรี้ยงเสียง พูดกันโดยสำเนียง เรียกฟ้าผ่าน่าตกใจ ๏ อย่างหนึ่งอุกาบาต พู่งฉุดฉาดเช่นคบไฟ กลมแดงแรงวู่ไว กระลาบาตประกาศนาม ๏ อาหารบิณฑบาต ของอังคาดมากเหลือหลาม เลี้ยงพระทั้งอาราม ก็พอสู้เลี้ยงดูสงฆ์ ๏ แปดคำเช่นร่ำมา ตัวตอตราสกดคง แม่นยำจิตรจำทรง คงที่ใช้ไม่เปลี่ยนแปลง ๏ บาตรดินแลบาตรเหล็ก ทั้งใหญ่เล็กอย่าระแวง สกดตรแผลง จากปัตตะมคธไข ๏ ใช้ว่าบาตรพระสงข์ คำวางตรงตำราไทย จินดามณีไนย ท่านได้แจกแยกไว้มี ๏ ปาทะแปลว่าเท้า เป็นข้อเค้าคำบาฬี ใช้คำสูงศักศรี ว่าพระบาทแห่งเจ้านาย ๏ หนึ่งพระพุทธบาท คนเกลื่อนกลาดบูชาหลาย จงจำคำภิปราย ว่าบาทเท้าสกดทอ ๏ บทบาทแลเงินบาท สั่งไว้ขาดควรจำหนอ ให้คงสกดทอ เช่นพระบาทชาติเดียวกัน ๏ อุบาทวะจันไรใช้ สกดทอวอเรียงรัน ต้นคำจำสำคัญ อุปัทวะมคธไข ๏ ต้องริบราชรบาทว์ เป็นฉกาจฉกรรจ์ไภย ทวรวมไทวย เช่นอุบาทว์ทัณฑฆาฎมี ๏ คำหนึ่งคนระบาด บางนักปราชก็พาที ว่าเป็นคำบาฬี คืออุบาทวอุเป็นรอ ๏ บางท่านว่าาคำไทย ไม่ควรใช้ถึงทอวอ รบาดสกดดอ เช่นระบัดชัดสยาม ๏ วิภาคไว้เป็นสอง จงตฤกตรองกระแสความ จะใช้ไหนก็ตาม ไม่ห้ามปรามตามแต่ใจ ๏ ปาสะแปลว่าบ่วง ตกเลยล่วงมาเป็นไทย เรียกกันอื่ออึงไป ว่าเชือกบาศคล้องคชสาร ๏ กรมพราหมณพฤฒิบาศ รู้ศิลปสาตรชำนาญการ เศกปัดคัดรางควาน ตามบาทบทคชกรรม์ ๏ วิธีโหราศาตร วันอุบาศนบอกประจำ ชี้ทางโทษแนะนำ ว่าวันร้ายฝ่ายข้างไสย ๏ เดิมใช้ตัวทอวอ เหมือนอุบาทวคู่จันไร จอมจบภพไตร แผ่นไผทที่จัตวา ๏ โปรดเกล้าให้เขียนใช้ วันอุบาศนเช่นนี้หนา ศนเรียงกันมา สกดใช้เป็นแบบแผน ๏ คาถาในมคธ สี่บาทบทใช้เป็นแดน เรียนรู้อย่าดูแคลน คำบาดบาทประหลาดหลาย ๏ คำบาทไทยมคธ รวมทั้งหมดที่บรรยาย ยี่สิบห้าโดยหมาย หมู่คำบาทปราชประมวญ ๚ะ

บิด คำบิดในสยาม จำเภาะความไม่ลามลวน ฉาช่างกบิดกบวน เป็นโรคบิดอิดโรยแรง ๏ เจ้านี่เขามาเตือน ทำบิดเบือนพูดแอบแฝง เจ้านี่นึกระแวง เข้ายื้อแย่งด่าทอกัน ๏ ผ้าเปียกเรียกบ่าวบิด คนรู้คิดมักบิดผัน บิดหล่าไชตะบัน ลูกบิดหันกระชั้นชิด ๏ ของสูงมีชื่อตั้ง พระที่นั่งภัทรบิฐ สำหรับราชสถิตย์ เมื่อฤกษแรกเถลิงถวัลย์ ๏ ความแปลก็ชัดแจ้ง ที่โรยแป้งเจริญอัน พระครูผู้สำคัญ แบ่งตารางวางแป้งลง ๏ ร่ายมนต์วิธีเวท ไตรเพทพราหมณ์ตามประสงค์ แล้วจึ่งเชิญเสด็จองค์ กระษัตริย์นั่งบัลลังก์มนต์ ๏ ตั้งแต่งนามตามกิจ ภัทรบิฐแท่นมงคล สำหรับเจ้าภูวดล แรกราชาภิเศกศรี ๏ นับบิดไทยภาษา หกวาจาเช่นพาที กับคำหนึ่งบาฬี รวมเป็นเจ็ดเสร็จคำขาน ๚ะ

บุด จบบิดคิดคำบุตร ไม่สิ้นสุดไว้วิจารณ์ ตุ้มบุดไทยพจมาน ตามพวกแขกแปลกภาษา ๏ นอกนี้มีแต่บท ฝ่ายมคธแปดวาจา คือบุตรแลภรรยา อีกบุตรหญิงแลบุตรชาย ๏ สำหรับเป็นคำดี ใช้พาทีทูลเจ้านาย กุลบุตรคำนี้หมาย ลูกตระกูลคำสามัญ ๏ บันดาบุตรผู้ชาย มากเหลือหลายสิ้นด้วยกัน ควรเรียกโดยจำนัน ว่ากุลบุตรบุตรตระกูล ๏ บุคคลคำมคธ คงกำหนดต้นเค้ามูล ฝ่ายสังสกฤษฏ์พูน บุทคลประดนแผลง ๏ บุบผะแลบุบผา คำบาฬีไม่มีแผลง ฝ่ายสังสกฤษฎ์แปลง เป็นบุษบบุษบา ๏ คำแปลว่าดอกไม้ ท่านก็ใช้มากนักหนา อิเหนาเรื่องชวา ตั้งบุษบาเป็นนามนาง ๏ ปุสสะพากย์มคธ มีกำหนดที่ไว้วาง แปลว่าขาวสำอาง มีตัวอย่างเช่นพลอยบุศย์ ๏ หนึ่งเป็นชื่อเดือนยี่ เพราะอ้างดาวขาวบริสุทธิ์ ตั้งนามตามสมมุต บุษยมาศปราชพาที ๏ คำนี้ก็มีมา บุษยาภิเศกศรี ท่านจัดในวิธี อภิเศกเจ้าธรณินทร์ ๏ ราชรถเสี่ยงเศกซ้อม เครื่องขาวพร้อมเสวตรสิน ธพเทียมละอออินท์ เรียกบุษยราชรถทรง ๏ ดาบศชื่อโคบุตร เรื่องสมมุตรามวงษ์ ชื่อช้างกะรีพงษ์ เรียกโคบุตรหางอย่างโค ๏ บุตรบุดสิบวาจา พรรณาว่าตามโว หารเหตุเลศแต่โบ ราณบัญญัติจัดยุบล ๚ะ

เบด คำเบ็ดภาษาไทย ไม่มีใช้ทุกแห่งหน มคธบทนิพนธ์ ควรหยิบยกหกวาจา ๏ นายเวรราชบัณฑิตย์ ท่านแต่งคิดตั้งสมญา เรียกชื่อขุนธรรมา ธิเบตใช้สกดดอ ๏ แปลว่าประสงค์อัดถ์ ธรรมบริยัติรู้เพียงพอ เจียนจานลานลออ ทั้งรัดห่อพระคำภีร์ ๏ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ค้นต้นเหตุแห่งวาที ธัมมะคำต้นมี อะธิปะอิศรา ๏ แปลความตามข้อเค้า เป็นเจ้าใหญ่โดยธรรมา สนธิเชื่อมวาจา ธรรมธิเบศรแบบระบิล ๏ หนึ่งว่าพระภูเบศร แปลตามเหตุได้ทั้งสิ้น แปลว่าเจ้าแผ่นดิน สกดศอรอการันต์ ๏ นฤเบศรคำนี้เล่า โดยข้อเค้าก็เหมือนกัน นราธิเบศรสรร อีกวาจามาบันสม ๏ ชนาธิเบศรซ้ำ รวมสามคำโดยนิยม แปลว่าเจ้าอุดม ทรงยศใหญ่ในนรชน ๏ ก็คือเจ้าแผ่นดิน แผ่ยศสิ้นจบสากล มคธบทยุบล บอกคำเบศรเหตุแถลง ๚ะ

โบด เรือโบดไทยอังกฤษ ซ้ำกันชิดติดเฝือแฝง โบดคำอังกฤษแจง ก็ว่าเรือเรือซ้ำกัน ๏ คำเรียกโบดวิหาร แต่โบราณมานานครัน คำนี้ถูกแบ่งปัน ชอบพูดสั้นภาษาไทย ๏ คำเดิมอุโบสถ ชื่อกำหนดตามวินัย ร้องเรียกตามข้างไทย โรงที่สงฆ์ชุมนุมกัน ๏ ทำกิจการแห่งสงฆ์ ที่จำนงนับตามวัน เพญดับผ่อนนับปัน โดยเขตรขั้นอุโบสถกาล ๏ คำไทยใช้คล่องโอฐ เรียกว่าโบดว่าวิหาร เลยเลยล่วงมานาน อุโบสถคำเดิมหาย ๏ คำไทยมักใช้สั้น คำเดิมนั้นมักแปลงกาย เรียกตามกันมากหลาย จนลงรอยพูดพลอยกัน ๏ สระโบกขรณี คำบาฬีมีสำคัญ คำสังสกฤษฎ์ผัน แผลงเป็นโบษขรณี ๏ แม่กกกับแม่กด เปลี่ยนกลบทกันก็มี ภัตติเป็นภักดี กับบุคคลเป็นบุทคล

บวด แกงบวดนี้คำไทย พูดเรียกใช้กันทุกคน รากเง่าเค้ายุบล จะอย่างไรไม่ชัดความ ๏ กินเครื่องกระยาบวช คำนี้ตรวจดูเห็นงาม เหมือนกับพวกหมู่พราหมณ แลพระสงฆ์สวดพิธี ๏ อาหารเว้นเนื้อปลา บันดาสัตว์ชีวิตรมี ถั่วงาแลสาลี ผลไม้ได้ทุกอัน ๏ ร้องเรียกว่ากินบวช เวลาสวดพิธีกรรม์ คนไทยใช้จำนัน อาไศรยความตามคำภีร์ ๏ บวชเณรแลบวชพระ ต้องเว้นละเบญจกามี อย่างต่ำชั้นโยคี ฤๅษีบวชต้องเว้นกาม ๏ คำเดิมปะวัชชะ ลดเลื่อนละเป็นสยาม สกดตัวชอ ตาม ตัวเดิมปอแปลงเป็นบอ ๏ กำหนดด้วยยศไทย คำบวชใช้ไม่เพียงพอ จึงแผลงบอเป็นผอ ว่าผนวชคำเจ้านาย ๏ ยกไว้เป็นสูงพจน์ ตามแบบบทตัวกฎหมาย สูงต่ำคำพิปราย มีชัดแจ้งแห่งนุสนธิ์ ๚ะ

บับ คำบับในสยาม คนบู่มบ่ามบุบบับบ่น ฉบับแบบยุบล เยี่ยรบับซับในสี ๏ บัพพะคำมคธ พอสกดพจน์วาที ว่าปล้องว่าคั่นมี ที่กำหนดบทธิบาย ๏ เวฬุบัพพะพร้อง แปลว่าปล้องไม้ไผ่หลาย แต่ต้นจนถึงปลาย เป็นปล้องคั่นบ้างสั้นยาว ๏ อีกองคุลีบัพ แปลคำศับท์ได้สืบสาว ว่าข้อนิ้วมือจาว เป็นปล้องปล้ององคุลี ๏ สักรบัพเรื่องพระเทศ ปันเป็นเขตรขั้นกัณฑ์มี ว่าด้วยท้าวโกสีย์ ประสาทพรแปดประการ ๏ แด่องค์โพธิสัตว ท่านเรียงจัดเป็นวรรควาร เรียกนามตามเหตุการณ์ ว่าสักระบัพนับเป็นกัณฑ์ ๏ บัพะตะว่าภูเขา แต่พวกเราใช้รอหัน ตามสังสกฤษฎ์ผัน แผลงว่าบรรพตคำงาม ๚ะ

บาบ บุญบาปเราพูดใช้ นี่มิใช่พากย์สยาม ต้นเดิมคำในคาม ภีระอัดถ์คัดเป็นไทย ๏ คำแปลไม่มีรับ แปลทับศับท์กันร่ำไป นานมาก็เข้าใจ กันชัดชัดไม่ขัดสน ๏ ตกลงเป็นคำไทย เพราะเข้าใจกันทุกคน แต่พึงสังเกตกล ปอสกดอย่าลดเลย ๏ บาปเคราะห์คือเคราะห์ร้าย ตามโหรทายทักเฉลย คนอยาบทำบาปเคย ไม่ขยะแขยงใจ ๚ะ

บุบ คำไทยไม้หักบุบ คือหักยุบย่นเข้าไป ติดอยู่เป็นเยื่อไย ไม่หักขาดคลาศจากกัน ๏ บุพพะคำบาฬี สกดมีพอเรียงรัน ที่ใช้เขียนว่าบรรพ์ แปลว่าก่อนผ่อนตามกาล ๏ เช่นว่าบุรพทิศ บุรพนิมิตรใช้มานาน ทิศต้นเป็นประธาน แลต้นเหตุแห่งร้ายดี ๏ ปู่ย่าตายายญาติ ชนกนารถชะนะนี เรียกบุรพการี ท่านทำคุณอุดหนุนมา ๏ ถึงครูแลอาจาริย์ ได้กอบการให้ศึกษา สั่งสอนวิทยา ทางโลกีย์คดีธรรม์ ๏ ควรเรียกโดยสมญา บุพพะการีเหมือนกัน บุรพนี้กับคำบรรพ์ ไม่แปลกกันโดยเนื้อความ ๏ ไปยกาตาปู่ทวด จัดรายรวดลำดับตาม ตระกูลหลายชั่วนาม บุรพบุรุศเรียกตามวงษ์ ๏ คือท่านเกิดชั้นก่อน ก่อตระกูลโดยประสงค์ สืบเรื่องเนื่องนามวงษ์ โดยชั่วชั้นลดหลั่นมา ๏ แม่กบบอไวพจน์ มีกำหนดเช่นร่ำมา สิบสามนับวาจา พอเจนจบครบจำนวน ๏ นักเรียนเพียรเล่าบ่น อย่าลุกลนเล่นลามลวน ตั้งจิตรคิดใคร่ครวญ แบบกระสวนสำเนาไนย ๏ ตัวบอจัดเป็นหมวด จงตราตรวจตามคำไข ชินชาญชำนาญใจ เขียนอะไรไม่ขัดสน ๏ จัดข้อบอไวพจน์ แจกจบหมดบทยุบล สังเกตเหตุแยบยนต์ เยี่ยงลำนำคำพิปราย ๚ะ

๏ ไวพจน์กำหนดด้วย ตัวบอ
จัดแจกแยกคำพอ พากย์ใช้
บทธิบายบอกละออ โดยละเอียด
เพียรเล่าเพียรจำได้ สดวกแล้วคลายฉงน

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ