ปอไวพจน์

๏ จัดเริ่มเติมต่อตั้ง ตัวปอ
ถัดหมวดไวพจนบอ บอกแจ้ง
นักเรียนอย่ารีรอ เรียนเร่ง รู้เฮย
อุส่าห์อย่าสรรแสร้ง สฤษดิ์ไว้หวังสอน

๒๘ ตัวปอแม่กน คัดแยบยุบล นิพนธ์เป็นกลอน คิดคัดจัดคำ แนะนำนิกร เป็นอุทาหรณ์ สาธกยกมา ๚ะ

ปัน ปูนปันแบ่งปัน คำไทยใช้กัน สามัญวาจา ปัญข้างมคธ คือบทปัญญา แต่หากตกมา เป็นภาษาไทย ๏ ถึงไม่ได้แปล ฟังศับท์กระแส รู้แน่เข้าใจ ปัญญามึนทึบ ปัญญาว่องไว ปัญญาทรงไตร ปัญญาแม่นยำ ๏ ปัญญานี้คือ ท่านจัดเป็นชื่อ เจตสิกธรรม อันรู้ระบอบ ผิดชอบบุญกรรม รู้ถ่องทางธรรม รู้ทั่วทุกประการ ๚ะ

ปัก คำไทยใช้ปัก ศิลาไม้หลัก ปักไว้ใช้งาน นาดำนาปัก ย้ายยักหลายสฐาน ปักค้างปักร้าน ร่ำไม่จบลง ๏ ปักคำบาฬี แต่ต้นเดิมที ปักขะตรงตรง แปลงขะเป็นษะ สะระก็คง คำแปลงจำนง ว่าฝ่ายปีกปัน ๏ ข้างขึ้นทุกมาศ ดิถีไม่คลาศ นับสิบห้าวัน เรียกศุกรปักษ์ ฝ่ายขาวแสงจันทร ฝ่ายข้างแรมสรรพ์ เรียกกาฬปักษ์ ๏ ว่าเป็นฝ่ายดำ ดวงเดือนมืดคล้ำ ยามค่ำประจักษ์ เขตรซึ่งแบ่งปัน พระจันทรเป็นหลัก โหรจะทายทัก อาไศรยดิถี ๏ ข้างขึ้นท่านยัก เรียกชุษณปักษ์ เพี้ยนไปก็มี ตามสังสกฤษฎ ลิคิตวาที ความคงดิถี ข้างขึ้นทุกเดือน ๏ คำว่าปะระปักษ์ แปลความประจักษ์ ว่าพวกอื่นเบียน บิดเป็นสัตรู อยู่ต่างบ้านเรือน เขียนปักษจงเหมือน ปักษขึ้นปักษแรม ๏ ปักษีนี้ชัด คำแปลว่าสัตว์ มีปีกขนแซม คือหมู่พิหค ทั้งนกกาแกม คำปักษาแถม ว่านกเช่นกัน ๏ กำหนดคำปักษ์ แยบคายย้ายยัก เช่นคำรำพรรณ์ เป็นเจ็ดวาจัง รวมทั้งสามัญ ไม่แผกแปลกผัน แบบบรรพ์ตำรา ๚ะ

ปัด ปูลาดกวาดปัด นี่คำไทยชัด สามัญวาจา ลูกปัดเป่าปัด สลัดปัดปา ป้องปัดหัดถา ภาษาไทยตรง ๏ หนึ่งในคำปัด แผลงเป็นปรัด ใช้ตามประสงค์ เหมือนว่าทรงปรัด ผัดภักตรผจง โดยความก็คง ว่าปัดกายา ๏ คำว่าปัจจัย นี่นี้มีใน มคธภาษา แปลว่าต้นเหตุ ซึ่งเป็นที่อา ไศรยแห่งผลา เกิดก่อต่อตาม ๏ หนึ่งปัจจุบัน คำนี้พูดกัน ก็ชัดเนื้อความ ว่าของเกิดอยู่ จำเภาะหน้านาม รู้ตามเห็นตาม ได้ทุกสิ่งอัน ๏ ท่านเพี้ยนเปลี่ยนบท แปลกจากมคธ วาปรัตยุบัน คนอ่านอ่านดู จงรู้สำคัญ ว่าคำเดียวกัน ปัจจุบันวาที ๏ ปัจจุสไสมย อีกอย่างท่านใช้ ปัจจาสก็มี แปลว่าจวนรุ่ง พวยพุ่งระพี คำหลวงพาที ปัจจาสไสมย ๏ วิธีวิการ ใช้แผลงแปลงสาร อุเป็นอาไป เป็นคำล้ำฦก เกินนึกคนไทย แต่จงเข้าใจ ดุจคำร่ำขาน ๏ ปัจเจกะโพธิ ได้ตรัสเป็นโสด คล้ายโพธิญาณ ไม่ปองโปรดสัตว ให้พ้นสงสาร บันลุนิพพาน เช่นองค์ทศพล ๏ ไม่ตรัศเทศนา สั่งสอนประชา ให้ถึงมรรคผล ตัดช่องปล่องปลอด รอดจำเภาะตน เรียกนามตามยล ปัจเจกโพธิญาณ ๏ คำไอสวรรยา ธิปัตนี้นา ใช้มานมนาน เป็นคำแปลยาก ไม่มากสาธารณ์ แปลความวิดถาร ว่าอธิบดี ๏ เป็นเจ้าไอสวรรย์ ศฤงฆารครามครัน มั่งมูลพูนทวี อิศรานุภาพ ปรามปราบอะรี แผ่พระบารมี ทั่วทิศไกวัล ๏ อิศราธิปัติ คำนี้ก็ชัด แปลอย่างเดียวกัน หนึ่งอิศรา ธิปัติก็สรร เป็นคำเดียวกัน ไม่ควรกังขา ๏ ปัสสาสะวาต คำนี้ไม่คลาศ นักปราชใช้มา ลมหายใจเข้า โดยคลองนาสา ที่ในกายา เราท่านทั้งหลาย ๏ หนึ่งปัสสาวะ คู่อุจจาระ ซึ่งมีในกาย ไหลเลื่อนเคลื่อนมา ตามเวลาผาย ครั้นพ้นจากกาย ก็เป็นปฏิกูล ๏ ปัสสะว่าข้าง มคธมีอ้าง ไว้เป็นเค้ามูล แผลงเป็นปรัส จัดเติมเพิ่มพูน เหมือนคำพิดทูล พระปรัสเรือนจันทร์ ๏ คำปัสเหล่านี้ ฉันจะแนะชี้ ซึ่งที่สำคัญ ตัวสอสกด มคธพากย์พรรณ เสร็จแกล้งกลั่นสรร ประพันธ์พจนา ๏ เมืองอินทรปัถ แว่นแคว้นกุรุรัฐ โสฬศนครา ตัวถอสกด แบบบทบัญชา มคธภาษา สมญานคร ๏ ในปอไวพจน์ แจกคำจำจด บทอุทาหรณ์ นับยี่สิบเอ็ด สิ้นเสร็จนิกร ไม่ลดทดทอน ถ้วนครบจบลง ๚ะ

๏ จบปอไวพจน์เค้า ควรถวิล
หมวดย่อพอยลยิน หยิบใช้
ไป่พิศดารผิน ผันพจน์ พ้องแฮ
ยี่สิบวาจาได้ ตรวจแล้วลงกลอน

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ