- คำนำ
- ประวัติพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ ฯ
- นิทานเรื่องนำ
- ๑ นิทานเรื่องกาแต่งงารกับหงส์
- ๒ นิทานเรื่องหงส์หามเต่า
- ๓ นิทานเรื่องกาวิดน้ำทเล
- ๔ นิทานเรื่องปุโรหิตผูกเวรกา
- ๕ นิทานเรื่องกาขออาศัยนกกระทุงพัก
- ๖ นิทานเรื่องนกแขกเต้าอาสาไปเอามะม่วงหิมพานต์
- ๗ นิทานเรื่องนกแขกเต้ากับมาณพอกตัญญู
- ๘ นิทานเรื่องฤษีทุศีลติดใจแกงนกพิราบ
- ๙ นิทานเรื่องมาณพชาวชนบททำคุณแก่งูเห่า
- ๑๐ นิทานเรื่องนกกระทาเปนครู
- ๑๑ นิทานเรื่องฤษีปลอมกินนกกระทา
- ๑๒ นิทานเรื่องตั้งแร้งเปนพระยา
- ๑๓ นิทานเรื่องแมวจำศีล
- ๑๔ นิทานเรื่องทำชอบเปนผิด
- ๑๕ นิทานเรื่องทำคุณเปนโทษ
- ๑๖ นิทานเรื่องโปรดสัตว์ได้บาป
- ๑๗ นิทานเรื่องทำดีเปนคุณ
- ๑๘ นิทานเรื่องวิชาเสื่อมเพราะโกหก
- ๑๙ นิทานเรื่องนกกางเขนตกฟองที่หาดทราย
- ๒๐ นิทานเรื่องนกไส้กับช้าง
- ๒๑ นิทานเรื่องแร้งแต่งงารกับนกไส้
- ๒๒ นิทานเรื่องเทวพรหมากับโลกพรหมา
- ๒๓ นิทานเรื่องคนใช้ของรัตนเศรษฐี
- ๒๔ นิทานเรื่องนกมูลไถกับเหยี่ยว
๑๑ นิทานเรื่องฤษีปลอมกินนกกระทา
ณะกาลก่อนยังมีนกกระทาเปนครูสอนศิลปศาสตร์แก่มาณพทั้งหลาย มาณพซึ่งเปนศิษย์จึงทำกรงทองให้นกกระทาอยู่ ก็ในประเทศที่อยู่แห่งนกกระทานั้นเปนแดนเมืองพาราณสี มีเหยี่ยวแม่ลูกอาศัยอยู่ในที่นั้นด้วย กับเสือโคร่งตัวหนึ่ง ได้เปนสหายกับนกกระทาและเหยี่ยวนั้นด้วย
ณะกาลวัน ๑ มาณพบอกแก่นกกระทาอาจารย์ว่า จะลาไปดูงารมหรศพในเมืองพาราณสี ให้นกกระทาอาจารย์อยู่เฝ้าอาศรมศาลา ยังมีฤษีโกหกคน ๑ เดิรมาเห็นศาลาก็แวะเข้าไป เห็นนกกระทาอยู่ในกรงทอง ก็จับถอนขนปิ้งไฟกินเปนอาหาร แล้วเดิรเข้าไปในห้องแลเห็นลูกเหยี่ยวอยู่ใต้เตียง ก็เอาไม้ตีลูกเหยี่ยวตายแล้วก็ปิ้งไฟกินเปนอาหาร ครั้นแม่เหยี่ยวกลับมาไม่เห็นลูกของตนอยู่ในรัง และนกกระทาก็หายไปด้วย แม่เหยี่ยวจึงถามฤษีว่า ลูกข้ากับนกกระทา ท่านเห็นใครเอาไปข้างไหนบ้าง ฤษีทุศีลบอกว่าพานิชเขามาก่อนรูป ๆ มาภายหลังไม่เห็นปรากฎ เหยี่ยวจึงถามว่าพานิชเขาไปข้างไหน ฤษีทุศีลชี้มือบอกว่าไปบุรพทิศโพ้น แม่เหยี่ยวได้ฟังดังนั้น ด้วยความสามารถรักลูกก็บินไปหาลูกด้วยกำลังรักโดยมรรคาที่ฤษีชี้บอกนั้น และฤษีก็นอนอยู่ในศาลานั้น ครั้นหลับไปหน่อยหนึ่ง เสือโคร่งซึ่งเปนสหายกับนกกระทามาถึงอาศรมที่อยู่ของนกกระทานั้นก็เห็นฤษีนอนหลับอยู่ และเสือโคร่งมิเห็นนกกระทา เห็นแต่ขนตกเรี่ยรายอยู่ เสือโคร่งจึงคิดว่าดีร้ายฤษีใจบาปเห็นจะฆ่านกกระทากินเสียแน่แล้ว เสือโคร่งจึงขู่คำรามขบเอาเท้าทั้งสองลากฤษีใจร้ายออกมา ฝ่ายฤษีครั้นตกใจตื่นขึ้น เสือโคร่งจึงถามว่าให้บอกเราแต่ตามจริง ท่านฆ่านกกระทาและเหยี่ยวกินจริงฤๅ ๆ ว่าผู้ใดฆ่าจงบอกเราแต่ตามจริง ฤษีโกหกเห็นเสือโคร่งทำอาการดุจประหารชีวิตดังนั้น ฤษีมีความกลัวยิ่งนัก มิอาจที่จะปิดบังโทษของตัวไว้ได้ บอกว่าลูกเหยี่ยวนั้น ข้าพเจ้าจับกินเสียแล้ว แต่นกกระทาข้าพเจ้ามิได้รู้ แล้วฤษีทุศีลกลับบอกว่าพานิชคน ๑ มาแต่เมืองกลิงคราษฎร์ เขาเอานกกระทาไปบริโภคเสียแล้ว เสือโคร่งจึงตอบว่า แต่ก่อนเปนไรจึงบอกเราว่าไม่รู้ เสือโคร่งมีความโกรธจึงพาเอาตัวฤษีทุศีลใจบาปไปยังสำนักฤษีตน ๑ เพื่อจะให้ตัดสินความ ครั้นถึงฤษีจึงถามเสือโคร่งว่า ท่านพาฤษีมาด้วยเหตุอะไร เสือโคร่งจึงว่า ฤษีตนนี้ไปอาศัยนอนอยู่ในศาลาของสหายข้าพเจ้าและนกกระทาซึ่งเปนสหายข้าพเจ้ากับลูกเหยี่ยวตัว ๑ ก็หายไปเห็นแต่ขนตกเรี่ยรายอยู่ที่ริมเตาไฟ ครั้นข้าพเจ้าถามหา ว่าได้เห็นลูกเหยี่ยวกับนกกระทาบ้างฤๅไม่ ฤษีนี้บอกว่าลูกเหยี่ยวนั้นเราฆ่ากินแล้ว แต่นกกระทาบอกว่าไม่เห็น ครั้นภายหลังข้าพเจ้ากลับถามอิก บอกว่านกกระทานั้นพ่อค้าชาวเมืองกลิงคราษฎร์ฆ่ากินเสียแล้ว เพราะพูดเปนคำสองอยู่ฉนี้ ข้าพเจ้าจึงได้พาตัวมายังสำนักท่าน ครั้นฤษีได้ฟังเสือโคร่งบอกความดังนั้น จึงถามฤษีทุศีลว่าให้ท่านบอกแต่ตามจริง ฤษีทุศีลปิดความไม่ได้ก็รับว่า นกกระทาและเหยี่ยวข้าพเจ้าฆ่ากินจริง ฤษีจึงบังคับว่า ฤษีเปนคนใจบาปไม่ตั้งอยู่ในศีลของตน ไปกินนกกระทาและเหยี่ยวทั้งเปน เพราะฉนั้นจึงให้เสือโคร่งขบฤษีคนบาปจนขาดใจตายในที่นั้น
ขณะเมื่อมาณพไปดูงารมหรศพสิ้นทั้ง ๕๐๐ หาคนอยู่รักษามิได้ แม้นนกกระทามีปัญญาจริงแล้ว ควรจะออกอยู่เสียนอกกรงก็จะได้ เพราะหามีปัญญาไม่ มายอมให้มาณพทั้งหลายขังไว้ในกรงจึงเปนอันตรายแก่ชีวิตและเอาตัวรอดมิได้ เพราะเหตุดังนี้แลเราจึงไม่ยอมให้นกกระทาเปนพระยา
ในขณะนั้นนกกะต้อยติวิดจึงว่าแก่นกทั้งหลายว่า แน่ะท่านทั้งหลาย ถ้าจะอาคิชฌสกุณเปนพระยาไซร้เห็นจะควร ด้วยคิชฌสกุณไม่กินสัตว์มีชีวิตเปนอาหาร ย่อมบริโภคแต่กเฬวราคสัตว์ที่ตายเปนอาหาร แล้วก็มีจักษุอันเฉียบแหลมแลเห็นได้ไกลกว่าสัตว์ทั้งปวง แม้นจะประมาณถึงร้อยโยชน์ คิชฌสกุณก็อาจแลเห็นได้ ถึงศัตรูจะทำร้ายก็ไม่ได้ เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจึงว่าควรจะเอาคิชฌสกุณเปนนาย เราทั้งหลายจะได้พึ่งบุญคิชฌสกุณอยู่เปนสุขสำราญนิราศภัย
นกกระทุงทองคำจึงว่า ท่านจะตั้งแร้ง ๆ รู้กลอุบายดังวานรก็ดี แน่ะท่านทั้งหลาย แร้งนี้มีโทษอยู่เรามิยอมให้เปนพระยา
นกทั้งหลายจึงถามว่า แร้งมีโทษอยู่มีธรรมเนียมฉันใด
นกกระทุงทองจึงเล่านิยายให้นกทั้งหลายฟังดังนี้ว่า