ทอไวพจน์
๏ แจงจัดถัดหมวดนี้ | ทอทาน |
จักแยกแจกบรรหาร | แห่งใช้ |
สำหรับเพื่อกุมาร | ดูเล่า จำเฮย |
เป็นบทฉบังให้ | สวดคล้องจองกลอน ๚ะ |
๏ จักแถลงแปลงแปลแก้ไข คำหมวดทอไว พจน์เป็นบทกลอนฉบัง ๚ะ
ทน๏ ตั้งต้นทนทงทกทัง ทดทบทมหวัง ว่าย่นไปจนเทยทาย ๏ เรียงคำลำดับนับหมาย ตามหมวดบคลาย บคลาศในบาทบทเดิม ๏ ในแบบบกพร่องต้องเติม แทรมแทรกสอดเสริม สำเนาสนิทชิดเชิง ๏ จุงใจเด็กให้บันเทิง สำราญสำเริง เรียนเล่าในเค้าคำควร ๏ ตราตรวจหมวดนี้จำนวน ประมาณประมวญ รวมร้อยสามสิบเศศสาม ๏ ตั้งต้นอดทนคำสยาม สู้ทนพยายาม ทุกข์ยากลำบากตรากตรำ ๏ คงทนอดทนถ้อยคำ คนไทยพจนำ ทนนับอเนกคณนา ๏ ล้วนเป็นสามัญวาจา ตามแบบบัญชา ตัวนอสกดบทไทย ๏ พระทนต์ว่าฟันมีใน ราชาศับท์ไพ เราะเรียกมีตอการันต์ ๏ วงกลมเช่นดวงสุริยัน อีกดวงพระจันทร ก็จัดว่ามีมณฑล ๏ จังหวัดพิธีเวทมนต์ สายสิญจน์คงทน ก็เรียกมณฑลพิธี ๏ หนึ่งนุ่งห่มเรียบร้อยดี โวหารบาฬี ท่านเรียกบริมณฑล ๏ ลมจัดกลัดกลุ้มเวหน พัดหวนป่วนบน ก็เรียกมณฑลวาตา ๏ ชื่อพระสุทนต์มโนหรา ต้องมีตอการันต์เพิ่มแลเติมต่อปลาย ๏ ทองธนคือทรัพย์แหล่หลาย ปรักมาศนามหมาย ว่าธนทุกคนคือแสวง ๏ ขุนนางฝ่ายคลังนามแถลง ควรอ้างออกแสดง พระราชธนบริรักษ์ ๏ แปลว่าเป็นผู้พิทักษ์ ทรัพย์หลวงหน่วงหนัก ตรวจนับแลรับจ่ายคง ๚ะ
ทัน๏ ไล่ทันนี้คำไทยตรง คิดบทันหลง บทัดบเท่าเทียมทัน ๏ รู้ไขรู้แก้แปรผัน รู้เท่าทันกัน คำพูดสามัญมากมูล ๏ ยังทัณฑ์มีฑอไพฑูริย์ ท้ายพจน์เพิ่มพูล ณอใหญ่สกดทอทาน ๏ พรหมทัณฑ์ภาคทัณฑ์บรรหาร เทวทัณฑ์บันดาน ดลราชทัณฑ์พลันถึง ๏ ต้องเป็นโทษทัณฑ์ตรากตรึง ทนทุกข์ทันทึง มิตรญาติก็ขาดสุญหาย ๏ ทัณฑะว่าอาญาหมาย หนึ่งท่านธิบาย ว่าท่อนไม้ท้าวธารกร ๏ ผู้ถือยุติธรรมบั่นรอน คดีราษฎร โดยทางที่เป็นสัตย์ธรรม์ ๏ ผู้ถือทุจริตผิดผัน ลำเอียงอาธรรม์ บคิดละอายบาปบุญ ๏ เพราะใจอาธรรม์ทารุณ กอบเกื้อเจือจุน กองกรรมให้เกิดไภยเวร ๏ พวกธรรม์ธอเธอมีเกณฑ์ รคหันใช้เจน ท้ายส่อตัวมอการันต์ ๚ะ
ทาน๏ ทานบนเขียนสอบทานกัน ทานทานสามัญ ใช้มากในพากย์ไทยตรง ๏ ทำบุญให้ทานแก่สงฆ์ ทานนี้จำนง นับในมคธพจมาน ๏ อีกคำหนึ่งว่าโวทาน แปลว่าสันดาน ผ่องแผ้วพิสุทธิแจ่มใส ๏ สะโมธานนี้คำใน บาฬีท่านไข อัดถ์วาประชุมพร้อมลง ๏ คชาธารว่าช้างที่นั่งองค์ จอมกระษัตริย์ทรง ออกสู้สงครามงามครัน ๏ เอาธารโอฬารเช่นกัน แปลว่าสิ่งอัน ยิ่งล้นแลพ้นพันทวี ๏ ชลธารว่าแถกการ อีกท้องธารมี ในทรอกคิรีหลั่งไหล ๏ สาธารณ์แปลว่าทั่วไป จัณฑาลนี้ไซร้ ว่าคนชาติร้ายเลวทราม ๏ ตัวสกดกำหนดผ่อนตาม ให้ต้องโดยความ เช่นแบบที่ใช้ไว้วาง ๚ะ
ทิน๏ นายทินเป็นสามีนาง ทิมนี้คำกลาง อีกคำว่าเป็นมลทิน ๏ สองคำไทยใช้อาจิณ สกดนอนิล ตามบทฉบับสามัญ ๏ ถึงทินมคธจำนัน นอตัวเดียวกัน สกดเช่นบทคำไทย ๏ คือเรียกสุทินมีใน ตำราโหรไข ว่าปรกติวันดี ๏ ปะฎิทินใช้วาที นับวันตลอดปี ประจบทุกวันทุกวาร ๏ ทักะทินเป็นวันห้ามการ ในตำหรับขาน เรียกว่าวันตายร้ายแรง ๏ ราชะทินนะนามอย่าแคลง คือชื่อยศแปลง ซึ่งโปรดประทานสัญญา ๚ะ
ทูน๏ แบกทูนคำไทยพจนา สามัญวาจา บ่าแบกแลทูนด้วยเศียร ๏ พิดทูลกราบทูลคำสเถียร ใช้มาจำเนียร นั้นลอสกดบทเดิม ๏ คำข้าทูลลอองบาทเดิม ตัว ลอต่อเสริม สกดเช่นบทกราบทูล ๏ บังคับข้อนี้เค้ามูล บทราบสาบสูญ มีแบบที่ใช้ใช้ตาม ๏ บัณฑูรบันทูลสองความ บัณฑูรนี้นาม กำหนดสิงหะตระกูล ๏ โองการมารพระบัณฑูร สิงหนาทเพิ่มภูล ดำรัสดำรงทรงธรรม ๏ บันทูลนี้เป็นฝ่ายกัม พุชพากย์พจนำ สำหรับบวรวังสฐาน ๏ ที่สองรองพระโองการ แบบบทพจมาน ลดหย่อนผ่อนใช้ในสยาม ๏ ไพรฑูริยจำรูญเรืองงาม แก้วนี้มีนาม กำเนิดในลำเวฬู ๏ บ้างว่าแก้วนี้พิดดู ศีแสงไพรู ผิวไผ่ลม้ายคล้ายกัน ๏ มธุระมคธพจพรรณ คำกลอนกล่าวกัน ว่าเป็นมธูรมูลมี ๏ แปลว่าไพเราะเหมาะดี อ่อนหวานวาที เช่นว่าสำเนียงมาธูร ๏ ถ้ากล่าวในรศเพิ่มภูล แปลคำมาธูร ว่ารศอร่อยโอชา ๏ วิธูรนี้เป็นสมญา แห่งพระมหา พุทธางกุรก่อสมภาร ๏ ที่เก้าที่นับประมาณ ชาฎกนิทาน สิบชาติทั้งเวศสันดร ๏ คำว่าพิทูรต่อกลอน แปลอุทาหรณ์ ว่าที่แลทางห่างไกล ๏ ประมวญทูนคำขอมไทย ครบสิบคำไข คดีล้วนมีสารา ๚ะ
โทน๏ ตีโทนคู่รับรำมนา บุตรโทนเอกา ว่าบุตรคนเดียวโดดดาย ๏ หนึ่งพูดกันว่าช้างพลาย โทนเที่ยวเปลี่ยวกาย บมีเพื่อนเที่ยวถึงสอง ๏ เด็กผูกตะกรุดโทนทอง แปลโทนทำนอง ว่าสายตะกรุตดอกเดียว ๏ ว่าตวงด้วยโทณคำเฉลียว เสียงโทณจริงเจียว แต่ต่างสกดณอคุณ ๏ แปลว่าทนานนุยุญช์ ประมาณเจือจุน แก่เกณฑ์พิกัดสัดถัง ๏ พราหมณแจกพระธาตุบรมัง กุสินารายัง นั้นชื่อว่าโทณพราหมณ์ ๏ เพราะตวงพระธาตทั้งสาม ด้วยทนานทองงาม วิจิตรประดับเพชรพลอย ๚ะ
ทอน๏ บั่นรอนทอนให้เป็นรอย ซื้อของต้องคอย ทอนอัฐประจบครบครัน ๏ บทลดบททอนผ่อนผัน ทอนไทยจำนัน จะนับอเนกวาที ๏ อุทรคำในบาฬี แปลว่าท้องมี ตัวรอสกดวาจา ๏ มโหทรชื่อยักษ์เสนา นครลงกา แปลว่าท้องใหญ่ล่ำสัน ๏ เป็นความต้องอุทธรณ์กัน คำนี้ก็สรร มาแต่มคธบทเฉลิม ๏ แปลว่าถอนจากศาลเดิม มีฟ้องเพิ่มเติม กล่าวโทษอุทธรณ์ตระลาการ ๏ ศศิธรจรแจ่มคัคณานต์ จันทรชัชวาลย์ ใสส่างสว่างอัมพร ๏ มคธคำว่าอาทร รอสกดเป็นกร แปลว่าเอื้อเฟื้อเจือเจิม ๏ สาทรมีตัวสะเติม แปลดุจคำเดิม กอบด้วยเอื้อเฟื้อฟูมฟาย ๏ อนาทรไทยใช้หลาย แต่เห็นความกลาย กลับจากมคธเค้ามูล ๏ อะนะปฏิเสธสิ้นสูญ หมดความนุกูล ไม่เอื้อไม่เฟื้อต่อกัน ๏ ความไทยใช้พูดบิดผัน เช่นคำจำนัน บำรุงบให้อนาทร ๏ มีมากตัวอุทาหรณ์ หมู่กะวีวร วินิจจงคิดตรวจดู ๏ สาธรสาธุแส้หู แปลว่าดีครู ท่านแปลงเอาอุเป็นรอ ๏ คะทาธรนี้เพียงพอ ทราบเค้าเหล่ากอ แปลว่าผู้ทรงตะบอง ๏ มหิธรภูธรทั้งสอง คำนี้โดยคลอง แปลว่าผู้ทรงแผ่นดิน ๏ วิชาธรนี้คำยิน พูดกันอาจิณ ว่าฆ่าปรอทวอดวาย ๏ แลว่าเป็นเพชรทั้งกาย จริงฤๅเท็จกลาย จงอยู่แก่ผู้เจรจา ๏ คำแปลว่าทรงวิชา สะกะฏะภาษา นั้นว่าพวกเพทยาธร ๚ะ
เทียน๏ ทูปเทียนคำไทยสังหร ตำหนักนฤศร เรียกพระราชมณเฑียร ๏ ขวยเขินสะเทินอายเจียน จะมุตรเมียน เช่นนี้ว่าเทินสามัญ ๏ หนึ่งว่าไปเทอญท่านสรร ใช้แทนเถิดปัน เป็นพวกตัวญอต่อเติม ๏ คำนี้มิทราบความเดิม เป็นแต่เฉลิม เช่นลักษณ์ประจักษ์สาธารณ์ ๏ เป็นแบบบัญญัติมานาน ใช้บทพจมาน คำสูงที่จูงใจความ ๚ะ
ทก๏ คำทกที่ใช้ในสยาม หนาวเนื้อเหลือหลาม กระตุกกระทกงกงัน ๏ สัตรีกระทกแป้งปัน ปูนแบ่งส่วนกัน แล้วปั้นขนมกลมแบน ๏ หนึ่งทุกท่านใช้ทกแทน ทกด้าวทกแดน ดังนี้ก็มีใช้ชุม ๏ คำว่าอุทกปกคลุม มคธสุขุม คือแปลว่าน้ำคำไทย ๏ ปะสันโนทกน้ำใส อัจโฉทกใช้ ก็ได้ว่าใสเช่นกัน ๏ อาวิโลทกนี้สรร ว่าน้ำขุ่นอัน มัวมลแลข้นตมเป็น ๏ สีโตทกว่าน้ำเย็น อุษโณทกเห็น แปลว่าน้ำร้อนชงชา ๏ โลโณทกน้ำเคมหนา สาตูทกว่า น้ำจืดสนิทสาธร ๏ คำศับท์อุทกนิกร แจกอุทาหรณ์ ให้สิ้นให้สุดพรรณา ๏ มณฑกว่ากบคำบา ฬีส่อสารา บังคับตัว ฑอไพรฑูริย์ ๏ สาธกธอเธอเค้ามูล ว่าให้เสร็จภูล เพิ่มอ้างให้ส่างสงไสย ๏ ทลิทกว่าคนเข็ญใจ ทกมากหลากไนย จะใช้จงต้องตามความ ๚ะ
ทัก๏ ทักซึ่งพูดภาษาสยาม คือพบทักถาม โหรทักทำนายร้ายดี ๏ ทักเป็นพากย์อื่นก็มี ว่าวายชีวี เช่นว่าลาญทักทักรทิน ๏ พิทักษ์ใช้มาอาจิณ พิทักษ์ธานิน ขุนราชพิทักษ์ทักทาย ๏ คำนี้มคธกลายกลาย โดยคำธิบาย ว่าผู้ฉลาดรักษา ๚ะ
ทึก๏ บันทึกคำไทยใช้มา ว่าย่นย่อปรา กฎในบุรำคำหลวง ๏ ว่าเทพย์เจ้าทั้งปวง ทราบในกระทรวง ก็ช่วยบันทึกทางจร ๏ ลัทธิบางครูท่านสอน ในอุทาหรณ์ บันทึกว่ากำหนดจำ ๏ จดหมายบันทึกถ้อยคำ เขียนไว้เพื่อกำ หนดแน่กระแสสอบสวน ๏ สองอย่างจงให้ใคร่ครวญ อย่างไรจะควร ก็ใช้ให้ต้องแบบบรรพ์ ๏ ทรธึกนี้แปลว่าวัน ร้ายยิ่งเข้มขัน ข้องขัดสวัสดิมงคล ๏ ว่าโทษอธึกคือคน ทำผิดยิ่งกล กับโทษฉกรรจ์พรรณา ๚ะ
ทุก๏ คำทุกสยามภาษา พูดใช้กันมา ประมาณประมวญมากมี ๏ คือว่าทุกครั้งทุกที ทุกเดือนทุกปี ทุกบ้านทุกเมืองทุกวัน ๏ ทุกไทยพ้นที่จะรำพัน อีกคำจำนัน บันทุกระวางนาวา ๏ นนทุกมคธภาษา ซึ่งเป็นสมญา แห่งยักษ์ในเรื่องรามวงษ์ ๏ คำเดิมนนทะกะตรง ท่านเติมอุลง อุทกอุทุกเช่นกัน ๏ เหล่านี้บมีการันต์ เป็นคำสามัญ อย่าเขียนตัวขอต่อปลาย ๏ ทุกข์ใจทุกข์ในร่างกาย ทุกข์ยากมากหลาย เหล่านี้ต้องมีขอเติม ๏ เพื่อให้เต็มที่คำเดิม มคธบทเฉลิม ตามลักษณ์กระหนักแน่นอน ๚ะ
ทด๏ แจกทดแม่กดต่อกลอน ชักอุทาหรณ์ แห่งบทว่าทดคำไทย ๏ พูดกันว่าทดน้ำไหล ทดแทนกันไป ทดเข้าทดปลาว่ากัน ๏ ทดนี้บมีการันต์ ด้วยเป็นสามัญ ตัวดอสกดทดไทย ๏ ทศแปลดว่าสิบมีใน มคธคำไข ศอคอสกดบทมี ๏ เอกาทศรถจอมตรี ภูวนาธิบดี กระษัตริยณกรุงเบาราณ ๏ ตรีทศไตรทศประมาณ สิบสามตามวาร หนึ่งนับว่าสิบสามหน ๏ ทวาทศมาศยุบล โคลงดั้นโดยกล นิราศสิบสองเดือนกาล ๏ ทศนัขสิบนิ้วคำขาน นัขสะโมธาน ว่าตั้งเล็บพร้อมน้อมเศียร ๏ ท่านท้าวทตรฐนามเมียน สถิตย์สะเถียร ประจำในทิศปราจิณ ๏ นามไท้เทวราชสักรินท์ เรียกท้าวบุริน ททเทพสฤตย์แมนสรวง ๏ แจกทดขอมไทยทั้งปวง จนสิ้นกระทรวง ครบสิบวะจีจงจำ ๚ะ
ทัด๏ แต่นี้จักแจกเรียงรำ พันทัดคัดคำ ที่คล้องแลพ้องวาจา ๏ นายทัดทัดดอกจำปา ท่านเจ้าพระยา ทูลทัดก็ขัดหฤไทย ๏ แขงขัดทัดทานเราไย ปรีชาเชิงไว พอทัดพอเทียบเทียมกัน ๏ ดีดสายบันทัดทอดปัน สูญส่วนเที่ยงทัน แลนับบันทัดอักษร ๏ ประทัดจีนไทยไฟฟอน บันฦๅขจร สำเนียงสนั่นโกลา ๏ คนไถเทียมโคไถนา วงไปเวียนมา ร้องทัดแลทูนสองคำ ๏ โคฟังเข้าใจเจนจำ โดยสำเหนียกสำเนียงร้องที่ต้องแวะวง ๏ เหล่านี้ทัดคำไทยตรง บต้องจำนง สกดแลบทการันต์ ๏ ด้วยเป็นในพวกสามัญ เช่นรู้ทั่วกัน ว่ากดสกดตัวดอ ๏ คำทัดมคธเพียงพอ สกดตัวชอ เช่นธัชว่าธงตรงคำ ๏ แต่ใช้มักเปลี่ยนแปลกสำ เนียงเป็นธุชคำ นี้ท่านมาเติมอุลง ๏ พรหมทัตไชยทัดนามองค์ กระษัตริยดำรง นครแต่ก่อนกาลมี ๏ พระเจ้าเอกทัตกรุงศรี อยุทธยบูรี เป็นที่สุดท้ายปลายวงษ์ ๏ เช่นนี้สกดตอคง อย่าได้จำนง การันต์มาสรรเศกปลาย ๏ ทัศนาทัศไนยคู่หมาย แปลบทบรรยาย ว่าเห็นว่าดูโดยความ ๏ วัดสุทัศนวราราม ว่าวัดดูงาม ด้วยโบดระเบียงบริเวณ ๚ะ
ทาด๏ คำทาดคำไทยมีเกณฑ์ ที่ใช้กันเจน แต่ล้วนมคธภาษา ๏ อัฐิสมเด็จสาสดา บัญญัติสมญา บรมธาตุทุกพรรณ์ ๏ อัฐิสาวกอะระหันต์ คำเรียกลดกัน เพียงว่าพระธาตุโดยนาม ๏ มหาธาตุชื่อพระอาราม เพราะอ้างเหตุความ บัญจุพระธาตุทศพล ๏ อนึ่งโลกธาตุมณฑล ดินฟ้าสากล ก็เรียกว่าธาตุโลกีย์ ๏ ดินน้ำเพลิงลมสี่มี นามในบาฬี บัญญัติว่าธาตุจตุรงค์ ๏ ถ้ารวมอากาศธาตุลง เรียกเพิ่มชื่อตรง ว่าธาตุบัญจกจัดสรร ๏ ตัวตุสกดเช่นกัน ในคำจำนัน แปลตรงว่าทรงธรรมดา ๏ ทาษซึ่งเสียเงินไถ่มา สารกรมตีตรา นี้เรียกว่าทาษหญิงชาย ๏ ษอบอสกดบทหมาย ตามแบบธิบาย บังคับจินดามณี ๏ โอทาตว่าขาวผ่องศี เขียนใช้ต้องมี ตัวตอสกดจดจำ ๏ อาทาศว่าแว่นอีกคำ ว่ากระจกทำ เป็นกล้องแลส่องดูไกล ๏ บันดากระจกเงาใส ส่องเห็นใดใด ก็เรียกว่าอาทาโส ๏ ไทยใช้อาทาศตามโว หารสระโอ ศอคอสกดคงควร ๏ คำทาดนักปราชประมวญ ไว้ตามขบวน ในบทที่เปลี่ยนเพี้ยนเสียง ๚ะ
ทิด๏ ลิขิตคำทิดต่อเคียง โดยลำดับเรียง ระยะไม่ปะปนกัน ๏ สงฆ์ศึกออกไม่นานวัน เพื่อนพบทักพลัน พี่ทิดนี่ศึกเมื่อไร ๏ เหมาเอาเป็นทิดคำไทย ถ้าจะว่าไป คำไทยก็ไม่แท้ดี ๏ เพราะเดิมพูดอ้างบาฬี บัณฑิตย์ผู้ปรี ชาปราชฉลาดทางธรรม ๏ คนไทยพูดใช้ประจำ ลดทอนหย่อนคำ ก็คงแต่ทิดติดพัน ๏ แม้นถึงคนในประจุบัน ยังใช้พูดกัน ว่าพวกบัณฑิตย์ก็มี ๏ เป็นคำกำกวมวาที สกดลดทวี ตามเต็มแลหย่อนวาจา ๏ มณฑลอาทิตย์อุษณา การแผดเผาอา กาศแผ้วดุจแก้วส่องแสง ๏ วันอาทิตย์นี้ท่านแผลง จะสองตัวแปลง มาเป็นตะยะอักษร ๏ ทิศใหญ่สี่นามกร บุรพาอุดร แลทิศประจิมทักษิณ ๏ ทิศน้อยนับสี่โดยระบิล ตามได้ใช้ชิน ว่าเฉียงออกใต้ตกเหนือ ๏ ทิศใหญ่ทิศน้อยนับเจือ ทั้งแปดบเหลือ รวมเรียกว่าอัฐทิศา ๏ พระที่นั่งอัฐทิศสมญา สำหรับราชา ภิเศกพระเจ้าธรณี ๏ ย่อเหลี่ยมครบแปดทิศมี พราหมณกับกระวี ถวายน้ำเศกกรดสังข์ ๏ สิบทิศคือนับอุทธัง อะโธทิศทั้ง ข้างบนข้างล่างรวมปน ๏ คำว่าอุทิศแผ่ผล คือทำกุศล แล้วแผ่จำเภาะเจาะจง ๏ ให้ถึงหมู่ญาติมาตรง บิดรแลองค์ ไท้เทพที่ตนปราถนา ๏ อุทิศทิศสองวาจา เช่นร่ำพรรณา บังคับสกดศอคอ ๚ะ
ทุด๏ ประทุษฐสกดตัวฐอ กลางเติมษอบอ แปลว่าทำร้ายร้ายแรง ๏ ธุชสกดตัวชอสำแดง ว่าธงอย่าแคลง กับธัชเช่นอ้างอย่างกัน ๏ ทุศสกดศอคอ จำนัน ว่าผ้าแพรพรรณ ตามคำมคธบทมี ๚ะ
ทูด๏ ทิ้งทูดเรียกนามปักษี คำไทยพาที สกดเป็นบทสามัญ ๏ ราชทูตทูตขรแขงขัน มคธพจน์พรรณ ต้องบทสกดตอตรา ๚ะ
เทด๏ นายเทศนำแขกเทศมา แต่เกาะชะวา เป็นต่างประเทศเขตรคาม ๏ พระเทศน์ทานะกัณฑ์ที่สาม พรรณาความ เนียรเทศพระเวศสันดร ๏ คำย่อข้อหมวดนิกร แห่งอุทาหรณ์ ท่านเรียกอุเทศบาฬี ๏ คำแจกแตกข้อคดี กระจายวาจี จัดเป็นนิเทศโดยนาม ๏ สันเทศหนังสือสั่งความ ไปถึงที่ตาม ประสงค์ผู้จงจิตรกัน ๏ ตั้งเป็นเอกเทศเขตรปัน เทศเหล่านี้สรร ศอคอสกดพจน์ขอม ๏ เท็จแทตย์เป็นคำใดปลอม ตูข้าคิดยอม บรู้ประเภทพาที ๏ เท็จปดแทตย์ว่ายักษ์ผี ทั้งสองวะจี สกดตัวจอตอยอ ๏ เขียนตามของเก่าเหล่ากอ ไป่รู้ต้นตอ บัญญัติที่อ้างอย่างยล ๚ะ
โทด๏ คำโทษโจทย์ข้อนุสนธิ เป็นสองยุบล ในบทสกด(ศษ)สสอง ๏ บังคับษอบอแบบปอง เป็นแบบทำนอง ทำนุกจินดามะณี ๏ บังคับศอคอก็มี จอมเจ้าธรณี ที่สี่ได้ทรงอาจิณ ๏ กล่าวโทษมีผู้ตัดสิน โดยความแผ่นดิน บมีผู้โปรดโทศทัณฑ์ ๏ โทษแปลว่าความผิดผัน มคธพากย์พรรค์ ว่าความประทุษฐโกรธา ๏ คนไทยพูดใช้นานมา ตกเป็นภาษา สยามสนิทชิดชม ๏ โทศานุโทษนิยม รู้ทั่วทุกกรม ทุกคนทุกผู้รู้กัน ๚ะ
ทบ๏ ปรารภด้วยทบจำนัน คำไทยใช้กัน ว่าเกณฑ์สมทบทบทวน ๏ พับผ้าทบมาประมวญ ขาทบคำควร ตัวบอสกดบทไทย ๏ สินธพเสนธพมีใน บาฬีขานไข ต้องบทสกดพอพิณ ๏ ชื่อม้ากำเนิดวาริน เรวเทียบลมบิน เรียกชื่อสินธพอัศดร ๚ะ
ทับ๏ ไม้ล้มทับขวางทางจร ปลูกทับไว้นอน มาขู่สำทับทางลวง ๏ ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพหลวง กองทัพทั้งปวง ยกทัพล่าทัพฉับไว ๏ กองทัพก็ภาษาไทย แต่เพราะเหตุใด จึงต้องตัวพอสกด ๏ คำนี้วางแบบตามบท ของเก่ากำหนด เป็นแบบบัญญัติจัดวาง ๏ คนธรรพจับพิณดีดพลาง สำเนียงทุ้มกลาง แลเอกวิเวกวังเวง ๏ คนธรรพพวกเทพบันเลง ครูลำนำเพลง โทนทับแลกรับดนตรี ๚ะ
ทิบ๏ เครื่องทิพย์ของเทพย์ทรงศรี จำรัศรูจี ระจิตรด้วยแก้วแกมกาญจน์ ๏ ประทีปแสงโชติชัชวาลย์ เพียงทิวากาล สว่างกระจ่างแจ่มโชน ๏ หลวงโลกทีปกรมโหร บได้เดาโดน ดูแม่นประจักษ์ทักตรง
ทูบ๏ ทูบเกวียนเขียนทอท่านตรง บอสกดลง ก็เสร็จบต้องแปลแปลง ๏ ธูปเทียนธอเธอสำแดง สกดปอแจง จงคำว่าคำบาฬี ๏ ทอธอไวพจน์บทมี ดังแจกวาจี จัดคำที่พ้องเพี้ยนตัว ๏ ชัดเจนบมีเคลือบคลุ้มมัว เพราะข้าคิดกลัว จะไม่กระจัดชัดความ ๏ จึ่งสู้อุส่าห์พยายาม คิดค้นต้นตาม ที่รู้บเอื้อนออมคำ ๏ แปลยากหลากหลากหลายคำ นักเรียนเพียรจำ จะค้ำจะชูปรีชา ๏ แม่นยำกำหนดพจนา จะเรืองปัญญา เปรมปราชฉลาดสาธร ๏ จบทอไวพจน์บทสอน เกลากลั่นสรรกลอน สิบหกฉบังบริบูรณ์ ๚ะ
๏ หมวดทอไวพจน์สิ้น | สารสอน |
เลือกคัดจัดสุนทร | ถ่องถ้อย |
ชักเทียบอุทาหรณ์ | หาเหตุ อ้างเอย |
เกื้อนุกูลเด็กน้อย | นักผู้เพียรเรียน ๚ะ |