ภาคผนวก ๖ เนื้อหาสาระในแดนต่าง ๆ

นรกภูมิ

นรกเป็นแดนหนึ่งในอบายภูมิ ๔ คนตกนรกเพราะมีจิตใจชั่วและทำความชั่ว ซึ่งเกิดจากความโลภ ความโกรธ และความหลง การทำชั่วนั้นมีทั้งทางกาย วาจา และใจ ทางกาย ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์และเป็นชู้ ทางวาจา ได้แก่ พูดเท็จ พูดส่อเสียดยุยง พูดคำหยาบนินทาป้ายร้าย และพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ทางใจ ได้แก่ หลงผิด พยาบาท และปองร้าย

เมืองนรกนั้น แยกย่อยเป็นนรกต่าง ๆ ได้แก่ นรกใหญ่ ๘ ขุม ซ้อนกันอยู่ใต้ดินเป็นชั้น ๆ ลึกลงไปเรียงลำดับจากสูงไปหาต่ำได้ดังนี้ คือ สัญชีพนรก กาฬสุตตนรก สังฆาฏนรก โรรุวนรก มหาโรรุวนรก ตาปนรก มหาตาปนรก และมหาอวีจีนรก แต่ละขุมมีกำแพงเหล็กแดงลุกเป็นไฟอยู่เสมอ ล้อมสี่ด้าน ข้างบนและพื้นล่างก็เป็นเหล็กแดงลุกเป็นไฟอยู่เช่นกัน สัตว์นรกนั้นจะถูกไฟเผาไหม้ตัวอยู่ตลอดเวลา นอกจากนรกใหญ่แล้วยังมีนรกบ่าวและนรกเล็ก ๆ เป็นบริวารอีกมากมาย นับรวมนรกทั้งหมดได้ ๔๕๖ ขุม

พระยายมราชซึ่งเป็นใหญ่ในเมืองนรกนั้น เป็นผู้พิจารณาตัดสินว่าผู้ใดจะได้ขึ้นสวรรค์หรือตกนรก ตามบุญและบาปที่ได้กระทำไว้ ผู้ใดทำบุญเอาไว้ เทวดาก็จะตราบัญชีลงในแผ่นทองสุก แต่ถ้าทำบาป เทวดาก็จะตราบัญชีลงในแผ่นหนังหมา

บาปกรรมที่ทำให้คนตกนรกใหญ่ ๘ ขุม ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ได้แก่

๑. ไม่รู้จักบาปบุญและคุณของพระรัตนตรัย

๒. ตระหนี่ทรัพย์ ไม่ให้ทาน และห้ามผู้อื่นทำทาน

๓. ไม่รักพี่น้อง ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่มีเมตตากรุณา

๔. ลักทรัพย์ของผู้อื่น

๔. เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น

๖. พูดเท็จ พูดส่อเสียดยุยง พูดคำหยาบนินทาป้ายร้าย และพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

๗. ดื่มสุราเมามาย

๘. ไม่เคารพยำเกรงผู้เฒ่าผู้แก่ นักบวช และครูบาอาจารย์

บาปกรรมอย่างอื่น นอกจากที่กล่าวมานี้ ทำให้คนไปตกนรกบ่าว ๑๖ ขุม ซึ่งอยู่ล้อมรอบสัญชีพนรก มีดังนี้

๑. ผู้ที่ชอบทำร้ายหรือชิงเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยใช้กำลัง ตายไปเกิดในเวตรณีนรก ถูกยมบาลไล่พุ่งแทง ให้ตกลงไปในแม่น้ำเวตรณี ถูกทรมานด้วยเหล็กแดงเผาไหม้

๒. ผู้ที่ด่าว่านักบวช ผู้มีศีล ตลอดจนพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ตายไปเกิดในสุนัขนรก ถูกสุนัขนรกรุมขบกัดและถูกฝูงแร้งกาจิกตอด

๓. ผู้ที่กล่าวให้ร้ายแก่ผู้มีศีลโดยไม่เป็นความจริง ทำให้ท่านเจ็บ อาย ตายไปเกิดในสโชตินรก ถูกทุบตีด้วยค้อนเหล็กแดง

๔. ผู้ที่หลอกลวงผู้อื่นให้บริจาคทรัพย์ทำบุญ แล้วกลับนำทรัพย์นั้นไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ตายไปเกิดในอังคารกาสุนรก ถูกยมบาลไล่ต้อนฟันแทงให้ตกลงไปในหลุมถ่านไฟแดง และถูกรดศีรษะด้วยถ่านไฟแดง

๕. ผู้ที่ตีนักบวช ผู้มีศีล ตายไปเกิดในโลหกุมภีนรก ถูกยมบาลจับโยนลงในหม้อเหล็กแดง

๖. ผู้ที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ตายไปเกิดในอโยทกนรก ถูกยมบาลเอาเชือกเหล็กแดงรัดคอให้ขาด แล้วเอาหัวลงไปทอดในหม้อเหล็กแดง

๗. ผู้ที่เอาข้าวลีบหรือแกลบ ฟาง ปลอมปนกับข้าวเปลือก พรางขายให้ผู้อื่น ตายไปเกิดในถุสปลาสนรก ถูกทรมานให้ลงไปในแม่น้ำ ซึ่งลุกเป็นไฟ เมื่ออยากอาหารก็ได้กินข้าวลีบและแกลบที่ลุกเป็นไฟ

๘. ผู้ที่ลักทรัพย์สินของผู้อื่น หรือกล่าวให้ร้ายผู้อื่นว่าเป็นโจร หรือหลอกลวงเอาทรัพย์ของผู้อื่น ตายไปเกิดในสัตติหตนรก ถูกยมบาลใช้หอกชนักไล่พุ่งแทงจนร่างแหลก

๙. ผู้ที่ฆ่าปลาและหาบมาขายในตลาด ตายไปเกิดในพิลสนรก ถูกยมบาลเอาเชือกเหล็กแดงคล้องคอลากไปทอดเหนือแผ่นเหล็กแดง ล้วนแทงด้วยหอกชนัก แล้วจึงแล่เนื้อออกเรียงขาย

๑๐. ผู้ใดเป็นข้าราชการเรียกเก็บส่วยสาอากรมากกว่ากำหนด (กระทำฉ้อราษฎร์บังหลวง) หรือกล่าวร้าย ทุบตี ตลอดจนฆ่าผู้ที่รักตน ตายไปเกิดในโปราณมิฬหนรก ถูกลงโทษให้อยู่ในแม่น้ำซึ่งเต็มไปด้วยอาจม และต้องกินอาจมนั้นต่างข้าวต่างน้ำทุกวัน

๑๑. ผู้ที่ทำร้ายพ่อแม่ พระสงฆ์ ผู้มีคุณ และผู้มีศีล ตายไปเกิดในโลหิตปุพพนรก ถูกลงโทษให้อยู่ในแม่น้ำซึ่งเต็มไปด้วยเลือดและหนอง ต้องกินเลือดและหนองนั้น เมื่อเลือดและหนองตกถึงท้องก็กลายเป็นไฟไหม้พุ่งออกทางทวาร

๑๒. ผู้ใดเจรจาซื้อสิ่งของผู้อื่นแล้วโกหกว่าจะให้เงิน และโกงเอาสิ่งของผู้อื่นด้วยตาชั่งหรือทะนานแล้วไม่ให้เงินแก่เขา ตายไปเกิดในโลหพิฬสนรก ถูกยมบาลใช้คีมดึงลิ้นออกมาแล้วเอาเบ็ดซึ่งเป็นเหล็กแดงเกี่ยวลากไป ผลักไปเหนือแผ่นเหล็กแดง

๑๓. ผู้ชายที่เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น และผู้หญิงที่มีชู้ ตายไปเกิดในสังฆาฏนรก ถูกยมบาลใช้หอกแทงร่างกายจนขาดวิ่นและถูกฝังในแผ่นเหล็กแดงครึ่งตัว แล้วมีภูเขาเหล็กแดงกลิ้งมาทับ

๑๔. ผู้ชายที่เป็นผู้กับภรรยาผู้อื่น ตายไปเกิดในอวังสิรนรก ถูกยมบาลจับ ๒ เท้าหย่อนหัวลงไปในขุมนรกนั้น แล้วเอาค้อนเหล็กแดงตีจนยับย่อย

๑๔. ผู้ชายที่เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น และผู้หญิงที่มีชู้ ตายไปเกิดในโลหสิมพลีนรก ถูกทรมานให้ปีนต้นงิ้วซึ่งมีหนามเป็นเหล็กแดงลุกเป็นไฟ

๑๖. ผู้ใดที่มีความหลงผิด ไม่รู้จักบุญ ทำแต่บาป ตายไปจะต้องตกนรกชื่อ มิจฉาทิฏฐินรก ได้รับทุกข์ทรมานหนักยิ่งกว่านรกทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว จะถูกยมบาลใช้อาวุธที่ลุกเป็นไฟ ทิ่มแทงฆ่าฟันให้เจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ มีนรกพิเศษเรียกว่า โลกันตนรก อยู่นอกกำแพงจักรวาล มืดสนิท แสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง จะมีแสงสว่างชั่วแวบเดียวก็ต่อเมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จลงมาปฏิสนธิในพระครรภ์พระมารดา หรือเมื่อพระองค์ประสูติ ตรัสรู้ ตรัสเทศนาพระธรรมจักร หรือเสด็จปรินิพพาน เท่านั้น บาปที่ทำให้คนต้องไปตกนรกขุมนี้ก็คือ ทำร้ายพ่อแม่ นักบวช ครูบาอาจารย์ และยุยงให้พระสงฆ์แตกกัน สัตว์ในโลกันตนรกนี้มีลักษณะดังค้างคาวตัวใหญ่เกาะที่กำแพงจักรวาล เวลาหิวก็จะจับกันกิน เมื่อพลาดตกลงไปในน้ำซึ่งเย็นจัด ตัวก็จะเปื่อยแหลกและตายทันที แล้วก็กลับกลายเป็นตัวขึ้นมาอีก ต้องทนทุกขเวทนาอยู่ในนั้นชั่วพุทธันดรกัลป์หนึ่ง

จะเห็นได้ว่า ภาพของนรกที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสของคนนรก (หรือสัตว์นรก) หรือผู้ที่ประพฤติผิดต่าง ๆ เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ ภาพของนรกเต็มไปด้วยเปลวไฟ และอาวุธต่าง ๆ ที่ยมบาลใช้ทรมานคนนรกก็ร้อนจนเป็นเหล็กแดง ทุกสิ่งทุกอย่างในนรกเป็นไฟทั้งสิ้น ภาพต่าง ๆ เหล่านี้ สร้างความรู้สึกหวาดกลัวขึ้นในจิตใจผู้อ่านได้ ซึ่งนับได้ว่ามีผลในทางสั่งสอนจริยธรรม ให้คนกลัวบาป ไม่กล้ากระทำสิ่งผิด เพราะเมื่อตายไปอาจต้องไปทนทุกข์ทรมานในแดนนรกก็ได้

ติรัจฉานภูมิ

ติรัจฉานภูมิเป็นแดนของสัตว์เดรัจฉานซึ่งปฏิสนธิได้ทั้ง ๔ แบบ (โยนิ ๔) สัตว์เดรัจฉานเวลาเดินจะคว่ำอกลงเบื้องล่าง รู้จักสืบพันธุ์ รู้จักกินอาหารและรู้จักตาย อย่างที่ในไตรภูมิกถากล่าวว่า ฝูงติรัจฉานย่อมพลันด้วยกามสัญญา อาหารสัญญา และมรณสัญญา แต่สัตว์เดรัจฉานไม่มีธรรมสัญญาเหมือนอย่างมนุษย์ คือ ไม่รู้จักบุญ บาป ไม่รู้จักเลี้ยงชีวิตด้วยการทำมาค้าขาย หรือทำไร่ไถนา ตายไปสู่อบายภูมิทั้งสิ้น

ไตรภูมิกถาได้กล่าวถึงสัตว์เดรัจฉานที่เป็นใหญ่หรือที่มีกำลังอำนาจมากไว้ ดังนี้

ราชสีห์ มี ๔ ชนิด ได้แก่

๑. ติณสีห์ ตัวมันดังปีกนกเขา กินหญ้าเป็นอาหาร

๒. กาฬสีห์ ตัวดำดังวัวดำ กินหญ้าเป็นอาหาร

๓. ปัณฑุรสีห์ ตัวเหลือง กินเนื้อเป็นอาหาร

๔. ไกรสรสีห์ ปาก ท้อง และปลายเท้าแดง ตัวขาวดังหอยสังข์ งามสง่า ร้องเสียงดังไปไกลได้ ๓ โยชน์ สัตว์อื่น ๆ ได้ยินเสียงไกรสรสีห์จะตกใจแล้วหนีไปสิ้น

ช้างแก้ว มี ๑๐ ตระกูล เรียกชื่อต่าง ๆ กันไป แต่ที่รู้จักกันดีก็คือ ตระกูลฉัททันต์ อาศัยอยู่ในคูหาทอง

ปลาใหญ่ มี ๗ ตัว คือ ติมิ ติงมิงคล ติมิรปิงคล อานนท์ ติมินทะ อัชฌนาโรหะ และมหาติมิระ ลำตัวยาวตั้งแต่ ๒๐๐ โยชน์ ถึง ๑,๐๐๐ โยชน์ ปลาใหญ่ติมิรปิงคลนั้น ลำตัวยาว ๕๐๐ โยชน์ เมื่อเคลื่อนไหวจะทำให้เกิดฟองคลื่นในมหาสมุทรได้ ส่วนปลาอานนท์และปลาอื่น ๆ ซึ่งตัวใหญ่กว่าก็จะมีกำลังมากยิ่งขึ้นไปอีก

พญาครุฑ เป็นสัตว์เดรัจฉานที่มีความเป็นอยู่ดังเทวดาในสวรรค์ มีฤทธิ์เดชเนรมิตกายได้ เป็นใหญ่ในหมู่พวกนก พญาครุฑและบริวารอาศัยอยู่บนต้นงิ้วซึ่งเรียงรายรอบสระใหญ่ที่มีชื่อว่า สิมพลีสระ บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุ พญาครุฑนั้นมีลักษณะใหญ่โตถึง ๑๕๐ โยชน์ มีกำลังมาก จับนาคกินเป็นอาหาร

นาค เป็นสัตว์ที่มีอยู่ทั้งในน้ำและบนบก สามารถเนรมิตกายเป็นสัตว์อะไรก็ได้ หรือเนรมิตกายเป็นเทวดา เทพธิดาก็ได้ ที่อยู่ของนาคเรียกว่า นาคพิภพ เป็นแผ่นดินขาวงามดังแผ่นเงินยวง มีสระใหญ่หลายแห่งเป็นที่อยู่ที่เล่นของนาค มีปราสาทแก้ว เงิน ทอง งดงามยิ่ง เมืองของนาคราชนั้นกล่าวไว้ว่าอยู่ใต้เขาพระหิมพานต์ งามดังไตรตรึงษ์ของพระอินทร์

ราชหงส์ มีปราสาทอยู่ในคูหาทองคำในเขาคิชฌกูฏ

สัตว์เดรัจฉานนั้นนอกจากจะเป็นอาหารของสัตว์ด้วยกันเองแล้ว ยังเป็นอาหารของคน และถูกคนนำมาใช้งานให้ได้รับทุกข์ทรมานอีกด้วย ดิรัจฉานภูมิจึงเป็นแดนมีทุกข์อีกแดนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในดิรัจฉานภูมินี้มิได้กล่าวไว้ว่า บุคคลกระทำความชั่วอย่างไร จึงต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

เปรตภูมิ

เปรตภูมิเป็นแดนของพวกเปรต เปรตปฏิสนธิได้ทั้ง ๔ แบบ มีทั้งพวกที่อยู่ในน้ำบนยอดเขา และพวกที่อยู่กลางเขา เปรตบางพวกมีความเป็นอยู่ดีเหมือนเทวดา คือมีวิมานทิพย์ บางพวกมีพาหนะท่องเที่ยวไปตามอำเภอใจและมีอายุยืน บางพวกเป็นเปรตเฉพาะเวลาข้างขึ้น เป็นเทวดาข้างแรม บางพวกเป็นเปรตตอนข้างแรม และเป็นเทวดาตอนข้างขึ้น

ลักษณะของเปรตบางพวกน่าเกลียด และน่าเวทนามาก ต้องทุกข์ทรมานเพราะอดข้าวอดน้ำ ต้องกินสิ่งโสโครกเน่าเหม็นและกินเนื้อหนังของตนเอง คนที่ตายไปเป็นเปรตนั้น ก็เพราะกระทำบาปต่าง ๆ ไว้ สรุปได้ดังนี้

๑. ริษยาคนมั่งมี ดูถูกคนยากไร้

๒. ล่อลวงเอาทรัพย์สินผู้อื่นมาเป็นของตน

๓. ตระหนี่ ไม่ยอมให้ทานและยังห้ามปรามผู้อื่นไม่ให้ทำทานด้วย

๔. ฉ้อโกงเอาทรัพย์สินของสงฆ์มาไว้เป็นของตน

๔. กล่าวขวัญครูบาอาจารย์และพระสงฆ์ (คงหมายถึงติเตียนด่าว่า)

๖. ติเตียนและยุยงให้พระสงฆ์ผิดใจกัน

๗. ให้ยาแก่หญิงมีครรภ์กินเพื่อให้แท้งลูก

๘. โกรธเคืองและแช่งด่าสามีที่ทำบุญแก่พระสงฆ์

๙. ปลอมปนข้าวลีบในข้าวดีแล้วหลอกขาย

๑๐. ทำร้ายทุบตีพ่อแม่

๑๑. ไม่ยอมให้ข้าวเป็นทาน โดยโกหกว่าหาข้าวไม่ได้ และยังสบถอีกว่าไม่ได้โกหก

๑๒. ลักเนื้อของผู้อื่นมากิน แล้วปฏิเสธและยังสบถว่าไม่ได้ลัก

๑๓. กลางวันเป็นพรานล่าเนื้อ กลางคืนจำศีล

๑๔. เป็นนายเมืองตัดสินความไม่เที่ยงธรรมและชอบกินสินจ้าง

๑๔. ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ด้วยของเหลือเดน

๑๖. ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ด้วยเนื้อสัตว์ที่มีเล็บและไม่มีเล็บ

๑๗. ด่าและสบประมาทพระสงฆ์ กล่าวเท็จต่อพระสงฆ์ และผู้เฒ่าผู้แก่

๑๘. ข่มเหงคนเข็ญใจ

๑๙. เผาป่าทำให้สัตว์ถูกไฟไหม้ตาย

อสุรกายภูมิ

อสุรกายภูมิเป็นแดนของพวกอสูรหรืออสุรกาย ซึ่งปฏิสนธิได้ทั้ง ๔ แบบ พวกนี้รูปร่างน่าเกลียด บางพวกผอมบางไม่มีเลือดเนื้อราวกับใบไม้แห้ง มีแต่ความทุกข์ยาก บางพวกท้องยาน ปากใหญ่ หลังหัก จมูกเบี้ยว แต่มีบริวารราวกับพระอินทร์ ที่อยู่ของพวกอสูรหรืออสูรพิภพนั้นอยู่ใต้ดินใต้เขาพระสุเมรุ ลึกลงไปประมาณ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ มีเมืองใหญ่ ๔ เมือง ซึ่งงดงามด้วยปราสาทราชมนเทียร ประดับประดาด้วยทองและแก้ว ๗ ประการ เป็นเมืองของพระยาอสูร

ราหู เป็นพระยาอสูรตนหนึ่งซึ่งมีกำลังอำนาจแกล้วกล้ากว่าพระยาอสูรทั้งหลาย เป็นผู้มีจิตริษยาความงามของพระอาทิตย์และพระจันทร์ จึงมักจะแกล้งทำให้รัศมีพระอาทิตย์และพระจันทร์เศร้าหมองที่เรียกว่า สุริยคาธ หรือจันทรคาธ

แม้ว่าราหูจะมีอำนาจยิ่งใหญ่เพียงใดก็ยังเกรงกลัวต่อองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ราหูจะรีบวางพระอาทิตย์และพระจันทร์ทันทีที่ได้ยินพุทธฎีกาของพระพุทธเจ้าให้ปล่อยพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นอิสระ

ในอสุรกายภูมิก็เช่นเดียวกับติรัจฉานภูมิ ที่มิได้กล่าวไว้ว่า บุคคลทำความผิดเช่นไรจึงจะไปเกิดเป็นอสูรหรืออสุรกาย

แดนทั้ง ๔ ที่กล่าวมาแล้วนี้ คือ นรกภูมิ ติรัจฉานภูมิ เปรตภูมิ และอสุรกายภูมิ รวมเรียกว่า จตุราบายภูมิ หรือทุคติภูมิ ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องชาติหน้า ว่าบุคคลจะต้องชดใช้ผลกรรมในชาติหน้านั่นเอง

มนุสสภูมิ

สัตว์ที่เกิดในมนุสสภูมินี้ ปฏิสนธิได้ทั้ง ๔ แบบ แต่มักจะเกิดแบบชลามพุชโยนิมากกว่าแบบอื่น บุตรที่เกิดมานั้นแบ่งได้เป็น ๓ ลักษณะ คือ อภิชาตบุตร อนุชาตบุตร และอวชาตบุตร

อภิชาตบุตร หมายถึง บุตรที่เฉลียวฉลาดมีเชาว์ปัญญา รูปงาม และมียศศักดิ์สูงยิ่งกว่าพ่อแม่

อนุชาตบุตร หมายถึง บุตรที่มีภูมิปัญญาและรูปโฉมเสมอกับพ่อแม่

อวชาตบุตร หมายถึง บุตรที่ต่ำกว่าพ่อแม่ทุกประการ

นอกจากจะแบ่งมนุษย์โดยเปรียบเทียบกับพ่อแม่แล้ว ยังแบ่งมนุษย์ตามลักษณะการทำบุญทำบาปได้อีก ๔ ประการ คือ คนนรก คนเปรต คนดิรัจฉาน และคนมนุษย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการแบ่งชั้นของบุคคลว่าแตกต่างกันด้วยการกระทำ ดังนี้

คนนรก หมายถึง คนที่ทำบาปฆ่าสัตว์ แล้วถูกตัดตีนสินมือได้รับทุกขเวทนา จัดเป็นบุคคลชั้นต่ำสุดในสังคม

คนเปรต หมายถึง คนที่ไม่เคยทำบุญมาก่อน เกิดมาเป็นคนเข็ญใจ ยากไร้ รูปร่างไม่งดงาม จัดเป็นบุคคลชั้นที่ ๒ คือ ไม่ทำความดี แต่ก็ไม่เบียดเบียนใคร

คนดิรัจฉาน หมายถึง คนที่ไม่รู้จักบุญและบาป ไม่มีความเมตตากรุณา ไม่รู้จักยำเกรงผู้ใหญ่ ไม่รู้จักปฏิบัติต่อพ่อแม่ ครู อาจารย์ และไม่รู้จักรักพี่รักน้อง กระทำบาปอยู่เสมอ จัดเป็นบุคคลชั้นเลวในสังคม แต่ยังไม่เลวเท่าคนนรก

คนมนุษย์ หมายถึง คนที่รู้จักบุญและบาป มีความเกรงกลัวและละอายต่อบาป มีเมตตากรุณา รู้จักยำเกรงผู้ใหญ่ และรู้จักคุณของพระรัตนตรัย คนประเภทนี้ได้ชื่อว่า มนุษย์ธรรม เป็นบุคคลที่ดีที่สุดในสังคม

ที่อยู่ของมนุษย์ คือ ทวีปทั้ง ๔ ได้แก่ ชมพูทวีปซึ่งเราอาศัยอยู่นี้ บุรพวิเทหะซึ่งอยู่ทางตะวันออก อุตตรกุรุซึ่งอยู่ทางเหนือ และอมรโคยานซึ่งอยู่ทางตะวันตก

บุรพวิเทหะ อุตตรกุรุ และอมรโคยาน เป็นทวีปในอุดมคติ ผู้คนใน ๓ ทวีปนี้มีอายุยืนนานกว่าผู้คนในชมพูทวีป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในอุตตรกุรุจะมีอายุถึง ๑,๐๐๐ ปี ทั้งนี้เพราะคนเหล่านี้อยู่ในศีล ๕ ไม่เคยทำบาปใด ๆ เรื่องการกำหนดอายุของคนนี้ แสดงความเชื่อที่ว่า คนที่ทำแต่กรรมดีย่อมจะอายุยืนกว่าคนที่ทำแต่กรรมชั่ว

ไตรภูมิกถาได้บรรยายถึงแผ่นดินอุตตรกุรุ ลักษณะผู้คน และสังคมอันเป็นอุดมคติของคนในอุตตรกุรุไว้อย่างน่าสนใจ ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

แผ่นดินอุตตรกุรุ มีภูเขาทองล้อมรอบ พื้นดินราบเรียบ งดงามด้วยไม้นานาพรรณแผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่น ต้นไม้เหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของคนอุตตรกุรุ เครื่องใช้ต่าง ๆ ในบ้านจะบังเกิดขึ้นมาเอง เป็นต้นว่า เสื่อ ฟูก หมอน บ้านบนต้นไม้จะงดงามราวกับปราสาท ในสระน้ำบึงหนองก็จะเต็มไปด้วยดอกบัวนานาพรรณ ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่ว

ลักษณะผู้คนและความเป็นอยู่ คนอุตตรกุรุมีใบหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือ ๔ มุม รูปร่างไม่สูงไม่ต่ำ ไม่อ้วนไม่ผอม ผู้หญิงทุกคนงามหมดและไม่รู้จักแก่เฒ่า งามดังสาวอายุ ๑๖ ปี ส่วนผู้ชายก็เช่นกัน งามดังหนุ่มอายุ ๒๐ ปีทุกคน คนอุตตรกุรุไม่มีความกลัวในสิ่งใดเลย มีแต่ความสุขสบายไม่ต้องทำมาหากินใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีความเดือดร้อนใด ๆ เลย แม้แต่ข้าวในนาก็เกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องปลูก ข้าวชนิดพิเศษนี้เรียกว่า สัญชาตสาลี เกิดเองและแตกรวงออกมาเป็นข้าวสารเลย เมื่อต้องการจะหุงข้าว ก็นำหม้อข้าวไปวางบนศิลา ชื่อ โชติปาสาณ แล้วจะเกิดเป็นไฟลุก และเมื่อข้าวสุกไฟก็จะดับเอง ซึ่งนับว่าสะดวกสบายมาก ส่วนอาหารอื่น ๆ หากต้องการสิ่งใดก็จะเกิดขึ้นมาเองเช่นกัน คนอุตตรกุรุเมื่อกินข้าวสาลีนั้นแล้วจะไม่เจ็บป่วยเป็นอะไรทั้งสิ้น เมื่อปรารถนาทรัพย์สิ่งใดก็จะนึกหาได้จากต้นกัลปพฤกษ์ มีชีวิตที่สุขสนุกสนานกับการร้องรำทำเพลง คนอุตตรกุรุทุกคนไม่ถือว่าเสื้อผ้าเครื่องประดับต่าง ๆ เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง สามารถจะใช้ร่วมกันได้ จึงไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งใด ๆ ทั้งสิ้น

ชีวิตครอบครัว หนุ่มสาวชาวอุตตรกุรุหากเกิดรักใคร่กันก็จะอยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องมีพิธีแต่งงาน แต่ว่าจะเสพเมถุนกันน้อยมาก ผู้หญิงอุตตรกุรุนั้น เวลาคลอดลูกจะไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด เมื่อคลอดแล้วจะไม่ให้ลูกกินนมของตนและไม่ได้เลี้ยงลูกเอง แต่เด็กจะเติบโตขึ้นด้วยบุญของตัวเด็กนั้น

นี่ก็แสดงว่า แม่กับลูกไม่มีความผูกพันกัน เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะไปอยู่รวมกลุ่มเด็ก ๆ ด้วยกัน เด็กผู้หญิงจะอยู่กลุ่มหนึ่ง เด็กผู้ชายจะอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ดี แม่กับลูกหรือพ่อกับลูกจะไม่มีวันได้รักใคร่เป็นสามีภรรยากันโดยเด็ดขาด เพราะคนอุตตรกุรุเป็นผู้มีบุญนั่นเอง

เมื่อมีคนตายเขาจะไม่ทุกข์โศก เขาจะอาบน้ำศพและแต่งตัวศพแล้วนำไปไว้ในที่แจ้ง จากนั้นจะมีนกใหญ่ชนิดหนึ่งบินมาคาบเอาศพไปจากแผ่นดินอุตตรกุรุ นกที่ว่านี้ บางอาจารย์ว่าเป็น นกหัสดีลึงค์ บ้างก็ว่าเป็นนกอินทรี บ้างก็ว่าเป็นนกกด คนอุตตรกุรุนั้นตายแล้วย่อมได้ขึ้นสวรรค์ ทั้งนี้เพราะดำรงอยู่ในศีลห้า

พระยาจักรพรรดิราช ไตรภูมิกถาได้บรรยายถึงบุญญาบารมีของพระยาจักรพรรดิราชในชมพูทวีปไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่า การเกิดมาเป็นพระยาจักรพรรดิราชผู้มียศศักดิ์อำนาจเป็นเจ้าโลกได้นั้นต้องเป็นผู้ที่เคยบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ มาแล้วมากมาย แม้ในปัจจุบันก็ยังประพฤติปฏิบัติอยู่

พระยาจักรพรรดิราชนั้นทรงเป็นที่เคารพยำเกรงของคนทั้งหลาย พระองค์นั้นทรงคุณธรรมสูง ทรงสดับพระธรรมเทศนาและทรงศีล ๕ มิได้ขาด นอกจากนี้ ในวันอุโบสถพระองค์ก็ได้ทรงศีล ๘ และพระราชทานพระราชทรัพย์ให้เป็นทานแก่ผู้มาขอ หลังจากนั้นก็ทรงเจริญเมตตาภาวนา ด้วยอำนาจบุญสมภารเหล่านี้ พระองค์จึงทรงปราบได้ทั่วทั้งจักรวาล

พระยาจักรพรรดิราชสั่งสอนคนทั้งหลายให้รู้ธรรมเหมือนดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมา พระองค์ได้ทรงสั่งสอนท้าวพระยาทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

๑. จงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม

๒. ตัดสินความด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม

๓. ตั้งอยู่ในเบญจศีล

๔. เรียกเก็บข้าวเปลือกจากชาวนา ๑ ส่วนใน ๑๐ ส่วนเข้าเป็นของหลวง

๕. เลี้ยงดูทหารทั้งหลายอย่าให้อดอยาก ใช้ทหารให้ทำงานแต่พอสมควร อย่าให้หนักเกินไป และไม่ควรใช้คนเฒ่าคนแก่ทำงาน

๖. เก็บส่วยจากราษฎรด้วยความชอบธรรมตามแบบโบราณ อย่าได้เก็บมากเกินไป

๗.ให้พ่อค้ากู้เงินไปทำทุนค้าขายโดยไม่คิดดอกเบี้ย

๘.ให้ทรัพย์สินแก่บรรดาลูกเมียข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลาย

๙. เลี้ยงดูรักษาสมณพราหมณ์และนักปราชญ์ราชบัณฑิต และไต่ถามท่านเหล่านั้นถึงข้อธรรมต่าง ๆ

๑๐.ให้รางวัลแก่ผู้ที่ทำความชอบ ทำประโยชน์แก่ท้าวพระยา

พระยาจักรพรรดิราชทรงมีแก้ว ๗ ประการ ซึ่งเกิดด้วยบุญของพระองค์เท่านั้น ได้แก่ กงจักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว ดวงแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว และลูกแก้ว แก้วทั้ง ๗ ประการนี้มีอำนาจศักดานุภาพมาก ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

กงจักรแก้ว หรือจักรรัตนะ มีลักษณะงดงาม รัศมีรุ่งเรืองราวกับพระอาทิตย์ ลอยขึ้นมาจากท้องมหาสมุทร ผู้ใดได้เคารพบูชาก็จะสามารถบำบัดรักษาความเจ็บไข้ได้ และยังบันดาลให้เกิดความร่ำรวยอีกด้วย มีอำนาจมาก สามารถพาพระยามหาจักรพรรดิราชและผู้ติดตามทั้งหลายเหาะไปในอากาศได้

ช้างแก้ว เป็นช้างเผือกอาจจะมาจากตระกูลฉัททันต์หรือตระกูลอุโบสถก็ได้ เป็นช้างเหาะได้ และสามารถจะพาพระยามหาจักรพรรดิราชและรี้พลทั้งหลายเหาะไปในอากาศได้

ม้าแก้ว หรือม้าพลาหกอัศวราช เหาะได้และพารี้พลทั้งหลายเหาะไปได้เช่นกัน

ดวงแก้ว หรือมณีรัตนะ ใหญ่เท่าดุมเกวียน ยาวสี่ศอก เป็นพระยาแก้ว มีบริวารแก้ว ๘๔,๐๐๐ ชนิด ลอยไปในอากาศได้ และมีรัศมีรุ่งเรืองงามดังรัศมีพระจันทร์วันเพ็ญ สามารถส่องสว่างในเวลากลางคืน

นางแก้ว เป็นหญิงงามเหาะมาจากแผ่นดินอุตตรกุรุ ผิวพรรณเกลี้ยงเกลาหมดจด รูปร่างกำลังดี มีรัศมีส่องสว่างออกจากตัว ผิวเนื้ออ่อนนุ่มดังสำลี เมื่อใดที่พระยามหาจักรพรรดิราชมีพระกายเย็น ตัวนางแก้วจะอุ่น แต่ถ้าพระสวามีมีพระกายร้อน ตัวนางแก้วจะเย็น นอกจากนี้กลิ่นกายนางแก้วยังหอมฟุ้งดังกลิ่นแก่นจันทน์บด กลิ่นปากก็หอมดังกลิ่นดอกบัว เป็นที่รักใคร่ของพระสวามี

ขุนคลังแก้ว เป็นมหาเศรษฐีมาก่อน แต่เมื่อมาเป็นขุนคลังแก้วจะมีอานุภาพราวกับผู้มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เพียงคิดว่าจะได้แก้วแหวนเงินทองจากที่ใดก็จะได้รับดังใจนึกทันที

ลูกแก้ว (ขุนพลแก้ว) เป็นผู้ที่ฉลาดรอบรู้ยิ่งกว่าโอรสองค์ใด รู้ใจคนทั้งหลายว่าใครดีใครชั่ว คอยช่วยแบ่งเบาพระราชกิจของพระราชบิดา

แก้วทั้ง ๗ ประการนี้จะกลับคืนสู่สภาพเดิม หรือปราศจากอำนาจต่าง ๆ หากสิ้นบุญของพระยามหาจักรพรรดิราช แต่สำหรับลูกแก้วนั้น หากได้ทำบุญเอาไว้มากก็อาจจะได้เป็นพระยามหาจักรพรรดิราชแทนพระราชบิดาก็ได้

ในตอนที่ว่าด้วยเรื่องพระยามหาจักรพรรดิราชนี้ ได้กล่าวถึงบุญบารมีของพระยาองค์หนึ่ง คือ พระยาศรีธรรมาโศกราช แห่งปาตลีบุตรมหานคร กับมเหสี คือนางอสันธิมิตตา พระยาองค์นี้ ทรงเป็นที่เคารพบูชาของท้าวพระยาทั้งหลายตลอดจนเทวดาและสัตว์ทั้งหลาย ทรงได้รับความจงรักภักดี บำรุงบำเรอจากเหล่าเทวดาและสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งจะนำผลไม้และของแปลก ๆ จากป่าหิมพานต์มาถวายพระองค์ พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ มากมาย เป็นต้นว่า ทรงถวายภัตตาหารแด่พระสงข์ ๖ หมื่นรูปทุกเช้า ทรงสร้างวัดอโศการาม และพระมหาธาตุ ๘๔,๐๐๐ องค์ พระวิหารอีก ๘๔,๐๐๐ แห่ง ฝ่ายนางอสันธิมิตตาก็เป็นผู้มีบุญ ด้วยในชาติก่อนนั้น นางได้บูชาพระปัจเจกโพธิเจ้าองค์หนึ่งด้วยผ้าผืนหนึ่ง ในชาตินี้นางจึงได้รับผลบุญตอบแทนอย่างใหญ่หลวงจากพระไพศรพณ์มหาราช คือ ได้รับผอบแก้วทิพย์ซึ่งบรรจุผ้าทิพย์เอาไว้ไม่มีวันหมดสิ้น เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่า การทำความดีย่อมได้รับผลดีตอบแทนนั่นเอง

เรื่องของผู้มีบุญนี้ นอกจากจะกล่าวถึงเรื่องราวของพระยาศรีธรรมาโศกราชและนางอสันธิมิตตาแล้ว ไตรภูมิพระร่วงยังได้กล่าวถึงเรื่องของ โชติกเศรษฐี ไว้ด้วย เป็นทำนองนิทานประกอบว่า โชติกเศรษฐีมีปราสาทแก้ว ๗ ชั้นอยู่ในนครราชคฤห์ ร่ำรวยมหาศาล มีขุมทองถึง ๔ ขุมอยู่ตามมุมปราสาท แต่ละขุมเต็มไปด้วยแก้วแหวนเงินทองซึ่งไม่มีวันหมดสิ้น ปราสาทของเศรษฐีผู้นี้มีกำแพงแก้วล้อมรอบถึง ๗ ชั้น ที่ประตูกำแพงแต่ละชั้นมียักษ์เฝ้าดูแลอยู่พร้อมด้วยบริวารยักษ์มากมาย เนื่องจากเศรษฐีมีสมบัติมากมายมหาศาลนี่เองเป็นเหตุให้พระเจ้าอชาตศัตรู โอรสของพระเจ้าพิมพิสารทรงปรารถนาจะแย่งชิงสมบัติเหล่านั้นมาเป็นของพระองค์ แต่พระเจ้าพิมพิสารทรงห้ามปรามไว้ ด้วยเหตุผลที่ว่าสมบัตินั้นเกิดเพราะบุญของเศรษฐี จึงไม่ควรจะไปแย่งชิงเอามา ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูทรงสมาคมกับเทวทัต ได้เทวทัตเป็นครูและด้วยคำสอนของเทวทัต พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงแย่งชิงราชสมบัติมาจากพระราชบิดาและได้ทรงฆ่าพระราชบิดาด้วย จากนั้นก็ทรงยกกำลังไปสกัดบ้านโชติกเศรษฐี เพื่อจะชิงเอาปราสาทแก้วของโชติกเศรษฐี แต่ก็ถูกยักษ์ต้านทานตีแตกกระเจิงไป พระเจ้าอชาตศัตรูทรงหลบหนีไปยังอารามพระพุทธเจ้า ได้ทรงพบกับโชติกเศรษฐีซึ่งกำลังนั่งฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าอยู่ เมื่อเศรษฐีได้รู้เรื่องการชิงสมบัติดังกล่าวนั้น จึงได้แสดงให้พระเจ้าอชาตศัตรูเห็นว่า สมบัติของตนนั้นเกิดด้วยบุญ ถ้าตนไม่ยกให้ผู้ใดก็ไม่มีใครจะเอาไปได้ ดังเช่น แหวน ๒๐ วงในนิ้วทั้ง ๑๐ ของตนนั้น ถ้าหากไม่ปรารถนาจะให้พระเจ้าอชาตศัตรู พระองค์ก็ไม่สามารถจะถอดเอาไปได้เลย พระเจ้าอชาตศัตรูไม่ทรงเชื่อ จึงได้ทรงพยายามถอดแหวนนั้นแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ในที่สุด เมื่อเศรษฐีเอ่ยปากถวายแหวนให้พระเจ้าอชาตศัตรู แหวนทั้ง ๒๐ วงนั้น ก็หลุดลอยออกจากนิ้วมือของเศรษฐีทันที และด้วยความสังเวชใจ เศรษฐีจึงได้ลาบวชในพุทธศาสนาได้บรรลุถึงอรหัตตผล เมื่อบวชแล้วสมบัติทั้งหมดของเศรษฐีก็จมหายลงไปในพื้นดิน นิทานเรื่องนี้ก็ได้แสดงให้เห็นว่าการที่คนเราจะมีทรัพย์สมบัติมากก็เพราะได้ทำบุญเอาไว้มากแต่ชาติก่อนนั่นเอง ใครทำบุญเอาไว้ ผลบุญก็ย่อมตอบสนองผู้นั้น ไม่มีใครอื่นมาแย่งผลบุญไปได้ เว้นแต่เราจะอุทิศให้เท่านั้น

ในเรื่องของการทำบุญเป็นอย่างไรบ้างนั้น ไตรภูมิพระร่วงได้กล่าวไว้มี ๑๐ ประการ คือ

๑. ให้ทาน เป็นต้นว่า ข้าว น้ำ หมากพลู

๒. รักษาศีล อาจจะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ หรือศีล ๑๐

๓. ภาวนา เช่น สวดมนต์ สวดพระพุทธคุณ รำลึกถึงพระคุณพ่อแม่และผู้มีพระคุณ

๔. นับคำนวณผลบุญทั้งหลายที่ได้กระทำไปแล้วแก่เทวดา มนุษย์ สัตว์ทั้งหลาย ที่มีคุณแก่เรา

๕. อนุโมทนาในการให้ทานของผู้อื่น ศรัทธาและร่วมให้ทานทำบุญกับผู้อื่น

๖. ปฏิบัติรับใช้พ่อแม่ ครูอาจารย์ และปัดกวาดวัดวาอาราม

๗. เคารพยำเกรงพ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ครูบาอาจารย์และไม่ประมาทท่าน

๘. เทศนาธรรมสั่งสอนผู้อื่น

๙. หมั่นฟังพระธรรมเทศนา และหมั่นถามธรรมจากท่านผู้รู้

๑๐. เชื่อในพระรัตนตรัย พ่อแม่ ครูอาจารย์ และพระมหากษัตริย์

ต่อมาไตรภูมิกถาได้กล่าวถึงการตั้งครรภ์ของสตรีด้วยวิธีต่าง ๆ กัน มีหลายวิธีที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ เป็นแต่เพียงปรากฏในเรื่องนิทานเท่านั้น

จากนั้นได้กล่าวถึงกำเนิดของมนุษย์แบบอุปปาติกโยนิ อัณฑชโยนิ และสังเสทชโยนิ โดยเล่านิทานประกอบพร้อมทั้งสั่งสอนในเรื่องบาปบุญไปด้วย เช่น เรื่องของนางอัมพปาลิกา ซึ่งเกิดแบบอุปปาติกโยนิในคาคบไม้มะม่วง เมื่อเกิดก็เติบใหญ่เป็นสาวทันที ด้วยบุญที่นางเคยรักษาศีลมั่นคงเมื่อบวชเป็นภิกษุณีในอดีตชาติ ทำให้ชาตินี้นางมีรูปโฉมงดงาม แต่ด้วยบาปกรรมที่อดีตชาติ เคยด่าว่านางเถรีอรหันต์ ทำให้นางอัมพปาลิกาต้องกลายเป็นนางนครโสภิณี (ในชาติก่อน ๆ นางก็เคยตกนรกและเกิดเป็นหญิงแพศยามาแล้ว) อย่างไรก็ตามนางอัมพปาลิกาผู้นี้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างมาก ได้บวชและบรรลุถึงอรหันต์เป็นขีณาสพ และนิพพานไปในที่สุด

นิทานเรื่องต่อมาเล่าเรื่องการเกิดของมนุษย์แบบอัณฑชโยนิ กล่าวถึงพราหมณ์ผู้หนึ่งได้นางกินรีเป็นภรรยา ต่อมานางกินรีก็มีครรภ์และเกิดเป็นไข่ ๒ ฟอง นางกินรีได้ฟักไข่ ๆ แตกออกเป็นมนุษย์ผู้ชาย ๒ คน พี่น้องทั้งสองนี้ ต่อมาได้บวชและบรรลุอรหัตตมรรคญาณ และนิพพานไปในที่สุด

เรื่องการเกิดแบบสังเสทชโยนินั้น เล่าเรื่องนางปทุมาวดี เกิดในดอกบัวและเวลาที่นางเดินไปที่ใดจะมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับเท้าของนางทุกย่างก้าว ทั้งนี้เป็นด้วยผลบุญที่อดีตชาตินางเคยบูชาพระปัจเจกโพธิเจ้าด้วยดอกบัวหลวงและนางปรารถนาเช่นนั้น ต่อมานางปทุมาวดีได้เป็นชายาของพระยาพรหมหัตและได้ทรงครรภ์ประสูติเป็นราชกุมาร ๕๐๐ องค์ เจ้าราชกุมารผู้เป็นพี่อยู่ภายในรกแต่องค์เดียว อีก ๔๙๙ องค์นั้นติดอยู่แต่ภายนอกรกทั้งนางปทุมาวดีและราชกุมาร ๔๙๙ องค์นั้น ได้ชื่อว่าเกิดแบบสังเสทชโยนิ ส่วนเจ้าราชกุมารที่อยูในรกได้ชื่อว่าเกิดแบบชลามพุชโยนิ การที่นางปทุมาวดีมีราชกุมารถึง ๕๐๐ องค์นี้ ก็เพราะอานิสงส์ที่นางได้ถวายข้าวตอกผสมน้ำผึ้ง ๕๐๐ ก้อน แด่องค์พระปัจเจกโพธิเจ้าในอดีตชาติ และนางก็ปรารถนาจะมีลูกชาย ๕๐๐ คนด้วย ราชกุมารทั้ง ๕๐๐ องค์นี้ต่อมาได้ผนวชและตรัสรู้เป็นพระปัจเจกโพธิเจ้าทุกองค์

ต่อมา ไตรภูมิกถาได้กล่าวถึงการสิ้นขีวิตของสัตว์ทั้งหลายไว้ว่ามี ๔ ประการ คือ

๑. อายุขัย คือ ตายโดยมีอายุควรสิ้นแต่น้อย

๒. กรรมขัย คือ ตายโดยที่อายุยังไม่ควรตาย

๓.อุภยขัย คือ ตายเมื่ออายุแก่เฒ่า

๔. อุปัจเฉทกรรมขัย คือ ตายโดยอุบัติเหตุ

ในตอนท้ายของมนุสสภูมิได้กล่าวถึง ผลของกรรม ไว้ว่า ไม่ว่าบุญหรือบาปจะส่งผลทั้งในชาตินี้และชาติหน้า และต่อ ๆ ไปจนกว่าจะนิพพาน เป็นความเชื่อที่ว่า ชาติหน้ามีจริง และได้สรุปไว้ว่า คนเราเมื่อตายไปแล้ว ชีวิตภายหน้าจะไปเกิดเป็นอะไรนั้น ขึ้นอยู่กับบุญและบาปที่ได้กระทำเอาไว้

ฉกามาพจร

เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงเทพยดาว่ามี ๓ จำพวก คือ

๑. สมมุติเทวดา ได้แก่ พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงทศพิธราชธรรม

๒. อุปปัติเทวดา ได้แก่ เทวดาบนสวรรค์ฉกามาพจรถึงพรหมโลก

๓. วิสุทธิเทวดา ได้แก่ พระพุทธปัจเจกโพธิเจ้า พระอรหันต์ พระขีณาสพ

การปฏิสนธิของเทพยดาบนสวรรค์เป็นแบบอุปปาติกโยนิเพียงอย่างเดียว

ที่อยู่ของเทวดา คือ พิมานหรือวิมาน อยู่บนภูเขาหรือบนต้นไม้ใหญ่

สวรรค์ฉกามาพจร มีทั้งหมด ๖ ชั้น ดังจะได้กล่าวถึงต่อไปนี้

. จาตุมหาราชิกา เป็นสวรรค์ชั้นต่ำสุด ตั้งอยู่เหนือจอมเขายุคันธร ซึ่งเป็นภูเขาอยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ สวรรค์ชั้นนี้มีเมืองใหญ่อยู่ ๔ เมือง งดงามอย่างที่ไม่พบในโลกมนุษย์ คือ มีกำแพงเป็นทอง ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ บานประตูเมืองเป็นแก้ว ในเมืองมีปราสาทแก้ว พื้นดินเป็นทอง เมืองทั้ง ๔ นี้ ตั้งอยู่ ๔ ทิศรอบเขาพระสุเมรุ โดยมีเทพยดาผู้เป็นใหญ่ เรียกว่า พระยาจตุโลกบาล ปกครองเหล่าเทพยดา ครุฑ นาค และยักษ์ทั้งหลายตลอดถึงกำแพงจักรวาล กล่าวคือ ท้าวธตรฐปกครองด้านทิศตะวันออก ท้าววิรูปักข์ปกครองด้านทิศตะวันตก ท้าววิรุฬหกปกครองด้านทิศใต้ และท้าวไพรศรพณ์ปกครองด้านทิศเหนือ

การเกิดของเทพยดา ผู้ที่จะไปเกิดเป็นเทพยดาได้จะต้องได้กระทำบุญเอาไว้ และจะไปเกิดในฐานะอะไรนั้นขึ้นอยู่กับสถานที่เกิด กล่าวคือ ถ้าเกิดในผ้าของเทพยดาองค์ใดก็ได้ชื่อว่าเป็นลูกสาวของเทพยดาองค์นั้น เกิดเหนือที่นอนก็ได้ชื่อว่าเป็นภรรยา เกิดแทบตีนแท่นก็เป็นสาวใช้ และเกิดที่ประตูปราสาทหรือที่กำแพงด้านในก็เป็นข้าเทพยดานั้น ๆ แต่ถ้าหากเกิดนอกกำแพงในที่แดนของเทพยดาองค์ใดก็เป็นไพร่ฟ้าของเทพยดาองค์นั้น

๒. ดาวดึงสา เป็นสวรรค์ชั้นที่อยู่เหนือจาตุมหาราชิกา ตั้งอยู่เหนือจอมเขาพระสิเนรุราชบรรพต (ภูเขาพระสุเมรุ) เป็นที่ตั้งของเมืองไตรตรึงษ์ของพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทพยดาทั้งหลาย ตัวเมืองกว้างขวางใหญ่โตมาก แต่ละด้านยาวถึง ๘ ล้านวา มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ในเมืองมีปราสาทแก้วงดงามวิจิตรพิสดาร คือ ไพชยนตปราสาท นอกเมืองไตรตรึงษ์มีอุทยานทิพย์ ๕ แห่ง คือ นันทวนุทยาน ปารุสกวัน จิตรลดาวัน มิสสกวัน และมหาพน นอกจากนี้ก็ยังมีสระโบกขรณีอีกหลายแห่ง เช่น นันทาโบกขรณี จุลนันทาโบกขรณี เป็นต้น

พระอินทร์มีช้างทรงลักษณะอัศจรรย์ชื่อ ไอยราวัณ ซึ่งความจริงแล้วคือ ไอยราวัณเทพบุตร แต่ได้เนรมิตตัวเป็นช้างเผือกสำหรับพระอินทร์ประทับเสด็จไปในที่ต่าง ๆ ช้างไอยราวัณนี้หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่าเอราวัณ เป็นช้างสูงใหญ่มหึมามีหัว ๓๓ หัว แต่ละหัวมีงา ๗ อัน งาแต่ละอันมีสระ ๗ สระ แต่ละสระมีกอบัว ๗ กอ หัวแต่ละกอมี ๗ ดอก ดอกบัวแต่ละดอกมี ๗ กลีบ แต่ละกลีบมีนางฟ้ายืนรำระบำบัพพะ ๗ คน นางฟ้าแต่ละคนมีสาวใช้ ๗ นาง เมื่อใดที่พระอินทร์เสด็จประทับเหนือแท่นแก้วในหัวช้างไอยราวัณนั้น ชายาทั้ง ๔ ของพระอินทร์จะตามเสด็จไปเฝ้าด้วยเสมอ ชายาที่ประเสริฐที่สุดก็คือ นางสุธัมมา อีก ๓ องค์ก็คือ นางสุชาดา นางสุนันทา และนางสุจิตรา นอกจากนี้ ก็มีนางฟ้าอื่น ๆ ที่เป็นชายาเช่นเดียวกันอีก ๙๒ คน และมีบรรดาสาวใช้ตามเสด็จไปบนหัวช้างด้วย บรรดานางฟ้าทั้งหลายที่มีหน้าที่บรรเลงดนตรีถวายพระอินทร์นั้น มีอยู่นางหนึ่งที่รู้จักกันดี คือ นางเมขลา ซึ่งทำหน้าที่เป่าสังข์ถวาย เสียงดนตรีที่ปรากฏบนสวรรค์นี้ไพเราะเพราะพริ้งยิ่งนัก และมีความมหัศจรรย์มาก เครื่องดนตรีทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นพิณ กลอง สังข์ บัณเฑาะว์ ปี่ สามารถจะดังขึ้นมาได้เอง หากมีผู้บรรเลงดนตรีชนิดใดขึ้นมา เครื่องดนตรีชนิดเดียวกันนั้นอีกหกหมื่นชิ้นก็จะบรรเลงได้เองอย่างไพเราะประดุจมีผู้บรรเลงทีเดียว

พระจุฬามณีเจดีย์ เป็นพระเจดีย์อยู่บนสวรรค์นอกเมืองไตรตรึงษ์ เป็นที่ซึ่งพระอินทร์เสด็จไปนมัสการพร้อมด้วยบริวารอยู่เสมอ ๆ (แสดงถึงการทำความดีของเหล่าเทวดา)

นอกเมืองไตรตรึงษ์ไปทางทิศอีสาน มีอุทยานชื่อ บุณฑริกวัน ในอุทยานนี้มีต้นไม้ใหญ่ (ไม้ทองหลาง) ต้นหนึ่งชื่อ ปาริกชาติกัลปพฤกษ์ ซึ่งออกดอกช้ามาก ร้อยปีดอกจึงบานครั้งหนึ่ง เมื่อบานแล้วจะส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปไกลนับแสน ๆ วา ใต้ต้นไม้นี้มีแท่นศิลาแก้ว ชื่อว่า ปัณฑุกัมพล สีแดงเข้ม อ่อนนุ่มดังฟูก เมื่อพระอินทร์ประทับนั่งแผ่นศิลาจะอ่อนลึกลงไปถึงสะดือ เมื่อลุกขึ้นแผ่นศิลาก็จะเต็มขึ้นมาดังเก่า บริเวณใกล้ ๆ กันนั้น มีศาลาใหญ่ชื่อ สุธัมมาเทพยสภาคศาลา เป็นที่ชุมนุมสดับธรรมของเหล่าเทพยดาทั้งหลาย ผู้ที่แสดงธรรมอาจจะเป็นพระอินทร์หรือเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้ธรรม

ในตอนท้ายกล่าวสอนให้คนทำความดีเพื่อจะได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์และเทพยดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงษา

๓. ยามา อยู่เหนือสวรรค์ชั้นดาวดึงสา เทพยดาในชั้นนี้อยู่ปราสาททองและปราสาทเงิน ซึ่งมีกำแพงล้อมรอบ เทพยดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นนี้ คือ สุยามเทวราช ชั้นยามานี้อยู่สูงกว่าพระอาทิตย์ จึงมองไม่เห็นพระอาทิตย์ แต่ที่เห็นกันก็ด้วยรัศมีของแก้วและรัศมีของเทพยดาเอง และเมื่อเห็นดอกไม้ทิพย์บาน ก็คือเวลารุ่ง ดอกไม้ทิพย์หุบ ก็คือเวลาค่ำ

๔. ดุสิดา อยู่เหนือสวรรค์ชั้นยามา งดงามด้วยปราสาทแก้ว ปราสาทเงิน และปราสาททอง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ งามกว่าสวรรค์ชั้นยามา มีเทพยดาผู้เป็นใหญ่ คือ สันดุสิตเทพยราช เทพยดาในดุสิตนี้เป็นผู้รับรู้บุญรู้ธรรม สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่สถิตของพระโพธิสัตว์ ซึ่งจะลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในเมืองมนุษย์ พระศรีอาริยเมตไตรยก็สถิตอยู่ชั้นนี้

๕. นิมมานรดี อยู่เหนือสวรรค์ชั้นดุสิดา มีความงดงามยิ่งขึ้นไปอีก เทพยดาในชั้นนี้มีความสุขสมบูรณ์ ปรารถนาสิ่งใดก็สามารถจะเนรมิตได้ตามความพอใจ

๖. ปรนิมมิตวสวัตตี เป็นสวรรค์ชั้นสูงสุด ประเสริฐด้วยสุขสมบัติ ยิ่งกว่าชั้นฟ้าทั้งหลาย หากมีใจปรารถนาสิ่งใด ๆ เช่น อาหารทิพย์ ก็จะมีเทพยดาองค์อื่นคอยเนรมิตให้ทุกประการ สวรรค์ชั้นนี้มีผู้เป็นใหญ่ ๒ องค์ คือ ปรนิมมิตวสวัตตีเทวราช เป็นใหญ่ฝ่ายเทพยดา และ พระยามาราธิราช เป็นใหญ่ฝ่ายมาร

การสิ้นชีวิตของเทพยดา มี ๔ อย่าง คือ

๑. อายุขัย ได้แก่ สิ้นชีวิตตามอายุในชั้นฟ้านั้น

๒. บุญญขัย ได้แก่ สิ้นบุญก่อนถึงกำหนดอายุในชั้นฟ้านั้น

๓. อาหารขัย ได้แก่ สิ้นชีวิตเพราะสนุกจนลืมกินอาหาร

๔. โกธาพละ ได้แก่ สิ้นชีวิตเพราะความโกรธ เมื่อเทพยดาโกรธ หัวใจจะกลายเป็นไฟไหม้ตนเอง

ก่อนที่เทพยดาจะจุติ (สิ้นชีวิต) ๗ วัน จะเกิดนิมิต ๕ ประการ คือ

๑. เห็นดอกไม้ในวิมานของตนเหี่ยว และไม่หอม

๒. ผ้าทรงดูหม่นหมอง

๓. อยู่ไม่มีความสุข มีเหงื่อไคลไหลออกจากรักแร้

๔. อาสนะร้อนและแข็งกระด้าง

๔. กายของเทพยดานั้นเหี่ยวแห้ง เศร้าหมอง ไม่มีรัศมี

เรื่องนิมิตทั้ง ๕ นี้แสดงว่า แม้เทวดาก็ยังหมดความสุขได้ ไม่ใช่แต่มนุษย์เท่านั้น ดังนั้น พระพุทธเจ้า พระปัจเจกโพธิเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่ปรารถนาในสุขสมบัติ แต่ปรารถนาที่จะไปสู่นิพพานสุข

ในตอนท้ายของสวรรค์ภูมิ ได้สรุปถึงสาเหตุ ๓ ประการ ที่ทำให้คนกระทำบุญไม่กระทำบาป ก็คือ ความไม่โลภ ไม่โกรธ และไม่หลง

พรหมโลก

พรหมโลกอยู่เหนือสวรรค์ปรนิมมิตวสวัตตีขึ้นไปสูงมากสุดที่จะนับได้ พรหมโลกมีทั้งหมด ๒๐ ชั้น ชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๑๖ เรียกรวมว่า โสฬส เป็นที่อยู่ของรูปพรหม (พรหมมีรูป) ส่วนอีก ๔ ชั้นเป็นที่อยู่ของอรูปพรหม (พรหมไม่มีรูป) แต่ละชั้นมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป

รูปพรหมภูมิ พรหมทั้งหลายที่เกิดในรูปพรหมภูมินี้เกิดด้วยอุปาติกโยนิเพียงอย่างเดียว ที่อยู่ของพรหมเป็นปราสาทแก้ว มีเครื่องประดับงดงามยิ่งกว่าปราสาทเทพยดาถึงพันเท่า ผู้ที่จะไปเกิดเป็นพรหมมีรูปนี้จะต้องภาวนาให้ได้รูปฌาน ๔ ยิ่งได้ฌานชั้นสูงมากขึ้นเมื่อตายไปก็จะได้ไปเกิดเป็นพรหมในชั้นสูง ๆ ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ผู้ซึ่งจะไปเกิดเป็นพรหมจึงเป็นพวกพราหมณ์และพวกฤษีแทบทั้งนั้น นอกจากนี้ก็อาจจะเป็นพวกเทวดาที่เข้าฌานบรรลุชั้นต่าง ๆ ตามที่มีกำหนดไว้

พรหมโลก ๕ ชั้น คือ ชั้นที่ ๑๒ ถึงชั้นที่ ๑๖ มีชื่อเรียกรวมว่า ปัญจพิธสุทธาวาส ผู้ใดได้ไปเกิดใน ๕ ชั้นนี้จะไม่คืนมาเกิดในเมืองมนุษย์อีกเลย จะเข้าสู่นิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น

ในพรหมโลกมีแต่พรหมผู้ชาย ไม่มีพรหมผู้หญิง ดังนั้น พรหมจึงพ้นแล้วจากกามตัณหา ไม่มีเรื่องรูป รส กลิ่น เสียงและเครื่องบำรุงบำเรอความสุขอย่างพวกเทพยดา พรหมอยู่ได้ด้วย ฌาน จิตของพรหมนั้นกอปรด้วยธรรม เช่น มีศรัทธา สติ หิริ (ละอาย) โอตัปปะ (กลัวบาป) ไม่โลภ ไม่โกรธ มีมุทิตา กรุณา และปัญญา เป็นต้น

อรูปพรหมภูมิ ที่อยู่ของอรูปพรหมมีทั้งหมด ๔ ชั้น เรียกว่า ปัญจฌานภูมิ อรูปพรหมจะมีแต่จิตไม่มีตัวตน ผู้ที่จะไปเกิดจะต้องภาวนาให้ได้อรูปฌาน ๔ และตั้งความปรารถนาให้ถึงสมาบัติในแต่ละชั้นพรหม สมาบัติยิ่งสูงก็ยิ่งจะไปเกิดในพรหมโลกชั้นสูง ๆ ขึ้นไป จิตของอรูปพรหมกอปรด้วยธรรมต่าง ๆ เช่นเดียวกับรูปพรหม เป็นสุขด้วยสมาธิและมีศรัทธาบูชาพระพุทธเจ้าในโลกมนุษย์เช่นกัน

ต่อจากเรื่องพรหมโลก มีข้อความกล่าวถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องอนิจจัง หรือความไม่เที่ยงแท้ของสมบัติทางโลก แม้ยศศักดิ์จะสูงเพียงใด ก็ไม่ยั่งยืนมั่นคง

จากนั้นได้กล่าวถึงการเวียนว่ายตายเกิดบนสวรรค์ฉกามาพจรได้ แต่จะไม่มีโอกาสได้ไปเกิดในพรหมโลกเลย

มนุษย์มีโอกาสจะได้ไปเกิดในภูมิต่าง ๆ ยกเว้นพรหมโลก ๕ ชั้น ที่เรียกว่า ปัญจสุทธาวาส

เทวดาในฉกามาพจรก็อาจจะไปเกิดในภูมิต่าง ๆ ได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ถึงมรรคและผล ก็ไม่มีโอกาสจะไปเกิดในพรหมโลก ๕ ชั้นเช่นเดียวกัน ส่วนมากพรหมก็อาจจะไปเกิดในสุคติภูมิ แต่จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ

ในเรื่องอนิจจังนี้ ไตรภูมิกถาก็ได้แสดงให้เห็นอีกว่า แม้แต่โลกเรา คือแผ่นดินภูเขาและน้ำ ก็ยังมีวันเสื่อมสลาย พร้อมกันนั้นก็ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับสภาพลักษณะของสกลจักรวาลในความคิดของคนโบราณว่า ประกอบไปด้วยเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีทวีปทั้ง ๔ อยู่ล้อมรอบ ๔ ทิศ เป็นที่อยู่ของพวกมนุษย์ ได้แก่ บุพพวิเทหะ ชมพูทวีป อมรโคยาน และอุตตรกุรุ เหนือเขาพระสุเมรุมีไพชยนตปราสาทแห่งนครไตรตรึงษ์ ใต้เขาพระสุเมรุเป็นพิภพอสูร นอกเขาพระสุเมรุ มีแม่น้ำสีทันดรล้อมรอบ ๗ ชั้น สลับกับภูเขา ๗ ลูก ซึ่งเรียกชื่อว่า ภูเขาสัตตบริภัณฑ์ ได้แก่ ยุคันธร อิสินธร กรวิก สุทัศนะ เนมินธร วินันตกะ และอัสสกัณณะ ถัดออกมาเป็นมหาสมุทรและมีแผ่นดินใหญ่อยู่ ๔ ด้านดังกล่าวแล้ว มีเขาจักรวาลเป็นกำแพงล้อมรอบมหาสมุทร ภายในจักรวาลระหว่างกำแพงถึงเขายุคันธร จะเป็นทางโคจรของพระอาทิตย์ (เทพบุตร) พระจันทร์ (เทพบุตร) และดวงดาวทั้งหลาย (ซึ่งเป็นเทพบุตรอยู่วิมานเช่นกัน) ก่อให้เกิดเป็นเวลากลางวันกลางคืน ฤดูกาลต่าง ๆ และข้างขึ้นข้างแรม ระหว่างแผ่นดินใหญ่ทั้ง ๔ มีแผ่นดินเล็ก ๔ แห่ง เรียกว่า สุวัณณทวีป เป็นเมืองของพระยาครุฑ

ในแผ่นดินชมพูทวีปนั้น มีป่าหิมพานต์หรือเขาหิมพานต์ ซึ่งมีลักษณะพิเศษพิสดาร แตกต่างไปจากป่าทั่ว ๆ ไป เช่น มีต้นหว้าใหญ่มหึมาอยู่ต้นหนึ่ง ออกผลใหญ่ขนาดที่ว่า ถ้ายื่นมือล้วงเข้าไปเนื้อหว้า พอสุดแขนจึงถึงเมล็ด ส่วนนกที่มากินลูกหว้าก็มีขนาดใหญ่มาก บางตัวใหญ่เท่าช้าง ใหญ่เท่าเรือนก็มี ยางลูกหว้าที่ตกลงมานั้นก็จะกลายเป็นทองสุก ชื่อว่าชมพูนุท นอกจากนี้ ก็มีป่าไม้นารีผลซึ่งเป็นต้นไม้ประหลาด ออกลูกเป็นสตรีสาววัย ๑๖ ปี ป่าขนุนลูกใหญ่เท่าตุ่ม และอุดมไปด้วยสระน้ำ แม่น้ำและภูเขาจำนวนมากมาย เป็นต้นว่า สระฉัททันต์อันเป็นที่อาบน้ำของพญาช้างฉัททันต์และบริวาร แม่น้ำ ๕ สายที่เรียกว่า ปัญจมหานที (คงคา ยมนา อจิรวดี มหิ และสรภู) และภูเขาไกรลาศ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองทองของพวกกินรีและเป็นที่สถิตของพระอิศวรด้วย

เมื่อกล่าวบรรยายถึงลักษณะของสกลจักรวาลแล้ว ก็มีข้อความกล่าวตักเตือนเร่งเร้าคนทั้งหลายให้กระทำแต่ความดีเพื่อไปสู่นิพพาน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นอมตยมหานครนิพพาน อันเป็นเมืองที่ไม่มีความทุกข์ ความโศก ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีความตาย มีแต่ความสุขสบายเท่านั้น

ต่อจากนั้น ได้กล่าวถึงเรื่องในโลกในสกลจักรวาลถึงแก่ความประลัย (ยกเว้นพรหมโลกบางชั้นที่อยู่สูง ๆ ขึ้นไป) คือต้องสูญสิ้นหรือฉิบหายด้วยไฟ น้ำ และลม ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากฝูงคนทั้งหลายกระทำบาปกันมาก จึงเกิดวิปริตต่าง ๆ ทั่วทั้งจักรวาล เช่น ฝนฟ้าไม่ตก พืชพันธุ์แห้งตาย สัตว์น้ำตายเกลื่อนกลาด พระอาทิตย์ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นทีละดวง ๆ จนกระทั่งมีถึง ๗ ดวง เผาผลาญน้ำในที่ต่าง ๆ ให้แห้งเหือด ปลาใหญ่ ๗ ตัวในแม่น้ำสีทันดรถูกความร้อนจากดวงอาทิตย์แผดเผากระทั่งเกิดเป็นน้ำมันไหลออกมาไหม้เขาอัสสกัณณะ และไฟไหม้ลุกลามไปทุกแห่งทุกแดน ไม่ว่าจะเป็นแดนอบายภูมิ สุคติภูมิ หรือพรหมโลกชั้นทุติยฌาน ระยะเวลาที่ไฟไหม้นั้นนานได้อสงไขย ๑ (อสงไขย แปลว่าเหลือที่จะนับได้) เมื่อไฟไหม้โลกนั้น พวกเทวดาและพรหมทั้งหลายต่างพากันหนีขึ้นไปอยู่บนพรหมโลกที่ไฟไหม้ไปไม่ถึง เมื่อดับไฟแล้ว ก็มีฝนตกใหญ่ เกิดน้ำท่วมแผ่นดินทุกแห่ง ท่วมไปแม้กระทั่งสวรรค์และพรหมโลกชั้นที่ ๓ เป็นเวลาได้อสงไขย ๑ จากนั้นก็เกิดลมพายุพัดพาน้ำไปทำให้แผ่นดินค่อย ๆ แห้งลง จนกระทั่งเกิดเป็นภูมิต่าง ๆ ดังเดิม ส่วนพวกเทวดาและพรหมทั้งหลายที่มีชีวิตรอดก็ลงมาอยู่ตามชั้นภูมิต่าง ๆ ดังเดิม สัตว์โลกต่าง ๆ ก็เกิดมีขึ้นเหมือนเดิม เกิดมีพระอาทิตย์ (พระสุริยเทพบุตร) พระจันทร์ (จันทรเทพบุตร) และดวงดาวต่าง ๆ ระยะเวลาที่เกิดโลกใหม่นี้นับได้อสงไขย ๑

ในที่สุด ไตรภูมิกถาได้กล่าวถึง ทระนิพพาน การกระทำบุญและธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระนิพพานอันเป็นอุดมคติยอดปรารถนาของชาวพุทธ

ความหมายของนิพพาน มีกล่าวไว้ว่า นิพพานมี ๒ จำพวก คือ

๑. อุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่ การสำเร็จอรหัตตผล หลุดพ้นจากกิเลส ยังมีขันธ์ ๕ อยู่

๒. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่ การหลุดพ้นจากกิเลสและขันธ์ ๕

นอกจากนี้ ไตรภูมิกถายังกล่าวถึงการบรรลุพระนิพพานของพระพุทธเจ้าเอาไว้ด้วยว่า มี ๓ ประการ คือ

๑. กิเลสนิพพาน ได้แก่ ดับกิเลสด้วยการตรัสรู้สัพพัญญุตญาณใต้ต้นพระรัตนมหาโพธิ

๒. สกนธนิพพาน ได้แก่ การเสด็จดับขันธ์สู่พระนิพพาน

๓. ธาตุนิพพาน ได้แก่ การที่พระธาตุทั้งหลายจะมาชุมนุมกันใต้ต้นพระโพธิ และจะเกิดเป็นองค์พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาธรรมโปรดเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายแล้วจึงเสด็จเข้าสู่พระนิพพาน

หนทางที่จะไปสู่นิพพานนั้น เรียกว่ามรรค มี ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้น และมรรคผลที่จะพึงบรรลุได้ด้วยการปฏิบัติตามมรรคนั้นมี ๘ ประการ ได้แก่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค และอรหัตตผล นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงฌานสมาบัติต่าง ๆ อันเป็นหนทางนำไปสู่ความสุขในปัจจุบัน เรื่องราวในตอนนี้ค่อนข้างยากสำหรับปุถุชนทั่วไปที่จะทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ในตอนจบของเรื่องก็ได้แสดงให้เห็นว่า บุคคลจะบรรลุนิพพานได้นั้น จะต้องสร้างสมบุญบารมีและตั้งความปรารถนาที่จะถึงซึ่งนิพพานไว้อย่างสม่ำเสมอ การปฏิบัติดังกล่าวนี้จะต้องใช้เวลายาวนานมากสุดที่จะนับได้ จึงจะสำเร็จซึ่งพระนิพพาน

สิทธา พินิจภูวดล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ