พอไวพจน์

๏ แต่นี้จะชี้เรื่อง พอไว พจนเฮ่ย
รวบรวมพอภอไทว วากย์เว้า
ลำดับนับเรียงไป จวบจบ หมวดนา
จงอย่าลืมเลื่อนเค้า คิดค้นฉบับบรรพ์

ฉบัง ๑๖ พอภอส่อเสียงเดียวกัน จักรวบรำพัน ไวพจน์กำหนดนับปน ๏ ผู้อ่านอย่าดาลจิตรฉงน ว่่าคละระคน คดีสำเนียงเยี่ยงกัน ๚ะ

พน เบื้องต้นแจกพนสามัญ สยามยืนยัน ยลอย่างที่อ้างออกไข ๏ อำพนว่าดาดาษไป บุราณคำไทย เขียนใช้สกดนอควร ๏ วะนะว่าป่าแลสวน คำแปลงแผลงผวน เป็นพนพึงยลอย่างดู ๏ จุลพนป่าเล็กต้นผลู มหาพนครู ท่านแปลว่าป่าใหญ่ยง ๏ พนจรว่าพรานเดินดง พนสณฑ์คำคง ว่าราวแห่งป่าสาธารณ์ ๏ วัดพระเชตุพนวิหาร นามเค้าขนาน เทียบตามอารามก่อนมี ๏ อนาถบิณฑเสรฐี เลื่อมไสไยดี แต่องค์พระสาศดาจาริย์ ๏ ซื้อสวนพระเชตกุมาร สร้างเป็นวิหาร ถวายแด่พระชินวร ๏ จึ่งอ้างเอานามกร โอรสภูธร พระเชตผู้เจ้าของสวน ๏ ชื่อวัดเชตวันสมควร สยามกระบวน เติมอุเป็นเชตุพน ๏ มคธสกดพ้องปน กับไทยแม่กน ระคนตัวนอนิลนาม ๏ คาถานิพนธ์แปลความ ว่าท่านผูกตาม คณะแลบาทบทฉันท์ ๏ กาพย์กลอนพระเจ้าทรงธรรม์ หรงแต่งประพันธ์ เรียกว่าพระราชนิพนธ์ ๏ ผ้าส่านผ้าหล่อด้วยขน สัตวทั่วสากล กัมพลพัตรานามตรง ๏ กองทัพทวยหารจัตุรงค์ เป็นแรงแห่งองค์ นะราธิราชภูธร ๏ เรียกว่าไพล่พลนิกร พลรบราญรอน รุกรบบหลบล่าหนี ๏ หนึ่งเรียกจตุรงค์เสนี คือพลหัษดี พลรถแลพลอัศวา ๏ อีกพวกพลเดินบาทา สี่เหล่าเสนา นี้นามว่าพลจัตุรงค์ ๏ กองทัพที่นับจำนง เรียกไพร่พลตรง ตระหนักประจักษ์สากล ๏ ชามเลวไทยเรียกชามพล คำนี้ประดน ประดุจพลโยธา ๏ หนึ่งองค์สมเด็จสาศดา ทรงกำลังอา นุภาพพระญาณสิบมี ๏ จึ่งได้ทรงนามพระศรี ทศพลมุนี ว่าพระทรงแรงสิบประการ ๏ สุระพลว่าพลกล้าหาญ สรพลไขขาน ว่าคนกำลังดีงาม ๚ะ

พัน คำพันเช่นพูดในสยาม คือนับเรียงตาม สิบร้อยเป็นพันหนึ่งคง ๏ พูดเพ้อรำพันพาหลง เอาผ้าพันวง แวะเวียนให้ถูกผูกพัน ๏ บ่อนถั่วเล่นพัวพันกัน เล่นการพนัน ติดพันเป็นนี่ลี้ไป ๏ ตำแหน่งหัวพันมีใน กลาโหมมหาดไทย เช่นอย่างพันพุดพันพาน ๏ พันจันพันศุกพนักงาน มีแต่เบาราณ ชี้ชัดว่าตัวหัวพัน ๏ เหล่านี้นับเป็นสามัญ บมีตัวการันต์ จะสอดจะเสรีมเติมปลาย ๏ พันธในบาฬีมีหลาย จักร่ำบรรยาย ธิบายแลบอกออกความ ๏ อนุพันธแปลว่าติดตาม สัมพันธสนธิ์นาม ว่าผูกให้เนื่องเรื่องแปล ๏ พันธว่าผูกถูกกระแส พันธนี้แล คำไทยก็ใกล้เคียงกัน ๏ หนึ่งว่าพระราชสัมพันธุ์ ผู้มีวงษ์อัน ติดเนื่องในเรื่องราชพงษ ๏ นึ่งพระสัมพันธวงษ์ เชื้อสายแห่งองค์ สมเด็จพระเจ้าปัถพี ๏ สัมพันธมิตรไมตรี คือคนอันมี จิตรรักสมัคร่วมกัน ๏ ห้าคำเช่นร่ำรำพรรณ ธอเธอการันต์ ว่าผูกว่าเนื่องเรื่องความ ๏ พวกพ้องเผ่าพันธุ์พงษนาม มคธสยาม มาข้องระคนปนคำ ๏ พันธุพวกพ้องควรสำ เหนียกธุประจำ การันต์ต้องเสริมเติมปลาย ๏ พืชน์พรรณมคธกลายกลาย รอหันบรรยาย คู่พรรณผักกาดใบเขียว ๏ พรรค์คอการันต์อย่าเฉลียว ว่าพวกกรูเกรียว พวกเที่ยวพวกอยู่หมู่เดิน ๏ พรรฒ์นี้แปลว่าเจริญ ด้วยสิ่งที่เพลิน ยศศักดิ์แลอายุไวย ๏ รูปพรรณผิวพรรณผ่องใส วัณณะเดิมใน แบบบทมคธควรตรอง ๏ ภัณฑว่าห่อว่าของ คะรุภัณฑปอง ว่าของอันหนักนานา ๏ ละหุภัณฑ์นั้นของเบาตรา ชูชั่งทั้งตา เตงหย่อนแลอ่อนน้ำหนัก ๏ วรภัณฑ์ของประเสริฐศักดิ์ อีกคำมหัค ฆะภัณฑค่าสูง ๏ ภัณฑะรัตน์นำจูง สองคำพยูง เช่นเรียกว่ารัตนภัณฑ์ ๏ ว่าของล้วนแล้วแก้วอัน เพราเพริศเฉิดฉัน เพชรนิลแลจินดาดี ๏ พรรษพรรษาวาที ว่าฝนว่าปี เขียนมีษอบอรอหัน ๏ พรรษุพรรโษทกอัน ผสมคำกัน แปลว่าน้ำฝนน้ำปี ๏ รวมพันไทยทั้งบาฬี ยี่สิบเจ็ดวะจี แจงจัดใช้ชัดทุกคำ ๚ะ

พาน พานพานไทยพูดประจำ โต๊ะพานทองคำ พานเงินแลนาคทองขาว ๏ ปลูกสพานทอดไม้ใหญ่ยาว บางที่มีราว ค่ามคลองแลตั้งฝั่งชล ๏ แหพานพรานมาก/*ลากขน ไล่ล้อมปลาจน ก็จับมัจฉามาขาย ๏ พูดระพะพานอยาบคาย พ้องพานใกล้กลาย แลกลับเอาเชือกพานดู ๏ พานไทยพูดใช้ชินหู ชัดชัดเชิดชู มีอยู่เพียงหกวาจา ๏ มัฆพานพูดตามคำบา ฬีใช้กันมา เป็นชื่อแห่งองค์อัมรินทร์ ๏ ต้องที่สกดนอนิล บางคนเขียนผิน สกดตัวฬอบอควร ๏ พระนิพพานนฤพานสอบสวน ต้องตามกระบวน บาฬีสกดนอนิล ๏ ป่าหนึ่งน้ำค้างโรยริน อยาดหยัดอาจิณ บเว้นทิวาวันวาร ๏ ปลายแดนฮินดูสฐาน เรียกป่าหิมพานต์ เพราะมีน้ำค้างพร่างพรม ๏ สกดนอตัวตอนิยม การันต์สรรสม กับพจน์ที่เรียกหิมวันต์ ๏ คำว่าบริพารอนันต์ คำนี้ร่วมกัน กับคำที่ว่าบริวาร ๏ แปลงวอเป็นพอควรการ รอวกดพจมาน บังคับมคธบทมี ๏ คนพาลรานร้ายราวี ทุจริตในตรี ทวารบเว้นบาปกรรม ๏ เรียกว่าคนพาลจงสำ เหนียกใส่ใจจำ ว่าบทสกดตัวลอ ๏ อีกคำอันธพาลก็พอ จะรู้ต้นตอ ที่ต่อที่เพิ่มเติมคำ ๏ อันธว่ามืดบอดคลำ บอเห็นขาวดำ แต่เดาตบึงดึงดัน ๏ คนพาลอาการปูนกัน ไป่รู้ที่อัน จะผิดจะชอบกอปการ ๏ ทำใด้ใช้แต่โมหานธ์ งานจักเสียงาน บ่องดบ่ออดออมใจ ๏ เช่นนี้อันธพาลขานไข เป็นชื่อตามใน ยุบลที่คนร้ายแรง ๏ ประพาฬเป็นชื่อแก้วแดง จักรพาฬขอบแฝง จังหวัดพิภพโลกา ๏ สองคำสกดฬอบา ฬีแจกวาจา พอจบพอครบหมวดพาน

พิน นายพินคำไทยไขขาน มคธคำขนาน ว่าพิณแลพิณพาทย์มี ๏ พิณนั้นคือกระจับปี่ ขึงสายดีดตี พิณพาทย์คือปี่ฆ้องกลอง ๏ พินทุว่าหยาดน้ำปอง เป็นเม็ดเป็นฟอง ยาวสั้นก็มีรีกลม ๏ นฤคหิตตัวอย่างนิยม พินทุเอกโทสม มุตใช้ว่าหยาดหยดลง ๏ หนึ่งว่าอสัมภินพงษ์ แปลว่าเชื้อวงษ์ ไม่เจือไม่แตกแปลกปลอม ๚ะ

เพน คำวัดบัญญัติยินยอม เวลาประนอม ประนังกันนั่งฉันเพน ๏ เป็นคำสำหรับพระเณร ใช้พูดกันเจน จนบ้านก็รู้แพร่หลาย ๏ ท่านท้าวกุเพรเป็นนาย พวกยักษนิกาย ย่อมเกรงย่อมกลัวทั่วกัน ๏ คือองค์ท้าวเวศสะวรรณ แต่นามหากปัน เป็นสองในคลองบาฬี ๏ ท่านหลวงเทเพนทร์นามมี เจ้ากรมบาญชี ไพร่หลวงในมะหาดไทย ๏ กุเพรรอสกดบทใน เทเพนทร์ควรใช้ สกดนอทรการันต์ ๏ โพนเพนพวกไทยจำนัน พะพ้องต้องกัน กับคำว่าโพนช้างดง ๏ คำข้างกรมช้างจำนง แทรกโพนป่าดง เที่ยวเสาะเที่ยวสางช้างไพร ๚ะ

พอน พังพอนที่แท้คำไทย ฝ่ายมคธไข วะระนี้ใช้เป็นพร ๏ คำพวกรอสกดเป็นกร ให้ศีลให้พร ให้สิ่งประเสริฐเลือกสรร ๏ ถวายพรอวยพรแก่กัน ให้สิ่งสำคัญ สมมุตว่ามิ่งมงคล ๏ ชุมพรคำนี้ชอบกล ต้นเหตุยุบล บอแจ้งกระจ่างทางแปล ๏ ชุมนุมกันให้พรแด ผู้ใดใคร่แล จึ่งเรียกว่าเมืองชุมพร ๏ โดนเดาในเค้าคำกลอน อีกหวายชุมพร ก็เกิดที่เมืองนั้นมา ๏ อุทุมพรชื่อพฤกษา มะเดื่อนี้บา ฬีเรียกว่าอุทุมพร ๏ อีกคำว่าสัถาวร วะระเป็นพร แปลว่ามั่นคงยืนยาว ๏ อัมพรว่าพื้นฟ้าพราว เพริศช่วงดวงดาว วิโรจจรัสโพรงพราย ๏ อาภรณ์ว่าเครื่องแต่งกาย หลากหลากมากหลาย จะแจกก็เหลือจำนัน ๏ อาภรณ์ต้องเขียนภอภรร ยาณอการันต์ จึ่งต้องในแบบแยบคาย ๚ะ

เพียน พูดว่าปลาตะเพียนตาย บอต้องธิบาย เป็นบทสยามภาษา ๏ วิระมคธวาจา ใช้แผลงแปลงมา คือคนหมั่นมากพากเพียร ๚ะ

พง เดินป่าฝ่าพงวงเวียน พงไทยใช้เขียน จำนงแต่พงเปล่าดาย ๏ ปลากะพงหอยกะพงหลาย บอต้องเติมปลาย ด้วยพงนี้คงสามัญ ๏ บาฬีมีว่าพงษ์พันธ์ วงษ์พงษ์เพี้ยนกัน ก็สรรเป็นคำเดียวคง ๏ เช่นว่าพระยาวรพงษ์ ท่านใช้จำนง นับศักดิ์ตระกูลเชื้อสาย ๏ สมันตพงษ์พิปราย วงรอบเรียงราย วิเศศวิศุทธิอุดม ๏ วรสันติพงษ์นิยม ลำดับนุกรม แต่ต้นตลอดวงษ์มา ๏ วะโรภะยะพงษ์วงษ์ปรา กฎยศสมญา ทั้งสองประเสริฐเลิศดี ๏ อภิพงษ์ว่าวงษ์ยิ่งทวี อีกคำหนึ่งมี สมมุติเทพย์พงษ์สรร ๏ ว่าวงษ์สมมุติเทวัญ คือกระษัตริย์ สูงสุดมนุษย์บอปูน ๏ หนึ่งช้างมีสีกระกูล ท่านนับประยูร สี่อย่างที่แยกแจกพงษ์ ๏ พวกหนึ่งพระพรหมทรงหงษ์ รังสฤษดิจำนง ก็นับว่าพงษ์พรหมมาน ๏ พวกหนึ่งอิศวรบันดาน เรียกนามตามกาล ชื่อว่าอิศวรพงษ์พรรณ์ ๏ พวกหนึ่งนารายน์รังสรรค์ สมมุตเรียกกัน ว่าวิศณุพงษ์กรี ๏ พวกหนึ่งพระเพลิงฤทธี รังสฤษดิ์นามมี ว่าอัคนีพงษ์คช ๏ ทั้งสี่พงษ์นี้ปรากฎ แสดงนามยศ แห่งช้างแลอ้างเทวัญ ๏ พงษ์นี้ษอบอการันต์ บางอาจาริย์สรรค์ บังคับว่าศอคอควร ๏ คำพงษ์จะแจกจำนวน ให้จบกระบวน บอสิ้นบอสุดวาจา ๏ ให้เห็นพอเป็นอุทา หรณ์พงษ์ภาษา มคธเป็นบทศับท์ไทย ๚ะ

พัก หยุดพักสยามความไข กลำพักมีใน สยามพากย์มากมูล ๏ แผลงพักพำนักนิ์เพิ่มพูน เหมือนว่าเกื้อกูล เป็นที่พำนักนิ์อาไศรย ๏ พระภักตรกำพุชพากยไพ เราะเรียกใช้ใน ราชาศับท์สูงวาที ๏ ใช้ภอภรรยาปลายมี ตรเติมทวี แปลว่าดวงหน้าคำงาม ๏ ผ้าห่มเจ้านายนั้นนาม เรียกทรงสพักตาม พระยศในราชมณฑล ๏ พอพีณรอหันอำพน ตัวคอประคน ประดุจว่าพรรคพวกกัน ๏ พรรคะกับวรรคเป็นอัน เดียวคำจำนัน หากแปลกที่แปลงวอพอ ๏ ภักดีเดิมภัตดิหนอ แปลงตอเป็นกอ เช่นกับคัดติเป็นศักดิ์ แปลว่าจำนงจงรัก ยอมใจสมัค อาสาด้วยความเต็มใจ ๏ ถ้าจะแปลตรงคำใน บาฬีขานไข ว่าคบว่าเสพย์สนองคุณ ๏ ฝากกายกิจเกื้อเจือจุน บมิคิดทารุณ ประทุฐแต่เจ้านายตน ๏ เรียกว่าภักดีโดยกล ต้องตามยุบล แห่งบทธบายวาจา ๏ เช่นราชภักดีสมญา หนึ่งหลวงเสนา ภักดียังมีหลายนาม ๏ ภักดีกับภักดิ์โดยความ ที่ใช้ในสยาม ยุบลก็กลเดียวกัน ๏ แต่ตัตติเป็นการันต์ อ่านแต่ภักดิ์สรร สมมุตว่าเหมือนภักดี ๏ เช่นว่าข้าเฝ้าใฝ่มี สวามิภักดิ์ปรีดี แด่องค์พระเจ้าจอมปราณ ๏ พระยาบำเรอภักดิ์จัดการ กรมวังชำนาญ ชำนิทุกสิ่งเสร็จสรรพ์ ๏ หลวงมหาใจภักดิ์เวรปัน มหาดเล็กฝ่ายอัน อยู่ในราชวังบวร ๏ หลวงแผ้วพลภักดิ์นามกร นี่อุทาหรณ์ ภักดีเป็นภักดิแทนกัน ๏ หนึ่งภักษ์ษอบอการันต์ มคธยืนยัน ว่ากินแลว่าอาหาร ๏ คำเทียบเช่นว่าพระยามาร จับหมู่มฤคพาล เป็นภักษ์แลอิ่มอุดม ๏ วายุภักษ์ว่านกกินลม รูปตราในกรม มหาสมบัติคลังหลวง ๏ พากยในคำไทยทั้งปวง ตรวจทุกกระทรวง สยามจะใช้ไป่มี ๏ เช่นใช้แต่ในบาฬี คือภาคภาคี ว่าส่วนว่าคุณควรแจง ๏ ภาคว่าส่วนปันอย่าแคลง ตำรายาแถลง ว่ายาเสมอภาคปัน ๏ คือแบ่งส่วนยาเท่ากัน น้ำหนักแลสรร ละสิ่งละสิ่งสมควร ๏ พุทธสาศนกาลคจำนวน ที่ล่วงว่าส่วน อดีตภาคตามปี ๏ คำว่าภาคยะนั้นมี ยอการันต์ทวี มาเพิ่มแลเติมปลายคำ ๏ แปลว่าส่วนงามควรจำ แนกคุณโดยสำ เหนียกรู้แลดูฟังตาม ๏ พระผู้มีพระภาคยนี้นาม พระพุทธเจ้าความ ว่าพระผู้แจกคุณผอง ๏ คำศรีเสาวภาคยควรตรอง แปลตามละบอง ในบทมคธคำตรง ๏ ว่ามีส่วนงามดำรง ศรีสวัสดิ์บันยง บัญญัติว่าคำสูงศรี ๏ อนึ่งวากยบาฬี สยามพาที ว่าพากยแลพจนภาษา ๏ เช่นกัมพุชพากยชวา พากยแลมลา วะพากยหริภุญไชย ๏ สยามพากยคือภาษาไทย มคธพากยไพ เราะคำแห่งเชามคธี ๏ พุกามพากยเชาบูรี อังวะวาที คือม่านพม่าสบสรรพ์ ๏ พากยเตลงภาษารามัญ สังสกฤษฎ์อัน ว่าพากยแห่งพราหมณ์ฮินดู ๏ พากยแปดจัดตามแบบครู ชักมาให้ดู ให้รู้ว่าพากยภาษา ๏ คำเดิมว่าวิวักขา แผลงพิพากษา ว่าพูดวิเศศตัดสิน ๏ คำพากยเหล่านี้ควรถวิล ใช้มาอาจิณ แต่ยากจะรู้ใจความ ๚ะ

โพก ผ้าโพกนี้พวกคำสยาม สกดกอตาม แม่กกที่ยกเป็นไทย ๏ บริโภคว่ากินคำใน มคธอัดถ์ไข อีกอย่างว่าเครื่องใช้สอย ๏ อุปโภคนี้ก็ลงรอย ว่าของใช้สอย แต่แปลกที่ใช้ใกล้เคียง ๏ สมโภคว่ากินพร้อมเพรียง คืออยู่ร่วมเรียง ด้วยกินแลนอนผ่อนผัน ๏ อีกคำว่าโภคะขันธ์ กองสมบัติอัน จะกินจะใช้ไพรบูลย์ ๏ โภคะทรัพย์นี้คำเค้ามูล ไทยพูดเพิ่มพูน บพักจะแปลบรรยาย ๏ คำพอแม่กกมีหลาย คำเช่นพิปราย ประจวบบันจบครบครัน ๚ะ

พด แม่กดคำพดสามัญ เช่นไทยใช้กัน ว่าไม้ตพดตีกะบือ ๏ ช่างเงินบุราณชาญมือ สันทัดหัดปรือ พดด้วงแล้วกลอกตอกตรา ๏ พูดพดโทพิธวาจา สยามภาษา สำเหนียกแลเรียกใช้มี ๏ กำหนดพจน์ในบาฬี วะจะนะเดิมที ท่านแปลงเอาวอเป็นพอ ๏ จึ่งใช้เขียนพจน์ตัวนอ การันต์ไว้พอ กำหนดว่าพจน์ถ้อยคำ ๏ เช่นกับพากย์พจน์ควรสำ เหนียกจงแม่นยำ ถ้อยคำภาษาว่าตรง ๏ ไวพจน์วิจารณจำนง แปลโดยประสงค์ ว่าตรวจซึ่งคำคล้ายคลึง ๏ พจนาดถ์นี้ควรรำพึง แปลจงถ่องถึง ว่าความแห่งถ้อยคำคน ๏ พจมานในสารนุสนธิ์ ว่ากล่าวยุบล ในแบบคดีมีหลาย ๏ พจนวิลาศนี้อธิบาย ว่าเชิงเยื้องกราย กระบวนที่กล่าววาจา ๏ พจนสุนทรสมญา ตำแหน่งเสมียนตรา นั้นแปลว่าถ้อยคำดี ๏ เอกพจนพหุพจน์บาฬี ท่านใช้มากมี ในที่บังคับศับท์แสง ๏ เอกพจนสิ่งเดียวอย่าแคลง พหุพจน์แสดง ด้วยของซึ่งสิ่งมากมาย ๏ แปลคำเช่นร่ำบรรยาย กำหนดอย่าคลาย ตัวจอสกดหมดกัน ๏ เจ้าเมืองกำพชผูกพัน คำนี้ก็สรร แต่คำว่ากัมพุชา ๏ ท่านลดลบอุสวะรา เช่นทุกเวลา ท่านยกว่าทุกวันวาน ๏ บัพพะตะมคธคำขาน ท่านแผลงแปลงสาร เป็นบทบรรพตภูผา ๏ รอหันสกดตอตรา เช่นใช้กันมา ก็มีอยู่มากหลากคำ ๏ วัตตะมคธพจนำ นิเทศทางธรรม เป็นสังสกฤษฎ์วาที ๏ เป็นพรตเช่นบทใช้มี ว่าพระมุนี นักพรตท่านอดออมใจ ๏ ฤๅษีสร้างพรตอยู่ไพร ตัดบ่วงห่วงใย รักษาสมาธิธรรม ๏ การที่ประพฤติแม่นยำ เป็นแบบประจำ ท่านจัดว่าพรตจริยา ๏ แจกพดกำหนดวาจา ลำดับนับมา ทั้งหมดสิบสามคำคง ๚ะ

พัด ลมพัดพูดคำไทยตรง อยู่งานพัดองค์ แลไล่ตะพัดติดพัน ๏ ต้นเสาสอดกงพัดกัน ทรุดให้เที่ยงทัน ณะที่ที่ลุ่มหล่มเลน ๏ กงพัดพัดด้วยโบกเบน แม่หญิงใช้เจน ประจบประจวบรวบเรียง พัดโบกจ่ามรคู่เคียง พัดต่างต่างเสียง สำเหนียกที่เรียกในสยาม ๏ สกดตัวดอส่อความ พัดสามัญนาม จำแนกแลแจกคำไทย์ ๏ พัชนีนี้น่าสงไสย คล้ายกับคำใน มคธณบทวิชชะนี ๏ ชรอยแต่แรกเดิมที จะพูดวิชชะนี นานพลัดเป็นพัดคำกลาย ๏ พรรฒะพัฒะนะใช้หลาย โดยบทธิบาย ก็ว่าเจริญวัฒนา ๏ เช่นน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ว่าน้ำใจสา มัคคีเจริญราชการ ๏ พระยาศรีพิพัฒน์นามขนาน ตำแหน่งพนักงาน พระคลังสินค้าคงกรม ๏ ขุนพัฒน์สมบัติอุดม แต่มักหมักหมม เป็นนี่ก็นับร้อยพัน ๏ รัษฎากรพิพัฒสวร เศกชื่อหออัน เป็นท้องพระคลังใหญ่ยง ๏ แปลความตามศับทประสงค์ ภาษาไทยตรง ว่าที่เจริญอากร ๏ ทั่วเขตรแว่นแคว้นพระนคร รวมทรัพย์อากร แลราชทรัพย์ทั้งผอง ๏ บางคนเรียกรัชฎาปอง คำข้างเงินทอง บอต้องกับคำรัษฎา ๏ บอมิควรถือเป็นตำรา คัดแปลงราชา ธิบายบอชอบเชิงการ ๏ จักรพรรดินามเจ้าจอมปราณ อานุภาพไพศาล ได้ผ่านพิภพมณฑล ๏ อาณาแผ่ทั่วสากล ทวีปสี่ตำบล ตลอดพิภพจัตุรนต์ ๏ มีจักรแก้วทิพยโสภณ อาจบันดานดล ให้เสร็จดังราชหฤไทย ๏ อาจให้จักรแก้วเป็นไป โดยประสงค์ใด ประดุจดำริห์ทุกประการ ๏ จึ่งทรงบรมาภิธาน จักรพรรดิภูบาล บพิตรผู้ใช้จักรทรง ๏ วัดถาแผลงพัตราตรง แปลคำจำนง ว่าผ้าทุกอย่างต่างพรรณ์ ๏ ใช้ว่าพัตราภรณสรร ประสมคำกัน ว่าผ้าแลเครื่องแต่งกาย ๏ ภัตรภอภรรยาธิบาย ว่าเข้าสุกหมาย สกดตัวตอรอเติม ๏ เช่นใช้นิจจะภัตรคำเสริม คือเงินจุนเจิม กับเข้าเข้าสุกทุกวัน ๏ หนึ่งภัทรทอรอการันต์ ดุจเช่นใช้กัน ว่าภัทรมุขมนี ๏ แปลว่าหน้าจำเริญศรี อีกคำหนึ่งมี ว่าภัทรบิฐบวร ๏ พระที่นั่งโรยแป้งสยุมพร อภิเศกภูธร ดุจบทธิบายภายหลัง ๏ หมายตราความชอบชาวคลัง อ่านชื่อคนฟัง ก็ชัดว่าภัทราภรณ์ ๏ แปลว่าเครื่องแต่งอุระอร เจริญศักดิ์สุนทร ติดเสื้ออันสวมอินทรีย์ ๏ ภัศมะว่าเท่าธุลี พัศดุพาที เป็นชื่อแห่งของนานา ๏ คำเดิมวัดถุแผลงมา เป็นพัศดุภา ษาเรียกสำเหนียกในพราหมณ์ ๏ สัมพัจฉรฉินแปลตาม คำใช้ในสยาม ว่าสิ้นว่าขาดขวบปี ๏ ยกเป็นชื่อราชพิธี ยิงอาฏานามี เมื่อตรุศที่สุดเขตรฉนำ ๏ แจกพัดไทยขอมรวมคำ สิบเจดประจำ ที่จัดเป็นหมวดตรวจตรา ๚ะ

พาด คำพาดพูดในภาษา ไทยใช้เจรจา มีมากบอหลากสำเนียง ๏ เอาไม้พาดเรียบเทียบเคียง กลอนพาดแปเรียง พาดบ่านั้นผ้าอะไร ๏ พาดราวอีกพาดบันได พะองพาดขึ้นไป จนยอดโตนดโดดครัน ๏ สังวาศพูดพาดพิงกัน เหล่านี้สามัญ ญะพจนสกดตัวดอ ๏ ภาชนะใช้สอยตัวภอ ภรรยาตัวชอ สกดแลอ่านออกตรง ๏ โต๊ะถาดทองคำเครื่องทรง ราชาศับท์คง เรียกพระสุพรรณภาชนทอง ๏ สกดชอนอการันต์ปอง เขียนตามละบอง บอผิดฉบับแบบบรรพ์ ๏ ว่าต้องพิพาทย์ยืนยัน เกิดแก่งแย่งกัน แลต้องในฟ้องคำหา ๏ พิณพาทย์นี้คำเดิมบา ฬีพากย์ภาษา เนื่องนับแต่ศับท์วาที ๏ เอาวาเป็นพาแปลงอี เป็นยอเสริมทวี ดนตรีแตรสังข์กังสดาล ๏ ดีดสีตีเป่าบรรสาน เสียงก้องกังวาน มคธท่านเรียกวาที ๏ ในสยามความแยกแปลกมี กำหนดดนตรี สำรับแลวงจงจอง ๏ ปี่ฉิ่งระนาดฆ้องกลอง ตะโพนอีกสอง น่านับสำรับรวมคง ๏ เรียกว่าพิณพาทย์ครบวง เป็นชื่อจำนง ที่นับในศับท์ส่วนสยาม ๏ อาพาธโรคเบียนรูปนาม แปลให้ชัดความ คือป่วยแลไข้คำคง ๏ สำหรับพูดในพระสงฆ์ ดังพระสมุหวงษ์ อาพาธเป็นโรคเรื้อรัง ๏ ประพาศพอพิณพจนัง ศอคอประดัง สกดมคธคำขาน ๏ แปลว่าแรมราศจากสฐาน บัดนี้โวหาร ข้างไทยมักใช้เที่ยวชม ๏ เรื่องละครบทกลอนกล่าวสม สำเนานิยม เสด็จประพาศพงไพร ๏ เสด็จประพาศชลาไลย ประพาศแรมไกล เสด็จประพาศยาตรา ๏ ประภาศภอภรรยา ว่าพูดเจรจา เช่นตรัสประภาศพจมาน ๏ ตรัสประภาศทักทายนายปาน ประภาศตามสาร คดีอันดีมีมา ๏ ประภาศประพาศนี้นา เป็นสองวาจา จงจพที่นำแนะแปล ๏ สังวาศสมพาศกระแส ความเดียวกันแปล เอาวะเป็นพะแปลกเสียง ๏ แปลว่าอยู่พร้อมร่วมเรียง สยามสำเนียง สมพาศว่าอยู่สมสอง ๏ คือหญิงกับชายอยู่ครอง ฤๅชู้เลียมลอง ด้วยลอบด้วยลักรักเชย ๏ ก็เรียกสมพาศลามเลย รู้กันตามเคย ที่ใช้ประดิดคิดกลอน ๏ คำหนึ่งนั้นว่าภาษกร เสียงรอเป็นออน ตัวภาสนั้นภอภรรยา ๏ คำแปลว่าดวงพระอา ทิตยส่องนภา สกดตัวษอบอคง ๏ เช่นคำภาษกรวงษ์ แปลโดยจำนง ว่าพงษ์อาทิตยเทวัญ ๏ ลัทธิเกจิจำนัน คำวงษพงษ์พันธุ บังคับศอคออักษร ๏ บริภาษว่าคำตัดรอน พูดเพ้ยเย้ยหยอน กะทบกะเทียบเปรียบปราย ๏ โอภาษว่าแสงสว่างฉาย เฉิดฉันพรรณราย แลเรียกเป็นชื่อรัศมี ๏ หนึ่งคำเครื่องหมายผู้ดี คนมักพาที ว่าท่านผู้มีพาศนา ๏ ความนี้สุขุมคำภิรา พูดตามกันมา ก็เลงเอายศทรัพย์สิน ๏ จะแปลให้ต้องตามระบิล คนไม่เคยยิน จะแย้มจะสรวลทวนถม ๏ พาศนาว่าเครื่องอบรม โดยโลกยนิยม พูดอ้างว่าบุญหนหลัง ๏ เป็นเครื่องอบรมตราตรัง ติดตามตนดัง เงาเงื่อนบอเคลื่อนคลาคลาย ๏ บุญหลังอุปถัมภ์สืบสาย มียศศักดิ์หลาย สมบูรณสมบัติอัตรา ๏ เรียกท่านผู้มีพาศนา บุญอบรมมา เป็นเค้าเป็นมูลพนผล ๏ รวมพาดขอมสยามยุบล เสร็จสารนุสนธิ์ ประสมสิบห้าคำควร ๚ะ

พิด หมวดพิดคิดคำจำนวน แจกตามกระบวน บอแผกบอพ้องต้องตาม ๏ แบบฉบับในคำสยาม แต่หากคิดความ ว่าพิศว่าเพ่งเลงแล ๏ งามพิศพิศดูดังแข สามคำนี้แล กระบวนก็ควรคำไทย ๏ แต่คิดดูน่าสงไสย เห็นเป็นคำไทย ควรใช้สกดตัวตอ ๏ เหตุใดจึงใช้ศอคอ เหลือค้นต้นตอ จะเขียนก็เลียนตามกัน ๏ ปะวิตตบพิตรคำผัน ว่าท่านมีสรรพ์ สมบัติเป็นที่ปลื้มใจ ๏ ตรสกดรวมไป ท่านมักวางใน ท่อนท้ายพระนามใหญ่ยศ ๏ บรมนารถบพิตรตัวบท ตำแหน่งกรมลด ลงมาก็มีหลายนาม ๏ บพิธธอเธอสกดตาม คำนี้แปลความ ว่าแต่งว่าสร้างบำรุง ๏ พระอารามหลวงในกรุง เทพย์ไท้ผดุง วัดราชบพิธนามขนาน ๏ แปลความตามศับท์โบราณ เป็นไทยไขขาน ว่าวัดกระษัตริย์สร้างทรง ๏ พิทยาคือวิชาตรง ท่านแผลงจำนง ในสังสกฤษฎ์ภาษา ๏ จึ่งเป็นคำแปลงพิทยา ตัวอย่างมีมา เช่นพิทยาธรจร ๏ ผู้ทรงความรู้ครูสอน ตำหรับราญรอน ปรอทแลแร่แหล่หลาย ๏ เพียรฆ่าปรอทวอดวาย ฤทธิ์เกิดกับกาย จึ่งกลายจึ่งกลับนามกร ๏ เรียกว่าพิทยาธร ราวเรื่องสังหร จะเท็จแลจริงจงตรอง ๏ คำนับอย่างหนึ่งแลสอง อย่างสามอย่างปอง ตลอดจนสิบร้อยพัน ๏ ลำดับสังขยาเรียงกัน เอกะพิธผัน ว่าของอย่างหนึ่งพึงฟัง ๏ โทพิธไตรพิธเรียงสัง ขยาศับท์ประดัง สองอย่างสามอย่างเรียงไป ๏ จนถึงทศพิธแถลงไข ว่าสิบอย่างไนย เลศนี้ทวีโดยจง ๏ แปลงต้นคำใช้โดยประสงค์ ปลายคำพิธคง เท่าใดก็ได้โดยถวิล ๏ พิพิธคำนี้ควรยิน แปลโดยระบิล ระบอบว่าอย่างต่างพรรณ ๏ พิพิธโภไคสวรรย์ แปลคำจำนัน ว่าโภคสมบัติต่างมี ๏ พิพิธไอสูรยวาที จางวางชาวที่ คำแปลก็เหมือนไอสวรรย์ ๏ พิพิธเดชะเข้มขัน พิพิธอักษรพรรณ พิพิธณรงค์อีกนาย ๏ ใช้คำพิพิธมีหลาย พ้นที่บรรยาย ตำแหน่งขุนนางทุกกรม ๏ พระคลังสินค้านิยม พระยาเจ้ากรม นานาพิธภาษี ๏ ดำแหน่งว่าอากรมี หลายอย่างยิ่งทวี โรงหวยแลบ่อนจีนไทย ๏ คำพิธเช่นอ้างอย่างไข จงประจักษ์ใจ ธอเธอสกดจดคำ ๏ วิสะบาฬีพจนำ ไทยแปลซ้ำคำ คือแปลว่าพิศม์สารพัน ๏ เขียนใช้ใส่มอการันต์ วิเป็นพิผัน ศอคอสกดจดแจง ๏ ทรพิศม์ว่าพิศม์ร้ายแรง คัมภีร์แพทย์แถลง ว่าไข้ฝีดาดโดยตรง ๏ อสรพิศม์ว่างูจำนง แปลความประสงค์ ว่าพิศม์ดังดาบคมคาย ๏ ไข้พิศม์พิศม์ไข้บวาย พิศม์ของกินตาย ท่านเรียกว่าพิศม์สำแลง ๏ โหรายาเบื่อสารแรง เรียกยาพิศม์แผลง สยามว่ายากินตาย ๏ มคธวิสสาสะกลาย เป็นพิศวาศหมาย คำไทยว่าความคุ้นเคย ๏ แต่แบ่งข้างรักชมเชย เช่นคำพิเปรย ว่าพิศวาศนาฎนวน ๏ คำพิดจัดแจกประมวญ สิบเจ็ดคำควร จะจดจะจำตำรา ๚ะ

พืด คำพืดพืดไทยเจรจา ว่าเขียนอักขรา ติดกันเป็นพืดยืดยาว ๏ เหล็กพืดเอาทำฝักตาว พอใช้ไปคราว ครั้งนี้ทำดีไม่ทัน ๏ คำพืดเช่นนี้สามัญ คำไทยพูดกัน ตัวดอสกดงดงาม ๏ วีชะว่าพืชใช้ตาม มคธแปลความ ว่าของที่สืบวงษ์วาร ๏ ดังว่าพืชธัญญาหาร เข้าเจ็ดประการ ที่เก็บไว้ปลูกตามคราว ๏ สารพัดพรรณ์เพาะยืดยาว ทั้งมะเล็ดหน่อจาว ก็จัดว่าพืชสารพัน ๏ แต่ข้างคำไทยใช้กัน เอาไว้ทำพรรณ ทำพืชมิใคร่เจรจา ๏ บ้างควบทั้งสองวาจา คนร้ายรามา ไม่เอาเป็นพืชเป็นพันธุ์ ๏ พืชนี้บางทีเขียนกัน เติมนอการันต์ เห็นข้างจะล้นเหลิงเลย ๚ะ

พุด พุดทิชาดนี้น่าชมเชย พุดซ้อนเราเคย กิ่งปักก็เป็นต้นลำ ๏ พุดลาพุดจีบประจำ หนึ่งนายพุดสำ เนียงไทยก็ใช้ตัวฒอ ๏ วันพุฒสกดตัวฒอ เพราะเค้าต้นตอ วุฑฒะมคธคำมี ๏ แปลว่าผู้เถ้าผู้มี ความจำเริญศรี เจริญอายุยืนนาน ๏ วันพุฒนามเทพย์ในสฐาน ราษีคัคณานต์ เป็นเทพผู้เถ้าทางไสย ๏ กัมพุชว่าเขมรดุจใน กำพุชบทไข คดีประดนหนหลัง ๏ ภุชะว่าแขนควรฟัง จัตุรภุชหวัง ว่าองค์นารายน์สี่กร ๏ แปลอีกอย่างหนึ่งครูสอน มีอุทาหรณ์ ว่าท้าวภุชงค์นาคินทร์ ๏ นี้ว่าขนดกายิน ทั้งสองรบิล ระบอบก็ชอบบรรยาย ๏ วระภุษน์คำนี้จักขยาย แปลโดยธิบาย ว่าเครื่องประดับทุกพรรณ ๏ ษอบอมีนอการันต์ ภุษตัวภอภรร ยาว่าเครื่องแต่งละไม ๏ วระภุษน์ก็ทัดมีใน คำเสือโคไพร เราะเริ่มแต่เดิมอ่านมา ๏ สำแดงเครื่องแต่งกายา แห่งเสือแลคา วีชุบอุบัติปฏิสนธิ์ ๏ ตราเครื่องยศเลิศมงคล แห่งจอมภูวดล ชื่อภูษนาภรณ์มี ๏ ภูษนภูษนาวาที ทั้งสองวะจี ก็จัดเป็นอย่างเดียวกล ๏ สมเด็จสัมพุทธทศพล แปลโดยยุบล ว่าพระผู้ตื่นเบิกบาน ๏ โดยบทสกดทอทาน ธอเธอเติมสาร สำเหนียกเป็นการันต์เรียง ๏ บางทีต้องอ่านออกเสียง สังเกตคำเคียง ก็รู้ว่าใช่การันต์ ๏ ข้าพระพุทธเจ้าจำนัน พิดทูลทรงธรรม์ นี่อ่านต้องเรียงตัวราย ๏ พุทธศักราชต้นปลาย ที่ล่วงแลหมาย จะมาข้างน่าส่วนกาล ๏ รวมคำพุดพุดเสร็จสาร ประมวญประมาณ มีอยู่ครบเก้าคำคง ๚ะ

พูด หมวดพูดคำไทยจำนง ความไทยตรงตรง คือผลมพูดสุกงอม ๏ พูดจาปฤกษายินยอม ปรานีประนอม เพราะคนช่างพูดพูดดี ๏ แถวบ้านบางพูดทรายมี ในท้องชลธี เป็นเนินเป็นหาดดาดชัน ๏ พูดที่คำไทยพูดกัน เป็นคำสามัญ บังคับสกดตัวดอ ๏ บางคนเขียนสกดจอ โดยอวดฬ่อออ ว่าออกแต่คำบาฬี ๏ คือวุจจะธาตุเดิมที แกล้งเกณฑ์ใส่สี อย่าเชื่ออย่าใช้เขียนตาม ๏ เพราะพูดนี้แท้คำสยาม สกดดอดาม ดังแบบบังคับเห็นควร ๏ ภูตที่มีในจำนวน มคธขบวน ในแบบที่ใช้กันมา ๏ มีแต่ภูตภอภรรยา สกดตอตรา ดังภูตปีสาจอาจหาญ ๏ ปลุกภูตผีพรายร้ายราญ สูงเท่าลำตาล ต่อฤทธิ์กับเราราวี ๏ ภูตะมคธบางที เป็นคำกลางมี แปลอัดถ์ว่าสัตวสาธารณ์ ๏ เช่นว่าภูตทั่วทุกสถาน ล้วนกระมลมาน มุ่งหวังแต่ศุขสากล ๏ บางทีความเพ่งเลงยล โดยแบบยุบล ประสงค์แต่หมู่เทวดา ๏ เช่นในยานีธะภูตา กล่าวด้วยเทวา ในภูมแลพื้นอัมพร ๏ บางทีเชิงศับท์สังหร เรียกเป็นนามกร แห่งธาตุดินน้ำลมไฟ ๏ ดังมหาภูตสี่นี้ใคร รู้ชัดเจนใจ จงแจกแลแยกสี่สฐาน ๏ ดินแขงน้ำเหลวอาการ แห่งลมพัดพาน เพลิงร้อนระบมบ่มกาย ๏ เรียกมหาภูตรูปโดยหมาย มีทั่วหญิงชาย แลสัตวทั้งสิ้นโลกีย์ ๏ ภูตะมคธวาที เดิมคำเดียวมี แปลแปลกเพราะแยกเนื้อความ ๚ะ

เพด เพทเภทพูดใช้ในสยาม อาไศรยใช้ตาม แต่บทมคธบาฬี ๏ เพราะเพดคำไทยไม่มี จะพูดพาที ก็อ้างแต่อัญญะภาษา ๏ เช่นพูดไตรเพทพิทยา คำนี้มีมา แต่เวทวิเศศแห่งพราหมณ์ ๏ ซึ่งเขาจัดไว้เป็นสาม จำแนกโดยนาม ที่หนึ่งอิรุเวทางค์ ๏ ที่สองยัชเวทยางค์ สามะเวทวาง ที่สามครบตามตำรา ๏ ประเภทตัวภอภรรยา ต้องในบัญชา แบบบทสกดทอทาน ๏ แปลว่าย้ายแยกแตกฉาน แจกจากประธาน ที่ตั้งเป็นต้นเค้ามี ๏ เช่นกับกะลาโหมจักรี เสนาธิบดี ทั้งสองเป็นต้นเสวกา ๏ กรมขึ้นแยกย้ายซ้ายขวา จะนับคณนา อเนกอนันต์แหล่หลาย ๏ ยังหัวเมืองขึ้นเรียงราย ซึ่งแยกกระจาย แลจัดเป็นเอกโทตรี ๏ อีกทั้งจัตวาบูรี เรียกโดยวิธี ท่านว่าประเภททั้งหลาย ๏ คำว่าอาเภทกลับกลาย คือต้นกับปลาย บอต้องแลแตกแยกกัน ๏ เกิดเหตุเกิดเภทไภยัน ว่าเกิดไภยอัน ตรายมลายศุขสูญ ๏ เวสะว่าเพศเค้ามูล มคธเพิ่มพูน เป็นพากย์สยามความไข ๏ เพศหญิงเพศชายกลายไฉน ผิดเพศพรรณไป พงษเพศวิเศศสูงทรง ๏ แปลงเพศแปลกพวกปลอมพงษ์ ดาบศจำนง ต่อเพศผนวชบวชนาน ๏ ยี่สิบห้าอายุประมาณ ฝ่ายโหราจารย์ ว่าเบ็ญจะเพศครบปี ๏ ปัญจะวีสะเดิมที อาเทศวะจี จึ่งเป็นเบ็ญจะเพศพจน์ ๏ ร้ายดีเป็นที่กำหนด ตามในแบบบท ฉบับตำหรับโหรทาย ๚ะ

เพ็ด เพ็ดไม้ปล้องถี่ถึงปลาย บรเพ็ดฤๅคลาย รศฃมอย่าควรเจรจา ๏ วะชิระคำมีในบา ฬีแปลกันมา ก็แปลว่าแก้ววิเชียร ๏ คำไทยพูดใช้จำเนียร คือเพ็ชรตัดเจียร ชักเหลี่ยมแลขัดจรไน ๏ เรียกว่าเพ็ชรรัตน์อำไพ บอมีแก้วใด จะเทียบจะทันถึงสอง ๏ เมืองเพ็ชรบูรีนามปอง เป็นคำจำนอง ว่าเมืองดังเพ็ชรเด่นดวง ๏ คือเมืองเพ็ชรบูรกระทรวง ฝ่ายเหนือสรรรวง คำเดียวกับเพ็ชรบูรี ๏ เจ้าหมื่นสรรพเพ็ธภักดี คำเดิมบาฬี ว่าสัพพะวิธภัตติโก ๏ ท่านแผลงแปลงศับท์โดยโว หารแห่งพราหมณ์โบ ราณเรียกสำเหนียกเป็นนาม ๏ แปลว่ามีภักดีตาม สุจริตใจงาม ทุกอย่างในราชกิจการ ๏ พระศรีสรรเพ็ชทรงญาณ เป็นนามขนาน แห่งองค์พระพุทธมุนินทร์ ๏ คำนี้นักปราชฝ่ายจินต์ กระวีตัดสิน ว่าออกแต่สรรพัญญู ๏ แผลงตามสกฏะเป็นครู เมื่อพิเคราะห์ดู ก็สมในลักษณ์อักษร ๏ บางทีใช้เป็นนามกร แห่งองค์อดิศร สมเด็จพระเจ้าธรณี ๏ กระษัตริยกรุงเก่าก็มี สมญาพระศรี สรรเพ็ชเสด็จครองกรุง ๏ แปลว่ารอบรู้บำรุง ทุกสิ่งผดุง โดยเหตุแลใช่เหตุการ ๏ หนึ่งคำว่าเพ็ขรญาณ ว่าปัญญาปาน กับเพ็ชรอันแขงคมคาย ๏ พระเพ็ชรชะฎาโดยหมาย คำบอกธิบาย ว่าชื่อแห่งองค์อัมรินทร์ ๏ จัดพวกคำเพ็ดโดยระบิล ที่ใช้อาจิณ แลจัดเป็นหมวดตรวจตรา ๚ะ

แพด คำเดิมเวศสะในบา ฬีแผลงแปลงมา เป็นเพสยเป็นแพสยพึงยล ๏ แปลว่าพ่อค้าทุกคน เชานาประดน ในคำว่าแพสยพึงจำ ๏ ถึงนามพระเจ้าจอมธรรม แพสยันดรคำ นี้นับก็เนื่องเรื่องความ ๏ ท่านเกิดในระหว่างเขตรคาม พ่อค้าพระนาม จึ่งนับว่าแพสยันดร ๏ เวชชะว่าหมอสังหร สองชออักษร เอาเป็นทยะท้ายคำ ๏ เอาวอเป็นพอประจำ เป็นเพ็ทยแล้วซ้ำ เติมเอเป็นแพทย์อิกวาร ๏ เช่นกุมาระเพ็ทยไขขาน ว่าหมอกุมาร กุมาระแพทยก็มี ๏ ตำราหมอเรียกคัมภีร์ แพทยอีกวาที ว่าเวชชะสาตรตามเดิม ๏ โรคมากหาแพทยเพิ่มเติม ขวัญเข้าซ้ำเสริม โรคาก็ค่อยเบาคลาย ๏ หมวดเพดคำแพทยเติมปลาย เช่นฉันบรรยาย ยนต์แยบที่แอบแฝงเฝือ ๚ะ

โพด เข้าโพดนี้เป็นพากยเจือ จะเป็นคำเหลือ แต่โภชนะในเพรง ๏ ตกเป็นคำไทยใช้เอง เขียนกันค้ฤๅนเครง สกตตัวดอสามัญ ๏ โภชนาหารหากพูดกัน คำนี้ท่านสรร แต่บทมคธบาฬี ๏ อาหารแต่บันดามี ท่านใช้พาที ว่าโภชนะทั้งมวน ๏ พระสุทธโภชนคำควร ใช้ในกระบวน แบบคำเป็นศับท์ราชา ๏ สมโภชคำใช้กันมา ความในภาษา สยามว่าการเฉลิมขวัญ ๏ คือต้องเลี้ยงดูพร้อมกัน คำใช้จำนัน จำเภาะแต่ในการหลวง ๏ ทำขวัญราษฎรทั้งปวง มิใช่กระทรวง จะใช้สมโภชเลยลาม ๏ โพธิญาณอ่านเขียนกันตาม มคธแปลความ ว่าพระปัญญาใหญ่ยง ๏ สามาดถ์ตรัสรู้เป็นองค์ สัมพุทธผู้ทรง พระญาณอันยิ่งโลไกย ๏ โพธิสมภารมีใน ขอมกลายเป็นไทย ด้วยใช้มานานกาลเพรง ๏ ก่อสร้างศีลทานค้ฤๅนเครง เพื่อตรัสรู้เอง ท่านเรียกว่าโพธิสมภาร ๏ แต่ไทยพูดใช้ไขขาน คำโพธิสมภาร นั้นเพ่งเอาพระบารมี ๏ เหมือนว่าเมืองลาวภักดี เป็นข้าธุลี ลอองพระบาทบวร ๏ พึ่งโพธิสมภารภูธร กรุงเทพนคร แลยอมเป็นข้าเขตรคัน ๏ เช่นนี้คำไทยใช้กัน แปลความยืนยัน ว่าพระบรมบารมี ๏ คำหนึ่งเรียกต้นพระศรี มหาโพธิบาฬี ท่านว่าต้นไม้สำคัญ ๏ เป็นที่สมเด็จพระสรร เพชตรัสรู้ธรรม์ วิโมกษ์วิมุติหลุดถอน ๏ ข้ามเขตรสงสารสาคร ลุโลกอุดร ชำนะเกลศหมู่มาร ๏ ต้นโพจึ่งเป็นเจดียฐาน โดยนามขนาน มหาโพธิมณฑล ๏ ชื่อวัดวรโพธิตำบล กรุงเก่านุสนธิ์ ประสงค์ว่าต้นโพธิงาม ๏ พระราชาคณะหนึ่งนาม โพธิวงษ์ตาม ตำแหน่งกำหนดยศสงฆ์ ๏ แปลว่าตำแหน่งเผ่าพงษ์ แห่งพระผู้ทรง พระญาณอันตรัสรู้ธรรม์ ๏ นงโพธนี้คำสามัญ แปลว่านางอัน ลออแลพอพึงชม ๏ สกดธอเธอนิยม ตามแบบบุรม บุราณได้อ่านสืบมา ๏ คำโพดเช่นร่ำพรรณา ครบสิบวาจา จงจำในคำอธิบาย ๚ะ

พบ แม่กบคำพบมีหลาย จักแจกขยาย มคธสยามความมี ๏ พบปะคนไทยพาที ประสบพบศรี สุดาก็ด่วนจรจัล ๏ คำพบเช่นนี้สามัญ คนไทยพูดกัน ตัวบอสกดบทไทย ๏ ภะวะมคธคำไข ท่านแผลงแปลงไป เป็นภพบรรจบวาที ๏ ว่าเป็นว่าเกิดว่ามี แปลในคัมภีร์ ที่อ้างที่เทียบเพียบเพ็ญ ๏ ภพะโลกย์แปลว่าที่เป็น เกิดสัตวหากเห็น ตระหนักประจักษ์ไนยนา ๏ สามภพเช่นพูดกันมา ที่หนึ่งคือกา มะภพเป็นพวกนิกร ๏ รูปภพที่สองสังหร ที่สามอมร อรูปภพครบครัน ๏ ไตรภพที่ใช้จำนัน ดุจแจ้งแบ่งปัน เป็นส่วนทั้งสามความตรง ๏ พระไตรภพนารถคือองค์ สัมพุทธชินวงษ์ ที่พึ่งทั้งสามโลกา ๏ ท่านชักใช้เป็นสมญา แห่งจอมนรา ธิราชผู้ครองกรุงไกร ๏ พระสามภพพ่ายแกว่นไกร ตำแน่งทหารใน เป็นคู่พระราชสงคราม ๏ สมภพดิถีมีความ ว่าวันฤกษยาม บังเกิดแก่ครรภมารดา ๏ วันเฉลิมพระชนมพรรษา แห่งปิ่นประชา สยามธิเบศร์นฤบาล ๏ เรียกราชสมภพศุภการ กำหนดตามกาล วันรอบพระชนมดลปี ๏ พระไตรยภพนารถมุนี พระนามพระศรี สรรเพชผู้ตรัสรู้ธรรม์ ๏ แปลว่าพระผู้เป็นจัน โลงโลกยสบสรรพ์ ที่พึ่งแห่งภพทั้งสาม ๏ คำนี้ใช้เป็นพระนาม แห่งเจ้าจอมสยาม เช่นไตรยโลกะนารถอยู่หัว ๏ ต้นเดิมภะวะเรียงตัว แปลงแผลงพันพัว เข้ากับด้วยศับท์อื่นปน ๏ ใช้แยกแตกศับท์นุสนธิ์ เป็นภพหลายกล ประกอบให้ชอบวาจา ๚ะ

พับ ผ้าพับเสื่อพับพับขา สยามภาษา ว่านั่งพับเพียบเรียบเรียง ๏ ลำอ้อยหักพับลงเอียง หนึ่งนั้นสำเนียง พึบพับใครจับไก่กู ๏ อาภัพลับน่าอดสู ไป่มีผู้ชู ผู้เชิดให้เลิศลอยตน ๏ วาศนาอาภัพข้นจน วิบัติขัดสน สิ้นทรัพย์ทุกสิ่งสารพัน ๏ อาภัพเช่นคำจำนัน แปลว่าเหตุอัน ข้องขัดบอควรแกการ คือดังกำเนิดเดียรัจฉาน เป็นอาภัพฐาน ไปควรจะได้บรรพชา ๏ ในพระวิไนยสิกขา อาภัพเอกา ทศพิธประเภทเหตุแหน ๏ ห้ามจัดบัญญัติเขตรแดน บอให้ปลอมแปลน เอาเพศภิกษุสามเณร ๚ะ

พาบ ทอดตนพังพาบล้มเอน ไทยพูดกันเจน ว่าจับตะพาบน้ำแกง ๏ คำว่าสารภาพยังแคลง จะเป็นคำแผลง แต่พจนสะภาวะมี ๏ แปลว่าความเป็นเองดี คือสัจจะวาที ที่จริงก็พูดตามจริง ๏ คำไทยมักใช้ประวิง แถมรอแอบอิง ว่าสารภาพพจนา ๏ ฤๅจะเป็นเต็มวาจา สารภาวา ว่าความที่เป็นแก่นสาร ๏ คือทอดเท็จจริงไขขาน บมิได้มีมาร ยายอกแกล้งบอกอำยวน ๏ ความเป็นสองไนยใคร่ครวญ เลือกดูแต่ควร แต่ความที่ชัดจัดเจน ๏ เพราะของบมิต้องกะเกณฑ์ สุดแต่จะเบน จะบากให้ต้องคลองงาม ๏ ว่าคนสุภาพในสยาม ประสงค์แปลความ ว่าคนที่เรียบร้อยดี ๏ พร้อมทั้งกายใจวะจี กิริยาพาที ไม่หยิ่งไม่เย่อเสมอสมาน ๏ เค้าแรกชรอยบุราณ จะอ้างคำขาน มคธว่าสุภาวะ ๏ พูดแผลงแปลงวะเป็นพะ สกดพจนะ จึ่งเป็นสุภาพราบเรียง ๏ ท่านยังใช้แยกแปลกเสียง วะอาคมเคียง แปลงอุเป็นเอาเพราคำ ๏ อ่านว่าเสาวภาพพึงจำ มักใช้ลำนำ ในโคลงแลพากยนิพนธ์ ๏ สิบเก้าเสาวภาพกรองสนธิ์ ตัวอย่างอ้างยล เป็นแยบในแบบเบาราณ ๏ พระสงฆ์มักใช้คำขาน ขอจงโปรดปราณ แต่อาตมภาพถวายพร ๏ เป็นคำละเมียดสุนทร ความในอักษร คือใช้แทนข้าแทนเรา ๏ ข้อนี้เป็นบัญญัติเบา ราณเรียบสำเนา สำเหนียกในทางพิดทูล ๏ คฤหัตถ์ฝ่ายข้าบาทมูล ในคำเพิ่มพูน ข้าพระพุทธเจ้าจำนง ๏ อาตมาภาพฝ่ายพระสงฆ์ ใช้ทูลแต่องค์ จอมภพแลพงษ์ขัติยา คำพาบไทยใช้เจรจา ชักประมวญมา มีเจ็ดเช่นคัดรำพัน ๚ะ

พิมพ์ คำพิมพ์ที่ไทยพูดกัน ใช่คำสามัญ มักมาแต่คำบาฬี ๏ ค้นในคำไทยไป่มี จะเฃียนวาที ข้างท้ายต้องเพิ่มตัวพอ ๏ ว่ารูปเป็นแบบต้นตอ ถอนลอกละออ แลอาจจะอ้างอย่างพิมพ์ ๏ สัณฐานไว้วางกลางริม ด้านน่าปัจฉิม บคลาศบเคลื่อนแบบบรรพ์ ๏ ตีพิมพ์ผ้าลายหลายพรรณ์ อักษรพิมพ์อัน จะเรียงอย่าให้เรี่ยราย ๏ แกะพิมพ์ตุกระตาตีขาย ได้อัฐฬศหลาย เพราะเด็กมักชอบใจชม ๚ะ

พูม พูดพูมคำไทยนิยม ท่านผู้นี้สม แก่ภาคแก่ภูมผู้ดี ๏ ไว้ภาคไว้ภูมเกินที่ ไว้ยศยิ่งทวี เช่นนี้ว่าภูมไทยไทย ๏ พระภูมเทวาอาไศรย ณะพื้นพฤกษ์ไพร นิคมเขตรคามนคร ๏ ภูมิว่าแผ่นดินดอน อ่านลดอักษร ว่าภูมิ์ก็มีนิยม ๏ ขุนภูมิว่าที่ปลัดกรม ไพร่หลวงระดม มหันตโทษทำทาง ๏ ไชยภูมิคำใช้ไว้วาง แปลเป็นกลางกลาง ว่าที่อันมีโชคไชย ๏ หนึ่งว่าสมรภูมิ์ใน เรื่องราวใดใด ก็แปลว่าที่ร่วมตาย ๏ คือที่กองทัพทั้งหลาย ฆ่ากันวอดวาย ละครั้งละคราวครามครัน ๏ เรียกว่าตายร่วมพร้อมกัน ถึงต่างชีวัน ก็คล้ายกับร่วมชีวี ๏ สุวรรณภูมิเป็นชื่อบุรี แปลคำบาฬี ว่าเป็นที่เกิดทองคำ ๏ ปราดถนาพุทธภูมิพึงทำ บุญอย่าเบื่อบำ เพญโพธิญาณเพิ่มพูน ๏ ภูมวารเป็นดิถีสูญ ไป่ควรเกื้อกูล แก่การพิธีมงคล ๏ ภูมิสามแจกโดยตำบล แต่ละบายดล แดนสุดกามาวจร ๏ ท่านนับโดยนามกร กามะภูมิผ่อน ว่าเป็นที่เนื่องในกาม ๏ โสฬศพรหมต่างต่างนาม รูปะภูมิตาม ที่นับนิยมพรหมญาน ๏ ทั้งสี่อะรูปพรหมมาน โดยไนยนามขนาน อะรูปะภูมพื้นบน ๏ สามภูมิสามภพมณฑล ที่สัตวเวียนวน บังเกิดกำเนิตแก่ตาย ๏ ภูมนี้มีที่ใช้หลาย เช่นฉันบรรยาย ที่แยกแลแจกจำนัน ๚ะ

พรม คำพรมนิยมพจนพรรณ์ เป็นสองอย่างปัน สยามมคธบทมี ๏ ประพรมปูพรมลายดี นายพรมได้ที ก็เก็บเอาผลพรมมา ๏ ไม้พรมรองศพเร่งหา พรมมิท้องนา มักขึ้นออกดื่นดาษไป ๏ เหล่านี้วาทีพรมไทย พอรอเรียงไป ตัวมอสกดหมดคำ ๏ ฝ่ายพรหมมคธจงสำ เหนียกในใจจำ ตัวหอท่านต่อเติมลง ๏ เช่นช้างอ้างใช้พรหมพงษ์ คือนับในวงษ์ พระพรหมประสิทธิรังสรรค์ ๚ะ

พราม คำพรามในสยามพูดกัน เชือกหนวดพรามอัน จะหย่อนจะตึงขึงดู ๏ กรมพราหมณมหาราชครู นับถือเชิดชู อิศวรนารายน์ฝ่ายพราหมณ์ ๏ คำนี้มคธบทงาม จะเขียนว่าพราหมณ์ ตัวหอชำแรกแทรกกลาง ๏ การันต์ณอใหญ่ไว้วาง ถ่องถ้วนที่ทางนิทัศน์ นิเทศเหตุการ ๏ เพียรคิดแคะไค้ไขขาน ไว้สอนกุมาร ได้อ่านได้จำคำแปล ๚ะ

๏ รำพันไวพจนอ้าง อักษร พอแฮ
เพียรพากผูกเป็นกลอน กล่าวไว้
เรียงเรียบเทียบสุนทร ทางแบบ ฉบับนา
จบเสร็จสำเร็จให้ อ่านแจ้งจำความ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ