ออไวพจน์

๏ หมวดออออกชื่ออ้าง ออไว พจน์เอย
แจกแต่แม่กนไป จวบท้าย
กลกลอนสิบเอ็จไพ เราะเรียบ เรียงนา
ผลัดเปลี่ยนเวียนยักย้าย แยบเยื้องอย่างกลอน ๚ะ

๏ หมวดออต่อลิกขิต เริ่มประดิดกลั่นเกลากลอน พจน์พากย์หลากสุนทร สำหรับสอนเด็กนักเรียน ๏ เด็กจงอุส่าห์สำ เหนียกลำนำในคำเขียน ถ้อยคำซ้ำวนเวียน ความแปลกเปลี่ยนเพี้ยนๆกัน ๏ คำไทยคำมคธ โดยแบบบทที่คัดสรร แม่กนต้นคืออัน ก็แบ่งปันเป็นสองทาง ๚ะ

อัน อันไทยพูดใช้ถม ว่าขนมตัดอันวาง ผู้ซื้อต่อว่าพลาง อันบางๆไม่น่ากิน ๏ นักเลงไม้สามอัน เล่นพนันเป็นอาจิณ ย่อมรู้ทั่วแดนดิน ว่าไม้ฉ้อฬ่อลวงคน ๏ อันตัวข้าเจ้านี้ ไทยพาทีทุกแห่งหน อันๆสรรยุบลด เอ่ยขึ้นต้นคำเจรจา ๏ คำแปลพระบาฬี เยี่ยงอย่างมีแบบบัญชา วิภัติปัฐมา แปลอันว่าเป็นประธาน ๏ อันว่านี้คำลาว พูดสืบสาวแต่บุราณ ท่านผู้ครูอาจาริย์ ชั้นก่อนเก่าเล่าเป็นครู ๏ เช่นแล่นแลหลายกล่าว ล้วนคำลาวสืบสาวดู คนไทยใช้เชิดชู เพราะถือครูลาวเป็นเดิม ๏ สิ่งละอันพรรณละน้อย ประสมร้อยพันหมื่นเสริม น้ำมันสองอันเติม ผลมพร้าวห้าวสามอัน ๏ บ่อนไก่แลบ่อนปลา ตั้งนาฬิกาเป็นสำคัญ ไก่ชนสิบสองอัน เลิกแล้วกันอันทอดไป ๏ คำอัญแปลว่าข้า นี่ภาษาเขมรไข อัญขยมแปลเป็นไทย ว่าข้าพระพุทธเจ้านา ๏ อัญเชิญทวยเทเวศร์ ทิพยโสตรเนตรเลงลงมา อัญเชิญพระราชา ธิราชเจ้าสู่ที่สรง ๏ อันๆเช่นเหล่านี้ ไทยพาทีโดยจำนง รู้ความตามคำตรง บ่ต้องแปลแก้ธิบาย ๏ อันอัญเป็นต้นบท คำมคธก็มีหลาย อันต์ว่าที่สุดปลาย แลว่าส่นควรจดจำ ๏ อันธะว่ามืดมน กับว่าคนตาบอดคลา อัญชันสีขาวดำ โอนช่อช้อยซูไสว ๏ อรรณะวะว่าห้วงน้ำ ท่านแผลงซ้ำอรรณพไนย สำหรับกับคนไทย ใช้บทกลอนอักษรศรี ๏ อรรณพมหรรณพ รวบบรรจบสองวะจี ใช้ว่าห้วงนที แลทะเลฦกเหลือแสน ๏ อัญชศแปลว่าทาง มัคคะวางไว้ใช้เทน มรรคามาถึงแดน ด้าวเขตรกรุงทุ่งป่าปน ๏ คำอัญชะนะว่า ยาหยอดตาอันมืดมน อัลละนี้ยุบล ว่าสดชุ่มว่าเปียกปอน ๏ อรรชุนแปลว่าเมฆ หนึ่งเป็นเอกนามกร แห่งท้าวอรรชุนรอน ราญรบสู้คู่รามสูร ๏ อันๆไทยมคธ จัดไวพจน์มาเพิ่มพูล นับเข้าตามเค้ามูล ประมาณว่าสิบหำคำ ๚ะ

อาน บทอานอาจาริย์ไข อานคำไทยใช้ประจำ ลับอานอาวุธทำ ให้เรียบราบปลาบเงางาม ๏ เบาะอานผ่านหน้าพร้อม ขับม้าซ้อมในสนาม พบโจรไล่ติดตาม ทันตีอุบทุบจนอาน ๏ อานสามคำนี้ไซ้ อานคำไทยพูดไขขาน มคธบทวิจารณ์ เจ้าจอมอาริยสาศดา ๏ หนึ่งคำว่าพระศรี อาริยไมตรีก็มีมา ท่านนี้เป็นมหา โพธิสัตว์จะตรัสไตรย ๚ะ

อิน นายอินเก็บผลอิน มานั่งกินสบายใจ ชื่อเกาะชลาไลย บางปะอินถิ่นแขวงกรุง ๏ แต่แรกแรมรกร้าง โปรดเกล้าสร้างทรงบำรุง ด้วยพระเดชผดุง กลับรุ่งเรืองเจริญศรี ๏ พระอินทร์เจ้าสรา ไลยฟากฟ้าสมญามี เป็นเจ้าเทพกรี ตรีเศียรเสวตรเอราวรรณ ๏ ยักษ์หนึ่งนามรังสฤษดิ์ อินทรชิตบุตรทศกรรฐ์ อ้างเหตุซึ่งโรมรัน รบชะนะพระอินทรา ๚ะ

อุน อบอุ่นคำสยาม รู้ชัดความในภาษา อุณหะนี้คำบา ฬีว่าร้อนผ่อนผันแผลง ๏ ใช้เป็นอุษะณะ สะกะฏะวิธีแฝง ข้อคำที่สำแดง เช่นประดุจอุษณาการ ๚ะ

ออน จังออนนี้ภาษา ไทยพูดมาแต่บุราณ สำหรับนับประมาณ ยี่สิบสัดเข้าเปลือกตวง ๏ บังอรแลเอวอร ของงามงอนที่แหนหวง เห็นงามกว่าทั้งปวง ดุจเอวบางนางบังอร ๏ คำองค์จงแจ้งอรรถ จะว่าชัดในคำกลอน พะองเรียกนามกร ไม้พาดขึ้นคู่บันได ๏ อีกคำว่าองยวน นี่ก็ควรคำองไทย บต้องมีอะไร เป็นการันต์สรรเสริมปลาย ๏ องคะคำมคธ โดยกำหนดแปลได้หลาย เช่นคำร่ำพิปราย ว่าองคาพยพยล ๏ แปลว่าอะวะยะกะ กับว่าคุณแลเหตุผล องคะพระทศพล องค์อมรินทร์ปิ่นเทวา ๏ พระองค์ผู้สรรเพช องค์สมเด็จพระราชา คำองค์ใช้วาจา คอการันต์สรรสุนทร ๚ะ

อัด อึดอัดกับแน่นอัด คำไทยจัดชัดชาญกลอน อัดอั้นตันอาวรณ์ คนนั่งนอนแออัดไป ๏ พิมพ์อัดอัดกระดาษ เห็นประหลาดมีกลไกย อัจกลับระยับไฟ เรืองกระจ่างสว่างแสง ๏ สวมเสื้ออัตลัด ของเทศชัดดอกพื้นแดง คำอัดที่จัดแจง แจกไว้ถ้วนล้วนคำสยาม ๏ อัจจัยแปลว่าโทษ เกิดเพราะโกรธแลเบาความ อัจจิเปลวเพลิงวาม แวมสว่างกระจ่างสี ๏ อัจฉะริยะขาน ว่าเหตุการอัศจรรย์มี อัจฉาแปลว่าหมี โดยวิธีแผลงอัศยา ๏ อัฒจันท์ไม่ฦกซึ้ง แปลว่ากึ่งดวงจันทรา อัชชะคำนี้หนา ว่าวันนี้บาฬีตรง ๏ หนึ่งว่าอัชฌาไศรย อย่างนี้ใช้มคธคง ท่านแผลงแปลงจำนง แปลงเปลี่ยนว่าอัธยาไศรย อัฎฏะแปลว่าความ พ้องกันตามข้อขัดใจ โดยมีคดีใด โจทย์จำเลยเฉลยความ ๏ อัฏฐะว่าแปดถ้วน ในขบวนละฏะตาม เขียนใช้ในสยาม อัฐศกยกเรียงปี ๏ เบี้ยอัฐจัดแปดอัน เป็นเฟื้องปันเป็นส่วนมี อัฏธะนามกะรี ช้างอัฏฐ์ทิศแปดทิศปัน ๏ มคธคงอัฏฐะ ในสะกะฏะแผลงแปลงผัน เป็นอัษฎะสรร ศับท์ข้างไทยใช้อัษฎา ๏ เช่นคำอัษฎางค์ คำตัวอย่างอ้างมีมา อัษฎกคือวาจา หมวดแปดคำร่ำบรรยาย ๏ อันดงค์ว่าตกต่ำ ใกล้ค่ำคล้ำแสงสุริฉาย อัษดงค์อัษฎางค์หมาย คอการันต์สำคัญคำ ๏ อัฏฐิว่ากระดูก เส้นเอนผูกกรึงประจำ อัฐินี้ควรสำ เหนียกใช้คำเป็นชั้นมี ๏ เรียกว่าอัฐินั้น ใช้แต่ชั้นเสนาบดี พระอัฐิวาที พระอัฐิแห่งเจ้านาย ๏ พระบรมอัฐิ ตามลัทธิคำพิปราย สำหรับเป็นชื่อหมาย พระอัฐิเจ้าธรณินทร์ ๏ อัศศะแปลว่าม้า ที่ใช้มาเป็นอาจิณ คำสังสกฤษฏผิน ผันแผลงผลัดอัศวา ๏ เช่นอัศวราช เป็นเชื้อชาติสินธพพา ชีเอกอรรคอา ชาไนยเลิศประเสริฐพงษ์ ๏ ม้าต้นระวางใหญ่ ตำแหน่งในที่นั่งทรง เจ้าพระยานามจำนง มหัศวาชาไนยมี ๏ สมทบเพิ่มเติมกลอน อัศดรชื่อพาชี เป็นม้าพิเศศศรี สมเป็นอาศน์ราชพาหนินท์ ๏ อัดถะว่าเนื้อความ ทุกอย่างตามแบบรบิล อีกอย่างแปลควรยิน ว่าประโยชน์ความต้องการ ๏ เหมือนคำว่าแจ้งอัดถ์ ให้ทราบชัดในสุภสาร ทราบอัดถ์คดีดาล เดือดฤทัยเช่นไฟเผา ๏ ประโยชน์อย่างบรมัดถ์ แปลก็ชัดโดยสำเนา ประโยชน์ยิ่งบ่อเยาว์ เยี่ยงประโยชน์โพธิญาณ ๏ อัดๆที่จัดสรร ปะปนกันไทยขอมขาน ยี่สิบแปดเป็นประมาณ ประมวญบทไวพจน์สอน ๚ะ

อาด คำอาดปราชเปรียบเทียบ ตามระเบียบระบอบกลอน เขนเกวียนกระทบขอน ดังอาดๆพลาดหล่มเลน ๏ ผู้ดีที่สอาด เห็นเลือดฝาดย่อมบากเบน นายอาจเป็นนายเวร กรมตำรวจตรวจตราคน ๏ องอาจทั้งอาจหาญ เชิงรบราญหาญประจญ เห็นอาจจะทานทน ใครไม่อาจประมาทหมอ ๏ คำอาดสยามศับท์ แบบบังคับสกดดอ อาจจหาญสกดจอ จัดวะจีมีสำคัญ ๏ คำอาจมคธพจน์ ดอสกด มอการันต์ แปลว่าตัวตนสรร พระสงฆ์ใช้ว่าอาตมา ๏ พระสงฆที่เรียบราบ อาตมาภาพมักพูดจา ในที่มียศถา นันดรศักดิ์อรรคถาน ๏ อาศน์นี้ว่าที่นั่ง คือเตียงตั่งเบาะเสื่อสาน พระแท่นแก้วแกมกาญจน์ เรียกว่าอาศน์ปราชพาที ๏ อาทิแปลว่าต้น ลางยุบลในสารศรี ต้องอ่านว่าอาทิ์มี ที่สำผัศชัดวาจา ๏ เหมือนวันอัยยะอาทิ์ คำนักปราชที่กล่าวมา ในคันโลงเบญจา อ่านแช่งน้ำร่ำรำพัน ๏ คำอาดคิดเบ็ดเสร็จ นับสิบเอ็จบรรจบกัน จำแน่ไม่แปรผัน พอเป็นทุนหนุนปัญญา ๚ะ

อิด คนไทยใช้คำอิด เช่นท้อจิตรระอิดระอา สุดคิดอิดโรยรา เราระย่อท้ออกใจ ๏ งูเลื้อยมาใกล้ชิด ให้สะอิดสะเอียนไป ยิ่งคิดก็อิดใจ ด้วยทางไกลไปหลายวัน ๏ อิดๆชนิดนี้ คำไทยชี้ชัดสามัญ ตัวดอบอแผกผัน สกดกันตามไทยๆ ๏ แผ่นอิฐเจ๊กก่ออิฐ ข้อลิขิตวินิจฉัย ภาษามีมาใน คำมคธบทบาฬี ๏ สกดฐอสัณฐาน จงวิจารณ์ดูให้ดี ถ้าคำไทยพาที สกดทั่วตัวดอคง ๏ อิฐะว่าปราถนา เช่นอิฐารมณ์ประสงค์ อารมณ์ที่จำนง พึงใจคิดอยากสบสม ๏ รูปเสียงรศเอมโอช กลิ่นทั้งโผฏฐัพพารมณ์ เหตุการที่นิยม เรียกอารมณ์สัตว์พึงใจ ๏ มคธว่าอิฐะ สะกะฏะท่านแผลงไป เป็นอำนิฐคำไพ เราะห์โดยศับท์รับทางกลอน ๏ อิศระว่าเป็นใหญ่ บางที่ใช้ว่าอิศร เช่นใช้ในนามกร นฤศรสมมุติพงษ์ ๏ บางทิ่ใช้อิศวร ผ่อนผันควรที่ประสงค์ ตัวสอเป็นวอตรง ดุจอัศศะเป็นอัศวา ๏ หนึ่งอิศริยยศ คำปรากฎใช้กันมา จะแปลตามอัดถา ธิบายว่าเป็นใหญ่ยง ๏ ยศคือความเป็นใหญ่ ก็แปลได้โดยจำนง หนึ่งแปลในความลง การแห่งผู้เป็นใหญ่มี ๏ หนึ่งคำท่านประมวญ พระอิศวรเจ้าโลกีย์ แปลความตามคัมภีร์ ว่าเป็นใหญ่ในโลกา ๏ คำเดิมมะคะธะ พจนะว่าอิศสา แผลงใช้ว่าฤษยา ตามอย่างสังสกฤษฏไนย ๏ คำหนึ่งคืออิจฉา ว่าปราถนาสิ่งใดๆ คำพูดคนไทยๆ มักใช้แทนคำฤษยา ๏ บางคนพูดซ้อนซ้ำ ทั้งสองคำซ้ำวาจา อิจฉาฤษยา เป็นคำแค่นแน่นวาที ๏ อิทธิแผลงว่าฤทธิ์ สังสกฤษฏ์จัดวาจี บ้างซ้อนสองคำมี อิทธิฤทธิ์มีถมไป ๏ บาฬีมีลัทธิ คืออิติว่าจันไร คำนี้นี่คนไทย ไม่ได้ใช้เลยสักปาง ๏ รวบรวมคำอิดอิฐ โดยลิขิตที่ไว้วาง สิบทัศตามที่ทาง หมวดหมู่อิดคิดคำนวน ๚ะ

อุด คำอุดสมมุตใช้ คือคำไทยอุดประดวน น่าอุดฝีมือยวน เขาต่อติดชิดชมจริง ๏ คำอุดไม่เรียบราบ เป็นคำอยาบข้างฝ่ายหญิง ใครพูดให้พาดพิง เป็นที่หญิงเขาเกลียดชัง ๏ หีบไม้มีน่าอุด ลงเหล็กหมุดตีประดัง ด้านอุดฝาผนัง ปูนใบสอก่อเสริมสูง ๏ เหล่านี้อุดสยาม โดยเลาความเช่นชักจูง สาธกยกพยูง เช่นชะนิดว่าปิดบัง ๏ ตำราโหรสังเกต อุจเกษตรโยคเกณฑ์ทัง บริสุทธิ์อุดตะมัง ดวงล้ำเลิศประเสริฐแสน ๏ หนึ่งว่ามหาอุด ยังวิมุติเคลือบแคลงแคลน อุดนั้นกั้นเป็นแดน ดังอุดว่าภาษาไทย ๏ ฤๅอุดคืออุดม จะนิยมด้วยความใด ฤๅอุจเช่นว่าใน อุจเกษตรว่าสูงทรง ๏ โดยความไม่รู้แน่ ในกระแสที่จำนง ตัดสินคะเนลง ในอุดความสยามเรา ๚ะ

อูด หนึ่งคำคนไทยพูด นอนขึงอูดหลับซบเซา คุลาตัวย่อมเยาว์ ขึงอูดอ่อนดูหย่อนยาน ๏ ลาอูฐคำมคธ ต้องสกดฐอสัณฐาน ถึงไทยใช้มานาน สกดฐอพอรู้กัน ๏ เสียงเอ็ดกับร้อยเอ็จ เบ็ดเตล็ดไวพจน์พรรณ เสียงเอ็ดบอกสำคัญ คำสยามความตรงๆ ๏ ร้อยเอ็จคือร้อยเอก ร้อยเศศเลขหนึ่งจำนง แปลงกอเป็นจอจง กำหนดรู้ดูอักษร ๚ะ

โอด เพลงโอดกับพระโอฐ สองนี้โสดคู่สังหร เพลงโอดบทลคร กลอนร้องไห้พิไรครวญ ๏ พระโอฐแปลว่าปาก คำสูงหลากอย่าลามลวน จำเพาะเป็นคำควร เจ้านายชัดขัดติยวงษ์ ๏ โอฎฐนี้คำมคธ ตัวสกดประชุมลง ษฐทั้งสองคง ดังนี้แน่แต่/*บูราณ ๏ ทุกวันท่านใช้ลด เขียนสกดฐอสัณฐาน ลดเลื่อนเคลื่อนมานาน พอได้การก็แล้วกัน ๏ เอมโอชโอชานี้ จะช่วยชี้แจ้งสำคัญ คำเอมข้างต้นปัน เป็นกัมพุชะภาษา ๏ ว่าหวานดังน้ำอ้อย ว่าอร่อยรศโอชา โอชนี้เป็นภาษา ข้างมคธบทคำขาน ๏ โอชะนี้แปลยาก จะวิภาคพ้นประมาณ เห็นแต่คำโบราณ แปลว่าง้วนควรถวิล ๏ ใส่ง้วนลงในปลา อีกวาจาว่าคนกิน ระบอบชอบระบิล ผู้ใดกินก็เอมใจ ๏ โบราณว่าเช่นนี้ ฟังวาทีก็แจ้งใจ แต่ยากวินิจฉัย ง้วนอะไรไม่ชัดความ ๏ ถึงคำโอชานี้ แปลบาฬีทับศับท์ตาม ไม่ออกเป็นสยาม ว่าอะไรในประมาณ ๏ หากรู้โดยสังเกต ตามต้นเหตุแห่งคำขาน รศลเอียดแห่งอาหาร ควรกำหนดรศโอชา ๚ะ

๏ หมวดออไวพจน์นี้ คำแจกชี้เช่นพรรณา บรรจบครบสารา ส่ำนักเรียนเพียรดูจำ ๏ ไวพจน์หมดสิ้นเสร็จ ตามเขบ็จขบวนคำ จะรวบรวมลำนำ ครบทั้งสามตามแต่งกลอน ๏ นักเรียนเพียรจำคำสอน จักบันเทาถอน ทางโทษที่โฉดเขลาคลุม ๚ะ

๏ คำหลากมากหลาย แปดคัดอัดถ์สาย ที่ฦกสุขุม กะถาสาธก ยกมารวบรุม ชักมาประชุม เชิญอ่านวานจำ ๚ะ

๏ คำไทยทั้งมคธ จัดแจกบทระบอบทำ ถ่องเทียบเรียบลำนำ ล้วนถ้อยคำควรศึกษา ๚ะ

๏ แจกอัดถิจัดแจ้งจบ ออไว พจน์เฮย
ลำดับโดยแบบไข คิดค้น
เรียงเรียบเทียบกลอนไพ เราะสวด เสนาะนอ
สืบเรื่องเนื่องแต่ต้น ต่อเค้าอวะสาน ๚ะ
๏ ข้าบาทพระบาทเจ้า จอมภพ สยามแฮ
คิดเริ่มริปรารภ เรื่องนี้
กระจายจัดบรรจบ แจกหมวด หมายนา
หวังเพื่อชูเชิดชี้ ชัดอ้างอย่างเรียน ๚ะ
๏ คิดกลอนไวพจน์เพ้อ พึมพำ
เพียรคิดประดิดทำ ถี่ถ้อย
เลาเลศเหตุแนะนำ คำคู่ เคียงเฮย
เพื่อพ่อหนูจ้อย จับเค้าเลาความ ๚ะ
๏ กอบกิจหวังก่อเกื้อ โรงสกูล
หวังรุ่งเรืองจำรูญ เรื่องรู้
ผู้เพียรจักเพิ่มพูล ความฉลาด แลแฮ
เรือเพียบหมั่นวิดกู้ ฟ่องแล้วฟูลอย ๚ะ
๏ จบ เสร็จสารโสลกถ้อย ทางแถลง
กลอน กลั่นสรรสำแดง บ่อกล้ำ
ไว ๆก็ยังแคลง คลุมเงื่อน เงาเฮย
พจน์ เพ่งพิจารณ์ซ้ำ สว่างแผ้วมัวมันท์ ๚ะ
๏ ลุพันสองร้อยสี่ สิบเอ็จ
วันเมื่อคิดสำเร็จ เรื่องนี้
อังคารอัศยุชเจ็ด ค่ำฝ่าย แรมนา
เถาะเอกศกลี้ ล่วงข้อนเขตรฝน ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ