รอไวพจน์

๏ ถัดนี้เรียงเรื่องพ้อง รอไว พจน์แฮ
กลอนสุรางคนางใน ถิ่นนี้
นักเรียนเร่งใส่ใจ จำจด เทอญพ่อ
ฉันจะช่วยเชิดชี้ เช่นอ้างทางสอน ๚ะ

สุรางคณาง จะร่ำรอไว พจน์พากย์หากไข เนื่องในสารา คำไทยมลธ แบบบทบัญชา หมั่นนึกศึกษา วิทยานักเรียน ๏ ถ้ารู้สำคัญ จำไว้ให้มั่น อย่าหันเหเหียน แม้นรู้ไม่จริง ประวิงวนเวียน จะเสียที่เพียร จำเนียรป่วยการ ๏ ในรอไวพจน์ นี้มีกำหนด บาทบทพิศดาร ตั้งแต่แม่กน คือรนรันราน ควรจำวิจารณ์ ตามหมวดตรวจตรา ๏ อาทิตัวต้น คือคำว่ารน สยามภาษา รนแต่จะไป แล้วรนจะมา ร้อนรนรนหา ที่อยู่สู่ธรรม์ ๏ แดดเผาร้อนรน ต้องจำใจจน สู้ทนสู้ทำ ดังพวกชาวนา กายาเผือดดำ ลำบากตรากตรำ ทำนาค้าขาย ๏ โยธีทวยหาญ รนเร่งรบราญ บอคร้านเกี่ยงกาย ปืนแฝดปืนหัน ลั่นเรวฤๅวาย ช่างปืนทั้งหลาย เรียกว่าปืนรน ๏ รนภาษาสยาม ตรวจไตรได้ความ ที่ตามยุบล ผู้ใหญ่มักว่า ทารกซุกซน อ้ายนี่มันรน จะหาไม้เรียว ๏ ไหรญภาษา มคธแปลว่า คือเงินนั่นเทียว เติมคำหิรัญ สำคัญคำเดียว นักปราชผู้เฉลียว ท่านแผลงแปลงไป ๏ ไหรญอย่าคลาศ สกดญอญาติ ตามบาทบทใน บูรพแบบฉบับ บังคับขานไข จำแน่แก่ใจ ใช้ไม่พลาดพลำ ๏ รณว่าฆ่าศึก คำนี้พานฦก ควรศึกษาจำ ณอคุณสกด ตามบทแบบคำ นักเรียนเพียรสำ เหนียกนึกศึกษา ๏ เช่นคำเกลื่อนรณ ในกลอนนิพนธ์ โบรำบุรา คือเกลื่อนฆ่าศึก อธึกโยธา ให้ถึงปะรา ไชยเกลื่อนกลับหนี ๏ รนทั้งขอมไทย มีคำที่ใช้ ครบหกวะจี อ่านแล้วจงกำ หนดจำวาที นับว่าผู้ดี มีปรีชาญาณ ๚ะ

รัน รันภาษาไทย เห็นพูดกันใน พวกไทยไขขาน รันกุ้งรันปลา วาจาสาธารณ์ รุนรันกระดาน เกวียนรันแทะไทย ๏ อีกคำพูดกัน เป็นคำแดกดัน รันไปทำไม ตีรันฟันแทง เข้มแขงสุดใจ รันทดหฤไทย สิ่งใดรันทำ ๏ รันในสยาม ที่ควรใช้ตาม สาธกหกคำ เงินเหรียนหิรัญ สรรสืบลำนำ ควรใส่ใจจำ ญอญาติสกด ๏ อรัญอารัญ นี่ก็คำสรร มาจากมคธ แปลว่าป่าพง จำนงบาทบท ญอญาติสกด เช่นกับหิรัญ ๏ รัญชะว่าย้อม อีกไนยหนึ่งน้อม ความแยกแปลกกัน แปลว่ายินดี กำหนัดหฤหรรษ์ รัญชะเดียวปัน เป็นสองอัดถ์สาย ๏ หนึ่งจรจรัล จงจำสำคัญ มคธกลายกลาย ว่าเที่ยวว่าเดิน ดำเนินนาดกราย มีมามากมาย พากย์พจน์บทกลอน ๏ เป็นนิตยนิรันดร์ นี่ก็ใช้กัน เป็นคำสาธร ถ้าใช้เต็มที่ เป็นนิรันดร ใช้สั้นบั่นทอน ก็เพียงนิรันดร์ ๏ อีกคำหนึ่งว่า ตามในพระบา ฬีพจน์ประพันธ์ นิรันตราย แยบคายสำคัญ แปลคำจำนัน ว่าพ้นอันตราย ๏ คำว่าการันต์ มีคำยืนยัน แปลว่าตัวปลาย อ่านไม่ออกเสียง เขียนเคียงเรียงราย สังเกตเครื่องหมาย ไม้หางกระแต ๏ รันรัญขอมไทย ต่างเหตุเลศไนย ตัวใช้คำแปล ใคร่รู้ละเอียด อย่าเกียจดูแล โดยเดาด่วนแด มักง่ายคลายเพียร ๚ะ

ราน ร้าวรานระราน คำไทยพจมาน เป็นแบบแนบเนียน อีกว่าราญรอน ในกลอนมากเมียน เห็นใช้ชุบเขียน สกดตัวญอ ๏ กำราญนักปราช แปลว่าเครื่องลาศ เสื่อสาดละออ กัมพุชภาษา ใช้มาเพียงพอ คำเดิมต้นตอ นั้นว่ากราญคง ๏ เช่นกราญกฐิน แปลโดยถวิล ว่าลาดผ้าลง กับเขมสดึง ให้ตึงให้ตรง โดยคำจำนง ว่ากราญกฐิน ๏ แผลงเป็นกำราญ ลัทธิอาจาริย์ ใช้มาอาจิณ ผ้าราชอาศน์ เครื่องลาศน์ภูมินทร์ โดยนิยมยิน เรียกพระกำราญ ๏ แต่คำนี้ไซ้ เขาไม่ใคร่ใช้ ลับไปนมนาน แต่โดยทำนอง เป็นของเบาราณ ทุกในวันวาร ว่าพระสุจะนี ๏ สราญสำราญ ใช้ตามโวหาร กัมพุชพาที แปลว่าสบาย อันตรายไม่มี ตกเป็นวะจี ของไทยใช้กัน ๏ ลางคนพูดได้ แต่บอรู้ไนย ที่แท้แปลผัน ไป่รู้ต้นเหตุ พิเศศสำคัญ คือสำราญนั้น ออกจากสราญ ๏ ในหมวดรานนี้ มคธไป่มี ที่ใช้ไขขาน ไทยกับกัมพุช แย้งยุดพิจารณ์ ประมวญประมาณ ห้าคำควรฟัง ๚ะ

ริน ๏ น้ำใสไหลริน ถ้าใครจะกิน ให้รินใส่ถัง น้ำไหลรินริน เห็นดินจะพัง บิดทำนบขัง น้ำวายหายริน ๏ นักเลงแปรธาตุ เอาเงินชุบมาศ แล้วเลยให้ดิน หยิบเงินขึ้นมอง เป็นทองเนื้อริน ลิงโลดใจยิน ดีโดยพิศวง ๏ หอมกลิ่นดอกไม้ รวยรินก็ใช้ คำไทยจำนง จัดตามแบบบท สกดนอตรง ไม่ควรจะสง ไสยยักอักษร ๏ รินฝ่ายมคธ คงคำกำหนด พจน์อุทาหรณ์ องค์นารถนรินทร์ เป็นปิ่นนคร โปรดประทานพร พระนรินทรเสนี ๏ นรินทร์แปลว่า ท่านเป็นใหญ่กว่า ชนชาวบูรี พวกเด็กนักเรียน จะเขียนจงดี เศศสร้อยต้องมี ทรการันต์ ๏ จอมนรินทรราช คำนี้นักปราช ฉลาดจำนัน ประสมคำเพราะ เสนาะพจนพันธ์ ความแปลเช่นกัน กับนารถนรินทร์ ๏ เจ้ากรมองค์รักษ์ ตำรวจประจักษ์ นอกซ้ายภูมินทร์ นามยศประกาศ พระราชวรินทร์ รู้ทั่วแดนดิน โดยศักดิ์สมญา ๏ ท่านท้าวเทเวศร เป็นโสดพิเศศ ในดาวดึงษา เชิดชี้พระนาม องค์อมรินทรา อีกนามหนึ่งว่า วัชรินทรเทวัญ ๏ สุรินทรนี้ว่า ผู้เป็นใหญ่กว่า เทวาในสวรรค์ พระยาสุรินทร ถิ่นยศถานัน ดรโดยแบบบรรพ์ บวรราชวัง ๏ หนึ่งพระยายักษ์ คนรู้ประจักษ์ ฤทธิเดชโด่งดัง เรียกว่าอสุรินทร์ เป็นปิ่นนครัง ชี้ตัวอย่างหวัง เช่นท้าวทศภักตร์ ๏ อีกพระราหู ซึ่งสถิตย์อยู ในราษีจักษ์ เขาเรียกอสุรินทร์ ได้ยินตระหนัก ถึงโหรทายทัก ก็ประจวบกัน ๏ นามพระที่นั่ง พระเจ้าโปรดตั้ง สำหรับโรงคัล อำมรินทรวินิจฉัย วิไลยเฉิดฉัน ขุนนางพร้อมกัน เฝ้าฝ่าธุลี ๏ ดังฝูงเทเวศ เฝ้าองค์อมเรศร อมรินทรโกสีย ล้วนกริ่มอิ่มเอม ศุขเกษมเปรมปรีดิ์ ชมพระบารมี ผ่องภักตร์แจ่มใส ๚ะ

รุน รุนภาษาสยาม เห็นใช้ในความ ว่ารุนส่งไป ลูกสมุนรุ่นหลัง ตาสังกลัวใคร รุนกุ้งปลาใน แม่น้ำลำธาร ๏ เมืองจันทรบูรี กากกรุนมี มากได้ใช้การ เป็นถิ่นกำเนิด เกิดแต่เบาราณ จนทุกวันวาร ก็ยังไม่สูญ ๏ ที่พูดกันมาก เขาเรียกว่ากาก พลอยจันทบูร มิใช่พลอยดี ของมีมากมูน เกิดเติมเพิ่มพูน ที่ดอยพลอยแหวน ๏ รุญฝ่ายมคธ ญอณอสกด มีใช้เป็นแดน เมดตาการุญ พระคุณเหลือแสน ข้าฃอตอบแทน ที่ท่านการุญ ๏ สาวหนุ่มทั้งหลาย ทั้งหญิงทั้งชาย ชมกันชุนละมุน ว่าเด็กนี้แปลก แรกรุ่นตรุณ น่าชมสมบุญ ดรุณโสภา ๏ อ้ายพวกสถุล อยาบช้าทารุณ ทั้งกายกิริยา พูดไม่เรียบราบ หยามหยาบกวาจา ทารุณนี้นา แปลว่าอยาบคาย ๏ อรุณเรื่อราง เวลาสางสาง ส่องแสงสุริยฉาย ในเดือนผคุณ พรุณโปรยปราย ฝนตกรายราย เห็นผิดฤดู ๏ วะรุณเทวราช โดยไสยสาตร สรเสริญเชิดชู เทวดาฝ่ายฝน ผ่อนปรนสินธู ให้ตกพร่ำพรู แลงดตามกาล ๏ ท้าววิรุฬหก ผู้เป็นนายก หมู่เทพบริพาร เนาปรัจจิมทิศ เรืองฤทธิใครปาน จงอภิบาล เจ้าจอมภูวดล ๏ คำรุณเหล่านี้ มาในบาฬี ล้วนมีแยบยนต์ ณอคุณสกดโดยบทยุบล สิ้นสารนุสนธิ์ รุนพจน์หมดลง ๚ะ

เรน ถัดถึงเรนนี้ คำไทยไม่มี ที่ใช้ประสงค์ มีแต่มคธ ในบทจำนง อำมเรนทร์ใช้ตรง กับชื่ออำมรินทร์ ๏ คำว่าสุเรนทร์ ตกอยู่ในเกณฑ์ เทวาธิบดินทร์ คู่กับคำว่า พระยาสุรินทร์ ตำแหน่งที่ถิ่น สุรินทร์ก็มี ๏ เจ้ากรมตำรวจ แห่น่าตราตรวจ ในขวาจักรี ชื่อพระพิเรน ทรเทพธิบดี ตั้งตามนามศรี วิเรนทร์เทวัญ ๏ นเรนทรราชา ตำแหน่งสมญา ขุนนางสามัญ ฝ่ายพระบวร ราชวังถานัน ดรยศศักดิ์สรร สถิตย์สฐาน ๏ ที่หลวงภูเบนทร์ คู่หลวงอเรนทร์ ทรราชสังหาร กรมสนมกลาง ตามอย่างโบราณ ตำแหน่งราชการ เจ้ากรมซ้ายขวา ๏ เรนคำมคธ รวมกันทั้งหมด นับห้าวาจา ทรการันต์ สำคัญสารา แจกบทพจนา ถ้วนครบจบลง ๚ะ

รวน กระสันปั่นป่วน เร่งคิดเรรวน นี่คำไทยตรง ท่านแผลงคำสรวญ เป็นสำรวญตรง เนื้อความประสงค์ ก็คือสรวลสันต์ ๚ะ

เรียน นักเรียนปเรียญ ถ้าจะใช้เขียน ตัวเพี้ยนผิดกัน คำว่านักเรียน ควรเขียนสามัญ ปเรียญรู้ธรรม์ สกดตัวญอ คำปเรียญนี้ บางครูท่านชี้ อ้างเค้าเหล่ากอ ว่าคือปริยัติ สังกัดตัวดอ ใช้ตัวละออ เขียนว่าปเรียรดิ์ ๏ วางไว้ทั้งคู่ ประสงค์ให้ดู ให้รู้เลือกเปลี่ยน ดูตามชอบใจ คำไหนแนบเนียน ก็จงใช้เขียน ไม่บ่งบัญชา ๚ะ

รง ยางรงมีถม เขาใช้ประสม เป็นเครื่องน้ำยา สีเหลืองอร่าม เห็นงามแก่ตา เขามักใช้ทา ฉัตร์กระยารงค์ ๏ สองคำศับท์ไทย ท่านแผลงแปลงใช้ ในที่ประสงค์ โดยอย่างซึ่งเห็น ทรงเป็นทำรง อีกคำว่าตรง ดำรงแปลงไป ๏ เช่นธำรงศักดิ์ แลคำประจักษ์ ดำรงราไชย สวรรยาธิปัติ ก็ชัดคำไทย พากย์กัมพุชใช้ ทรงราชก็มี ๏ จ่ารงมณฑก เรียกชื่อปืนยก ขึ้นระวางดี จ่าเรดจ่ารง จำนงวาที ไม่ทราบคดี ว่ารงอะไร ๏ รงคอการันต์ นี้คัดจัดสรร มคธคำไทย วิชิตณรงค์ ณรงค์วิไชย พูดกันอึงไป เข้าณรงค์สงคราม ๏ ณรงค์คำนี้ เป็นคำเชิดชี้ ในศับท์สยาม ว่าศึกว่ารบ บรรจบโดยความ แบบเช่นเห็นงาม ตามที่ใช้กัน ๚ะ

รัก รักรักษ์สองไซ้ ถ้ารักคำไทย ไม่มีการันต์ เช่นอย่างน้ำรัก ตันรักใหญ่ครัน อีกว่านายวัน รักกับนางวอน ๏ ให้เห็นตระหนัก บุตรสมัครัก บิดามารดร ข้าเฝ้าจงรัก สวามิภักดิภูธร ครูรักศิศย์สอน ศิศย์รักอาจาริย์ ๏ รักรักคำไทย จะรำพรรณไป อเนกสาธารณ์ เขาหากหันเหียร พูดเปลี่ยนตามกาล เหลือจะประมาณ ไม่เสร็จสุดลง ๏ รักษคำมคธ ษอบอกำหนด การันต์ประสงค์ เขียนขาดไม่ได้ ต้องใช้ให้คง ษอบอนี้ตรง ออกจากตัวขอ ๏ บาฬีพจนะ นั้นมีรักขะ พบปะเพียงพอ ตัวขอท่านแผลง แปลงเป็นษอบอ ตามเค้าเหล่ากอ อาเทศอักษร ๏ เหมือนเทพารักษ อีกคำประจักษ์ บริรักษภูธร อนุรักษโยธา คุมพลากร ฝ่ายข้างกองมอญ โยธารักษ์คุม ๏ รักษอการันต์ ในคำใช้กัน มักมีชุกชุม ความคัดชัดอยู่ ไม่สู้สุขุม ไม่ควรเคลือบคลุม กับรักคำไทย ๏ รักษ์โทษภูษา คำแบบจินดา มณีมีใน บังคับษอบอ โดยข้อวินิจฉัย ไม่กระจ่างใจ รักษ์ไทยฤๅขอม ๏ ท่านหยิบมาใช้ ปนคละกันไป ข้างไทยเข้าปลอม ที่แท้ประสงค์ จำนงแต่ขอม ทั้งหลายพลอยยอม เพราะใช้มานาน ๚ะ

ราก อาเจียนเหียนราก ใช้พูดกันมาก สามัญสาธารณ์ รากไม้รากมัน เสกสรรพิจารณ์ เพราะต้องพ้องพาน กับราคตัณหา ๏ คนคนองปาก กระโชกโฮกฮาก สำรากวาจา มคธพากย์ ราคดำฤษณา พระตรัสจัดว่า เป็นเพลิงเริงแรง ๏ รากคำไทยดื่น พูดกันเป็นพื้น ไม่ต้องชี้แจง ราคคำมคธ สกดคอแจง ความแปลแสดง ว่ากำหนัดใจ ๚ะ

รด ตักน้ำรดสาด เขาว่าลำบาก เพราะล้นบ่าไป รดสักร้อยครั้ง ไม่ขังอยู่ใน รดเช่นนี้ไทย พูดใช้เจรจา ๏ เสื้อครุยสำรด ไหมทองสุกสด งามละออตา ทรัพย์สินสำรด ในกฎฎีกา สามีภรรยา ร่วมทุนเดียวกัน ๏ สำมรดดีดปุ ถิ่นบางตำหรุ รศโอชาครัน รศเหล่านี้ไซ้ คำไทยสามัญ สกดยืนยัน ตัวดอพอควร ๏ รจนารจเรข ตัวจอสรรเศก สกดทั้งมวญ คำรจนา นั้นว่ากระบวน ตกแต่งยั่วยวน ตรูตราตรูใจ ๏ รจเรขนั้นความ ว่าแต้มเขียนงาม อร่ามละไม เป็นศับท์มคธ บทกลายเป็นไทย แต่ควรขานไข อยู่ในพวกขอม ๏ ราชรถเกวียนรถ ตัวถอสกด ตัดสินยินยอม มคธแท้แท้ ไม่แปรไม่ปลอม เดี๋ยวนี้รอมชอม ใช้ขอมไทยกลาย ๏ ธรรมเนียมราชรถ จะงามปรากฎ เพราะธงเฉลิมปลาย หญิงนั้นสามี เป็นที่เฉิดฉาย ครั้นเป็นเครื่องหมาย แห่งเพลิงเริงรุม ๏ สมมโนรถ ตัวถอสกด มคธสุขุม คำไทยไม่มี บาฬีใช้ชุม แปลควบรวบรุม ว่าสมปราถนา ๏ ฤๅษีนักพรต นามพระนารท กำหนดสมญา พระรทะเสน นฤเบนทรราชา นิยายโบรา บุรำคำแถลง ๏ ระสะว่ารศ เปรี้ยวหวานทั้งหมด รศเข้ารศแกง รศนอกรศใน ท่านใช้เคลือบแฝง จะร่ำสำแดง โดยแบบแยบยนต์ ๏ รศแห่งอาหาร ชิวหาวิญญาณ ทราบสร้านสากล รศสามัคคี ยินดีกระมล เป็นรศระคน ข้างพร้อมเพรียงกัน ๏ หนึ่งวาจาสัตย์ พูดไม่ปดปัด เป็นสัตย์เป็นธรรม จัดว่าเป็นรศ ประเสริฐเลิศครัน รศอื่นบอทัน บอเทียบรศจริง ๏ พูดตรงพูดง่าย ไม่ต้องเร่ร่าย เยื้องย้ายประวิง พูดได้คล่องคล่อง ไม่ต้องท้วงติง แต่ทุกชายหญิง ไม่ชอบจำนัน ๏ ซึ่งว่าเอมรศ เขมรมคธ ระคนปนกัน เอมแปลว่าหวาน ตระการสิ่งสรรพ์ รศแปลยืนยัน ว่ารศคงตรง ๏ หนึ่งคำปรากฎ ว่าโอชารศ มคธคำคง รศโอชาหาร พิศดารดำรง รศสิ่งยิ่งยง ว่ารศโอชา ๏ เสาวะรศนี้ แปลว่ารศดี มาลีบุษบา เมื่อยามลมชาย รื่นรวยนาสา มะลิซ้อนลา บุบผาสารพัน ๏ สุคนธรศ ภิมเสนชมด กระแจะจุณจันทน์ เครื่องอบเครื่องปรุง จรุงรศครัน เขาเรียกสุคันธรศก็มี ๏ โอรสเอารส สองคำประชด เป็นคำเดียวดี ว่าเกิดแต่อก สาธกวาที คือบุตรบุตรี เกิดแต่อุทร ๏ รศคำไทยสี่ รศฝ่ายบาฬี สิบสามตามกลอน บรรสมสิบเจ็ด เบ็ดเสร็จสุนทร จัดเป็นนิกร หมวดรดพจน์ไทย ๚ะ

รัด ทีนี้จะจัด แจกคำว่ารัด พูดภาษาไทย คือว่าผูกรัด นี่ชัดคำใน สยามความไข รัดรึงตรึงตรา ๏ รวบรัดเอาหมด เรายอมออมอด เงือดงดโทษา เอารัดเอาเปรียบ ประเทียบวาจา ทองพระกรพา หุรัศเรืองศรี ๏ รัชชะนีไซ้ เป็นคำขานไข แต่ในบาฬี แปลว่าสมบัติ ไม่ชัดวาที จะให้ถูกที่ ความเป็นราชา ๏ จะแปลให้ตรง โดยที่จำนง ไทยพูดเจรจา แผ่นดินที่หนึ่ง ที่สองรองมา ที่สามที่ห้า ลำดับรัชกาล ๏ ใช้ว่าบทรัช จะแปลก็ชัด คล้ายกับบทมาลย์ ธุลีพระบาท นฤนารถจอมปราณ แต่คำบุราณ ว่าบทเรณู ๏ ในคำมะคะธะ เรียกระชะฎะ ว่าเงินงามตรู สมมติว่าเลิศ ประเสริฐเชิดชู คหัฐบิกู อยากได้ทั่วกัน ๏ สยามภาษา ใช้ว่ารัชฎา คำยาวยืนยัน พระศรีรัชฎา กรนามเทียบทัน นามอารามสรร รัชฎาธิษฐาน ๏ เวรัชไพรัช คำเดิมคำผลัด แปลงบทพจมาน ว่าต่างขอบเขตร นคเรศภูบาล ชื่อขุนนางขนาน ตำแหน่งก็มี ๏ กรมท่ากลางไข ขานชื่อพระไพ รัชชะพากย์ภักดี นานาเวรัช ตามอัดถ์บาฬี คือต่างบูรี ต่างพระภูบาล ๏ รัชชะกะเล่า คำตรงลงเค้า มาแต่เบาราณ แปลว่าช่างซัก ฟอกผ้าสาธารณ์ ย้อมทุกวันวาร ชาวบ้านจ้างออน ๏ รัฐะสีมา คำนี้แปลว่า แว่นแคว้นนคร สยามะรัฐ นี่ชัดสุนทร ว่าเขตรดินดอน แว่นแคว้นแดนไทย ๏ แต่รัฐคำนี้ แผลงตามวิธี สังสกฤษฎไนย เป็นรัษฎา วาจายาวไป ที่วางอ้างไข หอรัษฎากร ๏ รัษฎาธิบดินทร์ สมเด็จภูมินทร์ จอมมิ่งมหิศร รัษฎาธิเบนทร์ ใช้เจนในกลอน เป็นอุทาหรณ์ แห่งรัฐมณฑล ๏ คำอัฒะรัดิ แปลคำไทยชัด ตามสารนุสนธิ์ แปลว่าเที่ยงคืน ยั่งยืนยุบล วิรัดิกระมล ว่าใจเว้นวาง ๏ เบญจจะเวระ วิรัดิคือละ โดยศีลเบญจางค์ โพธาภิรัดิ แปลอัดถ์คำกลาง ว่ายินดีทาง พระโพธิญาณ ๏ ฌานาภิรัติ แปลไทยความชัด ยินดีในฌาน โยคาภิรัดิ โดยอัดถ์วิดถาร ยินดีในการ ประกอบความเพียร ๏ สุภรัตนี้ จะช่วยแปลชี้ แนะนำคำเขียน แปลว่าย้อมงาม ถูกตามแนบเนียน ตำแหน่งกรมเมียน สุภรัตนามกร ๏ รัตระว่าแดง คำนี้แอบแฝง แจ้งอุทาหรณ์ สรรพางครัต ชื่ออัศวดร ม้าต้นภูธร ศรีแดงเฉิดฉัน ๏ รัตน์นี้ว่าแก้ว ประเสริฐเพริศแพร้ว แก้วสารพัน อักษรท้ายส่อ คือนอการันต์ เป็นเข้าใจกัน ว่าแก้วแพรวพราย ๏ คำใช้มีมาก ยักย้ายหลายหลาก ตามบทธิบาย คือมณีรัตน์ เนาวรัตน์เรืองฉาย นพรัตน์คู่หมาย ว่าแก้วเก้าประการ ๏ หนึ่งเพชรรัตน์ นับด้วยกะหรัด แก้วอื่นบปาน ไตรย์รัตน์สามสิ่ง สูงยิ่งโอฬาร ยกเป็นประธาน แก้วทั้งโลกา ๏ ที่นั่งรัตนาศน์ รัศมีผ่องผาด จับห้องเวหา รัสสะเสียงสั้น กระชั้นวาจา คำรัดนานา อเนกมากมี ๚ะ

ราด ราดคำสยาม เห็นใช้ในความ ว่าราดวารี บ้างเทบ้างสาด บ้างราดชลธี ไม้รวกราดดี บุกลายเฉิดฉัน ๏ ราชะราชา คำนี้แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน ใช้แต่ว่าราช นักปราชก็ยิน ยอมในวาทิน ตัวชอสกด ๏ ด้วยว่ามิใช่ ภาษาคนไทย ต้องใช้ตามบท ให้ถูกข้อขำ ในคำมคธ ควรจำกำหนด ตามพจน์บรรยาย ๏ จักรพรรดิราช แลเอกราช กระษัตริย์ทั้งหลาย ประเทศราช เจ้าเมืองเรียงราย เช่นเชียงใหม่หมาย กับมลายูวงษ์ ๏ ธรรมิกราช สมเด็จบรมนารถ ทรงธรรม์เที่ยงตรง ราชาธิราช พระบาทดำรง ถวัลยราชทรง บำรุงธรณี ๏ ราชสกดชอ ล้วนเป็นคำส่อ นามองค์กระษัตรีย์ จะเขียนคำไข ใดใดก็ดี จงรู้ท่วงที ว่าเจ้าแผ่นดิน ๏ ราษฎะคำนี้ ท่านสำแดงชี้ แว่นแคว้นแดนถิ่น เช่นสยามราษฎ์ ดาดาษโยธิน เจ้าหล้าสยามินทร ผดุงทั่วแดน ๏ แว่นแคว้นใดใด จงเปลี่ยนชื่อใช้ ต้นคำราษฎ์แทน วนเวียนเปลี่ยนศับท์ ถึงนับด้วยแสน ก็ได้บอแคลน บอคลาศราษฎ์ปลาย ๏ เมืองกุรุราษฏ์ คนใจร้ายกาจ พยาบาทคาดหมาย คันธารราษฎ์ร นักปราชมากหลาย สร้างพระสืบสาย ติดเนื่องนามนคร ๏ รู้เวียนเปลี่ยนผลัด ใช้ได้ถนัด ทุกนามกร แต่งย่อพอให้ รู้ใช้สุนทร ตามอุทาหรณ์ หากเห็นเป็นเลา ๏ ราษฎรคำนี้ ยลแยบแบบชี้ ชัดตามสำเนา มีที่ใช้ว่า ประชาราษฎ์เรา อำเภอร้องป่าว แก่ราษฎ์ทั่วกัน ๏ ฉ้อราษฎ์บังหลวง ๏ ขุนนางทั้งปวง แบ่งเบียดปูนปัน ทรงพระพิโรธ ต้องโทษต้องทัณฑ์ เพราะราษฎ์ยืนยัน ฟ้องข้อคดี ๏ หนึ่งเทียรฆะราษ นี้คำนักปราช ฉลาดพาที แผลงรัศเป็นราษ พจนาดถ์สารศรี โดยความแปลมี ว่ารู้สั้นยาว ๏ ราษศะว่าสั้น เทียรฆะต้นนั้น ฉันได้สืบสาว เดิมทีฑะแน่ ที่แปลว่ายาว สังสกฤษฎ์กล่าว เทียรฆะวะจี ๏ นายเวรอาลักษณ์ โดยนามประจักษ์ เทียรฆะราษมี พระเทียรฆะราษ ปลัดบูรี รู้สั้นยาวดี รู้ทอนผ่อนปรน ๚ะ

ริด แจกราดบรรจบ เก้าคำพอครบ จบสารนุสนธิ์ จะแจกคำฤทธิ ประดิษฐ์ประดน ถ้อยคำอำพน ปะปนกันไป ๏ ในข้อลิขิต คือไม้มะริด ชนิดคำไทย เรียกทองสำริด ควรคิดเลศไนย เดิมก็คำไทย ดอใช้สกด ๏ แต่เห็นท่านใช้ เป็นสำฤทธิไซ้ ไปข้างมคธ ว่าทองสมบูรณ์ พร้อมมูลทั้งหมด ทองนากระชฎ ประชุมหล่อลง ๏ จึ่งเรียกสัมฤทธิ บังคับลิขิต เขียนฤทธินี้ตรง แต่ผู้จะใช้ เลศไนยจำนง โดยความประสงค์ สิ่งซึ่งเห็นควร ๏ อิทธิว่าฤทธิ ตามสังสกฤษฎ ใช้ฤทธิทั้งมวน แปลว่าสำเร็จ เสร็จตามกระบวน นับในจำนวน มคธกลายไทย ๏ ถึงจะไม่แปล พูดว่าฤทธิแล ก็พอเข้าใจ ดังว่าฤทธิเดช สังเกตแน่ใน ฤทธิจอมภพไตร เรียกราชฤทธา ๏ หนึ่งบุญฤทธิ คือความศักดิ์สิทธิ์ ผู้มีบุญญา บุญหากนิยม ได้สมปราถนา ในเหตุไม่น่า จะได้จะเป็น ๏ สำแดงอิทธิฤทธิ นี่ไม่ต้องคิด ลำบากยากเย็น เขาพูดซ้ำซ้ำ สองคำแลเห็น อย่างนี้ย่อมเป็น วิไสยไทยเรา ๏ หนึ่งเทวฤทธิ เทเวศรศักดิ์สิทธิ์ ฤทธิไม่บันเทา เช่นพระราหู เป็นคู่พระเสาร์ โทษให้ไม่เบา คุณเล่าก็มี ๏ ฤทธิสิ้นทั้งผอง บออาจปูนปอง เท่าบุญฤทธี บุญเรี่ยวแรงนัก ประปักษไพรี ย่อมพ่ายแพ้หนี กลัวบุญฤทธา ๏ วรเดชผริต แปลในลิขิต ว่าแผ่เดชา สุจริตทุจริต กายจิตรวาจา สามบทนี้นา ตอตราประจำ ๏ สัมฤทธิศก คำนี้สาธก ยกในลำนำ แปลว่าเต็มที่ ไม่มีเพลี่ยงพลำ เติมศกอีกคำ ว่าศกบริบูรณ์ ๚ะ

รีด รีดรีดที่ใช้ พูดภาษาไทย คำเก่าเค้ามูล นอกรีตนอกรอย พลอยเสียรีดสูญ พวกจีนมากมูน เข้ารีดร่มธง ๏ รีดเสื้อรีดผ้า รีดใส้หมูปลา ปรุงเครื่องกรอกลง เรียกว่าไส้กรอก นี่บอกซื่อตรง รีดครรภบุตรปลง ชีพบุตรม้วยมรณ์ ๏ จารีตมคธ ตัวตอสกด แบบบทสุนทร แปลว่าประพฤติ กิริยาสาธร ที่เขาฝึกสอน จนคุ้นเคยใจ ๏ วารีชคำบา ฬีพากย์ภาษา ว่าปลาทั่วไป พวกสัตว์กำเนิด เกิดชะลาไลย เรียกวาริชได้ โดยแบบยุบล ๏ แต่งตัวนุ่งห่ม พูดจานิยม ตามแขวงตำบล ตามเพศภาษา ทั่วประชาชน เรียกตามนุสนธ์ ว่ารีตทั้งผอง ๚ะ

รุด คำรุดนี้ไซ้ ถ้าจะเขียนใช้ เร่งให้ตฤกตรอง เพราะรุดคำสยาม ใช้ตามทำนอง รัดรุดเร่งตรอง กะเกณฑ์การงาน ๏ รีบรุดกันไป โดยเร็วโดยไว อย่าให้เนิ่นนาน สิ่งของชำรุด เสื่อมซุดสาธารณ์ รุดพจน์พิจารณ์ เช่นคำรำพัน ๏ มารุตว่าลม มคธนิยม รอลอแทนกัน ตัวตอสกด ใช่บทสามัญ ปานมารุตสรร ว่าเรือเทียมลม ๏ พระทรงฤทธิรุตม์ แปลบทพจน์พุทธ์ ว่าฤทธิอุดม เขียนจงครบครัน การันต์นิยม ตัวมอเสริมสม สุดท้ายวาจา ๏ องค์พระนรุตม์ คือปิ่นมนุษย์ อุดมเดชา สูงสุดเป็นเจ้า แห่งเหล่าประชา อีกไนยหนึ่งว่า พระนโรดม ๏ เป็นคำเดียวกัน จงรู้สำคัญ วิธีนุกรม จะแปลประดน ว่าคนอุดม คือมีผู้สม มตยศใหญ่ยง ๏ อนิรุทธศับท์ ว่าไม่รู้ดับ บังคับแปลคง เพลิงอรรคนิรุทธ์ จี้จุดจำนง จะให้ดับลง ยากพ้นประมาณ ๏ กาลาคนิรุทธ์ พูดในมนุษย์ ก็ว่าเพลิงกาล เป็นเพลิงเริงร้าย ทำลายเผาผลาญ จนสิ้นเชื้อชาน จึ่งดับฉับไว ๏ นิรุทธ์ว่าดับ สกดบังคับ ทอธอทไวย ทอท่านธอเธอ เสนอเรียงไป เมื่ออ่านขานไข ธอเธอการันต์ ๏ คำว่าพิรุทธ์ อักษรกัมพุช ทอธอซ้อนกัน แต่ไทยใช้ทอน ลดหย่อนผ่อนผัน สกดยืนยัน ธอธอเดียวดาย ๏ ย่อมเป็นนิไสย ธรรมเนียมของไทย มักใช้กลายกลาย ถึงเมธีชน รู้ต้นรู้ปลาย ขืนเขาทั้งหลาย ไม่ได้ต้องตาม ๏ คนนี้พิรุธ คว้าไขว่อุตลุด ไม่อยุดลวนลาม ให้การพิรุธ เสื่อมซุดเสียความ เลื่อนเลอะลามปาม ป่ายเปะปะไป ๏ พิรุธนี้ปราช แปลว่าผิดคลาศ ตกเป็นคำไทย หนึ่งว่าพลาดแพลง แถลงโดยไนย ประจักษ์แจ้งใจ เจนจบครบครัน ๏ บุรุษว่าชาย คำไม่กลับกลาย วิปริตบิดผัน ษอบอสกด กำหนดต่างกัน บางอาจาริย์สรร สกดศอคอ ๏ หมวดนี้สมมุต แจกด้วยคำรุด รวมเค้าเหล่ากอ จำแนกคำใช้ จัดไว้เพียงพอ คิดค้นต้นตอ โดยข้อคำขาน ๚ะ

เรด คำไทยใช้เรด ค้นคว้าหาเหตุ ไม่ใคร่พบพาน มีแต่จ่าเรด คำของโบราณ คิดคิดอัดถ์สาร ไม่ทราบความแปล ๏ สมเด็จนเรศวร์ พระนามทรงเดช ทราบตามกระแส พงษาวดาร ได้อ่านดูแล โดยเนื้อความแปล ว่าเจ้านรชน ๏ อิศวเรศร์ไซ้ แปลว่าเป็นใหญ่ เป็นเจ้าสากล เรศรคำมคธ กำหนดนุสนธิ์ ศอคอระคน กับรอการันต์ ๚ะ

โรด จะว่าถึงโรด ภาษาไทยโสด ไม่มีใช้กัน โรดฝ่ายมคธ มีบทยืนยัน ศิโรตมอภิวันท์ ว่าไหว้ด้วยเศียร ๏ รุ่งโรจเรืองโรจ ว่าสว่างช่วงโชติ ดังแสงเพลิงเทียน พระศรีวิโรธ โกรธนายจำเนียร ว่าแกล้งมาเขียน บาญชี้ฉ้อบัง ๏ วิโรจน์ตัวเดิม ซ้ำแผลงเพิ่มเติม ไพโรจน์ประดัง แปลว่ารุ่งเรือง เช่นเบื้องหนหลัง จอนอประนัง สกดการันต์ ๏ สาโรชคำนี้ คำแปลท่านชี้ ว่าบัวบุษบัน สกดตัวชอ บอกข้อสำคัญ สังเกตรู้กัน ตามแบบบาฬี ๏ ทรงพระพิโรธ นี่ยกเป็นโสด ราชาศับท์ศรี ธอเธอสกด มคธวาที แปลว่าท้าวมี หฤไทยผิดผัน ๏ พระอริยเจ้า ดับสังขารเข้า นิโรธเจ็ดวัน อัสสะวาตบัศสะวาต สูญขาดเฉกฉัน คนถึงอาสัญ เจ็ดวันจึ่งคืน ๏ เรียกว่านิโรธ พระเจ้าตรัสโปรด ว่าธรรมยั่งยืน ระงับดับใจ บอได้ใฝ่ฝืน เจ็ดวันเจ็ดคืน คือลองนิพพาน ๏ นิโรธมคธ ธอเธอสกด แบบบทเบาราณ ถ้าแปลตามศับท์ ว่าดับสังขาร บรมัดถ์อรรถ์สาร ฦกล้ำคำภีร์ ๏ หมวดโรดพิจารณ์ ประมวญประมาณ ครบเก้าวาที แต่ล้วนมคธ เป็นบทบาฬี คำไทยไม่มี ที่ใช้เจรจา ๚ะ

รบ ตรวจในแม่กบ คือคำว่ารบ สยามภาษา คือพวกพลรบ สมทบโยธา เหล่ากุมารา มักมารบกวน ๏ หนึ่งคำว่าครบ แผลงว่าคำรบ คือครบจำนวน คำรบสองสาม เรียงตามกระบวน จำนันผันผวน สำนวนไทยไทย ๏ คำว่าคารวะ แผลงตามสะกะฎะ เป็นเคารพไป เป็นคำละเอียด ละเมียดละไม แต่อย่าให้ไขว้ เป็นคำรบสยาม ๏ ท่านท้าวโกรพย์ เป็นปิ่นพิภพ กุรุราษฐนาม หนึ่งว่าเกิดใน นครเขตรคาม โดยอัดถ์ชัดตาม กุรุคำเดิม ๚ะ

ราบ ภูมพื้นรื่นราบ ทุกคนย่อมทราบ บอต้องแปลเสริม ราพสกดพอ ยกข้อต่อเติม เนื่องหนุนจุนเจิม พูนเพิ่มสารา ๏ ราพนาสูร แปลตามเค้ามูล ว่าท้าวยักษา นารายณ์รอญราพ ปราบยักษ์ลงกา ประหาญชีวา ราพร้ายวายปราณ ๚ะ

รม รมภาษาไทย มีคำที่ใช้ รมยาทุกประการ หนึ่งคำนิยม อบรมสมภาร รมควันกุมาร น้ำรมน้ำหอม ๏ อารมณ์นี้บท ตกในกำหนด มคธแปลงปลอม เพราะรู้กันได้ พูดใช้รอมชอม นักปราชยินยอม เป็นมคธกลาย ที่ไม่รู้แปล ก็มีมากหลาย เพราะไม่รู้เดิม ได้เฉลิมแต่ปลาย ถ้าใครขวนขวาย รู้เร่งรำพึง ๏ อารมณ์นี้หนา กระแสแปลว่า จิตรหน่วงห่วงถึง ที่รักที่ใคร่ ผูกใจคำนึง อารมณ์หย่อนตึง ตามเหตุอ่อนหวาน ๏ จงจำแยบคาย ณอคุณเพิ่มปลาย การันต์พิจารณ์ เหมือนรูปารมณ์ นิยมตามการ เปลี่ยนบทพจมาน อารมณ์ร้อยพัน ๏ ภิรมย์ชมชื่น นี่เป็นคำอื่น มียอการันต์ ว่ายินดียิ่ง ในสิ่งสารพัน มโนรมย์นั้น ว่าใจยินดี ๏ รื่นรมย์ชมรศ ไทยแกมมคธ รวมพจน์พาที เหมือนว่าศกกันต์ โสกันต์ก็มี ประสมวะจี พูดคละปะปน ๚ะ

ราย บาญชีกี่ราย พวกจัดของขาย เรี่ยรายสับสน ได้เลขรายจ่าย กี่รายกี่คน นี่รายยุบล คนไทยใช้กัน ๏ จะเขียนนารายน์ ควรต้องเติมปลาย ตัวนอการันต์ ร่ำมาอเนก แกล้งเศกกลั่นสรร รอไวพจน์พรรณ์ พอครบจบลง ๚ะ

๏ จบเสร็จสำเร็จถ้อย ทางแถลง
รอหมวดไวพจน์แจง แจกไว้
บอกชัดทุกบทแปลง คำเปลี่ยน กันนา
ละพวกละหมวดใช้ ชอบต้องตามขบวน ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ