คำนำ

เมื่อฃ้าพเจ้าได้แปลและประพนธ์เรื่องลคร “เวนิสวานิช” ของ เชฺกส๎เปียร์ ชิ้นและจำหน่ายแล้ว, มีความรู้สึกปีติยินดีเปนอันมากที่ได้ทราบฃ่าวมาว่า เรื่องนั้นเปนที่พอใจแห่งจินตะกะวีและนักเลงหนังสือไทยเปนอันมาก จึงทำให้ฃ้าพเจ้าทนงใจแปลและประพนธ์เรื่องลครของเชฺกส๎เปียร์อีกเรื่อง ๑ เรียกว่า “เรื่องตามใจท่าน

เรื่อง “เวนิสวานิช” นั้นก็เปนเรื่องที่ฃ้าพเจ้าได้รู้สึกอยู่แล้วว่าแปลยากมาก, แต่ “เรื่องตามใจท่าน” นี้ รู้สึกว่ายากยิ่งขึ้นกว่าอีก, เพราะเต็มไปด้วยโวหารอย่างจินตะกะวียุโรป ซึ่งหาคำแปลเทียบเคียงให้ตรงยากในภาษาไทย. อีกประการ ๑ เรื่องนี้นับว่ามีเนื้อเรื่องที่จะสำหรับชวนให้สนุกในเชิงลครนั้นน้อยกว่าในเรื่อง “เวนิสวานิช”, แต่เต็มไปด้วยถ้อยคำที่ไพเราะและโวหารกล้าๆ, ชมป่าดงและความสุขสำราญแห่งการอยู่ในแนวป่า, เปนเหมือนคำสอนใจให้ผู้ที่จำเปนต้องไร้สมบัติและเคหะสถานมีความสันโดษยินดีในความจำเปนเช่นนั้น, ไม่ให้ท้อถอยแม้ในคราที่ต้องตกระกำลำบากพรากจากทรัพย์ศฤงคาร, เปนเรื่องสำหรับผู้ที่ตั้งอยู่ในภูมิธรรมสูงอ่านมากกว่าสำหรับบุคคลที่ปราถนาแต่เรื่องลครที่เล่นออกท่าทางตึงตังหรือตลกคะนองโลดโผน.

ทั้งๆที่เรื่องนี้มีลักษณะเช่นที่กล่าวมาแล้วฃ้างบนนี้ก็ดี แต่ก็ได้ มีผู้นำออกโรงเล่นเนือง ๆ ตลอดมาตั้งแต่สมัยเมื่อเชฺกส๎เปียร์ได้แต่งขึ้น, คือเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๑๔๒, จนกระทั่งถึงกาลปัตยุบันนี้, ข้อนี้เปน/*ข*/พยานว่าเรื่องนี้มีลักษณะที่จับใจผู้คลครในประเทศอังกฤษหลายชั่วคนมาแล้ว, เหตุฉนี้ฃ้าพเจ้าจึงเห็นว่าสมควรที่จะให้นักเลงหนังสือไทยผู้ที่อ่านภาษาอังกฤษไม่ได้หรือที่ไม่รู้จะสันทัดในทางภาษานั้นได้มีโอกาศอ่านเรื่องซึ่งชาวอังกฤษนิยมนี้บ้าง, พอเปนทางบำรุงปัญญาสักเล็กน้อย, และถ้าแม้ว่าท่านผู้ใดได้อ่านแล้วด้วยความวิจารณ รู้สึกว่าเปนเรื่องที่ไม่สนุกพอใจฉนั้น, ก็ขอจงปรับโทษฃ้าพเจ้าผู้แปลไม่ได้เหมือนของเดิมของเชฺกส๎เปียร์, เพราะความบกพร่องในทางประพนธ์, นั้นเถิด.

ส่วนชื่อเรื่องที่ฃ้าพเจ้าได้เรียกไว้เปนภาษาไทยว่า “เรื่องตามใจท่าน” ฉนี้ ก็คือตั้งใจจะแปลให้ตรงตามที่เชฺกส๎เปียร์เรียกไว้ในภาษาอังกฤษว่า “As You Like It” หมายความว่า ชื่อเรื่องไม่เปนของสำคัญอะไร, เพราะฉนั้นเมื่อท่านจะพอใจเรียกว่าเรื่องอะไรก็ตามใจท่าน. ข้อนี้ถ้าคำนึงก็คงจะเห็นด้วยว่า แท้จริงเรื่องนิทานหรือเรื่องลครใดๆก็ตาม, ถ้าเนื้อเรื่องและสำนวนโวหารดีอยู่แล้ว, ถึงจะเรียกชื่อว่ากระไร ก็คงไม่ทำให้ดีน้อยลง, และตรงกันฃ้าม ถ้าเนื้อเรื่องและสำนวนโวหารไม่ดีอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะให้ชื่อเรื่องให้ไพเราะอย่างไรก็ไม่สามารถจะเชิดชูเรื่องขึ้นได้เปนแน่แท้. ดังนี้ “เรื่องตามใจท่าน” นี้ ถ้าท่านจะชอบก็คงจะไม่ใช่เพราะชื่อ, และถ้าท่านจะไม่ชอบก็คงไม่ใช่เพราะความบกพร่องของชื่อเหมือนกัน

ส่วนการประพนธ์เรื่องนี้, ที่ใดเปนร้อยแก้วอยู่ในภาษาอังกฤษ ฃ้าพเจ้าก็ได้แต่งไว้เปนร้อยแก้ว และที่ใดเปนกาพย์กลอนก็แต่งเปนกาพย์กลอน, เพื่อให้รูปคล้ายของเดิมมากที่สุดที่จะเปนได้.

/*ค*/เรื่อง “ตามใจท่าน” นี้, ฃ้าพเจ้าได้รับบทแปลและแต่งตั้งแต่เมื่อกลางเดือนกันยายน, พ.ศ. ๒๔๖๑, เมื่อฃ้าพเจ้ามีเวลาว่างอยู่มาก เพราะนายแพทย์สั่งให้ไปหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บางปะอิน. ในเวลานั้น พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี, ซึ่งได้ทรงเปนผู้แนะให้ฃ้าพเจ้าแปลเรื่องนี้, ได้ทรงช่วยประทานความเห็นในทางแปลศัพท์และโวหารของเชฺกส๎เปียร์อยู่เสมอ, ฃ้าพเจ้าสามารถแต่งไปได้จนถึงปลายองค์ที่ ๓ ภายในเวลาราวเดือนเดียวเท่านั้น ต่อมาฃ้าพเจ้ามีกิจธุระมากไม่ใคร่จะมีสมาธิ, จึ่งแปลได้แต่ทีละท่อนเล็กท่อนน้อยเปนครั้งคราว จนมากระทบเหตุที่ทำให้ฃ้าพเจ้าต้องสลดใจแสนสาหัส, คือกรมหลวงปราจิณได้สิ้นพระชนม์ลง, ทำให้ฃ้าพเจ้าเศร้าใจจนจับหนังสือเรื่องนี้เฃ้าอีกไม่ได้เปนช้านาน, ต่อเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๖๔, ฃ้าพเจ้าค่อยมีใจปลอดโปร่ง, จึ่งได้จับแปลและแต่งต่อมาจนจบลงได้. ฃ้าพเจ้ายังรำลึกถึงพระคุณของกรมหลวงปราจิณไม่สิ้นสุด ในการที่ทรงช่วยมาแล้วแต่ก่อน จึ่งขอแสดงความรู้สึกพระคุณไว้ในที่นี้.

<รามวชิราวุธ ปร>

วันที่ ๒๖ พฤษภาคม, พ.ศ. ๒๔๖๔.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ