พิศาลการันต์

๏ จักแจกจำแนกเบื้อง แบบบัญ จมาแฮ
นามพิศาลการันต์ เรียบไว้
คือตัวอักษรสรร เสริมใส่ ท้ายเฮย
บ่ออ่านแต่เติมให้ ครบถ้วนขบวนคำ ๚ะ
๏ พิ จิตรพิพิธถ้อย แถลงลักษณ นี้ฤๅ
ศาล เช่นศาลสึงพัก ผ่อนรู่
กา ละประสงค์จัก หาง่าย ดายนา
รันต์ ระเบียบแบบสู้ เสาะค้นคำขยาย ๚ะ

๏ จะเริ่มเรื่องการันต์สรรแถลง สอนกุมารอ่านเขียนเพียรแสดง เพื่อแจ้งแจงที่ในบ่อนอักษรไทย พวกนักเรียนรู้แยบในแบบบท กลอนไวพจน์พิจารณ์ท่านขานไข ทั้งเล่าอ่านชาญเชนจนเจนใจ รู้ชัดใช้ตัวสกดบทธิบาย แล้วควรเรียนแบบห้าสมญาขนาน ชื่อพิศาลการันต์สำคัญหมาย คือศึกษาสอดเสริมท่านเติมปลาย มีเรียงรายไปจนทั่วตัวการันต์ แบบบุราณท่านเรียกทัณฑฆาฎ ของนักปราชต้นบัญญัติท่านจัดสรร ไว้สำหรับฆ่าอักษรส่อสำคัญ สังเกตกันว่าไม่อ่านนานๆมี หนึ่งสมเด็จวัดราชประดิฐ ท่านได้คิดชื่อใหม่ของไม้นี่ ให้ถูกต้องตามมคธบทบาฬี โดยวาทีท่านเรียกวัญชะการ แปลว่าทำตัวหนังสือให้เป็นหมัน ให้รู้กันว่าตัวนี้ไม่ต้องอ่าน แต่ท่านใช้ไว้ประจำคำใบลาน ไม่สาธารณ์ทั่วมาภาษาไทย์ ลักษณตัวการันต์ทัณฑฆาฏ แม้นนักปราชตรวจดูก็รู้ได้ คือเป็นคำข้างภาษาอื่นๆไป ถ้าเป็นพวกคำไทยไม่ใช้เลย จะนับตัวการันต์ปันวิภาค ก็มีมากยี่สิบหกอักษรเฉลย อุส่าห์จำเถิดจะร่ำพิปรายเปรย ตามที่เคยได้สังเกตเหตุวาจา ในพวกกอการันต์ปันประเภท คือบัลลังก์สังเกตในภาษา เป็นคำพูดชาวมคธพจนา อาภุชชิตวาบัลลังกัง แปลว่าคู้เข่านั่งขัดสมาธิ มารยาดอย่างมุนีอินทรีย์สัง วรเจริญกรรมฐานฌานระวัง สติตั้งตัวให้ตรงดำรงกาย คำบัลลังก์สังเกตเหตุเช่นนี้ ความในพระบาฬีนั้นมีหลาย ถ้าจะแปลข้างสยามความก็กลาย อธิบายว่าบัลลังก์ที่นั่งนอน เหมือนฃอเชิญท่านขึ้นนั่งบัลลังก์รัตน์ ความก็ชัดเชิญขึ้นแท่นบรรจฐรณ์ เป็นสองเงื่อนสองเงาเค้าสุนทร จงรู้ผ่อนสองบทมคธไทย อีกคำว่าเขาวงก์จงสำเหนียก นี่ก็เรียกตามมคธกำหนดได้ วังกะแปลว่าคดเลี้ยวลดไป เช่นคำไทยเรียกคลองมหาวงก์ เพราะคลองนี้คดที่สุดขุดไม่ซื่อ จึ่งตั้งชื่อต้องตามความประสงค์ ทั้งตามคำเนื่องบทมคธคง ต้องจำนงเติมต่อกอการันต์ (จบกอการันต์) ๚ะ

๏ (ข) คำที่เพิ่มตัวขอก็พอนับ มีประมาณเจ็ดศับท์ท่านจัดสรร คือเกิดทุกข์ทุกข์ยากลำบากครัน ต้องไภยยันทุกข์โศกโรครันทำ สุนักข์นี้ช่างไม่มีตระกูลติด ทำสนิทเลียพลามลามถลำ เขียนสุนักข์นี่ตัวขอส่อท้ายคำ เป็นที่สำเหนียกบทพจมาน ธรรมพิสุทธิพระวิมุตติวิโมกข์ เป็นเครื่องหลุดพ้นโลกย์โอฆสงสาร ให้ข้ามถึงฝั่งพระนฤพาน อีกปาโมกข์ว่าประธานก็ใช้มี เช่นทิศาปาโมกข์ชื่ออาจาริย์ ก็คือครูเป็นประธานในทิศสี่ หนึ่งนามยศสมณะละโลกีย์ นั้นก็มีคู่กับสังฆราชา พระครูสังฆปาโมกข์โลกย์เคารพ ขจรจบยศศักดิ์ทุกทิศา เป็นพระครูหัวเมืองเลื่องเดชา นี่แปลว่าเป็นประธานสงฆ์นิกร ถึงวันพระพระสวดปาฏิโมกข์ ชำระโรคอาบัติสลัดถอน ให้หลุดพ้นไภยข้างสัดคาวรณ์ ซึ่งเกิดแต่อธิกรณ์อาบัติบัง ปราสาทน้อยแนวกำแพงบุรทิศ แห่งปราสาทดุสิตพระที่นั่ง ซึ่งมีนามตามบรมราชวัง สฤษดิ์ตั้งอาภรณ์พิโมกข์มี แปลว่าสำหรับเปลื้องเครื่องอาภรณ์ แห่งบวรเยาว์กระษัตริย์เจริญศรี เวลาแห่โสกันต์ราชพิธี ประทับที่เปลื้องเครื่องอลังการ หอยสังข์แตรสังข์อีกศรีสังข์ ว่าประดังเสียให้ครบที่คำขาน แต่หอยสังข์ตั้งที่เป็นประธาน นอกจากนั้นอ้างขนานหอยเป็นเดิม ในหมวดขอการันต์สรรลิขิต คำชนิดท้ายขอเข้าต่อเสริม ที่หลงเหลือเชื้อปราชช่วยโปรดเติม พอให้เพิ่มภูลตำหรับฉบับเรียน ๚ะ

๏ (ค) ลำดับถัดจัดคอการันต์บท ที่กำหนดจงพิจารณ์จะอ่านเขียน ให้สมกับภูมรู้เป็นผู้เพียร ได้เล่าเรียนอย่าให้พลั้งระวังตน ในมคธชัคคะว่าพระขรรค์ ต้องเขียนใช้รอหันทุกแห่งหน ที่ท้ายคำคอคิดติดประดน นี่เป็นแบบแยบยนต์อย่างบุราณ ท้าวภุชงค์แปลว่าองค์พระยานาค ข้อวิภาคฝ่ายบทมคธขาน คล้ายกับคำโพชฌงค์เจ็ดประการ สติปรีชาญาณวิริยา กับปีติปัสสัทธิสมาธิ นับศิริเจ็ดทั้งอุเบกขา เป็นองค์ให้ตรัสรู้มรรคผลา จึ่งเรียกว่าโพชฌงค์องค์แห่งธรรม อีกเบ็ญจางค์ทางแปลว่าองค์ห้า อัษดงค์สุริยาจะตกต่ำ อัษฎางค์อ้างว่าองค์แปดประจำ แต่ล้วนคำเติมต่อคอการันต์ อนึ่งพระปฤษฎางค์แปลว่าหลัง นี่เป็นสังสะกะฏะภาษาสรร เดิมปิฐิอังคะคำเรียงกัน ท่านแผลงผันมาให้ต้องทำนองไทย มาตงค์แปลว่าช้างอ้างประเทศ เกิดในเขตรมาตังคะวิไสย เป็นตระกูลช้างแปลกแยกออกไป จากตำหรับดำไรยในคำภีร์ สตางค์แน่แปลนับแห่งร้อยส่วน ที่คำนวนแบ่งปันสรรตามที่ ส่วนแห่งร้อยแบ่งอวะยะกะมี ท่านเรียกชี้ชื่อสะตางค์ทางประมาณ หนึ่งเรียกไตรยเวทางค์อ้างโดยเหตุ องค์ไตรยเพททั้งสามพราหมณ์ขนาน อิรุเพทยัญญเพทสังเกตการ สามะเพทนามขนานครบจำนวน ทั้งสามเวทนี่แลใช้ไตรย์เวทางค์ คำภีร์ไสยไว้วางเป็นส่วนๆ ชักมาว่าพอเข้าใจในขบวน คอคิดควรเขียนใช้ไตรย์เวทางค์ อีกคำหนึ่งเรียกนามตามนักปราช ท่านว่าเพทางค์สาตรได้เสาะสาง สาตรๆนี้คือคำภีร์ที่ไว้วาง ก็คืออ้างไตรยเพทพิทยา อนึ่งปะทังคะคำมคธ ใช้เลื่อนลดในสยามะภาษา ว่านบแทบบาทางค์พระครูบา คือวันทาแทบเท้าในเค้าความ พระประพฤติสุจริตตามกิจสงฆ์ ถือธุดงค์โดยบรรจบครบสิบสาม ถึงทนยากก็อุส่าห์พยายาม ด้วยหวังปรามปราบโลภเกลศมาร คำธุดงค์แปลว่าองค์ที่กำจัด ทั้งเป่าปัดโลภหลงในสงสาร ให้บ้างเบาเซาทรามลงตามกาล จึ่งขนานสมญาว่าธุดงค์ ในคำหนึ่งชี้แจงไม่แจ้งอัดถ์ รู้ไม่ชัดต้นความตามประสงค์ มักใช้ว่าเชิญชวนนวนอนงค์ คำนี้คงเขียนใช้แต่ในกลอน เป็นมคธก็ก็มิใช่ไทยก็แปลก ที่ย้ายแยกยังไม่พบอุทาหรณ์ อนงค์นี้ยังไม่แท้ไม่แน่นอน เก็บมาสอนตามสังเกตประเภทคำ คัคณางค์นามอ้างองค์บนฟ้า ดวงดาราโดยตำหรับฉบับสำ เหนียกสิบสองราษีมีประจำ เรียกรวมคำคัคณางค์ทางอัมพร เลขสังกัดพรรค์นี้จะชี้เรื่อง พอเป็นเครื่องทางจำในคำสอน เติมวัคคะมคธพจน์นิกร ท่านแผลงผ่อนลงเป็นไทยใช้ว่าพรรค์ ก็ต้องอย่างทางวิธีที่อาเทศ โดยสังเกตวอเป็นพอมีรอหัน ตัวคะซ้อนผ่อนมาเป็นการันต์ สังกัดนั้นคำไทยใช้ประดน ฯ หนึ่งบาฬีมีว่าสัพพังคะ พจนะในกำหนดเป็นบทสนธิ์ ข้างไทยใช้คำยาวกล่าวยุบล ชมว่าคนนี้งามทั่วสรรพางค์ คืองามทั่วอวะยะวะทั้งใหญ่น้อย ดูแช่มช้อยสาระพัดไม่ขัดขวาง อนึ่งมักพูดเจ็บทั่วสรรพางค์ ก็คืออ้างว่าเจ็บทั่วทั้งตัวตน คำวิภังค์สังเกตเหตุซึ่งแปลก คำนี้แปลว่าแจกโดยนุสนธิ์ แจกอินทรีย์แจกธาตุแจกสกนธ์ โดยยุบลบรมัดถ์จัดประมวญ ในคำภีร์อภิธรรมปิฎก ท่านแยกยกธาตุขันธ์ปันเป็นส่วน ทุกหมู่หมวดมีนามตามจำนวน คำปลายล้วนลงวิภังค์ทั้งคำภีร์ ที่เรียกธาตุวิภังค์ก็แจกธาตุ เชิญนักปราชจงประมวญให้ถ้วนถี่ คือแจกจัดสัตย์มรรคแลอินทรีย์ ท้ายนั้นมีคำวิภังค์ประดังลง พระดาบศสรภังค์จงสังเกต ในเลาเลศคอการันต์สรรประสงค์ แปลว่าแจกศรสิทธิ์ฤทธิรงค์ เป็นเชื้อวงษ์ฤๅษีมุนีไพ นะภังคะคำไทยใช้ลากข้าง เขียนกันว่านะภางค์ทางไถง คือนภดลทางฟ้าสุราไลย ท่านเติมใส่อังคะคำประมวญ หนึ่งสุภางค์โสภางค์ทางลิขิต คำบัณฑิตย์แปลไว้จงไต่สวน ว่าอวะยะวะงามตามขบวน คือต้องส่วนยาวสั้นสรรพ์สกนธ์ คำว่าศรีเสาวภางค์ก็อย่างนี้ แต่เติมศรีสุเป็นเสาเข้าบทสนธิ์ แปลว่าอวะยะวะงามเป็นมงคล พระนิพนธ์นามศรีเสาวภางค์ อนึ่งอุมังคะในมคธ พูดเลื่อนลดลงเป็นไทยได้เสาะสาง เรียกอุโมงค์ขุดโพรงเป็นหนทาง ไม่สว่างอับแสงพระสุริยง บางทีก่อเป็นผนังตั้งเป็นช่อง บางทีขุดไปเป็นปล่องโดยประสงค์ บาฬีนั้นเสียงสั้นเรียกอุมงค์ คำไทยตรงเรียกอุโมงค์โพรงในดิน อุตตะมงค์อุตตะมางค์สองอย่างใช้ แปลก็ได้ความเดียวโดยถวิล คือศีศะอวะยะวะเป็นยอดอิน ทรีย์ทั้งสิ้นสมมุติว่าอุตตะมางค์ อีกสองคำโหรใช้ในตำหรับ แปลละม้ายคล้ายกับคำทสางค์ คือคำว่าตรียางค์กับไตรยางค์ นับในทางที่พระเคราะห์เกาะประจำ จตุรางค์จัตุรงค์ว่าองค์สี่ จตุรงค์เสนีเป็นที่สำ เหนียกแลนึกได้แน่กระแสคำ คือสี่ส่ำเสนาว่าเป็นไทย พลช้างพลม้าพลรถ พลบทจรถือธงไสว นี่แลเรียกจตุรงค์เสนาใน กองทัพไชยเชิงพยุหยาตรา หนึ่งในคำว่าดุรงค์จงสังเกต แปลตามเหตุว่าสัตว์วิ่งเรวกล้า จึ่งสาธกยกเป็นนามแห่งอัศวา ใช้กันมาตามมคธบทบาฬี หนึ่งกลอนไทยใช้มีเป็นที่อ้าง สาวสุรางค์นางเทพอับศรศรี แบ่งสุระอังคะสองวาที แปลว่าองค์เนื่องมีของเทวา จัตุรางค์ทางแปลไม่แปรผัน จตุรงค์เช่นกันดังฉันว่า แต่หนหลังรังค์รงค์คงวาจา ก็แปลว่าองค์สี่มีสำคัญ ลึงคะแปลว่าเพศตามเหตุพจน์ โดยกำหนดชายหญิงกระเทยนั่น ซึ่งจัดแยกออกเป็นสามตามเพศพรรณ์ ที่เรียกกันปุงลึงค์อิดถีลึงค์ นะปุงสกยกศับท์เป็นที่สาม ถ้าเล่าเรียนสนธินามคงรู้ถึง ทุกเวลาเย็นเช้าเล่ากันอึง แจกวิภัดติ์จัดเป็นลึงค์เล่าชำนาญ หนึ่งคำว่าสัคคะในมคธ ลงกำหนดเลศไนยจะไขขาน ท่านแผลงไปเป็นสวรรค์ชั้นวิมาน ในโวหารสังสกฤษฎ์ลิขิตคำ แปลว่าส่วนยอดดีเป็นที่ศุข ดูแทบทุกคนหมายทุกเช้าค่ำ แต่อยาบช้าทารุณบุญไม่ทำ จะได้สำเร็จสวรรค์ด้วยฉันใด ย่อมพูดกันว่าสวรรค์อยู่ในอก ถึงนรกก็ไม่อยู่ไกลถึงไหน มันก็แอบแนบสนิทติดกับใจ ถ้าใคร ๆ คิดเห็นก็เป็นดี คำนวางค์ในทางโหราสาตร พระเคราะห์ในอากาศโดยราษี เกาะนวางค์ตรียางค์อย่างวิธี ในคำภีร์โหราชื่อสารัมภ์ ยังอีกพจน์บทเนื่องเมืองสวางค์ คนไทยเรียกเมืองฝางด้วยเพี้ยนสำ เนียงในเดิมสอวอคอประจำ จัดเป็นคำเคลื่อนคลาศด้วยพลาดแพลง หนึ่งในคำว่าประสงค์จงสังเกต ในต้นเหตุเยื้องแยบที่แอบแฝง ปสังคะคำบาฬีไม่มีแคลง ต้องแซมแซงคอคิดติดการันต์ คำทสางค์อ้างประมวญเอาส่วนสิบ ท่านยกหยิบนับยุบลฝนสวรรค์ ส่วนทสางค์กับสตางค์อ้างถึงกัน ขวดขีดปันสอบอุทกตกทุกคราว นรสิงค์รูปเหมือนคนแต่มีเขา เป็นคำเล่าฉันก็ไม่ได้สืบสาว จริงมิจริงแยบเยื้องในเรื่องราว อยู่กับท่านผู้กล่าวสืบกันมา อนึ่งคำอังคะในมคธ เอาเลื่อนลดลงเป็นไทยใช้กันหนา คือองค์หนึ่งสององค์คงวาจา กับใช้ว่าพระองค์ผู้ทรงธรรม์ กับคำเรียกตรง ๆ พระองค์เจ้า คำพระองค์ลงเค้าทุกสิ่งสรรพ์ ล้วนต้องเขียนคอคิดติดการันต์ องเปล่านั้นใช้คงแต่องยวน ในหมวดคอการันต์สรรลิขิต ฉันรวมคิดคำใช้ที่ไต่สวน ก็สมมุติว่าหมดบทจำนวน จงใคร่ครวญเขียนจำเภาะให้เหมาะความ (จบคอการันต์)

๏ (ฆ) ฆอระฆังการันต์ทัณฑฑาฏ เห็นนักปราชเขียนใช้ในสยาม คือพระสงต์องค์พระชีผู้มีนาม ในอารามของสงฆ์คงจะมี ใครอย่าดูถูกลูกพยัคฆ์ มันสำนักนิ์พุ่มไม้ในไพรศรี พอเติบใหญ่อ้วนอวบสักขวบปี เที่ยวไล่ล้างชีวีสัตว์วายชนม์ ได้เห็นพระธำมรงค์พระทรงศักดิ์ ล้วนอำนัคฆ์เพชรรัตนทั้งเครื่องต้น อำนัคฆ์นี้ในกระแสแปลยุบล คือของล้นเลิศลบจบไผท จะนับค่าราคาไม่สิ้นสุด คำสมมุติว่าหาค่ามิได้ คำเดิมอนัคฆไม่สู้ไพ เราะจึ่งได้แผลงอำนัคฆ์ประจักษ์ความ หนึ่งพระซงฆ์ตรงกับศับท์มคธ มีในบทราชาศับท์สยาม แปลว่าแข้งแห่งองค์พระทรงนาม ใครเลยลามพูดเล่นเห็นไม่ควร สี่คำฆอระฆังตั้งเป็นหมวด ที่ตราตรวจค้นได้ไว้เป็นส่วน ฆอการันต์บรรจบครบจำนวน โดยกระบวนใช้คำเช่นรำพรรณ์ (จบฆอการันต์) ๚ะ

๏ (จ) คำตัวจอส่อท้ายทัณฑฆาฏ เห็นฉลาดเหลือกว่าปัญญาฉัน มีสองคำ ๆ ต้นพลฉกรรจ์ กับฉกาจใจฉกรรจ์จะเกี่ยงงอน ฉกรรจ์ภาษาอะไรมิได้ทราบ รู้อยาบๆตามบุราณสารนุสร ท่านใช้จอการันต์สรรสุนทร จึ่งคิดกลอนสอนนักเรียนให้เพียรจำ ๚ะ (จบจอการันต์) ๚ะ

๏ (ช) ตัวชอชื่อการันต์ปันเป็นพจน์ จงกำหนดมีอยู่เพียงสามสำ เหนียกจงแน่เช่นกระแสในลำนำ ท่านใช้คำว่ากษิรามพุภุญช์มี แปลว่ากินน้ำนมสมกับพจน์ หนึ่งคำบทวลัญช์พระชินศรี นั้นแปลว่ารอยพระบาทนารถมุนี อิกวาทีหนึ่งนั้นว่าสาขภัญช์ แปลว่าหักกิ่งไม้ใช้จงชอบ ตามระบอบแบบอักษรจงผ่อนผัน ทั้งสามคำนี้ในข้อชอการันต์ กุมภกรรฐ์ทศกรรฐ์พระยามาร (จบชอการันต์) ๚ะ

๏ (ฑ) ในคำฑอไพรฑูริยเข้าหนุนท้าย มีอยู่หลายเลศไนยจะไขขาน เหมือนมีเทศสามกัณฑ์ไม่ทันนาน เขาจัดเครื่องไทยทานบูชากัณฑ์ อีกโยคเกณฑ์กองกูณฑ์จรูญโรจน์ พวกนักโทษที่ต้องเกณฑ์เอากวดขัน ที่ถูกปรับนั้นต้องรับราชทัณฑ์ แต่ลดหย่อนผ่อนกันตามหนักเบา ภาคทัณฑ์นั้นแปลว่าแบ่งโทษ ที่ทรงโปรดงดตามกฎหมายเก่า คนที่ต้องพรหมทัณฑ์ไม่บันเทา แปลสำเนานี้ว่าอาญาพรหม เกาทัณฑ์กับธนูดูไม่แปลก ที่ใช้แยกวาทีก็มีถม เหมือนเตียวเปาเกาทัณฑ์ยิงระดม ทหารล้มเพราะถูกลูกธนู ราชภัณฑ์นั้นแปลว่าของหลวง ตามกระทรวงทุกคลังตั้งหีบตู้ แม้นเครื่องอานมหาดเล็กเชิญเชิดชู ก็เนื่องอยู่ในนามราชภัณฑ์ จึ่งโปรดตั้งหุ้มแพรนอกสฐาน พนักงานรับเครื่องทุกสิ่งสรรพ์ รู้ชำนาญชาญเชนทุกเวรวัน เป็นที่นายราชภัณฑ์ภักดีมี คำว่ารัตนภัณฑ์นั้นมีมาก แปลว่าแก้วหลากๆประหลาดสี ทุกสิ่งเสร็จทั้งเพชรนิลมณี ก็ต้องที่เรียกรัตนภัณฑ์ ตำแหน่งคลังมหาดเล็กทหารหาญ พนักงานจ่ายของทุกสิ่งสรรพ์ ทั้งสาตราผ้าเสื้อทุกสิ่งอัน ชื่อตั้งพระวรภัณฑ์พลากร หนึ่งนามเรียกเขาสับด์บริภัณฑ์ ทั้งเจ็ดชั้นล้อมพระเมรุสิงขร ทุกหว่างเขาแม่น้ำสีทันดร ชโลธรแสนฦกละเอียดดี แต่แววหางมยุราเอามาทิ้ง ไม่ลอยนิ่งอยู่บนหลังชลาศรี พอตกผอยด้อยจมในวารี จนถึงที่พื้นล่างข้างบาดาล หนึ่งของใช้พระสงฆ์ทุกสิ่งสรรพ์ เรียกบริขารภัณฑ์โดยโวหาร ทั้งดีชั่วทั่วสัพพะสาธารณ์ นามขนานอีกเป็นสองของหนักเบา ที่ของหนักมักเรียกครุภัณฑ์ ของเบานั้นเรียกนามตามของเก่า ลหุภัณฑ์สรรแต่สิ่งที่เบาเยาว์ นี่บอกเค้าทั้งครุลหุภัณฑ์ หนึ่งของดีมีค่าราคาใหญ่ คืออุไรนพรัตน์เรืองฉายฉัน เป็นของดี ๆ จริงทุกสิ่งอัน เรียกมหัคฆภัณฑ์คำบาฬี กรมภูษามาลาพระเครื่องต้น หลวงราชาภิมณฑ์คนถ้วนถี่ พนักงานแต่งองค์นฤบดี เขียนต้องมีตัวณอฑอเติมปลาย ท้าวกุมภัณฑ์นั้นว่าพระยายักษ์ ความประจักษ์ด้วยว่าไทยก็ใช้หลาย ในสาธกยกเป็นบทมคธกลาย จะแปลเห็นอยาบคายไม่ควรฟัง กรัณฑะว่าตลับศับท์มคธ แต่เลื่อนลดลงเป็นไทยใช้โดยหวัง พระตลับเพชรหลวงกระทรวงคลัง มีนามตั้งพระรัตนกรัณฑ์ พงไพรใหญ่กว้างทางสำเหนียก เขาร้องเรียกพนสณฑ์แลไพรสัณฑ์ นี่แปลว่าหมู่ป่าเป็นสามัญ มีสำคัญตัวฑอพิฑูริย์ปลาย คำที่ฉันย้ายแยกแจกไว้นี้ คำในพระบาฬียังมีหลาย ฉันเลือกคัดเอาแต่บทมคธกลาย อธิบายบอกข้อฑอการันต์ (จบฑอการันต์) ๚ะ

๏ (ณ) ในหมวดตัวณอคุณเข้าหนุนท้าย จะแยกย้ายตามอักษรเข้าผ่อนผัน กับไวพจน์บทละม้ายคล้ายๆกัน ชี้สำคัญแต่ตัวณอเข้าต่อเติม ชื่อจางวางคชบาลท่านรังสฤษดิ์ ว่าพระยาพระกฤษณ์ตัวณอเสริม คือกัณฑะตามนามนารายน์เดิม จึ่งต้องเพิ่มตัวณอให้พอคำ อลงกรณ์อาภรณ์ทั้งสองศับท์ นี่แปลว่าเครื่องประดับทุกสิ่งส่ำ อธิกรณ์แปลว่าโทษที่คนทำ ดังถ้อยคำว่าระงับอธิกรณ์ เครื่องจองจำขื่อคาเป็นอาทิ รวมศิริสามสิบสองโดยสังหร ใช้ไม่เต็มตามบทเพราะลดทอน ทวัดดึงษ์กรรมกรณ์นับโดยนาม หนึ่งคำภีร์ที่ทำนายแลทายทัก รู้ประจักษ์ดีร้ายฝ่ายสยาม คำทำนายแลที่ทายโดยฤกษยาม ท่านเรียกนามนั้นว่าพยากรณ์ อภิธรรมฦกสุขุมประชุมเสร็จ จัดไว้เจ็ดพระคัมภีร์บาฬีสอน เจ็ดฉบับเรียกว่าสับดปกรณ์ ที่ใช้ผ่อนการพระศพชั้นเจ้านาย กับอีกคำหนึ่งว่ามหาปกรณ์ คือคำภีร์สั่งสอนใหญ่ขยาย หนึ่งอาเกียรณ์ก็ต้องเขียนตัวณอปลาย ท่านแปลว่าเรี่ยรายแลโรยลง หนึ่งซอมแซมสิ่งของที่ชำรุด ให้คืนดีบริสุทธิโดยประสงค์ นั้นเรียกปฏิสังขรณ์ให้คืนคง นับจำนงเข้าในข้อณอการันต์ อนึ่งคำว่าวิจารณ์สารสนอง นับเป็นสองกับพิจารณ์ท่านคัดสรร ว่าใคร่ครวญตรวจตราสารพัน อีกอย่างนั้นแปลอัดถ์ว่าจัดแจง นามขุนนางชื่อนี้ก็มีมาก ต้นกับปลายกลายหลากตามตำแหน่ง หลวงวิจารณ์โกษาศาลาแดง ในตำแหน่งคลังสินค้าศักดิ์นามี นามขนานหลวงวิจารณ์จักรกิจ หลวงพิพิธภัณฑ์พิจารณ์เจ้าภาษี อนึ่งขุนจิตรวิจารณ์ศาลคดี อำเภอที่ขุนวิจารณ์พวกจีนจร หลวงโกษาการะวิจารณ์เล่า ก็นับเข้าคำวิจารณ์ในสารสอน ชื่อขุนนางอ้างมาว่าในกลอน อุทาหรณ์แห่งเหตุสังเกตพจน์ ปัจจะถรณ์บรรจ์ถรณ์ว่าเครื่องลาด คือเสื่อสาดเจียมพรมนิยมหมด อีกคำว่าสาธารณ์ทางมคธ ว่าทั่วถึงไม่กำหนดว่าใครๆ สมบูรณ์บริบูรณ์ว่าเต็มที่ คือไม่มีบกพร่องที่ช่องไหน หนึ่งคำว่าความอุทธรณ์อย่าร้อนใจ จะบอกให้รู้แปลจงแน่นอน ต้นบัญญัติคำนี้บาฬีพจน์ จงกำหนดเถิดท่านแปลว่ารื้อถอน ศาลหัวเมืองเยื้องยักชักโยกคลอน เขาก็ถอนเอาความมาว่าในกรุง มีท้องตราสั่งให้หาขุนศาลเก่า ต้องรีบเข้ามาแก้อุทธรณ์ยุ่ง ที่พ่ายแพ้ย่อยยับต่องปรับปรุง ศาลในกรุงนี้ตำหรับรับอุทธรณ์ จำพวกหนึ่งรอหันการันต์ท้าย มีอยู่หลายล้วนแยบในแบบสอน สุบรรณ์ว่าครุธาทิชากร สุวรรณว่าทองก้อนแลทองทราย สุวรรณแผลงเป็นสุพรรณ์นั้นจงรู้ อาเทศแยบแบบครูบอกขยาย รูปพรรสัณฐานประมาณกาย ทั้งหญิงชายสูงต่ำประจำตน ผิวพรรณนั้นว่าสีฉวีขำ ขาวฤๅดำดำแดงแจ้งนุสนธิ์ พระกรรณ์แปลว่าหูรู้ทุกคน ถือเวทมนต์หมู่พราหมณ์ตามบุราณ อีกม้วยมรณ์นี้ว่าตายวายชีวิตร นี่ควรคิดเป็นอารมณ์กรรมฐาน ถ้าหมั่นคิดให้เป็นนิตย์ชำนิชำนาญ กำจัดการกลัวตายให้คลายเบา อนึ่งคำว่าอาลักษณ์ประจักษ์เหตุ ตามสังเกตยลแยบในแบบเก่า คือมีต้นเครื่องหมายลายสำเนา ว่าตรงเค้าก็คือเขียนอักษรดี ศุภลักษณ์จักแปลเป็นสยาม ก็ว่าลักษณงามต้องตามที่ ทรลักษณ์ลักษณชั่วอับปรี มันไม่มีใสผ่องที่ต้องตา อัประลักษณ์นี้ว่าลักษณน้อย คือทดถอยต่ำชาติวาศนา แต่คำนี้คนทุกวันจำนรรจา คู่กับน่าบัดศรีวาทีไทย อีกคำหนึ่งนั้นเป็นนามพระที่นั่ง เรียกชลังคณ์พิมานบรรหารไข โดยโวหารแปลว่าลานชลาไลย เพราะตั้งใกล้ฝั่งที่นทีธาร นิวรณ์ว่ากีดกั้นการกุศล โดยยุบลจัดว่าห้าสฐาน กามะฉันท์พยาบาทปราชประมาณ คือเกียจคร้านง่วงเหงามักหาวนอน กับอีกใจฟุ้งซ่านรำคานคิด วิจิกิจฉาแคลงคำพระสอนด ครบทั้งห้าจัดว่าเป็นนิวรณ์ มันลดทอนกีดกันกั้นการบุญ อาภรณ์นั้นแปลพร้องว่าป้องปิด อาการติดหน่วงเหนี่ยวไม่เฉียวฉุน ภาษาไทยใช้ว่าข้างการุญ เช่นเจ้าคุณห่วงใยอาไลยอาวรณ์ แบบกระสวนล้วนส่อที่ข้อขำ ยังอีกคำหนึ่งว่าอุทาหรณ์ คือตัวเยี่ยงแบบอย่างทางสุนทร กระวีวรชักเปรียบมาเทียบเคียง อีกคำหนึ่งคนไทยใช้กันถม คืออารมณ์รูปรศแลกลิ่นเสียง เป็นห้าทั้งสัมผัศท่านจัดเรียง ว่าตามเยี่ยงอย่างแยบแบบบาฬี ที่คำไทยพูดว่าวางอารมณ์ ก็นิยมตามเค้าคดีนี่ ความจำนงไม่สู้ตรงกับบาฬี เพราะวาทีคำไทยใช้แพลงๆ พวกณอคุณการันต์ปันเป็นหมวด นับตราตรวจสามสิบหกยกแถลง มีทั้งข้อคำธิบายขจายแจง ฉันฃอแรงแต่จงจำให้ชำนาญ (จบณอการันต์) ๚ะ

๏ (ดิ) ตัวดอเป็นการันต์คิดสรรบท ทั้งมคธคำไทยที่ไขขาน คิดตราตรวจไปจนจบไม่พบพาน แต่กังวานท้ายคำอังกฤศมี เช่นหมอแมกฟาลันด์นั้นเป็นต้น โดยยุบลแบบปอนอักษรศรี ฉันคิดค้นในมคธพจน์วาที ได้พบมีแต่ว่าดิเป็นการันต์ เหมือนคำว่ารามเกียรดิ์เขียนไว้ชัด อีกสมบัดดิ์กับวิบัดดิ์ท่านคัดสรร ปฏิบัดดิ์อาบัดดิ์ถัดเรียงกัน ราชาณัดดิ์ถัดนั้นก็มีความ แปลว่าข้อบังคับแห่งในหลวง ตามกระทรวงราชกิจในสยาม ทุกตำแหน่งต้องคำนับรับทำตาม ไม่ลวนลามล่วงพระราชบัญชา อีกคำพูดวาทีที่มีสัตย์ ได้สัญญาอาณัดดิ์ไว้แน่นหนา คือบังคับรับกันด้วยสัญญา หนึ่งวาจาเรียกวิภัดดิ์ในอัดถ์แปล อีกคำหนึ่งโวหารการข้างวัด ว่าพระสงฆ์สวดญัดดิ์นาคนายแข ปริยัดดิ์เรียนรู้หมั่นดูแล อนุมัดดิ์นี่ท่านแปลว่ารู้ตาม ที่คำว่าอภิรัดดิ์ชัดมคธ แต่เป็นบทแบบใช้ในสยาม เช่นคำว่าบุญญาภิรัดดิ์ราม แปลว่าความยินดีที่การบุญ อีกคำว่าโยคาภิรัดดิ์นี้ คือยินดีทำเพียรเสนอหนุน มิได้ท้อถอยเพิ่มเฝ้าเติมจุน บันลุคุณโพธาภิรัดดิ์ธรรม์ อีกคำเรียงเคียงคู่ดูให้ชัด คืออุบัดดิ์อุปะบัดดิ์ท่านจัดสรร กับคำว่าจิตรประวัดดิ์อยู่ถัดกัน มีสำคัญดิเสริมต้องเติมปลาย คำเหล่านี้ต้องที่ดอสกด แต่ใช้ลดเอาแต่ดิเป็นที่หมาย ด้วยวิไสยไทยมักรักกลายๆ เขียนง่ายๆมากตัวกลัวป่วยการ คำบาฬีมีว่าจักกะวัดดิ์ แผลงมาเป็นจักระพรรดิพูดไขขาน ตกลงมาเป็นไทยใช้มานาน นามขนานจอมจักรจาตุรนต์ หนึ่งคำว่าปรีเปรมเกษมสวัสดิ์ ความก็ชัดด้วยว่าใช้ทุกแห่งหน พระยาบำเรอภักดิ์ประจักษ์กล ด้วยเป็นคนสวามิภักดิ์สมัคจริง หลวงมหาใจภักดิ์รักสนุกนิ์ เชิงทำนุกนิ์ดนตรีดีทุกสิ่ง ตาหลวงแผ้วพลภักดิ์ชักประวิง มักจะทิ้งทอดธุระสละการ หนึ่งคำเดิมสัดดิแผลงว่าศักดิ์ แปลประจักษ์ว่าอำนาจที่อาจหาญ เหมือนศักดิ์สิทธิ์ฤทธาพระยามาร อีกยศศักดิ์ศฤงฆารตระการมี อีกคำว่าศักดินาบันดาศักดิ์ ตำแหน่งในอาลักษณ์มีถ้วนถี่ ทั้งสูงศักดิ์ต่ำศักดิ์รักไว้ดี ไม่เป็นที่บาดหมางทางนักเลง ไม่มีที่อุปะถัมภ์เพราะต่ำศักดิ์ คนคี่มักระราญพาลคุมเหง โปรดในพระทรงศักดิ์คนมักเกรง ย่อมยำเยงยศศักดิ์ไม่หักราญ ท้าวข้างในนารีที่พำนักนิ์ คือคุณท้าวสมศักดิ์นามขนาน ตำแหน่งในได้ว่าบัญชาการ ราชฐานทั่วเขตรนิเวศน์วัง มหาดเล็กเวรต้นคนประจักษ์ นามว่าหลวงนายศักดิ์พระทรงตั้ง เป็นนายเวรเจนการชำบาญบัง คับไม่พลั้งบัญชาจ่าหุ้มแพร ในฉากเรื่องรามเกียรดิ์เขียนพระลักษณ์ เมื่อต้องหอกโมกขศักดิ์ลงนอนแผ่ ศักดิ์ที่นี่วิญญูท่านรู้แปล ว่าหอกแน่นับในสัดติตรง ยุดติธรรมคำนี้ก็มีแจ้ง แต่คำแผลงว่ายุกดิ์โดยประสงค์ วิธีอย่างทางสังสกฤษฎ์คง นับจำนงในลัทธิดิการันต์ ในหมวดดิอักษรอยู่ท่อนท้าย นับเรียงรายสามสิบสองได้จัดสรร ให้นักเรียนเพียรจำที่สำคัญ ลำดับบรรจบหมวดจงตรวจตรา (จบดิการันต์) ๚ะ

๏ (ต) ต่อนี้ตอการันต์จะสรรเสริม เข้าต่อเติมติดเนื่องเรื่องกะถา ตอการันต์ท่านใช้ในวาจา ก็คือว่าศกกันต์เกษากันต์ ศกกับคำเกษาแปลว่าผม รวมประสมกันต์ว่าตัดท่านจัดสรร แต่ก่อนเก่าพูดเดาว่าโสกันต์ ที่คำนั้นเห็นจะเพี้ยนเพราะเปลี่ยนแปลง หนึ่งราชาศับท์สยามตามนุสนธิ์ คือพระทนต์เรียกว่าฟันชั้นศับท์แสง พระสุทนต์เรื่องมีท่านชี้แจง แปลแสดงว่าผู้ทรมานดี อนึ่งอนนต์คู่กับอนันต์นั่น ก็เป็นคำเดียวกันแปลคงที่ ท่านแยกเป็นสองอย่างทางวจี ประสงค์ที่เปลี่ยนผลัดสำผัศกลอน สองวจีว่าไม่มีที่สุดอยุด กุลบุตรเรียนร่ำจงจำสอน แม้รู้ได้ไวว่องถ่องสุนทร จะคิดกลอนก็เฟื่องเรืองปัญญา หนึ่งผู้รู้เวทมนต์เป็นคนหาญ พระอาจาริย์ร่ายมนต์บ่นคาถา นิมนต์พระสงฆ์เทศเจตนา จะให้ว่าด้วยอะไรไปเผดียง ตาหมอเดชเวทมนต์เป็นคนขลัง แก่ร่ายมนต์บ่นดังจนสุดเสียง ท้าวสามนต์มณฑานั่งน่าเตียง เสนาสามนต์เรียงเฝ้าทรงธรรม์ ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งในเดือนสี่ ถึงเดือนแปดบูรณมีชื่อคิมหันต์ แรมคำหนึ่งเดือนสิบสองเข้าเหมันต์ ไปจนวันเพญผคุณบุรณมี เดือนแปดแรมค่ำหนึ่งนับกำหนด ไปจนจดเดือนสิบสองเพญดิถี ชื่อวรรษานะฤดูโดยวิธี ท่านแบ่งปีสามส่วนประมวญวัน ตัวหุ่นยนต์คนชักพยักเพยิด ที่ชักเชิดสายยนต์คนขยัน เขาย่อมรู้แยบยนต์คนสำคัญ จึ่งฟาดฟันผ้าพยนต์ป่นเป็นจุณ คนรู้แก้นาฬิกาสาระพัด โปรดดำรัสตั้งที่ตำแหน่งขุน ชำนาญยามยนต์แสร้งแสดงคุณ ที่มีทุนความรู้แก้ไกกล พิมานองค์อมรินทร์เทวราช นามประกาศรู้กันทุกแห่งหน เขาเรียกว่าเวชยันต์อีกไพชยนต์ เพราะผจญพวกอสูรเทวา พอชนะก็บังเกิดพิมานทิพย์ สูงละลิบแลเลิศในเวหา อีกรถทิพยเทียมพันมหัศวา เรียกสมญาว่ารถเวชยันต์ เป็นรถทรงขององค์อำมเรศร์ เสดจประเวศศึกใหญ่ในสวรรค์ ได้ปรามปราบอสุราเหล่าอาธรรม์ พวกเทวัญมีไชยในสงคราม จึ่งตั้งชื่อเวชยันต์ราชรถ ได้เลื่อนลดชื่อมาใช้ในสยาม หนึ่งเลขยันต์นี้ก็ตรงจำนงตาม ในข้อความตัวตอต้องต่อปลาย อีกพระนามจาตุรนต์รัศมี จาตุรันต์นั้นก็มีที่ใช้หลาย บทนี้เป็นคุณนามความธิบาย คำเชื้อสายจักรพรรดิ์ขัดติยา ซึ่งเป็นใหญ่ในทวีปทั้งสี่สุด กับด้าวแดนสี่สมุทสี่ทิศา สุดเกษตรเขตรราชอาณา พระเดชาแผ่ทั่วจักรวาฬ ไพรพนมพรมพร่างน้ำค้างชุ่ม พฤกษาชาติสดชอุ่มกลิ่นหอมหวาน เขาเรียกป่าหิมวันต์แลหิมพานต์ คือสฐานมีน้ำค้างไม่สร่างกาย เกษมสันต์นั้นหนึ่งว่าเกษมสานต์ สองสฐานใช้ได้ดังใจหมาย เกษมแน่แปลว่าสิ้นอันตราย สันตะว่าเคลื่อนคลายรงับไป ฤดูสี่น่าฝนเรียกวัศสันต์ โทษมหันต์นั้นแปลว่าโทษใหญ่ พระอรหันต์สิ้นเขตรกิเลศไภย นิราศไร้มลทินสิ้นบาปบุญ ยี่สิบเก้าเค้าคดีมีอยู่หลาย ล้วนคำท้ายตัวตอเข้าต่อหนุน ทุกข้อคำอุส่าห์จำไว้เป็นทุน ได้อุดหนุนปัญญาปรีชาเชาวน์ (จบตอการันต์) ๚ะ

๏ (ถ) ในพวกถอการันต์สรรลิกขิต จงวินิจแบบละบองเป็นของเก่า เหมือนติดถะท่าน้ำในสำเนา คำไทยเราบทบาทว่าดาษเดียรถ์ หนึ่งสมัดถ์สามัดถ์อีกสามาดถ์ จงฉลาดรู้ในการจะอ่านเขียน บรมัดถ์พระคำภีร์ที่เล่าเรียน ต้องมีเพียรตั้งหน้าพยายาม พระคำภีร์มีชื่อว่าสาราดถ์ เป็นที่คาดแปลไล่ในสนาม แปลได้ถึงที่นี่คงมีนาม บาเรียญงามเก้าประโยคโลกย์นิยม หนึ่งคำว่าพระหัดถ์คู่พระบาท เห็นเขียนคลาศเคลื่อนที่ก็มีถม กวักพระหัดถ์ตรัสเรียกว่าเจ้ากรม พระตำหรวจให้ระดมกันดูงาน คำพระหัดถ์คนไทยใช้เช่นนี้ จำเภาะที่ราชาศับท์สฐาน อนึ่งว่าคฤหัดถ์ได้จัดการ คือชาวบ้านหว่านเครือเจือระคน เผยพระโอษฐเอื้อนอัดถ์ตรัสประภาศ เสนามาตยแจ้งอัดถ์ไม่ขัดสน ทูลเสนอสนองบาทยุคล ตามยุบลศุภอัดถ์ได้ชัดความ กระแสสุนทรอัดถ์ที่คัดไว้ ยังจำได้โดยประจักษ์ไม่พักถาม ทั้งอัดถ์แปลแท้รู้อย่าวู่วาม อย่าลวนลามลบหลู่ครูอาจาริย์ สิบสองคำจำไว้อย่าให้คลาศ ที่กำหนดบทบาทเช่นบรรหาร ล้วนพวกถอการันต์หมั่นพิจารณ์ จะเขียนอ่านอย่าให้พลั้งระวังดู (จบถอการันต์) ๚ะ

๏ (ท) ต่อนี้หมวดทอท่านบรรหารเหตุ จงสังเกตรอระคนปนกันอยู่ ทะทะระเยื้องแยบตามแบบครู ท่านผู้รู้แปลอ้างเป็นอย่างเดียว คำที่ตัวทอล้วนส่วนมคธ ทอรอบทสังสกฤษฏ์จงคิดเฉลียว มิได้แยกอย่างนิยมใช้กลมเกลียว เพราะว่าเป็นความเดียวทั้งอัดถ์แปล อัฒจันท์บันไดใช้กันมาก ในวิภาคไวพจน์มีบทแก้ ทั้งธิบายมีอยู่จงดูแล ที่นี่แปลกแยกแต่ว่าเป็นการันต์ คำบาฬีมีเช่นเห็นสนิท ท่านใช้ว่าเอกะจิตรเอกะฉันท์ การร่วมจิตรปรองดองอย่างเดียวกัน โดยสำคัญร่วมคิดสามัคคี อีกคำหนึ่งนั้นว่ากามะฉันท์ นิวรณ์กั้นการบุญญะราษี คือปราดถนากามะคุณมุ่นราคี ละโลกีย์ถึงวิมุดติจึ่งหลุดไป วุดโตไทยในบาฬีคำภีร์ฉันท์ บอกสำคัญแจกประเภทพิเศศใหญ่ ท่านเลือกคัดดัดแปลงแต่งเป็นไทย ก็เรียกใช้ว่าคำฉันท์ประพันธ์กลอน คำฉันท์แปลความไว้ตามศับท์ ของสำหรับปิดโทศทางอักษร กับเป็นที่พึ่งใจอาไลยอาวรณ์ ทำนุกนิ์กลอนชวนอ่านสำราญรมย์ พระอานนท์พระนนท์นามเถระ ใช้ในพระบาฬีนั้นมีถม ในกระแสแปลชื่อว่าชื่นชม ตามนิยมเหตุการบันดาลเป็น หนึ่งหลวงเสนานนท์ตำแหน่งยศ ถึงซื่อคดก็มิให้ผู้ใดเห็น เจ้าเมืองนนท์คนที่ออกนอกประเด็น แก่ป่วยเป็นโรคชรามาช้านาน อันเมืองนนท์บุรีที่ฉันว่า เป็นเมือง/*ขึ้นกรมท่าได้ว่าขาน ตำแหน่งเก่าสืบเค้าแต่บุราณ นามขนานว่าเมืองนนท์มหาดไทย จำพวกทอการันต์ปันเป็นส่วน สิ้นจำนวนคำคิดวินิจฉัย จะแจกพวกทอรอนั้นต่อไป จงใส่ใจจำแยบแบบยุบล เหมือนวันจันทรดวงจันทรจันทร์คราธ ประชาราษฎร์รู้ทั่วทุกแห่งหน รอบดวงจันทร์เรียกว่าจันทร์มณฑล นฤมลผิวเปล่งดังเพ็ญจันทร์ สมเด็จเจ้าธรณินทร์ปิ่นพิภพ ทรงปรารภอยู่ด้วยพวกพลขันธ์ ตรัสสั่งหลวงธรเณนทร์ให้เกณฑ์พลัน ข้างขวานั้นน่าที่หลวงเทเพนทร์ องค์พระภูบดินทร์นรินทร์ราช ตรัสประกาศพวกกองกรมดั้งเขน ให้แยกยกตกกระทรวงหลวงอเรนทร์ แล้วให้เกณฑ์หลวงนรินทร์สิ้นทั้งกรม เรือกลไฟได้นามตามลิกขิต ชื่อเสนินทร์ประดิฐดูงามสม ท่านเสนาธิบดินทร์วโรดม ได้สร้างสมในสยามนามขจร อนึ่งนามช้างต้นมงคลคช หัศดินทร์ปรากฎแต่เก่าก่อน แปลว่าช้างเป็นใหญ่ในนิกร เช่นกุญชรมงคลหัศดินทร์ นฤเบนทร์ภูเบนทร์ทั้งสองศับท์ นามสำหรับเจ้าหล้าหมดทั้งสิ้น ว่ารักษาไพร่ฟ้าทั้งแดนดิน ควรถวิลนามกระษัตริย์ขัดติยา ในกระทรวงหลวงภูเบนทร์สิงหนาท อเรนทร์ชาติสังหารทั้งซ้ายขวา ชื่อขุนนางวางเช่นเป็นตำรา ในตำแหน่งศักดินาสนมกลาง พระภูมินทร์ว่าเป็นใหญ่ในพื้นภพ ตลอดจบเขตรขันธ์อันกว้างขวาง สวามินทรเจ้าใหญ่คำไว้วาง เป็นกลางๆไม่จำเภาะพระองค์ใด สยามินทรแปลว่าเจ้าของชาวสยาม เป็นพระนามโดยคำเภาะเขตรวิไสย ปรเมนทร์ปรมินทร์แปลเป็นไทย ว่าเจ้าใหญ่อย่างยิ่งอย่ากริ่งความ องค์อรรคชาเยนทร์ยกเป็นชื่อ มเหษีที่นับถือในสยาม ยังศับท์สุริเยนทร์ยกเป็นนาม เจ้าพิภพพงษ์รามตามนุกรม สุริเยนทร์กับสุรินทร์ได้ยินว่า เป็นวาจาเดียวกันนั้นก็สม ด้วยนับนามที่อ้างอย่างอุดม แห่งบรมนรินทร์ปิ่นประชา สุรินทร์ศับท์กับสุเรนทร์คู่นี้เล่า ก็เป็นเค้าเดียวกันเช่นฉันว่า ยังนรินทร์นเรนทร์ราชสมญา เป็นวาจาคู่ๆรู้ไว้ดี อำมรินทร์อำมเรนทร์นั้นคู่สาม นับเป็นนามเทวราชท้าวโกสีย์ อำมรินทร์วินิจฉัยคำใช้มี อีกวาทีกรมหมื่นอำมเรนทร์ สมเด็จพระอำมรินทรามาตย โปรดประทานโอกาศแก่นายเสน ขุนอำมรินทร์รักษาไม่กล้าเกณฑ์ หลวงสุเรนทร์วิชิตรู้กิจการ พระพรหมสุรินทร์ยินเรื่องให้เคืองขัด หลวงสุรินทร์สมบัติได้ว่าขาน ฝ่ายท่านหลวงชาติสุรินทร์หมิ่นประมาณ คิดร้าวรานพระนรินทร์ราชเสนี พระพิเรนทร์เทพยที่ใหญ่ขวา ปลัดจ่านายเวรเกณฑ์ตามที่ ทั้งพระราชวรินทร์ถิ่นยศมี สฐานที่นอกซ้ายไม่ร้ายแรง หลวงสุรินทร์เดชะชนะศึก ด้วยคิดฦกห้าวหาญชาญคำแหง พระพรหมสุรินทร์นี้ไม่มีแคลง ที่ตำแหน่งพระตำหรวจบวรวัง นายนรินทร์ธิเบศร์วิเศศศักดิ์ นามตระหนักหุ้มแพรตำแหน่งตั้ง พระอารามอำมรินทร์ใกล้ถิ่นวัง แต่คราวครั้งกรุงต้นธนบุรี พระนามองค์พระมุนินทร์ปิ่นนักปราช ตรัสสิ่งใดแล้วไม่คลาศทุกถิ่นที่ พระองค์ได้ไชยชนะมารกระลี ชิเนนทร์มีอีกพระนามสอความชัด วัชรินทร์นั้นเป็นนามท้าวโกสีย์ แปลว่าเป็นอธิบดีเพราะพระหัดถ์ เธอทรงดวงแก้ววิเชียรเพชร์รัตน ไว้สำหรับกำจัดริปูไภย พิภพตั้งยังยอดศีขรินทร์ คือที่ถิ่นยอดเขาพระเมรุใหญ่ มีนามชัดว่าสุทัศนะไพ ศาลวิไสยแสนสนุกนิ์กว่าทุกเวียง อนึ่งช้างอย่างดีซึ่งมียศ ก็เรียกคชกรินทร์เป็นชื่อเสียง คเชนทร์รัตน์นี้ก็จัดเป็นนามเรียง อีกนาเคนทร์คู่เคียงกับนาคินทร์ ทั้งสองคำแปลว่าพระยาช้าง เป็นชื่ออ้างแห่งพระยาอุรคสิ้น เป็นสองเยื้องสองแยบแบบระบิล อุรคินทรคำเปรียบเทียบให้ดู หนึ่งสักกะอินทะทั้งสองศับท์ ชักกำกับเรียกรวบกันทั้งคู่ ท้าวสักรินทร์โดยตำหรับฉบับครู ที่ท่านรู้แบบบทมคธบรรณ เทวินทร์ว่าพระอินทร์เป็นใหญ่กว่า เทวดาสิ้นทั้งสองสรวงสวรรค์ อำมรินทร์เช่นพิปรายก็คล้ายกัน ได้สำคัญควรคิดวินิจความ โกสีย์กับอินทะสระรอบ เป็นคำควบเขียนใช้ในสยาม ดังกรุงรัตน์โกสินทร์เสนอนาม สมญาตามองค์พระปฏิมา คำมหินตัดสินสองสฐาน คือทท่านธเธอการันต์น่า แต่ตัวรคงรองสองวาจา มหินทรายุทธยาราชธานี มหินทระทท่านบรรหารไข แปลว่าเจ้าผู้เป็นใหญ่ในถิ่นที่ อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นใหญ่ในปัถพี สองวาทีลงเค้าสำเนากัน ตัวธอเธอการันต์บรรหารเหตุ คือพระองค์อิศเรศร์ดำรงถวัลย์ ทรงแผ่นดินโดยทศพิธธรรม์ ความเดียวกันกับคำมหิธร คำตัดสินเช่นมหินธรศักดิ์ มีประจักษ์ชักมาอุทาหรณ์ พวกทรการันต์สรรเป็นกลอน พอชี้อย่างทางสอนนักเรียนเพียร ยังคำอื่นมีดื่นอยู่โดยมาก จะวิภาคเนิ่นช้าก็พาเหียร แบบที่ในคำมคธบทสำเนียง ท่านแปลงเปลี่ยนก็พอรู้กระทู้ความ (จบทรการันต์)

๏ (ธ) ตัวธอเธอการันต์สรรลิกขิต คำวิจิตรแจกใช้ในสยาม รักจะรู้ต้องอุส่าห์พยายาม กำหนดตามตัวที่แจกแยกการันต์ พระสกนธ์ต้นเหตุสังเกตเถิด คำนี้เกิดแต่มคธบทว่าขันธ์ โดยวิธีแผลงคำเช่นรำพรรณ ขันธะนั้นแผลงมาว่าสกนธ์ โวหารไทยใช้ว่าตัวอย่ามัวคิด ข้อลิกขิตใช้แพร่งทุกแห่งหน เบญจขันธ์คำมคธบทยุบล คือกองรูปเรียงไปจนกองวิญญาณ สำเนียงพวกพลขันธ์สนั่นจ้า นี่แปลว่ากองพลที่ห้าวหาญ พระสุคนธ์กลิ่นหอมย่อมตระการ เสาวคนธ์นามขนานว่ากลิ่นดี พระราชนิพนธ์ยุบลชัด ว่ากระษัตริย์ทรงกลอนอักษรศรี คำเรียกราชสัมพันธ์นั้นก็มี คือผู้ที่ติดเผ่าท้าวพระยา คำประพันธ์ผูกฉันท์แลกลอนบท ในมคธท่านว่าผูกเป็นคาถา เหมือนหนึ่งบทพจน์ประพันธ์สรรวาจา ก็คือว่าผูกคำประจำความ อวิชชาเรียกว่าเป็นโมหันธ์ เพราะมืดกั้นปิดบังปัญญาสาม มืดด้วยการหลงใหลในภพกาม จึ่งได้นามโมหันธ์อันธการ หนึ่งธิธุการันต์สรรลิกขิต คือประสิทธิศักดิ์สัทธิ์คำขนาน พระฤๅษีสมมิทธิฤทธิโอฬาร นับแต่กาลปฏิสนธิประดนเดือน ปีที่สิบหยิบยกศกสัมฤทธิ์ ที่ต่อติดอนุสนธิยุบลเหมือน ต้นก็คล้ายปลายสนิทไม่บิดเบือน ดูดวงเดือนบริสุทธิ์ยุดพโยม นบพระสาสดาจาริยญาณวิสุทธิ์ ลุวิมุติแจ่มแจ้งดังแสงโสรม มหาสิทธิ์คิดจะอนุโลม ด้วยเสื่อมคลายหายโทมนัศใจ คำเหล่านี้ต้องที่การันต์ธิ จงตรองตริคำที่แจ้งแสดงไข ทั้งแยบคายควรสังเกตที่เลศไนย คงจะได้โปร่งเปรื่องเรืองปัญญา จำพวกธุการันต์สรรวิภาค ที่ใช้มากในสยามะภาษา คือเผ่าพันธุ์พงษ์พันธุ์ญาติกา ฝ่ายบิดรมารดาสองตระกูล หนึ่งพินธุ์โทพินธุ์เอกเอนกนับ โดยตำหรับเรียนไว้อย่าให้สูญ ยกเอาสามสินธุ์เสริมมาเพิ่มพูน ตามเค้ามูลการันต์ประพันธ์พจน์ ชลสินธุ์กับอีกว่าชลาสินธุ์ แบบระบิลถ้อยคำควรกำหนด กระแสสินธุ์เปี่ยมฝั่งยังไม่ลด ปลาก็ไล่ฮุบมดจนหมดรัง พระพิไชยชลสินธุ์ได้ยินตอบ ให้ชื่นชอบในอารมณ์ด้วยสมหวัง ตัวธอเธอการันต์สรรวาจัง พอประทังความเขลาให้เบาบาง (จบธอเธอการันต์) ๚ะ

๏ (น) ตัวนอนิลเติมท้ายมีหลายศับท์ ตามฉบับบาฬีเป็นที่อ้าง เช่นคำว่าไตรยรัตน์ท่านจัดวาง แหวนของนางล้วนแล้วแก้วแกมกาญจน์ บรรพตใหญ่ได้นามเขาสุทัศน์ หนึ่งชื่อวัดเล่าก็มีที่ขนาน พระพุทธรูปใหญ่เห็นเป็นประธาน ในวิหารสูงเงื้อมสง่าเมือง ราษฎรเดิมเรียกวัดพระโต ตามที่โวหารเหตุคำฦๅเลื่อง ด้วยเห็นพระโตกว่าพระสิ้นทั้งเมือง ทั้งรุ่งเรืองงามนักหลักนคร พระราชทานทรงขนานนามเปลี่ยนผลัด ว่าอารามวัดสุทัศน์แปลอักษร ว่าใครดูใครก็เห็นงามบวร ลงท้ายกลอนเทพวราราม หนึ่งสิ่งใดควรใช้เป็นตัวอย่าง ท่านมักอ้างมีในกลอนอักษรสยาม คำข้อนี้เป็นนิทัศน์ก็ชัดความ นี้คำไทยใช้ตามบทบาฬี แก่นจันทน์สรรใช้เป็นไม้หอม ของที่ปลอมจันทน์แดงแดงแต่สี ยาทุกวันลักกระจันใช้ก็มี ผิดคำภีร์ โอสถรศจึ่งคลาย ตำราวันบาปเคราะห์จำเภาะเปลี่ยน วนๆเวียนโดยตำหรับโหรทั้งหลาย วันอุบาศน์บอกประจักษ์เขาทักทาย การันต์ท้ายต้องที่มีตัวนอ เพชร์รัตน์เนาวรัตน์นพรัตน์ ทั้งสามชัดนอนิลการันต์ส่อ พระผู้พงษ์กมลาศน์ฉลาดพอ เพราะติดต่อแต่บรมพรหมพงษ์ พระราชวังตั้งนามไว้ตามเหตุ ว่าพระราชนิเวศน์เขตรประสงค์ ที่สถิตย์แห่งพระอิศรวงษ์ ผู้ดำรงราชฤทธิ์มหิศรา พระอารามนามบรมนิวาศน์ มิได้คลาศโดยมคธภาษา วัดบวรนิเวศน์เหตุสมญา สองวาจาควรใช้ใส่การันต์ พระที่นั่งสิงหาศน์สอาดเอี่ยม ทองคำเลี่ยมล้วนอร่ามงามขยัน พระที่นั่งบัลลังก์อาศน์สุวรรณ ราชอาศน์แพรพรรณพิจิตรลาย นำนักนิ์สำนักนิ์อีกสนุกนิ์ โดยทำนุกนิ์เบาราณบรรหารขยาย เห็นเขียนใช้ใส่นิเข้าเติมปลาย อธิบายก็ไม่ออกบอกตรงๆ เพี้ยนพจน์พากย์พจน์กับไวพจน์ ทั้งสามคำกำหนดแน่ประสงค์ มีตัวนอท้ายคำประจำคง ไม่ควรงงเงื่อนเค้าข้างเดาโดน หนึ่งคนเขลาเชาวน์มึนไม่สู้แล่น ถึงจำแม่นเชิงฉลาดไม่ผาดโผน ผู้ปรีชาเชาวน์ไวดังไฟโชน ถึงกระนั้นก็ยังโดนด้วยพลาดพลำ พวกนักเรียนเขียนเขาคันธมาทน์ มักประมาทเสียว่าไม่สุขุมขำ เขียนไม่ถูกถ้วนทั่วตัวประจำ จะลงคลำหาเค้าสิเปล่าดาย พวกนอนิล การันต์สรรลิกขิต อย่างวิจิตรมีมากหลากๆหลาย พวกนักเรียนเพียรจำคำบรรยาย จะสบายเบาใจไววิจารณ์ จบนอการันต์) ๚ะ

๏ (บป) ลำดับนี้จัดวิธีทางขยาย พวกบปเติมท้ายคำขนาน คือบัวบุษบ์ประทุมาผกาบาน วิธีไทยใช้มานานสารสุนทร คำบุบผะแปลว่าดอกบอกให้รู้ คำนี้ครูท่านแสดงแผลงอักษร เช่นบุบผาแผลงบุษบากร เอามาใช้ในกลอนบัวบุษบ์มี แปลกันว่าดอกประทุมกุสุมชาติ เทียรฆราษรวมลักษณ์อักษรศรี เป็นยาวสั้นสรรใช้ในวะจี บำรุงปรีชาเด็กเล็กๆเรียน คำตัวปอต่อเพิ่มเสริมไว้ท้าย ไม่สู้มีมากหลายลิกขิตเขียน พระทรงศิลป์แผลงศรกำธรเตียน ธนูศิลป์เขาได้เรียนรู้ชำนาญ อายุเทพย์ทั้งปวงในสรวงสวรรค์ นับด้วยโกฏิกัลปกัลป์ทุกชั้นสฐาน อภิรมย์สมบัติชัชวาลย์ เนาพิมานมีแต่ศุขทุกทิวา (จบบปการันต์) ๚ะ

๏ (พ) ตัวพอพิณเพิ่มพจน์บทแถลง จะแจกแจงโดยลำดับฉบับว่า อันทิศบูรพ์นี้คือทิศบุรพา แต่เบื้องบรรพ์นั้นว่าข้างก่อนกาล ฉบับบรรพ์แปลว่าแบบฉบับก่อน ทุกสิ่งสรรพ์คำสอนล้วนแก่นสาร หนังสือพิมพ์มีมาก็ช้านาน กรมอักษรพิมพการชำนาญเรียง หนึ่งสบสรรพ์คำนี้ก็มีใช้ ขอมกับไทยปนพ้องเป็นสองเสียง แปลว่าพบทุกสิ่งพอเทียบเคียง ว่าให้ตรงกับสำเนียงก็ยากครัน ตัวพพิณสิ้นถ้วนคำนวนนับ มีอยู่เพียงห้าศับท์เช่นจัดสรร แจกหมดเท่านี้หนอพอการันต์ ได้สำคัญควรคิดพินิจตาม (จบพการันต์) ๚ะ

๏ (ภ) ภภรรยาเติมท้ายขยายแยก จะจำแนกคำใช้ในสยาม ราษีกุมภ์ข้างต้นเห็นฝนงาม ข้างปลายทรามเสื่อมแล้งดินแห้งไป ตำแหน่งข้าราชการนั้นมีถม จตุสดมภ์ทั้งสี่เป็นที่ใหญ่ คือเวียงวังคลังนาตำราไทย เวียงนี้ใช้คือกรมนครบาล เจ้าพระยาธรรมาตำแหน่งตั้ง ตำแหน่งคลังกรมท่าได้ว่าขาน กรมนาเจ้าพระยาพนักงาน พลเทพเป็นประธานธิบดี พนสดมภ์แปลนิยมอย่างแบบเก่า ว่าป่าเสาเล็กใหญ่ในไพรศรี อีกใช้คำอุปถัมภ์ในวาที ก็ต้องมีเติมต่อตัวภอปลาย สยามูปะสดัมภ์ชื่อกำปั่น ต้องมีภอการันต์สำคัญหมาย แปลว่าค้ำชูไทยไนยธิบาย อีกโกสุมภ์สุดท้ายว่าดอกคำ อีกอย่างหนึ่งกุสุมะเป็นโกสุม ก็มีชุมใช้มากแต่หลากสำ เนียงไม่มีเติมต่อภประจำ แปลในคำนี้ว่าดอกมะลิลา ชักให้เห็นพอเป็นที่เปลี่ยนแปลก ท่านใช้แยกอย่างมคธะภาษา ตัวอักษรส่อความตามวาจา ท่านผู้มีปรีชาควรไตรตรอง (จบภอการันต์)

๏ (ม) คำตัวมอต่อเสริมเติมข้างท้าย เหมือนเจ้านายสิ้นพระชนม์ยุบลสนอง พระทรงธรรม์ทรงยุติธรรมครอง พระไทยปองศุขสวัสดิ์โดยสัตย์ธรรม์ นายอำเภอเผลอเงื่อนทำเกลื่อนกลบ สาระบบสารกรมธรรม์นั่น เหมือนกับให้โอกาศตัวทาษมัน ได้สำคัญเรื่องรู้ต่อสู้นาย คนที่ใจอาธรรม์มักหันเห มักทุ่มเทไปข้างทางลำเอียงหลาย อสรพิศม์ขบตอดไม่รอดตาย เป็นไข้พิศม์แก้ไม่คลายก็วายชนม์ ยาพิศม์ของพิศม์สำแลงเล่า เขียนก็คงลงเค้าทุกแห่งหน แผลเป็นไข้ทรพิศม์ติดสกนธ์ เจริญชนม์ทฤฆายุศม์ยืนยาว จำพวกมการันต์ปันประเภท ตามสังเกตคำใช้ได้สืบสาว แม้นจำแม่นคงให้คุณตามรุ่นคราว มิได้แสร้งแกล้งกล่าวคำล่อลวง (จบมการันต์)

๏ (ย) ยินยลการันต์จัดสรรพจน์ โดยกำหนดหกสิบทัศไม่ลัดล่วง อาจาริย์สอนกลอนกาพย์สิ้นทั้งปวง ทุกกระทรวงเจนจัดเป็นอัศจรรย์ พระเจดีย์ที่บรรจุบรมธาตุ เทวราชสิงสถิตย์ทุกเขตรขัณฑ์ ทั้งหมู่เทพย์บูชาไม่ราวัน มหัศจรรย์ของทิพย์เทพย์บูชา อาทิตย์แทตย์อีกพระยามหาเทพย์ อินทรีย์เสพย์เนืองนิตย์สนิทหน้า หัวพันเทพย์ราชราชโยธา เทพย์เจ้ากรมๆขาทหารใน ภาชนีย์บาฬีแปลว่าแจก วันทนีย์คำแปลกแปลว่าไหว้ นิศสัคคีย์กองอาบัติท่านจัดไว้ มนุษย์ใช้ษอบอยอประจำ เดือนบุษย์นั้นใช้ว่าเดือนยี่ จาบัลย์ว่าโศกีไห้ครวญคร่ำ แหวนพลอยบุษย์เรือนรองล้วนทองคำ ตำราแพทย์นี่ใครทำให้ลบเลือน ไพรบูลย์แปลว่าเต็มโดยพิเศศ อีกพิบูลย์จงสังเกตแปลก็เหมือน คนชาติแพสย์นี่เป็นคนพลเรือน ที่กลุ้มเกลื่อนทำนาแลค้ากิน เสาวภาคย์พจน์พากย์อีกพระภาคย์ เห็นใช้มากมักจะมีทุกที่ถิ่น เห็นน่าดูหมู่อำมาตย์นารถนรินทร์ โยธามาตย์ดังจะบินพโยมบน เยาวมาลย์ดวงมาลย์ตาลวิมุติ เป็นบุรษย์ปราโมทย์ประโยชน์ผล อภิรมย์รื่นรศเสาวคนธ์ สำราญรมย์เพราะได้ดลบุรีรมย์ อำมฤตย์นฤพานประหานทุกข์ บันลุศุขบริสุทธิวิมุติสม สัตว์ในโลกย์เหมือนเป็นโรคงอมระงม ถึงกระนั้นก็ไม่นียมศุขนิพพาน ท้าวโกสีย์มีเทพอาวุธ พระขรรค์เพชรฤทธิรุดม์สำหรับประหาร รังษีเพชรแจ่มจำหรัสชัชวาลย์ พวกอะสูระหมู่มารปะราไชย์ กรุงกระษัตริย์ถวัลย์รัชมไหสูรย์ เรืองจรูญเฉกแสงสุริยะใส วรวากย์วาทีมีเลศไนย์ ที่นั่งไอสวรรย์อาศน์ลออตา บังแทรกบังสูรย์อีกแสงสูงย์ แก้วไพรฑูริย์ส่องแสงจรัสกล้า คนที่มั่งมีทรัพย์นับภารา ทั้งสินทรัพย์เงินตราอเนกนอง อาจาริย์สอนทางชอบประกอบกิจ ผู้เป็นศิศย์ควรทดแทนสนอง ตามวิไสยบัณฑิตย์คิดปกครอง โดยทำนองซื่อสัตย์ถือสัตย์ธรรม์ ไพร่ผู้ดีมีทุกข์ด้วยกันหมด อดูลย์ยศยามวิโยคก็โศกศัลย์ ใจอาสัตย์มักสลัดสัตย์เสียพลัน คำสัตย์มั่นช่วยตนพ้นไภยพาล คำหาโจทย์ๆฟ้องต้องพิพาทย์ เกิดวิวาทกันขึ้นในโรงศาล พวกนักเลงพิณพาทย์ฉลาดการ แบ่งกันเที่ยวรับงานเหมาลคร จำพวกนี้มีมากวิภาคพจน์ ล้วนเป็นบทยอการันต์สรรอักษร ว่าย่อๆพอกำหนดในบทกลอน สิ้นนิกรยอเพิ่มเติมประดน (จบยการันต์) ๚ะ

๏ (ร) ถัดนี้ไปตัวรอเข้าต่อบท จงจำจดโดยพิจารณ์ศารนุสนธิ์ คือวันเสาร์ห้าค่ำทำมงคล สร้างหนังสือสวดมนต์สองคำภีร์ นิ้วมือสวมแหวนเพชร์เพชร์รัตน์ งามจรัสรุ่งเรืองเจริญศรี เทเวศร์องค์นเรศร์นฤบดี อีกวาทีขุนธรรมลังการ์ อิศเรศร์รังสรรค์ยัญญสูตร คำนี้พูดตามมคธภาษา พระวิสูตร์วารีมีสมญา วิสูตร์ว่าม่านกั้นสุวรรณวาม สายสิญจนสูตรพระสงฆ์จับ อีกพระสูตรเนื่องนับปิฎกสาม ธรรมสาตรไว้สำหรับระงับความ โหราสาตร์มีนามว่าสารัมภ์ ไสยะสาตรๆนี้คำภีร์เภท สี่เสวตร์นั้นท่านกล่าวว่าขาวขำ ประจามิตร์มีแต่คิดจะก่อกรรม หมู่อมิตรมักจะทำให้อันตราย ธรรมเนียมคนรอบคอบระบอบกิจ รักษาไมตรีจิตรมิตรสหาย บัวไม่ช้ำน้ำไม่ฉานราญระคาย จับแต่ปลากินสบายจนเบื่อกิน วรจักร์กับอีกว่าอาณาจักร์ ผู้พิทักษ์เขตรมีทุกที่ถิ่น อัฒจักร์แบ่งกึ่งครึ่งแผ่นดิน เขตรของกวินจบสุดสิงคโปร์ เลขนำเบอร์นี่คือบอกว่าเลขหมาย อฟิเซอร์ตัวนายมีหลายโหล ลการันต์มีใช้แต่ไมล์โมล์ นี่เป็นโวหารนอกบอกคดี (จบรลการันต์) ๚ะ

๏ (ว) จำนวนคำตัววอมีต่อท้าย อุบาทว์ร้ายบอกฤกษในราษี ต้องริบราชรบาทว์ทับทวี ของรบาทว์ก็ยังมีเอาจ่ายการ ทรงพระเยาว์ย่อมเยาว์เค้าลิขิต จัตุบาทสัตว์ชนิดเดียรัจฉาน เกลือสินเธาว์มาแต่เหนือเกลือบุราณ ม้าข้างจีนนามขนานม้าเซ็กเธาว์ เวรนายควรรู้อัศว์ได้จัดม้า ไม่เนินช้าแกว่นกลเป็นคนเก่า ดำรัศสะแผลงฦกซึ้งไม่เบา ในแบบเก่าแผลงเป็นหรัศว์มี คำตัววอเติมท้ายขยายแยก อย่างจำแนกแบบเหมือนไม่เคลื่อนที่ อุส่าห์จำสำเนาเค้าวาที คงจะปรีชาชัดชินชำนาญ (จบวการันต์) ๚ะ

๏ (ส) อันตัวสสิิ้นทั้งสามว่าตามเหตุ ได้สังเกตแบบลิกขิตโดยวิดถาร ที่ใช้เป็นการันต์สรรพิจารณ์ เห็นสาธารณ์ใช้มากแต่ษอบอ เหมือนประจักษ์แผลงบทว่าปรตยักษ์ อีกพิทักษ์ปรปักษ์ว่าย่อๆ กับปักษ์ขึ้นปักษ์แรมแถมเข้าพอ เป็นคำส่อตัวท้ายฝ่ายการันต์ ข้างขึ้นใช้ชุษณะกับศุกระปักษ์ ข้างแรมยักเป็นกฤษณะนั่น กับอีกว่ากาฬปักษ์เพราะพระจันทร์ ข้างแรมนั้นดำทั่วมัวอัมพร ไพรพฤกษ์พฤกษาพระยายักษ์ บริรักษ์อยู่ที่ริมยอดศิงขร จะเฝ้าเทพารักษ์จงรีบจร สุรารักษ์องค์อมรมหิทธิฤทธิ์ ศิวะโมกษ์ข้ามโอฆสงสาร ปาโมกษ์ว่าเป็นประธานแก่หมู่ศิศย์ จันทร์คาธอากาศดูมืดมิด จับข้างทิศเฉียงเหนือเจืออุดร ไปถึงโมกษ์บริสุทธ์หลุดข้างใต้ เหล่านี้ใช้ษอบอเติมอักษร หนึ่งวงษ์พงษ์ที่จำนงในบทกลอน อุทาหรณ์เห็นชัดอัดถ์พิปราย ตระกูลวงษ์พงษ์ศักดิ์ที่สูงสุด โดยสมมุติมีมากหลากหลากหลาย รามะวงษ์อ้างองค์พระนารายน์ สืบเชื้อสายสมมุติวิสุทธิวงษ์ วงษ์กระษัตริย์ชักมาข้างอาทิตย์ คำลิขิตส่อความตามประสงค์ ระวิวงษ์กับอีกว่าภาณุวงษ์ ใช้อาทิตยตรงๆนั้นก็มี สุริยะสุระก็มีมาก ข้างต้นหลากปลายว่าวงษ์อยู่คงที่ อักษรท้ายษอบอต่อทวี ทุกวาทิวงษ์พงษ์คงประจำ หนึ่งไตรยางษ์ทางแจกแยกอักษร เป็นสามบ่อนสามส่วนก็ควรสำ เหนียกให้เป็นส่วนลงจงแม่นยำ จัดตามคำเสียงสูงแลต่ำกลาง อานิสงษ์ปราสงษ์พระยาหงษ์ โดยจำนงในพิเคราะห์ได้เสาะสาง กับหื่นหรรษ์คำใช้ท่านไว้วาง ล้วนเป็นทางถิ่นษอบอการันต์ (จบการันต์) ๚ะ

๏ (ห) พวกตัวหต่อท้ายมีหลายศับท์ ประมาณนับยี่สิบเจ็ดท่านจัดสรร คือสับดาห์แปลว่าในเจ็ดวัน อุส่าห์หมั่นทำงานการก็เปลือง พลพาห์ว่าพลเป็นพาหนะ อนึ่งพระลัญจกรถุงต่วนเหลือง ชื่อพระตราครุธพาห์ค่าคู่เมือง นามนารายน์ฤทธิเรืองเป็นนามตรา ท่านจางวางกรมราชพาชี ตำแหน่งพระยาศรีสุริยพาห์ /*ยศภิกษุพระสมุห์ใบฏีกา สมุห์บาญชีนี้ว่าประชุมคน เมาโมห์แปลเค้าว่าเมาหลง จัตุรงค์พลพยูห์ดูสับสน ทรงพระราชดำริห์พระนิพนธ์ ไปจวบจนสายัณห์ตวันรอน จงเร่งจ่ายดาบโลห์ให้โยธา เมื่อเดินมาปะมาห์มันหลอกหลอน เทวดาดาวพระเคราะห์จำเภาะจร พระภูธรอนุเคราะห์สงเคราะห์เรา บาปเคราะห์นี้จำเภาะว่าเคราะห์ร้าย อธิบายสมเคราะห์ตามแบบเก่า ว่าเคราะห์ดีศรีสวัสดิ์ชัดสำเนา นี่เลศเลาคำแปลกระแสความ ท้าววิเทห์สนเทห์ในเลห์ฦก พระทรงตฤกเห็นขัดจึ่งตรัสถาม วิเทห์นี้ชื่ออย่างอ้างพระนาม กระษัตริย์ตามเรื่องนิยายแต่ฝ่ายบรรพ์ หนึ่งพระสุณห์วาทีว่าศรีสะใภ้ ราชคฤห์เมืองใหญ่เขตรมหันต์ สลักลายน่าราหุ์ตรงน่าบัน ถูกเลขยันต์มนตร์เสนห์ต้องเรรวน ชื่อขุนนางหลวงเสนห์ศรชิต หลวงสนิทอาวุธแบบกระสวน นายเสนห์หุ้มแพรแห่กระบวน นายสนิทคู่ควรสมทบเวร อันเรือคฤห์นี่เป็นเรือกระบวนหลัง มีแท่นคฤห์ผูกดั้งทั้งโลห์เขน แห่เสด็จสมเด็จนฤเบนทร์ พลพายหมายเกณฑ์ประจำพาย คำเหล่านี้ต้องที่ในแบบบท คำมคธการันต์สำคัญหมาย เป็นจำพวกตัวหต่อเติมปลาย อธิบายบอกสำเนาเค้าวจี ฉันอุส่าห์เพียรคิดประดิดแถลง สู้แจกแจงจัดบ่อนอักษรศรี จัดเป็นหมวดตรวจถ้อยทุกวาที ด้วยจิตรมีเมดตาเป็นสาธารณ์ เห็นเด็กๆนักเรียนเพียรศึกษา เหมือนบุกป่าบุกพงน่าสงสาร ไม่พบผลูลู่ทางด้นกันดาร ต้องหนักใจใครจะปานด้วยมืดมน จึ่งคิดคัดจัดแบบแยบขยาย บรรยายติดเนื่องเรื่องนุสนธิ์ พอได้เป็นราวทางอย่างยุบล นักเรียนทุกทุกคนหมั่นดูจำ เสียแรงว่าสาราหวังไว้สั่งสอน สำเนียงกล่าวสำเนากลอนไขข้อขำ บทไม่คลาศบาทไม่เคลื่อนไม่เอื้อนอำ นิเทศทำนำทางสว่างเอย ๚ะ

๏ จบขบวนเขบ็จเบื้อง แบบบรรณ์
กลอนพิศาลการันต์ เรื่องนี้
จัดแจงแบ่งปูนปัน เป็นหมวด ไว้นา
เผยแผ่พจน์พากย์ลี้ ลับอ้างออกแถลง ๚ะ

----------------------------

๏ เริ่มพิมพ์เรื่องนี้ครบ สามครา
ไป่เสร็จสมดังปรา รภไว้
ชักร้างเริดโรยรา แรมนับ ฉนำเนอ
หกขวบแล้วบได้ ดุจตั้งใจคอย ๚ะ
๏ ข้าขุนโอวาทท้าย วรกิตย์
นับเนื่องสืบสายศิษย์ ท่านนั้น
ร้อนใจจึ่งสู้คิด หาทรัพยจ้างแฮ
กำกับกวดตรวจซั้น เสร็จได้โดยถวิล ๚ะ
๏ ท่านเพียรคิดแคะไค้ คำหลาย เลศเฮย
แจงจัดชัดบรรยาย เยี่ยงใช้
จักสูญน่าเสียดาย รศพจน์ ท่านแฮ
อุส่าห์เสียทรัพย์ให้ ค่าผู้ทำพิมพ์ ๚ะ
๏ ใครใครใคร่รอบรู้ ระเบียบบท
ในบ่อนกลอนไวพจน์ พากย์พ้อง
เชิญเฉลี่ยส่วนรชฎ มาช่วยทุนนา
น้อยมากตามแต่ต้อง กิจได้โดยประสงค์ ๚ะ

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ