ตอนที่ ๔
ในดง. |
|
เจ้าผู้ถูกเนรเทศ, อาเมียงส์, ยาคส์, ออร์ลันโด, ออลิเวอร์, และเซเลีย, ออก. |
|
เจ้า. | ออร์ลันโด, เจ้าเชื่อหรือไฉน ว่าหนุ่มนั้นทำได้ทั้งปากว่า ? |
ออร์. | บางทีเชื่อ, บางทีก็สงกา; เหมือนผู้กลัวปราถนา, และพรั่นใจ. |
รอสะลินด์, สิลเวียส, และฟีบี ออก. |
|
รอส. | สกดใจ, ฃ้าไซร้ขอสัญญา: ถ้าแม้ฃ้าพารอสะลินด์ไซร้ มาได้จริงละ, พระองค์จะปลงใจ ยกให้ออร์ลันโดหรือทรงธรรม์ ? |
เจ้า. | ยกให้แน่, แม้ฃ้ามีสมบัติ สารพัตให้ด้วยทุกสิ่งสรรพ์. |
รอส. | และเธอก็ปรองดองจะครองกัน แม้ฃ้านำนางนั้นมาที่นี้ ? |
ออร์. | เปนแน่แท้, ถึงแม้ข้าครองแดน ทุกเขตแคว้นในธรณีศรี. |
รอส. | หล่อนว่าจะทำอาวาห์กับฃ้านี้ แม้ฃ้ามีปราถนา, หรือว่าไร ? |
ฟีบี. | เปนแน่แท้, ถึงแม้เมื่อสมหมาย เพียงโมงเดียวจะต้องตายก็ตายได้. |
รอส. | แต่ถ้าแม้หล่อนมิยอมประนอมใจ จะรับตัวฉันไซร้เปนสามี, หล่อนจะยอมร่วมรักสมัคสมาน กับนายเมษบาลผู้นี้ที่ จงรักหล่อนนักไซร้, ถูกไหมฉนี้ ? |
ฟีบี. | ถูกต้องแล้วตามที่สัญญากัน. |
รอส. | จริงหรือไม่เพื่อนไซร้จะยินดี รับฟีบี, ถ้าหล่อนสมัคมั่น ? |
สิล. | ถึงแม้ได้หล่อนครองจะต้องพลัน ม้วยชีวันฉันก็ขอพนอนาง. |
รอส. | ฃ้ารับไว้ว่าจะให้การเหล่านี้ เปนไปดีงามงดหมดทุกอย่าง. ขอพระองค์ยื่นคำอย่าอำพราง, เตรียมยกนางธิดาผู้ยาใจ; ออร์ลันโด, เตรียมใจไว้รับขวัญ พระธิดาลาวัณอันศรีใส: ฟีบีอย่าลืมคำที่ร่ำไว้ ว่าหล่อนไซร้จะแต่งกับฉันนี้, หรือถ้าแม้ไม่ยอมประนอมสมาน จะแต่งกับเมษบาลผู้นี้นี่: สิลเวียส, อย่าลืมคำพร่ำพาที, แม้ฟีบีไม่แต่งกับฉันไซร้ เพื่อนจะแต่งกับหล่อนเปนแม่นมั่น: บัดนี้ฉันขอลาผู้เปนใหญ่, เพื่อบันดาลเหตุการณ์ให้เปนไป ในทางสิ้นสงสัยทุกสิ่งอัน. [รอสะลินด์กับเซเลียเฃ้าโรง.] |
เจ้า. | ฉันรู้สึกรำลึกได้ในหนุ่มน้อย มีทีถ้อยคล้ายธิดาของตัวฉัน. |
ออร์. | พระเจ้าฃ้า, เมื่อคราแรกเห็นนั้น, ฃ้าสำคัญว่าเปนน้องพระธิดา: แต่หนุ่มนี้กำเนิดเกิดกลางไพร, ได้ตั้งใจร่ำเรียนเพียรศึกษา จากลุงผู้เฃากล่าวแก่ตูขา ว่าเปนมายาวีที่กลางไพร. |
ตัชส๎โตน กับ ออเด๎รย์ ออก. |
|
ยาคส์. | เอ๊ะ, ดูท่าทางราวกับจะมีน้ำท่วมอีกครั้งหนึ่งแล้ว, และคู่ ๆ เหล่านี้กำลังพากันมาลงเรือ. สัตว์อย่างประหลาดคู่หนึ่งมานี้, ที่ทุกภาษาเรียกว่าบ้า. |
ตัช. | ขอคำนับและอำนวยพรแก่ท่านทั้งหลาย ! |
ยาคส์. | พระเจ้าฃ้า, ขอได้โปรดทรงพระกรุณาต้อนรับ: นี่เองคือบุรุษเสื้อลายที่ฃ้าพระบาทได้เคยพบหลายครั้งในดง, เฃาสาบาลว่าเฃาเคยเปนฃ้าในราชสำนัก. |
ตัช. | ถ้าผู้ใดสงสัยในข้อนั้น, ขอให้ทดลองดูดิฉันให้ถ่องแท้. ดิฉันเคยเล่นระบำ; ดิฉันได้เคยพูดยอผู้หญิง; ดิฉันได้เคยเล่นอุบายกับมิตร์, และสงบเสงี่ยมกับศัตรู; ดิฉันเคยทำช่างตัดเสื้อฉิบหายแล้วสามคน, ดิฉันเคยวิวาทกับเฃาแล้วสี่ครั้ง, และจวนได้ต่อสู้ครั้งหนึ่ง.๑ |
ยาคส์. | แล้วก็เรื่องมันเปนอย่างไรเล่า ? |
ตัช. | อ๋อ, ก็ได้พบประจันหน้ากัน, แล้วก็ได้ความว่าที่วิวาทกันนั้นเพราะเหตุที่ ๗. |
ยาคส์. | เหตุที่ ๗ ฉนั้นฤๅ? พระเจ้าฃ้า, ขอให้โปรดนายคนนี้ |
เจ้า. | ฉันก็ชอบมันมากอยู่. |
ตัช. | พระเจ้าโปรดท่านเถิดเจ้าฃ้า, ดิฉันก็ปราถนาดีต่อท่านเช่นนั้น. ดิฉันได้เฃ้ามาณที่นี้พร้อมด้วยพวกชาวบ้านที่กำลังต้องการจะแต่งงานกัน, เพื่อสาบาล, และเพื่อทวนสาบาล, ตามที่การสมรสอาจเปนเครื่องผูกมั่นหรือเลือดร้อนทำให้แตกกัน: นี่นางสาวอนาถาเจ้าฃ้า, เปนคนที่หน้าตาขี้ริ้วเจ้าฃ้า, แต่เปนของดิฉันเอง; เปนความปราถนาเลวของดิฉันเองเจ้าฃ้า, ที่เลือกเอาผู้ที่ไม่มีผู้อื่นชอบ: ความสุจริตงดงาม, นะเจ้าฃ้า, ย่อมอยู่เหมือนคนขี้เหนียวในเรือนอันทราม; เหมือนไข่มุกด์อยู่ในกาบหอยอีรมสกะปรก. |
เจ้า. | ให้ตายสิ, อ้ายนี้มั่นไวและพูดจังดี. |
ตัช. | ตามแบบตลกและเจ้าฃ้า, มีอะไรก็พูดไปครู่เดียวหมด. |
ยาคส์. | แต่ก็เหตุที่ ๗ นั้นเล่า; แกหาข้อวิวาทได้อย่างไรในเหตุที่ ๗ ? |
ตัช. | โดยมุสาวาทเจ็ดคราว:-ทรงตัวขึ้นให้ดี ๆ อีกหน่อย ออเด๎รย์:-เช่นนี้เปนตัวอย่างขอรับ, กระผมไม่ชอบรูปเคราของเสวกผู้หนึ่ง: เฃาสั่งมาให้บอกกระผมว่า, ถ้ากระผมว่าเคราของเฃาตัดไม่งาม, เฃาเองเห็นว่างาม, นี่เรียกว่าย้อนอย่างมรรยาทดี. ถ้ากระผมโต้ไปอีกครั้งหนึ่งว่า “ เคราตัดไม่งาม”, เฃาตอบมาว่าเฃาตัดเคราเพื่อความพอใจของเฃาเอง: นี้เรียกว่าเถียงอย่างถ่อม, ถ้าอีกครั้งหนึ่งกระผมว่า “เคราตัดไม่งาม”, เฃาว่าไม่เชื่อวิจารณะญาณของกระผม นี่เรียกว่าตอบอย่างมรรยาทชั่ว. ถ้าอีกครั้งหนึ่งกระผมว่า “เคราตัดไม่งาม”, เฃาตอบว่ากระผมพูดไม่จริง: นี่เรียกว่าท้วงอย่างหาญ. ถ้าอีกครั้งหนึ่งกระผมว่า “เคราตัดไม่งาม”, เฃาตอบว่าผมโกหก: นี่เรียกว่าโต้ตอบชวนวิวาท; แล้วก็ต่อไปถึงด่าว่าโกหก โดยอ้อมและด่าว่าโกหกโดยตรง, |
ยาคส์. | ก็แกได้กล่าวกี่ครั้งเล่าว่าเคราเฃาตัดไม่งาม ? |
ตัช. | ผมไม่กล้าปล่อยไปเปนขั้นโกหกโดยอ้อม, และฝ่ายเฃาก็ไม่กล้าด่าผมว่าโกหกโดยตรง; ฉนั้นเราก็เพียงแต่ได้ประดาพกัน. แล้วก็แยกกันไป |
ยาคส์. | บัดนี้แกกล่าวเปนลำดับไปทีหรือ, ว่าวิธีด่าว่าโกหกมีกี่อย่าง ? |
ตัช. | อ๋อ, นาย, เราได้วิวาทกันด้วยหนังสือ, ตามตำหรับทีเดียว; เช่นท่านมีตำราสำหรับสอนมรรยาทฉนั้น: กระผมจะสรูปชั้นแห่งด่าให้ฟัง. หนึ่ง, ย้อนอย่างมรรยาทดี, สอง, เถียงอย่างถ่อม, สาม, ตอบอย่างมรรยาทชั่ว, สี่, ท้วงอย่างหาญ, ห้า, โต้ตอบชวนวิวาท; หก, ว่าโกหกโดยอ้อม, เจ็ด, ว่าโกหกโดยตรง. คำตอบเหล่านี้อาจจะเลี่ยงเสียได้, เว้นแต่การถูกด่าโกหกโดยตรง; และนั่นก็ยังอาจจะหลีกพ้นได้, โดยอาศัยคำ “ถ้าหาก.” ผมจำได้ครั้งหนึ่งตุลาการเจ็ดคนไม่สามารถตัดสินข้อวิวาทให้สำเร็จได้, แต่ครั้นเมื่อผู้วิวาทได้พบกันเฃ้าเอง, คนหนึ่งพะเอินนึกขึ้นได้ถึง “ถ้าหาก”, เช่นว่า “ถ้าหากว่าท่านได้กล่าวเช่นนั้น, ฉันก็ได้ตอบเช่นนั้น”; แล้วก็เลยต่างคนต่างจับมือกันและสาบาลเปนพี่น้องกัน. “ถ้าหาก” เปนผู้บันดาลสันติภาพได้อย่างเดียว; “ถ้าหาก” แหละมีคุณมาก. |
ยาคส์. | อ้ายคนนี้เก่งหรือไม่, พระเจ้าฃ้า ? มันดีเท่าใคร ๆ แต่ก็เปนเพียงตลกเท่านั้น. |
ตัช. | มันใช้ความบ้าของมันแทนหุ่นลวง และเอาสิ่งนั้นกำบังเพื่อเหน็บแนมแหลม ๆ อยู่. |
ไฮเม็น, รอสะลินด์, และเซเลีย ออก. |
|
(ดนตรีเล่นเบา ๆ) |
|
ไฮเม็น. | ๏ บัดนี้มีสุขในสวรรค์ ยามทุกสิ่งสรรพ์ ในโลกนี้ปรองดองดี เจ้าหลวง, จงรับบุตรี: ไฮเม็นนำศรี มาจากสวรรค์ชั้นฟ้า, นำหล่อนมาที่นี้นา, เพื่อพระบิดา จักได้ยกหล่อนประทาน หัตถ์แห่งโฉมเจ้าเยาวมาลย์ ถึงหัดถ์ชายชาญ ผู้รักธิดายาใจ ฯ |
รอส. | [พูดกับเจ้า] ขอถวายตัวฃ้า, ธิดาศรี. [พูดกับออร์] ขอมอบกายแก่พี่ผู้รักใคร่. |
เจ้า. | ถ้าแม้ตาไม่เฟือนเชือนแชไป, เจ้าไซร้คือบุตรีคู่ชีวัน. |
ออร์. | ถ้าแม้ตาไม่เฟือนเชือนแชไป, หล่อนไซร้รอสะลินด์ยอดรักฉัน. |
ฟีบี. | แม้ตาและรูปทรงนั้นตรงกัน, ฉนั้นรักของฉันต้องทำลา ! |
รอส. | ฃ้านี้ไซร้ไม่มีบิตุรงค์, แม้พระองค์มิใช่บิดาฃ้า: ฃ้าไม่ขอเลือกสรรภรรดา ถ้าแม้ว่าเธอไม่ใช่สามี: ฃ้าไม่ยอมแต่งงานกับหญิงใด, ถ้าเฃาไซร้มิใช่มารศรี ผู้โฉมงามมีนามว่าฟีบี. ฃ้าตั้งใจไว้ฉนี้จงแจ้งใจ. |
ไฮเม็น. | ๏ หยุด ! หยุด ! อย่ายุ่งเหยิงไป ตัวเรานี้ไซร้ เปนผู้ระงับเหตุผล. บัดนี้มีอยู่แปดคน จะต้องมาสน ธิในสมรสพิธี. ส่วนเธอกับเธออย่าได้มีภัยมายายี: ส่วนเธอกับเธอนี้หทัยร่วมสิเนหา: ส่วนนางจงรับรักสมัคกับผู้นี้นา, หาไม่ก็รับนาริเปนเช่นบดีท้าว: คู่หลังนี้สมกันเหมือนเหมันต์กับความหนาว, ควรคู่กันดูราวกับแสร้งสร้างและสรรมา. ขณเมื่อจะขับลำสำแดงคุณแห่งอาวาห์, ต่างคนจงต่างหาโอกาศถามข้อความถวิล; เพื่อหย่อนผ่อนพะวงและสงสัยในสิ่งสิ้น, รู้เหตุประจวบจินตนาทราบทุกสิ่งดี ฯ
ลำ ๏ สมรสคือมงกุฎของยูโน๒ |
เจ้า. | หลานรัก, ลุงยินดีต้อนรับเจ้า! อีกธิดานงเยาว์, พ่อรักใคร่. |
ฟีบี. | [พูดกับสิล.] ฉันไม่คืนคำ, ยอมประนอมใจ; รักฉันไซร้, ฉันก็ยอมพร้อมใจรัก. |
ยาคส์ เดอะ บัวส์ ออก. |
|
ยาคส์เดอะบัวส์. | ฃ้าขอเฝ้าทูลกิจจา: ตูฃ้านี้ บุตรที่สองเซอร์โรลันด์ผู้มีศักดิ์, ผู้นำฃ่าวเหล่านี้ด้วยจงรักษ์ มาสู่ราชสำนักสวัสดี. ด้วยเจ้าหลวงเฟรเดริคได้ทราบ ว่าบุรุษสุภาพมากมวลมี ชวนกันเฃ้าสู่ป่าพนาลี, พระจึ่งเกณฑ์โยธีฤทธิกรร; และกรีฑาสู่ดงทรงนำมา จับเชษฐาปลงพระชีวาสัญ: แต่ครั้นถึงชายป่าพนารัญ, พระประสบนักธรรม์บำเพ็ญพรต, ได้ปุจฉาวิสัชนาราชาไซร้ กลับพระทัยละประทุษอันสาหส อีกละโลก; เวนอิศริยะยศ ถวายหมดแด่องค์พระพี่ยา, อีกทั้งปวงสมบัติพัสฐาน คืนประทานแด่ขุนนางต่างๆหน้า ที่ได้ถูกเธอเนรเทศมา. ข้อความนี้สัจจาทุกสิ่งอัน, ถ้าไม่จริงยอมตาย. |
เจ้า. | ชายหนุ่มน้อย, ฃ้าฟังถ้อยปรีดิ์เปรมเกษมสันต์. เจ้านำฃ่าวมาดีเปนศรีครัน สำหรับวันอาวาห์ของพี่น้อง: ส่วนพี่ชายได้คืนสมบัติเดิม, และน้องชายได้เพิ่มแผ่นดินผอง, อันใหญ่หลวง, ปวงเฃตอันเรืองรอง โดยทำนองทายาทสุชาตดี. แต่เราควรชวนกันทำกรรมสำเร็จ เสร็จที่ในแดนดงพงไพรนี่, เพราะกิจนั้นได้ประเดิมเริ่มด้วยดี ในดงนี้ควรทำสำเร็จไป: ต่อแต่นี้ท่านที่ได้เคยยาก ทนลำบากกับเราที่นี้ไสร้, ทั้งกลางคืนกลางวันบ่พรั่นใจ, ยามเราได้คืนไอศวรรยา, จะได้ส่วนสุขเสริมเพิ่มประมวล ตามที่ควรความชอบตอบทั่วหน้า. บัดนี้จงลืมโชคที่คืนมา, และรื่นเริงตามประสาของชาวไพร. ดนตรีเริ่ม! และปวงคู่บ่าวสาว, จงร้องฉาว, จับระบำสำราญใหญ่. |
ยาคส์. | นาย, ฉันขอท่านงดสกดใจ. ถ้าฉันไซร้ฟังคำถูกทำนอง, นายกล่าวว่าราชาเธอถือพรต และละหมดยศศักดิ์สิ้นทั้งผอง, ฉนั้นถูกหรือยัง ? |
ยาคส์เดอะบัวส์. | ฟังถูกต้อง. |
ยาคส์. | ฃ้าเจ้าปองไปอยู่กับทรงธรรม์: ผู้กลับจิตเช่นนี้มักมีความ ควรจะถามควรจะรู้เปนแม่นมั่น. [พูดกับเจ้า.] ขอพระองค์ทรงเฃตเดชอนันต์; พระขันติควรได้บำเหน็จไกร. [พูดกับออร์.] เธอจงรักรื่นรมย์สมภักดี: [พูดกับออลิ.] เธอมีดิน, มีรัก, และศักดิ์ใหญ่: [พูดกับสิล.] เจ้าจงอยู่คู่ภิรมย์กันสมใจ: [พูดกับตัช.] ส่วนเจ้าไซร้ไม่ช้าคงกัดกัน; เพราะความรักของเจ้าเหมือนเภตรา มีอาหารเพียงสองเดือนแหละมั่น. เชิญทั้งผองเปนสุขสนุกนันท์: ดิฉันไม่ชอบระบำต้องจำลา. |
เจ้า. | จงอยู่ก่อนเถิดยาคส์, อย่าเพ่อไป. |
ยาคส์. | ฃ้าไม่ชอบรื่นเริงอย่างเชิงบ้า: พระองค์มีสิ่งใดใฝ่บัญชา ฃ้าจะอยู่คูหาฟังพาที. [เฃ้าโรง.] |
เจ้า. | เล่นต่อไป, เล่นไป, ให้ใจสร้าน: พิธีการเราจะเริ่มเฉลิมศรี โดยเชื่อว่าจะเกษมเปรมปรีดี, เสริมสุขีภียโยยิ่งยืนยาว. [ระบำ.] |
คำส่ง |
|
รอส. | ที่จริงไม่ใช่ธรรมเนียมที่ให้นางกล่าวคำส่ง; แต่ก็คงไม่น่าติมากกว่าที่จะให้นายโรงกล่าวคำส่ง. ถ้าข้อที่ว่าเมรัยดี ไม่ต้องมีช่อใบไม้๓ นั้นเปนความจริงไซร้, ก็ย่อมจะเปนความจริงอยู่เหมือนกันที่บทลครที่ไม่ต้องมีคำส่ง: แต่สำหรับเมรัยดีเฃาก็ใช้ช่อไม้ดี; และเรื่องลครดีก็อาจจะดี ขึ้นอีกได้โดยมีคำส่งดี. ฉนั้นดิฉันเคราะห์ร้ายนักหนา, ที่ตัวเองก็ไม่เปนผู้ส่งที่ดี, และไม่สามารถที่จะพูดให้ท่านฟัง สำหรับเรื่องลครที่ดีด้วย ! ดิฉันมิได้แต่งตนเหมือนคนขอทาน, ฉนั้นการที่จะขออะไรก็ไม่เปนการเหมาะสำหรับดิฉัน: วิธีของดิฉันจะใช้เตือนท่าน; และดิฉันจะเริ่มพูดกับสัตรีก่อน, สัตรีทั้งหลาย, ดิฉันขอเตือนท่าน, ด้วยอำนาจความรักที่ท่านมีในตัวผู้ชาย, ให้ชอบเรื่องลครนี้เท่าที่ถูกใจท่าน: และฝ่ายท่านผู้ชาย, ดิฉันขอเตือน, ด้วยอำนาจความรักที่ท่านมีในตัวหญิง,-ฉันสังเกตได้ด้วยการหัวเราะขิกๆ ของท่านว่าไม่มีท่านผู้ใดชังหญิง, -ว่าในระหว่างท่านกับพวกหญิง ขอให้เรื่องลครนี้ถูกใจท่าน. ถ้าแม้ดิฉันเองเปนผู้หญิง๔ ดิฉันก็จะจูบท่านทั้งหลายที่มีเคราอันถูกใจดิฉัน, มีผิวพรรณที่ดิฉันชอบใจ, และมีลมหายใจที่ดิฉันไม่รังเกียจ: และดิฉันเชื่อแน่, ว่าท่านทั้งหลายที่มีเคราดี หรือฉวีสง่า หรือลมหายใจดี, เมื่อได้ฟังคำแสดงรับรองเช่นนี้แล้ว, จะอำนวยพรแก่ดิฉัน. |
[ลครเฃ้าโรงหมด.] |
|
จบเรื่อง. |
-
๑. การต่อสู้กันตัวต่อตัว (duel) เปนกิจอัน ๑ ซึ่งกุลบุตร์ต้องกระทำเมื่อมีเหตุวิวาทกัน ถือเปนวิธีล้างอายของผู้ที่ถูกหมิ่นประมาท. ↩
-
๒. ยูโนเปนเทวีมเหษีของยูปิเตอร์เทวราชในศาสนาโรมโบราณ. ถ้าเปรียบยูปิเตอร์กับพระอิศวร, ยูโนก็เปรียบกับพระอุมา. ↩
-
๓. ในสมัยโน้นเฃาแขวนช่อใบไม้ไอวีหรือฮอลลีไว้น่าโรงเหล้า, อย่างร้านสุราในเมืองเราปักธงแดงฉนั้น. ↩
-
๔. ในสมัยของเชฺกส๎เปียร์เฃาใช้ผู้ชายเล่นเปนตัวนาง ครั้งแรกที่ได้มีหญิงออกโรงเปนตัวนางในลอนดอนคือใน พ.ศ. ๒๑๗๒ เมื่อคณลครฝรั่งเศสคณ ๑ ได้ไปเล่นที่ตำบลแบล๊กไฟรอาร์ส; แต่ก็ยังไม่มีผู้หญิงเปนตัวลครมากมายจนถึงรัชสมัยแห่งพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๒, เมื่อปรากฎว่าผู้หญิงเปนลครโดยทั่วไป, ราว พ.ศ. ๒๒๐๓. ↩