ผอไวพจน์

๏ หมวดถัดจัดแจกตั้ง ตัวผอ
จำแนกจำนงพอ พจน์พ้อง
ทอดท้ายฝ่ายคำฝอ ฝากเพิ่ม บ้างนา
กลอนสุรางคณางพร้อง พร่ำซ้ำสวดระเบ็ง

๏ จะร่ำคำต้น คือคำว่าผล ประดนวาที แรกเริ่มเดิมไซ้ คำไทยไม่มี เอาคำบาฬี มาใช้เจรจา ๏ จึ่งต้องสกด ตัวลอกำหนด ตามบทบัญชา ถึงแปลไม่ได้ แต่ใช้กันมา สังเกตสังกา ก็รู้โดยหมาย ๏ คือลักษณผล ก่อเหตุข้างต้น เกิดผลข้างปลาย เช่นพฤกษ์งามงอก ผลดอกดื่นดาย เหตุต้นผลปลาย อธิบายเค้ามูล ๏ เหตุเพราะเชานา หว่านดำเข้ากล้า ลงแรงเพิ่มพูน ได้รวงได้เม็ด สำเร็จบริบูรณ์ ผลเกิดแต่มูล เหตุต้นคนทำ ๏ ผลว่าผลิแตก ขยายย้ายแยก จากเหตุต้นลำ เรื่องนี้จงทราบ ฝ่ายบาปบุญกรรม ที่คนกระทำ เป็นเหตุให้ผล ๏ ถ้าบาปเป็นเหตุ ชักไปในเขตร ชั่วร้ายทรพล ถ้าบุญเป็นเหตุ วิเศศศุภผล ชักได้ไปดล มงคลสวัสดิ ๏ เหตุผลมคธ ตัวอย่างอ้างบท คำใช้มากมี แต่ในสยาม เลือกความพาที พูดอย่างผู้ดี ลูกไม้เรียกผล ๏ กับผลประโยชน์ มักพูดติดโอฐ อยู่แทบทุกคน คำพูดเหล่านี้ ไม่หนีแยบยนต์ ต้องในยุบล เหตุต้นผลปลาย ๚ะ

ผัน ผันคำสยาม จะว่าโดยความ ที่ใช้มีหลาย อักษรผันแปล ห้ามแต่คำตาย แปลผันกลับกลาย ผันหน้าผายผัน ๏ ผินกับผันนี้ คำพูดบางที ว่ารวบควบกัน บางทีก็แตก แยกคำจำนัน ผินหน้าหากัน ผันภักตรบุรพา ๏ หนึ่งดอกบัวผัน มีอยู่อนันต์ ในท้องคงคา ปางพระทรงธรรม ผายผันยาตรา สระสรงธารา ทรงเด็ดบัวผัน ๏ เนื้อความเช่นนี้ คำไทยพาที จัดเป็นสามัญ ไม่ต้องอัดถ์แปล รู้แน่ทั่วกัน จงจำสำคัญ สกดนอนิล ๏ จิตรผัณฑะนะ แท้คำมคธะ สยามอย่าถวิล ว่าใจดิ้นรน โลภล้นอาจิณ หนึ่งว่าใจดิ้น โดดห่างทางธรรม์ ๏ หนังผัณฑะนะ เป็นชื่อพฤกษะ ท่านใช้ประจำ คือต้นตะคร้อ สกดเวรกรรม กับหมีกายดำ ตั้งกัปกลัปมา ๏ ถึงมาตรแปลได้ ไม่มีที่ใช้ ในสยามภาษา ชักมาสมทบ พอครบวาจา คำผันพรรณา ชี้แจงแจ้งใจ ๚ะ

ผึ้ง ผึ้งพึ่งโทเอก เขียนมาอเนก แบบภาษาไทย น้ำผึ้งรวงผึ้ง ผึ้งโทขานไข ที่พึ่งอาไศรย พึ่งเอกอาจิณ

ผัด พูดผัดคำไทย เจียวผัดอะไร จะให้ใครกิน เราพูดเพี้ยนผัด นัดหมายนายนิล คนผัดหัศดิน ผัดฬ่อช้างพาล ๏ เหล่านี้ภาษา สยามพจนา ใช้มาเนิ่นนาน สามัญญะพากย์ ไม่หลากสาธารณ์ นักเรียนเขียนอ่าน รู้ได้ง่ายดาย ๏ คำว่าสัมผัศ นี่เป็นคำอัดถ์ วาทีพิปราย แปลว่าถูกต้อง สอดคล้องเกี่ยวกาย คลึงเคล้าบคลาย สัมผัศนอกใน ๏ สัมผัศหลายอย่าง คือแขงกระด้าง แลอ่อนละไม สัมผัศเกิดศุข เกิดทุกข์ในใจ หยาบละเอียดขานไข จัดไว้นานา

ผุด ข่าวลายแทงผุด ฦๅกันอุตลุด ไปลอกตำรา ดำผุดดำหว้าย ที่สายคงคา ผดผุดขึ้นมา เป็นผื่นทั้งกาย ๏ ผุดเช่นดั่งว่า สยามภาษา วาจาพิปราย ปลาผุดเบ็ดหย่อน ปลาห่อนใกล้กลาย ผุดอื่นดื่นดาย ในสายชลธี ๏ มัธยมสมผุศ ไม่หมดวิมุติ ต้องซ้ำทำทวี เพราะจะเคลื่อนคลาศ จากสาตรวิธี โหราคำภีร์ สมผุฐพจนา ๚ะ

ฝี คำพูดว่าฝี สยามวาที เบญจะวาจา ฝีเกิดในกาย ฝีปากวาจา ฝีมือเลขา ฝีเท้าฝีพาย ๏ ห้าคำนี้หนอ ท่านใช้ตัวฝอ เช่นแบบบรรยาย แต่ทุกวันนี้ พาทีมักกลาย คงแต่ฝีกาย นอกนั้นเขียนสี ๏ ของบุราณใช้ ถ้าเขียนคงไว้ เห็นใคร่จะดี มิใช่เหนื่อยยาก ลำบากใดมี ท่านผู้ภูรี จะร่ำเยินยอ ๏ แนะนำคำแปลก หมวดนี้ย้ายแยก แจกตัวผอฝอ คำใช้ไม่มาก วิภาคเพียงพอ สิ้นเค้าเหล่ากอ หมวดผอพจนา

๏ จบหมวดตรวจเสร็จสิ้น สารา
รวมสิบแปดวาจา แจกแจ้ง
ลำดับนับสมญา ไวพจน์ ผอแฮ
เพียรคิดเพียรคัดแกล้ง กลั่นไว้วานจำ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ