มอไวพจน์

๏ แต่นี้จะต่อตั้ง เติมบท
จัดแจกมอไวพจน์ พากยพ้อง
นักเรียนเรงจำจด จงแม่น ยำนา
กลอนยักยานีพร้อง พรอกอ้างออกเสนอ

ยานี จะแจกมอไวพจน์ ตามแบบบทบอกบรรยาย แปลคำร่ำธิบาย แบบสกดมคธไทย ๚ะ

มน เบื้องต้นคำมนนี้ จะช่วยชี้ให้แจ้งใจ กระดานฤๅอะไร รูปไม่รีเรียกมนกรม ๏ ต้นไม้มีหลายอย่าง ต้นทองหลางใบมนถม ช่างเขียนเพียรประสม น้ำยาดีสีมนมน ๏ นี้ความสยามใช้ พูดเข้าใจกันทุกคน แต่คำว่ามณฑล นั้นมคธบทบาฬี ๏ แปลว่าวงกลมชัด แลจังหวัดเรียบร้อยดี เช่นคำท่านพาที ว่ามณฑลดวงสุริยจันทร์ ๏ พระสงฆ์ทรงสิกขา นุ่งห่มผ้าเรียบร้อยครัน ต้องตามวิไนยอัน ทรงบัญญัติบริมณฑล ๏ ซึ่งแปลว่าจังหวัด คือบริสัชทั่วสากล ประชุมประชาชน เช่นล้อมนั่งฟังเทศนา ๏ เรียกนามตามยุบล ว่ามณฑลบริสา ชุํนุํวงษ์ขัติยา เรียกว่าขัดติยะมณฑล ๏ บันดาหมู่พระสงฆ์ สาวกองค์พระทศพล เรียกสาวกมณฑล คือกลมวนด้วยคุณดี ๏ หนึ่งเตียงพระมณฑล สำหรับพระราชพิธี ตั้งเครื่องเรืองรูจี แจ่มจำรัสชัชวาลย์ ๏ หลวงราชาภิมณฑ์ เชาเครื่องต้นพนักงาน สำหรับอะลังการ แต่งพระองค์พระทรงธรรม์ ๏ เขียนณอคุณสกด ฑอไพรฑูรย์เป็นการันต์ ตัวภิใช้ภอภรร ระยาแยบแบบอักษร ๏ คำว่าท้าวสามนต์ โดยยุบลนามภูธร แปลว่าทรงฤทธิรอน แผ่รอบคอบขอบเขตรขัณฑ์ ๏ เสนาสามนต์เล่า ความแปลเค้าก็คล้ายกัน คือเหล่าเฝ้าทรงธรรม์ โดยรอบเรียงเคียงใกล้องค์ ๏ เชาบ้านจะทำบุญ ให้นายนุ่นนิมนต์สงฆ์ เผดียงเพียงเก้าองค์ ตามเจาะจงเจตนา ๏ พอบ่ายชายสุริยน สกดพุทธมนต์ตามเวลา รุ่งเช้านิมนต์มา รับบิณฑบาตรอังคาดถวาย ๏ เชิญหมอเวทมนตร์ขลัง เข้ามานั่งสาธยาย เสดาะพระเคราะห์คลาย ด้วยเวทมนตร์ดนขยัน ๏ ห้าคำเร่งจำจด นอสกดตอการันต์ เวทมนตร์มีแปลกกัน คือการันต์เติมตร ๏ ยังแปลกแยกนุสนธิ์ คือคำมลสกดลอ คำใช้ไว้เพียงพอ ได้ครบเสร็จเจดคำขาน ๏ โกมลกะมลนี้ เป็นชื่อชี้ประทุมมาลย์ บัวหลวงทั่วสฐาน ท่านเรียกว่าดอกโกมล ๏ หัวใจเราทั้งหลาย ทั้งหญิงชายทั่วทุกคน สัณฐานนั้นเปรียบกล กับดอกบัวจะแย้มบาน ๏ หัวใจท่านจึ่งเรียก ว่ากระมลโดยสัณฐาน คำนี้ใช้มานาน คำล่อล่อพอเข้าใจ ๏ บางทีรวมระคน ว่ากระมลหฤไทย จะแปลภาษาไทย ว่าหัวใจดังดอกบัว ๏ พิมลนฤมล แทบทุกคนรู้กันทั่ว คือของไม่หมองมัว หมดมลทินสิ้นราคี ๏ กระษัตริย์สองนครา เมืองปาวาแลโกสี นาราราชธานี มลละกระษัตริย์ชัดพระนาม ๏ มลละคนมวยปล้ำ มีประจำทุกเขตรคาม ทนายเลือกหอกตาม ตำแหน่งเรียกคู่มวยทรง ๏ หลวงมลละโยธา นุโยคปรากฎนามตรง พนักงานเปรียบมวยยง ยศดำรงที่จางวาง ๏ เจ็ดมลคำมคธ ลอสกดตามที่วาง ศึกษาอย่าจืดจาง จักลุ่มฦกที่ฝึกสอน ๏ อย่าคิดแต่อ่านเล่น เช่นหนังสือสำเนากลอน บันดาอุทาหรณ์ ล้วนมีเหตุสังเกตความ ๏ มณฑกแปลว่ากบ มณฑารพดอกไม้งาม เรียกใช้ในสยาม แต่มณฑาว่าขาดคำ ๏ มณฑารพรัตน์ นามกระษัตริย์พจนำ กระจ่างอ้างประจำ มณฑารพครบคำควร ๏ คำไทยชอบใช้ตัด พูดหลัดหลัดตัดขบวร ยลแยบแบบกระสวน อย่าเพ่อด่วนติเตียนไทย ๚ะ

มัน พูดมันคำสยาม มีข้อความตามวิไสย มันเผือกเลือกเผาไฟ มันไม่ให้ก็โกรธมัน ๏ หมูเถื่อนเพื่อนยิงได้ แบ่งมาให้กินมันครัน มะพร้าวแก่จาวตัน เคี่ยวน้ำมันได้มากหลาย ๏ น้ำมันมีมากอย่าง มันต่างต่างเหลือธิบาย สกดกำหนดหมาย ตัวนอนิลสิ้นทุกคำ ๏ รามัญแปลว่ามอญ แบบก่อนก่อนมีแม่นยำ ญอญาติใช้ประจำ เป็นสกดบทเบาราณ ๏ อีกคำสามัญเล่า มคธเค้าท่านไขขาน แปลความตามโวหาร จำความเป็นเสมอกัน ๏ ความเป็นผู้รำงับ ท่านก็นับว่าสามัญ ของเป็นทั่วทั่วกัน เรียกสามัญตามธรรมดา ๏ เหมือนหนึ่งสามัญสัตว์ ความก็ชัดเช่นนี้หนา คือสัตว์ซึ่งเกิดมา ตามปรกติไม่ยิ่งยง ๏ ซึ่งว่าสัตววิเศศ อาไศรย์เหตุแปลกเห็นตรง เลิศกว่าสามัญวงษ์ เช่นดังองค์เจ้าจอมปราณ ๏ ยิ่งใหญ่ในมนุษย์ สูงที่สุดบมีปาน บุญญาภิสมภาร ท่านสร้างสมอบรมมา ๏ มัคคะแปลว่าทาง คำไว้วางว่ามรรคา รอหันสรรวาจา สังสกฤษฎ์วินิจฉัย ๚ะ

มาน คำมานอ่านมามาก ไม่พบพากย์ภาษาไทย มีแต่เคลือบแฝงใน ภาษาอื่นดื่นดายมี ๏ เช่นว่าปากสามาญ เป็นคำขานไทยพาที สืบสาวราวคดี ไม่รู้แน่แต่พากย์ไหน ๏ เห็นแปลกญอสกด ผิดจากบทที่คำไทย สังเกตโดยเลศไนย เห็นจะใคร่เป็นบาฬี ๏ สามัญกับสามาญ เป็นอาการซึ่งพาที สั้นยาวกล่าววิธี ธรรมเนียมไทยใช้ปนกัน ๏ นามหนึ่งคำเขมร ไทยเก็บเกณฑ์มาจำนัน มักใช้ในโคลงฉันท์ ตามสำคัญมานว่ามี ๏ ในเรื่องอนิรุท ซึ่งสมมุตเป็นเรื่องดี อักษรกลอนพาที ชีวิตรเราบร้างมาน ๏ เช่นนี้เป็นตัวอย่าง เป็นที่อ้างออกพิจารณ์ หนึ่งคำว่าประมาณ ใช้สกดณอคุณควร ๏ แปลว่านับทั่วถึง ของสิ่งซึ่งนับประมวญ ข้างไทยใช้สำนวน แปลประมาณว่าคะเน ๏ ซึ่งว่าโรคท้องมาร เป็นคำขานพูดเลเพ มคธบทหันเห มาเป็นไทยพูดไขขาน ๏ คือว่าโรคพุงใหญ่ เช่นท้องไส้ของยักษ์มาร พูดกันแต่โบราณ ติดเนื่องมาภาษาไทย ๏ พจมานว่าพูดจา ท่านใช้มาแต่ไรไร มักเขียนเพี้ยนตัวไป เป็นพชะละตัวจอ ๏ มานนี้ต้องด้วยบท ตัวสกดนอนิลหนอ ต้นเค้าเป็นเหล่ากอ ไม่พอที่จะเพี้ยนคำ ๏ กุมารพากย์มคธ รอสกดบทประจำ แปลว่าเด็กจงสำ เหนียกนึกแน่แปลให้คง ๏ ยักษ์มารบรรหารบท รอสกดอย่าใหลหลง แปลว่าผู้ฆ่าปลง ชีพแห่งสัตว์ให้มรณา ๏ สุขุมาลว่าผู้ดี สูงศักดิ์ศรีมียศถา นันดรซ้อนซับมา หลายชั่ววงษ์พงษ์ประยูร ๏ สกดลอวิลาศ คำนักปราชสอนเกื้อกูล รู้ไว้ได้เพิ่มภูล ปรีชาชอบประกอบการ ๏ อีกคำในมคธ มีแบบบทว่าดวงมาลย์ แปลว่าดอกไม้บาน เบิกกลีบแย้มแซมร้อยกรอง ๏ อีกคำเยาวมาลย์ แปลโวหารโดยทำนอง ดอกไม้อ่อนลำยอง คำใช้ปองเป็นชื่อนาง ๏ ราชะบทมาลย์ เหตุบรรหารไว้เป็นกลาง ดอกไม้รองบาทางค์ ฤๅระเบียบบาทบงษุ์ ๏ สามมาลย์เช่นขานคำ ลอประจำสกดลง การันต์ที่ประสงค์ ใส่ตัวยอต่อเติมปลาย ๏ โจรชื่อองคุลีมาล เหตุบรรหารท่านบรรยาย โจรนี้มีแยบคาย ฆ่าคนตายตัดนิ้วมือ ๏ เจาะร้อยห้อยตะพาย โดยดุร้ายจนเลื่องฦๅ ตะพายพวงนิ้วมือ จึ่งเรียกชื่องคุลีมาล ๏ เรือนอยู่เทวดา ผ่องโสภาแก้วแกมกาญจน์ คำเรียกว่าวิมาน มีตัวบทสกดนอ ๏ อีกคำประทุมมาลย์ ท่านบรรหารสกดลอ ท้ายเพิ่มการันต์ยอ เช่นดวงมาลย์สารสากษี ๏ หนึ่งคำสุขุมาล แปลคำขานว่าผู้ดี เขียนใช้ไม่ต้องมี อักษรต่อยอการันต์ ๏ คำมานสารนุสนธิ์ โดยยุบลต่างต่างกัน แม้นไม่รู้เท่าทัน จะตึงตันในปัญญา ๚ะ

มิน มินหม้อภาษาไทย์ คำพูดใช้อยู่อัตรา คำเดียวเท่านี้หนา เป็นภาษาสยามตรง ๏ มางษ์มินว่าเนื้อปลา เป็นคำบาฬีจำนง เช่นมินราษีตรง กับดาราปลาตะเพียน ๏ พรหมินทร์พรหมเป็นใหญ่ มักมีในที่อ่านเขียน หนูหนูหมู่นักเรียน ต้องมีเพียรจำศึกษา ๏ พวกโจรใจทมิฬ มันมักกินแต่สุรา หนึ่งพวกแขกลังกา ก็เรียกว่าทมิฬมี ๏ มิฬหะแปลว่าคูธ คำนี้พูดในบาฬี ทั้งสามมิฬวะจี ฬอสกดบทบรรหาร ๚ะ

มุน มุณฑะว่าโล้นด้วน แจกครบถ้วนสำเนาสาศ์น เครื่องกระยาสนาน เรียกมุรธาภิเศกสรง ๏ ใช้คำว่ามุลนาย อธิบายคนต้นตรง จะเขียนต้องจำนง นับในบทสกดลอ ๚ะ

มูน มูนไทยใช้คำปอง มากมูนมองสกดนอ เข้าเหนียวนึ่งให้พอ มูนกระทิให้มันมัน ๏ ขุดดินมาเพิ่มภูล กองไว้มูนมากครามครัน เหล่านี้คำยืนยัน อย่างวาจาภาษาไทย ๏ มูลช้างแลมูลม้า มูลปักษาน่าสงไสย มูลขอมฤๅมูลไทย เดิมอย่างไรไม่รู้เดิม ๏ มีใช้ในบัญญัติ คำท่านจัดมีเพิ่มเติม ราชาศับท์สูงเสริม ว่ามูลสัตว์แลมูลดิน ๏ หนึ่งมูลแปลว่าราก จัดวิภาคโดยถวิล คนไทยใช้อาจิณ มูลรากยากจะถอน ๏ เค้ามูลมูลคดี มูลเหตุมีสำเนากลอน สามคำอุทาหรณ์ มูลว่าต้นค้นมาเรียง ๏ ประมูลเงินภาษี ส่วนทวีมาเทียบเคียง ประมูลแปลสำเนียง ว่าเพิ่มต้นประดนทุน ๚ะ

เมน พะบู๊ดูเหลือเถน หกขะเมนเกี่ยวกันวุ่น คว้าไขว่ไล่ชุนละมุน หกขะเมนเบนหลีกไป ๏ อีกคำแก้วโกเมน นี่ก็เกณฑ์เป็นคำไทย ตกต้องตามวิไสย สามัญพจนบทสยาม ๏ เรียกเขาพระเมรุ์นี้ ตั้งเดิมที่มาแต่พราหมณ์ สับสนปนสามปาม เป็นมคธบทบาฬี ๏ ทุกกรมต้องกะเกณฑ์ ทำพระเมรุเมื่อปลายปี เมรุ์ทิศเมรุแทรกมี มุขประจำทำครบครัน ๏ รูปเมรุเทียบวิมาน ในสฐานสร้างสวรรค์ คนไทยใช้พูดกัน อ้างสำคัญเสาพระเมรุ ๏ นับถือว่าของตรง ตั้งดำรงไม่เอียงเอน ที่ตั้งของโยคเกณฑ์ เป็นแก่นหลักปักโลกา ๏ ตามคำพราหมณ์เล่าฦๅ ได้นับถือทั่วกันมา มีจริงดังวาจา ฤๅไม่จริงตามใจตรอง ๏ เมรุใช้ในมคธ รู้สกดบทละบอง เขานี้นามเป็นสอง สิเนรุก็ใช้ชุม ๚ะ

มอน บ้านลาวปลูกต้นมอน อรชรใบปกคลุม ตัวไหมมากินชุม เรียกกันกลุ้มว่าตัวมอน ๏ เช่นนี้คำสยาม เตมตามความไม่ลดทอน รามัญแปลว่ามอญ ญอ สกดบทรามัญ ๏ มิใช่คำศับท์แสง แต่ท่านแกล้งให้แปลกกัน ญอญาติเป็นสำคัญ คล้ายรามัญควรถวิล ๏ ม้วยมรณ์แปลว่าตาย บทธิบายมีอาจิณ มคธบทระบิล สกดรอณอคุณปลาย ๏ โตมรว่าหอกซัด แขกสนัดใช้กันหลาย บางทีท่านใช้กลาย เป็นโจมรนั้นก็มี ๏ ช่างกลึงชื่อนายจร กลึงภมรชักหมุนจี๋ กลึงกวดลวดลายดี ได้เป็นที่ขุนภมร ๏ มะแลงภู่วู่หวู่บิน เที่ยวหากลิ่นเกลือกเกษร มคธเรียกภมร เพราะบินหมุนวุ่นวนเวียน ๏ อมรว่าไม่ตาย เทพยนิกายพูนเสถียร อายุยืนจำเนียร เนิ่นนานนับด้วยกัปกัลป ๏ สมมุตคำอมร เป็นนามกรหมู่เทวัญ เช่นคำคนจำนัน อมรแมนแสนสบาย ๚ะ

เมิน เมินเมิลมีทั้งคู่ อ่านจงรู้ดูแยบคาย เมินนอข้อธิบาย ว่าเมินไปไม่แลดู ๏ เมิดลอพอกำหนด กัมพุชพจน์บทแบบครู นี่แปลว่าแลดู ขืนกันอยู่ดูจงดี ๚ะ

โมง ทุ่มโมงคำสยาม รู้ชัดตามความวาที กับเปลือกต้นโมงมี แช่น้ำเชื้อเจือกับปูน ๏ ขุดดินให้เป็นปล่อง เดินตามช่องแผ่นดินพูน ฤๅก่ออิฐดินมูน เรียกอุโมงค์โปร่งข้างใน ๏ ต้องเขียนคอการันต์ เป็นสำคัญใช่คำไทย ตามเช่นเป็นวิไสย ศับท์มคธพจน์ภาษา ๏ พวกเพื่อนเตือนชักโยง ล้วนประโมงลงจับปลา สยามความเจรจา แต่บุราณสารคดี ๚ะ

มัก พูดมักยักตามเหตุ จงสังเกตในวาที มักไทยใช้มากมี เสศหลากหลากมากหลายคำ ๏ มักใหญ่ใฝ่สูงหลาย คนมักง่ายอยาบคายทำ มักได้ใคร่ดีงำ แง่เงื่อนมิดปิดมารยา ๏ โต้ตอบกับไพรี คำเสียดสีมักมีมา มักหนึ่งลาวเจรจา ข้อยมักเจ้าเท่าดวงใจ ๏ มัคคะว่าหนทาง แจ่มกระจ่างไม่สงไสย คำเดียวตลอดไป อริยมรรคแลมรรคผล ๏ อัษฎางคิกะมรรค ทางประจักษ์แปดอย่างยล เป็นทางดำเนินดล ลุล่วงโลกย์โอฆสาคร ๚ะ

หมัก แช่หมักหมักเหงื่อไค ที่คำไทยกล่าวสุนทร สมัคสโมสร ศับท์มคธสกดกด ๚ะ

มาก คำไทยใช้ว่ามาก ของหลายหลากมากเพียงพอ ควรเขียนสกดกอ ตามวาจาเป็นสามัญ ๏ ชลมารคว่าทางน้ำ ต้องพูดซ้ำเพราะต้องกัน สถลมารคปัน เป็นทางบกยกไว้เคียง ๏ มัคคะใช้ว่ามารค พูดลากลากยาวสำเนียง คำอ้างวางไว้เรียง อริยมารคอริยผล ๏ คำมาฆสกดฆอ ระฆังพอสังเกตกล แปลว่าเดือนสามยล นภดลมาฆดารา ๚ะ

มึก น้ำหมึกคำสยาม ปากไก่งามเขียนเลขา พระบรมราชา ธรรมึกว่าเจ้าทรงธรรม ๏ มิคะแผลงไม่ฦก เป็นมฤคเห็นเพราะครัน แปลว่าเนื้อสมัน แลละมั่งอีกกวางทราย ๚ะ

มุก เรือใครใช้บันทุก เปลือกหอยมุกเอามาขาย ช่างมุกประดับลาย ตลุ้มมุกสุกแวววาม ๏ พวงสร้อยย้อยระยับ ล้วนประดับไข่มุกงาม ในสวนของขุนราม กล้วยหักมุกสุกคาหวี ๏ มุกกอสกดใช้ มุกคำไทยใช้พาที ฝ่ายมุขคำบาฬี สกดขอข้อสำคัญ ๏ มุขะแลมุขา แปลว่าหน้าทุกสิ่งสรรพ์ ใช้ทั่วทุกสิ่งอัน อวิญญาณสวิญญาณ ๏ หนึ่งมุขแปลว่าปาก อีกคำหลากว่าประธาน มคธบทพิจารณ์ คำปาโมกษ์ประมุขมี ๏ มุขที่แปลว่าหน้า เหมือนคำว่ามุขมนตรี หัวหน้าหมู่เสนี คือเสนาธิปะไตย ๏ บ่ายมุขะมณฑล คือว่าคนบ่ายหน้าไป มุขลดคล้ายพาไล ลดเป็นหลั่นชั้นหลังคา ๏ น่ามุขคือสฐาน ที่เป็นด้านยื่นออกมา ดังมุขแห่งพลับพลา ที่ประทับเจ้าภูวดล ๏ ตรีมุขว่าสามน่า เช่นศาลาสามมุขยล เป็นอย่างอ้างยุบล แบบตรีมุขทุกสฐาน ๏ น่ามุขทั้งสี่ทิศ งามไพจิตรเพียงวิมาน สยามนามขนาน จัตุระมุขสี่น่าบัน ๏ คำเรียกแก้วมุกดา ใช้กันมามากครามครัน มคธบทสำคัญ นั้นท่านว่ามุตตาตรง ๏ คำแผลงสังสกฤษฎ์ ตัวตอบิดผันผ่อนลง เป็นกอสกดคง คำใช้ชุกเป็นมุกดา ๏ เช่นคำว่าสัตติ เป็นศักดิ์โดยภาษา กดกับกกวาจา เปลี่ยนกันได้ในวิธี ๏ มุขเขมรใช้เจรจา แปลว่าหน้าเหมือนบาฬี ชรอยแต่เดิมที มคธใช้ได้ติดมา ๏ รวมมุกที่รำพัน หมดด้วยกันสิบวาจา นักเรียนเพียรศึกษา ได้ปัญญาใหญ่กว้างขวาง ๚ะ

เมก คำเรียกเมฆหมอกนี้ คำบาฬีท่านไว้วาง ตกลงเป็นคำกลาง เพราะคนไทยใช้มานาน ๏ สกดฆอระฆัง ก็พอยังเป็นพยาน คำใช้ที่ไขขาน ว่าเมฆคลุ้มกลุ้มอำพร ๏ หนึ่งนางเมขลา ผู้รักษาชะโลธร สรวมสร้อยสะเอวอร สะเอ้งรัดชัดแวววาม ๏ กุมดวงมณีฉาย รำเยื้องกรายก่อกวนกาม เทวาสุราราม เร่งพิโรธโลดไล่นาง ๏ นางแบแก้วแวววับ แสงแก้วขับในตาพร่าง โกรธแค้นแสนสุดปาง เงื้อขวานขว้างประเปรี้ยงเสียง ๏ ช้างทิพย์ในสวรรค์ รู้ทั่วกันโดยสำเนียง คิรีเมขล์สูงใหญ่เพียง ภูผาเงื้อมตระหง่านหาญ ๏ เป็นสง่าในจัตุรงค์ ที่นั่งทรงพระยามาร สำหรับออกรอนราญ อรินทรราชขยาดยำ ๏ ตำหรับเมฆฉาย อธิบายวิธีทำ ยกเงาขึ้นเทียมอัม พรพื้นเมฆเสกเป่ามนต์ ๏ หนึ่งว่านมหาเมฆ เอามาเสกกินคงทน ทำเมฆพัดยล สี่ดังเมฆถึงเอกดี ๏ คำเมฆเหล่านี้ไซ้ สยามได้ใช้พาที ออกอ้างแต่บาฬี ใช้จนชินอยู่ลิ้นคาง ๚ะ

โมก คำโมกโยกยักเค้า ต้นโมกเขาใส่กระถาง โมกไทยเช่นไว้วาง สกดกอพอวิจารณ์ ๏ โมกขะว่า/*หลุดพ้น เลยล่วงล้นทุกประการ ตามเค้าสำเนาสาร ศับท์มคธบทขานไข ๏ วิโมกคู่วิมุตต์ แปลว่าหลุดกิเลศไภย คำปาฏิโมกข์ไนย ว่าพ้นกองอาบัดติขันธ์ ๏ อาภรณ์พิโมกข์นาม พระที่นั่งเจ้าจอมธรรม์ ทรงเปลื้องเครื่องปิลัน ทาภรณ์พรากออกจากองค์ ๏ พระที่นั่งศิวโมกษ์ สูงตรวดโตรกงามระหง นายช่างวางทรวดทรง โสภิตภาคพื้นไพบูลย์ ๏ คำในโหราสาตร จันทรคาธแลมีสูรย์ เมื่อเปลื้องเห็นดวงพูน เพ็ญบริสุทธ์หลุดราคี ๏ เรียกโมกข์บริสุทธิ์ คำสมมุติเป็นนามมี คือดวงจันทรระพี หลุดมลทินสิ้นมัวหมอง ๏ ทิศาปาโมกษ์ครู ท่านผู้รู้จบละบอง สั่งสอนศิศย์ทั้งผอง เป็นประธานทุกทิศทาง ๏ โมกข์นี้มีสำคัญ ขอการันต์ต้องไว้วาง แต่คำที่เขียนบาง ทีตัวขอเป็นษอบอ ๏ อีกคำโมฆชน มีแยบยนต์สกดฆอ ระฆังเห็นก็พอ จะสังเกตุเหตุยุบล ๏ โมฆนี้แปลคำเค้า ว่าผู้เปล่าจากมรรคผล คือผู้ประพฤติตน เลี่ยงสวรรค์นฤพาน ๏ คฤหัฐบรรพชิด ซึ่งมีจิตรบาปสันดาน ประกอบแต่กิจการ ไม่เป็นบุญอยู่อัตรา ๏ คำพระทศพล เรียกโมฆชนโดยสมญา โมกยกหกวาจา จำได้แน่แท้เมธี ๏ ไวพจน์มอแม่กก เช่นสาธกเทียบวะจี ครบถ้วนล้วนเลศมี ข้อธิบายขยายไข ๚ะ

มด จะแจกมอไวพจน์ คำแม่กดเติมต่อไป นักเรียนฤๅใครใคร จะใคร่รู้ดูจงดี ๏ ปลวกมดคือไข่มด คำกำหนดไทยพาที มดลูกจำเภาะมี แต่สัตรีทั่วกันไป ๏ สมมติมคธพากย์ แปลก็ยากจะเข้าใจ เพราะว่าคำคนไทย ใช้สมมุติหลุดคำเดิม ๏ แปลว่านับถือพร้อม เตมใจยอมพร้อมใจเสริม หนึ่งว่ากล่าวพร้อมเติม ยกตั้งแต่งเตมใจกัน ๏ พระสงฆ์สวดสมมติ ด้วยบาทบทวิไนยบัญ ญัติยอมพร้อมเลือกสรร ยกภิกษุซึ่งสมควร ๏ ให้เป็นภัตตุดเทศ ประจักษ์เหตุลาภทั้งมวล แจกสงฆ์ตามกระบวน บลำเอียงโดยเที่ยงธรรม์ ๏ กระษัตริย์ต้นกัลบ์นี้ เรื่องราวมีในแบบบรรพ์ ฝูงชนพร้อมใจกัน สมมติยกเป็นเจ้านาย ๏ พระนามจึ่งปรากฎ มหาสมมติต้นเชื้อสาย กระษัตริย์สืบวงษ์ภาย หลังสมมะตะราชวงษ์ ๏ เรื่องนี้เป็นกระแส ชี้ความแปลให้เห็นตรง ธรรมเนียมนี้ยังคง ใช้ตราบเท่าทุกวันวาร ๏ สมมตสกดตอ ไว้ก็พอเป็นพยาน ว่าใช้คำไทยขาน คือมคธบทบาฬี ๏ คำว่าสาภิมท ทอสกดคำแปลมี บันเทิงเริงจิตรทวี เพิ่มปรีดากว่าประมาณ ๏ คำมดกำหนดใช้ จำแนกไปไม่วิตถาร ห้าคำจำวิจารณ์ จัดเป็นหมวดตรวจยุบล ๚ะ

มัด ผูกมัดใบมัดกา ไทยเจรจาทั่วทุกคน ระมัดระวังตน เร่งระมัดระเมียนทาง ๏ จะจ้องจับมัจฉา มีตำราท่านไว้วาง อย่าจ้องสองมือกาง กรกระหยับจับสองมือ ๏ คำต้นเป็นมัจฉา แผลงออกมาเป็นคำคือ มัศยาอย่างเล่าฦๅ อึงออกแพร่แปลเข้าใจ ๏ วิมัติเวมัตินี้ คำบาฬีว่าสงไสย เสียงพูดข้างคนไทย ใช้วิมุติว่าเคลือบแคลง ๏ วิมัติ์ติสกด ต้องตามบทที่แจ้งแจง ถึงตกเป็นคำแปลง ว่าเวมัติก็เหมือนกัน ๏ คำว่าอะนุมัติ แปลให้ชัดแห่งสำคัญ รู้พร้อมยอมตามกัน ข้อนุสนธิทั้งต้นปลาย ๏ มัติว่าความรู้ ที่ลางครูว่าอธิบาย ความเหมือนไม่เคลื่อนคลาย ผู้อธิบายต้องรู้ความ ๏ บรมัดถ์อัดอย่างยิ่ง ล้วนของจริงคือรูปนาม เคลือบคลุมสุขุมคาม ภีระแท้ยอมแลเห็น ๏ บรมัดถ์มีอรรถสาย ในรูปกายเกิดตายเป็น ลำบากทนยากเย็น บอว่างเว้นทั่วสัตว์สรรพ์ ๏ บรมัดถ์ดอสกด ต้องในบทถอการันต์ รวมมัดหมดด้วยกัน เช่นยกหยิบสิบวาจา ๚ะ

มาด กำมะถันทั้งสองสี เหลืองแดงมีใช้กันมา เรียกมาดเป็นภาษา ไทยทุกผู้รู้ทั่วกัน ๏ มุ่งมาดเอาขาดเด็ด มาดเรือเป็ดมาดสำคัญ มาดไม้มีหลายพรรณ์ แต่สำคัญเขี้ยมตะเคียน ๏ ปรักมาศว่าเงินทอง ภาษาของเขมรเขียน ไทยเกณฑ์เกบมาเตียน เพิ่มคำใช้ในพากย์ฉันท์ ๏ นะมาดคำชะวา เขาแปลว่าไหว้พระสวรรค์ สกดดอสามัญ เช่นคำไทยใช้พาที ๏ หนึ่งคำว่ามาตรา ในภาษาสยามมี โวหารสารคดี มาตรแม้นพี่จะไม่ไป ๏ ถึงมาตรว่าจะเป็น น้องก็เห็นบอเป็นใด มาตรว่าถ้าว่องไว คงเสร็จสมอารมณ์ปอง ๏ ระมาดแปลว่าแรด อันผาดแผดเผ่นลำพอง เป็นคำกัมพุชของ นักปราชใช้ในนิพนธ์ คำนี้ชัดตามนุสนธิ์ ไทยกล่าวยาวแยบยนต์ คือสามาดถ์ว่าอาจหาญ ๏ ดอเดชตัวสกด ตามแบบบทพจมาน ถอถวิลพนักงาน เป็นการันต์สรรเสริมปลาย ๏ สามารถอีกอย่างนี้ ในวาทีก็มีหลาย ใช้ตามความธิบาย สังสกฤษฎ์ประดิฐแผลง ๏ ควรใช้ทั้งสองอย่าง ตามที่อ้างออกแจ้งแจง ไว้วางอย่าคลางแคลง ไม่คลุมคลำคำควรขาน ๏ วิสุทธิโยธามาตย ขุนนางชาติเชื้อทหาร เจ้ากรมบังคับการ ในกรมช่างทหารใน ๏ เสนามาตยมนตรี เป็นวาทีกลางกลางไป ใช่คำจำเภาะใคร คือขุนนางสิ้นทั้งผอง ๏ มาตยนี้เดิมมัจจะ มะคะธะนิยมปอง แผลงจะรวบทั้งสอง เป็นตะยะสกดกัน ๏ เต็มคำว่าอำมาตย์ คำนักปราชท่านจัดสรร สนธิ์เชื่อมพจนพรรณ์ เสนามาตยว่าขุนนาง ๏ ทวาทศมาศ ผู้ฉลาดจัดไว้วาง คำใช้เป็นกลางกลาง ว่าสิบสองเดือนโดยปี ๏ จิตรมาศว่าเดือนห้า พิศาขว่าเดือนหกทวี เชฐมาศมูลมี ดาวเดือนเจ็ดเสร็จสมนาม ๏ บูรพาสาธมาศ เดือนแปดก่อนผันผ่อนตาม อุตราสาธเพญยาม เดือนแปดหลังตั้งพรรษา ๏ ถ้าเรียกเป็นกลางกลาง คำไว้วางวัจนา ก็เรียกเป็นแต่อา สาธมาศบอคลาศคำ หนึ่งว่าอาสาฬหะ มาศมคธะพจนำ เรียกเดือนแปดประจำ เป็นสองคำเช่นรำพัน ๏ เดือนเก้าเค้าพากย์พจน์ มาศมคธว่าสาวัน เดือนสิบต่อเรียงกัน เรียกพัทรบทกำหนดเดือน ๏ ถัดถึงอาสยุช กุลบุตรอย่าฟั่นเฟือน ให้แน่อย่าแชเชือน เดือนสิบเอ็จเสร็จสมญา ๏ ถัดนี้ที่ถึงคราว แห่งดวงดาวชื่อกัตติกา จัดเป็นเดือนจันทรา กรรติกะมาศเดือนสิบสอง ๏ มฤคศิรมาศ คือเดือนอ้ายนับเรียงรอง เดือนนี้ท่านนับปอง ว่าเป็นต้นฤดูหนาว ๏ ถัดถึงบุศยมาศ คือเดือนยี่มีตามคราว เดือนสามเรียกตามดาว มาฆมาศบคลาศคลาย ๏ ผคุณมาศนี้ คือเดือนสี่ซึ่งเป็นปลาย สุดปีเป็นที่หมาย ว่าถึงตรุศสุดเดือนวัน ๏ ชื่อเดือนนับบันจบ สิบสองครบจำแนกปัน คำต้นมีต่างกัน มาศคำท้ายบคลายเสียง ๏ เพราะมาศแปลว่าเดือน บอมีเคลื่อนคลาศสำเนียง คำต้นเป็นชื่อเรียง ดาวบรรจบครบสิบสอง ๏ หนึ่งเรียกอธิกมาศ โหราสาตรนิยมปอง เพิ่มเดือนโดยทำนอง นับสิบสามเดือนเป็นปี ๏ แปลว่าเดือนเกินยิ่ง รู้ทุกสิ่งเขาว่าดี พงษ์เผ่าเหล่าเมธี โถมะนาสาธุการ ๏ คำว่าอนามาศ คำนักปราชพจมาน เงินทองของตระการ รูปมาศกกายสัตรี ๏ บันดาซึ่งบัญญัติ วิไนยจัดนิยมมี ห้ามไม่ให้พระชี จับต้องถือด้วยมือตน ๏ เรียกว่าอนามาศ พุทธสาศนอนุสนธิ์ นักบวชที่แยบยนต์ คงได้รู้ดูสิกขา ๏ อีกคำมคธใช้ ถึงคนไทยก็เจรจา คือคำว่าปะรา มาศมคธว่าลูบคลำ ๏ สยามพูดความแปลก เปลี่ยนต่างแตกพจนำ ใช้พูดว่าปรักปรำ ปรามาศประมาทเรา ๏ ตกความในอยาบช้า คือด่าว่านินทาเขา คำนี้เป็นสำเนา เนื่องในบทมคธกลาย ๏ อนึ่งนพมาศ ผู้ฉลาดกล่าวพิปราย แปลความตามบรรยาย ทองเก้าน้ำนพคุณ ๏ นพะนั้นว่าเก้า มคธเค้าเข้าเจือจุน มาศคำเขมรหนุน หลังว่าทองสองวาจา ๏ มาศนี้นับเบ็ดเสร็จ ควบสิบเจ็ดดังแจกมา สกดทุกวาจา ใช้ตัวศอคอประจำ ๚ะ

หมาด ผึ่งผ้าพอแห้งหมาด กระชากขาดฉีกระยำ เหล็กหมาดใช้ไชนำ ก่อนสว่านพานจะตี ๏ สองหมาดเช่นนี้ใช้ คำคนไทยใช้พาที ประมาทนั้นต้องมี ทอสกดมคธตรง ๏ แปลว่าความเลินเล่อ สติเผลอพลาดพลั้งหลง จิตรใจไม่มั่นคง ไม่ดำรงจิตรกุศล ๏ คำเรียกว่าอำมาตย เสนามาตยอย่างเดียวกล ขุนนางทั่วทุกคน เรียกอำมาตยราชบริพาร ๏ ขุนนางตำแหน่งใหญ่ มีที่ใช้เพิ่มคำขาน มหาอำมาตยมาน ที่สังเกตเหตุวาจา ๏ อำมาจสกดจอ แผลงอีกต่อตามสารา แปลงเอาตัวจอมา เป็นตะยะประสมคำ ๏ สมาศคู่ตัทธิต หมู่บัณฑิตย์รู้เรียนธรรม รู้ใช้ได้แม่นยำ สมาสพจนบทบาฬี ๏ คำมาดปราชประมวญ ประมาณถ้วนในวิธี สามสิบสองวะจี แจกสกดบทธิบาย ๚ะ

มิด ดำมืดคือดูความ ในสยามก็มีหลาย มิดชิดปิดปกกาย แลมืดมิดทุกทิศทาง ๏ ควันไฟปิดไม่มิด ไม่ควรคิดจะกั้นกาง เปรียบชายรักกับนาง ถึงจะปิดไม่มิดควัน ๏ ดำน้ำจมมิดหาย ไม่เห็นกายว่ายดึงดัน เมฆปกดวงตาวัน มัวมืดมิดทุกทิศา ๏ คำมิดเช่นนี้ใช้ ภาษาไทยใช้เจรจา จะร่ำพรรณา ชักเนิ่นช้าพาป่วยการ ๏ เหล้ามิตรพากย์มคธ จงกำหนดนับพิจารณ์ ใช้มาแต่โบราณ ว่าเคลิ้มจิตรนิมิตรฝัน ๏ นิมิตรบอกดีร้าย หมอรู้ทายทุกสิ่งสรรพ์ คำแปลว่าเหตุอัน อาจให้รู้ดูร้ายดี ๏ ของใดงามพิจิตร เทพนฤมิตรมักพาที อาศรมพระฤๅษี เทพนิมิตรประสิทธิถวาย ๏ นฤมิตรว่าบันดาน เช่นคำขานบำแลงกาย ว่าชัดอัธิบาย คือคัดแปลงแต่งสร้างสรร ๏ หนึ่งมิตรว่าเพื่อนรัก ที่รู้จักคบหากัน คำว่าอมิตรยัน ยืนแปลชัดว่าสัตรู ๏ อีกคำประจามิตร คำบัณฑิตยเรียกริปู แปลว่าข้าศึกดู เห็นได้ช่องปองล้างผลาญ ๏ ญาติมิตรสนิทรัก ต้องสมัครักสมาน แผ่เผื่อทั้งเจือจาน จึ่งจะยืดจะยืนยาว ๏ รักษามิตรไมตรี ไว้จงดีอย่ารานร้าว ผ่อนผันหันตามคราว ถนอมจิตรมิตรสหาย ๏ คบหาปาปะมิตร มีแต่คิดจะทำลาย ความดีให้กลับกลาย เป็นความชั่วมัวหมองมน ๏ แม้นได้คบกัลยา ณะมิตรใจใฝ่กุศล จะชักจะชูตน ให้ได้ศุขทุกเดือนปี ๏ ธรรมเนียมมิตรเป็นสอง จงตฤกตรองให้จงดี เลือกหาสามัคคี คบกัลยาณะมิตรควร ๏ คำมิตรคิดบรรจบ แปดคำครบในจำนวน ผู้เขียนอย่าเพี้ยนผวน สกดตอรอเติมลง ๏ มิจฉาทิฐินี้ โดยวิธีที่จำนง สกดตัวจอตรง แปลว่าหลงเห็นผิดไป ๏ หนึ่งชื่อพระฤๅษี สมมิทธิ์มีตำราไสย สกดเหมือนฤทธิไกร แปลว่าเตมว่าสมบูรณ์ ๏ อามิศแปลว่าเหยี่อ คนบอเบื่อหาเพิ่มภูล บางแห่งเห็นเค้ามูล ว่าอาหารตระการหลาย ๏ ขุนศาลเจ้าสุภา เห็นแก่อามิศมุ่งหมาย อามิศสินบนราย เรียกลูกความตามประสงค์ ๏ อามิศอย่างนี้ไซ้ ความข้างไทยใช้จำนง สินจ้างสินบนตรง กับคำไทยที่ใช้กัน ๏ พัสดุสะวิญญาณ ๏ อวิญญาณทุกสิ่งสรรพ์ ที่ใจรักใคร่ครัน เรียกอามิศสิ้นทั้งผอง ๏ ซึ่งว่าวรามิศ สิ่งที่จิตรนิยมปอง ประเสริฐสบสมพอง ตามทำนองของอันดี ๏ คำว่าโลกามิศ หมู่บัณฑิตย์ย่อมพาที รูปเสียงกลิ่นรสมี สมผัศห้ากามารมณ์ ๏ เป็นที่ปราดถนา ทั่วโลกาย่อมนิยม จึ่งเรียกอามิศสม มตว่าเหยื่อฬ่อโลกา ๏ พวกพรานชาญทางเท็จ เหยื่อเกี่ยวเบ็ดทอดคงคา ฝ่ายฝูงมัศยา ไม่รู้เท่าเจ้าเล่ห์กล ๏ เห็นแต่จะกินเหยื่อ ทุกข์ล้นเหลือบรู้ตน เปรียบด้วยนรชน มุ่งยินดีโลกีย์กาม ๏ ได้หนึ่งจะหาสอง จิตรโลภปองล่วงเลยลาม กลืนเบ็ดบอเข็ดขาม ครันเบ็ดเกี่ยวเสียววิญญา ๏ จะคายก็มิออก กลืนขยอกติดคอคา จนใจเวทนา ตราบสิ้นชาติขาดสูญกัน ๏ เปรียบเหมือนกามคุณ อันเจือจุนใจสามัญ สัตว์ไม่รู้เท่าทัน หลงกลืนเบ็ดเกี่ยวเหยื่อกาม ๏ ท่านจึ่งได้เรียกว่า โลกามิศหมายเป็นนาม พึงพิศพินิจความ ในกะถาภาสิตสอน ๏ คำว่าอามิศนี้ อย่างเช่นชี้อุทาหรณ์ เขียนใช้ให้สาธร สกดศอคอจึ่งควร ๏ พระธรรมสวามิศร จงเร่งคิดอย่าหันหวน บทบาทปราชประมวญ เป็นพระนามพระชินศรี ๏ แปลว่าเป็นเจ้าใหญ่ เพราะพระธรรมล้ำโลกีย์ จะเขียนสกดมี ตัวศอคอรอการันต์ ๏ อิศวรสวามิศร ใช้ลิขิตบอแปลกกัน แปลว่าเจ้าใหญ่อัน ชื่ออิศวรเจ้าโลกา ๏ คำมิดคิดประมวญ ตามจำนวนที่กล่าวมา สิบเอ็จเสร็จวาจา จนหมวดมิดบัณฑิตย์สอน ๚ะ

มุด คำไทยใช้ไม่สุด ผลลมุดรศเอมอร ลงในชะโลธร ว่ายแหวกน้ำดำมุดไป ๏ เด็กซนด้นไม่อยุด เที่ยวลอดมุดอะไรๆ มุดถุนแลบันได มุดคำไทยดอสกด ๏ มุทธาว่าศีศะ วะจะนะในมคธ สมมุตคู่สมมต ดังแบบบทบรรยาย ๏ วิโมกขพระวิมุตติ แปลว่าหลุดกิเลศหลาย โกมุทกะมุทราย ริมเฉนียนเดียรถ์สระศรี ๏ สองคำแปลว่าบัว ไม่หมองมัวด้วยราคี บังคับสกดมี ตัวทอทานบรรหารไข ๏ ร่ำไปยังไม่สุด มหาสมุททะเลใหญ่ สมุดคำไทยไทย สมุดใช้เขียนหนังสือ ๏ สมุทคำมคธ ทอสกดอย่าหารือ สมุดคำไทยคือ ดอสกดบทสามัญ ๏ ฐานเกิดอักขะระ มุทธะชะเช่นใช้กัน แปลว่าตัวพยัญ ชะนะเกิดแต่ศิรา ๏ คำหนึ่งในมคธ มีตัวบทมุทธิกา ว่าแหวนแลว่าตรา ใช้มุทธาบ้างก็มี ๏ หนึ่งน้ำปัสสาวะ เรียกมุตตะในบาฬี คำไทยใช้พาที ว่าโคมูตรสูดท้ายปลาย ๏ ประสงค์ว่าเยี่ยวโค ข้างต้นโตเรียวเป็นสาย เส้นสูดรูดเรียวปลาย ดูละม้ายโดยสัณฐาน ๏ อีกคำว่าแมนมูรติ ท่านใช้พูดแต่โบราณ พินิจจิตรพิจารณ์ ไม่กระจ่างสว่างใจ ๏ ไม่ทราบว่าเดิมบท ข้างมคธฤๅคำใด มีตัวก็อ่านไป บอแจ่มใจในวาที ๏ มฤตยุราช คำนักปราชท่านแผลงมี มัจจุเดิมพาที พากย์มคธแปลว่าตาย ๏ มะติแห่งบางครู มฤตยูก็ใช้หลาย คำเดียวโดยธิบาย บอมีแปลกแยกคำแปล ๚ะ

เมด ๏ คำเมดไทยไม่มี ใช้วาทีพากย์อื่นแปร รู้ความตามกระแส เพราะพูดมาเป็นอาจิณ ๏ เหมือนว่าราษีเมศ รู้ตามเหตุนิยมยิน รูปดาวดังแพะผิน ผันในฟ้าปรากฎยล ๏ อีกคำว่าโกเมด คำต้นเหตุคือโกมล นักเลงเพลงนิพนธ์ แปลงให้ฟัดสำผัศกลอน ๏ เช่นอย่างนัคเรศ คำต้นเหตุคือนคร รู้เท่าเค้าสุนทร ท่วงทีใช้ไม่ขัดขวาง ๏ อย่างนี้นับในบท พากย์มคธแต่จางจาง เหมือนไม้ที่เบาบาง ใช้ทาบทามดามไม่หนา ๏ สองคำจงตำริห์ คือเมดติกับเมดตา เป็นคำนำเอามา แต่มคธบทบาฬี ๏ เมดตาว่ารักใคร่ เมดติใช้ว่าไมตรี ข้างไทยว่าอารี ผูกพันมิตรคิดถนอม ๏ เมดตาว่าตามบท ตอสกดรวมรอมชอม อย่าเขียนเปลี่ยนแปลงปลอม ให้หันเหเป็นเมตา ๏ สุเมธธอสกด ต้องตามบทพจนา ท่านแปลว่าปัญญา ดีสามารถอาจรู้ธรรม ๏ บรเมศรบรเมศวร์ เค้าต้นเหตุแห่งสองคำ ตัวต่างแต่จงกำ หนดแปลอ้างอย่างเดียวกัน ๏ แปลว่าผู้เป็นใหญ่ บมีใครจะเทียมทัน ใหญ่ยิ่งทุกสิ่งสรรพ์ อำนาจฤทธิ์เดโชพล ๏ คำว่าบารเมศ ทราบตามเหตุแห่งยุบล คือเพี้ยนเปลี่ยนนุสนธิ์ จากคำว่าบารมี ๏ ประสงค์จะให้ฟัด บทสัมผัศกลอนวาที ห่ามดิบหยิบโภชี ขอไปทีพอได้การ ๏ แบบนั้นครั้นเขียนไว้ เป็นอย่างใช้มาเนิ่นนาน ลงเป็นบันทัดฐาน ผู้รู้น้อยพลอยใช้ตาม ๏ ไม่ติดอกว่าผิด ไม่สนิทกระแสความ เคยใช้จงใช้ตาม ไม่ห้ามปรามท่านผู้ใด ๚ะ

โมด คำเมดเสร็จสิ้นโสด แจกคำโมดเติมต่อไป คำโมดภาษาไทย ไม่มีใช้สักวจี ๏ ปาโมชชอสกด นี่เป็นบทฝ่ายบาฬี แปลว่าบันเทิงดี ใจเริงรื่นหื่นหรรษา ๏ แปลงชะเป็นทะยะ ลักษณะในเลขา ตัวปาเป็นตัวปรา ดังปรีดาปราโมทย์ใจ ๏ สมโมทสาภิโมท สองคำโสดมักมีใน กาพย์ฉันท์คันโลงไพ เราะอักษรกลอนประพันธ์ ๏ ทั้งสองคำธิบาย แปลก็คล้ายเช่นเดียวกัน กับคำปราโมทย์อัน ร่ำรำพรรณ์แต่หนหลัง ๏ แจกหมวดมอไวพจน์ ประดนบทมอประดัง สัมฤทธินิฐิตัง ตามอย่างแบบแยบยุบล ๚ะ

๏ จบ เสร็จเขบ็จถ้อย ถี่แถลง
มอ หมวดล้วนมอแจง แจกไว้
ไว ยัติชัดสำแดง โดยเลศ หลากนา
พจน์ พากย์หากแคะไค้ คิดค้นประดนสอน ๚ะ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ