ดอไวพจน์

๏ จักจัดพิภาคด้าว ดอไว พจน์เฮย
เติมติดต่อเรียงไป ถัดถ้อง
รินรศพจนกลอนไพ เราะรื่น รมย์นา
เปลี่ยนกาพย์ยานีต้้อง ต่อตั้งเติมความ ๚ะ

๏ จักแจกดอไวพจน์ จงกำหนดจดคำสอน สำเนาเลากาพย์กลอน ผ่อนผันเพี้ยนเปลี่ยนยานี ๏ แต่ดนเป็นต้นเค้า อ่านอย่าเดาดูคะดี จงนับลำดับมี ที่สังเกตเหตุยุบล ๏ คำไทยใช้กันมาก ทำหลากหลากว่าสับประดน คือพวกที่ซุกซน ซอกซอนเล่นเห็นผิดผัน ๏ หนึ่งคำว่าประดน คำคนขายจ่ายแจกกัน คือเภิ่มเติมให้ปัน เฉลี่ยของที่พร่องไป ๏ หนึ่งพูดว่าตัวข้า เทวดามาดนใจ คำดนภาษาไทย ชักมาให้เห็นราวทาง ๏ ตัวนอนิลสกด ตามแบบบทท่านไว้วาง สยามความกลางกลาง กลั่นเกลากลอนสอนนักเรียน ๏ ดลลอคำกำพุช กุลบุตรคะอ่านเขียน จำแบบจงแนบเนียน อย่าให้เพี้ยนผิดคำครู ๏ ดลนี้แปลว่าถึง เร่งรำพึงพิเคราะห์ดู จะชี้คำเชิดชู เสด็จดลหนสฐาน ๏ ดนตรีคำมคธ ว่าตามบทที่ไขขาน ใช้มาแต่เบาราณ เครื่องดีดสีซึ่งมีสาย ๏ จะเข้กระจับปี่ แลซอสีมีมากหลาย ไหมผั้นขันขึงราย เรียกดนตรีชี้นามกร ๏ นภดลว่าพื้นฟ้า นภาดลหนอุดร เวหาดลสังหร ชื่อพื้นพ้้าว่าหลายคำ ๏ ดลนี้แปลว่าพื้น ใช้ดาษดื่นดูแล้วจำ สำหรับประสมคำ มีต่างต่างอย่างระบิล ๏ ใช้แพร่งทุกแห่งหน เมทนิดลว่าพื้นดิน พระองค์ผู้ทรงศิลป์ จอมเทริดเกล้าเจ้าภูวดล ๏ ปัถพีดลก็ใช้ ชักเทียบไว้ตามยุบล อีกพะสุธาดล ว่าพื้นดินสิ้นทั้งมวญ ๏ บดลแปลว่าชั้น แจ้งสำาคัญอย่าหันหวน คำใช้ในจำนวน นพปดลเสวตรฉัตร ๏ เก้าชั้นฉัตรสูงสุด เขตรอยุทธย์จบจังหวัด ที่เฉลิมศิริรัตน์ ราไชยสูรย์จรูญศรี ๏ ที่สองรองลงมา อุปราชะฉัตรมี สับดะปะดลดี ฉัตรเจ็ดชั้นกั้นกางทรง ๏ เบญจะบดลฉัตร ห้าชั้นจัดเจิดบรรจง ที่หย่อนผ่อนลดลง ตรีปดลสามชั้นฉาย ๏ ชั้นฉัตรชูพระยศ ตามกำหนดชั้นเจ้านาย ปดลเปนที่หมาย อย่างพิปรายซึ่งพรรณา ๚ะ

ดาน คำดานพิจารณ์แจก จัดย้ายแยกโดยภาษา คำจองพ้องพจนา ว่าให้เห็นอุทาหรณ์ ๏ คำไทยแผ่นกระดาน พูดสาธารณ์ทั่วนคร อิกคำราษฎร ใช้ดักดานว่าขานกัน ๏ เพดานคำมคธ นอสกดเหมือนสามัญ คนไทยใช้จำนัน รู้ทั่วกันมานมนาน ๏ คำเดิมวิตานะ อาเทศวะเปนพะขาน อิเอเปลี่ยนแปลงสาร เปนเพดานใช้พจนา ๏ ดาลจิตรดาลฉงน บันดาลดลด้วยเดชา หนึ่งโรคเบียนกายา เรียกเถาดาลพานจะชุม ๏ ดินดาลบาดาลไซ้ เหล่านี้ใช้พานจะคลุม มคธบทสุขุม ฤๅคำไทยไม่แน่นอน ๏ ว่าทางกันดารนี้ คือว่าที่ยากสัญจร ทางน้ำแลทางดอน ซึ่งคับแค้นด้วยวารี ๏ เหมือนอย่างทางทะเล ฦกเลเภน้ำเค็มจี๋ จะข้ามไปต้องมี ตุ่มน้ำขังตั้งเตรียมไป ๏ หนึ่งทางที่คับแค้น คือหนาแน่นด้วยเภทไภย สัตว์ร้ายฤๅโจรไพร ให้เกิดไภยหลายสฐาน ๏ เช่นนี้ในมคธ ท่านกำหนดว่ากันดาร แปลตรงตามโวหาร ข้ามด้วยน้ำลำบากจร ๏ พิศดารว่ากว้างขวาง ชี้ตัวอย่างทางสุนทร ที่เกิดสุดสาคร ชื่อเกาะแก้วพิศดาร ๏ คือว่าที่เกาะนั้น แนวอรัญกว้างไพศาล คำเดิมว่าวิตถาร พิศดารแผลงแจ้งวะจี ๏ คำว่าพงษาวดาร จักบรรหารแห่งวาที แปลว่าเรื่องราวมี เปนช่องลงแห่งวงษ์วาร ๏ มคธบทบาทมี คำพาทีว่าสันดาน คือของติดเนื่องนาน ต่อต่อมาหนามูลมอง ๏ สันดานของควรตัด ท่านจึ่งจัดไว้เปนสอง สันดานดีบุญครอง สันดานร้ายฝ่ายบาปคุม ๏ คำไทยใช้โวหาร โง่สันดานพานจะชุม เผินเผินไม่สุขุม ตกเปนไทยใช้มานาน ๏ ฐานกรณท่านจัดเรียง อักษาเสียงเกิดแต่ดาลุ์ ตาลุแปลโวหาร ว่าเพดาลในตัวคน ๏ ช่องดาลทวารใช้ มีลูกไขไง้เปนกล เรียกกันทุกแห่งหน ว่าช่องดาลขานวาจา ๏ กันดาลลอสกด มีตัวบทบุราณา กระแสที่แปลมา ท่านว่ากลางวางแบบสอน ๏ ขุนศรีกันดาลพล แปลยุบลนามกร เปนศิริกลางสมร ภูมิ์พอกพลดลดื่นมี ๏ ชื่อท้าวทรงกันดาล แปลโวหารแห่งวาที พนักงานกลางบาญชี พระคลังในได้ดำรง ๏ หมวดดาลโดยกำหนดา ตัวสกดสามตัวคง ยักย้ายโดยประสงค์ นอรอลอส่อเสียดความ ๚ะ

ดิน ๏ เรียกว่าแผ่นดินนี้ คำเชิดชี้ในสยาม ชฎิลนี้เปนนาม พวกโยคีฤๅษีไพร ๏ บดินทรคำมคธ แปลตามบทว่าเจ้าใหญ่ คำต้นยักย้ายไป เปลี่ยนใช้ตามความระบิล ๏ ตัวอย่างมีอ้างว่า รัษฎาธิบดินทร์ พระนามเจ้าธรณินทร์ ภูบดินทร์นั้นก็มี ๏ นฤบดินทร์เล่า นามพระเจ้าจอมปรัศวี ย้ายแยกแจกวะจี ที่เปลี่ยนใช้ในกาพย์กลอน ๏ แปลว่าเปนเจ้าใหญ่ ในด้าวแดนแผ่นดินดอน สาธกยกสาธร อุทาหรณ์ให้เห็นทาง ๚ะ

ดุน ช่างทองคำลายดุน นี่คำไทยท่านไว้วาง สามัญคำกลางกลาง นอสกดบทสยาม ๏ ภารานพคุณ ยี่สิบดุนบล่วงลาม ลำดับนับดุนตาม แบบมาตราว่าดุนไทย ๏ ตุลยะว่าคันชั่ง เป็นชื่อตั้งราษีไสย จอมภพภูวไนย เดชอดุลยบุญบารมี ๏ แปลว่าไม่มีเปรียบ สิ่งใดเทียบไม่เทียมที่ อดูลย์โดยวิธี สกดลอยอการันต์

ดูน อาดูลย์ท่านก็ใช้ สั้นยาวไซ้คำเดียวกัน หากแยกให้แปลกผัน เพื่อสัมผัศจัดในกลอน ๏ อาดูรอสกด แปลตามบทว่าเดือดร้อน เฉินฉุกทุกขอาทร ให้อาดูรภูลทวี ๚ะ

โดน เรือโขนโดนเรือคอน คือบทกลอนโดนกันมี คำโดนไทยพาที สกดนอ ก็พอควร ๏ พิโดรว่ากลิ่นฟุ้ง ขจรจรุงจิตรหอมหวน คำนี้เนื่องสำนวน ในกำพุชสกดรอ ๚ะ

ดอน ลุ่มดอนแผ่นดินดอน อีกสันดอนสกดนอ จะว่าให้เพียงพอ ดอนคำไทยใช้กันหลาย ๏ ราษฎรคือไพร่ฟ้า ข้าเขตรขัณฑ์นครหมาย ทิศเหนือบกลับกลาย เรียกอุดรสอนกันมา ๏ ธรรมชื่อโลกอุดร คือคำสอนพระสาศดา ส่งสัตว์ข้ามโลกา คือมรรคผลแลนฤพาน ๏ คำอัษโฏศดรนี้ แสดงชี้ใช้โวหาร ว่ายิ่งแปดประการ เช่นร้อยแปดรูปมงคล ๏ คำเดิมอฐุดตะระ แผลงสะกะฏะตามอย่างยล สำเร็จเสร็จนิพนธ์ อัษโฎศดรผ่อนใช้มา ๏ อัศดรม้าวิเสศ ว่าตามเหตุลูกนางลา จะคลอดฆ่ามารดา ทำลายผ่าพื้นอุทร ๏ รวดเรวฤทธิ์แรงนัก ชื่อประจักษว่าอัศดร เหล่านี้อุทาหรณ์ คำมคธสกดรอ ๏ อันตะระคำบาฬี ท่านใช้มีมากเพียงพอ สำหรับไว้เติมต่อ เปนตัวปลายท้ายวาจา ๏ เช่นศับท์นามกร เวศสันดรดังนี้หนา ว่าหว่างตรอกพ่อค้า ท่านประสูตรคัพโภทร ๏ ยกเอาเหตุนั้นมา เปนสมญานามกร พระเพสยันดร คำนี้แผลงแจงวิธี ๏ ย่านกลางหว่างพุทธุบาท กาลนักปราชกำหนดมี เรียกชื่อใช้วาที พุทธันดรทอนตามกาล สิ่งใดไม่ขาดเรื่อง ต่อติดเนื่องสืบสายสาร ท่านเรียกโดยโวหาร มคธว่านิรันดร ๏ คือกาลทำเปนนิตย์ แลที่ชิดเหลือผันผ่อน ก็เรียกนิรันดร โดยทางสอนสืบวาจา ๏ บิดรมารดรนี้ คำวิธีท่านแปลงมา ปิตมาตุภา ษามคธบทคำเดิม ๏ อาเทศอุเปนระ อ่านสระว่าออนเสริม เสียงแปลกจากเสียงเดิม จึ่งต้องเติมตั้งแบบแผน ๏ คำดอนนี้มีมาก จักวิภาคยากสุดแสน ข้าเจ้าท้อใจแทน เกรงจะไม่ใส่ใจจำ ๚ะ

เดียน เดียรดาษกลาดเกลื่อนกลุ้ม พูดกันชุมไทยพจนำ มิใช่สุขุมคำ อยู่ล่อล่อภอเข้าใจ ๏ เดียรถ์นี้คำมคธ แปลเปนบทภาษาไทย ว่าท่าชลาไลย มีคำใช้ลงโดยเดียรถ์ ๏ คือลงไปโดยท่า คำที่ว่าพอแนบเนียน สำคัญของนักเรียน ตัวท้ายส่อถอการันต์ ๏ ยังเดียรอีกคำเล่า ว่าตามเค้าเปนคู่กัน แต่ไม่มีการันต์ แปลว่าฝั่งฟากนัที ๏ ตัวอย่างที่อ้างโอษฐ์ เดียรสระโรชโบษขรณี คือขอบฝั่งสระศรี มีประทุมเปนพุ่มพง ๏ คำเดิมว่าตีระ อีเปนยะอาเทศตรง ตัวรอสกดลง คงเปนเดียรเขียนตามมา ๚ะ

ดง ป่าดงพงพนัศ คำไทยชัดตามภาษา อัษดงค์นี้คำบา ฬีแปลว่าตกต่ำไป ๏ คำนี้ท่านจงรู้ ว่าเปนคู่กับอุไทย คือดวงพระสุริไส เช้าอุไทยค่ำอัษดงค์ ๏ เขียนต้องมีสำคัญ คอการันต์เร่งใส่ลง ส่วนว่าคำป่าดง ไม่ต้องมีที่การันต์ ๏ ตัวเดิมอัดถังคะ ถะเปนษดะท่านแปรผัน สำหรับใช้จำนัน ในภาษาพฤตฒาจาริย์ ๚ะ

ดาง คำดางในสยาม มีเนื้อความพูดไขขาน คนเล่นอยาบสาธารณ์ คำพูดว่ากระดางลาง ๏ คำสูงราชาศับท์ บังคับเรียกพระปฤษฎางค์ คำแปลท่านไว้วาง ว่าเบื้องหลังดังตำรา ๏ ปิฎฐิกับอังคะ สองพจนะรวมกันมา สนธิต่อวาจา แผลงตามสังสกฤษตไนย ๏ จึ่งเปนปฤษฎางค์ บอกไว้วางอัดถ์แก้ไข จะเขียนอักษรไทย ใช้ตัวฎอคอการันต์ ๏ อีกคำอัษฎางค์ วิธีทางอย่างเดียวกัน คำแปลหากแปรผัน ว่าองค์แปดประการมี ๏ เหมือนศีลอุโบสถ นับโดยบทแปดวิธี ระวังกายวะจี จัดเปนองค์แปดประการ ๏ อังคะแปลว่าคุณ ข้างฝ่ายบุญเปนแก่นสาร รักษาสมาทาน ทั้งแปดบทกำหนดวัน ๚ะ

ดึง กระดึงดังวังเงง พวกกันเองมาดึงกัน คนไทยใช้จำนัน คำว่าดึงดังนี้นา ๏ ดาวะดึงษ์ชื่อสวรรค์ นับในชั้นฉะกามา วะจรหมู่เทวา ได้สมญาดาวะดึงษ์ ๏ อ้างเหตุต้นกำเนิด เทวาเกิดชั้นไตรตรึงษ์ เมื่อแรกขึ้นไปถึง สามสิบถ้วนควรนิยม ๏ จะเล่าให้ยาวเยิ่น จะชักเนิ่นในนุกรม แนะเรื่องแรกปะฐม พอทราบเหตุสังเกตความ ๏ ดาวะดึงษ์ษอการันต์ ใช่สามัญคำสยาม ท่านจัดไว้ว่านาม เทวบทมคธตรง

ดก กระดานมันกระดก เดินจะตกถลำลง ผลไม้ที่ไพรพง ตกดาดดื่นพื้นสุกทราม ๏ อักระดกตกยากไร้ คำพูดใช้ในสยาม ดอเดชเขียนคงตาม แบบบังคับศับท์สามัญ ๏ คำว่าผ้าสาฎก ที่สาธกมารำพัน แปลให้ทราบสำคัญ ผ้าห่มนุ่งบำรุงกาย ๏ หนึ่งคำอัฐะกะ พจนเครื่องนับหมาย แปลความตามธิบาย ว่าประชุมส่วนแปดปัน ๏ แผลงเปนอัษฎก ท่านหยิบยกเปนชื่อฉันท์ ปัฐยาวัตรประพันธ์ แปดอักษรกลอนคาถา

๏ อนึ่งโคลงกระทู้ จัดสี่คู่แปดวาจา เรียกนามตามสมญา โคลงอัษฎกสาธกกลอน ๚ะ

ดาก เงื่อนงำทำกระดาก ดูหลากหลากล้วนแง่งอน ไม้ดากตะบันคลอน ดังขลุกขลิกพลิกขึ้นดู ๏ คำไทยใช้ว่าดาก มีพูดมากคนเหลือหู บังคับฉบับครู ตัวดอเดชสังเกตจำ ๏ ประฎากอีกบรรฏาก เปนเสียงหลากพจนำ ในบทมคธคำ ว่าแผ่นผ้าสิ้นทั้งมวน ๏ ผืนผ้าทำเปนธง ก็จำนงคำนี้ควร แปลความไม่ลามลวน เลศนี้ข้อฎอชฎา ๚ะ

ดึก ยามดึกนึกถึงน้อง เคยประคองแนบอุรา ดึกนี้ชี้วาจา ในสยามเนื้อความตรง ๏ โชฎึกราชเศรฐี คำบาฬีท่านจำนง ฎอใหญ่ใช้ประสงค์ แปลว่ารุ่งจำรูญศรี ๏ โชฎึกเปนชื่อหมาย เรื่องนิยายในคัมภีร์ ท่านโชฎึกเศรฐี มั่งมีทรัพย์นับเหลือตรา ๏ รุ่งเรื่องพร้อมมูลหมด ทรัพย์สินยศวาศนา ชื่อส่อสมสมญา ว่าโชฎึกราชเศรฐี ๏ อีกคำว่ากรรดึก เปนคำฦกในบาฬี แปลว่าความยินดี อีกวาทีเดือนสิบสอง ๏ ดอเดชกอสกด ตามแบบบทในลบอง ทำนุกตามทำนอง อ่านแล้วตรองไตรตราดู ๏ คำไทยพูดใช้ดัด สารพัดออกแส้หู ต้นไม้ดัดดูตรู ดัดขาแขนแผนดัดกาย ๏ คำว่าดัดผทม ก็นิยมใช้กันหลาย กัมพุชพากย์กลายกลาย แปลว่าตื่นจากที่นอน ๏ อิกคำในมคธ โดยกำหนดว่าดัษกร คือฆ่าศึกรานรอญ ทำให้จิตรสดุ้งรน ๚ะ

ดาด ดาดพื้นดาดเพดาน พูดไขขานแทบทุกคน ดาดดื่นพื้นอารญ ล้วนทรงผลต้นพฤกษา ๏ ช่างเรือนไม่ฉลาด ปรุงเรือนดาดทรงหลังคา หัวท้ายแห่งนาวา ดูดาดไปไม่สู้งาม ๏ คำดาดพูดกันดื่น ในพ่างพื้นพงษ์สยาม แปลผันหันตามความ สกดดอก็พอควร ๏ กระดาษใช้ให้แปลก เปนพากย์แขกคำผันผวน ตัว ดอบอบังควร ตัวษอบอส่อภาษา ๏ บุดาดคู่เสมียน ซึ่งใช้เขียนอยู่อัตรา ไม่ทราบต้นเดิมมา จะเปนพากย์พจน์อะไร ๏ เห็นเขียนดอสกด เหมือนกับบทสามัญไทย์ คำเดิมนั้นฉันใด ไม่รู้แน่กระแสคำ ๚ะ

ดิด ประดิดสองสฐาน พึงพิจารณ์ใส่ใจจำ ช่างคิดประดิดทำ ภาษาไทยใช้เจรจา ๏ ดอเดชตัวสกด ตามแบบบทท่านบัญชา ประดิดคิดสารา ก็เช่นกันบอผันแปร ๏ ประดิฐประดิษฐาน นี่คำขานในกระแส มคธมีบทแปล ว่ายืนทั้งตั้งดำรง ๏ เช่นวัดราชประดิฐ คือบพิตรจอมจักรพงษ์ โปรดให้เริ่มตั้งลง เปนอารามงามตระการ ๏ วัดเดิมนั้นก็มี ในถิ่นที่กรุงโบราณ วัดราชประดิษฐาน แปลความคล้ายลม้ายกัน ๚ะ

๏ พระบาทพระจอมเกล้า ทรงตริเค้าให้แปลกผัน ถอนฐานคงจำนัน แต่ประดิษฐสนิทดี ๏ หมู่ช้างสุประดิฐ พงษ์พิจิตรคชกะรี แบบบทสกดมี ฐอสันฐานบรรหารสอน ๏ ท่าพระตำหนักชล พระนิพนธ์มะหิศร ทรงตั้งนามกร ท่าราชะวระดิดถ์ ๏ แปลว่าท่าหลวงเลิศ ท่าประเสริฐราชรังสฤษฎิ อีกกาญจนดิดถ์ เมืองท่าทองของเดิมมา ๏ หนึ่งว่าท่าบางโพ บ้านใหญ่โตคนแน่นหนา พระจอมมหิศรา โปรดให้ยกเป็นบูรี ๏ ชื่อเมืองอุตรดิตถ์ นามสนิทในวาที แปลว่าท่าเหนือมี ผู้รั้งเมืองเลื่องฦๅชา ๏ เจ้าเมืองท่ากระดาน แต่บุราณเรียกกันมา พระโปรดเปลี่ยนสมญา ผะละกะดิดถะบดี ๏ เจ้าเมืองท่าขนุน เรียกกันวุ่นแต่เดิมที บันะสะดิดถ์บดี ทรงเปลี่ยนใหม่ใช่นามขอม

๏ ดิดถ์นี้แปลว่าท่า ดิษฐนี้ว่าตั้งยืนยอม ในแบบยังพลาดปลอม เปลี่ยนเปนฐอสันฐานไป ๏ เพราะตรวจดูไม่ทั่ว ผิดในตัวต้องจนใจ พิมพ์ยากจะแก้ไข แล้วแล้วไปเลยตามเลย ๏ ตัวฑอไพรฑูริย์นี้ โดยวาทีท่านเฉลย ตามที่ได้พบเคย สังเกตจำคำบุราณ

๏ เสียงดอก็อ่านได้ ที่คำใช้จะไขขาน เหมือนว่าภัณ$\left. \begin{array}{}\mbox{ฑา } \\[1.4ex]\mbox{ดา }\\[1.4ex]\end{array} \right\}$ คาร ราชบัณ$\left. \begin{array}{}\mbox{ฑิตย์ } \\[1.4ex]\mbox{ดิด }\\[1.4ex]\end{array} \right\}$ คิดแปลธรรม ๏ ฑอนี้แทนตัวดะ ในวรรคฏะขอมควรจำ อยู่ที่สามประจำ ทั้งไทยขอมย่อมตรงกัน ๏ อีกว่าบิณฑบาต คำนักปราชใช้จำนัน มคธบทครามครัน มีสัคัญฑอแทนดอ ๏ หมั่นจำคำลิกฃิต คนชื่อดิศสกดศอ บาฬีมีเพียงพอ ศรัทธาดิศเจ้าลังกา ๏ ดิศศะบุศศะนี้ เปนชื่อดีในภาษา มคธพจนา ติดเนื่องใช้ในสยาม ๚ะ

ดุด เดินสดุดคำไทยแท้ ไม่ต้องแปลชัดเนื้อความ ประดุจดุจหนึ่งนาม สองคำนี้จอสกด ๏ คำอะไรไม่ทราบชัด สองนี้จัดตามแบบบท ตุฐิพากย์มคธ แผลงเป็นบทดุษฎี ๏ แปลว่าความชื่นชม ควรนิยมอย่างวาที บางครูบางกระวี แปลว่าไหว้ไขว้เขวคำ ๏ ตุณหิแปลว่านิ่ง อย่าเกรงกริ่งจริงแม่นยำ ท่านแผลงแปลงพจนำ ดุษณีมีมากหลาย ๏ ดุษณีดุษดี สองคำนี้มักกลับกลาย เพราะไม่ทราบบรรยาย กระแสความตามที่จริง ๏ ที่ควรว่าชื่นชม ผู้เงางมใช้ว่านิ่ง สอนว่าอย่าประวิง ความว่านิ่งใช้ดุษณี ๚ะ

เดด เดดเดดในสยาม ที่ใช้ความไทยไม่มี ชักคำในบาฬี ใช้เจรจาว่าจนเจน ๏ หลวงเดชมีฤทธิเดช ว่าตามเหตุไม่แกล้งเกณฑ์ พระเดชนฤเบนทร์ ผ่านแผดหล้าฟ้าดินชม ๏ พระเดชคืออำนาจ ไทยธิราชวะโรดม ราชาณานุกรม คือพระเดชเหตุแผดเผา ๏ พระคุณคือกะรุณา แผ่เมดตาแก่เชาเรา สองคำอย่าดูเบา มิใส่ใจไม่รู้แปล ๏ ยาวสั้นเดชไวพจน์ จงกำหนดในกระแส สมเด็จพระเจ้าแปร จะเสด็จเผด็จการ ๏ มุขเด็จทำขาดเด็จ มีเขบ็จแบบเสาหาญ เด็ดดอกพฤกษาสาร มาสูบดมชมกลิ่นหวน ๏ แปลกกันแต่สั้นยาว เช่นดั่งกล่าวในขบวน เลือกคัดจัดที่ควร เดชไวพจนกำหนดจำ ฯะ

โดด โดดโจนโดนตอหลัก ขาเกือบหักนั่งลงคลำ น้ำโดดน้ำโจนทำ เปนน้ำพุทะลุหิน ๏ เช่นนี้โดดคำไทย คำพูดใช้ประดิทิน มคธบทระบิล ว่าสันโดฐสันโดศมี ๏ แปลว่าไม่ละโมบ บันเทาโลภผ่อนยินดี อย่างไรก็ตามที่ ตามแต่ได้ไม่ทยาน ๏ สันโดศนี้ท่านนับ เรียกว่าทรัพย์เปนแก่นสาร แม้มีในสันดาน ของผู้ใดใจชักเย็น ๏ ได้ดีแลได้ชั่ว บเมามัวตามแต่เปน น้ำใจไม่ลำเค็ญ เพราะปลงเห็นเหตุมัธยม ๏ สยามความชัดว่า มีนาษาสำหรับดม กลิ่นหอมย่อมชื่นชม ดมกลิ่นเหม็นเปนรำคาร ๏ สกดปล้นสดม ไทยนิยมพูดไขขาน นักเรียนจะเขียนจาน จงรู้ใช้ไทยจำนัน ๏ สดมภ์คำบาฬี นั้นต้องมีภอการันต์ จะแจ้งแห่งสำคัญ วางคำใช้ไว้เปนครู ๏ เสนาบดีสี่ ตำแหน่งมียศเฟื่องฟู เชิดชื่อระบือชู ออกนามชัดจัตุสดมภ์ ๏ แปลว่าสี่เสาหลัก แน่นหนาหนักควรนิยม เวียงวังคลังนาสม มุตย่อเรียกเพรียกพร้องเพรา ๏ คำเดิมมะคะธะ คือถัมภะแปลว่าเสา ท่านแผลงแปลงเปลี่ยนเอา ถะเปนสดะละตัวเดิม ๏ จึ่งกลายเปนสดมภ์ ภอประสมการันต์เสริม จัตุต่อต้นเติม พอเต็มคำเช่นรำพัน ๏ พนสดมภ์ว่าป่าเสา มีข้อเค้าเช่นเดียวกัน ใครรู้ดูสำคัญ จำให้มั่นหมั่นสอบสวน ๏ วิธีดอไวพจน์ แจกจัดบทหมดขบวน เพียรเรียนอย่าเรรวน จะได้รู้เป็นครูคน

๏ เพียงนี้จบหมวดด้าว ดอไว พจน์นา
จองจิตรอย่าหลงใหล เลอะล้น
คำขอมมคธไทย ทานเทียบ ไว้นา
ตราตรวจตั้งแต่ต้น จวบสิ้นอวสาน ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ